แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาฏิโมกข์สำหรับพวกเราที่นี่ ยังคงเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกู-ของกูต่อไปตามเดิม นี่เราก็พูดกันไปในแง่ต่างๆ แง่อื่นมุมอื่นมากออกไป ล้วนแต่เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่เรียกว่าตัวกู-ของกูนั้นมากแง่มากมุมยิ่งขึ้นไปตามลำดับ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้มันมีแง่ที่เราจะศึกษาได้มากแง่ แต่ว่าที่สำคัญๆ นี้มันก็สังเกตดูว่ามันก็มีอยู่สัก ๔ แง่เท่านั้นเองตามหลักที่เคยพูดกันบ่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องอริยสัจ ซึ่งมันเป็นบทประธานของเรื่องทั้งหลาย มีอยู่ ๔ แง่ ๔ เรื่อง คือว่ามันกำลังเป็นอยู่ในลักษณะอย่างไร ที่เราเรียกว่าคืออะไรนั้น อีกแง่หนึ่งก็ว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นอย่างนั้น และอีกแง่หนึ่งก็ว่าที่มันเป็นอย่างนั้นนั้นมันเพื่อประโยชน์อะไรต่อไปอีก และอีกแง่สุดท้ายคือว่าทำอย่างไรมันจึงเป็นประโยชน์ได้ตามนั้นตามที่เราประสงค์ นี่ขอให้จำหัวข้อทั้ง ๔ นี้ไว้สำหรับเป็นหลักสำหรับคิดนึกทุกๆ สิ่ง ทุกๆ เรื่องนั้น มันคืออะไร มันมาจากอะไร มันจะเพื่อประโยชน์อะไรต่อไป และมันจะสำเร็จได้โดยวิธีใด พูดให้สั้นที่สุดก็เหลือแต่ว่าคืออะไร จากอะไร เพื่ออะไร แล้วก็โดยวิธีใด
ทีนี้เรื่องตัวกู-ของกูนี้ก็เหมือนกันแหละ มันอาจจะมองดูได้ในแง่ทั้ง ๔ นี้ ว่าตัวกูมันคืออะไร มันมาจากอะไร มันเพื่ออะไร แล้วมันจะโดยวิธีใดในที่สุด ฉะนั้นเราจะพูดกันวันเดียวคราวเดียวทุกแง่ทุกมุมนั้นมันทำไม่ได้ มันย่อเกินไปจนไม่เข้าใจ หรือจะพูดย่อๆ ก็ได้ พอเป็นเค้าๆ แต่ถ้าจะพูดให้เข้าใจโดยละเอียด มันก็ต้องพูดกันทีละแง่ และเราก็ได้พูดกันมามากแล้วหลายแง่แล้ว นับตั้งแต่ว่าตัวกู-ของกูนี้มันคืออะไร มันคืออุปาทานความหมายมั่นของจิตด้วยอำนาจของอวิชชา อย่างนี้เราเรียกว่าตัวกู-ของกู มันมาจากอวิชชา มันเพื่อให้คนมีความทุกข์ เราจะต้องรู้จักปฏิบัติเพื่อไม่ให้มันมีความทุกข์
สำหรับวันนี้ก็จะพูดในแง่ตัวกู-ของกูนี้ มันมาจากกิเลสตัณหาหรือเป็นกิเลสตัณหาก็สุดแท้ แต่ว่าทั้งหมดนั้นมันตั้งอยู่ที่สิ่งซึ่งเราเรียกกันว่าจิตหรือใจ จิตหรือใจหรือจิตใจก็ตามใจ นี้มันเป็นที่ตั้งของทุกสิ่ง ปัญหามันมาจากสิ่งๆ เดียวนี้ คือจิตใจนี้ ถ้าอย่ามีจิตใจเสีย ปัญหามันก็ไม่มี มีแต่ร่างกายล้วนๆ ปัญหามันมีไม่ได้ มันมีจิตใจสิ มันจึงมีปัญหามาก ฉะนั้นควรจะรู้จักสิ่งที่เรียกว่าจิตใจนี้กันให้มากขึ้นอีกกว่าที่แล้วๆ มา เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ จะต้องนึกถึงหลักสำคัญอันหนึ่ง คือเรื่องธาตุ ๓ ธาตุ ธาตุที่ ๑ เรียกว่ารูปธาตุ ธาตุที่ ๒ เรียกว่าอรูปธาตุ ธาตุที่ ๓ เรียกว่านิโรธธาตุ ๓ ธาตุนี้ ไม่ค่อยได้ยินได้ฟังกัน แล้วไม่ค่อยสนใจกันเสียด้วย ได้ยินกันได้ฟังกันแต่เรื่องธาตุ ๖ ดิน น้ำ ลม ไฟ นี้ ๔ แล้วก็วิญญาณธาตุ อากาสธาตุ หรืออากาสธาตุ วิญญาณธาตุก็ตาม อีก ๒ เป็น ๖ ได้ยินกันแต่เท่านี้ หรือมิฉะนั้นก็ไปได้ยินไปในธาตุที่มันไกลไปกว่านั้น เช่น สังขตธาตุ อสังขตธาตุ วิญญาณธาตุอะไรไปเลย มันล้วนแต่ไม่หมดเรื่องสักหมวดเดียวหนึ่ง หมวดธรรมที่ว่าด้วยธาตุนี้มีหลายๆ หมวด ไม่มีหมวดไหนที่มันจะครบบริบูรณ์สักหมวดเดียวหนึ่ง นอกจากหมวดที่ผมกำลังพูด,เอามาพูด คือมีธาตุอยู่ ๓ ธาตุ รูปธาตุ ธาตุที่มีรูป อรูปธาตุ ธาตุที่ไม่มีรูป นิโรธธาตุ ธาตุที่เป็นความดับ ถ้าใครไม่เคยได้ยินก็ได้ยินเสีย ถ้าใครไม่เข้าใจก็รีบทำความเข้าใจเสียว่า สิ่งที่เรียกว่าธาตุนั้น ถ้าประมวลให้หมดไม่ให้มีเหลือแล้วก็ มันจะได้เป็น ๓ ธาตุ รูปธาตุ มันก็บอกชัดอยู่แล้วว่ามันมีรูป อรูปธาตุมันก็บอกชัดอยู่แล้วว่าไม่มีรูป นิโรธธาตุมันก็บอกชัดอยู่แล้วว่ามันเป็นความดับ เป็นธาตุแห่งความดับ ผมตั้งใจจะพูดเรื่องเกี่ยวกับจิตใจซึ่งเป็นอรูปธาตุนั้น แต่มันเลยต้องคว้ามาหมดทั้ง ๓ ธาตุ เพื่อให้มันเข้าใจตามที่มันเนื่องกันอยู่ แต่ความประสงค์ก็อยากจะพูดเรื่องอรูปธาตุคือจิตใจเท่านั้นเอง รูปธาตุก็เป็นวัตถุธาตุมีรูป นี้มันก็พวกหนึ่ง ไม่มีความรู้สึกได้ตามลำพัง ก็ได้แก่ส่วนที่เป็นวัตถุ เป็นดิน น้ำ ลม ไฟอะไรนี้ มันก็เป็นธาตุสำหรับเป็นที่ตั้งของวัตถุ
