แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านพุทธทาส : ต้องตั้งใจฟัง ทำในใจให้ดี จึงจะได้บุญมาก ทำใจไม่ดีก็จะได้บุญนิดเดียว ทำใจอย่างไรจึงจะได้บุญมาก หัวหน้าพูดมาสิ หัวหน้าน่ะพูดมา ทำใจอย่างไรจึงจะได้บุญมาก
หัวหน้า .ทำใจให้สงบครับ
ท่านพุทธทาส : ถวายทานนี่หรือ ทำใจสงบก็เงียบเลย
หัวหน้า : ทำใจให้ปราศจากความตระหนี่
ท่านพุทธทาส : นั่นแหละ ทำใจว่าจะได้ไปสวรรค์หรือ ว่ายังไงล่ะ ร่างกายเท่านี้แล้วยังอยากไปสวรรค์หรือ
หัวหน้า : ไม่ทราบครับ
ท่านพุทธทาส : ชอบวิมานหรือ
หัวหน้า : อยากไปแต่ไม่รู้จะไปได้ยังไง
ท่านพุทธทาส : ไหนว่าชอบสงบ เราเล่นตลกแล้วนะ ที่ว่าชอบสงบ
หัวหน้า : ยังไม่สงบ
ท่านพุทธทาส : ไปสวรรค์ก็ยุ่งตายสิ สวรรค์น่ะยุ่งที่สุดเลย ถ้าชอบสงบ มันไม่เกี่ยวกับสวรรค์ ต้องไปทางนิพพาน สงบน่ะ ไอ้สวรรค์น่ะมันเรื่องยุ่ง ยุ่งใหญ่กว่ายุ่งในเมืองมนุษย์นี้อีก มันก็บ้ากันใหญ่เรื่องสวย เรื่องสนุก เทวดานางฟ้าวิมานอะไรมันยุ่งกันใหญ่ ไปคนเดียวเสียด้วย ไปคนเดียว
หัวหน้า ถ้าไปก็ไปพร้อมๆ กัน
ท่านพุทธทาส : อย่างดีก็ ๓๐ คน ลูกเล็กเด็กแดงนี้ ๓๐ คนก็อย่างมาก มันได้เท่านั้นแหละ ได้เท่านั้น ไม่มาก ไม่มาก ต้องทำบุญให้ได้ผลมาก ต้องได้คนทั้งโลกโน่น เราทำบุญนี้เราบริจาคความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัว ทำลายความเห็นแก่ตัว แบบนี้เขาเรียกว่า บำรุงศาสนา ถ้าศาสนามีอยู่ คนทั้งโลกก็พลอยได้รับประโยชน์ ต้องคิดไปทางนั้นก็จะได้บุญมาก นี่มันส่วนหนึ่งของการบำรุงศาสนา ให้ศาสนามันมีอยู่ ถ้าศาสนามีอยู่ คนทั้งโลก เทวโลก มารโลกก็พลอยได้รับประโยชน์ คิดไปสวรรค์คนเดียว สนุกคนเดียว สบายคนเดียวมันก็ได้คนเดียวเท่านั้นแหละ ไม่ได้มากกว่านั้น ไปทั้งหมดนี้ก็ได้ ๓๐ คนเท่านั้นแหละ คนทั้งโลกก็ไม่ได้ มันเห็นแก่ตัวชัดๆ ลงทุนค้า ลงทุนเท่านี้ได้วิมานหลังหนึ่งก็รวยสิ นี่ ๓๐ คนก็ได้ ๓๐ หลัง มันเกินไป ถ้าคิดแบบนั้นก็ได้บุญน้อย ได้บุญน้อยคน ได้บุญต่ำๆ ได้บุญแบบไม่สงบ ถ้าคิดไปว่าต้องบำรุงศาสนาไว้ก่อน ศาสนาไม่ล่มจม คนทั้งหลายทั้งปวง ทั้งโลก ทุกๆ โลกก็ได้รับประโยชน์ มีแสงสว่าง กำจัดกิเลส อยู่กันด้วยความสงบสุข นั่นแหละสงบสุข บางคนมันก็สงบมากเป็นนิพพานเลย นั่นแหละสงบ ถ้าไม่นิพพานก็สงบ เรียกว่าในโลกนี้มีความสงบ ไม่ต้องเบียดเบียนรบราฆ่าฟันกัน ไม่เบียดเบียนกัน เวลานี้เบียดเบียนกันมาก ไม่มีความสงบ ทำบุญสักทีก็ต้องตั้งอกตั้งใจอธิษฐานภาวนาว่าให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงรู้จักรักสุขเกลียดทุกข์ เห็นแก่เพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน แล้วก็อย่าเบียดเบียนกันเลย สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงอย่าโง่เง่า มืดมัว โมหะหนัก ขอให้ศาสนานี้ช่วยให้มีแสงสว่าง คิดไปแบบนั้น แต่ก่อนก็เคยคิดแบบอื่น มาคิดแบบนี้แล้ว มันก็ได้บุญมาก บำรุงศาสนาไว้ให้เป็นที่พึ่งแก่คนทั้งโลกดีกว่า ได้บุญมาก ไปสวรรค์ก็ไปยุ่งอยู่คนเดียว บำรุงศาสนา บำรุงได้อย่างไร หัวหน้าพูดหน่อย บำรุงศาสนาบำรุงได้อย่างไร
หัวหน้า ปฏิบัติตามคำสั่งสอน
ท่านพุทธทาส : มันก็อย่างหนึ่ง แล้วมีอะไรอีกล่ะ บำรุงศาสนามันทำได้หลายอย่าง บำรุงโดยตรงก็มี บำรุงโดยอ้อมก็มี ศาสนามันอยู่ได้ไม่สูญหายก็เพราะมีคนเล่าเรียน มีคนปฏิบัติ มีคนได้รับผลของการปฏิบัติ และมีคนสอนต่อๆ กันไป สอนต่อๆ กันไป แบบนี้ศาสนาอยู่ ต้องมีคนเรียน เราเรียนเองก็ได้ หรือเขาเรียน เราช่วยสนับสนุนก็ได้ ต้องมีคนปฏิบัติ เราปฏิบัติเองก็ได้ เขาปฏิบัติเราสนับสนุนก็ได้ บางอย่างเราปฏิบัติไม่ถึงก็ต้องสนับสนุนให้เขาปฏิบัติ เราก็ต้องได้ผลของการปฏิบัติหรือว่าช่วยกัน ได้ร่วมกัน หรือว่าสอน สอน ถ้าสอนเองไม่ได้ก็ช่วยให้ผู้อื่นสอน มันต้องพระสอน เราก็ช่วยให้พระได้สอน นี่ถ้าบำรุงศาสนา เสื่อหมอนนี้ทำอะไรได้ มันต้องให้พระใช้สอยในการเป็นอยู่ ในการเล่าเรียน ในการเทศน์หรือว่าสั่งสอนอบรมกันไป นั่นแหละมันเป็นประโยชน์ส่วนนั้นแหละ กว้าง ส่วนตัวเราเอาความสงบถูกแล้ว ความตระหนี่ขี้เหนียว เห็นแก่ตัว ยึดมั่นถือมั่นนี่ไม่สงบ นี่พระเอามาสละ สละการเห็นแก่ตัว คิดไปด้วย ของก็สละ มันไม่ใช่ว่าสละสิ่งของอย่างเดียว มันต้องสละความเห็นแก่ตัวคือความขี้เหนียวนั่นด้วย ความเห็นแก่ตัวเป็นเหตุให้โลภ ให้โกรธ ให้หลง สละสิ่งของมันพาความเห็นแก่ตัวไปด้วย สละไปด้วย ความโลภ ความโกรธ ความหลงเบาบาง เบาบางลง เบาบางลง ส่วนตัวเราได้ความสงบไปทางนิพพาน ได้มาก ได้ไกล ได้ลึก ได้สูง บำรุงศาสนาไว้ทุกคนในโลกพลอยได้รับประโยชน์ ทุกคนนี่นับไม่ไหว คนในโลกมีกี่คนคุณว่า หัวหน้าตอบหน่อยคนในโลกมีกี่คน ไม่กล้าพูด คาดคะเนว่าในโลกมีกี่คน มีสองพันล้าน สามพันล้าน คนในโลก สามพันล้านคน สองพันล้านคนมันอย่างน้อย คนพลอยได้แหละ ถ้าศาสนาอยู่ โลกไม่ล่มจม คนได้รับประโยชน์ ไม่ว่าศาสนาไหนถ้ายังมีดีทั้งนั้น อาตมาถามว่าทำอย่างไรได้บุญมาก ก็ต้องคิดอย่างนี้ ให้ทุกคนในโลกต้องได้ด้วย เสร็จแล้วกรวดน้ำให้เขาด้วยนะ ให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ได้อย่างไรให้ได้มาก ได้ลึก ได้มาก ได้ลึก ได้สูง ส่วนตัวต้องทำลายความเห็นแก่ตัว บริจาคเพื่อการทำลายความเห็นแก่ตัว ก็ได้มาก ได้ลึก ได้สูงส่วนตัว โดยคุณภาพ ได้มาก โดยปริมาณก็ได้มาก คือว่าให้แก่โลก สัตว์โลกทั้งหลายทั้งปวง ไม่คิดแบบนี้ใช่ไหม ถ้าคิดแบบนี้หรือจะมา
หัวหน้า : คิดแบบนั้นแหละ
ท่านพุทธทาส : ดีแหละคิดแบบนั้น อาตมาอนุโมทนาในการที่มาถวายทาน อนุโมทนาในฐานะเป็นพระสงฆ์ผู้รับทาน โดยส่วนตัวก็ขอบใจ ไม่ค่อยมีเสื่อใช้ เอามาให้ก็ขอบใจ แต่นี่มันส่วนตัว ในฐานะเป็นพระสงฆ์ เป็นเจ้าหน้าที่ดำรงค์วัดวาอารามก็อนุโมทนา ว่าในการกระทำนี้ดี เป็นการได้ที่ดีทั้งสองฝ่าย ทุกฝ่าย แต่คุณก็ต้องทำในใจอุทิศส่วนกุศล ให้สรรพสัตว์ อาตมาว่า ยถา วริวหา ปุราปริ ปุเรนนี้ นาทีที่ 11.18 ฟังไม่ออก บุญที่ทำในวันนี้ขอให้สำเร็จแก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเป็นลำดับ ยถา วริวหา ปุราปริ ปุเรนติ สาครัง ก็แปลว่า ฝนตกลงมาทำให้ทะเลเต็ม คำนี้แปลว่าอย่างนั้น ยถา วริวหา ฝนห่าใหญ่ ฝน ฤดูฝน ฝนหนักๆ ฤดูฝนทำให้ทะเลมหาสมุทรเต็ม ฝนตกที่สูงไหลไปที่ต่ำตามลำดับ เราทำบุญวันนี้ก็ได้แก่ญาติ ได้แก่บิดา มารดาที่ล่วงลับไปแล้วก่อน ให้ได้แก่ญาติรองๆ ลงไป ให้ได้แก่ญาติห่างๆ ไป จนไม่ใช่ญาติ จนเป็นคนอื่น จนเป็นศัตรูคู่เวร จนเป็นทั้งหมดเลย ไม่ยกเว้นไปให้ได้ เหมือนฝนตกลงมามันไหลไปตามลำดับให้ทะเลเต็ม