แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายเรื่องธรรมปาฎิโมกข์ของพวกเราที่นี่ ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกู-ของกูโดยไม่มีข้อยกเว้น วันนี้ไม่ค่อยสะดวกที่จะพูด แต่ก็ไม่อยากจะให้ขาด มันยังคันคอมาก เนื่องจากว่ามันเป็นวันที่ครบรอบสองเดือนของพรรษา ฉะนั้นจึงมีความประสงค์อยากจะพูดเป็นพิเศษ ไม่เกี่ยวเนื่องติดต่อกับครั้งที่แล้วๆ มา แล้วก็พูดเป็นพิเศษเฉพาะผู้ที่จะลาสิกขาด้วย คือบวชพรรษาเดียว เพื่อจะบอกให้ทราบว่าพรรษาได้ล่วงมาจนถึง ๒ส่วนใน๓ส่วนแล้ว ฉะนั้นขอให้เห็นว่ามันไม่ใช่เล็กน้อย เราควรจะระลึกถึงเวลาที่มันล่วงไปว่า ๒ส่วนใน๓ส่วนหมดไปแล้ว ถ้ายังทำอะไรได้ไม่คุ้มกันกับ ๒ส่วนใน ๓ส่วนนี้ก็เรียกว่าน่าตกใจ
เรื่องบวชเข้ามาพรรษาหนึ่งนี้ ถ้าสรุปให้มันเหลือสั้นๆ มันก็เพื่อจะฝึกหัดในการทำลายสิ่งที่เรียกว่าตัวกู-ของกูนั่นแหละ เรื่องนี้มันก็เป็นเรื่องหัวใจของธรรมปาฏิโมกข์ แล้วก็เป็นของทุกเรื่อง แล้วไม่ว่าจะพูดไปในทางไหนมันมารวมอยู่ที่คำว่าตัวกู-ของกู เราบังคับกิเลสไม่ได้ บังคับจิตใจไม่ได้ บังคับกายวาจาอะไรไม่ได้ ก็เรียกไปต่างๆ นานา แต่ว่าเรื่องมันก็คือบังคับตัวกู-ของกูไม่ได้ อำนาจของตัวกู-ของกูมันไม่ลด,ไม่ลดลง นี่เมื่อเรื่องมันมีอยู่ว่าเป็นหัวใจของเรื่องที่จะต้องบังคับ แล้วก็บรรเทา แล้วก็ไถ่ถอนสิ่งที่เรียกว่าตัวกู-ของกูนั้น เราต้องทดสอบกันดูด้วยเรื่องนี้ว่าทำได้เท่าไหร่ในระยะ๒เดือนแห่ง๓เดือนนี้ เท่าที่สังเกตดูการกระทำชนิดที่เรียกว่าบังคับ ก็ยังไม่ค่อยจะทำกัน ไม่ค่อยจะบังคับตัวกู-ของกู ฉะนั้นเรื่องที่จะบรรเทาให้มันลดลงไปหรือว่าจะถอนรากให้หมดเสร็จสิ้นเชิงนี้มันก็ดูยังไม่มีหวัง เพราะว่าสังเกตเห็นว่าภิกษุสามเณรยังไม่ค่อยจะทำสิ่งที่เรียกว่าบังคับตัวกู-ของกู นี้มันอาจจะเป็นเพราะเหตุหลายๆอย่าง อย่างแรกนี้คงไม่มีอะไรมากไปกว่าว่ามันไม่รู้ มันไม่รู้เรื่อง มันไม่รู้เรื่องนี้ ไม่รู้จักตัวกู-ของกู ไม่รู้จักสิ่งที่กำลังเรียกว่าตัวกู-ของกู แล้วก็ไม่รู้ว่าเราบวชสองสามเดือนนี้เพื่อฝึกหัดเล่นงานกับเจ้าหมอนี้ มันก็เลยไม่ได้ทำอย่างนั้น มันก็ทำตรงกันข้ามคือมันกลายเป็นเจ้าหมอนั่นเสียเอง คือส่งเสริมสิ่งที่เรียกว่าตัวกู-ของกูเสียเอง แทนที่จะบังคับ นี่จริงหรือไม่จริง ขอให้ไปลองวิเคราะห์ตัวเองดูทุกๆ องค์ ผู้บวชพรรษาเดียวมันก็มีปัญหารีบด่วนว่าสิ้นไป ๒ใน ๓ แล้ว ทีนี้ผู้ที่บวชหลายพรรษาแล้วก็ยังจะต้องคิดว่าในชั่วพรรษาหนึ่งนั้นเราได้ใช้มันไปอย่างไร ได้ใช้มันไปได้เป็นผลดีเท่าไหร่นี่ แม้ว่าเราจะยังไม่สึก ยังอยู่อีกหลายพรรษา มันก็ยังต้องคิดอยู่ว่าในหนึ่งพรรษานี้เราได้ใช้มันไปอย่างไร คุ้มกันหรือไม่ หรือว่ามันขาดทุน หรือว่าไม่ดีกว่า ๓เดือนของปีที่แล้วมานี้เป็นต้น เวลาในพรรษาก็เป็นเวลาที่ขอร้องขอเตือนให้ทำให้ดีเป็นพิเศษ ก็เพราะมันอำนวย พอนอกพรรษามันไม่ค่อยอำนวย มันมีนั่นมีนี่ ไปนั่นมานี่ มันยุ่งไปหมด ฉะนั้นโอกาสที่จะทำอะไรได้ดีมันก็คือในพรรษา รวมความว่ามันก็ต้องสนใจกันทั้งผู้บวชพรรษาเดียวหรือหลายพรรษาก็ตาม สนใจในเวลาในพรรษาหนึ่งพรรษานี้ให้ดีที่สุด
