แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายธรรมที่ตรงนี้ เราเรียกกันว่าธรรมปาฏิโมกข์ บรรยายคือเป็นการแสดงโดยหัวข้อที่เรียกว่าธรรมปาฏิโมกข์ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวกู-ของกูเพียงเรื่องเดียวโดยตลอดมาเป็นปีๆ แล้ว ผู้ที่อยู่ที่นี่ตลอดเวลาก็ทราบดี ทีนี้วันนี้ก็มีผู้มาใหม่มากกว่าหนึ่งในสาม ฉะนั้นคงจะไม่รู้เรื่องว่าเรื่องธรรมปาฏิโมกข์นี้มันเป็นอย่างไร หรือว่าเรื่องเกี่ยวกับตัวกู-ของกูนี้เป็นอย่างไร แล้วถ้าบรรยายต่อไปต่อจากตอนที่บรรยายในครั้งที่แล้ว มันก็อาจจะฟังไม่ถูกยิ่งขึ้น เพราะบรรยายติดต่อกันเรื่อยๆ มา ทีนี้วันนี้ก็เลยถือเป็นโอกาสพิเศษย้อนมาพูดถึงความหมายของการบรรยายเรื่องนี้หรือเค้าเงื่อนในเบื้องต้นของเรื่องนี้ เพื่อประโยชน์แก่ผู้มาใหม่เหล่านี้เป็นพิเศษสำหรับวันนี้
เรื่องนี้เราเรียกโดยภาษาบาลีว่าธรรมปาฏิโมกข์ ธรรมะก็คือธรรม,พระธรรม ปาฏิโมกข์นี้ก็หมายถึงเรื่องราวที่มันเป็นหัวข้อใหญ่หรือเป็นประธานของเรื่องทั้งหมด มันคล้ายๆ กับคำว่า text หรือคำว่า code อะไรทำนองนั้น ธรรมปาฏิโมกข์นั้นก็คือหัวข้อใหญ่เพียงข้อเดียวของสิ่งที่เรียกว่าธรรม ทีนี้พอแปลเป็นไทย พูดเป็นไทยๆ เราเรียกกันว่าเรื่องเกี่ยวกับตัวกู-ของกู ขอให้ฟังดูให้ดีเถิดว่า เรื่องที่เป็นประธานของเรื่องทุกเรื่องทั้งหมดนั้นคือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวกู-ของกู คนโดยมากไม่ยอมเชื่อว่าพุทธศาสนาทั้งหมดไม่มีเรื่องอะไรนอกจากเรื่องที่เกี่ยวกับตัวกู-ของกู เพราะว่าเขาไม่เคยศึกษาหรือว่าเขาไม่จับหัวใจของพุทธศาสนาได้ มันถูกแล้วถ้าว่าพูดเป็นภาษาบาลี พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่า แต่ก่อนนี้ก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี เราตถาคตจะบัญญัติแต่เรื่องความทุกข์กับเรื่องความดับไม่เหลือแห่งความทุกข์เท่านั้น นี่เป็นคำพระพุทธเจ้าโดยตรงว่าจะตรัสแต่เรื่องความทุกข์กับความดับทุกข์เท่านั้น
ทีนี้เดี๋ยวนี้เรามาพูดว่าเรื่องเกี่ยวกับตัวกู ไม่มีเรื่องอื่น นี่ก็เพราะว่า เรื่องตัวกูมันเป็นเรื่องความทุกข์ และเรื่องดับเสียซึ่งตัวกูนั้นมันเป็นเรื่องความดับทุกข์ นั่นมันมีเท่านั้น จะใช้คำอย่างอื่นอีกก็ได้ว่า ตัวกูเป็นความทุกข์หรือความทุกข์มาจากตัวกู นี้เรื่องหนึ่ง ถ้าดับสิ่งที่เรียกว่าตัวกูเสียได้ก็คือความดับทุกข์ ถ้าดับทุกข์ได้ก็ต้องดับตัวกูได้ นี้อีกเรื่องหนึ่ง เป็นสองเรื่อง การสวดมนต์ตอนเช้าโดยเฉพาะทุกวันนั้นจะมีคำว่า โดยสรุปแล้วเบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานนั้นเป็นตัวความทุกข์ ประโยคนี้ผู้ที่เป็นนักศึกษาจะต้องจำไว้ให้แม่นยำ ที่แจกรูปออกไปว่าความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ อะไรอีกเป็นทุกข์ตั้ง ๑๐ อย่างนั้น,๑๐ กว่าอย่างนั้น นั่นมันฝอย พอในตอนท้ายมันก็สรุปว่า สงฺขิตฺเตน โดยสรุปแล้ว ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานนั้นเป็นตัวทุกข์ ทีนี้เราก็ไม่เข้าใจว่าเบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานนั้นคืออะไร โดยใจความเราไม่ค่อยจะรู้กัน เบญจขันธ์คืออะไรเราก็ยังไม่รู้ อุปาทานคืออะไรก็ยังไม่รู้ เบญจขันธ์ประกอบด้วยอุปาทานในลักษณะอย่างไรก็ยิ่งไม่รู้ ก็เลยไม่รู้หมดที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนั้น
ทีนี้จะพูดเป็นไทยๆ ก็ว่า เมื่อจิตประกอบด้วยความสำคัญมั่นหมายในลักษณะที่เป็นตัวกูหรือของกู นั่นแหละคือเบญจขันธ์ที่ประกอบด้วยอุปาทานรูปใดรูปหนึ่งอย่างใดอย่างหนึ่ง นั้นเป็นตัวทุกข์ ทีนี้เมื่อใดเบญจขันธ์มิได้ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน เมื่อนั้นก็ไม่มีความทุกข์ เป็นความดับทุกข์อยู่ในตัว นี่ถ้าจำหลักอย่างนี้ไม่ได้ก็จะเฝืออยู่ตลอดไป หรือจะพูดไม่ถูก จะอธิบายไม่ถูก จะเข้าใจไม่ได้อยู่ตลอดไป
คำว่าเบญจขันธ์นั้น คือเรื่องคนเราที่มีชีวิตอยู่ในขณะที่มีความรู้สึกเต็มที่ในกรณีหนึ่งๆ เรียกว่าเบญจขันธ์ ในขณะนั้นหรือว่าในกรณีนั้น เรามันมีร่างกายเรียกว่ารูปขันธ์ แล้วก็มีเวทนาคือความรู้สึกว่าสุข ว่าทุกข์ ว่าหอม ว่าไม่หอม ว่าเหม็น นี้เป็นเวทนาขันธ์ ทีนี้ก็มีความรู้สึกว่าอะไรเป็นอะไรคือจำได้นั้นเรียกว่าสัญญาขันธ์ อะไรเป็นอะไรนี้เรารู้สึกได้เรียกว่าสัญญาขันธ์ แล้วก็มีความคิดอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนั้น นี้เรียกว่าสังขารขันธ์ แล้วก็มันมีที่เรียกว่าจิตหรือวิญญาณที่จะคอยรู้แจ้งว่าอะไรเป็นอะไรที่เข้ามาแวดล้อมเรา ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ก็เรียกว่าจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ แล้วแต่ว่ามันจะเข้ามาทางไหน จะเกิดขึ้นทางไหน นี้ก็เรียกว่าวิญญาณขันธ์ ก็เลยมี ๕ อย่าง ว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้เราก็สวดทุกเช้าทำวัตรเช้า,เบญจขันธ์นี้ ก็แปลว่าเราในชีวิตที่ยังเป็นๆ อยู่ มีกรณีใดเกิดขึ้น ทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ ทางใดทางหนึ่งแหละ ทีหนึ่งมันเกิดได้ครั้งหนึ่ง ทีหนึ่งมันเกิดได้ทางหนึ่งเท่านั้น แล้วเกิด ๕ อย่างนี้ขึ้นมาครบ คือลุกขึ้นมาทำหน้าที่ ๕ อย่างนี้ นี่ก็เรียกว่าเบญจขันธ์ ถ้า ๕ อย่างนี้มันไม่มีความสำคัญมั่นหมายประเภทที่เป็นตัวกู-ของกู ก็ถือว่าเบญจขันธ์นี้มิได้ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน มันยังไม่เป็นทุกข์
