แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาฏิโมกข์ของพวกเราที่นี่ ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกูโดยปริยายใดปริยายหนึ่งต่อไปตามเคยโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงเรื่อง เพราะว่าเรื่องที่เกี่ยวกับตัวกูของกูนี้ยังมีอีกมากแง่มากมุมที่จะต้องรู้จะต้องเอามาพูดกันหรือจะต้องปฏิบัติให้ได้ก็ตาม เพราะฉะนั้นเราจะพูดเรื่องที่เกี่ยวกับตัวกูของกูนี้กันต่อไปอีกเรื่อยๆ
ในครั้งที่แล้วมาพูดถึงเรื่องทำอย่างไรมันจึงจะให้มีอาการอย่างที่เรียกว่าตัวกูเกิดไม่ได้ คือขันธ์ฆ่าขันธ์อยู่เสมอ กุศลขันธ์มันคอยฆ่าอกุศลขันธ์อยู่เสมอ หรือว่าปัญจุปาทานขันธ์เกิดไม่ได้ มันเป็นวิสุทธิขันธ์แบบกุปปธรรมอยู่เสมอ นี่เราควรจะถือเอาใจความกันไว้สักส่วนหนึ่งว่า การทำเพื่อให้ได้ผลอย่างนี้นั้นต้องทำทุกอย่างทุกวิถีทางและทุกเวลา ฉะนั้นคำว่าทุกอย่างทุกวิถีทางนี้มันก็มีมากอย่างมากวิถีทาง
ในวันนี้จะพูดเฉพาะวิธีการฝึกฝนอย่างหนึ่ง คือฝึกฝนในเรื่องอันเกี่ยวกับการพูด และเราจะมีวิธีที่เป็นการพูดที่ถูกต้องคือเป็นการพูดที่เป็นการปฏิบัติธรรมอยู่ในตัวมันเองทุกเวลาทุกหนทุกแห่ง เพราะว่าถ้าเรายังไม่ตาย เรายังต้องพูดและเราก็พูดทุกวัน และเราก็พูดทุกแห่งที่เราไปหรือเราอยู่ หมายความว่าถ้าเรายังไม่ตายเราก็ยังมีการพูด ทีนี้เราจะถือเอาการพูดนั่นแหละเป็นการปฏิบัติธรรมในชั้นลึกนี้ที่เรียกว่าในขั้นวิปัสสนาขั้นโลกุตตระหรือขั้นสูงสุดนี้ อย่าไปเข้าใจว่าไปวิปัสสนาไปทำวิปัสสนาที่สำนักนั้นสำนักนี้ เมื่อนั้นเมื่อนี้ นัดกันคราวนั้นคราวนี้ นั้นมันเรื่องผักชีโรยหน้า ที่แท้มันต้องทำวิปัสสนามีวิปัสสนาอยู่ทุกๆ คำที่เราพูด แล้วคิดดูสิว่าวันหนึ่งเราพูดกี่คำ เราพูดที่ไหนกี่แห่ง แล้วก็มีหลักหรือมีหัวข้อสำหรับปฏิบัติว่าการพูดด้วยภาษาของคนที่ยึดถือโดยไม่มีความยึดถือ ฟังให้ดีหน่อย ว่าเราจะฝึกหัดพูดภาษาของคนยึดถือภาษาของคนที่มีความยึดถือโดยที่ใจของเราไม่มีความยึดถือ ขอให้เราหัดเพียงเท่านี้มันเป็นการบำเพ็ญวิปัสสนาอยู่ตลอดเวลาที่เราพูดที่เรายังพูดอยู่ เดี๋ยวนี้คนมันประมาทอวดดีซึ่งเรียกว่าโง่นั่นเองแหละ ไม่สนใจกับเรื่องหรือคำที่ตัวพูด ก็เลยพูดตามสบายพูดตามกิเลสพูดตามความยึดถือและก็พูดด้วยภาษาที่ยึดถือ นั้นมันเกิดทะเลาะวิวาทกัน แล้วผู้พูดนั้นก็มีกิเลสมากขึ้นมีกิเลสมากขึ้น คล้ายกับว่าอยู่ในโลกนี้ก็เพื่อเพิ่มกิเลสให้มากขึ้น เพื่อการที่พูดด้วยภาษาของผู้ยึดถือแล้วก็มีความยึดถือตามนั้นจริงๆ
ทีนี้เรามาหัดกันเสียใหม่ คือพูดตามภาษาของผู้ที่มีความยึดถือ เพราะภาษาอื่นมันไม่มีจะพูด เราต้องพูดในโลกนี้ด้วยภาษาของชาวโลกที่มีความยึดถือ แต่หัดพูดด้วยจิตที่มีสติสัมปชัญญะแล้วก็ไม่ยึดถือ ที่ถูกมันควรจะเรียกว่าเป็นอีกภาษาหนึ่งคือภาษาที่ไม่มีความยึดถือ แต่แล้วมันไม่มีคำสำหรับจะพูด มันเป็นภาษาสำหรับนิ่งสำหรับรู้ ใครพูดได้ แม้พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้พูดด้วยภาษาที่ไม่มีความยึดถือ ท่านก็ต้องพูดด้วยภาษาชาวบ้านชาวโลกที่มีความหมายเป็นความยึดถือทั้งนั้นแหละ พูดว่าตถาคต พูดว่าของตถาคต พูดว่าตถาคตเป็นอย่างนั้นตถาคตเป็นอย่างนี้ ตถาคตเป็นศาสดา นี้เป็นภาษาของคนยึดถือทั้งนั้น เพราะว่าภาษาของคนที่ไม่ยึดถือนั้นมันไม่มี มันไม่ได้มีใครตั้งขึ้น แล้วมันตั้งขึ้นไม่ได้ คือมันเกิดขึ้นไม่ได้ในโลกนี้ ในโลกนี้จึงมีแต่ภาษาภาษาเดียวคือภาษาของคนที่ยึดถือ มีอุปาทานยึดถือมีความรู้สึกเป็นตัวกูของกูอยู่ข้างใน นี่มันมีแต่ภาษาอย่างนี้ คนทั่วไปที่ยังมีกิเลสก็พูดภาษานี้อยู่แล้วเป็นปรกติ ทีนี้คนที่อยากจะหมดกิเลสอยากจะทำลายกิเลสนี้ต้องระวัง คือพูดภาษานี้แต่ด้วยจิตที่รู้ว่ามันเป็นอะไร แล้วก็ไม่ยึดถือตามความหมายนั้นๆ
