แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาฏิโมกข์ของพวกเราที่นี่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกู-ของกูต่อไปตามเคย เพราะว่าเรื่องเกี่ยวกับตัวกู-ของกูนี้ พูดได้ไม่รู้จักจบ มันมีรอบด้านทุกแง่ทุกมุม เกี่ยวกับความชั่วความบาปมันก็เป็นเรื่องของตัวกู-ของกู เกี่ยวกับความดีความถูกต้องความสุขมันก็เกี่ยวอยู่กับตัวกู-ของกูคือว่าทำลายมันเสีย กระทั่งว่าไปนิพพานถึงนิพพาน หมดเรื่องหมดราวกัน มันก็ยังเป็นเรื่องที่ว่ามันหมดตัวกู มันหมดของกู มันหมดตัวกู นี่ทุกเรื่องมันไม่แคล้วไปจากเรื่องนี้ ฉะนั้นเราจึงกันพูดได้จนตายก็คงจะไม่จบ คือพระไตรปิฎกทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์นี้มันต้องเกี่ยวกับเรื่องตัวกู-ของกู แง่ใดแง่หนึ่ง หรือว่าส่วนของแง่ใดแง่หนึ่งทั้งนั้นเลย ขอให้ตั้งข้อสังเกตศึกษากันให้ดีๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้เรื่องเดียว ผมเห็นว่ามันจำเป็นอย่างนี้ หรือมันเกี่ยวข้องกันอยู่อย่างนี้ จึงได้พูดถึงเรื่องตัวกู-ของกูเรื่อย
ในครั้งที่แล้วมาสองสามครั้งนั้น เราก็พูดกันถึงเรื่อง ยิ่งรู้ธรรมะยิ่งพูดธรรมะได้มากก็ยิ่งไม่มีธรรมะ นั่นแหละก็ต้องทบทวนกันดูอีกทีหนึ่ง ทำไมยิ่งพูดธรรมะจ้อ แล้วก็ยิ่งเรียนธรรมะมาก แล้วก็พูดธรรมะจ้อยิ่งขึ้นไปอีก แล้วมันก็ไม่มีธรรมะ ไม่มีตัวธรรมะจริง นี่มันเป็นปัญหาที่สำคัญ เป็นปัญหาเฉพาะหน้าเราอยู่
ในวันนี้ก็จะได้พูดโดยหัวข้อที่คล้ายๆ กัน คือว่า ยิ่งเหน็ดเหนื่อยมาก ก็ยิ่งไม่เป็นการขูดเกลากิเลสหรือไม่ได้ธรรมะขึ้นมานั่นเอง เรื่องนี้ก็เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่มันเกี่ยวข้องกับเรา เพราะว่าเราก็ทำอะไรกันอยู่ทุกคน จะเป็นเรื่องศึกษาเล่าเรียนหรือว่าเป็นเรื่องทำการงานรับใช้พระศาสนาหรือว่าทำการละกิเลสก็ตาม ในที่สุดมันก็ยิ่งไม่พบกันกับธรรมะ หรือแม้ที่สุดแต่ว่ามันไม่ได้บุญ นี่คิดดูสิ ผมเขียนไว้ประโยคหนึ่งเป็นคำกลอน บางทีจะช่วยให้จำง่ายว่า ทำอย่างคุณ ทำจนตายไม่ได้บุญ ทำอย่างที่คุณทำอยู่นั้น ทำจนตายก็ไม่ได้บุญ คำว่าคุณในที่นี้หมายถึงทุกคน ไม่ใช่ว่าจะว่าองค์ใดองค์หนึ่งผู้ใดผู้หนึ่ง แต่ว่าหมายถึงคนโดยมาก คือทั้งโลก ทุกศาสนา ทุกชาติ ทุกภาษาด้วยซ้ำไป ทำด้วยคิดว่าจะทำบุญนั่นแหละให้ได้บุญ แต่ทำอย่างคุณทำ ทำจนตายมันก็ไม่ได้บุญ พวกชาวบ้านเขาก็คิดว่าเขาทำบุญ แต่บางทีความเป็นจริงมันกลายเป็นเสียว่าทำจนตายก็ไม่เคยได้บุญ เพราะมันไม่รู้ว่าทำให้เป็นบุญนั้นมันทำอย่างไร เขาก็ทำตามๆ กันโดยมาก มันก็ไม่ได้บุญ คือไม่ได้บุญที่แท้จริง
คำว่าบุญที่แท้จริงนั้นมันละกิเลสนะ มันชำระกิเลส มันล้าง,ล้างบาป นี่ต้องจำไว้ คำว่าบุญมันเกิดขึ้นในโลก แต่โบร่ำโบราณก่อนพุทธกาลแล้ว,คำว่าบุญ มีความหมายเพื่อจะล้างบาป คือคนเกิดรู้จักบาปและกลัวบาป มันก็ทำสิ่งที่จะล้างบาปก็เรียกว่าทำบุญ ทีนี้ถ้ามันไม่ล้างบาปมันก็ไม่ใช่บุญ ทีนี้เราทำบุญกันเดี๋ยวนี้มันล้างบาปหรือเปล่า มันก็ถูกต้องวิธีมันจึงจะล้าง หรือว่ามันต้องถูกที่สุดมันจึงจะล้างถึงที่สุด มิเช่นนั้นมันก็ล้างอย่างที่เรียกว่าหลอกๆ อย่างที่เรียกว่าเอาน้ำโคลนมาล้างเท้าที่เปื้อนโคลนอย่างนี้ แต่ขอให้จำไว้เถิดว่า คำว่าบุญนี้มันต้องการจะล้างบาปกำจัดบาป และเป็นของทุกศาสนา แม้แต่ที่เขาฆ่าสัตว์บูชายัญกันที่โบสถ์ฮินดูนั้น มันก็เพื่อหวังจะล้างบาปโดยวิธีที่สอนกันอยู่ที่นั่นเวลานั้นหรือเข้าใจกันอย่างนั้น มันอาจจะมีอะไรแฝงอยู่หลายอย่างก็ได้ ที่ว่าฆ่าสัตว์บูชายัญนี้มันก็ต้องมีผู้ออกเงินฆ่าสัตว์ที่จะถูกฆ่า และคนที่มันออกเงินนั้นมันต้องบริจาค ต้องละความตระหนี่ ต้องอะไรได้บ้างแหละ ทีนี้วิธีละความตระหนี่นั้นมันลำบากที่ว่าคนเขาไม่ค่อยเชื่อ ก็ต้องบัญญัติให้มันถูกอัธยาศัยถูกเรื่องถูกราวอะไร เอาเรื่องศักดิ์สิทธิ์เข้ามาขู่มาล่อ ถ้าออกเงินฆ่าสัตว์ที่ฆ่าบูชายัญ มันก็ต้องเสียสละต้องบริจาคทรัพย์ มันก็ล้างความตระนี่ได้บ้าง ถ้าทำด้วยความมุ่งหมายอย่างนั้น ถ้ามันทำด้วยความมุ่งหมายอย่างอื่น มันก็ไปอย่างอื่น