แต่ถ้าในบางกรณี มันมีอะไรก็ตามเถิด มันทำให้เกิดอวิชชา เกิดความโง่ เกิดความหลงสำคัญมั่นหมายไปในรูปที่เป็นตัวกูเป็นของกูแล้ว เบญจขันธ์นั้นก็เรียกว่าเบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน ต้องมีความทุกข์ นี่ก็เข้ารูปเมื่อตะกี้ที่ว่าถ้าเบญจขันธ์ไม่ได้ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานมันก็ไม่มีความทุกข์ ถ้าเบญจขันธ์ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานก็เรียกว่ามีความทุกข์อย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้นเมื่อพูดว่าเบญจขันธ์หรือขันธ์ ๕ก็ตาม ต้องให้รู้เสียด้วยว่าคำพูดนั้นเขาหมายถึงเบญจขันธ์ที่ประกอบด้วยอุปาทานหรือเบญจขันธ์ที่มิได้ประกอบด้วยอุปาทาน บางทีเขาพูดอย่างสรุปสั้นๆง่ายๆ ไม่ระมัดระวังอะไร พูดว่าขันธ์ ๕ เป็นทุกข์นี้ เราต้องรู้เอาเองว่าเขาเล็งถึงขันธ์ ๕ ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน จึงจะเป็นทุกข์ตามความหมายนี้
ทีนี้ถ้าขันธ์ ๕ ที่มันมิได้มีอุปาทานเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่เกี่ยวกับความทุกข์ ถ้าความทุกข์ก็ความทุกข์ในความหมายอื่นที่ไม่มีปัญหาที่ไม่ใช่ปัญหา ฉะนั้นรู้จักขันธ์คือตัวเราเองในกรณีหนึ่งๆ ในวันหนึ่งๆ เรียกว่าขันธ์ ๕ ครบชุดเกิดขึ้น เกิดขึ้นเดี๋ยวดับไป เดี๋ยวเกิดขึ้น เดี๋ยวดับไป พูดตามแบบธรรมะแท้ๆ ก็ว่าคนนั่นแหละเดี๋ยวเกิดเดี๋ยวตาย เดี๋ยวเกิดเดี๋ยวตาย เดี๋ยวเกิดเดี๋ยวตาย มันต้องมีความรู้สึกเกิดขึ้นครบถ้วน จึงจะเรียกว่าขันธ์ ๕ เกิด ถ้าว่ามีความยึดมั่นด้วยอุปาทานตัวกู-ของกูแล้วก็คือสมบูรณ์ที่สุด การเกิดนี้สมบูรณ์ที่สุด เป็นคนๆ หนึ่งที่มีอุปาทานยึดมั่นอะไรก็ได้ตามแต่ที่มันจะเกิดขึ้น ยึดมั่นเป็นรูปตัวกู-ของกู แล้วเขาจะต้องเกิดความโลภหรือความโกรธหรือความหลงอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่นอน แล้วเขาก็มีความทุกข์ทางใจในปริมาณอันหนึ่งปริมาณใดโดยแน่นอน จนกว่ามันจะสิ้นเรื่องแล้วความรู้สึกอันนั้นดับไป นี่ก็เรียกว่าตาย เดี๋ยวก็เกิดอีก เดี๋ยวก็ตายอีก เดี๋ยวเกิดอีก เดี๋ยวตายอีก บางทีมันติดต่อกันไป คือว่ายึดมั่นอย่างนี้ แล้วมันก็ยึดมั่นอย่างนั้น แล้วยึดมั่นอย่างนั้นไปอีกตั้งหลายๆ หลายๆ ทอดจนกว่าจะดับใหญ่ดับไปเสียคราวหนึ่ง คือเรื่องมันติดต่อทยอยกันเข้ามา
ต้องรู้จักตัวเองในลักษณะอย่างนี้ก่อน จึงจะศึกษาพุทธศาสนาเข้าใจได้ ถ้าไม่อย่างนั้นก็ไม่มีทาง มันก็ได้แต่ท่องจำตามประเพณี ทำพิธีรีตองตามประเพณี ไม่รู้จักตัวพุทธศาสนาเลย เหมือนกับโดยมากเราก็ไม่รู้จักตัวพุทธศาสนาแล้วก็ว่าเอาเองอย่างนั้นอย่างนี้ พุทธศาสนาอย่างนั้นอย่างนี้ บางคนมีความคิดเก่งก็วิจารณ์พุทธศาสนา วิจารณ์พระพุทธเจ้าอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งมันผิดทั้งนั้นแหละ เพราะเขายังไม่รู้จักแม้แต่ตัวเองที่มันเกิดความทุกข์ ไม่รู้จักสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์และไม่เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ คือชีวิตเรานี้ในเวลาหนึ่งในกรณีหนึ่ง มันเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์เพราะในใจมันเกิดโง่เกิดหลงเกิดยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา ชีวิตในขณะนั้นเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์และมีความทุกข์ ทีนี้ในโอกาสอื่นในขณะอื่นมันไม่มีความรู้สึกคิดนึกยึดมั่นแบบนั้น มันก็ไม่เป็นทุกข์ ฉะนั้นเราดูเอาเองก็แล้วกันว่าเวลาอย่างไหนจิตใจเราหม่นหมองและเป็นทุกข์ เวลาไหนไม่หม่นหมองไม่เป็นทุกข์ และโดยส่วนใหญ่เราก็มิได้เป็นทุกข์ ถ้าเราเป็นทุกข์ไม่มีหยุด เราก็เป็นบ้าแล้วเราก็ตาย เดี๋ยวนี้ความทุกข์นั้นมันมีเป็นระยะ ชั่วเวลาที่ความคิดมันผิด มันเป็นไปในทางโง่ทางหลงแล้วก็ยึดมั่นถือมั่น ขณะนั้นจะเป็นทุกข์ ถ้าไม่มีความคิดเขลาๆ โง่ๆ แบบนี้ มันก็ไม่เป็นทุกข์
