แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายธรรมปาฏิโมกข์ของเราที่นี่ ก็คงเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกูอยู่ตามเคย และเป็นการบรรยาย ติดต่อกันไป ไม่อาจจะย้อนหลังหรือไม่อาจจะกลับไปตั้งต้นใหม่แม้ว่าจะมีคนมาใหม่ การบรรยายดำเนินมาหลายปีแล้ว พูดเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกู แล้วก็พูดไกลออกไปเรื่อย เรื่อย เรื่อย ไม่มีการย้อนไปตั้งต้นใหม่ มันแต่เพียงเปลี่ยนแง่หรือเปลี่ยนมุมของสิ่งที่จะต้องนำมาบรรยาย ฉะนั้นผู้ที่มาใหม่อาจจะฟังไม่รู้เรื่องในบางเรื่องหรือบางอย่างก็ได้ ถ้ามันมีอย่างนั้นก็ต้องเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ มันก็ต้องพูดต่อไป เพราะว่าการพูดที่นี่ในลักษณะอย่างนี้เป็นการพูดพิเศษ ไม่ใช่เป็นการอบรมตามธรรมดาที่จะต้องมีการพูดให้ตรงให้เหมาะกับพวกที่มาใหม่หรือว่าขึ้นต้นใหม่เป็นประจำปี นี่ไม่อาจจะทำอย่างนี้ ฉะนั้นจึงบอกให้ทราบ
สำหรับในวันนี้ก็จะพูดโดยหัวข้อเดียวกับครั้งที่แล้วมา แต่เรื่องนั้นมันต่อออกไปจากส่วนที่ได้พูดไว้แล้ว แต่มันไม่จบ หัวข้อที่แล้วมาก็คือว่าเราจะทำอย่างเดียวกับผู้ที่ยึดถือแต่จิตไม่มีความยึดถือ ถึงอย่างไรก็ควรจะย้อนไปนึกถึงคำบรรยายตอนที่ต่อไปข้างหน้าจากนี้ที่แล้วมาจากครั้งสุดท้ายนี้อีกว่า เราจะต้องพูดอย่างกับบุคคลผู้มีความยึดถือแต่จิตใจไม่ยึดถือ มันเนื่องกันมาอย่างนี้ ทีนี้จะต้องทำหรือจะต้องแสดงอาการและต้องเป็นอยู่อย่างเดียวกับบุคคลผู้มีความยึดถือ แต่เราเปลี่ยนจิตใจเป็นไม่ให้มีการยึดถือ
ในครั้งที่แล้วมาก็ได้ยกตัวอย่างให้ฟังว่า เรามันเกิดขึ้นมาในโลกนี้ เติบโตขึ้นมาในโลกนี้ ด้วยจิตใจที่ได้รับการอบรมแวดล้อมให้มีการยึดถือมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกและก็มากขึ้นๆ ทั้งโดยส่วนจิตคือส่วนความคิดและทั้งส่วนใจคือความรู้สึก จิตจะคิดนึกอะไรก็จะต้องคิดอย่างบุคคลผู้มีความยึดถือ เพราะเรามันหัดถูกแวดล้อมให้ยึดถือมาตั้งแต่เกิด ฉะนั้นจิตมันก็จะต้องคิดอะไรอย่างผู้ยึดถือ ทีนี้ใจมันก็จะต้องรู้สึกต่อสิ่งที่เข้ามากระทบกระทั่งหรือรับอารมณ์ต่างๆ ด้วยความรู้สึกที่ยึดถือ เพราะเราเคยชินมาอย่างนั้น ทีนี้ทางร่างกายเราก็มีความเคยชินที่จะต้องทำไปด้วยความยึดถือ หรือเหมือนกับมีความยึดถือ ฉะนั้นจะต้องต่อสู้ จะต้องป้องกันตัว จะต้องทำอะไรทุกอย่างแม้ที่สุดแต่ว่าจะต้องอาบน้ำต้องรับประทาน มันก็เหมือนกับว่ามีความยึดถืออยู่แล้ว แล้วมันก็ได้ทำด้วยความยึดถือจริงๆ ด้วยในตอนต้นๆ ที่แล้วมา เรียกว่าทั้งเนื้อทั้งตัวเป็นการกระทำอย่างมีความยึดถือ แล้วก็พอใจในผลของการกระทำก็ด้วยความยึดถือ นี่ขอให้คิดดูข้อนี้ให้มาก แล้วก็ได้พูดมาแล้วในครั้งที่แล้วมาด้วย ถ้าประมาทอวดดีจนไม่มองเห็นข้อเท็จจริงอันนี้ของตัวเองหรือลักษณะที่เป็นอย่างนี้ของตัวเองแล้ว ผมเชื่อว่าคนนั้นไม่มีทางที่จะเข้าใจธรรมะเรื่องนี้ได้ หรือว่าไม่อาจจะเข้าใจหลักพระพุทธศาสนาในชั้นที่เป็นหัวใจได้ นี่ขอให้ไปลองคิดดู มันมีความยึดถือแล้วก็ไม่รู้สึกว่ายึดถือว่าทำอะไรด้วยความมีมานะทิฏฐิ ยึดถือในความคิดเห็นของตัวเสียเรื่อย แล้วมันก็ไปเข้ากันกับเรื่องที่เขาว่าคนเราควรจะมีความคิดเห็นของตัวเองนี้เป็นอิสระ เดี๋ยวนี้เขาก็พูดกันอย่างนี้และถือเป็นหลักของมนุษย์พวกประชาธิปไตยด้วย เด็กๆ ก็ถูกอบรมให้เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เล็ก กระทั่งโตก็ไปเรียนในมหาวิทยาลัยหรืออะไรที่ยิ่งไปกว่ามหาวิทยาลัยมันก็ยังมีความคิดอย่างนั้น คือเมาในความคิดเห็นของตัวเอง ความอิสระในการคิดเห็นของตัวเอง อะไรก็เป็นของตัวเอง แล้วเขาก็คิดว่าความเป็นอิสระนั้นไม่ใช่ความยึดถือ ที่จริงความยึดถือนั้นมันอยู่ในรูปหนึ่งของมันเอง มันจะแสดงออกมาในลักษณะที่ว่าเป็นอิสระ หรือไม่เป็นอิสระมันก็ยึดถือทั้งนั้นแหละ เราจะดื้อเอาให้ได้ นี้มันก็เป็นเรื่องยึดถือ หรือว่าเราจะปล่อยไปตามที่เขาว่าไม่ดื้ออย่างนี้ มันก็เป็นเรื่องยึดถืออีกแบบหนึ่ง
ฉะนั้นเรื่องที่จะไม่ยึดถือจริงๆ นั้น มันต้องคอยดูกันต่อไปในลักษณะที่มันละเอียดกว่านั้น นี่ขอให้รู้จักตัวเองกันอย่างนี้ มันจะเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อจะเข้าใจหลักธรรมะที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา ซึ่งเป็นภาษาธรรมะที่พูดยากที่สุด พูดอย่างที่เรียกว่าคนชาวบ้านนี้ฟังยาก เพราะที่จริงมันจะต้องพูดว่ายึดถือก็ไม่ได้ ไม่ยึดถือก็ไม่ได้ แต่ว่าจะต้องทำไปให้ถูกต้องตามเรื่องของมัน เลิกคำว่ายึดถือ เลิกคำว่าไม่ยึดถือเสีย และมันมีความถูกต้องอย่างไรก็ต้องทำไปอย่างนั้น เพราะว่าการที่ถือสุดเหวี่ยงว่ายึดถือกับไม่ยึดถือนี้มันเป็นเรื่องยึดถือด้วยกันทั้งนั้น เป็นมิจฉาทิฏฐิได้ด้วยกันทั้งนั้น
เรื่องนี้มันอยู่ในชั้นที่ละเอียดกว่าธรรมดา คือชั้นที่จะพูดว่ามีตัวตนก็ผิด พูดว่าไม่มีตัวตนมันก็ผิด มันถูกอยู่ที่พูดว่ามันแล้วแต่ความเป็นไปของเหตุและปัจจัย มันมีสิ่งนั้น จะเรียกว่าตัวตนก็ได้ จะเรียกว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนก็ได้ เพราะว่าเมื่อพูดว่าไม่ใช่ตัวตน คนก็มักจะถือว่ามันตรงกันข้ามกับตัวตนคือไม่มีตัวตนเสียเลยนี่ ถ้าว่าไม่มีตัวตนเสียเลยมันก็เป็นมิจฉาทิฏฐิประเภทอุจเฉททิฏฐิ ถ้ามีตัวตนมันก็เป็นสัสสตทิฏฐิ ฉะนั้นเราจะไม่พูดว่ามีตัวตนหรือว่าไม่มีตัวตน เราจะพูดว่ามันมีแต่การเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน นั่นแหละคือคำพูดที่ถูกต้อง
