แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนา เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ และวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนา ของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้ ถือว่าเป็นธรรมเทศนา เนื่องในอาสาฬหบูชา มีความมุ่งหมาย ถึงการที่พระอรหันต์เกิดขึ้นเป็นปึกแผ่นในพระพุทธศาสนา หรือในโลกนี้ เราควรจะได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องพระอรหันต์กันในวันเช่นวันนี้ ตามที่จะทำได้ พระอรหันต์นั้น เป็นบุคคลที่สมมติกันว่าสูงสุด หรือถึงที่สุดเมื่อถือเอาตามตัวหนังสือก็ได้เป็นสามความหมายด้วยกัน แปลว่า อรหันต์ แปลว่าผู้ไม่มีความลับ หรือสิ่งซ่อนเร้นนี้อย่างหนึ่ง อรหันต์แปลว่าผู้สมควร มีความสมควรในทุกๆ ความหมาย นี้อย่างหนึ่ง และอรหันต์แปลว่า ผู้หักเสียซึ่งวงกลมของสังสารวัฏฏ์ นี้ความหมายหนึ่ง นี้ว่าไปตามตัวหนังสือ ซึ่งก็ควรจะทำความเข้าใจกันด้วยเหมือนกัน และควรทำความเข้าใจก่อนโดยตัวพยัญชนะ อะระหะ แปลว่าผู้ไม่มีที่ลับ หรือความลับ หรือสิ่งเร้นลับ ระหะ แปลว่าลับ อะ แปลว่าไม่ อะระหะ แปลว่าไม่ลับ คือไม่มีความลับ ไม่มีสิ่งลับ ไม่มีการซ่อนสิ่งลับ ความหมายก็คือเป็นผู้เปิดเผยได้ คนที่มีความลับนั้น ก็ต้องซ่อนความลับก็เลยเปิดเผยอะไรไม่ได้ ก็เลยไม่กล้าพูดตามจริง ปากกับใจจึงไม่เสมอกันเพราะว่ามีความลับนั่นเอง พระอรหันต์ไม่มีความลับ จึงไม่ต้องระมัดระวังอะไรในการที่จะต้องซ่อนความลับ ทีนี้ถ้าจะมองกันอีกอย่างหนึ่ง สิ่งชั่วร้ายที่ต้องซ่อนเร้นนี้ ก็คือกิเลส ความเศร้าหมอง เมื่อพระอรหันต์ไม่มีสิ่งเศร้าหมองไม่มีกิเลสเครื่องให้เศร้าหมอง ไม่มีความเศร้าหมอง อะไรอะไร ก็เรียกว่าไม่มีสิ่งที่เป็นความลับ ที่จะต้องซ่อนเร้น เมื่อเราเปรียบเทียบดูกับปุถุชนทั่วๆ ไป มีกิเลส ที่เป็นเหตุให้ทำบาปอกุศล ดังนั้น จึงมีความลับ ที่ต้องซ่อนเร้น ไม่ให้คนอื่นรู้ พูดจาก็ต้องระวัง ไม่อาจจะเปิดเผยความรู้สึกในใจจริงแท้ออกมาได้ เพราะมันมีความลับ มีความชั่ว ที่ต้องซ่อนเร้น พอพิจารณาเห็นอย่างนี้เราก็จะมีศรัทธาเกิดขึ้นในพระอรหันต์ และยอมตัวเป็นสาวกคือผู้ที่จะทำตามพระอรหันต์ จะเดินตามรอยของพระอรหันต์นี้ก็ข้อหนึ่ง ทีนี้คำว่า อะระหะ แปลว่าสมควร คำว่าสมควรนี้มีความหมายกว้าง แล้วแต่เราจะเล็งถึงอะไร อย่างกว้างๆ จะเล็งถึงว่าควรจะเรียกว่ามนุษย์ พระอรหันต์เป็นผู้ที่ควรที่จะเรียกว่ามนุษย์ที่มีใจสูงเหนือกิเลส เหนือความทุกข์ เหนืออะไรต่างๆ ท่านก็เรียกว่าควร คือควรแก่นามว่ามนุษย์ หรือจะควรแก่นามว่า อะระหะ อรหันต์ ก็ตามที คำว่าอะระหะ นี้ เป็นคำเก่าแก่ดึกดำบรรพ์ก่อนพุทธศาสนา ก่อนพุทธศาสนาเกิดขึ้นในโลก คำว่า อะระหะ หรืออรหันต์นี้ก็มีใช้พูดกันอยู่แล้ว ตามข้อสันนิษฐาน ทำให้สันนิษฐานได้ว่า เล็งถึงผู้สูงสุด กว่าสิ่งใดๆ ในลักษณะที่เป็นพระเจ้า อย่างที่คนป่า คนเถื่อน คนที่ยังไม่มีการศึกษาจะถือจะยึดถือก็ได้ นี้เข้าใจว่าในสมัยที่มนุษย์ยังไม่มีความรู้อะไรมาก ความคิดเรื่องพระเจ้า หรือบุคคลสูงสุดก็จะได้เกิดขึ้นแล้ว และเข้าใจว่าคำว่า อะระหะ หรืออรหันต์นี้เอง หมายถึงพระเจ้าเช่นนั้น มีผู้สังเกตกันว่าพระเจ้าในนามว่า อะระหะ หรืออรหันต์นี้ เห็นได้ที่คำว่าพระอัลหล่า พระอัลล่านั้น ถ้าออกเสียงให้ถูกตามเดิมนั้นก็คือ อัล หล่า หะ อัล หล่อ หะ หรือ อัล หล่า หะ ตัวหนังสือตรงกับคำว่า อะระหะ อะระหะ คำว่า อัล หล่อ หะ ของ ชนพวกหนึ่งนั้น หมายถึงพระเจ้า ในความหมายที่เรียกว่าสูงสุด หรือว่าดี หรือว่าอะไรไปทุกประการ ก็มีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า อะระหะ หรือ อรหันต์ คือสูงสุดไปทุกอย่างทุกประการ จึงได้เรียกว่าผู้สมควร สมควรที่จะเรียก หรือว่าจะเคารพ จะกราบไหว้ จะบูชา จะอะไรไปทุกอย่าง ทุกประการ ข้อความในพระคัมภีร์บาลีพระไตรปิฏกของเรานี้ก็ส่อแสดงให้เห็นอยู่ว่า คำว่าอรหันต์นี้มีอยู่ก่อนพุทธศาสนา หากแต่ว่ามันยังไม่ถึงขนาด ความบัญญัติของคำว่าอรหันต์ก่อนพุทธกาลนั้นไม่ถึงขนาด คือบัญญัติตามความรู้สึกของคนที่ยังไม่รู้จักนิพพานที่แท้จริง รู้จักนิพพานครึ่งๆ กลางๆ กามคุณเป็นนิพพาน จตตุฌานเป็นนิพพาน ก็ถือเอาบุคคลที่ได้สิ่งเหล่านี้ว่าเป็นผู้ได้นิพพาน หรือเป็นพระอรหันต์ ต่อพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น จึงบัญญัติความหมายคำว่าอรหันต์ในฐานะเป็นผู้ที่หมดกิเลส แต่แล้วเอาคำเดิมบรมโบราณก่อนพุทธกาล หรือก่อนอะไรอีกมาใช้ ตามที่มนุษย์ในสมัยดึกดำบรรพ์ ในสมัยแรกเริ่มที่จะมีความคิดนึกเรื่องอย่างนี้ เขาใช้กันอยู่แล้ว โดยมีความหมายว่าเป็นผู้สมควร สมควรที่จะเรียกว่ายอดของมนุษย์ สมควรที่จะไม่มีความทุกข์ สมควรที่จะกราบไหว้ สมควรที่จะเคารพนับถือบูชาในฐานะเป็นพระเจ้า แต่ในพุทธศาสนาเรา จะถือเอาความหมายของคำว่าสมควรก็เพียงแต่ว่า สมควรที่ว่าจะเป็นผู้ไม่มีทุกข์ สมควรที่จะเรียกว่าเป็นผู้ไม่มีทุกข์ แล้วก็สมควรที่จะกราบไหว้บูชา ผู้ที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ยังไม่สมควรถึงขนาดนี้ นี่คือความหมายของคำว่าพระอรหันต์โดยนัยยะที่สองที่เรียกว่า ผู้สมควร
