แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงาม ก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนา ของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายกว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนาเป็นปุพพาปรลำดับต่อจากที่ได้วิสัชชนาแล้วเมื่อตอนหัวค่ำ ในตอนหัวค่ำได้กล่าวถึงเรื่องของพระโสดาบัน สืบต่อขึ้นมาถึงพระสกิทาคามีและพระอนาคามี บัดนี้จะได้กล่าวถึงเรื่องของพระอรหันต์อันเป็นพระอริยบุคคลประเภทสุดท้าย
เนื่องจากวันนี้เป็นวันมาฆบูชาอันสมมุติว่าเป็นวันที่ระลึกแก่พระอรหันต์ ขอให้ท่านทั้งหลายกระทำในใจโดยแยบคาย ให้มีความเข้าใจโดยสมควร คำว่าพระอรหันต์หมายถึงบุคคลผู้สิ้นกิเลส อาสวะโดยประการทั้งปวงและก็ดับทุกข์ได้โดยประการทั้งปวง มีชื่อเรียกต่างๆ กันว่าเตวิชโชผู้ประกอบด้วยวิชา ๓ ฉฬภิญโญเป็นผู้ประกอบด้วยอภิญญา๖ จตุภิสัมฺ จตุ ภิสัมฺ สัมฺภิทัปฺปัตฺโต (นาที 00:03:45)เป็นผู้ประกอบด้วยปฏิสัมภิทา๔ และสุกขวิปัสสโกเป็นผู้สุกขวิปัสสก อย่างนี้ก็เป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้วและได้ยินได้ฟังกันอยู่แล้ว ในที่นี้จะได้กล่าวถึงข้อความที่กล่าวถึงพระอรหันต์โดยประการอื่นจากที่ได้เคยฟังมาแล้ว แต่ก็เป็นที่รวบรวมเหมือนกันทุกประเภทของพระอรหันต์ว่า เป็นผู้สิ้นกิเลสอาสวะแล้ว เป็นผู้ถึงความไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว มีความน่าอัศจรรย์ตรงที่ความเป็นพระอรหันต์นั้นมันไม่ต้องทำอะไร เมื่อมีความเป็นพระอรหันต์แล้วไม่ต้องทำอะไร แต่ก็เหมือนกับว่าทำอะไร มีผลเหมือนกับว่าทำอะไร ดังพุทธภาษิตที่ได้ยกขึ้นไว้เป็นหัวข้อข้างต้นนั้น วเนว อาตินาตินปจินฺนาติ อปรินิตวาทิโต (นาที 00:05:23) เป็นผู้ไม่ก่อ เป็นผู้ไม่ยุบ แต่มันก็เหมือนกับยุบอยู่ตลอดเวลา เนวปชหติ นอุปาหิเยติ ปัจฺจหิตวาทิโต (นาที 00:05:45)เป็นผู้ไม่ละ แล้วก็เป็นผู้ไม่ถือเอา แต่มันก็เหมือนกับละแล้วตลอดเวลา นวิติเนติ นกุตฺติเนติ วิทิเนตฺตวาทิโต (นาที 00:06:07)เป็นผู้ไม่ทำกระจัดกระจาย แล้วก็เป็นผู้ไม่รวมกอง แล้วก็เหมือนกับทำกระจัดกระจายอยู่แล้วตลอดเวลา เนววิทูปติ นสันทูเปติ วิทูเปตวาทิโต (นาที 00:06:30)เป็นผู้ไม่ทำมอด เป็นผู้ไม่ทำโพลง แต่มันก็มอดอยู่แล้วตลอดเวลา คำเหล่านี้เป็นคำแปลกหูแก่ท่านทั้งหลาย ดังนั้นต้องตั้งใจฟังให้ดีว่าก่อก็ไม่ก่อ ยุบก็ไม่ยุบ แต่แล้วมันก็ยุบอยู่ตลอดเวลา ไม่ทิ้งขว้าง ไม่ถือเอา แต่แล้วมันก็ทิ้งขว้างอยู่ตลอดเวลา ไม่ทำกระจัดกระจาย แล้วก็ไม่รวมกอง แต่แล้วมันก็กระจัดกระจายอยู่ตลอดเวลา ไม่ทำให้มอดลงไป แล้วก็ไม่ทำให้โพลงขึ้นมา แต่มันก็มอดอยู่ตลอดเวลาดังนี้ นี่คือลักษณะของความเป็นพระอรหันต์โดยปริยายหนึ่งซึ่งไม่ค่อยจะได้ยินได้ฟังกัน จะได้อธิบายต่อไป
ข้อความนี้มีในสูตรชื่อว่าคัจฉณียสูตร (นาที 00:08:05)กล่าวถึงเรื่องสุญญตาอย่างลึกซึ้ง แยบคาย น่าอัศจรรย์กว่าในสูตรทั้งหลายอื่น เริ่มต้นก็มีว่า ผู้ที่จะพิจารณา จะต้องพิจารณาว่า บัดนี้เราถูกขันธ์กิน ในปัจจุบันนี้เราถูกขันธ์กิน ในอดีตที่แล้วมา เราก็เคยถูกขันธ์กินเหมือนบัดนี้ แต่ถ้าเราเพลิดเพลินในขันธ์อันเป็นอนาคต เราก็จะถูกขันธ์กินเหมือนในบัดนี้อีก คำว่า ขันธ์ในที่นี้ ก็คือเบญจขันธ์ ก็คือรูป คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็น ๕ ขันธ์ด้วยกันดังที่ทราบกันอยู่แล้ว เดี๋ยวนี้เราถูกขันธ์กิน ถูกขันธ์กัดกินหมายความว่าอย่างไร เดี๋ยวนี้เราถูกขันธ์กิน ขบกัดอยู่ตลอดเวลา แล้วก็กินด้วย หมายความว่า เรามีจิตยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ เช่นในรูปขันธ์ ความยึดมั่นถือมั่นในรูปขันธ์ย่อมทำให้จิตถูกขันธ์กิน คือมีความทุกข์ ถ้าพูดว่าเราถูกขันธ์กินก็เป็นการพูดอย่างสมมุติ ถ้าพูดว่าเรา ถ้าพูดว่าจิตถูกขันธ์กัดกินก็เป็นสมมติที่น้อยหน่อย เพราะว่าเราก็คือจิต จิตก็คือเรา ในกรณีอย่างนี้จิตหมายถึงเรา เราหมายถึงจิต คำว่าเรายังโง่ เรายังคิดว่าเราอยู่ เมื่อรู้สึกว่าสิ่งใดเป็นผู้คิด เป็นผู้นึก เป็นผู้รู้สึก ก็ถือว่าสิ่งนั้นเป็นเรา ที่แท้สิ่งนั้นเป็นเพียงจิตที่คิดนึกได้ตามธรรมชาติของมัน จิตที่คิดนึกได้ คิดนึกอยู่ตามธรรมชาติของมันนั้น มันก็คิดว่าตัวเองเป็นผู้คิด แล้วก็ถือว่าเป็นเรา ความรู้สึกคิดนึกที่ว่าเรา เรานั้น ที่แท้ก็คือความคิดของจิต จิตที่คิดด้วยความสำคัญผิด ด้วยอำนาจของอวิชชา นี่จิตคือเรา เราคือจิตในลักษณะอย่างนี้ มันก็เป็นเรื่องไม่จริงอยู่ด้วยกันทั้งสองอย่าง เดี๋ยวนี้เราจะพูดกันอย่างธรรมดาสามัญ ก็พูดว่าเราก่อน เรานี้ในบัดนี้ถูกขันธ์กิน ถ้าพูดให้สมมติน้อยหน่อยก็พูดว่า บัดนี้ในที่นี้จิตถูกขันธ์กิน จิตที่มีความรู้จักคิด จักนึก จักระลึกได้ว่าเราถูกขันธ์กินนี่ มันก็เริ่มไม่โง่แล้ว ถ้ามันยังโง่อยู่ มันก็จะไม่รู้สึกว่าเราถูกขันธ์กิน เดี๋ยวนี้ที่กำลังนั่งกันอยู่ที่นี่ ใครเข้าใจหรือฟังถูกว่าเราถูกขันธ์กินนั้นเป็นอย่างไร