พอมาถึงตอนนี้ก็เหมือนกันอีก ถ้าว่ายึดถือ มันก็หนักและเป็นทุกข์ ถ้าพูดว่าไม่ยึดถือ นี่มันกำกวม ถ้ามันเป็นการไม่ยึดถืออย่างไม่มีอะไรเสียเลย อย่างนี้มันก็เป็นคนบ้าไปเลยได้ เป็นคนไม่มีความหมายอะไรเลยได้ แต่ถ้าว่าไม่ยึดถือเพียงสักว่าไม่ยึดถือว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา อย่างนี้มันก็ได้ เพื่อไม่ให้เกิดความทุกข์ ทีนี้เรามันมีความเคยชินแต่ยึดถือว่าเป็นตัวเราว่าเป็นของเรา หรือว่าเป็นตัวกูว่าเป็นของกู พอไม่ให้ยึดถือ มันก็จะไปคิดเสียว่าไม่มีตัวกูไม่มีของกู จนไม่มีอะไรที่จะต้องทำเกี่ยวกับตัวกูของกู มันก็เลยงงไปหมดว่าไม่รู้ว่าจะต้องทำหรือจะไม่ต้องทำหรือจะทำเพื่อใครทำเพื่ออะไร นี่มันมีความยากลำบากอย่างนี้ในการที่เราจะปฏิบัติไม่ให้มีความทุกข์เกี่ยวกับความยึดถือความยึดมั่นถือมั่น
ฉะนั้นมันต้องอยู่ที่จิตใจที่จะไม่ยึดถือตัวกูของกู แล้วก็พูดหรือว่ากระทำไปตามสติปัญญาที่มีมากพอในเรื่องนี้ ถ้าอย่างนี้แล้วมันก็ได้ คือว่ามันจะคัดค้านในเมื่อมันมีเหตุผลที่จะคัดค้าน หรือว่ามันจะสงสัยในเมื่อมันมีเหตุผลที่จะสงสัย แล้วมันก็มีเหตุผล แล้วมันก็จะยอมหรือว่าอะไรก็ตามในเมื่อมันมีเหตุผลที่จะยอม หรือบางทีมากกว่านั้นมันก็จะไม่พูดอะไรให้กระทบกระทั่งอะไรเลยในทางฝ่ายไหนก็ตาม คือปฏิเสธหรือรับก็ตาม คอยแต่จ้องที่จะประพฤติกระทำให้ถูกต้องตามที่ควรจะทำ นี้คือถูกที่สุดหรือดีที่สุด แล้วก็จะไม่มีทางที่จะต้องทะเลาะวิวาททุ่มเถียงกันด้วย มันก็ไม่มีทางที่จะหม่นหมองในจิตใจของตนตลอดไปด้วย ทีนี้ส่วนภายนอกนั้นมันยอมได้หรือทำได้หรือเข้ารูปเข้ารอยกับใครได้โดยที่ไม่ต้องยุ่งยากลำบากในการที่จะอยู่ร่วมโลกกันกับบุคคลทั้งหลาย ซึ่งส่วนมากหรือแทบทั้งหมดนั้นล้วนแต่มีความยึดถือ
ทีนี้สำหรับในวันนี้ก็จะได้พูดด้วยหัวข้อที่ต่อเนื่องกันไป คือว่าเราเกิดมาเติบโตขึ้นมาด้วยลัทธิธรรมเนียม ประเพณีหรือความนิยมที่เป็นไปแต่ในทางแห่งความยึดถือ พูดเพียงเท่านี้ก็พอจะเข้าใจกันได้อยู่มากแล้ว และบางคนก็จะเข้าใจได้แล้วด้วยว่าเราเกิดมาเป็นคนไทยหรือเป็นคนประเภทไหนก็ตาม มันก็ล้วนแต่เป็นสังคมที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่แล้วทั้งนั้น ขนบธรรมเนียมประเพณีนี้มีมาก มากเหลือจะมาก แล้วก็ยังเป็นชั้น คือว่าต่ำที่สุดหรือว่ากลางๆ หรือว่าสูงที่สุด ทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นไสยศาสตร์ไม่มีเหตุผล นี้ก็ต้องเรียกว่าขนบธรรมเนียมประเพณี เรายังจะต้องทำต่อไป ซึ่งมันขาดไม่ได้ เพราะว่าขนบธรรมเนียมประเพณีนั้นมันยกเลิกไม่ได้ เพราะว่ามันยังมีคนโง่มากมายอยู่ในโลก ขนบธรรมเนียมประเพณีที่เหมาะสำหรับคนโง่มันยังต้องมีอยู่ในโลก ยกเลิกไม่ได้ ที่เราจะอยู่ในโลกกับเขาโดยที่ไม่ต้องร่วมขนบธรรมเนียมประเพณีนั้นมันก็ไม่ได้ หรือบางอย่างมันไม่ได้เอาเสียเลย นั่นแหละเราจะต้องมีปัญหาเกิดขึ้นเป็นสองอย่างแล้ว คือว่าเราจะต้องร่วมหรือไม่ต้องร่วมในขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งบุคคลผู้มีความยึดถือ แล้วถ้าต้องร่วม จะต้องทำอย่างไร ถ้าไม่ต้องร่วมนั้นมันหมดปัญหา มันไม่มีปัญหา แต่ว่าต้องร่วมนั้นจะต้องทำอย่างไร แล้วมันก็เป็นประเพณีที่เราเคยทำมาทุกปี ทุกปี ทุกปีตั้งแต่เด็ก และพอโตขึ้นมา,โตขึ้นมา บางอย่างก็ยังเว้นไม่ได้ ยิ่งชาวบ้านนอกคอกนานี้มันก็มีอยู่ด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีทั้งนั้น และบางอย่างมันก็จำเป็นจริงๆ ด้วยที่จะต้องมีไว้เพื่อศีลธรรมที่ดี แต่มันก็ไม่ใช่ว่าจะจำเป็นแก่คนทุกคน เพราะบางคนมันมีศีลธรรมดีแล้ว ขนบธรรมเนียมประเพณีนั้นมันก็ไม่จำเป็น
ทีนี้มันก็ยังมีพวกคนโง่ ซึ่งยังไม่อาจจะรู้อะไรได้ นี้มันเป็นเครื่องคุ้มครอง ขนบธรรมเนียมประเพณีมันเป็นเรื่องคุ้มครอง แม้แต่เรื่องไสยศาสตร์ขนบธรรมเนียมที่เนื่องอยู่ด้วยไสยศาสตร์นั้นมันก็เป็นเรื่องคุ้มครอง เพราะแม้ว่าจะเป็นไสยศาสตร์มันก็มีรกรากมาจากความหวังดีเพื่อความปลอดภัยของชีวิตคนทั้งนั้นแหละ แต่ในสมัยที่มันยังต่ำอยู่ยังโง่อยู่ มันก็จะต้องพูดไปในรูปหนึ่ง อย่างนี้เดี๋ยวนี้เราก็มักจะเรียกว่าเป็นไสยศาสตร์ บางคนก็ดูถูกไสยศาสตร์ ที่แท้ไสยศาสตร์นี้ผมสังเกตดูแล้วเห็นว่าอาจจะแปลความหมายให้เป็นวิทยาศาสตร์ได้ทั้งนั้นเลย เพียงแต่บางอย่างมันลึกเกินไปกว่าที่จะเข้าใจได้ ขนบธรรมเนียมประเพณีในอินเดียมันมีมากกว่าในประเทศไทยเรา ต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนั้น แล้วก็ติดมาถึงประเทศไทยเราก็ยังทำกันอยู่ จะยกตัวอย่างที่มันง่ายหรือมันโง่หรือมันต่ำอะไรก็ตามใจ เช่นว่า ทุกๆ บ้านจะต้องปลูกต้นกระเพราหรือไม้ตระกูลนั้น มันเป็นธรรมเนียมประเพณีโดยที่ไม่ต้องอธิบาย แต่ทีนี้เขามีเหตุผลไปในทางขลังในทางศักดิ์สิทธิ์ว่ามันเป็นไม้ของพระเจ้า เป็นไม้ที่ใช้บูชาพระเจ้า ถ้าเราไม่มีใบกระเพรา เราจะเอาอะไรบูชาพระเจ้านี่ แต่แล้วพร้อมกันนั้นมันก็มีการใช้ใบกระเพรานั้นแหละเป็นยาเป็นหยูกเป็นยา เช่นเขาเอาขยี้กันกับปูนแล้วก็ทาลงไปที่กระหม่อมของเด็ก นี้มันกันหวัดได้ สมัยโน้นมันไม่มียาอะไรที่มันดีพิเศษเหมือนสมัยนี้ ฉะนั้นคนสมัยโน้นเขารู้จักเพียงว่าใบกระเพรากับปูนทากันแล้วทาที่กระหม่อมเด็กแล้วมันก็กันหวัดได้ หรือกันอะไรอีกได้มาก ป้องกันโทษร้ายขนาดถึงตายทีเดียว ฉะนั้นถ้าจะบอกว่าจงปลูกใบกระเพราไว้เพื่อประโยชน์อย่างนี้ มันก็ไม่ค่อยมีใครจะปลูก แต่ต้องพูดว่าถ้าไม่ปลูกไว้พระเจ้าจะแช่ง เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่จะต้องใช้บูชาพระเจ้า อย่างนี้มันก็มีคนปลูกกันเต็มไปหมด ถ้าเป็นอย่างบ้านเรามันก็ยังดีที่ว่ามันเอามากินเป็นอาหารก็ได้ จิ้มน้ำพริกก็ได้ แกงก็ได้ นี้เรียกว่ามันเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของบุคคลผู้มีความยึดถือ ซึ่งเขาจะให้ทำแต่ความยึดถือ แต่ถ้าเราไม่มีความยึดถือแล้วฉลาดดีแล้ว เราก็ยังต้องปลูกใบกระเพรา ฉะนั้นเราจะปลูกต้นกระเพราด้วยความยึดถือก็ได้ ด้วยความเฉลียวฉลาดก็ได้ นี่มันเป็นตัวอย่างที่แสดงว่าเราจะทำเหมือนกับผู้ที่มีความยึดถือได้ โดยที่เราไม่ต้องมีความยึดถือ
