แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาฏิโมกข์ของพวกเราที่นี่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกู-ของกูต่อไปตามเคย และมีความหวังอยู่ว่า การพูดที่พูดไปแล้วหลายครั้งนี้คงจะได้ช่วยให้เข้าใจสิ่งที่พูดครั้งหลังๆ นี้ มากขึ้น ข้อนี้จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเรื่องตัวกู-ของกู คือว่าเรื่องนี้จะพูดให้เข้าใจเร็วๆ ทันทีคราวเดียวเสร็จนั้นมันทำไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องที่ลึกลับซับซ้อนหลายชั้น ฉะนั้นจึงต้องฟังกันไปเรื่อยๆ ค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ในเรื่องที่พูดกันเมื่อปีกลายนั้นอาจจะช่วยให้เข้าใจในเรื่องที่กำลังจะพูดเดี๋ยวนี้วันนี้ได้ ถึงแม้ว่าเราจะพูดเหมือนกันเกือบเหมือนกันหรือว่าเหมือนกันเลยก็ได้ทุกครั้งนี่ แต่มันก็จะช่วยให้เข้าใจการพูดครั้งหลังๆ ได้มากขึ้นอยู่นั่นเอง ฉะนั้นขอให้สนใจฟังให้ดีๆ ทุกทีไป ว่าเรากำลังพยายามที่จะทำความเข้าใจกันด้วยเรื่องที่เข้าใจยากที่สุด คือถ้าจะพูดให้ถูกแล้ว มันก็เป็นเรื่องที่ไม่อาจจะเข้าใจได้ด้วยลำพังความเข้าใจ หรือแม้เข้าใจได้มันก็ไม่ใช่ความจริงหรือตัวเรื่อง เพราะว่าเรื่องนั้นมันต้องเรียกว่ารู้แจ้งแทงตลอดซึมซาบอย่างปรากฏแก่ใจโดยตรง ไม่ใช่ความเข้าใจ เราเรียนเรื่องอัตตา เรื่องอนัตตา ในโรงเรียนนักธรรมนี้ มันก็เป็นเรื่องเพียงสักว่าได้ยินได้ฟังแล้วจำได้ อย่างนี้ก็ยังไม่ค่อยจะเข้าใจ ต่อมาก็อธิบายกันให้มากขึ้นจนเข้าใจ มันก็เป็นเรื่องเข้าใจไปตามเหตุผลที่เขามาอธิบายให้ฟัง แล้วซึ่งอาจจะผิดก็ได้ เหตุผลนั้นอาจจะผิดก็ได้ ทีนี้มันก็ยังไม่จริง ทีนี้แม้ว่าเหตุผลถูกแล้วก็เข้าใจด้วย มันก็ยังไม่ถึงตัวจริง เพราะตัวจริงเป็นสิ่งที่จะต้องมาจากความรู้สึก มีความรู้สึกต่อสิ่งนั้นที่ปรากฏอยู่กับใจจริงๆ แล้วเราสังเกตเห็น
นี่ผมมุ่งหมายจะกล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่าตัวตนในลักษณะนี้ยิ่งๆ ขึ้นไป มันอาจจะซ้ำกันเรื่อยก็ได้ เพราะเหตุว่าตัวกู-ของกูนี้ไม่อาจจะรู้ได้ด้วยความจำหรือด้วยความเข้าใจ แต่ต้องด้วยสิ่งที่เรียกว่ารู้แจ้งแทงตลอด คือมันเกินความเข้าใจไปเสียอีก เพราะฉะนั้นก็จะได้พูดกันใหม่วันนี้โดยหัวข้อหรือหลักเกณฑ์ที่ว่า ตัวกู-ของกูนี้มันเป็นสิ่งที่ต้องรู้จักด้วยความเห็นแจ้งแทงตลอด นี่คุณจำหัวข้อนี้ไว้ว่า ตัวกู-ของกูนี้เป็นสิ่งที่ต้องรู้จักด้วยการเห็นแจ้งแทงตลอด ซึ่งมันมากไปกว่าความเข้าใจหรือความจำ ซึ่งมันไม่ไหว เดี๋ยวมันก็ลืม
ทีนี้เราก็ขอทบทวนโดยหัวข้อใหญ่ๆ ที่ได้เคยพูดแล้วบ่อยๆ ว่าตัวตนหรือตัวกูที่มันเป็นผู้อยากนั้นมันเกิดทีหลังความอยาก นี่ผมขอร้องให้เอาข้อนี้ไปสังเกตอยู่ตลอดเวลา ที่เป็นเรื่องของจิตใจส่วนลึกโดยเฉพาะนั้นต้องสังเกตจนมองเห็นและรู้จักว่า อ้าว,ตัวกูนี้ ผู้อยากนี้ เป็นเรื่องลมๆ แล้งๆ เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นหลังจากความอยาก ผู้อยากเกิดทีหลังความอยาก ถ้าพูดอย่างสมัยใหม่นี้เขาเรียกว่ามันผิดลอจิค(logic) ไม่มีลอจิคคือไม่มีเหตุผล แต่นั่นมันเหตุผลของคนไม่รู้ หรือว่าเหตุผลของเด็กๆ ก็ต้องมี ผู้ เสียก่อนแล้วจึงมีการกระทำหรืออะไรของผู้นั้น พูดอย่างนั้นมันเป็นลอจิคของบุคคลผู้มีตัวตนผู้เข้าใจสำคัญผิดมาแต่อ้อนแต่ออกว่ามีตัวกูมีของกูคือมีตัวตนแล้วจึงมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของตัวตน นั่นมันลอจิคของพวกคนนั้น คือของพวกคนโง่มาแต่กำเนิดที่ว่ามันมีตัวมีตน
ทีนี้ถ้ามันเป็นลอจิคของพระพุทธเจ้า มันไม่มีตัวตน มันมีแต่ความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง มันจึงมีความรู้สึกหยาบขึ้นมาก่อน แล้วความรู้สึกอันดับที่สองมันจึงจะมีเป็นความรู้สึกนึกว่าเราเป็นผู้อยาก อยากจะได้ต้องการขึ้นมา สำหรับนัยยะอันแรกจะต้องย้อนไปทบทวนเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่ได้อธิบายกันแล้วโดยละเอียดว่าสิ่งที่เรียกว่าความอยากนั้นมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ตรงนี้มีความสำคัญมาก ถ้าเป็นพระเณรที่ขี้เกียจก็ไม่สนใจเรื่องปฏิจจสมุปบาท มันก็เข้าใจไม่ได้ หรือว่ามันยากเกินไปสำหรับบางคนจนเข้าใจไม่ได้ มันก็เข้าใจไม่ได้ หรือว่าอธิบายปฏิจจสมุปบาทกันผิดๆ มันก็เข้าใจไม่ได้ ฉะนั้นผมก็พยายามอธิบายปฏิจจสมุปบาทอยู่มากอย่างมากวิธีเพื่อจะให้มันเข้าใจได้ ฉะนั้นจึงอยากจะขอทบทวนอีกครั้งหนึ่ง ขอให้ตั้งใจฟังหรือสังเกตให้ดีๆ ว่าเวลานี้เราไม่มีความรู้สึกที่เป็นความอยาก ไม่มีความรู้สึกที่เป็นผู้อยากอะไรเลย และความรู้สึกที่เป็นความอยากหรือผู้อยากมันจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร มันก็มาจากเรื่องราวเหตุการณ์ที่เข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจเอง อย่างใดอย่างหนึ่งในหกอย่างนี้
