แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เรื่องที่ผมจะถวายเป็นความรู้รอบตัวในวันนี้ ก็คือเรื่องคำบางคำอีกตามเคย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันนี้ก็คือ คำว่าภพ ว่าชาติ แต่ว่าก่อนจะพูดถึงคำๆ นี้ ก็อยากจะให้นึกกันถึงคำตรัสที่ว่าพระองค์ก็ทรงประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์พร้อมทั้งอรรถะพร้อมทั้งพยัญชนะ แล้วก็ตรัสขอร้องว่าให้สาวกทั้งหลายก็ประกาศพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงพร้อมทั้งอรรถะพร้อมทั้งพยัญชนะด้วยเหมือนกัน นี้มันสำคัญอยู่ตรงที่คำว่าบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง บริสุทธิ์,บริบูรณ์ ๒ คำนี้มีความสำคัญมาก บริสุทธิ์มันคือถูกต้อง บริบูรณ์มันครบถ้วน อย่าเอาไปเป็นคำเดียวกันเสีย ถูกต้องแต่ไม่ทันจะครบถ้วนนี้ก็มี ความถูกต้องนั้นมันอยู่ในส่วนถูกต้อง ที่ครบบริบูรณ์หมดจดสิ้นเชิงนั้น มันก็อยู่ในส่วนที่ว่ามันครบถ้วนสิ้นเชิง นี่ถ้าว่าถูก ทั้งถูกต้องทั้งสิ้นเชิงและก็ทั้งโดยอรรถะและโดยพยัญชนะ อรรถะคือถ้อยคำนั้นถูก แล้วพยัญชนะคือความหมายของคำนั้นก็ต้องถูกด้วย
ทีนี้ก็มาถึงคำที่เป็นปัญหา ซึ่งผมสงสัยอยู่ว่ามันจะไม่ถูก หรือมันจะถูกแต่เพียงพยัญชนะ มันไม่ถูกโดยอรรถะ คือคำว่าภพว่าชาตินี้ เพราะฉะนั้นเราลองวินิจฉัยกันดู เดี๋ยวนี้เขาเรียกกันว่าวิจัยหรืออะไรก็สุดแท้แหละ คือว่าเอามาวิพากษ์วิจารณ์แยกแยะดูให้เห็นข้อเท็จจริง เป็นอันว่าเราจะวินิจฉัยคำพูด ๒ คำที่สำคัญ คือคำว่าภพว่าชาติ แล้วมันเนื่องกันมากับคำบรรยายเมื่อวานที่ว่า อิมํ โลกํ สเทวกํ สมารกํ สพฺรหฺมกํ นี่ มันอยู่ที่ไหน มันอยู่ใต้ดินหรือว่าอยู่บนฟ้า หรือว่าอยู่ที่ไหน หรือว่ามันอยู่ในจิตใจดวงเดียวนั้นนั่น ถ้า อิมํ โลกํ สเทวกํ สมารกํ สพฺรหฺมกํ มันอยู่ในคนที่ยาววาหนึ่ง ในจิตในใจนี้แล้ว ภพ ชาติมันก็อยู่ในคนนั่นแหละ ภพไหนชาติไหนมันก็อยู่ในคนทั้งนั้น ถ้าเมื่อวานเรายุติกันได้ว่า อิมํ โลกํ สเทวกํ สมารกํ สพฺรหฺมกํ เหล่านี้มันอยู่ในคนที่ยาววาหนึ่งแล้วก็ คำว่าภพว่าชาติมันก็ต้องอยู่ในคน คือในจิตใจของคน แล้วมันก็ต้องเป็นๆ คนเป็นๆ คนตายแล้วมีอะไรไม่ได้ ฉะนั้นภพหรือชาติ ชนิดไหนกี่มากน้อย มันก็ต้องอยู่ในคนที่ยังเป็นๆ ในจิตใจ
ทีนี้สำหรับเรื่องนี้ มันเอาตามพระพุทธภาษิตแล้วก็ไม่ยาก แต่ถ้าเอาตามคนนอกพูดแล้วมันยาก แล้วคนนอกก็ไม่รู้ว่าพูดกันมาแต่เมื่อไหร่ โดยใครก็ไม่รู้ จะเป็นโดยพวกสัสสตทิฏฐิชาวบ้านธรรมดาก็ไม่รู้ ฉะนั้นต้องยกไว้ก่อน ทีนี้เราเอาตามพระพุทธภาษิตของพระพุทธเจ้าโดยตรงก่อน สำหรับข้อนี้มีหลักสั้นๆ นิดเดียว จะจดหรือจะจำไว้ให้แม่นยำจนตลอดชีวิตก็น่าจะมีประโยชน์มาก คือมีพระบาลีว่า ยา เวทนาสุ นนฺทิ, ยา เวทนาสุ นนฺทิ ตทุปาทานํ เท่านี้เอง ยา เวทนาสุ นนฺทิ, ตทุปาทานํ มันแปลว่า นันทิใดในเวทนาทั้งหลาย, นันทิใดในเวทนาทั้งหลาย นั่นคืออุปาทาน ตทุปาทานํ แปลว่านั่นคืออุปาทาน นันทิใดในเวทนาทั้งหลาย นันทินั้นนั่นคืออุปาทาน ทีนี้เราเห็นได้ทันทีว่าเมื่อใดเกิดเวทนาขึ้นมา แล้วจิตมีนันทิคือเพลิดเพลินในเวทนานั้น นั่นแหละคือตัวอุปาทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคืออัตตวาทุปาทาน หรืออุปาทานทั้งหมดก็ได้
ทีนี้วินิจฉัย ตอนแรกที่ว่า นันทิใดในเวทนาทั้งหลาย เวทนาคือผลที่มาจากผัสสะ เป็นสุขเวทนา เป็นทุกขเวทนา เป็นอทุกขมสุขเวทนา อย่างนี้ไม่ต้องบอก ทราบกันทุกคนทุกองค์แล้วว่าเวทนามี ๓ เกิดมาจากผัสสะ ทีนี้นันทิในเวทนาทั้งหลาย นันทินี้แปลว่าความเพลิน ถ้านันทิราคะแปลว่ากำหนัดด้วยความเพลิน แต่นี้มันนันทิเฉยๆ ก็แปลว่าความเพลิน นี้เพลินในเวทนาทั้งหลาย ก็คือเวทนาทั้ง ๓ ถ้าสุขเวทนา มันก็เพลินรัก ถ้าทุกขเวทนา มันก็เพลินโกรธเพลินเกลียด ทีนี้ถ้าอทุกขมสุขเวทนา มันก็เพลินสงสัยลังเลที่เรียกว่ากังขาเป็นต้น ฉะนั้นไม่ว่าเวทนาใดมีขึ้นมาแล้ว อวิชชาผสมโรงแล้ว ต้องมีความเพลิน เวทนานั้นอันภิกษุนั้นเพลิดเพลินแล้ว นั่นเขาใช้บาลีว่าอย่างนั้น สพฺพเวทยิตานิ อภินนฺทิตานิ เวทนาทั้งหลายเหล่านั้น อันภิกษุนั้นหรืออันบุคคลนั้นเพลิดเพลินแล้ว ในลักษณะอย่างนี้ ถ้าสุขเวทนา มันเพลินที่จะเอร็ดอร่อยสนุกสนานรักใคร่หลงใหลมัวเมาไปด้วยความรักนี่ ถ้าทุกขเวทนา มันก็บ้าโกรธ บ้าเกลียด บ้าโมโหโทโส อึดอัด ขัดใจ คับแค้น เหมือนกับนรกอยู่ในใจอย่างนั้น นั่นมันเพลินอย่างนั้น ทีนี้ถ้าว่ามันไม่แน่ว่าเป็นอะไร คือว่ามันเป็นเวทนาชนิดที่ไม่ให้ความรู้สึกสองอย่างนั้น แต่มันยังข้องใจอยู่ มันละไม่ได้ เหมือนกับเราเก็บอะไรที่สงสัยเอามาไว้ว่ามันจะมีประโชน์นี่ ฉะนั้นถ้าเราจะเปรียบคู่กันมันก็ไม่ยาก สุขเวทนาสำหรับโลภะหรือราคะ ทุกขเวทนาก็สำหรับโทสะหรือโกธะ อทุกขมสุขเวทนามันก็เหลืออยู่สำหรับโมหะ นี่ในเวทนาทั้งหลายให้เกิดนันทิ ด้วยราคะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง ด้วยโมหะบ้าง นี้เราได้ความตอนหนึ่งแล้วว่า นันทิใดในเวทนาทั้งหลาย
