แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาเนื่องในอาสาฬหบูชา เป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ วิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้าตามทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษเนื่องในอภิลักขิตสมัยอาสาฬหบูชา ดังที่เคยกระทำมาในกาลก่อน ซึ่งท่านทั้งหลายก็ย่อมจะทราบได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว สำหรับในวันนี้ที่เรียกว่าเป็นวันอาสาฬหบูชา ก็เคยพูดกัน อธิบายกันมาจนเป็นที่รู้จักกันอยู่โดยมาก คือว่าเนื่องในเดือนอาสาฬหะ มีพระจันทร์เต็มดวง ก็เรียกว่าวันอาสาฬหปุณณมี การบูชาที่ทำในวันนี้ก็เรียกว่าอาสาฬหบูชา แต่ยังมีส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งซึ่งควรจะทราบ ซึ่งอยากจะให้ทราบและก็จะมีประโยชน์ยิ่งขึ้นไป คืออยากจะให้พิจารณาวันนี้ ในฐานะเป็นวันพิเศษและเรียกว่าวันพระธรรม สมัยนี้ก็ชอบจะสมมุติวันนั้นวันนี้ว่าเป็นวันอะไรตามกิจการที่ทำในวันนั้น แต่สำหรับวันอาสาฬหบูชานี้ อาตมามีความเห็นว่าควรจะเรียกกันว่าวันพระธรรม คนเหล่าอื่นพวกอื่นอาจจะเรียกเป็นอย่างอื่น ก็เพราะมีเหตุผลเป็นอย่างอื่น เดี๋ยวนี้เรามีเหตุผลกันอย่างนี้ที่จะทำให้เรียกว่าวันพระธรรม ขอให้ฟังและก็พิจารณาดู
ข้อแรกจะต้องสังเกตถึงข้อที่ว่าเรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เรียงลำดับกันอยู่อย่างนี้ ทีนี้เกี่ยวกับเหตุการณ์ในพระพุทธศาสนานี้ก็เข้าลำดับกันดี วันเพ็ญเดือน ๖ ก็เรียกว่าวันตรัสรู้ ประสูติ นิพพานอย่างนี้เป็นวันพระพุทธเจ้า ต่อมาอีกสองเดือน วันเพ็ญเดือน ๘ พระพุทธองค์ทรงประกาศธรรมจักร คือแสดงธรรมะที่เป็นหลักของพระพุทธศาสนาออกไป และอย่างน้อยก็มีผู้ได้บรรลุธรรมในคราวนั้น ก็เลยเรียกมาตามลำดับว่าวันพระธรรม ต่อมาจนถึงเดือน ๓ ก็มีการประชุมพระสงฆ์ที่เป็นพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ ประดิษฐานคณะสงฆ์เป็นปึกแผ่นมั่นคงในพระพุทธศาสนา หรือว่าในโลกนี้ด้วยก็ได้ จึงเรียกว่าวันพระสงฆ์ เป็นเรื่องที่เนื่องกันมาตามลำดับ จะเอาโดยการนับเวลาเป็นหลัก มันก็ยังได้ลักษณะอย่างนี้ เพราะว่าประเทศอินเดียเขานับเอาเดือน ๕ เป็นต้นเดือน พอถึงเดือน ๖ ก็วันพระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ธรรมจักร ต่อมาถึงเดือน ๘ ก็วันประกาศธรรมจักร ต่อมาถึงเดือน ๓ ปลายปี ก็เป็นวันที่ประดิษฐานคณะสงฆ์ลงเป็นปึกแผ่นในพระศาสนานี้ ก็เลยเรียกว่าวันพระสงฆ์ จะเอาเวลาหรือการนับเดือนเป็นหลักก็เรียงลำดับอย่างนี้ จะเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นหลักก็นับอย่างนี้ เรียงลำดับอย่างนี้ตรงตามคำที่เราพูดกันชินปากว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ดังนั้นอาตมาจึงเห็นว่า วันเช่นวันนี้ เป็นวันที่ควรจะเรียกว่าวันพระธรรม
ทีนี้ก็จะได้พูดกันถึงคำว่าพระธรรม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด คนที่สะเพร่าหรือประมาทก็จะรู้สึกว่าไม่มีความสำคัญอะไรกี่มากน้อย ถ้าว่ากันโดยที่แท้แล้ว พระธรรมจะเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าทุกสิ่ง เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านก็เคารพพระธรรม ท่านตรัสเองว่าพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่จะมีหรือจะมีมาแล้วก็ตาม เคารพพระธรรม นี้ก็ย่อมแสดงว่าพระธรรมเป็นสิ่งที่สูง เป็นที่เคารพของพระพุทธเจ้า หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็ว่าพระธรรมนั่นแหละ ทำบุคคลให้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา พระพุทธเจ้าจะเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาเองง่ายๆ ตามลำพังก็ไม่ได้ ต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่าพระธรรม ถึงขนาดสูงสุดที่จะทำบุคคลให้เป็นพระพุทธเจ้าได้ ก็เพราะตรัสรู้พระธรรม และเหตุปัจจัยที่ทำให้ตรัสรู้ได้นั้นก็เรียกว่าธรรมด้วยเหมือนกัน เพราะคำว่าธรรมมีหลายแง่ มีความหมายหลายแง่หลายมุม เลยเรียกได้ว่าธรรมไปหมด ไม่ว่าอะไรก็เรียกได้ว่าธรรมไปหมด พระสงฆ์ก็เป็นพระสงฆ์ขึ้นมาเพราะพระธรรม เพราะรู้พระธรรม เพราะมีพระธรรม เพราะปฏิบัติพระธรรม เพราะมีหัวใจเป็นพระธรรม ขอให้ท่านลองพิจารณาดูอย่างนี้ จะค่อยเห็นความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่าพระธรรมนั้นมากขึ้น และก็จะชอบใจวันเช่นวันนี้ ว่าเป็นวันพระธรรม เป็นวันสำคัญอย่างยิ่ง จะได้สนใจกันเป็นพิเศษ เมื่ออาตมากล่าวอะไรออกไป ท่านคงจะสนใจฟังมากขึ้นเป็นพิเศษ ให้สมกับที่ว่าวันนี้เป็นวันพระธรรม
เมื่อกล่าวโดยทั่วไป มันยิ่งไปกว่านี้อีก คือมันกล่าวได้ว่าอะไรๆ ก็เรียกว่าธรรมไปเสียทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรม เพราะภาษาบาลีเป็นอย่างนั้นเอง คนที่ไม่เคยเรียนภาษาบาลีย่อมไม่ทราบ แต่ถ้าเคยเรียนบาลีแล้วย่อมจะทราบว่าคำว่าธรรม ในภาษาไทย หรือ ธมฺม ในภาษาบาลีนี้ มันแปลว่าสิ่งและหมายถึงทุกสิ่ง ไม่มีอะไรที่ไม่เรียกได้ว่าธรรม แม้แต่บาปหรือความชั่วก็เรียกว่าธรรม แต่เป็นบาปธรรม เป็นปาปธรรม เป็นอกุศลธรรม เป็นธรรมดำ เพราะคำว่าธรรมน่ะ มันเป็นคำกลางๆ หมายถึงสิ่ง กุศลทั้งหลายก็เรียกว่าธรรม อกุศลทั้งหลายก็เรียกว่าธรรม ที่พูดไม่ได้ว่ากุศลหรืออกุศลก็ยังคงเรียกว่าธรรม ก็เลยไม่มีอะไรเหลือที่จะไม่เรียกว่าธรรม ทีนี้มาดูที่เนื้อที่ตัวของเรา ก็เป็นรูปธรรมอยู่ส่วนหนึ่ง ดิน น้ำ ลม ไฟ อะไรที่เป็นเนื้อหนังนี้ก็เรียกว่ารูปธรรม ก็คือธรรมด้วยเหมือนกัน ส่วนที่เป็นจิตใจก็เรียกว่านามธรรม ก็เรียกว่าธรรมด้วยเหมือนกัน แม้สิ่งที่ไม่มีชีวิตจิตใจ ไม่มีวิญญาณก็เรียกว่ารูปธรรม เป็นรูปธรรมล้วนๆ ดังนั้น ขี้ฝุ่นขี้ผงสักเม็ดหนึ่งก็เรียกว่าธรรม คือมันเป็นรูปธรรม เป็นสิ่งชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้คำว่าธรรมด้วยเหมือนกับสิ่งทั้งหลายเหมือนกัน นี่เรียกว่าโดยภาษาบาลี ไม่ใช่โดยพุทธศาสนาที่จะเรียกว่าพระธรรม หรือธรรมที่เป็นคำสอน แต่ว่าเป็นภาษาบาลีที่เขาใช้อยู่ในอินเดีย เป็นเรื่องของภาษา คำว่าธรรม หมายถึงสิ่งและก็หมายถึงทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไร
คำว่าธรรมนี้ เมื่อตกมาเป็นภาษาไทย เราก็รับเอามาใช้โดยไม่แปล เพราะว่าแปลไม่ไหว แปลไม่ได้ แต่ถ้าจะให้หมายถึงธรรมที่สูง ที่ประเสริฐ ที่ควรเคารพบูชาแล้ว เราก็เติมคำว่า ‘พระ’ ที่เป็นภาษาไทยนี่ เข้าไปข้างหน้าก็เป็น ‘พระธรรม’ ขึ้นมา แต่ถ้าเป็นบาลีก็คง ‘ธรรม’ เฉยๆ คำเดียวเท่านั้นแหละ เพราะว่ากุศลธรรมก็เรียกว่าธรรม โลกุตรธรรมอันสูงสุดก็เรียกว่าธรรม นิพพานก็เรียกว่าธรรม ธรรมคำเดียวกัน ภาษาบาลีเป็นอย่างนั้น แต่พอเป็นภาษาไทยก็เลยแยกกันหน่อย ถ้าฝ่ายที่เป็นของสูงสุด มีประโยชน์ควรเคารพ ควรปฏิบัตินี้เติมคำว่า ‘พระ’ เข้าให้ เป็น ‘พระธรรม’ ที่ดีกว่านั้นอีกก็เติมคำว่า ‘เจ้า’ เข้าไปข้างหลังอีก ก็เลยเป็น ‘พระธรรมเจ้า’ นี่ภาษาไทยเก่งเกินครูอย่างนี้เห็นไหม เพราะฉะนั้นคนไทยไม่ควรจะโง่ ที่ทำอะไรให้มันล้าหลังอยู่ ในทางวรรณคดี ทางอะไรก็ตาม รับมาจากประเทศอื่นโดยเฉพาะประเทศอินเดียแล้วมาทำเก่งเกินครูทั้งนั้น เช่นอักษรศาสตร์ กาพย์กลอนอย่างนี้รับมาจากอินเดีย ทำได้เก่งเกินครู เพราะว่ากาพย์กลอนอินเดียไม่มีสัมผัส หรือแตกคณะ หรือไปหนักในทางครุลหุ ความไพเราะยังน้อยไป ตกมาถึงประเทศไทยมีสัมผัสก็เลยเพราะกว่าเดิม นี่เรียกว่าเก่งเกินครู มีอะไรหลายๆ อย่างที่รับมาจากอินเดียทางวัฒนธรรมและทำได้เก่งเกินครู ทีนี้ศาสนาก็เหมือนกัน พอตกมาถึงมือไทยเรานี้ได้จัดปรับปรุงระบบระเบียบ แม้แต่การพูดจาอะไรต่างๆ ให้มันดีขึ้นกว่าเดิม เก่งเกินครู พระพุทธเจ้านี้เราเรียกว่ามาจากคำว่า ‘พุทธะ’ ล้วนๆ ลุ่นๆ มากลายเป็น ’พระพุทธเจ้า’ ขึ้นมา เติม ‘พระ’ ข้างหน้า เติม ‘เจ้า’ ข้างหลัง ถ้าเป็นภาษาบาลีตามเดิมก็ ‘พุทฺโธ’ อยู่นั่นแหละ ลุ่นๆ อยู่อย่างนั้น ธรรมะก็เหมือนกันมากลายเป็นพระธรรมเจ้า สังฆะลุ่นๆ ก็มากลายเป็นพระสงฆเจ้า ใครจะว่าอย่างไรก็ตามใจ นี่อาตมาอยากจะว่า ว่าเรามันเก่งเกินครู ฉะนั้นต้องรักษาเกียรติอันนี้ไว้ ทำอะไรให้มันดีขึ้นไปเรื่อยๆ อย่าให้มันลดต่ำลงมา เดี๋ยวนี้ระวัง มันมีอะไรที่ทำให้ลดต่ำลงมา