ทีนี้ก็ยกตัวอย่างทางตา เมื่อได้เห็นรูปทางตา ก็คือมีรูปกับมีตาที่พร้อมที่จะเห็นได้ คือตาที่ยังดีๆ อาศัยรูปกับตานั้นก็เกิดการทำหน้าที่ทางตาคือการเห็นทางตา นี่ก็เรียกว่าจักษุวิญญาณ รูปคือรูป ตาคือจักษุ ตากับรูปได้อาศัยกันเข้าเกิดสิ่งที่สามคือการเห็นทางตา เรียกเป็นบาลีว่าจักษุวิญญาณ นี่เรียกว่าวิญญาณทางตา สามอย่างนี้กระทบกันเข้า กลมกลืนกันเข้า คือตา รูป จักษุวิญญาณนี้ สามอย่างนี้ทำงานร่วมกันเข้าเรียกชื่อว่าผัสสะคือการกระทบ พอการกระทบครบอย่างนี้แล้วมันก็เรียกร้องมาซึ่งสัญญาที่ทำให้รู้ว่ามันรูปอะไร มันรูปอะไรมันรู้ได้ด้วยสัญญา รูปหญิง รูปชาย รูปต้นไม้ดอกไม้ รูปอะไรก็ตามใจเถิด สัญญาแต่กาลก่อนมันช่วยให้เรารู้สึกได้ว่ารูปอะไร เพราะตั้งแต่เราเกิดมามันก็เคยชินแต่การบอกเล่าสอนของคนนั้นคนนี้ ว่านั่นเรียกชื่ออย่างนั้น นี่เรียกชื่ออย่างนี้ หรือแม้แต่ความรู้สึกในจิตใจของเราก็เหมือนกันแหละ พอเกิดอย่างนี้ขึ้นก็เรียกว่าอย่างนั้นอย่างนี้ เช่นว่าเจ็บอย่างนี้ อันนี้เขาเรียกว่าเจ็บ สัญญามันก็มีอยู่แล้วพร้อมแล้วมากมายที่พอจะบอกว่าอะไรเป็นอะไร ทีนี้ถ้าได้เห็นรูปที่สบายตา ซึ่งสัญญาบอกมันว่านี่รูปผู้หญิงที่สวย แล้วมันก็เกิดความสบายตา นี้ก็คือเกิดเวทนาที่สบายแก่ตา
ทีนี้มันไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น ถ้าเวลานั้นมันเป็นคนเผลอสติคือไม่มีธรรมะ เผลอสติไม่มีธรรมะ ความรู้สึกประเภทอวิชชาก็ครอบงำ ทีนี้จิตภายในล้วนๆ มโนวิญญาณล้วนๆ เข้าไปจับฉวยเอาความสบายตาเพราะรูปนั้นอีกทีหนึ่ง เรียกว่ามโนวิญญาณ พบกันเข้ากับธรรมารมณ์คือความรู้สึกสบายตานั้น มีผลเป็นเวทนาก่อน แล้วเวทนานั้นเป็น ธรรมารมณ์สำหรับจิตที่มันจะรู้สึก คู่หลังนี้มโนกับธรรมารมณ์สัมผัสกัน เรียกว่ามโนวิญญาณขึ้นมาอีกทีหนึ่ง ตอนนี้แหละตอนที่จะมีกิเลส ตอนที่ตาเห็นรูปทีแรกรูปอะไรนั้นไม่มีกิเลสไม่เกี่ยวกับกิเลส เพียงแต่รู้ว่ารูปอะไรจนมีผลถึงกับสบายตากันก่อน แล้วเอาความสบายตานั้นมาเป็นเวทนา ทีนี้จิตเอาเวทนานั้นเป็นธรรมารมณ์สัมผัสอีกทีหนึ่ง ทีนี้ก็มีการสัมผัสระหว่างมโนกับธรรมารมณ์ เกิดมโนวิญญาณขึ้นมา ทีนี้ก็เป็นผัสสะชุดที่สองนี้ ซึ่งมีอวิชชาเข้าไปผสมเข้าไปด้วย มันเป็นสัมผัสด้วยอวิชชา ทีนี้มันเกิดเวทนาขึ้นมา ก็เป็นเวทนาที่เกิดมาจากสัมผัสด้วยอวิชชา นี่เวทนาที่เกิดเพราะสัมผัสด้วยอวิชชานี้เป็นที่ตั้งแห่งตัณหาซึ่งเป็นกิเลส เวทนาก่อนหน้านี้ไม่เป็นที่ตั้งแห่งตัณหาแห่งกิเลส มันเป็นเพียงธรรมดา,การกระทบตามธรรมดา แต่ในรอบที่สองนี้ มโนนี้สัมผัสกับธรรมารมณ์ เกิดมโนวิญญาณ เกิดผัสสะที่มาจากอวิชชาหรือประกอบอยู่ด้วยอวิชชาและก็มีเวทนาที่ประกอบอยู่ด้วยอวิชชา ก็ปรุงต่อไปเป็นตัณหา ตัณหานี้คือความอยากด้วยกิเลสด้วยอำนาจอวิชชานั้นแหละ นี่ความอยากเกิดแล้ว ตรงนี้ ต้องปักหลักลงไปทีหนึ่งก่อนว่า ความอยากหรือตัณหาเกิดแล้วในเวทนาที่ปรุงขึ้นมาด้วยการสัมผัสด้วยอวิชชา สัมผัสทางไหนก็ตาม ถ้ามันปรุงกันขึ้นมาด้วยอวิชชานี้จะเกิดเวทนาที่มาจากอวิชชา และเวทนานี้หลีกไม่พ้นแล้วมันต้องให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าตัณหาคือความอยาก ฉะนั้นตัณหาจึงเป็นสิ่งที่เจืออยู่ด้วยอวิชชา ความอยากที่เจืออยู่ด้วยอวิชชาหรือมาจากอวิชชานี้เราเรียกว่าตัณหา ถ้าความอยากเฉยๆ ไม่เกี่ยวกับอวิชชาก็ไม่เรียกว่าตัณหา นี้ก็มีความอยากเกิดขึ้นแล้วคือตัณหา
ทีนี้ก็พิจารณาดูสิ ว่าความอยากนี้ ตัวความอยากในที่นี้แท้ๆ นี้ มันเป็นตัวตนหรือเปล่า หรือมันจะเป็นตัวตนได้อย่างไร มันเป็นสักว่าความอยากและก็เป็นเรื่องลมๆ แล้งๆ ก็คือปรุงขึ้นมาตามวิถีทางของอวิชชาหรือตามธรรมชาติของอวิชชาหรือตามธรรมชาติของนามและรูป คือเราดูตากับรูปเกิดจักษุวิญญาณ มีผัสสะมีเวทนา นี่ชั้นหนึ่งนี้ยิ่งเหลวใหญ่ นี้มันเป็นเพียงไปตามธรรมชาติ ไม่มีตัวตน ไม่มีความรู้สึกว่าตัวตน ทีนี้เวทนานั้นอร่อยแก่ความรู้สึก ใจมันจึงสัมผัสเอาเวทนานั้น ทีนี้สิ,มันทำไปด้วยอวิชชา คือความโง่ความไม่รู้ต่อสิ่งนั้น มันจึงเกิดสัมผัสด้วยอวิชชา เกิดเวทนาด้วยอวิชชา แล้วก็เกิดความอยากต่อเวทนานั้นด้วยอำนาจอวิชชา อวิชชาจึงเป็นสิ่งที่เป็นของลมๆ แล้งๆ หาตัวตนอะไรมิได้ สรุปแล้วก็เป็นเพียงความรู้สึกของจิต ความรู้สึกนี้ก็เป็นเพียงการปรุงแต่ง เป็นผลของการปรุงแต่งที่ปรุงแต่งตามธรรมชาติตามกฎของธรรมชาติ เป็นการปรุงแต่งของจิตจนเกิดความรู้สึกเท่านั้นแหละ ไม่มีอะไรไม่มีตัวตนที่ไหน จิตก็ยังมิใช่ตัวตน ความรู้สึกอยากนี้ก็เป็นความรู้สึกของจิต เพราะว่าความอยากนี้มันเกิดก่อนเสียอีก เกิดก่อนจากสิ่งที่จะเรียกได้ว่าจิตหรืออะไรที่เป็นจริงเป็นจัง จะเรียกว่ามโนนั้นเป็นจิตและเป็นเจ้าของผู้รู้สึกอยาก อย่างนี้ไม่ถูก ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้วผิดหมด ให้มโนนั้นเป็นจิตเป็นตัวตนแล้วก็เกิดความอยาก อันนี้ยิ่งผิดใหญ่ ผิดตามหลัก ถ้าอย่างนั้นแล้วตามันก็เป็นตัวตนได้ เพราะว่าตานี้มันก็เห็นรูปแล้วก็เกิดจักษุวิญญาณ ถ้าอย่างนี้ตาก็เป็นตัวตนได้ ทีนี้ตาก็สักว่าตาของคนเรานั้นซึ่งมีเส้นประสาทมีอะไรสำหรับจะเห็นได้ และรูปก็เป็นสักว่ารูป อาศัยกันเข้าเกิดการเห็นทางตาขึ้นมา การเห็นทางตานั้นก็ยังมิใช่ตัวตนไม่มีตัวตนที่เป็นผู้เห็นอะไรมากไปกว่าตา มันมีเส้นประสาทอย่างนั้นมันก็รู้สึกอย่างนั้น นี่เป็นเพียงปฏิกิริยาของสิ่งที่เรียกว่าตาเมื่อกระทบกันเข้ากับสิ่งที่เรียกว่ารูป อาการที่เรียกว่าเห็นรูปด้วยตามันก็เกิดขึ้นเท่านั้น มันก็ไม่ใช่ตนที่เป็นผู้เห็น สิ่งที่ถูกเห็นก็มิใช่ตน การเห็นก็มิใช่ตน ตาที่ทำหน้าที่เห็น ตานั้นก็มิใช่ตน นี้ตามหลักเกณฑ์ของพุทธศาสนา
แต่ทีนี้ถ้ามันไปตามหลักเกณฑ์ของพวกอื่นที่เขาไม่ถือหลักเกณฑ์อย่างนี้ เขาอาจจะบัญญัติว่าตานั้นมีตัวตนเป็นตัวตนเสียก็ได้ นี่พระพุทธเจ้าจึงจำเป็นจะต้องปฏิเสธยุ่งไปหมด พระพุทธเจ้าท่านต้องทรงปฏิเสธไปหมดเลย ตาก็มิใช่ตน รูปก็มิใช่ตน อะไรก็มิใช่ตน เพราะว่ามันมีคนอยู่พวกหนึ่งซึ่งเขาจะสอนว่ามันมีตน มีเจตภูต มีตนอะไรก็ตาม เดี๋ยวทำงานทางตา เดี๋ยวทำงานทางหู เดี๋ยวทำงานจมูกเป็นต้น มันเป็นตนเสียแล้ว ถ้าถือว่านั้นเป็นตนแล้วก็เป็นลัทธิอื่นไม่เกี่ยวกับเรา ถ้าจะเกี่ยวกับพุทธศาสนา ตาก็สักว่าตาแหละ รูปก็สักว่ารูป การกระทบกันอาศัยกันก็เกิดการเห็นทางตา มันก็เป็นปฏิกิริยาของการที่ตามันกระทบกับรูปนี่ มันไม่มีตัวตนที่ตรงไหน เป็นธรรมชาติล้วนๆ
ทีนี้การกระทบนั้นมันก็เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ความรู้สึกก็เกิดขึ้นเป็นเวทนาเป็นต้น สัญญามันก็เกิดขึ้นตามธรรมชาติว่าจำได้ว่ารูปอะไรเป็นต้น เวทนามันก็เกิดขึ้นโดยความรู้สึกโดยผสมกันกับเส้นประสาทที่มันจะไปรู้สึกสบายตาหรือไม่สบายตา สบายหูไม่สบายหูเป็นต้น เป็นธรรมชาติล้วนๆ ไปหมดอย่างนี้ จึงว่าเวทนาก็มิใช่ตน สัญญาก็มิใช่ตน รูปก็มิใช่ตน ความคิดนึกเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ก็มิใช่ตน สังขารมิใช่ตนและวิญญาณนั้นก็มิใช่ตน นี่รูป เวทนาสัญญา สังขาร วิญญาณ มิใช่ตน มีความหมายอย่างนี้ แต่สิ่งเหล่านี้ที่มิใช่ตนนี้มันมีความรู้สึกอยู่ในตัวมันได้ ดังนั้นมันจึงเกิดความอยากได้ด้วยความรู้สึกที่เป็นความโง่ผสม แล้วมันก็เกิดความอยาก เช่น กามราคะ เกิดความอยากในสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งกามเป็นต้น นี้คือความอยาก เกิดขึ้นตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติและก็เป็นไปตามอัตโนมัติตามกฎเกณฑ์ของมันด้วย นี่รู้ว่าความอยากเกิดขึ้นแล้ว ความอยากนั้นมิใช่ตัวตน
ทีนี้ความอยากนี้เกิดขึ้นเต็มที่แล้วมันก็ปรุงอุปาทาน ตัณหาให้เกิดอุปาทาน อุปาทานก็คือความสำคัญมั่นหมาย ว่าเรานี้อยากจะได้สิ่งนั้น,เราอยากจะได้สิ่งนั้น ความอยากเป็นเพียงความรู้สึกแท้ๆ อย่างไร ความรู้สึกว่าฉันเกิดเป็นผู้อยากและต้องการนี้มันก็เป็นเพียงความรู้สึกเท่านั้นแหละ ไม่ได้มีตัวตนจริงจังอะไรที่ไหน ก่อนนี้มันก็มิได้มี มันก็เพิ่งมีเดี๋ยวนี้ เพราะมันปรุงขึ้นมาตามลำดับอย่างนี้ ความรู้สึกว่าฉันอยาก เป็นฉันอยาก ฉันต้องการ ฉันเดือดพล่านอยู่ด้วยความอยากนี้ นี่ความรู้สึกอยากเกิดแล้ว ความรู้สึกผู้อยากตัวกูผู้อยากก็เกิดขึ้น
นี่สำหรับคนเราก็ลึกซึ้งละเอียดลึกซึ้งมาก ฉะนั้นจึงขอร้องอย่างที่ขอร้องทีแรกว่า ไม่ใช่เพียงแต่ทำความเข้าใจอย่างที่ผมพูด แต่ต้องทำความเห็นแจ้งรู้สึกหรือรู้จักอยู่จริงๆ ฉะนั้นขอให้สังเกตเวลาที่เราได้เห็นได้ยินได้ฟังอารมณ์ร้ายๆ นั่น เช่นว่า มีคนที่เกลียดน้ำหน้าเกลียดชังเป็นศัตรูกันอยู่คนหนึ่ง เมื่อยังไม่เห็นหน้ากันมันก็ไม่มีอะไร ตัวกูก็ไม่มี ศัตรูของกูก็ไม่มี แต่พอเห็นหน้ากัน มันก็มีความรู้สึกเกิดขึ้นและปรุงแต่งกันมาตามลำดับว่า นี้คือศัตรู กูก็มีศัตรู กูก็อยากจะฆ่ามันเสียให้ตาย นี้หมายความว่าตอนหลังๆ นะ ถ้าเราเห็นหน้าศัตรูได้ยินเสียงศัตรูนี่ เราต้องศึกษาความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นนั้นแหละให้รู้จักให้รู้สึก นี้ไม่ต้องอาศัยเหตุผลไม่ต้องอาศัยความเข้าใจทางเหตุผลอะไรกันอีกแล้ว มันเป็นความรู้สึก ขอให้จำคำว่ารู้สึกหรือรู้จักนี้ไว้ให้ดี มันไม่เกี่ยวกับเหตุผล พอได้ยินเสียงศัตรู จิตมันเป็นอย่างไร รู้จักจิตนั้นให้ดีๆ เห็นแจ้งจิตนั้นให้ดีๆ ไม่ต้องใช้เหตุผล มันพล่านมันอะไรอยู่ให้ดีๆ มันมีความเลวทรามที่สุดอย่างไร รู้จักมันให้ดีๆ เมื่อจิตมีความโกรธ จิตมีความรู้สึกไปในทางกิเลสเป็นกิเลสนั้น มันเป็นจิตชนิดไหน มันเลวอย่างไร รู้มันให้ดีๆ นี่เรียกว่าศึกษาจากจิตนั้นโดยตรงไม่ต้องใช้เหตุผล มันจะมีความรู้สึกตัวกูตัวมึงขึ้นมาทันที เมื่อตะกี้มันไม่มีนี่ พอได้ยินเสียงคนที่ไม่ชอบนั้น มันมีความรู้สึกเป็นตัวกูตัวมึงขึ้นมาทันที สองฝ่ายขึ้นมาทันที