แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ และวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามในพระพุทธศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้ เป็นธรรมเทศนาอันจะแสดงเป็นพิเศษ สารเภทเป็นอภิลิขิตกาล วันที่สมมติกันว่า ขึ้นปีใหม่ ธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เมื่อบุคคลได้สดับแล้ว ได้ใคร่ครวญแล้ว ย่อมทนต่อการพิสูจน์ คือ ย่อมแสดงให้เห็นว่า ทำอย่างไรเสียก็ต้องมีประโยชน์ เมื่อมีความรู้สึกแน่ใจดังนี้ ย่อมมีความเชื่อและมีความพากเพียรในการที่จะปฏิบัตินั้นมากขึ้น ดังนั้นเราจึงควรจะฟังธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งได้ทรงแสดงไว้และจะได้นำมาวิสัชนาในที่นี้ ซึ่งในวันนี้โดยหัวข้อว่า อต.ตนา โจทยต.ตานํ จงเตือนตนด้วยตน ปัตตามันติเฟ (นาทีที่ 2.55 )จงพิจารณาพึ่งตนด้วยตน
หัวข้อมีอยู่ว่า จงเตือนตนด้วยตน จงพิจารณาตนด้วยตน ท่านทั้งหลายจงพิจารณาดูให้เข้าใจว่า จะทำได้อย่างไร วันนี้สมมติกันว่าเป็นวันปีใหม่ เพื่อประโยชน์จะให้เกิดความไม่ประมาทว่า เวลามันล่วงไปมากพอสมควรแล้ว ปีหนึ่งก็ควรจะเอามาคิด มานึก มาพิจารณาดูว่า ควรจะทำอย่างไรต่อไปอีก คล้ายๆ กับบุคคลผู้ประกอบการค้าหรือประโยชน์อะไรก็ตาม เมื่อครบปีหนึ่งเขาก็จะใคร่ครวญกันทีหนึ่งว่า มันเป็นอย่างไรบ้างและควรจะทำอย่างไรต่อไป อย่างนี้ ทีนี้ ชีวิตจิตใจและการเป็นอยู่ของคนเรา คนหนึ่งๆ นี้ก็เช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะไม่เนื่องด้วยผู้อื่น มันก็ยังเนื่องอยู่ด้วยสิ่ง ๒ สิ่ง ซึ่งตรงกันข้าม คือสิ่งที่เรียกว่า มีกำไรหรือว่าขาดทุน นี่เป็นการพูดกันอย่างสมมติ คือ อยากให้มีตัวตนสำหรับจะประพฤติปฏิบัติ จึงต้องคิดในทำนองว่ามีกำไรหรือว่ามันขาดทุน พูดกันง่ายๆ ว่า ถ้ามันเลวลงเรียกว่า ขาดทุน ถ้ามันดีขึ้นก็เรียกว่า มีกำไร นี่เราก็ตรวจดูว่า ตลอดปีหนึ่งนี้มันเป็นอย่างไร ถ้าขาดทุนก็จะได้แก้ไข ถ้ามีกำไรก็จะได้ทำเช่นเดียวกันนั้นให้มันยิ่งๆ ขึ้นไป นี่อาศัยหลักพระพุทธภาษิตที่ว่า อต.ตนา โจทยต.ตานํ เธอจงตักเตือนตนด้วยตน ดังนี้เป็นต้น ถ้าใครเป็นคนช่างคิดก็จะคิดได้ตามความรู้สึกของตน หรือว่ามันมีตนไหนที่จะมาตักเตือนตนไหน มันมีสองตนหรือว่ามันมีตนเดียว แม้คำพูดนั้นก็ยังกล่าวว่า “ท่านจงตักเตือนตนด้วยตน” แม้จะพูดว่าท่านจงตักเตือนตนเองก็ยังต้องตักเตือนด้วยตน หรือผู้ที่เป็นช่างคิดช่างค้านก็จะคิดว่า ถ้ามันมีตนเดียว มันจะเอาตนไหนมาตักเตือน มันควรจะมีสักสองตนดังนี้ เป็นต้น นี่คือปัญหาที่อาจจะเป็นอยู่ประจำวันในความสงสัยหรือในการศึกษาของบุคคล ผู้ศึกษากันอย่างละเอียดในข้อที่ว่า ถ้าจิตนี้มันมีแต่ดวงเดียว คือ จิตเดียวและจิตไหนจะเป็นผู้ตักเตือนจิตไหน แล้วถ้ามันเป็นจิตเดียวกัน เดี๋ยวมันดี เดี๋ยวมันเลว แล้วอย่างนี้จะเอาอะไรมาเป็นผู้ตักเตือนหรือมาเป็นผู้ควบคุม นี่มันเป็นปัญหาทางการพูดจาหรือทางเหตุผลของการพูดจา ถ้าคนเรามันไปติดยึดในเรื่องการพูดจาหรือ คำพูดนี้แล้ว มันก็ชวนฉงนอยู่อย่างนี้จนไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี เกี่ยวกับข้อนี้จะต้องสังเกตดูในส่วนลึกของจิตใจว่า จิตมันมีดวงเดียวจริง แต่ว่ามันเปลี่ยนไปได้ตามสิ่งที่มาปรุงแต่ง เมื่อสิ่งที่มาปรุงแต่งมันมีมากอย่าง จิตมันก็เปลี่ยนไปได้มากอย่าง แต่ว่าแม้มันจะมากอย่างสักเท่าไหร่ ก็สงเคราะห์ได้เป็นเพียง ๒อย่างหรือ ๓ อย่างเท่านั้น ๒ อย่างก็คือ อย่างที่ดีไม่เป็นทุกข์ อย่างที่ชั่วก็เป็นทุกข์ ถ้าจะให้มีทั้ง ๓อย่างขึ้นมา ก็คือ อย่างหนึ่งคือ ไม่ดี ไม่ชั่ว ไม่สุข ไม่ทุกข์
เมื่อว่าจิตมันมีดวงเดียวแล้วจะเอาจิตไหนมาควบคุมตัวมันเอง เพราะว่าจิตมันมีดวงเดียว แต่สิ่งปรุงแต่งจิตมันมีมาก มันก็ต้องตอบอย่างที่เรียกว่าฝากไว้กับเหตุผลคำนวณดูว่า มันก็ต้องให้สิ่งปรุงแต่งฝ่ายที่ดีมีโอกาสเข้ามาปรุงแต่งจิต อย่าให้สิ่งที่ไม่ดี คือ เจตสิทธิ์ที่ไม่ดีเข้ามาปรุงแต่งจิต ทีนี้ใครจะเป็นคนจัด นี่คือตัวปัญหา ดังนั้นเราจะต้องนึกให้ละเอียดลงไปว่า ทำไมเรามันจึงดีขึ้นมาได้ถึงขนาดนี้ ใครมันเป็นคนจัด ในเมื่อจิตมันก็มีดวงเดียวเท่านั้น มองกันสักหน่อยหนึ่งก็จะมองเห็นว่า ความเข็ดหลาบนั่นมันเป็นคนจัด เมื่อไปถูกเข้าอย่างนี้ เจ็บปวดมากเข้าๆ มันก็รู้จักเข็ดหลาบ และมันก็จัดตัวมันเองเสียใหม่ให้มันเป็นไปในทางอื่น ทางที่ตรงกันข้าม เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าชีวิตรวมทั้งจิตด้วยนั้น มันไม่อยากจะฉิบหาย มันไม่อยากจะตาย โดยเนื้อแท้มันไม่อยากจะตาย หรือมันไม่อยากจะฉิบหาย นี้เป็นความรู้สึกที่เกิดได้เองที่เราเรียกกันว่า สัญชาตญาณ ถ้าจะดูตัวอย่างที่ไม้เลื้อยมันทอดยอด ที่มันทอดยอดอ่อนออกไป ถูกสังกะสีร้อนๆ มันก็ทนไม่ได้ สังกะสีมันร้อน ถ้ามันขืนทอดเข้าไปมันก็ต้องเหี่ยวแห้งและตายไป ดังนั้นมันจึงรู้จักหลบ ถอยหลัง หรือไปเสียทางอื่น นี่ก็เรียกว่าสิ่งที่มีชีวิตนั้น มันไม่อยากตาย เพราะมันต้องตายหรือรู้สึกว่าครึ่งตายเข้าไปแล้ว มันก็เปลี่ยน ถอยหลังไปทางอื่น เราจะต้องถือว่า ความทุกข์นั่นมันสอน มันสอนให้ในรูปของความเข็ดหลาบ มีความทุกข์ มันไม่สนุก มันเจ็บปวด หรือมันจะตาย มันก็กลัวมันก็เข็ดหลาบ ต้นไม้แท้ๆ มันยังเป็นอย่างนั้น สัตว์เดรัจฉานมันก็เหมือนกันอีก มันไม่ผ่าเข้าไปในที่ๆ เป็นอันตราย มันกลัวก็มันเคยถูกเข้าบ้างแล้ว มันก็เข็ดหลาบ ความเข็ดหลาบนี้ก็เป็น เจตสิทธิ์กระทำอันหนึ่ง ซึ่งควรจะสงเคราะห์เอาไว้ในฝ่ายที่เป็นกุศล หรือเรียกว่า หิริก็ได้ โอตตัปปะก็ได้ เป็นชื่อของเจตสิทธิ์กระทำฝ่ายที่เป็นกุศล สำหรับคนเราเรียกว่า หิริและโอตตัปปะ คือ เกลียด กลัว ละอายความชั่วหรือความทุกข์ สำหรับสัตว์นั้นมันก็ต้องกลัวความตาย ต้นไม้มันก็กลัวความตาย มันถึงเกิดความรู้สึกอันหนึ่งขึ้นให้ปรุงแต่งความรู้สึกของมัน ให้กลัวตาย ให้หลีกเลี่ยงที่จะไปทางนั้น นี่คนเราเกิดมาในโลกนี้ มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ครั้งแรกก็โง่ คือ ปราศจากสติปัญญา มันก็ทำไปผิดๆ มันเกิดความเจ็บปวดขึ้นมา มันก็สำนึกกันใหม่ เอาอย่างที่ง่ายๆ ก่อน ที่ว่าเด็กเล็กๆ มันหกล้ม มันก็เจ็บ มันก็ไม่ชอบและมันก็ระวังไม่ให้หกล้มได้ ไม่ต้องมีใครมาสอน ถึงใครจะมาสอนมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร มันฟังไม่ถูก สู้ให้มันหกล้มไม่ได้ แล้วมันก็เจ็บ แล้วมันก็สอนของมันได้เอง มันก็ไม่พยายามที่จะหกล้ม หรือมันเดินตกร่องทีเดียว มันก็หลาบจำ มันก็มีความคิด ความฉลาดที่จะไม่เดินตกร่อง หรือว่ามันทำมีดบาดมือครั้งหนึ่งสองครั้ง ต่อมามันก็ระวัง ขอให้ทุกคนคิดดูว่า ใครมาสอนเราเรื่องไม่ทำให้มีดบาดมือ แม้พ่อแม่จะคอยห้ามเราก็ฟังไม่ถูก เราก็ฟังไม่เชื่อ เราก็ไม่เชื่อต้องให้มีดมันบาดมือสักครั้งสองครั้ง ทีนี้มันก็สอนมันได้ด้วยตัวเองที่จะระวังไม่ให้เป็นอย่างนั้น นี่เราก็เรียกว่า กุศลเจตสิทธิ์ ที่เรียกว่า ปัญญา เป็นต้น มันจะเกิดขึ้นและมันได้ปรุงแต่งเป็นจิตอันใหม่เป็นจิตที่ฉลาดขึ้นแล้ว มันก็ไม่ทำมีดบาดมืออีกต่อไป ความกลัว ความเข็ดหลาบ มันกลัวมีดจะบาดมือจะอยู่ในชื่อของคำว่า หิริและโอตตัปปะ โดยสมมตินี่ มันก็มีอำนาจมาก เพราะมันกลัว มันก็ประกอบปรุงแต่งจิตให้เกิดความหวาดกลัว คือ ความระมัดระวังที่เรียกว่า ความไม่ประมาท เป็นต้น