แต่พูดกันบ้าง
สำหรับคำว่า ‘ธรรม’ นั้นหมายถึงทุกสิ่ง ถ้าหมายถึงสิ่งสูงสุดเติมคำว่า ‘พระ’ หรือเติมคำว่า ‘เจ้า’ เข้าไปข้างหลัง ก็วันนี้เป็นวันพระธรรม ก็เป็นวันพระธรรมเจ้า ดูจะรู้จักพระธรรมเจ้ากันน้อยมาก เพราะเห็นหัวเราะร่วนเสียแทบตลอดวันวันนี้ ยังวิ่งไล่กันก็มี ยังดูนั่นดูนี่ก็มี พ่อแม่ปู่ตาย่ายายก็ไม่ได้สอนลูกเด็กๆ ให้รู้ว่าวันนี้เป็นวันพระธรรม ซึ่งควรจะสำรวม ควรจะอดทนควรจะอดกลั้น เรื่องวิ่งเล่นเรื่องหัวเราะเรื่องอะไรกันต่างๆ จับตัวมานั่งข้างๆ ให้สนใจนึกคิดในสิ่งที่เรียกว่าธรรม นี่ทำอย่างนี้ก็คือการสอนศีลธรรมสอนจริยธรรม เดี๋ยวนี้โง่ ไปสอนศีลธรรมด้วยการบอกให้จดใส่สมุดแล้วก็ปิดเก็บไว้เงียบ ที่โรงเรียนที่มหาวิทยาลัยที่ไหนก็สอนศีลธรรมอย่างนี้ทั้งนั้น มันก็ไม่มีศีลธรรมขึ้นมาในจิตใจของเด็กได้ มันอยู่ในสมุดตลอดเวลา ถ้าจะสอนศีลธรรมที่เด็กที่จิตใจของเด็กที่พระธรรมจริงๆ ก็ต้องทำอย่างตัวอย่างที่ว่า เช่นวันนี้เป็นวันพระธรรม ทั้งประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศพุทธบริษัท นี่จะต้องจัดให้เป็นวันพระธรรม สถานีวิทยุก็ยังมีเรื่องเล่นหัว หยาบโลนอะไรอยู่ตามเดิมเหมือนกับวันอื่นๆ วันนี้เป็นวันพระธรรม ดูการกระทำของประเทศไทยที่เป็นพุทธบริษัทสิ มันอย่างนี้อยู่ แล้วก็มาโทษว่าพลเมืองไม่มีศีลธรรมอะไร ไม่มีศีลธรรม ศีลธรรมเสื่อม และมันก็จริงนี่ เพราะแม้แต่สถานีวิทยุแท้ๆ มันก็ไม่จัดวันนี้ให้สมกับที่เป็นวันพระธรรม มีละครหยาบโลน มีอะไรอยู่ตามๆ เดิม โฉบกระโดกอยู่ตามเดิม แล้วชาวบ้านจะทำอย่างไรได้ ที่เป็นหัวหน้าหมู่ หัวหน้าคณะในหลายๆ ฝ่าย บ้านเมืองก็ดี ฝ่ายสงฆ์ก็ดี ก็ไม่ได้จัดอะไรให้เป็นพิเศษ ไม่ต้องพิเศษมากมายอะไรนักก็ได้ เอาแต่เพียงว่าวันนี้สำรวมกันให้มากสักหน่อย อย่ากินอย่าเล่นอะไรให้มันมาก หรือว่างดเสียได้ก็ดี มีจิตใจนึกถึงพระธรรม ถ้านึกได้มากก็จะมีความสลดสังเวชในความโง่เขลาหรือความประมาทของตัว หรือสังเวชในความโง่เขลาของโลกทั้งโลกที่มีความประมาท โง่เขลายิ่งขึ้นทุกที จนหาสันติภาพไม่ได้ มีแต่วิกฤตการณ์วุ่นวาย เป็นทุกข์ทรมานกันไปทั้งโลก และก็ยิ่งขึ้นทุกที เอาเรื่องอย่างนี้มานึกกันในวันเช่นวันนี้ก็เรียกว่าเคารพธรรมอยู่มากทีเดียว จะมีการเห็นธรรมด้วย วันนี้มันมีจิตใจเป็นพิเศษ อบรมเป็นพิเศษ ให้เฉียบแหลมเป็นพิเศษ มองเห็นลึกซึ้งเป็นพิเศษถึงธรรมในทุกแง่ทุกมุม ธรรมในตัวเรา ธรรมนอกตัวเรา ธรรมของโลกทั้งโลก กระทั่งว่าที่เป็นการศึกษา เป็นการปฏิบัติ เป็นการได้ผลของการปฏิบัติ ที่มีอยู่ที่เนื้อที่ตัวของเรา ของเพื่อนฝูงของเราหรือของคนในครอบครัวของเรา นี่มันมีอย่างไรบ้าง ถ้าทำอย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นวันพระธรรม เพราะเกี่ยวข้องกับพระธรรม ระลึกถึงพระธรรม นึกถึงอยู่แต่พระธรรม จิตใจมันก็เป็นธรรม
เมื่อท่านทั้งหลายอุตส่าห์มากันแต่ที่ไกล มาจนถึงที่นี่เพื่อจะทำอาสาฬหบูชาที่นี่ อาตมาก็ขอร้องอย่างนี้ จะถูกใจหรือจะไม่ถูกใจนั้นมันอีกเรื่องต่างหาก แต่ถ้าว่าพูดตามความจริงแล้วต้องเป็นอย่างนี้ คือต้องจัดทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นธรรม ให้เป็นไปเพื่อธรรม ประกอบด้วยธรรม อาบรดอยู่ด้วยสิ่งที่เรียกว่าธรรม หรือถ้ามันเป็นเรื่องความทุกข์ความร้อน ก็เอามาคิดมานึกมาพิจารณาให้เห็นว่ามันเป็นอย่างนี้จริงๆ ก็จะเป็นวันพระธรรม เต็มไปด้วยธรรม ถ้ายังไม่ได้ทำก็ทำกันเดี๋ยวนี้ก็ได้ ก็เริ่มทำกันเดี๋ยวนี้ก็ได้ ให้มากไปกว่าเวลาอื่น
นับตั้งแต่พิจารณาถึงปัญหาที่กำลังมีอยู่ สิ่งที่เรียกว่าปัญหานั้นมันต้องหมายถึงความทุกข์เป็นแน่นอน ถ้ามันไม่ทำความทุกข์ยากลำบากอะไรให้แล้ว ไม่มีใครเรียกว่าปัญหาเลย อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้รำคาญใจ นี่ ฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าปัญหาต้องเล็งถึงความทุกข์ เราต้องมีความทุกข์ เราจึงจะรู้สึกประโยชน์ของพระธรรม และแม้ตัวความทุกข์เองนั้นก็เป็นธรรมชนิดหนึ่งด้วยเหมือนกัน เป็นธรรมฝ่ายบาปฝ่ายอกุศลที่เราสมมุติขึ้น ว่าความทุกข์นี่เป็นฝ่ายบาป เป็นฝ่ายอกุศล เป็นฝ่ายที่ไม่พึงปรารถนา เลยเรียกให้ว่าอกุศลธรรม หรือปาปธรรมอะไรต่างๆ มันก็เป็นธรรมฝ่ายดำ เราต้องดูให้รู้จักธรรมฝ่ายดำที่มีอยู่ในใจนั่นแหละก่อน แล้วก็มาดูว่ามันจะหายดำไปได้อย่างไร คือจะเป็นขาวไปได้อย่างไร คือการศึกษาต่อไปถึงข้อที่ว่าธรรมะฝ่ายกุศลก็มีอยู่อย่างนั้นๆ จะเป็นคู่ปรับกันอย่างนั้นอย่างๆ ทำความทุกข์ให้กลายเป็นความสุข เดี๋ยวความสุขหายไปความทุกข์มาใหม่ ก็สู้กันอยู่อย่างนี้ เหมือนกับว่าดำกับขาวรบกันอยู่เรื่อย ก็ทำต่อไปอีกว่า ธรรมดำธรรมขาวนี่ไม่ไหว ทำต่อไปอีกให้ถึงธรรมชั้นสูงสุดที่ไม่ดำไม่ขาวที่เรียกว่าโลกุตรธรรม นั้นเป็นธรรมสูงสุดเหนือดำเหนือขาว เหนือดีเหนือชั่ว เหนือบุญเหนือบาป เหนือสุขเหนือทุกข์ เหนืออยู่เหนือตาย เหนือได้เหนือเสีย เหนือ เหนือไปทุกอย่างเลย นี้เรียกว่าธรรมะสูงสุด ก็เรียกว่าธรรมอยู่นั่นเอง เป็นพวกอัพยากตธรรม คือธรรมที่ไม่รู้จะเรียกชื่อว่าอย่างไรก็เรียกว่าอัพยากตธรรม แปลว่าธรรมที่แม้แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้กล่าวไว้ว่ามันเรียกว่าอะไร หรือกล่าวไม่ได้ว่ามันจะเรียกว่าอะไรอย่างนี้ก็ได้ ในที่นี้เราจะเรียกว่าไม่ดำไม่ขาว พวกหนึ่งมันเรียกได้ว่าดำ เป็นไปเพื่อทุกข์ พวกหนึ่งเรียกได้ว่าขาว เป็นไปเพื่อสุข จะมีอีกอันหนึ่งเหนือดำเหนือขาว ไม่ดำไม่ขาว สูงสุด นี้ก็ธรรม
ทีนี้มาดูว่า ธรรมชนิดไหนที่มีความสำคัญสำหรับวันเช่นวันนี้ ซึ่งเราจะเรียกกันว่าวันพระธรรม ก็ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าทุกสิ่งเรียกว่าธรรม มันก็เกิดเป็นธรรมประเภทที่เป็นตัวปัญหาคือความทุกข์ แล้วก็เกิดเป็นตัวสิ่งที่จะแก้ปัญหาคือดับทุกข์ ทีนี้เราจะเลือกชอบเอาแต่ฝ่ายที่ดับทุกข์ว่าเป็นพระธรรมของเราอย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน มันมีเหตุผลอยู่ แต่ว่ามันออกจะเด็กๆ อยู่สักหน่อย ซึ่งชอบขนมชอบลูกกวาด ก็ไม่ชอบยาขมเป็นต้น ต้องนึกดูให้ดีว่าคนเรานี่เนื้อตัวมันเป็นความทุกข์ ที่เราเรียกว่าเราน่ะ ตัวเรา ของเรา ตัวกูของกูน่ะคือความทุกข์ทั้งนั้นแหละ มันเอาตัวความทุกข์เป็นเราเป็นกูอยู่แล้ว เอาธรรมะประเภทดำนี่เป็นตัวกูอยู่แล้ว ทีนี้ก็มีปัญหาเกิดขึ้นมาเป็นความทุกข์ เพราะไปยึดมั่นว่าของกูเข้า มันก็กัดเอา ก็เป็นความทุกข์ ทีนี้เอาพระธรรมที่จะดับทุกข์มาได้ ก็ทำให้เป็นธรรมที่ขาวขึ้นมา พอทุกข์นั้นหายไป ได้ความสุขสบายในใจก็ยึดถือธรรมขาวนี้ว่าของกู มันก็กัดเอาอีก มันกัดอย่างธรรมขาว ธรรมะขาว มันละเอียด มันสุขุม มันลึกซึ้ง มันกัดอย่างไม่แสดงรอยไม่แสดงแผลไม่แสดงความเจ็บปวดด้วยซ้ำไป แต่มันก็หนักอึ้งอยู่เหมือนกัน ในที่สุดมันก็จะช่วยได้ก็แต่ธรรมะที่สูงไปกว่านั้น คือพ้น เหนือ หรือว่างไปเลยจากดำจากขาว จึงจะเรียกว่าสูงสุด ทีนี้เรามันก็โง่อยู่เป็นชั้นๆ ทีแรกก็เอาดำนั่นแหละ ทุกข์นั่นแหละ เอาสังขารเบญจขันธ์นี่ว่าตัวกูว่าของกู แล้วก็มีความทุกข์ขึ้นมา แล้วก็ไม่กี่มากน้อยหรอกมันก็รู้จักเกลียด รู้จักกลัว รู้จักเอือมระอาขึ้นมาบ้าง ก็เลือกไปหาขาว เลื่อนไปหาขาว ก็พอใจกันไปได้พักหนึ่ง และก็เห็นว่านี้มันก็หนักเหมือนกันที่จะมัวยึดถือ แบกทูน หาบหามอยู่ ก็ไม่เอาอีก นี่จึงจะว่าง ที่ว่าจิตใจเป็นอิสระ หลุดพ้นไปได้