ทีนี้ธาตุที่ ๒ อรูปธาตุ ธาตุที่ไม่มีรูปนี้หมายถึงพวกนามธาตุ คือพวกจิตใจนั่นแหละ ที่เรียกว่าวิญญาณธาตุก็ได้ นามธาตุก็ได้ ในคำๆ นี้มันมีอะไรซ่อนอยู่มาก ในคำว่านามธาตุหรือวิญญาณธาตุหรืออรูปธาตุ แล้วมันก็เป็นที่ตั้งแห่งความรู้สึก มันไม่ใช่เกี่ยวกับกาย มันไม่ใช่กาย มันไม่ใช่วัตถุ เพราะฉะนั้นจึงแยกออกมาอีกพวกหนึ่ง
ทีนี้พวกที่ ๓ นิโรธธาตุ ธาตุแห่งความดับ นี้มันไม่ใช่รูปวัตถุ มันไม่ใช่จิตใจ แต่มันเป็นภาวะอันหนึ่งปรากฏได้ เป็นความดับของธาตุสองธาตุนั่นแหละ รูปธาตุก็ตาม อรูปธาตุก็ตาม เมื่อมันมีความดับลงไป ความดับนั้นเรียกว่านิโรธธาตุ ธาตุแห่งความดับ หรือตัวความดับนั้นมันมีอยู่ มันเป็นธาตุอันหนึ่งอยู่ นี่ ๓ ธาตุ เท่านี้มันหมด
ทีนี้จะเปรียบเทียบให้ฟังว่า ถ้าพูดว่า ๖ ธาตุ ธาตุมี ๖ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ นี่มันเพียง ๖ มันก็ได้แต่พวกรูปธาตุกับอรูปธาตุ ยังขาดนิโรธธาตุอยู่ เห็นไหม,พูดถึงตั้ง ๖ ธาตุแล้วยังไม่หมด ยังขาดนิโรธธาตุอยู่ เว้นเสียแต่จะอธิบายอากาสธาตุนั้นให้มันเป็นความดับไป บางคนเขาก็ไม่ยอม ผมก็เคยพูดในทำนองนั้นแต่บางคนเขาก็ค้าน แต่เราเห็นได้ว่า ตามที่เขารู้กันอยู่เรื่องธาตุ ๖ นี้มันไม่มีนิโรธธาตุรวมอยู่ในนั้น พูดตั้ง ๖ ธาตุแล้วยังไม่หมด ทีนี้ถ้าไปพูดว่าสังขตธาตุ อสังขตธาตุ มันก็ยังย่อ มันย่อมากไป และก็จะต้องให้อสังขตธาตุนั่นแหละเป็นธาตุแห่งความดับ ทีนี้เมื่อไม่ยอม มันก็ไม่ครบ ถ้าพูดว่านิพพานธาตุ สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นี้มันก็เป็นเพียงธาตุแห่งความดับเท่านั้น รูปธาตุ อรูปธาตุมิได้พูดถึงเลย แล้วเราจะพูดถึงจักขุธาตุ โสตธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ เป็นธาตุ ๑๘ มันก็ยังขาดนิโรธธาตุอยู่นั่นเอง ตั้ง ๑๘ แล้วยังขาดนิโรธธาตุอยู่นั่นเอง มันเป็นแต่เพียงรูปธาตุกับอรูปธาตุ
ฉะนั้นถ้าผู้ใดต้องการจะพูดโดยใช้คำว่าธาตุ แล้วกินความหมดทุกอย่างไม่มีอะไรเหลือรวมพระนิพพานเข้าไว้ในนั้นด้วย ก็ต้องพูดว่าธาตุนี้มันมี ๓ อย่าง ๓ พวก หรือ ๓ ธาตุก็ได้ รูปธาตุคือรูปธรรมทั้งหลาย อรูปธาตุก็คือนามธรรมทั้งหลาย ทีนี้นิโรธธาตุก็คือความดับ ตัวความดับ สภาพแห่งความดับแห่งรูปและนามทั้งหลายนั่นแหละเรียกว่านิโรธธาตุคือธาตุนิพพาน ฉะนั้นขอให้จำไว้เป็นหลักสำหรับศึกษาเรื่องอื่นๆ ต่อไปด้วย
ทีนี้ตัวกู-ของกูมันเป็นธาตุไหน สิ่งที่เรียกว่าตัวกู-ของกูมันเป็นอรูปธาตุหรือเป็นนามธาตุ แต่แล้วมันก็ไม่พ้นจากที่จะต้องเกี่ยวข้องไปถึงรูปธาตุด้วย นี่ก็ต้องจำไว้ว่า วิญญาณธาตุหรือนามธาตุนั้นตามลำพังตัวเองไปไม่รอด ถ้าไม่มีรูปธาตุเข้ามาเป็นเครื่องรองรับ ที่เราแยกกันเป็นรูปเป็นนามเด็ดขาดออกไปจากกันนั้น เรามันพูด,ว่าพูดแล้วก็ได้ ถ้าตามที่มันเป็นจริงมันเป็นไม่ได้ นามมันจะมีโดยปราศจากรูปนี้มันมีไม่ได้ เพราะมันต้องอาศัยรูป ฉะนั้นถ้าว่านามรูป ต้องเป็นของที่ต้องแฝดไปด้วยกัน ถ้าปราศจากนาม รูปก็ไม่มีความหมายอะไร ถ้าปราศจากรูป นามก็แสดงอะไรไม่ได้ เลยต้องเป็นของที่รวมกัน เป็นสิ่งเดียวกัน มันยิ่งกว่าลูกฝาแฝดเสียอีก ลูกฝาแฝดมันยังเป็นสองคนอยู่ นามกับรูปนี้มันต้องปนเป็นก้อนเดียวกันเลย มันจึงจะทำอะไรได้ บางคนเขาอุปมาไว้น่าฟังเหมือนกันแหละว่า รูปนี้มันคือคนๆ หนึ่ง ร่างกายแข็งแรงดี สมบูรณ์ดี แต่มันตาบอดหรือมันหัวขาดก็ได้ ทีนี้อีกคนหนึ่งมันเป็นง่อย มันเดินไม่ได้ มันทำอะไรไม่ได้ แต่ว่าหัวสมองมันยังดีอยู่ ฉะนั้นต้องเอาสองคนนี้มาบวกกันเป็นคนเดียวกัน เอาหัวมาใส่ให้กับตัวมันจึงจะครบ ทำอะไรได้ แล้วทีนี้เราจะแบ่งหรือกันเอารูปธาตุหรือร่างกายนี้ออกไปได้โดยการพูดนี้ กันออกไปได้ในฐานะที่ว่ามันเป็นฐานรองรับหรือเป็นภาชนะสำหรับจะใส่นามธาตุ ถ้าพูดให้ถูกกว่านั้นมันก็เป็นเหมือนกับออฟฟิศ(office)สำหรับให้จิตหรือนามธาตุนั้นได้ทำงาน ถ้าไม่มีร่างกาย จิตนี้มันก็ไม่มีออฟฟิศทำงาน ทำอะไรไม่ได้ ทีนี้ส่วนร่างกายนี้ก็เป็นออฟฟิศ เอาไว้พูดกันคราวอื่นก็ได้ หรือเคยพูดมาแล้วก็มี จะไม่พูดวันนี้ จะพูดแต่ส่วนที่มันเป็นจิตหรือเป็นอรูปธาตุ เพราะเรื่องตัวกู-ของกูมันสำคัญอยู่ที่นี่ สำคัญอยู่ที่เรื่องนี้เรื่องจิตนี้