ขอให้พิจารณาดูให้ดีว่า กุศลเจตสิทธิ์ ชื่อว่าปัญญาก็ดี ชื่อว่าความไม่ประมาทก็ดี ชื่อว่า หิริและ โอตตัปปะก็ดีและยังมีอื่นๆ อีกให้มันเอามาให้ ให้มันเอามาสอนให้ก็ต้องถือว่า ความทุกข์นั่นเองมันสอนให้ สิ่งแวดล้อมนั่นมันสอนให้ ไม่ต้องมีบุคคลอีกคนหนึ่งที่ไหนมา หรือไม่ต้องมีจิตอีกดวงหนึ่งมันมีจิตแต่ดวงเดียวอย่างที่ว่านั่น แต่แล้วมันปรุงขึ้นมาด้วยเจตสิทธิ์ที่เป็นไปในทางที่ดี คือ เกลียด กลัวฝ่ายที่มันชั่วหรือเป็นทุกข์ ไปทำผิดทีไรเป็นทุกข์ เป็นทุกข์เจ็บปวด เจ็บปวดมันก็มีความรู้สึกที่ฉลาดเกิดขึ้น ความกลัวเกิดขึ้น ความเข็ดหลาบเกิดขึ้น เจตสิทธิ์ที่เลวๆ มันก็ไม่มีโอกาสที่จะมาปรุงแต่งจิตอีก มันก็ให้โอกาสเจตสิทธิ์ที่ดี ที่เป็นกุศล ดังนั้นเราจึงฉลาดมากขึ้น เราจึงไม่ประมาทมากขึ้น มีความกลัว มีความละอายอะไรมากขึ้น แล้วก็เป็นคนดีมากขึ้นๆ นี่ว่าในส่วนที่เป็นชั้นต้นๆ ชั้นง่ายๆ มันเป็นของมันอย่างนี้ได้ แต่ทีนี้เรื่องอันแท้จริงมันไม่เป็นอย่างนั้น คือว่า ที่เป็นความชั่ว ความเลวนั้น มันมีของหุ้มห่อ เคลือบย้อมด้วยความเอร็ดอร่อย คือ มันหลอกลวง สิ่งที่เป็นความทุกข์ ความบาป ความชั่วนั้น มันมีเปลือกหุ้มเป็นสิ่งสวยงาม สนุกสนาน เอร็ดอร่อย ล่อให้เข้าใจผิด ให้ไปหลงกับมันบ่อยๆ หรือว่าหลงไม่สร่างก็มี อย่างนี้เราเรียกว่า เครื่องล่อ ซึ่งตามธรรมชาติมันก็ต้องมีอยู่อย่างนั้น เราก็เรียกชื่อฝ่ายนี้ว่า มันเป็นเครื่องล่อของพญามาร ทำไมจึงไม่เกิดเรียกว่ามารเข้า ก็เพราะว่าไปหลงเข้าแล้วมันเจ็บปวดหรือตาย คำว่า มาร คำนี้ แปลว่า ผู้ที่ทำให้ตาย มาระ นี้ มาจาก มาตะ ซึ่งแปลว่า ตาย มาตะคำนี้มันมาจาก มาระ ซึ่งแปลว่า ตาย มาระ คือ มาระ แปลว่า ผู้ทำให้ตาย ถ้ามันมาซื่อๆ ง่ายๆ ก็ไม่มีใครหลงมันแต่นี่มันมาในรูปที่ปิดบัง หลอกลวงเป็นความชั่วนี้ จะต้องจากภาวะเอร็ดอร่อย ทางเนื้อ ทางหนัง ทางสนุกสนาน ทางเนื้อทางหนัง มันจึงเบื่อยาก มันจึงมองเห็นยาก แม้ว่าจะเกิดความเจ็บปวดทีหลัง มันก็สู้ความยั่วยวนทีแรกไม่ได้ แม้ว่ามันจะเจ็บปวดคราวหนึ่ง เดี๋ยวมันก็ลืม พอมีอะไรมาล่อ มันก็หลงไปอีก นี่มันจึงซ้ำซากกันอยู่อย่างนี้ นี่คือปัญหาแท้จริงที่มีแก่คนทุกคนที่อยู่บนโลกนี้ มันซ้ำๆ ซากๆ ในการได้รู้ความจริงว่า นี่ดี นี่ชั่ว นี่ไม่ควรจะเอากับมัน นี่ควรเอากับมัน เพราะเหตุนั้นตัวตนนั้นมันเป็นที่พึ่งแก่ตนได้ยาก หรือมันจะตักเตือนตนด้วยตนก็ยาก เพราะว่าส่วนที่จะปรุงแต่งฝ่ายชั่วนั้น มันสนุกสนาน เอร็ดอร่อย โดยบาลีเขาเรียกว่า อัตสาถะ แปลว่า เสน่ห์ของมัน ไม่ว่าสิ่งไดในโลกนี้อาจจะบัญญัติได้ว่า มันมีเสน่ห์ทั้งนั้น แต่บางทีเสน่ห์นั้น มันไม่ตรงกับความต้องการของบางคน มันก็ไม่สนใจ เสน่ห์นั้นมันก็เก้อไป มันก็ไปเป็นเสน่ห์แก่บางคนหรือบางตัวต่อไปอีก แต่แล้วที่มันแน่นอนก็คือว่า มันเป็นเสน่ห์ในบางคนได้เสมอ แต่ส่วนมากสิ่งที่มีความสนุกสนาน เอร็ดอร่อย มันก็เป็นเสน่ห์แก่ทุกคนที่ยังชอบความเอร็ดอร่อย สนุกสนานอยู่ โดยเฉพาะเจาะจง ก็เช่น สิ่งที่เรียกกันว่า กามารมณ์หรือกามคุณ สิ่งที่เรียกว่า กามคุณนั้น มันก็เหมือนกับสิ่งอื่นๆ คือ มันมีส่วนที่เป็นเสน่ห์ในทางที่จะยั่วความรู้สึก ประเภทราคะที่คนโดยมาก อยู่ในระดับต่ำๆ มีจิตใจต่ำๆ ยังไม่ได้ยินได้ฟัง ยังไม่รู้เรื่องอะไรที่มีจิตใจเหมาะที่จะล้มตะครุบเอาเหยื่อนั้น ที่มีเสน่ห์นั้น นี่โดยมากเป็นอย่างนี้ เรียกว่าโดยมากนี้ก็อยู่ในชั้นกามาวัตจารากุม คือ จะไปหลงเสน่ห์ที่เป็นกามคุณนั้นได้โดยง่าย แต่ว่าในโลกนี้ไม่ใช่เป็นกันทุกคน หรือว่าถ้าเสน่ห์นั้นมันไม่ตรงเรื่องกัน ไม่ถูกฝาถูกตัวกัน มันก็ไม่เป็นเสน่ห์อะไร ถ้าสิ่งที่เป็นเสน่ห์แก่คน มันไม่เป็นในสัตว์เดรัจฉานก็ได้ ถ้าแม้แต่เป็นคนด้วยกัน มันก็มีจิตใจต่างกัน มันก็ไม่จำเป็นจะต้องหลงใหลในสิ่งเดียวกันอย่างเดียวกันหมด นี่เขาจึงต้องจัดคนไว้เป็นชั้นๆ ภูมิๆ ถ้าหลงใหลในความสุขทางกามโดยปกติแล้วก็เรียกว่า กามาวัตจารากุม ถ้าหลงใหลในความสุขที่เกิดจากรูปที่อันบริสุทธิ์ไม่เกี่ยวกับกาม เรียกว่า รูปวัตจารากุม ซึ่งมีน้อย คือ ถ้าหลงใหลในความสุขที่เป็นที่ประณีตยิ่งกว่านั้น คือ ความสุขที่ไม่เกี่ยวกับกามไม่เกี่ยวกับรูปแต่กลายเป็นอรูป ก็เรียกว่า อรูปวัตจารากุม ซึ่งมีน้อยยิ่งๆ ขึ้นไปอีก แต่แล้วก็ไม่พ้นจากเสน่ห์ของสิ่งเหล่านั้น ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความพอใจความยึดมั่นถือมั่น ในเมื่อมันมีเสน่ห์เคลือบข้างหน้า บังไว้ข้างหน้าอย่างนี้ในความรู้จักเข็ดหลาบ มันก็มีได้ยาก มันไม่ค่อยจะรู้สึกเป็นทุกข์หรือเป็นทุกข์มันก็ทนเอา กลายเป็นของสนุกไปเสียอีก เพราะว่าจิตมันกำลังอยู่ในสภาพต่ำ ในความรู้สึกที่เป็นกามหรือเป็นรูปเหล่านั้นเป็นต้น นั้นมันปรุงแต่งได้โดยง่าย นี่คือ คนธรรมดามีปัญหาอย่างนี้
ทีนี้อยากจะกล่าวต่อไปถึงว่า สิ่งทั้งปวงมันก็มีอัสสาทะ คือ เสน่ห์ แต่แล้วสิ่งทั้งปวงพร้อมกันนั้นก็มีสิ่งที่เรียกว่า อาทีนวะ คือ โทษหรืออันตราย ความเป็นอันตราย เช่น กามคุณ มีเสน่ห์ ทำให้ลุ่มหลง แต่แล้วในนั้นมันก็มีส่วนที่เป็นอันตราย ที่ทำให้เกิดความทุกข์ ความร้อน เหมือนกับว่ามันกัดเอา นี่ถ้าว่าใครเข้ามาถึงส่วนนี้ คนนั้นจะรู้สึกกลัว รู้สึกละอาย รู้สึกเข็ดหลาบ เกิดความไม่ประมาทขึ้นมา ที่จะเอาชนะกามารมณ์ หรือกามคุณนั้นให้ได้ นี่คิดดูว่าใครจะมาสอนใคร จิตดวงไหนจะมาสอนจิตดวงไหน มันย่อมแล้วแต่สิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดกำลังแก่เจตสิทธิ์กระทำประเภทไหน ถ้าสิ่งแวดล้อมมันได้ทำให้เกิดกำลังแก่เจตสิทธิ์กระทำฝ่ายที่เป็นกุศล เจตสิทธิ์พวกนี้มันก็เข้ากลุ่มแบ่งจิต จิตนี้ก็ฉลาดไม่ประมาท รู้จักละอาย รู้จักกลัวมันก็ดำรงอยู่ในฝ่ายกุศล คือ ฝ่ายถูกต้อง แต่ถ้าว่าสิ่งแวดล้อมมันเป็นอย่างอื่น มันให้โอกาสแก่ความยั่วยวน ความลุ่มหลงมากเกินไป มันก็ต้องลุ่มหลงกันไปก่อน จนกว่าจะถึงขนาดหรือถึงเวลาที่มันเพียงพอที่จะรู้สึกได้ตลอดเวลานี้ มันก็ไม่มีใครเตือนใครได้ ตัวเองก็ยังเตือนตัวเองไม่ได้ ก็มีแต่ความลุ่มหลง เหมาะสมแต่ที่จะลุ่มหลง แต่เมื่อหลายครั้งเข้า หลายสิบ หลายร้อยครั้งเข้าจะเป็นอย่างไร ก็ลองคิดดู มันก็มีเวลาที่จะเอือมระอา ก็มีความสลดสังเวช นี่ก็เริ่มให้โอกาสแก่เจตสิทธิ์กระทำฝ่ายกุศล มันได้โอกาส มันได้กำลัง มันเพิ่มขึ้น จิตก็มีกำลังที่จะยับยั้ง คือ ความไม่ประมาท มีหิริโอตตัปปะช่วย ก็มีสติปัญญาจะรู้ตามที่เป็นจริงว่า อันนั้นอย่าไปเอากับมัน จนมาอยู่ได้อย่างนี้ มีโอกาสทำเจตสิทธิ์กระทำฝ่ายที่เป็นกุศล มันมีมากขึ้นอย่างนี้ มันก็ปรุงแต่งจิตได้อย่างนี้ ความรู้มันก็เกิดขึ้นว่า อย่างนี้มันถูก เราจึงกลับตัวได้ แต่ความเป็นบาป เป็นอกุศลหรือความทุกข์เหล่านั้น นี่คือข้อที่พระพุทธองค์ตรัสว่า จงตักเตือนตนด้วยตน จงพิจารณาตนด้วยตน ใครอยากจะพูดว่า มี ๒ ตน ๒ จิตก็ได้ตามใจ ใครจะมองเห็นว่ามีจิตเดียวตนเดียวก็ได้แล้วแต่จะพูด แต่ที่พูดว่ามีจิตเดียวตนเดียวนั่นถูกกว่า หรือจริงกว่า เพราะว่าความจริงมันก็เป็นอย่างนั้น แต่ว่ามันมีจิตเดียวตนเดียวแล้วมันมีเจตสิทธิ์กระทำผู้ปรุงแต่งนั้นเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายที่ทำให้ชั่วให้เลวให้เป็นทุกข์มันอยู่ฝ่ายหนึ่ง และอีกฝ่ายหนึ่งก็ตรงกันข้าม นี่จะมีโอกาสแก่ฝ่ายไหนมันแล้วแต่สถานการณ์ที่แวดล้อม แต่ในที่สุดถ้ามันเป็นไปด้วยทุกข์แล้ว แม้จะลุ่มหลงอยู่พักหนึ่ง มันก็จะต้องรู้จริงขึ้นมา ว่าผิดแล้ว ว่าเป็นทุกข์แน่ มันก็เลยเกิดการหลีกเลี่ยง เจตสิทธิ์ ฝ่ายบุญ ฝ่ายกุศล มันก็เกิดขึ้นทำให้หลีกเลี่ยงไปที่เป็นบาป มันก็เป็นการเว้นบาปโดยอัตโนมัติ อยู่ในตัวมันเอง คือ ในการปรุงแต่งของจิตนั้น เช่นว่า สุนัขมันไปนอนทับลงบนรังของมด มดมันกัดเอา ใครสั่งสอนมัน มันก็ต้องถอย มันก็ต้องหนี และมันก็ต้องรู้ และมันก็ต้องจำได้ว่า นี้มด รังมด ขืนไปนอนทับอีก มันจะกัดอีก เจตสิทธิ์กระทำที่เป็นกลางๆ คือ สัญญา เป็นต้น นี่มันก็ช่วยได้ ให้จำได้ว่านี่มันรังมด มันก็เกิดความฉลาด เป็นฝ่ายกุศลว่า อย่าไปนอนทับเข้าอีก แม้แต่สุนัขมันยังทำได้อย่างนี้ ถ้าคุณทำไม่ได้ก็ไม่ควรจะเป็นคน คือ ไปนอนทับบาป ความชั่ว อกุศล หรือความทุกข์ก็แล้วยังไม่รู้สึก มันก็ไม่ดีกว่าสุนัข อันถ้าผู้ใดไปทำบาปทำชั่วกุศลแล้วมันควรจะรู้จัก หรือควรรู้จักเข็ดหลาบ หรือรู้จักหลีกเลี่ยง นี่มันจึงจะไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่สร้างมาอย่างนี้ ก็สำหรับสิ่งที่มีชีวิตนั้น มันจะต้องรู้จัก หลีกเลี่ยงอันตราย เพราะว่ามันไม่อยากตาย การกล่าวทั้งหมดนี้เป็นการกล่าวโดยหลักธรรมดากว้างๆ คือ ตามธรรมดาไม่ใช่พิเศษ
ทีนี้เราจะเล่าเรื่องพิเศษก็คือว่า เพื่อว่าให้เรื่องนี้มันง่ายเข้า ก็คือ เราไปฟังธรรมะของพระพุทธเจ้ากันเสียบ้าง อย่าปล่อยให้รู้สึก รู้จักด้วยตัวเอง บางทีมันอาจจะสายเกินไปเข้าแบบที่เรียกว่า ถั่วไม่ทันสุก งามันก็ไหม้ คือ ร่างกายนี้มันตายเสียก่อน กว่าที่จิตใจมันจะเจริญจนถึงที่สุด เราจึงต้องหันไปหาวิธีที่จะช่วยประหยัดเวลา คือ ไปฟังธรรมะของพระอริยะเจ้าที่สอน ที่บอกว่าทำอย่างไร อะไรเป็นอย่างไร ควรทำอย่างไรอย่างนี้ มันประหยัดเวลาได้มาก เอามาพิจารณาดูแล้วก็เห็นจริง มันก็เลยเลื่อนชั้นไปได้โดยเร็ว หมายความว่า จะทำให้เกิดปัญญา เกิดสติสัมปชัญญะได้ง่าย ได้มาก ได้เร็ว ก็หลีกเลี่ยงบาปอกุศลได้เร็ว การที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ว่า จงเตือนตนด้วยตน นี่ก็มันหมายความว่า จะให้พระพุทธเจ้าช่วยเตือนแทนนี้มันไม่ได้ เว้นไว้แต่ท่านจะบอกเรื่องราวต่างๆ ให้เอามาสำหรับเตือนตนด้วยตน พิจารณาด้วยตน หลีกเลี่ยงด้วยตน เป็นที่พึ่งแก่ตน ที่เรามันมักจะทำผิดพลาดในข้อนี้ คือ ละเมอเพ้อฝันว่า พระพุทธเจ้าจะช่วยเตือนหรือพระพุทธเจ้าจะมาช่วยมาคุ้มครองอย่างที่เราร้องขอหรืออ้อนวอนหรือเชื่อกันอยู่ อย่างนี้มันเป็นไปไม่ได้ มันก็เลยตายด้านและก็ไม่รู้สึกตัวอยู่ที่นั่น การทำที่พึ่งให้แก่ตนในทำนองนี้ มันงมงาย มันตายด้านและก็ไม่รู้สึกตัวว่ามันตายด้าน มันก็ตายไปจริงๆ คือ ร่างกายมันแตกสลายตายไปเสียก่อนตามกาลเวลา จิตนี้ก็ไม่เจริญรุ่งเรืองถึงขนาดที่จะอยู่เหนือความทุกข์ได้ นี่ก็เพราะว่าเขาไม่ตักเตือนตนด้วยตนไม่พิจารณาตนด้วยตน ให้คิดทำนองที่มันตรงกันข้ามไปเสียหมด ไม่ระมัดระวัง ไม่สังเกตให้เป็นอย่างดี ก็ปล่อยเพ้อๆ ไปอย่างนั้น และบางคนก็ไม่เข้าใจก็พาลหาเรื่อง ก็ไม่รู้ว่า จะเอาตนไหนมาตักเตือนตนไหน ไม่รู้ว่าจิตไหนจะมาตักเตือนจิตไหน จิตมันก็มีดวงเดียวแล้วจะตักเตือนกันอย่างไร มันไม่เข้าใจไปหมด ท่านชอบพูดอย่างสมมติให้มีจิต ๒ จิต มีตน ๒ ตนก็ได้เหมือนกัน คือ ตนความชั่วตนหนึ่ง ตนความดีตนหนึ่งให้มันต่อสู้กัน เสร็จแล้วมันเป็นเรื่องพูดโดยสมมติ มันจะมี ๒ จิต ๒ ตนอย่างนี้ โดยแท้จริงมันไม่ได้ มันต้องเป็นไปอย่างที่ว่ามาแล้วว่า จิตนั้นมันมีเพียงอันเดียวเป็นแกนกลางสำหรับจะรับฝ่ายชั่วหรือจะรับฝ่ายดี เราต้องคอยระวังสังเกตว่า เดี๋ยวนี้มันกำลังรับฝ่ายชั่วหรือกำลังรับฝ่ายดี กำลังเป็นทุกข์หรือกำลังไม่เป็นทุกข์ ก็ระวังให้มันอย่าไปในทางที่จะไปพบกันเข้ากับความทุกข์ คือ หลีกเลี่ยงเสียทั้งภายนอกและภายใน ทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา ทั้งทางใจ มันก็จะไม่มีความทุกข์เกิดขึ้น หนักเข้าๆ มันก็จะชอบในฝ่ายนี้ มันไม่ไปหลงเข้าใจผิดไปชอบในฝ่ายโน้น มันจะชอบในฝ่ายดีฝ่ายถูกนี้มากขึ้นทุกที อันนี้เรียกว่า ให้โอกาสแก่เจตสิทธิ์กระทำฝ่ายกุศล ให้เจริญงอกงาม ให้แคล่วคล่องว่องไวในการที่จะเข้ามาปรุงแต่งจิตเพื่อให้มันเป็นกุศลจิตอยู่เสมอ นี้มีปัญญา มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีตามชื่อของกุศลจิตเหล่านั้น ส่วนอกุศลจิตไม่ได้โอกาสหนักเข้าๆมันก็เฉื่อยชาไปเอง หรือว่ามันตายไปเอง