ก็ดูจะไม่ค่อยเข้าใจเพราะไม่เคยได้ฟัง และไม่เคยได้คิด ได้นึก เดี๋ยวนี้พอได้ฟังก็พอจะคิดนึกได้ว่าเรานี้คือจิตที่โง่ ที่มีอุปาทานว่าเรา เราก็รู้สึกเป็นทุกข์ ก็คิดต่อไปว่าเป็นทุกข์นี้เพราะอะไร ก็ฉลาดขึ้นมาหน่อยว่าเป็นทุกข์นี้เพราะยึดมั่น ยึดมั่นอะไรกัน ก็คือยึดมั่นในรูป ยึดมั่นในเวทนา ยึดมั่นในสัญญา ยึดมั่นในสังขาร ยึดมั่นในวิญญาณ หรือยึดมั่นในขันธ์ทั้ง ๕ พอยึดมั่นในขันธ์ทั้ง ๕ ขันธ์นั้นก็กลายเป็นอุปาทานขันธ์ คือขันธ์ที่ถูกยึดมั่นว่าเรา หรือว่าของเรา ไอ้ความยึดมั่นนั้นเป็นไปด้วยอำนาจของอวิชชา จึงยึดมั่นในลักษณะที่เป็นความโลภบ้าง ยึดมั่นในลักษณะที่เป็นความโกรธบ้าง ยึดมั่นในลักษณะที่เป็นความหลงบ้าง จะยึดมั่นในลักษณะอย่างไรก็ตามใจ ย่อมให้เกิดทุกข์ทั้งนั้น ยึดมั่นในลักษณะที่เป็นความโลภหรือความกำหนัด มันก็ร้อนอย่างความกำหนัดหรืออย่างความโลภ ร้อนไปแบบหนึ่ง ยึดมั่นอย่างความโกรธหรือโทสะ มันก็ร้อนไปอีกแบบหนึ่ง ยึดมั่นอย่างโมหะ มันก็ร้อนไปอีกแบบหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านตรัสเรียกว่าราคัคคิ ไฟคือราคะ โทสัคคิ ไฟคือโทสะ โมหัคคิ ไฟคือโมหะ มันเป็นไฟด้วยกันทั้งนั้น แต่ว่าไฟ ไฟนี้มันก็ยังแตกต่างกันเป็นหลายชนิด ไฟที่ทำจากฟาง จากหญ้าแห้ง ใบไม้แห้งนี้มันก็ไฟ ไฟที่ทำจากไม้เนื้ออ่อนนี้มันก็ไฟ ไฟที่ทำจากไม้เนื้อแข็งนี้มันก็ไฟ บางไฟมันก็ลุกโพลงๆ บางไฟมันก็ลุกไม่โพลง แต่บางไฟก็ไม่ปรากฏเพราะมันอยู่ใต้ขี้เถ้า อันนี้ไฟไหนจะเป็นอย่างไร ไฟไหนจะร้อนกว่าไฟไหน พวกเราก็พอจะรู้กันได้ดี ไม่ต้องอธิบายให้ยืดยาว ให้เสียเวลา ต้องการแต่จะชี้ให้เห็นว่าไฟมันก็หลายชนิด มันก็มีวิธีที่จะเผาต่างๆ กัน เผาผิวเผินก็มี เผาลึกซึ้งก็มี แสดงการเผาก็มี ไม่แสดงการเผาก็มี แต่ก็เป็นทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น นี่แหละคือการที่เข้าไปยึดมั่นในขันธ์ทั้งหลาย มันก็เกิดเป็นไฟขึ้นมา แล้วแต่ว่าจะยึดมั่นในลักษณะแห่งความโลภหรือในลักษณะแห่งความโกรธหรือในลักษณะแห่งความหลงดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้าพิจารณาเห็นด้วยปัญญาตามที่เป็นจริงว่ามันมีอยู่อย่างนี้แล้ว ก็จะเห็นได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นว่าเดี๋ยวนี้เราถูกขันธ์กัดกินเหมือนกับว่าไฟมันกัดกินไม้ฟืน ให้ไม้ฟืนมันกร่อนไปฉันใดก็ฉันนั้น เดี๋ยวนี้กิเลสมันกัดกินทำให้จิตใจเป็นทุกข์ กระวนกระวาย อาการอย่างนี้เราเรียกว่า บัดนี้เราถูกขันธ์กัดและก็กิน ในบางเวลาก็อาศัยรูปขันธ์เป็นต้นเหตุ บางเวลาก็อาศัยเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ สลับกันไปแล้วแต่ว่ามันมีเรื่องเกี่ยวกับขันธ์ใดเป็นส่วนสำคัญ พอยึดมั่นเข้าที่ขันธ์ใด มันก็เป็นไฟเกิดขึ้นที่ขันธ์นั้น
พิจารณาดูให้ดี ให้ชัดเจนในบัดนี้ว่ามันเป็นอยู่อย่างนี้จริงๆ ทีนี้ก็เริ่มใช้วิธีที่เรียกว่าระลึกถึงขันธ์อันเคยอยู่ในภพก่อน คือถอยหลังเข้าไปถึงไฟกองที่แล้วมา ไม่จำเป็นต้องนึกถึงในชาติเบื้องหลังอย่างที่เขานึกกัน นึกถอยหลังเพียงว่าเมื่อหัวค่ำนี้มีไฟอะไรกัดกินหรือเมื่อกลางวันโน้นมีอะไร ไฟอะไรกัดกิน หรือเมื่อวันวาน หรือเมื่อวันมะรืนนี้มันมีไฟอะไรกัดกิน ก็คือดูที่ความร้อนหรือไฟที่มันเกิดขึ้นในขันธ์ใดขันธ์หนึ่งในเวลาที่ล่วงแล้วมา ก็จะเกิดความเห็นแจ่มแจ้งด้วยปัญญาของตนเอง ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นว่า แม้ในอดีตเราก็ถูกขันธ์กัดและกินเหมือนในบัดนี้ ในปัจจุบันนี้ เราถูกขันธ์กัดกินมาหยกๆ หรือกำลังกัดกินอยู่ทีเดียว เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร ในอดีตที่แล้วมาเราก็ถูกขันธ์กัดและกินเหมือนอย่างนั้น ให้พิจารณาเห็นชัดโดยไม่ต้องเชื่อคนอื่น ให้เห็นในส่วนที่เป็นอดีตว่าเราก็ถูกขันธ์กัดกินเหมือนส่วนที่เป็นปัจจุบันนี้ ทีนี้ก็พิจารณาต่อไปว่าถ้าเราจะไปมุ่งหวังขันธ์ในอนาคต เราก็จะถูกขันธ์ในอนาคตกัดกินเหมือนที่เรากำลังถูกขันธ์กัดกินอยู่ในบัดนี้ นี้ลองเปรียบเทียบกันดู ขันธ์ในบัดนี้กัดกินเราอยู่หยกๆ แผลยังไม่ทันจะหาย ถ้านึกถึงขันธ์ในอดีต มันก็กัดกินมาแล้วเป็นอย่างมาก พอที่จะระลึกถึงร่องรอยที่มันเหลืออยู่ว่าในอดีตก็ถูกกัดกิน ทีนี้ดูไปทางอนาคต มันก็จะถูกกัดกินอีกเป็นแน่นอน เป็นว่าทั้งปัจจุบัน ทั้งอดีต ทั้งอนาคต มีแต่ขันธ์ที่จะกัดกิน ให้รู้สึกกันในลักษณะอย่างนี้แล้ว ก็จะเป็นการตั้งต้นของการปฏิบัติในการที่จะรู้ชัดถึงสิ่งที่เรียกว่า สุญญตา
