แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การถวายความรู้รอบตัวในวันนี้ อยากจะกล่าวถึงเรื่องคำบางคำที่เข้าใจว่ายังเข้าใจผิดกันอยู่ ซึ่งผมเองก็เคยเข้าใจผิด และมันมีอยู่หลายคำ ทีนี้คำที่สะดุดมากกว่าคำอื่นนั่นแหละจะต้องเอามาพูดกันให้เป็นที่เข้าใจ โดยเฉพาะสำหรับพวกเรา ถ้าใช้คำว่าพวกเราที่ไหนเมื่อไหร่ก็ให้เป็นว่าในความหมายที่ได้พูดในวันแรก ไม่ใช่พวกเราด้วยความยึดมั่นถือมั่น แต่พวกเราด้วยสติปัญญาที่รู้จักรับผิดชอบในหน้าที่ของตัว โดยเฉพาะก็คือพวกเราที่มีโชคดี ได้ทำหน้าที่นี้และก็รับหน้าที่อันนี้ไว้ในฐานะเป็นหน้าที่สูงสุด คือทำให้เพื่อนมนุษย์ได้รู้จักธรรมะในขั้นที่เป็นหัวใจคือแก่นหรืออะไรของธรรมะ ก็เป็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ ท่านสอนให้ก็เพราะว่าท่านตรัสรู้คือค้นพบ และสิ่งที่ตรัสรู้หรือค้นพบนี้มันคืออะไรกันแน่ หรือว่าอย่างน้อยมันก็มีว่าสิ่งนั้นมันเรียกว่าอะไรได้บ้าง ดูมันสับสน ที่พระพุทธเจ้าตรัสเองก็เหมือนกันกับที่คนอื่นเขาพูดเมื่อสรรเสริญพระพุทธเจ้า บทสวดชมเชยพระพุทธเจ้าตอนเช้าก็เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเองว่าท่านรู้อะไร และที่คนภายนอกทั้งหลายที่นับถือพระพุทธเจ้า แม้ที่เป็นสมณพราหมณ์เหล่าอื่น เขาก็ยังพูดเหมือนกันในข้อที่ว่าพระพุทธเจ้าท่านรู้อะไร ที่ค่อนข้างจะแปลก ที่พูดตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าคนอื่นเขาว่าก็ดี หรือคนอื่นเขาว่าโดยตรงก็ดี มันมีว่า โส อิมํ โลกํ สเทวกํ สมารํ สพฺรหฺมกํ สสฺสพฺราหฺมณึ ปชํ สเทวมนุสฺสํ สยํ อภิญฺญา สจฺฉิกตฺวา ปเวเทสิ นี่ขอให้คิดถึงประโยคนี้ และมันก็มีเพียงเท่านี้ คือว่าที่ทรงกระทำให้แจ้งด้วยพระปัญญาอันยิ่งเองแล้วประกาศ และทรงทำให้แจ้งซึ่งโลกนี้ ซึ่งเทวโลก ซึ่งมารโลก ซึ่งพรหมโลก ซึ่งหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะและพรหมณ์พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านได้ทรงทำให้แจ้ง หรือตรัสรู้ด้วยพระปัญญาอันยิ่งเองแล้วก็ประกาศ
ผมเชื่อว่าพระเณรส่วนมากไม่สนใจว่ามันอะไรกัน นี่กล้าพูดอย่างนี้เลย แล้วก็มักจะไปคิดว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้อริยสัจ ๔ ในลักษณะต่างๆ กัน อริยสัจ ๔ ที่ตรัสในรูปอริยสัจ ๔ ย่อๆ ก็มี ที่ตรัสในรูปอริยสัจ ๔ อย่างพิสดารสมบูรณ์คือปฏิจจสมุปบาทนั้นก็มี แต่แล้วมันก็เป็นเรื่องอริยสัจ ๔ เท่านั้นที่ตรัสรู้ด้วยปัญญาของพระองค์เองแล้วสอน ทีนี้ข้อความนี้มันไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจ ๔ กระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ก็คือตรัสรู้เองแล้วเอามาประกาศสอนซึ่งโลกนี้พร้อมทั้งโลกอื่น แล้วสำหรับบุคคล ก็สมณะและพรหมณ์ทั้งเทวดาและมนุษย์ นี่ท่านทำให้แจ้งซึ่งอะไรกันแน่ ให้แจ้งซึ่งโลกให้แจ้งซึ่งบุคคลเหล่านี้ นี้มันหมายความว่าโลกหรือบุคคลเหล่านี้เป็นอริยสัจทั้งนั้นหรืออย่างไร ถ้าพูดว่าโลกเฉยๆ ก็มีพระบาลีที่บางแห่งว่าสิ่งที่เรียกว่าโลกนั้นหมายถึงความทุกข์ แต่ทีนี้เติม สเทวกํ สมารกํ สพฺรหฺมกํ อะไรเยอะไปหมดเลย ทั้งเทวดาและมนุษย์ ทั้งสมณะและพราหมณ์ เพราะฉะนั้นคำพูดเหล่านี้คงจะมุ่งหมายอะไรอย่างอื่นนอกจากอริยสัจ หรือว่าถ้าจะแปลความข้อนี้ให้มันเป็นอริยสัจ มันก็เป็นอริยสัจเดียวเท่านั้นแหละคือโลกคือทุกข์ ทุกข์คือโลก โลกคือทุกข์ ถ้าบางองค์ยังไม่ทราบเพราะไม่เคยอ่านไม่เคยนั่นก็ขอให้ทราบเถิดว่าเป็นพระพุทธภาษิตในอังคุตตรนิกายพวกหมวด ๔ ผมจำได้แม่นยำว่าสูตรนั้นชื่อว่าโลหิตัสสสูตร ตามชื่อของเทวดาแกชื่อโลหิตัสสะ แล้วก็มาทูลถามว่าที่สุดโลกอยู่ที่ไหน ฉะนั้นสูตรนี้เลยชื่อว่าโลหิตัสสสูตร และเป็นสูตรแรกของวรรคนี้ วรรคนี้ก็เลยเรียกว่าโลหิตัสสวรรค พระพุทธเจ้าตรัสว่าโลกก็ดี เหตุให้เกิดโลกก็ดี ความดับสนิทของโลกก็ดี ทางให้ถึงความดับสนิทของโลกก็ดี ตถาคตบัญญัติไว้ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่ง ที่ยังมีพร้อมทั้งสัญญาและใจ ในที่นี้ท่านตรัสเรียกโลกแทนคำว่าทุกข์ ไม่เอ่ยถึงคำว่าทุกข์ เพราะมันเป็นข้อความที่ตรัสกับเทวดาที่มาถามเรื่องโลก ฉะนั้นโลกก็คือทุกข์ เหตุให้เกิดโลกก็คือเหตุให้เกิดทุกข์ ความดับสนิทของโลกก็คือความดับสนิทของทุกข์ ทางให้ถึงความดับสนิทของโลกก็คือทางให้ถึงความดับสนิทของทุกข์ มีเรื่องเหมือนอริยสัจ ๔ แต่มันก็มีการแจกออกไปชัดเป็น ๔ เรื่อง ไม่ใช่เรื่องเดียว รู้อริยสัจ ๔ ก็เป็นอย่างนั้น ส่วนในข้อความนี้ซึ่งมีอยู่ประปรายทั่วไปมากแห่งในสูตรทั้งหลายมากมาย ว่าพระพุทธเจ้าทรงกระทำให้แจ้งด้วยพระปัญญาอันยิ่งเองซึ่งโลกนี้ ซึ่งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดา พร้อมทั้งมนุษย์ เราก็สวดอยู่ทุกเช้า แล้วทำไมไม่สะดุดใจบ้างว่าการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านี้มันรู้โลกเท่านั้นหรืออย่างไร นี่ท่านที่เป็นอาจารย์ควรจะสนใจเพราะเป็นอาจารย์ทำหน้าที่ประกาศ
