แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้จะได้พูดต่อจากเมื่อวาน ทุกคนจะต้องทบทวนหัวข้อที่ว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับสิ่ง ๆ เดียวคือจิตอยู่เรื่อยไป เดี๋ยวนี้เรารู้แล้วเรากำลังจัดการจิตโดยการอบรมจิตให้ไปในทางที่จะให้แก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ ส่วนใหญ่ก็อยู่ที่ทำให้มีสติ มีสติเพื่อจะไม่ให้เผลอให้มีเวทนาเกิดขึ้นจนกระทั่งเกิดตัณหาอุปาทาน ทีนี้การอบรมจิตฝึกฝนจิตนั้น วิธีที่เรียกว่าอานาปานสติภาวนานี้เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าท่านแนะนำ ท่านสรรเสริญว่าสะดวกดีกว่าวิธีอื่นและเป็นผลดีกว่าวิธีอื่น คือการทำจิตให้เจริญ ทำจิตให้เจริญด้วยการมีสติกำหนดธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ กำหนดธรรมะอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า ธรรมหรือสิ่งที่กำหนดนั้นมี ๑๖ อย่าง แบ่งเป็น ๔ หมวด หมวดละ ๔ อย่าง
หมวดที่ ๑ สติตามกำหนดสิ่งที่เรียกว่ากายโดยตรงมีอยู่ ๔ หัวข้อ
หมวดที่ ๒ สติกำหนดความรู้สึกของจิตที่เรียกว่าเวทนามีอยู่ ๔ หัวข้อ
หมวดที่ ๓ กำหนดที่จิตโดยตรงมีอยู่ ๔ หัวข้อ
หมวดที่ ๔ กำหนดสิ่งที่จิตควรจะรู้แจ้งมี ๔ หัวข้อ
จึงเป็น ๑๖ หัวข้อหรือ ๑๖ ขั้น นี้ขอให้สังเกตความแตกต่างว่าหมวดที่ ๑ จัดการกันลงไปที่เรื่องกายโดยตรง หมวดที่ ๒ จัดการลงไปที่ความรู้สึกของจิตไม่ใช่ตัวจิต หมวดที่ ๓ กำหนดลงไปที่ตัวจิต หมวดที่ ๔ กำหนดถึงสิ่งที่จิตจะรู้แจ้งจนถึงที่สุด กำหนดกายนั้นอธิบายแล้วเมื่อวาน กายคือเนื้อหนังนี่ก็เรียกว่ากาย ลมหายใจก็เรียกว่ากายเพราะมันเนื่องกันอยู่กับเนื้อหนัง ไม่มีลมหายใจเนื้อหนังก็ตายหรือว่าไม่มีเนื้อหนังลมหายใจก็หายใจไม่ได้ มันติดกันอยู่ถึงขนาดที่เรียกว่า ถ้าลมหายใจหยาบกายก็หยาบ ถ้าลมหายใจละเอียดกายก็ละเอียด ถ้าลมหายใจสงบระงับกายก็สงบระงับ มันขึ้นอยู่แก่กันและกันหรือสัมพันธ์กันอยู่จนถึงกับว่าเราสามารถที่จะทำแก่สิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วมีผลแก่อีกสิ่งหนึ่งด้วย ที่เราจะทำแก่ร่างกายโดยตรงมันลำบาก ทำยากหรือทำไม่ได้ เราจะทำกับลมหายใจที่เรียกว่ากายลมแล้วมีผลไปถึงกายเนื้อ ขั้นที่ ๑ รู้เรื่องกายลมคือลมหายใจที่ยาวให้ดีเสียก่อน ขั้นที่ ๒ รู้จักลมหายใจที่สั้นให้ดีเสียก่อน แล้วเราจะรู้จักหายใจที่พอเหมาะพอดีพอสมกับการที่เราจะใช้ในการปฏิบัติอานาปานสติ ขั้นที่ ๓ ก็รู้เรื่องทั้งหมดเกี่ยวกับลมหายใจ ที่แท้คือรู้หน้าที่ของลมหายใจ หน้าที่ของลมหายใจนั้นเรียกว่ากายสังขารคือปรุงแต่งกาย ต้องมีสติกำหนดจนรู้จัก จนรู้สึกด้วยตนเองว่าลมหายใจนี้มันเนื่องอยู่กับกายอย่างไร ปรุงแต่งกายอย่างไร พอลมหายใจหยาบกายหยาบอย่างไร พอลมหายใจละเอียดกายละเอียดอย่างไร รู้กันในขั้นที่ ๓ เรียกว่ารู้เรื่องทั้งหมดเกี่ยวกับลมหายใจ สรุปความแล้ว คือ รู้ว่าลมหายใจนี้เป็นตัวปรุงแต่งร่างกาย เพราะฉะนั้น ถ้าเราไปทำอะไรเข้าที่ลมหายใจก็เท่ากับว่าไปทำอะไรเข้าที่ร่างกายเหมือนกัน เราไปเปลี่ยนแปลงลมหายใจได้ก็เปลี่ยนแปลงร่างกายได้ ขั้นที่ ๔ จึงฝึกทำลมหายใจให้ระงับ คำว่าระงับนี้หมายความว่าละเอียดด้วย สงบด้วย ต่ำกว่าปกติ คือ จะเย็นลงหรือละเอียดลงโดยวิธีที่เราแจกไว้เป็น ๕ ตอน ตอน ๑ วิ่งตามลมหายใจเข้าออกเข้าออกเข้าออก พอทำได้ดีแล้วก็มาตอนที่ ๒ คือ เฝ้าดูอยู่ที่จุดนี้ เมื่อเฝ้าดูอยู่ที่จุดนี้ได้แล้วก็ขั้นที่ ๓ คือ ทำมโนภาพ ภาพที่เห็นด้วยใจอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นตรงที่จุดนั้น ถ้าทำได้ดีแล้วก็ทำขั้นที่ ๔ คือ เปลี่ยนภาพที่สร้างขึ้นด้วยใจ เห็นด้วยใจนั้นให้มันเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ตามทำเราต้องการได้ ขั้นที่ ๔ นี้เมื่อเราทำได้ดีแล้ว เราสามารถทำให้จิตใจละเอียด ระงับถึงขนาดที่ว่าทำความรู้สึกที่เป็นองค์ฌาน ๕ องค์นี้ให้เกิดรู้สึกขึ้นมาในจิตใจพร้อมกันได้ คือ วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตา รู้สึกความที่จิตหรือสติกำหนดอยู่ที่อารมณ์ รู้สึกความที่จิตหรือสติซึมซาบอยู่ในอารมณ์นั้น รู้สึกว่าเวลานั้นเราพอใจ คือ มีปีติ รู้สึกเวลานั้นเรารู้สึกเป็นสุขด้วย รู้สึกว่าเวลานั้นจิตมีอารมณ์เพียงอย่างเดียว คือ อยู่ที่สิ่งที่มันกำหนดอยู่นั้นเอง ถ้าว่าอยากจะทำให้ละเอียดต่อไป ก็ค่อยเว้นเสียทีละอย่างสองอย่าง ถ้าครบทั้ง ๕ เรียกว่า ปฐมฌาน ถ้าเอาสองอย่างข้างบนออกเสียเรียกว่า ทุติยฌาน คือ ฌานที่ ๒ ถ้าเอาปีติออกเสียอีกเรียกว่าตติยฌาน คือ ฌานที่ ๓ ทำความสุขให้กลายเป็นเฉยเป็นกลางๆ แล้วอยู่กับอุเบกขานี้เรียกว่า จตุตถฌาน เมื่อทำได้อย่างนี้ผลที่ได้ทันที คือ ความสุขก่อน เรียกว่าได้สุขทันที มีความสุขทันที ไม่ใช่บรรลุมรรคผลนิพพานแต่ว่าสามารถมีความรู้สึกเป็นสุขอย่างเป็นที่พอใจอย่างยิ่งได้ ถ้าใครต้องการเพียงเท่านั้นก็หยุดอยู่เพียงเท่านั้น มีความสุขเกิดจากสมาธิเป็นที่พอใจอยู่ตลอดเวลา แต่ทีนี้อานาปานสติมุ่งหมายจะปฏิบัติต่อไปกว่าจะถึงอันนี้ ทีนี้ก็จะต้องนึกถึงข้อที่ว่าถ้าเราสามารถทำองค์ฌานทั้ง ๕ องค์ให้เกิดขึ้นได้ คือ มีปีติอยู่ที่นี่ ปีติที่เป็นเหตุทำให้เกิดความสุข มีความสุข มีปีติ อันนี้ต่อไปจะเป็นบทเรียน ถ้าเราทำได้ถึงนี้ถึงปฐมฌานปีตินี้ก็เต็มที่ยกออกไปไว้สำหรับเป็นบทเรียนต่อไป
พูดอย่างสรุปความ เมื่อสามารถทำกายลมหายใจหรือกายเนื้อหนังให้สงบระงับแล้วเราจะรู้สึกปีติ พอใจ และเป็นสุข ถ้าทำได้มากถึงเป็นฌานก็ปีติอย่างแรงกล้าหรืออย่างสูงสุด ถ้าทำได้อย่างธรรมดาก็เป็นปีติอย่างธรรมดาหรือแม้แต่ว่าปีติที่ต่ำไปกว่านั้นอีกเช่นปีติในการทำบุญทำกุศล หรือทำอะไรสำเร็จก็เรียกว่า ปีติเหมือนกัน ปีติชนิดไหนก็ตามเอามาใช้สำหรับเป็นบทเรียนในที่นี้ได้ แต่ในที่นี้เขามุ่งหมายชัดอยู่แล้วว่าเราทำลมหายใจให้ระงับเกิดสมาธิ เกิดฌาน พอทำได้อย่างนั้นมีสิ่งที่เรียกว่า ปีติ เกิดขึ้นอยู่ในนั้นเอง เราจึงได้ปีติจากการทำให้ระงับมาใช้เป็นบทเรียนนี้ รู้สึกต่อปีติอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า และก็รู้ต่อความสุขเพราะถ้ามีปีติต้องมีความสุข รู้สึกต่อสุข ทีนี้ ก็รู้เรื่องของปีติและสุข ๒ อย่างนี้เขาเรียกว่า เวทนา ปีติและสุขนี้เรียกว่า เวทนา ทีนี้รู้เรื่องทั้งหมดของเวทนาก็คือ รู้หน้าที่ของเวทนา หน้าที่ของเวทนา คือ ปรุงแต่งจิต รู้เรื่องทั้งหมดของเวทนา คือ รู้ว่ามันมีหน้าที่ปรุงแต่งจิต หน้าที่ของเวทนา คือ จิตตสังขาร คือ ปรุงแต่งจิต จิตตสังขาร เราสังเกตดูตรงนี้มีคำว่ากายสังขาร ปรุงแต่งกาย นี้มีคำว่า จิตตสังขาร ปรุงแต่งจิต ลมหายใจนั้นเองปรุงแต่งกาย เวทนาปรุงแต่งจิตมันจะตรงกันอยู่อย่างนี้ นี่เรื่องกายสังขาร นี่เรื่องจิตตสังขาร คือ เรื่องที่ทำหน้าที่ปรุงแต่ง อันที่ ๔ ทำจิตตสังขารให้ระงับ จิตตสังขารให้ระงับนี้ความหมายเดียวกัน ให้ระงับ ถ้ารู้จักเปรียบเทียบเราจะเห็นชัดและเข้าใจง่ายเข้าใจชัดอีกว่า ๒ อย่างแรกนี่รู้ตัวธรรมชาติ ตัวธรรมชาติทางกาย คือลมหายใจยาวลมหายใจสั้น ตัวธรรมชาติที่เป็นความรู้สึกของจิต คือ ปีติและสุข ทีนี้ก็รู้หน้าที่ของมันนี่มันปรุงแต่งกาย อันนี้มันปรุงแต่งจิต ทำอันนั้นแหละทำให้มันระงับ คือทำนั่นให้มันระงับ ทำจิตตสังขารให้ระงับ ทำลมหายใจก็คือกายสังขารนั่นแหละ จะเห็นชัดว่ามันเหมือนกันเลย โครงร่างอย่างเดียวกันเลย รู้จักตัวนั้นเสียก่อน ๒ อย่าง ให้รู้ว่ามันมีหน้าที่อย่างไร ทำอะไรที่เป็นปัญหาขึ้นมา แล้วก็รู้จักทำให้ระงับลงไปเสีย
