แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาฏิโมกข์ของพวกเราที่นี่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกู-ของกูไปตามเดิม เป็นเรื่องที่พูดได้มากแง่ มากมุม ไม่รู้จักจบ เรื่องเดียวพูดได้ไม่รู้จักจบ ธรรมะปาฏิโมกข์ก็พูดโดยหัวข้อว่าตัวกู-ของกู หรือความดับไปแห่งตัวกู-ของกู มีเท่านั้นเอง บางวันเราพูดถึงเรื่องการเกิดขึ้นแห่งตัวกู-ของกู บางวันก็พูดถึงความดับไปแห่งตัวกู-ของกู แล้วแต่จะนึกได้ว่า มันเหมาะที่จะพูดในลักษณะไหน หลายครั้งที่แล้วมานี่ก็พูดถึงเรื่อง การเกิดขึ้นแห่งตัวกู-ของกู ก็สรุปในทำนองว่า
ความอยากเกิดก่อนบุคคลผู้อยาก ความโกรธเกิดก่อนบุคคลผู้โกรธ ความโง่เกิดก่อนบุคคลผู้โง่
ความอยากมันทำให้เกิดเป็นความรู้สึกขึ้นมาใหม่ว่า ตัวกูอยาก ความโกรธเกิดตามธรรมชาติ มันทำให้เกิดความรู้สึกว่า ตัวกูโกรธ ความโง่ความหลง ความมัวเมาหลงใหลก็เหมือนกัน ทำให้รู้สึกว่า เรานี้สงสัย ลังเล หลงใหล วิตกกังวลอะไรต่าง ๆ นี่กิเลสเกิดก่อน แล้วจึงเกิดความรู้สึกที่เป็นบุคคลอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา นี่บุคคลเกิดจากกิเลสอย่างนี้
วันนี้จะได้บรรยายโดยหัวข้อว่า คนนี้เกิดมาจากผี หรือจะเรียกว่าผีให้เกิดคนก็ได้ อยากให้ทุกคนทราบว่า ในภาษาที่ใช้กันอยู่ในการเทศนาสั่งสอน ในหมู่พระธรรมกถึกก็เรียกกิเลส หรือความรู้สึก หรือเป็นตัวธรรมะที่เป็นความรู้สึกนั้น เขาเรียกกันว่า "ผี" อย่างถ้าว่าพูดเป็นบุคคลนี้บุคคลนั้น คนนี้ชื่อนั้นชื่อนี้ อย่างนั้นอย่างนี้ เขาเรียกว่า "คน"
เพราะฉะนั้นการแสดงธรรมมันจึงมีเป็นสองอย่าง คือว่าวันนี้จะเทศน์กันเรื่องคน หรือเรื่องผี ถ้าเทศน์กันเรื่องผีก็ไม่เอ่ยถึงบุคคล พูดถึงแต่ความรู้สึกในจิตใจ แต่สำหรับเราเดี๋ยวนี้ เราจะเรียกผี หมายถึงกิเลส คน ก็หมายถึงบุคคล พอมีความรู้สึกกิเลสอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว มันจะเกิดความรู้สึกว่าฉัน ว่ากู ว่าบุคคลขึ้นมา นี่คนมันเกิดจากผี เพื่อให้รู้ว่าคนมันไม่มีอยู่จริง
ทีนี้เราไม่รู้เรื่องกิเลสว่า เกิดขึ้นอย่างไร จึงไม่รู้ว่ากิเลสนี้ มันเป็นเพียงผี ไม่ใช่คน คือธรรมชาติปรุงแต่งของจิตเป็นความรู้สึก ปรุงแต่งอย่างนี้ก็ได้ ปรุงแต่งอย่างนั้นก็ได้ ถ้าพูดอย่างคนก็ว่า เรานี้มันตกนรก หรือว่าเรานี้ไปสวรรค์ เดี๋ยวนี้เรามันไปสวรรค์ไม่ได้ ไปสวรรค์ทั้งเป็น ๆ เราจะถึงสวรรค์ทั้งเป็น ๆ อย่างนี้ไม่ได้ เพราะกิเลสคือผี มันปรุงไปในทำนองเป็นนรกเสียเรื่อย ถ้าเราสบายใจ เป็นที่พอใจ รู้สึกเป็นสุขพอใจอย่างนี้ เราเรียกว่าสวรรค์ ถ้าร้อนเป็นไฟหรือมืดกลุ้มไปนี้ ก็เรียกว่านรก
มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ชัดว่า นรกก็อยู่ที่อายตนะ ๖ สวรรค์ก็อยู่ที่อายตนะ ๖ นี่ถ้ายังไม่เคยได้ยินก็ได้ยินเสีย แล้วก็จำไว้ด้วยว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า นรกอยู่ที่อายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สวรรค์ก็อยู่ที่อายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ได้ชี้ว่าสวรรค์อยู่ข้างบน นรกอยู่ข้างล่าง เหมือนคนทั่วไป เมื่อมันอยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำไมเราจึงไม่ได้สวรรค์ที่นี่และเดี๋ยวนี้ล่ะ ก็เพราะมันกลายเป็นนรกเสียเรื่อย คือมันมีการปรุงแต่งทางจิตใจไปในลักษณะที่เป็นกิเลสเสียเรื่อย เป็นกิเลสแล้วก็เป็นคนที่มาจากกิเลส นี้เป็นนรกเรื่อย พอมีความรู้สึกว่าเป็นคน เป็นฉันเท่านั้นละ มันเป็นนรกทันที ไม่ว่าทำอะไร
ผมก็ได้พูดมาแล้วยืดยาวครั้งหนึ่งว่า ธรรมะนี้เป็นสิ่งที่ต้องเรียนจากจิตใจ มันจะเรียนจากคำพูดไม่ได้ ธรรมะที่เอามาพูดได้นั้น ยังไม่ใช่ธรรมะแท้ ธรรมะแท้เอามาพูดไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องเรียนจากจิตใจ ทีนี้คุณจะต้องเรียนจากจิตใจต่อไปอีก หลังจากที่ฟังผมพูดแล้ว ฉะนั้นต้องเรียนจากจิตใจโดยตรงที่มีความสำคัญมาก
เราทำงานกันทุกคน ก็รู้จักสิ่งที่เรียกว่างาน ที่เราทำ นี่คุณลองนึกตามไป ให้มองเห็นสิ่งที่ต้องรู้สึกด้วยจิตใจ บางวันทำงานสนุกสบาย ไม่มีหม่นหมอง ไม่มีวิตกกังวล บางวันหรือบางคราวมันหม่นหมองในการทำงาน ขอให้สังเกตว่า ถ้าความรู้สึกประเภทที่เป็นตัวตนเกิดขึ้นแล้ว มันจะรู้สึกหม่นหมอง ไม่สบาย ถ้าความรู้สึกที่เป็นตัวตนไม่ได้เกิดขึ้น ไม่ได้วี่แวว มันเหลือแต่ธรรมชาติล้วน ๆ ทำไปนี้มันไม่หม่นหมอง ไม่เป็นทุกข์
ที่ว่าธรรมชาติล้วน ๆ หมายความว่าเรามีความรู้ เรามีสติปัญญา แล้วก็ทำไปโดยความรู้ สติปัญญา สนุกสนานไปเลย มันลืมนึกถึงตัวตน งานนี้ก็สนุก ทำเพลิน ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย สังเกตให้ดีว่า มันไม่มีความรู้สึกประเภทตัวกู-ของกูแม้แต่นิดเดียวเกิดขึ้น และมันทำไปได้ด้วยสติปัญญาบริสุทธิ์ ความรู้บริสุทธิ์ หรือว่าธรรมชาติอันบริสุทธิ์ ซึ่งมันอยู่นิ่งไม่ได้ มันต้องทำงาน และพอได้ทำงาน มันก็เลยสบาย แล้วมันก็เป็นสุข บางวันเราทำงานเป็นสุข