เดี๋ยวนี้เราจะถือหลักว่าถ้าบุญแล้วมันต้องล้างบาป เพื่อความมุ่งหมายกันอย่างนั้น ฉะนั้นทำอะไรที่เป็นบุญอยู่เป็นประจำวันนี้ก็ต้องเพื่อล้างบาป เหน็ดเหนื่อยเหงื่อไหลไคลย้อย เหน็ดเหนื่อยอย่างยิ่งนี้ก็เพื่อล้างบาป แต่ถ้าไม่ถูกวิธีมันไม่ล้างนะ แม้จะเหน็ดเหนื่อยเหงื่อไหลไคลย้อยอยู่ มันกลายเป็นไม่ล้างบาป ก็ต้องระวังให้ดีๆ อย่าไปคิดเหมาๆ ที่ว่าเรามันเหนื่อยทุกวันเหนื่อยที่สุด เหนื่อยสายตัวขาด,แทบสายตัวขาดอยู่ทุกวันแล้วก็ได้บุญหรือได้ความเจริญในทางธรรมก็ตาม นั้นมันยังไม่แน่ บางทีการทำการกระทำเช่นนั้นมันเพื่อแข่งขันกันหรือว่าประชดประชันกันอะไรก็ได้ ต้องดูให้ดี ต้องระวังให้ดีๆ ว่าที่เราเหนื่อยอย่างยิ่งทุกวันนั้นอย่าให้มันกลายเป็นเรื่องเพิ่มส่วนที่มันเป็นกิเลส คือเพื่อจะเป็นข้ออ้างว่าเก่ง ว่าดี ว่าทำมากกว่าคนอื่นหรืออะไรทำนองนี้ จะต้องระวังให้ดี บางคนไม่สู้เหนื่อยนักไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยนัก แต่มันราบรื่น มันก็ล้างกิเลสได้ บางคนทำอย่างมุทะลุดุดันประชดประชันกระทบกระทั่งอะไรอย่างนี้ มันทำเหมือนกับจะตาย มันก็ไม่เป็นบุญก็ได้ นั่นแหละเขาเรียกว่าทำเพราะอำนาจมุทะลุแห่งตัวกู-ของกู ตัวกู-ของกูนี้เมื่อมันโกรธขึ้นมาแล้วมันจะประชดประชัน จะแดกจะดันกัน จะอะไรต่างๆ มันก็เลยทำให้ไม่กลัวตายบ้าง ไม่รู้จักเหนื่อยบ้าง แต่ผลสุดท้ายสิ่งที่ทำนั้นมันก็ไม่เป็นบุญสิ เพราะมันไม่ได้ทำเพื่อบุญอันแท้จริง แล้วบางทีก็จะทำเพื่อยกเป็นเครื่องอ้างข่มขี่ผู้อื่นก็มี เพื่อทวงบุญคุณอะไรก็มี นั่นระวังเรื่องตัวกู-ของกู ถ้าอย่างนี้แล้วยิ่งเหนื่อย ยิ่งเหน็ดเหนื่อยเท่าไหร่ มันก็ยิ่งไม่ได้ผลที่จะเป็นการละกิเลสหรือว่าให้มันมีธรรมะ ฉะนั้นจึงพูดไว้เสียเลยว่าทำอย่างคุณทำจนตายไม่ได้บุญ เพราะว่ามันทำเพื่อหล่อเลี้ยงตัวกู-ของกู หล่อเลี้ยงกิเลสตัณหา ฉะนั้นต้องทำให้ถูกตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอน ที่ว่าทำลงไปแล้วให้มันบีบคั้นตัวกู-ของกูโดยไม่มีการประชดประชันอะไร
ที่ผมพูดนี้ไม่ใช่จะพูดกระแนะกระแหนกระทบกระเทียบผู้ใดก็ไม่ใช่ แต่ได้สังเกตเห็นว่าบางคนทำนี้มันทำเพื่อเบ่ง อย่างที่ภาษาหยาบๆ สมัยนี้เขาเรียกกันทำเพื่อเบ่งทับคนอื่น นั่นแหละตัวกู-ของกูโดยแท้แหละ ถึงแม้จะทำไปด้วยบ้าบิ่น ไม่ค่อยมีความรู้ผิดชอบชั่วดีถูกต้อง มันก็ยังเรียกว่าเบ่ง แล้วมันก็หล่อเลี้ยงตัวกู-ของกูเรื่อยไป มันเป็นบาปนะ นั้นมันเป็นเหงื่อที่ไม่ได้ล้างบาป แต่มันเป็นเหงื่อที่หมักหมมสะสมบาป เราเคยพูดกันมาตั้งแต่ปีก่อนโน้นมากนะเรื่องว่าทำอะไรให้เอาเหงื่อนั่นแหละเป็นเครื่องล้างตัวกู-ของกู ล้างบาปล้างกิเลสแห่งตัวกู-ของกู มันก็ถูกถ้าทำอย่างนั้น ยิ่งเหงื่อออกมากมันยิ่งล้างตัวกูหรือล้างกิเลส แต่ถ้ามันทำด้วยความมุ่งหมายอย่างอื่น เช่น เพื่อจะเบ่งจะอะไรก็ตาม แม้จะออกเหงื่อมามากเท่าไหร่ เหงื่อนั้นมันไม่ล้างกิเลส มันเพิ่มหรือมันสะสมฤทธิ์เดชแห่งตัวกู-ของกู
นี่ก็ขอให้เปรียบเทียบดู ความหมายมันอย่างเดียวกัน ก็ว่าเราเรียนธรรม เรียนธรรมะอย่างยิ่ง ไม่ไปหลับไปนอนแล้วพูดจ้อไปหมด แต่แล้วก็ไม่มีธรรมะ มันน่าหัวเราะไหม มันไม่มีธรรมะที่แท้จริงในตัวนั้นเลย นี้ก็เหมือนกัน เราทำบุญ,ทำบุญ,ทำบุญ แล้วมันไม่มีบุญเลย คือมันไม่ล้างบาปเลย มันกลับไปพอกพูนสะสมบาป
นี้คือเรื่องตัวกู-ของกูที่เราจะพูดกันได้ไม่รู้จักจบ และพูดนี้ก็พูดเพื่อให้สังเกตยิ่งๆ ขึ้นไป ให้สังเกตละเอียดลออยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะว่าเราก็ได้ทำมามากแล้ว และอายุก็มากแล้ว มันก็จะต้องดีขึ้นๆ ฉะนั้นขออย่าได้ประมาทในเรื่องนี้ จะได้ปรับปรุงที่มันไม่ค่อยจะเป็นธรรมหรือไม่ค่อยจะเป็นบุญนั่นแหละให้มันเป็นธรรม ให้มันเป็นบุญเพิ่มมากขึ้นทุกทีๆ