เมื่อพิจารณาเห็นว่าปัจจุบันก็ถูกกัดกิน อดีตก็ถูกกัดกิน อนาคตก็จะถูกกัดกินดังนี้แล้ว จิตมันจะคิดอย่างไร เมื่อจิตมันพิจารณาเห็นอยู่อย่างนี้แล้วมันจะคิดอย่างไร มันก็คงจะไม่อยากจะคิดไปถึงขันธ์ในอดีต และก็ไม่เพลิดเพลินในขันธ์อันเป็นปัจจุบัน และก็ไม่หวังอะไรในขันธ์อันเป็นอนาคตอันจักมาข้างหน้า แต่แล้วก็จะปฏิบัติเพื่อจะป้องกันไม่ให้ถูกกัดกิน ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับไปแห่งขันธ์ทั้งหลาย และโดยเฉพาะในปัจจุบัน ถ้าปฏิบัติเพื่อดับเสียได้ซึ่งขันธ์อันเป็นปัจจุบัน ขันธ์ในอนาคตก็จะไม่ถูกปรุงแต่งให้เกิดขึ้น การปฏิบัติจึงมุ่งหมายเพื่อจะทำลายความยึดมั่นถือมั่นซึ่งขันธ์ในปัจจุบัน การปฏิบัตินี้แบ่งแยกออกเป็น ๓ ตอน คือเพื่อความเบื่อหน่ายที่เรียกว่านิพพิทา เพื่อความคลาย ความจางแห่งความยึดมั่นเรียกว่าวิราคะ เพื่อจะดับเสียซึ่งความยึดมั่นถือมั่นนั้นเรียกว่านิโรธะ เรียกง่ายๆ ว่าเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัดหรือเพื่อความดับเสียซึ่งขันธ์ทั้งหลาย ขันธ์ที่มีปัญหาก็คือขันธ์ที่จักเกิดขึ้นเป็นขันธ์ปัจจุบัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่สำคัญเท่าขันธ์ที่กำลังกัดกินเราอยู่ในบัดนี้ พิจารณาอยู่อย่างนี้จิตก็ไม่กล้าคิดไปในทางที่จะยึดมั่นถือมั่นในขันธ์เป็นอดีต หรือเป็นอนาคต หรือเป็นปัจจุบัน พระพุทธเจ้าท่านจึงได้ตรัสไว้ว่า เมื่อภิกษุพิจารณาเห็นอยู่อย่างนี้ เธอก็ไม่เพ่งขันธ์ในอดีต ไม่เพ่งขันธ์ในอนาคต ไม่เพลิดเพลินในขันธ์อันเป็นปัจจุบัน แต่จะปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อดับเสียซึ่งขันธ์อันเป็นปัจจุบัน การดับเสียซึ่งขันธ์ใน อันเป็นปัจจุบันนี้หมายความว่า กระทำให้ตัณหาอุปาทานในขันธ์อันเป็นปัจจุบันสูญสิ้นไปหรือว่าเกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อทำได้อย่างนี้ขันธ์ในอนาคตก็จักไม่มีเพื่อความยึดมั่นถือมั่น
ปัญหาสำคัญจึงอยู่ที่การจะดับเสียซึ่งความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์อันเป็นปัจจุบันนั่นเอง วิธีที่จะทำได้อย่างนี้ก็ต้องพิจารณาให้เห็น คือให้รู้สึกถึงความที่ถูกขันธ์ในปัจจุบันกัดกินอยู่ คือความทุกข์ที่กำลังมีอยู่ในใจจริงๆว่านี่มันกำลังกัดกินอยู่ ก็จะเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดในความยึดมั่นนั้น หรือว่าถ้าตั้งต้นพิจารณาตามนัยยะที่ได้ตรัสไว้ในอนัตตลักขณสูตรเป็นต้น ซึ่งเหมือนกันกับในสูตรนี้ ขอให้ดูให้ดีว่ารูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง เมื่อรูปไม่เที่ยงมันเป็นทุกข์หรือเป็นสุข เมื่อมันเป็นทุกข์ควรจะถือว่านั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเราดังนี้หรือหาไม่ มันก็จะไม่มีความรู้สึกว่านั่นเป็นเรา นั่นเป็นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา พิจารณาไปอย่างนี้ให้เห็นชัดทั้งในรูปขันธ์และเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ทั้ง๕ ขันธ์ด้วยกัน ขันธ์ทั้งหลายนั้นก็จะไม่ถูกยึดมั่นถือมั่นว่าของเรา ว่าเราหรือว่าตัวตนของเราอีกต่อไปดังนี้ เป็นสักแต่ว่าขันธ์ ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นให้เป็นอุปาทานขันธ์ ข้อนี้ต้องเข้าใจไว้ให้ดีๆ จำไว้ให้ดีๆ สำหรับชาวบ้าน สังเกตดูเห็นว่าเอาไปปนกันเสียหมด
ขึ้นชื่อว่าขันธ์แล้วก็เหมือนกันหมด มันมีอยู่ ๒ อย่างไม่เหมือนกัน ถ้าไม่มีความยึดมั่นถือมั่นก็เรียกว่าขันธ์เฉยๆ หรือขันธ์ที่ไม่มีกิเลสยึดมั่นถือมั่น แต่ถ้าขันธ์ที่มีความยึดมั่นถือมั่นหรือถูกยึดมั่นถือมั่นนั้นเรียกว่าอุปาทานขันธ์ ขันธ์นั้นอย่างหนึ่ง อุปาทานขันธ์นั้นอย่างหนึ่ง ขันธ์เฉยๆไม่มีอุปาทานยึดมั่น ถ้าขันธ์ที่มีอุปาทานยึดมั่นได้ชื่อว่าอุปาทานขันธ์ นี้คือความผิดแปลกแตกต่างกันระหว่างขันธ์เฉยๆกับ(นาที 00:28:23)(กล่าวผิด)ปัญจุปาทานขันธ์ กับอุปาทานขันธ์ ถ้าพูดทีเดียวทั้ง ๕ อย่างเราก็เรียกว่าปัญจขันธ์หรือเบญจขันธ์นี้ไม่ถูกยึดมั่นถือมั่น ถ้าถูกยึดมั่นถือมั่นเราเรียกว่าปัญจุปาทานขันธ์ เหมือนที่เราสวดอยู่ทุกวันๆว่า สํขิตฺเตนปัญฺจุปาทานักฺขันฺธาทุกฺขา เมื่อกล่าวโดยย่อแล้วเบญจขันธ์ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานเป็นตัวทุกข์ นี้พูดชัดลงไปเลยว่าเบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน แต่ในบางทีเราพูดว่าเบญจขันธ์เฉยๆ ก็จริง แต่ความหมายนั้นหมายถึงเบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน นี้เพราะเหตุใด นี้ก็เพราะเหตุว่าคนธรรมดาสามัญที่เป็นปุถุชนนั้นจะยึดมั่นถือมั่นในขันธ์อยู่เป็นธรรมดา แต่เมื่อไม่มีการยึดมั่นถือมั่นก็ไม่มีความรู้สึกในขันธ์เหล่านั้น ต่อเมื่อมีความยึดมั่นถือมั่นจึงจะมีความรู้สึกในขันธ์เหล่านั้น ดังนั้นจึงถือว่าปัญจุปาทานขันธ์เกิดขึ้นมาก็ต่อเมื่อมีความยึดมั่นถือมั่น เมื่อไม่มีความยึดมั่นถือมั่นก็ไม่สนใจ ไม่นึกถึง ราวกับว่าไม่มี นั่นแหละเราจะเรียกว่าขันธ์ที่ยังไม่ถูกยึดมั่นถือมั่นเพราะยังบริสุทธิ์ดีอยู่ จิตนั้นยังเรียกว่าประภัสสร เพราะว่าไม่ไปเที่ยวยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด มีลักษณะเป็นประภัสสร ไม่มีอาคันตุกะกิเลสที่จรเข้ามาครอบงำ เวลานั้นเราก็สบาย เวลาที่จิตใจสบายหรือเราสบาย นั่นแหละคือเวลาที่จิตเป็นประภัสสร