แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายโดยหัวข้อว่าธรรมปาฏิโมกข์ คือเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าตัวกู-ของกู อาจจะไม่เป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้งแก่พวกที่มาใหม่ก็ได้ ผมจึงพยายามที่จะพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ในขั้นต้นๆ ในขั้นแรกศึกษา ไม่ได้พูดต่อไปจากครั้งสุดท้ายของครั้งที่แล้วมาโน้น ในครั้งที่แล้วมานี้ก็พูดเรื่อง ก. ขอ ก. กา ของตัวกู-ของกู หมายความว่าเรื่องแรก แรกเรียนเกี่ยวกับเรื่องตัวกู-ของกู ถ้าใครยังจำได้ก็จะเข้าใจเรื่องที่จะพูดต่อไปนี้ได้ ถ้ามันไม่เข้าใจหรือจำไม่ได้มันคงจะลำบาก ฉะนั้นจึงขอร้องว่าให้พยายามทำความเข้าใจตอนต้นๆ นี้ให้ดีที่สุด ไม่เข้าใจก็ถามได้หรือไปถามเพื่อนฝูงกันก็ได้ ให้มันเข้าใจหลักต้นๆ มันก็จะเข้าใจเรื่องที่มันสูงขึ้นไปๆ ได้เอง
เรื่องตัวกู-ของกู คำๆ นี้มันบัญญัติขึ้นเพื่อให้สะดวกแก่การพูดอธิบายเท่านั้น แต่ที่แท้ก็ไม่ใช่คำใหม่ มันเป็นคำที่มีอยู่ในบาลีแล้วว่าอหังการ-มมังการ ในระดับทั่วไปก็เรียกว่าอัตตา-อัตตนียา ระดับที่มันเข้มข้นก็เรียกว่าอหังการ-มมังการ แปลเป็นไทยก็ว่าตัวกู-ของกู พอจะสังเกตเห็นหรือรู้จักได้ว่า เมื่อจิตใจของเราขุ่นข้นหรือหม่นหมอง หรือเศร้าสร้อยอ่อนเพลียหรืออะไรก็ตามที่มันผิดปรกติ มันเป็นเรื่องตัวกู-ของกูเกิดทั้งนั้นแหละ คุณต้องไปศึกษาจากของจริงด้วย ให้รู้จักตัวกู-ของกูว่ามันเกิดเมื่อไหร่ แล้วมันไม่ได้เกิดไม่ปรากฏนั้นเมื่อไหร่ ถ้าใจคอปรกติ ตัวกู-ของกูไม่มี อหังการ-มมังการยังไม่ได้ปรุงขึ้นมา พอใจคอผิดปรกติทางใดทางหนึ่ง มันจะต้องเป็นอหังการ-มมังการ หรือตัวกู-ของกูนี้ในทางใดทางหนึ่ง ปริยายใดปริยายหนึ่ง ปริมาณใดปริมาณหนึ่งแน่นอน ฉะนั้นเราก็มีเวลาที่ใจคอไม่ปรกติบ้าง เวลาที่สบายดีใจคอปรกติดีก็มีมาก แต่ใจคอที่ผิดปรกติ มันมีความทุกข์ ไม่ทุกข์อย่างนั้นก็ทุกข์อย่างนี้ รักก็ทุกข์ไปตามแบบรัก โกรธก็ทุกข์ไปตามแบบโกรธ เกลียดก็ทุกข์ไปตามแบบเกลียด กลัวก็ทุกข์ไปตามแบบกลัว นั่นให้รู้จักคำว่าใจคอผิดปรกติเมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็คือมีตัวกู-ของกูอย่างใดอย่างหนึ่งเกิด แล้วก็มีความทุกข์ นี้คุณก็พอที่จะเห็นได้เองโดยไม่ต้องอธิบายก็ได้ ว่าเรามันมีตัวกู-ของกูเกิดเมื่อไหร่บ้าง แล้วเกิดทุกที เป็นทุกข์ทุกทีอย่างไร
ทีนี้ในการเป็นอยู่ของเรานี้มันมีอะไรหลายแบบ อยู่คนเดียวก็มี อยู่กับเพื่อนฝูงก็มี คนมีครอบครัวอยู่กับครอบครัวก็มี คนมีศัตรูก็ต้องเผชิญหน้ากับศัตรูก็มี มันจะทะเลาะวิวาทกันเป็นความกันอะไรกันมันก็มีศัตรู ฉะนั้นโอกาสที่มันจะเกิดความรู้สึกคิดนึกที่ผิดปรกตินั้นมันจึงมีมาก อยู่ที่วัดเรามีน้อย แต่อยู่ที่ตามธรรมดาที่อยู่กันที่บ้านนั้นมันมีมาก มันจะเกิดตัวกู-ของกูได้มาก เดี๋ยวนี้ก็พูดโดยมาตรฐานของคนที่อยู่ที่บ้านคือมนุษย์ทั่วไป มันจะต้องมีโอกาสที่จะเกิดตัวกู-ของกูมาก แล้วก็จำไว้ว่าเกิดทุกทีจะเป็นทุกข์ทุกที อย่างน้อยที่สุดก็ต้องเป็นความหม่นหมองของจิตใจ อย่างมากก็เป็นฟืนเป็นไฟ เป็นบ้าเป็นหลัง กระทั่งฆ่าตัวตายหรืออะไรทำนองนั้น ฉะนั้นขอให้ศึกษามันในฐานะที่เป็นเรื่องจริงประจำวันในบุคคลทุกคน ไม่ใช่เรื่องสำหรับคัมภีร์ ไม่ใช่เรื่องสำหรับรู้ไว้สำหรับจะไปเอาอะไรที่ไหนก็ไม่รู้ ยังมีคนโง่อยู่มาก ว่า เรียนพุทธศาสนาเรียนธรรมะนี้เพื่อจะไปเอาอะไรกันต่อตายแล้ว หรือว่าถ้าจะได้ก็ต้องได้เมื่อไปอยู่ในป่า อันนี้คนมันหลับตาพูด พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้แสดงธรรมเพื่อความเป็นอย่างนั้น แต่ว่าความทุกข์ที่ไหน ปัญหามีที่ไหน ธรรมะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องที่นั่น เพื่อจะช่วยแก้ไขปัญหานั้นและแก้ไขได้ทุกระดับ นับตั้งแต่ระดับเด็กๆ ขึ้นไปเลย จนถึงหนุ่มสาวถึงผู้ใหญ่ จนคนแก่คนเฒ่า แล้วก็แก้ปัญหาทุกชนิดได้ เพราะปัญหาทุกชนิดแม้ว่าต้นตอมันจะต่างกันอย่างไร ตัวปัญหามันมาอยู่ที่ความทุกข์ความเดือดร้อน ทีนี้ความเดือนร้อนนี้มันต้องมาจากความรู้สึกที่เป็นตัวกู-ของกูก่อน ถ้ามันไม่มีความรู้สึกเป็นตัวกู-ของกูแล้วความเดือนร้อนชนิดไหนก็เกิดไม่ได้ จะมีอะไรขัดใจตัวเองหรือว่าครอบครัวขัดใจหรือว่าเพื่อนฝูงขัดใจหรือศัตรูขัดใจอะไรก็ตาม ถ้ามันไม่เกิดความรู้สึกประเภทตัวกู-ของกูแล้ว มันร้อนไม่ได้ มันทุกข์ไม่ได้