นี่คือหมวดที่ ๒ เข้าใจคำว่าหมวดที่ ๒ เวทนาที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า feeling เมื่อตาเห็นรูปก็เกิดการเห็นทางตาเรียกว่าจักษุวิญญาณ ๓ อย่างนั้นพบกันแล้วเรียกว่าผัสสะ มีผัสสะแล้วต้องมีเวทนา คือ รู้สึกว่าสบายตาหรือไม่สบายตา เป็นสุขแก่ใจหรือเป็นทุกข์แก่ใจ โลกทั้งโลกมีปัญหาอยู่ที่ผัสสะหรือเวทนานี่ แล้วแต่จะเล็ง ถ้าไม่มีสิ่งที่เรียกว่าผัสสะแล้วโลกนี้ก็ไม่มี คือถ้าเราไม่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำหรับสัมผัสกับสิ่งภายนอกตัวเรา คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะแล้วมันก็ไม่มีอะไร เท่ากับโลกนี้ไม่มี เราก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี ปัญหาทุกอย่างตั้งต้นจากสิ่งที่เรียกว่า ผัสสะ พอผัสสะก็เกิดเวทนา เวทนานี้จะทำเรื่อง จะเป็นปัญหาและเป็นปัญหาที่ยุ่งยากลำบาก เดี๋ยวนี้ เราได้เวทนามาจากทำลมหายใจให้ระงับ แล้วได้อารมณ์เป็นธรรมารมณ์มาเป็นความสุขคือเป็นปีติและเป็นสุข การจะต้องทำอย่างนี้ก็เพราะว่าความมุ่งหมายส่วนลึกต้องการให้คนเราไม่หลงในสิ่งที่เรียกว่า เวทนา ความมุ่งหมายใหญ่ของธรรมะหรือของศาสนา คือ ต้องการให้มนุษย์ไม่หลงไปในเวทนา พอเราเกิดมาแต่ท้องแม่เราก็เริ่มหลงในเวทนา ตั้งแต่เป็นทารกพอรู้สึกเวทนาได้ ก็จะเริ่มหลงในเวทนา อร่อย สนุกสนานก็ยินดีไปพอไม่ได้ดั่งใจก็ร้องไห้ไป ถ้าเป็นสุขเวทนาก็หลงเอา หลงรัก ถ้าเป็นทุกข์เวทนาก็หลงโกรธ หลงเกลียด หลง เป็นทุกข์ไปแบบหนึ่ง ถ้าจัดการกับเวทนาถูกต้องแล้วปัญหาจะไม่มี ที่น่ารักก็ไม่รัก ที่น่าเกลียดก็ไม่เกลียด น่ากลัวก็ไม่กลัว แต่เดี๋ยวนี้เราจะทำทันทีอย่างนั้นไม่ได้ ต้องทำมาตามลำดับอย่างนี้ก่อน ท่านจึงให้เอาเวทนามาเป็นตัวบทเรียน กลุ่มนี้กลุ่มที่ ๒ เอาเวทนาเป็นบทเรียน บทที่ ๑ เอาลมหายใจเป็นบทเรียน กลุ่มที่ ๒ เอาเวทนาเป็นบทเรียน โดยมากเราทำไม่สำเร็จเพราะเราเอาเวทนาแต่ปาก เวทนาคำพูด เวทนาตัวหนังสือ เช่น มัวแต่ท่องเวทนาอนิจจา เวทนาอนัตตา มัวแต่ท่องอยู่อย่างนั้นมันก็เป็นเรื่องลมๆแล้งๆหมด การปฏิบัติธรรมะต้องเอาตัวจริงมา ต้องทำให้มีเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาจริงๆก่อน แล้วก็จัดการลงไปในเวทนานั้น ไม่ใช่มัวแต่ท่องอยู่ ที่ว่าเอาเวทนาจริง ๆ มาก็ต้องเอาเวทนาชนิดที่ร้ายกาจมา ที่มันเป็นปัญหามากกว่าจึงเอาสุขเวทนามา ปีติก็คือ สุขเวทนา สุขก็คือ สุขเวทนา ถ้าเราต้องการแต่ความสุขอย่างชนิดนี้ เดี๋ยวนี้ เวลานี้เราก็ทำอยู่แต่เพียงเท่านี้ก็ได้ กำหนดสุขเวทนาแล้วเป็นสุขอยู่อย่างนั้นก็ได้แล้วก็จำเป็นเหมือนกันที่ต้องรู้ให้มันซึบซาบต่อสุขเวทนาทั้งปีติและสุขให้ถึงที่สุดเสียก่อน ให้มันเหมือนจุดสูงสุดหรือเหมือนกับจุดอิ่มตัว เพื่อจะรู้ว่าเวทนามันเท่าไร อย่างไร แค่ไหน เพียงไร ให้มันรู้ ถ้าผู้ใดต้องการแต่เพียงความสุขทันทีไม่ต้องเจริญสิ่งเหล่านี้ก็ได้ เจริญแต่ตรงนี้ก็พอมันจะได้ความสุขทันที ถ้าต้องการจะฉลาดกันต่อไปอีก ก็เอาความสุขที่ชอบกันนัก ความสุขที่ว่าสุขดีนักมาจัดการอีกที จะฉลาดต่อไปอีก ปีตินี่ต่างกันหน่อยหนึ่งปีติ คือ ความพอใจ ความสุข คือ ความรู้สึกสบาย ปีติเกิดมาจากทำสำเร็จ เมื่อทำสิ่งใดสำเร็จเราจะมีปีติ ปีตินี้ค่อนข้างจะฟุ้งซ่าน คือ ทำให้จิตวุ่นวาย ลักษณะของปีติเขาจึงพรรณาไว้หลายอย่าง ทั้งตัวสั่นทั้งร่างกายหวั่นไหวไปตามเรื่องของมัน หลังจากปีติแล้วก็จะพบความสุขนี้ รู้สึกเป็นสุข ไม่เหมือนกันนะ ปีติกับความสุขนี่ นี่มันคือทำได้สำเร็จตามความพอใจ คือ ปีติ เสร็จแล้วจะรู้สึกเป็นสุข จะรวมเรียกว่าสุขเสียเลยก็ได้ ปัญหาคือสุขเวทนานี่แหละเป็นปัญหาของโลก เพราะว่าคนเราทำทุกอย่างทุกประการตลอดชีวิตเพื่อสุขเวทนา อุตส่าห์เล่าเรียนแล้วไปทำงาน หาเงินมาก ๆ เอามาเพื่อสิ่ง ๆ เดียวคือสุขเวทนา