เต็มไปตามลำดับจนทะเลเต็ม หลับตาเห็นแบบนั้นเสียก่อน เราจึงจะทำจิตใจถูก ถ้าไม่รู้จะทำจิตใจอย่างไร ก็นั่งหลับในอยู่นี่ ฝนตกหนักๆ จากบนฟ้า ลงมาบนที่สูง หลุมเล็กๆ มันเต็ม เต็มมันก็ล้นไปตามลำดับ ไปร่องเล็กๆ เต็ม ร่องใหญ่ๆ เต็ม ลำห้วยลำธารเต็ม เต็มเรื่อย ไหลลงไป คลองเต็ม แม่น้ำเต็ม ทะเลเต็ม มหาสมุทรเต็ม ไม่เคยเห็นบ้างหรือเดือน ๑๒ เดือนอะไรที่ฝนตกหนัก เห็นภาพนั้นติดตาเอามาทำในใจเวลานี้ว่า ยถา วริวหา ปุราปุเรน มันหมายความว่าอย่างนั้น ขอให้บุญที่ทำในวันนี้ อิโต ทินนัง กระทำแล้วในวันนี้ ไปสำเร็จแก่ญาติทั้งหลาย ปรารถนาอะไรขอให้สมบูรณ์ เหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ หรือว่าแก้วมณีโชติ พระจันทร์วันเพ็ญก็เต็มบริบูรณ์ แก้วมณีโชติแปลว่าได้สมดั่งตั้งอกตั้งใจ ขอให้ตั้งใจอย่างนั้นแล้วกรวดน้ำอุทิศแก่สรรพสัตว์ก็ได้บุญมาก ดีกว่าได้คนเดียว (นาทีที่ 13.36 ไม่ได้แกะ เป็นบทสวดมนต์ ยถาวรีวหา)
ญาติโยม : อยากเรียนถามท่านอาจารย์ว่า เวลาที่เราเกิดมา จิตของเราเย็น จิตของเราว่าง ก็หมายความว่าในภาวะอย่างนั้นคือนิพพานอย่างความหมายของท่านอย่างนั้นหรือคะ แล้วพอเรามามีอารมณ์ปรุงแต่งเข้า มันก็ร้อน มันก็วอกแวก ถ้าเกิดเมื่อไรก็ตามเราทำให้มันว่างได้ ก็หมายความว่าเราก็สงบ เราก็หลุดพ้นจากความทุกข์
ท่านพุทธทาส : ปัญหามีว่าอย่างไร สรุปเป็นปัญหาให้ชัด
ญาติโยม คือไม่เข้าใจว่าอย่างนั้น นิพพานในความหมายของท่าน หมายความว่าเมื่อไรก็ตามที่เราไม่ได้มีอารมณ์ ไม่ได้มีเวทนา ไม่ได้มีพวกนั้นมาเกาะเกี่ยวก็เรียกว่านิพพานทั้งนั้นหรือคะ
ท่านพุทธทาส โดยหลักใหญ่มันอย่างนั้นแหละ ให้ถือว่าถ้าไม่มีความทุกข์ เวลาที่ไม่มีความทุกข์ สภาพที่ไม่มีความทุกข์ก็เรียกว่าดับแห่งทุกข์ ก็คือนิพพาน นี่มันก็มีหลายชนิดที่ไม่มีทุกข์ก็มีหลายชนิด โดยหลักใหญ่ถือว่าความทุกข์ไม่ได้เกิดอยู่ตลอดเวลา เพิ่งเกิดเมื่อจิตมันมีการคิดนึก ปรุงแต่งไปในทำนองที่เป็นทุกข์ ที่จริงวันหนึ่งก็ไม่กี่ครั้ง หรือบางทีก็สักครั้งสองครั้งหรือบางวันก็ไม่ได้ทุกข์ก็มี เมื่อใดเรียกว่าไม่ทุกข์ เรียกได้ว่าไม่ทุกข์ ก็ถือว่าอยู่ในสภาพเดิมคือว่าง คือนิพพานแบบนี้ นิพพานตามธรรมชาติแบบนี้ เมื่อไม่ทุกข์มันก็ยังเรียกว่าว่าง เมื่อว่างมันไม่ทุกข์ ว่างนี่มันว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ เรียกอย่างสำนวนโวหารก็เรียกว่าว่างจากความรู้สึกว่าตัวเราเป็นของเรา ถ้ามันเดือดจัดมันก็ตัวกูเป็นของกู ธรรมดาก็เป็นตัวเราเป็นของเรา ความคิดปรุงแต่งชนิดนี้มีเมื่อไร เกิดความยึดมั่น ไม่ใช่พูดแต่ปาก มันมีความทุกข์ทันที นี่เรียกว่าไม่ว่าง ถ้ามันไม่มีความคิดอันนี้มันก็เรียกว่าว่าง ทีนี้ไอ้ว่างหรือไม่ทุกข์มันมีหลายระดับ มันมีหลายระดับ หรือว่าจะหลายชนิดก็ได้ จริงๆ มันเป็นอยู่เองตามธรรมชาตินั่นแหละก็เรียกว่าไม่ทุกข์เหมือนกัน หรือว่างเหมือนกัน แต่ว่างตามแบบธรรมชาติ จิตของเราว่างจากตัวกูของกู ไม่มีความทุกข์ตามธรรมชาติ เช่น เด็กเกิดมานี่ก็ไม่ได้ทุกข์ จนกว่ามันจะมีเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรานอนหลับ มันก็ไม่ทุกข์ หรือว่าง แต่ว่างแบบนี้ยังไม่ใช่ที่ต้องการในที่นี้ เพียงแต่เอามาพูดให้เห็น พูดให้สังเกตว่าไอ้เรามีพื้นฐานหรือมีเหมือนกับว่าเดิมพัน ทุนสำรองก็ตามมันเป็นเรื่องว่างอยู่แล้ว จึงให้เห็นว่ามันไม่ยากที่จะทำให้ว่าง เพราะว่าเดิมพันมันเป็นความว่างอยู่แล้วที่ทำให้มันดียิ่งขึ้นไปเท่านั้นแหละ ตรงนี้ต้องเข้าใจคำว่าจิตตามธรรมดา ไม่มีโลภ ไม่มีโกรธ ไม่มีหลง ให้มองเห็นเสียก่อน จนกว่าจะได้เรื่องมาสำหรับคิดให้โลภ ให้โกรธ ให้หลง มันจึงจะเกิดขึ้นมาเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง เมื่อมันไม่มีคือว่างจาก ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันเป็นนิพพานชนิดหนึ่ง เป็นนิพพานชั่วคราว นิพพานประจวบเหมาะตามธรรมชาติของมัน พอเราโลภขึ้นมา ก็หายไปอีก ไปยุ่ง ไปวุ่น ทุกข์ร้อนกันไป โกรธขึ้นมา โง่ขึ้นมาก็เหมือนกัน อย่าเอาเป็นนิพพานเดียวกันเสียหมด เพราะฉะนั้น จึงให้แจกเป็นชั้นๆ ว่าอย่างน้อยที่สุดสัก ๓ นิพพาน นิพพานคือเย็นไม่มีทุกข์ อย่างน้อยสัก ๓ ชนิด ที่เป็นไปเองตามธรรมชาติ หรือโดยบังเอิญที่เราไม่ได้ทำอะไรเลย มันว่าง มันเย็นนี่ ให้มากที่สุด อย่างมาที่นี่ นั่งอยู่เดี๋ยวนี้ ที่นี่ในป่า ร่มไม้นี้ มันเย็น มันว่าง ไม่มีกิเลส นี่ก็เหมือนกันเรียกว่า มันเป็นไปตามธรรมชาติหรือโดยบังเอิญ นี่เป็นของที่ได้ง่ายหรือได้แน่ แต่มันเป็นระดับต้น ระดับต่ำ ระดับน้อยๆ แต่ว่าจะน้อยหรือใหญ่รสชาติเหมือนกัน ความไม่มีทุกข์นี่รสชาติเหมือนกัน มันผิดกันที่ว่าช้าหรือเร็ว หรือว่าตายตัวหรือไม่ตายตัว ตายตัวมันก็ถ้าว่างแล้วก็ว่างเลยตลอดชีวิตไปเลย ตายตัว ถ้าไม่ตายตัวหมายความว่า ว่างเดี๋ยวก็กลับมาไม่ว่างอีก มันต่างกันอย่างนั้น นิพพานขั้นพื้นฐานเขาไม่ได้เรียกกันว่านิพพาน เพราะเขาไปสนใจหรือพูดกันแต่เรื่องนิพพานที่เป็นพระอรหันต์ ไอ้นิพพานชั่วคราว นิพพานบังเอิญนี่เขาไม่ค่อยพูดกัน ที่จริงมันก็มีในพระคัมภีร์ แต่การสอนมุ่งแต่นิพพานชั้นสูงสุดอย่างเดียว นี่อาตมาก็เอามาให้เห็น เอามาพูดให้ได้ยิน บางคนก็ไม่เชื่อ คิดว่าว่าเอาเอง ว่าทำเอาเอง แต่งขึ้นเอง ว่าเอาเอง ก็อ้างหลักฐานให้ดูว่าคืออย่างนั้นๆ ตทังคนิพพานนั่นแหละ นิพพานประจวบเหมาะ สามายิกนิพพาน นี่คือนิพพานชั่วคราวที่คนธรรมดาจะมีจะได้อยู่เป็นคราวๆ ชั่วๆ คราวหรือประจวบเหมาะก็ได้ ถ้ามองข้ามอันนี้แล้วก็เข้าใจนิพพานไปได้ ต้องเข้าใจอันนี้แล้วทำให้มันดีขึ้น มากขึ้น นานขึ้น ยาวขึ้น
ญาติโยม : คือที่ท่านอาจารย์พูด นี่ก็คล้ายๆ กับว่า ถ้าเกิดจะเปรียบเทียบแบบคล้ายๆ ความเป็นแม่เหล็ก ขั้นต้นก็เหมือนหยั่งกับว่ามันเป็นแม่เหล็กชั่วคราว แล้วมันก็หายไป มันก็กลับมา แต่ถ้าหากว่าเราฝึกจิตจนกระทั่งมันได้อยู่ตลอดเวลาอย่างนั้น มันก็ถึงขั้นสูงสุดหรือคะ อย่างนั้นหรือคะ