ที่ว่าที่ดีที่สุดมันก็คืออย่างที่ว่านั้น ควบคุมตัวกู บรรเทาตัวกู ถอนรากตัวกู มันก็ต่างกันมาก ควบคุมตัวกูนี้ก็หมายความว่ามันไม่ได้ทำอะไรได้มากกี่มากน้อยนอกจากว่าควบคุมไว้อย่าให้มันเกิดเป็นเรื่องเป็นพิษเป็นฤทธิ์อะไรขึ้นมา นี่ก็เรียกว่าควบคุมไว้ ทีนี้ถ้าเรียกว่าบรรเทามันก็ลดได้มาก ถ้าถอนรากมันก็ทำได้หมด ทำลายได้หมด แต่ว่าเรื่องควบคุมนั้นมันไม่ใช่มีผลเท่าที่เป็นการควบคุม ถ้าควบคุมไว้ได้ตลอดเวลามันก็จะมีผลเป็นการบรรเทาหรือถอนรากอยู่ในตัว นี้หมายความว่าควบคุมกันตลอดชีวิต ชั่ว ๓ เดือนนี้อาจจะไม่พอในการควบคุม แต่ถ้าควบคุมได้เป็นปีๆ ปีๆ มันก็มีผลเท่ากับบรรเทาหรือถอนรากได้เหมือนกัน เพราะว่าการที่ตัวกูจะเกิดขึ้นมาครั้งหนึ่งนั้น ถ้าควบคุมได้ มันก็ไปลด ความชินที่จะเกิด ความง่ายที่จะเกิดลงไปทุกทีเหมือนกัน ฉะนั้นขอให้ถือหลักว่ามันโลภกี่ครั้ง เราก็ต้องควบคุมที่จะไม่โลภเท่านั้นครั้ง มันจึงจะแก้กันได้ หรือโมโหโทโสกี่ร้อยครั้ง เราก็ต้องอดกลั้นให้ได้กี่ร้อยครั้งเหมือนกัน มันจึงจะไถ่ถอนกันไปได้
เรื่องโง่ก็เหมือนกัน ถ้าเราโง่ร้อยครั้ง เราก็ต้องฉลาดร้อยครั้ง มันจึงจะแก้โง่นั้นได้ อย่าเข้าใจว่าโง่ร้อยครั้งแล้วฉลาดครั้งเดียวมันจะแก้ไขได้ เพราะตามหลักนี้ก็มีว่าเกิดกิเลสครั้งหนึ่งก็เพิ่มอนุสัยให้ทีหนึ่ง เกิดกิเลสประเภทที่มาจาก อทุกขมสุขเวทนานี้ก็เพิ่มอวิชชานุสัยให้ครั้งหนึ่ง แล้วมันกี่ครั้งๆ อวิชชานุสัยมันฝังแน่น ชิน,เคยชินลงไปกี่ครั้ง นั่นแหละก็คือเราโง่กี่ครั้ง ทีนี้เราจะฉลาดด้วยการที่ว่าทำไปเรื่อยๆ นี้มันก็ต้องฉลาดเท่านั้นครั้ง เว้นแต่จะไปทำแบบเหนือเมฆหรือฟ้าแลบ ไปตัดกิเลสอนุสัยด้วยการทำพิเศษในเรื่องของวิปัสสนาภาวนาอะไรโดยตรง เดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้ทำอย่างนั้นนี่ อยู่กันอย่างธรรมดาๆ มันก็ต้องใช้วิธีธรรมดา ถ้าเรามันเคยโกรธร้อยครั้ง เราก็ต้องบังคับที่จะไม่โกรธร้อยครั้ง แล้วมันก็หายกัน ก็ค่อยเป็นปรกติได้ นี่ถ้าว่าเรามันทำได้อย่างนั้น มันเป็นการบรรเทาความเคยชิน แล้วมันเป็นการทำให้ไม่มีการหล่อเลี้ยง ไม่เพิ่มอาหารให้แก่มัน มันก็ตายได้เหมือนกัน คือว่าตายอย่างถูกถอนรากได้เหมือนกัน
ตัวอย่างเช่นพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่านิวรณ์ ๕ เป็นอาหารของอวิชชา อวิชชาอยู่ได้เพราะได้กินอาหารคือนิวรณ์ ๕ ทีนี้เราก็อยู่อย่างที่ไม่เกิดนิวรณ์ ๕ ดูสัก ๑๐ ปี ๒๐ ปี อวิชชาก็ผอมลง ผอมลง ผอมลง ทั้งๆ ที่ว่าบังคับนิวรณ์นี้มันเป็นสมถะเท่านั้นแหละ แต่มันก็กำจัดอวิชชา เพราะว่าอวิชชามีนิวรณ์ ๕ เป็นอาหาร ข้อนี้มันต้องอธิบาย คือว่าการที่บุคคลคนหนึ่งไม่มีกามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉานั้น มันอยู่ได้ด้วยอำนาจของปัญญาตามสัดส่วนแหละ มันจึงจะอยู่ได้โดยไม่มีวิจิกิจฉาเป็นต้น หรือว่าอำนาจที่ควบคุมจิตได้ถึงขนาดนี้ มันมีอำนาจมากถึงขนาดนี้ มันทำให้มีความรู้ อย่างน้อยก็รู้ว่ามันไม่ต้องการสิ่งเหล่านี้ ไม่ควรจะมีสิ่งเหล่านี้ ไม่ต้องการกามฉันทะหรือพยาบาท
เดี๋ยวนี้ภิกษุสามเณรอยู่ได้ด้วยนิวรณ์ ๕ เอ้า,ข้อที่ ๑ กามฉันทะ เรื่องเพศนี้คงจะฝันกันบ่อยๆ ทีนี้กาม เรื่องกิน เรื่องนอน เรื่องใช้ไม้สอย ที่มันอร่อยสนุกสนานสวยงาม นี้ก็เรียกว่าเป็นสงเคราะห์อยู่ในกามฉันทะเหมือนกัน คือกิเลสเครือเดียวกันกับความโลภความกำหนัด อยากจะกินอาหารให้อร่อย พออร่อยแล้วก็อร่อยในอาหารนั้น เขาเรียกว่าความกำหนัดในอาหารนั้นในรสของอาหารนั้น กิเลสนี้มันก็สงเคราะห์เข้าในประเภทกามฉันทะเหมือนกัน เพราะว่ากามะนี้หมายถึง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ทั้งห้าอย่าง ถ้าลงเป็นอร่อยก็ต้องเป็นกามะ เป็นที่ตั้งแห่งกามะ ก็มีฉันทราคะในสิ่งนั้น นี่คือกิเลสที่เรียกสังโยชน์บ้าง อนุสัยบ้าง อุปาทานบ้าง