พอไปยึดมั่นถือมั่นในรูปเป็นต้นขึ้นมาแล้ว มันก็สูญเสียความเป็นประภัสสร มันก็เป็นจิตที่ถูกขันธ์กัดกิน มีความทุกข์ จนกว่ามันจะสิ้นเรื่องจบเรื่องกัน มันจะกลับไปสู่ความเป็นประภัสสรได้อีกและก็จนกว่าจะถูกกัดกินอีก สูญเสียความเป็นประภัสสร เมื่อพิจารณาเห็นอยู่ว่ารูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มันไม่ควรยึดมั่นว่าตัวตน เวทนาก็อย่างนั้น สัญญาก็อย่างนั้น สังขารก็อย่างนั้น วิญญาณก็อย่างนั้น นี้เรียกว่าเป็นผู้ปฏิบัติมาถึงขั้นที่เรียกได้ว่าภิกษุนั้นย่อมยุบอยู่เสมอ ไม่ยอมก่อ ย่อมไม่ก่ออยู่เสมอซึ่งขันธ์ทั้งหลาย ในขณะที่พิจาณาอยู่อย่างนี้เรียกว่าย่อมยุบ มันเสียเรื่อย ไม่ยอมก่อมันขึ้นมาซึ่งขันธ์ทั้งหลาย เมื่อพิจาณาอยู่อย่างนี้เรียกว่าย่อมละมันอยู่เรื่อย ย่อมไม่ยึดถือเอา หรือว่าเมื่อพิจารณาอยู่อย่างนี้เรียกว่าตีให้มันแตกกระจายอยู่เรื่อย ไม่รวมกองเข้ามา หรือว่าเมื่อพิจาณาอยู่อย่างนี้เรียกว่าทำให้มันมอดลงไป อย่าให้มันลุกโพลงขึ้นมา
นี่ขอให้ทุกคนพยายามกันทำการพิจารณาซึ่งขันธ์ทั้งหลายอยู่อย่างนี้ว่าไม่เที่ยง ว่าเป็นทุกข์ ว่าไม่ควรจะถือว่าเป็นของเราหรือเป็นตัวเรา หรือเป็นอัตตาของเรา พิจารณาอยู่อย่างนี้ทุกคราวที่ได้เกิดความรู้สึกเป็นตัวตนขึ้นมาทางหู ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ที่มันจะก่อเป็นปัญจุปาทานขันธ์ขึ้นมาในเวลานั้นๆ ให้มีสติสัมปัชชัญญะ พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในลักษณะที่ว่ามาดังนี้แล้ว พระพุทธเจ้าท่านเรียกคนชนิดนี้ว่า(นาที 00:33:47)อัปปจินาติโนอาจินนาติ เธอนั้นย่อมยุบมันเรื่อย ไม่ก่อมันขึ้นมา(นาที 00:33:30)พชหติโนอุปาติเจติ เธอนั้นย่อมละ ย่อมสละ ย่อมขว้างทิ้งมันอยู่เรื่อย ย่อมไม่ถือเอา (นาที 00:33:44)วิสิเนตินอุสิเนติ เธอนั้นย่อมทำกระจัดกระจายอยู่เรื่อย ไม่ยอมรวมกองให้เป็นกอง (นาที 00:33:58)วิทูเปติ นสันทูเปติ เธอนั้นย่อมทำให้มันมอดอยู่เรื่อย ไม่ให้มันลุกโพลงๆ ขึ้นมาได้ดังนี้ นี้จะเห็นได้ว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องทำ ยังกำลังกระทำอยู่และพยายามที่จะกระทำให้สำเร็จด้วย ในการจะยุบมันเสีย อย่าให้มันเป็นกอง อย่าก่อมันขึ้นมา พยายามจะละมันเสีย อย่าไปยึดถือเอา พยายามทำให้มันกระจายหายไป อย่ารวมมันขึ้นมาให้เป็นกลุ่ม เป็นก้อน เป็นกอง เพราะว่าพยายามกระทำให้มันมอด ให้มันดับ อย่าให้มันลุกโพลงๆ ขึ้นมานี้ระยะหนึ่งหรือระยะของการปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ ทีนี้เมื่อทำอยู่อย่างนี้มันก็มีความสำเร็จในการที่จะเกิดญาณประเภท(นาที 00:35:17)ธรรมจิติญาณ คือเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้วทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ความคลายกำหนัดและความดับอยู่ตลอดเวลา เมื่อสมควรแก่เวลามันก็จะเกิดญาณประเภทนิพพานญาณ คือการดับเสียซึ่งกิเลสและความทุกข์ แล้วก็เกิดความรู้ว่าดับแล้ว หลุดพ้นแล้ว เกิดญาณว่าพ้นแล้วดับแล้ว เพราะชาติที่แล้วพรหมจรรย์ประพฤติแล้ว กิจที่ต้องทำทำเสร็จแล้ว กิจที่จะต้องทำต่อไปเพื่อดับทุกข์นี้มิได้มีเหลือให้ทำอีกแล้ว นี่คือผลของความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด มันหลุดพ้นออกไปได้ เมื่อถึงขณะนี้ก็เรียกว่าเป็นพระอรหันต์ บรรลุความเป็นพระอรหันต์ ครั้นเป็นพระอรหันต์แล้ว มันก็เปลี่ยนคำพูดเป็นอย่างอื่นซึ่งจะต้องระวังหรือฟังให้ดีๆ เพราะเมื่อกำลังปฏิบัติเพื่อเป็นพระอรหันต์นั้น มันต้องคอยยุบไว้เรื่อย คอยละไว้เรื่อย คอยทำให้กระจัดกระจายไว้เรื่อย คอยทำให้ดับให้มอดอยู่เรื่อย นี้เรียกว่าญาณในขณะแห่งการปฏิบัติหรือจะเรียกว่า(นาที 00:37:08)นิพเพนิขญาณ ญาณที่จะทำลายให้มันดับไป พอมาถึงนิพพานญาณคือดับได้แล้ว มันก็มีการกล่าวเป็นอย่างอื่นว่า ผู้นั้นไม่ก่อและไม่ยุบ ไม่ต้องทำการก่อ ไม่ต้องทำการยุบ แต่มันก็เป็นการยุบอยู่ตลอดเวลา พระอรหันต์มีลักษณะไม่ทำการยุบ ไม่ทำการก่อ แต่มันมีการยุบอยู่ตลอดเวลาเพราะว่าเมื่อหมดกิเลสอันเป็นเหตุให้ยึดมั่นถือมั่นแล้ว เบญจขันธ์ที่เป็น เคยเป็นปัญจุปาทานขันธ์มันก็ยุบอยู่ตลอดเวลาคือมันไม่เกิด หรือเรียกว่าไม่ต้องละวาง ไม่ต้องถือมั่น ถือก็ไม่ถือ วางก็ไม่วาง ไม่ต้องทำการถือ ไม่ต้องทำการวาง มันก็วางอยู่เองตลอดเวลา นี้เรียกว่าไม่ต้องทำอะไร จะเห็นได้หรือเข้าใจได้ว่าไม่ต้องทำอะไร อยู่เฉยๆ มันก็มีผลอย่างเต็มที่อยู่ตลอดเวลา