ผมเคยคิดว่าบางทีข้อความนี้ในบาลีนี้จะมุ่งหมายเพียงว่าให้รู้จักคนที่เราจะไปสั่งสอนเขาไปโปรดเขาเท่านั้น บาลีนี้มีเท่านั้น ถ้าอย่างนั้นมันก็ยิ่งบกพร่องหรือว่าขาดไปมากมายแหละ คือไม่รู้จะสอนอะไร รู้จักแต่ตัวผู้สอนแล้วก็ไม่รู้จะสอนอะไร บาลีมันก็มีเท่านั้นแหละ ทีนี้ก็ไปถึงเรื่องว่าทรงแสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้นท่ามกลางไปนู่นเลย ส่วนสิ่งที่พระองค์กระทำให้แจ้งด้วยพระปัญญาอันยิ่งเอง มีแต่คำว่าโลกกับสิ่งที่เนื่องอยู่กับโลก เป็นเทวดาก็ได้ เป็นมารก็ได้ เป็นพรหมก็ได้ เป็นสมณะก็ได้ เป็นพราหมณ์ก็ได้นี่ นี้คือสิ่งที่ตรัสรู้และเผยแผ่ ที่เราเป็นสาวกผู้ทำตามท่านหรือตามหน้าที่ที่เราต้องทำ จะต้องรู้สิ่งเหล่านี้ มันจะต้องแน่นอน แต่รู้เท่านี้มันรู้สึกว่าไม่พอ,เอาสิ ถ้าจะให้มันกินความมาก กินความให้มากให้ครบ มันก็ต้องอธิบายอย่างอ้อมค้อม ซึ่งเราก็ไม่ค่อยชอบนักการอธิบายอะไรให้มันอ้อมค้อมเหมือนที่เขาชอบทำกันโดยมาก ฉะนั้นจึงเอามาเสนอเป็นเหมือนกับว่าปัญหาประเด็นหนึ่งที่จะต้องขบให้แตก ถ้าพูดตรงๆ กับพวกเราที่นี่ผมก็จะพูดว่า ที่ทำวิปัสสนากรรมฐานกันนั่น แบบนั้นแบบนี้สำนักนั้นสำนักนี้นั่น มันทำให้แจ้งซึ่งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกบ้างหรือเปล่า ถามแต่เพียงว่าบ้างหรือเปล่าเท่านั้นแหละไม่ใช่ทั้งหมด ถ้าไม่บ้าง ถ้าไม่มีบ้างหรือถ้าไม่บ้าง ก็หมายความว่าไม่รู้สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านทราบและประกาศ ถ้าจะให้มันเป็นสิ่งที่ไม่ผิดให้มันถูกต้องกลมกลืนไปได้ก็ต้องพูดลงไปว่ารู้ พวกเราที่ทำกรรมฐานวิปัสสนานี่ก็รู้จากสิ่งที่เรียกว่าโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก อะไรโลก นั่นจึงจะสามารถประกาศพระศาสนาได้ ทีนี้ปัญหามันก็คือว่า แหม,เก่งจังนะ พระวิปัสสนาตัวดำๆ นี่ ไปโปรดเทวดา โปรดมารและพรหม โปรดยักษ์ โปรดสมณพรหมณ์ทั้งเทวดาและมนุษย์ นี่ระวังให้ดี มันจะห้าแต้น(นาทีที่ 16:00) ถ้ามันจริงตามคำที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้มันก็ต้องมีคำอธิบายมากกว่าที่รู้กันอยู่ ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็ไม่มีอะไรที่น่าเชื่อใจ ไม่รู้สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านรู้
ฉะนั้นผมอยากจะพูดเรื่องคำว่า สเทวกํ สมารกํ สพฺรหฺมกํ สสฺสมณพฺราหฺมณึ ปชํ สเทวมนุสฺสํ สยํ อภิญฺญา ที่ว่ากันทุกเช้าๆ นี่ ให้มันแจ่มกระจ่างไปเสียทีมันว่าอะไร และอาจารย์วิปัสสนาทั้งหลายรู้จักสิ่งนี้หรือเปล่า ถ้าไม่รู้จักสิ่งนี้จะประกาศพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงพร้อมทั้งอรรถะพยัญชนะให้ไพเราะในเบื้องต้นท่ามกลางเบื้องปลายได้อย่างไร หรือว่าเราจะเอาครึ่งเดียวพอคุ้มค่าข้าวสุกในบาตร ผมก็คิดว่าคงจะไม่คุ้ม มันต้องให้เต็มตามความหมายนี้ มันจึงจะสมกับที่เป็นพระสาวกหรือว่าคุ้มกับจตุปัจจัยที่ทายกเขาบำรุงให้มีชีวิตรอดอยู่ได้ ต้องทำให้แจ้งซึ่งสิ่งเหล่านี้แล้วก็ประกาศพรหมจรรย์แก่คนเหล่านี้แก่พวกเหล่านี้ นี่คือสิ่งที่ผมสนใจมานาน และก็กำลังอธิบายตามความคิดเห็นของผม แล้วก็ถูกด่า เรื่องถูกด่านี่ไม่ใช่ผมโกรธหรือเสียใจหรือเศร้าอะไร,ไม่ใช่ มันยิ่งเป็นเรื่องที่ทำให้ต้องค้นคว้ามากออกไปอีก แง่ที่ถูกด่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ไม่มีอะไรมากหรอก มีแต่ว่าอะไรๆ ก็เอามาใส่ไว้ในจิตใจในสิ่งที่เรียกว่าจิตนี้หมด ในขณะแห่งปฏิจจสมุปบาทชนิดใดชนิดหนึ่ง จิตนั้นก็มีสภาพเป็นโลกหรือเป็นภพหรือเป็นชาติชนิดใดชนิดหนึ่ง เมื่อ สเทวกํ เทวโลก สมารกํ มารโลกอะไรโลกนี่ มันคือภาวะหนึ่งๆ ที่จะมีขึ้นเกิดขึ้นเป็นคราวๆ ในจิตใจของคนเรานี่ ของมนุษย์ธรรมดาสามัญนี่ ในบางคราวคนเรามีภาวะของจิตใจเหมือนกับว่าเป็นเทวดา เมื่อนั้นเขาก็เป็นเทวดา บางทีก็คล้ายกับพรหม บางทีก็คล้ายกับมาร ส่วนที่แจกไปว่าหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ ทั้งเป็นเทวดาและมนุษย์นี้ ค่อนข้างจะชัด สมณพราหมณ์นี้แยกเป็น ๒ พวก สมณะพวกหนึ่ง พราหมณ์พวกหนึ่ง ครูบาอาจารย์เจ้าหน้าที่ทำการสั่งสอนที่อยู่บ้านอยู่เรือน เขาเรียกว่าพราหมณ์ มันเป็นฆราวาส ครูบาอาจารย์ประเภทอนาคาริกไม่มีบ้านเรือน เขาเรียกว่าสมณะ พวกไหนก็ได้เรียกว่าสมณะ เป็นคำมาแต่โบราณ สมณะและพราหมณ์มีความหมายอย่างนี้ ตามภาษาปกติธรรมดาสามัญแยกกันเป็น ๒ พวก คล้ายๆ กับว่าพระบ้านกับพระป่า พระครองเรือนกับพระไม่ครองเรือน