ดังนั้นเราต้องเป็นอยู่ให้ถูกต้องในลักษณะที่อกุศลจิต ปรุงแต่งจิตไม่ได้ แต่กุศลเจตสิทธิ์ปรุงแต่งจิตได้โดยสะดวก โดยง่ายดาย ทุกวันทุกเวลา โดยที่เราช่วยกัน คือ เป็นอยู่ให้ถูกต้อง ความเข็ดหลาบนั้นมาช่วยบอกว่า ต้องอยู่อย่างนี้ๆ ต้องทำอย่างนี้ ต้องพูดอย่างนี้ ต้องกินอย่างนี้ ต้องนอนอย่างนี้ อะไรก็ตาม มันก็พบกันเข้ากับความไม่ทุกข์ ไม่มีความทุกข์ หรือมีความสุขนี้เรื่อยๆ ไป เรื่อยๆ ไปจนมากขึ้นจนกลายเป็นของธรรมดาสามัญไป คือ ไม่เผลอที่จะปล่อยความทุกข์เกิดขึ้นได้อีก นี่ก็คือ ข้อที่ว่าถ้าท่านผู้ใดมีความสงสัย วนเวียนไปหมดไม่รู้ว่าจิตไหนจะตักเตือนจิตไหน หรือว่าตนไหนจะตักเตือนตนไหน หรือไปตั้งปัญหาเอากับจิตดวงเดียว แล้วจิตดวงไหนจะเป็นผู้สอนจิตดวงไหนอย่างนี้ เป็นต้น ก็สรุปความว่าให้จับให้ได้ว่า ตัวผู้สอนนั้น คือ ความทุกข์ ตัวผู้สอนที่ดีที่สุดนั้น คือ ความทุกข์ ฉะนั้นเราจะต้องยอมรับเอาเป็นครู อย่าให้ต้องสอนกันหลายหนนัก มันไม่ไหว สอนทีเดียวสองทีก็ให้รู้จักเข็ดหลาบ รู้จักกลัว รู้จักละอายกันเสียบ้าง ความทุกข์มันสั่งมันสอนให้รู้จักเข็ดหลาบ ความรู้จักเข็ดหลาบมันสอน หรือมันควบคุมให้ระมัดระวังสังวร เพราะว่าเจตสิทธิ์กระทำส่วนที่ไม่อยากจะตาย ไม่อยากจะทุกข์ มันมีอยู่เสมอ มันจึงค่อยเอียงหรือเทไปในทางของกุศล กลายเป็นบุคคลที่ตั้งอยู่ในฝ่ายกับฝ่ายของกุศล ทำบาปยาก ทำบาปไม่เป็นในที่สุด นี่คือ ผลของการที่รู้จักตักเตือนตนด้วยตน พิจารณาตนด้วยตนผลของมัน ก็คือ ชัยชนะ ความชนะ ไม่แพ้ คือ ไม่มีการพ่ายแพ้ มีแต่ความชนะ ทีนี้เรามาตั้งต้นสอบสวนกันต่อไปอีกว่า ชนะอะไรบ้าง และชนะเป็นลำดับขึ้นไปอย่างไร ครั้งแรกมันก็ต้องชนะเรื่องง่ายๆ เตี้ยๆ ต่ำๆ เรื่องกิน เรื่องนอน เรื่องเกี่ยวกับร่างกายในประจำวัน อย่างสุนัขมันรู้จักไม่ไปนอนทับรังมดแดงอย่างนี้ เป็นต้น นี่เรียกว่า ชนะแล้ว ชนะความโง่ส่วนหนึ่งแล้ว ชนะความทุกข์ส่วนหนึ่งแล้ว ชนะความผิดความหลงส่วนหนึ่งแล้ว เรียกว่า ชนะ จะเรียกว่าชนะโลกเข้ามานิดหนึ่งก็ได้ เพราะโลกคือทุกข์ ทุกข์คือโลก ในโลกเต็มไปด้วยความทุกข์ เมื่อเราชนะความทุกข์ได้ส่วนหนึ่งหรือนิดหนึ่ง ก็เรียกว่าชนะโลกได้นิดหนึ่ง ฉะนั้นแม้แต่สุนัขก็รู้จักชนะโลกได้นิดหนึ่ง ความทุกข์ในโลกบางอย่างบางประการนั้นมันรู้จักหลบหลีกกันได้ หรือเอาชนะกันได้ไม่ทำให้มันทุกข์ เขาเรียกว่า มันไม่แพ้ในส่วนนี้ มันชนะในส่วนนี้ นี่คนก็ไม่ควรจะเลวกว่านั้น ควรจะชนะในเรื่องอย่างนี้กันก่อน เรื่องจะกินอย่างไร จะนอนอย่างไร จะหามาอย่างไร จะอาบอย่างไร จะถ่ายอย่างไรนี้ ทำให้มันถูกต้องเสียก่อน ให้มันชนะในส่วนนี้จะเป็นส่วนรากฐาน พื้นฐานที่สุดที่เกี่ยวกับร่างกายนี้กันเสียก่อน ถ้าทางร่างกายชนะหมดปัญหาจึงเขยิบไปถึงเรื่องทางจิตใจ เอาชนะความชั่วในทางจิตใจให้ได้สูงขึ้นต่อไปอีก นี้จะเป็นเรื่องของคน จะไปถึงระดับของมนุษย์ที่รู้จักเอาชนะอันตรายในทางฝ่ายจิตใจ เพราะมนุษย์มันต่างจากสัตว์ก็ตรงที่ว่า มันมีจิตใจสูงขึ้นมาๆ ความเฉลียวฉลาดมันมากขึ้นมา แต่ว่าความฉลาดนั้นมันก็ยังไม่ปลอดภัย มันฉลาดการทำผิดก็ได้ ทำผิดได้มากกว่าคนโง่ก็ได้ ทำผิดได้ลึกกว่าก็ได้ ก็เลยจะต้องระวังในเรื่องความฉลาดหรือความเป็นมนุษย์นี้ให้มันถูกวิธี ถ้าผิดวิธี มันจะมีความทุกข์มากกว่าสัตว์ ไปคิดดูด้วยว่า มนุษย์นี้ถ้าทำผิดวิธีจะมีความทุกข์มากกว่าสัตว์เดรัจฉาน ถ้ากำลังใจมันแรง มันสูง มันพัฒนามามาก มันก็มีอะไรมากกว่า ต่อเมื่อว่าเราทำถูกต้อง มันจึงจะมีความทุกข์น้อยกว่าสัตว์เดรัจฉานหรือจะได้ดีกว่าสัตว์เดรัจฉานก็เฉพาะเมื่อกระทำถูกต้อง ดังนั้นมนุษย์จึงมีปัญหาที่จะต้องเอาชนะโลกในทางฝ่ายจิตใจอีกส่วนหนึ่งด้วย ไม่ใช่เฉพาะแต่ฝ่ายร่างกาย นี่อะไรเป็นศัตรูอันตรายต่อจิตใจ ก็คือ อกุศลกรรมหรือที่เรียกให้ชัดว่า อกุศลเจตสิทธิ์ อกุศลเจตสิทธิ์กระทำก็แล้วแต่จะเรียก คือ ความรู้สึกชั่วร้ายที่จะเกิดขึ้น ปรุงแต่งจิตให้เป็นจิตชั่ว นี่คือ อันตรายสำหรับมนุษย์ผู้คิดเก่ง เมื่อสุนัขและแมวคิดไม่เป็น ปัญหานี้มันก็ไม่มี นี่มนุษย์มันคิดเก่ง ปัญหานี้มันเกิดขึ้น คือ ปล่อยให้การปรุงแต่งในทางจิตมันเป็นไปอย่างรวดเร็วรุนแรงแล้วก็ผิดพลาด มนุษย์จึงมีความรู้สึกชนิดที่เรียกว่า กิเลส นั่นนะเกิดขึ้น เป็นความโลภ เป็นความโกรธ เป็นความหลง ซึ่งสัตว์เดรัจฉาน มันไม่มี คือ มันมีก็น้อยจนไม่มีปัญหา มนุษย์เรามันมีมากจนเป็นปัญหา มูลเหตุก็เพราะว่าจิตมันมีวัฒนาการมากไปนั่นเอง มันจึงคิดเก่ง อะไรเก่ง มันจึงมีความรู้ คิดสูงถึงโลภ ถึงโกรธ ถึงหลง มันถึงอาฆาต พยาบาทเรื้อรังกันไปเลย นี่เรียกว่า สิ่งที่เรียกว่า กิเลส มันเกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์นับตั้งแต่รู้จักลุ่มหลงในความสุขสนุกสนานที่เกินจำเป็นนั้น ถ้าเอากันเท่าที่จำเป็น กิเลสก็เกิดยากเหลือเกิน เดี๋ยวนี้มันต้องการมีกินมีใช้อะไร มันเกินจำเป็น กิเลสก็เกิดมากแต่มันไม่ได้เกิดเปล่าๆ เกิดขึ้นเท่าไร มันก็ทำอันตรายจิตใจเท่านั้นก็เลยเกิดเป็นปัญหาเฉพาะทางฝ่ายจิตใจขึ้นมาที่มนุษย์จะต้องแก้ไข เราจึงมีหน้าที่ที่จะต้องเอาชนะความโลภ ความโกรธ ความหลง ตามกำลังสติปัญญา ความสามารถของเรา มันจะแก้ไขได้ก็ด้วยวิธีที่กล่าวมาแล้ว คือว่า โลภเอากับก็โลภเข้าไปแล้ว ความโลภมันก็กัดเอา หลายหนเข้ามันก็นึกได้ มันรู้จัก แล้วมันก็เข็ดหลาบ แล้วมันก็กลัว การที่ช่วยกันทำให้รู้จักเข็ดหลาบหรือกลัว นี่ดีมาก อย่าเป็นคนกระด้าง ไม่ละอาย ไม่กลัว ต้องเตรียมจิตใจไว้ให้พร้อม เตรียมทุกอย่างไว้ให้พร้อมที่ให้มองเห็นอันตรายที่เกิดจากความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือถ้าจะเรียกกันอีกทีก็เรียกว่า ทำกรรมฐาน ทำวิปัสสนา ทำอะไรเหล่านี้ เมื่อถึงเวลาเข้าแล้วก็ทำวิปัสสนา เพื่อเอาเรื่องของความโลภ ความโกรธ ความหลงของความทุกข์ต่างๆ มาพิจารณา มาทบทวน มาศึกษา นี่ก็เพื่อจะให้เห็นโทษ เห็นอันตรายของกิเลสและความทุกข์ พอเห็นแล้วมันก็จะปรับปรุงภายในกันใหม่ คือ ปิดโอกาสของสิ่งปรุงแต่งจิตฝ่ายผิดหรือฝ่ายชั่วนั้นได้เอง แล้วก็เปิดโอกาสสิ่งปรุงแต่งจิตฝ่ายที่ถูกต้องดีงามนั้นได้เองเหมือนกัน พูดง่ายๆ ก็ว่า นิสัยมันจะค่อยๆ น้อมมาในทางดี ห่างมาเสียจากทางเลว มาปิดกั้นฝ่ายเลวแล้วมันเปิดโลกฝ่ายดี มันก็เลยเอียงมาทางนี้ ในการทำกรรมฐานวิปัสสนาที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำวันนั้นเป็นการช่วยได้มากอย่างนี้ คือ ปิดกั้นทางเกิดแห่งอกุศลเจตสิทธิ์ และก็เปิดโล่งทางเกิดแห่งกุศลเจตจิตนั้น จิตจึงได้รับการปรุงแต่งแต่ในทางที่เป็นกุศลโดยง่ายและมากพอ มันจึงมีชีวิตอยู่ด้วยจิตที่เป็นกุศล ที่ฉลาด ที่รู้ ที่ไม่ประมาท ที่มีหิริโอตตัปปะ คือ จิตสัมปชัญญะ มันก็เลยรอดตัว นี่ก็เรียกว่า เราชนะอีก ชนะปัญหา ชนะอันตรายหรือเรียกอีกทีหนึ่งก็ว่า ชนะโลกในด้านจิตใจ ที่แรกเราชนะโลกในด้านวัตถุหรือร่างกาย มีร่างกายสบาย ทีนี้เราก็ชนะโลกในด้านจิต ด้านวิญญาณ แล้วก็มีจิตใจสบาย เราเลยเป็นคนที่มีความสบายทั้งทางกายและทางจิต