บางคนก็มีมาก บางคนก็มีน้อย ใครมีมากเกินไปก็มีความทุกข์มาก หรือกระทั่งมีโรคภัยทางจิตใจเกิดขึ้นลุกลามมาถึงทางกายหาความสุขไม่ได้ เป็นโรคเส้นประสาทบ้าง เป็นบ้าไปเลยบ้าง ตายเลยบ้าง ทีนี้ถ้าเรามันเป็นคนที่มีความรู้ จะรู้โดยที่รู้จริง รู้ของตัวเอง หรือว่ารู้ชนิดที่เขาสอนให้ถูกต้องแล้วเรายึดถือปฏิบัติดี หรือว่าเราทำไปตามวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดี ก็ได้เหมือนกัน ความยึดมั่นถือมั่นอย่างนี้มันเกิดยาก เราก็เป็นคนที่เรียกได้ว่ามีบุญ คือมีความทุกข์กับเขาไม่ค่อยเป็น แต่ว่าพุทธศาสนามุ่งหมายจะสั่งสอนให้รู้ข้อเท็จจริงเรื่องนี้อย่างแจ่มแจ้งจนสามารถทำให้ไม่เกิดความทุกข์ได้อีกต่อไป หรือว่าถ้าไม่ถึงขนาดนั้นก็ให้มันเกิดน้อยที่สุดจนน้อยมากเป็นที่น่าพอใจ นี่ความมุ่งหมายของพุทธศาสนาอย่างนี้ ฉะนั้นพุทธศาสนามันจึงมีหลักปฏิบัติไปในทำนองที่จะไม่ให้เกิดตัวกู-ของกู คือไม่เกิดความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ในรูปร่างของตัวกูบ้าง ของของกูบ้าง นี้เป็นกฎธรรมชาติ ไม่ใช่พระพุทธเจ้าจะมีอำนาจตั้งมันขึ้นได้ มันเป็นกฎธรรมชาติ มันเป็นไปตามธรรมชาติ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่ากฎแห่งอิทัปปัจจยตา นี่พระพุทธเจ้าท่านเรียกอย่างนี้ เป็นกฎของธรรมชาติที่เกี่ยวกับความทุกข์ก็คือกฎอย่างนี้ นี่ตรัสรู้ก็ตรัสรู้ข้อนี้
อิทัปปัจจยตานั้นมันทำให้ทุกข์เกิดขึ้นได้โดยลักษณะอย่างนั้นๆ อย่างนั้นๆ แล้วอีกทีหนึ่งก็คือมันจะดับลงได้ในลักษณะที่มันตรงกันข้ามอย่างนั้นๆ อย่างนั้นๆ นี้เรียกว่าอิทัปปัจจยตา ฉะนั้นอิทัปปัจจยตาก็ไม่มีอะไรหรอกนอกจากพฤติกรรม Process ของการเกิดขึ้นแห่งตัวกู-ของกู หรือว่าการดับลงแห่งตัวกู-ของกู มีเท่านั้นแหละ แต่เขาไม่ค่อยมองกันหรือเข้าใจกันในลักษณะอย่างนี้ ท่องไว้ในภาษาบาลีแล้วก็ไม่รู้ว่าอะไรด้วย มันก็ลำบาก ฉะนั้นผมจึงเห็นว่าเอาเป็นคำพูดธรรมดาๆ ไทยๆ เรา เรียกว่าเรื่องเกี่ยวกับตัวกูและของกู เป็นเพียงความรู้สึก ไม่ใช่ตัวจริง ไม่ใช่มีของจริงตัวจริงที่เป็นตัวเป็นตนเหมือนบุคคลเราเขาอะไร,ไม่ใช่ มันเป็นเพียงความรู้สึกโง่ๆ พักหนึ่งๆ สำคัญมั่นหมายลงไปว่ากู นี่มันไม่ยอม พอกูแล้ว แล้วมันก็ต้องมีของกู ถ้ามันมีตัวกูตั้งขึ้นมาเป็นหลักแล้วมันก็จะต้องมีของกูด้วย ถ้าเรียกเป็นภาษาบาลีอย่างแคบๆ อย่างในความหมายที่เข้มข้นเขาเรียกว่าอหังการ-มมังการ อหังการนั่นแหละคือตัวกู มมังการนั่นแหละคือของกู นี่เรียกอย่างที่ว่ามันเดือดเต็มที่แล้วก็เรียกอย่างนี้
ทีนี้ถ้ามันกล่าวไว้กว้างๆ ไม่รุนแรงนั้นเขาเรียกว่าอัตตา หรืออัตตนียา อัตตาแปลว่าตัวตน อัตตนียาแปลว่าเนื่องอยู่กับตนก็คือของตนนั่นแหละ ความคิดที่เป็นอัตตาหรือเป็นอัตตนียาเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เป็นทุกข์เมื่อนั้น คือความคิดที่ว่าตัวกูว่าของกูนั่นแหละเกิดขึ้นแล้ว แต่ถ้าเดือดจัดถึงกับเป็นอหังการ-มมังการอย่างนี้แล้ว มันทุกข์มาก มันร้อนเป็นไฟ และนั่นแหละคือเรื่องธรรมชาติของสิ่งที่เรียกว่าตัวกูว่าของกู แล้วก็ไม่ใช่มีตัวตนที่แท้จริงอะไร เป็นเพียงการปรุงแต่งของความรู้สึกในจิตใจ ปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกอย่างนั้น ฉะนั้นใจมันก็บ้าไปพักหนึ่ง แล้วก็ทำให้ทุกอย่างที่เกี่ยวกันกับใจนี้เดือดร้อนเป็นทุกข์ไปหมด แม้แต่เนื้อตัวก็สั่น หายใจก็กระหืดกระหอบ เพราะว่ามันเนื่องกัน มันมีความทุกข์ อย่างนี้เรียกว่าตัวกู-ของกูแสดงบทบาทมีความทุกข์ พอมันดับไปมันก็ไม่มีความทุกข์ ฉะนั้นถ้าเรามีวิธีป้องกันไม่ให้มันเกิด ก็นับว่ามีโชคดีมาก หรือเมื่อมันเกิดขึ้น แล้วมีวิธีที่จะดับมันเสียได้ง่ายๆ อย่างนี้ก็ยังมีโชคดีอยู่ ต้องศึกษา
ถ้าเรายิ่งศึกษา เรายิ่งป้องกันได้ดีขึ้น ก็ดับมันได้ดีขึ้น ถ้าเราไม่ศึกษา เราก็ทำละเมอๆ ไป มันก็ยากที่จะไปตรงกับเรื่องราวได้ มันก็มีความทุกข์ แม้ว่าเราจะเชื่อผู้อื่นที่แนะให้ก็เรียกว่าศึกษาเหมือนกันแหละ และทำตามประเพณีขนบธรรมเนียมก็ต้องเรียกว่าศึกษาเพราะมันได้ศึกษาไว้ล่วงหน้าแล้ว พอจิตผิดปกติก็ระลึกถึงพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ สวดพุทธคุณอะไรขึ้นมานี้ มันก็เป็นอุบายอันหนึ่งที่จะให้อันนี้มันดับไป ถ้าเก่งกว่านั้นมันต้องรู้ลึกซึ้งกว่านั้น มีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา ไม่เกิด concept ประเภทตัวกู-ของกู มีแต่ concept ธรรมดาสามัญ เหมือนกับเดี๋ยวนี้ ตาเราก็มองเห็น หูเราก็ได้ยิน จมูกเราก็ได้กลิ่น ด้วยตาก็เห็นเป็นจักษุวิญญาณ และเห็นดอกไม้นั้นสบายตาก็เรียกว่าเป็นเวทนา แล้วก็จำได้ว่านั่นดอกลั่นทม นี้ก็เป็นสัญญา แล้วมีความคิดอะไรบ้างเกี่ยวกับดอกลั่นทมนั้นว่ามันมาอย่างไรไปอย่างไร นี้ก็เป็นสังขาร มันเกิดครบ ๕ แล้วไม่เห็นเป็นทุกข์สักทีล่ะ มองดูไปที่นั่นไม่เห็นเป็นทุกข์สักที ขันธ์ก็เกิดครบทั้ง ๕ ขันธ์แล้ว เพราะว่ามันไม่มีอุปาทานเกี่ยวกับขันธ์ในเวลานี้ ไม่มีอวิชชาไม่โง่ไม่อะไรที่จะไปหลงรักหรือหลงเกลียด ดอกลั่นทมนั้นเข้า
