แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายธรรมปาฏิโมกข์ของพวกเราที่นี่ก็ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกูในแง่ใดแง่หนึ่งอยู่ตามเคยยังไม่เปลี่ยนแปลง เรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกูมันมีแง่มุมให้พูดได้มากมายจนเรียกได้ว่าไม่รู้จักจบจักสิ้น นี่มันก็เป็นเพราะเหตุว่า ทุกเรื่องของมนุษย์มันเป็นเรื่องของความยึดถือว่าตัวกูว่าของกูทั้งนั้นเลย ขอให้ไปสังเกตข้อนี้ให้มากในฐานะที่มันมีความจริงที่เด็ดขาดอยู่ข้อหนึ่งว่าธรรมะนั้นต้องเรียนจากจิตใจ คือสิ่งที่กำลังเป็นอยู่จริงในจิตใจต้องเรียนจากสิ่งนั้น เดี๋ยวนี้เรามันเรียนจากหนังสืออย่างเดียว แล้วก็มากเกินไป เรียนจากบุคคลก็เหมือนกับเรียนจากหนังสือ เลยไม่ได้หยิบของจริงตัวจริงมาเรียน นี่มันจึงทำให้เข้าใจอะไรได้น้อย
ฉะนั้นจึงขอร้องว่าให้ไปมองดูให้เห็นจริงว่า ทุกอย่างที่มันเกี่ยวกับปัญหาลำบากยุ่งยากของมนุษย์นี้ก็ดี หรือว่าที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาจนลุล่วงไปมีความสงบสุขก็ดี มันไม่มีอะไรนอกไปจากเรื่องตัวกูของกู อย่าเพียงแต่ว่าได้ยินผมว่าแล้วก็ชักจะเชื่อหรือเชื่อไปเลยแล้วก็ไม่ต้องไปดูกันโดยละเอียด นี้เรียกว่ามันเรียนจากบุคคลมากเกินไป เรียนจากหนังสือมากเกินไป ทีนี้ถ้าว่าไปดูเห็นว่าทุกเรื่องของมนุษย์ ทั้งดีทั้งชั่ว ทั้งผิดทั้งถูก ทั้งที่เป็นเหตุเป็นผลเป็นอะไรก็ตาม มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกูทั้งนั้น แล้วก็คงจะสนใจเรื่องชนิดธรรมปาฏิโมกข์นี้กันมากขึ้น สนใจจริงจังยิ่งขึ้น นี้เป็นเรื่องที่จะต้องบอกกล่าวกันไว้เสมอว่าเรายังไม่จำเป็นจะต้องเปลี่ยนเป็นเรื่องอื่น ผมพูดเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกูในปริยายใดปริยายหนึ่งเรื่อยๆ ไป
ในระยะนี้เรากำลังพูดโดยหัวข้อว่าทำอย่างไรจึงจะมีอาการที่เรียกว่าขันธ์ฆ่าขันธ์ ทำอย่างไรจึงจะมีอาการที่เราเรียกกันตามภาษาวัดภาษาชาววัดว่าขันธ์ฆ่าขันธ์อยู่ตลอดเวลา คือว่าขันธ์ที่เป็นกุศล ขันธ์ที่ไม่ประกอบด้วยอุปาทานนั้นมันเกิดอยู่ตลอดเวลา และขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานที่เรียกว่าปัญจุปาทานขันธ์นั้นไม่มีโอกาสจะเกิด เมื่อขันธ์ชนิดนี้ไม่มีโอกาสจะเกิด ความทุกข์ก็ไม่อาจจะเกิด เรื่องมันก็เท่านั้นเอง
ในครั้งที่แล้วเราก็พูดโดยหัวข้อว่า การพูดภาษาคนที่มีความยึดถือโดยที่เราไม่ต้องมีความยึดถือ ถ้าทำอยู่อย่างนั้น มันจะมีอาการที่เรียกว่าขันธ์ฆ่าขันธ์อยู่เรื่อยไป มันก็จะบรรเทาอุปาทานที่ยึดมั่นในขันธ์อยู่ในตัวมันเองเรื่อยไป ฉะนั้นเราต้องหัดพูดภาษาคนโดยที่เราไม่ต้องมีความยึดถือ ธรรมดาเราพูดภาษาคนโดยที่มีความยึดถือความหมายของภาษาคนนั้นๆ เต็มตามความหมายของมันอยู่ตลอดเวลา เราพูดกันแบบนี้อยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดมาจนบัดนี้ ทีนี้ก็มาบอกว่าให้หัดพูดเสียใหม่ ปากมันพูดไปตามภาษาบุคคลผู้มีความยึดถือคือชาวโลก แต่จิตใจไม่ต้องยึดถือความหมายนั้นๆ เช่นเราจะพูดกับชาวบ้านว่าวัดของฉันอย่างนี้ มันเป็นภาษาชาวบ้านภาษาคนว่าวัดแล้วก็ของฉัน คือยึดถือ แต่จิตเรามิได้ยึดถือวัดนี้ว่าของเราอย่างนี้เป็นต้นเป็นตัวอย่าง ต้องหัดพูดกันเสียใหม่ในภาษาไม่ยึดถือ แม้ว่าคำพูดนั้นเป็นคำพูดของบุคคลผู้ยึดถือ เพราะว่าเราไม่มีภาษาอื่นที่จะพูดอีก เราก็ต้องพูดภาษาเดิม เพียงแต่ว่าจิตไม่ยึดถือความหมายนั้น อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ ว่าตถาคตก็ใช้โลกสมัญญา โลกนิรุตติ โลกโวหารา โลกปัญญัตติ นี้ อปรามสนฺโต แต่ว่าไม่ได้ยึดถืออยู่เลย เราต้องหัดพูดภาษาผู้ยึดถือโดยที่จิตไม่มีความยึดถือ
ทีนี้ในวันนี้จะพูดโดยหัวข้อว่า เราจะกระทำอย่างเดียวกับผู้ยึดถือแต่ว่าไม่มีความยึดถือ ครั้งที่แล้วมามันเป็นเรื่องพูด พูดอย่างผู้ยึดถือแต่มิได้ยึดถือ แต่วันนี้จะพูดเรื่องกระทำ เราจะมีการกระทำอย่างเดียวกันกับผู้ยึดถือ ดูแล้วมันก็อย่างเดียวกันแต่ว่าจิตมิได้ยึดถือ มันเลยกลายเป็นเรื่องที่ต้องฝึกหัดกันใหม่ เราก็กระทำอยู่ตามเดิม ก็ทำอะไรอยู่ตามเดิม มันแปลกกันอย่างตรงกันข้ามตรงที่ว่าข้างใน,ข้างในจิตใจนั้นกำลังพยายามที่จะรู้สึกตัวแล้วก็ไม่ยึดถือ เรื่องนี้สำคัญมาก ผมก็เคยบอกหลายหนแล้วว่าที่มันเป็นพระเสียเปล่าๆ เป็นเณรเสียเปล่าๆ เสียเวลาเปล่าๆ ก็เพราะไม่สนใจกับสิ่งนี้ ไม่เข้าใจสิ่งนี้ ไม่พยามยามในสิ่งนี้ ไปพยามยามสิ่งอื่นซึ่งตรงกันข้าม คือพยายามที่จะยึดถือ อะไรนิดหนึ่งก็ยึดถือ มันไม่เคยตั้งปณิธานหรือว่าตั้งความระมัดระวังสำรวมที่จะรู้สึกตัวอยู่เสมอที่จะไม่ยึดถือในการกระทำที่กระทำอย่างบุคคลผู้ยึดถือ เดี๋ยวเราก็จะว่ากันโดยรายละเอียด