ทีนี้บางวันจะด้วยเหตุอะไรก็ตาม มันแทรกเข้ามาจนเกิดความรู้สึกประเภทที่เป็นตัวกู-ของกู ตัวตนหรือของตน เห็นแก่ตัวตน มีความหมายเป็นตัวตน เพื่อตัวตน มันก็มีเรื่องได้-เรื่องเสีย เรื่องดี-เรื่องชั่ว เรื่องอะไรขึ้นมา มันก็หม่นหมองทันที กลัวว่าจะทำไม่ได้ดีบ้าง มันก็หม่นหมองแล้ว มันก็เป็นทุกข์แล้ว มันทำไปด้วยความฝืน ด้วยจิตใจที่มันเห็นแก่ตัว มันไม่อยากจะทำ หรือว่ามันทำไม่ได้ตามที่ใจอยาก หรือยิ่งเกิดมีคนขัดคอ ไม่มีคนสรรเสริญ มีแต่คนนินทา มันทำยาก ทำด้วยความทุกข์ นี่งานอย่างเดียวกันมันก็มีความทุกข์
ต้องเห็นข้อนี้กันเสียก่อน เพราะว่าพูดนี้มันก็พูดได้ แต่ถ้าไม่เห็นด้วยความรู้สึกแล้ว มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร มันต้องไปสังเกตตัวเองว่า บางวันทำไมเราทำงานสนุก บางวันทำไมทำงานเหมือนกับตกนรก ในขณะที่การทำงานดำเนินอยู่ ถ้าไม่มีกิเลสประเภทตัวกู-ของกูเกิดขึ้น มันทำไปตามธรรมชาติอันบริสุทธิ์ มันก็สนุก ทีนี้พอมันมีเหตุให้ตัวกู-ของกูเกิดขึ้น มันก็ทำไปตามธรรมชาติอันสกปรก หรือกิเลส ที่เรียกว่าผี มันเข้ามาแทรกแซง งานก็ไม่สนุก มันก็เป็นนรก
ฉะนั้นเราหาสวรรค์ก็ได้ นรกก็ได้ จากการทำงาน อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า มันอยู่ที่อายตนะ ไม่ตาก็หู ไม่หูก็จมูก ไม่จมูกก็ลิ้น ไม่ลิ้นก็กายก็ใจ ในหกอย่างนี้แหละ จัดให้ดีเท่านั้นแหละ พอจัดดีมันก็เป็นสวรรค์ ทีนี้มันโง่ มันไม่รู้สึกตัว มันเผลอมันอะไรก็ตามใจ มันจัดไม่เป็นมันก็เป็นนรก เพราะฉะนั้นเราเอานรกกันได้โดยไม่รู้สึกตัว แล้วก็ยากที่จะป้องกันเสียด้วย ทีนี้สวรรค์มันก็ตรงกันข้าม ก็ยากที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ ก็เป็นอันว่าจะต้องจัดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกันเสียใหม่ เมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูฟังเสียง เมื่อจมูกได้กลิ่น เมื่อลิ้นได้รส เมื่อกายได้สัมผัส เมื่อจิตได้ความคิดนึกนี้ ให้ไปถูกต้องตามวิถีทางที่จะไม่ปรุงให้เกิดเป็นกิเลส ตัณหา อุปาทาน มันจะเป็นสวรรค์อยู่เรื่อย เป็นสวรรค์ที่แท้จริงอยู่เรื่อย คือสบายใจบอกไม่ถูกอยู่เรื่อย
เดี๋ยวนี้มันจัดไม่เป็น แล้วก็ไม่ต้องโทษใคร เรื่องตัวกู-ของกูมันเป็นอย่างนี้ ตัวกูมันเป็นผี ผีคนมาจากผีจริง กิเลสนั้นเป็นผี ตัวกูนี้มันเกิดเป็นตัวกูขึ้นมานี้ เป็นคนก็คือคนผี เมื่อมันเกิดมาจากผี มันก็เป็นคนผี เพราะฉะนั้นเมื่อใดเรารู้สึกเป็นตัวเรา เป็นตัวกู อย่างนั้นอย่างนี้ มันก็เป็นคนผี มันจึงเป็นทุกข์ มันจึงเป็นนรกอยู่ที่คนผี
เราอย่าเป็นคนผีกันสิ ให้มีจิตที่มีความรู้สึกถูกต้อง สติสัมปชัญญะ ปัญญา นี้มันไม่เป็นกิเลส พอไม่เป็นกิเลส จิตมันก็ไม่มีความรู้สึกเป็นกู ถ้ายังเป็นกูมันก็ยังเรียกว่ายังมีกิเลส ไม่อย่างหยาบก็อย่างละเอียด เดี๋ยวนี้เราพูดกันว่าไม่เจอกิเลสเลย มันก็ไม่เป็นผี แล้วไม่เป็นคนผี มันเป็นจิตที่บริสุทธิ์ ถ้าอยู่ในวิสัยที่ต้องทำงานไปตามเรื่องราวของชาวโลก ก็เป็นสวรรค์ ถ้ามันอยู่เหนือนั้น มันไม่มีคน ไม่มีกู มันก็เป็นนิพพานไป
มีเรื่องที่จะต้องพูดกันมากเรื่องนี้ เกี่ยวกับคำว่า "ธาตุ" จะเริ่มบรรยายวันเสาร์ชุดต่อไปนี้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะนั้นคือ อมตะธาตุ นี้คือนิพพาน คือที่มันไม่มีตัวกู ไม่มีของกู ไม่มีอะไร มันเหนือสวรรค์ขึ้นไปอีก ถ้าจิตมันมีกิเลสประเภทที่เรียกกันว่า อกุศล นี้มันก็เป็นนรก ทีนี้ถ้าเป็นกุศล มันก็พอจะเรียกว่าสวรรค์ได้ แต่มันก็ของคนธรรมดาสามัญ เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึงว่าสวรรค์อย่างนี้ ก็เรียกว่าสวรรค์อย่างของคนธรรมดาสามัญ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ผมก็อยากจะให้เอาไปคิดดูด้วย เพราะฉะนั้นคุณต้องฟังให้ดี ประโยคแรกก็จะพูดว่า นรกมันเป็นสวรรค์ของคนอันธพาลหรือคนชั่ว นรกมันเป็นสวรรค์ของคนชั่ว พอจะมองเห็นกระมังว่า นรกที่ตามความหมายสามัญนี้มันเป็นสวรรค์ของคนชั่ว คนชั่วชอบทำอย่างนั้นเป็นสุขสนุกสนานในการทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้นนรกนี้เป็นสวรรค์ของคนชั่ว
ทีนี้ประโยคที่สองจะพูดว่า นรกนี้เป็นนรกของคนดี ถ้าเรามันเป็นคนดี นรกมันก็เป็นนรก เราเกลียด เป็นสิ่งที่น่าเกลียด แต่ถ้าเป็นคนชั่วคนเลว คนอันธพาล นรกกลายเป็นสวรรค์ไปเลย