นี่อย่าลืมว่า นี้พูดอย่างภาษาธรรมดาของชาวบ้านในสมัยนั้น แต่ถ้าพูดตามภาษาของพระพุทธเจ้าแล้วเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เช่นคำว่าพราหมณ์ตามความหมายของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะนั้นท่านหมายถึงพระอรหันต์ ไม่ได้หมายถึงพราหมณ์ที่มีลูกมีเมียอยู่ที่บ้านและเป็นครูบาอาจารย์อยู่ที่บ้าน แต่ในประโยคนี้สมณพราหมณ์นี้หมายถึงพราหมณ์ธรรมดา สมณะธรรมดาในความหมายทั่วไป เป็นพระอรหันต์ก็ได้ไม่เป็นก็ได้ คน ๒ ประเภทนี้ทรงหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นของปัญหา ก็เพราะมันมีความสำคัญในโลกนี้ คล้ายๆ ว่าโลกนี้มันอยู่ด้วยคน ๒ พวกนี้ ในครั้งอินเดียคนที่เป็นครูบาอาจารย์เขาเรียกว่าพราหมณ์ไปหมดที่อยู่ที่บ้านเรือน พราหมณ์ประเภทนั้น พราหมณ์ประเภทนี้ เหมือนครูบาอาจารย์ทั้งหลายทั้งทางวัตถุ ทางกาย ทางจิต ทางวิญญาณอะไรมันก็เป็นพราหมณ์ไปหมดเพราะมันอยู่บ้านอยู่เรือน ทีนี้สมณะก็ไกลออกไป คือไปอยู่ป่าไปค้นคว้าลึกซึ้งออกไปนี่ ก็แปลว่าโลกหรือมนุษย์ทั้งหมดมันอยู่ได้ด้วยคน ๒ พวกนี้ สมณะนี้มันก็รวมสมณะทั้งหลายรวมทั้งพระพุทธเจ้าด้วย คำว่าพราหมณ์ก็หมายถึงพราหมณ์ทั้งหลายทุกประเภททุกชนิด มีชีวิตอยู่อย่างอาฬารดาบส อุทกดาบส นี้มันก็เป็นสมณะไป เพราะมันไม่มีบ้านเรือนมันไม่ได้มีลูกมีเมีย
ทีนี้เดี๋ยวนี้ก็เหมือนกันแหละ โลกในเวลานี้ มันมีอยู่ได้ด้วยครูบาอาจารย์ ๒ ชนิดนี้แหละ ที่เป็นผู้นำวิญญาณของคนทั้งหลายในโลกนี้ไป ก็คือครูบาอาจารย์ ๒ ประเภทนี้ ครูบาอาจารย์อย่างบ้านเรือนอย่างโลกนี้ ครูบาอาจารย์อย่างจิตใจอย่างทางสมณะทางจิตทางใจที่เป็นสมณะ มันก็เป็นบุคคลที่มีความหมายมากสำหรับโลก สมณะและพราหมณ์นี่ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงหยิบขึ้นมาเป็นคำสำคัญพ่วงไว้ในนี้ในประโยคนี้ว่าท่านรู้และทำให้แจ้งด้วยพระปัญญาอันยิ่งเองซึ่งบุคคล ๒ พวกนี้
ทีนี้คำต่อไปมันพ่วงมาด้วยคำว่าทั้งเทวดาและมนุษย์ สเทวมนุสฺสํ ทั้งเทวดาและมนุษย์ นี้ก็คล้ายๆ กับแยกคนที่เราเกี่ยวข้องด้วย คนที่เกี่ยวข้องด้วยได้ทั้งหมดนี้เป็น ๒ พวก คือเทวดากับมนุษย์ เทวดาก็คือผู้ที่ว่ามีบุญ มนุษย์นี่มันก็มีบุญน้อยหรือเรียกว่าไม่มีบุญก็ได้ คือสลับกันกับบุญ บุญบาปสลับกัน ในสูตรๆ หนึ่งมีตรัสไว้ชัดว่ามนุษย์คือพวกที่อยู่ด้วยความเพียร ด้วยกำลังของความเพียร ด้วยเหงื่อไคลนี่ ส่วนที่เรียกว่าเทวดานั้นไม่เป็นอย่างนั้น เขามีบุญอะไรๆ ก็มาเสนอให้โดยไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย เทวดามันมีความหมายอย่างนั้น เทวดาในโลกนี้มันก็ต้องคนประเภทที่เขาไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย เขามีกามคุณอิ่มเอิบตามที่เขาต้องการโดยไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยโดยไม่ขาดแคลน นี่ก็ต้องเรียกว่าพวกเทวดา ส่วนพวกคนที่อาบเหงื่อต่างน้ำดำรงชีพอยู่ก็ต้องเรียกว่าเป็นมนุษย์ คู่นี้ก็อยู่ในพวกที่ได้ทรงกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ผมถือเอาความหมายอย่างนี้ คือทรงทำให้แจ้งซึ่งโลกนี้ พร้อมเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์
ทีนี้บางคนเขาเป็นนักบาลีพิเศษ เขาจะไม่แปลอย่างนี้ก็ได้ เขาแปลสิ่งเหล่านี้ให้เป็นกรรม เป็นเหตุกรรมเข้ากับปเวเทสิก็มี ว่ายังบุคคลเหล่านี้ให้รู้แจ้ง แต่ก็ไม่รู้ว่ารู้อะไร จะตัดตอนกันว่าทรงกระทำให้แจ้งซึ่งโลกนี้พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์แล้วประกาศ คือยังสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์นั้นให้รู้แจ้ง อย่างนี้มันก็มี เขาเข้าใจกันอย่างนี้ก็มี เอาสมณะและพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์มาเป็นผู้รับคำสอนหรือถูกกระทำให้รู้แจ้ง มันก็ได้ ตัวหนังสือมันก็ยังดิ้นไปได้ แต่แล้วมันก็ยังไม่วายที่จะน่าหัวเราะ ที่ว่ารู้แจ้งซึ่งมนุษย์และยังมนุษย์ให้รู้แจ้ง หรือว่ารู้แจ้งซึ่งเทวดาและยังเทวดาให้รู้แจ้งตามนี่ พูดชัดๆ ก็คือว่าพระองค์ทรงรู้แจ้งหรือกระทำให้แจ้งซึ่งสัตว์โลก คือพระองค์รู้แจ้งซึ่งสัตว์โลกแล้วก็ทำสัตว์โลกนั้นให้รู้แจ้งตามพระองค์ มันก็รู้แจ้งซึ่งสัตว์โลกนั่นอีกแหละ พวกเราก็มีที่เป็นเปรียญอะไรก็มีที่ไม่เป็นเปรียญก็มี คงจะถือเอาความได้ต่างๆ กัน แต่ความเห็นของผมอยากจะถือว่าทรงรู้แจ้งโลกนี้ทั้งเทวดา มาร พรหม ทั้งหมู่สัตว์ ทั้งสมณะและพราหมณ์ ทั้งเทวดาและมนุษย์ คำมันซ้ำกันสองหน,ชอบกล รู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก พรหมโลก มารโลก โลกนี้คือมนุษย์ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกอีกทีหนึ่ง แล้วมันมาซ้ำสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์อีกทีหนึ่ง ฉะนั้นจะกันครึ่งหลังไว้เป็นผู้รับคำสั่งสอนก็ได้เหมือนกัน แต่ปัญหาที่กับพวกเรามันก็เหลืออยู่ตามเดิมนั่นแหละ พวกเรานี้รู้แจ้งซึ่งโลกนี้พร้อมเทวโลก มารโลก พรหมโลกหรือเปล่า แล้วก็ถึงขนาดที่ว่ายังสมณะและพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ให้รู้แจ้งด้วยหรือเปล่านี่ เราสอนแก่สมณะและพราหมณ์ แก่เทวดาและมนุษย์ด้วยหรือเปล่า