ฉะนั้นคำสั่งสอนคำอธิบายที่จะป้องกันการเกิดตัวกูหรือว่าทำลายตัวกูที่กำลังเกิดอยู่นี้มันก็มีประโยชน์ไปทุกหนทุกแห่ง ทุกเวลา ทุกสถานที่ ทุกระดับของมนุษย์ นี่ขอให้มองให้เห็นอย่างนี้ก่อน ไม่อย่างนั้นมันก็เป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์อะไร แล้วก็จะเป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ได้ เราต้องศึกษาให้เข้าใจจนกระทั่งว่ามันเกิดเมื่อไหร่เป็นรู้เมื่อนั้น มันเกิดขึ้นเมื่อไหร่เป็นรู้จักมันเมื่อนั้นแหละเรื่องตัวกู-ของกูนี้ เหมือนกับว่าถ้ามีอะไรทำให้เรารู้สึกคัน รำคาญที่ผิวหนัง เราก็ต้องรู้โดยไม่ต้องเห็นว่ามันมีอะไรสักอย่างแล้ว เช่น ยุง หรือ เช่น มด หรือว่า เช่น ฝุ่นละอองอะไรก็ตามแต่ มันไปเกี่ยวข้องกันที่หนังที่ผิวหนังตรงนั้น มันจึงรู้สึกคัน รู้สึกปวด รู้สึกเจ็บ นี้เราถือเอาความผิดปรกติเป็นหลัก พอมันผิดปรกติมันก็ต้องมีอะไรอย่างหนึ่ง จิตนี้ก็เหมือนกัน พอมันมีอะไรผิดปรกติ มันก็ต้องเรียกว่ามันมีอะไรสักอย่างแล้ว ผิดปรกตินี้เราถือว่าเป็นความไม่สบาย ถ้ามันปรกติเราก็ถือว่ามันเป็นความสบาย แม้ว่ามันเป็นจะผิดปรกติในทางได้ในทางรับ ทาง positiveนี่ ก็ยังถือว่ามันเป็นผิดปรกติและไม่สบาย ฉะนั้นคุณก็ต้องสังเกตดูให้ดีๆ ว่า ความยินดีก็ไม่สบายไปตามแบบความยินดี ความยินร้ายก็ไม่สบายไปตามแบบความยินร้าย ต้องความปรกติ ไม่ positive ไม่ negative อะไรทำนองนี้มันจึงจะเรียกว่าปรกติ เราก็จะไม่ถูกกระทบกระทั่งด้วยอะไร แล้วมันก็เป็นปรกติ ไม่มีอะไรรบกวน
ฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าตัวกู-ของกูนี้มันก็มาได้ทั้งในทางยินดีและทางยินร้าย ถูกใจจนหลงใหลจนไปเป็นบ่าวเป็นทาสของสิ่งที่รักที่หวงนี้มันก็เป็นทุกข์เป็นโทษไปแบบหนึ่ง ทีนี้ไม่ถูกใจ โกรธ เกลียด กลัวนี้ มันก็เป็นทุกข์ไปอีกแบบหนึ่ง ฉะนั้นก็ต้องระวังให้ดี อย่าให้มันหลอกได้ เดี๋ยวไปเอาตัวกู-ของกูนั่นแหละเป็นไม่ใช่ตัวกู-ของกูไปเสีย นี้คือความหลอกของสิ่งที่เรียกว่ากิเลส ถ้ากิเลสมันอร่อยกับอะไร คนก็ไม่รังเกียจสิ่งนั้น แล้วก็จะถือเอานั้นเป็นของกูไปเลย อย่างผมนี้ไม่สูบบุหรี่ พอควันบุหรี่เข้าจมูกก็เหมือนจะตาย พอรสของบุหรี่แตะที่ลิ้นมันก็เผ็ดมันก็ขมอย่างหาความสุขมิได้ มันก็เป็นยินร้ายสำหรับผม แต่คนที่ติดบุหรี่งอมแงมนี้มันก็ไม่เหมือนอย่างนี้สิ มันก็อร่อยไปเลย แล้วกลายเป็นยินดีไปได้ สิ่งที่เป็นที่ยินร้ายแก่คนหนึ่งกลายเป็นสิ่งที่ยินดีแก่คนหนึ่ง แต่แล้วต้องให้เห็นว่าทั้งยินดียินร้ายนี้มันเป็นความไม่ปรกติและเป็นความไม่สงบและเป็นความไม่เป็นอิสระ จึงเป็นความทุกข์ในแง่ใดแง่หนึ่ง คือโดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง
ถ้าเราไปบูชาตัวกู-ของกูในแง่ที่มันเอร็ดอร่อยถูกอกถูกใจมากขึ้น เราก็เป็นทาสของกิเลส เราก็บังคับกิเลสไม่ได้ เราจะต้องทำชั่วเรื่อยๆ ไป ฉะนั้นเราจะศึกษาให้รู้ว่านี้มันคืออะไร ตัวกู-ของกูมันคืออะไร กิเลสคืออะไร บังคับมันให้ได้ ป้องกันไม่ให้มันเกิดได้ เราก็ไม่ต้องทำชั่ว ไม่มีอะไรมาให้ทำชั่ว แล้วมันก็ดีอยู่ในตัวของมันเอง คือในตัวการที่ไม่ทำชั่วนั้นแหละ การไม่ทำชั่วนี้มันเป็นการดีอยู่ในตัวมันเอง ถ้าเราทำให้มันดียิ่งๆ ขึ้นไป นั้นมันก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง คือทำประโยชน์ให้มันยิ่งขึ้นไป ก็เรียกว่าดีส่วนที่มันสูงขึ้นไป แต่การที่เราไม่ทำชั่วนี้ ตามหลักธรรมะถือว่าเป็นความดีหรือเป็นการทำความดีอยู่แล้วส่วนหนึ่ง ฉะนั้นระวังอย่าให้กิเลสมันเกิด อย่าให้กิเลสมันลากคอ จูงจมูกไปทำสิ่งที่กิเลสว่าดี แต่คนทั้งหลายจะทนไม่ได้ หรือพระอริยเจ้าทนไม่ได้ ที่กิเลสของปุถุชนว่าดีนั้น พระอริยเจ้าทำไม่ได้ ทนไม่ได้ ถ้าเรามันจะหลับหูหลับตาเป็นปุถุชนกันเสียเรื่อย ก็พูดกันไม่รู้เรื่องแน่ แล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะมาบวชอยู่ที่นี่ด้วย มันจะต้องศึกษาจนรู้จักสิ่งเหล่านี้ว่าอะไรมันเป็นอันตราย อะไรมันเป็นคุณ เป็นอานิสงส์
ทีนี้สำหรับสิ่งที่เรียกว่าตัวกู-ของกูนั้นมันคือตัวกิเลสตัวการตามใจกิเลสจนทำอะไรไปตามอำนาจของกิเลส คือรักก็ได้ เกลียดก็ได้ ยินดีก็ได้ ยินร้ายก็ได้ ฉะนั้นก็เลยมีความวุ่นวาย มีความไม่สงบระงับ มีความทุกข์ ทีนี้การบรรยายหลายสิบครั้งมาแล้ว ครั้งสุดท้ายนี้มันมาถึงตอนที่ว่าเราจะต้องเผชิญกับสิ่งที่มันทำให้ยินดียินร้ายนี้กันอย่างไร คนที่ไม่เคยฟังธรรมะมาก่อนอาจจะไม่เข้าใจอยู่แง่หนึ่ง คือแง่ที่ว่า ถ้ายินดีพอใจแล้วเราจะไปกำจัดมันทำไม เราจะต้องไประวังควบคุมมันทำไม นี้ต้องเข้าใจเสียให้ถูกว่า สิ่งที่เราชอบกันนักหรือมนุษย์เขาชอบกันนัก ยินดีเอร็ดอร่อยนี้ เราก็ต้องการ เราก็ทำงาน ทำหาเงินเพื่อได้สิ่งเหล่านี้อยู่ทั้งนั้น ทำไมจะไปกำจัดมันเสียทำไม หรือว่าจะไปเลิกละมันเสียทำไม