เดี๋ยวนี้เรามันปล่อยไปตามสบาย พอปล่อยตามสบายมันก็ตามความเคยชิน ความเคยชินก็คือความยึดถือ เพราะว่าเรายึดถือมาแต่อ้อนแต่ออกจนบัดนี้ มีบุคคลบางคนหรือบางพวกเขาเสนอไปในทางแย้งว่ามนุษย์ธรรมดาสามัญนี้ต้องอาศัยความยึดถือ เพื่อจะทำอะไรด้วยความยึดถือให้มันดี ดี ดี ดีขึ้นไปจนได้ประโยชน์ที่ควรจะได้ เพราะว่ามีความยึดถือในการที่จะได้ในการที่จะเอาในการที่จะทำ เขาว่าอย่างนั้นแต่ผมไม่เห็นด้วย ว่าพระพุทธเจ้าท่านมิได้สอนอย่างนั้น ท่านสอนให้กระทำให้ได้รับประโยชน์ที่ควรจะได้รับ ได้รับประโยชน์ด้วย แต่ไม่เป็นทุกข์ด้วย คือให้ความไม่ยึดถือนั้นมันแฝงอยู่ในตัวการงานที่กระทำ ฉะนั้นจะกระทำไปตามเดิม จะค้าขายหรือว่าจะเป็นทนายความ หรือว่าจะเป็นทหาร ต่อให้เป็นทหารเป็นเพชฌฆาตเป็นอะไรก็ตามใจ ซึ่งเมื่อมันยังเปลี่ยนไม่ได้ มันก็ต้องหัดทำไปในทางที่ให้ฉลาดขึ้นคือด้วยจิตที่ไม่ได้ยึดถือเกี่ยวกับตัวกูของกู ให้มันเป็นแต่เพียงการกระทำที่ถูกต้อง ที่เป็นหน้าที่ที่ ต้องกระทำเรียกว่าประพฤติกันไปเรื่อยๆ คนจะค้าขายก็ทำได้ ก็เพราะถ้ายึดถือมันก็เป็นห่วงวิตกกังวล มันก็จะนอนไม่หลับ มันก็เรียกว่าตกนรกทั้งเป็น เรื่องนี้ก็พูดมากแล้วไม่ต้องพูดอีก ว่าเพราะความยึดถือนั้นมันทำให้คนเรามีอาการเหมือนกับตกนรกทั้งเป็นอยู่ตลอดเวลา เราต้องกันเอาส่วนนี้อออกเสีย แล้วเราก็ทำประโยชน์อะไรต่อไปได้ ฉะนั้นจึงไม่ต้องเป็นโรคเส้นประสาทหรือไม่ต้องอยู่อย่างที่เรียกว่าไม่มีความสุขในใจ คือเหมือนกับตกนรกทั้งเป็น อาการนี้มันคืออาการของความขัดแย้งหรือที่เรียกว่า Conflict หรืออะไรโดยไม่รู้สึกตัว มันขัดแย้งกันระหว่างที่ว่าเราจะเอาความสุขไม่มีทุกข์ แต่การกระทำของเรามันโง่ มันโง่ดักดานที่ทำไปเพื่อให้มันเกิดทุกข์คือความยึดถือ แต่ความประสงค์ของเราต้องการจะมีความสุขไม่มีความทุกข์ นี่ส่วนลึกมันเป็นอย่างนี้
ทีนี้ส่วนที่มันเบาขึ้นมาหน่อย ก็เช่นว่าเรามันจะถือศีล แต่แล้วเราก็ยังอยากจะทำชั่ว ทำไมไม่ดูล่ะ พระเณรปากมันก็ว่าถือศีลพยายามจะมีศีล แต่ทีกระทำทำไมไม่ทำอย่างที่เรียกว่าจะให้มีศีลโดยบริสุทธิ์นี่ ยังคอยแต่จะหลีกเลี่ยงนั่นนี่ บางทีก็ตามใจตัวเอง บางทีก็ซ่อนทำที่มันผิดศีล นี่มันเป็นเรื่องความขัดแย้ง ยังแก้ไม่ตก ยังไม่รู้จะแก้อย่างไร ชาวบ้านก็เหมือนกันแหละ อยู่ด้วยชีวิตที่มันขัดขวางกันอยู่ในตัวเอง มันจึงมีอาการเหมือนกับว่าตกนรกทั้งเป็น ตัวอย่างง่ายๆ เช่น เขาก็กลัวกฎหมาย กลัวติดคุกติดตะราง แต่เขาต้องทำ ทำสิ่งที่มันจะต้องทำให้ติดคุกติดตะราง และเขาอาจจะทำเพราะเขาต้องการประโยชน์ มันอยู่ด้วยความขัดแย้ง ฉะนั้นมันจึงมีอาการเหมือนกับตกนรกทั้งเป็น ตัวกูมันจะเอาอย่างนี้ ศีลธรรมมันจะเอาอีกอย่างหนึ่ง ฉะนั้นตัวกูกับศีลธรรมมันก็ทะเลาะกันเรื่อย ขัดแย้งกันเรื่อย
นี้เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าการที่จะทำอะไรให้ดีมีความสุขด้วยอาศัยความยึดถือเป็นเครื่องมือนั้นยังมองไม่เห็น ถ้าต้องการความสุข ไม่ทุกข์ ก็ต้องทำลายความยึดถือ การงานก็ทำไปเหมือนที่ทำมาแล้วหรือที่มันถูกต้องอยู่แล้วก็ทำไป แต่จิตจะต้องหัดอีกทางหนึ่ง คือไม่ยึดถือเหมือนอย่างที่แล้วๆ มา เป็นพ่อค้าก็ดี เป็นข้าราชการก็ดี เป็นอะไรก็ตามใจทุกอย่างมันมีหน้าที่ผูกพัน แล้วก็ยึดถือเพื่อจะได้ผลเป็นเงินเป็นทองเป็นเกียรติยศชื่อเสียง มันก็มีความทุกข์ แต่ว่าความทุกข์ชนิดนี้มันเนือยๆ อยู่เป็นปรกติ นานๆ จึงจะเกิดอาการเหมือนกับไฟไหม้ขึ้นมาสักทีหนึ่ง แต่ระวัง เนือยๆ นี้มันทำให้เป็นโรคเส้นประสาท และที่ร้ายไปกว่านั้น มันทำให้เป็นนิสัย เป็นอุปนิสัยหรือเป็นนิสัยที่เรียกว่าอาสวะนั้น คือมันชินในสันดานแล้วมันแก้ยาก พอมันแก้ยากแล้วมันก็เสียหาย เหมือนกับว่ากินยานอนหลับจนต้องกินจนเว้นไม่ได้ นี่มันเป็นเรื่องเสียหาย เพราะมันติด เราก็ติดความยึดถือพอใจในการยึดถือมากขึ้นๆ จนกลายเป็นอุปนิสัย เป็นนิสัย เป็นอาสวะดองสันดาน
ฉะนั้น ควรจะเลิกคิดอย่างแบบคนบางพวกว่า อาศัยความอยากอาศัยความโลภนี่แหละอาศัยความยึดถือนี่แหละ ทำอะไรให้ดี ให้เด่น ให้ได้ ให้รวย ให้ดัง ให้โด่งไปเลย ใครต้องการอย่างนั้นก็ตามใจเขา เดี๋ยวนี้เรากำลังพูดถึงวิธีของพระพุทธเจ้า ถ้าจะบรรเทาความทุกข์ต้องบรรเทาความยึดถือ คือความรู้สึกว่าตัวกูว่าของกูต้องถูกบรรเทาลงไปเรื่อยไป,เรื่อยไป, เรื่อยไป ชาวบ้านนั้นก็บรรเทาตามมาตรฐานของชาวบ้าน ชาววัดก็บรรเทาตามมาตรฐานของชาววัด และมาอยู่วัดแล้วก็บวชอยู่วัดก็เพื่อจะบรรเทาอันนี้บรรเทาสิ่งนี้ อย่างดีอย่างเลว ให้ได้ผลดีกว่าพวกชาวบ้านที่บรรเทาอยู่ที่บ้าน นี้คือความผิดแปลกระหว่างบรรพชิตกับคฤหัสถ์ ต้องเดินไปทางเดียวกัน แต่ว่าคนหนึ่งมันเดินไปด้วยความยากลำบาก หอบหิ้วอะไรมาก ชาววัดนี้จะเดินไปได้เร็วๆ แล้วมาทำตัวให้เป็นผู้ล่าช้าอยู่หลังชาวบ้านเสียอีก มันก็หมดความเป็นบรรพชิต นี้พูดเพื่อให้แน่กันเสียอีกทีหนึ่ง ซ้ำอีกทีหนึ่งว่า หลักการของเราคือการบรรเทาความยึดถือว่าตัวกูว่าของกู ยิ่งๆ ขึ้นไป