สรุปให้สั้นหรือจำง่ายๆ ก็ว่า เราต้องพูดภาษาตัวกูของกู แต่จิตไม่มีความรู้สึกเป็นตัวกูของกู เรื่องมันก็มีเท่านี้ แล้วหัวข้อสำหรับจะพูดธรรมปาฏิโมกข์มันก็มีเพียงเท่านี้ คือพูดภาษาตัวกูของกูโดยจิตไม่มีความรู้สึกเป็นตัวกูของกู ถ้าคำนี้มันฟังไม่เพราะ ก็เรียกว่าการพูดด้วยภาษาของคนที่ยึดถือโดยที่จิตไม่ต้องยึดถือ ฟังเพราะหน่อย ไม่มีมึงๆ กูๆ แต่แล้วระวังให้ดีว่าในจิตใจของคนนั้นมันเป็นความรู้สึกที่เป็นตัวกูตัวสูของกูของสูอะไรอยู่เสมอ ภาษาออกมาจากความรู้สึกนั้นๆ มันก็เป็นภาษาแห่งความรู้สึกเป็นตัวตนเป็นของตน เดี๋ยวนี้เรามาอุตริหัดพูดภาษาที่ไม่มีความยึดถือ โดยมีรูปคำน้ำเสียงอะไรเหมือนกับภาษาคนที่ยังยึดถืออยู่นั่นแหละ นี้มันยากลำบากยิ่งกว่า หัดพูดฝรั่งหัดพูดจีนพูดแขกอะไรอย่างนี้มันยังง่าย หัดเดี๋ยวเดียวก็ได้ แต่พอจะมาพูดภาษาที่ไม่มีความยึดถือนี้ แหม,มันหัดเท่าไหร่ๆ มันก็ล้มลุกคลุกคลานอยู่นั่นแหละ แต่แล้วก็ยอมแพ้ไม่ได้มันจะต้องหัดต่อไป ฉะนั้นจึงมาชวนกันในวันนี้ว่าหัดพูดภาษาของคนยึดถือโดยที่จิตไม่ต้องมีความยึดถือ ทำอยู่ตลอดเวลาเท่าไหร่เป็นการทำวิปัสสนาตลอดเวลาเท่านั้น ต้องมีสติสัมปชัญญะเต็มที่อยู่ในการที่จะพูดรวมทั้งฟังเขาพูด แล้วเป็นบทเรียนที่ยากที่สุดเลยในการที่จะมีวิปัสสนาอยู่ตลอดเวลาที่พูดเพราะเราต้องพูดกันทั้งวัน
เอ้า,ทีนี้เราจะพิจารณากันทีละแง่ทีละมุมน้อยๆ ให้เข้าใจได้ง่าย เราจะเรียกภาษาที่เราพูดกันอยู่ทั่วไปนี้ว่าภาษาชาวโลก ภาษาไทย ภาษาฝรั่ง ภาษาจีน ภาษาแขก กี่ร้อยกี่สิบภาษามันก็เป็นภาษาชาวโลก แต่ละคำมีความหมายเกิดมาจากความยึดถืออย่างใดอย่างหนึ่งทั้งนั้น เพียงแต่มันออกเสียงต่างกันแต่ความหมายมันก็มีความยึดถือแบบเดียวกัน ฉะนั้นกี่ภาษาที่มีอยู่ในโลกนี้มันก็เป็นภาษาชาวโลกคือภาษาของคนที่มีความยึดถือ มันเป็นเองโดยธรรมชาติและมันก็เป็นตลอดกาล นี้คือข้อที่เราจะต้องรู้ว่าภาษาของชาวโลกหรือภาษาของคนที่มีความยึดถือนี้ มันเป็นตลอดทุกหนทุกแห่งและมันเป็นตลอดเวลา คือตลอดกาละตลอดเทศะ แล้วร้ายกว่านั้นก็คือมันเป็นเสียเองตามธรรมชาติโดยไม่ต้องมีใครพยายามแต่งตั้งหรืออะไร มันก็ตั้งของมันเองได้ เป็นของมันเองได้โดยธรรมชาติของบุคคลผู้มีความยึดถือ
ตรงนี้อยากจะแทรกอะไรสักนิดหนึ่งว่า เพราะมันฉลาดมากนี่ มันจึงพูดได้มาก เพราะมันพูดได้มากมันจึงฉลาดมาก เพราะมันพูดได้มากมันจึงยึดถือมาก นี่มันเท่าๆ กัน ความฉลาดกับคำพูดกับความยึดถือนี้มันจะเท่าๆ กัน สุนัขมันพูดไม่ได้ มันไม่มีความหมายในคำพูดสำหรับจะยึดถือ ฉะนั้นความยึดถือมันเลยมีน้อย มันเลยนอนสบาย คนนี้มันมีความหมายในคำพูด แล้วคำพูดมันมีมาก ฉะนั้นความหมายมันมีมาก และความยึดถือจึงมีมาก ฉะนั้นคนเราจึงมีความยึดถือมากกว่าสุนัขและแมวเป็นต้น มากกว่ากันอย่างที่ว่าจะเทียบกันไม่ได้ นี้คือความลำบาก ปัญหายุ่งยากความลำบากมันอยู่ตรงที่ว่าคนเรายิ่งโตยิ่งวันยิ่งโตก็ยิ่งพูดได้มากยิ่งมีความหมายในคำพูดมากยิ่งยึดถือในความหมายของคำพูดมาก กว่าจะตายมันเลยท่วมหัวท่วมหูท่วมไปหมดด้วยความยึดถือนั่น นี่มันเป็นข้อเท็จจริงอันหนึ่งที่จะต้องมองให้เห็น ถ้าไม่อย่างนั้นก็จะไม่รู้ว่าจะไปทางไหนหรือว่าจะทำอย่างไร การที่มนุษย์พูดได้มีความเฉลียวฉลาดมีความยึดถือมากนี้จะเรียกว่าดีก็ได้ จะเรียกว่าร้ายก็ได้ จะเรียกว่าโชคดีก็ได้ จะเรียกว่าโชคร้ายก็ได้ โชคดีคือมันทำให้เก่ง โชคร้ายคือทำให้ลำบากมาก มีความทุกข์มากมีความทุกข์ได้โดยง่าย มีความทุกข์เป็นปัญหาเฉพาะหน้าเต็มไปหมดทุกหนทุกแห่งทุกวันทุกคืน นี่มันเป็นโชคร้าย แต่ว่ามันเป็นโชคดีก็คือว่ามันฉลาด มันเก่ง มันรู้อะไรมาก มันดีกว่าสุนัขและแมวในทางสติปัญญา ทำอะไรก็ได้ในโลกนี้ ทำโลกนี้ให้เป็นสวรรค์ก็ได้ ทำโลกนี้ให้เป็นนรกก็ได้ ไปโลกพระจันทร์ก็ได้ อะไรก็ได้ ความที่คิดมาก ยึดถือมาก การศึกษามาก อะไรมาก
ทีนี้เรามาดูกันใหม่ ภาษาพูดแต่ละคำเป็นภาษาที่ออกมาจากจิตที่มีความยึดถือ เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าพอเราคลอดออกมาจากบิดามารดา มันถูกแวดล้อมอยู่แต่ด้วยสิ่งที่ทำให้ยึดถือและคำพูดที่ทำให้เกิดความยึดถือยิ่งขึ้นไปอีก ความยึดถือตั้งต้นในจิตใจของเด็กทารกเมื่อไหร่ เรื่องนี้เราพูดกันแล้วโดยละเอียดในข้อความเมื่อบรรยายเรื่องปฏิจจสมุปบาท ไปดูเอาอีกใหม่ก็ได้