ฉะนั้นถ้าเมื่อใดมันมีเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่งที่มันมีอำนาจทำให้เกิดอุปาทาน เช่นว่าเรารักมันมาก เมื่อเห็นมันเป็นหนอนหรือมีใครมาหักหรืออะไรนี้ นี่มันจะได้เรื่อง ที่เมื่อเห็นดอกลั่นทมในลักษณะอย่างเดียวกันแล้วแต่มันแถมพกคืออุปาทาน ว่ากูเป็นเจ้าของต้นลั่นทม ต้นลั่นทมของกู เดี๋ยวนี้ถูกทำลาย มันก็โกรธอย่างยิ่ง นั่นอุปาทานที่เรียกว่าตัวกูเกิดขึ้นสำหรับโกรธ อุปาทานว่าของกูเกิดขึ้นสำหรับเป็นเหตุให้โกรธ ตัวอย่างที่โกรธนี้คือเบญจขันธ์ที่ประกอบด้วยอุปาทาน ตัวอย่างอันแรกคือเบญจขันธ์ยังมิได้ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน ไม่มีตัวกู-ของกูในเบญจขันธ์นั้น มันก็ไม่เป็นทุกข์ นี่คือคำอธิบายที่สวดเช้าๆ ว่า สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา นี้ เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน ๕ ประการนั้นเป็นตัวทุกข์ เมื่อกล่าวโดยสรุป
ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายก็เหมือนกันแหละ มันต้องมีความคิดเลยนั่นไปว่ามันเป็นความตายของเรา ความแก่ของเรา ความเจ็บของเรา อะไรของเรา มันจึงจะเป็นทุกข์ ถ้าจิตมันมิได้เลยเป็นว่าความตายของเราหรือความตายเกิดแก่เรานี้มันไม่เป็นทุกข์หรอก บางทีเราถูกยิงโป้งเดียวตาย มันก็ไม่มีว่าใครจะเป็นทุกข์หรอก เดี๋ยวนี้เราไม่ถูกยิง แต่เราคิดว่าคงจะถูกยิง นี่เราก็เป็นทุกข์แล้ว เพราะมีเราที่ไม่อยากตาย แล้วก็จะถูกยิงตาย นี่เราก็เป็นทุกข์ ฉะนั้นขอให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าตัวกู-ของกูนี้ไว้ มันเหมือนกับผี เดี๋ยวเกิดเดี๋ยวตาย เดี๋ยวเกิดเดี๋ยวตายอยู่ในจิตใจ เพราะมันไม่มีตัวตนที่แท้จริง มันมีเหตุปัจจัยปรุงขึ้นให้เกิดความคิดชนิดนี้ขึ้นมา คำว่าปัจจัยก็คืออะไรก็ได้ที่มันทำให้มันเกิดสิ่งอื่นได้เขาเรียกว่าปัจจัยทั้งนั้นแหละ มีด้วยการเห็นแล้วก็เกิดความคิดอย่างนั้น แล้วเกิดความคิดอย่างนี้ จนเกิดความคิดเป็นตัวกู-ของกู ก็เป็นทุกข์เท่านั้น
ถ้าถึงขนาดที่เรียกว่าตัวกู-ของกู เขาก็เรียกว่าอุปาทาน ภาษาบาลีเรียกว่าอุปาทาน มีความหมายเฉพาะของภาษาบาลี ในภาษาไทยมีคำนี้ใช้แต่ความหมายไม่ตรงกัน แล้วแปลเป็นภาษาอื่นก็ยาก ทีนี้เขาแปลเป็นattachmentบ้าง thinkingบ้าง claspingบ้าง ไม่ถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ทั้งนั้นแหละ สำหรับคำธรรมะในภาษาบาลีในพุทธศาสนานี้มันมีความหมายเฉพาะของมัน แปลเป็นคำภาษาอื่นได้ยาก เว้นแต่คำที่มันง่ายๆ เกินไปนั้นมันก็แปลได้ แต่คำที่เขามีความหมายเฉพาะแล้วแปลยาก แม้ที่สุดแต่คำคำนี้ที่ว่าอุปาทาน ต้องแปลเป็นไทยก็ต้องแปลว่าความยึดมั่นถือมั่น มันก็ไม่ได้ความหมายหมดจด เพราะไม่ได้ยึดด้วยมือด้วยตีนอะไร แต่มันด้วยใจสำคัญมั่นหมายในรูปของตัวกู-ของกู นี่เรียกว่าอุปาทาน ในภาษาไทยมีคำว่าอุปาทานใช้ความหมายอย่างอื่น หมายถึงฮีสทีเรีย (hysteria,โรคหวาดผวา)บ้างอะไรบ้าง นั้นมันไม่ใช่คำอุปาทานคำนี้
เราต้องศึกษาจากตัวอุปาทานโดยตรงเมื่อมันเกิดขึ้นในใจของเรา เช่น เมื่อเราโกรธว่าใครมันมาเอาด้ามปากกาของเราไปแล้วเราโกรธนี่ แล้วก็พิจารณาดูจิตใจของเรา แยกแยะดูจิตใจของเรา จะพบว่ามันมีความรู้สึกอันหนึ่งที่ทำให้มันเกิดความโกรธ เพราะยึดมั่นว่าเราเป็นเจ้าของปากกา ปากกาของเราเขาเอาไป นี่มันก็เป็นมีความทุกข์ นั่นคืออุปาทาน แล้วมันยังมีได้จนถึงกับว่าไม่ได้มีใครเอาไป เราทำตกหายเอง แล้วเราคิดว่ามีใครเอาไป แล้วเราก็โกรธว่ามีใครเอาไป อย่างนี้ก็เป็นอุปาทานที่มันมีความโง่หรือความไม่รู้ตั้งสองชั้นสามชั้น แต่ผลมันเหมือนกัน ถ้ามีอุปาทานเกิดขึ้นต้องมีความทุกข์ ฉะนั้นจิตนี้มันเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตนอย่างนี้ มันแล้วแต่ว่าจะมีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องแล้วปรุงแต่งมัน มันก็มีความคิดอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา ถ้าความคิดมันมาในรูปของอุปาทานแล้ว ไม่มีทางหลีก ต้องเป็นทุกข์ เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ มันจึงไม่มีทางผิด แล้วก็มีคนที่เขารู้มาตามลำดับก่อนพระพุทธเจ้าก็มี ก็สอนกันมา,สอนกันมา,สอนกันมาจนกว่าถึงพระพุทธเจ้านี้จึงรู้ถึงที่สุดแล้วก็สอนถึงที่สุด สิ่งเหล่านี้เป็นกฎธรรมชาติทั้งนั้น แต่ฝ่ายละเอียดฝ่ายจิตใจฝ่ายนามธรรม ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ฝ่ายรูปธรรม แต่ก่อนนี้เขาสนใจเรื่องจิตใจนี้มากเพราะว่าความทุกข์มันเกี่ยวกับจิตใจ ทางวัตถุธรรมเขาไม่ค่อยสนใจ เขาจึงรู้เรื่องนี้มากกว่าคนสมัยนี้ มันจึงสรุปเป็นหลักได้ว่า ตัวกู-ของกูนี้มันเป็นความรู้สึกชนิดหนึ่ง เรียกว่าความสำคัญมั่นหมาย หรือจะเรียกว่าความยึดมั่นถือมั่นก็ได้ ความหมายเดียวกันแหละ