ทีนี้คำนี้มีความหมายที่สามว่า เป็นผู้หักเสียซึ่งวงกลมแห่งสังสารวัฎฐ์ ให้หมุนไปไม่ได้ สิ่งที่เรียกว่าวงกลมของสังสารวัฏฐ์นั้นคือกิเลส กรรม วิบาก กิเลส กรรม วิบาก กิเลส กรรม วิบาก กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม กรรมให้เกิดผลกรรมคือวิบาก วิบากของกรรมทำให้เกิดกิเลสอีก กิเลสใหม่ก็ทำให้เกิดการกระทำกรรมใหม่อีก กรรมใหม่ก็ให้ผลกรรมใหม่อีก ผลกรรมใหม่ก็ทำให้เกิดกิเลสใหม่ขึ้นมาอีก กิเลสใหม่ก็ให้ทำกรรมใหม่อีก เพราะฉะนั้นมันจึงหมุนได้เป็นวงกลมไป ถ้าจะทำให้หมุนไม่ได้ก็ต้องหักส่วนใดส่วนหนึ่งออกเสีย เช่นถ้าล้อกลมๆ นี่เอามาทำลายเสียส่วนหนึ่งมันไม่กลม มันก็หมุนไม่ได้ มันกลิ้งไม่ได้ สังสารวัฎฐ์นี้ก็เหมือนกัน ถ้ายุบเสียสักส่วนหนึ่งมันก็หมุนไม่ได้ ส่วนที่จะยุบได้ หรือควรยุบนั้นคือ ส่วนที่เรียกว่ากิเลส เหมาะสม ที่สุดที่ควรจะยุบ หรือจะทำลาย เมื่อทำลายกิเลสได้แล้ว มันก็ไม่มีกรรม ก็ไม่มีผลกรรม ที่จะมาหล่อเลี้ยงกิเลสอะไรกันอีก ถ้าในทางของการปฏิบัติ จึงมีแต่การกล่าวถึงการให้ละ ให้ทำลายเสีย ซึ่งกิเลส ทำลายกิเลสได้มันก็ไม่มีสังสารวัฎฐ์ ในชีวิตประจำวันของเรา นี่คือความเป็นพระอรหันต์ ผู้หักวงล้อเสียได้ นี่โดยตัวหนังสือมีความหมายอย่างนี้
อาจจะมองเห็นได้อย่างนี้คือหลายอย่าง แต่รวมความแล้วก็มันมีความหมายตรงที่ว่าพ้นทุกข์ ไม่มีทุกข์ ไม่มีความชั่ว ไม่มีความทุกข์ แล้วมันก็น่ากราบไหว้บูชา นี่เราเรียกว่าพระอรหันต์ ความเป็นอย่างนั้น เรียกว่าอะระหัตถ์ บุคคลผู้มีความเป็นอย่างนั้นเรียกว่าอรหันต์ หรืออรหังก็เรียก อย่าเอาไปปนกันมันจะไม่เข้าใจ ถ้าเล็งถึงบุคคลก็เรียกว่า อรหัง บ้าง อรหันต์ อรหันตะ บ้าง ถ้าเล็งถึงภาวะธรรม สภาวะ ภาวะของธรรมะนั้นก็เรียกว่า อะระหัต อะระหัตตะ ผู้ที่เป็นเช่นนี้ ก็สมมติเรียกว่าเป็นบุคคลสูงสุด ในทางฝ่ายธรรมะ ฝ่ายศาสนา หรือความเป็นมนุษย์ บุคคลสูงสุดในทางฝ่ายโลกหรือฝ่ายอื่นนั้น อาจจะเป็นอย่างอื่น ทางฝ่ายธรรมะฝ่ายศาสนาเราเอาความสูงสุดกันที่ไม่มีกิเลส ไม่มีความชั่ว ไม่มีความทุกข์ แล้วก็ควรเคารพ บูชา วันนี้เป็นวันที่ระลึกถึงพระอรหันต์ ก็ควรจะระลึกกันอย่างนี้ มันจึงจะถูกต้อง หรือจะเหมาะสม ฉะนั้นขอให้ท่านทั้งหลายนึกถึงอย่างนี้ ว่าเราทำการบูชาในวันนี้ แก่บุคคลชนิดนี้ หรือแก่ธรรมะชนิดนี้
ทีนี้ก็จะระลึกต่อไปว่า การที่เป็นเช่นนี้ได้นั้น จะต้องทำอย่างไร ท่านทั้งหลายก็ทราบกันอยู่ดีในข้อที่ว่า พระอริยเจ้าทั้งสี่นั้นมีลำดับที่เรียงไว้เป็นหลักว่าพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี แล้วก็ถึงพระอรหันต์ พระอรหันต์เป็นลำดับสุดท้าย ก่อนแต่จะเป็นพระอรหันต์ก็ยังมีเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ถ้าจะรู้เรื่องพระอรหันต์อย่างดี ก็ต้องรู้เรื่อง พระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ไปตามลำดับ แต่แล้ว ก็มีสิ่งที่จะต้องสนใจก็คือว่า จะเป็นพระโสดาบัน กระทั่งถึงพระอรหันต์มันก็อยู่ที่การประพฤติ ปฏิบัติธรรม การประพฤติปฏิบัติธรรมในลักษณะนี้ ในส่วนนี้หมายถึงการทำจิตให้เจริญ เรียกว่าภาวนา แปลว่าทำจิตให้เจริญ ให้เจริญในทีนี้ไม่ใช่ให้มันรกรุงรังไปหมด แต่ให้มันประกอบไปด้วยคุณธรรมที่สูงขึ้น สูงขึ้น บุคคลที่จะทำจิตให้เจริญได้ก็ต้องรู้เรื่องจิตพอสมควร ดังนั้นเราก็ต้องรู้เรื่องจิตกันพอสมควรแล้วจึงจะรู้เรื่องการอบรมจิตว่าจะเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี และอรหันต์ได้อย่างไร
เกี่ยวกับเรื่องจิตนี้ เบื้องต้นที่สุด ก็ควรจะรู้ธรรมชาติของจิตทั่วๆ ไปเสียก่อน คือว่าจิตนี้มีธรรมชาติอย่างไร พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เป็นข้อแรกว่า ประภัสสรมิทัง ภคเว จิตตัง (นาทีที่ 18.37) ดูก่อนภิกษุทั้งหลายจิตนี้เป็นประภัสสร ตันจโข อาคันตุเกหิ อุปปกิเลเสนิ อุปปกิเลลิฐัง (นาทีที่ 18.48)แต่จิตนั้นเศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลส ที่เป็นอาคันตุกะที่จรเข้ามา นี้คือสภาพการที่เป็นอยู่แท้จริงตามธรรมชาติของจิตว่ามันประภัสสร ประภัสสรแปลว่า ซ่านออกแห่งประภา ประภาคือรัศมี ประภัสสรคือซ่านออกแห่งรัศมี ข้อนี้หมายความว่ามันผ่องใส มันจึงมีรัศมี จิตนี้ตามธรรมชาติเป็นประภัสสรผ่องใสมีรัศมี เหมือนกับเพชรมีรัศมี แต่แล้วมันก็เศร้าหมองไปเพราะอาคันตุกะ เพราะกิเลสเป็นอาคันตุกะเข้ามาเป็นคราวๆ แม้ว่ามีรัศมีมันก็เศร้าหมองได้ เหมือนเพชรถ้าเอาโคลนไปป้ายเข้า มันก็ไม่เห็นรัศมีของเพชร ก็ต้องเอาโคลนออก หรือว่าระวังอย่าให้มีโคลนมาป้ายเข้า ก็เป็นประภัสสรอยู่ตามเดิม กิเลสนี้เรียกว่าอาคันตุกะ ก็หมายความว่าไม่ใช่เจ้าของบ้าน ไม่ใช่เจ้าเรือน อาคันตุกะคือแขก ที่จะมาเป็นคราวๆ ไม่ได้อยู่ประจำที่บ้านเรา ก็แปลว่าอุปกิเลสนี้เกิดขึ้นเป็นคราวๆ แก่จิตนั้นนี้ทำให้จิตเศร้าหมองนี้อย่างหนึ่ง