ทีนี้ปัญหามันก็เกิดขึ้นว่าเราต้องสังคมกับคนทั้งหลายในโลก การสังคมต้องใช้ภาษา ภาษามันมีแต่ภาษาสำหรับผู้ยึดถือ ก็ต้องพูดภาษาผู้ยึดถือนั่นแหละ แต่ว่าจิตไม่ยึดถือ ทีนี้เราก็มีการกระทำ มันก็มีรูปแบบของการกระทำอย่างมีความยึดถือนั่นแหละ แต่ทีนี้จิตก็จะต้องไม่ยึดถือ การกระทำอันแรกที่ว่าต้องทำอย่างมีความยึดถือซึ่งเหมือนกันหมด ก็คือต้องหากิน ต้องหากินเพราะมันหิว หรือถ้าไม่กินมันจะตาย พระอรหันต์ก็ตาย ชาวบ้านก็ตายถ้าไม่ได้กิน ฉะนั้นมันต้องหากิน ทีนี้ชาวบ้านก็หากินด้วยความรู้สึกที่ยึดถือ พระอรหันต์ก็มีอาหารฉันโดยไม่ต้องมีความยึดถือ นี้เป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า เราจะต้องทำอย่างบุคคลผู้ยึดถือ เช่นหากินอย่างนี้ แต่ต้องด้วยจิตใจที่ไม่ได้ยึดถือยิ่งขึ้นทุกที พูดไปแล้วเดี๋ยวก็หาว่าผมประชดกับหมากับแมวเสียเรื่อย ก็บอกให้ดูหมาดูแมวมันทำอะไร แล้วมันมีชีวิตอยู่โดยที่มีความยึดถือน้อยมาก ฉะนั้นมันจึงไม่มีความทุกข์มากเหมือนเรา เรามันเป็นมนุษย์มีหัวสมองสูงคิดเก่ง บางทีเก่งจนเกิน เกินพอดี มันก็ได้ยึดถือมาก มันก็มีเรื่องยุ่งใจมากมีความทุกข์มากอะไรมาก สุนัขก็หากินแต่มันมีความยึดถือน้อยกว่าคน แล้วมันมีความทุกข์เกิดจากการหากินนั้นน้อยกว่าคน คนมันคิดเก่ง ทีนี้พระอรหันต์ท่านตัดความยึดถือได้ ออกหากิน ก็ออกหากินก็คืออาการของคนผู้ยึดถือ แต่ว่าไม่มีความยึดถือ
ทีนี้เรานั้นอย่า,สำหรับเรานั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว หากแต่ว่ากำลังพยายามเพื่อเดินตามพระอรหันต์ คือพยายามเพื่อให้เป็นพระอรหันต์ มันก็จำเป็นที่ว่าเราจะต้องฝึกการกระทำอย่างบุคคลผู้มีความยึดถือแต่มิได้ยึดถือ มันก็ออกหากิน ก็ด้วยจิตใจที่ยึดถือน้อย ให้น้อย,ให้น้อยเท่าที่จะน้อยได้ อย่างที่ว่าครูบาอาจารย์แต่ก่อนสอนว่าเดินไปบิณฑบาตพลางนั้น ก็ให้ปัจจเวกขณ์ ยถาปจฺจยํ ปวตฺตมานํ พลาง นั้นแหละดีที่สุด เก่งที่สุด แต่เรามันโง่เอง ไม่รู้ว่าว่าอะไร ไม่รู้ว่าทำเพื่ออะไร ถ้ารู้ความหมายของ ยถาปจฺจยํ อยู่แล้วก็เดินไปบิณฑบาต กว่าจะกลับมาก็ว่าพิจารณาตั้งหลายจบแหละ และมันเป็นเรื่องความไม่ยึดถือทั้งนั้น มิใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ไม่ใช่ชีโว อัตตานี้ มันก็หมายความว่าไปหากินด้วยจิตที่ไม่มีความยึดถือ พอกลับมาถึงวัด จะฉันอีก ก็ยังต้องปัจจเวกขณ์ ยถาปจฺจยํ อีก ปฏิสงฺขา โย อีก มันก็ไม่มีทางจะยึดถือ แล้วก็กินเข้าไปด้วยอาการอย่างที่ว่ามีความยึดถือแต่จิตมิได้ยึดถือ
เดี๋ยวนี้มันมีการกระทำอย่างที่เรียกว่าลูกนอกคอก ในภาษาบาลีมีคำว่าอย่างนี้ พวกลูกนอกคอกไม่ทำตามคำสั่งสอนของพระตถาคต ให้กินด้วยสติ มันก็กินมากๆ กินตะกละ กินมูมมาม กินเอาเปรียบจนต้องทะเลาะกันด้วยเรื่องอาหารการกิน มึงกินมาก กูกินน้อย เอาเปรียบกัน มันเสียหายเหลือประมาณถ้าเกิดเป็นลูกนอกคอกขึ้นมา ไม่พยายามที่จะมีสติสัมปชัญญะให้รู้สึกตัว อย่าเกิดกิเลส อย่าเกิดตัณหา อย่าเกิดความยึดถือเสียก่อนแล้วจึงไปหามากิน แล้วจึงกิน แล้วจึงนอน แล้วจึงอะไรก็ตามใจทุกอย่าง เดี๋ยวนี้มีความประมาทเกิดขึ้นเต็มตัวที่ว่าไม่เป็นไร ไม่สำคัญเรื่องนี้ จะกินท่าเดียว ตามองเห็นแต่อาหารแล้วก็จะตักมาแล้วก็จะกินท่าเดียว อย่างนี้ก็คือความประมาทอย่างยิ่ง และการกระทำนั้นทำไปด้วยความยึดถืออย่างยิ่ง ฉะนั้นอย่าเข้าใจไปว่าได้กินดี ได้กินดีกว่าเพื่อนฝูงกว่าเพื่อนมากกว่าเพื่อนนั้นมันจะเป็นความดี มันเป็นอาการที่ผิด เรียกว่าทำผิดด้วย แล้วก็ยึดถือมากด้วย แล้วก็มีความทุกข์มากด้วย นี่ก็ต้องยกเอาการกินนี้ขึ้นมาพูดก่อน เพราะมาหมายเลขหนึ่งในบรรดาสิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับมนุษย์
ทีนี้ก็ไปถึงเครื่องเรื่องนุ่งห่ม เรื่องที่อยู่อาศัย เรื่องเจ็บเรื่องไข้ ตามลำดับของปัจจัย และจงระวังเถิด จะต้องแต่งเนื้อแต่งตัวให้ถูกต้อง ให้เรียบร้อย ให้สะอาด ให้สะดวกสบาย คล้ายๆ กับเห็นแก่ความสะดวกสบาย แต่ให้พิจารณาจนไม่อาจจะเกิดความยึดถือนั่น ทีนี้ถ้าลืมพิจารณาแล้วก็เป็นผู้ประมาทยิ่งขึ้นจนถึงกับไม่พิจารณา แต่ก็มีวางโทษไว้เป็นอุปมาว่ามันเหมือนกับว่ามันกินไฟเข้าไป มันเอาไฟมาห่มเข้า หรือมันอยู่ในกองไฟ จะเอาจีวรมาห่มเข้าเหมือนกับห่มไฟนี่ ถ้าอยู่บนเสนาสนะก็ใช้สอย นั่นก็เลยอยู่กลางกองไฟ เขาพูดไว้อย่างนั้น คือผู้ที่ประมาทไม่มีสติรู้สึกในขณะที่กระทำอะไรๆ อยู่ทุกๆ อิริยาบถ มีความยึดถือเกิดขึ้น แล้วมีความโลภเกิดขึ้น มีความโกรธเกิดขึ้น มีความหลงเกิดขึ้น และก็ครุ่นระอุเหมือนกับไฟที่ซ่อนอยู่ใต้ขี้เถ้า บนหลังขี้เถ้านั้นอาจจะเอามือจับได้ไม่ร้อนหรอก แต่ใต้ขี้เถ้านั้นมันมีไฟที่ไหม้มือได้ทันที
เรื่องของกิเลสตัณหาชนิดนี้ประเภทนี้ มันเหมือนกันแหละ ก็ต้องมีความละอายหิริโอตตัปปะนี้ มีความกลัว เรียกว่าไม่ประมาทมีสติสัมปชัญญะ ซึ่งสรุปแล้วก็คือว่าทำอย่างกับว่ามีความยึดถือด้วยจิตที่ไม่มีความยึดถือ ไปหาอาหารมาฉัน ฉันแล้ว ห่มจีวรแล้วอยู่ในเสนาสนะ แล้วเจ็บแล้วไข้ กินยารักษาโรคอย่าให้มันตายอย่างนี้ อาการเหล่านี้มันเป็นอาการของบุคคลผู้มีความยึดถือ ซึ่งเราก็เป็นมาตั้งแต่เกิดมาจากท้องแม่จนบัดนี้ มันก็มีความรู้สึกที่ยึดถือ แต่เดี๋ยวนี้มาตั้งปณิธานว่าจะเปลี่ยน จะเปลี่ยนเป็นคนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เป็นคนธรรมดาอีกต่อไป จึงต้องรับคำสอนระบบนี้ไป ให้มีสติอยู่โดยไม่มีความยึดถือ คำสอนหรือข้อปฏิบัติทั้งหมดไปสรุปอยู่ที่สติ ฉะนั้นระวังให้ดีๆ อย่าดูถูกสิ่งที่เรียกว่าสติ มันต้องสติแล้วสติอีก บูชาสตินั่นแหละยิ่งกว่าสิ่งใด มันจึงจะไปรอด ฉะนั้นก็อยากจะพูดรายละเอียดของการกระทำที่ว่าจะต้องกระทำอย่างเดียวกับผู้ยึดถือแต่ไม่มีความยึดถือ