สำหรับพระพุทธเจ้าจะไม่มีปัญหาอะไร ความตรัสรู้ของท่านมันมากพอที่จะทรงสั่งสอนแก่สมณะและพราหมณ์ แก่เทวดาและมนุษย์ เพราะว่าในสมัยที่พระพุทธเจ้าท่านมีชีวิตอยู่นั้น ท่านก็สอนสมณะด้วยกันก็มีเหมือนกัน ที่สอนพราหมณ์กลับใจพราหมณ์เสียก็มาก กลับใจพราหมณ์มาเป็นสาวกมาเป็นสมณะเสียก็มาก แล้วสอนสมณะด้วยกัน ก็เช่นอย่างปัญจวัคคีย์อย่างนี้ หรือทรงตั้งพระทัยที่จะไปโปรดอาฬารดาบส อุทกดาบส นี่ก็ทรงตั้งใจจะสอนสมณะด้วยกัน ถ้าว่าเราสมัยนี้เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ก็ต้องลดอะไรลงมามาก ลด ลด ลดลงมา ถ้าว่าเราจะสอนสมณะด้วยกัน ก็สอนพระด้วยกัน หรือว่าที่สุดแม้แต่สอนครูบาอาจารย์ที่เป็นพระด้วยกัน ที่เป็นเจ้าลัทธิที่สอนลัทธิอะไรอยู่ มันก็เป็นหน้าที่ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องถือว่ามันเป็นหน้าที่ คือทำความเข้าใจถูกต้องแม้แก่สมณะด้วยกัน หรือแม้แก่สมณะที่เป็นชั้นครูบาอาจารย์ด้วยกัน
ทีนี้สำหรับพราหมณ์นั้นก็คือพวกครูชาวบ้านนั่นแหละ นี่มันแน่แหละ พระจะต้องสอนพวกชาวบ้านกระทั่งที่เขาเป็นครูบาอาจารย์ เป็นศาสตราจารย์ เป็นอะไรก็ตามใจ มีค่าเทียบเท่ากับคำว่าพราหมณ์ในครั้งพระพุทธกาล เราก็ต้องสอนเขานะ คือหมายความว่ามันเป็นหน้าที่ด้วยเหมือนกัน เราจะสอนหรือไม่สอนมันแล้วแต่เรา แต่ว่าข้อเท็จจริงนี้มันมุ่งหมายว่าอยู่ในขอบเขตที่เราจะต้องสอนด้วยเหมือนกัน
ทีนี้คำว่าทั้งเทวดาและมนุษย์นั้น ถ้าคำว่าเทวดาหมายถึงอยู่บนฟ้าบนสวรรค์เหมือนอย่างที่เขาพูดกันโดยมากผมว่าเหลว สอนไม่ได้หรอก ไปด้วยจรวดไปถึงโลกพระจันทร์แล้วก็ยังไม่พบเทวดาสักตัวหนึ่ง มันยังไกลกว่านั้นมาก จะไปอย่างไร แต่ถ้าถือเอาความหมายของคำว่าเทวดาตามที่ผมพูดจนถูกด่าแล้วก็,ได้ เทวดามีทั่วไปหมด พวกฮิปปี้ก็เป็นเทวดา เทวดาชั้นเลวชั้นกลางถนนเลยนี่ ก็ไปสอนมันสิ ทีนี้เทวดาที่สูงขึ้นไปมันก็เป็นเจ้านายเป็นอะไรที่เขามีบุญวาสนานี่ ที่เรียกว่าสมมุติเทพอะไรเทพกันนี่ ก็เป็นเทวดาซึ่งอยู่ในวิสัยที่สอนได้ และเขาก็ต้องการให้สอนว่าที่จริง พวกเศรษฐีประเภทที่เขาสำรวยเจ้าสำรวยเจ้าสำอางค์นี้ก็อยู่ในพวกเทวดา เราก็มีโอกาสที่จะสอนได้และก็มีเรื่องที่จะสอนได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราตีความหมายของคำบาลีเหล่านี้ในลักษณะภาษาธรรมอย่างนี้ และเป็นไปในลักษณะที่เรียกว่าเป็นขณิกวาท คือเอาจิตใจเป็นหลักแล้ว ความหมายเหล่านี้มีครบตามที่มันจะเกี่ยวข้องกับพวกเรานี่ เราจะรู้โลกนี้ได้ เราจะรู้เทวโลก มารโลก พรหมโลกได้ และเราจะประกาศแก่สมณะและพราหมณ์ได้ ประกาศแก่เทวดาและมนุษย์ได้เต็มตามความหมายนี้ ทำให้แจ้งซึ่งโลกก็คือทำให้แจ้งซึ่งความทุกข์นั่นแหละ โลกคือความทุกข์ หรือว่าโลกแห่งจิตใจที่เป็นอยู่ในลักษณะหนึ่งๆ จิตใจที่อยู่ใต้อำนาจของกามคุณ คือจิตใจที่วนเวียนอยู่แต่กับกามคุณเรียกว่า กามาวจรนี้ นี้เราก็อาจจะรู้ได้ถึงที่สุดคือรู้จักเทวโลก ทีนี้รู้จักเทวดาชนิดที่ดีไปกว่านั้นอีกก็เรียกว่ามารโลก คือว่าจิตใจที่มันสบายเกินไปในทางกามารมณ์หรือกามคุณ เขาเรียกว่ามารหรือมารโลก ทีนี้จิตใจที่ไปอยู่กับเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หรือว่าอยู่กับฌานสมาบัติอื่นๆ นี้ก็เรียกว่ามันเป็นพรหม คือพรหมโลก เมื่อใดจิตใจเป็นอย่างนั้น ที่นั่นก็เป็นพรหมโลกสำหรับคนนั้น และเราก็รู้จักพรหมโลกชนิดนี้ได้ไม่ยากและก็มีบ่อยๆ
ทีนี้จิตใจอย่างเดียวกับมนุษย์โลกนี้ ก็คือทั่วไปแหละ พวกเปรต พวกนรก พวกอะไรนี้ก็เขาสมมติผนวกเข้าไว้ในพวกกามาวจร เป็นอย่างมนุษย์ก็ได้อย่างเทวดาก็ได้ คือมันยังบูชาสิ่งที่เรียกว่ากามอยู่ บูชาสิ่งที่เรียกว่ากามคุณอยู่ ก็จัดเป็นกามาวจรหมด แม้พวกเปรตในนรกมันก็กระหยิ่มกระหายหรือบูชากามารมณ์กามคุณอยู่ จึงถูกจัดไว้ว่าเป็นพวกกามาวจร แต่มิได้หมายความว่าเขาได้อารมณ์ที่เป็นกามนั้นเต็มตามความต้องการของเขา ในเวลานั้นเขายังไม่อาจจะได้ แต่ใจของเขายังอยู่ต่ำถึงขนาดที่ว่าต้องการสิ่งนี้อยู่ เราจะต้องแปลความหมายของคำว่า อิมํ โลกํ สเทวกํ สมารกํ สพฺรหฺมกํ สสฺสมณพฺราหฺมณิยา ปชาย สเทวมนุสฺสาย นั่นพร้อมกับพร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ พร้อมทั้งสมณะและพราหมณ์ นี่ก็หมายความว่าสัตว์โลกนี้นอกจากจะแบ่งประเภทตามกามารมณ์หรือไม่กามารมณ์แล้ว ยังแบ่งตามหน้าที่การงานที่ว่าเขาเป็นสมณะหรือเป็นพราหมณ์อีก แล้วตามสถานะที่มีโชคดีโชคร้ายกว่ากัน เช่นว่าเป็นเทวดาและเป็นมนุษย์อีก ถ้าเข้าใจอย่างนี้ สิ่งเหล่านี้อยู่รอบๆ ตัวเรา ทั้งหมดนี้อยู่รอบๆ ตัวเรา อิมํ โลกํ สเทวกํ สมารกํ สพฺรหฺมกํ สสฺสมณพฺราหฺมณิยา ปชาย สเทวมนุสฺสาย นี่ อยู่รอบๆ ตัวเรา แต่ถ้าไปพริ้วตามบาลีว่า สสฺสมณพฺราหฺมณึ ปชํ สเทวมนุสฺสํ อันนี้ก็จะต้องกลายเป็นกรรมหมด กรรมของการรู้แจ้งหมด แต่ถ้าเปลี่ยนเป็น สเทวมนุสฺสาย บางทีมีโอกาสที่ว่าจะเป็นผู้รับคำสั่งสอนนี้ก็ได้