ทีนี้ ตทุปาทานํ นันทินั้น นั่นแหละคือตัวอุปาทาน ศัพท์นี้แปลอย่างอื่นไม่ได้ ทีแรกผมก็สงสัยว่ามันจะหมายความอย่างอื่นหรืออย่างไร ดูเท่าไหร่ๆ มันก็ต้องแปลว่านั่นแหละคือตัวอุปาทาน นันทินั่นแหละ ทีนี้ นันทิ นั้นมันหมายถึงความเพลิน หลง เพลิน ทีนี้ในแง่หนึ่งมองดูแล้วจะเห็นว่านั่นแหละ เมื่อเพลินอยู่นั่นแหละ คือยึดมั่นถือมั่นแหละ มันมีความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นรวมอยู่ในความเพลิน เป็นอุปาทานอยู่ในความเพลิน อุปาทานว่าตัวกูบ้าง อุปาทานว่าของกูบ้าง มันจึงเห็นได้ชัดไม่ต้องเชื่อตามผู้อื่นล่ะ คุณลองไปเพลินอะไรเข้าดูสิ เพลินให้มันมากๆ สิ มันจะมีลักษณะยึดมั่นถือมั่นอยู่ในตัวความเพลิน เป็นอัตตาบ้าง เป็นอัตตนียาบ้าง ฉะนั้นพระพุทธเจ้าตรัสไว้ถูกแล้ว พระพุทธภาษิตนี้ก็คือมหาตัณหาสังขยสูตร มัชฌิมนิกายนี่ เอาพระไตรปิฎกมัชฌิมนิกายมาค้นหาสูตรนี้ แล้วก็จะพบข้อความนี้ที่ว่า ยา เวทนาสุ นนฺทิ, ตทุปาทานํ เอ้า,ทีนี้ ได้ความแล้วว่า เมื่อใดมีเวทนา เมื่อนั้นมีนันทิอย่างใดอย่างหนึ่ง นันทิใดในเวทนาทั้งหลาย นันทินั้นคืออุปาทาน
ทีนี้พระบาลีก็มีต่อไปว่า ตสฺส อุปาทานปจฺจยา ภโว/ ตสฺส อุปาทานปจฺจยา ภโว เพราะอุปาทานของบุคคลนั้นเป็นปัจจัย ภพย่อมมี/ เพราะอุปาทานของบุคคลนั้นเป็นปัจจัย ภพย่อมมี ก็หลับตาเห็นสิ พอมีนันทิ มีอุปาทานมีนันทิเพราะอุปาทานนั้น สิ่งที่เรียกว่าภพ ย่อมมี มีเป็นกามภพ รูปภพ อรูปภพขึ้นในจิตใจอย่างใดอย่างหนึ่งแหละ คือภพอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในจิตใจของบุคคลนั้นผู้กำลังมีอุปาทาน ถ้าเขายึดถือในกาม อุปาทานในกาม ก็เป็นกามภพ ถ้าสิ่งนั้นมันไม่ใช่กาม มันเป็นรูปล้วนๆ มันก็เป็นรูปภพ ถ้ามันไม่มีรูปมันก็เป็นอรูปภพ ทีนี้ส่วนมากที่สุดในปุถุชนธรรมดามันก็คือกามภพ เพราะว่าคนเหล่านี้คือพวกกามาวจร แต่ว่าอย่าถือเสียว่าในโลกนี้ไม่มีบุคคลผู้เข้าถึงรูปาวจรและอรูปาวจร เพราะว่าจะเล็งถึงโยคีมุนีที่กำลังเจริญรูปฌานมันก็มีอยู่ เจริญอรูปฌานมันก็มีอยู่ หรือว่าเราจะไม่เอาถึงอย่างนั้น เราเอาแต่เพียงว่าบุคคลนี่ บางเวลามันก็อร่อยในเรื่องกามารมณ์ระหว่างเพศ แล้วพักเดียวมันก็ทนไม่ไหวหรอก มันต้องหันไปหาอย่างอื่น หันไปเล่นของเล่นวัตถุสวยงาม ของเล่นก้อนหินต้นไม้หญ้าบอนอะไรก็ตาม มันก็เปลี่ยนสภาพจากกามาวจรมาอยู่ในประเภทรูปาวจร แล้วมันก็เบื่ออีกแหละ จะมาเล่นบอน เล่นโกสน เล่นนกเขาอะไรอยู่ มันก็เบื่อแหละ มันอยากอยู่เฉยๆ นี่ ถ้ามันอยากอยู่เฉยๆ ก็เป็นอรูปาวจร นี่ต้องสงเคราะห์เข้าในประเภทอรูปาวจร มันก็เลยครบทั้ง ๓ ภพ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ชนิดน้อยๆ ชนิดต่ำๆ ชนิดเลวๆ ครบทั้ง ๓ ภพ หรือว่าถ้าเล็งถึงบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีฌาน เป็นปุถุชนผู้มีฌาน รูปฌาน อรูปฌานด้วย เมื่อเขากำลังอยู่ในฌานอย่างนั้น เขาก็กำลังอยู่ในรูปภพหรืออรูปภพ แต่ว่าต้องในขณะที่เขากำลังมีอุปาทานยึดมั่นในสุขอันเกิดจากภพนั้นๆ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ เพราะว่าอุปาทานนั้นต้องมีสิ่งที่ถูกยึด มันจะอุปาทานลอยๆไม่ได้ ทีนี้มันยึดอะไรในความหมายของกามมันก็เป็นกามภพ ยึดอะไรในความหมายของสิ่งที่เป็นรูปบริสุทธิ์ล้วนๆ มันก็เป็นรูปภพ ถ้าไปยึดในสิ่งที่ไม่มีรูปไม่ใช่รูป มันก็เป็นอรูปภพ
นี่เราขยายความได้หมดเลยทั้ง ๓ ภพ ถ้าปุถุชนคนธรรมดาชาวบ้านชาวเมือง มันก็หนักไปในทางกามภพมากกว่าอย่างอื่นหมด เพราะฉะนั้นจึงเรียกพวกนี้พวกกามาวจร แต่ไม่ใช่ว่าเขาจะไม่ว่างจากกามาวจรเสียเลย ไม่ว่างมันก็ตายหรือมันบ้าตายแหละ มันต้องมีเวลาที่หยุดที่ว่างแทรกอยู่ แต่มันน้อยเกินไป ทีนี้เมื่อถามว่าเขาหนักไปทางไหน ก็ตอบว่าหนักในทางกาม พวกนี้ก็เป็นพวกกามาวจร ทีนี้บางคนหรือคนบางพวกเขาไม่หนักในทางกาม ไปหนักในทางรูป ก็เป็นรูปาวจร แม้แต่บางเวลา ไม่ใช่ว่าตลอดชาติ มันกลับไปกลับมา เดี๋ยวมันเกิดอย่างนั้น เดี๋ยวมันเกิดอย่างนี้ นี่ที่ว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะมาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานได้นี่ มีพระบาลีชัดเลยว่าทั้ง ๓ ภูมิหรือ ๓ ภพนี้เป็นสังขตะ ที่เป็นพุทธภาษิตตรัสทีละอย่างๆ ว่าเป็นสังขตะในลักษณะอย่างนั้นๆ อยากเอาที่มาเป็นตัวเลขในหน้าหนังสือก็ไปค้นเอาเอง ถามผู้ที่เขาลูบคลำอยู่ทุกวัน เช่นมหาวิจิตรนี่ ไปถามดู บอกได้ทันที
