แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายธรรมปาฏิโมกข์ของพวกเราที่นี่ ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกู-ของกูตามเคยดังที่รู้กันอยู่ดีแล้ว และที่เรียกว่าธรรมปาฏิโมกข์ก็เพราะว่าเป็นหัวข้อที่เป็นประธาน เป็นใหญ่เป็นประธานของสิ่งที่เรียกว่าธรรม นี่จะต้องเตือนกันบ่อยๆ เรื่องธรรมเรื่องพระธรรมนี้ โดยเนื้อหาสรุปได้ลงที่เรื่องที่เราเรียกกันใหม่ตามชอบใจของเราที่นี่ว่าเรื่องตัวกู-ของกู บางคนยังไม่เข้าใจว่าเรื่องตัวกู-ของกูนี้มันเป็นเรื่องอะไร บางคนก็เข้าใจแล้วว่ามันเป็นเรื่องสรุปชั้นที่เป็นหัวใจของสิ่งที่เรียกว่าธรรม หมายความว่าธรรมะทั้งหมดในพุทธศาสนานี้ ถ้าเป็นเรื่องความทุกข์หรือกิเลสมันก็คือเรื่องตัวกู-ของกู ถ้ามันเป็นเรื่องดับทุกข์ดับกิเลส มันก็เป็นเรื่องดับตัวกู-ของกู ฉะนั้นเมื่อรู้เรื่องตัวกู-ของกูและดับตัวกู-ของกูได้ก็คือเรื่องทั้งหมดในพระพุทธศาสนา
ขอให้สังเกตข้อเท็จจริงข้อนี้ไว้ว่ามันพูดได้อย่างนี้ หรืออาจจะพูดอย่างอื่นด้วยถ้อยคำอื่นก็ได้ แต่มันก็สั้นอย่างนี้แหละ เช่นพระพุทธภาษิตตรัสไว้เองว่า พุทธวจนะทั้งหมดสรุปความได้ว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงอันบุคคลไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ที่เราได้ยินได้ฟังจนจำได้แล้ว ถ้าเป็นบาลีก็ว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย นี่มันก็หัวใจของพุทธศาสนาทั้งหมด และนั่นมันก็เรื่องตัวกู-ของกู คือตรัสว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ยึดมั่นถือมั่นนั้นก็คือยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู-ของกู นี้ย่อมแสดงว่าธรรมทั้งปวงมิใช่ตัวกูมิใช่ของกู ทีนี้เราจะพูดกันเกี่ยวกับเรื่องตัวกู-ของกูในแง่ไหน ปริยายไหน มุมไหนก็ตามใจ มันก็เป็นเรื่องธรรมปาฏิโมกข์ รวมอยู่ในคำว่าธรรมปาฏิโมกข์ คือหัวข้อทั้งหมดที่เป็นหลักเป็นประธานของสิ่งที่เรียกว่าธรรม ฉะนั้นขอให้เข้าใจคำว่าธรรมปาฏิโมกข์ไว้อย่างนี้เสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้มาใหม่ ไม่เคยได้ยินได้ฟัง และคำบรรยายชุดนี้ก็ไม่เคยพิมพ์ ฉะนั้นผู้มาใหม่จะไม่เข้าใจคำว่าธรรมปาฏิโมกข์ ฉะนั้นจึงพูดไว้เสมอว่าธรรมปาฏิโมกข์นั้นคืออะไร นี้เป็นอันว่าเราพูดเรื่องตัวกู-ของกูกันมาเรื่อยกี่สิบครั้งกี่ร้อยครั้ง ก็ล้วนแต่เรียกว่าธรรมปาฏิโมกข์
ทีนี้สำหรับในวันนี้ก็คงพูดเรื่องเกี่ยวกับตัวกู-ของกูในฐานะธรรมปาฏิโมกข์ แล้วก็จะได้พูดโดยหัวข้อสั้นๆ ว่า ตัวกูมันเกิดทีหลังกิเลสหรือความอยาก ตัวกูนี้เกิดทีหลังกิเลสหรือความอยาก ถ้าเข้าใจข้อนี้จะเข้าใจธรรมะที่ลึกซึ้งที่เป็นปัญหาในการปฏิบัติ เพราะเพียงแต่ฟังก็ฟังชวนฉงนอยู่แล้ว ถ้าจะพูดให้ชัดกว่านั้นต้องพูดว่าผู้อยากนั้นเกิดทีหลังความอยาก นี่คุณช่วยจำไว้ให้ดี ผมกำลังขอร้องว่า ช่วยจำไว้ให้ดีว่าผู้อยากเกิดทีหลังความอยาก ถ้าเข้าใจข้อนี้จะเข้าใจธรรมะส่วนที่กำลังติดขัดอยู่เข้าใจไม่ได้ ที่ว่าคำพูดนี้มันชวนฉงน มันก็จะฉงนว่า เอ้า,ไม่มีผู้อยากแล้วใครมันจะอยากเล่า ก็เลยคัดค้านว่า ไม่จริงกระมัง,ที่จะพูดว่าผู้อยากตัวผู้อยากนั้นมันเกิดทีหลังความอยาก นี่ก็ไปท่องไว้ก็แล้วกันว่า ผู้อยากนั้นมันเกิดทีหลังความอยาก ถ้าไม่เข้าใจก็จงพยายามทำความเข้าใจ หลักที่จะเห็นได้ง่ายๆ ก็เช่นเรื่องปฏิจจสมุปบาท ทุกคนก็จะท่องได้อยู่แล้วว่าปฏิจจสมุปบาทนั้นมีลำดับอย่างไร ว่าอาศัยตากับรูป เกิดจักษุวิญญาณขึ้นมา อาศัยตากับสิ่งที่ตาเห็นนั้นก็เกิดการเห็นทางตาขึ้นมา เรียกว่าจักษุวิญญาณ นี้อันนี้ก็แปลกแล้วที่ว่าจักษุวิญญาณนั้นเกิดทีหลังตา-รูป นี้ไม่สำคัญ ทีนี้ต่อไปอีกว่า ๓ประการนี้รวมกันแล้วเรียกว่าผัสสะ เพราะมีผัสสะจึงมีเวทนา มีความรู้สึกที่เป็นสุขเป็นทุกข์ เพราะมีเวทนาจึงมีตัณหาคือความอยาก มีเวทนาที่ประกอบอยู่ด้วยอวิชชาแล้วก็เกิดตัณหาคือความอยาก พอเกิดตัณหาแล้วก็เกิดอุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นซึ่งเป็นตัวผู้อยาก ฉะนั้นเกิดตัณหาก่อนแล้วจึงเกิดอุปาทาน ตัณหานั้นคือความอยาก อุปาทานนั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่าตัวผู้อยาก ซึ่งจะเรียกว่าตัวกูหรือของกูรวมอยู่ด้วย