เอาล่ะ,เป็นอันว่าวันนี้เราจะพูดเรื่องเกี่ยวกับจิตในฐานะเป็นสิ่งรองรับตัวกู-ของกู พูดเรื่องจิตในฐานะเป็นสิ่งรองรับตัวกู-ของกู ถ้าเข้าใจเรื่องจิตให้กระจ่างกันสักหน่อย ผมว่าปัญหาต่างๆ จะหมดไปมากทีเดียว เดี๋ยวนี้ผมกำลังได้รับคำถามแล้วๆ เล่าๆ อย่างน่ารำคาญที่สุดมากที่สุด คือถามว่าจิตคืออะไร วิญญาณคืออะไร มโนคืออะไร ใจคืออะไร นี่มันถามมากที่สุด แล้วเราจะตอบคำสองคำมันก็ไม่พอเหมือนกัน ก็เลยไม่ได้ตอบ ขี้เกียจ,ขี้เกียจจะตอบ มันไม่สำเร็จประโยชน์ ถึงแม้ว่าเราจะมีเวลาสำหรับพูดตั้งชั่วโมง เรื่องนี้ผมก็ยังไม่แน่ใจว่าจะพูดให้มันเข้าใจหมดจดเกลี้ยงเกลาได้ ผมก็พูดตามที่จะพูดได้ คุณก็รวมรวบเอาไปคิดนึกเอาเองสิ แล้วก็คิดว่าจะพูดอย่างธรรมดาสามัญ ไม่ใช่พูดอย่างพระคัมภีร์ ไม่ใช่พูดอย่างนักปราชญ์ทางภาษาหรือว่าทางปรมัตถ์อะไรที่เขาพูดกัน พูดอย่างธรรมดาสามัญที่สุด แต่ก็อาศัยตรรกะในพระคัมภีร์ในพุทธวจนะนั่นเอง
เอาล่ะ,ทีนี้เราจะพูดถึงคำ ถ้อยคำหรือคำพูดที่ใช้พูดกันอยู่ ที่มันมีใช้มากที่สุดก็ดูจะมีสัก ๔ คำเท่านั้นแหละ คือจิตนี้มาก่อน คือใจนี้ แล้วก็มโน แล้วก็วิญญาณนี้ ที่ชาวบ้านจะพูดเป็นและพูดกันมากที่สุดก็คือจิตหรือใจ หรือมโน หรือวิญญาณ และที่พูดมากที่สุดก็คือจิตใจ และที่พูดมากกว่าเพื่อนก็คือคำว่าใจ เราจะพูดคำว่าใจมากกว่าคำว่าจิต เราจะพูดคำว่าจิตใจนี้มากกว่าคำว่ามโนหรือวิญญาณ ยิ่งเป็นภาษาบาลีลึกเข้าไปทุกที ก็ยิ่งพูดไม่ค่อยเป็น พูดไม่ค่อยได้ ส่วนคำอื่นๆ มันก็เป็นคำที่พิเศษ พูดกันแต่บางครั้งบางคราว เช่นคำว่าเจตภูต อะไรเป็นต้น กลายเป็นผีสางไปเลย ไม่ใช่จิตใจแล้ว ฉะนั้นเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่าจิตหรือใจนี้กันดีกว่า
มองดูง่ายๆ ง่ายๆ ตามตัวหนังสือกันก่อน คำว่าจิต นี้ มันมีภาษาบาลีว่าจิตอยู่แล้ว คือจิตฺต นั่นแหละ แล้วความหมายมันก็มีมาก คำๆ เดียวนี้มีความหมายมาก ซึ่งเดี๋ยวเราก็จะพูดกันให้ละเอียด ทีนี้ข้ามไปพูดถึงคำว่าใจก่อน คำว่าใจนี้ มันมีปัญหาอยู่ว่า มันเป็นภาษาอะไรกันแน่ ดูแล้วมันจะเป็นภาษาไทยไม่เกี่ยวกับภาษาบาลี,คำว่าใจๆ นี้ แต่มันก็ไม่แน่อีกเหมือนกัน มันก็ไม่มีหลักฐานหรอก นักศึกษาที่เป็นนักสังเกตบางคนเขาพูดว่า คำว่าใจนี้ มาจากคำว่าจิต คือว่าธาตุที่ว่าจิยฺ จิยะนั่นแหละเป็นต้นตอรากเหง้าของคำว่าใจ จิยะแปลว่าก่อ จิยติ ในรูปกิริยามันแปลว่าก่อ คำว่าจิยะ,จิยา,จิยะ นี้พูดเร็วๆ รัวๆ มาเป็นคำว่าใจก็ได้เหมือนกัน ถ้าอย่างนั้นคำว่าใจมันก็แปลว่าก่อ ถ้าแปลว่าก่อ ก็เป็นความหมายอันหนึ่งของคำว่าจิตนั่นเอง เพราะคำว่าจิต เมื่อจะแปลว่าก่อ มันก็ต้องมาทำรูปเป็น จิยฺ หรือ จินฺ ไป จิตฺ เองมันแปลว่าคิด
ทีนี้คำว่ามโน ตัวหนังสือว่ามโน นี้เป็นภาษาบาลีแท้ แปลว่ารู้ หรือมโนนั่นแหละ มันก็ใจนั่นอีกแหละ สิ่งที่รู้ก็คือใจหรือจิตนั่นแหละ เพราะฉะนั้น มโน ก็ไม่มากไปกว่าใจหรือจิต หรือไม่น้อยไปกว่าใจหรือจิต แต่ไปเรียกว่ามโน มโนธาตุก็เรียก จิตตธาตุก็เรียก วิญญาณธาตุก็เรียก มันมีน้ำหนักเท่าๆ กัน ฉะนั้นมโนก็คือจิตหรือใจอีกนั่นแหละ
ทีนี้วิญญาณ ถ้าแยกละเอียดออกไป มันเป็นวิญญาณทางตาหูจมูกลิ้นกายนี้ มันเป็นเรื่องพวกจิตเรื่องจิตชัดๆ อยู่เหมือนกัน แต่หมายถึงรู้ รู้สัมผัส รู้ในทางสัมผัส ทีนี้เราหลอมทั้ง ๔ คำนี้ ให้มันเป็นคำเดียวเสีย คำว่าจิต คำว่าใจ คำว่าวิญญาณ คำว่ามโนนี้ ยุบมันให้หมดเลย ให้มันเหลือแต่คำสักคำหนึ่ง มันจะได้ง่ายเข้า แล้วก็ดูว่ามันทำอะไรได้บ้างกี่อย่าง มันทำอะไรได้บ้างกี่อย่าง เราดูให้หมด แล้วเราจะเข้าใจคำนั้นอย่างสมบูรณ์ได้