โดยสรุปย่อก็คือว่าพอเด็กทารกมันรู้สึกกระสันเอร็ดอร่อยในสิ่งที่มากระทบเนื้อหนังโดยเฉพาะ จะว่ากระทบตา หู จมูก ลิ้นก็ยังน้อยไป มากระทบเนื้อหนังดีกว่า ความรู้สึกกระสันเอร็ดอร่อยนี้เขาเรียกว่าอัสสาทะของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์หรือตัวโลภนั่นเอง มันมีอัสสาทะที่มากระทบเด็กทารกนี้ ได้รับรสอัสสาทะมีความกระสันเอร็ดอร่อยแล้ว ก็เรียกว่านันทิ นันทิแปลว่าความเพลิน แต่ว่าความเพลินด้วยอำนาจกิเลสด้วยอำนาจความโง่ นี่นันทินั่นแหละคืออุปาทาน เป็นพระพุทธภาษิตตรัสไว้ชัดๆ สั้นๆ ว่า ยา นนฺทิ, ตทุปาทานํ สิ่งใดเป็นนันทิ สิ่งนั้นเป็นอุปาทาน
ทีนี้เด็กทารกเริ่มมีนันทิได้เมื่อไหร่ ก็เริ่มมีอุปาทานคือความยึดถือเมื่อนั้น เมื่อมีความเอร็ดอร่อยเขาจะรู้สึกว่าเอร็ดอร่อย จะมีความรู้สึกในจิตประเภทหนึ่งเกิดขึ้นมาว่ากูเป็นผู้เอร็ดอร่อย นี่คืออุปาทานอันแรกยึดถืออันแรก อย่างนั้นมันรู้สึกว่าฉันเอร็ดอร่อย อยู่ในท้องแม่ของฉันรู้สึกว่าฉันไม่เป็นหรอก แต่พอออกมาจากท้องแม่ไม่กี่วันไม่กี่เดือน เมื่อได้อะไรอร่อยถึงกับทำความรู้สึกให้มันเสียวซ่านไปหมดอย่างนี้ มันก็เกิดความรู้สึกประเภทที่เรียกว่านันทิและอุปาทาน เขาเพลิดเพลินในสิ่งใดเขาก็มีอุปาทานในสิ่งนั้น ฉะนั้นตัวเขาก็เป็นตัวกู ของที่เขาเพลิดเพลินก็เป็นของกู นี่ทุกคนเป็นอย่างนี้ไม่ยกเว้นคนไหนในโลกนี้ พอเกิดมาก็ตั้งต้นมีอุปาทานอย่างนี้สำหรับมนุษย์
ทีนี้สำหรับสัตว์มันตายด้าน มันรู้สึกอร่อย อร่อยหรือไม่อร่อยบ้างเหมือนกัน แต่มันน้อยมาก ความรู้สึกสำหรับกระสันยินดีนั้นมันน้อย มันเป็นไปได้น้อยเพราะมันไม่เจริญเหมือนของมนุษย์ แล้วความรู้สึกคิดนึกหรือสติปัญญาหรือมันสมองก็ไม่มีสมรรถภาพเท่ามันสมองของมนุษย์ ฉะนั้นความรู้สึกอันนี้มันจึงตายด้าน มันจะมีนันทิอุปาทานว่าตัวกูของกูอย่างเต็มที่เหมือนมนุษย์ไม่ได้ ฉะนั้นมันเพียงแต่ว่าอันนี้กินได้มันก็กิน อิ่มมันก็หยุด ก็คิดดูว่าให้เอาสัตว์เหล่านี้เป็นครู มันไม่เกิดโมโหโทโสเมื่อไม่ได้กิน มันไม่คิดเอร็ดอร่อยถึงกับจะสะสมไว้กินเหมือนกับคน มันมีลักษณะคล้ายเครื่องจักรมากกว่า ผมดูอาจารย์ของผมคือสุนัขและแมวนี้อยู่ทุกวัน แล้วอาจารย์ที่ดีกว่าสุนัขและแมวก็คือปลา โกรธไม่เป็น รักไม่เป็น อะไรไม่เป็น ปลาที่เลี้ยงอยู่นั่น เพราะมันสมองไม่มีพอไม่ใหญ่พอไม่สูงพอที่จะเกิดความรู้สึกประเภทอุปาทาน รู้สึกได้แต่ที่ในปาก ว่าอะไรกินได้อะไรกินไม่ได้ ก็กินเท่านั้นแหละ พออิ่มมันก็เฉยไปเท่านั้น ไม่มีนันทิไม่มีอุปาทานก็รอดตัวไป
ทีนี้มนุษย์มันไม่เป็นอย่างนั้น มันมีบุญหรือมีบาปก็ตามใจที่มันสมองมันดีเลิศมันก้อนใหญ่และมันก็มีสมรรถภาพมากหลายแผนก คิดก็ได้ จำก็ได้ อะไรก็ได้ ล้วนแต่เก่งๆ ทั้งนั้น ฉะนั้นทารกเล็กๆ มันก็มีอุปาทานได้ในเมื่อเส้นประสาทสามารถจะรู้สึกรับรสสัมผัสนี้ได้เต็มที่แล้วตามแบบของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัมผัสทางเนื้อหนังที่เรียกว่าโผฏฐัพพะนั่นแหละ มีอำนาจฤทธิ์เดชรุนแรงมากที่จะให้เกิดนันทิและอุปาทาน ตา หู จมูก ลิ้น นี้ไม่เท่ากับผิวหนังไม่เท่ากับผิวกาย
เอาล่ะ,อันนี้มันได้ความแล้วว่า พอเด็กคลอดมาเป็นทารกถึงขณะหนึ่งมันก็มีอุปาทานได้ ทีนี้อุปาทานทำให้พูดออกมาว่าอย่างไรนั้นก็เป็นภาษาที่เกิดขึ้น เป็นภาษาที่มาจากความยึดถือหรืออุปาทาน ทีนี้ทุกคนก็พูดภาษานี้คำนี้เป็น เป็นๆ กันขึ้นมาพร้อมๆ กันจนรู้จักความหมายของคำนี้ดี นี้มันมีอยู่ส่วนหนึ่งเป็นอย่างนี้ ทีนี้อีกส่วนหนึ่งก็คือไปสอนให้กัน ไปเพิ่มเติมให้แก่กันมากกว่าที่ธรรมชาติมันเป็นเองอย่างที่ว่ามาแล้ว ถ้ายอมให้พูดตรงๆ ไม่เกรงใจกันแล้ว คนที่สอนให้พูดว่าพ่อว่าแม่ เรียกพ่อเรียกแม่นั่นแหละอาจารย์ที่บ้าที่สุด ที่สอนให้ทารกนอนในเบาะพูดพ่อพูดแม่พูดอะไร ในทำนองยึดถือ นั่นแหละคืออาจารย์ที่บ้าที่สุด แต่เราไม่รู้สึกอย่างนั้นใช่ไหม เพราะมันเป็นธรรมเนียมเป็นประเพณีเป็นอะไรที่ต้องทำอย่างนั้นเพื่อให้มันพูดเป็นอย่างไรล่ะ มันก็ไปสอนพูดให้แก่เด็กทารกที่ยังพูดไม่เป็น พูดเป็นขึ้นมาคำพ่อคำแม่ คำจ๊ะจ๋า เจ๊อะเจ๋ออะไรก็เป็นขึ้นมาเรื่อยๆ แต่มันใส่อุปาทานให้ใหม่ให้ทุกที ทีละน้อยๆ เพราะความรู้สึกที่เด็กมันรู้สึกได้เองนั้นก็ส่วนหนึ่ง ความรู้สึกที่ผู้ใหญ่คือสิ่งแวดล้อมนี้ไปเพิ่มเติมให้ก็มีอีกส่วนหนึ่ง มันก็พอเต็มพอดีในการที่จะมีความยึดถือ พูดเองก็พูดด้วยความยึดถือ ฟังเขาพูดก็ฟังด้วยความยึดถือ มันก็งอกงามสิ เพราะว่าเด็กคือเด็กมันก็ต้องพูดเองด้วย แล้วก็ฟังเขาพูดด้วย มันเพิ่มเติมกันอยู่อย่างนี้ มันก็เกิดภาษาที่ล้วนแต่ออกมาจากความยึดถือทุกคำพูดเลย ถึงแม้ว่าสิ่งนั้นจะไปเล็งถึงสิ่งที่ไม่มีความยึดถือ สิ่งนั้นมันก็กลายเป็นที่ตั้งของความยึดถือไป เช่นบ้านเรือนอย่างนี้มันก็ไม่ใช่มีจิตใจอะไรมันไม่ยึดถืออะไรได้ แต่ก็พูดกันไปพูดกันมาจนรู้สึกว่าบ้านของกู ใครเข้ามาไม่ได้ เด็กตัวเล็กๆ มันก็ยังพูดเป็นว่าบ้านของกูมึงอย่าเข้ามานี่ พูดกับตัวเล็กๆ ด้วยกัน แปลว่าไม่ว่าอะไรมันจะเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือได้ทั้งนั้นที่จะมาเกี่ยวข้องกันกับมนุษย์
นี่ในส่วนรูปธรรมคือมีตัวมีตนมีก้อนมีดุ้นนี่ มันก็ยึดถือ แล้วส่วนนามธรรมมันก็มาตามมาอีก ตามมาทีหลังอีก คือเกียรติยศ เกียรติยศว่าของกูนี่ อันนี้ร้ายกาจยิ่งขึ้นไปกว่ารูปธรรมอีก เมื่อเด็กๆ มันจะหาเรื่องทะเลาะกัน มันก็ขีดเส้นเข้าที่ดินที่ตรงเงาหัวของมันตก บอกว่านี่เงาหัวของกู ก็มึงมาเหยียบแล้ว เอ้า,เป็นอันว่าเป็นการประกาศสงคราม เมื่อเด็กอีกคนหนึ่งมันจะเอาเรื่องมันก็เหยียบอย่างนั้น ก็ชกกันเลย อยากเหยียบเงาหัวของกูที่ดินนี่ มันก็เรียกว่าความยึดถือสูงสุดอยู่ที่เกียรติซึ่งเป็นที่รวมหรือเป็นจุดรวมแห่งความยึดถือว่าตัวกู ฉะนั้นเราเป็นมนุษย์ก็เป็นสัตว์ที่มีความยึดถือนั่นแหละเป็นหัวจิตหัวใจ สัตว์เดรัจฉานไม่มีก็สบายไป มนุษย์มีมากก็มีเรื่องมากมีปัญหาเกิดขึ้น ถ้าแก้ได้มันก็รอดตัวไป ถ้าแก้ไม่ได้มันก็เป็นทุกข์ไป อย่างสัตว์ทั้งหลายที่มีความทุกข์นี่
ทีนี้เราไม่พูดกันถึงเรื่องนั้น มันอีกส่วนหนึ่ง ในวันนี้จะพูดถึงแต่เรื่องคำพูด คำพูดที่เกิดขึ้นทุกวันเพิ่มขึ้นทุกวัน แก่คนแต่ละคนๆ เกิดมาจากความยึดถือเหมือนกัน เพราะฉะนั้นตรงกัน เพราะฉะนั้นก็เข้าใจกันได้เลย เมื่อพูดว่ากูหมายความว่าอย่างไร พูดว่าของกูหมายความว่าอย่างไร จนกระทั่งว่าใช้สัญลักษณ์ ใช้กิริยาท่าทาง ใช้ปาก ใช้ตาแสดงอาการ มันก็แทนกันได้คือแทนคำพูดนั้นได้ ก็เรียกว่าเป็นคำพูดทางใบ้ทางอวัยวะ คำพูดชนิดไหนก็ตามมีความหมายไปในรูปแห่งความยึดถือ ฉะนั้นคำพูดทั้งหมดมันจึงมีความหมายฝ่ายความยึดถือเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่เหลืออะไรไว้สำหรับฝ่ายความไม่ยึดถือ ฝ่ายความไม่ยึดถือไม่เคยหลุดออกมาเป็นคำพูด เพราะพูดมาฟังไม่ถูก ถ้าจำเป็นต้องพูดก็ไปยืมคำฝ่ายยึดถือมาพูด ฝ่ายที่เขารู้จักกันดีอยู่แล้วว่าเป็นอะไรนั่นแหละมาพูด นี้ผมบอกหลายหนแล้วนะ ถ้าไม่ฟังหรือไม่เข้าใจก็ตามใจ ว่าภาษาธรรมะทุกคำนี้ยืมมาจากภาษาชาวบ้านมาพูด เพราะมันไม่มีคำจะพูด เมื่อต้องพูดก็ต้องไปยืมคำที่ชาวบ้านเขาพูดและเขารู้กันอยู่แล้วมาใช้แทน แล้วให้ความหมายขยายออกไปในทางที่จะต้องการ
คำที่น่าจะนึกถึงอยู่เสมอก็คือคำว่านิพพาน คำว่านิพพานแปลว่าเย็นหรือดับ ดับร้อนกลายเป็นเย็น ไฟดับอะไรดับนี้ก็เรียกว่าเย็นหรือว่าดับ เอาคำนั้นคำว่านิพพานนั่นแหละมาใช้เป็นชื่อของพระนิพพานที่จะดับทุกข์ทางจิตใจ เอาคำว่าถนนหรือมรคาหรือมรรคะนั่นแหละหรือวีถิก็ตาม มาเป็นชื่อของอริยมรรคหรือมรรคที่มีองค์ ๘ ที่จะปฏิบัติที่จะเดินไปให้ถึงนิพพาน เอาคำว่าของสกปรก คือคำว่ากิเลสนี้มาเป็นชื่อของโลภะ โทสะ โมหะในจิตใจ เอาชื่อของของหมักดองนมนานมาเป็นชื่อของกิเลสประเภทเคยชินว่าอาสวะ แม้ที่สุดแต่คำว่าสรณะนี้ คำนี้แต่เดิมเป็นชื่อของคำว่าบ้านเรือน บ้านเรือนที่อยู่อาศัยนั่นแหละเคยเรียกว่าสรณะมาก่อน ในความมุ่งหมายในความหมายว่าเป็นที่พึ่ง ถ้าใช้คำว่าเคหะมีความหมายไปในทางปกปิดความลับ ปกปิดของลับที่ไม่ให้ใครเห็น มีความหมายว่า คหะ,เคหะ,คฤหะ ก็คือบ้านเรือนเหมือนกัน แต่ความหมายที่ดีเลิศของคำว่าบ้านเรือนนั้นคือสรณะคือเป็นที่พึ่ง พอเรามุดเข้าไปในบ้านแล้วมันปลอดภัย ปลอดภัยจากแดด จากฝน จากลม จากศัตรู จากอะไรต่างๆ ฉะนั้นสรณะก็แปลว่าที่พึ่งที่อาศัยมาแต่ก่อน ทีนี้ก็ยืมคำนี้มาใช้เป็นชื่อของสรณะในภาษาธรรมะ คือการถึงเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาเป็นบ้านเรือนมาเป็นเครื่องคุ้มครองนี้เป็นต้น