นี่จำหลักปฏิจจสมุปบาทไว้ว่าตัณหาเกิดก่อนอุปาทาน แล้วก็จำใหม่ที่ผมกำลังพูดว่า ความอยากนี้เกิดก่อนตัวผู้อยาก ตัวผู้อยากเกิดทีหลังความอยาก ทีนี้ก็ต้องอธิบายว่า ในขณะที่ตาเห็นรูปแล้วเกิดจักษุวิญญาณอย่างนี้ มันก็ตามธรรมชาตินั่นแหละ ตาตามธรรมชาติ รูปตามธรรมชาติ เกิดจักษุวิญญาณตามธรรมชาติ ยังไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น ยังไม่มีกิเลสตัณหา ยังไม่เป็นอุปาทาน ยังไม่เป็นตัวตนอะไร เพียงแต่ตานี้ ซึ่งมีหน้าที่เห็น เห็นรูปแล้วก็เกิดจักษุวิญญาณ เพราะตากับรูปกระทบกันจึงเกิดจักษุวิญญาณคือการเห็นรูป นี้ก็ยังไม่มีตัวกู ๓ ประการนี้รวมกันเรียกว่าผัสสะ นี้ก็ผัสสะของการกระทบตามธรรมชาติเหมือนเอาของมากระทบกันโกกๆ นี้ ยังไม่มีตัวกูอะไร ทีนี้ผัสสะตามธรรมชาตินี้มันทำให้เกิดความรู้สึก ถ้าทางตาก็สบายตาหรือไม่สบายตา อย่างนี้ก็เรียกว่ามันเป็นเพียงความรู้สึกตามธรรมดาตามธรรมชาติ ยังไม่เป็นตัวตนอะไร ไม่เป็นตัวกู-ของกูอะไร แต่พอมันมีความรู้สึกเป็นรสอร่อยหรือไม่อร่อยทางตานี้ มันมีการสัมผัสอีกชั้นหนึ่งคือมโนวิญญาณมาสัมผัสเอาเวทนานี้อีกทีหนึ่ง ทีนี้มันไม่ใช่สัมผัสโกกๆ เหมือนกับเอาของโขกกันแล้ว แต่มันเป็นสัมผัสของมโนวิญญาณต่อผลที่เกิดมาจากการกระทบทางตา นี้ก็เรียกว่าอธิวจนสัมผัส ทีนี้ถ้าเผอิญในระยะนั้นเผลอสติ ไร้สติ อวิชชาก็ได้โอกาสเข้าผสมโรงในการที่มโนสัมผัสต่อเวทนานั้น
ทีนี้บางคนอาจจะถามว่าอวิชชามาจากไหน วิ่งมาจากไหน โผล่หัวมาจากไหน ก็รู้ไว้ว่าอวิชชาชนิดนี้เขาเรียกว่าอวิชชานุสัยหรืออวิชชาสวะ คือความเคยชินที่เราหมักหมมไว้ในสันดานของเรานั่นแหละ มันมีอยู่พร้อมและไวที่สุดที่จะออกมาทำหน้าที่ของมันนั่นแหละ เขาเรียกกันว่าอนุสัยหรืออาสวะ บางคนอธิบายว่ามันเป็นกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน นั้นพูดภาษาศีลธรรม มันจะเป็นกิเลสนอนเนื่องอยู่ในสันดานไม่ได้ อวิชชานี้มันเป็นสังขารธรรม แล้วมันมีเกิดดับเกิดดับ มันจะนอนเนื่องอยู่ในสันดานเหมือนกับตัวตนนั้นไม่ได้หรอก ฉะนั้นมันจึงเป็นอนุสัย เพียงแต่ว่าอนุสัยความเคยชินที่มันจะเกิดหรือมันเกิดง่าย อย่างนี้เขาเรียกอวิชชานุสัย ฉะนั้นมันเกิดอวิชชาได้ง่ายและเร็วเหมือนสายฟ้าแลบผสมโรงกันกับการที่มโนสัมผัสธรรมารมณ์คือเวทนานั้น ดังนั้นสัมผัสนี้มันจึงไม่ใช่สัมผัสตามธรรมชาติ โกกๆ แล้ว มันเป็นการสัมผัสของอวิชชา สัมผัสทางใจด้วยใจลงบนธรรมารมณ์ที่รู้สึกได้ทางใจ คือรสชาติของเวทนานั่นเอง สัมผัสชนิดนี้เขาเรียกว่าอธิวจนสัมผัส คือสัมผัสทางใจ เป็นครั้งที่สอง ไม่ใช่สัมผัสครั้งแรก แล้วก็เรียกมันว่าอวิชชาสัมผัส เพราะมันมีอวิชชาธรรมเข้ามาประกอบด้วย ฉะนั้นจึงมีผลต่างกัน คือจากสัมผัสชนิดนี้มันจะเกิดเวทนา ที่มาจากอวิชชาสัมผัส จึงเรียกว่าอวิชชาสัมผัสสชาเวทนา ชื่อมันยาว แปลว่าเวทนาที่เกิดมาจากอวิชชาสัมผัส นี่เป็นสัมผัสของใจต่อธรรมารมณ์ล้วนๆ ผิดกันมากกับเวทนาทีแรก ที่ว่าตาเหลือบไปเห็นอะไรเข้า มันก็เป็นอย่างนั้น สวยไม่สวยมันก็เท่านั้น มันเป็นขั้นแรกที่เรียกว่าปฏิฆสัมผัส แปลว่าสัมผัสที่เกิดจากการกระทบกระทั่งเท่านั้นเอง สัมผัสอย่างนั้นไม่ทำอะไร ไม่ทำอะไรใคร เช่น เราเห็นรูปสวย สบายตาแล้วเลิกกัน อย่างนี้มันไม่มีเรื่อง แต่เดี๋ยวนี้เห็นรูปสวยแล้วมีการสัมผัสทางมโนวิญญาณอีกครั้งหนึ่ง แล้วประกอบด้วยอวิชชาด้วย ฉะนั้นเวทนานี้จึงไม่ใช่เวทนาอย่างทีแรก มันจึงสามารถให้เกิดตัณหา ทีนี้ก็จำไว้ให้ดีว่า ตัณหานี้คือความอยาก ตัวผู้อยากยังไม่มี