เอาล่ะ,เป็นอันว่า ในที่นี้ ที่จะพูดกันตรงนี้ จะยกเลิกคำอื่นเสียหมด เรื่องใจ เรื่องมโน เรื่องวิญญาณ อย่าเพิ่งนึกถึง จะนึกถึงแต่คำว่าจิตคำเดียวก่อน ทีนี้ก็รู้ว่าจิตคำเดียวนี้มันมีความหมายได้กี่ความหมาย ที่รู้กันมากที่สุดและอันแรกที่สุด คำว่าจิตนี้ มันก็ จิตฺ มันก็คือคิด เมื่อมีการคิดตั้งต้นขึ้น ก็คือความหมายของคำว่าก่อ คือก่อเรื่องสร้างเรื่องขึ้นมา คำว่าจิตนี้ก็มีความหมายไปในทางก่อ เป็นจิยะหรือจินะ ซึ่งแปลว่าก่อ ตั้งต้นด้วยการคิดคือการก่อ
แล้วทีนี้คำว่าจิตนี้ เป็นจิยะ,จินะก็ตาม มันยังแปลความหมายได้ว่าสะสม,สร้างสมหรือสะสม นี่คุณดูสิ, มันไม่ใช่เพียงแต่ก่อขึ้นมาแล้วเลิกกัน มันก่อขึ้นมาแล้วมันยังสะสมอีก มันก่อขึ้นมาได้กี่เรื่อง มันก็สะสมไปทั้งหมด มันก็เลยเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากจากการที่ก่อขึ้นมาแล้วสะสม คำว่าจิตทำหน้าที่ก่อ แล้วก็ทำหน้าที่สะสม และมันยังมีหน้าที่อื่นๆ ซึ่งเป็นปลีกย่อยออกไปที่จะเนื่องกันอยู่กับคำสองคำนี้ และยังมีปลีกย่อยไปถึงคำว่าจิตนี้แปลว่างดงามก็มี มีความหมายเป็นวิจิตร แปลว่างดงาม คือให้จิตนั้นมันเป็นสิ่งที่มีความงดงาม หรือว่าสิ่งที่มันทำขึ้นมามันเป็นสิ่งที่งดงามนี่ เดี๋ยวมันก็มากเรื่องมากราวจนเวียนหัวเปล่าๆ เอาแต่ที่มันสำคัญที่สุดก็ว่า มันก่อขึ้นมาแล้วมันสะสมไว้ คุณจำไว้สักสองคำเถิด สิ่งที่เรียกว่าจิตนี้มันไม่ทำอะไรนอกจากมันก่อเรื่องขึ้นมาแล้วมันสะสมไว้
คำนี้มันก็เห็นได้ง่ายๆ ว่ามันมีการกระทบ การสัมผัส การเกิดปรุงแต่งอะไรก็ตาม นี่ก็เรียกว่ามันก่อขึ้นมา แล้วทีนี้มันก็สะสมไว้ นี้คือความหมายของคำว่าอนุสัย อาสวะหรืออนุสัย อะไรมันก่อขึ้นมา มันเก็บไว้ เก็บไว้ เก็บไว้ นี่เป็นประเภทอาสวะหรืออนุสัยอีกส่วนหนึ่งต่างหาก มันคือสะสมแล้วมันก็ก่อเรื่อย ก่อทุกวันทุกเดือนทุกปี ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ลิ้น กาย ใจ มันก่ออยู่เรื่อย แล้วมันก็สะสมไว้เรื่อย คิดดูสิว่ามันจะมีมากเท่าไหร่ วันหนึ่งๆ จิตมันก่ออะไรขึ้นมาบ้าง แล้วมันสะสมไว้ทั้งหมดนั้นแหละ แล้วทั้งเดือนทั้งปีตั้งหลายสิบปีมันจะมากเท่าไหร่ นี่มันยุ่งสักเท่าไหร่ นี้ใจความสำคัญของคำว่าจิต คือก่อแล้วก็สะสมไว้ มันมีเพียงสองความหมายที่สำคัญ
เอาล่ะ,ทีนี้จะดูให้ละเอียดกว่านั้น มันก็ดูตามนัยยะที่มีหลักอยู่ในเรื่องขันธ์ ๕ ก็ยอมถือว่าเป็นพระพุทธภาษิต รูป เทวนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ห้าอย่างนี้ รูปเอาออกไปเสียเพราะเป็นร่างกาย เหลือ ๔นั่นแหละเป็นเรื่องจิตใจ เรื่องจิตหรือเรื่องใจแยกกันไม่ออก คือว่าเรื่องจิตกับเรื่องเจตสิกนี้แยกกันไม่ออก ถ้าไม่มีเจตสิก จิตก็ไม่มี เพราะจิตเกิดขึ้นมาเพราะเจตสิกปรุง ถ้าเอาจิตออกเสีย เจตสิกก็ไม่แสดงอะไรได้ ก็ไม่มีอีกเหมือนกัน จิตกับเจตสิกนี้ก็คือสิ่งเดียวกัน เราเรียกว่าจิตใจก็ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าจิตนั่นแหละมันทำหน้าที่สำคัญๆ ทีแรกมันก็เป็นเรื่องของวิญญาณก่อน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นอะไรก็ตาม เป็นเรื่องวิญญาณก่อน เพื่อจะรู้สึกต่อสิ่งภายนอก มันก็แปลว่าจิตนี้มันทำหน้าที่อันที่หนึ่งทีแรกก็คือคอยรู้สึกต่อสิ่งภายนอกที่จะเข้ามากระทบ แต่มันต้องมีอุปกรณ์ เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กายนี้มันเป็นอุปกรณ์ เป็นเครื่องมือ เป็นที่ตั้งอะไรที่จะให้มันรับอารมณ์ข้างนอกเพื่อเกิดความรู้สึก และมันก็ต้องมีเรื่องข้างนอกที่จะมากระทบด้วย มันจึงมีรูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะด้วย มาได้กระทบกันเข้ากับตา หู จมูก ลิ้น กายนี้ สิ่งที่เรียกว่าจิตมันก็ทำหน้าที่วิญญาณ คือรู้ รู้สึกต่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะหรือธรรมารมณ์ด้วย โดยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจคือมโนทวาร ทวารตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็ต่อวัตถุ คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์นั่น