ข้อที่สอง พระพุทธองค์ได้ตรัสต่อไปว่า ปภัสสรัง ภิกขเว จิตตัง (นาทีที่ 20.56) ดูก่อนภิกษุทั้งหลายจิตนี้เป็นประภัสสร อาตันจโข อาคันตุเกหิ อุปกิเลเสหิ วิปปมุตตัง(นาทีที่ 21.07) จิตนี้พ้นพิเศษแล้วจากอุปกิเลสที่เป็นอาคันตุกะได้ นี้หมายความว่าแม้ว่าจิตจะมีอุปกิเลสเป็นอาคันตุกะเข้ามา ทำให้เศร้าหมอง แต่จิตนี้ก็สามารถจะพ้นจากกิเลสอาคันตุกะนั้นได้ นี้ทำให้เห็นได้ว่ามันเศร้าหมองกันได้ มันไม่เศร้าหมองก็ได้ มันมีธรรมชาติอย่างนั้น อย่าไปเข้าใจว่ามันจะต้องเศร้าหมองอย่างที่แก้ไขไม่ได้ ทีนี้ก็ตรัสไว้เป็นข้อที่สามว่า ปภัสสรมิตัง ภิกขเว จิตตัง(นาทีที่ 22.14) จิตนี้เป็นประภัสสร อาคันตุเกหิ อุปกิเลเสหิ อุปปกิลิฐัง(นาทีที่ 22.23) ถ้าเศร้าหมองแล้วเพราะกิเลสเป็นอาคันตุกะเข้ามา ตัง อาสุตวา ปุถุชโน ยถาภูตัง ประชานาติ(นาทีที่ 22.34) แปลว่าปุถุชนผู้มิได้สดับหาได้ทราบความจริงข้อนี้ไม่ ตรัสมา อาสุตวโตปุถุชนสะ จิตตภาวนา นทีติวทามิ (นาทีที่ 22.48) ดังนั้นเราจึงกล่าวว่า จิตตภาวนา ย่อมไม่มีแก่ปุถุชนผู้มิได้สดับ นี้หมายความว่าคนโง่ในโลกนี้ไม่ทราบความจริงข้อนี้มันจึงไม่สนใจที่จะทำจิตภาวนา คือการจัดปรับปรุงแก้ไข กับจิตนั้นให้เป็นจิตที่เจริญ แล้วก็ตรัสไว้เป็นข้อที่สี่ว่า ปภัสสรมิทัง ภิกขเวจิตตัง (นาทีที่ 23.28) ดูก่อนภิกษุทั้งหลายจิตนี้เป็นประภัสสร ตันจโข อาคันตุเกหิ อุปกิเลเสหิ วิปปมุตตัง (นาทีที่ 22.39) แปลว่าจิตนี้พ้นแล้ว พ้นพิเศษแล้วได้จากอุปกิเลสอันเป็นอาคันตุกะ ตัง สุตวา อริยสาวโก ยถาภูตัง ประชานาติ (นาทีที่ 22.57) อริยสาวกย่อมรู้ถึงความจริงข้อนี้ ตรัสมา สุตวโต อริยกสาวสะจิตตภาวนา อถีติ วันทามิ (นาทีที่ 24.10) เพราะเหตุนั้น เราจึงกล่าวว่า จิตภาวนา ย่อมมีแก่อริยสาวกผู้มีการสดับ หมายความว่าสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ได้สดับ ธรรมะไม่โง่เขลา มองเห็นว่าจิตนี้เศร้าหมองเพราะอย่างนี้ ผ่องใสเพราะอย่างนี้ อริยสาวกนั้นจึงประกอบในจิตภาวนา นี่เป็นการเปรียบเทียบระหว่างปุถุชนคนโง่ กับพระอริยสาวกผู้มีปัญญาว่ามันต่างกัน ปุถุชนไม่มองเห็นข้อที่ว่าจิตนี้เศร้าหมองหรือผ่องใสเพราะอะไร ได้เพราะอะไร จึงไม่สนใจเรื่องการอบรมจิต พระอริยสาวกทราบชัดในความจริงข้อนี้จึงได้สนใจในเรื่องของการอบรมจิต เกี่ยวกับข้อนี้ขอให้ตั้งข้อสังเกตไว้ให้ดี ว่าตามธรรมชาตินั้นจิตนี้ประภัสสร ไม่ใช่ตามธรรมชาตินั้นจิตนี้เศร้าหมอง หมายความว่าถ้าปล่อยตามธรรมชาติแล้ว จิตนี้จะประภัสสร คือไม่เศร้าหมองอยู่ตามธรรมชาติ เศร้าหมองเพราะอุปปกิเลสเข้ามาเป็นครั้งเป็นคราว เมื่อเอาอุปปกิเลสออกไปได้มันก็กลับเป็นสภาพผ่องใสไปตามเดิม หมายความว่ามันอาจที่จะพ้นจากการครอบงำของอุปปกิเลสได้ นี้เป็นพระพุทธภาษิต ที่ได้ตรัสไว้ในสุตันตะคือในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย อยู่ในรูปของพระพุทธภาษิตอย่างนี้ ทีนี้ที่ยิ่งไปกว่านี้ก็มีคำกล่าวในคัมภีร์ปฏิสันธิทามรรค (นาทีที่ 26.52 ) ซึ่งเป็นสุตันตะด้วยเหมือนกัน แต่เป็นคำกล่าวของพระสารีบุตรซึ่งเชื่อกันว่าอย่างนั้น กล่าวด้วยเรื่องจิตอย่างเดียวกัน แต่มีข้อความว่า ปกติ ปริสุทธมิตทัง จิตตัง (นาทีที่ 27.12) จิตนี้มีการบริสุทธิ์อยู่เป็นปกติ นิกิเส สิเถนาติ (นาทีที่ 27.22) ที่บริสุทธิ์อยู่ตามปกตินั้นเพราะอรรถว่าไม่มีกิเลส วิญาณะจริยา(นาทีที่ 27.29) นี้คือจริยาของวิญญาณ คือจิต หมายความว่า จริยาคือสภาวะเป็นไปตามปกติของจิตนั้น มีความบริสุทธิ์อยู่เป็นปกติ โดยอรรถว่าไม่มีกิเลสเจืออยู่เลย ข้อความนี้ชัดมากหากแต่ว่ามิได้เป็นพุทธภาษิต เป็นคำกล่าวของพระสารีบุตรในคัมภีร์ปฏิสันธิทามรรคใช้คำตรงๆ ว่าปกติ ปริสุทธมิตทัง จิตตัง (นาทีที่ 28.03) จิตนี้มีความบริสุทธิ์อยู่เป็นปกติเพราะอรรถว่าปราศจากกิเลส จิตบริสุทธิ์อยู่ตามปกติต่อเมื่อใด กิเลสมามันก็เสียความปกติมันจึงจะเศร้าหมอง คำกล่าวอย่างนี้ทำให้เกิดกำลังใจแก่พระอริยสาวกผู้ทราบความจริงแล้ว ก็มีกำลังใจในการที่จะประกอบ กระทำซึ่งอธิจิต หรือจิตภาวนา ซึ่งเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในฐานะเป็นโอวาทปาติโมกข์ข้อสุดท้าย ว ทิจิตเต จ อาโยโค เอตัง พุทธา น สาสนัง (นาทีที่ 28.53) ทำจิตให้ยิ่งนี้คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เมื่อเราทราบว่าจิตนี้มันมีธรรมชาติปกติอย่างนี้ มันก็เป็นที่แน่ใจว่า การอบรมจิตนี้เป็นสิ่งที่มนุษย์ทำได้ สามารถที่จะทำได้ ถ้าการอบรมจิตให้ยิ่งให้สูงขึ้นไปนั่นเองคือการบรรลุมรรคผล จากความเป็นคนธรรมดา ก็เป็นกัลยาณปุถุชน คือคนดี จากความเป็นกัลยาณปุถุชนคนดี ก็เป็นพระโสดาบัน แล้วก็เป็นพระสกิทาคามี เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ เป็นลำดับ ลำดับไป จนถึงที่สุดอย่างนี้