ลักษณะนี้แสดงความสูงสุดของความว่างหรือสุญญตา เพราะฉะนั้นมีจิตว่างจากกิเลส ดังนั้นไม่ต้องทำการวาง ไม่ต้องทำการถือ มันก็วางอยู่ตลอดเวลา ชนิดที่เรียกว่าไม่ทำกระจัดกระจายหรือไม่ทำรวมเป็นกอง มันก็เหมือนกัน ไม่มีอะไรที่จะเป็นเหตุให้ทำการรวมกองหรือว่าทำกระจัดกระจาย แต่มันก็ทำกระจัดกระจายอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่มีความยึดมั่นถือมั่น สังขารธรรมทั้งหลายก็ไม่ถูกยึดมั่นถือมั่น คือมันเหมือนกับว่ากระจัดกระจายอยู่ตลอดเวลาหรือจะพูดว่าไม่ต้องไปทำให้มันดับ มันก็ดับอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้ไปทำให้โพลง มันก็ดับอยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องทำอะไร อยู่นิ่งๆ มันก็เป็นการดับอยู่ตลอดเวลา นี่แหละคือผลของการปฏิบัติที่ปฏิบัติสำเร็จแล้ว ปฏิบัติถึงที่สุดแล้ว คือเป็นพระอรหันต์แล้ว อยู่เฉยๆ มันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีความหมายเป็นอะไรที่ว่าจะต้องทำอะไร แต่แล้วมันก็เป็นการดับทุกข์ ไม่มีทุกข์อยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องดับทุกข์อีกแล้ว ทุกข์ก็ไม่มีอีกต่อไป นี่ต้องเข้าใจให้ดีๆ เมื่อยังไม่เป็นพระอรหันต์ก็ต้องพยายามดับทุกข์อยู่เรื่อย เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วไม่ต้องทำการดับทุกข์ ทุกข์มันก็ดับอยู่เรื่อย มันยิ่งกว่าดับคือว่ามันไม่อาจจะเกิดขึ้น ก็มีค่าเท่ากับว่ามันดับอยู่ตลอดเวลา นี้เรียกว่าน่าอัศจรรย์ ไม่ก่อ ไม่ยุบ มันก็ยุบอยู่เองตลอดเวลา ไม่ทิ้งขว้าง ไม่ถือเอา แต่มันก็ทิ้งขว้างอยู่ตลอดเวลา ไม่รวมกองก็ไม่ทำกระจัดกระจาย แต่มันก็กระจัดกระจายอยู่ตลอดเวลา ไม่ทำมอด ทำดับ ไม่ทำลุก ทำโพลง แต่มันก็ดับอยู่ตลอดเวลา เป็นคำพูดที่ผิดจากธรรมดาที่เราพูดๆกันอยู่หรือรู้สึกกันอยู่ เพราะว่าเรายังไม่สามารถที่จะปฏิบัติถึงขนาดที่เรียกว่าว่าง ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น ยังมีความยึดมั่นถือมั่นอยู่ ยังเป็นทุกข์อยู่ มันก็ต้องทำอย่างนั้น มันก็ต้องทำอย่างนี้ มีความยาก มีความลำบาก แม้ในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์นั่นเอง ฉะนั้นการทำความดับทุกข์นั้นมันก็โกลาหลบ้างเหมือนกัน ต้องพยายามทำอย่างนั้น ต้องพยายามทำอย่างนี้ ยิ่งรู้มากก็ยิ่งยากนาน แต่ถ้ารู้วิธีที่ถูกต้องแล้วมันก็ไม่มีความลำบากมากถึงขนาดนั้น แล้วเมื่อทำเสร็จแล้วมันก็ไม่มีเรื่องอะไรที่จะต้องทำอีกจึงเรียกว่าพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจที่ต้องทำอีกมิได้มี แต่แล้วก็เป็นผู้ที่ไม่มีความทุกข์เลย ไม่ต้องทำความดับทุกข์ ทุกข์ก็ดับอยู่ตลอดเวลาดังนี้ นี้เรียกว่าเป็นบุคคลผู้เป็นพระอรหัต์คือว่าเป็นผู้ที่ถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์ เป็นผู้สมควร เป็นผู้หักสังสารจักรคือวงล้อแห่งสังสารวัฏก็ได้
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเทวดาทั้งหลาย แม้เทวดาทั้งหลายก็ย่อมนมัสการภิกษุอรหันต์นั้น แม้ว่าไม่เคยรู้จัก ก็ยังเพ่งเฉพาะที่เรียกว่ากระหยิ่มต่อพระอรหันต์นั้น ที่ว่าไม่รู้จักนี้ก็หมายความว่าไม่ต้องรู้จักว่าเป็นใคร รู้จักแต่ว่าผู้นี้ไม่ต้องทำการดับอะไรอีกต่อไป สิ่งทั้งหลายก็ดับสนิทอยู่อย่างนั้น เปรียบเหมือนว่าไม่ต้องทำการดับไฟอีกต่อไป ไฟมันก็ดับอยู่อย่างนั้น คุณปุถุชนนั้นถ้าไม่ดับไฟ ไฟมันก็ไหม้ มันก็ลุก มันก็แผดเผา มันก็กัดกินอยู่เรื่อย แต่เมื่อเป็นพระอรหันต์ในลักษณะอย่างนี้ไม่ต้องทำการดับไฟ ไฟมันก็ดับอยู่เรื่อย บัดนี้ไม่ถูกขันธ์กัดกินอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นเทวดา แม้เทวดาก็จะบูชาพระอรหันต์นั้น ทำไมต้องอ้างถึงเทวดา เพราะว่าเทวดานี้เขาหมายถึงผู้ที่อยู่ในโลกนี้ด้วยความผาสุก สนุกสนาน เสวยสุขารมณ์ ไม่เหมือนกับมนุษย์ที่ยังมีความยุ่งยากลำบากอยู่ แต่ว่าแม้เทวดาจะเป็นผู้เสวยสุขารมณ์อย่างนี้อยู่ ก็ยังยอมไหว้นมัสการพระอรหันต์ เพราะรู้สึกว่าพระอรหันต์นี้ดีกว่าความเป็นเทวดาที่เสวยความสุขอย่างเทวดา นี้ย่อมเป็นการแสดงอยู่ในตัวแล้วว่าความเป็นพระอรหันต์นั้นประเสริฐกว่าความเป็นเทวดาอย่างที่จะเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย เพราะว่าพวกเทวดานั้นก็ถูกขันธ์กัดกินอยู่ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง แม้จะไม่มาก แม้จะไม่เหมือนพวกมนุษย์ที่ถูกขันธ์กัดกิน พวกเทวดานี้ก็เรียกว่ามีบุญ คนที่ทำบุญก็ได้เกิดเป็นเทวดา ได้เสวยความสุขในกามาวจรเพราะว่ามันมีบุญ มันไม่ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ แล้วมันก็ยังได้เสวยรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสตามใจชอบ แต่แล้วก็ยังถูกขันธ์กัดกินเพราะว่าแม้จะยึดมั่น ในรูป เสียง กลิ่น รส ที่เป็นกามารมณ์ให้สุขเวทนา ไอ้ความยึดมั่นถือมั่นนั้นมันก็ยังกัดเอา ทำให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้เกิดความกลัว ให้เกิดความสะดุ้งหวาดเสียว นี้เรียกว่าขันธ์ก็ยังกัดกินแม้แต่พวกเทวดา ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงมนุษย์สามัญที่ถูกขันธ์กัดกินอย่างหยาบคาย อย่างต่ำทราม เพราะเหตุฉะนั้นแหละเทวดาทั้งหลายจึงได้บูชาแม้พระอรหันต์ จึงได้บูชาแต่พระอรหันต์ คือยอมแพ้ นี้เป็นความสัตย์สรุปท้ายแสดงให้เห็นว่าแม้เทวดาที่เพลิดเพลินอยู่ในความสุขก็ยังยอมแพ้แก่พระอรหันต์ คือบูชาพระอรหันต์นั่นเอง