กิเลสที่สำคัญอย่างยิ่งอยู่ตัวหนึ่ง สำคัญที่สุดเลย แล้วก็ไม่ค่อยมีใครรู้จักด้วย แล้วก็มักจะรักกิเลสตัวนั้นกันมากที่สุด แล้วเราก็ทำอะไรให้ดีขึ้นไม่ได้ก็เพราะกิเลสตัวนั้นในชีวิตประจำวันนี้ แล้วกิเลสตัวนั้นชื่ออะไร อยากจะทบทวน ผมก็เคยออกชื่อมาให้ฟังบ่อยๆ แต่ว่าบางคนเขาไม่สนใจ และมันเป็นชื่อกิเลสที่ไม่มีอยู่ในตำราที่พวกคุณเรียนกันก็ได้ มันไปมีอยู่ในคัมภีร์หรือตำราบางอย่างบางแห่ง และมันก็เป็นกิเลสที่ประหลาดที่ไม่ระบุเป็นโลภะ โทสะ โมหะอะไร กิเลสนี้เรียกกันในภาษาธรรมะว่าวิเสวนะ วิ แปลว่าผิด เสวนะ แปลว่าเสพ,เสพคบผิด,เสพผิดคบผิด วิเสวนะแปลว่าเสพผิด กิเลสนี้โดยส่วนใหญ่เป็นเหตุให้บิดพลิ้วประชดประชัน กิเลสที่ว่าวิเสวนะนี้มันเป็นคำกว้างกิเลสที่มีความหมายกว้าง และเล็งถึงนิสัยแห่งการบิดพลิ้วไม่ยอมรับแล้วตีกลับมาเป็นการประชดประชัน คุณสังเกตดูให้ดีเถิด ถ้าเราไม่ยอมรับอะไร เราจะต่อสู้ แล้วการต่อสู้นั้นจะเป็นการประชดประชันกระทบกระเทียบที่เรียกว่าแดกดัน
นี่จะอธิบายว่าอย่างไร กิเลสตัวนี้จะเรียกชื่อสั้นๆ ว่าอย่างไร บาลีมันเรียกว่าวิเสวนะ คือเสพคบกันมาผิดๆ เมื่อเราเคยทำผิดมาตั้งแต่เล็ก พ่อแม่เราบอกเราสอนเรา เราก็ดื้อ เด็กเล็กๆ มันก็ดื้อเป็น ลองนึกถึงตัวเองเมื่อเล็กๆ มันก็ดื้อเป็น ไม่ยอมรับ ทีนี้มันไม่ใช่หยุดอยู่แค่ไม่ยอมรับนะ มันสวนกลับมาเป็นการประชดแดกดัน เราจะเห็นเด็กๆ เล็กๆ มันแดกดันพ่อแม่ ผมก็เคยถูกตีมาแล้ว แล้วมานึกโมโหโทโสอะไรขึ้นมามันก็ประชดประชัน เช่น วางของแรงๆ บ้าง เช่น เสือกถ้วยชามให้มันแตกเสียบ้างนี่ อย่างนี้มันเป็นการประชดและแดกดัน นี้เรามีกันมาตั้งแต่เล็กๆ ก็เรียกว่าเสพคบกันมาผิดตั้งแต่เล็กๆ เพราะมันเป็นเรื่องสติปัญญาอันหนึ่งเหมือนกัน แต่มันเป็นสติปัญญาที่ไม่ใช่สติปัญญาคือมันผิด มันเป็นความฉลาดที่ผิด จึงไม่ใช่สติปัญญาอันแท้จริงในทางธรรม สติปัญญาที่เป็นอันธพาล เพราะเมื่อพ่อแม่ว่าอะไรเรา เราต้องหาทางโต้แย้ง นี้ก็ต้องฉลาด แล้วต้องหาทางประชดแดกดันชนิดที่พ่อแม่จะตีเรา ก็ยากนะ เพราะว่าเรามันหาวิธีประชดประชันที่ดูยาก แต่แล้วในที่สุดมันก็ไม่พ้นหรอก เพราะว่าพ่อแม่เขาเกิดก่อนเรา เขาฉลาดกว่าเรา เขาก็จับได้ว่านี้มันเป็นเรื่องประชดแดกดัน
ทีนี้บางทีเราก็ประชดแดกดันพ่อแม่ด้วยการทำ,ทำ,ทำ ทำที่ถูกดุว่าไม่ทำอะไร เช่นเขาว่าขี้เกียจไม่กวาดบ้านอย่างนี้ มันก็ทำ ทำ ทำไปเสีย ประชด ไม่เป็นอันหลับไม่เป็นอันนอน กวาดทั้งวันแล้วยังไม่เสร็จ นี่มันจะถูกตีอีกหรือว่ามันจะต้องมีเรื่องอย่างอื่นอีก กิเลสชนิดนี้จะมีฝังอยู่ในส่วนลึกที่เรียกว่าอนุสัยสังโยชน์ด้วยเหมือนกัน มันรวมอยู่ในชื่อของอนุสัยหรือสังโยชน์ตัวใดตัวหนึ่ง แล้วมันก็จะหมดต่อเมื่อเป็นพระอริยเจ้าหรือเป็นพระอรหันต์ไปเลยก็ได้ ทำให้ใจหมดเกลี้ยงเกลา มันจะหมดต่อเมื่อเป็นพระอรหันต์นะ เป็นพระโสดา พระสกิทาคานี้มันจะหมดไปบ้าง หรือส่วนมากมันไม่หมดสิ้น กิเลสที่เรียกว่าวิเสวนะนี้
ฉะนั้นขอให้สังเกตดูพระเณรบางองค์นี้ เขาทำอะไรมาก แต่เพื่อเบ่งก็มี และทำอะไรมากเหน็ดเหนื่อยมากเพื่อความตั้งใจดีก็มีเหมือนกัน มันจะต้องรู้จักแยกแยะ ถ้าทำด้วยความตั้งใจดี ยิ่งทำมันก็ยิ่งได้บุญแหละ และก็ยิ่งมีกิเลสลดถอยด้วย ถ้าทำด้วยความประชดประชันเบ่งอะไร มันก็ยิ่งมีบาปไม่มีบุญ แล้วกิเลสนั้นจะหนาขึ้นด้วย กิเลสที่อุตส่าห์สะสมมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกตั้งแต่เด็กเล็กๆ นี้ วิเสวนะนี้มันจะหนายิ่งขึ้นด้วย จนไม่ฟังใคร จนตายเข้าโลงไปก็ไม่ยอมละ ความดื้อดึงด้วยมานะทิฏฐิหรือประชดประชันนี้ละยาก ผมเห็นคนแก่ๆ พาหอบเข้าโลงไปตั้งหลายๆ คน ไม่ยอมละ ละไม่ได้ หรือไปละกันชาติไหนก็ไม่รู้ ฉะนั้นคนที่ไม่มีธรรมะจะมีกิเลสวิเสวนะนี้มาก ฉะนั้นจึงมักจะมีแก่คนที่ไร้การศึกษา