มีฉันทราคะในรสอร่อยทางกามอย่างใดอย่างหนึ่ง นั่นแหละคือตัวกิเลสที่เรียกว่าอนุสัย สังโยชน์ หรืออุปาทาน เช่น กามุปาทาน เช่น ราคานุสัย เช่น กามราคสังโยชน์เป็นต้น เดี๋ยวนี้ยังชอบอร่อยกันอยู่ อร่อยทางตาก็เรื่องสวยงาม ทางหูก็ยังชอบร้องเพลงกันอยู่ ทางจมูกก็ยังชอบกลิ่น ลิ้นก็ยังชอบอร่อยกันอยู่ ไม่ชอบกินอาหารอย่างพระ ยังชอบกินอาหารอย่างชาวบ้านอย่างคฤหบดีอยู่ บวชพระบวชเณรแล้วยังต้องสั่งปิ่นโตพิเศษมากินอยู่ อย่างนี้มันก็ไม่ได้การฝึกฝนในส่วนนี้ ซึ่งก็รวมอยู่ในคำว่ากามฉันทะเหมือนกัน,ส่วนรส ทีนี้ยังชอบนอนสบาย แทนที่จะนอนกระดานนอนเสื่อ นี่ชอบของอ่อนนุ่ม อย่างนี้ก็เรียกว่าโผฏฐัพพะ อร่อยทางผิวหนัง ก็ยังเป็นกามฉันทะ ฉะนั้นถ้าภิกษุหนุ่มหรือสามเณรยังชอบอย่างนี้อยู่มันก็ยังมีเรื่องกามฉันทะ ไม่ยินดีในการฝึกฝนควบคุมบังคับส่วนที่เป็นกามฉันทะที่เรียกว่านิวรณ์ข้อที่แรก
นิวรณ์ข้อที่ ๒ เรียกว่าพยาบาท แปลว่าจิตที่ประทุษร้าย ในแง่ไหนในความหมายไหนก็ตาม จิตที่มันประทุษร้ายก็เรียกว่าพยาบาท โกรธก็ได้ จองเวรก็ได้ คิดประทุษร้ายก็ได้ ถ้าว่าคนมันลืมไปในเรื่องกามฉันทะ ไม่สงสัยมันก็ลืมไปในเรื่องพยาบาท โดยมากก็เห็นว่าไม่สำคัญ ก่อนบวชเคยชินในการที่จะโกรธใครก็ได้ ด่าใครก็ได้ นินทาใครก็ได้ วิพากษ์วิจารณ์ใครในแง่ร้ายก็ได้ จนชินเป็นนิสัย พอบวชเป็นพระแล้วก็ไม่อยากจะละ ฉะนั้นจึงมีการพูดคำหยาบ มีการคิดประทุษร้าย ตลอดถึงการที่ไม่รู้จักยอม นี่ต้องพูดซ้ำว่า กิเลสนี้มันเนื่องสัมพันธ์กันไปทั้งหมดเลย ชื่อว่ากิเลสแล้วมันจะสัมพันธ์กันไปหมดได้ ราคะโทสะโมหะที่เรียกว่าแยกกันแล้วเป็นหมวดๆ หมู่ๆ พวกๆ กันแล้วมันก็ยังมีส่วนสัมพันธ์ เช่น รักมากก็โกรธมาก การที่จะโกรธมากก็ต้องมีอะไรที่มันรักมาก รักมากมันก็คือโง่มาก ถ้ามันไม่โง่มากเกินไปมันก็ไม่รักมากเกินไป อย่างนี้เป็นต้น นี้เรียกว่าส่วนที่มันสัมพันธ์กัน ฉะนั้นเมื่อยังมีมากในเรื่องกามฉันทะมันก็มีมากในเรื่องพยาบาท มันจึงมีความคิดที่ประทุษร้ายคนนั้นคนนี้โดยไม่มีเหตุผล แต่ทำไปเพื่อความยกหูชูหางของตัวกู-ของกู พอตัวกู-ของกูมันได้ยกหูชูหาง คนนั้นจะรู้สึกอร่อย อร่อยเพราะกิเลสได้แสดงบทบาทยกหูชูหาง นี้ถ้าเรียกภาษาพระพุทธเจ้าก็ต้องเรียกว่าอัสสาทะของกิเลส อัสสาทะแปลว่ารสอร่อย รสที่ทำให้คนหลง ทุกอย่างมีอัสสาทะ ไม่ว่าอะไรหมด มีอัสสาทะ แม้ในส่วนที่มันเลว เช่น อุจจาระปัสสาวะนี้มันก็มีส่วนที่เป็นอัสสาทะ ไม่แก่ใครก็คนใดคนหนึ่ง หรือเวลาใดเวลาหนึ่ง ในแง่ใดแง่หนึ่ง นี้กิเลสมีอัสสาทะเมื่อมันได้ทำหน้าที่ของมันนั่น เช่นมีความกำหนัดมันก็รู้สึกอร่อย มีความโกรธได้ด่าเขา ได้โกรธเขา ได้ว่าเขา แล้วมันก็รู้สึกอร่อย ได้โง่ตามที่มันอยากจะโง่มันก็อร่อยเหมือนกัน
รวมความแล้วกิเลสนี้มีอัสสาทะ คนจึงติดกิเลสเหมือนกับติดฝิ่น ถอนยาก แล้วมันทำซ้ำๆ ซ้ำๆไม่รู้กี่พันครั้งกี่หมื่นครั้งแล้ว ตั้งแต่เกิดมาจนอายุ ๓๐ ปีนี้เคยโกรธเคยไม่ชอบอะไรกี่ร้อยกี่พันกี่หมื่นครั้งแล้ว นับไม่ไหวหรอก ถ้ามันเคยหงุดหงิดเพียงวันละ ๑๐ ครั้ง หรือโกรธนั่นโกรธนี่บ้างรวมกันแล้ววันละ ๑๐ ครั้ง นี่คิดดูสิ, ปีหนึ่ง ๓ พันกว่าครั้ง ๑๐ ปี ๓ หมื่นกว่าครั้ง แล้วกลัวว่ามันจะมากกว่านั้น มันก็เป็นนิสัย มันก็เป็นยาเสพติด นั้นต้องได้มีความคิดประเภทที่ว่าเป็นกิเลสเรียกว่าวิรุทธะ-ผิดปรกติ จิตที่เป็นวิรุทธะเพราะอำนาจของกิเลสนี้ สบายอร่อย โลภะก็อร่อย โทสะก็อร่อย โมหะก็อร่อย ทีนี้ทำไมพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่ามันเป็นไฟ เป็นอัคคิ นี่คนโง่ๆ จะมองไม่เห็น ถ้ามันไม่อร่อยแล้วใครจะไปทำมันเล่า มันต้องมีอะไรที่มันทำให้คนนี้ไปขยำไฟหรือไปกอดกองไฟหรือไปอะไร มันจึงจะได้เกิดร้อนขึ้นมา ราคะโทสะโมหะเป็นของร้อน แต่แล้วคนก็ยิ่งมีราคะโทสะโมหะ ห้ามไม่ฟัง บอกก็ไม่เชื่อ ห้ามก็ไม่ฟัง นี่คิดดู นั้นแหละคือส่วนที่เรียกว่าอัสสาทะของกิเลสนั้น