นี่ภาษาทั้งหลายเป็นอย่างนี้ ภาษาชาวบ้านพูดๆ อยู่แล้วพอเกิดความรู้สึกอันใหม่สิ่งใหม่ขึ้นในจิตใจ ไม่มีภาษาพูด ต้องไปยืมภาษาชาวบ้านมาพูด ฉะนั้นเราจึงลำบากในการที่จะแยก แยกภาษากันพูด ทำไม่ได้ ก็เลยต้องพูดด้วยภาษาของผู้ยึดถือแต่มีความหมายในลักษณะที่ไม่ยึดถือ ก็หมายความว่าต้องมีจิตไม่ยึดถือเสียก่อน แล้วก็พูดคำนั้นภาษานั้นออกไป โดยที่เรารู้สึกตัวอยู่ดีว่าไม่ได้ยึดถือความหมายเหมือนกับที่เขายึดถือกัน นี่ต้องหัดอย่างนี้ต้องหัดพูดภาษาพระพุทธเจ้ากันเสียใหม่ทุกคน คือภาษาที่สำเนียงเหมือนกับภาษาชาวบ้านแต่ความหมายไม่เหมือน คือความหมายที่ไม่มีความยึดถือ เขาก็รู้จักตัวเองว่าตั้งแต่อ้อนแต่ออกเกิดมาจากท้องแม่ มันเริ่มยึดถือขึ้นมาอย่างไร ความยึดถือเกิดจากในจิตใจก่อน แล้วก็เพิ่มขึ้นด้วยการที่มีคนมาพูดเพิ่มให้ เพิ่มให้ เพิ่มให้ ล้วนแต่เป็นคำพูดที่เพิ่มความยึดถือ ทีนี้ต่างคนต่างพูดและต่างฟังแก่กันและกัน พูดแล้วฟัง พูดแล้วฟัง พูดแล้วฟังแก่กันและกันอยู่เรื่อย ด้วยภาษาแห่งความยึดถือ มันก็มีแต่จะยึดถือยิ่งขึ้น นี่มันหลีกไม่พ้น นี่มันจึงเกิดระบบนี้ขึ้นมาเอง คือภาษาของสัตว์ทั้งหลายที่มีความยึดถืออยู่เป็นปรกติ ทีนี้สัตว์นั้นเอง ตัวผู้พูดหรือสัตว์โลกนั้นเองไม่รู้สึกอย่างนี้ ไม่รู้สึกว่ามันเป็นภาษาของผู้ที่ยึดถือหรอก เพราะว่าฉันมันยึดถืออยู่แล้ว ฉันก็พูดอยู่อย่างนี้แล้วก็มีแต่อย่างเดียวนี้ ไม่ต้องแยกกันว่าเป็นภาษาของผู้ที่มีความยึดถือ ฉะนั้นจึงยึดถือคำพูดนั้นๆ เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วก็พูดกันอยู่ แล้วก็ฟังกันอยู่
นี่ขอให้ดูเถิดว่า มันเกิดขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ ความยึดถือก็ดีเกิดขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ คำพูดก็ดีเกิดขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ แล้วมันก็ปฏิบัติแก่กันและกันสมบูรณ์ยิ่งขึ้นทุกทีโดยอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นมันจึงยึดถืออยู่แล้วอย่างเต็มเปี่ยมโดยอัตโนมัติ อัตโนมัติคือเป็นเอง นี่มันเต็มไปด้วยอัตโนมัติในการที่จะพูดด้วยความยึดถือ จะฟังด้วยความยึดถือ แล้วก็จะมีจิตใจเป็นไปตามความยึดถือ นี้เฉพาะตัวคำพูด ก็เรียกว่าคำพูดของบุคคลผู้มีความยึดถือ คำพูดของบุคคลผู้มีความรู้สึกเป็นตัวกูของกูนี่ ทีนี้มาเรียกกันเสียใหม่สั้นๆ ว่าคำพูดของชาวโลก เป็นภาษาโลก เป็นคำพูดของชาวโลก
ภาษาชนิดนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสเรียกไว้โดยคำ ๔ คำ ฉะนั้นผมก็อยากจะให้คนที่ไม่เคยได้ยินนั้นได้ยิน และเมื่อได้ยินกันแล้วก็ช่วยจำกันไว้ มันมีประโยชน์มาก คือคำว่าโลกสมญฺญา แล้วก็โลกนิรุตฺติ แล้วก็โลกโวหารา แล้วก็โลกปญฺญตฺติโย หมายถึงภาษาทั้งนั้น ภาษาชาวบ้านนี้เรียกว่าโลกสมญฺญา สมัญญาอย่างโลก โลกนิรุตฺติแปลว่าการพูดอย่างโลก โลกโวหารา โวหารหรือสำนวนอย่างโลก โลกปญฺญตฺติโยคือการบัญญัติตามโลกๆ ตามประสาโลก ตามความรู้สึกของชาวโลก เยหิ ตถาคโต โวหรติ อปรามสนฺโต เป็นภาษาที่ตถาคตก็พูด แต่ไม่ยึดถือในความหมายนั้นๆ ลักษณะของคำพูดทั้ง ๔ ชนิดนี้ตถาคตก็พูดแต่ไม่มีความยึดถือในความหมายนั้นๆ นี้คำที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส ท่านตรัสอย่างนี้ ทีนี้เราก็พูดภาษา ๔ ชนิดนั้นแต่เราก็ยึดถือในความหมายของคำนั้นๆ อย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นมันจึงไม่เหมือนกันกับพระพุทธเจ้า คือตรงกันข้ามจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านพูดด้วยภาษา ๔ ลักษณะนั้นแหละ โลกสมญฺญา โลกนิรุตฺติ โลกโวหารา โลกปญฺญตฺติโย ๔ อย่างนี้ แต่แล้วท่านไม่ยึดถือความหมายของคำนั้นๆ ฉะนั้นช่วยจำไว้ให้ดีๆ ถ้าเราพยายามอยู่อย่างนี้มันเป็นการพยายามทำตามพระพุทธเจ้า และมันเป็นการปฏิบัติวิปัสสนาอยู่ทุกหนทุกแห่งทุกเวลาเพราะว่าเราต้องพูดอยู่ทุกเวลา บางเวลาเราต้องพูดกับสุนัขและแมวด้วยซ้ำไป เราก็ยังจะต้องมีสติสัมปชัญญะที่จะไม่ยึดถือในคำพูดในความหมายของคำพูดนั้นเหมือนกัน