เรื่องมันเป็นอย่างนี้ มันแน่นอนอย่างนี้ มันเด็ดขาดอย่างนี้ แต่ทีนี้คนเรามันมาทำให้ฟั่นเฟื้อสับสนกันไปหมดจนยุ่ง เพราะความโง่ พระพุทธเจ้าท่านจึงอุปมาข้อนี้ไว้ว่า เมื่อมันไปหลงในสิ่งสวยงามแล้ว จิตมันก็ยุ่งเหมือนกับปมด้ายยุ่ง ด้ายที่เป็นปม มีตุ่ม มีเป็นเศษด้ายแล้วก็มาขยำกันเข้าให้ปนกันยุ่ง สางไม่ออก เอ้อ, อย่างนี้ก็มี นี่ความยุ่งของจิต นี่บางทีก็ตรัสเกี่ยวกับความยุ่งของหญ้ามุญชะ หญ้าปัพพชะ ซึ่งไม่แน่ว่าจะแปลเป็นภาษาไทยว่าหญ้าอะไร แต่มัน หมายถึง หญ้าชนิดที่มันขึ้นแล้วพันกันยุ่ง จนไม่รู้ว่าต้นอยู่ที่ไหน ปลายอยู่ที่ไหน ไปดูหญ้าเถาวัลย์บางชนิด ที่มันขึ้นสับสนปนกันยุ่งตามริมลำธารหรือตามเพิงหญ้าต่างๆ นี่มันยุ่งขนาดนั้นแหละ ยุ่งจนสางไม่ไหวเมื่อจิตมันไปหลงเข้าไปอารมณ์ที่เป็นที่ตั้งความยั่วยวนแล้ว จิตนั้นมันจะยุ่งแบบนั้นจนมันช่วยตัวเองไม่ได้ จนมันสางให้แก่ตัวเองไม่ได้ ต้องกลัว ต้องระวัง อย่าไปหลงเข้ากับสิ่งที่หลอกลวงของพญามาร คือ อย่าไปหลงในอัสสาทะของสิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้ก็แล้วกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือ สิ่งที่เรียกว่า กามคุณ จะหลงกันสักเพียงครั้ง สองครั้ง สามครั้ง ก็ไม่เป็นไร แล้วก็ถอยออกมาเสีย แต่ถ้าหลงไม่รู้สร่างแล้วมันก็ออกไม่ถูก แล้วก็ไม่มีทางที่จะชนะอะไรได้โดยทางจิตมันยุ่ง ไม่ชนะ พ่ายแพ้แล้ว ทางกายมันก็ค่อยพ่ายแพ้ตามไปที่หลัง คือ เมื่อกิเลสครอบงำหนักเข้าแล้ว มันก็กินไม่ได้ นอนไม่หลับ มันก็ผอม มันก็เจ็บป่วย มันก็ตายได้ เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นต้องระวังให้มีวันชนะ มีชัยชนะเหนือโลกในด้านจิตใจนี่ด้วย ถ้าปล่อยไปตามเรื่องราวของเดิมในลักษณะที่ไม่ได้แก้ไขอย่างใด เราก็จะเรียกว่า พ่ายแพ้ พ่ายแพ้แก่โลก เรียกว่า โลกียวิสัยก็แล้วกัน โลกียวิสัย ก็คือ ลุ่มหลงในอารมณ์ในโลก แล้วก็พ่ายแพ้แก่อารมณ์นั้น แล้วก็จมอยู่ในกองทุกข์ ในทางกายก็แก้ไขไม่ได้ ในทางจิตก็แก้ไขไม่ได้ อย่างนั้นเรียกว่า โลกียะแท้ เป็นอยู่เองแล้วไม่ต้องมีใครมาสอน เรื่องที่จะสอนกัน ก็คือ ให้เริ่มเอาชนะให้ได้ เอาชนะโลกสักนิดหนึ่งก็ยังเรียกว่า ชนะในทางกายก็ให้ชนะ อย่าให้มีความทุกข์ทางกาย เรียกว่า ชนะโลกในทางกาย นี่ทางใจรู้จักควบคุมเอาชนะให้ได้ตามสมควร ก็เรียกว่า ชนะโลกในทางจิตใจ นี่คือการชนะโลก ชนะได้เท่าไร ก็เรียกว่าอยู่เหนือโลกเท่านั้น นี่อาจจะไม่มีใครเชื่อ เพราะว่าเขาไม่ค่อยจะคิด เราอยากจะบอกว่า ชนะโลกได้เท่าไร ก็เรียกว่า อยู่เหนืออำนาจของโลกเท่านั้น คือ เป็นโลกุตระนั้น แต่เขาก็ยังไม่เรียกว่า โลกุตระ สิ้นเชิง มันเป็นแต่เพียงว่าชนะเป็นส่วนน้อย แต่ว่าส่วนน้อยนี่แหละสำคัญมาก คือว่า จะนำไปหาส่วนใหญ่ เราจึงเริ่มชนะโลกส่วนน้อยๆ นี่ไปก่อน ทั้งเนื้อหนัง ร่างกาย กินอยู่นี้ก็เอาชนะให้ได้ อย่าให้ความยากจน มันครอบงำได้ อย่าให้ความเจ็บป่วย มันครอบงำได้ อย่าให้อันตรายทางกายใดๆ ก็ตาม มันครอบงำได้ นี่ชนะโลกในส่วนร่างกายก็พยายามชนะในส่วนจิตใจ อย่าให้ความรู้สึกผิดชั่วครอบงำได้รวมกันก็เรียกว่าเป็นผู้ชนะโลกพอสมควรอยู่ แม้คนปุถุชนก็มีส่วนชนะโลกตามวิสัยของปุถุชนที่จะเป็นปุถุชนชั้นดี ถ้าชนะโลกได้มากกว่านี้ต่อไปอีก มันก็เป็นพระอริยะเจ้า คือ เป็นพระโสดาบัน ท่านเป็นผู้ชนะโลกที่พอจะพูดได้เต็มปากว่า ชนะโลกในอันดับแรก คือ เป็นพระโสดาบัน และก็ชนะยิ่งขึ้นไปจนหมดสิ้น คือ เป็นพระอรหันต์ แต่อย่าลืมว่าปุถุชนเราก็มีทางที่จะชนะได้ตามสัดส่วนของปุถุชน เพราะมันเริ่มรู้ มันเริ่มเข้าใจในสิ่งที่เรียกว่า โลก นี่ก็เป็นปุถุชนชั้นดี นั่นก็คือชนะโลกได้ส่วนหนึ่งแล้ว
ขอให้ท่านอยู่ในระดับนี้ คือ เป็นปุถุชนที่ดีที่มีส่วนแห่งการชนะโลกนั้นตามสมควรเถิด ก็เรียกว่า มันตั้งต้นชนะโลก ตั้งต้นเป็นโลกุตระ คือ เตรียมสำหรับที่จะเป็นโลกุตระอยู่ในวิสัยของปุถุชนชั้นดี ประเดี๋ยวมันก็ชนะในชั้นระดับพระโสดาบัน เป็นโลกุตระขั้นที่หนึ่ง แล้วก็สกทาคามี อนาคามี พระอรหันต์ในขั้นที่สุด รวมความว่า ถ้ามันเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว มันจะมีชัยชนะหรือชนะโลกในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ปริยายใดปริยายหนึ่ง เป็นแน่นอน
ฉะนั้นขออย่าได้หยุดความพ่ายแพ้ มันจะละอายแก่สุนัข เพราะว่าสุนัขมันมีความทุกข์น้อยในส่วนร่างกาย มันก็เอาชนะโลกได้ เพราะว่ามันไม่ตาย ดูซิมันไม่ตาย ในส่วนความทุกข์ทางจิตใจ มันก็มีน้อยกว่าคน มันก็ไม่มีส่วนที่มันชนะได้ในทางจิตใจของมัน แต่ว่านั่นมันเป็นธรรมชาติช่วย ธรรมชาติไม่ได้ให้สติปัญญาแก่มันมากมาย มันคิดไม่ได้ลึกซึ้งเท่านั้น ไม่รู้จักโลภ ไม่รู้จักโกรธ ไม่รู้จักหลง เหมือนกับคน มันจะมีความทุกข์ในส่วนนั้นน้อย ถ้าพูดอย่างนี้เราก็เสียเปรียบสัตว์ทุกที่ เพราะว่าเรา อุตส่าห์ไปรู้มันมาก ไปรู้มากเข้า มันจึงยากนาน คนไปรู้เกินกว่าระดับสัตว์ มันก็ต้องมีปัญหามากกว่าสัตว์ ที่นี้เราจะเอาว่า จะดีกว่า จะสูงกว่า จะอะไรกว่า ก็ต้องดันทุรังไปตามประสาของมนุษย์ ไม่ย้อนกลับไปเป็นสัตว์ เพราะวิวัฒนาการมันหมายความว่า มันก้าวต่อไปข้างหน้า แต่มันก็เคียงคู่กันไปกับ ความทุกข์ยากลำบาก ความเจริญทางวัตถุก็ต้องเคียงคู่กันไปกับความยากลำบากในทางวัตถุ ความเจริญในทางจิตใจก็ต้องเคียงคู่ไปกับความยากลำบากในการศึกษา ฝึกฝน อบรมในทางจิตใจ แต่แล้วในที่สุด มันก็ได้ผล เป็นการชนะที่อยู่เหนือความทุกข์นั้น นี่ทั้งหมดนี้ ที่พูดมานี้ก็แสดงให้เห็นสิ่งที่เรียกว่า ธรรมชาติหรือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ คือ สิ่งต่างๆ ที่มันเปลี่ยนแปลง วิวัฒนาการไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ และมันก็ได้แก่ เนื้อหนัง ร่างกาย จิตใจของคนเรานี่เอง คนเราส่วนร่างกายก็ดี ส่วนจิตใจก็ดี มันเป็นตัวธรรมชาติ มันอยู่ใต้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ มันเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เกิดขึ้นอย่างนั้น เราเรียกว่า ทุกข์ เกิดขึ้นอย่างนี้ เราเรียกว่า สุข เลยนั้นไปก็ต้องเรียกว่า เหนือทุกข์ เหนือสุข นั้นเป็นเรื่องของธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นผู้บังคับบัญชา ถ้าถามว่า ใครสอน มันก็ธรรมชาติสอน เช่น ความเจ็บปวดมันสอนให้ฉลาด นี่เราเรียกว่า ธรรมชาติสอน พ่อแม่ก็ไม่ได้สอน ครูบาอาจารย์ก็ไม่ได้สอน พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้สอน เจ้าความทุกข์มันสอน ความผิดพลาดตามธรรมชาติ นั้นมันสอน บางคนก็ถอยหลังกลับในส่วนนั้น มันมาหาธรรมชาติฝ่ายที่ตรงกันข้าม แล้วก็ไม่ทุกข์ มันก็เป็นธรรมชาติสอนอีกว่า อย่างนี้ไม่ทุกข์ เราก็เลยยึดเอาฝ่ายนี้มากขึ้นๆ จนกว่าชนะความทุกข์มากขึ้นตามลำดับจนหมดทุกข์เลย จนเหนือความทุกข์โดยประการทั้งปวง ทั้งหมดนี้เราเรียกว่า ธรรมชาติก็ได้ จะเรียกว่า ธรรมเฉยๆ ก็ได้ จะเรียกว่า พระธรรมก็ได้ ธรรมที่เป็นกุศล เป็นอกุศล เป็นอัพยาจิต มันได้แก่ สิ่งเหล่านี้ทั้งหมด