เอาล่ะ,มันไม่รู้ว่ามันจะแน่อย่างไร เราเถียงกันได้ไม่มีรู้จักจบสำหรับภาษานี้ ฉะนั้นภาษาไม่เป็นประมาณ เพราะว่าถ้าเราตีความอย่างนี้ มันก็ยังมีหน้าที่ให้ปฏิบัติอยู่ดี แม้เราตีความมาอย่างนี้ มันก็ยังมีหน้าที่ให้ต้องปฎิบัติอยู่ดี ตีความอย่างไหนก็ไม่สำคัญแล้ว เหลือแต่ว่าจะปฏิบัติหน้าที่นี้มันให้ถูกต้อง ฉะนั้นก็พูดสั้นที่สุดว่า เราต้องรู้จักโลกนี้ และก็สอนโลกนี้ให้รู้จักสิ่งที่ควรจะรู้จักคือตัวเองมากกว่า คำว่ารู้จักตัวเองนั่นแหละกินความกว้างหมดเลย เป็นอาจารย์วิปัสสนาแล้วยังไม่รู้จักตัวเองก็ได้ นี่ไปดูให้ดี ผมก็ไม่รู้จักตัวเองอยู่บ่อยๆ เหมือนกันแหละ ก็ไม่รู้ ไม่รู้อะไรบางอย่างคือไม่รู้จักตัวเอง ก็แปลว่าเรารู้จักสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นเสียก่อน แล้วก็ช่วยให้สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นรู้จักสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นอีกที คือรู้จักตัวเอง
ฉะนั้นวิปัสสนากรรมฐานแบบไหนระบบไหนก็ล้วนจะให้รู้จักสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เรียกว่าสัตว์นั่นแหละ ครั้นเรารู้จักสิ่งที่เรียกว่าสัตว์แล้วก็สอนสัตว์นั้นให้รู้จักสัตว์ตัวเองนั้นอีกทีหนึ่ง ดูมันจะมีเท่านี้แหละ ใจความทั้งหมดของการปฏิบัติหน้าที่ ทำกรรมฐานสมถวิปัสสนาให้รู้จักอะไร,ตัวเอง ตัวเองก็คือโลก โลกก็คือตัวเอง ไม่รู้จักตัวเองก็ไม่รู้จักโลก ไม่รู้จักโลกก็ไม่รู้จักตัวเอง นี่ผมขอยืนยัน ถ้ายังเห็นว่าผิดอยู่แล้วก็ หมายความว่ายังไม่เข้าใจ ตัวเองนี้คือทุกข์ ของใครก็เหมือนกัน รู้จักโลกก็คือรู้จักทุกข์ รู้จักตัวเองก็คือรู้จักทุกข์ เพราะมันต้องรู้จักทุกข์แน่
ทีนี้เอาเปรียบหน่อยที่ว่ารู้จักทุกข์นี้ ต้องรู้จักเหตุให้เกิดทุกข์ รู้จักความดับสนิทของความทุกข์ รู้จักทางให้ถึงความดับสนิทของความทุกข์ด้วย จึงจะเรียกว่ารู้จักทุกข์คำเดียวสั้นๆ นั่นเรามันถือภาษาเถรตรงด้วยความเขลา รู้จักทุกข์ก็รู้จักแต่ทุกข์ ภาษาพระพุทธเจ้าท่านไม่ใช่อย่างนั้น มันมีตรัสไว้ชัดเหมือนกันว่าถ้ารู้จักทุกข์ ก็ต้องรู้จักสมุทัย นิโรธ มรรค ถ้ารู้จักสมุทัย ก็รู้จักทุกข์ นิโรธ มรรค ถ้ารู้จักนิโรธ ก็รู้จักทุกข์ สมุทัย มรรค รู้จักมรรคก็ต้องรู้จักทุกข์ สมุทัยและนิโรธ หมายความว่าอริยสัจทั้ง ๔ นี้ จะรู้แต่เพียงอย่างเดียวนั้นไม่ชื่อว่ารู้อริยสัจ หรือว่าถ้ารู้อย่างเดียวสมบูรณ์ตามแบบของอริยสัจนั้นก็คือรู้ทั้ง ๔ อย่างด้วย ถ้ายังรู้แต่อย่างเดียวก็ยังไม่เรียกว่ารู้สิ่งนั้น ข้อนี้มันมีหลักอยู่ที่อื่นซึ่งเหมือนกัน แล้วก็เป็นหลักใหญ่ที่สำคัญว่ารู้จักสิ่งนั้นด้วยลักษณะอาการสมุฏฐานประเภทอะไรนี้ รู้จักสิ่งนั้น และที่ ๒ ก็รู้จักอัสสาทะของสิ่งนั้น คือความที่เรียกว่าเสน่ห์ เสน่ห์ของสิ่งนั้นที่จะทำให้สัตว์หลงใหล เขาเรียกว่าอัสสาทะ อัสสาทะนี้คือคำตรงกันข้ามกับคำว่าวิราคะ รู้จักอัสสาทะแล้วก็รู้จักโดยตรงกันข้าม นั้นคือวิราคะ วิราคะกับอัสสาทะตรงกันข้าม เรารู้จักสิ่งนั้นแล้วก็รู้จักอัสสาทะของสิ่งนั้น ทีนี้ก็รู้จักอาทีนวะ รู้จักโทษหรือความเลวทราม ซึ่งเป็นความจริงที่มันซ่อนไว้ของสิ่งนั้น แล้วก็รู้จักอันที่ ๔ คือนิสสรณะ วิถีทางหรืออุบายที่จะออกไปเสียให้พ้นจากอำนาจของสิ่งนั้นเรียกว่านิสสรณะ ซึ่งมันรวมวิราคะอยู่ในนั้น พอเห็นอาทีนวะมันก็เกิดวิราคะ ก็พบอุบายที่จะออกไปเสียจากสิ่งนั้น
ทบทวนสั้นๆ ว่ารู้จักสิ่งนั้น รู้จักเสน่ห์ของสิ่งนั้นคือความหลอกลวงมายา แล้วก็รู้จักโทษคือความจริงของสิ่งนั้น แล้วก็รู้จักอุบายที่จะออกมาพ้นจากสิ่งนั้น สิ่งทั้ง ๔ นี้ก็เหมือนกันตามที่พระพุทธเจ้าตรัส จะรู้แต่อย่างเดียวไม่ได้ ถ้ารู้แต่อย่างเดียวไม่ชื่อว่ารู้ ถ้ารู้ต้องรู้ทั้ง ๔ อย่าง เช่นเรารู้จักโลกนี่ อย่าง อิมํ โลกํ รู้จักโลกนี่ หมายความว่าต้องรู้ทั้ง ๔ อย่างนี้จึงจะเรียกว่ารู้จักโลก เดี๋ยวนี้เราไม่รู้ เรารู้แต่แผ่นดินนี้ด้วยซ้ำไป ไม่ใช่ตัวโลกแท้จริง แผ่นดินนี้ โลกนั้นอยู่ในจิตใจ ถ้าจะพูดว่ารู้จักโลกก็ต้องรู้จักโลกโดยปรากฏการณ์ทั้งหลายเหล่านี้ที่มันเข้ามาแวดล้อมเรานี้ แล้วก็รู้จักอัสสาทะของโลก คือส่วนที่มันทำให้เราหลงรักนั้น เรียกว่าอัสสาทะ และก็รู้จักอาทีนวะของโลกคือความทุกข์ที่มันมีไว้สำหรับตอบสนองคนที่ไปหลงรักมัน แล้วก็รู้จักนิสสรณะ อุบายเป็นเครื่องออกไปเสียจากโลกก็คือมัชฌิมาปฏิปทานั่นแหละ รู้ครบทั้ง ๔ จึงจะเรียกว่ารู้จักโลก เพราะฉะนั้นข้อความนี้ที่เรามาพูดถึงกันในวันนี้ มีกล่าวไว้จนถึงว่าพระพุทธเจ้าทรงกระทำให้แจ้งซึ่งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก มันจึงได้ความว่า คำพูดว่ารู้จักโลกนี้ มันหมายถึงรู้โดยลักษณะ ๔ ๔ อย่างแรกก็คือว่าต้องรู้จักโลก รู้จักเหตุให้เกิดโลก รู้จักความดับของโลก รู้จักทางให้ถึงความดับของโลก นี้ก็ ๔ แล้วก็รู้จักโลก แล้วก็รู้จักอัสสาทะของโลก รู้จักอาทีนวะของโลก รู้จักนิสสรณะของโลก นี้ก็ ๔