นี้ก็มาถึงจุดที่จะต้องทำความเข้าใจว่าถ้าเรามันไปยินดีหลงใหลกับสิ่งที่มันเอร็ดอร่อยเป็นสุขสนุกสนาน อย่างนั้นมันเป็นลักษณะของตัวกู-ของกู คือโง่ คือมีอวิชชา แล้วอร่อยก็อร่อย ก็รู้ว่ามันอร่อย แล้วก็ไม่ต้องยินดี คือถ้าไม่อร่อยก็ไม่ต้องยินร้ายอย่างนี้ อย่างนี้ตัวกู-ของกูมันไม่เกิด ปัญหามันก็ไม่มี คือจิตใจที่ฟุ้งซ่านขึ้นๆ ลงๆ นั้นมันก็ไม่มี เมื่อเรากินของอร่อยหรือว่าเราได้กลิ่นหอมหรือว่าเราได้เห็นของสวยงามนี้ เรารู้สึกเป็นสุข นี้มันเป็นความสุขชนิดที่เรารู้เพียงเท่านั้น ตั้งแต่เกิดมาเรารู้เพียงเท่านั้น อยากเห็นของสวย อยากฟังเสียงไพเราะ อยากได้ของหอมอย่างนี้เป็นต้น แต่เราไม่ได้ดูให้ดีว่า สิ่งเหล่านี้มันเป็นอะไรต่อไปอีก
หญิงสาวชายหนุ่มประพฤติลามกอนาจารไม่มีศีลธรรมก็เพราะสิ่งเหล่านี้ คุณไปดูสิ ว่าสิ่งเอร็ดอร่อยทางเนื้อหนังนั่นแหละเป็นส่วนสำคัญ เขาเรียกว่าความรู้สึกทางอายตนะ คือความรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้มันสำคัญ พอไปหลงในความอร่อยอย่างนี้แล้วมันก็จะเอาแต่เรื่องอร่อยอย่างนั้น มันก็ไม่คำนึงถึงศีลธรรม ไม่คำนึงถึงเกียรติยศชื่อเสียงของบิดามารดาหรือวงศ์สกุล ไม่คำนึงถึงอะไรหมด ที่มันว่ารักผัวรักเมียนั้นมันโกหกทั้งนั้นแหละ มันรักความอร่อยนั่น คุณไปดูให้ดี กว่าจะมีความเป็นผัวเป็นเมียที่บริสุทธิ์นั้นมันต่อมาอีกนาน กว่าจะรู้จักผิดชอบในการเกิดมา จะมีลูกมีหลานที่ดีนั้นมันต่อมาอีกนาน และตอนแรกๆ มันแต่งงานกัน มันเพื่อการตามใจกิเลสนั้นก่อน ฉะนั้นมันจึงทำ บางทีมันทำอย่างที่ไม่มีศีลธรรม หรือว่าแต่งงานมีผัวมีเมียกันแล้ว มันก็ยังทำอย่างที่ไม่มีศีลธรรมนี่ เพราะมันทนต่อการยั่วยวนของความอร่อยไม่ได้ ฉะนั้นคนที่ไปบูชาความเอร็ดอร่อยมันก็คือคนโง่ที่สุด
ถ้าเราไปอร่อยด้วยบุหรี่ เราก็ต้องเป็นทาสของบุหรี่ ถ้าเราไปอร่อยด้วยเฮโรอีน เราก็ต้องเป็นทาสของเฮโรอีน ถ้าไปอร่อยด้วยกามารมณ์ทางเพศ มันก็เป็นทาสของกามารมณ์ทางเพศ นี่มันเป็นตัวกู-ของกูเกิดขึ้นในฝ่ายที่คนต้องการกันนักและหลายๆ แบบอย่างนี้ ทำไมไม่มองดูอันตรายในส่วนนี้บ้าง ฉะนั้นต้องรู้จักทั้งส่วนอร่อยและส่วนที่เป็นอันตรายแล้วก็หาทางทำให้ถูกต้อง มันมีอยู่ ๓ อย่าง หลักพุทธศาสนามีอย่างนั้น บวชทีหนึ่งนี้อย่าให้เสียเวลาบวช ให้รู้ว่าหลักพุทธศาสนามันมีอยู่ ๓ อย่างนั้น จะต้องรู้อัสสาทะ คือความอร่อยของสิ่งนั้นๆ จะต้องรู้อาทีนวะ คือความเลวทรามอันตรายของสิ่งนั้นๆ แล้วรู้นิสสรณะ คืออุบายที่จะทำให้ไม่ต้องรับอันตรายนั้นเรียกว่านิสสรณะ ไม่ว่าเรื่องอะไร นี่จำไว้เลยว่า ไม่ว่าเรื่องอะไร พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนี้ทั้งนั้น คือต้องอาศัยหลัก ๓ ประการนี้ทั้งนั้น เมื่อเรื่องทุกเรื่องมารวมกันแล้ว พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าเบญจขันธ์หรือขันธ์ทั้ง ๕ อย่างนี้มันหมายถึงทุกเรื่อง ทีนี้เราไม่ได้ใช้ภาษาบาลีอย่างนั้น เราก็แยกเป็นเรื่องของกินของใช้ของแต่งตัว เพศตรงกันข้าม ทรัพย์สมบัติพัสถาน เกียรติยศชื่อเสียง กี่เรื่องกี่อย่างก็ตามใจ ต้องเอา ๓ อย่างนี้เข้าไปจับ อะไรมาเกี่ยวข้องกับเรา เราต้องรู้จักมันโดย ๓ อย่างนี้ ว่าสิ่งนี้มันมีเสน่ห์ของมันที่ตรงไหน คือความเอร็ดอร่อยเขาเรียกว่าอัสสาทะนี้มันอยู่ที่ตรงไหน แล้วโทษอันตรายความเลวทรามคืออาทีนวะของมันอยู่ที่ตรงไหน แล้วถ้าเราทำอย่างไรจึงจะไม่ถูกรับอันตราย แล้วก็ไม่หลงใหลในรสอร่อยของมัน แล้วเราก็จะใช้มันให้เป็นประโยชน์ตรงตามความประสงค์
ยกตัวอย่าง เหมือนอย่างว่ารถยนต์ ถ้าสมมติว่าต้องการกันนัก มันต้องดูว่าอัสสาทะของรถยนต์นั้นมันคืออะไร คือความน่ารัก น่ามี น่าไว้ใช้ น่าขี่ น่าขับ น่าหาความสุขสบาย นั่นแหละคืออัสสาทะของรถยนต์
ทีนี้อาทีนวะคือความเลวทรามหรือความมีอันตรายหรืออะไรของมันคืออะไร ส่วนที่มันจะทำให้ต้องตายก็มี ส่วนที่มันจะทำให้ต้องขโมยเงินของพ่อแม่ไปซื้อก็มี อย่างโกหกหลอกลวงบริษัทขายรถก็มี แล้วมันจะต้องต้องติดคุกติดตะรางเพราะรถก็มี นี้เรียกว่าอาทีนวะ,อาทีนพ แปลว่าความเลวทรามของมัน อัสสาทะก็แปลว่าความอร่อยของมัน นิสสรณะ ทางที่จะไม่ให้ต้องได้รับอันตรายแล้วก็ไม่มีปัญหาอะไรนั้น ก็คือความที่เราสามารถที่จะรู้ว่าควรจะมีหรือไม่ควรจะมี ถ้ามี จะมีอย่างไร จะใช้อย่างไร จะทำอย่างไร จึงจะไม่ได้รับอันตราย มีแต่ความเจริญ อย่างนี้ใช้ได้ แต่เดี๋ยวนี้เรามันไม่ใช่อย่างนั้น มันถูกตัวกู-ของกูขี่คอ มันก็ว่าอันตรายก็อันตราย กูจะสนุก กูจะอวดแฟนกู จะอะไรก็ตามใจ กูก็ต้องมีรถยนต์จนได้นี่ แล้วมันก็เลยไม่ไปตามหลัก ๓ ประการนั้น