ทีนี้สวรรค์นะ ชั้นที่สามนะ ประโยคที่สามแล้ว สวรรค์นั้นมันก็เป็นนรกของพระอริยเจ้า สิ่งที่เรียกกันว่าสวรรค์ที่คนธรรมดาชอบกันนัก คนดีชอบ สวรรค์นี้แหละมันเป็นนรกสำหรับพระอริยเจ้า พระอริยเจ้าเห็นเป็นสิ่งที่น่าขยะแขยง ถ้าเป็นพระอริยเจ้าจริง จะเห็นกามารมณ์เป็นสิ่งที่น่าขยะแขยงเหมือนกับนรก นี้จึงว่าสวรรค์เป็นนรกของพระอริยเจ้า ถ้าท่านเป็นพระอริยเจ้าสูงสุดขึ้นไปอีก อย่าพูดถึงความสุขที่เกิดจากกามารมณ์เลย แม้ความสุขที่เกิดมาจากรูปฌาน อรูปฌาน ท่านก็ขยะแขยง เพราะมันเป็นเรื่องเป็นสุข เป็นเวทนา เป็นที่ยึดถือ ท่านขยะแขยง ฉะนั้นสวรรค์ชั้นกามาวจรหรือชั้นพรหมอะไรก็ตาม มันเป็นนรกของพระอริยเจ้า
ทีนี้ทั้งนรกและทั้งสวรรค์ มันไม่เป็นอะไรเลยสำหรับพระอรหันต์ มันจะเปรียบเทียบกันได้อยู่สี่ชั้นอย่างนี้ คุณไปคิดดู ชั้นเลวมาก นรกนี้เป็นสวรรค์ของคนชั่ว ชั้นที่สองนรกเป็นนรกสำหรับคนดี ปุถุชน ชั้นที่สาม สวรรค์เป็นนรกสำหรับพระอริยเจ้า ชั้นที่สี่ ทั้งนรกทั้งสวรรค์ไม่เป็นอะไรเลยแก่บุคคลผู้สิ้นอาสวะแล้ว มันต้องสิ้นอาสวะแล้ว ไม่มีอุปาทานแล้ว ทั้งนรกทั้งสวรรค์ ไม่มีความหมายอะไรเลย
เดี๋ยวนี้คนพูดกันแต่เรื่องนรกอย่างนั้น สวรรค์อย่างนี้ แล้วเกลียดนรกแล้วก็รักสวรรค์ มันก็คือคนโง่ ที่ไม่รู้จักทั้งนรกไม่รู้จักทั้งสวรรค์อย่างถูกต้อง หรือครบถ้วนหรือสมบูรณ์ ถ้ามันโง่หนักขึ้นอีกมันก็ไม่รู้จักทั้งนรกทั้งสวรรค์ ที่โง่ธรรมดาก็ว่าไป นรกไม่ชอบ ไปสวรรค์ชอบ แต่ถ้าฉลาดเป็นพระอริยเจ้าขึ้นมาก็ชักจะรังเกียจแม้แต่สิ่งที่เรียกว่าสวรรค์ เพราะมันยุ่งมันสกปรก ถ้าหลุดพ้นแล้วก็ไม่มีความหมาย ไม่มีนรกไม่มีสวรรค์สำหรับท่านผู้ที่หลุดพ้นแล้ว มันมีอยู่สี่ชั้นอย่างนี้
เดี๋ยวนี้ผมก็กำลังพูดว่า เราไม่ได้สวรรค์ทั้งเป็นกัน ก็เพราะว่าตัวกู-ของกูนี้มันคอยเกิดเสียเรื่อย มันเป็นนรกแบบหนึ่งเสียเรื่อย นี่เป็นนรกทางวิญญาณที่ทำให้จิตใจมันร้อน ให้วิญญาณมันร้อน เพราะเหตุว่าเขาจัดเรื่องอายตนะทั้งหกไม่ถูกต้อง การปรุงแต่งของจิตเป็นไปไม่ถูกต้อง เป็นไปแต่ให้เกิดกิเลส นี้เรียกว่าผี หลังจากเกิดกิเลสนี้แล้ว เกิดความรู้สึกเป็นตัวกูอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา นี้เรียกว่า คนผี มาจากผี คนนี้มันเป็นคนผี ไม่ใช่คนดีอะไร มันเป็นคนผีที่มันมาจากผี คือกิเลส
เพราะฉะนั้นถ้าจะเข้าใจเรื่องนี้ ต้องไปทบทวนที่พูดกันมาแล้ว ๆ ๒-๓ ครั้งก่อน มันต้องเกิดความอยากก่อน จึงเกิดรู้สึกว่ามีตัวกูผู้อยาก มันต้องเกิดความรักก่อน ปรุงเป็นความรู้สึกประเภทความรักก่อน มันจึงจะเกิดความรู้สึกต่อมาว่ากู ผู้รัก ฉันรัก นี้เป็น logic ฝ่ายธรรมะ ฝ่ายโลกุตรธรรม ถ้าฝ่ายชาวบ้านคนธรรมดาต้องพูดว่า ต้องมีคนก่อนสิ มันจึงจะมีคนที่รัก หรือคนที่โกรธอะไรทำนองนั้น เราไม่เอา logic แบบนั้น มันของคนโง่ เกิดคนก่อนแล้วจึงเกิด นั่นน่ะมันเป็นการยึดถือตั้งแต่ทีแรก คนโง่ประเภทนี้จะถือว่า กูมีอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่คลอดจากท้องแม่จนกระทั่งเข้าโลงนี้ กูมีอยู่ตลอดเวลา เป็นคนแล้วก็ทำนั่นทำนี่ ส่วนคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่เป็นอย่างนั้น ความรู้สึกว่าคน ว่ากูนี้ มันเพิ่งเกิดต่อเมื่อกิเลสประเภทอุปาทานได้เกิดขึ้นแล้ว จะเรียกว่าความโลภ ความโกรธ ความหลงก็ได้ เป็นลักษณะหนึ่ง ๆ ของอุปาทาน
จึงฟังให้ดีว่า มันเกิดผีขึ้นมาโดยการปรุงแต่งของจิตที่ผิดวิธี มีอวิชชาสัมผัสเกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น เป็นต้น สัมผัสอารมณ์นั้นด้วยอวิชชา อายตนะภายในสัมผัสอายตนะภายนอกด้วยอำนาจของอวิชชา ก็เกิดกิเลส เป็นความรู้สึกอยาก รู้สึกรัก รู้สึกโกรธ รู้สึกเกลียด รู้สึกกลัว ไปตามอำนาจของอวิชชา ต้องจำคำว่า ตามอำนาจของอวิชชาไว้ด้วย เพราะถ้าไม่มีอำนาจของอวิชชาเข้ามาครอบงำแล้ว มันไม่ใช่กิเลส ความต้องการนั้นก็ไม่ใช่กิเลส แม้แต่ความรักความอะไรก็ไม่ใช่กิเลส มันต้องด้วยอวิชชา มันจึงจะเป็นความต้องการอย่างกิเลส ความรักอย่างกิเลส อะไรก็ตามที่มันเป็นกิเลส คนเราบางคราวมันเผลอไป ในขณะที่ตาเห็นรูป เป็นต้น อวิชชาเกิดขึ้น
อวิชชามาจากไหน อวิชชาเป็นกิเลสประเภทอนุสัย หรือสังโยชน์ หรืออาสวะ คือความเคยชิน ความเคยชินที่มีอยู่พร้อมในโครงร่างอันนี้ ในนามรูปอันนี้ มันมีความเคยชินที่จะเกิดเมื่อมันได้โอกาส เมื่อเรามันเคยชินที่จะโง่มาตั้งแต่อ้อนแต่ออก มันก็มีมาก พอเผลอนิดเดียวอันนี้มันก็เกิด อวิชชามันก็เกิด อวิชชาไม่ใช่เกิดอยู่ตลอดเวลาเหมือนที่เขาสอนกันที่กรุงเทพฯ นี่ผมด่าพวกนั้นเสมอที่สอนอยู่ อวิชชาเกิดอยู่ตลอดเวลา กิเลสเกิดอยู่ตลอดเวลา ผมเชื่อตามพระพุทธเจ้าที่ท่านตรัสว่า แม้อวิชชาก็เป็นสิ่งที่มีปัจจัย มีเหตุมีปัจจัย ต่อเมื่อมีเหตุมีปัจจัยมันจึงเกิด
ทีนี้บางคนเขาไปอธิบายว่า เรามันไม่รู้อยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเรามีอวิชชาอยู่ตลอดเวลา เป็นของตายตัวไปเลย อย่างนั้นไม่รู้อะไรละ เขาจะเรียกอะไรก็ตามใจเขา แต่ถ้าสิ่งที่เรียกว่า อวิชชา ต้องเป็นความไม่รู้ที่เกิดขึ้นเฉพาะกรณี ๆ มีเหตุมีปัจจัยจึงเกิด มีโอกาสจึงเกิด