ให้มีกินมีใช้ไปตามที่เราชอบเรียกว่าสุขเวทนา ถ้าไม่มีสิ่งนี้ไม่ใช่เพื่อสิ่งนี้แล้วไม่มีใครทำอะไรให้ลำบากหรอก ไม่เรียนไม่ขวนขวายอะไรให้ลำบาก ขอให้คิดดูให้ดี ๆ ถ้าเราหาเงินมาซื้ออาหารกินเพื่อสุขเวทนา เราเล่าเรียนมาทำงานให้ได้ชื่อเสียง ชื่อเสียงทำให้เราเป็นสุขทางจิตใจว่าเรามีชื่อเสียง หรือเราจะหาเงินซื้อกามารมณ์ได้กามารมณ์มาก็เพื่อสุขเวทนา สุขเวทนานี้มีทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เหมือนกับว่าคนกำลังทำทุกอย่างเพื่อความสุขที่เป็นสุขเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
ทีนี้ พูดกันจำไว้ง่าย ๆ ว่ามีอยู่ ๓ อย่าง เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ ช่วยจำไว้ด้วยจะเข้าใจธรรมะได้ง่าย มีตัว ก อยู่ ๓ ก ก กิน และ ก กาม และ ก เกียรติ ทีแรกก็ต้องกินก่อน ไม่กินมันตาย หาเงินเพื่อให้ได้กินก่อน ให้มีอาหารกินก่อน พอมีกินมีใช้อะไรสบายแล้วก็หาเรื่องกาม เรื่องกามารมณ์เรื่องระหว่างเพศ กินก็มี กามก็มี ทีนี้ยังอยากจะได้เกียรติ อยากจะมีเกียรติ อยากจะชนะอยากจะดีอยากจะเด่น แต่ทั้งหมดนั้นก็เพื่อสบายใจที่เรียกว่า สุขเวทนา มนุษย์ทุกคนที่ยังเป็นคนธรรมดาก็เป็นทาสของเวทนา เป็นทาสของสุขเวทนา ไปคิดดูด้วย ถ้าเข้าใจข้อนี้ก็จะเข้าใจเรื่องนี้ได้ ว่าทุกคนกำลังเป็นทาสของเวทนาโดยเฉพาะสุขเวทนา ต้องการสุขเวทนาทั้งทางกิน ทั้งทางกาม ทั้งทางเกียรติ นี่อุตส่าห์เล่าเรียน อุตส่าวิ่งว่อนกันไปรอบโลกทั่วโลกเพื่อผลสุดท้ายคือเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ ๓ อย่างนั้น ๓ อย่างนั้นเรียกว่าสุขเวทนา ถ้าเราโง่ต่อสิ่งนี้เราจะเป็นทุกข์จนตาย หรือว่าถ้าเราควบคุมสิ่งนี้ไม่ได้เราจะเป็นทุกข์จนตาย เพราะมันจะทำจิตของเราให้มีปัญหาด้วย ดังนั้นจึงควรเอามันมา มาชิม มาทำให้รู้สึกให้รู้จักกันให้ถึงที่สุดเสียเลยในการปฏิบัติ ๒ ขั้นนี้จนกระทั่งเรามี experience ในสิ่งที่เรียกว่าปีติ ในสิ่งที่เรียกว่าสุข ส่วนนี้เขาเรียกว่า rapture ส่วนนี้เขาเรียกว่า happiness รวมกัน ๒ อย่างนี้ เรียกว่าเวทนาคือ feeling สิ่งที่เรียกว่าเวทนานี้เป็น mind-conditioner คือคอยปรุงแต่งจิต ประกอบจิต ให้เกิดเป็นจิต จิต จิต จิตนั่นจิตนี่จิตนู่นขึ้นมาเรียกว่าจิตตสังขาร condition นี้คือสังขาร จิตตะหรือมโน mind-conditioner คือเวทนานั้นเอง ต้องควบคุม ขั้นที่ ๔ จึงควบคุมให้อยู่ในอำนาจของเรา ที่ดีที่สุดคือทำให้มันระงับ อย่าให้มันปรุงจิตไปตามอำนาจของมัน ให้มันอยู่ในความควบคุมของเรา ดังนั้นขั้นที่ ๑ เราก็ชิม ทำ experience ในปีติ ทำแล้ว ๆ เล่า ๆ ทุกครั้งที่หายใจออก ทุกครั้งที่หายใจเข้า เหมือนอย่างเรากินน้ำตาล กินเข้าไปกินเข้าไปกินเข้าไปให้มันหวานให้มันถึงที่สุดนี้ แล้วจึงค่อยมาดูทีว่ามันเกิดอะไรขึ้น เมื่อมีปีติหรือมีสุขก็ตามรุนแรง มันเกิดอะไรขึ้น ในที่สุดก็จะพบว่ามันก็จะปรุงแต่งความคิด เมื่อเรามี feeling อันใดอันหนึ่งแล้วมันจะปรุงแต่งความคิดเป็น idea เป็น plot เป็นอะไรขึ้นมา เรียกว่าจิตตะ ถ้าปล่อยไปตามเรื่องของมัน มันก็เป็นเรื่องกิเลสหมดเพราะมันอร่อยเพราะมันสนุกสนาน เป็นเรื่องความโลภก่อน เรียกว่าความอยากได้หรือความโลภนี้ ถ้าเป็นเรื่องกามารมณ์ก็เป็น ราคะ ถ้าเป็นทั่วไปเรียก โลภะ โลภะ เขียนว่า greed หรือ greediness คือ โลภะ ถ้าเป็นเรื่องกามารมณ์ก็เป็น lust คือราคะ นี่คือส่วนเวทนาที่น่ารัก ทีนี้เวทนาที่น่าเกลียดไม่ถูกใจก็ให้เกิดความโกรธ เกิดโทสะเป็น anger เรียกว่าความโกรธ เวทนาที่ไม่รู้อย่างไรแน่ก็เกิดความสงสัย เกิดความลังเล เกิดความสงสัย เพราะฉะนั้น ความรักก็ดี ความโกรธก็ดี ความสงสัยก็ดี เรียกว่า จิต จิตอย่างหนึ่ง อย่างหนึ่ง อย่างหนึ่ง จิตอย่างหนึ่งมาจากเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง นี่เราจึงเป็นทาสของเวทนา ถ้าเราจะทำอำนาจของเวทนาให้ระงับ เราต้องจัดการกับตัวเวทนา จะทำเองโดยทางร่างกาย คือ ทำอย่างนี้ก็ระงับเหมือนกันเรียกว่า ทำให้ระงับโดยบังคับทางร่างกาย แต่ไม่ดีเท่าทอนกำลังของมันด้วยปัญญา ด้วยวิชาความรู้ วิชาความรู้ คือว่าพอเราได้รับเวทนาในจิตใจเต็มที่ ให้เราพิจารณาว่า อ้าว นี่เป็นเรื่องหลอกทั้งนั้น ความรู้สึกสบายเอร็ดอร่อยทางกามารมณ์ แม้กามารมณ์สูงสุดก็เป็นเรื่องหลอกทั้งนั้น เป็นเรื่องโง่ เป็นเรื่องธรรมชาติแล้วจะต้องทำอย่างนี้ ต้องกระตุ้นอย่างนี้ตามธรรมชาติ พอเราเห็นว่ารสอร่อยของกามารมณ์เป็นเรื่องหลอกตามธรรมชาติ อำนาจอันนี้มันจะลดลงเอง อำนาจปรุงแต่งที่เรียกว่า จิตตสังขารมันจะลดลงเอง ถ้าเห็นว่าสวยว่างามว่าดี มันจะกลุ้มขึ้นมาก ถ้าเห็นว่าที่ว่าดีว่าอร่อยเป็นเรื่องหลอก เรื่องโง่มันก็ลดลงเอง
ทีนี้ เราสามารถที่จะควบคุมไม่ให้เวทนากระตุ้นจิตของเรา จะเป็นเวทนาชนิดไหนก็ตามเราสามารถควบคุมไม่ให้มันกระตุ้นจิตของเรา เช่น เวทนาที่เป็นสุขสวยงามเอร็ดอร่อยก็ไม่ทำให้เรารักได้ เวทนาที่น่าเกลียดน่ากลัวก็ไม่ทำให้เราเกลียดกลัวได้ การทำที่ตอนนี้จะต้องใช้สติปัญญาเป็นหลักแล้ว ถ้าเพียงแต่ระงับให้มันเป็นสมาธิ แล้วให้หยุดโกรธ หยุดรักก็ได้น้อยมากและก็ไม่ถาวร คือไม่ลึกซึ้งพอ คือมันก็ได้เหมือนกัน รักขึ้นมาทำจิตให้สงบ หรือว่าโกรธขึ้นมาทำจิตให้สงบก็ได้เหมือนกันแต่ไม่ถาวร สู้พิจารณาให้เห็นว่าเป็นเรื่องบ้า เรื่องรัก เรื่องโกรธ เรื่องเกลียด เรื่องกลัวเป็นเรื่องบ้า มันจะระงับจริงและถาวรกว่า ในกลุ่มนี้ทั้งกลุ่มมี ๔ ขั้น พยายามดื่มรสทั้งปีติทั้งความสุขให้รู้ว่าเป็นอะไรแน่ อย่างว่ากินน้ำตาลกินเข้าไปจนอาเจียนจะรู้ความจริงว่ามันเป็นเรื่องบ้า ไม่ควรจะหลงเข้าไป การจะดื่มปีติและสุขจากอะไรก็ตามใจ มันก็เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความคลุ้มคลั่งทางความคิด คิดอย่างนั้นคิดอย่างนู้น คิดดีก็มี คิดชั่วก็มี เป็นเรื่องยุ่ง คิดชั่วก็ไปลักไปขโมยไปอะไร คิดดีก็ต้องคิดหาลงทุนอะไร เป็นทาสของเวทนา เราอย่าให้มันเป็นอย่างนั้น จะทำ จะหา จะมากินมาใช้ก็ทำไปโดยไม่ต้องเป็นทาสของเวทนา พูดอีกทีว่าไม่ต้องเป็นทาสของกิเลส เราอยู่ในโลกนี้โดยไม่ต้องเป็นทาสของกิเลส จะเล่าเรียนก็ไม่ต้องเป็นทาสของกิเลส จะทำงานก็ไม่ต้องเป็นทาสของกิเลส ทีนี้เราสนุกพอใจในการที่จะเป็นทาสของกิเลส ซึ่งที่แท้เป็นเพียงธรรมชาติที่หลอก หลอกชนิดหนึ่งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้สึกทางเพศเป็นเรื่องที่หลอกลึกมากจนคนรู้ไม่ทัน คนจึงหลงใหลในเรื่องทางเพศยิ่งกว่าเรื่องใดหมด อุตส่าห์เล่าเรียนอุตส่าห์ทำงานเหน็ดเหนื่อยแทบสายตัวขาดก็เพื่อความสุขทางเพศ เป็นทาสกันมากในเรื่องนั้น เพราะฉะนั้นไม่ต้องเป็นมากอย่างนั้น ก็ยังทำได้ คือ ทำไปตามที่ถูกที่ควร นี่ความมุ่งหมายของเรื่องเวทนานี้ ให้รู้เรื่องเวทนาจนควบคุมเวทนาให้ได้ อย่าหลงเป็นทาสของเวทนา
ผู้ถาม : ความรู้สึกต่อปีติความรู้สึกต่อสุขเป็นองค์เดียวกับในปฐมฌานหรือเปล่าครับ"
ท่านพุทธทาสภิกขุ : ปีติและสุขนี้เป็นองค์ฌาน เราเอาองค์ฌานนี่มาดูอย่างนี้
ผู้ถาม : กายสังขารระงับ แปลว่าวิตกวิจารณ์ระงับแล้วใช่ไหมครับ พอกายสังขารระงับหมายความว่าละวิตกวิจารณ์ใช่ไหมครับ