เช่น พวกคนใช้ พวกคนโง่ๆ นี้ คนที่ฉลาดเขาก็ได้รับอบรมมาดี มันเกลียดความรู้สึกชนิดนี้ แล้วในหมู่ผู้ที่มีความรู้มีการศึกษาเป็นผู้ดี เขาจะถือว่านี้เป็นกิเลสที่ใช้ไม่ได้อย่างยิ่งเลย แล้วก็รังเกียจกันเสียตั้งแต่ทีแรกๆ ฉะนั้นถ้าบิดามารดาคนใดเขาสอนลูกเล็กๆ ให้ดี อย่าให้ชอบนิสัยอันนี้แล้วก็เป็นบุญแก่เด็กๆ นั้น มิฉะนั้นจะเป็นบาป คือจะเกาะหนาและจะละยาก พอมาเป็นผู้ใหญ่เป็นอิสระมีเสรีภาพอะไรขึ้นมันก็เอาใหญ่ เพราะว่าแม้แต่เมื่อเป็นเด็กๆ พ่อแม่ตีได้ดุได้มันยังเอานี่ มันยังประชดประชัน นั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่าตัวกู ว่าของกู ซึ่งเราพูดกันไม่รู้จักจบ
เดี๋ยวนี้เราพูดถึงเรื่องตัวกู-ของกูในชื่อที่เรียกว่าวิเสวนะ คือกิเลสชื่ออะไรก็ไม่รู้ แต่มันเป็นกิเลสประเภทที่เราคุ้นเคยชอบพอรักใคร่กับมันมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกจนกระทั่งบัดนี้นะ แต่ผมจะใช้คำว่าแต่อ้อนแต่ออกนี้ก็ดูจะมากไปก็ได้ แต่ผมมองเห็นว่ามันมีเชื้ออยู่ ถ้าคำว่าอ้อนออกนี้หมายถึงเด็กที่มันรู้จักคิดจักนึก รู้จักดีใจเสียใจ รู้จักวิพากษ์วิจารณ์นั้นมันมี,มันเริ่มมีอย่างนั้นแหละ เด็กที่ยังกินนมอยู่บางคน ผมก็สังเกตเห็นว่ามันมีเหมือนกัน มันโมโหขึ้นมาแล้วมันทะลึ่งตึงตังไม่ยอมกินนมอย่างนี้เป็นต้น มันก็เป็นน้องๆ ของการประชดประชันอะไรนั่น มันดื้อก่อนแล้วมันจะสวนออกมาเป็นการประชดประชัน ฉะนั้นมันต้องคู่กันไป ความดื้อกับการประชดนี้จะต้องคู่กันไป ความดื้อมันเป็นต้นเหตุหรือว่ามันเป็นส่วนที่ยืนโรงอยู่ ประชดประชันนี้เป็นปฏิกิริยาที่แสดงออกมาก
ทีนี้เรามาคิดบัญชีดูว่าเราได้เสียเหงื่อไปแล้วกี่ลิตร กี่ปีบ กี่ถัง หรือว่ากี่เกวียน ถ้ามันออกเหงื่อวันละหนึ่งช้อนฉันข้าวนะ อู้ย,คุณไปคิดดูเถิด ในหนึ่งปีมันเป็นเกวียนแหละเหงื่อนั้นน่ะ ถ้าหลายๆ สิบปี ก็เป็นหลายๆ เกวียนเลย มันจะเป็นเหงื่อที่ล้างตัวกู หรือว่ามันจะเป็นเหงื่อที่พอกกพูนสะสมหมักหมมกิเลสแห่งตัวกู ควรจะพิจารณาดูย้อนหลังเรื่อยๆ ไป แล้วก็ดูปัจจุบันนี้ให้มากที่สุด ว่าเราได้ทำอะไรไปล้วนแต่เป็นเรื่องเหน็ดเหนื่อยต้องมีเหงื่อทั้งนั้นแหละ แล้วมันเป็นเหงื่อชนิดไหน ถึงแม้ว่าเราจะพอใจว่าเราได้ทำดี ได้ทำอะไรที่เป็นเรื่องของความดี มันก็ยังไม่ปลอดภัยในการที่จะล้างตัวกู เพราะว่าดีนี้มันก็เป็นตัวกูแบบหนึ่ง เอาล่ะ,เดี๋ยวนี้เราเอาเป็นว่าตัวกูอย่างเลวนะ มันจะล้างตัวกูอย่างเลวหรือไม่ มันจะทำให้อดทนให้ยินยอมให้ไม่ดื้อหรือไม่ นั่นแหละเป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องรู้ของตัวเองแหละ อย่าให้คนอื่นมาชี้มานั่นเลย มันลำบาก เดี๋ยวมันจะเกิดทะเลาะกันขึ้น
พระพุทธภาษิตที่เรียกว่าแปลกหรือว่าพิเศษมีอยู่หลายบท เช่นบทที่ว่าให้เห็นคำด่าเป็นคำชี้ขุมทรัพย์ นี่ก็เคยได้ยินกันมาแล้ว จะสอนพระราธะหรือสอนใครก็สุดแท้ ให้เห็นว่าคำด่าเป็นคำชี้ขุมทรัพย์ พระพุทธภาษิตนี้เป็นหมันมากกว่าที่จะเป็นประโยชน์ คือไม่มีใครยอมรับ เขาด่าเรา เราก็ด่าตอบ คำด่านี้มันก็มีความหมายหลายชนิด ถ้ามันด่ากันเฉยๆ ด่าไม่มีเหตุผล มันก็น่าโกรธอยู่ แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ยังทรงมุ่งหมายว่าให้เห็นว่าเป็นคำชี้ขุมทรัพย์ คำด่าด้วยความหวังดีของบิดามารดาครูบาอาจารย์ด่านั้นมันเป็นคำชี้ขุมทรัพย์ที่เห็นได้ง่าย แต่เราก็ไม่ยอมรับ
ทีนี้คำด่าของพวกศัตรูอันธพาลหรือคนเกลียดชังนี้ มันก็ด่าอย่างไม่มีเหตุผล มันด่าเจ็บแสบ นี่มันก็เป็นการชี้ขุมทรัพย์ แต่มันคนละแบบ คือมันเป็นการเบิกทางที่จะไปหาขุมทรัพย์ใหญ่หลวงเสียด้วย คือพระนิพพานเลย ถ้าไม่มีใครด่าเราเลย เราไม่โง่ตายโหงหรือ เราจะรู้ว่าคำด่าเป็นอย่างไรหรือว่าความโกรธเป็นอย่างไรอะไรเป็นอย่างไร เราก็ไม่มีทางรู้ ฉะนั้นเราควรจะถูกด่า เราจะได้รู้จักพิษสงของคำด่า แล้วก็จะได้รู้จักฝึกฝนจิตใจของเราให้ชนะได้โดยไม่เห็นเป็นคำด่า โดยไม่เห็นเป็นอะไร แล้วก็ไม่โกรธด้วย และเป็นข้อสอบไล่ไปในตัว ฉะนั้นคำด่าล้วนๆ ด่าเลวๆ อย่างนี้มันก็เป็นชี้ทางขุมทรัพย์ เปิดทางของขุมทรัพย์ คือพระนิพพานได้ แต่มันคงจะยากเกินไป ถ้าทำได้ก็ดี มันก็ยิ่งวิเศษ ทำได้ก็ยิ่งวิเศษ วิเศษที่สุด