ทีนี้พอตาเห็นรูปเป็นต้น มันเผลอสติ นี่ความเผลอสตินี้เป็นเหตุเป็นปัจจัย เป็นโอกาสที่อวิชชาจะเกิดขึ้น ด้วยสามารถแห่งความเคยชินคืออาสวะ หรืออนุสัย นี้มันเป็นความเคยชิน มันก็เกิด ในกรณีที่ตาเห็นรูป มันก็เห็นรูปด้วยอวิชชา เพราะฉะนั้นจึงเกิดกิเลสตัณหา จะเป็นความโลภก็ได้ ความโกรธก็ได้ ความหลงก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่ง กิเลสเหล่านี้เราเรียกว่าผี เพราะมันไม่มีตัวตนจริงอะไรที่ไหน เป็นพฤติของจิตที่ปรุงกันมาผิด ๆ ด้วยอำนาจของอวิชชาก่อน
ทีนี้พอเกิดผี มันคือเกิดกิเลส เช่น ตัณหา เป็นกามตัณหา-อยาก ก็เกิดความรู้สึกอุปาทานเป็นผู้อยาก เป็นวิภาวตัณหา-โกรธเกลียด มันก็เกิดอุปาทาน ผู้โกรธผู้เกลียด กูไม่ชอบ แล้วแต่ว่ามันจะเกิดตัณหาอะไร คือความอยากชนิดไหน ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นหลักที่ดี อุตส่าห์จำไว้เถอะ ถ้ามันอยากเอาเข้ามาก็เรียกว่าความโลภ ถ้ามันอยากจะผลักออกไปก็เรียกว่าความโกรธ ถ้ามันสงสัยอยู่ทำไม่ถูก ก็วนเวียนอยู่ นี่ก็เป็นโมหะ-ความหลง ความโลภ ความโกรธ ความหลง ต่างกัน
เอาหลักในภาษาบาลีเป็นหลัก อย่าเอาภาษาไทยเป็นหลัก ภาษาไทยมันสับสน เช่น โมโหนี่หมายถึงความโกรธ นี้มันไม่ถูกตามภาษาบาลี ตามภาษาบาลี โมโหต้องแปลว่าความหลง เดี๋ยวนี้เด็ก ๆ มันพูดกันโมโห กูโมโหแล้ว กูจะเตะมึงแล้ว โมโหนั้นคือความโกรธเสียแล้ว มันผิดหลักเดิม โลโภ โทโส โมโห สามอย่างนี้ต่างกันเด็ดขาด โลโภก็จะเอาเข้ามา โทโสก็อยากจะตีออกไป ผลักออกไป โมโหก็วนเวียนอยู่ด้วยความมืดรอบ ๆ วัตถุนั้น นี่คือผี ต้องศึกษาจนกระทั่งมองเห็นว่า ถ้าเราอยาก แล้วก็ยึดมั่นในสิ่งที่อยากที่รักนั้นน่ะ เราเกลียดหรือโกรธนี่ เราก็ยึดมั่นในสิ่งที่โกรธหรือเกลียด ถ้าหลงก็คือยึดมั่นในสิ่งที่หลง ความยึดมั่นนั่นแหละเป็นความรู้สึกประเภทตัวกู เรียกว่าอุปาทาน มีความรู้สึกเป็นความหมายเป็นตัว ผู้อยาก ผู้โลภ ผู้โกรธ ผู้หลง
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจแจ่มแจ้งยิ่งกว่าเรื่องใด เพราะมันเป็นหัวใจของเรื่อง คือประโยคที่ว่า ความอยากมาก่อนผู้อยาก กิเลสมาก่อนตัวคนที่จะเป็นผู้มีกิเลส เรียกว่าคนนั้นมันมาจากผี เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นคนผี คือคนที่มีความทุกข์ ทีนี้มันเร็วเกินไปบ้าง หรือไม่สนใจบ้าง มองไม่ค่อยจะเห็น แล้วมันไว เป็นเรื่องของจิต จนแยกกันไม่ออกว่า เรามีความอยากก่อน แล้วจึงเกิดรู้สึกว่ากูอยาก แยกกันไม่ออก ความรู้สึกว่ากูจะเกิดก่อนความอยากไม่ได้ มันต้องมีความรู้สึกเป็นความอยากก่อน แล้วมันแวบเดียวเป็นกูขึ้นมาเลย ไม่ต้องเห็นความอยากกันแล้ว มันเป็นกูอยาก กูโกรธ กูรัก กูเกลียด กูกลัว เช่นว่าเราเดินไปมืด ๆ มีอะไรปุ๊บปั๊บขึ้นมาก็สะดุ้งขนลุกแล้ว มันก็แยกกันไม่ออกว่าความกลัวกับผู้กลัว มันปรากฎเป็นผู้กลัวอยู่ กูกลัว หรือจิตเต็มไปด้วยความกลัว แล้วก็รู้สึกว่ากูกลัว มันต้องเกิดความกลัวก่อน แล้วมันจึงเกิดความรู้สึกประเภทว่าผู้กลัว
ทุกเรื่องเอาไปคิดดู ให้มองเห็นว่าตัวกิเลส หรือความนั่นความนี่ จะเกิดก่อน แล้วตัวบุคคล ผู้มีความนั่นความนี่ จะเกิดตาม อาศัยหลักอย่างที่เราสวดกันอยู่ เวทนาให้เกิดตัณหา ตัณหาให้เกิดอุปาทาน อุปาทานให้เกิดภพให้เกิดชาตินั่นน่ะ มันเกิดตัณหาก่อนละ กิเลสก่อน จึงเกิดอุปาทาน ความยึดมั่นไปตามอำนาจของกิเลสนั้น เพราะฉะนั้นมันควรจะจำง่ายว่า คนเกิดมาจากผีจึงเป็นคนผี มันจะได้ด่าตัวเองทุกคราวที่มันเกิดความคิดอย่างนี้ แต่บางทีด่าว่าไอ้คนผี ไอ้ชาติผี มันก็ยังไม่ค่อยเจ็บ มันสู้ว่าไอ้ชาติหมาไม่ได้ แต่ผมว่าด่าว่าไอ้ชาติผีนี่เจ็บกว่า เป็นคนผี
ฉะนั้นพอโกรธใครขึ้นมาแล้วก็ หยุดชะงักมันไว้ด้วยการด่าว่าไอ้ชาติผี อย่าลืมเสียสิ พอโกรธอะไรขึ้นมาแล้วก็นั่นแหละ มันเป็นคนผี แล้วก็ด่ามันว่าไอ้ชาติผี ซึ่งมันมีมากในวันหนึ่ง ๆ แม้ที่สุดว่ามันโกรธของใช้ เครื่องใช้ไม้สอยมันก็โกรธ สุนัขหรือแมวทำอะไรไม่ถูกใจ มันก็โกรธ อย่าว่าแต่คนด้วยกัน คนด้วยกันพอพูดไม่ถูกหูถูกตาอะไร มันก็โกรธ ทีนี้มันยิ่งเคยโกรธกันอยู่แล้ว มันเกลียดกันอยู่แล้วนี้ มันก็ง่ายนิดเดียว พอเหลือบตาเห็นมันก็โกรธ เกิดความรู้สึกประเภทโกรธไปตามความที่มันจำได้ว่า นี้มันเป็นศัตรูของเรา
เพราะฉะนั้นทุกคราวที่โกรธ ตวาดมันว่าไอ้ชาติผี มันจะได้หายไป ทุกคราวที่มันไปรัก ไปโลภ ไปตะกละอะไรก็ไอ้ชาติผี ทุกคราวที่มันกลัว กลัวนั่นกลัวนี่ด้วยความโง่ ด้วยอวิชชา ก็ด่ามันว่าไอ้ชาติผี หรือมันนั่งโศกเศร้าไม่มีความหมายอยู่ ก็เรียกว่าไอ้ชาติผี มันตื่นนอนขึ้นมาจิตใจละเหี่ยละห้อยอธิบายไม่ถูก มันก็ไอ้ชาติผี คือมันอยู่กับกิเลสตลอดคืนโดยใต้สำนึก ตื่นขึ้นมาโผเผละเหี่ยละห้อย นี่ไอ้ชาติผีไอ้คนผี มาจากผี ไม่มีเป็นคนเป็นมนุษย์ที่ตรงไหน