ผมรู้เรื่องใบกระเพราตั้งแต่ก่อนไปอินเดีย พอไปอินเดียก็เห็นจริงอย่างนั้น บ้านที่มันเคร่งครัดนั้นมันจะมีต้นกระเพราปลูกไว้มากเป็นกระถางๆ ถ้าไม่มีที่ดินจะปลูกกลางบ้าน มันก็ต้องปลูกใส่กระถาง บางทีก็ปลูกไว้ชั้นบนยอดตึก มันจะต้องเด็ดมากิ่งหนึ่งสำหรับมาใส่ลงไปในในพานเครื่องบูชาสวดมนต์ประจำวัน คิดดูสิ แน่นแฟ้นอย่างนี้กระทั่งเดี๋ยวก็ยังมีคนทำอยู่ อย่างน้อยมันต้องมีใบกระเพรามาใช้ประโยชน์ในทางยาเมื่อเป็นหวัดหรือเมื่ออะไรก็ตามใจ นี้เรียกว่าตัวอย่างขนบธรรมเนียมประเพณีที่มันน่าหัวเราะที่สุดแหละ แต่ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีกว่านั้นยังมีอีกมาก ถึงวันทำบุญเราจะต้องทำ ถึงวันประชุมกันเพื่อปู่ย่าตายายที่เรียกว่าวันสารท วันเชงเหมงอะไรของพวกจีนนี้ มันก็ควรทำและต้องทำ ไม่ทำนั่นแหละคือโง่
คนสมัยนี้ได้เรียนศึกษามาก แล้วก็บอกว่าเราทำในใจก็ได้ ไม่ต้องไปทำพิธีรีตอง นั่นมันคือคนอวดดี สมัยนี้ยิ่งเรียนยิ่งอวดดี มันไม่มีผลมากเท่ากับไปทำหรอก ยกตัวอย่างเช่นว่าทำบุญวันสารท ระลึกถึงปู่ย่าตายายเป็นพิเศษในเดือนสิบนี้ แต่ก่อนนี้เขามาที่วัดกันเต็มวัด มาทุกบ้านทุกเรือน แล้วก็ทำตามพิธีต่างๆ ที่เขาให้มีไว้อย่างไร เดี๋ยวนี้คนมันเกิดอวดดีว่าเรานึกเอาก็ได้ ถ้าเพื่อประโยชน์แก่ความกตัญญูกตเวที ทีนี้เดี๋ยวนี้มันเพื่อความงมงายเราไม่ไปแล้ว,โว้ย ปู่ย่าตายายที่ไหนจะมาเป็นเปรตหรือว่าจะมารับอาหารที่ทำบุญให้ในวันนี้ อย่างนี้เป็นต้น มันคิดไปเสียอย่างนี้
แต่ว่าคนโบราณนั้นเขาฉลาด ฉลาดมากจนทำให้คนสมัยนี้เป็นคนโง่เสมอแหละ ฉะนั้นอย่าถือว่าได้ศึกษาเล่าเรียนเป็นบัณฑิตมีปริญญาอะไร ระวังให้ดีๆ มันมีอีกมากที่คนโบราณเขาทำอะไรไว้สำหรับให้คนสมัยนี้เป็นคนโง่ อย่างทำบุญตายาย ทำบุญวันสารท ตามที่เขาบอกกล่าวลูกหลานแต่เพียงว่าวันนี้ตายายมาเยี่ยมจากโลกอื่น จะมาขอส่วนบุญ มารับอาหาร มาอะไรต่างๆ เมื่อสมัยคนมันยังไม่มีการศึกษา มันก็เชื่อ เพราะว่าถึงมันไม่เชื่อมันก็ต้องทำ เพราะมันรัก ความรักบิดามารดาปู่ย่าตายายนั้นมันเป็นเหตุให้ทำ และเพราะว่ามันไม่รู้จะทำอย่างไรให้สมรัก มันไม่มีทางอื่นจริงๆ ด้วยที่จะทำให้สมรัก เอาสิ,ทำกับคนที่ตายไปแล้วจะทำอย่างไร แต่นี่เขาก็บอกว่าต้องทำอย่างนี้ๆ มันก็เชื่อ แล้วก็มากันใหญ่
ผมจำได้ดีตอนผมเด็กๆ ว่าพิธีขนบธรรมเนียมประเพณีเกี่ยวกับเรื่องนี้มันใหญ่โตที่สุดอย่างไร มันไม่เนือยๆ เหมือนกับเดี๋ยวนี้ มันรักพ่อแม่ที่ตายไปแล้ว นั้นอย่างหนึ่ง และในเรื่องราวนั้น คำสวดคำสอนนั้นยังมีเขาขู่ไว้อีกว่า ถ้าไม่มาร่วมในวันนี้ ปู่ย่าตายายที่ตายไปแล้วจะแช่ง นี้มันเป็นอำนาจของความกลัว ด้วยอำนาจของความรักคนที่ตายไปแล้วบวกกับความกลัวที่ว่าจะถูกแช่งนี้ก็มากันหมดบ้านหมดเรือน ส่วนขนบธรรมเนียมประเพณีที่ว่ามาเพื่อได้สนุกสนาน กระทั่งได้เลือกคู่ สมัยโบราณนั้นมันไม่มีที่ไหนที่จะพบปะกันระหว่างผู้หญิงผู้ชายที่ควรจะได้เป็นคู่ครองกัน มันไม่มีที่ไหนเหมาะเท่าที่วัด มันจึงมีคนมามาก นี้เป็นของแฝง แต่มันก็รวมอยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณี เพราะว่าถ้าไม่มีขนบธรรมเนียมประเพณีให้มา มันก็ไม่กล้ามาเหมือนกัน มันละอาย มันก็แฝงมาด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีว่าเราต้องมา แม้จะมีเจตนาที่จะมาดูผู้หญิงดูผู้ชาย มันก็อาศัยขนบธรรมเนียมประเพณีนั้นแหละมา มันเลยเนื่องกันอยู่กับชีวิตของคนอย่างที่แยกกันไม่ได้
ทีนี้ถ้าทำอย่างนั้น มันก็มีผลไปตามเรื่องตามราวเป็นแขนงๆ ไป อย่างที่มาเพราะรักคนที่ตายแล้ว มันก็สร้างนิสัยกตัญญูกตเวที กว่าจะโตเป็นผู้ใหญ่มันก็มีกตัญญูกตเวทีเป็นนิสัย เพราะมันถูกย้อม ย้อม ย้อม ย้อมลงไป ย้อมลงไป ย้อมลงไป ซ้ำ ซ้ำ ซ้ำด้วยความมุ่งหมายหรือความรู้สึกอย่างเดียวกัน คนมันก็เลยมีความกตัญญูเป็นนิสัย เมื่อมีความกตัญญูเป็นนิสัยแล้ว มันก็ประทุษร้ายพ่อแม่ไม่ได้ เดี๋ยวนี้ก็มีคนประทุษร้ายพ่อแม่ หรือที่เป็นมากขึ้นก็แก่ครูบาอาจารย์ เขาไหว้ครูบาอาจารย์ด้วยลูกปืนด้วยเหล็กขูดชาร์ปอะไร ไปอ่านเถอะ,หนังสือพิมพ์ไม่หวาดไหว เพราะนิสัยแห่งความกตัญญูกตเวทีมันไม่มีสำหรับเด็กสมัยนี้ ไม่มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่จะทำให้เด็กๆ สมัยนี้มันมีความกตัญญูกตเวทีเหมือนเด็กสมัยนู้น