แต่ทีนี้เอาแต่เพียงว่าคำด่าของครูบาอาจารย์บิดามารดา เมื่อโกรธขึ้นมาท่านก็ด่าเหมือนกัน แต่ลูกหลานหรือลูกศิษย์ก็ไม่ยอมรับว่าเป็นคำชี้ขุมทรัพย์ มันเกิดอาการโกรธดื้อต่อต้านแล้วก็ประชดประชัน ทีนี้ถ้าคิดเสียนิดเดียวว่า ถ้าเอาเหล่านั้นออกไปเสีย ความโกรธความดื้อด้านประชดประชันออกไปเสีย มันก็เป็นขุมทรัพย์ขึ้นมาทันที ขุมทรัพย์ทางอริยทรัพย์ แต่เขาตีความหมายให้พระพุทธภาษิตนี้ต่ำเกินไป เช่นว่าครูบาอาจารย์ด่านั้นก็คือให้มันฉลาดให้มันทำงานดี ให้มันขยันขันแข็ง มันจะมีเงินมีชื่อเสียง นั้นมันเป็นเรื่องโลกิยทรัพย์ ก็ได้เหมือนกัน
ฉะนั้นคำด่า คำสั่งสอน คำที่ไม่น่าฟังทั้งหลายนั้นของครูบาอาจารย์มันชี้ขุมทรัพย์อย่างโลกิยทรัพย์ก็ได้ แต่พระพุทธเจ้าท่านหมายถึงโลกุตตระทรัพย์เป็นส่วนใหญ่ โลกิยทรัพย์นี้มันเป็นธรรมดา เดี๋ยวนี้โลกเรากำลังลำบากด้วยปัญหาข้อนี้เหมือนกัน สมัยประชาธิปไตยบ้าบออะไรนี่ มันเป็นเรื่องที่ไม่ให้ตีไม่ให้ด่า ครูตีเด็กก็ต้องไปไหว้เด็ก ขอโทษเด็ก เพราะพ่อแม่ของเขาไปฟ้องศาลไปอะไรกันก็ไม่รู้ หนังสือพิมพ์มันมีอยู่บ่อยๆ ก็แปลว่าไม่ให้ตีเด็ก ไม่ให้ด่าเด็ก ไม่ให้ว่าเด็ก คำชี้ขุมทรัพย์มันก็หายไป ฉะนั้นเด็กของเราสมัยนี้จึงเป็นเด็กที่ใครว่าอะไรไม่ได้ นี่มันอยู่กันอย่างนี้ มันพอกพูนตัวกู-ของกูให้เด็ก ไม่มีใครจะล้างมันได้ เพราะว่าขนบธรรมเนียมอย่างนี้มันเกิดขึ้น ถ้าแต่ก่อนสมัยนู้นเขาให้ตีได้ ตีเด็กตีได้ บางทีตีจนเจ็บป่วยหรืออาจจะตายก็มีในบางที แม้จะตีจนเจ็บมากเขาก็ยังถือว่าเป็นของถูกต้อง ไม่ผิดร้ายแรงอะไร เดี๋ยวนี้ไม่ได้ เพียงแต่ตีด้วยไม้บรรทัดนี้ยังต้องไปขอขมาเด็ก ฉะนั้นโลกมันก็จะต้องเลวลงเพราะว่ากิเลสชื่อวิเสวนะนี้ คือว่าจะโกรธแล้วก็จะต่อต้านประชดประชัน ไม่ยอม,ไม่มีการยอม ทีนี้ส่วนใหญ่มันก็ได้รบราฆ่าฟันกัน ตอบแทนกันไปตอบแทนกันมาด้วยการตีกัน ด่ากัน ประชดประชันกัน แกล้งกันให้ฉิบฉาย มันก็มีมากขึ้น แต่เรื่องนี้ไม่ได้ประสงค์จะพูด เพราะมันเป็นเรื่องข้างนอกเกี่ยวกับคนอื่น เรื่องตัวกู-ของกูที่เป็นธรรมปาฏิโมกข์นี้มุ่งหมายที่เป็นภายใน ที่เป็นภายในบุคคลคนหนึ่งๆ เป็นปัญหาตลอดกาลจนกว่าจะเป็นพระอรหันต์จึงจะหมดสิ้น เดี๋ยวนี้ก็ทำให้มันเบาบาง พยายามปรับปรุงกันเสียใหม่ ถ้ามีเหงื่อออกมา ให้เป็นเรื่องล้างตัวกู-ของกู อย่าให้เป็นเรื่องเพิ่มความหมักหมมแห่งกิเลสตัวกู-ของกู
การทำการงานนี้เราก็ทำกันอยู่ทุกวันๆ ตามที่มันจะต้องทำเพื่อออกกำลังกายก็มี แต่ว่าส่วนใหญ่ส่วนที่แท้จริงนั้นมันต้องทำหรือควรทำเพราะว่ามันเป็นหน้าที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภิกษุเรานี้มันก็มีหน้าที่ที่จะทำการสืบอายุพระศาสนา ใช้คำว่าอย่างนั้นดีกว่า พระพุทธเจ้าท่านประสงค์อย่างนั้นว่าภิกษุหรือว่าพุทธบริษัทสี่นี้จะช่วยกันทำให้พระศาสนายังมีอยู่เป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงตลอดไปนี่ เป็นความประสงค์ของพระพุทธเจ้า ทีนี้เราก็ทำงานนี้กันในแง่ใดแง่หนึ่งอย่างใดอย่างหนึ่งกันทุกคน ผมก็ทำ พระเณรแต่ละองค์ก็ทำ ถึงแม้ว่ามันจะไม่เหมือนกัน นี้ก็เพื่อสนองพระพุทธประสงค์โดยแท้จริงต้องเป็นอย่างนั้น