ทีนี้ก็เป็นอันว่า เมื่อมีเวทนาก็มีนันทิ เมื่อมีนันทิก็มีอุปาทาน มีอุปาทานก็มีภพทันควัน ไม่ต้องรอต่อตายแล้ว เพราะพระพุทธภาษิตนี้ยืนยันอย่างนี้ เวทนาอย่างนี้ให้เกิดนันทิอย่างนี้ ให้เกิดอุปาทานอย่างนี้ ให้เกิดภพอย่างนี้ เดี๋ยวต่อมาอีกชั่วโมงหนึ่ง เกิดเวทนาอย่างโน้น เกิดนันทิอย่างโน้น เกิดอุปาทานอย่างโน้น เกิดภพอย่างโน้น เดี๋ยวต่อมาอีกชั่วโมง เปลี่ยนเป็นอย่างนั้นเปลี่ยนเป็นอย่างนี้ มันเป็นเรื่องๆไป ไม่ต้องรอต่อตายแล้ว เวทนามีเมื่อไหร่ นันทิมีเมื่อนั้น นันทิมีเมื่อไหร่อุปาทานมีเมื่อนั้น อุปาทานมีเมื่อไหร่ภพมีเมื่อนั้น แล้วก็ภพมีเมื่อไหร่ชาติก็มีเมื่อนั้น ชาติคือเกิดโพลงขึ้นมาสมบูรณ์เป็นที่เรียกว่าชาตินั้นชาตินี้ ชาติมนุษย์ ชาติเปรต ชาติสัตว์นรก ชาติสัตว์เดรัจฉาน ชาติเทวา ชาติพรหมาอะไรนี่ มันเป็นชาติขึ้นมาตามภูมิตามภาวะของจิตใจในเวลานั้น แล้วเขาก็ยึดถือว่าเราเป็นอย่างนั้น เรารู้สึกอย่างนั้น เราได้อย่างนั้น นี่เรียกว่าชาติ ทีนี้ชาตินี้มันอยู่ไม่ได้นานหรอก เดี๋ยวมันต้องเปลี่ยนแหละ เปลี่ยนไปตามการกระทบอย่างอื่นอีก มันก็สลายไป แต่ความหมายตอนนี้มีมากกว่านี้ คือว่าเพราะยึดถือในชาตินั้นแหละ มันจึงยึดถือในชรามรณะ ฉะนั้นความเกิด ความแก่ ความตายตามธรรมดาสามัญชนิดสามัญนี้ ก็พลอยเข้ามาเป็นปัญหาด้วย เพราะมันนึกไปล่วงหน้าเรื่องความเกิด ความแก่ ความตาย นี่ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะโทมนัส อุปายาส พลอยแทรกเข้ามาเป็นปัญหาด้วย เมื่อมันไม่ได้อย่างใจ มันก็ร้องไห้ เมื่อมันกลัวว่าไม่ได้อย่างใจ มันก็เกิดความโทมนัสขัดแค้นอะไรอย่างนี้ ฉะนั้นจึงรวบไว้หมดเลยว่า โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส อย่างใดอย่างหนึ่งจะแทรกเข้ามาเป็นปัญหาในจิตใจนั้น เป็นทุกข์ แต่ว่าไม่จำเป็นจะต้องครบทุกอย่างตามรายชื่อนั้น มันแล้วแต่ว่ากรณีอะไร แต่แล้วพอจิตมันน้อมไปทางไหน มันจะมีทุกข์ทางนั้นแหละ ทางโสกะ ทางปริเทวะ ทางทุกข์โทมนัส อุปายาส
ที่ได้สรุปไว้ว่าเพราะยึดมั่นถือมันในเบญจขันธ์ จึงเป็นตัวทุกข์ มันอยู่ที่นี่ เพราะในอุปาทานนั้น มันเกิดอัตตาอัตตนียาแล้ว และในขณะแห่งเวทนานั้นมันก็เรียกได้ว่าเกิดเบญจขันธ์ครบถ้วนแล้ว เมื่อตะกี้พูดว่านันทิใดในเวทนาทั้งหลายน่ะ ถ้าเวทนาเกิดขึ้นเป็นสุขเวทนาเป็นต้นแล้ว เมื่อนั้นเบญจขันธ์เกิดครบแล้ว คือรูปก็ทำหน้าที่ของรูปแล้ว เช่นตาเห็นรูปเป็นต้น ร่างกายนี้ทำหน้าที่เป็นรูป เห็นรูปข้างนอกเป็นต้น แล้วเวทนาก็คือตัวเวทนานั้น สัญญาก็คือความรู้ว่าอารมณ์นั้นเป็นอะไรและสำคัญมั่นหมายในอารมณ์นั้นว่าอะไรนี่ ว่าหญิง ว่าชาย ว่าอร่อย ว่าอะไรนี้เป็นสัญญา หลายๆ ชั้น เวทนาก็เกิดแล้ว สัญญาก็เกิดแล้ว สังขารความคิดนึกก็คือตัวอุปาทานนั่นแหละเป็นตัวสังขาร ทีนี้วิญญาณนั่น วิญญาณเฉยๆ ก็ต้องให้ตาเห็น รูปเกิดแล้ว แล้วมโนวิญญาณจะรู้สึกรสในเวทนานั้นอีกทีหนึ่ง นี้คือมโนวิญญาณล้วนๆ ทีแรกมันเป็นเพียงจักขุวิญญาณ เห็นรูป ตากระทบรูป กระทบอย่างตามธรรมดาสามัญอย่างนี้ เหมือนกับเอาหินมากระทบกันอย่างนั้นแหละ อย่างนี้ยังไม่มีเรื่องของกิเลส เพียงสักว่าตาเห็นรูป นี้เรียกว่าจักขุวิญญาณกระทบอารมณ์ นี้เขาเรียกว่าสัมผัสแห่งการกระทบ เรียกว่าปฏิฆสัมผัส ยังไม่เป็นเรื่อง แต่พอว่ามันเกิดผัสสเวทนาแล้ว ทีนี้มโนวิญญาณเกิดขึ้น สัมผัสรสของเวทนานั้นอีกทีหนึ่ง นี้คือสัมผัสที่จะเกิดเรื่อง สัมผัสนี้เรียกว่าอธิวจนสัมผัส นี่ตัวสัมผัสที่เป็นที่ตั้งของอวิชชา ก็แปลว่าเวทนาเป็นที่ตั้งหรือเป็นอารมณ์ของมโนวิญญาณในขันธ์ ๕ ทีแรกจักขุวิญญาณยังไม่เท่าไหร่หรอก คือมันเพียงกระทบเท่านั้น ได้เวทนามาแล้ว มโนวิญญาณกระทบเวทนานั้นอีกทีหนึ่ง นี้วิญญาณที่จะเกิดเรื่อง ตรงนี้เป็นอันว่าขันธ์ ๕ เกิดครบเวลานั้น ก่อนนี้ขันธ์ ๕ มีไม่ครบหรือไม่ได้เกิดหรอก แล้วเกิดก็ไม่เป็นอะไรเพราะไม่ได้มีอุปาทานเข้าไปยึดเพราะไม่มีเวทนา ถ้ามีเวทนาแล้วยึดด้วยอุปาทานแล้วก็เป็นขันธ์ ๕ ครบ เรียกว่าปัญจุปาทานขันธ์ขึ้นมาทันที นี่เรียกว่าขันธ์ ๕ เกิด แล้วมันจึงมีความทุกข์เพราะขันธ์ที่ถูกยึดมั่น สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา มีความหมายตอนนี้