ทีนี้เราจะไม่มัวเถียงกันด้วยเรื่องคำพูดตัวหนังสือ เราจะถือเอาอรรถะคือความหมายตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้อย่างนี้ รู้จักโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ก็เรียกว่ารู้จักโลก แล้วรู้จักอัสสาทะของโลก อาทีนวะของโลก นิสสรณะของโลกเหล่านั้น ฉะนั้นเราจึงรู้จักโลกนั้นแล้วยังสัตว์โลกเหล่านั้นให้รู้จักตัวมันเองด้วย ก็คือมันก็รู้จักโลกใน ๔ ความหมายหรืออริยสัจ ๔ นี่การกระทำให้แจ้งซึ่งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลกเป็นต้นนั้นมันมีความหมายอย่างนี้ ฉะนั้นผมถือว่าการทำวิปัสสนาสำเร็จนั้นจะต้องรู้จักโลกในลักษณะอย่างนี้อย่างแจ่มแจ้งด้วยปัญญา ไม่ใช่เชื่อตามผู้อื่น นี่คือความเห็นที่ถวายไปเป็นเครื่องทดสอบว่าผลของวิปัสสนาที่ตนกระทำอยู่นั้น ทำให้เห็นโลกนี้ในลักษณะอย่างนี้หรือเปล่า ถ้าทำให้เห็นโลกนี้ในลักษณะอย่างนี้คือ ๔ ความหมาย ๒ ชุดนี้แล้ว ก็เรียกว่าเราเดินตามพระพุทธเจ้าได้สำเร็จแล้ว ทั้งโดยรู้และสอนผู้อื่นให้รู้ นี้เรียกว่าในชั้นแรกที่สุด ปัญหาอันมีเกี่ยวกับความรู้ เราต้องรู้และรู้อะไร ที่มาทำวิปัสสนาทั้งทีนี้ก็เพื่อรู้แน่นอน เพื่อจะรู้แน่นอน และคือรู้อะไร ผมว่าโดยหลักใหญ่ต้องรู้อย่างนี้ รู้ตามแนวของพระบาลีนี้ รู้จักโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก พร้อมทั้งสมณะและพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ รู้สิ่งเหล่านี้ทั่วถึงหมด
เทวดาก็มีความทุกข์ตามแบบเทวดา มนุษย์ก็มีความทุกข์ตามแบบมนุษย์ แล้วก็เป็นความทุกข์เหมือนกัน เหตุให้เกิดทุกข์ของเทวดาของมนุษย์มันก็ต่างกันโดยเปลือกนอก ด้านในก็เหมือนกันคือความโง่ความอยาก ฉะนั้นความดับทุกข์ก็เหมือนกันแหละ ดับอย่างนั้นแหละ ดับความโง่ความอยากนั่นแหละ แล้วก็ปฏิบัติก็เหมือนกันอีกแหละ เทวดาก็ต้องปฏิบัติมัชฌิมาปฏิปทาอัฏฐังคิกมรรค มนุษย์ก็ต้องปฏิบัติอัฏฐังคิกมรรคเหมือนกันแหละ เทวดามันสนุกสนานเพลิดเพลินเกินไป มันไม่ค่อยปฏิบัติ มีความทุกข์เจ็บปวดมาบีบคั้น มีความทุกข์หลอกลวงหวานอร่อยมาหลอกให้หลง มันก็ไม่ค่อยจะสนใจเรื่องการปฏิบัติ มนุษย์นี้มีความทุกข์บีบคั้นพอสมควร ที่ทำให้สนใจเกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์
ฉะนั้นข้อความในคัมภีร์ แม้คัมภีร์ชั้นหลังก็พูดเหมือนกันหมด ว่าพระพุทธเจ้าต้องมาอุบัติบังเกิดในโลกมนุษย์จึงจะเป็นพระพุทธเจ้าได้ ไม่มีใครเป็นพระพุทธเจ้าในเทวโลกหรือพรหมโลกเลย จะกล่าวอย่างบุคคลาธิษฐาน ธรรมาธิษฐาน มันก็อย่างนี้ทั้งนั้น แต่ถ้ากล่าวอย่างวิธีที่ผมถูกด่าแล้วก็ ก็กล่าวได้ว่าเมื่อยังอยู่ในกามารมณ์ ไม่มีทางจะเป็นพระพุทธเจ้าหรอก หรือว่าเมื่อไปหมกมุ่นอยู่กับสุขที่เกิดจากฌานสมาบัติเสียแล้วก็ไม่มีทางจะเป็นพระพุทธเจ้า ดังนั้นจะต้องออกมาเสียจากเทวโลก พรหมโลก มาสู่มนุษย์โลก แล้วก็ปฏิบัติเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงมีแต่ในมนุษย์โลก
นี้ก็เป็นข้อเท็จจริงต่างๆ ที่มันสัมพันธ์กันอยู่ ที่เราจะต้องรู้จักหรือรู้ว่ามนุษย์โลกเทวโลกเป็นอย่างไร สมณะและพราหมณ์เป็นอย่างไร โลกนี้ เทวโลก มารโลก พรหมโลกเป็นอย่างไร ตามที่ผมสังเกตเห็นอุบาสกอุบาสิกาสัตบุรุษโดยมากก็ยังเข้าใจผิด เป็นฟ้ากับดินอยู่ คือเขาเข้าใจมารโลกว่าเป็นทุคติเป็นยักษ์เป็นมาร นี่มารโลก ไปถามดูเถิด พวกอุบาสิกาโดยมากไม่รู้หรอก มารโลกนั้นคือยอดสุดของเทวโลก มนุษย์โลกคือโลกนี้ระดับธรรมดานี้ แล้วก็เทวโลกอย่างที่มีกามารมณ์ พอถึงมารโลกนั้นคือยอดสุดของเทวโลก คือประเภทปรนิมมิตวสวัตตี กิเลสเป็นมาร กามารมณ์เป็นมาร กามคุณเป็นมาร ฉะนั้นเป็นมารสูงสุดก็คือกามคุณสูงสุด กามารมณ์สูงสุด กามารมณ์สูงสุดอยู่ที่ปรนิมมิตวสวัตตี เป็นกามารมณ์สูงสุดด้วยและไม่ต้องหยิบใส่ปากเองด้วย พูดเปรียบกันอย่างนั้น มีคนอื่นคอยเสนอสนองให้ ถ้ากามารมณ์ชนิดต่ำก็ต้องหยิบใส่ปากเองหรือต้องทำเอง นี้มันถึงขนาดสูงสุด เพราะฉะนั้นมันจึงยึดจับจิตใจมาก ไม่อยากจะให้ใครมาเอาไปเสีย สวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตีนี่คือมารโลก พญามารที่มาผจญพระพุทธเจ้าที่โคนต้นโพธิ์ก็มาจากปรนิมมิตวสวัตตี คือความสุขทางกามารมณ์ชั้นสูงสุดมารบกวนจิตใจอีกครั้งหนึ่ง ฉะนั้นมารโลกนั้นก็คือเทวโลกชั้นสูงสุด ไม่ใช่ยักษ์มารที่เที่ยวจับช้างกิน จับควายกินอยู่ตามป่า แต่ชาวบ้านเข้าใจอย่างนั้นทั้งนั้นแหละ นี่เขาเรียกว่าภาษาธรรมะมันมีอยู่เฉพาะ อย่าไปเอาภาษาชาวบ้านมาปนกันเข้ามันจะยุ่ง