ถ้าเราเรียกว่าความสำคัญมั่นหมาย ก็หมายความว่ามันโง่ โง่แล้วไปสำคัญเอาว่าอย่างนั้น สำคัญเอาว่าตัวกู สำคัญเอาว่าของกูนี่ อย่างนี้ก็เรียกว่าสำคัญมั่นหมาย เรียกว่าสัญญาด้วยเหมือนกัน สัญญาที่ประกอบด้วยอวิชชา หรือว่าถ้าว่าจะเรียกว่าอุปาทานก็ว่าจิตเข้าไปจับเอาสิ่งนั้นโดยความเป็นตัวกูหรือโดยความเป็นของกูนี่ อย่างนี้ก็เรียกว่าอุปาทาน แต่ตัวจริงนั้นคือสิ่งเดียวกัน คือการที่จิตถูกปรุงแต่งให้เกิดความคิดชนิดนี้ขึ้นมาในจิต มีความรู้สึกเป็นตัวกูเป็นของกู แล้วมีความทุกข์ ถ้าไม่เกิดความคิดอย่างนี้ไม่มีความทุกข์ ฉะนั้นเคล็ดมันมีอยู่นิดเดียวเท่านั้นแหละว่า จงมีชีวิตอยู่โดยที่ไม่ต้องมีความรู้สึกคิดนึกชนิดนี้ แล้วกินอาหารไป ทำงานไป ศึกษาเล่าเรียนไป แล้วแต่ว่าเราจะต้องทำอะไร แต่อย่าทำไปด้วยความคิดชนิดนี้ มันจะมีความทุกข์ โดยกฎธรรมชาติเป็นอย่างนี้ ทีนี้เราไม่รู้ เราเป็นมนุษย์ มันสมองมันเจริญ มันคิดเก่งและเร็ว ฉะนั้นมันจึงมีความคิดไปในรูปตัวกู-ของกูเร็วและแรงและมาก มนุษย์จึงมีความทุกข์มาก ทีนี้มนุษย์นี้ก็ยังมีมนุษย์หลายๆ ชนิด หลายๆ ยุค ยุคที่มนุษย์ยังไม่ค่อยเจริญ มันสมองก็ยังไม่เจริญอย่างนี้ มันก็มีความคิดอย่างนี้ได้ยาก คือคิดได้น้อย มันก็มีความทุกข์น้อย มนุษย์สมัยนี้มันเจริญ ความคิดมันเก่ง มันก็คิดได้มาก คิดได้เร็ว มันก็มีความยึดมั่นถือมั่นมาก มันก็มีความทุกข์มาก
นี้เป็นคำตอบที่ว่า ทำไมคนสมัยนี้มันจึงเป็นโรคเส้นประสาทมากกว่าสมัยที่เป็นอายุหิน สมัยหินมันเกือบจะไม่รู้จักโรคเส้นประสาทเพราะมันคิดไม่เป็น นี่คนก็มาเป็นยุคๆ ก่อนนี้ก็ไม่รู้จักโรคเส้นประสาทกันนักหรอก เมื่อผมเด็กๆมันก็ไม่ค่อยจะเห็นใครเป็นโรคเส้นประสาทกันกี่คน เดี๋ยวนี้มันมาก ชั่ว ๕0ปี ๖0ปี
นี่รวมความว่า มันสมองเจริญนี้ ถ้ามันเจริญไปด้วยตัวกู-ของกู มันจะต้องเป็นทุกข์ และมันพัวพันกันมากแล้วมันก็เป็นทุกข์กันทั้งบ้านทั้งเมือง ฉะนั้นถ้าจิตนั้นมันมีความรู้สึกที่เป็นตัวกู-ของกูน้อย เช่นคนบางคนเขาเป็นน้อย เขาก็ทุกข์น้อย หรือเขาไปอยู่แบบหนึ่งเป็นฤาษีมุนีอะไร เขาก็มีความทุกข์น้อย นี่ในโลกเดียวกัน มันมีหลักพูดได้เลยว่าถ้ามีตัวกู-ของกูมากก็มีความทุกข์มาก ถ้ามีเร็วก็ทุกข์เร็ว เกิดช้าดับช้า เกิดเร็วดับเร็ว มันก็แล้วแต่ธรรมชาติของบุคคลนั้นๆ นี่เราก็ถอยลงไปถึงสัตว์เดรัจฉาน มันก็มีความรู้สึกเป็นตัวกู-ของกูน้อยลงไปอีก มันก็ยิ่งน้อยกว่าคนอีก ความทุกข์ก็น้อยกว่าคน สัตว์เดรัจฉานบางชนิดยิ่งน้อยกว่าสัตว์เดรัจฉานบางชนิด มันก็มีความทุกข์น้อย ทีนี้เราไปดูถึงครึ่งคนครึ่งสัตว์ ครึ่งต้นไม้ลงไปกระทั่งเป็นต้นไม้ มันก็มีความทุกข์น้อยเพราะมันไม่มีความรู้สึกประเภทตัวกู-ของกูเลย มันมีความรู้สึกแต่ประเภทอื่น เช่นจะรู้สึกต่อสัมผัส แล้วก็รู้สึกหาอาหารกิน รู้สึกเจริญเติบโตต่อสู้เพื่อเป็นอยู่ นั่นมันน้อย มันก็เห็นแก่ตัวน้อย มันก็มีความทุกข์น้อย ฉะนั้นเราเทียบกันได้ ต้นไม้นั้นมันมีความทุกข์น้อยกว่าสัตว์ สัตว์มีความทุกข์น้อยกว่าคน แต่ว่าในพวกหนึ่งๆ นั้นมันยังมีแยกกันได้ว่า แล้วแต่ว่าสัตว์ตัวไหนสัตว์ประเภทไหนหรือว่าคนๆ ไหนคนประเภทไหนมันมีความคิดยึดมั่นถือมั่นมากกว่ากัน ถ้าพูดถึงวัฒนธรรมโบราณที่เนื่องอยู่ด้วยกับศาสนา เขาอบรมเด็กให้มันเป็นไปในทางที่จะเกิดความยึดมั่นถือมั่นน้อย เขาไม่รู้เหตุผลข้อนี้ มันเป็นแต่เพียงรู้ว่าเราต้องคิดอย่างนี้ เราต้องสละความคิดอย่างนี้ออกไปหรืออะไรอย่างนี้เป็นต้น เราจะได้ไม่มีความทุกข์ ฉะนั้นเขาจึงสอนให้ไม่เอามารำพึง สอนไม่ให้ผูกพยาบาท สอนให้ให้อภัยทันทีอย่างนี้เป็นต้น นั่นเป็นวัฒนธรรม ช่วยให้คนเหล่านั้นสมัยโน้นมีความทุกข์น้อยได้
เดี๋ยวนี้เราพูดกันถึงว่า ความรู้ที่แท้จริงเกี่ยวกับเรื่องนี้มันเป็นอย่างไร คือหลักพุทธศาสนาที่สอนเรื่องความยึดมั่นกับความไม่ยึดมั่น ทีนี้มันก็ตรงกันข้ามกับสมัยโน้นอยู่ที่ว่ามนุษย์ในโลกปัจจุบันนี้ละทิ้งวัฒนธรรมโบราณนั้นหมดแล้ว โลภมาก เห็นแก่ตัวจัด เห็นแก่ความเอร็ดอร่อยทางตาหูจมูกลิ้นกายจัด นี่ทั้งหมดนี้เป็นความผิดพลาดหรือว่าอย่างน้อยก็แตกต่างจากคนสมัยโบราณนั้น ฉะนั้นคนสมัยนี้จึงยึดถือยึดมั่นถือมั่นจัดเกี่ยวกับตัวกู-ของกูสำหรับจะเป็นทุกข์ด้วยตัวเองก็ตาม สำหรับจะเบียดเบียนผู้อื่นก็ตาม มันรุนแรงจัดไปหมดเลย นี่โลกสมัยปัจจุบันเป็นอย่างนี้ ทีนี้สิ่งที่จะแก้ได้คือศาสนา ทีนี้เขาก็เกลียดศาสนาเพราะว่าพอเหลือบไปดูทางศาสนา เห็นได้เลยว่ามันไม่อำนวยแก่กิเลสของเรา มันไม่ยอม มันไม่ตามใจกิเลสของเรา ฉะนั้นเราก็เกลียดศาสนา คนจึงเกลียดศาสนาเพราะมุ่งหมายแต่จะเอาความสุขทางเนื้อทางหนัง โลกสมัยนี้ปัจจุบันนี้กำลังอยู่ในสภาพอย่างนี้ ถ้าศาสนามันเข้าไปได้ในจิตใจของคนสมัยปัจจุบันนี้ โลกปัจจุบันนี้ก็จะเป็นโลกของพระศรีอาริย์ไปเลย ที่ว่าทางจิตใจสบายที่สุด และวัตถุอุปกรณ์แวดล้อมนี้สะดวกสบายที่สุด