เพราะว่าตัวกู-ของกูมันมาขี่คอคนนั้น ทีนี้พอเมื่อพูดถึงแฟนอีก จะมีรถยนต์อวดแฟน ก็ลองนึกถึงตัวแฟนเองบ้าง อะไรมันเป็นอัสสาทะของบุคคลที่มันเป็นแฟนนั้น แล้วอะไรเป็นอาทีนวะของแฟนนั้น แล้วอะไรเป็นนิสสรณะคือทางออกทางไปที่ว่าเราจะไม่ถูกกันเข้ากับอันตรายใดๆ แล้วก็ได้รับแต่ประโยชน์ที่ควรจะได้รับ เดี๋ยวนี้มันจะหลับหูหลับตาชนิดที่เอาแต่ความต้องการของอวัยวะอายตนะนี่ เรียกว่ามันเป็นทาสของเนื้อหนัง นี้คือสิ่งที่เรียกว่าตัวกู-ของกู มันดึงไปอย่างนี้ ในทางที่ดีในทางที่อร่อยนั่นแหละยิ่งอันตรายมาก เพราะว่าในทางที่ไม่อร่อยมันไม่ดึงไปสิ กิเลสมันไม่ดึงไปหาในทางที่ไม่อร่อย มันไม่ชอบเหมือนกัน มันก็ไปชอบที่อร่อย ที่สวยงาม ที่หอมหวน ที่นิ่มนวล มันก็เลยดึงไปในทางนั้น
ทีนี้คำว่าเรานี้ คือจิตในขณะหนึ่งๆ นั้น เรานั้นบางทีก็เป็นเราโง่ บางทีก็เป็นเราฉลาด เป็นจิตที่ปรุงแต่งขึ้นมาขณะหนึ่งๆ ทีนี้มันก็ลำบากสิ มันก็ไม่รู้ว่าเป็นใครอยู่ที่ไหน แล้วแต่เหตุปัจจัยจะปรุงแต่งขึ้นมาขณะหนึ่งๆ นี่ ทีนี้มันมีหลักอยู่ว่า จิตนี้มันก็มีความรู้เป็นคุณสมบัติของมันอยู่ในตัวมันเอง เขาเรียกว่ามโน มโน แปลว่ารู้ มโนธาตุ แปลว่า ธาตุที่รู้ วิญญาณธาตุ ก็ธาตุที่รู้ ธาตุชนิดนี้มันมีความรู้อยู่ในตัวมันเอง ถ้าว่าได้มีอะไรทำให้มันเป็นอิสระ มันจะใช้ความรู้ของมันได้ เดี๋ยวนี้เราอย่าเอาของอร่อย ของหอมหวน นิ่มนวล มึนเมา ไปหุ้มห่อมันเสียสิ ให้มันเป็นอิสระ แล้วมันจะรู้ของมันเองว่าควรจะทำอย่างไรในกรณีนั้นๆ ฉะนั้นเรามันจึงเอาตัวรอดได้ถ้าเรามันได้เป็นเราที่เป็นอิสระอย่างนี้ เดี๋ยวนี้โอกาสมันไม่ค่อยมี ตัวกู-ของกูมันเข้ามาเป็นเราเสียเรื่อย คือความโง่ ความหลง ตัณหาอุปาทานมันเข้ามาปรับปรุงจิต ประกอบจิต เป็นจิตชนิดที่เป็นตัวกู-ของกูเสียเรื่อย จิตที่เป็นอิสระตามธรรมชาตินั้นแสดงออกไม่ได้ ฉะนั้นก็รู้เสียว่า ที่เรียกว่าตัวกู-ของกูนั้นมันเป็นมายาลมๆ แล้งๆ เป็นความสำคัญผิด เป็นความปรุงแต่งที่ผิดในทางจิต เกิดขึ้นมาแล้วมันอาละวาด มันเหมือนกับผีบ้า มันเกิดมาจากอวิชชา และมันก็เลยไม่รู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร จึงไม่รู้อัสสาทะ อาทีนวะ นิสสรณะ ๓ อย่าง
คุณจำไว้ให้ดี ว่ามันจะเป็นเครื่องต่อต้านตัวกู-ของกู มันจะแก้ไขพิษสง ป้องกันแก้ไขพิษสงของตัวกู-ของกูได้ คือความรู้ ๓ ประการนี้ก่อน พิจารณาดูแล้วมันก็เป็นหลักที่เข้าใจได้ทันที ทุกคนจะยอมรับ ไม่มีทางจะค้าน และเป็นสิ่งที่รู้สึกได้ด้วยตัวเองไม่ต้องเชื่อใคร ว่าในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มันก็มี ๓ อย่างนี้เสมอ พูดเป็นไทยๆ ก็ได้ ว่าเสน่ห์ของมัน ว่าอันตรายของมัน แล้วก็ว่าทางออกของเรา อย่างสุนัขตัวนี้ เอ้า,มันก็มี ดูสิ, ครบ ๓ มันมีอัสสาทะที่ทำให้เราต้องเลี้ยงมัน แล้วมันก็มีอาทีนวะคือการที่ทำให้เราลำบาก แล้วมันก็มีทางที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้หมดไปได้โดยเอาประโยชน์จากการมีสุนัขให้ได้ เรียกว่านิสสรณะ ทีนี้อะไรที่คุณมีอยู่ในกุฏิก็เหมือนกันแหละ ทุกอย่างเลย โดยเฉพาะสิ่งที่เรารักมากนั่นแหละระวังให้ดี มันจะมองเห็นแต่ในด้านเดียว จะไม่มองไม่เห็นครบทั้ง ๓ ด้าน มันจะมองเห็นแต่ด้านเดียว มันก็โง่ ๓๐๐ เปอร์เซ็นต์ มันไปรู้จักแต่ด้านที่มันหลอก ไม่รู้จักด้านที่มันเป็นความจริง
ทีนี้อะไรบ้างที่มันเป็นปัญหาสำหรับใคร ก็เอากฎเกณฑ์อันนี้ไปใช้กับสิ่งนั้น ใครมีปัญหาเรื่องเงินก็เอาไปใช้กับเรื่องเงิน ใครมีปัญหาเรื่องเกียรติยศชื่อเสียงก็ไปใช้กับเกียรติยศชื่อเสียง แต่อย่าฟังผิด อย่าฟังผมพูดผิด อย่าฟังจนให้เป็นพระพุทธเจ้าพูดผิด ท่านไม่ได้บอกว่าเว้นจากสิ่งเหล่านี้นะ ท่านไม่ได้บอกว่าให้หนีจากสิ่งเหล่านี้และเว้นจากสิ่งเหล่านี้ เดี๋ยวก็ไม่ต้องกินข้าวกันเท่านั้นเอง มันก็จะตาย มันจะเป็นเรื่องอะไรก็ตามใจ ต้องรู้จักมันโดยกฎเกณฑ์ ๓ อย่างนี้ อาหารที่เรากินเข้าไป จีวรที่เราห่มอยู่ เครื่องนุ่งห่มที่เราห่มอยู่ เสนาสนะเครื่องใช้ไม้สอยในกุฏิ ในบ้าน ในเรือน อีกอันหนึ่งก็เครื่องบำบัดความไข้เจ็บ สี่อย่างนี้มันจำเป็น แต่ทั้งสี่อย่างนี้แหละมีปัญหาที่ต้องดูด้วยกฎเกณฑ์ ๓ อย่างนั้น อะไรเป็นอัสสาทะของมัน อะไรเป็นอาทีนวะของมัน อะไรเป็นนิสสรณะของมัน ก็แปลว่าสิ่งใดมันเกี่ยวข้องกับเรามากที่สุด จำเป็นแก่การมีชีวิตอยู่ที่สุด ก็ยิ่งต้องดูให้มาก เช่น อาหารที่กินเข้าไปนี้ก็เลยจำเป็น อะไรมันเป็นอัสสาทะที่จะทำให้เราทำบาปทำชั่วเพราะอาหารนั่น จะต้องรู้ เสน่ห์ของอาหารที่ทำให้คนต้องทำบาปเพราะอาหารนี้มีมากเหลือเกิน มักจะมองข้ามกันไปเสีย เรื่องที่มันทะเลาะวิวาทกัน เรื่องรบราฆ่าฟันกัน เรื่องทำสงครามกันมันก็มีมูลมาจากอาหารที่กินเข้าไปทางปากนั่นแหละก่อน อยากมีเงินมาก อยากมีของมาก อยากมีอำนาจมากเพื่อให้มันกินดีอยู่ดีนี้ แล้วมันยังกลัว เผื่อไว้มากๆ มันยังสะสมไว้มากๆ ชาวนาวิวาทกันในทุ่งนามันก็เรื่องอาหาร เพราะเขาต้องการข้าวปลาอาหาร แม้แต่เงินทองก็เพื่อข้าวปลาอาหารนี่ มันมาก่อนเห็นไหม เป็นเรื่องที่ซ่อนอยู่ลึก