ในโรงเรียนครูมักจะสอนกันแต่ว่า ผัสสะๆ สัมผัสเฉยๆ เราเข้าใจเอาเองว่าเท่านั้นก็พอแล้ว มันก็เลยไม่รู้เรื่อง เพราะว่าคำสอนนั้นไม่บริสุทธิ์ไม่บริบูรณ์สิ้นเชิง ไม่พร้อมทั้งอรรถะพยัญชนะ ที่สอนอยู่ในโรงเรียนน่ะ สอนว่าผัสสะแล้วก็เวทนา เวทนาแล้วก็ตัณหา มันก็เลยรู้ไม่ได้ว่าผัสสะชนิดไหน เบญจขันธ์เกิดหรือยัง ถ้าถือตามพระพุทธภาษิตนี้ก็จะเห็นได้ว่าเบญจขันธ์,ปัญจุปาทานขันธ์นั้นเกิดเป็นคราวๆ เท่านั้นแหละ ไม่ใช่เกิดอยู่ตลอดไปเหมือนกับที่นักเรียนเข้าใจ เบญขันธ์จะเกิดเป็นคราวๆ เมื่อตากระทบรูปเป็นต้น แล้วก็เกิดจากผัสสะแหละ ผัสสะนี้ก็มี ๒ ประเภท คือผัสสะที่อวิชชาเกี่ยวข้อง และผัสสะที่วิชชาหรือสติปัญญาเกี่ยวข้อง มีอยู่ ๒ ผัสสะ ตาเห็นรูปก็ดี หูฟังเสียงก็ดี จมูกได้กลิ่นก็ดี นี้เรียกว่าผัสสะนะ แต่ยังต้องแบ่งเป็น ๒ พวกนะ คือว่าในขณะนั้นมันเผลอสติหรือไม่เผลอ ถ้าเผลอ เป็นอวิชชาสัมผัส ถ้าไม่เผลอ เป็นสติสัมผัสหรือวิชชาสัมผัส แต่ธรรมดามันก็คือเผลอสิ คนทั่วไปมันก็คือเผลอ ฉะนั้นเป็นอวิชชาสัมผัสอยู่ในตัวแล้วก็ไปเรียกสั้นๆ ว่าสัมผัส เพราะต้องการจะพูดเป็นหลักใหญ่รวมกันหมด ถ้าจะชี้ระบุปลีกย่อยต้องแยกทันทีว่าการสัมผัสครั้งนี้เป็นอวิชชาสัมผัสหรือว่าเป็นวิชชาสัมผัส ทีนี้ตามปกติถือว่าเป็นอวิชชาสัมผัส อวิชชาสัมผัสก็คือว่ามโนวิญญาณเข้าไปสัมผัสในเวทนาที่เกิดขึ้นแล้ว แล้วมันมีอวิชชาทำให้ยินดีในสุขเวทนา ยินร้ายในทุกขเวทนา หรือว่าหลงในอทุกขมสุขเวทนา นี่คือผัสสะ ฉะนั้นผัสสะนี้ให้เกิดตัณหาอุปาทานจนเป็นเบญจขันธ์สมบูรณ์ เป็นทุกข์สมบูรณ์
เราตั้งใจจะพูดกันในแง่ที่ว่า นันทิ ความเพลินในเวทนาทั้งหลายนั่นคืออุปาทานเท่านั้น แต่มันก็จำเป็นจะต้องพูดลงไปถึงว่าเวทนาคืออะไร แล้วเวทนาชนิดไหนจะให้เกิดนันทิ ก็ต้องจำว่าเวทนาที่มาจากอวิชชาสัมผัส เพราะฉะนั้นชื่อเต็มยศของมัน มันมีว่าอวิชชาสัมผัสสชาเวทนา ยาวเลย อวิชชาสัมผัสสชาเวทนา เวทนาซึ่งมาจากอวิชชาสัมผัส เวทนานี้ไม่ต้องสงสัย เป็นที่ตั้งแห่งนันทิ แล้วก็เป็นอุปาทาน
เพื่อความเข้าใจ อยากจะพูดเรื่องนี้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ก็คือว่า เราเอาตัวอย่างกันเดี๋ยวนี้ เรานั่งอยู่ที่นี่ คุณก็มองตาออกไปทางไหนทางใดทางหนึ่ง ผมก็มองไปทางนั้นนี่ ตามันเห็น เห็นป่าไม้ เห็นฟ้า เห็นตึกนั่น อย่างนี้มันเป็นปฏิฆสัมผัสล้วนๆ ไม่มีเรื่อง เรียกว่าปฏิฆสัมผัส ปฏิฆะ แปลว่ากระทบ เหมือนกับเอาหินสองก้อนมากระทบกัน นี่ผมกำลังทอดสายตาไปทางนั้น นั่นเห็นเรือ นั่นเห็นต้นไม้ นั่นเห็นฟ้านั่น นี้เป็นปฏิฆสัมผัสล้วนๆ ไม่มีเรื่อง นี่จำใว้ก่อนว่าปฏิฆสัมผัส ไม่มีเรื่อง ยังไม่เนื่องด้วยอวิชชา ทีนี้ถ้าผมเห็นเรือนั้น เอ้า,แหมมันสกปรก มีน้ำ มีตะไคร่ ทำไมคนไม่มาช่วยปัดกวาดให้สะอาด เลวจริงๆ นี่ เอาล่ะ,นี่ผมทำอวิชชาสัมผัสขึ้นมาแล้ว คือเห็นว่า นั่นมันสกปรก มันเสียหาย แล้วก็เป็นที่ไม่สบายแก่ใจของผม เป็นทุกขเวทนา มโนวิญญาณสัมผัสเวทนานี้ ปรุงเป็นอุปาทานขึ้นมา โกรธคนที่ว่ามีหน้าที่จะเช็ดล้างให้สะอาด ทำไมไม่มาทำ อย่างนี้เป็นอธิวจนสัมผัส เป็นอวิชชาสัมผัสชนิดอธิวจนสัมผัส ก็เกิดเป็นเวทนาประเภทที่เป็นที่ตั้งของนันทิและอุปาทาน และมีภพมีชาติ เกิดผมเป็นคนบ้าขึ้นมา โกรธ เป็นผู้กำลังโกรธ มีจิตใจเหมือนยักษ์เหมือนมารอย่างนี้ ผมเกิดเป็นยักษ์ขึ้นมา มีภพมีชาติเป็นยักษ์ขึ้นมา แล้วก็เสวยความทุกข์เพราะยึดมั่นในความเป็นอย่างนี้ นี่คุณดูสิ ตาผมเห็นนั่นเป็นเพียงปฏิฆสัมผัส ทีนี้ถ้าว่าสติสัมปชัญญะมี วิชชามี มันก็แค่นั้นแหละ มันก็ไม่ไปหลงเตลิดเปิดเปิงไปว่าอะไรเป็นอะไร หรือว่าถ้าเห็นว่านี้สกปรก ตะไคร่จับเขียวนั่น เอ้า,มันก็คิดว่า มันคงจะลืมไปหรือมันคงจะอะไร อยากให้สะอาดก็ไปตามมันมาทำก็ได้ ผมไม่ต้องโกรธก็ได้ อย่างนี้ก็มีแต่ปฏิฆสัมผัส แล้วกลายเป็นวิชชาสัมผัสหรือสติสัมผัส ไม่เกิดเรื่องเป็นนันทิหรืออุปาทาน มันก็ทำไปได้ ไปพูดดีๆ มาช่วยทำอันนี้ให้สะอาดที ผมก็ไม่ต้องโกรธ ไม่ต้องบ้าเป็นยักษ์เป็นมารขึ้นมา นี่ตัวอย่างที่จะทำให้เข้าใจคำว่าสัมผัส แยกเป็นปฏิฆสัมผัสและอธิวจนสัมผัสก็ได้ แยกเป็นอวิชชาสัมผัสหรือวิชชาสัมผัสก็ได้ ถ้ามีสติสัมปชัญญะอยู่ สัมผัสทั้งหลายก็จะเป็นวิชชาสัมผัสไปทั้งนั้น เห็นว่าเป็นอะไรแล้วควรทำอย่างไร ก็ทำไปสิ ทำด้วยสติปัญญาสิ ถ้าเป็นอวิชชาสัมผัส มันก็โกรธบ้าง เกลียดบ้าง รักบ้าง