นี้ผมจึงชอบให้ชวนกันแยกคนออกจากมนุษย์เสียหน่อย ให้คนแล้วมันก็เป็นธรรมดาสามัญ ถ้ามนุษย์ก็ดี คือว่าใจมันสูง ถ้าคนใจมันต่ำ มันอยู่ใต้ความรู้สึกที่เกิดอยู่ด้วยกิเลส นี้เป็นคน ถ้ามนุษย์ต้องเอาตามตัวหนังสือว่าใจมันสูงแล้ว ก็ควรจะไม่มีความเป็นผีอย่างนี้สิ ถ้าใจมันสูงมันไม่ควรจะมีความเป็นผีอย่างนี้
เดี๋ยวนี้ผมจะพูดว่าคนสมัยนี้มันเป็นคนผีมากขึ้น สู้คนป่าสมัยหินก็ไม่ได้ ซึ่งมันมีความเป็นผีน้อย มันโลภน้อย มันโกรธน้อย มันหลงน้อย มันอะไรน้อย เพราะว่าจิตมันไม่วิวัฒนาการ สมองมันไม่วิวัฒนาการมาก มันคล้าย ๆ กับสัตว์อยู่ คนป่าก่อนสมัยหินมันคล้าย ๆ กับสัตว์ จนเขาเรียกว่าครึ่งคนครึ่งสัตว์ กระทั่งเป็นคนทีแรก ในระดับแรกก็มันยังคล้ายสัตว์อยู่มาก มันไม่ค่อยรู้จักโลภ ไม่ค่อยรู้จักโกรธ ไม่ค่อยรู้จักหลง มันมีสุนัข สัตว์นี้เป็นพยาน สุนัขมันไม่ค่อยโลภ มันไม่ค่อยโกรธ มันไม่ค่อยหลง มันอาฆาตก็ไม่ค่อยเป็น ไป ๆ มา ๆ ก็มันก็ไล่กันไปหาประโยชน์ส่วนเกิน สัตว์เดรัจฉานหรือว่าคนสมัยทีแรก มันไม่ต้องการประโยชน์ส่วนเกิน
นี่ช่วยจำคำนี้ไว้ด้วยคำหนึ่งว่า “ประโยชน์ส่วนเกิน” นั่นแหละตัวทำพิษ มันอยากดิบอยากดีอยากเด่น อยากยกหูชูหาง ล้วนแต่ประโยชน์ส่วนเกินทั้งนั้น เดี๋ยวนี้จะมีปัญหามาก ที่พระเณรไม่เป็นพระเป็นเณรกัน ก็เพราะประโยชน์ส่วนเกิน อยากได้ อยากดี อยากเด่น อยากอะไร เป็นเรื่องส่วนเกินทั้งนั้น เมื่อมนุษย์ยังคล้ายสัตว์ หรือรวมทั้งสัตว์ด้วย มันไม่ต้องการประโยชน์ส่วนเกิน มันกินไปมื้อ ๆหนึ่ง ไม่ต้องพูดถึงวันหนึ่ง มันกินไปมื้อ ๆ หนึ่ง อิ่มมันก็พอละ เพราะฉะนั้นคนป่านี่มันก็จะเดินไปเก็บผลไม้อะไรกิน อิ่มมันก็พอแล้ว มันไม่ต้องการประโยชน์ส่วนเกิน เพราะว่ามันไม่มียุ้งไม่มีฉางจะใส่ และมันไม่มีสติปัญญาที่จะสะสม ความรู้สึกมีเพียงแต่ว่าหิวก็กิน
ต่อเมื่อมาถึงสมัยที่มนุษย์มันรู้จักยึดครองส่วนเกิน เอามาใส่ยุ้งใส่ฉาง แล้วผลิตให้มาก กระทั่งผลิตได้มากมันก็ยิ่งหลงในส่วนเกินนี้มากขึ้น ความโลภมันจึงเกิดขึ้น แล้วเจริญขึ้นมา ความอยากด้วยอวิชชานั้นแทบจะไม่มีในสุนัข มันมีแต่ต้องการหรือหิวตามธรรมชาติเท่านั้น แล้วมนุษย์แรก ๆ เป็นคนก็เหมือนกันนะ มันไม่ค่อยมีความโลภ เพราะมันยังไม่ได้หลงใหลในประโยชน์ส่วนเกิน อวิชชาไม่ค่อยมี ก็กินไปวันหนึ่งแล้วก็นอน จนกว่ามันจะรู้จักสะสมประโยชน์ส่วนเกินนี้ ความโลภมันจึงเกิดขึ้น เจริญขึ้น ๆ เป็นความโลภรุนแรง ทีนี้ความโลภรุนแรงเท่าไร ความโกรธจะมีตามสัดส่วนเท่านั้น เพราะว่าความโกรธมันมาจากการที่ไม่ได้ตามที่โลภ คือเขาต้องการด้วยความโง่ ด้วยอวิชชา เป็นความโลภความอยากเท่าไร เมื่อไม่ได้มันก็โกรธเท่านั้น ที่โลภมากมันก็โกรธมาก รักมากก็โกรธมาก อะไรมันเท่าสัดส่วนกัน
นี่มนุษย์จึงเริ่มมีความโลภ มีความโกรธ มีความหลงก่อหวอดขึ้น แล้วก็มากขึ้น ๆ ตามที่สมองมันวิวัฒนาการ สมองวิวัฒนาการทุกส่วน แต่ว่าส่วนที่สำคัญนั้นคือส่วนที่คิด ส่วนที่จำหรือส่วนที่รู้สึก หรือส่วนที่เป็นสติปัญญานี้ก็ยังไม่รุนแรงเท่าส่วนที่มันคิด สมรรถภาพในทางคิดมันทำให้เกิดคิดมากออกไปในการแสวงหา ในการยึดครองรักษา หรือว่ายึดมั่นถือมั่น มนุษย์ยิ่งเป็นมนุษย์มากขึ้น คนน่ะยิ่งเป็นมนุษย์มากขึ้น มันกลับยิ่งรุนแรงในทางมันสมอง ถ้าไปถูกทางก็ดีไป ถ้าไปผิดทางมันก็เป็นนรกมากขึ้น ยิ่งเป็นคนยิ่งเป็นนรกมากขึ้น เพราะว่ารู้จักโลภ รู้จักโกรธ รู้จักหลงแรงขึ้นกว่าเดิม ต่อเมื่อมันทนไม่ได้ มันจึงคิดว่า แหม, นี่มันเป็นไฟเสียจริง ๆ จึงคิดค้นหาต่อไป จึงพบธรรมะ ธรรมะก็เริ่มปรากฎออกมาในโลก โดยบุคคลที่มันทนไม่ได้เกี่ยวกับความโลภ ความโกรธ ความหลงที่มันเผาจิตใจนี้ ก่อนหน้านั้นก็รู้จักแต่ทำมาหากิน แล้วต่อมามันก็รู้จักโลภ แล้วก็โกรธหลงมากขึ้น ทนไม่ไหวมันจึงไปหาวิธีที่จะระงับไฟเหล่านี้ มันจึงเกิดบุคคลคนแรก ที่จะเรียกว่าฤาษีมุนีอะไรก็ตามใจ ที่จะหาหนทางไประงับความโลภ ความโกรธ ความหลง มันกลบเกลื่อนกันไปบ้างอะไรกันไปบ้าง จนกว่าจะเกิดพระพุทธเจ้า พอเกิดพระพุทธเจ้ามันก็สามารถที่จะระงับ หรือหยุดความโลภ ความโกรธ ความหลง ตามวิธีที่ถูกต้อง
ทีนี้มันยังไม่ถึงนั่น นี้มันก็เป็นโชคร้ายที่มันไขว้กันเสีย มันไม่ไปตามทางของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะมนุษย์สมัยนี้เวลานี้ มันมีกิเลสมากขึ้น มันไปหลงใหลในประโยชน์ส่วนเกินมากขึ้น จนกระทั่งไม่ยอมรับฟังเรื่องธรรมะ เดี๋ยวนี้เขาไม่ยอมรับฟังเรื่องธรรมะ ศาสนาเป็นของโง่เขลา พระเจ้าตายแล้ว แล้วแต่จะพูดกัน ลุ่มหลงประโยชน์ส่วนเกิน พวกนายทุนเป็นพวกที่กอบโกยเอาประโยชน์ส่วนเกินไว้มาก พวกกรรมกรก็ต้องการจะแย่งจะชิง เขาต้องการประโยชน์ส่วนเกินเหมือนกัน กรรมกรบางพวกเขายังไม่ได้ตามสมควร ยังไม่เกินสักที เขาก็ต้องการจะดึงเอามาให้เขาเต็ม ทีนี้กรรมกรบางพวกมันได้ควรที่จะอยู่ได้แล้ว เป็นอยู่แล้ว มันก็ยังต้องการเกิน เพื่อมันจะเป็นนายทุนอีกเหมือนกัน มันจึงได้รบกันไม่มีที่สิ้นสุด คือสถานการณ์ในโลกในเวลานี้ ประโยชน์ส่วนเกินเป็นสิ่งที่ทำพิษ ให้เป็นมิคสัญญี นี่ฆ่ากันมากมายอย่างนี้