ทีนี้ถ้าเลวลงมา ก็หมายความว่าใช้ข้าวปลาอาหารให้แก่พระพุทธเจ้า นี้ต้องไปคิดดูให้เข้าใจนะ ทุกคนเลยว่า ที่ได้อาหารกินอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่เพราะผมนะ หรือไม่ใช่เพราะลำพังวัดหรือสวนโมกข์นี้อย่างเดียว มันเพราะอำนาจของพระพุทธเจ้า เขาให้เรา เขาให้วัด เขาให้อะไรก็ตาม ให้ด้วยบารมีของพระพุทธเจ้า แปลว่าเรามีข้าวฉันกันอยู่ทุกวันนี้มันเป็นข้าวของพระพุทธเจ้า ถ้าเราไม่ทำก็แปลว่าเราเล่นไม่ซื่อแล้ว แต่นี้มันก็ยังไม่ค่อยมีความหมายอะไรนัก แต่นึกไว้ก็ดี ก็ทำนี้อย่างน้อยก็เพื่อว่าชดใช้ข้าวปลาอาหารที่ได้มาจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านต้องการให้สืบอายุพระศาสนา แล้วเราก็ทำงานเพื่อสืบอายุพระศาสนา เราก็มีความชอบธรรมหรือว่าสิทธิที่จะบริโภคอยู่ แต่ถ้าเราทำดี ทำถูกต้องอย่างนี้แล้วมันก็เลยพ้นนั้นไป เพราะค่าข้าวค่าอาหารนี้มันน้อย ค่าที่เราสืบพระศาสนาได้นั้นมันมาก
ทีนี้ท่านก็มาไม้อื่นว่า ฉันต้องการให้แกทำความเพียรเพื่อหมดกิเลส นี่พระพุทธเจ้าตรัส ท่านตรัสอย่างนี้นะ สืบอายุพระศาสนาก็ต้องทำแหละ ทำไปเถิด แต่ส่วนสำคัญที่สุด ต้องการให้เธอทำที่สุดทุกข์แก่ตนๆ คือทำให้หมดกิเลส ทีนี้เราก็ต้องทำให้มันเป็นไปเพื่อหมดกิเลสนั่น อย่ากินข้าวของท่านเปล่าๆ เฉยๆ หรือว่ากินข้าวของท่านแล้วกลับเพิ่มกิเลสนั่น มันเป็นเสียรูปนั้น
ทีนี้บางหมู่บางคณะไม่ทำ ไม่ทำทุกอย่าง ไม่สืบอายุพระศาสนา ไม่ทำเพื่อให้สิ้นกิเลส อย่างนี้ก็ต้องยกไปให้ชาวบ้าน ให้ชาวบ้านเป็นผู้ทวงบุญคุณ กลายเป็นกินข้าวของชาวบ้าน ไม่ใช่กินข้าวของพระพุทธเจ้าแล้ว กลายเป็นกินข้าวของชาวบ้าน ถ้าทำอะไรไม่คุ้มกันกับข้าวปลาอาหารที่ชาวบ้านถวายก็ได้ตายไปเป็นวัวเป็นลาเป็นควายลากเกวียนลากอะไรรับใช้ชาวบ้านต่อไป นี่เขาพูดกันอย่างนั้น
ทีนี้การงานที่เราทำเพื่อจะสนองพระพุทธประสงค์นั่นแหละ ต้องระวังให้ดีๆ มันจะไปเข้ารูปอย่างที่พูดทีแรก แล้วก็ตั้งใจว่าจะสนองพระพุทธประสงค์ แต่พอเราโกรธขึ้นมา อ้าว,มันเป็นอย่างอื่นเสียแล้ว มันก็ล้มละลายเหมือนกัน ทีนี้ก็จะพาลเปะปะเอาคนนั้นคนนี้ที่อยู่ข้างๆ ที่เขาไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรนี่ ความโมโหมันเกิดขึ้นแล้วมันก็ไม่ค่อยจะคิดนึกอะไรมาก ฉะนั้นจึงว่าต้องระวังให้ดีๆ อย่าให้มีอาการอย่างนี้ กิเลสที่เรียกว่าโทสะนั้นมันก็มีอยู่แล้วในหมู่ของกิเลส ๓ อย่าง คือโลภะ โทสะ โมหะ กิเลสโทสะมันมีอยู่แล้ว ทีนี้กิเลสโทสะนี้มันจะขยายออกมาเป็นวิเสวนะอย่างที่ว่านี้เป็นเสพผิดมากขึ้นๆ เป็นนิสัยที่ต่อต้านแล้วก็พาลเปะปะนั่นนี่โน่นไป มันโกรธได้ โกรธคนก็ได้ โกรธสัตว์ก็ได้ โกรธวัตถุสิ่งของก็ได้ นั่นมันคืออาการที่ประชดประชัน ฉะนั้นอันแรกมันก็จะต้องป้องกันกิเลสที่ชื่อว่าโทสะนั้นแหละก่อน ให้เห็นว่าคำด่าหรือคำอะไรมันเป็นคำชี้ขุมทรัพย์ อย่าเพิ่งโกรธ ถ้าโกรธเสียแล้วมันก็ต้องเตลิดไปเป็นประชดประชันแดกดันเป็นเรื่องเป็นราวไปเลย มันก็เลยตัดหนทางด้วยการไม่โกรธคือความอดทน
ข้อนี้ก็ไปศึกษาเอาจากคำว่าขันตี ขันตี-ความอดกลั้นอดทน มันมีอยู่มาก พุทธภาษิตเกี่ยวกับคำว่าขันตีมีอยู่มาก ไปเปิดดูพระพุทธศาสนสุภาษิตเล่มที่หนึ่ง หมวดขันตี มันจะมีใจความสำคัญว่า ขันตีห้ามไว้ได้ซึ่งความผลุนผลันนั่น เรามันผลุนผลันและไม่มีอะไรห้าม และสิ่งที่จะห้ามมันคือขันตี เมื่อไม่คบกันกับขันตี มันก็ไม่มีอะไรจะห้าม นี่มันจะไปในแบบที่ไม่พึงปรารถนาแหละ หรือพูดไว้กว้างกว่านั้นก็ว่า ขนฺตี พลํ วยตีนํ ขันตีเป็นกำลังอย่างยิ่งของผู้ที่บำเพ็ญพรตพรหมจรรย์ นักบวชภิกษุสามเณรคนใดไม่มีขันตี คนนั้นจะหมดกำลังสำหรับประพฤติพรหมจรรย์ นั่นตรัสว่าอย่างนั้น ฉะนั้นต้องสร้างสิ่งที่เรียกว่าขันตีให้มันมีมากเข้าไว้ ก็คือมีกำลังสำหรับบำเพ็ญพรตพรหมจรรย์นี้มาก นั่นแหละคือจะต่อสู้ความโกรธได้ แล้วก็ไม่เกิดวิเสวนะที่เรียกว่าปฏิกิริยาประชดประชันแดกดันด้วยการทำอะไรเตลิดเปิดเปิงออกไป ซึ่งล้วนแต่เป็นส่วนเสียทั้งนั้น ตอนนี้มันจะไม่มีส่วนดีเลย ที่เราทำดีๆ อยู่มันก็กลายเป็นไม่ดีไปก็ได้