นี้เรียกว่าขนบธรรมเนียมประเพณีนี้มันต้องตั้งอยู่บนความยึดถือมันจึงเกิดขึ้นได้ คือรักพ่อแม่คนที่ตายไปแล้วนี้คือความยึดถือ จึงตั้งขนบธรรมเนียมประเพณีขึ้นมาสำเร็จว่าทุกคนต้องมาในวันที่เขาทำเป็นที่ระลึกแก่บรรพบุรุษ ทีนี้วัดนี้ก็ทำ วัดโน้นก็ทำ ทำไปหลายหนเข้ามันก็คือย้อมกันหลายๆ วัด ปีหนึ่งก็ยังมีทำอยู่หลายวัด บางทีพร้อมกันก็มี ไม่พร้อมกันก็มี แล้วก็ทำทุกปี มันก็เลยเติบโตขึ้นมาด้วยนิสัยสันดานที่กตัญญูกตเวทีโดยไม่รู้สึกตัว นี่ขอให้เข้าใจว่าอย่างนั้น ว่ามันโดยไม่รู้สึกตัว ถ้าไม่ทำในรูปขนบธรรมเนียมประเพณีแล้วมันทำไม่ได้ มันไม่รู้ว่าจะทำกันอย่างไร ทีนี้ส่วนที่ว่ามันทำด้วยความกลัวมาด้วยความกลัว ก็มีมาก กลัวว่าตายายจะแช่ง นี้มันก็ดีมากที่ทำให้มีนิสัยสันดานที่ไม่กระด้าง ไม่กระด้างด้วยมานะจนไม่รู้จักกลัวอะไร พวกโจรใจกักขฬะอะไรก็ใช้คำว่าอย่างนี้ เพราะมีความกระด้างด้วยมานะและไม่รู้จักกลัวอะไร
ฉะนั้นถ้ามันมีอะไรที่มาทำให้จิตใจอ่อนโยนนิ่มนวล รู้จักกลัวอะไรที่ควรกลัว คือมีความกลัวอยู่บ้างเท่านั้นแหละ มันก็กลายเป็นผู้ที่มีจิตใจที่ดี ทีนี้เราก็เห็นอยู่แล้วว่าแม้แต่สิ่งที่เรียกว่าความกลัวนั้นเองก็คือความยึดถือชนิดหนึ่ง แต่แล้วเราก็ต้องอาศัยความกลัวนี้จะช่วยให้ทำอะไรที่ดีอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปอีก เรากลัวว่าปู่ย่าตายายจะแช่งนี้ มันก็ยึดถือปู่ย่าตายายด้วย ก็ยึดถือในความกลัวนั้นด้วย เพราะล้วนแต่เป็นความยึดถือหมด เติบโตขึ้นมาด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างนี้ มันก็เป็นคนที่มีกตัญญูกตเวที เป็นผู้มีจิตใจที่จะกลัวจะละอายสิ่งที่ควรกลัวและควรละอาย เพราะฉะนั้นบ้านเมืองหรือผู้คนในสมัยนั้นมันจึงอยู่กันเป็นผาสุก ไม่เหมือนกับสมัยนี้ที่มันไม่มีความกตัญญูหรือความกลัวหรือความละอายอะไรทำนองนั้น มันจึงเป็นบ้านเมืองของคนป่าเถื่อนที่สุด ทำอันตรายเบียดเบียนกันอย่างไม่น่าจะทำและก็จะกระทำได้แม้แก่บิดามารดา ครูบาอาจารย์ด้วย นี้แหละคือปัญหามันเกิดขึ้นว่า แม้ว่าเรามีการศึกษาสูงหรือว่าแม้มีการปฏิบัติที่ละกิเลสได้ มันก็ยังจะต้องคิดถึงหัวอกผู้ที่ยังทำไม่ได้ ฉะนั้นถ้าเราร่วมประเพณีกับเขาด้วยมันก็เป็นการดี เมื่อเราทำอย่างกับผู้มีความยึดถือแต่จิตใจของเราไม่ได้ยึดถือ
ข้อนี้ถ้าเปรียบเทียบกับเรื่องที่เป็นจริงเป็นจังในวินัย ก็เหมือนกับที่ว่าพระอรหันต์ท่านก็ยอมแสดงอาบัติ ตามหลักธรรมะหรือหลักวินัยก็ตามพระอรหันต์อยู่เหนือความเป็นอาบัติ ไม่มีความเป็นอาบัติ แต่ถ้าว่าท่านไปทำอะไรเข้า อย่างที่เรียกว่าเป็นอาบัติที่วินัยบัญญัติไว้ว่าเป็นอาบัตินี้ ท่านก็ยอมแสดงอาบัติคือยอมรับว่าเป็นอาบัติ หรือบางทีก็ไม่ยอมให้ใครรู้ว่าเป็นพระอรหันต์ด้วยซ้ำไป หรือแม้ว่ามีใครรู้ ท่านก็แสดงอาบัติเพื่อว่าทุกคนจะได้ถือเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ว่าเราผิดแล้วต้องแสดงอาบัติแม้แต่เป็นพระอรหันต์ นี้เป็นตัวอย่างที่แสดงว่าพระอรหันต์ท่านก็ทำอย่างเดียวกับผู้มีความยึดถือ แต่ท่านมิได้มีความยึดถือ ฉะนั้นคนที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์นั้นอย่าได้จองหองอวดดียกหูชูหางให้มันมากนัก จงพยายามที่จะลดลงไปในการที่จะทำอะไรได้เหมือนกับคนว่านอนสอนง่ายนี้ ก็มีความยึดถือ แต่ในจิตใจจะไม่ต้องยึดถือก็ได้ แต่การแสดงกระทำภายนอกก็ต้องทำให้มันเข้ารูปเข้ารอยกันกับขนบธรรมเนียมประเพณีหรือกฎเกณฑ์หรือวินัยต่างๆ ทีนี้คนเรามันมักจะอวดดี อ้างเหตุผลกูอย่างนั้นกูอย่างนี้ เสร็จแล้วกูก็ไม่ทำอย่างนั้น ก็ไม่ทำอย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้นขอให้เข้าใจเรื่องนี้ทั้งในสองแง่
แง่ที่แรก ก็ว่าเราเกิดมาด้วยการแวดล้อมที่ทำให้ยึดถือ เพราะฉะนั้นเราก็ยากที่จะไม่ยึดถือ และที่ว่าแม้ว่าเราจะมองเห็นข้อเท็จจริงอันนี้แล้ว เราก็ยังจะต้องยอมกระทำอย่างบุคคลผู้ไม่ยึดถือ แม้ว่าเราไม่ยึดถือได้แล้วนี้ เราจะต้องไปทำอย่างบุคคลผู้ที่ยังยึดถืออยู่ เราก็ทำได้ และเราก็ทำได้โดยที่จิตใจไม่ต้องยึดถือ แม้ว่าข้างภายนอกนี้มันทำเหมือนกับบุคคลผู้ที่มีความยึดถือ ฉะนั้นเราไปร่วมพิธีรีตองขนบธรรมเนียมประเพณีอะไรที่มันดีๆ ที่มันมีประโยชน์นั้นได้โดยไม่ต้องละเสีย เราควรจะสวดมนต์ภาวนาหรือว่าควรจะทำอะไรทุกอย่างที่มันมีประโยชน์แก่คนทั่วไป แม้ว่าเราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำอย่างนั้น เราก็ควรจะทำได้ ทีนี้เมื่อพูดถึงลัทธิธรรมเนียมประเพณีนี้มันมีมาก มันตั้งร้อยอย่างพันอย่าง มันก็ทำได้ทั้งนั้นแหละ มันก็ไม่ต้องสะดุดกับใคร หรือกระทบกระทั่งกับใคร มันเป็นเรื่องข้างนอกแล้วก็เป็นข้างใน มันมีอยู่สองชั้น ข้างนอกทำอย่างยึดถือ ข้างในไม่ต้องมีความยึดถือก็ได้ แต่มันยากตรงที่ว่าเรามันยึดถือมาแต่อ้อนแต่ออก ฉะนั้นมันยากที่จะทำอย่างไม่ยึดถือ นี้คือบทเรียน นี้คือข้อปฏิบัติที่เป็นแบบฝึกหัดที่เราจะต้องทำ
ที่ผมเอามาพูดในฐานะที่ว่าเราจะฝึกหัดการกระทำอย่างกับบุคคลผู้มีความยึดถือแต่ด้วยจิตที่ไม่มีความยึดถือ นี้หมายความว่าเรารู้ดีทั้งสองอย่าง รู้ดีว่าอะไรยึดถือ อะไรเรียกว่าไม่ยึดถือ รู้ดีว่าอะไรเป็นความเชื่องมงาย หรือว่าอะไรเป็นเหตุผล ความเชื่อนี้ถ้าไม่มีเหตุผลต้องถือว่างมงายทั้งนั้น แต่บางทีมันก็เป็นความงมงายที่ดี งมงายที่มันดึงไปในทางดี ดีมากๆ เพราะเด็กๆ นั้นจะให้มีเหตุผลมันทำไม่ได้ ฉะนั้นต้องให้มันเชื่องมงาย ให้มันรักปู่ย่าตายายที่ตายไปแล้ว โดยบอกว่ามันยังอยู่,เว้ย ต้องรัก แล้วก็ให้กลัวแช่ง,เว้ย แล้วก็ยินดีที่เมื่อให้พร,เว้ย นี่มีอยู่ ๓ อย่าง ตัวอย่างที่ยกมาเรื่องทำบุญตายาย ก็มีหลักวางไว้อย่างนี้ เป็นขนบธรรมเนียมประเพณี ถึงวันนั้นตายายมาเยี่ยมลูกหลาน คนที่รักก็มา มาวัดเพื่อจะพบ คือการทำบุญตายาย เพราะกลัวตายายแช่งถ้าไม่มา แล้วก็สบายใจในเมื่อมาเพราะว่าตายายเขาให้พร