ฉะนั้นธรรมะนั่นแหละ มันเป็นอะไรทั้งหมด มันเป็นกายก็ได้ เป็นจิตก็ได้ เป็นความสุข ความทุกข์ เป็นอะไรก็ได้ทั้งหมด มันก็ต้องจัดการกันโดยธรรมะเหล่านั้นเอง โดยธรรมชาติเหล่านั้นเองไม่มี ตัวตน บุคคล อะไรแห่งอื่นที่ไหน ธรรมชาติร่างกายต้องเป็นอย่าง ธรรมชาติจิตต้องเป็นอย่างนี้ เมื่อมีสิ่งนี้ เข้ามาแวดล้อมปรุงแต่ง มันก็เป็นอย่างนี้ เมื่อมีสิ่งอื่นเข้ามาแวดล้อมปรุงแต่ง มันก็เป็นอย่างอื่น มันก็เป็นๆ อย่างที่เป็นกันมานี่ แต่จิตนี้มันยังโง่อยู่ตลอดเวลา คือ มันเข้าใจผิดว่า เป็นตัวกูนี่ เลยพูดว่า ตัวกูอย่างนั้น ตัวกูอย่างนี้ ตัวกูจะสอนตัวกูนี่ มันพูดเพ้อๆ โดยสมมติทั้งนั้น ทว่าโดยแท้จริงแล้วมันเป็นตัวธรรมชาติ ซึ่งมีความรู้สึกคิดนึกได้ แล้วมันก็รู้สึกเข็ดหลาบอยู่ในธรรมชาตินั้น ทางแต่ด้านจิตใจนั้นมันเกิดความรู้สึกเข็ดหลาบ ฉลาด สูงขึ้นทุกทีๆ นี่ธรรมชาติมันวิวัฒนาการไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ
ฉะนั้นท่านผู้รู้ท่านจึงกล่าวว่า เอ่อ สุทธิ ธัมมา ปรัต ตันติ ธรรมชาติล้วนๆ ไป หรือว่า สังขาร ระสัง ตันติ (นาทีที่ 57.37) การสืบต่อของสังขารที่เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่กลัวต่อตัวตนบุคคลเรา เขากันที่ไหน แต่เดี๋ยวนี้เราก็ยังคิดว่าเป็นบุคคล เป็นเรา และที่ร้ายกาจมาก ก็ว่า เราเก่ง แล้วก็พูดจ้อ พูดฟุ้งไปที่เดียว ว่าเราอย่างนั้น เราอย่างนี้ เราเก่งอย่างนั้น เราเก่งอย่างนี้ มันก็พูดให้ผีหัวเราะ เพราะมันไม่จริง แต่ถ้าเมื่อใดมันมารู้ว่า มันเป็นธรรมชาติ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย ของธรรมชาติตามกฎเกณฑ์ของปฎิจจสมุปบาท หรือตามกฎเกณฑ์ของอะไรก็ได้ ที่เรียกว่า เป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติก็แล้วกัน นี่เราไม่มีตัวตนของเราเลย อย่างนี้เราจะทำอย่างไร ก็อะไร มันมีอยู่ นั่นแหละมันทำ ร่างกายมันมี มีเส้นประสาทรับสัมผัส รู้ร้อน รู้หนาว รู้สุข รู้ทุกข์ ถ้ามันโง่ไปหา สิ่งทำให้เกิดทุกข์ มันก็รู้จักเข็ดหลาบ อย่างเดียวกับยกตัวอย่างว่า ต้นไม้งอกงามไปทางทิศนี้ ถูกสังกะสีร้อน มันก็หดไปทางทิศอื่น ไม่ต้องเป็นคน เป็นตัวตนอะไร คนเราก็เหมือนกัน แม้จะวิเศษอย่างไร ถ้ามันยื่นไปทางนี้ ที่ไปโดนความทุกข์เข้ามันก็หด นี่คือ ความฉลาด จึงสามารถที่จะตักเตือนตนด้วยตนได้ หรือว่าด้วยจิตดวงเดียวนั่นแหละ สามารถเปลี่ยนจากความทุกข์เป็นความสุขได้ เรียกว่า มันสอนอยู่ในตัวมันเอง ความทุกข์มันสอนให้เข็ดหลาบ ความเข็ดหลาบมันก็สอนให้รู้จักทำอย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น จนไม่ต้องทุกข์อีกต่อไป เมื่อรู้ในอันดับแรกก็เรียกว่า ชนะโลกเป็นอันดับแรก จะเรียกว่า โลกนี้กันก่อน ชนะโลกนี้ให้เป็นโลกุตระต่อโลกนี้ เมื่อไม่ยากจน ข้นแค้น ไม่โง่เง่า ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่อะไรชนิดที่เรียกว่า เป็นปัญหาทางโลกนี้ ชนะโลกนี้ได้อย่างนี้ก่อน ก็เป็นเหนือโลกนี้แล้ว ดีไหม มันก็ดีกว่าที่ไม่ชนะ ทีนี้ถ้ามีอะไรที่เหนือไปกว่าโลกนี้ก็คือ โลกหน้า ก็อย่าให้มันทำอันตราย อะไรเราได้ อย่าไปหลงกับมัน นี่ก็เรียกว่ามันเหนือโลกขึ้นไปทุกที เหนือโลกนี้ก่อน แล้วก็เหนือโลกอื่นด้วย ทีนี้ก็เหนือโลกทั้งปวง คือ ไม่มีโลกไหนที่จะมาทำให้หลงได้ มาหลอกให้หลงได้ เรียกว่า ชนะทุกโลก ก็เลยเป็นโลกุตระอันดับแรก เป็นโลกุตระอันดับกลาง เป็นโลกุตระอันดับสุดท้าย แม้ปุถุชนก็มีลักษณะแห่งโลกุตระได้ ถ้าพูดถึงโลกเตี้ยๆ โลกต่ำๆ โลกง่ายๆ โลกของเด็กอมมือ เราชนะโลกของเด็กอมมือได้เสียก่อน ก็พอจะเรียกว่า เริ่มต้นโลกุตระ แล้วก็ชนะต่อไปจนเป็นชั้นพระโสดา สกิทาคา ชนะได้ไม่หมดทุกข์โลก (นาทีที่ 01.01.10 ฟังไม่ออก) จนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ ชนะหมดทุกโลก พระโสดาบันนั้นยังชนะโลกได้ไม่หมด เป็นแต่เพียงแน่นอนว่า จะชนะได้เท่านั้นเอง นั่นก็นับว่าวิเศษแล้ว ถ้าไม่มีการตระเตรียมที่ถูกต้องมาก่อนในชั้นปุถุชนอยู่เฉยๆ จะโผล่เป็นพระโสดาบันขึ้นมาได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ต้องมีการตระเตรียมมาในลักษณะอย่างเดียวกันที่มันเข้ารูปกัน ชนะแม้แต่ความทุกข์น้อยๆ ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความยากจน ชนะขึ้นมาเถอะ มันจะเรียกว่าอยู่ เหนือโลกขึ้นมาตามลำดับทั้งนั้น ถ้าเป็นโลกียะ มันก็ใช้ไม่ได้ คือ มันจมอยู่ในกองทุกข์
ฉะนั้นเราเตรียมที่จะขึ้นอยู่เหนือ สิ่งที่เรียกว่า โลกียะทำให้รอดสูงขึ้นมาได้ตามลำดับ นี่ เรียกว่า สิ่งที่เรียกว่า ชีวิตร่างกาย นี่มันสอนของมันได้ ในตัวมันเองโดยธรรมชาติ ตามวิธีทางธรรมชาติ โดยกฎของธรรมชาติ ถ้าไม่เคยทราบข้อนี้ ก็ขอให้ได้ทราบเสียว่า เดี๋ยวนี้มันขึ้นปีใหม่แล้ว วันนี้มันขึ้นวันปีใหม่แล้วที่เราต้องงดแล้ว เราไม่ควรจะโง่เท่าเดิม ถ้าว่ายังโง่อยู่เท่าเดิม มันก็ไม่มีปีใหม่ ไม่ควรจะเรียกว่า มีปีใหม่ เพราะมันโง่เท่าเดิม จะให้มันฉลาดกว่าปีเก่า มันควรจะรู้อะไรที่ยังไม่รู้ เพราะฉะนั้นถ้าใครยังไม่รู้ เรื่องที่สำคัญนี่ ก็ขอให้รู้เถอะ แล้วก็รู้เพิ่มขึ้นทีละนิดๆ ทุกๆ ปี ปีหนึ่งเพิ่มขึ้นนิดหนึ่ง ปีหนึ่งเพิ่มขึ้นนิดหนึ่ง นั่นแหละมันจะมีปีใหม่ๆ ที่แปลกออกไปตามลำดับ
สำหรับวันนี้ก็พูดแต่ในแง่ที่ว่า ขอให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า จิตนี่มันช่วยตัวมันได้ด้วยการสอนตัวมันเองได้ ตัวตนมันสอนตัวตนได้ มันเป็นการเตือนตนด้วยตน การพิจารณาด้วยตนของตน นี่พูดโดยสมมติ ถ้าพูดไม่สมมติ พูดจริงๆ กันแล้วว่า ธรรมชาตินั่นแหละ มันเป็นทุกข์ได้ แล้วมันก็สอนในตัวมันเองให้ถอยมาเสียจากความทุกข์ได้โดยความรู้สึกชนิดที่ เรียกว่า เตือนได้เองหรือสัญชาตญาณ ที่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ไม่ว่าชีวิตไหน ชีวิตระดับต้นไม้ก็มี ชีวิตระดับเดรัจฉานก็มี ชีวิตระดับมนุษย์ก็มี เพราะทุกชีวิตมีพรวิเศษอันหนึ่ง คือ รู้จักเข็ดหลาบ แล้วก็รู้จักปรับปรุงแก้ไขในตัวมันเอง ถ้าชีวิตชนิดไหนไม่มีความรู้สึกเข็ดหลาบ มันตายแล้ว มันไม่มาชีวิตอยู่ได้จนถึงเดี๋ยวนี้ มันสูญหายไปหมดแล้ว มันก็มีส่วนที่เป็นความรู้สึกเข็ดหลาบ แล้วหลีกเลี่ยงหรือต่อต้านจนรอดชีวิตมาได้ มันจึงถือว่าสิ่งนี้เป็นของคู่กันมากับชีวิต ถ้ามันรอดมาๆ จนบัดนี้แล้วก็เจริญวิวัฒนาการเรื่อยไป จนถึงระดับที่สูงสุดที่สิ่งที่เรียกว่าชีวิตมันจะไปถึงได้ เช่น ความเป็นพระอรหันต์ เป็นชีวิตที่ประเสริฐสูงสุด ไม่มีระบบชีวิตชนิดไหนจะสูงเท่า นี่คือ สิ่งที่ว่าเราจะพูดกัน สำหรับวันปีใหม่ก็จะได้ปรับปรุงขยับขยายให้มันเป็นอย่างนี้มากขึ้นๆ นั่นเอง