เพราะมันมีความรู้สึกที่สะสมไว้เป็นต้นทุน ผูกอาฆาตพยาบาทหรืออะไรกันอยู่ก่อนด้วย มันก็ไปตามกระแสของการปรุงแต่งเป็นอย่างนั้น แต่เราจะรู้สึกเป็นตัวกูทุกทีแหละ มันทำแก่ตัวกู มันทำแก่ตัวกูอย่างไม่ยุติธรรม ฉะนั้นกูสมควรที่จะโกรธมันอย่างนี้เป็นต้น มันก็เลยไม่เข้าใจที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่านี้เป็นเรื่องลมๆ แล้งๆ ไม่มีตัวไม่มีตน เป็นแต่การเป็นไปของจิต เรียกว่าพฤติของจิต การปรุงแต่งของจิตก็ได้ พฤติล้วนๆ ของจิตก็ได้ ไม่มีตัวตนที่ไหน เป็นแต่การปรุงแต่งของเรื่องราวของจิตทางจิตจนเกิดความรู้สึกว่าตัวกูและตัวมึง มันก็เกลียดเท่านั้น ก็คือกิเลสทั้งนั้น ฉะนั้นกิเลสก็มีเท่านี้แหละ ก็ไม่มีมากกว่านี้ พระเณรจะมีกิเลสก็มีกันได้อย่างนี้ จะไม่มีได้ก็ต้องไม่มีสิ่งเหล่านี้
ทีนี้ก่อนแต่ที่มันจะเกิดความหมายมั่นว่าเป็นข้าศึกเป็นคนเกลียดเป็นอะไรขึ้นมานี้ มันก็ต้องมีเรื่องราวกันมาก่อนเหมือนกัน คือต้องขัดคอกันหรือว่าจะต้องทำอะไรที่เป็นการขัดขวางกันนั่นแหละ แต่มันก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกูอีกนั่นแหละ คือเมื่อฝ่ายหนึ่งมันไม่ยอมให้แก่ตัวกูฝ่ายนี้ ตัวกูฝ่ายโน้นมันไม่ยอมให้แก่ตัวกูฝ่ายนี้ มันก็เถียงกัน มันก็เบ่งกัน แล้วมันก็ตะเบ็งแข็งกันขึ้นไปทั้งสองฝ่ายจนมันได้เกลียดกัน,ความรู้สึกอันนั้น ฉะนั้นอย่าเข้าใจว่าจิตที่มันเบ่งขึ้นไปได้ ตะเบ็งขึ้นไปได้ จนเป็นตัวกูตัวมึง,ตัวกูตัวมึง,ตัวกูตัวมึง ซัดกันไปซัดกันมา จนโกรธกันได้จนอาฆาตกันได้นี้ อย่าได้เข้าใจจิตนั้นว่าเป็นตัวตน มันก็มิใช่เป็นตัวตน มันเป็นความรู้สึกที่แรงขึ้นๆ โดยเป็นปฏิกิริยาที่ทวีขึ้นเนื่องจากการปรุงแต่งทางจิตนั่นแหละ
เอ้า,ผมก็ชอบยกตัวอย่างอาจารย์หมาตามเคยนี่ ก็ขอให้ไปดูเวลาหมามันจะฮื่อแฮ่กันสิ หรือหมามันจะกัดกันอย่างไม่มียับยั้ง เมื่อทีแรกมันก็ไม่มีรู้สึกอะไร แต่แล้วมันก็เห็นกันเข้า ถ้ามันเป็นตัวที่มีเวรมีภัยกัน มันก็เอาเลย ทีนี้ก่อนแต่หน้านั้นที่มันยังไม่มีเวรมีภัยแก่กัน มันก็ต้องมีเรื่องสิ เช่นว่ามันจะแย่งอาหารกัน หรือแย่งเพศตรงกันข้ามอะไรกัน ความอยากในอาหารนั้นมันก็มีอยู่ ความอยากในอาหารนั้นก็มิใช่ตัวตน มันเป็นความหิวของร่างกายรวมกับความรู้สึกของจิตใจมันอยาก ถ้าแก่เข้าๆ มันเป็นหิว ทีนี้ความรู้สึกหิวนี้มันมีอำนาจพอที่จะบังคับให้แสวงหาให้พยายามที่จะได้กิน ทีนี้เมื่อมันไม่ได้อย่างนั้นมันก็ต้องต่อสู้เอาให้ได้กินให้จนได้ นี่มันจึงกัดกัน ถ้าสุนัขหิวต่อหิวมันมาพบกันเข้า มันแย่งจะกินกัน มันก็ต้องกัดกัน ไม่ต้องมีตัวตนหรอก มันเป็นความรู้สึกที่ปรุงขึ้นตามลำดับๆ ของจิตของกระแสจิต มันก็กัดกันได้โดยที่ไม่ต้องมีตัวตน มีแต่จิตที่เป็นไปตามกฎ แล้วจิตนี้ก็ไม่ใช่ว่ามันเป็นจิตตัวตน มันเป็นความรู้สึกที่เป็นไปตามกฎที่จะก่อจุดตั้งต้นขึ้นมาที่ตากับรูป ที่วิญญาณทางตา ที่ผัสสะที่เวทนาอะไรเหมือนกันอีกแหละแม้แต่สุนัขนั่นแหละ
ฉะนั้นก่อนที่มันจะเกิดเกลียดชังกันขึ้นระหว่างสุนัขต่อสุนัข มันต้องมีอะไรบางอย่างก่อน สร้างให้เกิดความรู้สึกขึ้นในความรู้สึกว่านี้กู นั้นมัน นู้นมึง แล้วก็เป็นข้าศึกกันอย่างนี้ ทีนี้ตอนหลังๆ พอเห็นกันเข้าแล้วก็ไม่ต้องคิดอะไรแล้ว มันก็กระโจนเข้าใส่กันเพราะมันมีเรื่องมาก่อนแล้ว ทำไมครั้งหลังมันจึงกระโจนเข้าใส่กัน มันเป็นตัวตนหรือเปล่า มันก็ต้องรู้ว่าสัญญานั้นแหละมันไม่ใช่ตัวตน รูปไม่ใช่ตัวตน เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารไม่ใช่ตัวตน วิญญาณไม่ใช่ตัวตน แต่เดี๋ยวนี้หมาตัวนี้เห็นหมาตัวนั้น เรียกว่าตาของมันเห็นรูป เกิดการเห็น เกิดสัมผัสเกิดเวทนา คือชังน้ำหน้าอีกตัวหนึ่งที่มันเห็นนั้น มันก็เลยอาศัยสัญญาที่แต่ก่อนนั้นแหละทำให้ชังน้ำหน้า ทำไมพอเห็นเข้าจึงชังน้ำหน้า มันมีสัญญาว่านี้มันเคยกัดกูเคยอะไรกับกู นี่สัญญามันอยู่ แล้วสัญญามันก็เกิดขึ้น สัญญานี้ก็มิใช่ตัวตน ก็ทำให้เกิดความคิดหรือสังขาร ความคิดว่าหมาตัวนี้มันเป็นศัตรูของกู มันจึงกัดกัน นี่สังขารก็มิใช่ตัวตน
ฉะนั้นไปคิดดู ความรู้สึกที่ได้ชื่อว่าเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และก็ได้อาศัยรูปเป็นที่อาศัย เป็นเหมือนกับวัตถุที่อาศัยและนามสี่อย่างนี้มันก็ทำหน้าที่จนเกิดเป็นความรู้สึกเป็นตัวกูเป็นตัวมันแล้วก็กัดกัน จะไปดูที่อย่างอื่นจะไปท่องจากหนังสือนั้นมันไม่ได้ มันยิ่งๆ โง่เข้าไปแหละ มันยิ่งโง่ทุกทีแหละ ที่ว่ารูปไม่ใช่ตัวตน เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญาไม่ใช่ตัวตน ถ้าเรียนจากคนไม่ได้ก็เรียนจากหมาไปก่อนสิ แต่ที่ดีที่สุดนั้นต้องเรียนจากใจของตัวเอง ทีนี้เราเข้าใจว่าใจตัวเองมันอาจจะพิเศษเป็นตัวเป็นตนได้มาจากพระเจ้าหรือได้มาจากไหนก็ตามใจ ทีนี้ก็อย่าคิด ก็ลดไปดูที่หมา หมาตัวเล็กๆ ก็ไม่ค่อยจะคิดนึกรู้สึกอะไรได้มากนัก ต้องเป็นหมาที่โตที่ผ่านอะไรมานานรู้ได้ว่าอะไรเป็นอะไรคือมีสัญญามาก