ทีนี้ความเป็นพระโสดาบันนั้น เป็นพระอริยบุคคลท่านแรก ตรงตามคำที่เป็นชื่อของพระอริยบุคคลชั้นนี้คือเป็นพระโสดาบัน ผู้ที่ยังไม่ทราบก็ควรจะทราบว่าคำว่าโสดาบันนั้น แปลว่าเป็นผู้ถึงซึ่งกระแส โสต แปลว่ากระแส อาปนะแปลว่าถึงทั่วแล้ว โสตาปนะ แปลว่าถึงทั่วแล้วซึ่งกระแส กระแสแห่งอะไร ก็คือกระแสแห่งธรรม หรือให้ชัดลงไปก็คือกระแสที่มีพระนิพพานเป็นจุดหมายปลายทาง สิ่งที่เรียกว่าธรรม ธรรมนี้ มีแนวมีทาง มีสาย มีกระแส ไปสิ้นสุดลงที่พระนิพพาน ข้อนี้พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้เอง ว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวง ฉันทะโมละกา(นาทีที่ 31.10) มีฉันทะเป็นมูล มานะสิกาละสัมพะวา(นาทีที่ 31.17) มีการกระทำในใจอย่างถูกต้องเป็นแดนเกิด ผัสสะ สมุทยา(นาทีที่ 31.25) มีผัสสะเป็นสมุหทัย เครื่องก่อให้เกิด เวทนา สโมสรณา (นาทีที่ 31.32 ) มีเวทนาเป็นที่สโมสร เป็นที่แล่นมารวมกัน สมาธิ ประมุขา(นาทีที่ 31.41 ) มีสมาธิเป็นประมุข เป็นหัวหน้า เป็นประธาน สติ อาธิปัตตจยา (นาทีที่ 31.50 ) มีสติเป็นอธิบดี ปัญญาอุตรา.(นาทีที่ 32.00 ) มีปัญญาเป็นยอดสูงสุด วิมุติสารา (นาทีที่ 32.05) มีวิมุติเป็นแก่น อมโตคทา(นาทีที่ 32.10) มีอมตะคือความไม่ตายเป็นที่หยั่งลง นิพพานะปริโยสานา(นาทีที่ 32.15) มีพระนิพพานเป็นปริโยสาร คือที่สุดรอบ นี่คือกระแสแห่งธรรมทั้งปวง มีเป็นแถว เป็นแนว เป็นกระแส สาย อยู่อย่างนี้ นี่เรียกว่ากระแสแห่งธรรม บุคคลผู้ถึงกระแสแห่งธรรมเรียกว่าพระโสดาบัน ยังไม่ได้หมายความว่าถึงปลายสุดแห่งกระแส แต่ว่าเป็นผู้เริ่มถึงกระแส พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายถ้าเขาถามเธออย่างนี้ ให้ตอบอย่างนี้ ว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวง ฉันทมูลกา มีความพอใจ มีความประสงค์ของบุคคลผู้เห็นธรรมนั่นแหละเป็นมูล ถ้าไม่มีความพอใจ ไม่มีความต้องการอะไรเสียแล้ว คนเราก็ไม่เกี่ยวข้องกับธรรม ไม่เกี่ยวข้องกับกระแสแห่งธรรม เมื่อพอใจแล้วก็ต้องกระทำในใจให้แยบคาย คือ มนสิการในธรรมนั้น มนสิการนั้นจะเป็นเครื่องช่วย จะเป็นเหตุให้เกิด ให้ธรรมที่จะปรากฎแจ่มแจ้งแก่จิตใจ และจะต้องมีการสัมผัสต่อธรรมนั้น เรียกว่าธรรมผัสสะ หมายความว่าการรู้ธรรมนั่นเอง เป็นเครื่องก่อให้เกิดความสำเร็จในการที่จะเข้าถึงธรรม เวทนาสโมสรณา (นาทีที่ 34.08 ) ก็ว่ามีเวทนาในการเข้าถึงธรรม คือได้ดื่มรสแห่งธรรมนั้น เป็นสโมสร คือเป็นที่เรียกมาซึ่งกำลังหรืออะไรต่างๆ เมื่อเป็นสมาธิปมุกขา(นาทีที่ 34.26) แปลว่ามีกำลังจิตที่แน่วแน่มั่นคง มีกำลังสูงเป็นสมาธินี่แหละ เป็นประมุขในบรรดาอุปกรณ์แห่งธรรมทั้งหลายที่จะช่วยให้เกิดความสำเร็จ ที่ว่าอธิปัตตยา(นาทีที่ 34.46) มีสติเป็นอธิบดี ในที่นี้ก็ฟังดูแปลก อธิบดีก็มี ประมุขก็มี เมื่อพูดถึงประมุข เล็งถึงสมาธิ เมื่อพูดถึงอธิบดีเล็งถึงสติ คล้ายๆ กับประมุขนี้จะมอบหมายให้สติ อธิบดีนี่ดำเนินงานเราเคยได้ยินได้ฟังแต่ว่าสตินั้นเป็นเครื่องคุ้มกัน เป็นเครื่องคุ้มครอง หรือว่าเป็นเครื่องกำกับการให้เดินไปถูกทาง เหมือนกัปตันเรือจะถูกเปรียบเทียบด้วยสติ แต่ว่าเจ้าของเราจะถูกเปรียบเทียบด้วยสมาธิ ถ้าถือตามนี้ เขาก็มีปัญญาอุตรา ปัญญาเป็นยอด ยิ่ง ยิ่งยอด ซึ่งจะเล็งถึงสิ่งที่จะขจัดอุปสรรคเครื่องขัดขวางต่างๆ นาๆ ได้ วิมุตติสารา เอาความหลุดพ้นนั่นแหละเป็นที่มุ่งหมาย เราจะทำอะไรก็ล้วนแต่ต้องการไอ้ความได้มาซึ่งประโยชน์ ซึ่งกำไร ซึ่งผลที่พึงปรารถนา นี่เป็นสาระ
ในธรรมทั้งปวง ในกระแสแห่งธรรมทั้งปวงนั้น มีสิ่งที่เรียกว่าวิมุติเป็นแก่นสาร เป็นสาระ สาระอันนี้จะหยั่งลงในความไม่ตายคืออมตะ จึงจะได้พูดต่อไปว่า อมโตคทา(นาทีที่ 36.52 ) มีอมตะเป็นที่หยั่งลง ก็จบกันด้วยนิพพาน ว่า นิพพานะปริโยสานา.(นาทีที่ 37.03) พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนี้ในคัมภีร์ อังคุตรนิกาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเขาถามอย่างนี้ จงตอบอย่างนี้ ถ้าเขาถามว่าอะไรเป็นมูล ก็ตอบว่าฉันทะ ถ้าเขาถามว่าอะไรเป็นสัมภวะ ก็ตอบว่ามนสิการ อย่างนี้เรื่อยไป จนถึงคำสุดท้ายว่า มีนิพพานเป็นปริโยสาร นี่คือกระแสแห่งธรรม มีลักษณะกฏเกณฑ์เป็นอย่างนี้