ทีแรก เราก็พูดกันถึงเรื่องพูดก่อน เรื่องพูดเราไม่มีภาษาอื่นพูดนอกจากภาษาแห่งความยึดถือ ทีนี้แบบของการกระทำก็เหมือนกัน เราไม่มีแบบไหนที่มันเป็นแบบของความไม่ยึดถือ มันเป็นแบบของความยึดถือ แม้มาบวชนี้มันก็บวชอย่างมีความยึดถือหรือแบบของบุคคลผู้ยึดถือว่าจะได้อะไรจากการบวช นี่มาปฏิบัติอยู่อย่างเคร่งครัดนี้ มันก็ลักษณะของความยึดถือว่าเราจะเอาอะไรให้ได้ มันหลีกไม่พ้นสำหรับลักษณะอาการของการกระทำ มันต้องอยู่ในรูปร่างของความยึดถือ ทีนี้มันแก้ได้ก็แต่ส่วนจิตที่จะปรับปรุงกันเสียใหม่ ให้มันยึดถือน้อยลงๆ จนไม่ยึดถือ แล้วทีนี้ก็ รายละเอียดหรือปัญหานั้นที่มีรายละเอียดว่าเราพูดภาษาคนยึดถือมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก นี่อย่างหนึ่ง เราอยู่ในแบบของการกระทำของผู้มีความยึดถือมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ทีนี้เราก็เลยกลายมาเป็นผู้มีจิตใจเต็มไปด้วยความยึดถือมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก เราทุกคนกำลังมีจิตใจแห่งบุคคลผู้ยึดถือมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก พูดนี้ เข้าใจได้ พอเข้าใจได้ เว้นไว้แต่จะไม่คิดไม่ส่งใจไปตาม เราเกิดมาเป็นเด็กทารกในวันแรกๆ นอนอยู่ในเบาะนั้น มันก็ยังไม่มีอะไรนัก แต่พอถูกสอนให้รู้จักกิน รู้จักพ่อ รู้จักแม่ รู้จักบ้าน รู้จักอะไรของเรานี้ เราก็ได้จิตใจชนิดที่มีความยึดถือมา แล้วก็มากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น จนกลายเป็นนิสัย
ผมอยากจะประหยัดเวลาด้วยคำพูด เช่นว่า จิตหมายถึงความคิด ใจหมายถึงความรู้สึก ถ้าเรากำลังคิดอะไรอยู่ นี้ เราจะเรียกว่าจิต คิดจะทำอะไรคิดอะไรอย่างนี้ ทีนี้ความรู้สึกนั่นคือที่รู้สึกเป็นสุขหรือรู้สึกเป็นทุกข์ รู้สึกอะไรอยู่ที่ไม่ใช่ความคิดนั่นแหละจะเรียกว่าใจ ทั้งจิตและทั้งใจของเรามันเป็นสิ่งที่ชินต่อความยึดถือมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก แล้วมันจะยากหรือง่ายเพียงไร มันจะยากหรือง่าย มันจะยากสักเท่าไหร่ในการที่จะเปลี่ยนจิตใจนี้ไม่ให้มันเป็นอย่างที่มันเคยชินมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ฉะนั้นคุณช่วยดูให้ดี คือดูตัวเองให้ดี ดูจิตใจของตัวเองให้ดี มันชินมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกในทางที่จะยึดถือ จนยึดถือเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ และจนยึดถือสองร้อยเปอร์เซ็นต์ สามร้อยเปอร์เซ็นต์ พันเปอร์เซ็นต์ หมื่นเปอร์เซ็นต์ ผมพูดแล้วจะไม่มีใครเชื่อ เพราะว่าความยึดถือนี้มันมากเกิน เกินที่ควรจะมี ฉะนั้นเราจึงล้างมันไม่ได้ บวชสิบพรรษาแล้วยังล้างมันไม่ได้ ยี่สิบพรรษาแล้วก็ยังล้างมันไม่ได้ บางทีมาเพิ่มที่ในวัด อุบาสกบางคนมาเพิ่มความยึดถือนี้ที่ในวัดนี่เอง พระเณรบางคนก็มาเพิ่มความยึดถือนี้ที่ในวัด ไม่มีประโยชน์ที่อุบาสกชนิดนั้นจะบวชขึ้นมาอีก เพราะมันมากเกินที่ว่าความเป็นพระนี้จะแก้ไขได้ ที่เป็นพระเป็นเณรแล้วก็เหมือนกัน เมื่อจิตใจมันถึงขนาดนั้นแล้วมันก็ย่ำเท้าอยู่ที่นี่ คือมันไปไม่รอด แล้วบางทีมันกลับถอยหลังอีก เพราะว่าเผลอมันมีแต่หล่นถอยหลัง อย่างที่มันสู้ได้มันก็ย่ำเท้าอยู่นั่น นี่มันจึงไปไม่รอด มันจึงต้องสึกบ้างหรือมันจะต้องเป็นอย่างอื่นบ้าง หรือว่ามันจะอยู่ไปจนตายมันก็ได้เท่านั้นแหละ มันทำลายความยึดถืออะไรไม่ได้ ฉะนั้นไม่ต้องดูที่ไหน ดูที่มันเป็นอยู่แก่เราในใจของเราหรือว่าบุคคลผู้อยู่ใกล้เราที่เราเห็นอยู่ทุกวันทั้งคืนทั้งเดือนทั้งปีนี้ว่ามันเป็นอย่างนี้ มาอยู่วัดด้วยตั้งใจว่าจะบรรเทาสิ่งที่เป็นกิเลสเป็นอันตรายนี้ แต่ทีนี้มันไม่บรรเทา มันกลับตรงกันข้าม แล้วบางทีมาอยู่วัดนี้จะได้โอกาสเพิ่มกิเลส สะสมกิเลสมากกว่าอยู่ที่บ้าน โดยเฉพาะวัดเรานี้มันเป็นวัดที่มีการสังคมมาก มีคนไปมามาก มีอะไรเกี่ยวข้องมาก แล้วมันก็ยิ่งเป็นโอกาสที่จะสัมพันธ์กันกับสิ่งที่ยั่วให้ยึดถือมาก แล้วมันก็เกิดความยึดถือมาก อยู่ที่บ้านเสียยังดีกว่า ในป่าในดงยากจนเข็ญใจมันไม่มีโอกาสที่จะเกิดความยึดถือมากเหมือนอย่างนี้ อย่างนี้เป็นต้น ระวังให้ดี