นี่ตามลำดับของจิต จะเกิดตัณหาคือความอยากนี้ก่อน โดยลำพังจิตล้วนๆ ความรู้สึกทางจิต สติของจิตล้วนๆ เกิดปรุงเป็นความอยากคือตัณหาขึ้นมาได้ในจิตนั้น ทีนี้เมื่อเกิดตัณหาอย่างนี้แล้ว จึงให้เกิดอุปาทานคือจะยึดมั่นสิ่งหนึ่งในฐานะเป็นตัวผู้อยาก ยึดมั่นอีกสิ่งหนึ่งในฐานะเป็นของของผู้อยาก ฉะนั้นจิตนั่นเองที่มันเป็นเพียงว่าจิตที่มีความอยากนั่นแหละ ความอยากนั้นทำให้จิตเกิดความรู้สึกต่อไปในฐานะว่ากูอยาก ตัณหาให้เกิดอุปาทานคืออย่างนี้ ทีแรกเกิดแต่ความอยากตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติมาตามลำดับๆ เกิดความอยากขึ้นมาในจิตใจ แล้วความอยากที่เรียกว่าตัณหานั้นก็ปรุงอุปาทานที่เรียกว่าความยึดมั่นถือมั่นนั้นแหละเป็นความรู้สึกขึ้นมาว่าจิตนี้เป็นตัวกู แล้วสิ่งที่จิตได้สัมผัสนั้นเป็นของกู ฉะนั้นตัวกูกับของกูนี้เกิดทีหลังความอยาก ความอยากคือตัณหา ตัวกู-ของกูคืออุปาทาน พูดเป็นไทยๆ อีกทีหนึ่งว่า ผู้อยากเกิดทีหลังความอยาก ผู้อยากกับของที่เขาอยากนั้นเกิดทีหลังความอยาก นี้มันสำคัญมาก ถ้าไม่รู้เรื่อง มันละไม่ได้ มันสกัดไม่ได้ มันดับไม่ได้ เพราะว่ามันตั้งต้นขึ้นมาโดยธรรมชาติธรรมดาที่ไม่มีตัวผู้อยากหรือความอยาก
ขอให้ไปศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่บรรยายกันแล้วอย่างละเอียดทุกวันเสาร์คราวโน้นนั้นให้ดีๆ ให้ไล่มาตามลำดับให้ถูกต้อง ตั้งแต่ตากับรูปอาศัยกันเกิดจักษุวิญญาณ ๓ประการนี้เรียกว่าผัสสะ ผัสสะให้เกิดเวทนา เวทนาให้เกิดตัณหา ตรงคำว่าเวทนาให้เกิดตัณหานี้มันมีความลับซับซ้อนอยู่ที่นั่น มันต้องเป็นเวทนาที่เกิดมาจากอวิชชาหรือสหรคตอยู่ด้วยอวิชชา มันจึงจะเกิดตัณหาคือความอยาก ความอยากตอนนี้ยังไม่มีตัวกู-ของกู พอหลังจากนี้ความอยากนี้จะปรุงอุปาทาน คือจิตมันก็ยึดว่ากู คือจิตนั่นแหละหรือว่าตัวมโนวิญญาณอะไรก็ตามใจนั่นแหละ นั่นแหละคือตัวกู ซึ่งเป็นผู้รู้สึกต่อความอยากหรือเจ้าของความอยาก แล้วก็มีวัตถุแห่งความอยากซึ่งเป็นของกู เช่นเวทนาที่อร่อยอยู่ในจิตใจนั้นเป็นของกู แล้วจิตหรือมโนวิญญาณก็ตามถูกยึดมั่นว่าเป็นตัวกู คำอธิบายอย่างนี้ไม่มีสอนกันในโรงเรียน ฉะนั้นจึงเข้าใจเรื่องความอยากหรือผู้อยากหรือตัณหาหรืออุปาทานไม่ได้ คือพูดกันสั้นๆ ลุ่นๆ ตะลุยไปเลยจนเข้าใจไม่ได้ว่าความอยากเกิดตอนไหน ความยึดมั่นว่าผู้อยากหรือของที่เราอยากนั้นเกิดตอนไหน ทีนี้หลักในปฏิจจสมุปบาทได้อธิบายไว้ชัดแล้วเป็นลำดับอย่างนี้ ทีนี้เราก็ไม่เชื่อตัวหนังสือ ไม่เชื่อพระสูตรอะไรเหล่านั้น มาใคร่ครวญดูด้วยสติปัญญาของเราเองก็พอจะเห็นได้ ว่าตามธรรมดาเวลานี้เราไม่มีความรู้สึกเป็นตัวกู-ของกู ไม่มีอยู่ ว่างอยู่จากตัวกู-ของกูอยู่ตลอดเวลา แต่พอถึงเวลาที่มันจะเกิดนั้น มันต้องมีการเห็นรูปทางตา หรือฟังเสียงทางหู หรือดมกลิ่นทางจมูก หรือสัมผัสรสทางลิ้น สัมผัสผิวหนังทางผิวหนัง สัมผัสธรรมารมณ์ทางจิตใจ ๖อย่างนี้ขึ้นก่อน อย่างใดอย่างหนึ่งก่อน
ทีนี้ตาของเรามันก็มีอยู่ จะยกตัวอย่างในกรณีตา ซึ่งเป็นคู่แรก มันก็ต้องเห็นอยู่เรื่อย ทีนี้การเห็นตามธรรมดานั้นมันหยุดเสียแค่ปฏิฆสัมผัส คือตาเห็นรูปเกิดจักษุวิญญาณ ๓ประการนี้เรียกว่าผัสสะ เป็นปฏิฆสัมผัส มันก็หยุดเสียแค่นั้น เพราะว่าสิ่งที่เห็นนั้นมันไม่ยั่วยวนมากพอ มันไม่มีความหมายมากพอ มันไม่มีคุณค่ามากพอ เช่น คุณลองเหลือบตาไปดู ตรงนี้,นั่งอยู่ตรงนี้เหลือบตาไปดูรอบด้าน ต้นไม้นั่น ดอกไม้นั่น ใบไม้นั่น วิวนั่น วิวนี่ มันก็เห็น เห็นแล้วก็รู้สึกว่าสวยดี สบายตาดี แล้วก็หยุดกันแค่นั้น แต่ถ้ามันจะเป็นเรื่องที่จะเกิดกิเลสตัณหาอุปาทานนั้นมันต้องมีความหมายหรือคุณค่าหรือน้ำหนักอะไรมากกว่านั้น คือสิ่งที่เราเห็นนั้นเป็นที่ตั้งแห่งความอยาก เช่นเห็นรูปผู้หญิง หรือผู้หญิงเห็นรูปผู้ชายที่เป็นเหยื่อของกิเลส นี่เป็นตัวอย่างที่ง่าย ทีนี้รองลงมาก็เห็นเงินเห็นทองเห็นข้าวเห็นของ หรือรองลงมาก็เห็นต้นไม้ดอกไม้ชนิดที่หายากที่แปลกที่สวยที่ตนก็ต้องการ เพราะว่าตนก็เป็นนักเลงเล่นต้นไม้เหมือนกัน ถ้าอย่างนี้แล้วการเห็นที่เหลือบตาไปเห็นนี้มันไม่สักว่าปฏิฆสัมผัสแล้ว แม้จะเห็นต้นบอนสักต้นหนึ่งที่สวยนี่ ถ้าเป็นคนเล่นบอนแล้วมันต้องการอย่างนั้นอยู่ชนิดนั้นอยู่ มันไม่หยุดแค่ปฏิฆสัมผัสแล้ว มันจะเลยไปในรูปของอธิวจนสัมผัส คือบอนนี้สวย ความสวยนี้ก็สงเคราะห์เป็นเวทนาตามธรรมชาติ นี้อย่างหนึ่ง