ทีนี้ก็มองดูกันต่อไปว่าลักษณะอาการอย่างนี้นั้นทำไมจึงเรียกว่าว่าง มันว่างมาก มันว่างที่สุด ว่างจนไม่มีใครที่จะดับทุกข์ ทุกข์มันก็ยังดับ ทุกข์ดับนี้คือว่างด้วยเหมือนกัน มันว่างจากตัวผู้ทุกข์ มันว่างจากตัวผู้ดับทุกข์ เพราะว่ามันไม่มีผู้ทุกข์และมันก็ไม่ต้องมีผู้ดับทุกข์ แล้วความทุกข์มันก็ไม่มี นี้เรียกว่าว่างถึงที่สุด ว่างจากความทุกข์ ว่างจากตัวผู้ทุกข์ ว่างจากตัวผู้ที่จะดับทุกข์ เรียกว่าอะไรๆ มันก็มิได้เกิด และมันดับอยู่ตลอดเวลานี้เรียกว่าว่าง และเป็นความว่างอย่างน่าอัศจรรย์ ในสูตรนี้แสดงลักษณะของความว่างหรือการปฏิบัติเพื่อจะให้ถึงซึ่งความว่างไว้ในลักษณะอย่างนี้ เชื่อว่าคงจะเป็นของแปลกสำหรับท่านทั้งหลาย พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงถึงความว่างและการปฏิบัติเพื่อให้ลุถึงความว่างไว้อย่างแปลกๆกันในสูตรนั้น ในสูตรนี้ แต่แม้ว่ามันจะแปลกกันอย่างไร ความหมายหรือ ความมุ่งหมายมันก็เหมือนกันหมด คือไว้ว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น สำนวนโวหารที่จะพูดให้แปลกนี้มันก็พูดเพื่อว่าจะได้เกิดความสนใจหรือเกิดความน่าอัศจรรย์ว่า อโหธัมโม ธรรมะนี้น่าอัศจรรย์จริง จะลองดูในแง่ลึกๆแล้วมันก็ยิ่งน่าอัศจรรย์ อโหพุทโธ อโหธัมโม อโหสังโฆ มันล้วนแต่น่าอัศจรรย์ไปหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความว่างนี้ยิ่งน่าอัศจรรย์ ยิ่งว่างก็ยิ่งไม่มีทุกข์ ยิ่งไม่มีปัญหา แต่ว่าคนก็ไม่ค่อยที่จะชอบความว่างเพราะว่าเข้าใจผิด เมื่อเข้าใจผิดแล้วก็ไม่อยากจะว่าง มันก็อยากจะวุ่น เมื่อมันไปวุ่นเข้า มันก็ถูกกัดถูกกิน ถูกเบญจขันธ์กัดกินอยู่นั่นเอง ฉะนั้นเรื่องความว่างจึงเป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง เป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง เหมือนกับที่ตรัสว่านี้ ประณีตนี้ลึกซึ้ง นี้ก็คือเรื่องความดับเสียซึ่งสังขารทั้งหลาย หรือก็คือเรื่องนิพพานซึ่งเป็นความว่างอย่างยิ่ง คำว่าว่างนี้มันก็ว่างจากอัตตา ว่างจากอัตตนียา ว่างจากอัตตาคือว่างจากตัวกู ว่างจากอัตตนียาก็คือว่างจากของกู ความรู้สึกว่ากู ว่าของกู ไม่มีอีกต่อไป พูดตามธรรมดาก็พูดว่า ความรู้สึกว่าตัวตนหรือความรู้สึกว่าของตนไม่มีอีกต่อไป เดี๋ยวนี้พูดหยาบคายหน่อยว่า พูดว่าตัวกู ว่าของกู ไม่มีความรู้สึกว่าตัวกู ไม่มีความรู้สึกว่าของกูเพราะว่าถ้ากิเลสเกิดขึ้นแล้วมันพูดหยาบคายทั้งนั้น มันรู้สึกหยาบคายนะ เป็นตัวกู เป็นของกู ยิ่งกิเลสมันพุ่งพล่านมากเท่าไร มันก็ยิ่งเป็นตัวกู เป็นของกูจัดเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงใช้คำว่าตัวกู ว่าของกู เพื่อเข้าใจง่าย ยิ่งมีตัวกู ยิ่งมีของกู ก็ยิ่งไกลจากความเป็นพระอรหันต์ ยิ่งไกลแม้จากความเป็นพระโสดาบัน พระโสดาบันนั้นพอจะพูดได้ว่ามีตัวเรา มีของเรา อะไรอยู่บ้าง แต่ว่าอย่างหยาบคายที่เรียกว่าตัวกู ว่าของกูนี้ ไม่มีแล้วแก่พระโสดาบันเพราะว่าละสักกายทิฏฐิได้ คือละ อัตตวาทุปาทานอย่างเร็วก็ได้ จึงไม่เกิดความรู้สึกว่าตัวกู ว่าของกู แต่มีความรู้สึกที่สุภาพหรือละเอียดประณีตกว่านั้น มีความรู้สึกว่าตัวเรา ว่าของเรา ว่าอัตตา ว่าอัตตนียา อยู่อย่างอ่อนๆ อย่างเนือยๆ ก็คือละอัตตวาทุปาทานชั้นละเอียดไม่ได้ ก็คือละไม่ได้หมด นี่พูดว่าตัวกู ว่าของกูนี้ ก็หมายถึงปุถุชนคนที่ไม่ละอะไรได้เสียเลย เมื่อพยายามปฏิบัติไปจนละอะไรที่เป็นตัวกู ของกูเสียได้ ก็เหลือแต่ตัวเรา เหลือแต่ของเรานี่ คือมีความยึดมั่นถือมั่นที่น้อยลงมาก เรียกว่าเป็นผู้ถึงกระแสแห่งธรรม ถึงกระแสแห่งพระนิพพาน แล้วก็เดินต่อไปๆ ก็จึงใกล้พระนิพพานยิ่งขึ้นไปทุกที หรือจะดับอัตตา ดับอัตตนียาเสียได้นั่นเอง ถ้าหลัก หลักที่สั้นๆ หลักที่สำคัญ หลักที่ใหญ่หลวง มันก็จึงมีแต่เพียงว่าดับความรู้สึกว่าอัตตา ว่าอัตตนียา เสียให้ได้เท่านั้น
มีข้อความอยู่ในสูตรๆ หนึ่ง พระอานนท์ได้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่าข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ที่เขาพูดกันว่าโลกว่าง โลกว่างดังนี้นั้นมันหมายความถึงอะไรหรือด้วยเหตุเพียงเท่าไรเขาจึงได้พูดกันว่าโลกว่าง โลกว่าง พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสตอบว่า ยสมาจโคอนันท สุญญัง อัตเตนวา อัตตนีเยนวา อัสมาสุญโญโลโกติวุตจติ (นาที 00:55:03)ว่าดูก่อนอานนท์ เพราะเหตุใดที่โลกว่างจากอัตตาและอัตตนียาเพราะเหตุนั้นเขาจึงกล่าวว่าโลกว่าง คำว่าโลกในที่นี้ก็หมายถึงอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อมทุกอย่างในภายนอก ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย กระทั่งทางใจเองนี่ ถ้าโลกมันอยู่แต่โลก มันไม่มาเกี่ยวข้องกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของคนเราแล้ว ก็เหมือนกับว่าโลกนี้มิได้มี