ทีนี้ผู้ที่แรกเข้าถึงกระแสแห่งธรรมนี้เรียกว่าโสดาบัน หมายความว่าเมื่อถึงกระแสนี้แล้วเป็นการแน่นอน ที่จะถึงจุดหมายปลายทาง แต่ว่ายังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง บางคนก็เข้าใจผิดมาก จะให้พระโสดาบันเป็นอะไรมากกว่าตามที่เป็นจริง มันก็เข้าใจผิด ก็เป็นเหตุให้ล้มละลาย เพราะว่ามันวาดไว้ผิด พระโสดาบันเป็นผู้แรกถึงกระแสแห่งธรรม หรือแรกถึงกระแสแห่งพระนิพพาน เราจะรู้จักกระแสที่พระโสดาบันถึงได้ก็ด้วยลักษณะดังที่กล่าวมาแล้วว่ากระแสนี้ตั้งต้นที่ความพอใจ ของบุคคลผู้ปฏิบัติ แล้วก็ไปจบลงที่พระนิพพาน อันเป็นที่ดับทุกข์ทั้งปวงนั้นคือเป็นพระอรหันต์ นี้พระโสดาบันก็เพียงแต่ว่ากำลังถึงกระแสที่แน่นอน ส่วนปุถุชนนั้นไม่แน่ ไม่มีความแน่นอนอะไร ความแน่นอนของพระโสดาบันนี้ จะพูดอย่างเล็งผลเลิศกันแล้วก็อาศัยพระบาลี สังยุตตนิกาย ว่า ขีนนิรโย (นาทีที่ 39.15 ) มีนรกอันสิ้นแล้ว ปุถุชนมีนรกยังไม่สิ้น ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ อย่างใดอย่างหนึ่งจะร้อนเป็นไฟ เป็นนรก อยู่เป็นคราวๆ เป็นประจำวันเดี๋ยวร้อนที่ตา เดี๋ยวร้อนที่หู เดี๋ยวร้อนที่จมูก ที่หมายความว่าจิตร้อนเหมือนนรก อาศัยทางตาบ้าง อาศัยทางหูบ้าง อาศัยทางจมูกบ้าง ในหกทางนั้น นี่เรียกว่านรกยังไม่สิ้น ความร้อนขนาดนี้ต้องสิ้นไป จึงจะเรียกว่าเป็นพระโสดาบัน ความร้อนขนาดที่เรียกว่านรกนั้น จะต้องสิ้นไป ถึงจะเรียกว่าพระโสดาบัน พระโสดาบันมิใช่ว่าจะไม่มีความโกรธ ความรัก อะไรเสียเลย ยังคงมี แต่ไม่ถึงขนาดร้อนเป็นนรก เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ขีนะนิรโย มีนรกสิ้นแล้ว ขีนะตีรฉาน นโยนี (นาทีที่ 40.31) มีกำเนิดเดรัจฉานสิ้นแล้ว สัตว์เดรัจฉานนี้ก็เล็งถึงความโง่ โง่ขนาดหนักเหมือนสัตว์เดรัจฉาน คนธรรมดาก็โง่เหมือนสัตว์เดรัจฉานอยู่บ่อยๆ หยุดโง่อย่างสัตว์เดรัจฉานคือโง่มากๆ เสียที ก็จะเรียกว่า ขีนะตีรฉานโยนี มีเดรัจฉานิสิ้นแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าหมดโง่โดยประการทั้งปวง ขีนะปิติวิปโย(นาทีที่ 41.19) มีเปรตวิสัยอันสิ้นแล้ว เปรตวิสัยคือความหิว หิวมากเกินไป ฉะนั้นต้องเปรียบได้ว่าท้องมันเท่าภูเขา ปากมันเท่ารูเข็ม อาหารเข้าไปทางรูเข็ม มันยากที่ทำให้ท้องเท่าภูเขารู้สึกอิ่มได้ ถึงหิวเกินประมาณ คนมันหิวเกินประมาณ จึงเป็นเปรต ถ้าถึงขนาดเป็นพระโสดาบันแล้ว ความหิวขนาดนี้ไม่มี จะมีความต้องการอะไรบ้างก็โดยสมควรแก่ธรรม มีความหิวที่สมควรแก่ธรรม พูดอย่างนี้ก็ไม่ผิด ขีนาปายะทุกขติวินิปาโต(นาทีที่ 42.08) มีอบายทุกขคติวินิบาตอันสิ้นแล้ว หมายความว่าจะไม่ตกอบาย จะไม่สู่ทุกขคติ นี่เรายังมีความทุกข์มีความร้อน ที่เรียกว่าเป็นประเภททุกขคติมากเกินไป อย่าถึงกับตกอบายเลย นี่เรียกว่าเป็นพระโสดาบันถึงกระแส อวินิปาตธัมโม(นาทีที่ 42.42) นี่แสดงว่าจะไม่ย้อนกลับไปสู่ความเป็นอย่างนั้นอีก เมื่อขึ้นสูงขึ้นมาได้ถึงความเป็นพระโสดาบันแล้ว จะไม่วกกลับไปหาความเป็นปุถุชนอันธพาล อันธพาล อีก นิยโต(นาทีที่ 43.03) เป็นผู้เที่ยงแท้ต่อจุดหมายปลายทางคือนิพพาน สัมโพธิปรายโน(นาทีที่ 43.10) มีการตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า แปดธรรมนี้เป็นคุณบทของพระโสดาบัน นี่ก็ล้วนแต่แสดงว่ายังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง แต่ว่าตัดอะไรออกไปได้มาก แล้วกำลังเดินไปตามทาง แล้วก็แน่นอนที่จะถึงจุดหมายปลายทาง นี่ก็เรียกว่าเป็นหลักสำหรับกำหนดความเป็นพระโสดาบัน เรียกว่าเป็นองค์แห่งความเป็นพระโสดาบันในลักษณะหนึ่งได้ ขอให้จดจำไว้ด้วย
ทีนี้ ในสูตรอื่นซึ่งแสดงไวพจน์ของพระโสดาบัน เรียกชื่อ คำที่ใช้เรียกชื่อแทนต่อคำว่าโสดาบันนั้นก็มีอยู่ จากคำที่เป็นไวพจน์เหล่านั้นก็ทำให้เรารู้จักพระโสดาบันยิ่งขึ้นไปอีก จึงขอให้ฟังให้ดี คำแทนชื่อเรียกพระโสดาบันนั้นมีอยู่ ๙ คำ ด้วยกัน พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ในสังยุตตรนิกาย มากมายหลายสูตรเรียกว่ามากมายหลายสูตร ล้วนแต่ตรัสคำ ๙ คำนี้ไว้ คำที่ ๑ ทิฏฐิสัมปันโน ถึงพร้อมด้วยทิฐิ คำที่ ๒ ทัสสนะสัมปันโน ถึงพร้อมด้วยทัศนะ คำที่ ๓ อาคโตอิมังสัทธัมมัง เป็นผู้มาแล้วสู่สัจธรรม สู่พระสัจธรรม คำที่ ๔ ปัสสติ อิมัง สัทธัมมัง ย่อมเห็นซึ่งพระสัจธรรมนี้ คำที่ ๕ เสกเขนะ ญาเณนะ สมันนาคะโตประกอบแล้วด้วยญาณอันเป็นเสขะ คำที่ ๖ เสกขา วิชชายะ สมันนาคะโต ประกอบพร้อมแล้วด้วยวิชชาอันเป็นเสขะ คำที่ ๗ ธัมมะโสตังสมาปันโน เป็นผู้ถึงทั่วพร้อมแล้วซึ่งกระแสแห่งธรรม คำที่ ๘ อริโย นิพเพธิกปันโน มีปัญญาเป็นเครื่องเจาะแทงกิเลสอย่างประเสริฐ คำสุดท้าย คำที่ ๙ ว่า อมตัทวารังอาหัจจะ ติฏฐติ แปลว่ามายืนอยู่แล้วจรดประตูแห่งพระนิพพานอันเป็นอมตะ คำที่หนึ่งว่าทิฐิสัมปันโน ถึงพร้อมด้วยทิฐิ คำที่สอง ทัศนสัมปันโน ถึงพร้อมด้วยทัศนะ ฟังดูคล้ายๆ กับว่าเป็นคำเดียวกันมันคล้ายกันแต่ความหมายก็ต่างกันบ้าง คำที่หนึ่งว่าถึงพร้อมด้วยความเห็น คือ ความเห็นที่ถูกต้อง คำที่สองว่าถึงพร้อมด้วยการเห็น มันคล้ายๆ กับว่าบางทีเรามีแต่ความเห็น แต่ไม่ได้ใช้ความเห็นนั้น คือไม่มีการเห็น เรามีแต่ความเห็น คล้ายๆ เรามีแต่แว่น เราไม่ได้ส่อง นี่เราต้องมีแว่นที่ดีด้วย แล้วเราก็ต้องมีการส่องด้วย จึงได้พูดคำว่าทิฏฐิสัมปันโน ทัสสนะสัมปันโน ติดกันอยู่ มีสัมมาทิฐิด้วย แล้วก็มีการใช้สัมมาทิฐินั้นด้วย คำที่สามที่ว่า อาคโตอิมังสัทธัมมัง คำที่สี่ว่า ปัสสติอิมังสัทธัมมัง คำแรกว่ามาแล้วสู่สัจธรรมนี้ คำที่สองว่าเห็นซึ่งสัจธรรมนี้ คล้ายๆ กับว่ามา มาถึงนี้ มันก็มาถึงเท่านั้น แต่ว่าถึงแล้วก็ดู ๆ ๆ ๆ ก็เห็นหมด อย่างนี้ก็เรียกว่าเห็นซึ่งสัจธรรมนี้ ที่นี้คำที่ ห้า ว่า เสกเขนะญาเณนะสมันนาคะโต คำที่ หก ว่า เสกขายะวิชชายะสมันนาคะโต สมันนาคะโตเหมือนกันคือมาตามพร้อมแล้ว ถึงพร้อมแล้ว ด้วยญาณอันเป็นเสขะ ด้วยวิชชาอันเป็นเสขะ ญาณ ความรู้ วิชา ก็ความรู้ แต่ว่าวิชชานี่ ดูจะแหลมคมว่าญาณ จะว่าใช้แทนกันได้ คำว่าวิชชาก็หมายความว่า รู้แจ้งกว่า รู้ชัดกว่า รู้เจาะจงกว่า ญาณแปลว่ารู้ วิชชาแปลว่ารู้แจ้ง นั่นก็รู้ ๆ ทั่วๆ ไป แล้วก็รู้อย่างเจาะจงลงไป ที่จุดใดจุดหนึ่ง ทีนี้คำที่ เจ็ด ว่า ธัมมะโสตังสมาปันโน ถึงทั่วพร้อมแล้วซึ่งกระแสแห่งธรรม นี้ก็อธิบายแล้วในตอนต้น กระแสแห่งธรรมมีอยู่ อย่างที่ว่าเมื่อตะกี้นี้ ทีนี้มาถึงกระแสนี้ คือถึงอย่างถึงจริงๆ แล้วก็มี อริโย นิพเพธิกปัญโญ นิพเพธิกปัญโญ คือปัญญา สำหรับเจาะแทงกิเลส ปัญญาที่ไม่เจาะแทงกิเลส หรือว่ายังไม่เจาะแทงกิเลส หรือว่ามิได้ใช้เจาะแทงกิเลสนั้น ไม่สำเร็จประโยชน์อะไร พระโสดาบัน มีปัญญา ชนิดที่เจาะแทงกิเลสได้ แล้วก็ได้ใช้แล้วด้วย คือเจาะแทงกิเลสไปแล้วด้วย ในขณะที่มีความเป็นพระโสดาบัน ทำให้ สักกายทิฐิ วิจิกิจฉา ศีลพตปรามาส ๓ อย่างนั้นหมดไปพร้อมกับความเป็นพระโสดาบัน นี่จึงถือว่าได้เจาะแทงกิเลสแล้ว เพราะเจาะแทงกิเลสได้จึงชื่อว่าอริโย คือประเสริฐ คำที่ เก้า ว่ามายืนอยู่จรดประตูแห่งอมตะ ประตูอมตะคือประตูนิพพาน เดี๋ยวนี้บุคคลนี้มายืนจรดประตู ยังเหลือแต่จะเข้าไปในห้อง ผู้ยืนอยู่จรดประตูแห่งอมตะ คือความเป็น คือพระโสดาบัน นี่องค์คุณเหล่านี้ก็ล้วนแต่แสดงให้รู้จัก พระโสดาบัน คือผู้ที่แน่นอนในการที่จะเป็นพระอรหันต์ เมื่อมีความเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็มองดูได้ในแง่อื่นๆ ว่า มีองค์คุณอย่างไร ข้อนี้มีการกล่าวไว้มากที่โสตาปัตติยังคะมีอยู่หลายหมวด หมวดที่รู้จักกันทั่วๆ ไป เรียกว่า โสตาปัตติยังคะนั่น ก็คือ พุทธะอเวจศรัทธา หรือ อัจาลศรัทธา มีศรัทธาไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าหนึ่ง มีศรัทธาไม่หวั่นไหวในพระธรรมหนึ่ง มีศรัทธาไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์หนึ่ง แล้วก็มีอริยกันตศีล คือมีศีลชนิดที่เป็นที่พอใจแก่พระอริยเจ้าหนึ่ง รวมกันเป็นสี่อย่างเรียกว่า ที่โสตาปัตติยังคะถ้าเต็มขนาดนี้ก็เรียกว่าองค์แห่งความเป็นพระโสดาบัน ถ้าทำได้ไม่ถึงขนาดนี้ ไม่เต็มขนาดนี้ก็เรียกว่า ท่อธารแห่งบุญ คือปุญญาธิสันทะ เป็นท่อธารที่ไหลออกแห่งบุญ แม้ว่ายังไม่เป็นพระโสดาบันก็ยังเป็นผู้ร่ำรวยไปด้วยบุญ ขอให้มีศรัทธาไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า มีศรัทธาไม่หวั่นไหวในพระธรรม มีศรัทธาไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ แล้วก็มีศีลชนิดที่ตนเองก็ติเตียนตนเองไม่ได้ คือบริสุทธิ์ พระอริยเจ้าชอบใจ นี่เรียกว่าองค์แห่งความเป็นพระโสดาบัน เป็นเครื่องสังเกตอย่างนี้ นี้เป็นที่รู้กันไป รู้กันอยู่ทั่วๆ ไป
ทีนี้เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ก็มีลักษณะอย่างอื่นที่พร้อมกันอยู่ในความเป็นอย่างนั้น ในสูตรหนึ่งแสดงว่า เป็นผู้เห็นแล้วด้วยดีแทงตลอดแล้วด้วยดี ซึ่งญายธรรมอันเป็นอริยะ ด้วยปัญญา ญายธรรม ธรรมนี้ก็คือการเห็นปฏิจจสมุปบาท หรือเห็น อิทัปปัจยตา ซึ่งทำให้ถอนความเห็นว่าตัวว่าตนในชั้นต้นเสียได้ นี่ก็เป็นลักษณะหนึ่งของพระโสดาบัน ว่าต้องมีนิพเพธิกปัญญาถึงขนาดที่เรียกว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท เมื่อมีลักษณะอย่างนี้แล้ว ยังดูได้ละเอียดลงไปถึงว่า จะละความสงสัย ความไม่แน่ใจใน ๑๐ อย่างได้อีก คือละความสงสัย ว่ารูปเป็นอัตตา เวทนา เป็นอัตตา สัญญา เป็นอัตตา สังขาร เป็นอัตตา วิญญาณ เป็นอัตตา นี่ละความสงสัยว่าเป็นอัตตา หรือเป็นอนัตตาในขันธ์ทั้ง ๕ เสียได้ นี่ก็ละความสงสัยได้ ๕ อย่าง แล้วก็ละความสงสัยในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ตนรู้สึกอยู่ได้รับอยู่ แสวงหาอยู่ เที่ยวตาม เคยตามเที่ยวหาอยู่มาแต่เดิมนั้นเสียได้ว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรหลงใหล หรือติดตาม ทั้งหมดนี้นับเป็นหนึ่ง คนธรรมดา จะพัวพันหลงใหลอยู่ในรูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ตนได้รู้สึก ได้รู้แจ้ง ได้ถึงเข้าได้แสวงหา ได้เที่ยวติดตามอยู่ด้วยจิตใจ พระโสดาบันมีความแน่ใจว่าเป็นเรื่องไร้สาระ จึงละความกังขาในสิ่งทั้งหมดนี้เสียได้นี้นับเป็นหนึ่ง ทีนี้พวกสุดท้ายละความลังเลสงสัยในอริยสัจทั้ง ๔ เสียได้ นับเป็น ๔ รวมกันก็เป็น ๑๐ เป็นผู้เริ่มละกังขา ความสงสัย ความไม่แน่ใจในสิ่งทั้ง ๑๐ นี้ได้ นี่ก็เป็นพระโสดาบัน คนธรรมดา จะไปรู้สึกว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้เที่ยง หรืออย่างน้อยก็มีส่วนเที่ยง