นี้เรียกว่าจิตทำหน้าที่รู้สึกต่ออารมณ์ภายนอก จิตในลักษณะนี้เราเรียกว่าวิญญาณ ทางตา ทางอายตนะ ทีนี้เมื่อมันมีการสัมผัสทางวิญญาณโดยวิญญาณอย่างนี้แล้ว มันต้องมีผลอันชั้นที่สองเกิดขึ้นมาคือความรู้สึกที่เรียกว่าเวทนา เวทนานั้นมันเป็นความรู้สึก เป็นชื่อของความรู้สึก แต่ใครล่ะรู้สึก มันก็คือจิต ฉะนั้นจิตเมื่อทำหน้าที่รู้สึกนั่นแหละ เราเรียกมันว่าเวทนา คือความรู้สึกของจิต แม้ว่าจะไม่เรียกเวทนาว่าจิต จะเรียกว่าเจตสิกหรือจะเรียกว่าความรู้สึกของจิต มันก็คือยังเป็นเรื่องของจิตอยู่นั่นแหละ ลองไม่มีจิตสิ เวทนามันก็ไม่มี ฉะนั้นเราจึงพูดได้ว่า จิตนี้หลังจากทำหน้าที่รู้สึกทางวิญญาณแล้ว มันก็มารู้สึกผลที่เกิดขึ้นอีกทีหนึ่งคือรู้สึกต่อเวทนา ฉะนั้นความรู้สึกต่อเวทนาก็คือจิตนั่นแหละมันรู้สึกต่อเวทนา ฉะนั้นเรื่องเวทนาก็เป็นเรื่องความรู้สึกของจิต หรือจิตเมื่อทำหน้าที่รู้สึกผลของการกระทบ นี้ก็ต้องเรียกว่าอยู่ในพวกก่อทั้งนั้นแหละ,ก่อเรื่อง จิตเมื่อทำหน้าที่อย่างวิญญาณมันก็ก่อเรื่อง จิตเมื่อทำหน้าที่อย่างเวทนามันก็ก่อเรื่อง
ทีนี้มันก็จะมีเหลืออยู่อีก คือสัญญากับสังขาร สังขารนั้นเห็นได้ชัดเลย เป็นความคิดปรุงแต่ง หลังจากเวทนาเกิดขึ้นแล้วก็เกิดความคิดปรุงแต่ง ก็เรียกว่าสังขาร นี้ก็คือก่อนั่นแหละ มันก็คือก่อนั่นเอง มันก่อหนักขึ้นไปอีก ก่อความคิดปรุงแต่งกันลึกซึ้งต่อไปอีก มันก็ทำหน้าที่ก่อนั้นอีกแหละ ทีนี้เหลืออยู่อีกอันหนึ่งคือสัญญา ถ้าเป็นสัญญาในชั้นแรกมันก็เป็นอุปกรณ์สำหรับรู้แจ้ง แต่ถ้าเราเล็งถึงตัวความจำหรือความรู้สึก นี้คือการสะสม จิตเมื่อมันทำหน้าที่สะสมก็คือสัญญา มันจำเข้าไว้ จำเข้าไว้ นี้ทางหนึ่ง เรียกว่าสะสม และมันยึดมั่นถือมั่นสำคัญมั่นหมายเข้าไว้ อัตตสัญญา สุขสัญญา อะไรสัญญานี้มันก็เป็นการสะสม สะสมด้วยความยึดมั่นถือมั่น สะสมด้วยความจำว่า จำรูปจำเสียงจำกลิ่นได้ จำไว้นี้ก็เป็นสะสมแต่ไม่ร้ายกาจเท่าสัญญาว่าสุข สัญญาว่าตัวตน สัญญาว่าเที่ยง สัญญาว่าได้ว่าเสีย ว่าหญิงว่าชาย นี่สัญญาอย่างนี้สะสมไว้เยอะแล้วก็อันตรายที่สุด มันก็เป็นเรื่องของจิต สัญญาก็เป็นเรื่องของจิต คือจิตมันเป็นผู้รู้สึก จำได้ สะสม สำคัญมั่นหมาย จะดูกันในแง่ไหนกี่แง่ก็ตามใจ มันจะพบลักษณะอันสำคัญของจิตอยู่สองอย่างนี้ คือมันก่อเรื่องขึ้นแล้วมันเรื่องเก็บไว้ มันก่อเรื่องขึ้นแล้วมันเก็บไว้ ประเภทวิญญาณ สังขาร เวทนาอะไรเหล่านี้ มันเป็นเรื่องก่อเรื่องขึ้น และพวกสัญญาทั้งหลายมันเป็นเรื่องเก็บไว้ เก็บไว้ เก็บไว้ สะสมไว้
ทีนี้เราก็ต้องมองให้เห็นชัดที่มันเป็นอยู่จริงในจิตใจของเราสิ อย่าเพียงแต่ฟังผมพูดสิ ฟังให้ตายมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร มันต้องมองให้เห็นจริงลงไปถึงข้างในว่าจิตนั่นมันคืออย่างนั้นๆ มันจะก่อเรื่องทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก่อเรื่องทางใจ แล้วปรุงแต่งคิดนึกเป็นเรื่องใหม่ขึ้นมาซ้อนๆ ซ้อนกันมาอีก นี่คือก่อแหละ จิตเมื่อทำหน้าที่ก่อ แล้วมันไปแตะต้องอะไรเข้ามันสะสมไว้เป็นสัญญาเรื่อย มันเป็นคลังสะสม จะไปแบ่งเป็นจิตบ้างเป็นเจตสิกบ้างก็ได้ แต่มันยุ่งเปล่าๆ แหละ มันเป็นเรื่องของอรูปธาตุ คือจิตก็แล้วกัน เมื่อมันทำหน้าที่อย่างนั้น เมื่อมันทำหน้าที่อย่างนี้ เมื่อมันทำหน้าที่รู้แจ้งอารมณ์ รับอารมณ์ เสวยอารมณ์อะไรก็ตามเถิด นี้เราเรียกว่ามันก่อ มันก่อเรื่อง แล้วมันเก็บไว้สะสมไว้เป็นอาสวะเป็นอนุสัย นี้เรียกว่ามันสะสม นี่เรื่องของจิตที่มีความหมายสำคัญแท้ๆ ก็มีสองคำเท่านั้น คือก่อแล้วก็สะสม คำว่าคิดนึกนี้ก็คือก่อ คำว่ารู้สึกนี้ก็คือก่อ แต่คำว่าจำไว้ คำว่าสำคัญมั่นหมายอะไรนี้ นี่คือสะสม
นี่เราจึงแบ่งกิเลสนี้เป็นสองชั้นนะ ชั้นที่เกิดขึ้นหยกๆ นี้ก็เรียกว่าโลภะ โทสะ โมหะธรรมดา แต่พอหลังจากนั้นมันก็เก็บไว้ อย่างนี้เราเรียกว่าอนุสัย ที่เป็นโลภะเราเรียกว่าราคานุสัย ที่เป็นโทสะเราเรียกว่าปฏิฆานุสัย ที่เป็นโมหะเราเรียกว่าอวิชชานุสัย อนุสัยอะไรก็ตามใจ นี้มันเป็นพวกเก็บสะสม ทีแรกกระทบ ทีแรกจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะก็ตามใจ นี้เป็นพวกก่อ,ก่อเรื่อง,ตั้งต้น เสร็จแล้วก็สะสม