ท่านพุทธทาสภิกขุ : กายสังขารระงับแล้วก็เราพอใจที่กายสังขารระงับก็มีปีติ เมื่อเราทำกายสังขารร่างกายเย็นลงได้ เราก็พอใจ เป็นปีติ แล้วก็มีความสุข ปีติและสุขชนิดนั้นเราก็เอามาใช้อย่างนี้ หรือว่ามากถึงขนาดเป็นองค์ฌานที่คล่องแคล่ว ที่แน่นหนาก็เอามาใช้ ปีติจริงๆก็แล้วกัน สุขจริงๆก็แล้วกัน เอามาใช้เอามาชิมเพื่อให้รู้ว่าเป็นเรื่องหลอกในที่สุด ถ้าพูดอีกทีก็ว่าเพื่อให้รู้ว่าเรื่องความสุข สนุกสนาน สบายที่เราพออกพอใจบูชากันนัก ถ้าดูให้ลึกแล้วเป็นเรื่องหลอก ถ้าอย่างนั้นอะไรดี คือ ไม่เป็นอย่างนั้นนั่นแหละดี คืออยู่กลางๆไม่หลงใหลนั่นแหละดี ถ้าหลงใหลมันไปเป็นทาส เป็นทาสของ feeling อันนั้น ทีนี้เราก็ไม่เป็นทาสของ feeling อันนั้น เรามีปัญญาว่าจะจัดการกับมันอย่างไร เดี๋ยวนี้เราทำไม่ได้เพราะเราต้องถอนตัวมาจากความเป็นทาสของเวทนานั้นเสียก่อน ที่เป็นปัญหาของเรื่องนี้ คือ เวทนานี้จะปรุงแต่งจิต ที่เป็นกุศล เป็นอกุศล เป็น อัพยากฤต ให้เวียนว่ายไปในวัฏสงสาร เมื่อเราจะไม่ให้จิตถูกทำอย่างนั้นเราต้องจัดการกับตัวการที่ปรุงแต่งจิต คือ เวทนา คือเราจึงต้องทำจนไม่หลง ไม่เวทนา ซึ่งมีอยู่ ๓ ชนิด สุขเวทนาก็ไม่หลง ทุกขเวทนาก็ไม่หลง อทุกขมสุขเวทนาก็ไม่หลง ก็อย่าไปหลงรัก ข้อที่ ๑ ก็อย่าไปหลงโกรธ หลงเกลียดข้อที่ ๒ อย่าไปหลง มัวเมา ลังเลสงสัย วิตกกังวลคือข้อที่ ๓ ไม่หลงใหลในเวทนาทั้ง ๓ นี้เรียกว่าเราควบคุมเวทนาได้ ทีนี้มันจะปรุงแต่งจิตของเราตามต้องการของมันไม่ได้ เราอยากให้มันปรุงไปในทางที่ถูกที่ควรที่มีเหตุผล ที่เป็นสติปัญญา เพราะถ้ามันเป็นเรื่องหลงแล้ว มันเป็นทุกข์ทั้งนั้นแหละไม่ว่าหลงชนิดไหน หลงรักหลงโกรธ หลงเกลียด หลงกลัว หลงอะไรก็เป็นเรื่องทุกข์ทั้งนั้นแหละ เป็นเรื่องบ้าไม่หลงดีกว่า ไม่หลงคือมีสติปัญญา เป็นอิสระ ถ้าไปหลงรักเป็นทาสความรัก ไปหลงโกรธเป็นทาสของความโกรธ ไปหลงกลัวเป็นทาสของความกลัว นี่มันคนบ้า ไปหลงรัก หลงโกรธ หลงเกลียด หลงกลัว หลงบูชาสิ่งเหล่านั้น
ธรรมะมีหน้าที่ดึงออกมาเสียให้เป็นอิสระ เป็นอิสรภาพ อย่าไปเป็นทาสของความรัก อย่าไปเป็นทาสของความโกรธ อย่าไปเป็นทาสของความโลภ ทีนี้เรารู้ว่าที่เราไปเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้นเพราะเราควบคุมเวทนาไม่ได้ เราอยากเอร็ดอร่อยทางเนื้อทางหนัง เราอ่านหนังสือพิมพ์ว่าเด็กนิสิตสาว ๖ คนไปถูกจับที่หน้าไนท์คลับที่มันติดยาเสพติด ที่กรีดแขนเป็นแผล ไม่ได้มีมูลมาจากอะไร มีมูลมาจากเป็นทาสของความเอร็ดอร่อยทางเนื้อหนังจึงทำอย่างนั้น ที่ไม่ควรจะทำอย่างยิ่ง หรือที่มันรู้อยู่ว่าเขาจะยิงเป้าก็ยังข่มขืนเด็ก เพื่อไปถูกยิงเป้าเพราะเป็นทาสของเวทนานิดเดียวเท่านั้นแหละ มันบูชาความเอร็ดอร่อยความเนื้อทางหนังยิ่งกว่าสิ่งใด มันจึงยอมตาย เสี่ยงกับความตายด้วย ยอมตายเลย ให้มันได้ความเอร็ดอร่อยทางเนื้อหนัง นี่ดูพิษสงของสิ่งที่เรียกว่า เวทนาสิ มันเป็นจิตตสังขารทำให้คนยอมตายเพื่อความสนุกสนานเอร็ดอร่อยแว่บเดียว สำหรับเรื่องกามารมณ์นี้อยากจะจำกัดความลงไปว่าทั้งเหน็ดเหนื่อย ทั้งน่าเกลียด เพื่อความบ้าแว่บเดียว ทั้งสกปรก ทั้งเหน็ดเหนื่อย ทั้งน่าเกลียด เพื่อความบ้าแว่บเดียวคนก็ยังบูชากัน เพราะมันไม่รู้เท่าทันเวทนา ที่เป็นจิตตสังขาร มันจึงปรุงจิตให้หลงทำอย่างนั้นได้ในโลกนี้ทั้งโลกเลย ไม่ยกเว้นคนพวกไหน คนธรรมดาสามัญล้วนแต่เป็นทาสของเวทนา เรื่องของเวทนานี้มีมาก เป็นเงื่อนต้นของทุกสิ่งที่เป็นปัญหา อยากไปสวรรค์เพราะอยากได้สุขเวทนาอย่างสวรรค์ อยากไปอยู่กับพระเจ้าเพราะต้องการสุขเวทนาอยากไปอยู่กับพระเจ้า อยากเป็นมนุษย์ธรรมดาเพราะอยากมีสุขเวทนาอย่างมนุษย์ธรรมดาสามัญ มันขึ้นอยู่กับเวทนาทั้งนั้นเลย ทั้งโลกเลย เวทนานั้นมันมาจากผัสสะ คือ ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ผิวกายกับสิ่งที่มาสัมผัสผิวกาย เรียกว่า ผัสสะ จะเรียกว่ามันร้ายกาจที่ผัสสะก็ได้ ร้ายกาจอยู่ที่เวทนาก็ได้เพราะว่าถ้ามีผัสสะต้องมีเวทนาแน่นอน พอมีเวทนาแล้วถ้าเราควบคุมไม่ได้ก็เป็นกิเลสตัณหา เป็นอุปาทาน เป็นทุกข์ไปเลย ถ้าเรารู้เท่ากันจัดการได้ควบคุมได้กลายเป็นสติปัญญา อะไรมากระทบตา อะไรมากระทบหูจมูกลิ้นผิวหนังก็ตาม