คำว่ามารที่แท้จริงต้องคือสิ่งที่จับจิตใจของสัตว์ยิ่งกว่าสิ่งใด ฉะนั้นมันก็ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่ากามารมณ์ เพราะฉะนั้นมารโลกนี่ มันจึงอยู่ในฝ่ายเทวโลก ไม่ไปอยู่เหนือพรหมโลกได้ การเรียงลำดับมันแสดงให้เห็นอยู่แล้วว่าโลกนี้ เทวโลก มารโลก พรหมโลก ไปตามลำดับ เทวโลกแล้วก็ยอดสุดของเทวโลกคือมารโลก ถ้าเลยจากนั้นก็ไม่มีกามารมณ์ ก็เป็นพรหมโลก ชั้นไหนก็ตามใจ ก็เห็นชัดตามหลักธรรมะที่บัญญัติกันขึ้นทีหลังเรื่องกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจรนี่ หรือชั้นหลังนี้หมายความว่าเรามาพูดกันมาก ก่อนก็มีเหมือนกัน ก่อนพระพุทธเจ้าก็อาจจะมีคำพูดเหล่านี้ แต่ในบาลีที่เป็นพระพุทธภาษิตไม่ค่อยพูดถึงคำพูดเหล่านี้ จัดสัตว์ทั้งหลายเป็นประเภทกามาวจร จมอยู่ในกาม นับตั้งแต่นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย มนุษย์ จนถึงเทวดา จนถึงชั้นมารชั้นมารโลก สิ้นสุดแค่นั้น,กามาวจร
ทีนี้สูงไปกว่านั้นก็เป็นพวกพรหม ที่เราสมมติเรียกว่าพรหม รูปาวจรและอรูปาวจร รูปาวจรเป็นพรหมที่แสวงหาความสุขจากรูปธรรมที่ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์แต่ยังมีรูปธรรมมาเป็นปัจจัย ทีนี้ถ้าสูงไปจากนั้นก็เอาอรูปธรรมคือนามธรรมมาเป็นปัจจัย แล้วก็ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์แล้ว นี่มันมี ๓ ชั้นเท่านี้ ถ้าเลยนี้ไปก็ต้องเป็นเหนือโลก ฉะนั้นคำพูดที่ว่า อิมํ โลกํ สเทวกํ สมารกํ สพฺรหฺมกํ นี้กินความ ๓ ชั้นนี้ไว้โดยครบถ้วน กามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร แต่มันเรียงคำพูดโดยความมุ่งหมายอย่างอื่นจึงดูรูปร่างผิดกันไป แต่เนื้อแท้เหมือนกัน เมื่อถือเอาอย่างนี้ก็เป็นอันว่าเราถือว่าพระพุทธเจ้าท่านทรงกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองซึ่งพวกกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร ทั้ง ๓ พวก แล้วก็ทรงทำคน ๓ พวกนี้ให้รู้จักตัวมันเองว่าบ้าทั้งนั้น กามาวจรก็บ้า รูปาวจรก็บ้า อรูปาวจรก็บ้า ที่ไม่บ้าก็คือขึ้นมาเสียให้พ้น ให้เหนือสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเราเรียกกันทีหลังว่าโลกุตตรภูมิ พระพุทธเจ้าทำหน้าที่อย่างนี้ ทรงรู้แจ้งซึ่งโลกเหล่านี้ดีแล้วสอนโลกเหล่านี้ให้รู้จักตัวเองว่าบ้าทั้งนั้น เขยิบขึ้นไปเสียให้พ้น อุดมคติหรือหลักการอย่างนี้จะใช้เป็นอุดมคติของวิปัสสนามณฑลได้หรือไม่ สมถวิปัสสนามณฑลหมายความว่าในขอบวงของผู้ที่ทำสมถวิปัสสนา หลักการอันนี้จะต้องใช้หรือไม่ ผมว่าอันนี้คือตัวเรื่อง หัวใจของเรื่อง ทำสมถวิปัสสนาแบบไหนก็ตามใจ เพื่อรู้จักสิ่งเหล่านี้ แล้วก็ทำเพื่อนกันให้รู้จักสิ่งเหล่านี้ ให้รู้จักตัวเอง เพราะว่าจะรู้จักกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจรได้ก็ต้องรู้จักสัตว์ข้างในตัวเองทั้งนั้นแหละ ขืนเงยไปบนฟ้าแล้วโง่ตายแหละ คือจะหาไม่พบ เหมือนกับเทวดาที่ชื่อโลหิตัสสเทวบุตรนั่นแหละ เที่ยวหาที่สุดโลกไม่พบไม่เคยพบ จนต้องไปทูลถามพระพุทธเจ้า เขาทูลถามพระพุทธเจ้าว่าข้าพระองค์มีเชาว์ เชาวนะคือความเร็วยิ่งกว่าลูกศรของนายขมังธนูที่สามารถยิงผ่านเงาของต้นตาลได้ ก็คือลูกศรมันเป็นความเร็วมากของสมัยนั้นที่เขาจะพูดกัน เขาเหาะได้เร็วขนาดนั้น เขาเที่ยวค้นที่สุดโลกอยู่กี่กัปแล้วก็ไม่รู้ เป็นกัปแล้วด้วยความเร็วชนิดนั้นแหละ ไม่เคยไปถึงที่สุดของโลกสักที โลกอยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าตรัสว่า เอ้า,มันอยู่ในร่างกายที่ยาววาหนึ่ง,โว้ย นี่มันบ้า มันเที่ยวหาข้างนอก มันเงยขึ้นไปข้างบน มันเหลียวไปซ้ายขวา มันบ้า มันไม่พบโลก กามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร หรือว่าความดับของสิ่งเหล่านี้
ฉะนั้นที่จะรู้จักเรื่องกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจรนั้นต้องดูในตัว บางคราวจิตเราเป็นกามาวจร บางคราวจิตเราเป็นรูปาวจร บางคราวจิตเราเป็นอรูปาวจร แม้คนธรรมดานี่ ถ้าคนดีกว่านั้นมันก็เป็นทางสูงๆ มากกว่าขึ้นไป ถ้าจิตมันกำลังดื่มด่ำอยู่ในกาม มันก็เป็นกามาวจร ถ้าจิตมันถอยออกมาเสียจากกาม มาพักผ่อนอยู่ในรูปธรรมที่บริสุทธิ์ มันก็เป็นรูปาวจร ถ้าว่ามันไม่อยากจะยุ่งกับสิ่งที่เป็นรูปธรรม ไปเอาเรื่องนามธรรมล้วนๆ เช่นความว่างเป็นต้นแม้ชั่วขณะ มันก็เป็นอรูปาวจร ฉะนั้นคนเดียวในวันเดียวอาจจะเป็นได้ทั้ง ๓ ชนิด