ตัวอย่างนี้มันเป็นความรอดของสังคม ตัวอย่างความอยู่รอดของสังคม ที่ทำให้สังคมเป็นผู้กตัญญูกตเวที มีความกลัว มีความละอาย มีความตั้งใจที่ดี ยึดความถูกต้องเป็นหลักนะโตขึ้น แต่แล้วก็ไม่มีเหตุผลไม่เข้าใจเหตุผลโดยไม่รู้สึกตัว เขากลายเป็นคนดีได้ เดี๋ยวนี้ไปตามก้นฝรั่ง อะไรก็ไม่ต้องทำเรื่องอย่างนี้ เรียนมากๆ เข้าไว้ หาเงินมากๆ เข้าไว้ เก่งในการที่จะหาประโยชน์ มันก็เลยเป็นสัตว์ป่าที่เห็นแก่ตัวจัด ฉะนั้นจึงมีการเบียดเบียนทำอันตรายหรือว่าอย่างน้อยก็ทำคอรัปชั่น พวกปริญญายาวเป็นหางก็ทำคอรัปชั่นเก่ง เพราะมันไม่ได้เรียนมาเพื่อเป็นผู้ที่มีจิตใจดี นี่เราควรจะรู้ไว้อย่างนี้ ทีนี้เราจะต้องศึกษารู้ว่าเราเองนี้มันโตขึ้นมาอย่างไร คือโตขึ้นมาในความยึดมั่นถือมั่น แล้วเดี๋ยวนี้มันก็ขึ้นมาถึงขั้นที่จะต้องรู้จักความยึดมั่นถือมั่น และต่อไปจากนั้นมันก็จะต้องรู้จักละหรือบรรเทา อย่างน้อยก็บรรเทาความยึดมั่นถือมั่น อยู่อย่างเป็นสุขโดยไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น แต่แล้วข้างนอกนี้ต้องทำเหมือนกับบุคคลผู้มีความยึดมั่นถือมั่นเกี่ยวกับสังคมทั่วไปด้วย แล้วก็เกี่ยวกับจะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกหลานที่มันกำลังจะเกิดออกมาและมันก็กำลังเกิดออกมา ลูกหลานเล็กๆ มันจะได้ยึดถือเป็นหลัก แล้วก็ทำตามเรามาเหมือนกับเรา ผลสุดท้ายมันก็เป็นมนุษย์ที่ดี
นี่บรรพบุรุษของเรา เป็นปู่ย่าตายายของเราแต่หนหลัง ท่านมีวัฒนธรรมอย่างนี้ ฉะนั้นจึงรอดมาได้อย่างที่ไม่มีความทุกข์หรือว่าเป็นสังคมที่มีศีลธรรม เดี๋ยวนี้หันไปตามก้นฝรั่ง ชั้นลูกชั้นหลานนี้กำลังตามก้นฝรั่งมากขึ้น สิ่งเหล่านี้มันก็หายไป มันก็มีจิตใจอย่างเห็นแก่ตัว ยึดถือชนิดที่เห็นแก่ตัว ถือความเห็นแก่ตัวเป็นพระเจ้า โลกมันจึงลำบากอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ แม้มันจะเจริญทางวัตถุวิเศษวิโสสักเท่าไหร่ มันก็ยิ่งมีความทุกข์มากขึ้นเท่านั้น เพราะมันทำไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นชนิดที่เห็นแก่ตัว ไม่ใช่ความยึดมั่นถือมั่นชนิดที่จะทำลายความยึดมั่นถือมั่น นี้ก็เป็นอันหนึ่งว่าเราจะต้องปฏิบัติในลักษณะที่ว่าทำตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีทั้งหลายราวกับว่าเราก็เป็นคนโง่ ราวกับว่าเราก็เป็นคนยึดมั่นถือมั่น แต่ว่าจิตใจของเราไม่มีความยึดมั่นถือมั่น
ทีนี้ตัวอย่างต่อไปนี้จะไม่เรียกว่าขนบธรรมเนียมประเพณี มันก็เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีแต่ว่ามันไม่อาศัยความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ต้องอาศัยความศักดิ์สิทธิ์ คือขนบธรรมเนียมประเพณีที่ว่าเราจะต้องกินอย่างไร จะต้องนอนอย่างไร จะต้องทำอะไรอย่างไร เอาล่ะ,จะยกตัวอย่างเรื่องกิน อยู่ หลับ นอน ดีกว่า
ถ้าเรากินข้าวกับมือได้มาแต่เดิม เราก็ควรจะกินข้าวกับมือได้ ถ้าเราจะต้องกินข้าวกับตะเกียบ มันก็ควรจะกินกับตะเกียบได้ มันก็เป็นเรื่องที่ว่ามันยึดมั่นถือมั่นมาตั้งแต่เด็กแต่เล็ก แต่แล้วเมื่อโตขึ้นมันก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่บัญญัติ แล้วจะไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ได้ เพราะฉะนั้นมันไปอยู่ที่เหตุผลว่าวันนี้เราควรจะกินข้าวกับมือหรือว่าจะกินข้าวกับช้อนส้อมหรือว่าจะกินข้าวกับตะเกียบ หรือในที่ไหนในกรณีอย่างไรมันจึงจะเป็นผลดีแก่สังคมและเป็นผลดีแก่เด็กๆ หรือว่าเราจะนอนให้เรียบร้อยเราจะต้องมีที่นอน หรือเด็กๆ จะต้องมีเบาะนอน มีผ้าปูนอน จะต้องปูเสื่อนอน อย่างนี้มันก็เป็นสิ่งที่ทำมาจนชิน มันเกิดความยึดถือขึ้นในตัวว่าเราจะต้องนอนบนฟูกบนที่นอน แต่ที่จริงแล้วเราจะนอนกลางกระดานก็ได้ แต่ที่เรานอนกลางกระดานนั้น บางทีก็ด้วยความยึดถืออีกแบบหนึ่ง จะด้วยความไม่ยึดถือก็ได้นอนบนกระดานนี้ แต่ว่าด้วยความยึดถืออย่างโง่อีกชนิดหนึ่งก็ได้ คือมันขี้เกียจหรือมันอะไรก็ตามใจ มันก็เลยนอนบนกระดาน เพื่อว่าจะต้องไปเอาที่นอนมา จะต้องไปเอาผ้าปูที่นอนมาหรือจะต้องปูเสื่อนี้มันขี้เกียจ ทุกๆ อย่างที่มันทำในชีวิตประจำวันที่ไม่เกี่ยวกับธรรมเนียมอะไรที่ศักดิ์สิทธิ์ เหล่านี้มันก็ล้วนแต่มีลักษณะแห่งความยึดถือ เพราะว่ามันมีความยึดถืออยู่ในสันดานเป็นรกเป็นราก มันต้องทำอะไรที่ตัวรู้สึกว่าสวย ว่าอร่อย ว่าสบาย ว่าอะไรทำนองนี้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราพอเกิดมาก็ถูกกระทำให้อยู่ในท่ามกลางของการแวดล้อมที่ว่าจะต้องสวย ต้องอร่อย ต้องสบาย ต้องดีกว่าคนอื่น เพราะฉะนั้นเด็กๆ จึงทำอะไรโดยคิดที่จะให้ดีกว่าคนอื่น หรือว่าให้มันสวย หรือว่าให้มันสบาย หรือว่าให้มันอร่อย นี้เรียกว่าเติบโตขึ้นมาด้วยความยึดมั่นถือมั่น มีดวงวิญญาณที่เจริญขึ้นมาด้วยความยึดมั่นถือมั่น
ฉะนั้นมันยากที่ใครๆ จะไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่นี้มาถึงขั้นนี้แล้ว ขั้นที่บวชเรียนในศาสนาที่จะละกิเลสนี้ มันแน่นอนที่ว่าจะต้องทำลายหรือละความยึดมั่นถือมั่น และจะต้องมีถึงกับว่าถ้าเป็นเรื่องของสังคมจะต้องทำให้ถูกต้องตามเรื่องของสังคม นี่แม้ว่าเราอยู่ที่สวนโมกข์นี้ เราก็ไม่อยากจะมีอะไรให้ยุ่งยากลำบาก และว่าแล้วก็มิใช่อวดดี เราก็มีความยึดถือน้อยมากเหมือนกัน แต่แล้วบางอย่างเราก็ต้องทำอย่างเหมือนกับว่ายึดถือ จะต้องมีเสื่อสาดอาสนะ แม้แต่ว่าจะต้องมีแก้วน้ำที่จะรับแขกชนิดที่ควรให้เขากินน้ำด้วยแก้วน้ำ จะให้เขากินน้ำด้วยกระป๋องนมอย่างไรนี่ แม้ว่าผมจะเห็นว่ากระป๋องนมหรือแก้วน้ำมันก็สำเร็จประโยชน์เหมือนกัน แนะนำให้ทุกคนใช้กระป๋องนม แต่ผมก็กลับจะใช้ให้เณรว่าจงเอาแก้วน้ำไปให้เขา สำหรับคนนั้นคนนี้ นี่มันเป็นอย่างนี้