ในสมัยพุทธกาลไม่มีเรือบิน ไม่มีรถยนต์ ไม่มีรถไฟ แต่เขาอาศัยความไม่ยึดมั่นทางจิตใจ เขาก็ได้รับความสุขแต่ไม่ได้รับความสะดวก เดี๋ยวนี้ถ้าเรามีพุทธศาสนาในจิตใจ ในจิตใจสบาย ทางวัตถุสะดวก เขาก็เรียกว่าศาสนาพระศรีอาริย์ได้ แล้วมันยังแถมว่า ศาสนาพระศรีอาริย์ในคัมภีร์นั้นไม่ได้พูดถึงเรือบิน หรือไม่ได้พูดถึงความก้าวหน้าทางวัตถุแบบนี้ แต่เขาก็พูดถึงสิ่งซึ่งให้ผลอย่างนั้นแหละ คือว่านึกอะไรก็ได้ทันทีเลย เรื่องในโลกพระศรีอาริย์มีอะไรเป็นเครื่องอำนวยความต้องการเรียกว่ากัลปดรูมะ ต้นไม้ให้สำเร็จประโยชน์ ต้นไม้ให้สำเร็จความคิดนึก,กัลปพฤกษ์ ไปที่ต้นไม้นั้นอะไรได้ทั้งนั้นเลย และที่แปลกก็เช่นว่า น้ำในแม่น้ำนี้ ข้างหนึ่งมันไหลขึ้น ข้างหนึ่งมันไหลลง คนก็สบายที่ว่ามันไม่ต้องทวนน้ำ นี้ตีความหมายเป็นว่าปัญหาทางจราจรทางคมนาคมไม่มี เหมือนอย่างว่าเรามันทำอะไรได้ จะไปโลกพระจันทร์ก็ได้ไปอะไรก็ได้ ทีนี้จิตใจมันก็ดี ไม่มีการยึดมั่นถือมั่นไม่มีความทุกข์ แล้วก็ไม่เบียดเบียนผู้อื่น มันก็สบายเท่านั้นเอง เดี๋ยวนี้มันยังขาดศาสนาในจิตใจของมนุษย์ มนุษย์ไปหลงกับเรื่องเอร็ดอร่อยทางตาหูจมูกลิ้นกาย แล้วก็เตลิดเปิดเปิงไปโดยไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม ก็เลยทำไปในลักษณะที่ไม่น่าดู และเด็กๆ นี้กำลังจะทำในสิ่งที่ไม่น่าดูมากขึ้น เพราะไม่ถูกสอนในเรื่องเกี่ยวกับศาสนาให้รู้ว่าเกิดมาทำไม
ทีนี้เราได้ความรู้ที่แน่นอนลงไปแล้วว่า ตัวกู-ของกูเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ถ้าเรามีตัวกู-ของกู เรามีความทุกข์ แล้วมันก็มีอยู่บ่อยๆ ด้วย แล้วก็ต้องเกิดมาเพื่อกำจัดตัวกู-ของกูนี้เสียให้เด็ดขาด ฉะนั้นก็เป็นว่าเราเกิดมาเพื่อทำลายกิเลส เพื่อฆ่ากิเลส เพื่อชำระสิ่งซึ่งเป็นอุปสรรคศัตรูคือกิเลสคือความทุกข์ มันก็เกิดมาเพื่ออย่างนั้น เราอย่าไปหลงเป็นเหยื่อของกิเลสให้มากขึ้นไปอีก เราต้องชนะจิตใจให้ได้เสียก่อนแล้วจึงไปมีวัตถุต่างๆ ที่ให้ความสะดวกสบาย แล้วก็อย่าให้มันเลยไปถึงว่าเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสไปเสียอีก เรามีอะไรก็ได้ กินอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ได้ แต่อย่าให้มันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส ฉะนั้นพูดอีกทีหนึ่งก็ว่า เราเกิดมาเพื่อชนะตัวกู-ของกูได้เลย ถ้าพูดอย่างธรรมปาฏิโมกข์นี้ คนเราเกิดมาเพื่อเอาชนะสัญชาตญาณดั้งเดิมแห่งความมีตัวกู-ของกูเสียให้ได้นั่นแหละ ก็หมดปัญหา นั่นแหละคือตัวพุทธศาสนา หรือศาสนาไหนก็อย่างนี้ทั้งนั้น แต่พูดไว้ในความหมายอย่างอื่นฟังผิดได้ เกิดมาเป็นอันเดียวกับพระเจ้าเสียมันก็ไม่มีตัวกู-ของกู ไม่มีโอกาสที่จะเกิดตัวกู-ของกู มันก็ไม่มีความทุกข์เหมือนกัน แต่มันเหมาะสำหรับคนยุคหนึ่งสมัยหนึ่งแห่งหนึ่ง
เดี๋ยวนี้พุทธศาสนามีหลักอย่างนี้ เหมาะสำหรับคนที่มีสติปัญญาอย่างนี้ แล้วมันก็วิเศษที่ว่า การกล่าวอย่างนี้มันยังใช้ได้จนกระทั่งในสมัยวิทยาศาสตร์นี้ ถ้าเรากล่าวไว้ในรูปอื่นเป็นเรื่องของความเชื่อเท่านั้น มันล้าสมัย ต้องอธิบายกันอีกทีหนึ่ง มันลำบาก เรื่องพระเจ้าเรื่องความเชื่อในพระเจ้าต้องอธิบายกันอีกทีหนึ่งมันลำบาก ทีนี้พุทธศาสนาพูดไว้ในรูปวิทยาศาสตร์โดยตรงว่าทุกข์เกิดมาจากสิ่งนี้ ดับสิ่งนี้เสียความทุกข์จะดับไป เห็นได้ชัดรู้สึกได้ด้วยตนทุกคนๆ พุทธศาสนาก็ไม่ต้องกระทบกระเทือนกับความรู้วิทยาศาสตร์สมัยปัจจุบัน ขอแต่ให้ใช้หลักที่ว่า เพราะมีสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆ จึงเกิดขึ้น ที่เรียกว่าอิทัปปัจจยตากันให้ถูกต้อง หัวใจของพุทธศาสนาคือกฎอันหนึ่งที่เรียกว่าอิทัปปัจจยตา มันมีว่า เมื่อมีสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆ จะเกิดขึ้น เมื่อไม่มีสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้น หรือว่าสิ่งนี้จะดับลงก็สุดแท้ นั่นแหละคือกฎของพุทธศาสนาเรื่องตัวกูเรื่องของกูและเรื่องความทุกข์ที่เป็นผลของตัวกู-ของกู
อย่างจะยกตัวอย่างมาว่า เพราะตามีอยู่ แล้วก็เพราะวัตถุอารมณ์ของตา เช่นรูปที่เห็นนั้นมันมีอยู่ แล้วตามันก็เห็นรูปนั้น เพราะมันมีอยู่มันจึงเห็น นี้มันจึงเป็นปัจจัยแก่การเห็น พอเห็น ตามันก็รู้สึก เกิดการเห็นทางตาขึ้นนี่ การเห็นทางตานี้มันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อมีการกระทบกับวัตถุ เพราะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น อย่างนี้ก็เรียกว่าสัมผัสได้เกิดขึ้นแล้ว ถ้ามีการสัมผัสอย่างนี้จะต้องเกิดเวทนา คือในใจมันจะต้องรู้สึกว่าสวยหรือไม่สวย หอมหรือเหม็น น่ารักหรือไม่น่ารัก นี่เวทนาเกิดขึ้น เวทนานี้ก็เป็นปัจจัยให้เกิดความอยาก ถ้าสวยมันก็อยากได้ ถ้าไม่สวยน่าเกลียดมันก็อยากจะพ้นไปเสียอยากจะทำลายเสีย อย่างนี้มันเกิดอุปาทาน เกิดตัณหาความอยากแล้วเกิดอุปาทานคือยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวกู-ของกูแล้วก็เกิดทุกข์เพราะความโลภความโกรธความหลงเป็นต้น