ถ้ามันโชคดี มันก็จะมองเห็นว่านี่เรามันบ้า เป็นคนผีกันทั้งนั้น ไปหลงใหลในประโยชน์ส่วนเกิน ถ้าอย่างไรเอาแต่พอดี ๆ เหลือนั้นทำสังคมสงเคราะห์กันดีกว่า มีเครื่องจักร มีสติปัญญา มีเรี่ยวแรง มีเวลาก็ผลิตกันใหญ่ เอาไว้ให้พอดี นอกนั้นทำสังคมสงเคราะห์กันดีกว่า มันก็เป็นโลกพระศรีอาริย์ขึ้นมาในพริบตาเดียว เพราะไม่เป็นทาสของประโยชน์ส่วนเกิน ก็ไม่มีเป็นคนผี มันมีแต่คนดี หรือจะมีเป็นพระอริยเจ้าสูงขึ้นไปตามลำดับ ความเป็นผีหรือคนผีมันก็หมดไป ๆ จากโลกนี้ เดี๋ยวนี้มันมีแต่คนผี มันระอุอยู่ด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเห็นแก่ตัว หลับตากอบโกยประโยชน์ส่วนเกิน นี้มันคนผีทั้งนั้น แล้วมีมากที่สุดในโลกเวลานี้ คนที่ไม่ใช่คนผีกลับมีน้อย หาทำยายาก
นี่ก็ระวัง พระเณรก็เป็นคนผีได้ ถ้ามันต้องการประโยชน์ส่วนเกิน จนถึงกับโลภ โกรธ หลงขึ้นมา มันก็เป็นคนผีเหมือนกัน แต่มันไม่ร้ายเท่าที่ไปฆ่าเขา เป็นคราวละร้อยละพันละหมื่นละแสน คือมันไม่เดือดจัดเท่านั้น พอเดือดจัดมันก็เกิดมิคสัญญีในโลกนี้ แต่ถึงอย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์มันก็อย่างเดียวกัน พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกเพื่อจะพบวิธีที่จะควบคุมจิตใจ ให้เป็นไปในทางที่ไม่ไปเป็นคนผี แต่เป็นมนุษย์ที่มีจิตใจสูงจนเป็นพระอริยเจ้า จนเป็นผู้หลุดพ้นอยู่เหนือโลก หมายความว่าประโยชน์ส่วนขาด หรือประโยชน์ส่วนเกินอะไร ไม่มีทั้งนั้น ไม่มีประโยชน์อันใดที่จะมาทำให้จิตใจวิปริตไปได้ นี่พระอรหันต์ต้องเป็นอย่างนั้น
เดี๋ยวนี้มันยังหวังนั้นหวังนี่ หวังความสุขอย่างนั้นอย่างนี้ มันยังเป็นคนผีชนิดหนึ่งแหละ แม้แต่จะหวังความสุขจากสมาธิวิปัสสนา อันนี้ก็ระวังให้ดี มันอาจจะเป็นผีชนิดหนึ่งก็ได้ แต่มันยังดีกว่าผีเลว ๆ นั่น ถ้ามันหิวกระหายจนเกิดปัญหา เป็นทุกข์เพราะอวิชชาแล้ว เป็นผีทั้งนั้นแหละ ลองอยากพระนิพพานด้วยความโง่เขลา งมงายด้วยอวิชชาสิ มันร้อนเหมือนกับตกนรกเหมือนกันแหละ
เพราะฉะนั้นจึงมีหลักเกณฑ์ที่ว่า ยึดถือว่าของเราไม่ได้ แม้แต่พระนิพพาน ไม่สำคัญพระนิพพานว่าเป็นพระนิพพาน ไม่สำคัญพระนิพพานว่าเป็นของเรา นั่นจุดสุดท้ายอยู่ที่นั่น ตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ มันก็ไม่มีอยากที่จะให้เป็นผีได้ ทีนี้คนมันบ้ามันหลง มันได้ยินเขาว่าพระนิพพานวิเศษวิโสอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็อยากด้วยอวิชชา มันก็เป็นคนที่กระวนกระวายอยู่ด้วยความอยาก ด้วยอวิชชาอย่างนั้น แล้วจะจัดเป็นอย่างไร มันก็ต้องจัดเป็นคนผี
เพราะฉะนั้นผีก็มีมากเท่าจำนวนกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด อะไรที่เขาว่ากันนั่นแหละ ก็มีมากชนิดเท่านั้น อย่างดีมากมันก็น่าดูน่าหลงใหลเหมือนกัน พวกที่มันประณีตละเอียดสุขุม เป็นรูปาวจร อรูปาวจร นี้ละเอียดสุขุมมาก น่ารักน่าพอใจ ถ้ามันไปเทียบกับเรื่องกามาวจรหรือว่านรกอบาย เสร็จแล้วก็ยังไม่พ้นจากอำนาจของอวิชชา เพราะมันยังเป็นโลก เป็นไปตามกระแสของกิเลส ความต้องการด้วยอวิชชาอยู่ อย่าเข้าใจว่าเป็นอรูปาวจรแล้วจะหมดอวิชชา มันคนละเรื่องกัน แม้อยู่ในภูมิกามาวจรนี้ ถ้ามันคิดถูกมันก็กลายเป็นนิพพานได้ คือไม่ทำให้อวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้อง
บางทีอยู่ในนรกนี้จะกลับตัวได้เร็วกว่า เพราะมันเจ็บปวด ขอให้ขอบใจความทุกข์ความเจ็บปวด มันสอน มันทำให้เบื่อ มันทำให้เข็ดหลาบ พอเข็ดหลาบแล้ว อย่างนั้นมันไม่ซ้ำรอยใช่ไหม มันโง่มันหลง มันเป็นทุกข์เป็นร้อน เจ็บปวดด้วยอำนาจกิเลสอะไรต่าง ๆ ซ้ำซากเข้า ๆ มันก็เข็ดหลาบ มันก็เบื่อมันก็ระอา มันก็ไม่ปล่อยให้ความคิดไปในรูปนั้น นี่เราควรจะขอบใจความทุกข์ อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า เมื่อปฏิจจสมุปบาทตั้งต้น ตั้งแต่อวิชชาจนกระทั่งเกิดความทุกข์แล้ว ความทุกข์จะเกิดอะไร ความทุกข์ก็ให้เกิดศรัทธา เกิดความเพียร เกิดอะไรต่อไปตามลำดับจนครบ ๒๔ อย่าง ผมทำแผนที่เรื่องนี้ใส่ไว้แล้วในหนังสือเรื่องปฏิจจสมุปบาท ใครมีก็ไปอ่านดู ความทุกข์ทำให้เกิดศรัทธา ศรัทธาทำให้เกิดการแสวงหา แสวงหาทำให้เกิดการพบสัตบุรุษ พบสัตบุรุษทำให้ได้นั่งใกล้สัตบุรุษ นั่งใกล้สัตบุรุษทำให้รู้ธรรมของสัตบุรุษ เรื่อยไปจนปฏิบัติจนถึงนิพพาน