ทีนี้ส่วนเรื่องที่ตรงกันข้ามเขาเรียกว่านิสสรณะ คืออุบายที่ฉลาดที่อยู่เหนือกว่าที่จะกำจัดมันได้ นี้เขาเรียกว่านิสสรณะ ส่วนนี้ไม่รู้เลย รู้จนติดจนอะไรกันแต่ส่วนที่เป็นอัสสาทะ เพราะฉะนั้นเราจึงมีนิวรณ์ กามฉันทะบ้าง พยาบาทบ้างอย่างไม่น่าเชื่อ เดี๋ยวนี้มันประมาทกันนัก ลองไม่ประมาท เอากระดาษเอาดินสอมาเขียนตีตารางจดไว้ วันหนึ่งมันมีกามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉานี้กี่ครั้งกี่หนด้วยเรื่องอะไร แล้วก็อย่าทำสะเพร่าๆ จดให้จริงๆ มันแวบมานิดหนึ่งก็จดไปจริงๆ จะมาก มากไม่น่าเชื่อ ที่คนเรามีนิวรณ์ ๕ ประการนี้ ผมพูดแต่ที่มันสำคัญมาก สองอย่างแรก กามฉันทะกับพยาบาท ส่วนถีนมิทธะกับอุทธัจจกุกกุจจะนั้นก็ไม่ใช่น้อยเหมือนกัน แต่โทษมันไม่ค่อยรุนแรงอะไร ถีนมิทธะนั้นคือจิตมันแฟบ อุทธัจจกุกกุจจะนั้นจิตมันฟู เวลาไหนจิตเราแฟบมันก็มีนิวรณ์ประเภทถีนมิทธะ เศร้าสร้อยละเหี่ยละห้อย กระทั่งง่วงนอนและขี้เกียจ นี่ในที่สุดเป็นเรื่องขี้เกียจ นี้เป็นเรื่องจิตแฟบ เรียกว่านิวรณ์ประเภทถีนมิทธะ ทีนี้บางเวลามันตรงกันข้าม มันฟุ้งซ่าน คิดเพ้อจนนอนไม่หลับ เป็นโรคเส้นประเภทไปในที่สุดก็มี อันสุดท้ายเรียกว่าวิจิกิจฉา อันนี้ก็อยากจะแนะสักหน่อย อย่าประมาทกับสิ่งที่เรียกว่าวิจิกิจฉา ตัววิจิกิจฉาเป็นตัวอวิชชาอยู่โดยตรง ทีนี้มันมีมาก แล้วก็ละเอียดจนไม่รู้จักกันโดยมาก คือไม่รู้สึก ไม่รู้สึกไม่รู้จักต่อสิ่งที่เรียกว่าวิจิกิจฉา เพราะว่าครูมักจะสอนกันว่าความสงสัยบ้าง ความลังเลบ้าง ลูกศิษย์ก็คิดว่าต่อเมื่อสงสัยมันจึงจะเกิดวิจิกิจฉา หรือต่อเมื่อลังเลในการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจึงจะเรียกว่าวิจิกิจฉา ที่จริงมันละเอียดยิ่งกว่านั้น แม้ที่สุดแต่ไม่รู้ว่าจะทำอะไรดีนั้นก็คือวิจิกิจฉา ให้สังเกตดูให้ดีๆ เถิด วันหนึ่งเรามีเวลาที่รู้สึกไม่สนุกใจ เพราะไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี ก็มีอยู่มาก นั่นก็ไม่น่าทำ นี่ก็ไม่น่าทำ นี้ก็เรียกว่ามันก็วิจิกิจฉา บางทีว่านี่ดีกว่า เช่นมีหนังสือหลายๆ เล่ม คุณมีกันมากๆ นี่ ไม่รู้ว่าจะอ่านเล่มไหนดี จนไม่ได้อ่านเลยก็มี แต่เดี๋ยวนี้ผมอยากจะแนะให้เห็นว่ามันมากกว่านั้น เวลาที่ไม่นึกอยากจะอ่านหนังสือ หรือไม่นึกอยากจะทำอะไร แต่เราก็ไม่พอใจตัวเองได้ เราไม่รู้สึกพอใจตัวเองได้ ไม่แน่ใจว่าเราได้ดี หรือว่าเราได้ความปลอดภัยในทางธรรม นี้คือตัววิจิกิจฉาที่ร้ายที่สุดและก็ที่ละเอียดที่สุดที่มองเห็นยากที่สุด มันทรมานที่สุด เราไม่มีเรื่องอะไรเลย ไม่มีเรื่องอะไรมารบกวนมาอะไรหมดเลย แต่เราก็ไม่รู้สึกพอใจในชีวิตในตัวเราเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลานั้นเราไม่พอใจตัวเอง ฉะนั้นเราจึงมีอาการเหมือนกับว่าเป็นโรคประสาทอย่างลึกซึ้งอะไรอยู่ คือไม่อาจจะรู้สึกพอใจตัวเองได้ หรือเวลานาทีเพียงเท่านั้นเราก็ไม่รู้สึกพอใจตัวเองได้ ก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ ก็เลยแก้กันด้วยทำไม่รู้ไม่ชี้ ก็ปล่อยไปจนเป็นนิสัย