ทีนี้จิตอีกส่วนหนึ่งมโนวิญญาณอีกส่วนหนึ่ง เกิดขึ้นรับเอาความสวยมาปรุงเป็นความคิดนึกที่เป็นเวทนาอย่างที่เจืออยู่ด้วยอวิชชา เพราะว่าไปติดมั่นยึดมั่นในความสวยไปหลงในความสวย นี่มันจึงคิดที่จะได้หรืออะไรเป็นเรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดตัวความอยากอย่างแรงกล้าที่จะได้ต้นไม้ต้นนี้ พอความอยากแรงกล้าแล้วมันก็เกิดความรู้สึกอีกชนิดหนึ่งถัดจากนั้นไป คือฉันผู้ต้องการนั่นแหละ นี่คือเกิดอุปาทาน แล้วก็อยากจะได้ต้นไม้ต้นนี้เป็นของฉัน นี่ผู้อยากเกิดทีหลังความอยาก ฟังแล้วไม่น่าเชื่อ แต่เรื่องทางจิตแท้ๆ เป็นอย่างนั้น เราจะต้องเห็นอะไรที่มันเป็นที่ตั้งของความอยากแล้วมันอยากลงไปด้วยอวิชชา,โง่ มันจึงจะเกิดตัณหาคือที่เป็นกิเลส มันก็เกิดอุปาทานที่ว่าเป็นผู้ เป็นตัวกู เป็นตัวฉัน เป็นตัวกู เป็นตัวเราผู้อยาก จะได้มาเป็นของเรา นี่ถ้ามันจะเป็นเรื่องของกิเลสและเกิดความทุกข์แล้วมันเป็นอย่างนี้ มีลำดับอย่างนี้ เกิดการกระทบทางอายตนะ ผัสสะ เวทนา มาสองชั้นสองหน แล้วกระทั่งเกิดตัณหา เกิดอุปาทาน ทีนี้ก็มีความทุกข์แน่
ทีนี้ในกรณีที่มันไม่เกิดความทุกข์นั้น หมายความว่าอวิชชาไม่มีโอกาสเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะว่าคนนั้นสติสัมปชัญญะดีอยู่ เห็นของสวยมันก็ไม่ต้องอยาก ไม่ต้องรัก ไม่ต้องอยาก จนถึงกับเป็นกิเลสตัณหา จะทำอะไรก็ได้ ถ้ามีสติสัมปชัญญะ เป็นแต่เพียงความต้องการตามปรกติธรรมดา ไม่ถึงกับว่าเป็นตัวกู-ของกู จะไปขอหรือจะไปซื้อหรือจะไปทำอะไรก็ได้ ก็ไม่ต้องเป็นความทุกข์ แต่ถ้ามันโง่ ยังเกิดตัณหาความอยาก ตัวผู้อยากคืออุปาทานแล้ว จะไปขอจะไปซื้อจะไปอะไรก็ตาม มันมีความกระวนกระวายใจ มันมีความทุกข์ทั้งนั้น นี่มันจึงมีอยู่ว่า เวทนานั้นที่อร่อยหรือเป็นสุข หรือว่าที่ไม่อร่อยหรือเป็นทุกข์นั้น ก็เป็นเวทนาที่เกิดมาจากวิชชาสัมผัสหรืออวิชชาสัมผัส ถ้าเกิดมาจากอวิชชาสัมผัสมันก็ต้องเกิดตัณหาอุปาทาน ถ้าเกิดจากวิชชาสัมผัสคือผู้นั้นมีสติสัมปชัญญะพอ มันก็ไม่เกิดตัณหาอุปาทาน แล้วมันก็ทำไปได้ แต่มันยากที่สุดสำหรับปุถุชนคนธรรมดาที่จะทำได้ ต้องเป็นคนที่เคยฝึกเคยหัดมาแล้ว เรียกว่าเขาเป็นผู้มีใจคอปรกติอย่างยิ่งอยู่เสมอทุกกรณีนั่นแหละจึงจะได้ ในกรณีของคนธรรมดาพออยากเข้าแล้วมันก็กระวนกระวายเหมือนจะขาดใจ มันอยากได้อะไรก็ตามใจ มันจะมีความกระวนกระวาย ตามมากตามน้อยกระทั่งอย่างที่เรียกว่าจะขาดใจ ทีนี้ถ้าคนมันเคยฝึก มันมีธรรมะ เป็นคนมีธรรมะ เป็นพระจริงเป็นอะไรจริงนี้ มันไม่เป็นอย่างนั้น มันต้องการก็ได้ แต่มันต้องการด้วยสติสัมปชัญญะไม่ต้องมีอวิชชา เห็นอะไรที่ควรจะต้องการ มันก็ต้องการได้ แล้วก็หามาได้แสวงมาทำตามเรื่องตามราวได้ โดยไม่ต้องอาศัยอวิชชาที่ให้เกิดอวิชชาสัมผัสแล้วเกิดเวทนาเกิดตัณหาอุปาทาน
ฉะนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิตประจำวันที่จะต้องระวังให้ดี ว่าอย่าให้มันเกิดชนิดนี้ขึ้นมาในวันหนึ่งๆ มันจึงจะอยู่ด้วยความเป็นพระที่เป็นพระแท้ ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็จะเกิดความโกรธ ความเกลียด ความโง่ ความหลง ความอะไรอย่างไม่ใช่พระ อย่างไม่สมกับความเป็นพระ แม้เป็นพระมันก็โกรธกันเห็นไหม มันนินทาด่าว่ากัน มันติเตียนกัน มันพูดจาสบประมาทกันนี่ มันช่วยไม่ได้ ความเป็นพระแต่เปลือกอย่างนี้ ถ้ามันไม่รู้ว่าความอยากนี้มันเกิดก่อนผู้อยาก ผู้อยากเกิดทีหลังความอยาก ก็ต้องสกัดกั้นเสียที่ความอยากอย่าให้เกิดผู้อยาก นั่นเห็นไหม,ว่ามันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ข้อเดียวนิดเดียวแต่สำคัญที่สุดที่จะมีธรรมะหรือไม่มีธรรมะ ตัวอย่างที่ง่ายๆ พอเขาด่ามานี่ เขาด่าเรานั่นแหละ เขาว่าเรา ด่าเรา สบประมาทเรานี้ มันมีอะไรเกิดขึ้น มันก็ได้ยินเสียง