เพราะฉะนั้นถ้าเราเกิดมาไม่พบกับความทุกข์ แล้วจะต้องการธรรมะทำไม ก็เป็นอันว่ามันไม่มีเรื่อง ถ้าเกิดมาแล้วไม่มีทุกข์ ก็ไม่มีเรื่อง ทีนี้การเกิดมามันเป็นสิ่งเดียวกันกับความทุกข์ ก็คิดว่าตัวกู ก็คิดด้วยอวิชชา มันก็เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านสอนให้คิดเสียใหม่ อย่าคิดในรูปที่มันเป็นอวิชชา อย่าเป็นตัวกู อย่าเป็นของกู เท่านี้มันก็หยุดความทุกข์ได้ แต่เราทำอย่างนั้นไม่ได้ทันที เราจึงต้องแสวงหาวิธี ต้องแสวงหาอุบายอะไรต่าง ๆ จนกว่าจะทำได้
เพราะฉะนั้นในครั้งแรกที่สุด จะต้องไปพึ่งพาอาศัยสติปัญญาความรู้ ของพระศาสดา ครูบาอาจารย์ นั่นแหละชั้นต้น เดี๋ยวนี้มันมีปัญหาอยู่นิดเดียว อันอื่นก็ได้ฟังมามากแล้ว ได้คิดมากแล้ว แต่มันไม่สังเกตตรงที่ว่า กิเลสมันเกิดขึ้นด้วยการเผลอนิดเดียว มันเกิดขึ้นเป็นความอยาก หรือความโกรธอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วมันก็เกิดตัวกูผู้อยากขึ้นมา มันก็ได้ทุกข์เท่านั้นแหละ ฉะนั้นเรียกว่าเคล็ดลับ หรือหัวใจของเรื่องที่สำคัญที่สุดอยู่ตรงนี้ ที่เผลอให้อวิชชาเข้ามาทำหน้าที่เกิดขึ้น ทำหน้าที่ในทุกกรณีที่เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัสด้วยกาย หรือคิดด้วยใจ
อะไรที่จะกันผีได้ มันก็มีแต่สติสัมปชัญญะ กันไม่ให้ผีเกิด แล้วไม่ให้คนกลายเป็นคนผีขึ้นมา ก็มีแต่สติสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้นอย่าประมาทอย่าอวดดี สติสัมปชัญญะคือความไม่ประมาท ความไม่อวดดี สัมปชัญญะนั้นหมายถึงความรู้ด้วย ความรู้ที่ถูกต้องด้วยว่าถ้าเราปล่อยอย่างนี้ ผีมันเกิดขึ้น ถ้าเรารักษาป้องกันไว้ได้ ผีมันก็ไม่เกิดขึ้น นี่เรียกว่าสัมปชัญญะ พอแล้ว แม้ไม่เรียนพระไตรปิฎกมันก็เป็นความรู้อย่างยิ่ง คือรู้ว่าถ้าเผลอแล้วไอ้นี้มันมา ถ้าไม่เผลอแล้วไอ้นี้มันไม่มา ฉะนั้นเขาไม่เคยเรียนพระไตรปิฎก แต่เขาก็บรรลุมรรคผลนิพพาน เป็นพระอรหันต์กันได้ เพราะมันมีสติสัมปชัญญะ มีความรู้ที่ศึกษาออกมาจากความทุกข์ เพราะมันมีความทุกข์ซ้ำๆ ซากๆ มันรู้จักความทุกข์ดี มันก็มีสติสัมปชัญญะที่จะป้องกันการเกิดแห่งความทุกข์ชนิดนั้น
นี้เป็นกฎทั่วไปที่สัตว์เดรัจฉานก็ทำเป็น แต่ว่าเรื่องมันยังไม่ทันจะสูง คนเราก็เหมือนกันเรื่องต่ำ ๆ มันก็เกิดความทุกข์ แล้วมันก็รู้จักเข็ดหลาบ แล้วมันก็ไม่ทำอีก ก็มีสติสัมปชัญญะ ระวัง ไม่เดินตกร่อง ไม่ให้มีดบาดมือ ไม่ให้ก้างปลาติดคออย่างนี้ โดนเข้าแล้วมันเข็ด แต่ว่าเรื่องกิเลสมันเป็นเรื่องผี มองเห็นยาก มันไม่ถูก มันไม่รู้ว่าโดนเข้าด้วยซ้ำไป มันไม่รู้ว่าเป็นทุกข์ด้วยซ้ำไป เห็นนรกเป็นสวรรค์ เป็นอันธพาลอันดับแรก เห็นนรกเป็นสวรค์อยู่เรื่อย แล้วมันจะเข็ดได้อย่างไร มันต้องรออีกหน่อย กว่าจะเห็นนรกเป็นนรก และกว่าจะเห็นสวรรค์ก็เป็นนรก เลยไม่เอาทั้งสองอย่าง ถ้าเผอิญเป็นไปได้เร็วมันก็ดี มันก็มีบุญ ก็เรียกว่าคนมีบุญ ถ้าไม่มีบุญมันก็อืดอาดอย่างนี้ นั่นก็คือความประมาท
เพราะฉะนั้นอย่ามัวไปมองคนนั้น อย่าไปมองคนนี้ อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์คนนั้นคนนี้ มันก็เป็นคนผีชนิดหนึ่งที่ไปมัวมองคนอื่น วิพากษ์วิจารณ์คนอื่น นั้นน่ะระวังให้ดี มันต้องมองข้างใน การเกิดขึ้นแห่งผีเป็นอย่างไร เกิดขึ้นแล้วเป็นอย่างไร นี้จะดี เลยไม่ต้องมีเรื่องที่โกรธใคร หรือว่ารักใครหรือว่าอะไร หลงใหลอย่างใดอย่างหนึ่ง ผีไม่เกิด คนก็ไม่เป็นผี เรื่องมันก็จบเสียเอง เพราะว่ามันต้องการให้จบอยู่ตามธรรมชาติ คืออย่าเกิดกิเลสขึ้นมา เกิดกิเลสขึ้นมาก็ถือว่าผิดธรรมชาติ คือไม่สงบ ไม่ใช่ความสงบอยู่ตามธรรมชาติ
มีวิธีป้องกันให้สงบได้ คือการปฏิบัติในพุทธศาสนา ซึ่งใช้ได้แก่คนทุกคนในโลก ศาสนาอื่นก็มุ่งหมายอย่างนี้ แต่บางทีเขียนไว้ไม่ชัดหรือพูดไว้ไม่ชัด หรือว่าคนมันแปลความหมายเสียอย่างอื่น เพราะฉะนั้นขอให้ถือว่า ศาสนาทุกศาสนามุ่งหมายจะกำจัดผีคือความเห็นแก่ตัวด้วยกันทั้งนั้น พูดไว้ในลักษณะอย่างอื่น เพราะฉะนั้นพอกันทีเลิกกันที เชื่อผมแล้วก็ทำตามผม คือว่าเลิกเกลียดศาสนาใด ๆ อย่าดูถูกดูหมิ่นศาสนาใด ๆ เขามีวิธีที่จะกำจัดความเห็นแก่ตัวตามแบบของเขา ยิ่งสำหรับคนโง่แล้วเราเข้าใจไม่ได้ คนโง่มาก ๆ มันต้องมีวิธีอย่างหนึ่ง เพื่อจะกำจัดความเห็นแก่ตัวกันโดยเร็ว แม้ที่สุดแต่ว่าให้ฆ่าลูกบูชายัญอย่างนี้ ก็เราไปดูเขาไม่ออก เขามีวิธีลัดที่จะกำจัดความเห็นแก่ตัวโดยเร็ว เราก็ไปว่าเขาบ้า บางทีเราก็บ้าเอง ฉะนั้นอย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ว่าเขาบ้าเขาผิด ให้ถือเสียว่าอย่าไปรังเกียจเขาเลย มันมีวิธีการเฉพาะพวกเฉพาะหมู่ไป ที่จะกำจัดความเห็นแก่ตัว