ทีนี้มันจะไม่โลภหรือโกรธหรือหลงอยู่แต่ในใจ ความโลภมันเป็นปัจจัยอีกทีหนึ่งให้มีการกระทำ เช่นไปฆ่าเขาไปอะไรเขา หรือบางทีฆ่าตัวเองก็ได้ นี้มันจะมีแต่ว่าเพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัยสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น และสิ่งนี้จะกลายเป็นปัจจัยให้สิ่งโน้นเกิดขึ้น แล้วสิ่งโน้นก็กลายเป็นปัจจัยให้สิ่งอื่นเกิดขึ้น นี้เขาเรียกว่ากฎอิทัปปัจจยตา หัวใจของพุทธศาสนา ใช้ได้แก่ทุกสิ่ง แต่ว่าทุกสิ่งไม่ใช่เรื่องของเราไม่ใช่ปัญหาของเรา ปัญหาของเรามีแต่ความทุกข์เรื่องความทุกข์เท่านั้น เพราะฉะนั้นเราจึงศึกษาอิทัปปัจจยตากันแต่เรื่องที่เกี่ยวกับความทุกข์เท่านั้นพอ นอกนั้นเรียกว่าแถมพก ผมพูดเรื่องอิทัปปัจจยตาเป็นวรรคเป็นเวรตั้งสิบกว่าครั้ง พูดหมด พูดทุกเรื่อง แต่ที่แท้มุ่งหมายสำคัญเพียงให้รู้เรื่องที่เกี่ยวกับความทุกข์เท่านั้น ความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นมันก็เป็นต้องเกิดมาจากอุปาทานว่าตัวกู-ของกู อุปาทานว่าตัวกู-ของกูจะต้องเกิดมาจากความอยากอย่างใดอย่างหนึ่งที่จิตมันอยาก ความอยากนั้นต้องเกิดมาจากเวทนา เวทนาต้องเกิดมาจากผัสสะ ผัสสะต้องเกิดมาจากอายตนะที่มีการกระทบทางวิญญาณอย่างนี้ เพราะว่ามันมีรูปธาตุ มีนามธาตุ ธรรมชาตินั้นมันมีรูปธาตุมีนามธาตุ แล้วมีนามธาตุที่เรียกว่าอวิชชา มันคล้ายกับเป็นปฏิกิริยาจากนามธาตุตามปกติออกมา แต่บางทีก็ใช้คำว่ามันมีอยู่ อวิชชานี้มันมีอยู่ในโลก ที่จริงอวิชชามันก็เป็นของที่เพิ่งเกิดออกมาเมื่อมันมีการกระทบทางอายตนะ แต่เราก็พูดได้อีกทางว่าถ้ามันไม่มีอวิชชาล่ะ ถ้าว่าในจิตใจของมนุษย์ไม่อาจจะเกิดสิ่งที่เรียกว่าอวิชชา เพราะว่าอวิชชามันไม่มีในโลกนี้ ถ้าอย่างนี้แล้วมันไม่มีปัญหา โลกนี้ไม่มีทางที่จะทำให้เกิดความทุกข์ในจิตใจของคนได้
ทีนี้มันมีธรรมชาติอันหนึ่งซึ่งเรียกว่าอวิชชา อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ แต่พอมีการทำผิดอย่างนี้มันจะเกิดทันที แล้วคนก็จะต้องเป็นทุกข์ มันเช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์ทางวัตถุสมัยปัจจุบันนี้ เขาก็ยังไม่รู้กันนักว่าอะไรมันคืออะไรโดยแท้จริง เช่นว่า ตัวไฟฟ้าคืออะไรโดยแท้จริงก็ไม่ค่อยรู้ไม่ได้รู้หรือไม่อาจจะรู้ แต่ว่าถ้าทำอย่างนี้แล้วไฟฟ้ามันออกมาทุกที เอามาใช้ประโยชน์ได้ นี้ก็อย่างเดียวกันแหละ ตัวอวิชชานั้นเราก็ไม่รู้ประจักษ์ว่ามันคืออะไรอย่างไรนัก แต่เดี๋ยวนี้เรารู้ว่าถ้าเราเผลออย่างนี้แล้วมันออกมาทุกที พอมันออกมาแล้วก็ต้องมีความทุกข์ทุกที ฉะนั้นเราไม่ไปมัวถามปัญหาว่ามันคืออะไรตัวมันเอง แต่เรารู้ว่าถ้ามันมาแล้วก็มีความทุกข์ทุกที ทีนี้เราก็ระวัง ตัดต้นทางอย่าให้มันเกิดขึ้นได้ อย่าให้มันมาปรากฏได้ เมื่อเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่นอะไรก็ตามอย่าให้อวิชชามีโอกาสเกิดขึ้นมาได้ ด้วยการปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักธรรมะนี้ นี่ก็เรียกว่าอวิชชาไม่มาผสมโรงในพฤติกรรมทั้งหมดของจิตนี้ ก็ไม่เกิดตัวกู-ของกู แล้วก็ไม่มีความทุกข์ นี้มันชินแต่จะเกิดตัวกู-ของกูเพราะทำผิดมาตั้งแต่แรกเกิด แต่อ้อนแต่ออกนั้นมันทำผิดเรื่องนี้เรื่อยมาจนเป็นเหมือนกับว่ามันมีอยู่พร้อมในที่ทุกหนทุกแห่ง อวิชชามันเป็นกิเลสประเภทอนุสัยหรือสังโยชน์ไม่ใช่ความคิดปัจจุบัน มันเป็นความชินที่สะสมไว้
ถ้าพูดถึงจิต เราก็รู้หลักไว้หน่อยหนึ่งว่า จิตประเภทหนึ่งมันทำหน้าที่รู้สึกทางตา ทางหู ทางจมูกเท่านี้แหละ มันจะรู้สึก แล้วมันมีส่วนที่จำได้อะไรรวมอยู่ในนั้นเสร็จ มันรู้สึกว่าอะไรเป็นอะไร นี่จิตนี้ จะเรียกว่าวิญญาณหรือจิตแล้วแต่จะเรียก คำมันแทนกันได้ มันสับสนหมด แต่ว่าธรรมชาติอันนี้เรียกว่าจิต มันทำหน้าที่รู้สึกก่อนว่าอะไรเป็นอะไร พอหมดเรื่องที่ของความรู้สึกแล้วทีนี้มันจะทำหน้าที่คิดนึก พอมันทำหน้าที่คิดนึกนี้ มันปรุงความคิดนึกนี้ไปจนกระทั่งเกิดความทุกข์ ทีนี้ความทุกข์มันก็เป็นผลของความคิดนึกที่ผิด ฉะนั้นเราก็เลยเรียกว่าผลและเป็นฝ่ายวิบาก เมื่อคิดนึกมันเป็นกรรม ก็เรียกว่ากรรม พอคิดนึกมันสิ้นสุดไปจนถึงมีความทุกข์แล้ว นั้นเป็นวิบากแล้ว
ทีนี้พวกอวิชชานี้เป็นความคิดนึกที่ผิดแล้วผิดอีก ผิดแล้วผิดอีกจนเป็นนิสัย เรียกว่าอุปนิสัยที่จะต้องเป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นฝ่ายชั่วฝ่ายที่จะให้เกิดทุกข์เขาเรียกว่าสังโยชน์บ้าง เรียกว่าอนุสัยบ้าง อย่างนี้ล้วนแต่จะให้มันเป็นทุกข์ ความเคยชินเช่นนี้จะให้ความทุกข์ ถ้ามันเป็นความเคยชินไปในทางตรงกันข้ามคือดีหรือถูกที่จะไม่ให้เกิดความทุกข์นี้ เราก็เรียกว่าโพธิบ้าง ปัญญาบ้าง อะไรไปทางโน้นตรงกันข้าม ญาณมันตรงกันข้ามกับอวิชชา ที่แท้มันก็เป็นอนุสัยด้วยกัน คือสิ่งที่สะสมไว้ในสันดานด้วยกัน ถ้าเป็นฝ่ายทุกข์เรียกว่าอนุสัยหรือสังโยชน์ เพราะมันจะผูกพัน มันจะทำให้จิตอยู่กับความทุกข์ ถ้ามันตรงกันข้ามมันก็จะปลดปล่อยคือเป็นเรื่องของวิมุตติ ของปัญญา ของญาณทัสสนะไป ที่แท้เป็นความเคยชินด้วยกันทั้งนั้นแหละ เพราะมันไม่มีกำลังอะไรหรอกถ้ามันไม่เป็นความเคยชิน เดี๋ยวนี้มันไปมีความเคยชินมาก มันจึงมีกำลังมากจนเราสู้ไม่ไหว ที่ว่าเมื่อเราเห็นของน่ารักแล้วเราจะไม่รักนี้เราทำไม่ได้ เราสู้ไม่ไหว เพราะความเคยชินในการที่จะรักของที่น่ารักนั้นมันมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก เดี๋ยวนี้เราจึงไม่สามารถจะสู้กับกิเลสนี้ได้ จึงต้องสร้างอะไรขึ้นมาใหม่ให้มันทันกันก็คือความรู้ นี้คือตัวศาสนาตัวธรรมะมันอยู่ที่นี่