ตรงนี้อยากจะขอแทรกนิดหน่อย เพราะว่าบางคนก็ยังไม่ทราบว่าอุตส่าห์มาถึงสวนโมกข์ คำว่าโมกข์นั้นแปลว่าหลุดพ้นออกไปได้ ถ้าเป็นภาษาชาวบ้านแปลว่าเกลี้ยง เราทำอะไรให้เกลี้ยง ล้างให้เกลี้ยง ขัดให้เกลี้ยง ก็คือคำว่าโมกขะนี่ ภาษาที่บ้านในครัวในอะไรก็ตาม คำว่าโมกข์แปลว่าเกลี้ยง คำว่านิพพานแปลว่าเย็น อย่างนี้เป็นต้น แต่ถ้าพอมาใช้เป็นคำของศาสนา คำว่าโมกข์ที่แปลว่าเกลี้ยงนี้ก็แปลว่าหลุดพ้นออกไปได้ ถ้าไม่เกลี้ยงมันก็หลุดพ้นไม่ได้ ถ้ามีสกปรกจับอยู่มันก็ไม่พ้นไปจากความสกปรกนั้น มันจึงเรียกว่าไม่เกลี้ยงคือไม่หลุดพ้น ไม่หลุดพ้นจากของสกปรก คำว่าโมกข์ในภาษาธรรมะแปลว่าหลุดพ้นออกไปได้ คือเกลี้ยงเกลาออกไปได้จากกิเลสและจากความทุกข์ นี้เรียกว่าสวนโมกข์ ก็หมายถึงว่าสวนที่พูดถึงความเกลี้ยง ถ้าเรียกเต็มก็ว่าโมกขพลาราม แปลว่าป่าไม้เป็นกำลังแห่งความเกลี้ยง นี่พูดธรรมดาหน่อย ถ้าพูดเป็นภาษาศาสนาก็ ป่าไม้เป็นกำลังแห่งความหลุดพ้นออกไปได้ เพราะว่าเราได้จัดหลายๆ อย่างให้ช่วยเหลือส่งเสริมให้เกิดความหลุดพ้นออกไปได้เท่าที่เราจะทำได้ นี่คือความมุ่งหมายของสวนโมกข์ หรือกิจการของสวนโมกข์ หรือแม้ที่สุดแต่ว่าผลที่ท่านจะได้รับเพราะมาที่สวนโมกข์ ฉะนั้นถ้าใครไม่รู้จักความเกลี้ยงก็ย่อมไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากความเกลี้ยง จะมาสวนโมกข์สักกี่หน มาให้จนตายก็ไม่ถึงสวนโมกข์ นี่อาตมาบอกว่ามันไม่ถึงสวนโมกข์ ถ้ามันไม่รู้จักกับความเกลี้ยง หรือไม่ถึงความเกลี้ยง ฉะนั้นจึงขอเตือนไว้เป็นพิเศษ แทรกไว้เป็นพิเศษตรงนี้หน่อยว่าสวนโมกข์นั้น มีความมุ่งหมายจะช่วยให้ความสะดวกในการที่จะศึกษารู้จักประพฤติปฏิบัติเพื่อความเกลี้ยงของจิตใจจากความทุกข์ จากกิเลส คำว่าเกลี้ยงนี้เป็นคำสูงสุด มีความหมายสูงสุดเป็นนิพพาน เพราะเกลี้ยงไปจากดำ เกลี้ยงไปจากขาว ถ้าระดับเดียวก็ว่าง หรือพ้น ว่างนี่ก็เพราะว่าไม่มีดำไม่มีขาว ไม่มีอะไรปรุงแต่ง ไม่มีอะไรรบกวน ฉะนั้นความว่างนั่นน่ะเป็นคำที่มีความหมายมากที่สุดในทางธรรม เป็นชื่อของพระธรรม จะว่างจากตัวตน ว่างจากของตน เป็นสักว่าธรรมชาติอย่างนี้ก็มี หรือว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ ก็หมายถึงธรรมอันประเสริฐ หมายถึงนิพพาน นิพพานเป็นธรรมว่างอย่างยิ่งอย่างนี้ก็มี เรามารู้กันว่าสิ่งที่เรียกว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นมาสูงสุดอยู่ที่ธรรมคือความว่าง อย่างที่มีหลักกล่าวอยู่แล้วว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ นิพพานเป็นสุญญะอย่างยิ่ง สุญญะคือว่าง ว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ ว่างจากดีชั่ว บุญบาปสุขทุกข์ ว่างจากทุกอย่างที่เป็นการปรุงแต่ง ถ้ามีการปรุงแต่งมันก็ไม่ว่าง มันก็มีวุ่นวาย ถ้าหยุดการปรุงแต่งก็ว่าง นั่นแหละคือความหมายของคำว่านิพพาน นี่คือธรรมะอันสูงสุด จึงถือนิพพานว่าเป็นบรมธรรม นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา นิพพานเป็นบรมธรรม คือว่าธรรมสูงสุด แต่ก็ไม่พ้นจากความหมายของคำว่า "ธรรม" อยู่นั่นแหละ
ทีนี้เราจะมาดูกันอีกทีหนึ่งว่า ธรรมนี้มันประหลาด ทำไม ดำนี้ก็เรียกว่าธรรม ขาวนี้ก็เรียกว่าธรรม ไม่ดำไม่ขาวก็เรียกว่าธรรม แล้วจะเอาอันแน่กันที่ตรงไหน ความสุขก็เรียกว่าธรรม ความทุกข์ก็เรียกว่าธรรม เหนือสุขเหนือทุกข์ก็เรียกว่าธรรม ดีก็เรียกว่าธรรม ชั่วก็เรียกว่าธรรม เหนือดีเหนือชั่วก็เรียกว่าธรรม มันมีความหมายพิเศษอยู่ที่ตรงไหน ข้อนี้จะรู้ได้จะเข้าใจได้ รู้สึกได้ด้วยว่ามันมีความหมายพิเศษอยู่ตรงที่ว่า ถ้าขึ้นชื่อว่าธรรมแล้วเป็นธรรมชาติ จะไม่เป็นตัวตน ไม่เป็นของตน ไม่เป็นตัวกู ไม่เป็นของกูแม้แก่สิ่งใดเลย ถ้าขึ้นชื่อว่าธรรม ธรรม ธรรมะนี่แล้วก็ต้องเป็นธรรมชาติ ดำก็เป็นธรรมชาติ ขาวก็เป็นธรรมชาติ ไม่ดำไม่ขาวก็เป็นธรรมชาติ นี่คือธรรมทั้งหมด ไม่ใช่ตัวตน สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ก็หมายความว่าธรรมทั้งหลยทั้งปวงไม่ใช่อัตตา คือไม่ใช่ตัวตน มันก็จึงไม่ใช่ของตนด้วย สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย ธรรมทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นตัวตนหรือเป็นของๆ ตน เราก็เลยได้ความว่าคำว่าธรรมนี่แปลว่าธรรมชาติ ถ้าจะให้มีความหมายชัดก็ว่า คือไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นสักแต่ว่าธรรมชาติ เมื่อไม่ยึดถือสิ่งใดโดยความเป็นตัวเราของเรา มันก็ไม่หนัก ไม่หนักก็คือไม่เป็นทุกข์หรือไม่ลำบากหรือไม่ทรมาน ท่านจึงสอนให้ไม่ยึดมั่นถือมั่น พอไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วก็เป็นธรรมที่สูงสุดคือไม่มีความทุกข์เลย เป็นของเกลี้ยง เป็นของเย็น เป็นของดับทุกข์โดยประการทั้งปวง เรียกว่าเป็นธรรมสูงสุด นี้คือพระธรรม ที่แม้แต่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ก็เคารพ
ทีนี้ขอให้ดูให้ดีว่าวันนี้เป็นวันพระธรรม โดยเนื้อแท้เป็นวันพระธรรม โดยเหตุการณ์นี้เป็นวันพระธรรม เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าท่านเปิดเผยธรรม ท่านประดิษฐานธรรมลงไปในโลก ที่เรียกกันว่าประกาศธรรมจักร ธรรมจักรก็หมายความว่าการใช้อาชญาเป็นไปในขอบเขตที่อยากจะใช้ด้วยธรรม ถ้าเป็นเรื่องโลกๆ เขาก็ใช้อาวุธ ใช้อำนาจ ใช้การบังคับข่มขี่ เป็นการใช้อาชญาเป็นไปในอาณาเขตที่เขาต้องการจะใช้ เดี๋ยวนี้พระพุทธเจ้าท่านประสงค์จะใช้อาชญาเหมือนกัน แต่มันเป็นธรรม คืออำนาจของธรรมที่จะประกาศออกไปว่า นี้เป็นอาณาจักรของธรรม เป็นอาณาจักรของพระธรรม ก็หมายถึงพวกเราด้วย พวกเรามันก็คงจะตาบอด โง่เง่าอะไรเกินไป ไม่ยอมรับว่าเป็นหน่วยหนึ่งหรือเป็นพลเมืองตัวหนึ่งคนหนึ่งในอาณาจักรของธรรม วันนี้ท่านก็มัวหัวเราะทัศนาจรกันเสีย ไม่คิดนึกดูให้ดีว่าเราเป็นพลเมืองหน่วยหนึ่งตัวหนึ่งของอาณาจักรของธรรม เพราะว่าเนื้อหนังร่างกายชีวิตจิตใจของเรานี้มันอยู่ใต้อำนาจของธรรม คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สภาวะอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันครอบงำ จับฉวยเอารูปนามอันนี้ไว้ตลอดเวลา เรียกว่ารูปนามอันนี้หรือคนๆ นี้มันอยู่ใต้อำนาจของสิ่งที่เรียกว่าธรรม หรือจะเรียกว่าธรรมะอาณาจักรก็ได้
ทีนี้วันนี้พระพุทธเจ้า วันอาสาฬหะนี้ พระพุทธเจ้าท่านประกาศธรรมจักร คือการใช้จักรอย่างธรรม ไม่ใช่จักรอย่างโลก ให้เป็นที่เปิดเผยแจ่มแจ้งขึ้นมา ให้สัตว์ทั้งหลายรู้ว่าเรามันตกอยู่ในอาณาจักรของธรรม ถ้าพูดให้ชัดหน่อยก็ว่าอยู่ใต้ความบีบคั้นของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะว่าเรามันดื้อ เราไม่ยอมให้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราต้องการให้มันเที่ยง ให้มันสุข ให้มันเป็นตัวกูของกู มันตรงกันข้ามอยู่เรื่อย เราก็ต้องเป็นทุกข์ ตกอยู่ในอาณาจักรของธรรมฝ่ายที่เป็นทุกข์ ทีนี้เรามาทำกันเสียใหม่ให้มันตรงกันข้าม ให้มาอยู่ในธรรมาณาจักรที่ไม่เป็นทุกข์ คือฝ่ายที่ไม่เป็นทุกข์ ที่พ้นทุกข์ ที่เหนือทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านทรงแสดงธรรมาณาจักรส่วนนี้ เรียกว่าธรรมจักรในวันเช่นวันนี้ โดยพระพุทธวจนะที่คนชั้นหลังมาให้ชื่อว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ชื่อสูตรทั้งหลายเหล่านี้พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ตั้งเอง มีอยู่เหมือนกันบางสูตรไม่กี่สูตรที่พระพุทธเจ้าถูกเขาทูลถามว่าธรรมปริยายนี้จะชื่อว่าอะไรดี