ท่านพุทธทาส ถ้าเปรียบมันก็ได้ แต่คำว่านิพพานนี่มันไปอีกทางหนึ่ง มันไปในทางว่าง คือ ทางไม่มี มันเป็นลักษณะพูดเป็น Negative อย่าให้มันเกิดมา อะไรต่ออะไร มันก็เป็นนิพพานเท่านั้นหรือมากเท่านั้น ถ้าพูดมี มันก็ Possitive นี่มันพูดอย่างลักษณะเอาออก ระบายออกหรือเอาออก เราให้จิตว่างจากโลภะ โทสะ โลหะ มากขึ้น ดีขึ้น แล้วก็นานขึ้น มีหน้าที่ทำอย่างนั้น เราก็ต้องรู้จักชั้นแรกๆ ที่ชิมลองก่อน ถ้าไม่อย่างนั้นจะเอากำลังใจที่ไหนมาทำ มันก็พิจารณาเห็นประโยชน์คุณค่าของนิพพานในขั้นต้นนี่ก่อนแล้วจะชอบ แล้วก็มีกำลังที่จะพยายาม มันต้องสังเกตเวลาที่เราว่าง ประเภทชั่วคราวนี่ ชิมลองนี่ให้พบเสียก่อน ยกตัวอย่างเช่นว่ามานั่งอยู่ตรงนี้ มันสบาย มันว่าง ลองคิดดูนี่ถ้าเราจะทำเลขหรือค้นคว้าอะไร มันยิ่งทำได้ดี ถ้าเราจะเกิดสนใจว่าไอ้จิตที่ว่างจากกิเลสรบกวนนี่มันไม่ใช่หยุดหรือมันไม่ใช่ทำอะไรไม่ได้ มันกลับไว กลับไว เป็นไดนามิกสูงสุดด้วยซ้ำไป แต่ไม่ว่างนั่นแหละมันไม่กระจ่าง มันไม่แจ่มใส มันไม่ว่องไวในการที่จะคิดสิ่งที่เราต้องการจะคิด มันไปติดตั้งอยู่ที่ไอ้เรื่องปรุงแต่ง มืดมัว เป็นทุกข์ เรื่องนี้ไม่ให้เรียนจากหนังสือ เพราะว่าเรียนจากหนังสือนั้นมันรู้น้อย ต้องเรียนจากธรรมชาติโดยตรง ธรรมะต้องเรียนจากธรรมชาติโดยตรงจึงจะได้ผลดีเต็มที่ เมื่อใดมันบังเอิญเกิดไอ้ความว่างขึ้นมา ก็รีบตะครุบเอาทันทีเป็นการเรียน ได้รับผลเป็นความว่างสบายใจนั้นน้อย เรียกว่าประโยชน์น้อย ที่จะเป็นประโยชน์มากคือเรียนทันที ว่าอ้าวทำไมมันจึงสบายใจอย่างนี้ ค้นคว้าไปๆ อ้าว มันว่าง ว่างคือกำลังไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ไม่ติดอยู่ในอะไร ถ้าไม่ว่างคือมันถูกผูกพันอยู่ด้วยอะไร ไม่เป็นอิสระ ไม่ใช่ว่าไม่คิดลึกอะไร มันคิดได้อย่างอิสระ หรือมันรู้สึกอย่างอิสระ ไอ้ไม่ว่างมันติดพัน มันถูกอะไรรบกวน ติดพันกันอยู่ เรื่องจะทำความคิดอย่างเรื่องบ้านเรือนก็ดี ความคิดอย่างวิปัสสนา นิพพานก็ดี ต้องการจิตชนิดนี้ทั้งนั้น จึงยกตัวอย่างให้ฟังว่า คนจะคิดเลข คนจะยิงปืนหรือแม้คนจะชกต่อยกัน คนที่มีจิตว่างชนิดนี้จะทำได้ดีที่สุด แต่ก็มักจะเข้าใจผิดว่าว่างแล้วก็คิดอะไรไม่ได้ คล้ายๆ ว่าใจลอย อย่างนั้นมันคนละคำคนละความหมาย จะยิงปืนให้ดีที่สุด จิตต้องลืมอะไรหมดนอกจากเป้า หรือว่าเราจะทำเลข หรือบางที มันต้องใช้จิตใจ ทุกอย่าง อื่นๆ ก็จะต้องออกไปหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกที่เกี่ยวกับตัวนั่นน่ะว่ากูจะได้จะเสียจะอย่างนั้นจะอย่างนี้น่ะอย่าให้มี ความคิดที่ว่าเราจะต้องทำ เราคิดแต่ทีแรกได้นี่ว่าจะต้องทำอะไร ทำอย่างไร เรารู้แล้ว แต่พอลงมือทำแล้วลืมหมด ตัวตนของตน ลืมหมด เหลือแต่จิตที่ว่างจากไอ้สิ่งเหล่านั้น แล้วมันก็ประกอบไปด้วยคุณสมบัติที่จะทำได้ดี ตามบาลีเขาก็ว่า จิตนั้นสะอาดดี จิตนั้นแน่วแน่มั่นคงดี จิตนั้นว่องไวดี เรียกว่า ปริสุทโธ สมาหิโต กัมมะนีโย ก็ไปเทียบศัพท์ให้เห็นกันในหนังสือว่า บริสุทธิ์คือ Pure บริสุทธิ์ บริสุทธิ์อย่างล้วน ไม่มีอะไรเจือ แล้วก็สมาหิโตนั่น Steady หรือ Firm หรือที่มันหนักแน่น แน่วแน่ แล้วก็กัมมะนีโยนั่นคือ Activeness ในบาลีเขาระบุไว้ ๓ ข้ออย่างนี้ จึงจะเป็นจิตที่ว่าง จะไปอัตตา อัตตนียา คือตัวตน หรือของตนหรือตัวกูหรือของกู เป็นจิตว่างชนิดนี้จะให้ทำอะไร ทำได้ดี หรือจะหาความสุขก็หาได้อยู่ในตัวมันเอง เขาจึงใช้จิตชนิดนี้พิจารณา วิปัสสนาจนบรรลุมรรคผลนิพพานไปได้ ทีนี้พวกที่อยู่ในโลก จะต้องทำการงาน ประกอบอาชีพ อะไรก็ตาม ก็ต้องมีจิตชนิดนี้มันจึงจะเป็นสุขอยู่ในตัวการงานแล้วทำงานได้ดี ขณะที่ทำงานอยู่ในออฟฟิศ ก็รู้สึกครื้นเครงอยู่ในใจ ไม่มีความทุกข์ ไม่วิตกกังวล ไม่หวาดระแวง ไม่กลัวอะไร มันสนุกครึกครื้น ทั้งงานก็ทำได้ดีได้ผลดีด้วย ถ้าไม่ว่างก็หมายความเป็นห่วงนั่นห่วงนี่ โดยเฉพาะห่วงที่จะผิดจะพลาด จะเสียจะหาย จะเสียเกียรติยศ จะเสียเงินจะอะไร ถ้าอันนี้มารบกวนเรื่อยแปลว่าไม่ว่างอย่างยิ่ง มันก็ไม่มีความสุขเวลานั้น แล้วงานก็ทำได้ไม่ดี ข้อนี้เราเลยสรุปให้ฟังว่าให้ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง แต่ละคนก็ฟังไม่ถูก ส่วนมากคือครั้งแรกๆ ฟังไม่ถูก เขาไปฟังถูกแต่ว่า ว่างนั้นคือ ไม่คิดนึกอะไร ไม่รู้สึกอะไร จะให้เป็นคนใจลอย หรือว่าเป็นท่อนไม้ ร่างกายเป็นท่อนไม้อยู่เรื่อย แรกออกมาก็เป็นอย่างนั้น ประสบปัญหาอย่างนั้น เดี๋ยวนี้ค่อยยังชั่ว มีคนจำนวนมากค่อยฟังเข้าใจขึ้นว่าว่างตามแบบของพระพุทธเจ้านั้นคืออย่างไร อยากจะขอทบทวนย้อนต้นไปอีกทีว่า ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นแก่จิตนั้น จิตนี้ก็จะว่าง ว่างอยู่ตามธรรมชาติ ว่างแบบธรรมชาติ เพราะว่ามันไอ้ว่างนั่นแหละคือสภาพเดิมแท้ของมัน ไอ้วุ่นนั่นคือผิดธรรมชาติ เพราะมันคอยแต่จะตกไปยังสภาพเดิมแท้ของมันแหละ อย่ามีอะไรมากระชาก มาดึงมัน แล้วมันจะตกไปหาสภาพเดิมแท้ของมัน คือว่าง ก็คิดดูสิ ไอ้จิตของเราไปคิดๆๆๆ อะไรเดี๋ยวมันก็กลับมาหา หยุดมันไม่คิด หรือว่าทางร่างกายก็เหมือนกัน ทำการทำงาน สักพักเดี๋ยวมันอยากหยุดอยากนอน อยากหยุดหยุดพักหรือนอน ไอ้ว่างของร่างกายก็คือพัก ไอ้ว่างของจิตก็คือไม่คิด ไม่วิตกกังวลไม่คิด ถ้าเรารู้จักผสมโรงกับธรรมชาติให้ดีๆ มันว่างง่ายที่สุด เดี๋ยวนี้เราไม่เข้าใจหรือบางทีก็ไม่เชื่อ แล้วก็ไม่ได้ทำให้ถูกต้องตามกฏเกณฑ์อันนี้ซึ่งเป็นกฎของธรรมชาติ แต่ว่าเนื่องจากพระพุทธเจ้ามาสอน คล้ายๆ กับว่าพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไป ถ้าว่าโดยที่แท้แล้วมันคือกฏของธรรมชาติ ความลับของธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าท่านทราบแล้วเอามาสอน จึงให้สังเกตเห็นว่าธรรมดาหรือธรรมชาตินั้น จิตอยากอยู่นิ่งๆ หรือว่างๆ เป็นอิสระ แต่แล้วการวิวัฒน์ของมนุษย์ซึ่งต่างจากสัตว์เดรัจฉานมากขึ้นๆ ก็ทำให้ไม่ว่างยิ่งขึ้นทุกที เพราะไอ้ความวิวัฒน์ของมนุษย์นี้มันต้องให้ตา หู จมูก ลิ้น สอดส่ายหาเหยื่อแรงขึ้นทุกที ถ้าพวกเดรัจฉานมันอยู่ในสภาพเท่าเดิม แต่มนุษย์มันวิวัฒน์ขึ้นทุกที มันแรงขึ้นทุกที เพราะฉะนั้นไอ้มนุษย์จึงเกิดปัญหาไม่ว่างมากขึ้น จึงมีความทุกข์เฉพาะมนุษย์ อย่างที่เขาเรียกว่าบาปสำหรับมนุษย์โดยตรง ที่เรียกในคัมภีร์คริสเตียน ไม่บาปนี่ผัวเมียคู่แรกทำขึ้น มันเกิดไปวิวัฒน์ในทางที่รักดียิ่งๆ ขึ้นไป ซึ่งสัตว์เดรัจฉานมันไม่ต้องการ หรือว่าไอ้มนุษย์รุ่นแรกมันก็ไม่ต้องการ จนกว่ามันจะรู้จักเรื่องดีเรื่องชั่ว สมมติเปรียบเหมือนกับว่าไอ้ผัวเมียคู่นี้กินผลไม้ต้นนั้นเข้าไปเกิดรู้จักดีจักชั่วก็เป็นบาปสำหรับมนุษย์ตลอดกาลไปเลย นั่นคือไม่ว่าง ละจากสภาพความว่างตามธรรมชาติ เพราะว่ามันต้องการความก้าวหน้า หรือวิวัฒน์ในทางเอร็ดอร่อย ทางอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันทิ้งสภาพเดิม แต่ถึงอย่างนั้นธรรมชาติแท้ๆ มันก็อยากจะหยุดว่างลงไป หาว่างอยู่เรื่อยไป พอไม่มีอะไรมานั่นมันก็กลับไปสู่สภาพว่าง แต่หายากเข้าทุกที