อะไรบ้าง มันก็มีความทุกข์แหละ ทีนี้ก็น้อมเข้ามาใส่ตัวสิ ทั้งพระทั้งเณรผมเห็นโกรธกันอยู่ ตุปัดตุป่องกันทั้งวัน เดี๋ยวองค์นั้นเดี๋ยวองค์นี้ เดี๋ยวองค์นั้นโกรธองค์นี้ เดี๋ยวองค์นี้โกรธองค์นั้น ผมก็เคยถูกโกรธ เพราะว่าไม่มีสติสัมปชัญญะในการสัมผัส สิ่งที่ซึ่งได้เกิดเป็นเวทนาขึ้นมาแล้วในจิตในใจ หรือแม้แต่ว่าเห็นสิ่งข้างนอกครั้งแรกด้วยปฏิฆสัมผัสแล้ว มันก็คุมไว้ไม่อยู่ มันกลายเป็นอธิวจนสัมผัสทางมโนวิญญาณต่อมาอีกทีหนึ่ง ทีแรกจะสัมผัสทางตาก็ได้ เรียกว่าจักขุสัมผัส สัมผัสทางหูก็ได้เรียกว่าโสตสัมผัส สัมผัสทางจมูกก็ได้ เรียกว่าฆานสัมผัส จนครบทั้ง ๖ อย่างแหละ มันเป็นเพียงปฏิฆสัมผัสเท่านั้น แต่ตอนหลังนี้พอมันสัมผัสนี้ มันทำให้เวทนาเกิดขึ้นแล้ว รสของเวทนาเป็นที่ตั้งแห่งมโนวิญญาณอีกทีหนึ่ง มโนวิญญาณจึงเกิดขึ้น สัมผัสเวทนานั้นด้วยอวิชชาสัมผัส สัมผัสนี้ไม่ต้องมีการกระทบเหมือนของแข็งกระทบ มันเป็นเพียงนามธรรมต่อนามธรรม แล้วก็เกิดเป็นผลของกิเลส แล้วก็เป็นทุกข์ ถ้าเข้าใจข้อนี้ดี ก็จะเข้าคำว่า ยา เวทนาสุ นนฺทิ ตทุปาทานํ, ตสฺส อุปาทานปจฺจยา ภโว ภวปจฺจยา ชาติ, ชาติปจฺจยา ชรามรณํ โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติ เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ มันจบกันเท่านี้
ทีนี้ความมุ่งหมายที่ผมอยากจะพูดในวันนี้ก็เพื่อให้เข้าใจคำว่านันทิ กับ คำว่าอุปาทาน ว่าเป็นของเกิดอยู่ตลอดเวลา เป็นขณะๆ อยู่ตลอดเวลาที่นี่และเดี๋ยวนี้ อุปาทานนั้นเกิดที่นี่และเดี๋ยวนี้ อุปาทานที่ไหนภพที่นั่น ฉะนั้นภพก็ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ภพที่ไหนชาติที่นั่น เพราะฉะนั้นชาติก็ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องรอต่อเข้าโลงไปแล้ว เข้าโลงไปแล้วมันชาติเดียวทีเดียวเรื่องเดียวกรณีเดียวเท่านั้นแหละ มันก็ใช้อะไรไม่ได้ เพราะว่าเวทนาทั้งหลายในวันหนึ่งๆ นี่มันหลายอย่างหลายชนิด หลายชนิดของเวทนา เพราะฉะนั้นนันทิก็หลายชนิดของนันทิ ฉะนั้นอุปาทานก็หลายชนิดของอุปาทาน ฉะนั้นภพก็หลายชนิดของภพ คือทั้งกามทั้งรูปทั้งอรูป ฉะนั้นชาติก็แล้วแต่เถอะ เกิดเป็นสัตว์นรกก็ได้ ถ้าใจมันร้อนเป็นไฟ เกิดเป็นเปรตก็ได้ถ้ามันหิวไม่มีเหตุผล พวกซื้อลอตเตอรี่และหิวจะถูกนั่นแหละ ดีนักที่จะเป็นเปรต ทีนี้มันเป็นเดรัจฉานก็ได้ถ้ามันโง่เหลือจะโง่ ในกรณีนั้นมันทำให้เกิดความโง่เหลือจะโง่ มันเป็นเดรัจฉานขึ้นมา ถ้าขี้ขลาดก็เป็นอสุรกายนี่ ถ้าลำบากตรากตรำไปตามเหตุปัจจัยก็เป็นมนุษย์ สนุกสนานเอิกเกริกเพลิดเพลินไม่มีทุกข์ก็เป็นเทวดา เสวยสุขแห่งตัวกูของกูจืดเย็นสงบๆ อยู่ก็เป็นพรหมอย่างใดอย่างหนึ่ง นี่ชาติมีหลายชาติอย่างนี้ แต่แล้วเดี๋ยวมันก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นแล้วสลายไปคือตาย นี่คือความหมายของคำว่าเวทนา ว่านันทิ ว่าอุปาทาน ว่าภพ ว่าชาติ ตามนัยยะแห่งพระบาลีมหาตัณหาสังขยสูตร ผมว่านี้คือถูกที่สุด จริงที่สุด และอยู่ในวิสัยที่ต้องจัดการ เรื่องทีเดียวและต่อตายแล้วและทีเดียว มันไม่มีปัญหาอะไรหรอก กว่าจะตายนั่นมันจึงจะมีเรื่อง ถ้าตายไปแล้วก็ไม่รู้ว่าที่ไหนอย่างไร แต่ว่าที่นี่เดี๋ยวนี้มันมี มันมีมาก มีน่าตกใจ น่าหวาดเสียว เดี๋ยวจิตใจเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวจิตใจเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวจิตใจเกิดเป็นสัตว์อย่างนั้นเกิดเป็นสัตว์อย่างนี้ โดยความหมายของกิเลสนั้นแหละ
นี่เราจะศึกษาเองก็ดี เราจะสอนผู้อื่นก็ดี ผมว่าถ้าให้ถูกต้องตามพระพุทธประสงค์ หรือว่าที่ทรงประสงค์แล้วก็ จะต้องถือหลักอย่างนี้ นี่พระวิปัสสนาจารย์ที่เป็นอาจารย์นี่ จะสอนคนให้ละภพ ละชาติ ละความเกิด ละความแก่นี้ ควรจะสอนให้ละภพจริงๆ ชาติจริงๆ ที่วันหนึ่งๆ ไม่รู้จักกี่ชนิดนี้ดีกว่าที่จะไปพูดถึงเรื่องภพเรื่องชาติหลังจากตายแล้ว เข้าโลงไปแล้ว มันไกลเกินไป แต่อย่าลืมว่าผมไม่ได้ยกเลิกของเขานะ เดี๋ยวมาด่าผมฟรีๆ อีกนะ ผมไม่ได้พูดเรื่องนั้น ไม่ยอมวินิจฉัยเรื่องนั้น ไม่วิจารณ์เรื่องนั้น เพียงแต่ขอว่ามาสนใจเรื่องนี้ก่อน มาสนใจเรื่องเวทนา เรื่องนันทิ เรื่องอุปาทาน เรื่องภพ เรื่องชาติ เรื่องที่นี่อย่างนี้เดี๋ยวนี้ก่อน ชั่ววันเดียวก็มีหลายเวทนา มีหลายนันทิ มีหลายอุปาทาน มีหลายภพ มีหลายชาติ ทีนี้ถ้าว่าแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ดับภพดับชาติเหล่านี้ได้แล้ว ผมเอาศีรษะเป็นประกันว่าภพชาติข้างหน้าก็แก้ได้ ดับได้ ตัดได้ ลองทำปัญหาที่นี่เดี๋ยวนี้ให้หมดเถิด ปัญหาหลังจากนั้นต่อตายแล้วมันก็เป็นอันแก้ไปด้วย ถ้าดับทุกข์ที่นี่ได้ ตายแล้วก็ดับได้ ถ้ามันมีนะ ถ้าดับกิเลสที่นี่ได้ ตายไปแล้วมันก็ดับได้ ถ้ามันมี เรื่องภพหลังต่อตายแล้ว เข้าโลงแล้วนี้ พระพุทธเจ้าท่านก็ยังตรัสด้วยโวหารปริกะว่าถ้ามันมี ไปเปิดดูกาลามสูตร ไปเปิดกาลามสูตรดูก็จะเห็นว่า แม้แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ยังใช้คำปริกะว่าถ้าโลกหน้ามี,เอาสิ มันก็จะเป็นอย่างนั้นๆ ขอให้ทำที่นี่เดี๋ยวนี้ ให้พวกกาลามเข้าใจเสียเดี๋ยวนี้ ทำที่นี่ให้ถูกเดี๋ยวนี้ก็พอแล้ว ถ้าโลกหน้ามีก็ได้ดี ถ้าโลกหน้าไม่มีก็ยังไม่ขาดทุน ท่านใช้คำว่าอย่างนี้ ไม่ได้ตรัสว่ามีหรือไม่มีให้มันยึดมั่นถือมั่น แต่ว่าภพชาติที่นี่มันมีจริง เพราะพระองค์ตรัสไว้อย่างในสูตรที่นำมากล่าวนี้และสูตรอื่นๆ อีกหลายสูตร ว่าเวทนานั้นเกิดขึ้นเมื่อกระทบอายตนะ และนันทิใดในเวทนานั้น นั่นคืออุปาทาน เพราะอุปาทานนั้นเป็นปัจจัยก็เกิดภพที่นั่น เพราะภพเป็นปัจจัยก็เกิดชาติที่นั่น เกิดชาติที่นั่นก็เป็นทุกข์ที่นั่น นี่จัดการโดยเร็ว เหมือนกับว่าไฟไหม้ศีรษะ อย่าไปคิดอะไรมากรีบดับเร็วๆ อย่าไปคิดว่าใครจุด จุดทำไม นี่อย่าไปคิด ป่วยการ มันเสียเวลาเปล่า ถ้าไฟไหม้ศีรษะแล้วก็ดับทันที แล้วก็เอาที่นี่ที่กำลังมีอยู่นี่ มันเหมือนกับไฟไหม้ศีรษะ เพราะมันกำลังมีทุกข์อยู่ด้วยเวทนาทั้งหลาย ฉะนั้นถ้าจะรู้เองก็ดี จะสอนผู้อื่นก็ดี ตามพระพุทธดำรัสว่า จงประกาศพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถะพยัญชนะ แล้วผมคิดว่าต้องนึกถึงข้อนี้ ถ้าไม่อย่างนั้นจะไม่สมบูรณ์จะไม่สิ้นเชิง คือว่าจะเป็นไปไม่ได้ คือไม่ได้ประโยชน์อะไร พูดละเมอๆ ไม่มีใครค้าน ถ้าใครค้านก็ด่าเข้าให้นี่ ใครจะค้านล่ะ ผมก็ไม่อยากทะเลาะกับใครเหมือนกัน ฉะนั้นจึงพูดว่าพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้อย่างนี้ ก็เอามาเล่าให้ฟัง ที่เล่านี้ในฐานะเป็นการถวายความรู้รอบตัว แต่ว่าแก่พวกเรานี่ ในอัญประกาศ พวกเราในอัญประกาศ ไม่ใช่พวกเราด้วยความยึดมั่นถือมั่น พวกเราในฐานะที่ว่าต้องรับผิดชอบร่วมกัน ในฐานะเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รับมรดกคือศาสนาเอามาเพื่อจะสืบอายุไว้แล้วก็เผยแผ่ไปนั่น นี่คือพวกเรา ไม่ใช่มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทานอะไร เป็นสติปัญญาที่รู้สึกรับผิดชอบร่วมกัน พระเณรองค์ไหนก็ตามต้องเป็นสพรัหมจารีคือว่าเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกัน แล้วมันก็เป็นรับผิดชอบร่วมกันแหละ เสียหายก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน
เพราะฉะนั้นจึงถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องเอามาพูดกันให้เรื่องต่างๆ มันเป็นไปถูกหนทาง แล้วก็มีผลตามที่ทรงมุ่งหมาย ผมไม่อยากจะพูดวันเดียวหลายๆ ประเด็นหรือหลายๆ หัวข้อ กลัวว่าจะไม่เข้าใจลืมเลอะหมด จึงพูดวันละคำๆ นี่ เช่นเมื่อวานนี้เราพูดกันเรื่อง อิมํ โลกํ สเทวกํ สมารกํ สพฺรหฺมกํ นี่ ว่าคืออะไร อยู่ที่ไหน ทีนี้วันนี้ก็พูดกันเรื่องว่าภพหรือชาติ มันอยู่ที่ไหน มันมาจากอะไรและเมื่อไหร่ ฉะนั้นจึงขอยกพระพุทธภาษิตอย่างที่ว่าให้ช่วยจำไว้จนตลอดชีวิต มีอยู่ ๒ คำ ยา เวทนนาสุ นนฺทิ, ตทุปาทานํ เท่านั้นเอง จำไห้ได้เถิด มันจะรับประกันไม่ให้เข้าใจอะไรผิดได้เกี่ยวกับเรื่องภพเรื่องชาติ เรื่องเกิดเรื่องตาย ตายแล้วเกิดหรือไม่เกิดนี่ มันจะมารวมอยู่ที่คำนี้หมด ยา เวทนาสุ นนฺทิ นันทิใดในเวทนาทั้งหลาย, ตทุปาทานํ นั่นคืออุปาทาน ก็แปลว่าเรารู้จักชาติ ภพ อย่างถูกต้อง ถูกตรงที่ตัวมันเลย ทุกทีที่มันเกิดแล้วก็ไวเหลือประมาณ เขาเรียกว่าขณิกะๆ สำเร็จอยู่ที่จิตดวงเดียวที่เรียกว่าขณิกะนั้น จิตเป็นอย่างไรนั่นคืออย่างนั้นแหละ ธรรมทั้งหลายสำเร็จอยู่ที่สิ่งๆ เดียวคือจิตนี้ ฉะนั้นจิตเป็นอย่างไรมันก็คืออย่างนั้น เป็นภพก็เป็นภพ เป็นชาติก็เป็นชาติ เป็นสุขเป็นทุกข์ ตามเหตุตามปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง
ฉะนั้นเมื่อได้ยินคำว่าชาติความเกิดแล้ว ก็ให้นึกถึงความรู้สึกในจิตหลังจากนันทิและอุปาทาน หลังจากเวทนาก็มีนันทิ หลังจากนันทิก็มีอุปาทาน หลังจากอุปาทานก็มีภพมีชาติ ชาติคืออันนั้น ส่วนชาติที่เกิดจากท้องแม่นั้นอีกความหมายหนึ่ง เป็นเรื่องทางเนื้อทางหนังทางวัตถุ แล้วมีทีเดียวมันก็เลิกกัน แล้วก็ไม่มีความหมายเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ต้องถือเป็นพวกอัพยากฤต เช่นเดียวกับรูปธรรมล้วนๆ ให้ถือเป็นอัพยากฤต เป็นกิริยา ไม่สุขไม่ทุกข์อะไร แต่ว่าชาติชนิดนั้นแหละพอไปยึดถือเข้าเป็นทุกข์ทันที การที่จะยึดถือชาติชนิดนั้นได้ ต้องมีปัญหาเกี่ยวกับอุปาทานหรือตัณหา คือต้องมีเวทนามาทำให้เกิดอุปาทานหรือตัณหาว่าเป็นเราเป็นของเราเสียก่อน มันจึงจะวกกลับไปยึดชาติที่เกิดจากท้องแม่ด้วย กระทั่งชาติที่ต้องเป็นนามธรรมเป็นตัวกูเป็นของกูเวลานี้ด้วย และเมื่อมีความยึดถือแล้ว ไม่ว่าชาติชนิดไหน เป็นความทุกข์ทั้งนั้น การเกิดจากท้องแม่ของเด็กนั้น ผมถือว่ามันเป็นรูปธรรม เป็นชาติทางรูปธรรม ยังเป็นกิริยา ยังไม่รู้สึกบาปไม่รู้สึกกรรม รู้ดีรู้ชั่ว มันจึงเป็นอัพยากฤต แต่ว่าชาติชนิดนี้มันเป็นที่ตั้งแห่งร่างกายหรือรูปขันธ์ รูปขันธ์นี้เป็นที่ตั้งแห่งจิตเจตสิกอีกทีหนึ่ง ทีนี้จิตเจตสิกนี้จะทำเรื่อง จะเป็นตัวทำเรื่องให้เกิดให้ยุ่ง แต่ถ้าไม่มีรูปขันธ์ มันก็ไม่มีจิตเจตสิกได้ มันต้องมีร่างกายที่เป็นเหมือนกับเครื่องรองรับเหมือนกับออฟฟิศอะไรของจิต จิตมันจึงอาศัยรูปกายแสดงอะไรได้ แล้วเรื่องต่างๆ นั้นมันอยู่ที่จิต มันจะกลับไปยึดถือร่างกายนั้นก็ได้ ยึดถือตัวมันเองก็ได้ ยึดถือสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาก็ได้ ยึดถือสิ่งภายนอกต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็ได้ ฉะนั้นมันยึดถือรูปภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสภายนอกก็ได้ ยึดถือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจข้างในก็ได้ หรือว่ายึดถือผัสสะเวทนาตัณหาอุปาทานที่เกิดขึ้นโดยลำดับนี้ก็ได้ นี่จิตตัวเดียวมันทำอะไรได้หมด จะสุขหรือจะทุกข์มันก็อยู่ที่จิตนั่นแหละ แล้วอุปาทานมันก็เป็นสิ่งที่งอกงามขึ้นในจิตนั้น เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น เพราะว่าไม่ได้ยินได้ฟังคำสั่งสอนของพระอริยเจ้า แล้วก็พอใจยินดีที่จะเอาไปตามความรู้สึกของตน เพราะฉะนั้นกิเลสทั้งหลายมันก็พอกพูน พอกพูน พอกพูน คือเคยชินมากเข้าๆ ส่วนนี้เขาเรียกว่าอาสวะบ้าง อนุสัยบ้าง เครื่องหมักดองสันดานนั่นแหละ คือความเคยชินที่มันซ้ำลงไป ซ้ำลงไป แต่ก็เป็นการเกิดดับ แต่ว่าเกิดดับง่ายเร็วเกินไป จึงเรียกว่าอาสวะ เรียกว่าอนุสัย เด็กๆ ยังไม่ค่อยมี แต่พอโตเป็นผู้ใหญ่มีมากขึ้นๆ มากขึ้นๆ อาสวะอนุสัยหนาขึ้น หนาขึ้น หนาขึ้น ฉะนั้นจึงโกรธง่าย โลภง่าย รักง่าย หลงง่าย อะไรง่าย ต้องแก้ไขอาสวะอนุสัยส่วนนี้ให้มันเบาบางไป ความโลภความโกรธความหลงที่เป็นอาวัชชนะโต้งๆ ออกมามันก็จะน้อยลงๆ เหมือนกัน เราเป็นอยู่ชนิดที่อาสวะและอนุสัยเจริญงอกงามไม่ได้ ก็คือไม่ไปทำให้เกิดกิเลส ไม่ให้เกิดกิเลสซ้ำๆ ซากๆ อาสวะอนุสัยก็ร่อยหรอไปเอง จางไปเอง
ฉะนั้นให้เป็นอยู่ด้วยความถูกต้องตามอริยมรรคมีองค์ ๘ กิเลสก็ไม่เกิด และอนุสัยอาสวะก็ไม่ได้อาหารหล่อเลี้ยง มันก็ผอมไปๆ วันหนึ่งมันก็หมดสิ้น ฉะนั้นขอให้เป็นอยู่ให้ถูกต้องตามอัฏฐังคิกมรรค มันก็คือว่า อย่ามีอวิชชาสัมผัส เมื่อตากระทบรูป หูได้ยินเสียงเป็นต้น อย่ามีอวิชชาสัมผัส มีแต่ปฏิฆสัมผัส แล้วสติสัมปชัญญะรีบมาทันที มาดูว่าอะไรเป็นอะไร ควรทำอย่างไร แก้ไขอย่างไรนี่ ก็ทำไป อย่าให้เป็นอวิชชาสัมผัส จะเกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ และเกิดทุกข์ ถ้าอยู่ได้อย่างนี้เรียกว่าอยู่โดยชอบ เรียกว่า สมฺมา วิหเรยฺยุí พึงอยู่โดยชอบ พระพุทธเจ้าตรัสเมื่อจะปรินิพพานแล้ว เดี๋ยวนี้จะปรินิพพานอยู่แล้ว พระองค์ยังตรัสว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายจักเป็นอยู่โดยชอบไซร้ โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ เป็นอยู่โดยชอบไซร้นี่ก็คือว่าระวัง เมื่อมีสัมผัสอย่าให้เป็นอวิชชาสัมผัส มันจะกลายเป็นอวิชชาสัมผัสสชาเวทนา อวิชชาสัมผัสสชาเวทนามันจะให้เกิดนันทิ นันทิมันจะให้เกิดอุปาทาน อุปาทานเกิดภพ ภพเกิดชาติ แล้วไม่มีวันล่ะที่ว่ากิเลสจะเบาบาง มันจะเพิ่มอนุสัยอาสวะมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น เพราะเป็นอยู่ไม่ชอบ ถ้าเป็นอยู่ชอบ ก็หมายความว่ามันไม่มีทาง มันยากนักยากหนาที่มันจะเกิดได้ แล้วมันผอมไปเอง เราอยู่ให้ดีๆ กิเลสผอมเอง นี่พระพุทธเจ้าท่านตรัสในทำนองอย่างนี้ เป็นอยู่โดยชอบโลกไม่ว่างจากพระอรหันต์