หมาตัวเล็กๆ ไม่รู้ว่านี้คืออะไรด้วยซ้ำไป นี้กินได้หรือไม่ได้มันก็ไม่รู้นะหมาตัวเล็กๆ แต่หมาตัวโตนี้มันรู้ มีสัญญาในสิ่งทั้งหลายมาก กระทั่งมีสัญญาว่านี้เป็นศัตรู แม้กับคนนี้หมามันก็จำได้ว่าคนนี้เคยตีมัน มันจำได้ มันก็ประกาศเป็นศัตรู ฟังดูแล้วคล้ายๆ ว่ามีตัวตน น่าจะมีตัวตน ควรจะมีตัวตน ฉะนั้นคนทีแรกยังโง่อยู่ก็เข้าใจไปว่ามีตัวตน ต่อมาคนฉลาด เกิดพระพุทธเจ้าขึ้น ก็รู้ว่า อ้าว,นี้ไม่ใช่ตัวตน สักว่านะ เวทนาก็สักว่าเวทนา สัญญาก็สักว่าสัญญา สังขารก็สักว่าสังขาร วิญญาณสักว่าวิญญาณ สี่อย่างนี้เป็นพฤติกรรมในทางจิตใจล้วนๆ ไม่ใช่ตัวตน รูปร่างกายนี้ก็เหมือนกัน ดินน้ำไฟลมอากาศ อาศัยวิญญาณ ทำให้เกิดความรู้อะไรได้ รูปนี้ก็ไม่ใช่ตัวตน โอกาสเหมาะเมื่อไหร่รูปนี้ก็เป็นที่ตั้งของจิตสำหรับจะปรุงเป็นเวทนาสังขารวิญญาณ มันจึงไม่ใช่ตัวตน
สรุปแล้วตัวตนอยู่ที่ไหน ตัวตนก็คืออยู่ที่เข้าใจเอาเอง สำคัญเอาเอง รู้สึกเอาเอง เข้าใจผิดเอาเอง ในความรู้สึกนั้นเอง คือความอยากเกิดขึ้นแล้ว ก็ปรุงให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวกูซึ่งเป็นผู้อยาก นี่คือคำว่าตัณหาเป็นปัจจัยอุปาทานจึงเกิดขึ้น อุปาทานเป็นปัจจัยภพจึงเกิดขึ้น ภพนี้คือความรู้สึกที่สุดขีดของการมีตัวตน มีตัวตนมีของตนอะไรขึ้นมาแล้ว คือมันสูงสุดจนว่าเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งเต็มที่แล้ว ทีนี้ภพก็เป็นปัจจัยให้เกิดชาติ เกิดชราพยาธิอะไรเรื่อยๆ ไป นี่สำหรับจะยึดนั่นยึดนี่มาเป็นปัญหาสำหรับจะเป็นทุกข์ มันต้องมีสิ่งที่เรียกว่าตัวตนที่เป็นอวิชชาเป็นของลมๆ แล้งๆ นั้น เกิดขึ้นก่อนเต็มที่ เป็นตัวกูเป็นของกูเต็มที่ก่อน แล้วสิ่งทั้งหมดมันจึงพลอยมาเป็นของของกูอีกทีหนึ่ง ความรู้สึกว่าตัวกูต้องเกิดขึ้นก่อน แล้วความแก่จึงจะเป็นของกู ความตายจึงจะเป็นของกู ความสุขความทุกข์จึงจะเป็นของกู อะไรๆ จึงจะเป็นของกู ตอนนี้แหละตอนที่มันจะเป็นทุกข์ แต่ตอนที่มันจะเกิดนั้นมันเกิดความอยากก่อน หรือเกิดความโกรธก่อน เกิดความเกลียดก่อน เกิดความรักก่อน เกิดความอะไรก่อน จึงจะมีผู้อยากผู้เกลียดผู้รักผู้กลัวผู้อะไรก่อนตามมาทีหลัง
นี่แหละลอจิคของพระพุทธเจ้า ลอจิคของผู้รู้ ความอยากเกิดก่อนผู้อยาก แต่ถ้าลอจิคของชาวบ้านทั่วไปแล้วต้องมีผู้อยากก่อนสิ มันจึงจะมีความอยากได้ ไม่เชื่อไปถามนักเรียนดูสิ เด็กๆ นักเรียนในโรงเรียนกระทั่งมหาวิทยาลัยกระทั่งศาสตราจารย์ในทางลอจิคในทางตรรกวิทยา เขาจะต้องพูดว่าต้องมีตัวผู้อยากสิ มันจึงจะมีการกระทำที่เป็นความอยาก นั้นมันว่าเอาตามความรู้สึกคิดนึกด้วยเหตุผลด้วยอวิชชา ทีนี้ส่วนที่มันเป็นไปจริง ตามที่มันเป็นไปจริงนั้น มันไม่มีตัวตนอย่างนั้น มันปรุงขึ้นเป็นความรู้สึกอย่างนั้นก่อนแล้วก็เกิดความรู้สึกอย่างนั้นต่อไป แล้วเกิดความรู้สึกอย่างนั้นต่อไปตามลำดับ นี่ในความรู้สึกบางตอนมันเป็นความรู้สึกว่าตัวกูว่าของกู
ฉะนั้นต้องรู้จักเปรียบเทียบกันระหว่างการพูดสองชนิดนี้ คือลอจิคของคนโง่กับลอจิคของผู้รู้ มันต้องต่างกันตรงกันข้าม ว่าจิตของคนโง่ต้องมีตัวตนก่อนจึงจะมีผู้อยากหรือผู้กระทำ แต่ลอจิคของผู้รู้ว่ามันมีการกระทำหรือมีการอยากอะไรลงไปก่อนจึงจะเกิดตัวผู้กระทำ นี่ฟังแล้วมันไม่น่าเชื่อ คนโง่ต้องพูดว่ามีตัวฉันก่อนสิ จึงมีการกินอาหาร นี้ก็ถูกนะ ไม่ใช่ไม่ถูก มีตัวคนก่อนสิ แล้วจึงมีการกินอาหาร คนนั้นมันกินอาหาร แต่ถ้าที่ฉลาดกว่านั้นลึกซึ้งกว่านั้นแหลมกว่านั้น เขาบอกว่ายัง,ยังไม่ใช่ ต้องมีการกินเข้าไปก่อนสิ จึงจะมีตัวผู้กิน เมื่อยังไม่ได้กินจะมีตัวผู้กินได้อย่างไร ถึงจะมีตัว มันก็มีตัวผู้อื่นสิ ผู้นั่งอยู่เฉยๆ สิ ต่อเมื่อมันมีการกินแล้วมันจึงจะมีตัวผู้กิน ไปคิดดูให้ดี ต้องมีการโกรธแล้วจึงจะมีตัวผู้โกรธ ทั้งโกรธและทั้งตัวผู้โกรธนั้นลมๆ แล้งๆ ทั้งนั้น มิได้มีตัวจริง เป็นมายา เป็นมายาที่มาจากอวิชชาทั้งนั้น
นี่แหละเรื่องที่มันจริงกว่าถูกกว่า และมันเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับความดับทุกข์ดับกิเลสในทางจิตทางใจ ส่วนชาวบ้านเขาจะพูดไปตามความรู้สึกของชาวบ้าน ต้องมีบุคคลที่เป็นผู้กินก่อนแล้วจึงมีการกินได้ นั่นมันก็ถูกอย่างพูด ถูกอย่างการพูดอย่างวิธีพูด แต่เราบอกว่าเมื่อมันยังไม่ได้กินจะเรียกว่าผู้กินไม่ได้และไม่มีผู้ทำอะไรเสียด้วยซ้ำไป ความรู้สึกในใจของผู้นั้นก็ไม่ได้รู้สึกว่าเรากินหรือกูกิน มันก็ไม่มีผู้กินเท่านั้นแหละ หรือว่าจะพูดให้มันต่ำลงไปอีกอย่างเด็กๆ พูด มันก็มีลอจิคที่จะแย้งได้เหมือนกันว่า ยังไม่ได้กินสักทีจะมีตัวผู้กินได้อย่างไร มันยังไม่ได้เดินจะมีตัวผู้เดินได้อย่างไร มันต้องมีการเดินลงไปแล้วจึงจะมีตัวผู้เดิน นี่ลอจิคของชาวบ้านภาษาคน มันตรงกันข้ามกับลอจิคของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นภาษาธรรม