เสียงอะไรนี้ก็รู้เป็นเพียงปฏิฆสัมผัส รู้ว่าเสียงมาอย่างนั้น เสียงกระทบหูมีคลื่นเสียงอย่างนั้นเป็นรูปเสียงอย่างนั้น ทีนี้มันก็เกิดสัญญาตามสัญญาขันธ์ขึ้นมา จำได้และรู้ความหมายว่าเสียงนั้นคือเสียงด่า ทีนี้พอด่ามันก็รู้สึกความหมายของคำด่า มันก็เป็นทุกขเวทนา ทีนี้ก็เปลี่ยนเป็นอวิชชาสัมผัส คือรับเอาเวทนานั้นมา นี่มโนวิญญาณรับเอาเวทนานั้นมาในฐานะเป็นอวิชชาสัมผัส มันก็เกิดเวทนาที่เกิดมาจากอวิชชา คือเป็นเวทนาที่เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน เป็นที่ตั้งแห่งตัณหาและอุปาทาน มันจึงเกิดตัณหาคือความอยากในทางที่ตรงกันข้าม คือให้รู้ว่าถ้ามันเสียงเพราะมันก็อยากไปทางหนึ่ง ถ้าเสียงตรงกันข้ามคือด่าอะไรอย่างนี้ มันก็อยากไปอีกทางหนึ่ง เพราะฉะนั้นมันจึงมีความอยากที่จะต่อต้านหรือทำลายหรือด่าตอบ นี่มันจึงมีตัวผู้อยาก คือผู้รู้สึกว่าถูกด่าแล้ว ด่าเราแล้ว ต้องรู้สึกต่อเวทนาแห่งการด่านั้นก่อน แล้วก็มีความอยากที่จะทำให้สาสมกับเวทนานั้น แล้วเกิดตัวผู้ที่จะกระทำให้สาสมกับเวทนานั้น นี่ถ้าจิตมันมาถึงขั้นนี้ มันก็ด่าตอบ คือมันโกรธแล้วก็ด่าตอบ ความเป็นพระเป็นเณรก็หมดกันตรงนี้ ถ้ามันมีแต่ความอยาก ยังไม่มีตัวผู้อยาก มันก็ยังไม่มีอะไร ยังไม่มีความทุกข์ ยังไม่มีความเสียหาย ยังไม่มีความหม่นหมอง
เพราะฉะนั้นขอให้เข้าใจเรื่องนี้อย่างแจ่มแจ้งอย่างนี้ตามหัวข้ออย่างนี้ แล้วให้แจ่มแจ้งโดยรายละเอียดยิ่งขึ้นไปสำหรับจะได้ใช้ประจำวัน ประจำชั่วโมง หรือประจำนาทีก็ได้ บางคนมันโกรธง่ายทุกชั่วโมง มีเรื่องทุกชั่วโมง มีเรื่องทางจิตใจทุกชั่วโมง ไม่ใช่ทุกวัน หรือบางคนมันอาจจะทุกข์สิบห้านาทีหรือทุกนาทีก็ได้ ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง ฉะนั้นสิ่งนี้มันจึงจำเป็นที่จะต้องมีไว้สำหรับใช้ทุกนาทีหรือทุกชั่วโมงหรือทุกวันแล้วแต่กรณี ถ้าเราเป็นคนมีเรื่องมากและมีอารมณ์ร้อน มีอารมณ์ไว โกรธง่าย รักง่าย เกลียดง่าย กลัวง่าย อิจฉาริษยาง่ายอะไรทำนองนี้แล้วก็ ให้รู้ไว้เถิดว่ามันจะต้องใช้ทุกครึ่งชั่วโมงหรือทุกสิบห้านาทีก็ได้ วิชาความรู้หรือสติสัมปชัญญะอย่างนี้จำเป็นที่จะมีใช้ทุกสิบห้านาที ทุกครึ่งชั่วโมง ทุกหนึ่งชั่วโมง ทุกวัน กระทั่งทุกเดือน แล้วแต่ว่ากิเลสมันจะเบาบางมากน้อยเท่าไหร่
ฉะนั้นอย่าทำเล่นกับเรื่องการเกิดขึ้นแห่งตัวกู-ของกูคือปฏิจจสมุปบาทนั้น ถ้ามันไม่สำคัญจริงๆ แล้วพระพุทธเจ้าท่านไม่เอามาท่องเล่น ผมเคยบอกเคยอะไรในการบรรยายหลายครั้งหลายหนแล้วว่ามีสูตรอยู่สูตรเดียวบทเดียวเท่านั้นที่พระพุทธเจ้าท่านเอามาท่องเล่นอย่างพวกเด็กๆ หนุ่มๆ สาวๆ มันร้องเพลง ก็คือเรื่องปฏิจจสมุปบาท ว่าตาอาศัยรูปเกิดจักษุวิญญาณ ประจวบแห่งธรรม ๓ ประการนี้เรียกว่าผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ ชาติเป็นปัจจัยให้เกิดชรา มรณะ โสกะ ทุกขะนี้ พระพุทธเจ้ายังอุตส่าห์ท่องเล่นนะ,คิดดู ทั้งพระไตรปิฎกที่เราค้นสำรวจดู ไม่พบว่าพระพุทธเจ้าได้เอาสูตรไหนมาท่องเล่นนอกจากสูตรนี้ ฉะนั้นจะต้องถือว่ามันมีความสำคัญมาก ไม่อย่างนั้นพระพุทธเจ้าท่านไม่เอามาทรงท่องเล่น คือเรื่องที่มันทำให้เกิดตัวกู-ของกูนี้ ทีนี้ท่านว่าทางตาจบแล้วก็ว่าทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนครบทั้ง ๖ ทางนั้น แต่ว่าในบาลีเขาเขียนละไปยาล(ฯ)ไว้ ว่าทางตาทางเดียวก็พอ จะเป็นทางไหนก็ได้ มีสัมผัส แล้วมีเวทนา แล้วก็มีตัณหาคือความอยาก แล้วมีอุปาทานคือตัวกู-ของกูเกิดขึ้นถัดจากตัณหานั้น