ไม่อยากจะสืบสวนว่าทำไมเราจึงไม่รู้สึกพอใจตัวเองได้ เอาเลย,เมื่อคุณกินอะไรอร่อยๆ เสีย มันก็อร่อยๆ ไปเสีย ปัญหามันก็ไม่มี เอ้า,ไปหาบุหรี่มาสูบเสีย กาแฟมาดื่มเสีย อะไรมาดื่มเสีย มันก็อร่อยๆไปเสีย มันก็ไม่มีปัญหานี้ หรือว่าเมื่อคุณไปทะเลาะกันโกรธกันเสียอะไรกันเสีย หมกมุ่นอยู่ด้วยโทสะพยาบาท ความรู้สึกอันนี้ก็ไม่มี ทีนี้เมื่อความรู้สึกอื่นๆ มันไม่มี ใจคอก็สบายแล้ว ไม่มีอะไรรบกวนแล้ว มันก็ยังมีอันนี้ คือความรู้สึกที่เราไหว้ตัวเองไม่ได้ ไม่แน่ใจว่าเราดี ไม่แน่ใจว่าเราปลอดภัยในทางธรรม นั่น,อย่าลำเอียงนะ ไปคิดกันดู ไปสังเกตกันดูว่าเวลาที่เราไม่มีอะไรรบกวนเป็นกิเลสร้ายๆ แรงๆ นี้ เราก็ยังไม่มีความสุข เพราะมันมีกิเลสตัวนี้เหลืออยู่ คือเราไม่แน่ใจว่าเราได้เป็นผู้ที่ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด หรือว่าปลอดภัยที่สุด มันก็ยิ้มเก้อๆ หัวเราะแห้งๆ พูดเก้อๆ ไปอย่างนั้นแหละ ว่าดีแล้วอะไรแล้วอย่างนั้นแล้ว มันหลอกตัวเองทั้งนั้นแหละ อย่างนี้ก็ต้องเรียกว่าหรือสงเคราะห์ไว้ในสิ่งที่เรียกว่าวิจิกิจฉาเหมือนกัน คือว่าไม่แน่ โลเล ลังเล ไม่แน่ ไม่แน่ลงไปว่าดีแล้วแน่ ถูกแล้วแน่ ปลอดภัยแล้วแน่ เป็นผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโดยแท้จริงแล้วโดยแน่นอน ถ้าข้ออื่นมันช่วยไม่ได้ คุณคิดข้อนี้สิ ว่าเดี๋ยวนี้เราประพฤติถูกต้องดีที่สุดหมดแล้ว เป็นพระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแน่นอน เอ้า,ลองคิด เดี๋ยวมันจะมีความรู้สึกอะไรต่อต้านขึ้นมาทันทีเลยว่ามันยังเลวอย่างนั้น มันยังเลวอย่างนี้ มันยังเลวอย่างโน้น แล้วจะเอาอะไรกับมัน มันก็เป็นเรื่องแกว่งไปแกว่งมา เป็นวิจิกิจฉาอยู่นั่นแหละ นี่บวช ๓ เดือนมันจะไม่พอ ๓ เดือนมันสิ้นไป ๒ เดือนแล้ว มันยังเหลืออยู่อีก ๑ เดือน ก็ขอให้สนใจกันเป็นพิเศษ วันนี้บรรยายเรื่องเกี่ยวกับเวลา
นี่พระพุทธเจ้าท่านว่านิวรณ์เป็นอาหารของอวิชชามันหมายความว่าอย่างนี้ เพราะว่านิวรณ์บางตัวมันเป็นอวิชชาอยู่เต็มตัว เช่นวิจิกิจฉานี้เป็นต้น จิตใจยังมืด ยังไม่สว่าง ยังรู้ว่าตัวยังไม่สว่าง ก็แก้เก้อไปวันๆ หนึ่ง รู้นั่นรู้นี่ พูดนั่นพูดนี่ ทำนั่นทำนี่ นี่ถ้าว่าเป็นผู้ที่ไม่ประมาทจริงๆ จะต้องมองเห็นข้อนี้ ก็ต้องแก้ไขข้อนี้อยู่จริงๆ เหมือนกัน อย่าทำเล่นกับมัน ฉะนั้นมันยากที่ว่าเราจะเป็นภิกษุสามเณรที่ดีได้แม้ชั่วระยะอันสั้นคือ ๓ เดือนนี้ ถึงอย่างไรก็ขออย่าเพิ่งท้อถอย ยังต่อไปอีกเดือนหนึ่ง นี้ก็เอาไว้แก้ตัว ทำชดเชย ๒ เดือนที่ว่ามันไม่ค่อยจะได้อะไร แล้วบางทีก็ไม่ค่อยจะเชื่อกันด้วย พูดอะไรก็ดูว่าเป็นไม่สำคัญเสีย ฉะนั้นเวลามันจึงได้ล่วงไป
ทีนี้ก็มาคิดดูว่าเราบวช ๓ เดือน เสียเวลาไปเท่าไหร่ บิดามารดาเขามีความหวังอย่างไร การงานของเราคืออะไร เราบวชเพื่อจะศึกษาอะไร เพื่อจะไปใช้กับการงานของเราในอนาคตอย่างไร ก็คิดดูว่าสิ่งนั้นมันได้หรือเปล่า สิ่งนั้นมันได้หรือเปล่า เช่นว่าบวช ๓ เดือน จะฝึกฝนการบังคับตัวเองให้อยู่ในร่องในรอย ให้น่ารักน่านับถือแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา แม้จะสึกไปทำงานบังคับบัญชาเขาอย่างนี้ มันได้หรือเปล่า ถ้าไม่ได้ มันเท่าตัวหรือเปล่า กลัวว่ามันจะเลวกว่าเดิม มันจะเลวกว่าเมื่อไม่ได้บวช เพราะว่าเมื่อมาบวชนี้มันยิ่งมาปล่อยตามกิเลสตัณหาเพิ่มเข้าไปอีก มันก็ยิ่งบังคับตัวเองไม่ได้มากขึ้นไปอีก บังคับตัวเองไม่ได้มากขึ้นไปอีก สึกไปนี้มันจะเลวกว่าเดิม คือว่าจะไม่บังคับตัวเองยิ่งขึ้น กลัวแต่อย่างนี้แหละ จะประมาทเสีย แล้วจะไม่บังคับตัวเองยิ่งขึ้น ฉะนั้นการบวชนี้ขาดทุนยิ่งกว่าล้มละลาย ไม่มีอะไรที่น่าชื่นใจแก่บุคคลใด เป็นเรื่องหลอกกันหมด พ่อแม่คิดว่าได้บุญใหญ่หลวงแล้วมันก็ล้มละลายเพราะข้อนี้