เราก็ได้ใจความสำคัญว่า จะเรียกว่าจิตก็ได้ เรียกว่าใจก็ได้ เรียกว่ามโนก็ได้ เรียกว่าวิญญาณก็ได้ แล้วแต่เมื่อมันทำหน้าที่อะไร แต่เนื่องจากมันเป็นสิ่งเดียวกัน ที่เป็นต้นตอนั้น มันทำหน้าที่ต่างๆ กัน ใครอยากจะเรียกว่าจิตก็เรียกว่าจิต ใครอยากจะเรียกว่าใจก็เรียกว่าใจ หนังสือเก่าๆ เรียกว่ามโนทั้งนั้นแหละ คำพูดรุ่นหลังๆ นี้ใช้คำว่าจิตกันมากขึ้น ผมอ่านหนังสือเก่าๆ ท่านชอบใช้คำว่ามโน จิตไม่ค่อยใช้ ส่วนวิญญาณนี้กำกวม วิญญาณจุติ วิญญาณปฏิสนธิ นั่นแหละคือมโนหรือจิต แล้ววิญญาณทางตา ทางหู ทางจมูกนี้ก็ว่าจิต จิตน้อยๆ จิตชั่วขณะ สรุปเสียทีหนึ่งก่อนว่า จิตซึ่งมีชื่อต่างๆ กันนี้ มันทำกิริยาอาการคือก่อเรื่อง อย่างหนึ่ง แล้วสะสมเรื่องนั้นๆ ไว้ อย่างหนึ่ง
ทีนี้ดูต่อไปว่าตัวกู-ของกูนั้น เกิดที่ตรงไหน อยู่ที่ตรงไหน ตัวกู-ของกูเป็นความสำคัญมั่นหมายโดยแท้จริงก็มาจากความสำคัญผิด เข้าใจผิด เห็นผิด ผิดที่มันสะสม สะสม สะสมเข้าไว้ ครั้งแรกมันก็เกิดตามประสาจิตที่เกิดที่ก่อที่ตั้งต้นนั้น พอตาเห็นรูปมีผัสสะ มีเวทนาแล้วก็มีตัณหา มันมีความอยาก มีความรู้สึกอยาก ก่อนนี้ก็เป็นเรื่องก่อ,ความอยากนี้ พอมีความรู้สึกอยากแล้วมันก็เกิดความรู้สึกมั่นหมายในสิ่งที่อยากนั้นอีกทีหนึ่ง นั่นมันจะเกิดความรู้สึกเป็นตัวตนตอนนี้แหละ คืออุปาทานมั่นหมายในสิ่งที่ตัวอยาก มันก็มีผู้มั่นหมายขึ้นมา นี่ตัวกูโผล่ หรือว่าจิตในรูปร่างที่จะเรียกว่าเป็นตัวตนนั้นมันโผล่ออกมาในความรู้สึก นี้เรียกว่าตัวกูเกิด แล้วยึดถือเอาสิ่งที่ตัวกูรักหรือมั่นหมายนั้นว่าเป็นของกู นี่มันก่อเกิดขึ้นมาอย่างนี้ พอเรื่องนี้สิ้นเสร็จไปมันก็สะสมไว้เป็นความเคยชิน เป็นเรื่องตัวกู-ของกูประเภทอนุสัยสำหรับความเคยชินที่จะเกิดอย่างนี้อีก คราวหลังก็จะเกิดอย่างนี้อีก คราวหลังก็จะเกิดอย่างนี้อีก ไม่เกิดอย่างอื่น นับตั้งแต่ทารกคลอดออกมาจากครรภ์มารดา ทีแรกมันก็ไม่มีตัวกู-ของกูอะไร มันเป็นจิตที่ยังไม่รู้อะไรด้วย หลายชั่วโมงต่อมา อวัยวะต่างๆ ของมันก็เริ่มทำหน้าที่มากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น จนตา หู จมูก ลิ้น กายอะไรของมันทำหน้าที่ได้ครบ แม้จะไม่รุนแรงสูงสุด มันก็ทำหน้าที่ได้ และเมื่อทารกน้อยๆ นอนเบาะอยู่นั้น มันสามารถจะใช้ตา หู จมูก ลิ้น กายหรือใจของมันได้ มันก็รับรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ตามที่มันจะเข้ามาอย่างไรนั้นได้ มันก็เกิดผัสสะ เกิดเวทนา ทีนี้หลายๆ หนเข้ามันก็พอใจในความรู้สึกเวทนาชนิดหนึ่งซึ่งมันรู้สึกอร่อยนี้แหละ เช่นว่า มันกินนมแม่หลายๆ หนเข้า มันก็พอใจในรสนมที่อร่อย ทีแรกมันไม่รู้สึกเรื่องอร่อยหรือไม่อร่อย มันก็หยุดกันเท่านั้น มันไม่มีความหมายอะไร มันจะเพียงแต่หิว กินแล้วมันก็หายไปเท่านั้น แต่ต่อมามันเป็นความอร่อย มันจึงเกิดความรู้สึกที่เป็นตัณหาคือความอยากหรืออุปาทานคือยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความอร่อย ทีนี้มันก็ค่อยๆ เกิดทางอื่นอีก เด็กมันโตขึ้นมาทุกวันนี่ ทางหูมันก็ยึดถือเสียงขับกล่อม ทางจมูกมันก็ยึดถือกลิ่นที่มันทำให้สบายใจ ทางเนื้อหนังมันอยู่ในอ้อมอกของแม่ของมัน มันก็อบอุ่น มันก็สบาย มันก็นิ่มนวลสบาย นี่มันก็ยึดถือสัมผัสนี้จนมันรู้จักยึดถือ มีความยึดถือแล้วมันเกิดความรู้สึกอีกอันหนึ่งว่ามีฉันผู้ยึดถือ ฉันที่เป็นเจ้าของเรื่อง เป็นเจ้าของสิ่งต่างๆ นี้ ตัวกูน้อยๆ ก็เกิดขึ้นมาแก่เด็กน้อยๆ กว่าจะเป็นเด็กวิ่งได้นี้มันก็เป็นตัวกู-ของกูสมบูรณ์แบบแล้ว
ทีนี้พอมันเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วมันก็แรงกล้ามากขึ้น เป็นพ่อบ้านแม่เรือนมันก็มีตัวกู-ของกูแบบอื่นไปอีก แรงกล้าขึ้น นี่มันก็เป็นเรื่องตัวกู-ของกู เกิดขึ้นทีไร เก็บไว้ทีนั้น เกิดขึ้นทีไร เก็บไว้ทีนั้น จนมันเคยชินเป็นนิสัย จนเป็นแรงกล้า ขนาดที่ว่าพอได้ยินเสียงก็เอาแล้ว พอได้กลิ่นก็เอาแล้ว พอสักว่าได้เห็นก็เอาแล้ว มันมีเดือดแล้ว ถ้ามันอย่ามีการสะสมมันก็เป็นอย่างนี้ไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป เกิดขึ้นมาแล้วดับไป ไม่เหลือเป็นเชื้อสะสม นี่มันก็ไม่มีอะไรลำบากอย่างนี้ แต่ทีนี้มันมีการสะสมที่เรียกว่าอนุสัย อนุสัย อนุสัยเรื่อย โลภะก็เข้มข้น โทสะก็เข้มข้น โมหะก็เข้มข้น ทีนี้อุปาทานที่เป็นตัวกู-ของกูมันก็เข้มข้นๆ จนถึงกับไวยิ่งกว่าอะไรที่มันไวๆ นี่ พอเห็นหน้าคนเกลียด มันก็เกลียดวับไปหมดแล้ว เพียงได้ยินเสียงคนนั้นมันก็เกลียดแล้ว มันไม่ได้แยก ไม่ได้ยับยั้งอะไรได้ นี่ความมากของการสะสมที่เรียกว่าอนุสัย มันมากถึงขนาดนี้ เด็กเพิ่งคลอดทำอย่างนี้ไม่เป็น มันยังงุ่มง่าม ยังงัวเงีย แต่พอมันโตขึ้นๆ พอเลยเป็นหนุ่มเป็นสาวไปแล้ว มันยิ่งไวมาก