เดี๋ยวนี้ดูแต่ข้างใน ดูแต่จิตใจของเรา อย่าให้อยู่ในลักษณะที่เป็นผีเกิดขึ้นมาจากความเผลอ เมื่อตาเห็นรูป เมื่อจมูก เมื่อหูได้ยินเสียงนี้ หกคู่นี้ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า นรกก็อยู่ที่นี่ สวรรค์อยู่ที่นี่ แล้วจะพ้นไปจากนรกสวรรค์ก็พ้นไปจากที่นี่ ก็เลยขอให้สนใจแต่เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่จะกระทบกันคราวหนึ่ง ๆ อย่าเผลอให้อวิชชาเข้ามาเป็นแม่สื่อ มันจะดึงไปหาผี เป็นผี เป็นคนผีแล้วทนทุกข์อยู่ในนรก นรกทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง สังเกตดูหน้าเซียว ๆ อยู่แทบทุกคน คงจะมีนรกอยู่ข้างในไม่มากก็น้อย ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม เพราะฉะนั้นก็รีบไม่ประมาทกันดีกว่า
นี่คือผมตั้งใจจะพูดขมวดเรื่องที่พูดมาแล้ว ๓ - ๔ ครั้งที่แล้วมา ความอยากเกิดก่อนผู้อยาก กิเลสมันเกิดก่อนคน เพราะฉะนั้นคนก็ไม่ใช่ของจริง เพราะมันเกิดมาจากกิเลส ซึ่งไม่ใช่ของจริง นี่เรียกเป็นบุคลาธิษฐานว่ามันเกิดผีขึ้นมาในใจก่อน แล้วเกิดคนผีขึ้นมา เพราะฉะนั้นคนนั้นก็ไม่ใช่ของจริง ไม่ใช่ตัวตนอันแท้จริง เป็นมายาเช่นเดียวกับผี คือกิเลส อย่าลืมประโยคสั้น ๆ นี้ว่า คนนั้นมันเป็นคนผี เกิดมาแต่ผี คือตัวกู คือของกู
นี่เรื่องธรรมปาฏิโมกข์พูดกันแต่เรื่องตัวกู-ของกูในแง่ใดแง่หนึ่ง มุมใดมุมหนึ่งกันเรื่อย ๆ ไป มิฉะนั้นก็ไม่พูดอะไร ถ้าไม่พูดเรื่องนี้ผมก็ไม่พูดอะไร เพราะมันไม่มีเรื่องที่มีประโยชน์ที่จะพูด ถึงพูดที่อื่นก็เหมือนกันแหละ ที่เทศน์ที่ปาฐกถาที่ไหนก็มันพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งนั้น พูดเกี่ยวกับจิตว่างก็ถูกด่า ไม่รู้จะด่ากันอย่างไรแล้ว มันก็พูดเรื่องไม่มีตัวกู-ของกู พูดเรื่องความว่าง จิตว่าง หรือว่าจะพูดแยกให้เห็นชัด เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดิน น้ำ ลม ไฟ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เพื่อจะทำลายตัวกู-ของกูนี้ เพื่อจะให้รู้บ่อเกิด หรือที่เกิด หรือทางเกิด หรือวิถีทางที่จะเกิดของผี ให้ชัดเจนยิ่ง ๆ ขึ้น ๆ ไป แต่ก็รู้สึกละอายเต็มทีแล้ว ก็พูดมากแล้ว พูดมากมาย พูดมากยิ่งกว่าสมัยพุทธกาลหลายเท่า ซึ่งเขาไม่ต้องพูดกันมากแล้วก็รู้ เข้าใจแล้วก็สลัดกิเลสผีออกไปได้
เดี๋ยวนี้เราอยู่ในฐานะที่มีปัญหามาก เพราะสิ่งแวดล้อมมันผิดกันกับครั้งพุทธกาล ถ้าเราอยู่ในแวดล้อมอย่างสมัยพุทธกาล มันง่ายกว่านี้ มันไม่มีอะไรยั่วมากเหมือนอย่างนี้ และไกลกว่านั้นออกไปอีกจะยิ่งง่าย ถ้าพระพุทธเจ้าไปเกิดในสมัยที่คนป่าแรก ๆ เป็นมนุษย์ขึ้นมาจะพูดง่าย เพราะมันไม่ค่อยมีสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้เกิดกิเลส ครั้งพุทธกาลควรจะถือว่าพอดี พูดกันได้พอดี ๆ สะดวก พอมาถึงสมัยนี้พูดกันยากแสนยากแสนเข็ญ พูดกันให้เข้าใจได้แสนยาก เลยต้องพูดมาก พูดเหมือนกับจะบ้าไปแล้ว พูดไม่รู้จักจบ จะทำอย่างไรได้ มันอยู่ในโลกสมัยนี้ ยิ่งพูดกันไม่รู้เรื่อง เขาชวนกันผลิต ชวนกันสร้าง ชวนกันช่วยกันส่งเสริมแต่เรื่องที่จะส่งเสริมผีทั้งนั้นแหละ เรื่องอยู่ดีกินดีมันส่งเสริมผี เรื่องกินอยู่แต่พอดีไม่ส่งเสริมผี เขาไม่ชอบ เขาจะต้องการส่วนเกิน ทีนี้ที่ยังไม่ได้ส่วนเกิน มันก็กระหายในส่วนเกิน มันก็เตรียมเป็นผีไว้ล่วงหน้า
เพราะฉะนั้นเราต้องมีธรรมะเข้ามาช่วย ให้คนที่มันยังไม่มีอะไร ยังยากจนอยู่ ก็ผลิตก็ทำไปด้วยจิตที่ปกติ อย่าเกิดผีขึ้นมา คนที่มีกำลังมีปัญญามีความสามารถ ก็อย่าเป็นผี ใจคอปกติ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เพราะฉะนั้นมันก็ไม่รู้จะเอาส่วนเกินมาทำอะไร มันก็ช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้อื่นแหละ นี่โลกมันจะมีความสงบสุขได้ก็เพราะข้อนี้เท่านั้น เดี๋ยวนี้ไม่ทำอย่างนั้น ยุกันให้หลงใหลในส่วนที่จะสนุกสนาน เอร็ดอร่อยไม่มีขอบเขต มันก็เป็นผีชนิดหนึ่งมากขึ้น คือเขาเรียกว่าเวมานิกเปรต ผมก็จำได้ไม่แน่นัก กลางวันมันเป็นเปรต เที่ยวเป็นเปรตอยู่นั่น พอกลางคืนมันไปเป็นเทวดาอยู่วิมาน พอกลางวันมันเป็นเปรต พอกลางคืนไปเป็นเทวดาอยู่กับนางฟ้าในวิมาน นี่เวมานิกเปรตทำนองนี้ ก็คือคนสมัยนี้ มันสะสมเหยื่อกามารมณ์ไว้บริโภคเวลากลางคืน กลางวันมันก็ต้องออกไปทำงานเหมือนกับเปรต คือ หิวกระหาย ต่อสู้ดิ้นรนกันไปตามเรื่อง อย่างนี้เรียกไม่ถูก ก็จะเรียกว่าผีหรือคน หรือเทวดานั้น มันไม่รู้จะเรียกว่าอย่างไร แต่ถ้าเอากันแต่ความหมายก็ต้องแยกออกจากกัน เมื่อใดร้อนใจ เมื่อนั้นเป็นเปรต เป็นผี เป็นสัตว์นรก เมื่อใดสบายพอสมควร เมื่อนั้นก็เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เมื่อใดอยู่เหนือความรู้สึกทั้งหมด ก็เป็นพระอริยเจ้าเป็นพระอรหันต์ไปเลย นั่นแหละเรื่องคนผีมันมาจากผี ผีมันสร้างคนผี เดี๋ยวนี้โลกมันเต็มไปด้วยคนผี
เอาละพอกันทีสำหรับวันนี้