ท่านก็ว่าธรรมปริยายนี้ชื่อว่าอย่างนั้นอย่างนี้ อย่างนี้ก็มี แต่ก็น้อย แม้ธรรมาณาจักร ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้ท่านก็ไม่ได้ตั้งชื่ออย่างนี้ไว้ให้ แต่พระอาจารย์ชั้นหลังมาพิจารณาเห็นแล้ว เข้าใจแล้วว่ามันเป็นลักษณะอย่างนี้จึงได้ตั้งชื่อพระสูตรๆ นี้ให้ว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร สูตรเป็นเครื่องแสดงซึ่งการเป็นไปเพื่อความสำเร็จแห่งธรรมจักร ธัมมจักกะ ปวัตตนะ และก็ สูตระ สูตรแสดงซึ่งความเป็นไปได้แห่งธรรมจักร คำว่าจักรนี้ ถ้าเป็นภาษาชาวบ้านก็แปลว่าลูกล้อ ล้อกลมๆ นั่นแหละเรียกว่าจักร ล้อเกวียนก็เรียกว่าจักร แต่พอมาเป็นภาษาธรรม มันหมายถึงล้ออย่างอื่น ไม่ใช่ล้อเกวียน คือล้อของธรรมะ แล้วแต่ว่าเราจะพูดกันในเรื่องอะไร จะเป็นสังสารวัฏที่หมุนเป็นวงกลมก็ได้ แต่ในที่นี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสให้เป็นล้อของธรรมที่เป็นความจริงอันประเสริฐที่สุด จึงได้เรียกว่าอริยสัจ สัจจะแปลว่าความจริง อริยะแปลว่าประเสริฐที่สุด ซึ่งมีอยู่ ๔ อย่าง นี่จะเป็นตัวล้อของธรรม ๔ อย่างคือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค รายละเอียดนี่รู้กันดีอยู่แล้วไม่ต้องพูดเพราะว่ามันจะกินเวลามาก มีอยู่ ๔ อย่าง ทำไมจึงไม่เขียนรูปล้อ ๔ ซี่ อาตมาเคยเห็นรูปหินสลักที่โบราณมากเกินกว่าสองพันปีนี้ เป็นรูปล้อ ๔ ซี่ก็มี ไม่ใช่ไม่มี แต่มันน้อยมาก ทีนี้มันกลายเป็นล้อที่ไม่หมุน ทีนี้ต้องการให้หมุนสักซี่หนึ่งก็เลยเกิดเป็น ๓ ขึ้นมาเรียกว่าคืออะไร และจะต้องทำอย่างไร และสิ่งนั้นก็ได้ทำเสร็จแล้ว เรียกว่าสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ เช่นเรื่องทุกข์นี้ เรื่องความทุกข์ที่หนึ่ง ว่ามันมีความจริงอย่างไร และก็หน้าที่ที่เราจะต้องทำต่อสิ่งนี้นั้นอย่างไร และหน้าที่นี้เราได้ทำเสร็จแล้วด้วย นี่มันมี ๓ ขึ้นมาอย่างนี้ เรื่องสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ก็เหมือนกันอีก ว่ามันคืออะไร นี่ต้องรู้ เราจะต้องทำอย่างไร และเราได้ทำแล้วด้วยคือต้องละเสียแล้วก็ละแล้วด้วย นี่ก็เลยเป็น ๓ ขึ้นมา ทีนี้ นิโรธ ดับทุกข์ นี้มันคืออะไร เราจะต้องทำอย่างไร เราทำเสร็จแล้วด้วย คือเราต้องทำให้แจ้งออกมา และเราก็ได้ทำให้แจ้งแล้วด้วย มันก็เลยเป็น ๓ ขึ้นมาอีก ทีนี้ มรรค อัฏฐังคิกมรรค นี่ต้องรู้ ต้องรู้ว่าเราต้องทำอย่างไร และก็ทำเสร็จแล้วด้วยนี่ ก็เลยรู้ว่ามรรคเป็นอย่างนี้ เราต้องทำให้เจริญเต็มที่ แล้วเราก็ได้ทำให้เจริญเต็มที่แล้วด้วย ก็เลย ๓ ขึ้นมาอีก มันเป็น ๔ เรื่อง เรื่องหนึ่งมี ๓ ก็เลยเป็น ๑๒ ขึ้นมา ฉะนั้นวงล้อที่ถูกถ้าหมายถึงธรรมจักรในพระพุทธศาสนาต้องเขียน ๑๒ ซี่ ให้ตรงตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่า ทฺวาทสาการํ มีอาการ ๑๒ ติปริวฏฺฏํ มีปริวัฏ ๓ เพราะอันหนึ่งๆ มันมี ๓/๓ รวมกันก็เป็น ๑๒ เรียกว่า ติปริวฏฺฏํ ทฺวาทสาการํ ธมฺมจกฺกํ อนุตฺตรํ นี่ลูกล้อธรรมจักรจะเขียนให้ถูกต้อง ต้องเขียนเป็น ๑๒ ซี่ ฉะนั้นจึงเห็นลูกล้อที่เขาเขียนถูกต้องนั้นเป็น ๑๒ ซี่ ทีนี้มันก็เริ่มหมุนแล้ว ทีนี้ล้อที่เขาสลักไว้ในหินเก่าแก่กว่าเพื่อนแล้วก็จะมีซี่นับไม่ถ้วน นับได้ ๓๒ ซี่ก็มี บางอันใหญ่มากนับได้ตั้ง ๖๔ ซี่ก็มี จนติดกันไปเลย นี่ก็แสดงว่าเขามุ่งหมายจะให้เป็นล้อที่กำลังหมุน หมุนจี๋อย่างนั้นน่ะ มันจึงดูไม่เป็นซี่ จนนับไม่ไหว ล้ออยู่นิ่งๆ ต่างหากที่เราจะมองเห็นว่าเป็นซี่ๆ เท่านั้นซี่เท่านี้ซี่ เห็นลวดลายต่างๆ แต่ถ้าล้อที่กำลังหมุนจี๋ล่ะก็ มันไม่มีทางจะนับซี่ ฉะนั้นคนโบราณเขาก็ฉลาด เขาทำวงล้อที่มีซี่นับไม่ได้ นับไม่ถึง ติดกันถี่ยิบไปหมด ล้อที่มันหมุนจี๋เป็น ๖๔ ซี่ก็เคยมี แต่ที่ถูกที่แท้มันมี ๔ ซี่ อย่างที่เคยเห็นเหมือนกันในหินสลักที่เขาเคยทำไว้ในอินเดีย ล้อนี้มีเพียง ๔ ซี่หมายถึงธรรมจักรล้วน ทีนี้พวกรุ่นหลังนี่มีความคิดดีไปกว่านั้น ก็เอาล้อ ๔ซี่นี่ มาเติมขากันนิดๆ หนึ่ง เป็นรูปลูกล้อที่กำลังวิ่งเหมือนกัน แต่มีการแสดงซี่เพียง ๔ ซี่ ที่เดี๋ยวนี้ที่เราเรียกกันว่ารูปสวัสติกะ นั่นคือล้อ ๔ ซี่ที่กำลังวิ่งให้มันเป็นเพียงสัญลักษณ์ เพราะถ้ามันวิ่งมันจะเห็น ๔ ซี่ไม่ได้ พยายามไม่ว่าเขา ก็ฉลาดแล้ว ที่จะแสดงความหมายให้เป็นหลักว่ามันมี ๔ เท่านั้น ๔ ซี่เท่านั้น แล้วใส่ขานิดๆ ให้มันเป็นว่าวิ่งหมุนก็แล้วกัน นี้ก็แยบคายดี
ที่อาตมาพูดให้เสียเวลานี่ ก็เพราะเพื่อจะบอกให้ทราบว่าคนโบราณน่ะ เขาเคยคิดเรื่องนี้กันมาก เขาสนใจกันมาก ไม่เหมือนพวกเราขี้เกียจและเหลวไหล ที่จริงจะคิดก็คิดได้และคิดเป็นและก็ไม่เคยคิด และก็ไม่ค่อยสนใจ และที่เขาเคยคิดกันมาแล้วเราก็ไม่ค่อยจะสนใจ ถ้าสนใจก็ไปดูรูปหินสลักบางรูปที่ติดอยู่ที่ฝาผนังตึกนี้ ชนิดที่มีซี่นับไม่ถ้วนก็มี ถ้าเป็นลูกล้ออย่างท่านสร้างแรกๆ ก็จะเป็นอย่างนั้น ทำไมไม่นึกดูบ้างว่านี่ทำไมมันมีซี่นับไม่ไหว ติดกันยิบนี่ เขาก็หมายถึงความเจริญเต็มที่ หมายถึงมันหมุนเต็มที่ มันมีความเจริญเต็มที่ มันดับทุกข์ได้เต็มที่ เดี๋ยวนี้เราไม่ทำอย่างนั้น ธรรมจักรไม่หมุน ธรรมจักรบู้บี้ แตกกระจายหมุนไม่ได้ ล้อธรรมะของเรานี้หมุนไม่ได้ เราทำแตกทำเบี้ยวทำวิ่งไม่ได้ เพราะความเหลวไหลของเรา ความประมาทของเรา ความไม่รู้ของเรา ความที่เราพ่ายแพ้แก่กิเลส ธรรมจักรของเราเลยหมุนไม่ได้เพราะมันบูดเบี้ยวแตกหักไปเสียแล้ว
นี่เป็นสิ่งที่น่าสังเวชที่ควรจะเอามาปลงสังเวชกันในวันนี้ ซึ่งเรียกวันธรรมจักร วันอาสาฬหบูชานี้คือวันธรรมจักร เป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ก็ต้องเรียกว่าเป็นวันธรรมจักร เรียกให้สั้นๆก็เป็นวันพระธรรม จะเรียกอย่างกันลืม ก็เรียกว่าวันลูกล้อก็ได้ วันนี้เป็นวันลูกล้อ ลูกล้อของใครหมุน ลูกล้อของใครไม่หมุน ลูกล้อของใครคดโกง บูดเบี้ยว หมุนไม่ได้ นี่ก็ดูเอาเองก็แล้วกัน ถ้าทำอย่างนี้จึงจะเรียกว่าเอาจริงเอาจังกับวันวันนี้ซึ่งเป็นวันพระธรรม เป็นวันที่จะต้องทำจริงๆ กันกับพระธรรมให้เป็นวันพระธรรม ถ้ายังผิดอยู่ก็ทำให้ถูก ถ้ายังดำอยู่ก็ทำให้ขาว ถ้าขาวแล้วก็ทำให้อยู่เหนือดำเหนือขาว เป็นว่างไป มันยังมีบทเรียนที่ยังไม่จบ สำหรับคนเราๆ นี้มันยังไม่จบ อุตส่าห์ทำต่อๆ ไปให้มันจบ เดี๋ยวนี้ดูแต่ว่ามันจะอยู่ในชั้นเตรียมก็ไม่ได้ คือยังดำมากเกินไปนี่ เป็นชั้นอนุบาลก็ยังไม่ได้ ชั้นเด็กอนุบาลก็ยังจะไม่ได้ เพราะว่ายังประมาทเกินไป ยังดำเกินไป ยังโลเลเกินไป นี่มาประชุมกันทั้งทีในวันนี้ซึ่งเป็นวันของพระธรรม และก็เรียกว่าธรรมจักร และก็เป็นสิ่งสูงสุดที่แม้แต่พระพุทธเจ้าท่านก็เคารพ เราจึงมานึกกันเสียใหม่ว่าเราได้ประมาทอย่างไร ได้เหลวไหลอย่างไร ได้ปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาอย่างไร ทำอาสาฬหบูชากันกี่ครั้งกี่หนแล้ว มันมีอะไรเจริญงอกงามเหมือนกับธรรมจักรที่หมุนนี้บ้าง หรือว่าไม่หมุนเสียเลย จะไม่ต้องพูดถึงว่าหมุนหรือว่าหมุนจี๋ ถ้าว่าธรรมจักรหมุนจี๋จริงๆ เราก็จะไม่มีความทุกข์ บ้านเมืองก็จะไม่มีความทุกข์ โลกทั้งโลกก็จะไม่มีความทุกข์ เดี๋ยวนี้มันไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครรับผิดชอบ ทั้งๆ ที่ประกาศตัวเองว่าเป็นพุทธบริษัท พอพูดอย่างนี้ทุกคนจะนึกได้ว่าเรากำลังเป็นพุทธบริษัทกันแต่ปากเป็นส่วนมาก บางทีเราก็อยากจะเป็นพุทธบริษัทที่ถูกต้องเหมือนกัน แต่มักจะอยากอยู่เฉยๆ ไม่ได้พยายามทำให้มันเป็นพุทธบริษัทที่แท้จริงขึ้นมา เป็นอันว่าต่อไปนี้ควรจะนึกกันเสียใหม่เสียที ว่าจะทำอะไรให้มันเป็นเรื่องที่แท้จริงขึ้นมาสักที จะทำอาสาฬหบูชาก็ให้จริงที่สุด เพราะว่าปีหนึ่งก็วันเดียวเท่านั้น ทำวิสาขบูชา มาฆบูชา อะไรบูชา ก็ให้มันสูงสุด เพราะว่าปีหนึ่งวันเดียวเท่านั้น วันนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา เป็นวันพระธรรม เป็นวันพระธรรมจักร เป็นวันลูกล้อแห่งความเจริญของจิตใจ เดี๋ยวนี้โดยภาษาสากลเขาก็ถือเอาลูกล้อนี้ เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ แต่ก็หมายถึงเจริญทางวัตถุมันก็ยกให้เขา เดี๋ยวนี้เราเป็นเรื่องทางจิตใจ มีเรื่องทางจิตใจ ก็ยังต้องใช้ลูกล้อนี้ มันเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญที่จะหมุนไป เพื่อผลที่มุ่งหมายข้างหน้า จุดหมายปลายทางคือความหลุดพ้นคือนิพพาน