แต่เดี๋ยวนี้สิ่งที่เรียกว่าโลกนั้นเข้ามาเกี่ยวข้องกับคนเราทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็ทางจิตของเขาให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น ว่านี่ตน ว่านี่ของตน ว่านี่ตัวกู ว่านี่ของกู คือไปยึดมั่นว่าเป็นอัตตาบ้าง ยึดมั่นว่าเป็นอัตตนียาบ้าง ถ้าอย่างนี้แล้วก็เรียกว่าโลกนั้นมันไม่ว่างสำหรับบุคคลนั้นแล้ว ถ้าโลกมันว่างอยู่ตามธรรมชาติแล้วมันก็ไม่เกิดความรู้สึกว่าอัตตา ว่าอัตตนียาขึ้นแก่ใคร ทีนี้ปุถุชนคนทั่วไปนั้นมันจะไม่มองเห็นโลกโดยความเป็นของว่างได้เลย เพราะมันจะมีอัตตา อัตตนียา มีตัวเรา มีของเรา มีตัวกู มีของกู อยู่ที่นั่นที่นี่อยู่ตลอดไป ในลักษณะที่เรียกว่าถูกขันธ์กัดกินอยู่เสมอ ยกตัวอย่างให้เห็นได้ง่ายๆ ว่าเมื่อตาเห็นรูป เกิดจักษุวิญญาณขึ้นมา ๓ ประการนั้นเรียกว่าผัสสะ ผัสสะก็ให้เกิดเวทนา ก็เกิดความรู้สึกติดในรสของเวทนา ที่ว่ายึดมั่นในเวทนา ถ้าเป็นสุขเวทนาก็เป็นรัก ถ้าเป็นทุกขเวทนาก็เกลียด ถ้าเป็นอทุกขมสุขเวทนา ก็หลง ทั้งรักและทั้งเกลียดและทั้งหลงนี้เรียกว่าเป็นความยึดมั่นถือมั่น ไอ้เวทนานั้นมันก็มาจากรูป ไอ้รูปนั้นก็เลยเป็นรูปที่ถูกยึดมั่นถือมั่น ไอ้เวทนานี้ก็เลยเป็นเวทนาถูกยึดมั่นถือมั่น ความสำคัญมั่นหมายว่าตัวกูของกูซึ่งเป็นสัญญาก็ถูกยึดมั่นถือมั่น ความคิดว่าเป็นอย่างไรเกี่ยวกับไอ้สิ่งนั้นมันก็ถูกยึดมั่นถือมั่น ไอ้วิญญาณที่รู้สึกต่อสิ่งเหล่านี้อยู่ทุกระดับทุกตอนมันก็ถูกยึดมั่นถือมั่น นี้เรียกว่าเกิดเบญจขันธ์ชนิดที่ถูกยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาโดยสมบูรณ์แล้ว มันก็กัดเอา กัดเอา กัดเอา กัดจิตใจของบุคคลนั้น จะเรียกว่าบุคคลนั้นหรือ บุคคลนี้ หรือบุคคลไหนก็ได้ ไม่เรียกก็ได้ แต่ว่าจิตนั้นถูกกัด ถูกกัดเอาโดยอุปาทานนั้น คือโดยอุปัญจุปาทานขันธ์นั้น ขันธ์ที่มีอุปาทานนั้นแหละเป็นตัวกัดเอา กัดเอา กัดเอา อย่างนี้โลกมันไม่ว่างสำหรับจิตนั้น จิตที่ได้อบรมดีแล้วเป็นจิตยิ่ง เป็นจิตเจริญแล้ว ก็เห็นโลกตามที่เป็นจริงว่าไอ้โลกนี้ไม่มีส่วนไหนเลยที่จะควรยึดถือว่าเป็นอัตตาหรืออัตตนียา ไม่มีส่วนไหนเลยที่จะควรยึดถือว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา ไม่ควรยึดถือว่าเป็นตัวกูหรือเป็นของกู นั่นแหละคือผู้ที่เห็นว่าโลกว่าง นั่นแหละคือจิตที่เป็นจิตยิ่งที่ประกอบด้วยสติปัญญาความรู้ตามที่เป็นจริงว่าโลกนี้มันว่าง จิตก็เลยว่างไปด้วย เพราะไม่รู้ว่าจะไปฉวยเอาอะไร จิตอย่างนี้ไม่จับไม่วาง แต่มันก็วางอยู่เสมอ จิตอย่างนี้ไม่ก่อไม่ยุบแต่มันก็ยุบอยู่เสมอ จิตอย่างนี้ไม่รวมกองหรือไม่ทำกระจัดกระจายแต่มันก็กระจัดกระจายไม่มีที่จับที่ยึดอยู่เสมอ เรียกว่าเป็นความดับทุกข์ เป็นความดับแห่งความทุกข์หรือว่างจากความทุกข์อยู่ตลอดเวลา นี้คือจิตที่เรียกว่าจิตของพระอรหันต์
นี้เราพูดกันอย่างสมมติว่ามีพระอรหันต์ แล้วก็มีจิต แล้วก็มีจิตของพระอรหันต์ แต่ที่แท้นั้นจิตก็เป็นไปตามธรรมชาติ ในเมื่อประกอบอยู่ด้วยสติปัญญา มันก็เป็นจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วก็ไม่มีความทุกข์ เพราะฉะนั้นพระอรหันต์จึงไม่มีตัวตนที่สำหรับจะเป็นทุกข์หรือสำหรับจะดับทุกข์ หรือว่าแม้แต่ว่าจะรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ ว่ากูเป็นสุขหรือได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้อย่างนี้มันไม่มีในความรู้สึกของจิตที่หลุดพ้นแล้ว นี่ถ้าเข้าใจข้อนี้ก็จะเข้าใจว่ามันก็ไม่ต้องหลุด ไม่ต้องยึด มันก็หลุดอยู่เอง มีลักษณะเป็นธรรมชาติที่หลุดอยู่เอง ไม่ต้องวุ่น ไม่ต้องว่าง มันก็ว่างอยู่เอง เรียกว่าเป็นผู้ที่ เขาสมมติเรียกกันว่าเป็นพระอรหันต์ นี้เป็นผู้ที่ถึงจุดหมายปลายทางหรือว่าเป็นผู้ถึงที่สุดของกระแสแห่งธรรม หรือกระแสที่มีปลายหนทางเป็นนิพพาน คือถึงนิพพาน พระอรหันต์องค์ไหนก็ตามต้องเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น แม้พระอรหันต์สุกขวิปัสสกที่เรียกว่าพระอรหันต์แห้งแล้งมันก็อย่างนี้ทั้งนั้น แม้เป็นพระอรหันต์ประเภท เตวิชชา ฉฬภิญญา จตุ ปฏิสัมภิทาปัตตา มันก็อย่างนี้ทั้งนั้น ที่มันแปลกแตกต่างกันนั้นมันอยู่ที่ความ ที่คุณสมบัติพิเศษอย่างอื่น โดยมากก็เกี่ยวกับเรื่องภายนอก เรื่องคนอื่น แต่ใจความสำคัญมันมีอยู่ว่าจะต้องสิ้นอาสวะ ต้องสิ้นสุดแห่งความทุกข์ คือว่างจากตัวตนเหมือนกันหมด เป็นผู้ว่างจากกิเลส จากกองทุกข์ เป็นผู้เห็นโลกโดยความเป็นของว่างเสมอเหมือนกันหมด เราก็ไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องที่ไม่จำเป็นจะต้องพูด จะเป็นพระอรหันต์ชนิดไหนก็ จะแตกต่างกันอย่างไรก็ไม่ต้องไปสนใจก็ได้ สนใจแต่ว่ามันไม่มีความทุกข์เหมือนกันหมด ดับทุกข์ได้เหมือนกันหมด เข้าถึงความว่างเหมือนกันหมด มีจิตว่างเหมือนกันหมด อยู่เฉยๆมันก็เป็นความดับทุกข์อยู่ในตัวมันเอง ไม่มีอะไรที่จะทำให้ทุกข์เกิดขึ้นได้ ไม่ถูกขันธ์กัดกินในปัจจุบันนี้แล้ว มันก็ยกเลิกกันหมด ในอนาคตก็ไม่ถูกกัดกินได้ เพราะมันถูกทำลายให้สูญสิ้นเชื้อไปเสียแล้ว สำหรับในอดีตมันก็เป็นอันว่ายกเลิกเพราะว่าไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องย้อนกลับไปยังอดีต ปัจจุบันนี้ก็ไม่มีการถูกกัดกินเพราะว่าไม่มีตัวตนที่จะถูกกัดกิน เรื่องมันก็จบลงด้วยความว่าง ว่างทุกสิ่งทุกอย่างจนถึงจะต้องพูดว่า นิพพานังปรมังสุญญัง นิพพานเป็นของว่างอย่างยิ่ง ไม่มีอะไรว่างเท่านิพพาน ก็เลยเหมือนกับว่ายกเลิกกันหมด ไม่ต้องมีอะไร ไม่ต้องมีผู้ทุกข์ ไม่ต้องมีผู้ดับทุกข์ ไม่ต้องมีสุข ไม่ต้องเป็นผู้มีสุข ขืนพูดให้เป็นผู้มีทุกข์ ดับทุกข์ มีสุขอะไรขึ้นมา มันก็เป็นคำพูดสมมุติ ลมๆแล้งๆ สำหรับพระอรหันต์ก็เป็นเรื่องลมๆแล้งๆ พูดก็ไม่มีความหมาย ไม่พูดก็ไม่มีความหมาย แต่ว่ามันมีความหมายสำหรับปุถุชนที่จะได้เกิดความสนใจในการที่จะดับทุกข์หรือว่าจะได้เป็นพระอรหันต์กันบ้างนี่ มันเป็นเรื่องโฆษณาให้ปุถุชนสนใจ เพื่อจะพยายามที่จะให้ดับทุกข์กันบ้าง แรกๆก็พูดชวนเชื่อว่าให้พยายามเป็นพระอรหันต์ มันดีอย่างนั้น มันดีอย่างนี้ แต่พอเป็นพระอรหันต์เข้าจริง ก็เหมือนกับพระอรหันต์ทั้งหลายคือไม่รู้สึกอะไร อยู่เหนือสุขเหนือทุกข์ เหนือบุญเหนือบาป เหนือได้เหนือเสีย เหนือแพ้เหนือชนะ มันคือว่าง ไม่มีตัวตนที่จะเสวยความสุขและก็ไม่รู้สึกว่าอะไรเป็นสุข ไม่รู้สึกว่าอะไรเป็นทุกข์ เนี่ยมันก็อยู่ในลักษณะที่เรียกว่า ๓ ว. ว.วาง ว.ว่าง ว.ว้าง มันก็เวิ้งว้าง ก็เลิกกัน เรื่องพระอรหันต์ก็มีใจความสั้นๆ แล้วก็จบลงอย่างนี้ นี่ขอให้ทุกๆคนทำจิตใจให้ดี
วันนี้เป็นวันพระอรหันต์ อุทิศให้แก่พระอรหันต์ จงรู้จักพระอรหันต์กันในลักษณะอย่างนี้ แล้วก็มีจิตใจชนิดที่ว่าคล้ายๆ พระอรหันต์แม้ชั่วคราว ชั่วขณะก็ยังดี ถ้าในเวลานี้ไม่รู้สึกว่าถูกขันธ์กัดกินสักชั่วขณะหนึ่ง ก็ยังเรียกได้ว่ามีความเหมือนกับพระอรหันต์ได้ชั่วขณะหนึ่ง ก็ยังดีกว่าที่จะไม่มีเสียเลย มันต่างกันแต่เพียงว่าเป็น อุปธรรมหรือเป็นออุปธรรม ไอ้วาง ว่าง ว้างของปุถุชนเรานี้มันเป็นอุปธรรมคือมันเปลี่ยนได้ เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนเป็นไม่วาง ไม่ว่าง ไม่ว้างอีกแล้ว ส่วนไอ้วาง ว่าง ว้างของพระอรหันต์นั้นมันเป็นออุปธรรม มันไม่ปรับเปลี่ยนมาเป็นตรงกันข้ามได้อีก ดูมันก็จะต่างกันเพียงเท่านี้ ที่เราก็พยายามให้มันเปลี่ยนช้าเข้า ให้มันเปลี่ยนน้อยเข้า อย่าให้มันเปลี่ยนอยู่นานๆ นี่ก็คล้ายๆ พระอรหันต์มากขึ้นๆ มันคงจะถึงที่สุดกันขึ้นได้สักวันหนึ่ง โดยไม่ต้องยุ่งยากลำบากอะไรมากนัก ระวังแต่อย่าให้ถูกขันธ์กัดกิน รู้จักกลัวกันเสียบ้าง แล้วถ้ามันกัดกินแล้วก็รู้จักละอายกันบ้าง เดี๋ยวนี้มันเป็นคนไม่ละอาย มันไม่รู้จักละอายนี่ มันเป็นคำด่าที่หยาบคายว่าคนไม่รู้จักอาย คนไม่ละอาย คนน่าไม่อาย ถูกขันธ์กัดกินเหวอะหวะหมดแล้วก็ยังไม่ละอาย แล้วก็ยังไม่กลัว มันช่างไม่มีหิริและโอตัปปะเอาเสียเลยนี่ จิตใจถูกตักเตือนอย่างนี้อยู่บ่อยๆ มันก็จะดีขึ้นเพราะรู้จักอาย รู้จักกลัวกันเสียบ้าง เป็นพระก็ไม่อาย เป็นเณรก็ไม่อาย เป็นอุบาสกก็ไม่อาย เป็นอุบาสิกาก็ไม่อาย เป็นพระก็ไม่รู้จักกลัว เป็นเณรก็ไม่รู้จักกลัว เป็นอุบาสกก็ไม่รู้จักกลัว เป็นอุบาสิกาก็ไม่รู้จักกลัว แล้วก็จะพูดอะไรกัน มันก็ต้องว่าถูกขันธ์นี้กัดกินอยู่เรื่อย เมื่อใดมีความละอาย เมื่อนั้นมีความกลัว เอ่อเมื่อนั้นมีความกลัว เมื่อนั้นก็จะมีความละอาย เมื่อมีความกลัว มีความละอายแล้วมันก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ที่ถูก ที่ชอบ คือจะไม่ถูกขันธ์นี้กัดกินอีกต่อไป อย่าออกไปยึดมั่นถือมั่นอะไร ข้าว ขันธ์มันก็เป็นขันธ์บริสุทธิ์ ไม่เป็นอุปาทานขันธ์ พอไปจับฉวยอะไรเข้า ขันธ์ที่อยู่เฉยๆมันก็กลายเป็นอุปาทานขันธ์ มันก็เป็นทุกข์ นี่ท่องไว้เสมอว่า สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกขา ว่าโดยสรุปแล้วเบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานคือตัวทุกข์ คือมันกัดเอา จิตใจมันเป็นทุกข์ มันทนทุกข์เพราะว่าขันธ์มันกัดเอา ปัจจุบันนี้เราก็ถูกขันธ์กัดกินอยู่ อดีตก็ถูกขันธ์กัดกินมาแล้ว ถ้าเรายังปล่อยไว้อย่างนี้ อนาคตก็จะถูกขันธ์กัดกินอีก รีบกระทำให้เป็นไปในลักษณะที่ว่าจะไม่ยึดมั่นเพลิดเพลินในขันธ์อันเป็นปัจจุบัน ในขันธ์อันเป็นอนาคต น้อมจิตไปเพื่อความหยุด เพื่อความดับไม่มีอะไรเหลือ ไม่มีเชื้อเหลือ นี้เป็นการเดินตามรอยพระอรหันต์อย่างถูกต้อง แล้วก็คงทันจะถึงกันสักวันหนี่ง
ธรรมเทศนาในโอกาสแห่งมาฆบูชาเป็นเครื่องระลึกแก่พระอรหันต์ จะเป็นการตักเตือนจิตใจให้มีการทำตามพระอรหันต์ มีการเดินตามรอยพระอรหันต์ ก็มีใจความสำคัญอย่างนี้ ก็เป็นการบรรยายที่สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงนี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้