หรือก็มีอะไรที่ซ่อนอยู่ในนั้นซึ่งเป็นส่วนที่เที่ยง ถ้าอย่างนี้ยังเป็นปุถุชน มันต้องมีความ หมดความสงสัยอย่างเกลี้ยงเกลาว่าในขันธ์ทั้ง ๕ นี้ ไม่มีส่วนที่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นอัตตา แล้วรูปเสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมย์นี้ ก็ไม่เป็นสิ่งที่ควรเข้าไปถึง เข้าไปแสวงหา เข้าไปเที่ยวติดตาม อย่าไปหลงบ้า หลงใหล หลงมัวเมาอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ทีนี้สำหรับเรื่องอริยสัจ ๔ นั้น มันต้องเห็นแจ้งพอที่จะแน่ใจว่า เห็นสิ่งที่ถูกต้องแน่ ปุถุชนได้แต่ฟังแล้วก็ได้แต่จำ ไม่เห็นแจ้ง มันจึงไม่หมดกังขาในอริยสัจ ๔ บางทีก็เอา บางทีก็ไม่เอา เวลาหนึ่งก็คิดว่าจะเอา พอมีกิเลสมายั่วมันก็ไม่เอาแล้ว ความเห็นแจ้งในอริยสัจ ๔ นั้น ไม่มั่นคง ถ้าเห็นแจ้งอย่างมั่นคงหมดกังขานี้แล้ว ก็จะเรียกว่า หมดกังขา เกี่ยวกับอริยสัจ ๔ หมดกังขาในความเป็นอนัตตาของขันธ์ ๕ หมดกังขาในความไม่น่าเสน่หา หมดความกังขาในความไม่น่าเสน่หาของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมย์ แล้วก็หมดกังขาในเรื่องของอริยสัจ ๔ รวมกันเป็น ๑๐ นี้ก็เป็น โสตาปัตติยังคะคือองค์แห่งความเป็นพระโสดาบันด้วย เป็นคำกล่าวใน สังยุตตนิกายเป็นคำตรัสของพระพุทธเจ้า
ทีนี้ โสตาปฏิยังคะอันอื่นก็เป็นการแสดงถึงผล ว่าเป็นพระโสดาบันแล้ว จะมีผลอย่างไร ในสูตรหลายสูตรด้วยกันแสดงผลว่าจะพ้นจากเวร จากภัย ที่คนธรรมดาสามัญได้รับอยู่ คนธรรมดาสามัญได้รับเวรรับภัยจากการกระทำปานาติบาทบ้าง จากการกระทำอธินนาทานบ้าง จากกาเมสุมิฉาจานบ้าง จากมุสาวาทบ้าง จากการดื่มน้ำเมาบ้าง ไม่มากก็น้อย ส่วนพระโสดาบันนั้นพ้นจากเวร จากภัย จากความเป็นอย่างนี้ ได้สิ้นเชิง จึงเรียกว่ามีอานิสงค์พ้นจากเวรภัย อย่างที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนอนาถปิณฑิกะ ว่าเมื่อพ้นจากเวรจากภัยนี้แล้วก็ให้ปฏิบัติต่อไปเพื่อให้ถึง ปฏิเวกปิติ(นาทีที่ 59.56) เป็นต้น เมื่อกล่าวถึงผลของความเป็นพระโสดาบันแล้ว ท่านกล่าวไว้ในลักษณะที่ว่า ยังเห็นพระนิพพานชัดด้วยธรรมจักษุ แต่ว่ายังไม่ถึงนิพพาน อภิสันทสังยุตต์(นาทีที่ 1.00.31) มีข้อความกล่าวไว้เช่นนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่ามันเปรียบเหมือนกับว่า บุรุษคนหนึ่งไปยืนที่ปากบ่อน้ำ ซึ่งลึกหลายชั่วบุรุษ มองเห็นน้ำอยู่ในบ่อ แต่ว่าเขายังตักน้ำนั้นกินไม่ได้ บ่อมันลึกแต่เขาเห็นน้ำแล้ว ข้อนี้ฉันใด พระโสดาบันก็ฉันนั้น หยั่งเห็นพระนิพพานชัดทั้งที่ยังไม่ถึงนิพพาน หมายถึงนิพพานโดยสมบูรณ์ ดังนั้นเราอย่าเอาอะไรให้มากนัก หรือว่าอย่าเอาอะไรให้ผิดจากความจริง เดี๋ยวจะเข้าใจพระโสดาบันผิด มาเข้าใจผิดแล้วมันก็เกิดเรื่องอีกหลายเรื่อง ซึ่งล้วนแต่เป็นผลร้าย บางทีก็ทำให้ตัวเองท้อถอย เพราะมันไปวาดไว้มากนัก จนเหลือความสามารถของตน ที่ในสูตรทั้งหลายมันมากนักเป็นสิบๆ สูตร แสดงข้อความที่ว่า พอสักว่าเป็นพระโสดาบันเท่านั้น ความทุกข์ก็ดับไปมากมาย อย่างไม่น่าเชื่อ คือว่าความทุกข์ส่วนที่ดับไปแล้วนั้นจะมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ ที่เหลืออยู่นั้นนับว่าน้อยมาก สักว่าเป็นพระโสดาบันเท่านั้น ความทุกข์สิ้นไป เหมือนกับว่าขี้ฝุ่นทั้งหลายในโลกมีมากมายเท่าไหร่ เดี๋ยวนี้เหลืออยู่เท่าที่ติดปลายเล็บเท่านั้น ก็คำนวณดูสิ หรือว่าน้ำทั้งหลายในมหาสมุทรมีมากมายเท่าไร มันก็แห้งไปหมดแล้วเหลือสักว่าติดปลายใบหญ้าเล็กๆใบหนึ่งเท่านั้น นี่ความทุกข์หมดไปเพราะความเป็นพระโสดาบันมันมากอย่างนั้น มันเหลืออยู่น้อยอย่างนี้ หรือเปรียบเหมือนว่าภูเขาหิมาลัย ภูเขาหิมพานต์ อันใหญ่หลวงนั่นแหละ หิน ก้อนหิน หรือว่าเนื้อของภูเขาหิมาลัยหมดไป เหลือเท่าเม็ดถั่วเขียวสองสามเม็ดเท่านั้น นี่คือข้อที่ความทุกข์หมดไปมากกว่าที่ยังเหลืออยู่แม้ในความเป็นพระโสดาบัน นี่ยกมาให้ดูเป็นตัวอย่างเพียงสองสามข้อ โดยอุปมาอันนี้ แต่ในสูตรนั้นกล่าวไว้มากมายหลายอุปมา มีน้ำหนัก มีความหมายเท่าๆ กัน ไม่จำเป็นจะต้องเสียเวลาเอามาพูด จะเปรียบเทียบด้วยสูตร สูตรไหนก็ได้ เช่นว่าดิน ทั้งโลกมีมากเท่าไหร่ เดี๋ยวนี้มันหายไป หายไป เหลือสักว่าติดปลายเล็บเท่านั้น นี่มีคำกล่าวไว้อย่างนี้ในพระคัมภีร์ แล้วก็ว่าพระพุทธเจ้าตรัส พระพุทธเจ้าจะตรัสจริงหรือไม่จริง หรือว่าจะเป็นคำโฆษณาชวนเชื่อของผู้แต่ง ผู้รวบรวมพระไตรปิฏกก็อย่าไปวินิจฉัยเลย ข้อความมันมีอยู่อย่างนี้ เราจะเพ่งดูกันในส่วนที่มันเป็นเหตุผล เพราะว่าพระโสดาบันเป็นผู้แน่นอนเที่ยงแท้ต่อการตรัสรู้ เป็นผู้ละสังโยชน์สามได้ คือว่าเป็นผู้ละ ไอ้ความยึดมั่น ถือมั่น ตัวกูของกูได้ ไม่ลังเลในพระธรรม หรือในธรรม เป็นเครื่องออกไปจากทุกข์ได้นี่ ไม่ลังเลในธรรมะนี้ มันมีความอุ่นใจถึงขนาดนี้ เมื่อมองดูปุถุชน ปุถุชนอย่างเลวด้วยแล้วก็ยิ่งจะเห็นว่ามีกิเลส มีความทุกข์ มีอะไร มันมากมายมหาศาล