วันนี้เป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงประกาศอนุตตรธรรมจักร อนุตฺตรํ ธมฺมจกฺกํ ปวตฺเตนฺโต นี่ ธรรมจักร ก็แปลว่าลูกล้อแห่งธรรม อนุตตะรัง ก็แปลว่าไม่มีล้อชนิดไหนจะยิ่งไปกว่า อุตตระ แปลว่ายิ่ง อะนะ แปลว่าไม่มี ไม่มีอื่นยิ่งกว่า ก็หมายความในบรรดาลูกล้อทั้งหลายในโลกนี้ ขอให้ยอมรับว่าลูกล้อคือธรรมนี้สูงสุดกว่าลูกล้อใดๆ ทีนี้เราไปเอาลูกล้อทางวัตถุ เจริญทางเนื้อทางหนังทางวัตถุ จนเป็นคนหลงใหลในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ หาศีลธรรมในโลกไม่ได้ มีแต่การเบียดเบียนทั้งโลก เพราะมันไปเอาลูกล้อที่เลว ลูกล้อชั้นเลว ลูกล้อที่หลอกลวงมายา พาไปลงเหว ลงบ่อ จมลงไปในกองทุกข์ อย่าไปเอากับมัน ลูกล้อชนิดนั้นระวังให้ดี คงจะ จะยังคงถือลูกล้อคือธรรมะนี้ไว้เรื่อยๆ ไป เรียกว่า ถ้าเป็นเรื่องในพระพุทธศาสนาแท้ๆ ก็ลูกล้อ ๑๒ ซี่ คืออริยสัจ หรือว่า ๔ ซี่ คือริยสัจนี้ เป็นความรู้ที่สัมพันธ์กันกับการปฏิบัติจนเป็นวงกลม ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความไม่มีทุกข์ ทางให้ถึงความไม่มีทุกข์ นี่ ๔ อย่างนี้สัมพันธ์กันแล้วมันก็เป็นวงกลมขึ้นมา แล้วก็หมุนไปได้ ถ้าไม่สัมพันธ์กันก็หมุนไปไม่ได้ คือความรู้มันตัน มันตายด้าน มันไปไม่ได้ ก็ต้องให้รู้ทั้ง ๔ แล้วมันก็รู้เป็นวงกลมและก็หมุนไปได้ คือปฏิบัติได้ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติจริงๆ มันก็กลายรูปเป็นมัชฌิมาปฏิปทา หรืออัฏฐังคิกมรรค คือความถูกต้อง ๘ ประการ รวมกันเป็นล้ออย่างไรก็ได้ ล้อนี้จะมี ๘ ซี่ ก็ได้ แต่ความหมายเดิมก็มี หมายถึงอริยสัจมี ๑๒ ซี่ ทีนี้จะมีว่ามัชฌิมาปฏิปทา ความถูกต้อง ๘ ประการ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา เป็นต้น ซึ่งดูเหมือนว่าจะทราบและก็ท่องกันอยู่ได้ทุกคน แต่ก็จะท่องแต่ปากกันเสียอีก ไม่ทำให้มีจริงๆ ขึ้นมา เป็นความถูกต้อง ๘ ประการ
ความถูกต้องที่ ๑ ก็คือสัมมาทิฏฐิ ถูกต้องในทางความคิด ความเห็น ความเชื่อ ความเข้าใจก็ตาม นี้เขาเรียกว่าทิฏฐิ ต้องถูกต้อง เราต้องเคยอ่าน เคยยิน เคยฟัง เคยเชื่อ เคยเข้าใจ เอามารวมกันเป็นความถูกต้องของทิฏฐิ นี้มาเป็นข้อแรก และก็จริงที่สุด เพราะส่วนมากก็ติดตันกันอยู่ที่นี่ เพราะขาดสัมมาทิฏฐิข้อเดียว ข้ออื่นก็เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นจึงเอาสัมมาทิฏฐิเป็นเรื่องสำคัญ ต้องมาก่อน แล้วขวนขวายกันให้มาก อย่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ถ้าจะให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เราควรจะให้สัมมาทิฏฐิ ความรู้ ความคิด ความเห็น ความเชื่อ ความเข้าใจก็ตาม ที่มันถูกต้องน่ะ ให้แก่เพื่อนฝูง หรือจะตอบแทนคุณบิดามารดาก็เหมือนกัน จะต้องให้สิ่งนี้ เพราะว่าถ้ามันมีสัมมาทิฏฐินี้แล้ว อื่นๆ มันจะถูกไปได้เอง สัมมาสังกัปโป ความใฝ่ฝัน มันก็ถูกต้อง นี่เพราะมันมีทิฏฐิ ความเห็นความเข้าใจในทีแรกมันถูกต้องแล้ว สัมมาสังกัปโปความปรารถนา ความใฝ่ฝัน มุ่งมาด มันก็ถูกต้องไปหมด สัมมาวาจา การพูดจาก็ถูกต้องไปหมด สัมมากัมมันโต ทำการงานก็ถูกต้อง สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตก็ถูกต้อง สัมมาวายาโม พากเพียร ทุกกระเบียดนิ้วมันถูกต้อง สัมมาสติ จิตระลึกอยู่ด้วยความถูกต้อง สัมมาสมาธิ ความมั่นคงแห่งจิตนั้นก็ถูกต้อง คือเป็นความถูกต้อง ๘ ประการ ถ้าจะรวมตัวเป็นลูกล้อก็ได้เหมือนกัน ทีนี้เป็นล้อโดยตรง ล้อที่จะสร้างความเจริญขึ้นมาทันตาเห็น ถูกต้อง ๘ ประการนี้ เรียกว่าอัฏฐังคิกมรรค เพราะเป็นของประเสริฐ จึงได้เรียกว่าอริยอัฏฐังคิกมรรค และเพราะว่ามันเป็นทางสายกลาง อยู่ตรงกลางจึงเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา
ที่เรียกว่าสายกลางนี้ เข้าใจยาก เพราะความหมายลึกไปจนถึงกับคนธรรมดาเข้าใจไม่ได้ แต่อย่างน้อยสุดก็ว่า อย่างชั้นต่ำที่สุดก็ว่าเป็นกลางอยู่ตรงระหว่าง อย่าให้มันหวานนัก อย่าให้มันขมนัก ถ้าหวานนักมันก็เป็นกามสุขัลลิกานุโยค คือตกไปในทางกามารมณ์ ถ้าขมนักก็เป็นอัตตกิลมถานุโยค ก็ตกไปในทางทำตัวให้ลำบาก ชื่ออีกอย่างหนึ่งก็เรียกว่าอาคาฬหปฏิปทา การปฏิบัติที่เปียกชุ่มนี้เป็นกามารมณ์ นิชฌามปฏิปทา นี้การปฏิบัติที่ไหม้เกรียม นี้เป็นอัตตกิลมถานุโยค มันตรงกันข้ามอยู่เป็นสองอย่าง อย่างนี้มันผิด ให้มันอยู่ที่ตรงกลาง อยู่ที่ตรงกลางก็คือให้มีความคิดเห็นถูกต้อง ใฝ่ฝันถูกต้อง พูดจาถูกต้อง การงานถูกต้อง ถูกต้องทั้ง ๘ นี้ มันอยู่ตรงกลาง อย่าให้เปียกชุ่มเป็นกามารมณ์ อย่าให้แห้งเกรียมเป็นการทรมานตัวให้ลำบาก นี้ก็เรียกว่ากลางเหมือนกัน
ทีนี้มันยังมีความหมายของคำว่ากลางมากไปกว่านี้อีก คือจะไม่เรียกว่าดี ไม่เรียกว่าชั่ว ไม่เรียกว่าบุญ ไม่เรียกว่าบาป ไม่เรียกว่าอะไร ทำไปตรงกลางๆ ไว้เรื่อย จนกระทั่งจะเรียกว่าได้ก็ไม่ใช่ ไม่ได้ก็ไม่ใช่ มีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่อย่างนี้ เป็นกลางไปเรื่อย เกิดก็ไม่ใช่ ตายก็ไม่ใช่ อยู่ก็ไม่ใช่ ไม่อยู่ก็ไม่ใช่ ให้มันเป็นกลางไว้เรื่อย ก็เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ถ้าเป็นโลกิยธรรม เป็นสังขตธรรม ก็หมายถึงอิทัปปัจจยตา ความที่สิ่งทั้งหลายต้องเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยของมันนั่นเอง ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ได้ไม่ใช่เสีย ไม่ใช่บุญไม่ใช่บาป ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ นี้มันเพิ่งว่าทีหลัง เพิ่งบัญญัติทีหลัง ที่แท้มันเป็นธรรมชาติที่หมุนไปตามเหตุตามปัจจัย ใครมีความรู้อย่างนี้เรียกว่ารู้อิทัปปัจจยตา นั้นคือมัชฌิมาปฏิปทาอย่างยิ่ง ไม่ไปข้างไหนหมด มีแต่ไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมะที่เรียกว่าอิทัปปัจจยตา ถ้ามองเห็นอย่างนี้แล้วก็เป็นธรรมะสูงสุด ไม่อาจจะเกิดความรู้สึกเป็นตัวตน เป็นของตน ไม่เป็นตัวกู ไม่เป็นของกู ไม่เป็นอะไรที่จะทำให้เกิดทุกข์ ไม่ยึดมั่นได้เลย เพราะมันไม่ได้ไม่เสีย ไม่แพ้ไม่ชนะ ไม่รวยไม่จน ไม่อะไรไปหมด ความรู้สึกมันเป็นกลางเหมือนกับมันว่าง ถ้าเรารู้สึกว่าได้ เราก็กระหืดกระหอบไปอย่างหนึ่ง ถ้ารู้สึกว่าเสีย เราก็กระหืดกระหอบไปอย่างหนึ่ง ถ้าเรารู้สึกว่ายากจน มันก็กระหืดกระหอบไปอย่างหนึ่ง รู้สึกว่ามั่งมีมันกระหืดกระหอบไปอย่างหนึ่ง ก็เรียกว่ามีความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น เป็นเศรษฐีก็มีความทุกข์อย่างเศรษฐี เป็นคนขอทานก็มีความทุกข์อย่างคนขอทาน ถ้าในจิตใจอย่ารู้สึกทั้งสองอย่างจะไม่มีความทุกข์เลย ทีนี้มันก็หลอกที่ว่า ถ้าลองเอาเราไปเปรียบกันกับคนที่ขอทานข้างถนน เราก็เป็นเศรษฐี ถ้าเราไปเปรียบกันกับมหาเศรษฐีที่เมืองนอก เราก็เป็นคนขอทานคือเป็นคนยากจนอย่างนี้เป็นต้น นี่มันหลอกกันอย่างนี้ อย่าให้ความหมายชนิดนี้มันหลอกเราได้ จึงไม่มีความมั่งมี หรือไม่มีความยากจนสำหรับเรา มีแต่การปฏิบัติที่ถูกต้อง อยู่ตรงกลางแล้วไม่มีความทุกข์เลยก็แล้วกัน นี่ขอให้พอใจในการประพฤติปฏิบัติดำรงจิตใจไว้ในลักษณะที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา คือเป็นทางสายกลาง อยู่ระหว่างทุกอย่างเลย ไม่ทุกข์ไม่สุข ไม่ดีไม่ชั่ว ไม่บุญไม่บาป นี้เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา คนอาจจะสอนกันผิดๆ ครูบาอาจารย์บางพวกอาจจะสอนผิด ที่จัดอริยมรรคนี้เป็นดีหรือเป็นชั่ว ถ้าไปดูตามที่พระพุทธเจ้าท่านทรงมุ่งหมายแล้ว อริยมรรคนี้ไม่มุ่งหมายจะให้เป็นดีหรือเป็นชั่ว แต่ต้องการจะให้ไปเสียให้พ้นดีพ้นชั่ว ให้เหนือดีเหนือชั่ว ถ้ายังอยู่ที่นี่ก็ให้มันอยู่ระหว่างกลาง คือมันถูกต้องและพอเหมาะพอดีตามลักษณะของธรรมชาติของอิทัปปัจจยตา ไม่ได้ไม่เสีย ไม่รวยไม่จน ไม่ใช่หญิงไม่ใช่ชายด้วยซ้ำไป เพราะไปยึดถืออย่างใดอย่างหนึ่ง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้า แล้วมันมีความยึดมั่น ก็จะต้องเป็นทุกข์เพราะความยึดมั่น ฉะนั้นถ้าไม่ยึดมั่นฝ่ายไหน มันก็อยู่ตรงกลาง หรือว่าอย่ายึดมั่นเสียเลยมันก็จะอยู่ตรงกลางของมันเองอย่างนี้ นี่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา เป็นธรรมะที่เป็นตัวการปฏิบัติ