ทีนี้พอมันกินอิ่มแล้วมันก็เรื่องกามารมณ์ เรื่องเอร็ดอร่อยสวยๆ งาม ประดับประดาจนเหลือเฟือนี่ นี้ก็เหมือนกันแหละ มันเป็นสิ่งที่มนุษย์หลงใหล อยากได้ไม่มีที่สิ้นสุด มันก็มีการรบราฆ่าฟันกันระหว่างบุคคล ระหว่างหมู่คณะ ระหว่างประเทศ นายทุนก็อยากรวย กรรมกรมันก็อยากรวย มันก็รบกัน รวยนั้นเพื่อจะไปบำรุงบำเรอความสุขสนุกสนานเอร็ดอร่อยนั้นแหละ มันไม่ได้เอาไปทำบุญให้ทาน ที่มันรบกันนั้น ทีนี้มันยังไม่เกิดปัญหาเฉพาะหน้า มันรบเผื่อไว้ มันกลัวล่วงหน้า มันรบเผื่อไว้ มันป้องกันเผื่อไว้ มันก็ได้รบ เพราะเรื่องที่จะได้ประโยชน์มาเป็นเรื่องกินเป็นอาหาร ประโยชน์มีไว้เป็นเครื่องประดับประดาตกแต่งส่งเสริมกามารมณ์ ถ้าว่าอันนี้มีแล้ว มันก็ยังเหลืออีกอันหนึ่งคือเกียรติ,เกียรติยศ เพราะว่าเราถูกทำให้หลงใหลในเกียรติ ชอบเกียรติกันมาแต่เล็ก มันต้องมีเกียรติอีก มีอาหารกินแล้วมีอะไรแล้วยังต้องมีอำนาจวาสนา มีเกียรติยศ เป็นที่เกรงขามของผู้อื่นอีก นั่นแหละเกียรติ เกียรติก็ทำให้ฆ่ากัน อย่างสงครามที่กำลังรบราฆ่าฟันกันอยู่นี้ ปรองดองกันไม่ได้ ส่วนใหญ่ก็เพราะปัญหาเรื่องเกียรติ ดูสิ,มันก็ตายไปวันละพัน วันละหมื่น แล้วมันตายกันกี่หมื่นกี่แสนแล้วก็ดูเถอะ เพราะเกียรติ รากมูลรากเดิมเพราะกิน แล้วถัดมาเพราะกาม แล้วก็ยังมาเพราะเกียรติเป็นยอดสุดท้ายอีก ก็ตกลงกันไม่ได้ นี่ตัวกู-ของกูใหญ่โตมโหฬาร ใหญ่เท่าโลก ถ้าอยากเป็นเจ้าโลกมันก็ใหญ่เท่าโลก ก็รบราฆ่าฟันกันในโลก เป็นเรื่องของโลกไปเลย นี่ตัวกู-ของกูอยู่ที่นี่
ฉะนั้นคุณอย่าเข้าใจว่าเรื่องธรรมะนั้นอยู่ในป่าหรือว่าอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ หรือว่าอยู่ต่อตายแล้ว ธรรมะอย่างนั้นก็มีเหมือนกันแหละ ไม่ใช่ไม่มี แต่ว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าจริงๆ นั้นอยู่ที่นี่ อยู่ที่ปัญหาที่เรากำลังเกี่ยวข้องกันอยู่ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ความทุกข์อยู่ที่ตรงไหนธรรมะต้องไปที่ตรงนั้น ความทุกข์มันมีเมื่อไหร่ ธรรมะต้องมีเมื่อนั้น ฉะนั้นจึงใช้คำว่าที่นี่และเดี๋ยวนี้ เพราะว่านอกนั้นมันไม่ใช่ปัญหา มันไม่ใช่ปัญหาที่กำลังเป็นปัญหาแก่เรา นี่คุณที่หนุ่มๆ นี่ยังอีกหลายสิบปีกว่าจะตายตามธรรมชาติ มันยังมีปัญหามากเพราะมันยังอีกหลายสิบปีจะตาย กว่าจะตาย มันมีทางที่จะเกิดปัญหาอีกมาก แล้วแบบชนิดของปัญหาก็มีอีกมาก มันต้องมีสิ่งที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้นแหละ มันก็จะต้องรู้หรือว่าต้องมีให้มันทันแก่เวลา ถ้าไม่ทันแก่เวลาแล้วมันเท่ากับไม่มี คุณจะไปรู้ธรรมะต่อจากเข้าโลงนี้ได้ประโยชน์นิดเดียว ฉะนั้นต้องรู้เดี๋ยวนี้ ให้ใช้เป็นประโยชน์ได้ในระยะอีกหลายสิบปีกว่าเราจะตาย
ฉะนั้นอย่าทำเล่นกับธรรมะเลย จะได้ทำให้ชีวิตที่เหลืออยู่ข้างหน้านั้นมันมีค่าขึ้นมาได้ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วมันคงไม่ไหวหรอก มันคงไปแต่ในทางที่ยุ่งยากลำบาก ที่มันจะฟลุคไปในทางที่ดีได้เองนั้นมันยากนักยากหนา ถึงแม้ว่ามันจะเกิดฟลุคขึ้นมามันก็ยังคือธรรมะอยู่นั่นแหละ เป็นธรรมะที่ฟลุคขึ้นมา ทีนี้เราหวังไม่ได้ เรารีบทำให้มันมีขึ้นมาเรื่อยๆ ดีกว่า ให้มันเพียงพอในเวลาอันสั้น ถ้าศึกษาธรรมะถูกวิธี มันก็พอในเวลาอันสั้น การศึกษาธรรมะที่ถูกวิธีและลัดเร็วที่สุดนี้ไม่มีเรื่องอะไรยิ่งไปกว่าเรื่องตัวกู-ของกู คุณพยายามจะเข้าใจเรื่องที่เกี่ยวกับตัวกู-ของกูนี้ให้ทุกแง่มุมในเวลาอันสั้น จะรู้ธรรมะหมดที่ควรจะรู้หรือว่าในพุทธศาสนาเท่าที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้
นี้เป็นเรื่องเบื้องต้นความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องตัวกู-ของกู ต่อขึ้นมาจากที่เราพูดกันแล้วในครั้งที่แล้วมานี้ ให้เข้าใจเค้าโครงของเรื่องราวหรือความมุ่งหมายของเรื่องนี้ให้ดีพอสมควร เราก็ยังพูดต่อกันไปอีกได้ เฉพาะวันนี้มุ่งหมายแต่ให้ที่มาใหม่นี้เข้าใจได้ว่าเรื่องตัวกู-ของกูนั้นคืออะไร คือเรื่องอะไร จึงเอามาพูดเป็นหลายสิบครั้งหรือตั้งร้อยกว่าครั้งก็ไม่แน่