มนุษย์ยิ่งวิวัฒน์เท่าไรก็ยิ่งไกลจากไอ้สภาพว่างเดิมหรือว่างง่ายๆ ยิ่งขึ้นทุกที ทีนี้มาถึงสมัยนี้มันก้าวหน้ากันใหญ่ เรื่องไอ้สิ่งที่จะมายั่ว มาเป็นเหยื่อทางตา หู จมูก ลิ้น นี่มันก็ยิ่งว่างยากขึ้น เพราะฉะนั้น มนุษย์สมัยนี้ก็มีความทุกข์มากขึ้น เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ เพราะทำเอาเอง นี่เราก็มานึกถึงข้อนี้ว่าพระพุทธเจ้าท่านรู้สิ่งที่จะแก้ไขความทุกข์ที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่เมื่อมนุษย์มีวิวัฒน์มาก มีวิวัฒนาการมากในทางจิต ยิ่งวิวัฒน์ทางจิตมากขึ้นเท่าไร จะมีความทุกข์ลึกซึ้งละเอียดลึกลับมากขึ้นเท่านั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีอะไรอันหนึ่งมาช่วยแก้ และมาช่วยทดแทน นี่คือธรรมะ สัตว์เดรัจฉานไม่ต้องการธรรมะ แต่พอละสภาพสัตว์เดรัจฉานมากขึ้นเท่าไร จะยิ่งต้องการธรรมะมากขึ้นเท่านั้น เพราะมันแกว่งและมันไวไปในทางที่จะจับฉวยเอาเหยื่อสำหรับกิเลส กิเลสมันก็จะเจริญและมีความทุกข์มาก งั้นต้องมีสิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องกำกับ ชดเชย ทดแทนไว้ว่า ฉลาดขึ้นเท่าไรก็จะยิ่งฉลาดในทางที่จะไม่ยึดมั่นถือมั่นมากขึ้นเท่านั้น ธรรมะก็ตั้งต้นที่นั่น ตั้งต้นเมื่อมนุษย์รู้จักดีรู้จักชั่ว คือวิวัฒน์ทางจิตใจ เรายิ่งเป็นมนุษย์อย่างมนุษย์มากเท่าไร ยิ่งไม่ว่างมากเท่านั้น จะมีความทุกข์มากเท่านั้น จะปล่อยอย่างสัตว์เดรัจฉานก็ไม่ได้ ไม่มีทางที่จะกลับไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน มันก็ต้องมีอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งที่เข้ามาแทนให้ใหม่ คือ ธรรมะ คือ หลักธรรมะ วิธีที่จะทำให้มันว่างและไม่รู้ ถ้าทำได้มากกว่าที่ธรรมชาติมอบให้นั่นแหละเป็นส่วนของธรรมะ ของพระพุทธศาสนา หรือของพระพุทธเจ้า นี่พระพุทธเจ้าท่านก็ไปไกลมากจนถึงว่าว่างเด็ดขาดเลย เรียกว่าว่างเด็ดขาดกันเลย เป็นพระอรหันต์กันเลย ก็เลยสูงสุด ที่อย่างต่ำสุดก็คือไปตามธรรมชาติที่มันว่างเอง ที่อยู่ตรงกลางคือว่าเพียงแต่ว่ารู้จักบังคับจิตให้ว่าง บังคับจิตให้ว่าง ส่วนของพระพุทธเจ้าไม่ใช่บังคับจิตให้ว่าง มีวิธีทำอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออบรมทำมันอย่างใดอย่างหนึ่งจนมันว่างโดยไม่ต้องบังคับ ความว่างจึงมี ๓ ชนิด ว่างเองตามธรรมชาติชั่วคราวนั่นก็ชนิดหนึ่ง มนุษย์มีเทคนิคอะไรตามวิธีของโยคีมุนีที่จะหยุดว่างมันไว้นี่ก็วิธีหนึ่ง ของพระพุทธเจ้าก็ว่างกันจริง ว่างกันเด็ดขาด เรียกว่า สมุจเฉท เพราะพิจารณาเห็นในทางสติปัญญาอย่างลึกซึ้งถึงที่สุดว่าไอ้สิ่งเหล่านั้นมันหลอกลวงทั้งนั้น คือมันว่างจากสาระที่ควรยึดถือ มันหลอกลวงทั้งนั้น อย่างนี้มันว่างเอง จิตมันว่างเอง วิธีสูงสุดของพระพุทธเจ้าคือให้มองเห็นโลกโดยความเป็นของว่าง โลกข้างนอกคือไอ้สิ่งต่างๆ ในโลกนี้เขาเรียกว่าโลก ที่มันเข้ามาเกี่ยวกับเราทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางไอ้กาย ทางใจนี้ก็เรียกว่าโลก กระทั่งมันเข้าไปอยู่ในจิตใจ เป็นความรู้สึกที่เรียกว่า feeling อะไรต่างๆ ก็เป็นโลก นั่นก็คือโลก ก็เลยหมด เห็นโลกทุกชนิดทุกประเภทนี่ว่าว่าง จากสาระที่ควรจะถือว่าเป็นตัวตน หรือว่าว่างจากตัวตนก็แล้วกัน มันเองก็ไม่ใช่ตัวตน สาระที่เราจะไปจับฉวยมาเป็นตัวตนมันก็ไม่มี มีแต่ว่าพอไปจับฉวยเข้าก็จะเป็นทุกข์เท่านั้น เพราะจิตมันไม่ว่างขึ้นมาทันที นั้นจึงสอนไอ้เรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าไม่มีส่วนไหนที่ควรจะยึดมั่นถือมั่น อันนี้เลยเป็นหัวใจของพุทธศาสนา อ่านหนังสือก็สังเกตดูให้ดี ประโยคนี้อ้างว่าพูดไว้บ่อยที่สุดในหนังสือที่พิมพ์ขึ้นจากคำบรรยายต่างๆ ที่เคยบรรยายว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ หลายปีมาแล้ว แรกพูดทีเดียวคุณสัญญาไปเขียนไว้ข้างหมอน สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนหรือของตน นี่เป็นพุทธภาษิตที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสในฐานะที่จะให้เป็นหัวใจทั้งหมดของพุทธศาสนา สิ่งทั้งปวงก็คือทุกสิ่งจริงๆ ไม่ว่าอะไร จะดีก็ตาม ชั่วก็ตาม อะไรก็ตาม อย่าไปยึดมั่นในทำนองว่าตัวกูของกู ส่วนการที่จะตั้งใจทำอะไรให้จริง ด้วยความ... ซึ่งภาษาไทยเรียกว่ายึดมั่นหรือถือมั่นนั้น นั่นมันอีกคำหนึ่ง นั่นมันถือมั่นด้วยการตั้งจิต อธิษฐานจิตด้วยสติปัญญาว่าจะทำให้จริง แต่ส่วนยึดมั่นโน้นคือยึดมั่นด้วยความโง่ ด้วยความหลง ด้วยกิเลส ด้วยอวิชชา ยึดมั่นในความหมายว่าอย่างนี้เป็นตัวฉัน อย่างนี้เป็นของฉัน มันเป็นประเภทไอ้ self หรือ ego egolistic conception conceptual นาทีที่ 39.08 ฟังไม่ชัด ไอ้เหล่านี้ มันคนละอันกับที่ว่าเราตั้งใจจะทำสิ่งนี้ให้ดีที่สุด อย่างนี้ไม่ใช่อันเดียวกัน อย่างนี้ไม่ใช่ยึดมั่น เช่นว่ายึดมั่นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็มี ๒ อย่าง ยึดมั่นด้วยความโง่ก็เป็นแบบนี้แหละมีทุกข์ แต่ยึดมั่นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็เห็นว่าเป็นหลักการอย่างนั้นทำเข้าแล้วมันดับทุกข์ อย่างนี้ไม่ใช่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ได้ห้าม ห้ามแต่ยึดมั่นถือมั่นเป็นอวิชชา ด้วยความโง่ พอยึดแล้วก็หนักทันที เหมือนว่าจับของหิ้วขึ้นมาก็หนักทันที นี้ก็อยู่ในเรื่องที่ว่าอันดับแรกต้องเห็นโลก หรือสิ่งทั้งปวงว่างอย่างนี้ก่อน เห็นสติปัญญาอย่างลึกซึ้ง จิต สิ่งที่เรียกว่าจิตนั่นแหละเป็นผู้เห็นด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง ทีนี้จิตมันจะไปคว้าอะไรได้ มันจะยึดอะไรได้ เพราะมันเห็นอย่างนี้ด้วยสติปัญญาเสียแล้ว งั้นเราไม่ต้องบังคับว่าจิตอย่ายึดถือนะ ไม่ต้องบังคับ เมื่อจิตมันเห็น นี่ มันเห็นอย่างที่เรียกว่า เห็นด้วย experience ด้วย realization intunitive wisdom มันเห็นอย่างนี้ ไม่ต้องบังคับหรอก นี่เขาเรียกว่าเห็นว่างตามแบบของพระพุทธเจ้า ไม่ต้องบังคับ เพียงแต่ว่าทำให้มันแรงขึ้น ๆ ให้มันบ่อยขึ้นๆ จนชินเป็นนิสัย ถ้าว่างจริงเป็นพระอรหันต์แบบนี้ นี่แบบที่บังคับคือว่าเขาค้นพบกันก่อนพระพุทธเจ้าเกิด จิตไปผูกไว้กับสิ่งอื่นเสีย หรือว่าบังคับอย่างนั้นอย่างนี้อย่าให้จิตเกิดความยึดมั่นได้ อย่างนี้เป็นฌาณ เป็นสมาธิ เป็นสมาบัติ มีความสุขอยู่ได้แค่ที่มันยังเป็นฌาณ เป็นสมาบัติ พอออกจากนั้นมันก็ยึดมั่นอีกแหละ อย่างนี้เขาเรียกว่าว่างเพราะบังคับ แต่ก็ยังดี มันก็ยังมีความสุขในขณะนั้น แต่ไม่เด็ดขาด ไม่ว่างเด็ดขาด