นี่เพราะฉะนั้นผมจึงขอพูดว่า ๒ เดือนแล้ว ยังเหลืออีก ๑ เดือน พยายามทำให้ดีที่สุดสำหรับ ๑ เดือนที่ยังเหลืออยู่นี้ นี่สำหรับผู้ที่จะสึก แล้วผู้ที่จะไม่สึกก็ควรจะคิดว่ามันยังเหลืออยู่อีก ๑ เดือนแล้วที่จะออกพรรษาแล้ว เราจะไปบ้าอะไรกันอีกแล้ว ๓ เดือนนี้ตั้งใจจะทำให้ดี ออกพรรษาแล้วจะออกไปบ้าอะไรกันตามเคย มันก็ต้องคิดมากเท่ากับคนที่บวช ๓ เดือนเหมือนกันแหละ ฉะนั้นจะโทษผมก็คงไม่ถูกนะ เพราะว่าผมได้พูดมากตั้งแต่วันแรกเข้าพรรษา วันที่ ๑ ของการเข้าพรรษา วันที่ ๒ ของการเข้าพรรษา ผมพูดอย่างไรบ้าง เอ้า,ลองนึกกันดูสิ เพราะผมกลัว ผมก็พูดให้พยายามใช้เวลาในพรรษาให้ดีที่สุด บางคนก็สนใจ บางคนก็ไม่สนใจ บางคนก็ไปยุ่งเรื่องที่ไม่มีสาระเสียแล้ว ไม่มาสนใจเรื่องที่สำคัญที่สุด ไปเห็นเรื่องกิน เรื่องเล่น เรื่องนอน เรื่องหัว แม้แต่เรื่องไปรังแกคนอื่น นินทาคนอื่นนี้ดีกว่าเสียอีก มันก็เลยไม่ได้สิ่งที่ควรจะได้ ทีนี้มันก็ถึงเทอมที่จะสอบไล่ ก็ลองสอบดู นิวรณ์ข้อไหนมันได้เบาบางไปบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องตัวกูมันยกหูชูหางนั่นสำคัญที่สุด นั่นแหละข้อสอบไล่ข้อที่สำคัญที่สุดก็คือการยกหูชูหางของสิ่งที่เรียกว่าตัวกู-ของกู เอาใจความสั้นๆ ทีแรกว่าคือความไม่ยอม ความไม่ยอมนี้ก็ขยายตัวออกไปเป็นการที่จะไปเล่นงานผู้อื่น หรือว่าไม่ยอมให้ใครว่ากล่าวสั่งสอนตักเตือน แล้วมันก็ขยายต่อไปออกไปจนถึงกับว่าไม่มีเรื่องก็ต้องมีเรื่อง ก็ทำให้มันมีเรื่องจนได้ ความไม่ยอมอย่างเดียวแห่งตัวกู-ของกูนี้ มันจะไปข่มขู่ผู้อื่นดูหมิ่นผู้อื่น แล้วมันก็ตั้งข้ออะไรที่เขาเรียกว่าตั้งป้อม ตั้งป้อมรักษาตัวเองนั้นมันมากเกินไป จนใครทำอะไรก็ไม่ได้ จนพ่อแม่แท้ๆ หรือบิดามารดา ครูบาอาจารย์แท้ๆ ก็ตักเตือนไม่ได้ ฉะนั้นก็คิดดูสิ ว่ามันจะเกิดปัญหาอะไรขึ้น พอมันมีการตักเตือนไม่ได้มันจะเกิดอะไรขึ้น มันต้องเกิดมากเหลือประมาณ ทีนี้ถ้ามันเคยชินเป็นนิสัยมากขึ้นแล้วมันก็จะไม่ยอมรับอะไรเลย ในที่สุดมันก็อยู่ด้วยความไม่ยอม อยู่ด้วยความไม่ยอม เป็นบุคคลหรือว่าเป็นมนุษย์หรือเป็นอะไรก็ตามใจแห่งความไม่ยอมอยู่จนตลอดชีวิต
ทีนี้คนบางคนก็จะคิดว่าความไม่ยอมมันก็มีส่วนถูก แต่นั่นเขาไม่ได้หมายความอย่างนั้น ถ้ามันดีจริง แม้ถูกมันก็ยอม เพราะมันไม่มีกิเลสประเภทตัวกู-ของกูที่จะยกหูชูหาง แล้วอะไรล่ะที่มันจะไม่ยอม ฉะนั้นถ้าเป็นเรื่องของพระอรหันต์มันก็ไม่มีอะไรที่จะไม่ยอม ยอมให้มันเลิกกันไปหรือว่ายอมให้มันแล้วกันไปแม้ว่าเราเป็นฝ่ายถูกเป็นฝ่ายไม่ผิดนี้ก็ยังยอม ไปอ่านดูในเรื่องของพระอรหันต์หลายๆ องค์ จะไม่มีการไม่ยอม ที่มีในบาลี ก็เช่นเรื่องพระอานนท์ถูกหาว่าเป็นอาบัติเพราะอย่างนั้นๆ เมื่อจะทำปฐมสังคายนานั้น มันก็จำเป็นต้องยอม ทั้งที่ว่าพระอานนท์ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็รู้จักยอม หรือเป็นพระอรหันต์แล้วก็รู้จักยอม นี่ผมก็ไม่แน่ตรงนี้ แต่ว่าพระอานนท์นั่นแหละเป็นผู้ยอม นั้นมันเป็นหลักของการละกิเลสโดยเฉพาะกิเลสประเภทสังโยชน์ อนุสัย อุปาทานนี้ มันเป็นกิเลสประเภทความยึดมั่นถือมั่น นั่นคือความไม่ยอม ถ้าตรงกันข้ามก็คือความยอม