นี้ก็มาพูดให้เห็นว่า กิเลสนี้มันเกิดเป็นความโลภความโกรธความหลงความอะไรขึ้นมาก่อนแล้วมันจึงเข้มข้นมาเป็นว่ากูนี้โกรธแล้ว กูนี้ต้องการแล้ว ความโลภความโกรธความหลงมันเกิดได้ง่ายๆ เพราะเป็นเพียงความรู้สึกที่มันจะถูกปรุงขึ้นมาจากการเห็นรูปฟังเสียงดมกลิ่นลิ้มรส ไม่มีตัวตนทั้งนั้นตั้งแต่จุดตั้งต้นจนเป็นความโลภความโกรธความอะไรก็ไม่ใช่ตัวตนทั้งนั้นแหละ แต่จิตมันจะรู้สึกจากสิ่งนั้นเองว่ากูนี้เป็นอย่างนั้น กูนี้รัก กูนี้โกรธ กูนี้ต้องการ ทีนี้ต่อนี้ไปหลังจากนี้ก็มีการกระทำ เพราะเมื่อมีความโลภความโกรธความอะไรแล้วมันก็มีการกระทำไปตามอำนาจของความโลภความโกรธ นี้ก็ไม่ใช่ตนอีกแหละ มันก็คือความโง่ที่มันเดินต่อไป ความรู้สึกมันเกิดขึ้นได้ในจิตใจมันก็บังคับร่างกายให้ทำ ให้ตบหน้ามัน ให้ยิงมัน ให้ฆ่ามัน มันก็ทำได้โดยที่จิตนั้นมันถูกปรุงอย่างนั้น แล้วมันก็รวมกันกับร่างกายก็ทำ ทำลงไปอย่างนั้น ก็เป็นเรื่อง,เป็นเรื่อง,เป็นเรื่องไป คือเป็นปฏิจจสมุปบาทรอบหนึ่ง รอบหนึ่ง รอบหนึ่งเรื่อยไปได้ เรื่อยไปได้ ไปได้เรื่อย ล้วนแต่ไม่ใช่ตัวตน
ทีนี้เราก็ลองทบทวนดูว่า คนๆ หนึ่งนี้มันเห็นอะไรเข้าแล้วมันมีความรู้สึกอย่างนั้นๆ นี่ตามหลักของปฏิจจสมุปบาทนั้นไม่ได้มีตัวตน ไม่ได้มีคนคนหนึ่งแล้ว มันเป็นแต่ร่างกายจิตใจมันเห็นรู้สึกและปรุงแต่งขึ้นมา ทีนี้คนอีกคนหนึ่งมันขัดคอ คนอีกคนหนึ่งคนที่สองนี้ก็ไม่ใช่มีตัวตนหรอก ก็คือการเห็นทางตาการฟังทางหูอะไรเหมือนกัน ปรุงแต่งขึ้นมาเป็นความรู้สึกขัดคอ ก็ทำการขัดคอ แต่ละฝ่ายๆ มีจิตใจแล้วก็บังคับกลุ่มที่เรียกว่าร่างกาย หรือรูปนั้นให้ทำไปในลักษณะที่ขัดคอ อันหนึ่งมันถูกขัดคอมันก็โกรธกันไว้มันก็เกลียดกันไว้ นี่เรียกว่าภพชาติมันดับไปทีหนึ่ง ผู้ขัดคอกับผู้ถูกขัดคอนั้นมันเป็นภพเป็นชาติเต็มที่สมบูรณ์ทีหนึ่ง เป็นปฏิจจะแล้วมันดับไป แต่มันได้ทิ้งสัญญาทิ้งอะไรไว้ในส่วนที่เป็นนิสัยสันดานนั้นเพิ่มไว้ ต่อมาอีกสามปีสองคนนี้พอเห็นหน้ากันเท่านั้นแหละ อะไรๆ มันก็มาอย่างเดิม สัญญาก็มา อะไรก็มา มโนก็รับอารมณ์เก่ามาทำเป็นเวทนาสำหรับจะโกรธสำหรับจะเกลียดเหมือนอย่างทีแรก เกิดกิเลสเต็มที่ นี่เป็นตัวกู-ของกูด้วยกันทั้งสองฝ่ายเต็มที่
ทีนี้พอว่าเรื่องของกิเลสความโกรธเต็มที่แล้ว มันก็เลื่อนไปเป็นเรื่องกระทำกรรม กิเลสมันต้องให้ทำกรรมไปตามอำนาจของกิเลส คิดก็คิดเป็นมโนกรรมแล้ว ทีนี้ก็ด่าแม่มันเป็นวจีกรรมแล้ว ทีนี้ก็เอามีดมาฆ่าฟันกันเป็นกายกรรมแล้วนี่ มันก็ล้วนแต่ไม่ใช่ตัวตน มันเป็นเรื่องของจิตที่สำคัญผิดว่าเป็นตัวตน แล้วมันก็ด่ากันแล้วมันก็ฆ่ากัน แล้วมันก็ทำกันไปจนมีความทุกข์ถึงภายนอกถึงร่างกายเจ็บปวดแตกตายไปนี่ ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีตรงไหนที่เป็นตัวตน แต่มันทำได้ ดูสิ ถึงขนาดที่ฆ่ากันได้ เมื่อความโกรธมันเกิดขึ้นมันก็มีตัวผู้โกรธ แล้วก็มีความคิดเกิดขึ้นที่จะล้างแค้นจะแก้แค้น มันก็มีตัวผู้แก้แค้นผู้ล้างแค้น แล้วก็มีความคิดที่จะจับอาวุธ มันก็จับอาวุธ แล้วก็มีการจับอาวุธ แล้วก็มีการฆ่ากันฟันการอะไรกัน เป็นลักษณะของปฏิจจสมุปบาทโดยสมบูรณ์ ฆ่ากันตายวินาศไปโดยไม่ต้องมีตัวผู้ฆ่า
นี่ธรรมะชั้นสูงจะเป็นอย่างนี้ กินโดยไม่ต้องมีตัวผู้กิน หรือว่าอย่างที่เป็นหลักธรรมะชั้นสูงเรื่องอริยสัจนั่นแหละ ความทุกข์มีเป็นไปโดยไม่ต้องมีผู้ทุกข์ ไม่มีผู้ทุกข์ ภาวะแห่งความทุกข์ก็มีแล้วก็เป็นไป ผู้ดับทุกข์ก็มิได้มี แต่การดับทุกข์มันก็มี การเดินมันก็มีแต่ตัวผู้เดินมันก็ไม่มี นี่เป็นหลักอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ก็เหมือนกันในฝ่ายเลวฝ่ายชั่วฝ่ายผิด ความโกรธมันก็มีภาวะแห่งความโกรธ กิริยาอาการแห่งความโกรธคือพฤติกรรมของกายและใจนี้มันก็มี แต่ตัว ผู้ จริงๆ นั้นหามีไม่ แต่ว่าในความรู้สึกมันมีว่ากูนี้ คือตัวอุปาทานนี้ว่ากูนี้มันก็มี เพราะฉะนั้นมันก็เป็นมายาลมๆ แล้งๆ ฉะนั้นการด่ามันก็มีแต่ตัวผู้ด่ามันหามีไม่ การเจ็บรู้สึกเจ็บมันก็มีแต่ตัวผู้เจ็บมันหามีไม่ ทีนี้การฆ่าฟันกันมันก็มีแต่ผู้ฆ่าฟันกันหามีไม่ นี่ต้องพูดอย่างนี้เสมอไป เป็นภาษิตของพระเถรีองค์หนึ่ง ทุกข์มีแต่ผู้ทุกข์หามีไม่ ก็ว่าไปเรื่อย
ทีนี้เราก็มาศึกษาดู และก็ไม่ต้องการให้เชื่อถ้อยคำที่มีอยู่ในพระบาลีนั้น ต้องการให้คิดก่อน สังเกต เข้าใจ แล้วก็เห็นแจ้งรู้จัก อย่างที่ผมกำลังว่ามา ว่ามาเรื่อยๆ ว่ามาตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ ให้มันรู้จัก ให้มันเป็นแจ้งในใจด้วยใจ,ในใจด้วยใจนี้ ว่ามันเป็นแต่ความโกรธซึ่งเป็นเพียงความรู้สึก แล้วมันก็จะมีความรู้สึกในลักษณะมีตัวผู้โกรธ มันก็ไปกันใหญ่ ก็ผู้กระทำกรรมแล้วก็ผู้ตอบแทนผู้ล้างผลาญผู้ต่อสู้ผู้จองเวรมันก็มียืดเยื้อกันไปไม่มีที่สิ้นสุด นี่ทั้งหมดนั้นเป็นมายามิใช่ตัวตนอันแท้จริง ถ้ารู้สึกอย่างนี้มันก็เบียดเบียนกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นพระอริยเจ้าทั้งหลายจึงเบียดเบียนกันไม่ได้ แต่คนโง่คนปุถุชนอันธพาลมันไม่รู้สึกอย่างนี้ เพราะฉะนั้นมันฆ่ากันได้ มันใช้อาวุธ เช่นลูกระเบิดโยนใส่กันให้ตายทีละพันละหมื่นละแสนก็ได้ มันก็ทำได้ เพราะมันมีความโกรธ เพราะมันเห็นเป็นจริงเป็นจัง เป็นมึงเห็นกูนี่