แล้วต้องทำด้วยอำนาจของไอ้การบังคับ อำนาจของการบังคับจิต ส่วนอันโน้นไม่เกี่ยวกับบังคับ เกี่ยวกับความรู้ พอรู้แล้วมันไม่ยึดเอง ส่วนอันนี้ไม่ได้เกี่ยวกับรู้ มันจึงต้องมีเทคนิคของการบังคับ นี่เขาเรียกว่าทำสมาธิล้วนๆ เป็นสมถะล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับวิปัสสนา เนี่ยตรงกลางอันนี้คือต้องบังคับมันจึงจะว่าง อันแรกที่สุดย้อนกลับครั้งแรกเลยคือว่า บังเอิญ ประจวบเหมาะ บังเอิญหรืออยู่ตามธรรมชาติ เช่น เหนื่อยเข้ามาก็นอนหลับ นอนหลับก็ว่าง หรือมันคิดๆ ไปแล้วมันขี้เกียจคิด มันก็หยุดมันเอง หรือว่าประจวบเหมาะเช่นว่ามาที่อย่างนี้มันก็ว่างเอง อย่างนี้ไม่ได้ทำอะไรเลย บังคับก็ไม่ได้บังคับ พิจารณาก็ไม่ได้พิจารณา เพียงแต่มันว่างเองตามธรรมชาติ นี่เรียกว่าความว่างที่เกิดมาจากการประจวบเหมาะตามธรรมชาติ นี่เป็นอันดับต่ำที่สุด อันดับที่ ๒ ก็คือ บังคับด้วยเทคนิคที่เขาค้นพบมานานแล้ว ไอ้พวกสมาธิ ฌานสมาบัติต่างๆ นี่อันที่ ๓ พระพุทธเจ้าพบ ถอนรากถอนโคนด้วยสติปัญญา เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงมันเป็นมายา มันเป็นของว่างจากสาระที่คนยึดถือแล้ว พอจิตไปเห็นเข้าจิตมันว่างเอง ทั้งสามว่างนี้ต่างกันเป็นคนละอย่าง ไกลกันลิบ โดยต้นเหตุ ไม่ว่าโดยลักษณะหรืออะไรก็ตาม แต่ว่าผลมันมีรสชาติเหมือนกัน ถ้าลงว่างแล้วไม่มีทุกข์ นี่มันน่าแปลกตรงนี้ ถ้ามันลงว่างแล้วไม่มีทุกข์ จะว่างแบบนี้หรือว่างแบบนี้หรือแบบนี้ ไม่มีทุกข์ทั้งนั้น เราก็ไต่ขึ้นมาตามลำดับ จากที่เป็นเองตามธรรมชาติมาหาไอ้ที่เราบังคับให้นานหน่อย ให้นานออกไป ถ้าขี้เกียจบังคับ ก็ไปหาวิธีที่ไม่ต้องบังคับ แต่ว่าทำลายรากเหง้าของไอ้ความไม่ว่างเสีย ความว่างมันเป็นอย่างนี้ อาตมาก็พยายามจะอธิบายอย่างนี้ แต่ว่าคนเขาก็ไม่เข้าใจอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ก็เริ่มมีคนที่จะเข้าใจขึ้นบ้างแล้ว เข้าใจอย่างนี้ ครั้งแรกก็หาว่าเป็นเรื่องงมงาย บ้าๆ บอๆ หลายอย่างเลย บางคนก็ถึงว่าจิตว่างไม่ได้ ไปปิดหูปิดตา จิตว่างไม่ได้ เขาไม่รู้ว่าว่างนั้นคืออะไร ว่างของเขาคือเหมือนกับสลบหรือหลับหรือตายอย่างนั้น เรียกว่าว่าง ไอ้เราบอกว่ายิ่งว่างยิ่งว่องไว ยิ่งว่างยิ่งเป็นสุข ยิ่งว่างยิ่งเฉลียวฉลาด พูดกันไม่รู้เรื่อง อาตมาคิดว่า ๑๕ ปีแล้วที่พูดคำแรกออกไปเรื่องความว่าง (นาทีที่ 44.29 ฟังไม่ออก) ๑๐ ปีคนจึงเริ่มเข้าใจบ้าง เดี๋ยวนี้ก็มีคนเข้าใจบ้าง ไอ้ทีนี้ปัญหาอะไรที่ยังเหลืออยู่ก็ถาม โดยไอ้สมมุติฐานมันมีอย่างนี้ นี่มันมีปัญหาที่เหลือตรงไหนก็ถามเฉพาะส่วนนั้น
ญาติโยม : อันนี้ไม่เกี่ยวข้องกันแล้วค่ะ อาจารย์เชื่อว่าจิตคนเรานี่เป็น energy หรือเปล่าคะ
ท่านพุทธทาส : ถ้าเกี่ยวกับภาษา เกี่ยวกับอย่างนี้แล้วก็มีปัญหาอีกมาก
ญาติโยม เปล่าคะ ที่อยากจะเรียนถามเพราะว่า อย่างถ้าเกิดเราเชื่อว่ามันเป็น energy เพราะถ้าหากว่าเราทำสมาธิ มันก็ควรจะมีพลังที่คล้ายๆ กับมันสามารถ นาทีที่ 45.10 ฟังไม่ชัด เป็น wave energy เพราะอย่างบางคนเขาเชื่อว่าถ้าอย่างคนที่ concentrate ได้ เขาสามารถใช้พลังจิตไปรักษาโรคหรืออะไรอย่างนี้ คืออยากจะเรียนถามอาจารย์ในแง่นี้ว่ามัน...
ท่านพุทธทาส เป็นสิ่งที่มีอยู่ และเป็นสิ่งที่มีได้ แต่ว่ามันคนละเรื่องกับไอ้เรื่องของธรรมะ
ญาติโยม ค่ะ มันไม่เกี่ยวกันเลย
ท่านพุทธทาส ไม่ใช่เรื่องธรรมะ งั้นก็ไปนึกถึงไอ้เรื่อง เขาเรียกว่าอบรมจิตโดยเฉพาะ จิตฝึกแล้วมันก็ต้องเป็นพลังงาน แต่ว่ามันของอะไร ยังมีหลายๆ ชั้น แล้วบัญญัติขึ้น อาจจะไม่ตรงกันแล้วก็จะเถียงกัน ไอ้สิ่งที่เรียกว่าพลังงาน ในทางวิทยาศาสตร์นั้น มันก็มี มีในส่วนไอ้หลักธรรมในพุทธศาสนา เขาไม่เรียกพลังงาน แต่มีคำอยู่คำหนึ่งที่เรียกว่า develop ทำให้ให้ให้อะไรแสดงตัวออกมา เรียกว่าภาวนา ตัวหนังสือตรงกับคำว่า develop อะไรยังไม่แสดงออกมาจะทำให้แสดงออกมา หรือว่าอะไรไม่ถึงที่สุดก็ทำให้มันถึงที่สุด งั้นถือว่าจิตเป็นสิ่งที่ develop ได้ กลายเป็นจิตที่มีคุณสมบัติมีพลังมีอะไรมากมายขึ้นมา ทีนี้ก็แล้วแต่ว่าจะให้ไปในทางไหน การค้นพลังจิตแบบนี้ เขาค้นมันมาก่อนพุทธกาล ก่อนพระพุทธเจ้านานมาก มันก็พบอะไรแปลกๆ เป็นที่พอใจอยู่ เป็นยุคเป็นคราวไป แต่มันไม่ดับทุกข์สิ้นเชิง จนกว่าการพบของพระพุทธเจ้าเป็นไอ้การค้นพบครั้งสุดท้ายที่ว่าจะสามารถดับทุกข์ได้ แล้วก็ไม่มีใครค้นให้ได้ดีกว่านี้อีก ยิ่งคนสมัยนี้จะค้นพบอะไรออกมาใหม่ที่ฟังดูแล้วไม่แปลกไปจากที่เขาเคยค้นพบตั้งแต่ครั้งก่อนพุทธกาลและในสมัยพุทธกาล ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสไว้เป็นหลักเลยว่า สมาธิภาวนามีอยู่ ๔ ชนิด สมาธิภาวนานี่แปลว่า นาทีที่ 48.13 ไม่แน่ใจคำศัพท์ development ****** concentration development ด้วยกำลังของจิตที่ทำให้เป็นสมาธิแล้ว มีอยู่ ๔ อย่าง คือ develop ไปในทางที่ให้เกิดผลเป็นความสุข ทันอกทันใจ คือจิตมันยุ่งยิ่งๆ อย่างงั้นอย่างนี้ เรามาทำแป๊บเดียวให้มันกลายเป็นสบายใจและก็ให้ทันอกทันใจตามที่ต้องการ แล้วก็ในเวลานี้นี่แหละเดี๋ยวนี้เลย อย่างนี้ต้องทำสมาธิไปตามแบบญาณ แบบรูปญาณที่เขาค้นพบแล้วนั่นแหละ เขาเรียกว่าทำญาณทั้ง ๔ ให้เกิดขึ้น ทีนี้อีกสายหนึ่งซึ่งมันไม่ต้องการอย่างนั้น ต้องการ จะพบไอ้อำนาจ ไอ้นอกธรรมชาติน่ะ Supernatural ไอ้พวก (นาทีที่ 49.08 ฟังไม่ออก) อะไรต่างๆ ทั้งหมดเลย ที่มันเป็น เขาเรียกกันว่าเหมือนกับเป็นของ Deva ของเทวดา มันก็มีของมันอีกแบบที่ต้องปฏิบัติ เจริญกสิณเป็นส่วนใหญ่ ก็มีแยกแขนงเป็นหลายๆ อย่าง งั้นเรื่องกสิณนี่ เขาพบแล้วก็ทำได้ถึงที่สุดหรือว่าเก่งที่สุดก่อนพระพุทธเจ้าเกิด ทำแล้วก็ได้ devide and power ทางตา ทางหู ทางอะไร เป็น devide and power หมด นี่ก็พวกหนึ่ง พวกที่สองก็เดินไปสายหนึ่ง นี่พวกที่ ๓ ก็ว่าเพื่อความสมบูรณ์แห่งความรู้สึก Mindfulness เนี้ยะสมประดี เนี้ยะเริ่มเข้ามาหาทางธรรมแล้ว ที่ว่าให้กำหนดการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของพฤติแห่งจิต จิตมีพฤติ คือมีไอ้การปรุงที่จะเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ Movement ทั้งหลายของจิตนี้ หันมาศึกษากำหนดอย่างนี้ เพื่อมันจะได้ละเอียดหรือถี่ยิบ จะมาย่างหนอ ยุบหนอ พองหนอ มัน ระยะมันยาว มันช้า จึงรู้ จึงสอนให้กำหนดไอ้เกิดขึ้นแห่งจิตครั้งหนึ่งๆ เกิดขึ้นแห่งจิต ตั้งอยู่ดับไปนี่ จะกำหนดในลักษณะที่มันเป็น feeling ก็ได้ เป็น Perception ก็ได้ เป็นอะไรก็ได้ ทำอยู่อย่างนี้จะมีผลใหม่เกิดขึ้นในทางที่เป็นผู้มีจิตใจผิดมนุษย์ธรรมดาในการที่จะมีสติสัมปชัญญะ นาทีที่ 51.18 ฟังไม่ออก ก็เรียก Mindfulness ก็เรียก ไอ้นั่นแหละจะมากเกินคนธรรมดา แล้วจะเอาไปใช้เพื่อประโยชน์อะไรก็ได้ แต่ความมุ่งหมายของมันก็จะมี Mindfulness ในการที่จะไม่ทำผิด จะทำถูกเรื่อย นั้นคนเราก็ได้ผลดี แต่ไม่สิ้นอาสวะ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีประเภทที่ ๔ สายสุดท้ายที่ว่า ทำแล้วจะสิ้นกิเลส สิ้นอาสวะ อันนี้ถ้าแปลตามตัวหนังสือก็คือว่า ไปกำหนดการเกิดขึ้น และดับไปแห่งปัญจุปาทานขันธ์ แต่ถ้าพูดอย่างภาษาที่เข้าใจทันที ก็คือว่า การเกิดขึ้นและดับไปแห่งตัวกูของกู ตัวกูเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป ให้พิจารณาอย่างนั้น กำหนดการเกิดการดับของปัญจุปาทานขันธ์ ทำแบบนี้ก็จะรู้จักกิเลสที่มันเป็นอุปาทาน ที่มาจากอวิชชาหรือจากตัวกูของกู ที่เกิดขึ้นแล้วเป็นทุกข์ แล้วมันก็รู้จักดับ หรือตัด หรือสกัด หรือกั้น ให้มันไม่ในต้นเหตุ ในกระแสที่มันจะเกิด ทำไปก็สิ้นกิเลสแหละอย่างนี้ อันนี้มุ่งหมายการสิ้นกิเลส นี่แหละสมาธิภาวนา สิ่งที่จะอบรมจิต สร้างพลังทางจิต สืบเนื่องไปถึงสติปัญญามันมีทำได้ ในสายใหญ่ๆ ๔ สายอย่างนี้ แล้วในแต่ละสายๆ ยังซอยออกไปได้อีกตามความประสงค์ ถ้าว่าถามถึงเรื่องว่าจะบังคับจิตประเภทรักษาโรค มันก็ยังเล็กไป เพราะว่าทำให้จิตเป็นสุขทันตาเห็นในฌานสมาบัติมันมากกว่านั้นอีก งั้นเราจะทำให้เป็นฌาณสมาบัติได้ มันก็มีจิตแรงสูงพอที่จะมีกระแสบังคับให้ความรู้สึกของตัวหรือบังคับความรู้สึกของผู้อื่น บังคับให้ผู้อื่นรู้สึกเหมือนตามที่คนนั้นต้องการให้รู้สึก มันเป็น Hypnotize เสียอย่างนั้น ยังน้อยกว่าที่จะทำอย่างนี้เสียอีก เพราะฉะนั้นทำได้ แต่เทคนิคอย่างนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสเลย ขอให้เป็นเรื่องพิเศษสำหรับใครทำได้ก็ทำไปเถอะเป็นไอ้เรื่องบังคับจิตผู้อื่น รู้จิตผู้อื่นอะไรก็ทำไป มันเนื่องจากมีคนทำได้ก่อนพระพุทธเจ้ามาแต่ก่อน แล้วมันเอาไปใช้ในการหาประโยชน์ส่วนตัว ประโยชน์ทางวัตถุ แล้วบางทีมันใช้ชนิดเอาเปรียบผู้อื่น ก็เลยเป็นกลโกง วิธีโกงสำหรับเอาเปรียบผู้อื่น พระพุทธเจ้าเลยบอกนี่เราไม่เล่นด้วย ไม่ข้องแวะด้วย เดี๋ยวไอ้คน ชาวบ้านมันจะหาว่าเราเป็นพวกนั้น พระพุทธเจ้าก็เลยห้ามสาวกไม่ให้กระทำไปในทำนองอย่างนั้น แต่ถ้าจะเอาไปใช้รักษาโรคอย่างนี้แล้วก็จะสังเกตเห็นจากเรื่องราวหลักฐานต่างๆ ที่มีอยู่ในพระคัมภีร์นั้นก็ทำได้ก่อนพระพุทธเจ้ามาก ฤาษีโยคีมุนีที่เราเรียกกันว่าเสกเป่านั่นแหละ แต่เดี๋ยวนี้มันเหลือน้อยมาก จะกลับฟื้นมาใหม่ได้หรือไม่ก็สุดแท้แต่ เมื่อก่อนจะทำได้มาก เป็นการสะกดจิตในวิธีต่างๆ กัน รักษาโรค โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับจิตหรือเกี่ยวกับประสาท แล้วมันลงมาถึงทางกาย เพราะว่ากายมันเนื่องเกี่ยวกับประสาท ประสาทมันเนื่องกันอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าจิต ถ้าบังคับทางจิตได้ก็ลงมาถึงประสาท ถึงกายได้ ไอ้คนที่มีกระแสจิตสูงนั่น มันบังคับได้ทุกทางแหละ บังคับให้หมดความรู้สึกเจ็บปวดก็ทำได้ บังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างกายเสียใหม่ วันละเล็กละน้อยๆ มันก็ทำได้ กระทั่งแสดงฤทธิ์ได้โดยบังคับให้คนนั้นรู้สึกอย่างไรตามที่เขาต้องการจะให้รู้สึกก็ทำได้ ถ้ามาใช้ในทางรักษาโรคโดยบริสุทธิ์ อย่างนี้มันก็มีประโยชน์ แต่ว่ามันก็อันตรายตรงที่ว่าไอ้คนที่มีกิเลสมันไม่ใช้อย่างนั้น กลับไปใช้ในทางที่เอาเปรียบผู้อื่น เลยไม่มีกล่าวไว้ในพระคัมภีร์ในพระไตรปิฏก ถ้าเราอ่านพบจากไอ้เรื่องทางจิตในอินเดียนั่นแหละ ในยุคสมัยเดียวกัน เรื่องทางโยคีทางอะไรต่างๆ มีมากเหลือเกิน พระพุทธเจ้าจะตรัสไว้แต่เพียงว่าพระอรหันต์บางองค์มีกำลังใจ มีจิตที่อบรมไว้สูงสุด มีกำลังใจมากขณะที่จะแสดงฤทธิ์ปาฏิหารย์อย่างนั้นได้ แต่ห้ามไม่ให้แสดง แต่ถ้าบังเอิญจำเป็นจะต้องแสดง มันมีเรื่องจำเป็น เช่นว่ามันจะเกิดอันตรายแก่ศาสนา ก็แสดงโดยที่ว่าจิตใจที่บริสุทธิ์ แล้วก็ไม่ได้อนุญาตให้แสดง ยังมีวินัยไอ้อย่างอื่นห้ามไว้เด็ดขาดด้วยว่าถ้าแสดงไอ้ฤทธิ์ปาฏิหารย์ทำนองนี้อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาแล้ว เกิดผลประโยชน์อะไรเกิดขึ้นมา ห้ามกินห้ามใช้ เขาให้อาหารกินให้อะไรกินเพราะการกระทำอย่างนี้แล้วขืนกินเข้าไปแล้วก็เป็นเหมือนกับว่าทำผิดทำเลวอย่างยิ่ง หรือเขาเกิดจะให้จีวรให้ ทั้งนั้นเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้ทั้งนั้น ถ้าได้มาด้วยการทำวิธีนี้ เลยหายสาบสูญไปจากวงของธรรมะ แต่ถ้าปัญหาที่ถามนี่มันไม่เกี่ยวกับธรรมะนี่
ญาติโยม ไม่เกี่ยว
ท่านพุทธทาส ก็ทำใจ ไปค้นหาเอาเป็นพิเศษ แล้วก็การเริ่มต้นจะเหมือนกัน ทำจิตให้เกิดปฐมฌาณได้ กระทั่งถึงจตุตฌาน โดยวิธีทางกสิณเป็นเหมาะ แล้วก็วกไปหาไอ้วัตถุประสงค์ พอทำจิตเป็นสมาธิขนาดเป็นฌานได้แล้วก็วกไปหาวัตถุประสงค์ ค่อยๆ น้อมไปทำไปค้นคว้าไปเพื่อจะบังคับจิตรักษาโรค หรือจะแสดงปาฏิหาริย์อะไรก็สุดแท้ อาตมาก็ไม่เคยสนใจเรื่องนี้ แต่อ่านพบ นาทีที่ 58.18 ฟังไม่ออก ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคก็มีอยู่มาก ซึ่งก็ลอกแบบมาจากไอ้คัมภีร์ที่มันมีอยู่ก่อนหน้านั้น ถ้าสนใจจริงๆ ในแขนงนี้ อาตมาคิดว่าค้นคว้าจากไอ้คัมภีร์ฝ่ายโยคะ ฝ่ายศาสนาพราหมณ์ จะเรียกว่าศาสนาพราหมณ์หรือศาสนาฮินดูก็แล้วแต่ คัมภีร์โยคะที่เขามีอยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโยคะของไอ้คนที่มีชื่อเสียงมากๆ เช่น ฤาษีชื่อ ปตัญชลี มีชื่อเสียงมาก หนังสือเล่มนั้นหามาอ่านดู แต่คงลำบากที่สุดแหละอ่าน เพราะเขาเขียนไว้เป็น formula สั้นๆ แล้วก็มีคำอธิบายต่างหาก ยาวๆ แล้วคำอธิบายไม่ค่อยเหมือนกัน อาจารย์คนหนึ่งอธิบายอย่าง นาทีที่ 59.18 ฟังไม่ออก ในบท formula อันเดียวกันนั้น หนังสือนี้มหาวิทยาลัย Harvard แปลออกมาเมื่อประมาณ ๕๐ ปีมาได้ ผิดทั้งนั้นเลย นาทีที่ 59.31 ฟังไม่ออก เอาที่พวกอินเดียเพิ่งแปลใหม่ๆ โยคะสูตของปตัญชลี แปลกันหลายเจ้าหลายคน ต้องเอาอันใหม่ที่สุดเลยถึงจะถูก ที่ว่าศึกษาเรื่องว่าไอ้ทำจิต นับตั้งแต่ปราณายามะมาเรื่อยๆๆๆ นี่เขาทำกันมาอย่างไร ก็มีจิตเข้มแข็งโยคี ชนิดที่แสดงปาฏิหาริย์ได้อย่างไร เพราะโยคีที่เป็นสมาธิที่ว่าจะดับกิเลสมีอยู่ อยู่ด้วย ก็จะคล้ายๆ กับว่าฟื้นใหม่แหละ ฟื้นกลับมาใหม่แหละ ก็จะมีผลน่าอัศจรรย์เหมือนกับครั้งโบราณโน่น เรื่องฤทธิ์ปาฏิหารย์จะกลับมาอีก พระพุทธเจ้าบอกแต่เพียงช่วยแก้ปัญหาเล็กน้อย ช่วยประกอบการรักษาโรค ปัจจุบันนี้มันก็ยังทำได้ มีจิตใจสูง เป็น Hypnotize ที่ดีขึ้นไปกว่าที่มีๆ กันอยู่ก่อน เป็นเรื่องจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในจิตใจในระบบประสาท อาตมาไม่ได้เคยสนใจหรืออธิบายเรื่องนี้เพราะว่าอธิบายแต่เรื่องอานาปานสติสำหรับละกิเลสสังโยชน์นี้ ก็ยังไม่ค่อยหวาดไหว ไม่ค่อยเข้าใจยังมาก ยังมีอีกมาก เดี๋ยวนี้ที่กรุงเทพฯ เขาก็ตั้งสมาคมอะไรค้นคว้าทางนี้กันแล้วไม่ใช่เหรอ ไปติดต่อลองสืบถามดูมันมีคัมภีร์อะไรบ้าง