โลกสมญฺญา สิ่งแรกเรียกว่าโลกสมัญญา สํ แปลว่าพร้อมหรือเอง ญา แปลว่ารู้ สมญฺญา แปลว่ารู้พร้อม,รู้เอง โลกสมญฺญา จึงหมายถึงสิ่งที่มันรู้กันได้เองทุกคน รู้กันได้ทันทีทั้งโลก รู้กันได้เองทุกคนทันทีทั้งโลกอย่างนี้เรียกว่าโลกสมญฺญา คำพูดในโลกที่ชาวโลกใช้กันอยู่มันเป็นอย่างนี้ แต่คำว่าคำพูดในที่นี้หมายถึงเนื้อความ เนื้อความของคำ ไม่ใช่ตัวสำเนียงที่พูดออกไป ผมพูดแล้วว่าสำเนียงมันต่างกัน ภาษาไทย ภาษาฝรั่ง ภาษาจีน ภาษาแขก สำเนียงที่เรียกถึงสิ่งนั้นๆ มันต่างกัน แต่ความหมายของคำนั้นเหมือนกันดิกเลย จะพูดด้วยภาษาอะไรก็ตาม เมื่อพูดเล็งถึงคน เล็งถึงสุนัข เล็งถึงแมวอย่างนี้ เสียงที่พูดออกมานั้นต่างกัน แต่ความหมายเป็นอย่างเดียวกัน เพราะมันเล็งถึงคน มันเล็งถึงสุนัข มันเล็งถึงแมว อย่างนี้เรียกว่าโลกสมญฺญา รู้กันได้ทันทีพร้อมกันทั้งโลก ลักษณะอาการหรือภาวะที่มันรู้กันได้ทันทีพร้อมกันทั้งโลกนี้เราเรียกว่าโลกสมญฺญา
อันที่ ๒ เรียกว่า โลกนิรุตฺติ นิรุตฺติแปลว่าภาษาที่พูดหรือวิธีการใช้ภาษาที่พูดให้สำเร็จ อันนี้เลยเล็งถึงภาษาหรือคำนั่นเอง เราจะใช้คำไหน เราจะใช้คำนั้นโดยวิธีอย่างไร เหมือนกับที่เราสังเกตดูคนเขาพูดเขาด่าเขาอะไรกันกลางตลาดนี่ ทั้งที่ว่าคำมันก็เหมือนกับคำที่เราเอามาพูด พูดดีๆ กัน เป็นเพื่อนเป็นมิตรเป็นสหายกันนี่ นี่ภาษามันยุ่งยากอย่างนี้ มันแสดงอารมณ์ทางเสียงทางtone of voice อะไรเหล่านี้ด้วย แล้วมันยังมีความหมายที่แสดงมาในทาง tone of voice นั้นอีกแต่ละคำๆ แล้วก็ที่มันเนื่องกันเป็นประโยค แล้วมันมีความหมายอย่างไร เมื่อมันได้ทำหน้าที่ของมันเป็นรูปเป็นร่างเป็นร่องเป็นรอยยุติกันไปแล้วก็เกิดเป็นภาษาขึ้นมา อย่างนี้เราเรียกว่านิรุตฺติ สำหรับภาษาบาลีเรียกว่านิรุตฺติ ในภาษาไทยอาจจะใช้มากกว้างไปกว่านั้นก็ได้ แต่ก็ไม่กว้างไปกว่าว่าวิธีการใช้ภาษาให้สำเร็จประโยชน์ นี้เรียกว่านิรุตฺติ ทีนี้การใช้ภาษาให้สำเร็จประโยชน์ของชาวโลกนี้ก็เรียกว่าโลกนิรุตฺติ เราไม่มีปัญหาอะไร เรามันเก่งมันชินมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกจนบัดนี้มันก็ยิ่งเก่งขึ้นทุกทีในการที่เราจะพูดอะไรให้เข้าใจกันได้กับประชาชนในโลกนี้ ก็มีความหมายเฉพาะคำ มีรากมาจากความยึดถือ เราก็หลีกไม่พ้นที่จะต้องใช้โลกนิรุตฺติ
ทีนี้โลกโวหารา โวหาร,โวหาระ นี้มันก็คล้ายๆ กับนิรุตฺติ แต่มันเล็งถึงพิเศษไปกว่าธรรมดาที่จะจูงจมูกคนไปได้ คำว่าโวหาระนี้ผมเดาเอาเองว่าดึงเอาไปได้ตามที่ต้องการหรือว่าดึงหัวมึงลงมาได้นี่ ว่าโวหาระ คำพูดชนิดดึงหัวคนอื่นลงมาได้นั้นเรียกโวหาระ ทีนี้ชาวโลกเขามีกันอยู่แล้วเขาใช้กันอยู่แล้ว โวหารสำหรับชาวโลกที่จะดึงคนให้คล้อยไปตามความประสงค์ของเขาได้ แต่ว่าในลักษณะที่ต้องศึกษาต้องฝึกฝนกันบ้างเป็นพิเศษ คือไม่ใช่ตามธรรมดาเกินไป จึงได้เรียกว่าสำนวนหรือโวหารหรืออะไร คือกลเม็ดหรืออะไรที่จะใช้คำพูดตามแบบชาวโลก เราก็ต้องใช้อยู่เป็นประจำ มันหลีกไม่ได้มันหลีกไม่พ้น อย่างเราจะพูดกับเด็กๆ ที่มันโง่กว่าเรา เราก็ต้องใช้คำพูดที่พลิกแพลงเป็นโวหารล่อหลอก ขู่เข็ญอะไรก็ตามใจ ให้เด็กมันไปตามที่เราต้องการจะให้มันเป็นไปได้ นี้ก็เชื่อว่ารู้จักกันดีทุกคนเคยทำมาแล้วกันทุกคน มันก็เป็นเครื่องมืออันหนึ่งซึ่งจะบีบบังคับคนพาเอาไปได้ แต่ถ้ารู้เท่ารู้ทันเสียแล้วมันไม่ได้แล้ว มันไม่สำเร็จแล้ว เรียกว่ามันจะมาดึงหัวเราไปไม่ได้
อันสุดท้ายที่ ๔ เรียกว่าโลกปญฺญตฺติโย คือโลกบัญญัติ บัญญัติกันโดยไม่รู้สึกตัวทั้งโลก แล้วก็บัญญัติเพิ่มกันใหม่ๆ ใหม่ๆ โดยตกลงกันใหม่ อย่างนี้ก็เรียกว่าบัญญัติ โลกบัญญัตินี้เต็มไปหมดคือคำพูด แต่ว่าในกรณีนี้หมายถึง เรื่องหรือสิ่งหรืออะไรที่มันยากกว่าธรรมดาสูงกว่าธรรมดาจนต้องมารวมหัวกันบัญญัติ เช่นเดียวกับที่เรามีคำใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวันๆ บัญญัติใช้กันใหม่แล้วก็ใช้ตามกันไป ไม่เท่าไหร่มันก็ใช้กันได้หมด ก็ดูสิ,พูดคำใหม่ๆ เป็นกันเพิ่มขึ้นทุกวันๆ แหละ ได้ยินมาทางวิทยุบ้าง อ่านหนังสือพิมพ์บ้าง ไม่กี่เดือนไม่กี่ปีก็ไปพูดคำเหล่านั้นกับเขาแล้ว ก็แปลว่ามันตกอยู่ในข่ายของการบัญญัติเข้าไปเรื่อยโดยไม่รู้สึกตัว นี้เรียกว่าโลกบัญญัติ