ทั้งๆ ที่ว่าเราจะทำลายความยึดถืออยู่นี้ เราก็ยังจะต้องรู้กาลเทศะว่ามันเป็นอย่างไร ถ้าไม่อย่างนั้นมันบ้าเอง เรานี้มันบ้าเอง ฉะนั้นขอให้ระวังเรื่องนี้เอาไว้ด้วย อย่าเอาแต่ความคิดเห็นของตัว จะต้องรู้ว่าควรทำอย่างไร แล้วมีเหตุผลอย่างไร มีผลดีแท้แน่นอนอย่างไร ในบางกรณีเราจะต้องทำตรงกันข้ามก็ได้เหมือนกันหรือว่าแรงไปกว่านั้นอีก คือเราอาจจะให้เขากินน้ำด้วยกะลาก็ได้ถ้าในบางกรณี ถ้ามันจะมีผลดีหรือมีเหตุผลอย่างอื่น แต่เดี๋ยวนี้เรายังจะต้อง บางทีจะต้องใช้แก้วอย่างดีด้วยซ้ำไป ที่จะใส่น้ำให้คนบางคนกิน ไม่เช่นนั้นมันเกิดเรื่อง สมมติว่าเจ้านายหรือพระมหาเถระเป็นใหญ่เป็นโต จะมาเยี่ยมเรา แล้วเราจะเอากระป๋องนมใส่น้ำให้ท่านฉันอย่างไร คิดดูว่าอย่างนี้
นี้มันจะต้องทำอย่างบุคคลผู้มีความยึดถือ แต่ว่าด้วยจิตใจที่ไม่ยึดถือ บางทีเราจะต้องทนลำบากเหน็ดเหนื่อยเพราะเหตุนี้ด้วยซ้ำไป เพื่อทุกอย่างมันจะเป็นผลดีแก่ทุกฝ่าย อย่าไปทำให้มันเกิดเรื่องบ้าๆ บอๆ สะดุดกระทบขัดขวางอะไรกันขึ้น เพราะว่าทุกคนก็มีหน้าที่ที่จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่โลกด้วยกันทั้งนั้น เราก็มีอย่าง เขาก็มีอย่าง อีกคนก็มีอย่าง ผู้ที่มีอำนาจวาสนามียศมีอย่างเขาก็มีหน้าที่อยู่อย่างที่จะทำประโยชน์แก่โลกเหมือนกันในส่วนที่ต้องทำ ฉะนั้นคนเหล่านี้ไม่จำเป็นจะต้องกระทบกระทั่งขัดขวางทะเลาะวิวาทเกลียดชังกัน เมื่อเขาทำด้วยความยึดถือก็ทำไปสิ ถ้าเราทำด้วยความไม่ยึดถือแต่เราทำเหมือนกับคนยึดถือ เราก็ทำได้
นี่ขอให้ถือเอาเรื่องนี้เป็นบทเรียน แล้วนี้ผมว่าคือยอดของปฏิบัติธรรมหรือว่ายอดของวิปัสสนา ไม่ใช่วิปัสสนาอวดหรือวิปัสสนาหลอกลวงใคร แต่มันเป็นวิปัสสนาตรงที่เห็นข้อเท็จจริงความจริงอันนี้อยู่ แล้วก็ทำเพื่อขูดเกลากิเลสด้วย แล้วก็ทำเพื่อแก้ไขสิ่งที่ควรแก้ไขด้วย และอยู่ในโลกด้วยความเป็นผาสุกด้วย พระพุทธเจ้าท่านมีหลักอย่างนี้ ไม่มีเรื่องที่เสียหายเกิดขึ้นและก็อยู่กันเป็นผาสุกด้วย ทุกคนได้รับประโยชน์ นั่นแหละคือความจำเป็นที่ว่าเราจะต้องทำหรือพูดหรือทำ ปากว่าเป็นคนยึดมั่นถือมั่น แต่จิตไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น และคำว่ายึดมั่นถือมั่นนั้นหมายความว่าในฝ่ายดี ไม่ใช่ว่าไปยึดมั่นถือมั่นในฝ่ายชั่ว และที่ว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้นก็เหมือนกัน คือไม่ยึดมั่นถือมั่นชนิดที่สติปัญญาอันประเสริฐมันควบคุมอยู่ ไม่ใช่ว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นอย่างคนบ้าหรือคนเมา ก็เป็นอันว่าความยึดมั่นถือมั่นนั้นมันก็มีส่วนดีในขั้นต้น สร้างคนให้ดีหรือว่าทำให้คนเว้นความชั่ว แต่มันต้องเป็นความยึดมั่นที่ถูกต้อง
ทีนี้ต่อมาๆ มันเลื่อนขึ้นมาเอง จนถึงกระทั่งว่ารู้ความจริงรู้เหตุผลแล้ว จิตไม่ต้องยึดมั่น เพราะถ้ายึดมั่นยังเป็นทุกข์ มันทำให้วิตกกังวลที่จะทำมันก็เป็นทุกข์ บางคนเพียงแต่ว่าไม่ได้ทำบุญก็เป็นทุกข์เสียแล้ว อย่างนี้มันไม่ถูกแล้ว มันก็ไม่ควรจะเป็นทุกข์ แม้ว่าไม่ได้ทำบุญ นี้มันแสดงว่าคนเราที่ว่าจะมีวิวัฒนาการไปในทางสูงนั้น คือมันจะต้องสูงไปในทางที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือว่ายึดมั่นถือมั่นน้อยลงจนกระทั่งไม่ยึดมั่นถือมั่น ทีแรกมันมีกิเลสสำหรับยึดมั่นถือมั่นความชั่วและความเห็นแก่ตัว ทีนี้ก็สับเปลี่ยนกันเสีย ให้ยึดมั่นด้วยสติปัญญาด้วยหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องคือยึดความดี แต่มันไม่สิ้นสุดเท่านั้นหรอก เพราะว่าถ้ายังยึดมั่นอยู่ มันเหมือนกับว่ายังแบกหามยังอะไรอยู่ ก็ค่อยๆ คลายความยึดมั่นถือมั่นจนไม่ต้องยึดมั่นอะไร แต่แล้วก็ทำอะไรได้อย่างเดิมคือละความชั่วและทำความดีได้ดีกว่าเดิม จนกระทั่งว่าไม่มีชั่วไม่มีดี แม้ว่าจะไม่รู้สึกว่าชั่ว แต่มันก็ไม่ไปทำชั่ว แม้จะรู้สึกว่าดี มันก็ทำเพียงเพื่อความอยู่กันเป็นผาสุก ไม่ได้ยึดมั่นในความดี นี้เขาเรียกว่าไม่ยึดมั่นความชั่วและความดี แล้วเราก็อยู่กันได้เป็นผาสุก แม้ว่าคนหนึ่งเป็นพระอรหันต์แล้ว คนหนึ่งยังเป็นชาวบ้านธรรมดาอยู่ มันก็อยู่กันได้โดยไม่มีอะไรขัดขวางกันในโลกนี้ พูดอะไรก็ไม่ต้องขัดคอกัน ทำอะไรก็ต้องไม่กระทบกระทั่งกัน นี้คือผลของการที่ว่ากระทำได้เหมือนกับผู้ที่มีความยึดมั่นถือมั่น แต่โดยเนื้อแท้แล้ว จิตใจมิได้มีความยึดมั่นถือมั่น
ที่พูดนี้ก็คือพูดให้เห็นว่ามันมีความยากลำบากที่เราจะทำอย่างนี้ ที่เราจะแสดงละครที่ไม่หลอกลวงอะไรนี้ มันยาก ไม่ใช่เป็นเรื่องแสดงละครหลอกลวงคนอื่น แม้ว่าการกระทำมันไม่ตรงกันระหว่างจิตใจกับการกระทำ มันก็ไม่ใช่หลอกลวงใคร ถ้าจะหลอกลวงมันก็หลอกลวงกิเลส ให้กิเลสมันตายโหงไปเสียให้หมด ก็ไม่ควรจะถือว่าเป็นเรื่องบาปหรือเป็นเรื่องหลอกลวง วิธีการมันเหมือนกับการหลอกลวงที่ผมเคยบอกให้จำกันไว้สักข้อหนึ่งว่า จงมีปากอย่างใจอย่าง ปากอย่างใจอย่างนั้นจะเป็นหนทางสุข