ญาติโยม ที่เรียนถามอาจารย์เพราะมีหมอหลายคนเขาสนใจทางด้านนี้แล้วเขาก็ไปศึกษา
ท่านพุทธทาส ถ้าเอาอย่างพอดีพอร้ายไม่ถึงขนาดโยคี ก็อย่างหนังสือวิสุทธิมรรคนั่นแหละใช้ได้ แต่ต้องอ่านให้ถูก อ่านให้เข้าใจนะ เพราะหนังสือนั้นมันอ่านยาก เพราะมันแปลผิดอยู่บางอย่าง ภาษาที่แปลออกมาก็อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ใจความนั่นแหละก็มุ่งหมายจะต้องการอธิบายอย่างนี้ ทางทำกสิณแล้วก็อิทธิปาฏิหารย์ อิทธิวิธี ๖ อย่าง เพื่อทำประโยชน์ด้วยความบริสุทธิ์ใจก็ไม่เป็นไร ไม่บาปกรรมอะไร หรือไม่หลอกลวง แต่เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์นี่มันเคยเสียชื่อ เสียชื่อมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ก่อนพระพุทธเจ้า เพราะว่าเป็นเครื่องมือหากินของคนที่เอาเปรียบผู้อื่น หรือมันไปทางรบราฆ่าฟัน อย่างเรื่องรามเกียรติ์ ทุกๆ ตัวมีฤทธิ์ เสร็จแล้วเป่าลูกขึ้น ๓ ที เจ็บทั่วอินทรีย์ก็เสื่อมหาย ยังจำได้ดีอาตมาเคยอ่านเมื่อเด็กๆ กุมภกรรณถูกไล่ตีจนกระดูกแหลกหมดแล้ว ก็เป่าลูก ๓ ที เจ็บทั่วอินทรีย์ก็เสื่อมหาย ลุกขึ้นมารบอีก ทีนี้ในอรรถกถา ไม่มีในพระไตรปิฏก มีแต่ในพระอรรถกถา อย่างพระโมคลานะถูกโจรตี กระดูกแหลกหมดแล้ว นาทีที่ 63.50 ฟังไม่ชัด ทำไปอย่างนี้ก็ออกไม่ได้ ไปเป่าพระพุทธเจ้า ไอ้เรื่องจิตนี่มันขอบเขตมาก ศึกษาไม่หวาดไหวแล้วถ้าศึกษาให้หมดเรื่องจิต ทีนี้เราสนใจแต่จิตจะว่างไม่มีทุกข์ ที่นี่ก็มีโยคะสูตรของปตัญชลีฉบับฮาเวิร์ดที่ว่าผิดทั้งนั้น ในตู้มี ชุดอะไรเขาเรียกอะไรของอีส ไอ้เล่มดำๆ ทั้งนั้นแหละ ทุกเล่มดำปกลายทอง เป็นหนังสือชุดหลายสิบชุด มีเล่มนี้รวมอยู่ด้วย แย่แล้วมันแปลผิดเมื่อ ๕๐ ปี ความรู้ต่างๆ ยังไม่นั่น โปรเฟสเซอร์คนหนึ่งเขาแปลออกมา พอมาเทียบกับชุดที่แมคมัลเล่อร์เพิ่งทำเมื่อเร็วๆ นี้ ยังผิดกันไกลเลย แล้วพอไปดูที่พวกสวามีปัจจุบันเขาแปลแล้วยังผิดกันไกลอีก ถ้าโยคะสูตรแล้วให้ใช้ฉบับหลังที่สุด
ถึงอย่างไรก็ตาม ถ้าทำจิตว่างเป็นสมาธิได้แล้วก็มีประโยชน์ในการจูงใจคนไข้ ไปลองดู จูงใจเพื่อนฝูง จะจูงใจเพื่อนฝูงให้ทำอะไรสักอย่างที่ควรทำ เราทำจิตของเราให้ว่างก่อนเถอะ มันจะดีทุกอย่าง มันจะฉลาด มันจะว่องไว มันจะเข้มแข็ง มันจะไม่ประหม่า มันจะไม่เผลอในเหตุผลหรืออะไรต่างๆ เขาเรียกว่าจิตว่าง เพื่อประโยชน์ในการที่จะประพฤติธรรมะหรือว่าช่วยผู้อื่นในเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมะ เราทุกๆ คนจะได้ไม่มีทุกข์ จิตว่างนี่มีค่าสูงกว่าจิตที่มีฤทธิ์ มีฤทธิ์มีเดช จิตมีฤทธิ์มีเดชต้องทำด้วยความหมายมั่นในทางตัวกูของกูมาก มุ่งหมายในผลประโยชน์ แต่ถึงอย่างนั้นในขณะที่บริกรรมหรือทำ ต้องว่างเหมือนกันแหละกว่ามันจะใช้ ไม่เว้นเรื่องตัวกูของกู เหมือนว่ายิงปืนนี่ เราจะยิงเขา ทำด้วยความเห็นแก่ตัวนะ แต่เมื่อยิงต้องว่าง ว่างจากตัว มันถึงจะยิงแม่น แต่พอยิงตายแล้วเอามากินก็เป็นเรื่องตัวกูของกูอีก ในทางศิลปะที่ญี่ปุ่นเขาใช้มาก มันจะเขียนภาพหรือมันจะจัดดอกไม้อะไร ในวินาทีนั้นต้องจิตว่าง จะจัดแจกันหรือจะป้ายเส้น ขีดเขียนไอ้ศิลปะ ขณะนั้นโดยเฉพาะต้องมีจิตว่าง แสดงออกมาเป็นภาพที่ว่าง ที่มีอารมณ์ว่าง ผิดธรรมดา นาทีที่ 66.52 ฟังไม่ออก ของแปลก ของสวย
ทีนี้มันสรุปความแล้วไม่มีอะไรดีกว่าความไม่มีทุกข์ ควรจะมุ่งหมายความไม่มีทุกข์นั้นก่อน ไอ้เรื่องฤทธิ์เรื่องเดชมันเป็นเครื่องมือเป็นเรื่องอะไร ผล ไอ้ความไม่มีทุกข์มันดีที่สุด ถ้าเราหาความไม่มีทุกข์ได้โดยไม่ต้องมีฤทธิ์ มันก็พอแล้ว ไม่เสียเวลามาก แต่พระอรหันต์แปลงฤทธิ์ได้เป็นเรื่องคุณสมบัติเฉพาะท่านที่มันผนวกกันอยู่ ท่านไม่ได้ตั้งใจจะมีฤทธิ์ มีส่วนไหนที่ยังไม่เข้าใจก็ถามเฉพาะส่วนนั้น
ญาติโยม นาทีที่ 68.19 ฟังไม่ออก
ท่านพุทธทาส ถ้าอย่างนั้นต้องไปอ่าน ต้องไปอ่านหนังสือเรื่องนี้ที่อาตมาเขียนหรือเทศน์ แล้วก็ไปขีดเส้นใต้ที่ไม่เห็นด้วยหรือที่ยังเป็นปัญหา
ญาติโยม บางทีเวลาถาม หรือเวลาอ่านก็รู้สึกว่ามันไม่ยาก แต่พอไปทำแล้วบางทีมันยาก
ท่านพุทธทาส แน่นอน เรื่องธรรมนี่มันยาก อ่านให้เข้าใจ แล้วก็พูดก็ง่าย อ่านก็ง่าย แต่พอทำมันยาก บังคับจิตให้กำหนดอยู่กับลมหายใจออกเข้านี่ พูดง่าย อ่านก็เข้าใจ แต่ทำยาก เพราะจิตมันเคยชินกับจะปลิวว่อนไม่ทันร่วง ทีนี้ก็มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ควรจะอ่านก่อน คือ หนังสือฆราวาสธรรม เป็นหลักทั่วไป หรือหนังสือบรมธรรมก็ได้ มีหนังสืออยู่ ๒ ห่อที่จะให้ไปที่ทำบุญไว้วันนั้น นี่ก็เตรียมหนังสือ ๒ ห่อ เหมือนกันทั้ง ๒ ห่อ ลองไปอ่านดู ขีดเส้นใต้ไว้ เผื่อสงสัยจะได้ถามวันหลัง
สำหรับอาตมามันยาก ลำบากที่ว่าจะเขียนหนังสือเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ มันทำไม่ได้ ไอ้มือไม้นี้มันทำไม่ได้ มันได้แต่เพียงพูด เมื่อมันมีอะไรทำให้พูดเฉพาะเรื่องนั้นก็พูดๆ เรื่องเดียวกันมันอยู่คราวโน้นบ้างอยู่คราวนี้บ้าง เป็นหน้าที่คนอ่านที่จะติดตามรวบรวมเอามาเอง อย่างเรื่องจิตว่างนี้ก็ไม่เคยพูดที่ไหนที่มันสมบูรณ์ละเอียดไปหมดในหนังสือเล่มเดียวกันหรือการพูดคราวเดียวกัน คราวนั้นบ้างคราวนี้บ้างคราวโน้นบ้าง ดูเหมือนมีอยู่ปีหนึ่งที่อบรมผู้พิพากษา ตั้งใจจะพูดเรื่องจิตว่างมากเป็นพิเศษ แต่มันก็ไม่หมดหรอก มันยังเหลืออยู่ต้องอธิบาย เพราะเรามันพูดแต่เพียงว่าเท่านี้ก็พอแล้ว แต่ผู้อ่านเขายังไม่เข้าใจเลย ที่เราคิดว่าคนทั่วไปควรจะเข้าใจอยู่แล้ว มันก็ไม่ เขายังไม่เข้าใจ เดี๋ยวนี้เรี่ยวแรงและความอดทนมันไม่มีพอที่จะแต่งหนังสือตามหลักวิชาต่างๆ แต่งเรื่องขึ้นมาเป็นเรื่อง ได้แต่พูด พอพูดก็ตามสบาย เขียนก็เขียนไม่ได้แล้ว เส้นประสาทมันเป็นอย่างไรไม่ทราบ เขียนไม่ทันใจ แล้วลืมหมดจะเขียนว่าไรไม่รู้ พอนึกออกเขียนไม่ทันแล้วมันลืมหมด ถ้าพูดยังทัน มันไม่กินเวลา หลับตาพูด แต่ถ้าให้เขียนตามความคิด เขียนไม่ทันกับไอ้ความคิด จะยุ่งหมด แล้วมันลืมหมด แต่งหนังสือไม่ได้