มันเกิดความเข้าใจเกิดความรู้ที่ถูกต้องว่าเราจะต้องทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ถ้าอย่างนั้นเป็นสติปัญญาไม่มีความทุกข์ นอกจากนั้นเป็นกิเลสตัณหาจะลงมาหาความทุกข์ นี่คือเวทนาที่ควบคุมได้หรือควบคุมไม่ได้ ถ้าควบคุมได้ก็ไม่มีความทุกข์ไม่มีปัญหา ควรจะทำอย่างไรทำอย่างนั้น โลกนี้ก็เจริญได้โดยมีสันติภาพ มีความสงบสุข ถ้าเราควบคุมไม่ได้ก็ต้องเจริญในทางที่จะเบียดเบียนกัน ต้องเป็นทุกข์ แต่ละคนก็เป็นทุกข์แล้วก็เบียดเบียนผู้อื่นให้เป็นทุกข์เพราะควบคุมสิ่งนี้ไม่ได้ นี่คือเวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน ทำปีติและสุขให้เกิดขึ้นที่ตรงนี้ แล้วเอามากินมาดื่ม มาดื่มดื่มแล้วดื่มอีกให้ถึงที่สุดเสีย แล้วเราจะรู้ว่าหมอนี่เป็นตัวร้ายปรุงความคิด ถ้าควบคุมไม่ได้จะคิดเลวๆ และจะทำให้มีความทุกข์ไปทั้งโลก เพราะฉันจะควบคุมมันจึงทำอย่างนี้ ควบคุมอย่าให้รู้สึกโดยวิธีนี้ก็ได้ ควบคุมอย่าให้มันครอบงำใจเราโดยพิจารณาเห็นว่าเวทนานี้เป็นของบ้าเป็นของหลอกลวง ถ้าเราปฏิบัติขั้นนั้นแล้วก็ปฏิบัติขั้นนี้ นั่งดื่มปีติอยู่จนรู้มันดี มันคืออะไร มันมีอิทธิพลอย่างไร มันมาจากอะไร รู้ให้มันหมดเลย สุขก็เหมือนกัน ดื่มปีติและก็ดื่มสุข จนถึงที่สุดแล้วจะจับได้ว่านี่ปรุงแต่งจิตเรียกว่า จิตตสังขาร คือ ปรุงแต่งจิต จะควบคุมให้ปรุงแต่ในทางที่ไม่เกิดความทุกข์ จึงเรียกว่าทำกำลังของเวทนาให้ถอยลง ที่ทำให้รักให้ถอยกำลังลง ที่ทำให้โกรธให้เกลียดก็ถอยกำลังลง ที่ให้โง่ให้หลงให้สงสัยให้วิตกกังวลก็ให้ถอยกำลังลง โดยรู้ว่านี่เป็นเรื่องบ้า ใช้คำหยาบๆ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่คนก็ยังหลง ไม่เที่ยง คือ เปลี่ยนแปลงเรื่อย เป็นทุกข์ คือ ดูแล้วน่าเกลียดเป็นของหลอกลวง ไปเอาเข้าแล้วมันเป็นทุกข์ หรือว่าเป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนที่จะเอาได้ เป็นเพียงปฏิกิริยาตามธรรมชาติของจิตที่ถูกปรุงแต่ง เพราะจิตนี้ไม่ใช่คนเป็นเพียงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นตามการปรุงแต่งของธรรมชาติเหล่านี้คือ ตา เกิดรูป เกิดจักษุวิญญาณ เกิดผัสสะ เกิดเวทนา ปฏิกิริยาที่เป็นไปตามลำดับตามกฏของธรรมชาติไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนที่ตรงไหน พอรู้อย่างนี้เวทนาก็ไม่มีกำลังหลอกให้เราโง่ เพราะเราไม่โง่ จิตของเราก็ไม่ถูกเวทนาปรุงนี่คือผลของการปฏิบัติข้อนี้
เอ้า ทีนี้จะขอต่อข้อนี้ไปเสียเลย ต้องเชื่อมกันให้ดี เพราะเดี๋ยวนี้เรารู้จักควบคุมตัว condition, conditioning agent ของจิตนี้ได้ เดี๋ยวนี้จิต เราสามารถรักษาไว้ได้ ไม่ให้ถูกความโง่หรือกิเลสไปกระทำแก่มัน เรียกว่าเราพอจะจัดจิตของเราอย่างไรได้ เราสามารถที่จะจัดจิตของเราให้เป็นอย่างไรได้แล้วเดี๋ยวนี้ ในขั้นนี้ ทีนี้เราก็เอามาจัดดู ดูจิตในทุกลักษณะ จะมีกี่ลักษณะตามใจ ๒. จัดจิตให้ปราโมทย์ ๓. จัดจิตให้ตั้งมั่น ๔. จัดจิตให้ปล่อยวาง จิตมีอยู่ ๔ เท่านั้น พอเราศึกษาเรื่องปีติเรื่องเวทนาดีจนรู้ว่าเป็นจิตตสังขารอย่างไร กระทำแก่จิตอย่างไร เราพิจารณาให้เวทนานี้ไม่หลอกเราได้ เราก็จัดจิตตามนั้นตามนี้ได้ ทีนี้เราเอาจิตในลักษณะใดลักษณะหนึ่งที่เป็นอยู่จริงๆมาดู ดูจิตในทุกๆลักษณะ นี้ไม่ต้องจำกัดว่ากี่สิบกี่ร้อยกี่พันอย่าง ดูจิตที่กำลังรู้สึกอยู่นั่นแหละดี ที่เดี๋ยวนี้กำลังรู้สึกอย่างไรนั่นแหละดี หรือจะดูในอดีตบ้างก็ได้ที่เคยเป็นมาแล้ว แต่ต้องการให้รู้เดี๋ยวนั้นเพื่อให้รอบรู้จริงๆ ต้องดูกันอย่างนี้ว่าเมื่อเราหายใจยาวๆ จิตของเราเป็นอย่างไร เมื่อเราหายใจสั้นๆ จิตของเราเป็นอย่างไร เมื่อเรากำลังรู้เรื่องกายสังขารจิตของเราเป็นอย่างไร เมื่อเราทำกายสังขารให้สงบได้จิตของเราเป็นอย่างไร ที่เราจะศึกษาจิตในทุกๆแง่ทุกมุม