ถ้าเราพูดถึงอริยสัจ ๔ มันเป็นธรรมะสำหรับรู้ เป็นเรื่องสำหรับรู้ ถ้าพูดเลยเถิดไปก็เป็นเรื่องปรัชญา พุทธศาสนาไม่ใช่ปรัชญา พุทธศาสนาไม่ใช่มุ่งหมายจะสอนปรัชญา แต่ว่าใครก็ได้อาจจะเอาพุทธศาสนานี้ไปพูดอย่างเป็นปรัชญาก็ได้ เพราะมันมีวิธีพูดสำหรับเป็นปรัชญา มันเป็นอย่างนี้ด้วยกันทุกศาสนา แต่ว่าตัวศาสนาแท้ๆ เขาไม่ได้ประสงค์จะให้เป็นปรัชญา เพราะปรัชญาเป็นเรื่องสำหรับคำนึงคำนวณไปตามเหตุผล เท่าที่จะรู้สึกคิดนึกได้เวลานั้น มันเป็นเรื่องเพ้อ เฟ้อ กระทั่งเลยเถิด ถ้าจะเข้าใจง่ายๆ จำไว้ง่ายๆ ก็จำไว้ว่า ถ้าเป็นปรัชญามันเป็นสัจจะเพื่อสัจจะ แต่ถ้าเป็นศาสนา เป็นสัจจะเพื่อดับทุกข์ นี้จะเป็นเครื่องช่วยป้องกันไม่ให้เราเตลิดเปิดเปิง ศึกษาพุทธศาสนาเฟ้อเป็นปรัชญา ถ้าเป็นปรัชญามันเป็นสัจจะเพื่อประโยชน์แก่สัจจะเอง ไม่มีใครได้ประโยชน์อะไร แต่ถ้าเป็นศาสนาแล้วมันเป็นสัจจะเพื่อจะดับทุกข์กันที่นี่เดี๋ยวนี้ เร็วๆ มนุษย์ที่มีความทุกข์นี่แหละจะเป็นผู้ได้ ฉะนั้นถ้าเป็นสัจจะเพื่อประโยชน์แก่มนุษย์มันก็ต้องเรียกว่าศาสนา ถ้าเป็นสัจจะเพื่อสัจจะเองไม่มีที่สิ้นสุด ก็เป็นปรัชญาไป อาตมาไม่สนใจและไม่ชอบในแง่ของปรัชญา แต่ว่าคนเดี๋ยวนี้ทั้งโลกเขากำลังหลงปรัชญา ชอบปรัชญา เพราะว่าฝรั่งมันชอบปรัชญา แล้วคนไทยมันก็ตามก้นฝรั่งเสมอ เมื่อฝรั่งชอบปรัชญา คนไทยก็ชอบปรัชญา กระทำพุทธศาสนาให้ไปในรูปของปรัชญาจนเพ้อ จนเฝือ จนยุ่งยากแก่การศึกษาอย่างนี้ เพราะพุทธศาสนามันไม่ใช่ปรัชญา มันเป็นศาสนา คือการปฏิบัติลงไปตรงๆ โดยตรง สำหรับที่จะดับทุกข์โดยตรงเร็วๆ ไม่ต้องคำนึงคำนวณด้วยเหตุผลอย่างปรัชญา อย่าใช้เหตุผลทางปรัชญา อย่าใช้เหตุผลทางตรรกะ อย่างนี้พระพุทธเจ้าท่านห้ามไว้แล้ว ให้ใช้ความรู้สึกโดยตรงที่กำลังรู้สึกอยู่ในใจนั่นแหละ ถ้ามันเกิดขึ้นอย่างนี้แล้วมันเป็นทุกข์ เราก็อย่าให้มันเกิดสิ ถ้านอนตรงนี้ไม่สบาย ก็ขยับไปนอนที่ตรงโน้น ไม่เห็นจะต้องใช้เหตุผลอะไร สุนัขหรือแมวก็ทำเป็น ถ้านอนตรงนี้ไม่สบาย ก็ขยับไปนอนที่ตรงนั้น ถ้าตรงนี้นอนลงไปมดมันกัด ก็ขยับไปนอนที่ตรงโน้น มดมันก็ไม่กัด นี่เหตุผลอย่างนี้ไม่ใช่เหตุผลทางปรัชญา ไม่ใช่เหตุผลทางตรรกหรือทางลอจิก(Logic) ฟิโลโซฟี(Philosophy)อะไร มันเป็นความรู้สึกที่สอนให้แล้วแก้ไขไปให้ถูกต้องกับเรื่องความรู้สึก นี้เป็นศาสนา พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสเรื่องทุกข์ ถ้ารู้จักทุกข์ก็เป็นความทุกข์ที่อยู่ในใจ ไม่ใช่ความทุกข์ในหนังสือ ต้องรู้สึกต่อความทุกข์นั้น แล้วก็ดูที่ความทุกข์ เดี๋ยวมันก็จะเพาะงอกออกมาจากความยึดมั่นถือมั่น ความยึดมั่นถือมั่นนี้งอกออกมาจากอวิชชา อวิชชานี้งอกออกมาจากความเผลอสติ เมื่อมีการกระทบทางอายตนะ เช่น ตากระทบรูป หูกระทบเสียงเป็นต้น นี้เรียกว่าการกระทบทางอายตนะ ถ้าเผลอสติตอนนี้จะเกิดอวิชชา จะเกิดสัมผัสที่มีอวิชชาและจะเกิดตัณหา เกิดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นและก็ต้องเป็นทุกข์แน่นอน นี้ไม่ใช่ปรัชญาของการคำนึงคำนวณตามความรู้ที่อาศัยความรู้สึกที่มาจากเหตุผลนั่น ปรัชญามันอาศัยความรู้สึกที่มาจากเหตุผล เดี๋ยวนี้เราไม่ใช้เหตุผล เราใช้ความรู้สึกจริงๆ ถ้าเป็นสัจจวิทยามันอาศัยเหตุผลสำหรับพูด พูดใครค้านไม่ได้แล้วก็เรียกว่ามีตรรกะ ถูกต้องตามตรรกะ แต่ศาสนาไม่ใช่อย่างนั้น ไม่เกี่ยวกับเหตุผลสำหรับพูดอย่างนั้น เดี๋ยวนี้เราเอามาทำให้มันเป็นอย่างนั้น มันเลยเฟ้อ มันเลยยุ่งยากลำบาก ทีนี้พวกที่มันบ้าปรัชญา บ้าตรรกวิทยาก็ตาม มันทำพุทธศาสนาให้กลายเป็นเรื่องนั้นไปเสีย มันเลยยุ่ง ถ้าเอาตามเดิมของท่าน มันก็เป็นเรื่องศาสนา มองลงไปที่ความรู้สึกจริงๆ ความทุกข์จริงๆ กิเลสจริงๆ และแก้ไขให้ได้ มันก็เป็นเรื่องธรรมชาติ ธรรมดาสามัญที่สุด เหมือนกับว่าสุนัขมันนอนตรงนี้ไม่สบายมันก็ลุกไปนอนที่ตรงโน้นอย่างนั้นแหละ เรียกว่าไม่ต้องมีเหตุผลอะไร เอาความรู้สึกนั้นเป็นตัวเรื่อง เป็นปัญหา เป็นตัวทุกข์ เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข ถ้าถือหลักกันอย่างนี้ไม่เท่าไหร่ ก็จะรู้พุทธศาสนา จะถึงตัวพุทธศาสนา และจะปฏิบัติได้ จะไม่เป็นไปในรูปของปรัชญา
เดี๋ยวนี้มันเกิดปัญหาน่าหัวเราะขึ้นมาว่าพุทธศาสนาเป็นปรัชญาหรือเปล่า พวกที่บ้าปรัชญามันก็อธิบายจนเพื่อนกันจนคนอื่นเห็นพุทธศาสนาเป็นปรัชญาไปเลย อย่าไปเชื่อมัน พุทธศาสนาต้องเป็นศาสนาคือระบบการปฏิบัติที่จะดับทุกข์ลงไปตรงๆ เอาความรู้สึกที่มีอยู่ในใจจริงๆ นี่เป็นรากฐาน อย่าเอาเหตุผลตามความคำนึงคำนวณอะไรต่างๆ พระพุทธเจ้าท่านไม่ใช่นักปรัชญา แต่เดี๋ยวนี้พวกนักปราชญ์ในโลกก็เกณฑ์ให้พระพุทธเจ้าเป็นนักปรัชญา แล้วอธิบายในแง่ที่จะให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าเป็นนักปรัชญา และมันก็อธิบายได้เหมือนกันไม่ใช่อธิบายไม่ได้ เพราะมันมีวิธีพูด มันพูดได้ แต่เนื้อแท้ของท่านไม่ต้องการจะเป็นนักปรัชญา ท่านไม่ได้เป็นนักปรัชญา ไม่สอนศาสนาอย่างปรัชญา สอนศาสนาอย่างที่เป็นศาสนา นี่ขอให้สนใจเรื่องกาลามสูตร จะเข้าใจได้ว่าทรงสอนไม่ให้ถือเอา ๑๐ อย่างนั้น ให้ถือเอาแต่ที่ตัวความรู้สึกอย่างไร ประจักษ์แก่ใจอย่างไรนั้นเป็นหลัก
ศาสนาทุกศาสนาเขาไม่ต้องการปรัชญา เขาต้องการเป็นเรื่องด่วนจี๋สำหรับคนที่เจ็บหนักอยู่ ต้องการจะหายเร็วๆ มีความทุกข์ความเจ็บทางจิตใจ ต้องการจะหายเร็วๆ ต้องดูที่ความเจ็บนั้น ต้องแก้ไขที่รากเหง้าของมันโดยตรง ไม่ต้องใช้หนังสือ ไม่ต้องใช้หัวสมองอย่างขนาดปรัชญา แล้วก็สอนไว้อย่างนั้น ทีนี้คำสอนนี้ถูกเอามาแปร เปลี่ยน ชุบ ย้อมอะไรให้เป็นรูปวรรณคดีก็มี ปรัชญาก็มี ตรรกวิทยาก็มี จิตวิทยาก็มี นี่เรียกว่าส่วนที่มันเฟ้อออกไป มันงอกออกไปเกินความจำเป็น เราก็เรียกว่าธรรมะเกิน ธรรมะเฟ้อ คืออภิธรรมทั้งหลาย เป็นธรรมะเกิน เป็นธรรมะเฟ้อ อธิบายให้เฟ้อไปในแง่ของเหตุผลของตัวหนังสือของอะไรที่มันเกิน และไม่มาจี้จุดตรงที่ความรู้สึกว่าทุกข์อย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์อย่างไร แล้วดูกันข้างใน อย่าให้มีคำพูดมาก นั่นจึงจะเป็นศาสนา คำว่าศาสนาไม่ใช่คำสอนเฉยๆ ศาสนาหมายถึงการปฏิบัติลงไปตรงๆ ลงที่ตัวความทุกข์ให้มันหายไปเสีย แต่ว่าก่อนที่จะปฏิบัติได้มันก็ต้องได้รับคำสั่งสอนบ้าง มันจะได้เร็วเข้าดีกว่าคิดเองทั้งหมด เพราะฉะนั้นคำว่าศาสนานี้มันจะแปลว่าคำสั่งสอนก็ตามใจ แต่ตัวแท้ของศาสนาคือตัวการปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ และในรูปของศาสนา ไม่ใช่ในรูปของปรัชญา