จิตในสภาพปรกติไม่มีความผิดปรกตินี้ เราเรียกว่าจิตว่างแบบหนึ่งแบบตามธรรมชาติ พอจิตผิดปรกติเราเรียกว่าจิตวุ่นคือไม่ว่าง คุณก็ไปสังเกตดูเองเถิด เวลาที่จิตวุ่นมันเป็นอย่างไร เวลาที่จิตมันว่างโปร่งสบายมันเป็นอย่างไร บางทีเราทำการหนักเหงื่อไหลไคลย้อยอยู่แท้ๆ จิตมันก็ยังว่างได้ ยังไม่วุ่นวาย บางทีเรานั่งอยู่คนเดียวไม่มีอะไรนี้ จิตมันก็วุ่นได้ วุ่นเป็นเหมือนผีสิงไปเลย ไม่ได้ทำอะไร ต้องสังเกตคำว่าว่างหรือคำว่าวุ่นนี้ให้ดีๆ ว่าง มันว่างจากผีบ้าที่เรียกว่าตัวกู-ของกู ผีตัวนั้นไม่มาแล้วจิตว่าง กำลังคิดนึกอยู่ก็ได้ ทำอะไรอยู่ก็ได้ นี้เขาเรียกว่าจิตมันว่าง พอผีบ้าตัวกู-ของกูมันมาแล้วมันวุ่นทันที นอนอยู่ก็วุ่น นั่งอยู่ก็วุ่น อยู่นิ่งๆ ก็วุ่น ให้นิ่งอย่างไรมันก็ยังวุ่น แม้จะหลับมันก็จะฝันร้ายวุ่นวาย เรื่องตัวกู-ของกูนี้มันเกี่ยวกับคำว่าจิตว่างหรือไม่ว่าง พอไม่ว่างมันก็เป็นทุกข์คือยุ่ง พอว่างมันก็สบาย ฉลาด สะอาด สว่างไสว แจ่มแจ้ง เพราะไม่มีตัวกู-ของกูมาทำให้วุ่น
ฉะนั้นไม่ต้องศึกษาจากหนังสือหนังหาหรือจากคำพูดของผมนักหรอก ไปศึกษาจากจิตของตัวเองที่ว่าเวลาไหนมันเป็นอย่างไร เวลาไหนมันเป็นอย่างไร จนกระทั่งพบว่าเวลาไหนมันสะอาด สว่าง สงบอยู่ เวลาไหนมันเปลี่ยนเป็นเรื่องสกปรก มืดมัว เศร้าหมอง เร่าร้อนเสียแล้ว อันแรกคือว่างอันหลังคือวุ่น ยิ่งวุ่นก็ยิ่งมืด ทำอะไรผิดหมด ยิ่งว่างก็ยิ่งฉลาด ยิ่งทำอะไรถูกหมด เพราะว่ามันมีโอกาสใช้คุณสมบัติดั้งเดิมของมัน
สิ่งที่เรียกว่าจิต,มโนหรือวิญญาณนี้ มีคุณสมบัติดั้งเดิมของมันคือรู้ รู้ได้ รู้ได้ว่าอะไรเป็นอะไร ขอแต่อย่าให้ความโง่มาครอบงำ ฉะนั้นขอให้ดูว่าสิ่งที่มีชีวิตทุกชนิดจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่ามโนหรือวิญญาณนี้ในระดับใดระดับหนึ่ง ฉะนั้นมันจึงทำมาถูกทั้งนั้นแหละ ไม่ถูกมันก็ตายแล้วแหละ ต้นไม้ก็ดี สัตว์เดรัจฉานก็ดี คนก็ดี ถ้าทำผิดก็ตายแล้ว หรือทำถูกได้โดยสัญชาตญาณนี้ เพราะว่าธรรมชาติของสิ่งที่เรียกว่ามโนหรือวิญญาณนี้มันมีความรู้ของมันอยู่พอตัวสำหรับที่จะมีชีวิตอยู่และไม่เป็นทุกข์ ทีนี้มันมีสิ่งแวดล้อมอะไรเข้ามาแวดล้อม มาทำให้ความรู้นั้นรู้ไม่ได้หรือมืดมัวไปแล้วกลายเป็นความรู้ผิด ก็เลยมีกิเลส มีการกระทำที่ผิด มันก็เป็นทุกข์ ถ้าอย่ามีอันนี้ มันก็ไม่ทุกข์ของมันได้ตามธรรมชาติ แม้ว่ามันจะไม่ดีวิเศษอะไรนัก มันก็ไม่ทุกข์ของมันได้ตามธรรมชาติ นี่คนเรานี้พอเกิดมา ถ้าสมมติว่าอย่ามีอะไรมาทำให้มันไปหลงรักหลงอะไรในสิ่งที่เป็นที่ตั้งของกิเลส มันก็ไม่มีความทุกข์หรอก ทีนี้พอเกิดมา มันก็มีสิ่งแวดล้อมทั้งหลายนี้มายั่วให้ไปทางยึดมั่นถือมั่น มีตัณหาอุปาทาน เป็นตัวกู-ของกูไปหมด มันยากที่จะโทษใคร
ในบาลี พระพุทธเจ้าตรัส ก็ตรัสว่าเด็กๆ เกิดมาจากท้องแม่ มันก็ยังเป็นกลาง แต่พอมันได้รับความอร่อย สมมติเด็กๆ แรกคลอดนี้มันจะต้องได้รับความอร่อยในทางลิ้นก่อนแหละ เช่นกินน้ำนม กินอาหารนี้ พอมันได้รับความอร่อยมันจะเกิดความรู้สึกอันใหม่มา อร่อย แล้วพอใจในความอร่อย ค่อยรู้จักอร่อย ค่อยรู้จักความพอใจในอร่อย สิ่งที่เรียกว่านันทิ หรือความพอใจความเพลินมันก็เกิดขึ้นทีละนิด ทีละนิด ทีละนิด นี่มันช่วยไม่ได้ พ่อแม่ก็ป้องกันให้ไม่ได้ที่จะไม่ให้เด็กรู้สึกอร่อยแล้วจะไม่พอใจในความอร่อยนี้ มันเป็นไปไม่ได้
ทีนี้ต่อมาเด็กมันก็จะเห็นอะไรด้วยตา สวย มันก็สวย เขาเอาอะไรไปแขวนให้มันสวยๆ มันเห็น มันก็ได้ฟังขับกล่อมที่ไพเราะให้มันนอนหลับ ให้มันนอนที่นอนเบาะที่มันนิ่มนวลอะไรอย่างนี้เป็นต้น มันก็พบแต่ความอร่อยทางตา ทางหู ทางจมูกนี่ อันนี้มันเริ่มสร้างความพอใจในความอร่อยกลบธรรมชาติเดิมของมัน คือมันจะเอียงมาในทางที่จะพอใจแล้วก็ยึดมั่นถือมั่น พอยึดมั่นถือมั่นเท่าไหร่ก็มีตัวกู-ของกูเท่านั้น ฉะนั้นตัวกู-ของกูน้อยๆ มันก็เริ่มเกิดขึ้นแก่เด็กน้อยๆ แล้วมันก็โตขึ้นตามตัวเหมือนกับที่ร่างกายมันโตขึ้น หรืออวัยวะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้ง ๖ อย่างนี้มันมีสมรรถภาพมีอะไรมากขึ้น นี่ตัวกู-ของกูมันก็โตขึ้น โตขึ้น โตขึ้น ถ้าว่าไม่มีอะไรมาช่วยทำให้รู้ในเรื่องนี้นะ มันก็โง่ถึงที่สุด มันก็จะไปบูชาสิ่งที่อร่อยแหละ แล้วก็ได้เป็นทุกข์ ได้ตาย ได้อะไรกันเพราะสิ่งที่อร่อยนั้น ทีนี้มันยังมีพ่อแม่คอยเตือนคอยห้ามในสิ่งที่มันจะล้น คือจะเกินขอบขีด แต่สิ่งที่ไม่เกินขอบขีดนั้นมันก็เป็นสิ่งที่เป็นกิเลส เป็นตัวกู-ของกูเต็มอัดอยู่เหมือนกัน ฉะนั้นศีลธรรมจึงมีเพื่อจะขจัดที่มันจะอาละวาด จะทำอันตรายผู้อื่นมากไปนั่นแหละ ส่วนนี้เขาเก็บไว้ เขาเงียบๆ เขาไม่ทำอะไรใครให้เดือดร้อนนั้นมันไม่ใช่หน้าที่ของศีลธรรม และศีลธรรมก็ไม่สามารถที่จะไปช่วยเหลือส่วนนั้น มันต้องเป็นเรื่องปรมัตถธรรมหรือสัจธรรมที่สูงสุดจึงจะไปแก้ไขส่วนนั้นได้ ฉะนั้นศีลธรรมในครอบครัว วัฒนธรรมประจำชาตินี้มันจะแก้ไขได้น้อยๆ ที่ริมผิวนอก ที่มันจะล้น จะเฟ้อออกไป