จะยกตัวอย่างไปอีกว่า เราอยู่ในโลกนี้มันมีความสัมพันธ์กันมากมายหลายทิศหลายทาง อย่างที่เขาเรียกกันมาแต่โบราณ ก็เรียกว่า ๖ ทิศนั้น พระพุทธเจ้าท่านระบุทิศเบื้องหน้าเป็นบิดามารดา, ทิศเบื้องหลังเป็นบุตรภรรยา, ทิศเบื้องซ้ายเป็นมิตรสหาย, ทิศเบื้องขวาเป็นครูบาอาจารย์, ทิศเบื้องบนเป็นสมณะพราหมณ์, ทิศเบื้องล่างเป็นบ่าวไพร่ ข้าทาสกรรมกร มันตั้ง ๖ ทิศนะ แล้วในแต่ละทิศๆ ยังมีทิศย่อยทิศซ้อนอีกล่ะ
เราจะต้องสังคมกับคนทุกทิศให้ถูกต้อง ฉะนั้นปัญหาที่จะทำไปให้เรียบร้อยที่สุดโดยไม่มีความยึดมั่นถือมั่นด้วยนี้มันยาก มันก็ต้องฝึก ก็ฝึกไปในตัว ทีนี้จะดูกันที่ว่าคนที่มันโง่หรือว่าเป็นลูกจ้างเป็นกรรมกร หรือแม้สมัยนี้ก็จะเรียกว่าผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา นับตั้งแต่ลูกหลานไป เราจะต้องตีเขาใช่ไหม,ในบางครั้งบางคราว เป็นบิดามารดา เป็นครูบาอาจารย์นี้จะต้องตีเด็ก หรือว่าเป็นพ่อแม่มันก็ยังจะต้องดุลูกหลาน หรือบางทีต้องด่า ใช้คำที่คือคำด่าเขาใช้ ก็เพื่อประโยชน์อย่างเดียวเท่านั้นแหละ คือให้มันกลัว ให้มันทำตาม ให้มันเชื่อฟัง ด้วยการด่า
ตามปรกติ การดุการด่านี้มันทำด้วยความโกรธ ฉะนั้นมันจึงเป็นกิเลสหรือเป็นความยึดมั่นถือมั่น จะด่าลูกด่าหลานหรือด่าคนใช้ ด่าลูกจ้าง ด่าผู้ใต้บังคับบัญชา ด่าขอทานอะไรก็ตาม มันก็เป็นกิเลสความยึดมั่นถือมั่น แล้วเราก็ทำกันมาคล้ายๆ กับว่าเป็นของธรรมดาไป พอมาถึงตอนนี้เราจะต้องหัดฝึกบทเรียนอย่างที่ว่า,ที่ว่ามาแล้ว แต่ว่าเมื่อมันเว้นไม่ได้ มันงดไม่ได้ในการที่จะต้องด่าต้องตีต้องอะไร มันก็ต้องตีด้วยจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น บางทีมันต้องตีแมวตีสุนัข บางทีมันต้องทำอะไรรุนแรงมากกว่านั้นสัตว์บางชนิด สำหรับคนธรรมดานี้ สำหรับพระเณรก็ไปอย่าง แต่ถึงอย่างไรก็เถอะ มันก็อยู่ในความหมายเดียวกันแหละ บางทีมันต้องเบียดเบียนสัตว์อื่นนั่นแหละ เพราะมันอดไม่ได้ แล้วบางทีมันก็จำเป็นที่จะต้องทำการเบียดเบียนนั้น เช่น อาจารย์นี้จะต้องตีเด็ก
ผมพูดได้เลยว่ารู้เรื่องนี้ดี เพราะในบางยุคบางสมัยที่แล้วมา ผมก็ต้องทำกับเด็กๆ ที่มันทั้งโง่ทั้งดื้อทั้งอะไร ก็ตีเหมือนกัน แต่ว่าโดยมากก็ไม่ได้ทำเองหรอก ก็ให้คนอื่นทำ รู้สึกว่ามันยากในการที่จะทำด้วยจิตใจที่ปรกติ พอจิตใจปรกติเสีย มันตีไม่ลง มันสงสารเสีย มันจะมีเหตุผลมาบังคับว่าต้องตี มันก็ทำไม่ค่อยจะได้ นี้คือความยากในการที่เราจะปฏิบัติธรรมะข้อนี้ เช่นว่าจะตีเหมือนกับอย่างว่าช่างหม้อตีหม้อให้เข้ารูป ไม่ใช่ตีให้แตกนั่นแหละ มันตียาก แต่พระพุทธเจ้าท่านก็สอนอย่างนั้น แล้วพระพุทธเจ้าท่านก็ต้องการตีหม้อแก่ภิกษุทั้งหลาย คือจะพบคำที่พระพุทธเจ้าตรัสอย่างที่ถ้าเราเรียกกันเดี๋ยวนี้ ก็คือคำด่าอย่างหมดที่สุดเลย เรื่องอย่างนี้ก็ไปดู มีมากอยู่ในคัมภีร์วินัยที่เรียกว่าคัมภีร์ต้นบัญญัติคือนิทานแห่งสิกขาบทหนึ่งๆ มันมีคำกล่าวไว้อย่างไม่น่าเชื่อ ว่าพระพุทธเจ้าท่านจะใช้คำรุนแรงขนาดนั้น หรือเหมือนกับในสุตตันตะฝ่ายธรรมะนี้ เช่น อัคคิขันธูปมสูตรนี้ ตรัสออกไปทีเดียวนี้ ๖๐ องค์ รากเลือดตาย, ๖๐ องค์สึกไปเลย, ๖๐ องค์เป็นพระอรหันต์ที่ตรงนั้น อย่างนี้เป็นต้น
ถ้อยคำเหล่านี้น่ากลัวมากนะ จนเราไม่ค่อยจะเชื่อว่าสูตรนี้มันจริงว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสคำอย่างนี้ แต่แล้วเมื่อมาพิจารณาดู เราจะรู้สึกว่าแน่ทีเดียวท่านจะต้องได้ใช้คำอย่างนี้หรือคำทำนองนี้หรือการกระทำทำนองนี้เป็นแน่ แต่มันจะรุนแรงถึงขนาดนั้นหรือไม่นั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง ทำไปด้วยจิตที่ว่าท่านมองเห็นว่ามันต้องทำอย่างนี้แล้ว มิฉะนั้นมันก็ไม่เป็นไปได้ คือไม่สำเร็จประโยชน์ไปได้ ฉะนั้นจึงได้ตรัสคำชนิดนั้น แล้วก็ในความมุ่งหมายที่ว่ามันเป็นการตีหม้อให้มันเป็นรูป เข้ารูปเข้าร่าง หรือว่าเหมือนกับตีทองด้วยค้อนเหล็กบนทั่งเหล็กนี้ มันก็ตีให้เป็นรูปเป็นร่าง มันไม่ใช่ตีให้ฉิบหาย ฉะนั้นถ้อยคำที่รุนแรงที่พระพุทธเจ้าท่านใช้ในบางโอกาสนี้มันมีความหมายอย่างนี้
ก็เป็นอันว่าถ้ายังสมัครที่จะทำประโยชน์ผู้อื่น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชา เป็นครูบาอาจารย์อะไรอย่างนี้ มันหลีกไม่พ้นที่จะต้องใช้วิธีการที่เรียกว่าอุบายหยาบ ถ้าใช้การประเล้าประโลม เรียกว่าอุบายละเอียด ถ้าใช้การรุนแรง นี้เรียกว่าอุบายหยาบ ถ้าใช้ทั้งสองอย่างเรียกว่าทั้งอุบายหยาบและอุบายละเอียด พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสยืนยันแก่คนที่มาสนทนาหรือมาถามว่าใช้อุบายอะไร พระพุทธเจ้าท่านก็บอกว่าเราใช้ทั้ง ๓ อุบาย คือทั้งอุบายหยาบ อุบายละเอียด และอุบายที่หยาบและละเอียดปนกัน
เอาล่ะ,เป็นอันว่าบางทีเราจะต้องทำสิ่งที่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นหรือสัตว์อื่น ถ้าแมวมันมาถ่ายอุจจาระตรงที่ที่ไม่ควรจะถ่ายเราจะต้องทำอย่างไร สุนัขก็เหมือนกัน มาถ่ายปัสสาวะตรงที่ไม่ควรจะถ่าย เราจะต้องทำอย่างไร ถ้าเราไม่รับผิดชอบไม่รู้อะไรเสียเลยก็ได้ คือไม่ต้องทำอะไร แล้วเราก็ไม่ต้องมีสุนัขด้วย แต่ถ้าเรามีสุนัขและแมวอย่างที่มันหลีกไม่ได้ เราจะทำให้มันเป็นสุนัขและแมวที่ดี เราจะต้องทำอย่างไรนี่ ถ้าสุนัขมันเยี่ยวตรงที่ที่ไม่ควรจะเยี่ยวนี้ คนโบราณเขาให้เอาสุนัขมาแล้วจับหัวมันเข้า แล้วก็เอาจมูกมันกด กด กดลงไปที่ตรงที่มันเยี่ยวนั่นแหละ กดแล้วกดอีกจนมันสำลัก ทีหลังมันจะไม่เยี่ยวที่ตรงนั้นอีก แต่แล้วมันทารุณเท่าไหร่ แล้วจะทำด้วยจิตใจชนิดไหนกัน นี่คือบทเรียนนี้ ต้องทำเหมือนกับว่าผู้มีความยึดถือ แต่ด้วยจิตใจที่ไม่มีความยึดถือ มันต้องอาศัยสติสัมปชัญญะที่มากพอที่มาสำรวมสติให้ดีว่าจะต้องทำอย่างนี้หรือไม่ ถ้าต้องทำก็ทำด้วยสติสัมปชัญญะรวมกับเมตตากรุณาอย่างนี้เป็นต้น