เมื่อเรามีปีติจิตของเราเป็นอย่างไร เมื่อเรามีสุขจิตของเราเป็นอย่างไร เมื่อเราเห็น ๒ อย่างนี้ปรุงแต่งจิต เวลานั้นจิตของเราเป็นอย่างไร เราทำจิตตสังขารให้ระงับได้นี้จิตของเราเป็นอย่างไร ในลักษณะเหล่านี้จะออกมาเป็นรูปว่า จิตของเรามีความโลภหรือไม่มีความโลภ เมื่อจิตของเราหลงในสุขเวทนา จิตของเรามีความโลภ เมื่อจิตของเราไม่หลงในเวทนา จิตปราศจากความโลภ เมื่อเราชิมเสวยปีติสุขนี้ จิตของเราเต็มไปด้วยความโลภ เราก็รู้สิ หรือเมื่อเราทำให้ปีติและสุขไม่หลอกเราได้แล้ว จิตของเราก็ไม่โลภ เราจึงได้จิตเป็นคู่ เป็นคู่ เป็นคู่ เสมอไป จิตที่มีความโลภ จิตที่ไม่มีความโลภ จิตที่มีความโกรธ จิตที่ไม่มีความโกรธ จิตทีมีความกลัว จิตที่ไม่มีความกลัว ทุกคู่เลย ไปดู ตามที่กำลังเป็นอยู่อย่างไร จิตกำลังเศร้า หรือจิตไม่เศร้าร่าเริงดี หรือจิตฟุ้งซ่าน บ้าคลั่ง หรือจิตสงบระงับนี้มีเป็นคู่ๆ สิบคู่ยี่สิบคู่ แต่ที่ใหญ่ๆ ก็มีไม่กี่คู่หรอก มีโลภไม่มีโลภ มีโทสะไม่มีโทสะ จิตหดหู่หรือว่าจิตฟุ้งซ่านเป็นต้น
ขั้นที่ ๑ นี้เพียงสำรวจดูลักษณะของจิตว่าเป็นอย่างไรกันบ้างเท่านั้นเอง เดี๋ยวนี้เนื่องจากเราควบคุมเวทนานี้ได้หรือควบคุมตัวสังขารที่ปรุงจิตนั้นได้ เราจะบังคับโดยตรงว่าเราจะทำให้จิตของเรามีความรู้สึกปราโมทย์ คำว่าปราโมทย์นี้ก็ไม่ใช่ปีติ คำว่าปีตินี้ก็ไม่ใช่สุข คำว่าความสุขนี้ก็ไม่เชิงปราโมทย์แต่มันคล้ายกันมาก นี่มันแปล บันเทิงรื่นเริง รื่นเริงอยู่ในธรรมะเป็นดีที่สุด ทำจิตให้ปราโมทย์ จะปราโมทย์ในความสำเร็จของเรา หรือในธรรมะที่มีอยู่ในจิตของเราก็ตาม ถ้าเราอยากให้จิตของเรามีลักษณะปราโมทย์ก็ทำได้ทันที เราจะไปโดนอะไรมาที่ไหนถ้าเราต้องการให้จิตของเราปราโมทย์ เราต้องทำได้ทันทีในขั้นนี้คือต้องฝึก ปราโมทย์ คือ พอใจยินดีเป็นสุขรวมอยู่ในนี้หมด ที่ตั้งมั่นหยุดสงบระงับนี้เหมือนกับว่านิ่ง หยุด ทีนี้มันปราโมทย์ มัน excite มันปราโมทย์ อันนี้มันตั้งมั่น setting มันนิ่ง เมื่อเราต้องการจิตนิ่งเมื่อไหร่ก็ทำได้เมื่อนั้น เราต้องฝึก ต้องฝึกมากนะนี่ ต้องฝึกอย่างนี้ ทดลองอย่างนี้ ทดลองอย่างนี้ ปล่อยวาง release, releasing อย่าให้อะไรมาเกาะเกี่ยวจิต หรืออย่าให้จิตไปเกาะเกี่ยวอะไร ไม่มี attachment ใด ๆ ในสิ่งใดนี่ก็เรียกว่า ปล่อยวาง หรือว่าอิสระนั่นแหละ เมื่อใดอิสระเป็นอย่างนี้ เมื่อปราโมทย์เป็นอย่างนี้ เมื่อนิ่งตั้งมั่นเป็นอย่างนี้ เมื่อเป็นอิสระไม่มีอะไรกวนเป็นอย่างนี้ ก็ฝึกอย่างนี้ ฝึกอย่างนี้ได้แล้วก็ฝึกอย่างนี้ ฝึกอย่างนี้ อยู่ บอกไม่ได้ว่ากี่วัน กี่เดือน กี่ปี บอกไม่ได้ แต่ว่าแนวมันต้องฝึกอย่างนี้ เราดูจิตอย่างนั้นอยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก เห็นอยู่ เห็นอยู่ เห็นอยู่ เราทำจิตให้ปราโมทย์อยู่ทุกครั้งที่หายใจออกหายใจเข้า หายใจออกหายใจเข้า เต็มอยู่ด้วยความปราโมทย์ นิ่ง มั่นหรือสงบ เกลี้ยง เป็นจิตเกลี้ยงไม่มีอะไรเกาะเกี่ยว รู้สึกจิตเกลี้ยง หายใจเข้าออกเข้าออกอยู่ คล้ายกับมันย้ำ มันซ้ำลงไปให้มันแน่นแฟ้น อย่างนี้ก็ได้ อย่างนี้ก็ได้ อย่างนี้ก็ได้ เราสำรวจดูตามที่มันเป็นเอง ตามที่มันเป็นเองอย่างไร ที่บังคับให้ปราโมทย์บ้าง บังคับให้ตั้งมั่นบ้าง บังคับให้ปล่อยวางบ้าง อย่างนี้เรียกว่าจิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน นั่นกายานุปัสสนา สติปัฏฐาน นี่เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน นี่จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน อันนั้นเป็นไปในกาย อันนี้เป็นไปในความรู้สึกของจิต อันนี้เป็นไปในตัวจิตเอง โดยย่อเป็นอย่างนี้ ขอให้จำหัวข้อย่อๆนี้ วันหลังจะพูดเรื่องนี้ วันนี้ก็พูดเพียงเท่านี้ ทั้งเหนื่อย ทั้งนัดไว้กับหมอ ไม่กี่นาทีหมอจะมา