เรื่องที่พูดวันนี้ก็พูดโดยลักษณะที่ให้ทบทวน,ให้ทบทวน ให้ซ้ำ,ให้ดูซ้ำ ให้มองซ้ำตามแนวของเรื่องที่พูดมาแล้วหลายเดือนหรือหลายปีแล้วว่า ตัวกู-ของกูมันนั้นเป็นอย่างไร มีแต่ขันธ์ ๕ นี้มันก็พอที่จะเป็นตัวกู-ของกูฆ่าฟันกันได้ แล้วขันธ์ ๕ แต่ละอันก็มิใช่ตัวมิใช่ตน แล้วที่จริงขันธ์ ๕ ก็มิได้เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงและก็มิได้มีอยู่ตลอดเวลา ขันธ์ ๕ จะมีต่อเมื่ออวัยวะเหล่านี้มันทำหน้าที่
นี่ขอย้ำขอเตือนซ้ำย้ำแล้วย้ำเล่าที่เคยพูดมาแล้วไม่รู้กี่หนแล้วว่า ขันธ์ ๕ มันยังไม่มีจนกว่าตาจะเห็นรูปเป็นต้น มันจึงจะเกิดจักษุวิญญาณคือวิญญาณขันธ์ขึ้นมา แล้วมันก็จะมีการสัมผัสด้วยวิญญาณนั้น มันจึงจะเกิดสัญญาขึ้นมาว่านั้นคืออะไร ที่มันไปถูกกันเข้ามันคืออะไร มันเกิดสัญญาขันธ์ขึ้นมา แล้วมันก็ได้รับรสอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น สวยไม่สวยเป็นต้น น่ารักไม่น่ารักเป็นต้น สบายใจไม่สบายใจเป็นต้น นี่เวทนาขันธ์มันก็เกิดขึ้นมา แล้วก็มีความคิดว่าจะทำอย่างไรเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ มันก็เกิดสังขารขันธ์ขึ้นมา มันก็ครบสิ รูปมันก็คือตานั่นแหละเรียกว่ารูป ไม่ใช่ร่างกาย ในกรณีอย่างนี้,ในกรณีที่เป็นปรมัตถ์แท้ๆ อย่างนี้ ก็ไม่ได้เอาร่างกาย เอารูปคือตา ตามันก็คือร่างกายส่วนหนึ่ง เอาตานั้นแหละเป็นรูปข้างใน เอาสิ่งที่เห็นเป็นรูปข้างนอก เอาวิญญาณ ใจที่ลมๆ แล้งๆ ที่ทำหน้าที่วิญญาณนั่นแหละเป็นวิญญาณ เมื่อตะกี้มันไม่ได้มีเห็นทางวิญญาณ วิญญาณมันยังไม่มี และตามันก็ยังไม่ทำหน้าที่ ตามันก็ยังไม่มี แต่เดี๋ยวนี้ตาเห็นรูปเกิดจักษุวิญญาณ รูปขันธ์เกิด วิญญาณขันธ์เกิด สัมผัสกันแล้วสัญญาขันธ์ก็มาว่าอะไรกัน แล้วเวทนาขันธ์อย่างนั้นอย่างนี้ก็เกิดขึ้น แล้วสังขารขันธ์ความคิดอย่างนั้นอย่างนี้ก็เกิดขึ้น มันเพิ่งเกิดขึ้น แล้วเดี๋ยวมันก็สลายไป อยู่ในระยะอันสั้นมาก นี่คือขันธ์ มันเพิ่งเกิดขึ้น ถ้าไม่มีอวิชชามาเกี่ยวข้องมันก็ยิ่งดับไปทันทีเลย ดับไปในเวลาอันสั้นอันเร็ว แต่ถ้าในชุดไหนมันมีอวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้อง นี่จะยืดเยื้อ จะสัมผัสด้วยอวิชชา จะมีเวทนาด้วยอวิชชา จะคิดนึกด้วยอวิชชา เป็นกิเลสเป็นความอยากเป็นตัณหาเป็นอุปาทาน แล้วก็ไปกันใหญ่จนถึงเป็นทุกข์ อย่างนี้เขาเรียกว่าปัญจุปาทานขันธ์ แล้วคุณก็จะมองเห็นได้ด้วยตนเองว่าปัญจุปาทานขันธ์นี้เป็นบางคราวเท่านั้นแหละ แต่ถ้าว่าเบญจขันธ์เฉยๆ ทุกทีแหละที่ตาเห็นรูปหรือหูฟังเสียงหรือจมูกได้กลิ่นนี้ มันจะไปสุดถึงทุกทีทั้งขันธ์ ๕ ห้าขันธ์แหละ ฉะนั้นมันจึงมีมาก จึงมีมากที่สุดที่เกิดเพียงเบญจขันธ์ล้วนๆ นี้มีมาก แต่บางคราวมันมีอวิชชาเข้ามายุ่งด้วยมันจึงกลายเป็นปัญจุปาทานขันธ์ เป็นกิเลสและเป็นความทุกข์
ทีนี้ถ้ารูปอยู่แต่รูป อะไรอยู่แต่อะไรนี้ ยังไม่มีขันธ์หรอก แม้ว่าเรามีร่างกายอยู่ตลอดเวลาก็ไม่เรียกว่ารูปขันธ์หรอก คือมันยังไม่เข้ากลุ่ม คำว่าขันธ์แปลว่ากลุ่ม ต่อเมื่อมันเข้ากลุ่มจึงจะเรียกว่าเป็นขันธ์ แม้แต่เป็นรูปขันธ์มันก็ต้องมาเข้ากลุ่มกับเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น ร่างกายเฉยๆ นี้มันก็มีค่าเท่ากับร่างกายเนื้อหนัง ดินน้ำลมไฟนี้ยังไม่ใช่ขันธ์ ยังไม่เรียกว่าขันธ์ ให้มีร่างการมีรูปนี้ก็ยังไม่เรียกว่ารูปขันธ์ อย่าเข้าใจผิด ต่อเมื่อใดมันได้รวมหัวกันเข้ากับอายตนะภายนอกแล้วเกิดวิญญาณขึ้น แล้วเกิดสัญญาขึ้น เกิดเวทนาขึ้น เกิดสังขารขึ้น นั่นแหละมันจึงจะเป็นขันธ์ ถ้าไม่โง่มันก็เป็นขันธ์เฉยๆ เดี๋ยวมันก็ดับไป หรือว่ามันจะมีความคิดไป มันก็ไม่มีความคิดในทางกิเลส เช่น ตาไปเห็นดอกไม้นั้นสวยอย่างนี้ มันก็เกิดขันธ์๕ หมดได้เหมือนกัน แต่ไม่จำเป็นจะต้องเกิดกิเลส ดอกลั่นทมนั้นสวย ตาเห็น ดอกลั่นทมเป็นรูปข้างนอก จักษุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นดอกลั่นทมนี่ ทั้งสามอย่างนี้รวมกันแล้วเรียกว่าผัสสะ แสดงพอสบายตานั่นแหละ สบายตาเฉยๆ ยังไม่มีอวิชชา ยังไม่เกิดตัณหาเกิดอะไร แต่มันจำได้ว่าดอกลั่นทม นี่สัญญามันเกิดแล้ว สบายตามันก็เวทนาเกิดแล้ว อาจจะมีความคิดสักหน่อยว่าใครมันปลูกหรือว่ามันก็ดูเข้าทีอยู่ นี่สังขารขันธ์มันเกิดนิดหนึ่งแล้วก็เลิกกัน เงียบหายไป แต่ถ้าในกรณีอื่น มันเกิดรักหรือเกิดอยากหรือเกิดหวงหรือเกิดอะไรมากกว่านั้น นั่นมันจึงจะเกิดปัญจุปาทานขันธ์ แม้เกี่ยวกับดอกลั่นทมนี้