ฉะนั้นศาสนาไม่ใช่ศีลธรรม ศีลธรรมนั้นมุ่งหมายแต่เพียงเท่านั้น แต่ศาสนามันมุ่งหมายทั้งหมด ระบบศีลธรรมก็สมคล้อยกันกับระบบศาสนา แต่ว่าระบบศาสนามันต้องการจะชะล้างในส่วนลึก คือโลภะ โทสะ โมหะ ที่มีอยู่ในกิเลสสันดานแม้ส่วนตัวบุคคลไม่เกี่ยวกับผู้อื่นนี้ ส่วนศีลธรรมนั้นมันมุ่งหมายที่มันเกี่ยวกับผู้อื่นหรือทางสังคมเสียมากกว่า เพราะว่ากิเลสมันล้น ล้นขอบเขตออกมาแล้ว มันจึงไปทำให้คนอื่นเดือดร้อน ทีนี้ก็มีกฎหมาย มีศีลธรรม มีอะไรประเภทนั้นที่จะจัดการกันไปตามเรื่อง แต่แล้วคนผู้นั้นมันก็ยังมีความทุกข์อยู่ส่วนลึกเกี่ยวกับกิเลสของตัวเองที่เรียกว่าตัวกู-ของกูอันละเอียด ทีนี้มันก็เนื่องกันแหละ พอตัวกู-ของกูมันครอบงำแล้วมันก็ทำผิดศีลธรรมแหละ ก็ออกมาข้างนอกแล้วเบียดเบียนคนอื่น ภายในก็ทนทุกข์ทรมานอยู่เป็นส่วนตัวเอง ภายนอกก็พลอยทำให้ผู้อื่น พ่อแม่บิดามารดา ครูบาอาจารย์ เพื่อนบ้านเดือดร้อน นี่มันเป็นอย่างนี้
ตัวกู-ของกูมันตั้งต้นขึ้นมาทีละนิดๆ เพราะว่ามันจะต้องเป็นอย่างนั้น ตั้งแต่เกิดมาจากท้องมารดานี้มันจะเป็นมาอย่างนั้นโดยสิ่งแวดล้อมมันเป็นอย่างนั้น สิ่งแวดล้อมมันไม่แวดล้อมอย่างอื่น ถ้าจะพูดไปให้มันเป็นแวดล้อมอย่างอื่น มันก็เป็นเรื่องคล้ายๆ กับว่าเพ้อฝัน ยกตัวอย่างเช่นว่า พอเด็กมันเกิดมา ก็อย่าให้กินสิ่งที่มันอร่อย ให้มันกินแต่สิ่งที่มันพอๆ ดี หรือมันพออยู่ได้ พออร่อยเข้ามาก็สั่งสอนให้มันรู้ว่าระวังนะเรื่องอร่อยนี้จะทำให้กระวนกระวายใจ จะอยาก จะกระหายด้วยกิเลสตัณหา แล้วก็จะหวง แล้วก็จะเบียดเบียนผู้อื่นเพราะอร่อยนี่แหละ มีใครสอนอย่างนี้บ้าง ครอบครัวไหนมันสอนลูกอ่อนเล็กๆ อย่างนี้บ้าง มันไม่มี ฉะนั้นเด็กเขาก็เรียนเอาเองจากความอร่อยนั่น อร่อยนี่ อร่อยโน่น แล้วก็ขโมย ขโมยแอบไปหาความเอร็ดอร่อย ลึกเข้าไปๆ มันก็ได้ติดนิสัยสันดานที่จะเพาะตัวกู-ของกูชั้นที่เต็มที่
ฉะนั้นเข้าใจว่าภายในอายุสิบปี สิบห้าปีนี้ เรื่องตัวกู-ของกูนี้เต็มอัตรา เมื่อเกิดมาแรกๆ ยังไม่มี จับต้องนั้นยังไม่มี ยังไม่เคยสัมผัสความอร่อย พอสัมผัสความอร่อยครั้งแรกทางตา ทางหู ทางไหนก็ได้ จะรู้รสของความอร่อย แล้วก็จะเป็นความจำที่ฝังอยู่ว่าความอร่อยนั้นเป็นอย่างนั้น ต่อมาก็อร่อยอย่างนี้ อย่างโน้นๆ มากขึ้นๆ จนมันบูชาความเอร็ดอร่อย ฉะนั้นเด็กๆ จึงร้องไห้ในเมื่อไม่ได้สิ่งที่เขาชอบ และเขาก็โกรธเมื่อใครมาแย่งชิงสิ่งที่เขาชอบนี้ มันก็เป็นธรรมดาไป เป็นเรื่องของธรรมดาไป แล้วก็มีความทุกข์เป็นธรรมดาไป ก็เหลือเป็นหน้าที่ของธรรมะที่ว่าจะแก้ไขในส่วนจิตใจ แล้วหน้าที่ของศีลธรรมก็แก้ในส่วนที่มันเกี่ยวกับสังคม มนุษย์เรามีความจำเป็นที่จะต้องรู้เรื่องนี้เพื่อประโยชน์อย่างนี้
ฉะนั้นจึงเป็นอันว่าจะไม่ต้องพูดกันแล้ว หรือว่าจะไม่ต้องมีปัญหากันแล้ว ที่ว่าธรรมะนี้มีประโยชน์อะไร ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ธรรมะนี้มีความจำเป็นอะไรสำหรับที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ต่อตายแล้ว ไม่ใช่ไปอยู่ในป่า ฉะนั้นคุณบวช ๓ เดือนนั่นแหละระวังให้ดี นี้มันเข้ามาครึ่งเดือนแล้วนะ คุณมีโอกาสบวช ๓ เดือน นี้เข้ามาครึ่งเดือนแล้ว ๑ ใน ๖ เสียไปแล้ว ได้ความรู้อะไรพอคุ้มกันกับเวลาบ้าง อย่ามัวโลเลเหลวไหลอยู่เลย ผมก็พยายามที่สุดแล้ว อย่างที่คุณก็พอจะเห็นได้ ผมพยายามที่สุดที่จะให้คุณได้อะไรๆ ออกไปทันแก่เวลา แม้การอธิบายเรื่องตัวกู-ของกูนี้ก็เหมือนกัน มันเป็นเรื่องสรุปใจความสำคัญของธรรมะทั้งหมด มันเป็นแม่บท เป็นหัว,เหง้า,ขั้ว ของธรรมะทั้งหลาย พอมีตัวกูก็มีความทุกข์ พอว่างจากตัวกูก็ไม่มีความทุกข์ นี่เป็นหัวขั้วอันแรก ทำอย่างไรจึงจะไม่มี ทำอย่างไรจึงจะแก้ไขที่มีแล้วให้หายไป ก็เป็นออกไปๆ เป็นเรื่องการปฏิบัติอย่างนั้นๆ เราต้องได้ความรู้แจ่มแจ้งเรื่องนี้ แล้วต้องได้เคยฝึกหัดการเข่นฆ่าตัวกู-ของกูนี้ในระหว่างที่บวชนี้ ต้องได้สองอย่างนี้พอ เพราะมันขยายได้ทุกอย่างเลย ต้องมีโอกาสที่จะสู้รบกิเลสนั้นแหละ นับตั้งแต่นอนสาย นับตั้งแต่สูบบุหรี่ นับตั้งแต่ชอบกินอร่อยๆ นั่นแหละ จะต้องต่อสู้รบราฆ่าฟันบีบคั้นให้มันหายไป นี้เป็นส่วนที่ว่ารบสู้ปฏิบัติการข่มขี่กิเลสนี้ต้องมี เรื่องที่ ๒ ต้องมีความรู้ความสว่างในเรื่องหลักวิชาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้สองเรื่องนี้มันก็พอ และขอให้พยายามให้ดีที่สุดสำหรับผู้ที่บวชในระยะอันสั้น ส่วนที่อยู่ด้วยกันเรื่อยๆ มานี้ผมก็พูดเรื่องตัวกู-ของกูนี้หลายสิบครั้งหรือร้อยกว่าครั้งแล้วก็ได้ ไม่ได้จำไว้ให้ดี ก็ไม่มีเรื่องอื่นนอกจากเรื่องนี้ นี่เวลามันมาก ก็พูดให้ละเอียดออกไป เวลามันก็น้อยก็พูดให้มันสรุปเข้ามาเท่าที่จำเป็น