เมื่อพระพุทธเจ้าท่านออกแสวงหาการตรัสรู้ ท่านก็ออกแสวงหาในรูปของศาสนาคือความดับทุกข์ ท่านไม่ได้ออกแสวงหาอย่างนักปรัชญา หรือนักจิตวิทยา หรือนักตรรกวิทยา ท่านออกจากบ้านจากเมืองมาบวช ท่านทำความเพียรอยู่น่ะ ก็ลองนึกถึงการทำความเพียรของท่าน ท่านต้องการความรู้สึกในใจที่เราเรียกกันว่าเอ๊กซ์พีเรียน(Experience,ประสบการณ์) เดี๋ยวนี้ มันต้องรู้สึกในใจจริงๆ มันต้องไปลองมันทุกอย่าง ก็ลองทุกอย่าง เรื่องเกี่ยวกับการนุ่งห่ม ลองอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้น กระทั่งเปลือยเลยก็มี เรื่องกินอาหารอย่างนี้ ก็ลองทุกอย่าง กินอย่างนั้นกินอย่างนี้ มากน้อยอย่างนั้นอย่างนี้จนกระทั่งไม่กินเลยก็มี กระทั่งกินอุจจาระปัสสาวะของพระองค์เองก็มี ไปอ่านดูในสูตรที่เชื่อถือได้ในพระไตรปิฎกโดยตรง เรื่องที่อยู่อาศัยนี้ ก็อยู่อย่างนั้นอยู่อย่างนี้ กระทั่งไม่อาศัยอะไรก็มี กระทั่งว่าพอถึงฤดูหนาวจัดๆ แล้ว พอกลางคืนก็ออกไปอยู่กลางแจ้ง พอกลางวันก็เข้าไปอยู่ในป่าทึบ เพื่อให้มันหนาวให้มันถึงที่สุด ทีนี้บางคนยังฟังไม่ถูกกระมัง ว่าพอถึงฤดูหนาวที่สุดอย่างในประเทศอินเดีย หนาวจะตายนะ ถ้ากลางวันนี่ ที่กลางแจ้งมันก็ค่อยยังชั่วหน่อย ในป่าทึบมันยังหนาวจัดอยู่ ไปอยู่มันในป่าทึบ ถ้ากลางคืนในป่าทึบมันอุ่นหน่อย กลางแจ้งมันหนาวจัด ก็ออกมาอยู่ในกลางแจ้ง นี้มีคำตรัสเล่าไว้อย่างนี้ นี่ต้องการเอ๊กซ์พีเรียน(Experience) ความรู้สึกในจิตใจให้มันลึกซึ้งให้มันถึงที่สุด แต่ว่ามันเป็นเรื่องทางฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณ นี่ท่านเรียนจากสิ่งเหล่านี้ ไม่เรียนปรัชญาเพ้อเจ้อ จึงรู้หมดเกี่ยวกับความรู้สึกที่จะรู้สึกในจิตใจได้อย่างไร ท่านก็พบความจริงออกมาจากความรู้สึกเหล่านี้ ทีนี้พอเวลาที่ท่านมาสอนคน แล้วท่านจะไปสอนปรัชญาอย่างไรได้ ท่านก็ต้องสอนตามที่ท่านพบ ท่านค้นพบ จึงสอนเรื่องของศาสนา คือตัวความทุกข์จริงๆ แก้ไขกันที่ตัวความทุกข์จริงๆ
นี่ขอให้เข้าใจไว้ว่า คำสอนของท่านนี้ส่วนที่เป็นแก่นแท้มันก็มีอยู่ส่วนหนึ่ง และส่วนที่ขยายออกไปมันก็มีอยู่อีกส่วนหนึ่ง และมันขยายออกไปในรูปของปรัชญา ของจิตวิทยาอะไร มากออกไปจนมากมายหลายหมื่นธรรมขันธ์ แต่ท่านว่ามันมีคำเดียว คือว่าทุกสิ่งเป็นธรรมชาติ เป็นของธรรมชาติ ยึดมั่นเป็นตัวเราเป็นของเราไม่ได้ ท่านสอนคำเดียวอย่างนี้ แล้วเราก็ไม่ต้องมีอะไรมาก ก็ดูตรงที่ว่าไปยึดเข้าแล้วมันเป็นอย่างไร ความทุกข์มันเกิดขึ้นอย่างไรเพราะความยึดนั้น เดี๋ยวนี้ เอาล่ะมันเป็นโลกของปรัชญา สนใจปรัชญา ก็สนใจให้ถูกต้องว่าปรัชญานั่น แม้จะรู้ถึงที่สุดแล้วก็ไม่ดับทุกข์ ให้นักปรัชญาทั้งหลายทุกแขนง ถึงที่สุดแห่งปรัชญาของตนกันให้ทุกคนแล้ว ก็ยังไม่ดับทุกข์ด้วยลำพังปรัชญา ต้องเอาหลักเกณฑ์อันนั้นมาปฏิบัติอีกทีหนึ่งมันถึงจะดับทุกข์ ฉะนั้นปรัชญานี่มันก็ต้องต่อยอดด้วยการปฏิบัติคือศาสนา คือวิธีการของศาสนา ถ้าสมมุติว่าปรัชญาใดปรัชญาหนึ่งมันเป็นไปอย่างถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้มันก็ไม่ดับทุกข์ เพราะมันคำนึงคำนวณ เดี๋ยวมันก็ลืม เดี๋ยวมันก็หลับไปมันก็ไม่มีเอง มันต้องเอามาปฏิบัติ แก้ไข ตัดรากเหง้าของกิเลส แม้ตามหลักของปรัชญานั้น ฉะนั้นปรัชญาเรื่องอริยสัจนี้ ในที่สุดก็ต้องปฏิบัติให้เป็นมัชฌิมาปฏิทา จึงจะดับทุกข์ได้ ถ้าเราจะพูดเรื่องอริยสัจ ๔ กันแต่ในแนวของปรัชญา มันก็ไม่ดับทุกข์ เช่นเดียวกับท่านทั้งหลายนี่ก็อ่านเรื่องอริยสัจ ถกเถียงกันเรื่องอริยสัจ พูดถึงเรื่องอริยสัจกันในแง่ของธรรมะที่ละเอียดเป็นอภิธรรม ยิ่งกว่าอภิธรรมและยิ่งกว่าอภิธรรม มันก็ไม่ดับทุกข์ เห็นไหม เพราะมันพูดกันไปในแง่ของปรัชญาเรื่อยไป ทีนี้เอามาใส่ลงไปในเรื่องของการปฏิบัตินี่ มามองดูที่ตัวทุกข์ที่เกิดอยู่ในใจ กิเลสคือความยึดมั่นถือมั่น เผลอเมื่อไหร่มันเป็นเกิดอวิชชาให้ยึดมั่นถือมั่นเมื่อนั้นนี่ อย่างนี้ไม่เท่าไหร่ก็จะเบื่อหน่ายจะคลายกำหนัดจะมีจิตน้อมไปเพื่อความไม่ยึดมั่นถือมั่น และมันดับทุกข์ไม่ได้ด้วยลำพังปรัชญาแม้ว่าจะถูกต้องอย่างไร เดี๋ยวนี้ปรัชญามันมากเกิน เกินถูกต้อง แล้วมันก็ถูกต้องเพื่อถูกต้องเท่านั้น ไม่ได้ถูกต้องเพื่อปฏิบัติ นี่เรียกว่าสัจจะเพื่อสัจจะ ป่วยการกินไม่ได้ ต้องสัจจะที่กินได้คือสัจจะเพื่อประโยชน์แก่จิตใจของสัตว์ของมนุษย์ คือสัจจะที่ดับทุกข์ได้
ทีนี้พระธรรมในพุทธศาสนาของเรา ใช้คำว่าเราหน่อย เพื่ออย่าไปเป็นนักปรัชญา พระธรรมในพุทธศาสนานี่ มันเป็นศาสนา ไม่ใช่ปรัชญา และวันนี้ก็วันพระธรรม วันนี้เป็นวันพระธรรม ฉะนั้นมารู้เสียทีว่าพระธรรมนี่ไม่ใช่ปรัชญา แต่ว่าเอาไปพูดอย่างปรัชญาก็ได้ จัดให้เป็นปรัชญาก็ได้ แต่พระธรรมแท้ๆ ไม่ใช่ปรัชญา มุ่งหมายจะเป็นศาสนาคือตัวการปฏิบัติและดับทุกข์ให้ได้ มัวแต่ปรัชญามันก็เพ้อเรื่อยไปจนตาย ไม่เคยดับทุกข์ได้ นักปรัชญาคนไหนก็ไม่เคยดับทุกข์ได้ เพราะมันดีแต่พูด ดีแต่คิด ดีแต่คำนวณ มันต้องเอามาทำปฏิบัติ พอทำปฏิบัติมันทำไม่ได้เพราะมันเป็นคนเฟ้อด้วยความคิดนึก ฟุ้งซ่านด้วยความคิดนึก จิตไม่เป็นสมาธิ มันก็ทำไม่ได้ ฉะนั้นต้องเอาหลักปรัชญาแม้ที่ถูกต้องแล้วมาทำด้วยอำนาจของสมาธิ ทำให้กิเลสจางหายไป นี่จึงจะสำเร็จประโยชน์ ฉะนั้นลำพังปรัชญาดับทุกข์ไม่ได้ แม้ว่าจะดับความโง่บางอย่างบางระดับได้ มันดับทุกข์ไม่ได้ ต้องเป็นเรื่องของศาสนาจึงจะดับทุกข์ได้ ปรัชญาอย่างดีที่สุดก็ให้เกิดความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง ยึดมั่นถือมั่นไปตามแบบของปรัชญา สบายใจบ้างเท่านั้นเอง แต่ถ้าเป็นศาสนาต้องเป็นเรื่องดับทุกข์ได้สิ้นเชิง เดี๋ยวนี้พระศาสนาก็คือพระธรรม วันนี้เป็นวันพระธรรม เราประชุมกันที่นี่ก็เพื่อประโยชน์แก่พระธรรม อาตมาจึงขอถือโอกาสพูดสำหรับคราวนี้ให้มันชัดเจนลงไปในแง่อีกแง่หนึ่ง คือแง่ที่ว่าพุทธศาสนาไม่ใช่ปรัชญา พุทธศาสนาต้องเป็นศาสนา แต่ว่าพุทธศาสนาที่ได้กล่าวไว้มากมายนี้ เอาไปพูดให้เป็นปรัชญาก็ได้ เป็นวรรณคดีก็ได้ เป็นตรรกวิทยาก็ยังได้ เป็นจิตวิทยา เป็นอื่นๆ ไปได้อีกมากมายเหมือนกัน แต่ตัวพุทธศาสนาแท้นั้นเป็นตัวศาสนา พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวไว้แล้ว กล่าวไว้ดีแล้วนี้ต้องเป็นสันทิฏฐิโก ดูจากข้างใน รู้ได้เฉพาะตน ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ต้องเป็นอย่างนี้จึงจะเป็นพระธรรมในพระพุทธศาสนานี้
ฉะนั้นจึงหวังว่าท่านทั้งหลายคงจะได้บทเรียนอะไรบ้าง สำหรับไปคิดนึกดูใหม่ ไปพิจารณาดูใหม่ จากคำที่อาตมาได้กล่าวในวันนี้ ในวันพระธรรมคือวันนี้ และบอกให้รู้ว่าพระธรรมนั้นคืออะไร มีหลายแง่หลายมุมเหมือนกันที่จะพูด วันนี้ก็พูดแง่มุมหนึ่งแล้ว คือว่าพระธรรมนั้นต้องไม่อยู่ในรูปของปรัชญาจึงจะเป็นที่พึ่งแก่เราได้ หรือว่าจะเป็นพระธรรมเจ้าอันสูงสุด เป็นที่เคารพทั้งของพระพุทธและพระสงฆ์ได้ ต้องเป็นพระธรรมที่อยู่ในรูปของพระธรรม คือศาสนา เป็นตัวการปฏิบัติที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ก็เรียกว่าตรงกันแล้วกับเรื่องราว เพราะว่าวันเช่นวันนี้ วันเพ็ญอาสาฬหะนี้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ทีนี้ตัวสูตรนี้หลายคนคงจะเคยอ่าน แต่คงสะเพร่าตามเคย ไม่อ่านด้วยความตั้งอกตั้งใจจะจับมันให้ได้ว่าอะไร ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรตอนแรก ก็มีพูดถึงมัชฌิมาปฏิปทา ในฐานะที่ไม่ไปเป็นกามสุขัลลิกานุโยค หรืออัตตกิลมถานุโยค การเริ่มแสดงธรรมจักรแก่ปัญจวัคคีย์นั้น พระพุทธเจ้าท่านได้เริ่มขึ้นด้วยว่า ฉันจะบอกสิ่งที่ฉันไม่เคยยิน เคยฟังมาแต่ก่อนนั่น คืออะไร คือมัชฌิมาปฏิปทาที่ไม่เอียงไปฝ่ายเปียกแฉะ คือกามสุขัลลิกานุโยค ที่ไม่เอียงไปฝ่ายไหม้เกรียมคืออัตตกิลมถานุโยค แต่มันอยู่ตรงกลาง คือสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป ๘ อย่าง อย่างที่ว่ามาแล้ว ทีนี้มันมีเรื่องเกี่ยวกันถึงข้อที่ว่าเรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับทุกข์ และทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เป็นเรื่องอริยสัจ ๔ ก็คล้ายกับจะตอบคำถามว่าจะไปยุ่งอะไรกับเรื่องมัชฌิมาปฏิปทา ก็ตอบว่าเพราะเรามันมีความทุกข์ เรามีความทุกข์เพราะว่าเราไม่เดินอยู่ตามมัชฌิมาปฏิปทา เราไปเดินอยู่ข้างกิเลสตัณหาคือสมุทัย มันจึงเกิดทุกข์ ถ้าจะไม่ให้มีทุกข์มันต้องตรงกันข้าม คือทำลายกิเลสตัณหาหรือสมุทัยนั้นเสีย แล้วจะทำลายมันอย่างไร ก็ต้องเป็นอยู่ชอบอยู่ทุกลมหายใจ ทุกลมหายใจมีความถูกต้อง ๘ ประการที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา เท่านี้ก็พอแล้ว แล้วเรื่องมันก็จบเท่านี้ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรก็จบลงเท่านี้ที่คำพระพุทธเจ้าตรัส