ฉะนั้นตัวกู ก็คือความรู้สึกประเภทที่เรียกว่าสะสม ถ้าจะให้ระบุลงไปในขันธ์ ๕ ก็คือสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่าอะไรเป็นอะไร สัญญาเกิดขึ้นครั้งหนึ่งก็เก็บไว้ทีหนึ่ง เก็บไว้ทีหนึ่ง เก็บไว้ทีหนึ่ง เพื่อจะให้มันมีแรงมาก ฉะนั้นจึงมีสัญญาว่าตัวตนนี้ยิ่งกว่าสัญญาใดๆ หรือเรียกว่าอัตตสัญญาก็ได้ สัตตสัญญา อัตตสัญญา ปุคคลสัญญา แล้วแต่จะเรียกคำไหน มันเป็นสัญญาว่าตัวตนทั้งนั้น ฉะนั้นเราจึงไหวไปตามอารมณ์ มาให้รักมันก็รัก มาให้โกรธมันก็โกรธ มาให้กลัวมันก็กลัว นี่อัตตสัญญามันอยู่ แล้วมันก็ไวต่อความรู้สึก เพราะมันมีความเคยชินในการสะสมมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก มันรู้ได้ทันทีเลยว่า พออย่างนี้ก็เป็นอย่างนี้ พออย่างนี้ก็เป็นอย่างนี้ นี้มันจึงเห็นได้ว่าเป็นสิ่งที่ควบคุมยาก ละได้ยาก ถ้าละได้ก็เป็นพระอรหันต์ แต่มันก็ละได้แสนยาก มันก็ต้องต่อสู้กันไป เดี๋ยวนี้มันไม่เป็นอย่างนั้น มันไปโง่ ไปเพิ่มการก่อหรือการสะสมเสียเอง พระเณรเราก็ยังมีการทะเลาะวิวาทซึ่งกันและกันอยู่เป็นประจำ อย่างนี้มันก็ก่อทั้งนั้นแหละ ก่อตัวกู-ของกูแล้วมันก็สะสมตัวกู-ของกู หรือพระเณรเรามันก็ยังมีความยินดียินร้าย เรื่องกิน เรื่องอยู่ เรื่องอะไรต่างๆ นี้ มันก็ก่อเรื่อย มันก็สะสมเรื่อย มันก็มีตัวกูมากอยู่เรื่อย หรือว่าพระเณรก็ขยันอ่านแต่หนังสือทางโลกที่เกลี้ยกล่อมอารมณ์ให้ไหลไปตามกระแสของโลก นี้มันก็ก่อแล้วก็สะสม ก็ไปกันอย่างที่เรียกว่ารั้งไว้ไม่อยู่ ไม่เท่าไหร่มันก็สึกใช่ไหม เพราะว่ามันรั้งไว้ไม่อยู่ มันก่อมาก มันสะสมมาก มันรุนแรงมาก นี่ลองไปคบหาสมาคมเข้าสิ เรื่องกิเลสนั้นเรื่องโลกๆ นั้น ไม่เท่าไหร่มันก็จะได้ออกไปหาโอกาส หาอะไรตามความต้องการแห่งตัวกู-ของกู เรื่องตัวกู-ของกูนี้มันมีรูปร่างหน้าตาหรืออาการมากมายหลายอย่าง แต่เมื่อสรุปความแล้ว มันก็มีอย่างเดียวแหละคือยึดมั่นถือมั่น มั่นหมาย,ความมั่นหมาย,สำคัญมั่นหมาย มาจากความเคยชินที่สะสมความมั่นหมายไว้ทุกที ทุกที ทุกที เรามาเรียกว่าตัวกู-ของกู แต่ที่แท้มันก็คือจิตหรืออรูปธาตุอันหนึ่ง ซึ่งมันมีวัฒนาการมาในแนวนี้ มันมีความดับอยู่เสมอ แต่เป็นความดับประเภทที่ไม่ตายตัวและเป็นเพียงความดับชั่วคราว เพระฉะนั้นมันจึงยังไม่เป็นนิโรธธาตุที่แท้จริง มันชื่อสักว่าเกิดขึ้น แล้วก็แตกไป แตกทำลายไป แล้วมันก็เกิดขึ้น แล้วก็แตกทำลายไป มันไม่ใช่นิโรธอันแท้จริง เป็นตัวกูเรื่องนี้เกิดขึ้น เสร็จเรื่องนี้แล้วก็ดับไป มันเป็นเพียงแตกสลายไป ไม่ใช่นิโรธอันแท้จริง ไม่ควรจะใช้คำว่านิโรธกับกิริยาอาการชั่วคราวอย่างนี้ ถ้านิโรธจริงๆ มันก็อย่างนิพพาน มันดับมาตั้งแต่เหตุปัจจัย มันก็ดับจริง ดับชั่วขณะตามเหตุตามปัจจัยชั่วขณะนี้มันไม่ใช่นิโรธ มันเป็นเพียงการเกิดดับ,เกิดดับของรูปธาตุอรูปธาตุ ตามความผันแปรของเหตุปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องแวดล้อม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันทยอยกันเข้ารับอารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไปตามลำดับๆ นี้มันไม่ใช่นิโรธ อย่างนี้มันไม่ใช่นิโรธ ถ้าจะใช้คำว่านิโรธ ก็ต้องให้ความหมายว่ามันก็ชั่วคราวชั่วสมัย ชั่วขณะชั่วสมัย อย่างดีหน่อยก็เรียกว่าตทังคนิโรธ สามายิกนิโรธ ตามธรรมดาก็เป็นเหมือนกับว่าหมุนไปตามราศี หมุนไปตามราศีของกิเลสกรรมและวิบาก,กิเลสกรรมและวิบาก กิเลสเกิดขึ้นดับไปเป็นกรรม กรรมเกิดขึ้นดับไปเป็นวิบาก วิบากดับไปเกิดขึ้นเป็นกิเลส กิเลสดับไปเกิดขึ้นเป็นกรรมนี่ อย่างนี้ไม่เรียกว่านิโรธ ไม่เรียกว่าดับอย่างเป็นนิโรธธาตุ