ถ้าสมมุติว่ามันมีมนุษย์ชาติไหนภาษาไหนสอนเด็กตั้งแต่อ้อนแต่ออกมาให้รู้เรื่องนี้ คือที่จะไม่รักหลงเกลียดหลงโกรธ แล้วก็ไม่เคยชินที่จะรักจะเกลียดจะโกรธแล้วก็จะวิเศษมาก จะเป็นมนุษย์ที่ประหลาดมาก แล้วจะไม่มีความทุกข์ไม่รู้จักความทุกข์ เดี๋ยวนี้เราทำไม่ได้ จะด้วยเหตุใดก็ไปคิดเอาเองเถิด ฉะนั้นเด็กๆ พอเกิดมามันก็รักสิ่งที่น่ารักและเกลียดสิ่งที่น่าเกลียด โกรธสิ่งที่น่าโกรธ กลัวสิ่งที่น่ากลัว มันก็ทับถมกันเข้าเป็นนิสัยสันดาน นี้คือสังโยชน์ นี้คืออนุสัยที่ละยากที่สุด จึงต้องตัดด้วยญาณซึ่งเป็นเหมือนกับเครื่องตัดขนาดเพชรขนาดอะไรไป ญาณก็เปรียบเหมือนกับเพชรคือคมมากที่เราจะตัดสิ่งที่เรื้อรังนี้ ก็อุตส่าห์ปฏิบัติไปให้มันเกิดญาณชนิดนี้ มันจะตัดความเคยชินของนิสัยสันดานที่มาให้รักก็รัก มาให้โกรธก็โกรธ มาให้กลัวก็กลัว มาให้เกลียดก็เกลียดอะไรนี้ นั่นแหละคือพวกตัวกู-ของกูทั้งนั้นฝ่ายนั้น เท่าที่เราศึกษามาในพระคัมภีร์หรือว่าในประวัติศาสตร์หรือในอะไรก็ไม่เคยพบว่ามันมีวัฒนธรรมของชนชาติไหนที่ควบคุมเด็กไม่ให้เป็นอย่างนี้ รู้จักเรื่องที่ว่า นี้น่ารักก็ไม่รัก น่าเกลียดก็ไม่เกลียด มันคงจะทำไม่ได้ มันจึงไม่เคยมีในประวัติศาสตร์หรือในตัวเรื่องราวของศาสนา แล้วเราต้องปล่อยมันเป็นหนุ่มเป็นสาวเป็นอะไรมีการเคยชินเรื้อรังเกี่ยวกับความรักความโกรธความเกลียด สรุปแล้วคือยินดียินร้าย รักที่น่ารัก แล้วโกรธหรือเกลียดที่น่าเกลียด ถ้าเหลือจากนั้นก็คือสงสัย กิเลสจึงมีเพียงเท่านี้ โลภะคือรัก โทสะคือเกลียด โมหะคือสงสัยคือไม่รู้ กิเลสทั้งหมดก็สรุปได้เป็นเพียงโลภะ โทสะ โมหะ ถ้าจะเอามาหาเพราะความรัก นี้ก็เรียกว่าประเภทโลภะราคะ ถ้าจะตีออกไปผลักกระเด็นออก นี้ก็เรียกว่าโทสะหรือโกธะ อีกอันหนึ่งก็สงสัยไม่รู้จะเอาอย่างไรแน่ก็คือโมหะ เราจึงมีได้ก็แต่เพียงโลภะ โทสะ โมหะ สามอย่าง ทุกอย่างเป็นเรื่องให้เกิดทุกข์ทั้งนั้น และในทุกอย่างนั้นจะต้องผ่านตัวกู-ของกูมาทั้งนั้น เกิดผัสสะ เกิดเวทนา เกิดตัณหาอุปาทานตัวกู-ของกู จึงจะมีรูปเป็นโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง แล้วก็ทำไปตามนั้น มันก็เกิดเรื่อง ตัวเองเป็นทุกข์บ้าง ผู้อื่นพลอยเป็นทุกข์บ้าง
นี่เรื่องเกี่ยวกับตัวกู-ของกูโดยใจความมันมีอย่างนี้ แล้วก็เคยๆ พูดอย่างนี้ เคยพูดกันมาแล้วโดยละเอียดเรื่อยๆ มาตั้งสองสามปี,สี่ห้าปีแล้วกระมัง แต่พอขึ้นปีใหม่คนมาใหม่นี้ก็เกิดต้องพูดก. ขอ ก. กากันอีกทีหนึ่ง ให้รู้ว่าสิ่งที่เรียกว่าตัวกู-ของกูนี้คืออย่างไร แล้วก็จะค่อยๆ พูดต่อไปเรื่อยๆ พูดจนตายก็คงไม่จบ เรื่องตัวกู-ของกูเรื่องเดียวนี้ เพราะมันเป็นทั้งหมดของทุกเรื่อง แล้วแต่ว่าเราจะพูดแง่ไหนมุมไหนให้ละเอียดเท่านั้น แล้วมันก็เกี่ยวกับอันนี้ทั้งนั้น เค้าความทุกข์และความดับทุกข์นี้มี ๒ เรื่อง มีตัวกู-ของกูคือความทุกข์ ไม่มีตัวกู-ของกูคือความไม่ทุกข์ เวลานี้เราไม่มีใครทุกข์ นั่งอยู่ที่นี่เพราะมันไม่มี concept ประเภทตัวกู-ของกูในจิต ถ้าเมื่อไหร่มันมี มันก็เป็นทุกข์ทันที แล้วก็ศึกษาให้เข้าใจว่าจะป้องกันมันอย่างไร อย่าให้มันเกิดได้ มันก็เท่านั้นเอง พอมันเกิดไม่ได้แน่นอนก็เป็นพระอรหันต์เท่านั้น มันยังเกิดได้บ้างมันก็ยังเป็นพระอริยเจ้าน้อยๆ เล็กๆ ไป ถ้ามันเกิดง่ายเกิดเต็มที่ตามที่มันจะเกิดแล้วก็เป็นปุถุชนไป เลื่อนจากปุถุชนก็เป็นอริยเจ้าประเภทหนึ่งต้นๆ เลื่อนจากนั้นก็เป็นพระอรหันต์เท่านั้น
นี้การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือรู้เรื่องความทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์ ก็คือเรื่องตัวกูกับความให้เกิดตัวกูนี้ และความดับแห่งตัวกู ดับได้โดยวิธีใด ทั้งหมดนี้พระพุทธเจ้ารู้คือตรัสรู้อย่างแจ่มแจ้งแล้วสอน นี้คือพุทธศาสนา มีอยู่เป็นวิชาสำหรับเป็นที่พึ่งของมนุษย์ สอนสืบๆ กันมาเพราะว่ามีคนพอใจ จนมาถึงพวกเรา นี่เราก็บวชใช่ไหม แต่อาจจะงมงายก็ได้ ไม่รู้ว่าบวชทำไม ถ้าไม่งมงายก็รู้ว่าบวชเพื่อจะเข้าถึงวิชานี้ แล้วมาใช้ให้เป็นประโยชน์ให้ได้ อย่าให้มีความทุกข์เลย ก็จะเรียกว่าได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ รู้ว่าเกิดมาทำไม ไม่ทำอะไรที่ควรจะเรียกว่าบ้าๆ บอๆ อย่างที่คนสมัยนี้เขาชอบทำกัน คือการตามใจอวิชชาตามใจกิเลสแล้วก็มีความทุกข์มหาศาล ทั่วทั้งโลกยังไม่พอ ถ้าว่ามันเป็นโชคดี ความรู้นี้มันแพร่หลายไปในหมู่มนุษย์ในโลกนี้ ความทุกข์มันก็จะหดเข้าน้อยลงเป็นไม่ทุกข์ได้เหมือนกัน เดี๋ยวนี้มันยังไม่มองเห็นทาง ได้แต่ความหวังว่าช่วยกันเผยแผ่พุทธศาสนาให้คนที่เขามีสติปัญญามองเห็นเข้าใจรับเอาไปเพื่อปฏิบัติ เอาล่ะ,ก็พอกันที นี่เป็นเรื่องก. ขอ ก. กา เรื่องตัวกู-ของกู