ทีนี้ก็มีคำที่พระอาจารย์ผู้ร้อยกรองพระคัมภีร์กล่าวว่า พอพระพุทธเจ้าตรัสจบลงแล้ว เทวดาตามพื้นดินนี้ก็บอกเทวดาที่สูงขึ้นไป สูงขึ้นไป สูงขึ้นไป ก้องไปถึงพรหมโลกว่าพระพุทธเจ้าได้ประกาศธรรมจักรแล้วแผ่นดินหวั่นไหว นี้มันเป็นคำของพระอาจารย์ผู้ร้อยกรองพระคัมภีร์ แต่คำของพระพุทธเจ้าที่เป็นพระพุทธภาษิตนั้น บอกเรื่องมัชฌิมาปฏิปทา กับเรื่องอริยสัจ ๔ ประการ ที่ถ้าทำสมบูรณ์แล้วมันจะมีอาการ ๑๒ อย่างที่เรียกว่าล้อ ๑๒ ซี่ อย่างที่กล่าวมาแล้ว มันมีเท่านั้น และวันนี้คือวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมจักร คำว่าวันนี้หมายความว่าวันที่คล้ายกับวันนี้ ที่เรายึดเอาเป็นสมมุติว่าเป็นวันที่ระลึกแก่เหตุการณ์นี้ ฉะนั้นเราจึงเรียกวันนี้ว่าเป็นวันอาสาฬหบูชาหรือวันธรรมจักร หรือวันพระธรรมอยู่เรื่อยไป อาตมาใช้คำว่าวันนี้ แต่ไม่ได้หมายคำว่าวันนี้ หมายความว่าวันที่คล้ายกับวันนี้ คือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ สมมุติให้ว่าเป็นวันอาสาฬหบูชา เป็นวันแสดงธรรมจักร เป็นวันประกาศพระพุทธศาสนาลงไปในโลก แต่เนื้อหาสาระก็คือแสดงมัชฌิมาปฏิปทา ที่จะเป็นเครื่องดับความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง เมื่ออาศัยเหตุผลอย่างนี้เราก็จะนึกได้ขึ้นมาว่าวันนี้เราควรนึกกันอย่างนี้ ควรศึกษากันอย่างนี้ ควรหารือกันอย่างนี้ ควรทำในใจกันอย่างนี้ สงบปากสงบคอ เรื่องเล่นเรื่องหัวเรื่องกินเรื่องอะไรกันเสียบ้าง ให้จิตใจมันเหมาะสมที่จะมารู้สึกอย่างนี้ คือรู้สึกในพระธรรมในวันพระธรรมเจ้า ในฐานะที่ว่าวันนี้เป็นวันพระธรรมเจ้า ให้พระธรรมปรากฏ ให้พระธรรมซึมซาบอยู่ในจิตใจ ชัดเจนยิ่งขึ้นไปทุกทีๆ สำหรับพุทธบริษัทเรา ก็ไม่เสียทีที่เป็นพุทธบริษัท หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้มีความคิดอย่างนี้ มีความสนใจอย่างนี้ และให้มากขึ้น มากขึ้นทุกๆปี ยิ่งขึ้นไปในอนาคต หรือถ้าให้ดีกว่านี้ก็ทุกวันๆนี่ ให้มันมากขึ้น ให้มันเข้มข้นขึ้น ในการที่จะมองเห็นพระธรรม เข้าถึงพระธรรม ปฏิบัติพระธรรม แล้วชีวิตนี้ก็จะประกอบไปด้วยธรรม ก็เลยเป็นพระธรรมไปทุกวัน เป็นวันพระธรรมไปทุกวันเลย แล้วพระธรรมก็จะคุ้มครองทุกวันจริงเหมือนกัน ก็จะไม่มีความทุกข์ทุกวันจริงได้เหมือนกัน เพราะพระธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม ไม่มีความทุกข์เลย
ฉะนั้นขอให้ความเข้าใจในวันนี้จงเป็นประโยชน์ในการที่จะใช้ในวันหน้า และทุกวัน ทุกวัน ทุกวัน ให้เห็นธรรม ให้มีธรรม ให้มีชีวิตอยู่ด้วยธรรมทุกครั้งที่หายใจเข้าออก นี้จะมีค่าสูงสุด คุ้มครองได้แท้จริงยิ่งกว่าเอาพระเครื่องมาแขวนไว้ที่คอสักหมื่นองค์ พูดแล้วก็เหมือนกับพูดเล่น ใครเอาพระเครื่องแขวนคอหมื่นองค์ได้คอมันก็หัก แต่อาตมาก็ยังคำนวณว่าถ้ามีพระธรรมอย่างที่ว่านี้แล้ว จะคุ้มครองบุคคลนั้นยิ่งกว่าเอาพระเครื่องมาแขวนไว้ที่คอสักหมื่นองค์ ถ้าไม่จริงค่อยมาด่าอาตมา แต่ขอให้ไปลองปฏิบัติ ทดสอบดูให้ดีๆ ก่อน แล้วค่อยมาด่า ถ้าไม่จริง เพราะว่าไม่มีอะไรที่จะคุ้มครองสัตว์หรือสิ่งที่มีชีวิตได้ดียิ่งกว่าพระธรรม พระเครื่องเป็นสัญลักษณ์ของพระธรรม คนไม่รู้จักใช้ ก็ไม่ได้ทำสัญลักษณ์ให้เป็นประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดการปฏิบัติธรรม ฉะนั้นเลยไปนอนตาย ถูกตำรวจยิงตาย พระเครื่องเต็มคอนี่ เพราะว่ามันไม่ได้ใช้พระธรรมหรือสัญลักษณ์ของพระธรรมให้ถูกต้อง อะไรๆ ก็ต้องถูก ต้องจริง ต้องยุติลงที่พระธรรมที่แท้จริงหรือที่ถูกต้อง วันนี้เป็นวันพระธรรม ขอเตือนอยู่เสมอว่าวันนี้เป็นวันพระธรรม อย่าลืม ลุกไปจากนี้ก็อย่าลืม อย่าไปหัวเราะร่าเริงเสียจนเป็นวันของกู เป็นวันตัวกู วันนี้เป็นวันพระธรรม อย่าลืมเสีย อย่าไปหัวเราะให้เป็นวันของกูตัวกูเล่นหัวสนุกสนานอะไรเสีย ถ้าทำได้อย่างนี้ไม่เท่าไหร่ก็จะเจริญในธรรม ธรรมะนี้จะไม่เหลือวิสัย ธรรมะนี้จะไม่เป็นหมัน แต่จะเป็นประโยชน์แก่พุทธบริษัททุกคน ที่กำลังเป็นหมันนี้ก็เพราะว่าพุทธบริษัทนั้นเกิดประมาทแล้ว ไม่ทำจริงๆ กับพระธรรม แล้วพระธรรมก็ช่วยไม่ได้ ทั้งที่เป็นพุทธบริษัท มันก็มีความทุกข์มากเหมือนกับคนที่ไม่ใช่เป็นพุทธบริษัท บางทีคนที่ไม่ได้เป็นพุทธบริษัทเขามีความทุกข์น้อยกว่าคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นพุทธบริษัทก็มี ก็เพราะว่าคนนั้นมันประพฤติธรรมจริงๆ แต่ไม่ได้เรียกตัวเองว่าพุทธบริษัท แต่มันก็เป็นพุทธบริษัทยิ่งกว่าคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นพุทธบริษัทแล้วไม่ประพฤติธรรม นี้มันเล่นตลก ถ้าพูดให้จริงกว่านั้นก็คือคุณโกหกและหลอกลวงในความเป็นพุทธบริษัทของตน นี่ขอให้มีความคิดนึกให้ไปในทางที่จะเกิดความไม่ประมาท ให้วันนี้เป็นวันที่ระลึกแก่พระธรรม ให้กายวาจาใจประกอบอยู่ด้วยธรรม ธรรมดาเราก็ประกอบการบูชาด้วยการเวียนประทักษิณ วันนี้คงจะทำไม่ได้เพราะว่าฝนตก นั้นมันเป็นเรื่องข้างนอก ทำได้ก็ทำ ทำไม่ได้ก็ไม่ทำ แต่เรื่องข้างในต้องทำ ต้องทำจริงๆ ด้วย ต้องทำร้อยเปอร์เซ็นต์ เวียนประทักษิณอยู่ในใจ เอาพระธรรมไว้ตรงกลาง แล้วให้ใจมันเวียนประทักษิณอยู่รอบๆ พระธรรม ให้ใจนี้มันพอใจในพระธรรม เนื่องอยู่กับพระธรรม ยึดพระธรรมเป็นที่พึ่ง แต่ไม่ใช่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอวิชชา
ตรงนี้ขอแทรกนิดหนึ่งแม้ว่าเวลามันหมดแล้ว ว่าการยึดพระพุทธ ยึดพระธรรม ยึดพระสงฆ์นี้ ถ้ายึดไม่เป็นก็เป็นยึดด้วยอวิชชาก็มีเหมือนกัน อย่างนี้ไม่ดับทุกข์ได้ แต่ยังดี ดีกว่าที่จะไม่ยึดอะไรเสียเลย จะยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็ต้องยึดด้วยสติปัญญา อย่างนี้ไม่เรียกว่ายึดมั่นถือมั่น เขาเรียกว่าสรณคมน์ การเข้าไปถึง การเข้าไปอาศัยซึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่เรียกว่าอุปาทานในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่เรียกว่ามีสรณคมน์ การเข้าถึง การเข้าถือซึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างนี้ถูก ฉะนั้นขอให้เราถึง ถือ หรือแล้วแต่จะเรียกนี่ หรือว่ายึดก็ได้ แต่ด้วยวิชชา ด้วยปัญญา ที่จะปฏิบัติตามธรรมะที่เป็นตัวพระธรรมคือมัชฌิมาปฏิปทา แห่งธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ก็จะเป็นเรื่องไม่มีอะไรดีกว่านี้ เป็นอนุตตระคือไม่มีอะไรดีกว่านี้ นี่กล้าท้า ให้ไปหาเรื่องอะไรมาให้ดูให้มันดีกว่านี้ อาตมาว่าไม่มี เรื่องสูงสุดมันอยู่ที่นี่ แม้พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสอย่างนี้ ว่านี้อนุตตรธรรมจักรที่เราให้เป็นไปแล้ว ไม่มีธรรมจักรอื่นยิ่งกว่า เอาล่ะเป็นอันว่าขอให้วันนี้เป็นวันพระธรรม เป็นวันธรรมจักร เป็นวันเพื่อความเจริญงอกงามในพระศาสนา ของพุทธบริษัททั้งหลายทุกๆ คนเทอญ ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้/