ฉะนั้นเรายังเป็นปุถุชนหรือเป็นปุถุชนมากๆ ก็จะต้องระวังมากๆ เรื่องผู้อยากมันเกิดทีหลังความอยาก มันจึงมีความลำบากในการที่จะละกิเลส แล้วมันก็เป็นความจริงเป็นกฎของความจริงที่สุดที่ว่า ผู้อยากนี้ จู่ๆ มันจะเกิดขึ้นมาเฉยๆ ไม่ได้ ก็ดูสิ,คนเราคนหนึ่งมีร่างกายแล้วก็มีจิตใจ แล้วก็มีทวารสำหรับจิตใจ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเองด้วย มันก็มีเท่านี้ ทำไมตัวผู้อยากจึงเกิดขึ้นมาได้ มันก็มีความอยากซึ่งไม่ใช่ตัวตนอะไร เป็นลมๆ แล้งๆ ฉะนั้นความรู้สึกที่ว่าผู้อยากมันก็ลมๆ แล้งๆ เท่ากับไม่มีตัวจริงไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ความอยากก็ดี ตัวผู้อยากก็ดี สิ่งซึ่งเอามาอยากก็ดี มันไม่ใช่ตัวตน แต่มันเกิดได้เป็นเรื่องเป็นราว มันทำให้คนร้อนเป็นไฟ แล้วในบางกรณีก็ทำให้ร้อนไปถึงผู้อื่น บุรุษที่สองที่สามด้วย เช่นทะเลาะวิวาทกันอะไรอย่างนี้ นี่ไม่มีตัวตน เหลวคว้างแท้ๆ แต่เกิดขึ้นมาได้เป็นเรื่องเป็นราวอย่างนี้ ทำโลกนี้ให้เดือดร้อนทั้งโลกก็ได้ เดือดร้อนระหว่างบุคคลต่อบุคคลก็ได้ หรือว่าเดือดร้อนอยู่คนเดียวซึ่งมีอยู่เป็นประจำ มันอึดอัดขัดใจ โกรธนั่นเกลียดนี่อะไรอยู่ตามเรื่อง
นี่เรื่องตัวกู-ของกูที่มันมีความลับซับซ้อนอยู่อย่างหนึ่งว่า ตัวผู้อยากนั้นมันเกิดทีหลังความอยาก ฉะนั้นตัวกูนี้มันเกิดทีหลังสิ่งที่จะทำให้เกิดตัวกู ซึ่งไม่ใช่ตัวกูเลย ไม่ใช่ว่าพ่อแม่ของตัวกูมันจะคลอดตัวกูออกมาได้ อย่างนั้นไม่ใช่ ตัวกูมันคลอดออกมาจากความรู้สึกที่เป็นตัณหาคือความอยาก แล้วความอยากนั้นมาจากเวทนาที่เป็นอวิชชาสัมผัสสชาเวทนา ทีแรกก็มีแต่ตากับรูปกับวิญญาณ แล้วมีผัสสะ แล้วมีเวทนา แล้วมีตัณหาก็เป็นเพียงความอยากล้วนๆ แต่จากนั้นจึงมีตัวกูและมีของกู
นี่ขอให้เข้าใจว่ามันลำบากที่จะควบคุมอย่างนี้ หรือยากแก่การปฏิบัติอย่างนี้ ฉะนั้นจึงมีคำสอนว่าให้ควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย พูดอย่างนั้นมันพูดลุ่นๆ ถ้าพูดให้ถูก มันต้องพูดให้ควบคุมความรู้สึกที่เกิดมาเป็นลำดับๆ จากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้มันควบคุมไม่ได้หรอก แต่ว่าคำพูดมันก็ต้องพูดอย่างนั้นแหละว่าควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่เนื้อแท้ของมันควบคุมความรู้สึกที่มันจะเกิดมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ก็พูดเป็นปุคคลาธิษฐานอย่างสมมติไปเลยว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้เหมือนประตู แล้วก็เฝ้าประตูคุมประตู อย่างนี้มันพูดได้ แต่เรื่องมันไม่จริง มันไม่ใช่เฝ้าประตูที่สักว่าเป็นประตู มันควบคุมความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาทางประตู เมื่อโจรอะไรที่มันเข้ามาทางประตู มันต้องควบคุมนั่น มันจึงจะเรียกว่าควบคุมประตู ควบคุมสิ่งที่เข้ามาทางประตูนั่นแหละเรียกว่าควบคุมประตู เพราะว่าตัวประตูมันไม่มีความรู้สึกมันไม่ใช่ความรู้สึกอะไร มันจะมีความรู้สึกก็ต่อเมื่อมันเป็นผัสสะแล้ว ผัสสะนั้นก็ให้เกิดเวทนา เวทนาทีแรกก็เป็นเวทนาที่เป็นมาจากสัมผัสธรรมดา นี่จะเริ่มมีเรื่องแล้ว ก็แปลว่าพอรู้สึกสบายตาหรือไม่สบายตาขึ้นมาก็เริ่มการควบคุมได้แล้ว จะต้องควบคุมกันที่นั่นแล้ว ทีนี้พอมโนวิญญาณจะสัมผัสเวทนานั้นอีกทีหนึ่งนั้น ยิ่งจะต้องระวังมาก เพราะยิ่งเร็วมากรุนแรงมาก และเป็นโอกาสของอวิชชาก็ต้องยิ่งควบคุมกันใหญ่ มีสติสัมปชัญญะก็ต้องมีตรงนี้แหละ ทีนี้มโนวิญญาณจะสัมผัสลงไปครั้งที่สองบนเวทนานั้นด้วยอำนาจของอวิชชา นี่เรียกว่าอะไร,ถ้าเรียกว่าเป็นเคล็ดก็เป็นเคล็ดที่ลับที่ละเอียดที่ซ่อนอยู่ที่เรายังไม่เข้าใจ คือถ้าจะพูดว่าเป็นเครื่องกลไกอย่างกลไกของเครื่องจักรนี้ มันก็เป็นกลไกที่มันเร้นลับที่ละเอียดซับซ้อนที่สุดที่เรายังไม่เข้าใจ ฉะนั้นเราจึงควบคุมมันไม่ได้ เราจึงไม่ได้รับประโยชน์จากการศึกษาธรรมะหรือพุทธศาสนา เรารู้ธรรมะ เราพูดธรรมะได้มาก แต่เราไม่มีธรรมะ เรารู้เซ็น(Zen) เราพูดเซ็นได้มาก แต่เราไม่มีเซ็นเลย นี่ขอให้ไปคิดดู จะใช้คำอย่างไหนก็ได้ เพราะว่าธรรมะหรือเซ็นแท้ๆ ที่แท้ๆ จริงนั้นมันเอาพูดไม่ได้ มันอยู่ที่ตัวการปฏิบัติ ลูบคลำมันได้ด้วยการปฏิบัติ แล้วจะเอามาพูดก็ยังแทบจะพูดไม่ได้ ถึงแม้ที่ผมเอามาพูดนี้มันเหมือนกับเล่าเรื่องนิทานเกี่ยวกับเรื่องนั้น ตัวมันแท้ๆ ไม่รู้จะพูดว่าอย่างไร ฉะนั้นจะต้องปฏิบัติอย่างนั้น ปฏิบัติได้แล้วจึงจะมีสิ่งนั้นคือมีธรรมะนั้น แล้วก็รู้ได้เองว่าธรรมะนั้นคืออย่างไร นี่คือเรียกว่าเป็นปัจจัตตังหรือเป็นสันทิฏฐิโก มันหมายความอย่างนี้