ทีนี้เรื่องที่จะต้องดูกันต่อไปก็คือว่า พอไม่ยอมมันโง่ทันที พอยอมมันฉลาดทันที แต่คนโง่มันจะเข้าใจฝ่ายตรงกันข้ามไม่ได้ คนโง่มันจะเข้าใจว่าพอยอมแล้วฉลาดทันทีนี้ไม่ได้ เพราะมันโง่นี่ เพราะมันโง่แล้วมันก็ไม่ยอม ทีนี้คุณเอาโง่หรือเอาฉลาดไปเก็บไว้เสียที่ไหนก่อนก็ได้ ให้เหลือแต่มันเป็นกลางๆ แล้วก็มาพิจารณาดูว่า พอยอมแล้วฉลาดทันที พอไม่ยอมแล้วจะโง่ทันที ไม่ว่าเรื่องอะไรหมด จะเรื่องผิดก็ตามเรื่องถูกก็ตาม นี้ผมก็ไม่ได้พูดเดาๆ พูดไปตามความสังเกตรู้สึกและผ่านมาแล้ว เคยชิมมาแล้ว เคยถูกมาแล้ว เป็นเวลาหลายสิบปีแล้วพูด ในหนังสือมันก็ไม่มี คำพูดอย่างที่กระผมกำลังพูดนี้ ผมไม่เคยอ่านพบในหนังสือไหน ผมอ่านเอามาจากชีวิตที่มันผ่านมาแล้ว ว่าพอยอมแล้วมันฉลาดทุกที พอไม่ยอมแล้วมันโง่ทุกที มันจะเสียหายทุกที มันจะขาดทุนทุกทีเรื่องไม่ยอมนี้ ทีนี้พอเป็นเรื่องยอมแล้วมันมีแต่กำไรทุกทีเลย แล้วมันมีแต่ความเจริญหรือมีความที่เรียกว่าได้ ไม่มีเสียหรอก แม้ว่าเราเป็นฝ่ายถูกเขาหาว่าผิด มันก็ยังดีอยู่นั่นแหละ มันกินความมาก เรื่องยอมไม่ยอมนี้มันกินความมาก แต่ขอให้เข้าใจคำนี้ให้มันถูกต้องเสีย เช่นว่ายอมตายอย่างนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่รักษาไม่กินยา มันมีแง่หรือมุมที่เข้าใจยากเกี่ยวกับคำชนิดนี้ มันเป็นคำสูงสุดในทางธรรมะนี้ เช่นว่ายอมตายอย่างนี้ คุณก็คงคิดว่า เอ้า,ไม่ยาก นอนให้มันตายเลย แต่เมื่อยอมตายแล้วจะกินยาอะไรก็ได้ จะทำอะไรก็ได้ที่มันจะไม่มีความทุกข์ก็แล้วกัน ที่ไม่ยอมตายนั่นแหละมันจะทำอะไรไม่ถูก ถึงทีที่ควรตายหรือว่ามันควรจะตาย หรือว่าให้มันตายไปดีกว่ามันจะได้ไม่ต้องกลัวมากไม่ทุกข์มาก ถ้าเรายอมตายแล้วเราจะกลัวตายทำไม ฉะนั้นคนเจ็บนั้นก็ไม่ต้องทุรนทุรายกลัวตายหรืออะไรมากมายนัก นี่แม้แต่ยอมตายมันก็ยังดีกว่าที่ไม่ยอม
ทีนี้เกี่ยวกับบุคคลเกี่ยวกับสังคมนี้ มันมีศิลปะมีอะไรที่เป็นเคล็ดเป็นเล่ห์เหลี่ยมของการยอม ใช้กลเม็ดแห่งการยอมเถิด จะได้ผล และง่ายกว่าหรือว่าเรียบร้อยกว่าอะไรกว่า ดีกว่าการไม่ยอม น้อยนักน้อยหนาที่จะไปรอดได้ด้วยการไม่ยอม เพราะว่าถ้าไม่ยอมขึ้นมาจริงๆ แล้วมันโง่ มันมืด มันหงุดหงิด มันอะไรมันมาก มันจิตใจมันโง่เสียแล้ว มันก็คิดอะไรไม่ถูก เอาชนะเขาไม่ได้ แต่ถ้ายอมให้มันเรียบราบเสียทีหนึ่งก่อน แล้วก็ค่อยๆ คิดหาหนทางทำให้ดีที่สุด ควรจะเป็นอย่างไรก็ทำไป ในที่สุดมันก็จะเป็นผลดี เดี๋ยวนี้เรามันอยู่กันด้วยความไม่ยอม นับตั้งแต่สัตว์เดรัจฉานขึ้นมาถึงคน กระทั่งถึงหมู่คณะ จนถึงกระทั่งโลกทั้งหมดนี้มันก็ไม่ยอม เทวดามันก็ไม่ยอม มันมีกิเลสนี้แล้วมันก็ไม่รู้จักยอมเหมือนกัน เดี๋ยวนี้ถ้าว่ารู้จักยอมกันบ้างก็ไม่ต้องรบราฆ่าฟันกันมากมายนัก ถึงว่าแม้ในวัดในวานี้ถ้ารู้จักยอมกันบ้าง พระเณรก็ไม่ทะเลาะวิวาทกัน ไม่ด่ากัน ไม่ชกกัน ไม่แทงกันตาย ทั้งที่เป็นพระเป็นเณร มันมีบ่อยๆ ผมคิดว่าปีหนึ่งพระเณรแทงกันตายมีหลายสิบองค์ทั่วประเทศไทยนี้ ประเทศแห่งผ้ากาสาวพัสตร์อย่างนี้ ไปสืบดูเถิด เท่าที่รู้หนังสือพิมพ์นี้มันก็หลายองค์แล้วปีๆ หนึ่งที่พระเณรแทงกันตายในผ้ากาสาวพัสตร์ มันก็มาจากไม่ยอม