ฉะนั้นเรื่องร้ายกาจมี ๒ คำคือว่านันทิ,อุปาทาน เมื่อใดมีนันทินั่นคืออุปาทาน เมื่อใดมีอุปาทานเมื่อนั้นมีภพ เมื่อใดมีภพเมื่อนั้นมีชาติ ถ้าแก้ไขภพชาติเหล่านี้หมด ภพชาติชนิดไหนหมด หมดเลย ต่อตายแล้วก็ไม่มี แล้วไม่ตายด้วย ถ้าแก้ไขภพชาติอย่างนี้หมดสิ้นแล้ว คนนั้นจะไม่ตายคือว่าเป็นอมตะ ไม่มีสัตว์บุคคลที่จะตาย คือบรรลุนิพพานเสียในชาตินี้ ที่สมมุติว่าในชาตินี้บรรลุนิพพานเสีย ไม่มีนันทิ ไม่มีอุปาทาน ไม่มีภพ ไม่มีชาติ เสียที่นี่แล้ว มันก็เลยไม่ต้องตาย แล้วย้อนหลังเป็นไม่ได้เกิดด้วย คือไม่มีสัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา ไม่มีเกิดแก่ตาย ไม่มีไปไม่มีมา ไม่มีอยู่ที่ไหน ไม่มีอะไร เรื่องมันก็จบกันเท่านี้
เรื่องทำวิปัสสนาสมถะอะไรก็ตาม เพื่อให้รู้ข้อนี้ ให้รู้เท่าทันปัญจุปาทานขันธ์ วิปัสสนากรรมฐานแบบไหนก็ตามใจ ผลสุดท้ายจะไปรวมอยู่ที่รู้เท่าทันการเกิดขึ้นดับไปแห่งปัญจุปาทานขันธ์ทั้งนั้นแหละ ไปดูเถิด กี่สูตรกี่เรื่องกี่แบบ ถ้าถูกต้องนะ การทำวิปัสสนานั้นจะดิ่งไปหาความรู้เท่าทันการเกิดขึ้นและดับไปแห่งปัญจุปาทานขันธ์ คือการเกิดขึ้นแห่งตัวกูของกู ผมเรียกอย่างนั้น ดับไปแห่งตัวกูของกู คือปัญจุปาทานขันธ์ มันก็คือเมื่อเวทนาและนันทิและอุปาทานนั่นแหละ เมื่ออุปาทานนั่นแหละคือปัญจุปาทานขันธ์ ฉะนั้นระวังเวทนา ระวังนันทิ มันจะเกิดอุปาทานขันธ์ ทีนี้ทำวิปัสสนาก็ทำการซักซ้อมให้ดีที่สุด เพื่อจะกันเสียซึ่งการเกิดแห่งอุปาทานขันธ์ หรือว่าถ้ามันเผลอเกิดก็ให้มันรู้ เราทำให้มันดับลงไปได้ ก็ให้เห็นว่าเราทำให้มันดับลงไปได้ ฉะนั้นสมาธิภาวนาประเภทที่ ๔ จึงมีว่าเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ นั่นคือรู้ คือการรู้ซึ่งการเกิดขึ้นและดับลงแห่งปัญจุปาทานขันธ์ พระพุทธภาษิตนี้ในอังคุตตรนิกายจตุกกนิบาต เรื่องสมาธิภาวนา ๔ ชนิด ไปหาดูเพื่ออ่านรายละเอียด ตรัสเป็นสุดยอดสรุปว่า สมาธิภาวนาที่สิ้นอาสวะ ที่ทำให้สิ้นอาสวะนั้นคือสมาธิภาวนาที่ทำให้ปริญญาให้รอบรู้ต่อความเกิดขึ้นและดับลงของปัญจุปาทานขันธ์ เมื่อใดเกิดอุปาทานเมื่อนั้นเกิดปัญจุปาทานขันธ์ เมื่อใดไม่เกิดอุปาทานเมื่อนั้นไม่เกิดปัญจุปาทานขันธ์ เมื่อใดไม่มีนันทิเมื่อนั้นไม่เกิดอุปาทาน เมื่อใดรู้เท่าทันในเวทนาทั้งหลายเมื่อนั้นไม่เกิดนันทิ เรื่องมันก็จบกัน
เอาล่ะ,ทีนี้ขอแถมพกอีกนิดหนึ่งว่า นันทิๆนี้ มันเกิดได้แม้เมื่อเราทำวิปัสสนาสำเร็จ เมื่อเรารู้สึกว่าเราทำวิปัสสนาชั้นไหนข้อไหนสำเร็จเดี๋ยวจะเกิดนันทิไม่ทันรู้ตัวในความสำเร็จ เช่นสิ่งที่เรียกว่าปีติหรือสุขหรืออะไรนี้ ระวังให้ดี เป็นที่ตั้งแห่งนันทิในเมื่อปราศจากสติสัมปชัญญะ ฉะนั้นถ้ามันเกิดความสุขความพอใจขึ้นมาในขณะที่ทำวิปัสสนาข้อไหนสำเร็จ ระวังให้ดี อย่าให้กลายเป็นอวิชชาสัมผัสในความพอใจนั้น มันจะเกิดอุปาทานและเกิดกิเลสตัณหา ถ้าทำสำเร็จ เกิดปีติ ก็ให้รู้สักว่าปีติ สักว่าเวทนา สักว่าเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย อย่างนี้มันเป็นเพียงปฏิฆสัมผัส พอเผลอ ดีใจใหญ่แล้ว,เว้ย วันนี้ได้กี่ขั้นกี่ชั้นแล้วนี่ เดี๋ยวก็จะได้มีอธิวจนสัมผัส แล้วเป็นนันทิ เป็นอุปาทาน นี่คงจะรู้อยู่แก่ใจด้วยกันดีทุกคนแล้วว่าเคยเผลอหรือไม่ เคยพลาดหรือไม่พลาดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ฉะนั้นเรายังเห็นผู้ที่ทำอะไรได้สำเร็จแล้วยกชูหางอยู่นี้ นั้นเต็มไปด้วยนันทิ เต็มไปด้วยอุปาทาน ไม่มีผลในทางดับทุกข์เพราะว่าเขาไม่มีสติสัมปชัญญะเลย นี่เวลาที่จะต้องระวังให้ดีก็คือเวลาที่มีเวทนาชั้นละเอียดสุขุมเกิดขึ้นในจิตใจ เช่นว่าเราทำกรรมฐานสำเร็จขั้นนี้ ถ้าเผลอมันก็เป็นเหยื่อแห่งอวิชชา ถ้าไม่เผลอมันก็กลายเป็นโพชฌงค์ไปได้ รู้จักใช้กำลังแห่งปีติ ปราโมทย์ ปัสสัทธิให้เป็นไปเพื่อสัมโพชฌงค์ มันก็ได้เหมือนกัน ถ้าเผลอนิดเดียวมันกลายเป็นตัณหาอุปาทานไปได้เหมือนกัน ตรงกันข้ามเลย
เอาล่ะ,ขอให้เข้าใจคำว่าผัสสะก่อน ว่าผัสสะมี ๒ ชนิด คืออวิชชาสัมผัสและวิชชาสัมผัส และมี ๒ ชั้นคือปฏิฆสัมผัสและอธิวจนสัมผัส อธิวจนสัมผัสที่ประกอบด้วยอวิชชานี้จะทำให้เกิดเวทนาชนิดที่จะเป็นที่ตั้งแห่งนันทิ แล้วนันทิจะทำให้เกิดอุปาทาน อุปาทานจะทำให้เกิดภพชาติกันที่นี่และเดี๋ยวนี้ แล้วมีความทุกข์ตามภพตามชาติอะไรไปอย่างแน่นอน เพราะว่านั่นคือปัญจุปาทานขันธ์ได้เกิดขึ้นแล้ว ขอให้เข้าใจคำว่าผัสสะ คำว่าเวทนา คำว่านันทิ คำว่าอุปาทาน คำว่าภพว่าชาติ ว่าปัญจุปาทานขันธ์ในลักษณะอย่างนี้ โดยอรรถะ โดยพยัญชนะ โดยหน้าที่ อย่างนี้ นี่ผมขอยุติการถวายความรู้รอบตัวในวันนี้ เพียงเท่านี้