ทีนี้ที่เหลืออยู่อีกหน่อยหนึ่ง ก็อยากจะพูดเพื่อให้เกิดความไม่ประมาท หมายความว่า สิ่งที่เรียกว่าชีวิตนี้ มันไม่มีอะไรที่แน่นอน มันเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยที่แวดล้อม ถ้ามันไปโง่ มันไปต้องการมาก มันก็ร้อนมาก แล้วมันก็รู้สึกไม่อิ่ม ไม่พอ ความไม่รู้สึกอิ่ม ไม่รู้สึกพอ นี่มันเป็นความทนทุกข์ทรมาน เขาเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า มันเป็นเปรต คือมันเป็นอบายชนิดหนึ่ง เป็นเปรตหิวเหลือประมาณ เพราะมันเข้าใจสิ่งต่างๆ ไม่ถูกต้อง มันจึงหิว พอหิวมันก็กระวนกระวาย กระสับกระส่าย รู้สึกว่า เวลานี่มันวิ่งไปเลย คนที่มีความอยาก มีตัณหามาก เวลามันวิ่งเหมือนกับบินไปอย่างนั้นแหละ ถ้าเรามีกิเลส มีตัณหาน้อยหน่อย เวลาก็เหมือนเดินไปช้าๆ ถ้าเราไม่ต้องการอะไรเลย เวลามันก็หยุด หยุดเลย สำหรับคนนั้น ไม่ล่วงไปเป็นวัน เป็นเดือน เป็นปีอะไร ถ้าใครมันไม่ต้องการอะไรเลย เดี๋ยวนี้มันยังต้องการนั่นนี่อยู่ ท้ายที่สุดต้องการมรรคผล นิพพาน มันไม่ทันแก่ความต้องการ มันยังรู้สึกว่าเวลาไม่พอ เหมือนกับว่าเวลามันวิ่งไปเสีย เราทำไม่ทัน นั่นแหละคือความทุกข์ เพราะมันทำให้เรามีอายุสั้น พอเรามีกิเลสมาก อายุก็สั้น พอเรากิเลสน้อย อายุก็ยาว พอเราไม่มีกิเลสเลย อายุก็เป็นนิรันดร คือ ไม่รู้จักหมด จักสิ้น อยากจะเอาเรื่องโบรงโบราณ มาพูดอีก ซ้ำอีก ให้ระลึกนึกกันได้ใหม่อีก เพราะในพระบาลีมีกล่าวไว้ว่า ในสมัยที่มนุษย์ยังไม่รู้จักทำบาปกรรม ไม่มีความชั่วนั่น เค้ามีอายุยืนกัน ๘๐,๐๐๐ ปี มนุษย์มีอายุยืน ๘๐,๐๐๐ ปี คนธรรมดาฟังแล้วไม่เชื่อ หาว่าพูดโกหก หรือว่าพระคัมภีร์ผิด เขียนผิด พระคัมภีร์ได้กล่าวไว้ต่อไปว่า ทีนี้มนุษย์มันประมาท ทำกรรม ทำบาป ทำความชั่วเพิ่มขึ้นๆ อายุของมนุษย์ก็ลดลงๆ เหลือเพียง ๔๐,๐๐๐ ปี ก็ทำชั่วต่อไปอีก อายุมันก็ลดลงเหลือ ๑๐,๐๐๐ ปี ชั่วมากขึ้นอีก ก็ลดอีก จนกระทั่งเหลือ ๕,๐๐๐ ปี ๒,๐๐๐ ปี ๑,๐๐๐ ปี แล้วก็ทำชั่วมากขึ้นไปอีกจนเหลือ ๔-๕๐๐ ปี ๒๐๐ ปี ๑๐๐ ปี กระทั่งเหลือไม่กี่สิบปี ทำชั่วสูงสุดจนอายุเหลือสิบปี มนุษย์ที่มีความชั่วสูงสุดนั้นนะ จัดไว้ว่า มันมีอายุเพียงสิบปี เพราะกิเลส ตัณหามันมาก วันคืนมันไม่พอ เขาเปรียบเทียบอย่างนี้กันต่างหาก ไม่ใช่เอาปีอย่างที่นับ ฝนตกครั้งหนึ่งปีหนึ่งนั้น มันเป็นเรื่องข้างนอก เรื่องข้างในที่เกี่ยวกับเวลานั้นมันมีอยู่ว่า ถ้ามีกิเลสตัณหามาก เวลามันก็ไม่พอ เพราะกิเลสตัณหาจึงดูสั้น ถ้าเรามีมีกิเลสตัณหาน้อย เวลามันก็เหลือมาก เราจึงรู้สึกว่า เวลามันยาว วันคืนมันยาว
นี่ขอเตือนให้ทุกๆ คน นี่นึกดูใหม่ อย่าประมาทเลย เพื่อจะเข้าใจเรื่องนี้ดีว่า เราเป็นเด็กๆ เล็กๆ อายุ ๕ ขวบ ๗ ขวบ นั่นเรารู้สึกว่า วันคืนมันยาว นอนตื่นหนึ่ง แล้วไปวิ่งเล่นเสียพักหนึ่ง แล้วก็มานอนอีกตื่นหนึ่ง แล้วไปวิ่งเล่นเสียพักหนึ่ง ทำอย่างนี้ได้วันละหลายๆ หน แหม, วันคืนมันช่างยาวจริง อาตมายังจำได้ ยังจำความรู้สึกอันนี้ได้ คนอื่นไม่ทราบ แต่ว่าความรู้สึกของอาตมาเองยังจำได้ว่า เมื่อเด็กๆ ทำไมวันคืนมันจึงยาว นอนแล้วนอนเล่า วันหนึ่งหลายๆ หน มันก็ไม่ค่ำสักที พอมาเดี๋ยวนี้อ่านหนังสือนิดหนึ่งยังไม่ทันจบ มันก็ค่ำเสียแล้ว ทำอะไรยังไม่ทันนั่น มันก็ค่ำเสียแล้ว เดี๋ยวนี้เพราะว่าเรื่องมันมาก ความต้องการมันมาก ความรับผิดชอบมันมาก ก็คือ ความอยากมันมาก วันมันถึงสั้น ถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว มันคงผิดกันสักสิบเท่า เห็นจะได้ เมื่อเรายังเป็นเด็กตัวเล็กๆ รู้สึกว่า ความยาวของวันคืน มันเท่านั้น เดี๋ยวนี้เรารู้สึกว่ามันหดสั้นมาสักสิบเท่า นี่สมมติว่า เวลานี้เรามีอายุสมมติว่า ๕๐ ปี เมื่อเด็กๆ เราคงมีอายุ ๕๐๐ ปี มันต้องสิบเท่าเสมอ นี่คิดอย่างนี้ มันก็พอมองเห็นได้ เมื่อเป็นเด็กมีความอยากหรือมีตัณหา มีความต้องการมันน้อย วันมันจึงยาว พอโตขึ้นความอยาก คามต้องการมันมาก มันหลายแขนง แล้วก็มากขึ้นๆ วันมันสั้น วันมันสั้นก็ คือ อายุสั้น
ฉะนั้นข้อความที่พูดไว้ในพระคัมภีร์นั้น ถูกต้องดีแล้ว มหาจักรวัตตนสูตร มัชฉิมนิกาย มีพูดไว้อย่างนี้ ถ้าทีแรกเมื่อมันไม่มีกิเลส ไม่มีอะไร อายุมันยืน ๘๐,๐๐๐ ปี แล้วกิเลสเพิ่มขึ้น มันลดมาเป็น ๕๐,๐๐๐ ปี เป็น ๑๐,๐๐๐ ปี เป็น ๕,๐๐๐ ปี เป็น ๑,๐๐๐ ปี เป็น ๕๐๐ ปี เป็น ๑๐๐ ปี แล้วเป็น ๕๐ ปี ๒๐ปี จนกระทั่งอายุเหลือเพียง ๑๐ ปี แต่งงานกันตั้งแต่อายุเพียง ๑ ปี ๒ ปี เพราะมันอยากเร็ว เวลาอยากมาก เวลามันก็เร็ว มันก็สั้น พอมนุษย์มีความเลวมาก มีกิเลสมากจนคำนวณแล้วอายุ ๑๐ ปี นี่ก็ถึงยุคที่เรียกไว้ว่า สังฆังตรกัน(นาทีที่ 01.12.21) คือ ยุคที่มนุษย์นิยม บูชา การใช้อาวุธ จะเรียกว่ายุค สังฆังตรกัน (นาทีที่ 01.12.33) เพราะกิเลส ตัณหา หรือความเห็นแก่ ตัวกู มันมากๆๆ เข้มข้นมาก เลยบูชาการใช้อาวุธ แทนที่จะบูชาธรรมะ ก็เลยเกิดสิ่งที่เรียกว่า มิคสัญญี ในสังฆังตรกัน (นาทีที่01.12.50) นั้นมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี เลยนะ ระวังให้ดี มันได้แก่ตัวเราที่นั่งอยู่ที่นี่ แล้วก็นิยมใช้อาวุธ เป็นเครื่องเผด็จประโยชน์ก็เลยเป็นมิคสัญญี ไม่นับ ไม่ยอมรับนับถือว่า คนเป็นมนุษย์ หรือ คนเป็นคน เห็นว่าเป็นสัตว์ มิคะ แปลว่า สัตว์ที่เราจะฆ่ามันมาแกง มาอะไรอย่างนั้นแหละ เรียกว่า มิคคะ แล้วก็มิคสัญญี แปลว่า สัตว์ไม่รู้สึกอะไรในการที่จะฆ่ามันให้ตาย มันเหมือนกับเราตบยุง เราไม่ค่อยรู้สึก แต่ถ้าเราไปฆ่าคน เรารู้สึกว่า มันเป็นคนด้วยกัน เดี๋ยวนี้เรารู้สึกได้ด้วยว่า คนมันเหมือน กับยุง ก็เลยตบคนเหมือนกับตบยุง นี่มีการใช้อาวุธประหัต ประหารกัน ไม่มีธรรมะ ไม่มีศาสนา ไม่มีพระเจ้า ไม่มีอะไรเหลือแล้ว ยุคมิคสัญญี พอประโยชน์มันขัดกัน มันก็ฆ่ากันอย่างฝ่ายหนึ่งเป็นสัตว์ เป็นเนื้อทราย หรือว่าเป็นยุงก็เลยฆ่ากันใหญ่ เหมือนกับใช้ระเบิดปรมาณูโยนใส่กันอย่างนั้น ทีนี้มนุษย์ส่วนน้อยส่วนหนึ่ง มันก็คิดว่า โอย, ไม่ไหว