ญาติโยม ท่านพูดแทนเขียนไม่ได้หรือคะ อย่างสมมติท่านคิดอยากจะเขียนหนังสือ ในหัวข้อ เสร็จแล้วท่านก็พูดลงเทปไว้เลย เหมือนกับเป็นหนังสือ
ท่านพุทธทาส มันก็ได้ แต่ไม่ค่อยได้ทำ มันยุ่งทั้งวัน เดี๋ยวมีนั่นนี่มาแทรกแซง มันเป็นทุกอย่าง เป็นทุกอย่างเลย เป็นสมภาร เป็นก่อสร้าง จ้างคนงาน ดูคนงาน บางทีก็ต้องขึ้นไป ถ้าเป็นผู้ทำหนังสือเพียงคนเดียว อย่างเดียว คงทำได้ เดี๋ยวใครเจ็บไข้ เดี๋ยวเงินต้องใช้ค่านั้นค่านี้มันอยู่ที่อาตมาคนเดียว ผู้มาหาแต่ละคนเขาก็อยากพบ ไอ้จะหลีกไปเสียก็เห็นแก่คนที่อยากจะพบ วันหนึ่งก็ต้องรับแขก จะเหนื่อยจะง่วง มันมาอย่างนี้แหละ ตั้งแต่แรกมาเลย ตั้งแต่แรกบวช เป็นกรรมกรอยู่ด้วย เป็นสมุห์บัญชีอยู่ด้วย นี่เป็นทุกอย่าง เป็นหมอ บางทีเป็นหมอ นึกแล้วก็น่าหัวตัวเอง บางทีก็เป็นชาวประมง เลี้ยงปลาบ้าง เลี้ยงสัตว์บ้าง
ญาติโยม คุยๆ กับหมอ บอกว่าสังเกตท่านนี่ว่า คล้ายๆ จะมีโรคหัวใจด้วย
ท่านพุทธทาส จะมี จะมีใช่ไหม ว่าอาตมาจะต้องเป็นโรคเบาหวาน จะต้องเป็นโรคหัวใจ มันคงต้องมีบ้าง เพราะหัวใจมันเหนื่อยง่าย ขึ้นภูเขาบางวันเหนื่อย บางวันก็ไม่ค่อยรู้สึก ถ้าเทียบกับเมื่อสิบปีก่อนแล้วผิดกันมาก แรกมาอยู่นี่อาตมาขึ้นภูเขาเองวันละ ๓ ครั้ง รู้สึกสนุกสนาน เที่ยวถ่ายรูปบ้างอะไรบ้าง เวลาพระอาทิตย์จะขึ้นมาจากทะเลไปนั่งเฝ้า เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้ว เลิกกันทีกับความ นาทีที่ 74.10 ฟังไม่ออก ขึ้นภูเขานี้บางวันก็ยังรู้สึกเหนื่อย ขึ้นไปเทศน์ข้างบนสุดยังรู้สึกเหนื่อย
ญาติโยม เวลาท่านเทศน์สัก ๒-๓ ชั่วโมงเหนื่อยไหมคะ
ท่านพุทธทาส บางวันก็เหนื่อย รู้สึกเหนื่อย บางวันก็ไม่รู้สึก เพราะมันพูดไอ้สิ่งที่ไม่ต้องลำบากใจ พูดไปตามสะดวก ถ้าแน่นอนก็ต้องให้นอนเสียก่อนหน้าที่จะมาพูด ให้นอนหลับบางเสียก่อนแล้วมาพูด อย่างนี้ไม่รู้สึกเหนื่อย ถ้าต้องไปนั่งรับแขกจนเหนื่อยแล้วมาพูดอีกรู้สึกเหนื่อยแล้วง่วงด้วย มันควรหยุดแล้ว แล้วมันหยุดไม่ได้ ใช้มันมากแล้ว มันควรหยุดแล้ว
ญาติโยม อย่างนี้ก็ไม่ใช่ทางสายกลางแล้วสิคะ
ท่านพุทธทาส มันก็ยังทำได้ก็ยังทำไป มันก็ไม่กี่วัน คือไม่เท่าไรมันก็ต้องหยุด ต้องหยุดเลย ช่วยเขาให้ได้พิมพ์ไอ้ที่มันพูดไว้แล้วนั่นแหละ เอาไปหมดก็พอ ทีนี้เขาไปลอกไปพิมพ์ มันก็ยังผิด ใช้ไม่ได้ ยังต้องมารบกวนอาตมาอีก คัดลอกเทปนี่มันก็ผิด ผิดมากๆ ที่ทำกันที่กรุงเทพฯ ก็ยิ่งผิดมาก
ญาติโยม เวลาเขาพิมพ์นี่แล้วเขาต้องส่งให้อาจารย์ตรวจปรู๊ฟก่อน หรือว่าเขาตรวจปรู๊ฟเอง
ท่านพุทธทาส ไม่เคยนั่นเลย ส่วนมากไม่เคยเลย ไม่ได้ตรวจปรู๊ฟ ไม่ได้ตรวจอะไรทั้งหมด ออกมาเห็นอ่านที่พิมพ์แล้วว่ามันผิด ก็ไม่รู้ทำยังไงก็เอออ่านกันไปก่อน ที่ว่าแก้คำผิดให้บ้าง แต่เดี๋ยวนี้คิดใหม่ว่าถ้าเรื่องสำคัญต้องขอตรวจไอ้ปรู๊ฟสุดท้าย ตกลงกันว่าไอ้เรื่องที่ยุ่งยากที่สุด คือเรื่อง อิทัปปัจยตา นี่จะให้อาตมาดูปรู๊ฟสุดท้าย ทีนี้เขาก็ เหมือนเขาทนไม่ค่อยได้ รอไม่ค่อยได้ เอามาอาตมาไม่ได้ดูบ้าง ค้างอยู่ที่นี่หลายวันบ้าง เขารอไม่ได้ ก็มี ตรวจปรู๊ฟนี่มันก็ไม่ใช่เล่น ถ้าจะให้ตรวจละเอียดถี่ถ้วนทุกตัวอักษรมันก็เหนื่อยมาก ตาลายตาแสบ เรามันเป็นคนพูดเอง มันชินอยู่อย่างนั้น มันอ่านถูกไปได้หมด เขาพิมพ์มาผิดเขาก็อ่านถูก เพราะเรามันพูดเอง เลยการตรวจปรู๊ฟที่จริงลำบาก ถ้าให้อาตมาตรวจ อาตมาอ่านทีละตัวๆ ก็เบื่อ ตีสามนี่ใครจะไปส่งล่ะ สั่งรถแล้ว
ญาติโยม สั่งรถแล้ว
ท่านพุทธทาส นายเจริญ คนกันเอง มันต้องหาเวลาที่มากกว่านี้สิ อย่างนี้มันฉุกละหุกเกินไป
ญาติโยม คือหมายความว่าอ่านอะไรๆ ไปได้ยินอะไร ก็ยังไม่รู้ ยังไม่ได้มาสัมผัสที่นี่ อันนี้ก็เป็นโอกาส ผมมานี่ จะไปสอนหนังสือที่สงขลา เขาขอร้องให้ชั่วระยะ ๖ อาทิตย์นี่ก็เลยถือโอกาสวันเสาร์วันอาทิตย์นี่มา วันนี้มาเห็นอย่างนี้ ก็คงจะมีความรู้สึก คราวหลังอยากจะมาแล้ว
ท่านพุทธทาส อ่านหนังสือไปก่อนสิ ระหว่างนี้อ่านหนังสืออย่างที่ว่านี่ ฆราวาสธรรมหรือบรมธรรมไปก่อน มันจะเข้าใจได้มากในส่วนที่เข้าใจได้เอง ไม่ต้องถาม มันมีมาก มันจะประหยัดส่วนนี้
ญาติโยม วันนี้ฟังเทปเรื่อง ทำสมาธิ ก็ได้เยอะ
ท่านพุทธทาส นั่นแหละ อันไหนที่จะได้ด้วยการอ่าน ด้วยการฟังก็ทำเสียให้เสร็จ มันจะเหลือปัญหาน้อยมาก อาตมายังเชื่อเสียด้วยซ้ำ ที่พูดไว้หมดนี้ไม่ต้องถาม ไม่ต้องถามเลย แต่คนอ่านคงไม่ไหว คงอ่านไม่ไหว มันมาก มันเล่มใหญ่ๆ มันหลายหน้า ลายตา สังเกตได้ทีเดียวว่า บางทีเราพูดไว้นี่ เรื่องคราวนี้นิด คราวอื่นนิด ครั้งโน้นนิด ทีนั้นนิด ขยายความออกไปบ้าง ต้องชวนเพื่อนสักคนสองคนด้วย เป็นผู้อ่าน ผู้เถียง ผู้วิจารณ์ จึงจะ นาทีที่ 79.53 ฟังไม่ออก ต้องลงทุนให้เพื่อนได้อ่านหนังสือ ช่วยเถียงกัน
ญาติโยม พออ่านอะไรๆ ไปแล้วก็ง่ายไปหมด ไม่ใช่อวดรู้ มันคล้ายๆ จะรู้ไปหมด
ท่านพุทธทาส มันก็ต้องรู้แหละ ไม่มากก็น้อย ถ้ายังอ่านอย่างนักศึกษา จับใจความให้ได้ ไม่เท่าไรหรอก มันต้องรู้ มันต้องรู้ แตกฉาน
ญาติโยม แต่ว่าไปสังเกตดูที่เขาสอนพระอภิธรรมมันแจกแยะ
ท่านพุทธทาส เรื่องนักปราชญ์มันแจกสิ่งที่เร้นลับ ไม่ใช่สำหรับปฏิบัติ สำหรับจะแตกฉานในแง่มุมของตัวหนังสือและเรื่องทางนักจิต ทางจิตวิทยา หรือทางความลับของจิตใจ ทางจิตวิทยา ไม่มีเรื่องทางปฏิบัติ เพราะว่า คัมภีร์นี้พระไตรปิฏกส่วนนี้ก็ต้องการจะให้มันถึงที่สุดในอย่างนี้ ไอ้เรื่องการปฏิบัติมันอยู่ในสุตตันตปิฏก วินัยปิฏกเต็มที่ล้นเหลือแล้ว พอถึงอภิธรรมปิฏกนี้ต้องการจะให้เป็นรูป นาทีที่ 81.54 ฟังไม่ชัด ที่ไต่ถามไปในแง่ลึกๆ ของสิ่งๆ เดียว ให้ไม่แสดงการปฏิบัติ พระพุทธศาสนาก็มีครบเพราะเหตุนี้ มีวินัย มีสุตตันตะ มีอภิธรรม นี้อภิธรรมนี่เพิ่งมี พวกครูอาจารย์ที่เป็นนักปราชญ์แล้วก็อยากจะให้พุทธศาสนาอะไรถึงที่สุด ช่วยกันร้อยกรองคัมภีร์ เพิ่มขึ้นๆๆ คงจะสมบูรณ์ถึงที่สุดในสมัยพ.ศ. นาทีที่ 82.35 ฟังไม่ชัด สองพันพันสองร้อย เรื่องอภิธรรม ทีนี้อาตมาไปบอกเขาว่าอภิธรรมอย่างนั้นน่ะมันอภิธรรมเกิน อภิ แปลว่า เกินก็ได้ แปลว่าอย่างยิ่งก็ได้ ถ้าธรรมะอย่างยิ่งก็คือเรื่องสุญญะตา ถ้าธรรมะเกิน อภิเกินแล้วก็ อภิธรรม พูดถึงสุญญะตาไม่กี่คำแล้วก็ไม่ได้พูด มันเหมือนวินัยสุตตันตะ เรื่องสุญญะตา ออกแต่ว่าชื่อ ต้องไปแจกลูก เกี่ยวข้องนั่น เกี่ยวข้องนี่ไม่มีประโยชน์
ญาติโยม ต้องไปเตรียมตัว
ท่านพุทธทาส ไปนอนชดเชยไว้ ต้องตื่นตีสอง ต้องตื่นแต่ตีสองจึงจะไปรถตีสาม