ฉะนั้นบรรดาพวกเราที่มาบวชกันนี้ก็มาจากตระกูลต่างๆ กัน ทีนี้บางคนมาจากป่าจากดงซึ่งมีสิ่งที่ยั่วให้ยึดถือน้อยนั้นก็นับว่าเป็นบุญอยู่แล้ว ทีนี้ต้องมาอยู่ในดงของสิ่งที่ยั่วความยึดถือมาก มันก็มาเพิ่มเท่านั้นแหละ จิตใจดั้งเดิม ทั้งจิตและทั้งใจมันเต็มมาด้วยความยึดถือจนกระทั่งมาบวชจนกระทั่งบวชอยู่ ฉะนั้นเราจะแก้ไขมันอย่างไรนี่ มันก็กระทำเป็นพื้นฐานอยู่ตลอดเวลาที่จะกระทำอย่างว่ายึดถือแต่จะไม่ยึดถือ และถ้าได้โอกาสพิเศษไปนั่งทำสมาธิภาวนาโดยตรง ก็ไปพิจารณาเรื่องนี้คือสติปัฏฐาน จะทำลายความยึดถือ แต่ว่าเพียงเท่านั้นไม่พอ จะไปนั่งหลับตาเพียงวันละชั่วโมงสองชั่วโมงไม่พอ บางทีก็ไปนั่งทำหลอกตัวเองเล่น ที่จริงต้องทำอยู่ทุกเวลานาที ทุกลมหายใจเข้าออก แล้วก็ต้องทำในเวลาที่กิเลสมันรบกวนหรือมันยั่วมาก เวลากิน เป็นนัมเบอร์หนึ่ง เวลาแต่งเนื้อแต่งตัว เวลาอยู่อาศัย เวลาเจ็บไข้ เวลาสังคมกันและกันนี้ จะต้องหัดกระทำ ทำอย่างคนยึดถือแต่จิตไม่ยึดถือยิ่งขึ้นเพื่อจะแก้สันดานเดิมนิสัยเดิมที่เรียกว่าอาสวะอนุสัยนั่นแหละ มันมีอยู่มาก มันแก้ยาก ระวังอย่าไปเพิ่มเข้าอีก
ตรงนี้บางคนอาจจะฟังไม่ถูก ฉะนั้นขอโอกาสพูดอีก พูดซ้ำอีก ว่าถ้าเรามีกิเลสทีหนึ่ง มันจะเพิ่มอนุสัยหรืออาสวะให้ทีหนึ่ง คือเราก็สมมุติว่าเรื่องความโกรธนี้ เราก็โกรธเป็น โกรธเก่งมาแล้ว ทีนี้ถ้าเราโกรธอีก โกรธครั้งหนึ่ง จะเพิ่มอาสวะอนุสัยสำหรับโกรธนั้นเข้าอีก ให้มันมากขึ้นอีก ทีนี้โกรธสองครั้ง สามครั้ง สี่ครั้ง ห้าครั้ง มันจะเพิ่มความเก่งในการที่จะโกรธ ความเคยชินว่องไวในการที่จะโกรธมากขึ้นอีก มากขึ้นอีก อย่างนี้ก็เรียกว่าอนุสัยหรืออาสวะ แต่ว่าคนอื่นเขาไม่อธิบายอย่างนี้นะ บอกให้รู้
ทีนี้ก็คิดดูสิ ความโลภก็อย่างนั้น ความหลงก็อย่างนั้น ความโกรธก็อย่างนั้น มันช่วยไม่ได้หรอก พอไปโกรธเข้าทีหนึ่งมันเพิ่มอาสวะโกรธทีหนึ่ง พอไปโลภเข้าทีหนึ่งเพิ่มอาสวะโลภทีหนึ่ง นี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัด ไม่ใช่ผมว่าเอาเอง ถ้าเราโลภเข้าทีหนึ่ง จะทำให้ราคานุสัยเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นครั้งหนึ่ง ถ้าเราโกรธเกลียดอะไรพวกนี้ทีหนึ่ง ก็จะเพิ่ม ปฏิฆานุสัยขึ้นอีกจำนวนหนึ่งปริมาณอันหนึ่ง ถ้าเราไปโง่ไปหลงไปอะไรนี้ ก็จะเพิ่มอวิชชานุสัยขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง มันมีแต่เพิ่ม เพิ่มราคานุสัย พวกโลภ, เพิ่มปฏิฆานุสัย พวกโกรธ, เพิ่มอวิชชานุสัย พวกหลง ผ้าเหลืองป้องกันไม่ได้หรอก เชื่อผมเถอะ,ที่จะไม่ให้เพิ่ม มันต้องจิตใจของคุณโดยตรงที่จะป้องกันได้ ถ้าไม่โลภมันก็ไม่เพิ่มราคานุสัย ถ้าไม่โกรธมันก็ไม่เพิ่มปฏิฆานุสัย ถ้าไม่หลงก็ไม่เพิ่มอวิชชานุสัย ลำพังเอาผ้าเหลืองมาคลุมโปงไว้นี้มันกันไม่ได้ ฉะนั้นไปดูที่จิตใจกันดีกว่า บวชเข้ามากี่พรรษาแล้ว ๒ พรรษาแล้ว ๓ พรรษาแล้ว ๕ พรรษาแล้ว ๑๐ พรรษาแล้ว ๒๐ พรรษาแล้ว มันช่วยไม่ได้ เพราะว่าไม่พยายามที่จะลด ไม่พยายามที่จะลด ไม่ระวังที่จะลดมัน มันมีเพิ่มขึ้นเรื่อย เราไม่โกรธทีหนึ่ง มันก็จะลดได้ทีหนึ่ง หมายความว่ามันมีเรื่องที่ทำให้โกรธแล้วไม่โกรธได้จริงๆ อีกทีหนึ่งนะ อนุสัยหรืออาสวะนั้นจะลดลงไป คือจะแหว่งไปนิดหนึ่ง น้อยลงนิดหนึ่ง แล้วพอมีเรื่องมาให้โลภอย่างแรงอีก เราต่อสู้ได้ ไม่โลภ นี่อาสวะราคานุสัยมันจะแหว่งหรือลดลงไปนิดหนึ่ง ถ้าอย่างนี้มันลดนะ แต่ทีนี้มันไม่เป็นอย่างนั้นนี่ พอมาให้โกรธมันโกรธ พอมาให้โลภมันโลภ พอมาให้โง่มันโง่ มันก็มีแต่เพิ่ม เพิ่ม เพิ่ม เป็นอนุสัยหรืออาสวะที่ใหญ่โตเป็นภูเขา
ฉะนั้นระหว่างที่บวชอยู่นี้มันก็ต้องทำทุกวิถีทางที่จะให้มันลด ไม่ใช่ว่าอยู่นิ่งๆ เฉยๆนี้แล้วอาสวะมันจะลด มันไม่ลด เดี๋ยวนี้เราก็ไม่โกรธ,เอาสิ เราก็ไม่โลภ แต่มันไม่ลด อาสวะอนุสัยนั้นมิได้ลด มันจะลดต่อเมื่อเรามีการต่อสู้แล้วไม่โกรธ จึงจะลดอาสวะพวกโกรธ มันมายั่วให้อร่อย ให้หลง ให้ตะกละ ให้อะไรนี่ แล้วเราต่อสู้ไว้ได้ นี้มันจึงจะลด ลดอนุสัยประเภทโลภ ประเภทราคะ ถ้าอยู่เฉยๆ อย่างนี้ก็ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงจริงเหมือนกัน แต่มันไม่ลด มันไม่ลดอนุสัยสักอย่างเดียว
ฉะนั้นผมจึงเห็นว่าควรจะฝึกบทเรียนนี้กันเสียใหม่ให้ยิ่งขึ้นไป คือประพฤติหรือกระทำอย่างบุคคลผู้มีความยึดถือตามอาการของบุคคลผู้ยึดถือแต่จิตมิได้ยึดถือ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วไม่มีทางที่จะเกิดความโลภความโกรธความหลงได้ อยู่อย่างที่เรียกว่าตัดอาหารของกิเลสเสีย กิเลสอ่อนกำลัง พอมีอะไรมาให้โกรธ มันสู้ได้ มันไม่โกรธ มีอะไรมาให้โลภให้กำหนัด มันสู้ได้ มันไม่โลภ มันไม่กำหนัด มาให้หลง ให้หลงใหล มันก็ไม่หลงใหล
นี้คือความเป็นอยู่ที่ถูกต้องชนิดที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า จะทำให้โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ เพียงแต่มีความเป็นอยู่ที่ถูกต้องโลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ เดี๋ยวนี้เรามีจิตและใจเต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกจนกระทั่งวันนี้ และมันจะกระทั่งวันหน้าเสียด้วย