ทีนี้มันก็มองเห็นกันอยู่แล้วโดยไม่ต้องพูดว่า การละกิเลสหรือการประพฤติพรหมจรรย์นี้มันไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ สักว่าพอคิดว่าจะทำก็ทำได้ หรือว่าทำลงไปครั้งเดียวมันก็สำเร็จได้ อย่างนี้มันไม่มี มันทำยาก มันต้องทำซ้ำๆ ซากๆ ทำอยู่เป็นนิสัยนั่น มันจึงจะแก้นิสัยได้ ต้องสร้างนิสัยอันใหม่เพื่อแก้นิสัยอันเก่า นี่เราจะต้องสร้างกันเท่าไหร่จึงจะแก้นิสัยที่มันติดมาตั้งแต่เด็กๆ นั้น กิเลสประเภทวิเสวนะ ซึ่งมีไว้เป็นกลางๆ สำหรับใช้กับเรื่องอะไรก็ได้
ฉะนั้นถ้าใครเกิดมาในตระกูลที่บิดามารดาได้ดูแลมาเป็นอย่างดี ไม่เป็นโอกาสให้ทำการโกรธประชดประชันอย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นบุญของเด็กคนนั้น เดี๋ยวนี้เราดูเหมือนจะไม่มีอย่างนั้น มันปล่อยกันมาตามเรื่อง แล้วมาแก้ปัญหาเอาเอง อายุ ๒๐ ปีแล้ว ๓๐ ปีแล้ว ๔๐ ปีแล้ว ๕๐-๖๐-๗๐ปีแล้วนี่ มันพอก,พอกพูนมากขึ้นหรือว่ามันลดลงๆ ถ้าสติปัญญามันมีขึ้นมามันก็จะลดลงได้ มันละอายขึ้นมา มันกลัวขึ้นมา มันลดลงได้ ฉะนั้นความที่ละอายหรือความกลัวนี้มันช่วยได้ ถ้าเราเกิดไม่ละอาย ไม่กลัว มันก็ล้มละลายแน่ และไม่อดทนในที่สุด ไม่ละอายและไม่กลัวแล้วมันก็เป็นรากฐานที่ล้มละลายหมด มันก็ไม่มีความอดทน ไม่มีความอดทนก็ไม่มีกำลังที่จะต่อสู้กิเลสแน่นอน
นี่เรียกว่าเรื่องตัวกู-ของกูในแง่หนึ่ง คือยิ่งทำบุญยิ่งไม่ได้บุญ อันนั้นยิ่งศึกษาธรรมะ ยิ่งพูดธรรมะ ยิ่งไม่มีธรรมะ แต่อันนี้มันยิ่งทำบุญ มันยิ่งไม่ได้บุญ เพราะมันไปเอาคำว่าบุญนั้นผิดๆ เอาตามความคิดความเห็นของตัวตามกิเลสของตัว มันก็มีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นบาปไปโดยไม่ทันจะรู้สึกตัว นี่เข้ารูปที่ว่า ยิ่งเหงื่อออกยิ่งหมักหมมบาป ปัญหาอย่างนี้มันพูดกันต่อเมื่อปัญหาอย่างอื่นหมดไปแล้วตามลำดับ นี่ก็หมายความว่ามันเป็นเรื่องที่ละเอียดยิ่งขึ้น ละเอียดยิ่งขึ้นที่ไม่ค่อยจะสนใจกัน จึงเอามาพูด เมื่อมันถึงลำดับถึงระดับที่ควรจะพูด ให้ระวังอย่างละเอียดลออสุขุมถี่ยิบเลย ประพฤติธรรมไม่เป็นธรรมไม่มีธรรมนี่ ทำบุญไม่มีบุญ มันอยู่กันที่ตรงนี้แหละ ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็ไปนิพพานกันหมดแล้ว เดี๋ยวนี้มันก็ยังมาติดอยู่แค่ว่าทำบุญก็ยังไม่มีบุญ มันเป็นธรรมเนียมประเพณีทำบุญ แล้วก็แจกบุญ ให้บุญ แบ่งส่วนบุญ แผ่ส่วนบุญ ในที่สุดมันพบว่ามันไม่มีบุญ ก็เลยน่าหัวเราะ เพื่อจะป้องกันข้อนี้แหละ ช่วยกันจำๆ ไว้ ศึกษาธรรมะ พูดธรรมะ มันก็ต้องให้มีธรรมะจริงๆ ด้วย ที่ว่าทำบุญ สอนเขาให้ทำบุญ แบ่งส่วนบุญให้เขา มันก็ควรจะมีบุญที่แท้จริงด้วย
นี่ขอให้จำไปเพื่อช่วยตัวเอง คือแก้ไขตัวเองให้มันเข้ารูปเข้ารอยยิ่งขึ้น และก็เพื่อช่วยผู้อื่นด้วย ผู้อื่นที่เราจะต้องช่วยหรือควรจะช่วย เช่นบิดามารดาญาติพี่น้องก็ดี เพื่อนฝูงก็ดี เราต้องช่วยในสิ่งที่เขาไม่ทราบหรือไม่อาจจะช่วย โดยมากปัญหามันก็มีอยู่เหมือนๆ กันอย่างนี้แหละ เดี๋ยวนี้มาถึงขั้นนี้กันเป็นส่วนมาก ทำบุญกันเป็นการใหญ่ แต่แล้วก็มองดูแล้วมันไม่ค่อยจะมีบุญ นี่ไม่เท่าไหร่ก็จะทำบุญปีใหม่ ทำบุญอะไรกันเรื่อยไปอีกแหละ ตลอดปีและทุกๆ ปี ก็ต้องดูว่ามันมีบุญมากขึ้นหรือเปล่า ช่วยกันให้มันมีมากขึ้น บุญชั้นสูงสุดก็คือทำลายล้างกิเลสละกิเลสนี้ก็คงจะดีขึ้นจริงขึ้น แม้บุญชั้นต่ำเตี้ยถ้าถูกความหมายก็เป็นการล้างกิเลสทั้งนั้น เพียงแต่ว่าเขาเคลือบหุ้มไว้ด้วยของล่อ เช่นว่าทำบุญไปสวรรค์นี้ เอาสวรรค์มาเคลือบล่อไว้ให้ทำบุญ,ให้ทำบุญ มันก็มีส่วนล้างกิเลสอยู่บ้างเป็นธรรมดา ถ้าไม่อย่างนั้นมันจะไม่ทำเสียเลย จะไม่บริจาคเอาเสียเลย เมื่อได้บริจาคบ้างมันก็คุ้นเคยกับการบริจาคบ้าง ไปสวรรค์ก็ยังดี มันจะรู้จักว่าอิ่มอกอิ่มใจบ้าง รู้จักแน่ใจตัวเองไม่มีความทุกข์บ้างก็ยังดี เมื่อเขาได้แน่ใจว่าเรามีกุศลหรือความดีหรือบุญที่ได้กระทำไว้พอสมควรแล้ว มันก็สบายแหละ คนเรามันก็มีความสบาย,สบายใจ ไม่ค่อยหว้าเหว่ ถ้ามันไม่แน่ใจว่าสิ่งเหล่านี้ได้ทำไว้เพียงพอแล้ว มันก็เคว้งคว้าง มันก็หว้าเหว่ มันก็ลังเล มันก็สงสัย มันก็ฟุ้งซ่าน หาความสุขไม่ได้ เมื่อจิตมันฟุ้งซ่านก็หาความสุขไม่ได้ ฉะนั้นก็รีบสะสางให้มันเข้ารูป ให้มันมองเห็นว่าเป็นบุญจริง และมันก็แน่ใจว่าทำแล้ว ส่วนนั้นทำแล้ว ส่วนนั้นทำแล้ว ส่วนนั้นทำแล้ว ส่วนนั้นยังไม่ได้ทำ มันก็ทำต่อไป ที่มันทำเขวๆ อยู่ก็หมุนมาให้มันถูกให้มันตรงเสียให้มันถูกต้องเสีย