โลกสมัญญารู้กันได้เองทันทีทั้งโลก โลกนิรุตติเป็นภาษาที่ใช้กันอยู่แล้ว โลกโวหารเป็นโวหารที่จะดึงคนที่มีกิเลสไป โลกบัญญัติก็บัญญัติสำหรับทำความสะดวกกันต่อไปอีก พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่าตถาคตก็พูด,โวหรติ ตถาคตก็กล่าวก็พูดด้วยภาษาทั้ง ๔ นี้ ลักษณะของภาษาทั้ง ๔ นี้ แต่ว่าไม่ได้ลูบคลำคือไม่ยึดมั่นในความหมายของคำนั้นๆ ทั้ง ๔ ลักษณะนั้นเป็นภาษาแห่งความยึดถือ เป็นภาษาแห่งตัวกูของกู ซึ่งเราก็หลีกไม่พ้นจะต้องพูด เราจะเก่งกว่าพระพุทธเจ้าไปไม่ได้ ฉะนั้นเราก็ต้องพูดด้วยลักษณะของภาษา ๔ ประการนี้ แล้วเราก็พยายามทำตามพระพุทธเจ้าในส่วนที่จะไม่ยึดถือความหมายอันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือของคำนั้นๆ แล้วมันจึงเต็มไปด้วยสติสัมปชัญญะอยู่เรื่อย ฉะนั้นจึงโกรธใครไม่ได้ ด่าใครไม่ได้ ทะเลาะกับใครไม่ได้ ไม่เป็นทุกข์เป็นร้อนอะไรไปตามคำพูดนั้นๆ ได้ นี่มันดีอย่างนี้
ทีนี้ก็มาดูถึงวิธีปฏิบัติกันสักหน่อย จะต้องปฏิบัติอย่างไรในการที่พูดภาษาคนบ้าโดยที่เราไม่ต้องบ้าไปกับเขาด้วย นี่จะทำอย่างไร จะพูดด้วยภาษาโลกโดยที่ไม่มีความยึดถือนี้จะต้องทำอย่างไร ว่าโดยที่แท้แล้วก็ได้สอนได้กล่าว ได้บรรยายได้อธิบายเรื่องนี้กันมาเป็นวรรคเป็นเวรแล้ว เรื่องความยึดถือเรื่องความไม่ยึดถือนี้ กระทั่งเรื่องจิตว่างเป็นต้นนี้ พูดมามากแล้ว ทีนี้ก็เหลือแต่ที่จะเอาใจความสำคัญของเรื่องความไม่ยึดถือนั้นมาใช้ให้ถูกต้องตามกาลเทศะ ฉะนั้นจึงขอแบ่งออกเป็น ๒ ระยะ คือระยะที่เราจะพูดและระยะที่เราจะฟัง คือเมื่อเราต้องเป็นฝ่ายพูดนี้มันอย่างหนึ่ง เมื่อเราเป็นฝ่ายฟังนี้มันอีกอย่างหนึ่ง ต้องปฏิบัติต้องฝึกฝนต้องหัดเหมือนกันทั้ง ๒ ระยะ เมื่อเราจะพูด ต้องพูดด้วยสติ สติคือระลึกได้ถึงความจริงข้อเท็จจริงของสิ่งทั้งปวงนี้ ซึ่งมันไม่ใช่มีไว้สำหรับให้ยึดถือ คือไม่ควรยึดถือไม่ต้องยึดถือก็ได้ ทีนี้ก็มีสติอันนี้ก่อนเมื่อจะพูด มีสติที่จะไม่ยึดถือในทุกสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ฉะนั้นก่อนที่จะพูดออกไปพูดอะไรไปเราต้องควบคุมใจคอให้มันปรกติเสียก่อน อย่างที่เรียกว่าเด็กเล็กๆ จะต้องนับ ๑ ถึง ๑๐ เสียก่อนแล้วจึงค่อยพูด อย่าเพิ่งพูดไปตามความโกรธความอะไรนี้ นี่ก็จัดควบคุมใจคอให้มันปรกติเสียก่อน ให้มันนึกอะไรได้แล้วจึงพูด เมื่อพูดโดยวิธีนั้นก็เรียกว่าพูดด้วยจิตที่กำลังว่างจากกิเลสแต่เต็มอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่ว่าเป็นคนหมดกิเลส แต่ว่าเวลานั้นจิตเต็มอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ กิเลสไม่มีอยู่ในจิต นี้พูดด้วยคำพูดชาวบ้านที่มีความยึดถือ ก็รู้ตัวดีทันทีว่าเราก็พูดคำนั้นว่าอย่างนั้นแหละ แต่ใจของเราไม่ได้ยึดถือความหมายเหมือนเขาในเมื่อเราพูด จะต้องมีสติระลึกอะไรเป็นอะไร ต้องมีสัมปชัญญะคุมสตินั้นให้ยังคงอยู่ แล้วก็ต้องมีปัญญาความรอบรู้ความเฉลียวฉลาดที่ว่าจะพูดด้วยคำอะไรด้วยความหมายอย่างไร ด้วยโลกสมัญญา โลกนิรุตติ โลกโวหาร โลกบัญญัติ อันไหนอย่างไหน นี่เรียกว่ามันเป็นปัญญา เมื่อเรารู้สึกมีสติสัมปชัญญะมีปัญญาอยู่อย่างนี้มันก็พูดได้ด้วยภาษาของคนที่ยึดถือโดยที่ไม่ต้องมีความยึดถือ ไม่เกิดกิเลสในเวลาพูด ไม่พูดด้วยภาษากิเลส ในใจมันไม่มีกิเลส มันพูดด้วยภาษาที่ไม่มีกิเลส แม้ว่าจะใช้พูดด้วยภาษาชาวบ้านธรรมดา
เรื่องนี้มันยังมีปัญหาบางอย่างอยู่ว่า ความเคยชินที่เขาเรียกว่าวาสนานี้ ความพลั้งปากความอะไรเหล่านี้มันก็มีปัญหา แต่ว่าถ้าเมื่อจิตใจไม่ได้เป็นแล้วก็ถือว่าไม่ได้เป็น แม้ว่าจะพูดคำหยาบไม่น่าฟังอะไรออกไปตามความเคยชิน ก็ไม่ถือว่ามีเจตนาที่จะพูด แต่ถึงอย่างไรก็ดี เมื่อหัดฝึกฝนให้มีสติสัมปชัญญะอยู่อย่างนี้แล้ว คำพลั้งปากที่ไม่น่าฟังนั้นจะค่อยหายไปเอง จะค่อยๆ ละลายหายไปเอง ก็เปลี่ยนเป็นที่ดีขึ้นเป็นที่น่าฟังขึ้น จะเป็นภาษาของพระอริยเจ้ามากขึ้น ภาษาปุถุชนจะน้อยลงไป ทีนี้เราจะพูดอะไรออกไปก็ต้องรู้ว่ามันพูดด้วยถ้อยคำที่เป็นการสมมติ ถ้อยคำทั้งหลายเป็นการสมมติทั้งนั้น สมมติบัญญัติก็ตาม เพื่อให้ใช้แทนสิ่งนั้นๆ แทนความหมายแทนกิริยาอาการแทนอะไร แทนนามธรรม แทนความรู้สึกแทนอะไรนั้นๆ นี่เรียกว่าสมมติ ฉะนั้นก็เมื่อพูดออกไปก็อย่าลืมนะว่าเรากำลังเล่นละครสมมติ ใช้ภาษาสมมติ พูดกันไปตามภาษาสมมติกับบุคคลที่ยึดมั่นถือมั่นในสมมติ ฉะนั้นเราควรจะรับผิดชอบบ้าง คือว่าเลือกใช้สมมติที่มันมีประโยชน์ที่มันจะไม่เกิดเรื่อง นี่ในฝ่ายการพูดต้องฝึกฝนอย่างนี้
ทีนี้ในฝ่ายการฟัง ฟังภาษาโลกซึ่งเต็มไปด้วยความยึดถือนี่ จะต้องหัดฟังด้วยสติ เดี๋ยวจะไปพูดว่าอะไรๆ ก็สติเดี๋ยวก็สติ อะไรก็สติ นี้แน่นอน มันไม่มีอะไร เหมือนกับเขาพูดภาษาโบราณว่ามีเครื่องยาอะไรสักอย่างหนึ่งซึ่งจะต้องใส่ลงไปในยาทุกขนาน ทีนี้ในทางธรรมะนี้ก็มีสิ่งอยู่สิ่งหนึ่งคือสตินี้ ที่จะต้องใส่ลงไปในยาทุกขนาน คือทุกการปฏิบัติ ทุกๆ การปฏิบัติ ทุกการในการปฏิบัติทุกๆ ระบอบต้องมีสติเป็นหัวยาเป็นตัวยา เป็นเถ้ายาทั้งหลายอะไรอย่างนั้น เมื่อการพูดก็มีสติ เมื่อการฟังก็ไม่มีอะไรอีกนอกจากสติ มีสติในการที่จะฟัง สติอันแรกก็สติว่าเรากำลังฟังคนบ้าพูด คือว่าเรากำลังฟังภาษาโลกของชาวโลกภาษาแห่งความยึดถือ ฉะนั้นอย่าเอาอะไรกันให้มากนัก เรากำลังฟังภาษาแห่งบุคคลผู้มีตัวกูของกูทั้งนั้น นี่ถ้าระลึกได้อย่างนี้เสียทีหนึ่งก่อนทีแรกนี้ มันป้องกันได้มาก มันไม่เสียหลักไปตั้งแต่ทีแรก มีสติอยู่เสมอว่าเขาพูดกันด้วยภาษากิเลสนะ,โว้ย ในโลกนี้เขาพูดกันด้วยภาษากิเลส ถ้าเราไปมัวโกรธมัวอะไรเข้ามันก็บ้าเองแหละไปโทษใคร ฉะนั้นคนที่ไปโกรธไปอะไรผู้อื่นหรือว่าไปรู้สึกอึดอัดรำคาญด้วยคำพูดของผู้อื่นนั้น คนนั้นมันบ้าเอง เพราะว่ามันไม่มีสติ มันไม่ทำตามอย่างพระพุทธเจ้าในการพูดหรือการฟัง ก็หลีกไม่พ้นจากลักษณะของภาษา ๔ อย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราต้องมีสติต่อสู้หรือรับหน้ากับมัน ฉะนั้นจึงต้องมีสติฟังเพื่อไม่ให้เกิดกิเลสขึ้นตามความหมายของภาษากิเลสที่ชาวบ้านชาวเมืองเขาพูดกัน เรียกว่าฟังด้วยสติสัมปชัญญะ อย่าฟังด้วยกิเลส เราอย่าให้กิเลสเกิดขึ้นเพื่อฟัง เราให้สติสัมปชัญญะมีอยู่สำหรับฟัง ก็เรียกว่าฟังด้วยสติสัมปชัญญะ รู้ว่ากำลังพูดกันอยู่ในโลกด้วยภาษาของชาวโลกที่มีความยึดถือ ล้วนแต่เป็นสิ่งสมมติ นี้ก็คือสติที่สุดเลย สติป้องกันไม่ให้เกิดตัวกูของกูขึ้นมา เป็นอันดับสุดยอดของวิปัสสนา วิปัสสนาที่ตั้งต้นด้วยยุบหนอ พองหนอ หรือตั้งต้นด้วยอะไรกี่ระบบๆ ก็ตาม ในที่สุดมันจะไปจบลงที่อนัตตานุปัสสนา คือมองเห็นความที่ไม่ใช่ตัวตน นี่เดี๋ยวนี้เราก็สวมมันเสียด้วยอนัตตานุปัสสนานี้ มีสติสัมปชัญญะรักษาความรู้สึกที่ว่าไม่ใช่ตนนี้ไว้เรื่อย ตลอดเวลาที่จะพูดและเวลาที่จะฟัง ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกไม่ได้ซึ่งจะต้องฟังและจะต้องพูดอยู่ทั้งวันทั้งคืน ฉะนั้นจึงถือว่าไม่ต้องรอต่อเมื่อนั้นเมื่อนี้เมื่อโน้นแล้วจึงจะทำวิปัสสนา วิปัสสนาแท้จริงสูงสุดนี้มันมีให้ทำอยู่ตลอดเวลาที่เราต้องพูดและที่เราจะต้องฟังแม้จะพูดกับแมว แม้ว่าเราจะพูดกับแมวถ้าเราไม่มีสติสัมปชัญญะก็พูดด้วยกิเลสได้ เคยเห็นคนตีแมวหรือว่าด่าแมวหรือว่าบางทีก็ไปด่าเอาเก้าอี้เอาโต๊ะเอาขวดน้ำก็มีนี่ เพราะมันไร้สติมากเกินไป
นี่สรุปความว่าเราจะทำอย่างไรที่จะให้ขันธ์ที่เป็นกุศลนั้นมันกำจัดการเกิดของขันธ์ที่เป็นอกุศลอยู่ตลอดเวลา คือไม่ให้เกิดอุปาทานขันธ์ มันมีหลายวิธี และวิธีหนึ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำเล่นไม่ได้ก็คือการระวังเมื่อมีการพูดและการฟัง ฉะนั้นขอให้ตั้งความปรารถนาพยายามในการที่จะหัดพูดภาษาที่ประเสริฐที่สุดภาษาพระอริยเจ้า คือพูดด้วยคำที่เขาพูดกันตามภาษาชาวโลกแต่ไม่มีความยึดถือเหมือนชาวโลก นี่มาเรียนภาษาอันประเสริฐนี้ เป็นโลกสมญฺญา โลกนิรุตฺติ โลกโวหารา โลกปญฺญตฺติโย ที่ชาวบ้านเขาใช้สำหรับทำอันตรายแก่กันและกันนั้น อย่าให้มันทำอันตรายเราได้ เรื่องมันก็มีเท่านั้น แต่ลำบากอยู่ที่ปฏิบัติเพราะมันเผลอเก่ง มันลืมเก่ง มันเผลอเก่ง ก็ไปหัดกันตรงนี้เฉพาะสติสัมปชัญญะเมื่อจะพูดและเมื่อฟังและเมื่อจะพูดออกไปอีกและเมื่อจะฟังต่อไปอีก เป็นอันว่าธรรมปาฏิโมกข์วันนี้พูดเรื่องการพูดด้วยภาษาของตัวกูของกูโดยไม่มีความยึดมั่นเป็นตัวกูของกู เอาล่ะ,พอกันที