ทีนี้ถ้ามีการอบรมสมถวิปัสสนาตามแบบนั้นมันก็ยิ่งเป็นได้มากยิ่งเป็นได้นาน ทีนี้ถ้าว่าเอาตามวัย ตามวัยของอายุแล้วยิ่งเป็นได้นาน คนหนุ่มคนสาวมันก็บ้าประเภทกามาวจร พออายุมันมากเข้ามันก็มาบ้าในประเภทรูปาวจร คนสูงอายุแล้วมันชอบวัวควายไร่นามากกว่าชอบผู้หญิง ชอบกว่าผู้หญิงผู้ชาย ทีนี้ถ้าอายุมันมากขึ้นอีก วัวควายไร่นา วัตถุล้วนๆ นี้ก็ไม่ไหวแล้ว,โว้ย อยากจะเอาพวกที่ไม่เห็นตัวดีกว่า จะเป็นบุญกุศลหรือความดีความงามอะไรก็ตามใจนี่ หมายความว่าไม่มีรูปธรรมก็เป็นอรูปาวจร ถ้าเราอย่าไปทำอะไรแทรกแซงแก่ธรรมชาตินัก สิ่งทั้งหลายจะเป็นไปอย่างนี้ เพราะธรรมชาติมันสร้างมาสำหรับความเป็นอย่างนี้ โดยเฉพาะสำหรับมนุษย์ สร้างมนุษย์มาสำหรับให้ผ่านขั้นทั้ง ๓ ขั้นนี้โดยธรรมชาติ แต่มนุษย์มันบ้าเสียเอง มันไปต่อต้าน มันไปกลับกันเสียบ้าง มันไปต่อต้านเสียบ้าง แล้วถ้าปล่อยตามธรรมชาติ ไม่มีอะไรมาแทรกแซงนี่ เด็กๆ เกิดมาเป็นหนุ่มเป็นสาวนี้ก็หลงในเรื่องเล่น เรื่องเอร็ดอร่อย เรื่องกามารมณ์เรื่อยไปจนเป็นหนุ่มเป็นสาวเต็มที่ ทีนี้มันก็เอือมบ้างสิ หรือว่าไม่เอือมมันก็หมายถึงว่าร่างกายนี้มันเปลี่ยน มันก็เลื่อนไปหาที่ไม่บ้ามากอย่างนั้นน่ะ คือสิ่งที่มันหยุดนิ่งหรือสงบหรือว่าไม่ต้องมาดื่ม (นาทีที่ 57:59)แบบนั้น นี่มันก็ต้องเปลี่ยนจิตใจอยู่ขั้นหนึ่ง บางทีอายุ ๔๐ ๕๐ ขึ้นไปจนถึง ๖๐ ๗๐ ๘๐ ก็ได้ มันเบื่อสิ่งเหล่านั้น ในที่สุดอวัยวะสำหรับเพศมันก็เปลี่ยนไปหมด มันทำไม่ได้ ทีนี้ถ้ามันยังมีอายุต่อไปอีกถึง ๘๐ ปี ๙๐ ปี ๑๐๐ ปี ๑๒๐ ปี มันคงไม่อาจจะทนในความซ้ำซากนั้นได้ มันก็เลื่อนต่อไปอีก มันไปประเภทอรูป ถ้าตามธรรมชาติมันจะเป็นอย่างนี้
ผมอยากเดาเอาว่า แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ต้องเป็นอย่างนี้ เมื่อมันหนุ่มๆ มันก็เรื่องกินเรื่องเล่นเรื่องเพศเรื่องอะไรอย่างนี้ พออายุมากเข้ามันก็ชักจะเฉยๆ ไป พออายุแก่หง่อมเข้ามันก็หลีกออกตัวเดียวไปหาที่สงบ มนุษย์สมัยแรกๆ สมัยหิน สมัยอะไรเหล่าโน้น ก็จะเป็นไปตามธรรมชาติอย่างนี้ได้ง่าย มันขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยภายในร่างกาย มันทำให้เปลี่ยน ความเป็นหนุ่มเป็นสาวหมดไปสู่ความเป็นคนกลางคนนี้มันก็เปลี่ยน จากกลางคนไปคนแก่ชรามันก็เปลี่ยน มันไม่ต้องมีใครมาทำให้ ธรรมชาติมันจัดสรรเอง ให้เราผ่านภูมิกามาวจรมาสู่รูปาวจร แล้วก็ผ่านจากรูปาวจรไปสู่อรูปาวจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยพุทธกาลคนเขาฉลาดมาก ก็จึงผ่านสิ่งเหล่านี้ได้ดี
นี่พระพุทธเจ้าจึงว่าโลกไหนก็ตามใจ มันอยู่ในร่างกายที่ยาววาหนึ่งนี้ เทวโลก มารโลก พรหมโลก โลกไหนก็ตาม มันอยู่ในร่างกายที่ยาววาหนึ่งนี้ นี่ผมกลัวจะไปสอนชาวบ้านให้เงยขึ้นบนฟ้านั้น บรรดาพระอาจารย์วิปัสสนาของเราทั้งหลายนี่ ถ้าอย่างนั้นมันเลื่อนลอยเต็มที ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรได้ มันเอาไม่ถึง มันทำอะไรให้เป็นประโยชน์ไม่ได้ แต่ถ้าเอากันตามที่พระพุทธเจ้าท่านว่า ว่าทุกๆ ภพ ทุกๆ โลกมันอยู่ในร่างกายที่ยาววาหนึ่งนี้ มันจะทำได้และได้ผล และได้ผลทันตาเห็นนี้ด้วย นี่เอาโลก เอาภพ เอาภูมิอะไรต่างๆ มาใส่ไว้ในร่างกายที่ยาววาหนึ่งนี้ โดยวิธีนี้ตามหลักเกณฑ์ของปฏิจจสมุปบาท วันหนึ่งๆ มีภพมีภูมิมีชาติอะไรมาก จากเวทนาก็เป็นตัณหา จากตัณหาก็เป็นอุปาทานนี่ ทีนี้ก็คือภพแหละ ภพชนิดใดชนิดหนึ่งตามเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดปฏิจจสมุปบาทรอบนี้แหละ ฉะนั้นกามภพ รูปภพ อรูปภพ ก็ได้อยู่ในปฏิจจสมุปบาทรอบใดรอบหนึ่ง มันหาพบที่นี่ มาพบที่นี่แล้วมันก็จัดการกันได้ที่นี่ ที่จะรู้จักโทษ รู้จักคุณ รู้จักอุบายเป็นเครื่องออกอะไรกันได้ที่นี่
นี่พวกเราบรรดานักวิปัสสนานี่จะทำอะไรๆ ได้ แล้วก็ทำได้ที่นี่แล้วก็มีประโยชน์ที่นี่ แก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย แก่ตัวเองแล้วก็แก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลายนี่ จนทำให้เขารู้จัก อิมํ โลกํ สเทวกํ สมารกํ สพฺรหฺมกํ สสฺสมณพฺราหฺมณึ ปชํ สเทวมนุสฺสํ สยํ อภิญฺญา สจฺฉิกตฺวา นี่ ตามแบบนี้ได้ดี ที่อยู่ที่อื่นโลกอื่นผมไม่ได้ค้านนะ ผมไม่ได้ยกเลิกเขานะ แต่ผมขอร้องว่ามาสนใจอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสกันดีกว่า อยู่ที่ร่างกายยาววาหนึ่งนี้ มีคนหาเรื่องด่าผมฟรีๆ ว่าผมไปยกเลิกสิ่งเหล่านั้น ผมไม่เคยพูดยกเลิกที่ไหนเลย พูดแต่ว่าอย่าสนใจเรื่องนั้น มาสนใจเรื่องนี้ก่อน ตายแล้วเข้าโลงแล้วไปมีอะไรที่ไหน อย่าไปสนใจ สนใจที่นี่และเดี๋ยวนี้ เราเกิดและตายอยู่ทุกวันๆ วันละหลายๆ ครั้ง เขาหาว่าผมนี้ยกเลิกเรื่องโลกหน้าโลกอะไร ผมไม่ได้ยกเลิก แต่เอาทุกโลกมาใส่ไว้ในกายที่ยาววาหนึ่งนี้ ตามคำแนะนำของพระพุทธเจ้า
ฉะนั้นเรื่องที่ผมถวายความเห็นเกี่ยวกับความรู้รอบตัวที่เป็นประโยชน์แก่กิจกรรมของวิปัสสนามณฑลนี้ ก็คือคำนี้สำหรับวันนี้ คำว่า อิมํ โลกํ สเทวกํ สมารกํ สพฺรหฺมกํ สสฺสมณพฺราหฺมณึ ปชํ สเทวมนุสฺสํ สยํ อภิญฺญา สจฺฉิกตฺวา ปเวเทสิ นี้ก็เป็นคำที่สำคัญ ควรจะเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อนเพราะว่ามันเป็นตัวปัญหา มันเป็นรากฐานของปัญหาทั้งหมด หรือว่าตัวปัญหาที่แท้จริง ผู้ที่จะช่วยกันแก้ปัญหามันก็ต้องรู้จักตัวปัญหา เอาล่ะ,ในวันนี้ก็ขอถวายความรู้รอบตัวว่าทุกอย่างอยู่ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ ข้อแรกก็คือเรื่องโลกหรือเรื่องทุกข์ วันหลังก็จะได้พูดเรื่องอื่น วันนี้ขอยุติไว้เท่านี้/