ฉะนั้นผู้ที่เป็นนักธรรมนักอะไรก็ช่วยเอาไปคิดให้ดีๆ ว่ารู้ธรรมะพูดธรรมะได้มาก แต่ไม่มีธรรมะเลยเท่ากับปีกริ้น(แมลงชนิดหนึ่งตัวเล็กกว่าแมลงหวี่) จะเจ็บปวดหรือว่าอย่างไรก็อย่าหาว่าผมประชดหรือด่า รู้ธรรมะมาก พูดธรรมะได้มาก แต่ไม่มีธรรมะเท่าปีกริ้น เพราะมันไม่บังคับตัวกู-ของกูนี่ มันโกรธทุกคราว แล้วมันโกรธมากกว่าที่ควรจะโกรธ เรื่องมีน้อยมันก็โกรธได้มาก มันโกรธยืดยาว มันขยายออกไปเป็นอาฆาตพยาบาทจองเวร มีอยู่แม้ในพวกพระในพวกเณรแม้ในวัดเรา ไม่มากก็น้อย นี่เห็นๆ กันอยู่
ฉะนั้นเรื่องนี้ก็พูดกันอย่างเปิดเผยอย่างปรับทุกข์ ในวัดอื่นก็ตามใจเขาแหละ ที่เมืองอื่นประเทศอื่นก็ตามใจเขาแหละ แต่ว่าในวัดเรานี้ก็ยังมีปัญหาอย่างนี้อยู่มากโดยเหตุที่ไม่รู้กลไกอันละเอียดลึกลับของความอยากหรือผู้อยากหรือสิ่งที่อยาก ไม่รู้เรื่องตัวกู-ของกู มันก็ยกหูชูหางโดยไม่รู้สึกว่าเป็นตัวกู-ของกู ยิ่งมีความรู้มากยิ่งมีฝีไม้ลายมือมาก ระวังให้ดี จะมีช่องให้เกิดอันนี้มากกว่าคนที่มีความรู้น้อยมีฝีไม้ลายมือน้อย เพราะทุกคนมันชอบดี ชอบเบ่ง ชอบตัวตน ชอบตัวกู มันก็เผลอมากขึ้น,เผลอมากขึ้น,เผลอมากขึ้น จนไม่รู้ว่าอะไรอยู่ที่ไหน ประกอบกับเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ยากจนผมพูดแล้วก็จะไม่เชื่อก็ได้ ที่พูดว่าผู้อยากนี้เกิดทีหลังความอยาก อย่างนี้มันผิดลอจิค(logic)ของคนธรรมดาสามัญ คือเขาจะมีค้านทางลอจิคว่า เอ้า,ถ้าไม่มีผู้อยากแล้วใครจะอยากล่ะ นั่นมันลอจิคโง่ๆ ของเด็กของชาวบ้านของเรื่องทางวัตถุ ส่วนเรื่องของพุทธศาสนามันไม่ใช่ลอจิคอย่างนั้น มันเป็นกฎธรรมชาติ เป็นไปตามกฎธรรมชาติ จิตต้องเกิดความรู้สึกที่อยากเสียก่อน แล้วมันจึงจะเกิดความเข้าใจว่าจิตนั้นแหละคือตัวฉันผู้อยาก จิตมันโง่ได้ถึงสองทีสามทีอย่างนี้ นี่ผู้อยากเกิดทีหลังความอยาก มันผิดลอจิคของชาวบ้าน แต่มันเป็นเรื่องจริงของพระพุทธเจ้า อย่างที่ตรัสไว้ในปฏิจจสมุปบาท
ฉะนั้นผมขอร้องให้สนใจเรื่องปฏิจจสมุปบาทเป็นพิเศษ และถึงกับว่าเอาไปร้องเพลงเล่นได้ เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านทำ เดี๋ยวนี้ถ้าใครยังท่องสูตรอันนี้ไม่ได้ก็นับว่าแย่มาก คือไม่สนใจหัวใจของพุทธศาสนา ที่นั่งกันอยู่ตรงนี้ท่องได้กี่องค์ ที่จะท่องว่าอาศัยตากับรูปเกิดจักษุวิญญาณ ธรรม ๓ ประการนี้เรียกว่าผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดอุปาทาน อุปาทานเป็นปัจจัยจึงเกิดภพ ภพเป็นปัจจัยจึงเกิดชาติ ชาติเป็นปัจจัยจึงเกิดชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส กองทุกข์ทั้งหลายเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้ นี่สูตรนี้มันว่าอย่างนี้ ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านก็ยังขยันท่อง แล้วลูกศิษย์นี้มันอวดดี มันประมาท มันไม่รู้ไม่ชี้ มันไม่ท่องได้ ก็แปลว่าไม่ได้สนใจหัวใจของพุทธศาสนา เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ก็คือเรื่องอริยสัจ การเกิดขึ้นแห่งทุกข์ จากตัณหาโดยละเอียด มันเพียงแต่แสดงโดยละเอียด เราสอนกันแต่ว่า ทุกข์เกิดมาจากเหตุคือตัณหา ดับตัณหาเสียเป็นนิโรธ ปฏิบัติมรรคมีองค์แปดก็ดับตัณหาได้ มันสอนแต่เพียงเท่านี้ มันไม่ละเอียดถึงกับว่าตัณหาให้เกิดทุกข์นั้นมันเกิดอย่างไร นี้มันเกิดมาในลักษณะที่เรียกว่าผู้อยากเกิดทีหลังความอยาก ตามบทสูตรของปฏิจจสมุปบาทที่ว่ามาแล้ว