ฉะนั้นเราจึงไม่ค่อยได้พบกันกับนิโรธธาตุ แม้อย่างชนิดชั่วคราว ต้องเอาจริง ต้องตั้งอกตั้งใจจริง ปฏิบัติให้ถูกวิธี ปฏิบัติกรรมฐานภาวนาวิปัสสนาแบบใดแบบหนึ่งให้มันถูกวิธี มันก็จะพบสิ่งที่เรียกว่านิโรธนั่นแหละ พอดูได้ แม้จะชั่วขณะมันก็พอดูได้ จนกว่ามันจะดับถึงที่สุด ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วมันก็เป็นเพียงความหมุนเวียนเป็นวงกลมของสองสามอย่างนี้ กิเลส กรรม วิบาก,กิเลส กรรม วิบาก เห็นนั่นนี่เข้า ก็เกิดรัก เกิดโกรธ แล้วก็ทำไปตามความโกรธ ผลเกิดขึ้นมาเป็นตกนรกทั้งเป็น แล้วมันก็มีความคิดที่จะแก้ตัวใหม่อีก ไปเห็นอะไรเข้า ไปได้ยินอะไรเข้ามันก็โกรธอีก มัวอยู่แต่อย่างนี้
เอาล่ะ,เท่าที่พูดมานี้มันก็พอจะจับใจความกันได้แล้วว่า ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับสิ่งๆ เดียวคือจิตนั่นแหละ ใช้คำที่พระพุทธเจ้าท่านใช้มากที่สุดก็คือจิต บางทีก็ใช้มโน ใช้วิญญาณอะไรก็ตาม ภาษาไทยแถมพกด้วยคำว่าใจอีกคำหนึ่ง ถ้ามันมาจากคำว่าจิยะแล้วก็คือจิตนั่นเอง ทุกสิ่งรวมอยู่ที่จิต จะตั้งต้นอะไรก็ตั้งต้นที่จิต มันจะเบิกบานคลี่คลายอะไรไปมันก็ที่จิต แล้วจะได้รับผลเป็นสุขหรือเป็นทุกข์มันก็ที่จิต จะแก้ไขสิ่งเหล่านี้ มันก็ต้องแก้ไขที่จิต ดังนั้นจึงถือว่าทุกเรื่องต้องจัดการกันกับสิ่งที่เรียกว่าจิต เพราะมันก่อขึ้นมาที่นั่น และมันสะสมขึ้นไปที่นั่น และมันเปลี่ยนเป็นไปๆ ที่นั่น ตามเหตุตามปัจจัยทำให้เกิดปัญหาขึ้นมานี่ ก็เป็นความทุกข์ จะดับทุกข์มันก็ต้องดับที่ต้นตอของมัน ฉะนั้นก็ต้องจัดการลงไปที่จิต เราจึงมีวิธีปฏิบัติภาวนาต่างๆ นี้เพื่อทำลงไปบนจิต ให้จิตมันเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงนิสัย เปลี่ยนแปลงการสะสม เปลี่ยนแปลงการก่อ,ก่อตั้ง มันจะไม่ก่อตั้ง ไม่คิดไปในทางที่จะเป็นทุกข์ มันจะก่อไปในทางที่จะไม่เป็นทุกข์ คือไปในทางดี มันก็จะสะสมในส่วนที่ดี จนกระทั่งมันจะหลุดพ้นไปจากความดี นี่ก็คือคำพูดประโยคสั้นๆ อันนี้หมายถึงว่าทุกอย่างมันก็ขึ้นอยู่กับสิ่งๆ เดียวคือจิต เป็นไปตามอำนาจสิ่งๆ เดียวคือจิต ประโยคแรกของคัมภีร์ธรรมบท มันก็ขึ้นมาว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา, มโนเสฏฺฐา มโนมยา เลย ใจเป็นสิ่งที่นำหน้า ใจเป็นสิ่งที่มีอำนาจสูงสุด ทุกสิ่งสำเร็จมาจากใจ จากมโน คุณเอาไปคิดสิ พอฝ่ายตัวกูมันก่อขึ้นที่ใจ มันสะสมไว้ในใจ มันลุกลามไปในใจ มันแผดเผาจิตใจ จัดการกันเสียใหม่ ให้เปลี่ยนรูปเป็นไม่ใช่ตัวกูไม่ใช่ของกู คืออย่าให้เป็นกิเลส เป็นไปในทางที่ตรงกันข้าม ถ้าสัมผัสอารมณ์ทั้งหลายแล้วมีเวทนาแล้ว ตอนนี้อย่าให้เป็นตัณหา อย่าให้เป็นอุปาทาน ให้กลายเป็นสติปัญญารู้ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไปอีก ก็ทำไป ก็ไม่มีความทุกข์ ไม่ก่อเรื่อง ไม่สะสมเรื่อง ถ้าจะสมมติว่าก่อเรื่องหรือสะสมเรื่อง มันไม่ใช่เรื่องทุกข์ มันกลายเป็นเรื่องที่จะไม่ให้เกิดทุกข์ ถ้าผิดจากนี้เวทนาก็ให้เกิดตัณหา ตัณหาให้เกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ เกิดทุกข์ มันก็สะสมทุกข์ มันก็ก่อทุกข์แล้วก็สะสมความทุกข์ไว้ ทำกันมาหลายสิบปีแล้วควรจะพอกันที เปลี่ยนเรื่องใหม่ที แปลว่าเปลี่ยนแนวสำหรับเดินกันเสียที เปลี่ยนเส้นทางเดินให้จิตเสียที
นี่คือจิตเป็นที่ตั้งแห่งตัวกู-ของกู จิตในประจำวันของเรา มันก็ไปทำหน้าที่ก่ออะไรขึ้นมาแล้วก็สะสมเก็บไว้ อย่างนี้ทุกวัน ทุกวัน ทุกวัน เรียกชื่อว่าเวทนาก็ได้ สัญญาก็ได้ สังขารก็ได้ วิญญาณก็ได้ มันทำหน้าที่ก่อ แล้วก็สะสมเท่านั้นแหละ ไปดูให้ดีๆ ให้เข้าใจอย่างนี้ อย่าให้เป็นเพียงคำพูดสำหรับท่องให้มันหนวกหู ก็ต้องมองดูให้เห็นให้เข้าใจแล้วก็จะจัดการกับมันได้
สรุปความว่า เราพูดเรื่องจิตเป็นฐานรากแห่งสิ่งที่เรียกว่าตัวกู-ของกู และกำลังเป็นอยู่ทุกวัน กำลังก่อและเก็บสะสมอยู่ทุกวัน ทุกวัน ทุกวัน ไปดูให้เห็นแล้วก็จะเกิดความสลดสังเวช แล้วการปฏิบัติพรหมจรรย์ก็จะตั้งต้นและมั่นคง เอาล่ะ,พอกันที/