เราไม่ฆ่าใคร เราไม่อยากให้ใครฆ่าเรา ก็เลยหนีๆ ไปสุดไกล ไกลสุดที่เรื่องราวเหล่านี้ มันจะตามไปถึง ทางนี้เขาฆ่ากันๆ ในที่สุดแล้ว ตายหมดแล้ว ที่เหลืออยู่ไม่กี่คนนั้นนะ มันก็กลับมาดู พอมาเห็นมันสังเวช จิตใจ หดเหี่ยวเหลือประมาณ บอกไม่ถูก มันก็เลยเปลี่ยนจิตใจ เพราะมันถึงขนาดนั้น มันเปลี่ยนจิตใจ ว่า เอ้า, นี่ไม่ไหวแล้ว ทำอย่างนี้ไม่ไหวแล้ว ตั้งต้นกันใหม่ ตั้งต้นกันใหม่ ประพฤติธรรมกันใหม่ มนุษย์ที่เหลือตายนั้นนะ มันก็เลยตั้งต้นประพฤติธรรมกันใหม่ ไม่ถือระบบ มิคสัญญี ไม่ถือระบบสังฆังตรกัน (นาทีที่ 01.15.01) มันจะเปลี่ยนมาเป็นอะไร วัฎกัน (นาทีที่ 01.15.06) ต่ออีก ต่อไปอีก มันก็ประพฤติธรรมมากขึ้น อายุก็ยาวขึ้นจาก ๑๐ ปี เป็น ๒๐ ปี ๕๐ ปี ๑๐๐ ปี จนกระทั่ง เป็น ๑,๐๐๐ ปี ๕,๐๐๐ ปี ๑๐,๐๐๐ ปี กระทั่ง ๔๐,๐๐๐ ปี กระทั่ง ๘๐,๐๐๐ ปีอีก ยุคนี้คือยุคที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า เมตตายะ จะปรากฏพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนี้ มันมีอยู่ในคัมภีร์อย่างนี้ ไม่ใช่เรื่องนอกคัมภีร์ เรื่องพระเมตรัยมีอยู่ในพระคัมภีร์เพียงอย่างนี้ ไม่วิจิตรพิสดารเหมือนกับในคัมภีร์พิมาลัยที่เขียนกันที่หลัง คัมภีร์พระมาลัยที่เขียนตามผนังโบสถ์ หรืออะไร ที่เขียนเรื่องพระศรีอารย์ มันเขียนมากเกินไป แต่ก็ไม่ผิด เป็นหมายเดิมนั่นแหละ คือ ไม่มีบาปกรรม มีแต่ความผาสุก ไม่มีการเบียดเบียน ในบ้านเมืองสมัยพระเมตรัย ไม่มีการเบียดเบียน อยู่กันเป็นสุข มารดาให้บุตรน้อยเต้นรำอยู่บนทรวงอก คือ มันไม่มีเรื่องทุกข์ร้อน แม่จะนอนให้ลูกเต้นอยู่บนอกได้ทั้งวันทั้งคืนอย่างนี้ หรือว่าไม่ต้องปิดประตูเรือนอย่างนี้ เพราะมันไม่มีการเบียดเบียน คิดว่าขยายความจากนั้นมากออกไปแต่มันก็ไม่ถึงกับขัดกัน มีความสะดวกสบาย มีต้นกัลปพฤกษ์ ใครต้องการอะไร ไปเอาได้ที่ต้นกัลปพฤกษ์ ก็หมายความ ไม่มีใครอยากอะไร ไม่มีใครอยากได้อะไรเลย มันเป็นของธรรมดาไปหมด แก้วแหวน เพชรพลอย เงินทอง วิเศษวิโส มันเป็นของขี้ฝุ่นไปหมด เพราะมันเต็มไปที่ต้นกัลปพฤกษ์ ใครต้องการไปโกยมากี่กระบุงก็ได้ มันก็เลยไม่มีใครอยากอะไร นี่ศาสนาพระเมตไตรยเป็นอย่างนี้ พลเมืองมีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี แล้วพอลงจากบ้านจำกันไม่ได้ แล้วว่าใครเป็นใคร เพราะมันดีเหมือนกันไปหมด ทุกคนมันดีเหมือนกันไปหมด ไม่มีคนบาป พอลงจากเรือนเลยไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ดีเหมือนกันไปหมด ไม่มีคนอื่น ไม่มีศัตรู ไม่มีเรา ไม่มีเขา มีแต่คนดี นี่บ้านเมืองของพระเมตไตรยเป็นอย่างนี้ แล้วคนอายุยืน ๘๐,๐๐๐ ปี ทีนี้คนมันไปยึดถือตัวเลข ๘๐,๐๐๐ ๔๐,๐๐๐ พันนี่มันโง่ มันไม่เทียบส่วนตามกิเลส ถ้ากิเลสมาก อายุมันสั้น ถ้ากิเลสน้อย อายุมันยาว ไม่มีกิเลสเลย เทียบกับอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี กิเลสไม่ปรากฏ มีแต่การทำดี ทำบุญ ทำบุญ นี่สมมติว่ามันเป็นไปได้นะ โลกวันนี้ชวนกันหยุดทำบาปซิ มันก็เป็นโลกพระศรีอาริย์ขึ้นมาทันที ไม่มีใครต้องการอะไรที่จะไปลักขโมยของใคร ไม่มีใครเร่าร้อนเป็นโรคเส้นประสาท เพราะมันไม่ได้ตามชอบใจ นี่มันก็สบายกันไปหมด มันไม่กลัวตาย มันเห็นอนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา มันหัวเราะเยาะความตาย มันก็เลยไม่มีความทุกข์ เกี่ยวความเจ็บ ความไข้ ความตาย เป็นของสนุก เป็นของน่าหัวเราะ มันสบายอย่างนี้ นี่กลับไปถือธรรมะกันอีก เท่านั้นแหละอายุก็จะพรวดเดียวไปถึง ๘๐,๐๐๐ ปีได้ เดี๋ยวนี้ถ้าอยากจะคำนวณแล้วเรา มนุษย์ในโลกปัจจุบันนี้จะมีอายุ ๑๕ ปี หรือจวนๆ จะ ๑๐ ปี เข้าไปแล้ว มันเป็นสังฆังตรกัน(นาทีที่01.18.45) บูชาการใช้อาวุธ แล้วนักเรียนมันพกปืน ขู่ครูว่า ถ้าให้กูสอบไล่ตก กูยิงมึง นี่ครูมาปรับทุกข์อย่างนี้ มันเลวถึงขนาดมันจะสอบไล่ตก แต่มันยังพกปืน ไปขู่ครูว่า ถ้าลงว่าเราตก เราจะต้องยิง ครูก็กลัว บางที่ก็ให้ได้ไป ทั้งที่มันไม่ควรจะได้ อย่างนี้เขาเรียกว่า สังฆังตรกัน(นาทีที่ 01.19.11) ได้อยู่แล้ว ฉะนั้นมันจะพูดว่าสมัยนี้ สังฆังตรกัน(นาทีที่ 01.19.16) คือ นิยมการใช้อาวุธ มันก็ถูกอยู่แล้ว แล้วมันกำลังจะฆ่ากัน เป็นเนื้อทราย หรือยุง อยู่แล้ว ก็ควรจะถือได้ว่า มนุษย์ในโลกปัจจุบันนี้ มีอายุ ๑๐ ปี หรือ ๑๕ ปี เป็นอย่างมาก ต้องละความชั่วอันนี้ ประพฤติความดีกันใหม่ จิตใจมันจะได้ดีขึ้น เวลามันจะได้ มีอาการเหมือนกับว่า ยาวออกไป ยาวออกไป จะเหมือนกับว่าเราเด็กเล็กๆ นอนหลายตื่น มันก็ยังไม่หมดวันสักที
ที่เอามากล่าวนี้ ก็เพราะเห็นว่า พูดอย่างนี้มันจำง่ายดี แล้วมันน่ากลัวด้วย มันลืมยาก เคยมีอายุยืน ๘๐,๐๐๐ ปี มีความสุข แล้วหดสั้นเข้ามาเหลือ ๑๐ ปี แล้วกำลังจะฆ่ากันเหมือน มิคสัญญี ใครจะรับผิดชอบ มันก็จะต้องคิดพึ่งพระธรรม พระศาสนา คิดพึ่งพระเจ้า คิดพึ่งบุญกุศล กลับตัวเสียใหม่ อายุมันก็จะได้ ถอยไปในทางที่ยาวขึ้นๆๆ เดี๋ยวนี้มันสั้นเต็มทีแล้ว จะเป็นชีวิตยุงกันอยู่แล้ว เอาละเป็นอันว่า มันเป็นเรื่องที่ควรจะเอามาคิดดู ในวันขึ้นปีใหม่ ปรับปรุงกันใหม่ สะสางกันใหม่ ให้สำเร็จประโยชน์สำหรับที่มันจะน่าชื่นใจ สมกับที่ว่ามันใหม่ มันใหม่ออกไป สดชื่นขึ้น ไม่แห้งลง นี่ความหมายของคำว่า ปีใหม่ควรจะเป็นอย่างนี้ หนทางอื่นไม่มี มีหนทางเดียว คือ ให้ธรรมะเข้ามาในลักษณะที่ทุกคนเตือนตนด้วยตน พิจารณาตนด้วยตน เปิดโอกาสให้กุศลเจตสิทธิ์ปรุงแต่งจิต ปิดโอกาสที่อกุศลเจตสิทธิ์ จะปรุงแต่งจิต ที่นี้จิตมันก็เป็นกุศลอยู่เรื่อยๆ ที่นี้จิตดี เจริญ งอกงามไปในทางที่ว่า จะบรรลุมรรคผล นิพพาน จิตมันช่วยจิตได้อย่างนี้ มันสอนจิตได้อย่างนี้ ไม่ต้องมีดวงที่สอง ไม่ต้องมีบุคคลที่สองในตัวมันเอง มันจัดของตัวมันเองได้ เพราะอำนาจสิ่งที่เรียกว่า ความทุกข์ เกิดขึ้นแล้ว เกิดความเข็ดหลาบ และ ความเข็ดหลาบก็เปิดโอกาสในทางที่จะไม่ให้ทุกข์ ให้ความดี ความถูกต้องนั้นเข้ามา ความผิดมันก็ถูกปิด มันไม่เข้ามา ก็เจริญงงอกงามมาตามทางของพระศาสนา ตามคำสอนของพระศาสดาที่เป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย นี่อาตมาจึงถือว่า คำสอนของพระศาสดานี่จะช่วยให้เรามีกำลังใจ มีกำลังศรัทธา มีอะไรที่จะปฏิบัติตามคำของพระพุทธองค์ แล้วก็ดับทุกข์ได้ เป็นที่พึ่งแก่คนทุกคนได้ด้วยเหตุนี้
นี่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรเอามาพูดกันในวันเช่นวันนี้ ซึ่งสมมติกันว่า วันขึ้นปีใหม่ เอาละ, ธรรมเทศนา สมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้