นี้คือความไม่ประมาทที่จะต้องทำกันอยู่เสมอ คุณฟังแล้วอย่าเข้าใจว่าผมมาชี้ให้เห็นสิ่งที่ทำให้ยุ่งยากลำบากใจไปเสียอีก เพราะเมื่อก่อนนี้ไม่ได้คิด มันก็สบายดีเพราะไม่ได้คิด พอมาแนะให้พิจารณาให้เห็นว่านั่นยังไม่ได้ทำ นี่ยังไม่ได้ทำ นี่ยังไม่ถึงระดับ อ้าว,ก็เกิดเป็นปัญหายุ่งยาก คล้ายๆ กับว่ามาทำให้เกิดความทุกข์ความร้อนขึ้นมาเสีย อย่าให้มันเข้าใจไปในรูปนั้น อย่าได้เข้าใจเป็นคำติเตียนให้โกรธให้เจ็บใจ หรือว่าอย่าได้เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกว่ายังต้องทำอะไรอีกมากมายยุ่งยาก แต่ควรจะมองไปในแง่ที่ว่า สิ่งที่ยังไม่ได้ทำที่เหลืออยู่ไม่มากนี้จะได้ทำเสีย กิเลสชื่อวิเสวนะนี้โดยมากเป็นตัวเล็กๆ เป็นกิเลสตัวเล็กๆ แต่แล้วมันกลายเป็นตัวใหญ่ได้ คือตัวใหญ่มันเข้ามาผสมรอยได้ ความบิดพลิ้ว ความไม่ยอมรับความจริง ความดื้อดึงต่อต้านแล้วประชดประชันนี้มันเป็นกิเลสเล็กๆ บางทีก็ไม่มีผลที่เป็นเรื่องเจ็บปวดเสียหายร้ายแรงนักก็มี แต่ว่ามันไว้ใจไม่ได้ มันมีโอกาสเมื่อไหร่ มันก็ระเบิดตูมตามออกไปได้ ทีนี้เมื่อส่วนหยาบๆ อย่างนั้นมันไม่มี ก็ยังเหลือแต่ส่วนละเอียด ค่อยๆ แก้ไขไปเสียสิ อย่าไปนอนกลัดกลุ้มอยู่ด้วยความไม่สบายใจหรือระทมทุกข์ กระทั่งเหลืออยู่เป็นความหวาดระแวงไม่รู้อะไรอยู่อย่างนั้น มันมีความหวาดระแวงว่า นั่นอันนี้จะเกิดเสียหาย ความเสียหายจะเกิดอยู่เรื่อย อย่างนี้มันก็จะเป็นโรคเส้นประสาท ระวังให้ดี ถ้าเป็นโรคเส้นประสาทแล้วก็ให้ถือว่าเสียชื่อเสียง เสียชื่อเสียงอย่างมากมายที่สุดของพุทธบริษัทโดยเฉพาะที่เป็นภิกษุ ถ้าภิกษุเป็นโรคประสาทก็เรียกว่าเสียชื่อ ทำลายธรรมะ ทำลายพระศาสนามากทีเดียว คือจิตไม่สมประกอบแล้วมันก็เสียชื่อ อย่างมากเขาเรียกว่าวิกลจริตเป็นบ้า ที่เรียกว่าโรคจิตนั่นแหละ เขาจัดไว้เป็นชั้นๆ หลายชั้น เป็นวิกลจริตเป็นบ้าอย่างแรง รองลงมาเป็นโรคเส้นประสาท รองลงมาอีกเป็นโรคทางกายที่เนื่องมาจากประสาท เช่นร่างกายไม่สบายเพราะว่าจิตวิตกกังวลหรือโกรธเคืองนี้ มีผลทางกายเป็นโรคกระเพาะบ้างเป็นอะไรบ้างเพราะประสาทไม่ปกตินี้
ทีนี้รองลงมา ถัดมา,ไม่ใช่รองลงมา มันเป็นโรคจิตทราม คืออันธพาล มุทะลุดุดัน ประชดประชัน ทีนี้รองลงไปเขาเรียกว่าโรคปัญญาอ่อน อย่างนี้มันเป็นโรคจิตเหมือนกัน แต่ว่าไม่ร้ายกาจอะไรเพราะว่ามันเป็นปัญญาอ่อน เราต้องระวังแหละ อย่ามันให้มีอาการโรคประเภทโรคจิตนี้ คือว่าจิตไม่สมประกอบ Psychiatric Disorder ความไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของมาตรฐานของจิต นี่ก็คือโรคจิต และมีอยู่เป็นชั้นๆ ชั้นๆ อย่างนี้
ทีนี้การที่ไม่ยอมหรือว่าการที่ต่อสู่ด้วยการประชดประชันเป็นอันธพาลนั้นมันเป็นพวกที่ ๓ เพราะฉะนั้นอย่าได้ถือว่าเป็นของเล็กน้อย ในโลกนี้มีปัญหายุ่งยากลำบากเพราะว่าคนเป็นโรคที่จิตไม่สมประกอบนี้มันมากขึ้นๆ มันหลายชนิด นี่พระเณรอย่าได้เป็น ถ้าเป็นแล้วก็เรียกว่าทำลายพระพุทธเจ้า ทำลายศาสนาของพระพุทธเจ้าให้เสียชื่อ ให้ไม่มีใครยินดีต่อศาสนาของพระพุทธเจ้า เพราะเขาอ้างได้ว่าพระเณรเป็นเองนี่ เพราะว่าพระเณรนี้มันอยู่ใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามันเป็นเสียเองนี่ ฉะนั้นขอให้พยายามอย่างยิ่ง อย่าโลภให้ใครเห็น อย่าโกรธให้ใครเห็น อย่าโง่ให้ใครเห็น อย่ามีวิเสวนะประการใดประการหนึ่งให้ใครเห็น ให้มีความเยือกเย็น สะอาด สว่าง สงบ มีธรรมะไว้ เอาล่ะ,วันนี้พูดเรื่องระวัง ยิ่งทำบุญยิ่งไม่ได้บุญ พอกันที