ฉะนั้นขออ้อนวอนให้ทุกองค์รีบท่องให้ได้ก่อน ถ้าท่องไว้เป็นหลักไม่ได้มันก็ทำความเข้าใจยาก อธิบายก็ยาก แล้วก็ท่องตัวบทสูตรก่อนแล้วจึงอธิบาย จึงทำความเข้าใจ แล้วก็พินิจพิจารณา แล้วก็ทำให้เป็นตัวจริงขึ้นมา ทีนี้ถ้าตัวสูตรมันก็ท่องไม่ได้แล้วมันจะมีหลักอันไหนที่จะพิจารณาไปตามลำดับได้หรือดูไปตามลำดับได้ มันก็เลยไม่เข้าใจคำว่าตัวผู้อยากนี้มันเกิดทีหลังความอยาก ถ้าใครศึกษาปฏิจจสมุปบาทโดยละเอียดก็เข้าใจได้เอง ผมไม่ต้องบอกก็เข้าใจได้เองว่า เอ้า,นี่ทำไมล่ะ ผู้อยากเกิดทีหลังความอยากแล้ว ก็ถูกแล้วเพราะมันเป็นอย่างนั้น ธรรมชาติมันมีลักษณะอย่างนั้น มันก็เลยไม่ผิดลอจิคไม่ผิดอะไรหมด พวกฝรั่งนั้นเขาเป็นเจ้าลอจิค แล้วเขาก็จะค้านว่าพูดอย่างนี้ผิดลอจิค เอ้า,ถ้าคุณว่าผิดลอจิค ก็จะว่าให้ฟัง ว่ากันโดยจิตใจที่มันเป็นไปอย่างนั้น แล้วพุทธศาสนาก็บัญญัติชื่ออย่างนี้ พุทธศาสนาไม่เป็นทาสของลอจิคของพวกคุณ มันมีอะไรก็ว่าไปตามเรื่องของพุทธศาสนาหรือของธรรมชาติมันจึงเป็นอย่างนี้ มันไม่ได้ขัดลอจิค แต่วิธีพูดมันมีอีกอย่างหนึ่ง
นี่วันนี้ผมตั้งใจจะพูดแต่เพียงว่า ความลับมันซ่อนเร้นที่ซ่อนเร้นอยู่ หรือความจริงที่มันซ่อนเร้นอยู่เป็นความลับนั้น สรุปเป็นหัวข้อได้ว่า ผู้อยากเกิดทีหลังความอยาก ฉะนั้นให้ไปดูเอาเองจากจิตใจของตัวเองทุกๆ คนจนเห็นความจริงอันนี้ แล้วจะง่ายแก่การปฏิบัติธรรมะต่อๆ ไป ในการที่จะทำวิปัสสนาหรือทำอะไรก็จะดี จะง่ายขึ้น คือมันถูกเรื่องถูกราวของธรรมชาติมากขึ้น มันก็ง่ายขึ้น ถ้ามันผิดหรือขัดกับหลักของธรรมชาติอยู่โดยไม่รู้สึกตัว มันก็ติดตันอยู่ที่นั่น ฉะนั้นแม้จะรู้ธรรมะมาก พูดธรรมะมาก ก็ไม่มีธรรมะเลย ยกหูชูหางมีโลภมีโกรธหลงมาก มีเท่านั้นแหละ มันไม่มีอะไรซึ่งเป็นตัวธรรมะ นี่เวลามันก็ล่วงมาเป็นปี เป็นปี เป็นปี นี้อีกเดือนกว่าๆ ก็จะสิ้นปี ฉะนั้นก็รีบกันบ้าง ให้มันทันกับเวลาที่มันล่วงไปๆ อย่าให้ธรรมะมันแช่เย็นอยู่ คือมันไม่งอกงามขึ้นมาเป็นธรรมะเลย ถ้าเราไม่รู้ว่าจะจัดการกันอย่างไร ที่ตรงไหน และเมื่อไหร่
นี่ต้องเข้าใจปฏิจจสมุปบาทในลักษณะอย่างนี้ และรู้จักทุกสิ่งที่มันเกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาท นับตั้งแต่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อาศัยกันแล้วก็เกิดวิญญาณ ๓ ส่วนนั้นรวมกันแล้วเรียกว่าผัสสะ แล้วต่อมาจึงเกิดเวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ และทุกข์ ให้เห็นชัดอยู่อย่างนี้ ทุกๆ ครั้งที่มันเกิดขึ้นแก่เรา เราก็จะรู้ธรรมะ แล้วก็จะพูดธรรมะได้ แล้วก็จะมีธรรมะบ้าง เดี๋ยวนี้รู้ธรรมะมาก พูดธรรมะมาก แต่ไม่มีธรรมะเลย รู้เซ็นมาก พูดเซ็นได้มาก แต่ไม่มีเซ็นเลย รู้เต๋ามาก พูดเต๋ามาก แต่ไม่มีเต๋าเลย เพราะว่าเต๋าก็ดี เซ็นก็ดี ธรรมะก็ดี ถ้าที่เป็นตัวจริงแล้ว เอามาพูดไม่ได้
นี่ขอให้มองเห็นความลับหรือความยุ่งยากลำบากของธรรมะ ที่ว่าแม้แต่เรื่องเบื้องต้นของมัน มันก็ยุ่งยากเสียแล้ว คือข้อที่ว่าตัวผู้อยากเกิดทีหลังความอยาก ตัวกูเกิดทีหลังสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความอยากของตัวกู เวทนาที่มาจากอวิชชานั้นมันเป็นที่ตั้งแห่งการเกิดตัวกู อันนั้นต้องมาก่อนแล้วมันจึงจะเกิดตัวกูได้ หรือถ้าพูดเป็นอุปมาทางวัตถุก็ว่าต้นไม้นี้ต้องเกิดทีหลังแผ่นดิน นี่สมมติว่าเป็นทางวัตถุแล้วต้นไม้ที่มันเกิดบนแผ่นดินนั้น ต้นไม้มันต้องเกิดทีหลังแผ่นดิน มันต้องมีแผ่นดินก่อนมันจึงเกิดต้นไม้ได้ มันต้องมีความอยากคือตัณหาก่อน มันจึงจะมีตัวผู้อยาก คือตัวกู-ของกูที่เป็นอุปาทานได้
นี่ขอให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ชัดเจนอย่างยิ่งถูกต้องอย่างยิ่ง พวกเด็กๆ จะหาว่าขัดลอจิคก็ตามใจ นั่นมันเป็นเรื่องของเด็กๆ มันไม่เข้าใจ เราเป็นผู้ใหญ่แล้วขอให้เข้าใจว่าผู้อยากเกิดทีหลังความอยากด้วยอาการอย่างนี้ ความอยากนั้นเป็นตัวกิเลสแล้ว แล้วความอยากนี้ก็เกิดมาจากสิ่งที่มิใช่กิเลส ที่ยังไม่เป็นกิเลส เช่น ตา หูนี้ไม่มีกิเลส ไม่ใช่กิเลส ผัสสะก็ยังไม่ใช่กิเลส เวทนามาจากปฏิฆสัมผัสก็ยังไม่ใช่กิเลส ต่อเมื่อมีเวทนาที่มาจากอวิชชาสัมผัสนี้จึงเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส จึงเกิดกิเลสคือตัณหาคือความอยาก ครั้นเกิดความอยากแล้วก็เกิดตัวผู้อยากคือตัวกูอย่างนี้ สรุปความว่าผู้อยากเกิดทีหลังความอยากโดยลักษณะอย่างนี้ เอาล่ะ,พอกันทีสำหรับวันนี้