ทีนี้มันมีความยากลำบากเร้นลับอีกทีหนึ่งว่า บรรดาสิ่งที่จำเป็นที่ชีวิตจะต้องทำ การกระทำที่สิ่งที่มีชีวิตจะต้องทำให้ชีวิตรอดอยู่ได้นี้ มันมีลักษณะแห่งการยึดถือทั้งนั้น เราจึงหลีกไม่พ้น คือมันยั่วให้ไปใกล้ความยึดถือนั้น การที่เราจะมีชีวิตรอดอยู่ได้ในโลกนี้เราต้องมีการกระทำชนิดที่ใกล้ชิดกับความยึดถือ เช่นหากินหรือกินหรืออร่อยหรืออะไรก็ตาม มันล้วนแต่ใกล้ชิดกับความยึดถือ เมื่อลิ้นมันยังดีอยู่ มันทำไมจะไม่ให้มันรู้สึกว่าอร่อยล่ะ คุณลองไปกินอะไรเข้าดูสิ เมื่อลิ้นมันยังดีอยู่แล้วมันต้องรู้สึกว่าอร่อย มันใกล้ชิดหรือมันถึงกันเลยกับเรื่องของความยึดถือ เราจะต่อสู้ไหวไหมนี่ ก็เพราะว่าเนื้อตัวของเราทั้งหมดมันอยู่กับการกระทำที่อยู่ใกล้ชิดกับสิ่งหรืออารมณ์ที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ เราอยู่ในโลกนี้เรามีตาที่ต้องเห็นรูป มีหูที่ต้องฟังเสียง มันหลีกไม่พ้น เมื่อตา หู ยังดีอยู่ มันก็รู้สึกอร่อยบ้าง รู้สึกไพเราะบ้าง รู้สึกหอมบ้าง รู้สึกนิ่มนวลบ้าง รู้สึกอะไรที่ชิดกันอยู่กับความยึดถือจะเกิดความยึดถือ มันเป็นความยากลำบากส่วนนี้ ฉะนั้นสติต้องดีไปกว่าธรรมดาอีก พูดง่ายๆ เช่นจะนอนเบียดอยู่กับสิ่งที่นิ่มนวลโดยไม่มีความยึดถือนี้ มันก็เป็นบทเรียนที่ยาก มันก็ต้องเก่งนะ ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็คือคนธรรมดา มันก็ไม่ใช่สาวกของพระพุทธเจ้า มันคือคนธรรมดา ถ้าต้องการจะเป็นสาวกของพระพุทธเจ้ามันก็ต้องผิดจากคนธรรมดา เขาจะว่าบ้าก็ตามใจ มันต้องผิดตรงกันข้ามไปจากคนธรรมดาที่เต็มไปด้วยความยึดถือ นี่มันก็เลยเป็นบทเรียนที่ยากมากขึ้นไปอีกที่จะกระทำอย่างบุคคลผู้มีความยึดถือแล้วจิตไม่ยึดถือ
ฉะนั้นเราจะต้องฝึกกันถึงขนาดที่เรียกว่าพอใจชอบใจก็ได้โดยไม่ต้องมีความยึดถือ นี่เกือบจะไม่เชื่อแล้ว หลายคนจะไม่เชื่อ หรือว่าในโลกนี้เกือบทั้งหมดจะไม่เชื่อ ว่าเราจะพอใจหรือเป็นสุขได้โดยไม่ต้องมีความยึดถือ นี้เป็นปัญหาที่ยากลำบากที่เผยแผ่ธรรมะได้ยาก สอนศาสนาได้ยาก เพราะว่าคนทั้งหลายเขาต้องการความสุขความพอใจ แล้วเขาไม่ยอมสละความสุขความพอใจ ทีนี้ถ้าคุณสอนเขาว่าความสุขความพอใจนี้เป็นกิเลส เป็นที่ตั้งแห่งกิเลส นำมาซึ่งความทุกข์ เขาก็ไม่เอา เขาก็ไม่รับ ไม่รับพุทธศาสนา ถ้าไปบอกว่าพุทธศาสนาจะกำจัดความพอใจอะไร เป็นของจืดชืดไปหมด อย่างนี้มันไม่ถูกหรอก มันไม่ถูก แม้ฝ่ายพระอรหันต์ก็ไม่ถูก แม้ฝ่ายปุถุชนนี้ก็ไม่ถูก ฝ่ายพระอรหันต์ สำหรับเรื่องฝ่ายพระอรหันต์ไม่ถูกก็พระอรหันต์มิได้รู้สึกว่าจืดชืดหรือหวานหอมอะไรเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่มากระทบนี้ คนมันเดาเอาเองว่าพระอรหันต์จะมีความรู้สึกจืดชืดไปหมดในชีวิต นี่คนไม่รู้มันว่าเอาเอง แต่ว่าพระอรหันต์ก็จะไม่รู้สึกสนุกสนานยินดีพอใจบันเทิงเริงรื่นอะไรเหมือนกัน นั่นแหละคือความสงบสุข
ทีนี้สำหรับปุถุชนเรา มันก็ต้องยอมรับว่าความพอใจนี้เป็นสิ่งที่ต้องปรารถนา ปีติปราโมทย์ความสุขนี้ต้องละไม่ได้ และในการปฏิบัติธรรมก็ไม่ได้สอนให้ละสิ่งนี้ แต่สอนให้มีสิ่งนี้เพื่อช่วยให้จิตเป็นสมาธิ พูดแล้วก็จะหาว่าผมว่าคุณเสียเรื่อยเพราะว่าคุณไม่จดไม่จำไม่ดูไม่อ่านไม่สังเกต คือหลักของจิตที่จะเป็นสมาธินั้นมันต้องมีรองลงมาคือปัสสัทธิ จากปัสสัทธิมาคือปีติ จากปีติมาปราโมทย์ จากปราโมทย์มาคือศรัทธา ปีติก็คือความพอใจสบายใจหรือพอใจนั่นแหละ สุขก็คือสุขนั่นแหละ แล้วมันจึงจะมีที่เรียกว่าปัสสัทธิ แล้วจึงจะมีสมาธิ ในเรื่องของสมาธิแท้ๆ ก็ยังต้องการปีติและความสุข ฉะนั้นคนทั่วไปเขาก็ต้องมีชีวิตอยู่ด้วยความพอใจปีติและสุข อย่าไปบอกเขาว่าธรรมะมันจะต้องไม่มีสิ่งเหล่านั้น จะต้องเอานั้นออกไปเสีย แต่เราจะไปบอกว่าเราทำในลักษณะที่ว่ามีปีติ มีสุข มีปราโมทย์ มีบันเทิงได้โดยที่ไม่ต้องยึดถือ เพราะว่าถ้าไปยึดถือเอาเมื่อไหร่มันจะกัดเอาเมื่อนั้น พูดอย่างนี้มันจำง่ายดี ถ้าเราไปรักไปยึดถือไปอยากดู อุปาทานมันจะกัดเอาเมื่อนั้น แต่ถ้าเราไม่ไปทำไม่ไปยึดถือ มันก็ไม่ทำอะไรเรา แล้วเราก็พอใจได้อะไรได้ คือมีความสุขอยู่ได้
ฉะนั้นเราจะหาวิธีให้ทุกคนมีความพอใจอยู่ในการทำการงาน พอใจในผลงานที่ได้รับ พอใจในการบริโภคผลงานที่ได้มาแล้ว เป็นอยู่อย่างด้วยความพอใจได้ แต่อย่าให้มันเกิดกัดเอาเราเข้า คือว่าไปยึดถือให้เป็นตัวกูเป็นของกูขึ้นมาเมื่อไหร่ มันจะกัดเราทันที คือเป็นความวิตกกังวลบ้าง เป็นความกลัวเป็นความระแวงล่วงหน้าบ้าง เป็นอะไรขึ้นมาทันที ฉะนั้นความประเสริฐที่สุดของคำสอนของพระพุทธเจ้าก็อยู่ที่ตรงนี้ คือสอนให้คนอยู่ในโลกโดยมีชัยชนะ ไม่ต้องวิ่งหนี ไม่ต้องทิ้งโลก ไม่ต้องทิ้งบ้านเรือนเหมือนที่คนโง่ๆ มันว่าเอาเอง คนที่ถึงขนาดที่ออกไปจากบ้านเรือนก็ไปเถิด แต่คนที่ยังไม่ถึงขนาดนั้น ยังทำอย่างนั้นไม่ได้ แต่ว่าอยู่ในบ้านในเรือนด้วยชัยชนะ คือได้เคล็ดได้อะไรที่จะไม่เกิดความทุกข์ในบ้านเรือน แล้วทีหลังมันค่อยออกไปก็ได้ หรือว่าเมื่อไม่ออกไปจากบ้านเรือน มันก็เป็นที่พอใจ มีผลควรจะเป็นที่พอใจมากอยู่แล้ว