นี่พูดมากมายหลายตัวอย่างแต่ว่าเรื่องๆ เดียว คือเรื่องให้พิจารณาคิดบัญชีกันเรื่องตัวกู-ของกู ที่เราได้ควบคุมมันแล้วเท่าไหร่ เราได้บรรเทามันแล้วเท่าไหร่ เราได้ถอนรากมันแล้วเท่าไหร่ตลอดเวลาหนึ่งพรรษานี้ ซึ่งสิ้นไป ๒ ส่วนแล้วเหลืออีก ๑ ส่วนเท่านั้น และถ้าว่าอยู่มาหลายพรรษาแล้วก็ช่วยเปรียบเทียบว่าปีนี้ สมมติว่าปีนี้ครบ ๕ พรรษาแล้วนะ มันดีกว่าปีกลายหรือเปล่า ดีกว่าปีแรกๆ หรือเปล่า ตามที่ผมสังเกตเห็น มีอยู่หลายองค์เลวกว่าปีแรกๆ พรรษาที่ ๑ ก็ดูดีอยู่หรอก พรรษาที่ ๒ ก็ยังพอใช้ได้ พรรษาที่ ๓ เลวกว่า พรรษาที่ ๔ เลวกว่า พรรษาที่ ๕ ยกหูชูหางมากขึ้นนี่ มีกิเลสประเภทตัวกู-ของกูมากขึ้น พอได้เรียนรู้อะไรบ้างแล้วก็มีตัวกู-ของกู ยกหูชูหาง พอได้ทำอะไรเป็นบ้างก็ยกหูชูหาง พอได้ทำนั่นทำนี่ มีเกียรติมีชื่อมีเสียงแล้วก็ยกหูชูหาง มันเลยเป็นว่าพรรษายิ่งมากนี้มันยิ่งแย่ ฉะนั้นจึงต้องระวัง เพราะว่าสิ่งที่ทำไปปีหนึ่ง,ปีหนึ่ง,ปีหนึ่งนี้ มันเป็นเรื่องความเจริญของลาภสักการะสรรเสริญหรืออะไรทั้งนั้น แล้วเราก็คิดว่านี้ดี นี้ถูก แต่ที่จริงมันเป็นเรื่องหลอกลวงที่สุด ถ้าจะเสียกันก็เสียกันเพราะข้อนี้แหละ เพราะเขายกย่องสรรเสริญนี้แหละ ก็ลองสังเกตดูเองก็แล้วกัน มันเปรียบเทียบได้ง่ายๆ ว่าเรื่องที่เราเคยโมโหเคยอะไรปีนี้นะ เมื่อแรกบวชเราไม่ได้โมโห เรื่องขนาดที่ปีนี้เราโกรธเป็นฟืนเป็นไฟนั่นแหละ ปีที่เราแรกบวชเราไม่ได้โกรธ ถ้ามันมีอย่างนี้แล้วก็เป็นที่แน่นอนแหละ เมื่อแรกๆ บวช ครูบาอาจารย์ทักได้ ว่าได้ สอนได้ พอสี่ห้าพรรษาแล้ว ทักว่าไม่ได้แล้ว โกรธแล้ว ทีนี้มากไปกว่านั้นก็ต่อสู้หรือว่าเกิดเรื่องแล้ว
นี่มันเห็นได้ง่ายๆ อย่างนี้ แล้วเป็นกฎธรรมดาสามัญที่สุด เป็นเรื่องของธรรมชาติธรรมดาสามัญที่สุด เพราะก่อนนู้นมันไม่ค่อยมีตัวกู-ของกู พอเรียนเข้าสอบไล่ได้เข้า มีคนยกย่องสรรเสริญอะไรเข้า ตัวกู-ของกูมันเจริญ โตขึ้น, โตขึ้น,โตขึ้น มันเป็นเสียอย่างนี้ มันก็ยากเหมือนกันในเรื่องนี้ แล้วความยากมันก็อยู่เท่านี้ อยู่ที่ตรงนี้แหละ ถ้าแก้ปัญหาตรงนี้ได้มันก็ไม่มีปัญหาอะไรสำหรับความเป็นพระเป็นเณรของเรา ยิ่งปีก็ยิ่งเป็นเป็นพระเป็นเณรดีขึ้น มันก็ไม่มีปัญหาอะไร ถ้ายิ่งปีๆ ก็ไม่เป็นพระเป็นเณรมากขึ้น มันก็ไม่ไหว มันมีตัวกู-ของกูมากขึ้น
ขอให้ทำรายละเอียดดู ทดสอบดู ความกระด้างด้วยมานะนั้นมันมีมากขึ้นหรือว่าน้อยลงแต่ละปีๆ เขาเรียกความกระด้างด้วยมานะ เช่นตัวกู-ของกูมันมากขึ้นหรือน้อยลง นี้โดยหลักทั่วไปตลอดชีวิต ทีนี้จะบวช ๓ เดือนนี้ก็มีการทดสอบว่าความกระด้างด้วยมานะที่เอามาจากบ้านท่วมหัวท่วมหูพ่อแม่ไล่มาบวชนี้ มันมากขึ้นหรือน้อยลง ถ้าน้อยลงก็ใช้ได้ กลับไปสึกไปนี้ก็จะเรียกว่ามีกำไรในการที่ได้บวช ทีนี้มาพอกใหม่เพิ่มใหม่ขึ้นมาอีกประเภทหนึ่งเมื่อบวชนี้ก็เรียกว่าฉิบหายหมด ป่วยการบวช มันเป็นคนมีจิตใจถือตัวถือตนมากไปกว่าเดิมว่าได้บวชแล้ว ทีนี้ได้บวชแล้ว ออกไปนี้ก็จะอาละวาดใหญ่ ได้บวชแล้ว
นี่ผมเห็นว่าวันนี้เป็นวันที่ครบ ๒ เดือน เมื่อวันครบ ๑ เดือนผมก็จำได้ว่าได้พูดในลักษณะที่ตักเตือนกันอย่างนี้ นี่วันนี้วันครบ ๒ เดือนก็พูดกันอย่างนี้ แล้วบางทีถ้าไม่ตายเสียก็มีโอกาสพูดเมื่อครบ ๓ เดือนอีกทีหนึ่ง ไม่มีเรื่องอื่นที่จะพูดนอกจากจะพูดเรื่องตัวกู-ของกู จะควบคุมมันอย่างไร จะบรรเทามันอย่างไร จะถอนรากมันอย่างไร มีกันแต่เท่านี้ ฉะนั้นการงานอะไรที่ขอร้องให้ทำมอบหมายให้ทำ ขอให้ทำไปในลักษณะที่มันจะช่วยไถ่ถอนตัวกู อย่าทำแล้วไปคิดบัญชีเรียกร้องว่าเป็นความดีของกู กูจะเอานั่นเอานี่ กูก็ยกหูชูหาง อย่างนี้มันไม่ถูก ฉะนั้นถ้าใครเรียนอะไรได้มากหรือทำงานอะไรได้มาก ขอให้มันเป็นเครื่องลดตัวกู-ของกูกันทุกๆ คน แล้วก็ทุกๆ ปีด้วย เป็นอันว่าปลอดภัยหมดโดยแน่นอน เอาล่ะ,วันนี้ก็พอกันที