ฉะนั้นขอให้สังเกตดูให้ดีว่า เบญจขันธ์นี้เกิดได้เรื่อย เดี๋ยวทางตา เดี๋ยวทางหู เดี๋ยวทางจมูก ขันธ์ล้วนๆ นี้ แต่ที่จะกลายมาเป็นปัญจุปาทานขันธ์ขึ้นสักทีนี้ต้องมีกรณีพิเศษ ต้องมีอะไรที่เป็นเครื่องยั่วยวนมากกว่านั้น หรือมีสัญญาที่มีความผูกพัน เช่นความอาฆาต ความหมายมาด ความหวง ความรัก ความอะไรเป็นต้นทุนด้วย มันจึงจะปรุงแต่งกันไปในรูปที่เป็นปัญจุปาทานขันธ์ ไม่อย่างนั้นมันเป็นปัญจขันธ์เฉยๆ แหละ เช่น เราสวด ปญฺจกฺขนฺธา รูปกฺขนฺโธ เวทนากฺขนฺโธ สญฺญากฺขนฺโธ สงฺขารกฺขนฺโธ อย่างนี้ นี้เขาหมายถึงขันธ์ล้วนๆ ก่อน ทั้งห้าขันธ์นั่นแหละ จนกว่ามันจะมีอวิชชาเข้าไปสัมผัสเกี่ยวข้องด้วยในตอนไหนมันจึงจะกลายเป็นรูปูปาทานกฺขนฺโธ เวทนูปาทานกฺขนฺโธ สญฺญูปาทานกฺขนฺโธ สงฺขารูปาทานกฺขนฺโธ วิญฺญาณูปาทานกฺขนฺโธ นี่มันจะเกิดเรื่องแล้ว นี่มันเอาเรื่องแล้ว มันจะต้องเป็นทุกข์แล้ว นี่ขันธ์นี้จะเป็นทุกข์แล้ว
ฉะนั้นรู้จักแยกให้เห็นความแตกต่างว่ามันมิใช่อันเดียวกันในระหว่างปัญจขันธ์กับปัญจุปาทานขันธ์ ทีนี้ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมนั้นมิใช่ขันธ์ เราก็มีอยู่ นามธาตุ รูปธาตุ อะไรธาตุมันก็มีอยู่ เพราะอย่างน้อยเราก็มีร่างกายอยู่นี้ ร่างกายล้วนๆ เป็นรูปธาตุ หรือมีภวังคจิตที่มิได้คิดนึกอะไร นั้นเป็นนามธาตุเป็นวิญญาณธาตุอยู่ นี้ไม่ใช่ขันธ์ นี้ไม่เป็นขันธ์ ยังไม่ได้ปรุงมาเป็นขันธ์ มีกายมีใจไปตามธรรมชาติ เป็นธรรมชาติตามธรรมชาติ ซึ่งแม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็มี หรือต่ำลงไปถึงต้นไม้มันก็มี มันมีความรู้สึกมีร่างกายของมัน ฉะนั้นปัญหาไม่เกิดในเมื่อมันเป็นเพียงธาตุหรือว่าตามธรรมชาติหรือว่ามันเป็นเพียงขันธ์ตามธรรมชาติ ปัญหามันเกิดต่อเมื่อเป็นปัญจุปาทานขันธ์ คือกิเลสเข้าไปเจืออยู่ในสัมผัสนั้น ก็เกิดเวทนาที่เป็นที่ตั้งแต่กิเลส แล้วก็เกิดกิเลสคือตัณหา แล้วก็เกิดกิเลสคืออุปาทาน แล้วมันก็ได้เรื่องได้ราวคือความทุกข์ นี่เป็นตัวกู-ของกูขึ้นมา เป็นอุปาทาน นั่นแหละตัวนั้นแหละเรียกว่าตัวที่สอง ความรู้สึกที่เป็นกิเลสเกิดขึ้นแล้ว จะเกิดความรู้สึกที่เป็นตัวตนไปตามความรู้สึกของกิเลสนั้น เช่น ความรู้สึกรัก รู้สึกชอบด้วยอวิชชาเกิดขึ้นแล้ว มันจะเกิดความรู้สึกที่เป็นตัวกูที่จะเป็นผู้รักหรือเป็นเจ้าของความรัก นั่นมันเป็นอุปาทานขึ้นมา ความรู้สึกปรุงเป็นความโกรธแล้วจะมีตัวผู้โกรธตามมา แล้วก็ได้โกรธได้ฆ่าได้แกงกัน
นี้คือสิ่งที่ทุกคนจะต้องศึกษาจากความรู้สึก รู้จักหรือรู้สึกด้วยใจจริง นี้ก็คือสิ่งที่จะต้องศึกษากันด้วยความรู้จักด้วยใจจริง ไม่ใช่ด้วยเหตุผล ไม่ใช่ด้วยความเข้าใจ ถ้าคิดไปตามผมพูดแล้วเข้าใจนี้ก็เป็นความเข้าใจยังไม่จริง ต้องไปดูกันจริงๆ เมื่อคุณเกิดอะไรขึ้นมาในใจนั้นแหละ นั่นแหละเรียกว่าดูกันที่ตัวจริง รู้จักมันจริง รู้แจ้งแทงตลอดในสิ่งนั้นจริงๆ แม้ว่ามันเป็นกิเลส ทีนี้การอ่านการฟังการสอบไล่ได้นี้มันอยู่คนละเรื่อง นี้มันเป็นเรื่องที่จะต้องเล่าเรียนในเบื้องต้นเพื่อเป็นแนวสำหรับให้เรามาคิดมานึกมาสังเกตได้ง่ายเข้า ถ้าเราไม่เคยเรียนเสียเลยมันก็ลำบากเหมือนกัน ฉะนั้นเราก็ต้องเรียนปริยัติ จะได้รู้เรื่องรู้ราวเป็นแนวเป็นแบบ ทีนี้ไม่เข้าใจ อ้าว,ก็ไปคิดดูสิ คิดๆ เอ้อ,มันจริงสมเหตุสมผล แต่ยังไม่รู้จักตัวจริง ไม่รู้จักของจริง เราต้องไปศึกษากันใหม่เมื่อสิ่งนั้นมันได้เกิดขึ้นมาจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตัวอย่างที่ได้ยกให้ฟัง เมื่อเห็นหน้าคนที่เราเกลียดน้ำหน้า เห็นหน้าคนที่เป็นศัตรู นั่นแหละโอกาสที่จะศึกษาว่าอะไรเป็นอะไร แต่แล้วมันศึกษาไม่ไหว มันไปโง่เสียเอง มันเลยเกลียดน้ำหน้าแล้วมันเป็นความคิดกิเลสเตลิดเปิดเปิงไปไม่มีโอกาสศึกษา มันจึงไปด่าตอบ ตีตอบ อะไรกันยุ่งไปหมด ถ้าเป็นนักเลงหรือเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า พออารมณ์อย่างนี้รุนแรงอย่างนี้ อารมณ์ขนาดหนักขนาดร้ายกาจรุนแรงอย่างนี้เกิดขึ้น ผ่านมา เกิดขึ้น ก็ศึกษาสิ เอาล่ะโว้ย,ตัวกูชนิดที่ร้ายกาจมันจะเกิดแล้ว เป็นความรู้สึกเกิดขึ้นอย่างนั้นอย่างนี้ เดี๋ยวมันก็หัวเราะได้ เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่อย่างนั้นนี่ มันไปรักตอบ โกรธตอบ เกลียดตอบ อะไรตอบเสีย มันก็ไม่มีทางที่จะศึกษากันแบบนี้ ฉะนั้นกี่ปีๆ มันก็ละกิเลสไม่ได้ เป็นครูสำนักธรรมลูกศิษย์เต็มบ้านเต็มเมือง มันก็ยังไม่รู้จักสิ่งนี้ หรือว่าเทศน์สอนคนทั้งเมืองมันก็ยังไม่รู้จักสิ่งนี้ เพราะมันไม่ศึกษาจากสิ่งนั้นโดยตรง ไม่รู้แจ้งแทงตลอดจากสิ่งนั้นโดยตรง
นี่เรื่องตัวกู-ของกูที่มันละเอียดยิ่งขึ้นทุกที ที่มันเป็นความจริงที่ละเอียดลึกซึ้งเร้นลับมากขึ้นทุกที ที่ผมพยายามพูดมากี่ปีๆ กี่ปีแล้ว ก็เพื่อให้เข้าถึงความจริงข้อนี้ยิ่งขึ้นทุกที,ยิ่งขึ้นทุกที นี่คือการพูดเรื่องตัวกู-ของกูที่นี่ ที่เรียกว่าธรรมปาฏิโมกข์ที่มันไม่รู้จักจบจักสิ้น เอาล่ะ,พอกันที