อย่าลืมนะ เมื่อตะกี้พูดว่าฆราวาสหรือบรรพชิตก็ต้องทำเหมือนกัน มุ่งหมายอย่างเดียวกัน เพียงแต่ฆราวาสมันช้าหน่อย มันต้องช้า เดินช้าๆ คลานไปช้าๆ บรรพชิตควรจะเดินไปเร็วๆ วิ่งไปเร็วๆ หรือเหาะไปเร็วๆ ทีนี้เมื่อยังอยู่ ยังจะต้องอยู่ด้วยโลกที่มันมีความเป็นอย่างนี้ มีอารมณ์มีสิ่งอะไรต่างๆ ที่มันเป็นลักษณะแห่งความยึดถือ เราก็ต้องมีความเก่งที่เรียกว่าศิลปะอะไรก็ได้ที่จะไม่ยึดถือ ที่จะไม่ให้มันกัดเราได้ บางทีเราใช้คำพูดว่า ทีเราจะกินปลาให้หมดเข้าไปเท่าไหร่ก็ได้โดยไม่ติดก้าง โดยก้างไม่ทำอันตรายนั่น คนโง่ๆ มันทำไม่เป็น ไปกินปลาคำแรกก็ก้างติดคอ ต้องไปหาหมอหรือตายเลย มันต้องมีศิลปะนี้ที่ว่าจะไม่ทำให้โลกนี้ทำอันตรายเราได้ ทีนี้จะกินปลาเท่าไหร่ก็ไม่ถูกก้างปลา
ทีนี้มันยากไปกว่านั้นอีกก็คือว่า ร่างกายของเรานี้มันสร้างมาประหลาด ที่จะต้องอาศัยการกระทำอย่างมีความยึดถือ เพราะว่าธรรมชาติแท้ๆ มันมีสัญชาตญาณแห่งความยึดถือ ผมก็เคยพูดเรื่องนี้ จะโทษผมไม่ได้ เคยพูดเรื่องนี้หลายหนแล้ว แต่มีหลายคนอวดดีไม่มาฟังหรอก แล้วมาฟังก็มานั่งหลับ ไม่พยายามทำความเข้าใจที่ว่าสัญชาตญาณแท้ๆ ที่ทำให้สิ่งมีชีวิตมีชิวิตอยู่ได้นี้คือสัญชาตญาณแห่งความยึดถือว่าตัวกูว่าของกู มันจึงมีสัญชาตญาณแห่งการหาอาหาร สัญชาตญาณแห่งการต่อสู้ทุกอย่างเพื่อให้มันรอดชีวิตอยู่ได้แม้แต่สัญชาตญาณแห่งการสืบพันธ์ แต่ว่าสัญชาตญาณแห่งตัวกูของกู หรือ EGOISM นี้อาจจะไม่มีในตำราที่เขาเรียนๆ กันอยู่ก็ได้ คือเขาไม่ระบุชื่อนี้ตรง แต่ที่แท้มันเป็นอันนี้ เขาไปแจกเอาฝอยของมันหมด สัญชาตญาณแห่งการหาอาหาร แห่งการสืบพันธ์ แห่งการต่อสู้อะไรก็ตามใจ ไม่พูดถึงสัญชาตญาณแห่งอัตตวาทุปาทานเหมือนพระพุทธเจ้าพูด คือสัญชาตญาณแห่งการมีตัวกูนั้นมันเป็นอันแม่บท แล้วมันจะแจกรูปไปเป็นอะไรก็ได้
ทีนี้ชีวิตมันออกมาจากสัญชาตญาณอันนี้ ฉะนั้นร่างกายนี้ที่ถูกจัดขึ้นมาโดยธรรมชาตินี้มันเป็นร่างกายที่มาสำหรับยึดถือ มีมาหรือมีขึ้นสำหรับทำหน้าที่ยึดถือ เพราะต้นเหตุผู้สร้างมันมานั้นมันเป็นความยึดถือ มันก็เกิดความยากลำบากสิ ที่ว่าเราจะต้องทำงานในลักษณะที่เรียกว่าเหมือนกับการต่อต้านสัญชาตญาณ หรือฆ่าหรือทำลายสัญชาตญาณไปเลย มันยากเท่าไหร่ ถูกแล้วมันต้องยากสิ ถ้าไม่ยากขนาดนี้พระอรหันต์ก็ไม่ใช่บุคคลผู้พิเศษหรือวิเศษสิ ก็เป็นคนธรรมดาไป ทำไมพระอริยเจ้าทั้งหลายจึงเป็นบุคคลพิเศษประเสริฐสูงสุดล่ะ เพราะว่ามันทำลายอำนาจแห่งสัญชาตญาณได้ คนธรรมดามันทำไม่ได้ จะต้องปล่อยไปตามกระแสแห่งความยึดถือว่าตัวกูว่าของกูนั้น EGOISM ทั้งหลายยังอยู่ มันเป็นสัญชาตญาณ แต่ทีนี้ผู้ที่จะกระเด็นออกไปจากการเป็นคนธรรมดาก็คือคนที่จะทำลาย จะบรรเทาหรือทำลายหรือกำจัดสัญชาตญาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัญชาตญาณแห่งความมีตัวตนเป็นตัวเป็นตนนั้น เมื่อสัญชาตญาณแห่งความเป็นตัวตนถูกทำลายแล้ว อันอื่นมันถูกทำลายหมด มันไปหาอาหารกินได้ด้วยความรู้สึกอย่างอื่น ไม่ใช่ด้วยสัญชาตญาณแห่งการไปหาอาหารเหมือนสุนัขและแมวนี้
ถ้าสมมุติว่าพระอริยเจ้าจะมีการสืบพันธุ์ เช่นว่าพระอรหันต์พระสกิทาคามี ๒ ประเภทนี้ยังเป็นฆราวาส มีบุตรภรรยาสามี ก็ต้องด้วยรู้สึกที่ดีกว่าคนธรรมดาแหละ เพราะมันเริ่มรู้จักความไม่ยึดถือหรือโทษของความยึดถือ แล้วมันจึงไม่ทำด้วยความหลงใหลในกามารมณ์ในอะไรมากเหมือนคนที่ไม่รู้ นี่มันเริ่มฝืนกระแสแห่งสัญชาตญาณ มันเริ่มบั่นทอนอำนาจกำลังแห่งสัญชาตญาณไปตั้งแต่พระโสดาบันพระสกิทาคามีอย่างนี้ เมื่อไปถึงพระอรหันต์มันก็คือชนะหมดถึงที่สุด
นี้เป็นตัวอย่างเท่านั้นที่เอามาพูดนี้ เพื่อให้เห็นว่าระบบของความเป็นพระอริยเจ้านั้นมันไปทางนี้ ห่างไกลออกไปจากความเป็นปุถุชน ที่ว่าไปทางนี้หมายความว่ามันไปในทางที่ตรงกันข้ามคือจะทำลายอำนาจของสัญชาตญาณ ที่ทำให้ยึดถือ เมื่อยึดถือแล้วก็มีกิเลสอย่างอื่นอีกมากมาย โลภโกรธหลงไปตามเรื่อง เพราะเหตุฉะนั้นพระอรหันต์จึงคือผู้หมดความโลภความโกรธความหลง ไม่มีความยึดถือเหลืออยู่แม้แต่นิดเดียว ไม่มีความรู้สึกเป็นตัวกูของกูแม้แต่นิดเดียว ฉะนั้นสัญชาตญาณประเภทตัวตน ประเภท EGOISM ทั้งหลายนี้มันก็หมด
เดี๋ยวนี้เรายังไม่เป็นอย่างนั้น เราเกิดมาตามที่ธรรมชาติสร้างมา ทีนี้ธรรมชาติที่สร้างมา ก็สร้างมาด้วยอะไรล่ะ ด้วยสัญชาตญาณอันนี้นะ อย่างว่าจะปั้นหม้อก็เอาดินมาสำหรับปั้นหม้อนี่ เดี๋ยวนี้ธรรมชาติมันจะสร้างมนุษย์ขึ้นมานี้มันก็เอาสัญชาตญาณอันนี้มาสร้างเป็นมนุษย์ขึ้นด้วยเชื้อแห่งความยึดถือ ฉะนั้นมันจึงมีร่างกาย มีจิตใจ มีอะไรพร้อมสำหรับความยึดถือ ทีนี้เราก็ต้องมีการต่อสู้หนักอย่างหนักที่สุดที่จะเอาชนะมันเสียหรือว่าจะถอนตนออกมาเสียได้คือหลุดพ้นออกมาเสียได้จากสัญชาตญาณอันนั้น คือผมจะพูดว่าทำลายมันเสียก็ได้ คือผมจะไม่พูดว่าทำลายมันเสีย อย่าไปมัวทำลายมันให้เสียเวลา หลุดออกมาเสียก็ได้ จิตมันหลุดออกมาเสียจากสัญชาตญาณอันนั้น เพราะฉะนั้นมันก็มีผลเท่ากันแหละ คือว่าอย่ามีสัญชาตญาณแห่งตัวตนเข้ามาเกี่ยวข้องมันก็มีผลเท่ากัน จะใช้คำว่าทำลายกิเลสเสีย ก็เป็นโวหารสมมติ ใช้คำว่าออกมาเสียจากอำนาจของกิเลสไม่เกี่ยวข้องอีกต่อไป มันก็ถูกเหมือนกัน เป็นการสมมุติ เป็นการบัญญัติคนละระดับ แล้วก็ไปสำรวจดูเนื้อหนังร่างกาย จิตใจของตัวเองดู คลำดู เนื้อหนังเอ็นกระดูกเป็นอย่างไร มันสร้างมาสำหรับอย่างไร เช่น ตา พอเห็นผู้หญิงเข้ามันรู้สึกอย่างไร ทำไมเพียงแต่ภาพที่เห็นนั้นน่ะ มันไปเร้าระบบประสาทเกิดเป็นความกำหนัดเป็นอะไรขึ้นมาได้ เพราะว่าธรรมชาติมันสร้างเนื้อหนังร่างกายมาด้วยต้นเหตุอันนี้ โดยสัญชาตญาณแห่งความมีตัวตนแห่งการที่จะถนอมไว้ซึ่งตัวตน การจะสืบพันธุ์ตัวตน หล่อเลี้ยงตัวตน ต่อสู้เพื่อตัวตนนี้ มันยิ่งกว่าวิเศษ วิเศษยิ่งกว่ายานพานะที่จะไปโลกพระจันทร์ทั้งร้อยเท่าหมื่นเท่าแสนเท่าล้านเท่า คือการสร้างสรรค์ของธรรมชาติที่มันสร้างมนุษย์ขึ้นมานี้มันน่าอัศจรรย์ เพียงแต่ภาพที่เห็นทางตานี้แล้วเกิดความกำหนัดทางเพศอย่างลุ่มหลง อย่างฆ่ากันตายก็ได้ อย่างบูชาไม่มีอะไรเหมือนก็ได้
ทีนี้เพียงแต่ได้ยินทางหูนี้เกิดความกำหนัด นั่นแหละความพิเศษลึกลับของสัญชาตญาณแห่งตัวกูของกูที่ธรรมชาติใส่มาให้ในสิ่งที่มีชีวิต ยิ่งชีวิตมีวิวัฒนาการสูงก็ยิ่งมีอันนี้แรงหรือสูง แล้วก็ดูจะไม่มีอะไรสูงไปกว่าคนแล้ว ต้นไม้ สัตว์โน่นก็ต่ำๆ ลงไป คนนี้มันสูงที่สุดเท่าที่เรามองเห็นอยู่ ฉะนั้นคนจึงมีปัญหามาก คือรับบาปไว้มาก คือสัญชาตญาณอันนั้นมันเข้มข้นมาก มันจึงมีตัวกูมีของกูมาก เกิดความโลภความโกรธความหลงอะไรได้ ทีนี้เราก็ทำอย่างว่าคือว่าเปลี่ยนระบบที่ว่าเราจะกระทำด้วยร่างกายนี้แหละ ด้วยร่างกายที่มันให้มานี้สำหรับยึดถือนี่ แต่ด้วยความไม่ยึดถือ ฉะนั้นเราจึงเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรสอะไรก็ตาม ตามเรื่อง ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายด้วยผิวหนังอะไรก็ตาม ด้วยสติสัมปชัญญะที่จะมีอย่างเพียงพอสำหรับจะไม่ยึดถือ ทุกคนจะมองเห็นเป็นอย่างเดียวกันว่ามันยาก มันยากจริงเหมือนกันแหละ ถ้ามองผ่านๆ อย่างนี้จะเห็นว่ามันยาก ยากจนเหลือวิสัยก็ได้ แต่ถ้าว่ามันเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็ไม่ต้องเกิดขึ้น เดี๋ยวนี้มันเป็นถึงกับพระพุทธเจ้าได้เกิดขึ้น ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ช่วยแก้ไขปัญหาอันนี้ได้พระพุทธเจ้าก็ไม่มีประโยชน์อะไร นี่ไม่ใช่ผมจะพูดจ้วงจาบพระพุทธเจ้า พูดให้คุณเข้าใจ เพื่อว่าจะได้เห็นไปว่าสิ่งนี้มันเหลือวิสัยเท่านั้นแหละ แม้ว่าสัญชาตญาณตามธรรมชาติมันจะลึกลับ มันจะเก่งกล้าสามารถเท่าไหร่ ก็ยังมีบุคคลอย่างพระพุทธเจ้านี้เอาชนะมันได้ ทำให้บุคคลที่ปฏิบัติตามท่านถึงที่สุดแล้วนี้พ้นไปจากอำนาจบีบคั้นควบคุมของสัญชาตญาณทั้งหลาย อย่างพระอรหันต์เป็นต้น ฉะนั้นอย่าไปคิดว่ามันเหลือวิสัย มันจะเหลือวิสัยหรือไม่เหลือวิสัยมันก็อยู่ที่เราเอง เราเหลวไหลหรือเราไม่เหลวไหล ถ้าเราไม่เหลวไหลมันก็ไม่เหลือวิสัย แม้ว่ามันจะช้าหน่อยหรือช้ามาก มันก็ต้องเป็นอันว่าไม่ต้องลังเล ไม่ต้องมีวิจิกิจฉาในเรื่องนี้ และก็แน่ใจที่จะไปแนวทางนั้นไปทางทิศนั้น ช้าหรือเร็วก็ตามใจ ฆราวาสก็ไปช้าหน่อย บรรพชิตก็ไปเร็วหน่อย คนโง่ก็ไปช้าหน่อย คนฉลาดก็ไปเร็วหน่อย ขอแต่ว่าอย่าเหลวไหลก็แล้วกัน เดี๋ยวนี้มันอยู่ด้วยความไม่มี ไม่มีความแน่ใจว่าจะทำอะไร
เกี่ยวกับตอนนี้มันต้องนึกถึงสิ่งที่เรียกว่าสังโยชน์หรืออนุสัยหมายเลขหนึ่ง คือวิจิกิจฉา สังโยชน์ ๑๐ เริ่มขึ้นด้วยวิจิกิจฉาคือลังเล ลังเลนี้ก็คือ Conflict ระดับพื้นฐาน มันลังเลได้มากอย่าง ที่ส่วนใหญ่มันก็ลังเลที่ว่าเราจะไปทางนี้หรือว่าจะไปทางนี้ คือเราจะไปอย่างตามใจสัญชาตญาณ หรือว่าเราอยากจะไปอย่างต่อต้านทำลายสัญชาตญาณ นี่มันลังเลพื้นฐาน อย่างที่พระเณรลังเลนี้ จะบวชดี จะบวชอยู่ต่อไปดีหรือจะสึกดีนี้ เต็มอยู่ในใจ พระเณรตั้งยี่สิบพรรษาแล้วยังมี Conflict ที่เรียกว่าวิจิกิจฉา ที่มันอยากสึกมันก็อยากไปตามสัญชาตญาณต่ำๆ ที่มันอยากต่อสู้ก็คือว่าอยากจะไปข้างพระพุทธเจ้าคือบุคคลผู้จะต่อสู้ แล้วก็ยังลังเลอยู่อย่างนี้ ดังนั้นจึงทำอะไรไม่ได้
ทีนี้เราจะต้องไม่มีปัญหาทำนองนี้ มันจึงจะเป็นอยู่อย่างราวกับว่าผู้ยึดถือ เป็นอยู่อย่างผู้ยึดถือแต่ว่าด้วยจิตที่ไม่ยึดถือ พูดจาอย่างผู้ยึดถือแต่ว่าจิตไม่ยึดถือ กระทำสิ่งต่างๆ อยู่ในอาการของบุคคลผู้ยึดถือแต่ที่แท้จิตมิได้ยึดถือ เรียกว่ามีชีวิตเป็นอยู่เหมือนผู้ยึดถือทั้งหลายแต่จิตใจมิได้ยึดถือ นี้ที่เรียกว่าถ้าอยู่อย่างนี้อยู่ก็เรียกว่ามีอาการที่ขันธ์มันฆ่าขันธ์อยู่เรื่อยไป ไม่เท่าไหร่มันจะตายของมันเอง มีสติปัญญาสำหรับมีเบญจขันธ์ที่ไม่มีอุปาทานอยู่เรื่อยในการเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัสผิวหนังอะไรก็ตามใจ หรือว่าในการกิน การอยู่ การอาบ การถ่าย การอะไรต่างๆ ราวกับว่าบุคคลผู้ยึดถือแต่มีสติปัญญาสามารถเพียงพอที่จะไม่ให้เกิดความยึดถือ
นี้คือคำอธิบายของการเป็นอยู่อย่างที่เรียกว่าขันธ์ฆ่าขันธ์อย่างหนึ่งแล้วด้วยเหมือนกัน นี่เรายังจะพูดเรื่องนี้ต่อไปอีกสักสองสามครั้งจึงจะพอ สำหรับวันนี้มันหมดเวลาแล้ว ก็หยุดกันไว้เพียงเท่านี้ก่อน