เมื่อมองดูไปที่พระโสดาบันแล้วมันเหลือน้อยเปรียบกันถึงขนาดนี้ นี่เรียกว่าสิ่งที่จะเป็นเครื่องสังเกตให้รู้จักพระโสดาบันมีอยู่อย่างนี้ โดยลักษณะหรือโดยการปฏิบัติ หรือโดยสิ่งที่ละได้ หรือว่าผลที่เกิดมาจากการละได้มันมีอยู่อย่างนี้ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายเข้าใจข้อความนี้ก่อน ซึ่งเกี่ยวกับพระโสดาบัน แล้วเราก็จะค่อยศึกษาต่อไปถึงเรื่องราวของพระอรหันต์ ในชั้นนี้ศึกษากันในข้อที่ว่า พูดถึงกระแสแห่งพระนิพพานนั้นเป็นอย่างไร เมื่อเข้าใจเรื่องของพระโสดาบันแล้ว ก็เข้าใจเรื่องของพระสกิทาคามี และพระอนาคามีได้โดยง่าย ก็หมายความว่าพระโสดาบัน เป็นผู้ถึงกระแส เขยิบใกล้เข้าไปอีกนิดหนึ่งก็เป็นพระสกิทาคามี ถ้าถึงความแน่นอน ไม่มีกลับอีกต่อไปแล้วก็เป็นพระอนาคามี ก็มีเท่านั้นเอง จะเข้าใจพระสกิทาคามี พระอนาคามีได้ ก็ต้องเข้าใจพระโสดาบันก่อน แล้วพระสกิทาคามี กับพระอนาคามีนั้น มันก็ผิดออกไปนิดหน่อยเท่านั้น คือว่าพระสกิทาคามีก็ละอะไรได้เหมือนพระโสดาบัน แต่ว่าละได้มากกว่านิดหน่อย ในส่วนโลภะ โทสะ โมหะ ส่วนพระอนาคามีนั้น ละในส่วนที่เป็นกามราคะได้สิ้นเชิง นอกนั้นก็จะเหลืออยู่เท่าๆ กัน จนกว่าเมื่อใดจะถึงพระอรหันต์จึงจะละกิเลสทั้งหลายหมดสิ้น พร้อมทั้งความเคยชินของกิเลสที่เรียกว่าอนุสัย หรือสังโยชน์ ทั้งปวง ทั้งหมดนี้คือเรื่องของพระโสดาบัน ว่าเป็นผู้ถึงกระแสแห่งพระนิพพาน เราก็จะพยายามที่จะเข้าใจ แล้วก็พยายามที่จะให้ถึงกระแสแห่งพระนิพพาน เมื่อถึงกระแสอันนี้แล้ว พระพุทธเจ้าเป็นนายประกัน ที่ตรัสไว้ในสูตร สูตรหนึ่งว่า ตถาคตเป็นนายประกัน คือเป็นผู้รับประกันว่าเขาจะเป็นผู้ถึงซึ่งพระนิพพาน แล้วทุกคนก็พยายามกระทำตัวให้ดี ถึงขนาดที่พระพุทธเจ้าจะเป็นนายประกันว่าจะถึงพระนิพพานโดยแน่นอน
วันนี้เป็นวันพระอรหันต์ แต่พระโสดาบันนั้นรวมอยู่ในความเป็นพระอรหันต์ หรือเป็นขั้นต้นของความเป็นพระอรหันต์ ก็เป็นการสมควรแล้วที่จะมาพิจารณากันในวันที่เป็นที่ระลึกแก่พระอรหันต์ หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้ใช้ปัญญาพินิจพิจารณาเพื่อรู้จักองค์แห่งความเป็นพระอรหันต์โดยนัยยะต่างๆ กัน ดังที่กล่าวมานี้ และมุ่งหมายการที่จะไปยืนอยู่จรดประตูของพระนิพพานนั่นแหละเป็นเป้าหมาย ต่อไปนั้นพระพุทธเจ้ารับประกันก็แปลว่าไม่มีการหมุนกลับ หรือตกต่ำเป็นธรรมดา ความยากลำบากก็อยู่ตรงที่ว่าจะเป็นพระโสดาบัน พอเมื่อเป็นพระโสดาบันแล้วมันง่าย ที่จะไปต่อไป ก็เปรียบเหมือนกับเรา ลากรถหรือเข็นรถ หรือเข็นเกวียน ขึ้นไปบนสะพานโค้ง ที่มันสูง ความยากลำบากมันก็คงจะอยู่แต่ในฝ่ายที่จะเข็นขึ้นไป ให้ถึงยอดโค้งของสะพาน พอถึงยอดโค้งของสะพานแล้วมันก็ไหลเลื่อนออกไป ง่าย ไปสู่ฝ่ายที่ต่ำลง ต่ำลงของสะพานโค้งฝั่งโน้น ลักษณะอย่างนี้ก็มีที่พระพุทธภาษิตกล่าวไว้ว่า ไอ้ท่อนไม้ที่มันจะไหลออกไปทะเลนั้น มันยากลำบากตรงที่เมื่อมันยังอยู่บนดอน ไม้ท่อนหนึ่งมันนอนกลิ้งอยู่บนดอนมันจะไปทะเลได้อย่างไร มันจะต้องมีการพยายามที่จะให้ไม้ท่อนนั้น เขยิบไปหาน้ำไปหาคู หาลำธาร ไปหาคลองพอออกจากปากคลองไปสู่กระแสแห่งแม่น้ำที่ไหลเชี่ยวได้แล้ว ไอ้ไม้ท่อนนี้จะต้องถึงทะเลเป็นแน่นอน ความเป็นพระโสดาบันนั้นหมายถึงการที่ท่อนไม้ท่อนนี้ มันออกมาจากปากคลอง เข้าไปในกระแสเชี่ยวแห่งแม่น้ำ แล้วมันก็แน่นอนที่จะออกทะเล
ขอให้เราทุกคน ที่รู้สึกว่ายังไม่ถึงกระแสแห่งธรรมนี้ จงได้พยายาม ประกอบจิตภาวนา คือการทำจิตให้ยิ่ง เพราะเป็นที่แน่นอนแล้วว่าจิตนี้ มันมีปกติ ปราศจากกิเลส กิเลสเพิ่งจรมา เพราะฉะนั้น จิตภาวนาก็จะไม่ยากเกินไป คืออยู่ในวิสัยที่จะทำได้ พูดง่ายๆ ก็คือว่าอย่ารับแขก แขกมาก็ไล่มันไปเสีย กิเลสทั้งหลายชื่อว่าเป็นแขก เป็นอาคันตุกะ ไม่ใช่เจ้าของบ้าน มันเป็นแขก เรามีสิทธิที่จะไล่แขกให้ไปจากบ้านของเรา นี่โดยเปรียบเทียบ อย่ายินดีต้อนรับแขก คืออุปกิเลสแล้วจิตมันก็จะวิปมุตตะ คือตามเดิม หรือว่า ปกติปริสุทธะอยู่ตามเดิมอยู่อย่างที่พระสารีบุตรว่า นี้คือความไม่ยากเกินไป ไม่เหลือวิสัย ขอให้พยายามในสิ่งที่ไม่เหลือวิสัย เข็นรถ หรือเข็นครกขึ้นถึงจุดสูงสุดของสะพาน แล้วมันจะกลิ้งไปเองนี่ พระพุทธเจ้าท่านจึงกล้ารับประกัน หรือว่าเข็นท่อนไม้ให้ออกมาจากปากคลองสู่กระแสแห่งแม่น้ำที่ไหลเชี่ยว มันก็ไปสู่ทะเลเอง พระพุทธเจ้าท่านจึงกล้ารับประกัน บริษัทรับประกันนี้ไม่ล้มแน่ เพราะท่านรับประกันแต่คนที่ว่ามันแน่ที่จะไปถึงพระนิพพาน การรับประกันของท่านจึงไม่มีทางที่จะผิดพลาด หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้นำไปพินิจพิจารณาดูให้ดีว่าสิ่งนี้อยู่ในวิสัยที่จะพึงกระทำได้ และควรทำเป็นที่สุดแล้ว จะไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา
ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลาในระยะนี้ ขอหยุดไว้แต่เพียงนี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้