ถ้าพระมันก็ระดับหนึ่ง ทีนี้ชาวบ้านมันก็ต้องลดลงไประดับอีกระดับหนึ่ง บางทีจะต้องตบหน้าให้คะมำไปเลยก็ได้ ถ้ามันทำไปด้วยความรู้สึกที่ถูกต้องและมีเหตุผล ฉะนั้นอย่าไปเข้าใจไปทางใดทางหนึ่งจนมันทำอะไรไม่ได้ ก่อนนี้เราจะยึดถือว่าจะตบใครไม่ได้ จะตีใครไม่ได้ จะด่าใครไม่ได้ มันก็ถูกเหมือนกันแหละ มันก็ไม่มีใครว่าอะไรได้ แต่ถ้าเกิดไปเป็นคนที่ต้องทำอย่างนั้นกับคนชนิดนั้น มันก็ต้องทำแหละ ฉะนั้นจึงมีการวางระเบียบบทกฎหมายว่าต้อง เฆี่ยนมันเท่านั้นที จะต้องใส่คุกเท่านั้นปีเท่านี้ปี หรือกระทั่งเอาไปยิงเป้าเลย อย่างนี้มีมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล จนกระทั่งสมัยพุทธกาล กระทั่งปัจจุบันนี้ ก็ไม่เห็นมีหลักธรรมะข้อไหนมันคัดค้านเรื่องนี้ เพราะว่ามันพอเหมาะพอสมกับสัตว์ผู้ได้กระทำกรรมถึงขนาดนั้นหรือว่ามีความต่ำช้าถึงขนาดนั้น ก็หันไปหาความไม่ยึดมั่นถือมั่นในทางที่ตรงกันข้ามบ้าง ว่ามันเป็นสัตว์ที่ควรจะได้รับโทษอย่างนั้น มันเป็นไปตามกรรมของมันอย่างนี้ เขาก็ใช้กันอยู่ ถ้าไม่เข้าใจเรื่องนี้จะลำบากใจเอง จะทำไปไม่ได้ ทำไปก็ฝืนความรู้สึก ก็เลยเป็นบาปกรรม เป็นทุกข์เพราะการกระทำดี หรือการที่ตั้งใจจะช่วยให้สังคมดีไปเสียอีก ลองคิดดู
การที่ไม่กระทบกระทั่งไม่เบียดเบียนใครเลยนั้นดี แต่แล้วตามธรรมชาติในโลกนี้มันเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นเรามันยังต้องทำตามสมควรแก่ฐานะ เป็นบรรพชิต เช่นเป็นพระเป็นเณรเป็นชีเป็นอะไร นี้ก็อย่างหนึ่ง หรือเป็นชาวบ้านก็ไปอีกอย่างหนึ่ง นี้เป็นชาวบ้านชั้นดี ชาวบ้านชั้นเลว หรือชาวบ้านชั้นที่มีหน้าที่เป็นทหาร เป็นเพชฌฆาต เป็นผู้พิพากษาตุลาการ หรือกระทั่งว่าชาวบ้านที่จะต้องทำไร่ทำนา จะต้องขุดดินและจะต้องทำสัตว์ตาย การไถนาการขุดดินมันจะต้องทำสัตว์ตาย เราจะต้องมีจิตใจอย่างไร แล้วเราจะต้องทำไปอย่างไร มันก็แล้วแต่บทบัญญัติที่มีไว้ให้แล้วอย่างมีเหตุผล ชาวนาไถนามันมีสัตว์ตายมันก็เห็นอยู่ตาดำๆ นี้ มันก็ต้องเรียกว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่บาปไม่กรรม มันก็จะต้องยึดมั่นให้ถูกต้อง หรือว่ามันก็จะต้องไม่ยึดมั่นในส่วนที่ไม่ควรจะยึดมั่นให้มันถูกต้อง นี่จึงว่าหัดปฏิบัติอย่างผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นด้วยจิตใจที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น ถ้าเป็นเพชฌฆาตขี้เมา เป็นทหารขี้เมา มันยิงมันฆ่าเขาด้วยความยึดมั่นถือมั่นอันธพาล นั้นมันก็บาปแหละ แต่ถ้ามันปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้องแล้ว เพชฌฆาตก็ไม่บาป ทหารก็ไม่บาป ผู้พิพากษาสั่งฆ่าคนก็ไม่บาปเพราะเหตุนี้ เพราะเหตุที่มันมีจิตใจชนิดนี้ แต่มันน่าเสียดายที่ว่าเดี๋ยวนี้เขาไม่สอนกันในข้อนี้ในแง่นี้ เขาปล่อยให้มันทำไปตามอำนาจความโกรธความแค้น มันก็เป็นบาปกันไปหมด มันก็ทำให้มีนิสัยสันดานเป็นพาลกันยิ่งขึ้นทุกที โลกนี้จึงไม่เป็นสุขไม่เป็นผาสุก เพราะว่าถ้าว่ามันถือหลักอันนี้อยู่แล้วจะไปรบราฆ่าฟันกันโดยไม่มีเหตุผลนั้นไม่ได้แน่ มันยอมแพ้ มันยอมวิ่งหนีเสียเลย เดี๋ยวนี้เพราะไม่ถือหลักอย่างนี้ มันจึงรบราฆ่าฟันกันตายมากๆ โดยไม่ต้องมีเหตุผล นอกจากเหตุผลว่ากูจะชนะเท่านั้น เหตุผลชนิดนี้มันก็มีกันทั้งสองฝ่าย
ทีนี้สำหรับพุทธบริษัทเราในวงแคบเข้ามา ขอให้รู้ไว้ว่า เรายังจะต้องอยู่ในโลกซึ่งจะต้องใช้อาชญาในบางคราว คำบาลีคำนี้ใช้คำว่าอาชญา แต่คำว่าอาชญาก็มีสองความหมาย คืออาชญา เบียดเบียนเขาด้วยกิเลส นี้อย่างหนึ่ง อาชญา เพื่อแก้ไขเขาให้มันดีขึ้น นี้มันก็อีกอย่างหนึ่ง ฉะนั้นเลือกให้มันถูกที่ มันไม่บาปไม่กรรม ไม่เสียหาย ไม่ผิด ไม่ผิดธรรมะในการใช้อาชญา แม้ที่สุดแต่ว่าจะบ่นสักคำหนึ่งก็ต้องเรียกว่าเป็นอาชญานะ เช่นพระเณรทำไม่ดี อาจารย์จะบ่นหรือว่าตำหนิสักคำหนึ่ง มันก็เป็นอาชญา ไม่ต้องถึงกับตีกันหรอก แล้วจะต้องทำด้วยจิตใจชนิดไหน จะต้องทำเวลาไหน จะต้องทำสักเท่าไหร่ นี้มันก็ล้วนแต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสติปัญญานี้ทั้งนั้น ถ้ามันมีสติสัมปชัญญะอยู่กับตัว ความยึดมั่นถือมั่นเลวๆ ไม่มี หรือว่าไม่มีเลย มันจะรู้ทันทีว่าควรจะลงอาชญาอย่างไร เมื่อไหร่ เท่าไหร่ อย่างนี้เป็นต้น
ที่ผมพูดนี้ก็เพราะกลัวไปว่าคนบางคนจะเข้าใจผิดจนไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรถูก ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรถูก จะไปกระทบกระทั่งใครก็ไม่ได้ บาปเสียแล้ว ไม่กระทบกระทั่งใคร มันก็อยู่ไม่ได้ในโลกนี้ แล้วจะทำอย่างไร ก็แปลว่าต้องมีการกระทบกระทั่งด้วยจิตที่บริสุทธิ์จากความยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง
นี่ความมุ่งหมายของการพูดในวันนี้ก็คือพูดต่อตอนที่ ๒ ของหัวข้อที่ว่าการกระทำอย่างเดียวกันกับผู้มีความยึดถือแต่ด้วยจิตที่ไม่มีความยึดถือ เพื่อให้เกิดผลที่มุ่งหมายสูงสุดที่เรียกว่าให้มีอาการแห่งขันธ์ที่ฆ่าขันธ์อยู่ตลอดเวลา ให้บริสุทธิขันธ์นี้มันกำจัดอุปาทานขันธ์อยู่ตลอดเวลา สำหรับวันนี้ก็พอกันที