ก็ขอร้องว่า อย่าได้ดูถูกดูหมิ่นเรื่องของศาสนาเลย พอได้ยินคำว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้ อย่าหัวเราะเยาะ มันเป็นความจริงที่เหนือสิ่งทั้งปวง ได้ยินคำว่าตัณหาอุปาทานนี้อย่าคิดว่ามันไม่เกี่ยวข้องกับเรา มันคือตัวเราเลย ที่คุณคิดว่าคุณเป็นอะไรนั่นแหละ นั่นแหละคือตัวตัณหาอุปาทานแหละ ไม่ใช่ว่ามันไม่เกี่ยวข้องกับเรา มันเป็นตัวเราเลย สิ่งที่เขาเรียกว่าอวิชชานั้นมันสร้างตัณหาอุปาทานคือตัวคุณขึ้นมา ว่ากูอย่างนั้น กูอย่างนี้ กูต้องอย่างนั้น กูต้องอย่างนี้ ถ้ามันมีตัวกูแล้วมันก็มาจากตัณหาอุปาทานแล้วก็มาจากอวิชชา ถ้ามันว่างไม่มีตัวกู-ของกู มันก็เป็นปัญญา มันก็มาจากวิชชา มันไม่มีตัณหาอุปาทาน ฉะนั้นตัวกู-ของกูนี้มาเป็นคราวๆ สร้างขึ้นมาใหม่ด้วยอำนาจของอวิชชาให้เป็นตัณหาอุปาทาน ก็คือเป็นตัวกู-ของกู เวลาไหนคุณมีอารมณ์เสีย หงุดหงิด งุ่นง่าน หรือว่าหลงใหลอะไรก็ตามใจ นั่นมันเป็นตัวกู-ของกูเกิดอยู่เวลานั้นกว่ามันจะตายไป เดี๋ยวมันก็ตายไป มันก็เงียบ มันก็ว่างอีก แล้วเดี๋ยวตัวกูอย่างอื่นมันก็มาอีก นี่เรียกว่าเรียนธรรมะที่ตัวจริง ที่ของจริง อย่าเรียนจากหนังสือ อย่าเรียนจากคำพูด อย่าเรียนจากเดาคาดคะเนเหตุผลอะไร มันใช้ไม่ได้ มันจะเหมือนเอาลูกน้ำเต้าจับปลาดุก ภาพอยู่ที่ข้างประตูนั่น ไปพิจารณาลูกน้ำเต้ากลมๆ เหมือนกับขวดนั้นมันจะเอาไปช้อนปลาดุก มันโง่กี่พันกี่หมื่นเปอร์เซ็นต์ นี้คือคนที่เรียนธรรมะจากหนังสือ จากคาดคะเน จากเหตุผล เราควรจะเรียนธรรมะจากกิเลสโดยตรง จากหัวใจโดยตรง จากความทุกข์โดยตรง นั่นแหละคนที่จะเอาแหเอาอวนไปจับปลาดุก มันจะได้ ทีนี้จะเรียนกันในมหาวิทยาลัยนั้น มันเรียนเพ้อๆ อย่างแบบเอาลูกน้ำเต้าจับปลาดุกทั้งนั้นแหละ ถึงพวกฝรั่งเรียนก็เรียนอย่างนั้นแหละ หมายความว่า มหาวิทยาลัยไหนสอนพุทธศาสนามันก็สอนแบบนั้น แบบที่เรียนจากคำพูด จากหนังสือ จากเหตุผล จากคำนวณ มันก็เรียนอย่างแบบเอาลูกน้ำเต้าไปช้อนปลาดุก ทีนี้เราไม่เอา เรียนอย่างนั้นก็เรียนไปเถิด ไม่ว่า แต่ต้องเรียนจากนี้ พอโกรธต้องเรียนจากความโกรธ พอขี้ขลาดต้องเรียนจากความขี้ขลาด พอละเหี่ยละห้อยเศร้าสร้อยในใจต้องเรียนในตัวความละเหี่ยละห้อยเศร้าสร้อย เมื่อเลวต้องเรียนจากความเลว เมื่อดีต้องเรียนจากความดี กิเลสไหนทำให้นอนสายก็เรียนที่กิเลสตัวนั้น กิเลสตัวไหนทำให้สูบบุหรี่ก็เรียนจากกิเลสตัวนั้น กิเลสตัวไหนทำให้เหลวไหล โหละเหละ เหลาะแหละ หลอกลวง ก็เรียนจากกิเลสตัวนั้น อย่างนี้ไม่เท่าไหร่หรอกก็ได้ปลาดุก เพราะว่ามันเอาตะแกรงหรือเอาแหเอาอวนไปจับปลาดุก
ก็ลงความว่ามันต้องเรียนจากตัวกู-ของกูนั่นแหละ จะรู้จักตัวกู-ของกู แล้วจะฆ่ามันให้ตายได้ เพราะเราได้ความรู้จริงจากสิ่งนั้นเอง นี่คำว่าตัวกู-ของกูมันมีความหมายอย่างนี้ มันเกี่ยวกับคนเรา คือเป็นตัวชีวิตจิตใจของคนเรานั่นเอง ความทุกข์ทั้งหลายมาจากตัวนี้ พอไม่มีตัวนี้ก็ไม่มีปัญหาไม่มีความทุกข์ใดๆ จะเรียกชื่ออย่างอื่นก็ได้ ใครอยากจะเรียกชื่ออย่างอื่นก็ได้ เรียกว่ากิเลสชื่อนั้นชื่อนี้ บางทีก็ชื่อเพราะเหมือนกัน ตัณหา อรดี อย่างนี้ก็เป็นชื่อของกิเลส แต่ที่แท้มันก็เป็นเรื่องทำให้เกิดความทุกข์
เราก็เรียนเรื่องความทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความไม่มีทุกข์ และเรียนถึงวิธีที่จะให้ถึงความไม่มีทุกข์ที่เรียกว่าอริยสัจ ๔ อยู่โดยลักษณะอย่างนี้เรื่อยๆ ไป เรียนทุกข์จากทุกข์จริงๆ เรียนเหตุให้เกิดทุกข์ก็เรียนจากตัวเหตุมันจริงๆ เรียนความดับทุกข์ก็เรียนเมื่อจิตใจมันไม่มีความทุกข์คือมันไม่มีกิเลส เรียนทางถึงความดับทุกข์ก็เรียนเมื่อเราปฏิบัติอยู่ ในมรรคมีองค์ ๘ ในศีล สมาธิ ปัญญา ในพรหมจรรย์นั่นแหละ ก็เรียนจากตัวนั้น ที่เรียนจากหนังสือที่จดไว้ในตำรานั้นมันเหลือเฟือแล้ว นี่มันช่วยอะไรไม่ได้ มันช่วยได้แต่ให้รู้บ้างแล้วมันก็ลืมไป ทีนี้ก็มาเรียนจากตัวจริงเหล่านี้ไม่มีวันลืม เรียนตัวกูจากตัวกูมันเข้าใจและไม่มีวันลืม จนควบคุมได้ไม่ให้เกิด เมื่อไม่ให้เกิดเด็ดขาด มันก็เป็นมรรคผล นิพพาน ยังเกิดบ้างไม่เกิดบ้างนี้ก็ยังดี พอมันมีเวลาพักผ่อนบ้าง ให้มันเกิดน้อยที่สุด ให้มันว่างมากที่สุด นี่ก็ดี ใช้ได้ ดีกว่าคนธรรมดา เอาล่ะ,พอกันทีสำหรับวันนี้