แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายเรื่องธรรมปาฏิโมกข์ของพวกเราที่นี่ ยังคงเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกูในแง่ใดแง่หนึ่งหรือโดยปริยายใดปริยายหนึ่งอยู่ตามเคย ยังมีเรื่องที่จะพูดกันได้ต่อไปอีกยังไม่ต้องเปลี่ยนเรื่อง ในครั้งที่แล้วมาสรุปความได้ว่าเรามีหลักที่มองเห็นกันแล้วว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตนนั้นหมายความอย่างไร ต้องหมายความอย่างไรจึงจะสำเร็จประโยชน์ในการที่จะปฏิบัติได้ สำเร็จเป็นคำพูดขึ้นมาว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตนอย่างนี้ก็ได้ หรือถ้าพูดให้มันน่าตกใจไปกว่านั้นก็เรียกว่าตนมันฆ่าตนก็ได้ หมายความว่าตนที่เป็นธรรมะนี้มันก็ฆ่าตนที่เป็นกิเลสเป็นอุปาทาน จนกระทั่งพูดว่าขันธ์ฆ่าขันธ์ก็ได้ คือว่าถ้าเบญจขันธ์ชนิดที่มีสติปัญญาประกอบอยู่เกิดขึ้นมันก็ฆ่าเบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยกิเลสหรืออุปาทาน หรือว่าปฏิจจสมุปปันนธรรมนี้มันก็ฆ่าปฏิจจสมุปปันนธรรม ปฏิจจสมุปบาทส่วนที่เป็นนิโรธวารนั้นมันจะกำจัดส่วนที่เป็นสมุทยวาร หมายความว่าถ้าในจิตใจมันเกิดสติปัญญาเกิดสัมปชัญญะเกิดญาณอะไรขึ้นมา มันก็กำจัด ภาวะที่กำลังเป็นกิเลสหรือเป็นอะไรได้ อย่างนี้เราเรียกว่าตนฆ่าตน หรือว่าขันธ์ฆ่าขันธ์ หรือว่าปฏิจจสมุปบาทกำจัดปฏิจจสมุปบาท แล้วแต่จะพูด
ทีนี้วันนี้ก็อยากจะพูดโดยหัวข้อว่า ทำอย่างไรจึงจะเกิดมีอาการที่เรียกว่าขันธ์ฆ่าขันธ์นั้นขึ้นมาได้ หมายความว่าจะต้องปฏิบัติอยู่อย่างไรเป็นประจำจึงจะมีอาการที่เรียกว่าขันธ์ฆ่าขันธ์อยู่ได้ การที่กล่าวดังนี้ย่อมหมายความว่า คำพูดต้นๆ นั้นเป็นที่เข้าใจกันดีอยู่แล้ว ถ้าคำพูดต้นๆ ไม่เข้าใจมันก็ไม่มีทางจะเข้าใจคำพูดที่กำลังพูดหรือว่าจะพูดต่อไป เดี๋ยวนี้เรากำลังพูดว่าเราจะต้องทำอย่างไรมันจึงจะมีอาการที่เรียกว่าขันธ์นี้ฆ่าขันธ์ คือตนฆ่าตน ขันธ์ที่บริสุทธิ์ไม่ประกอบไปด้วยอุปาทานอยู่นั้นเรียกว่าขันธ์ที่บริสุทธิ์นี้ก็ฆ่าขันธ์ที่กำลังประกอบอยู่ด้วยอุปาทานคือขันธ์ปัญจุปาทานขันธ์ นี้คือคำอธิบายที่ว่าตนที่เป็นธรรมะนั้นมันฆ่าตนที่เป็นกิเลส ตนที่เป็นธรรมะคือเบญจขันธ์ที่ไม่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานแต่ประกอบอยู่ด้วยปัญญาญาณสติสัมปชัญญะนี้แล้วมันก็ฆ่าตนหรือขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน
ทีนี้เรื่องที่ว่าจะพูดกันให้ละเอียดก็คือว่าทำอย่างไรจึงจะมีอาการอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เรียกว่าขันธ์ที่เป็นขันธ์บริสุทธิ์ก็ดีหรือขันธ์ประกอบด้วยอุปาทานก็ดี ล้วนแต่เพิ่งเกิดทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าเรามีเบญจขันธ์อยู่ตลอดเวลา นี้เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจหรือลืมเสียไม่ได้ แล้วมันต่างกันอยู่กับที่เขาพูดหรือเขาสอนกันอยู่ทั่วๆ ไป เขาสอนกันอยู่ทั่วๆ ไปคล้ายกับว่าเบญจขันธ์หรือขันธ์ ๕ นี้มีอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อเอาตามหลักธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนโดยตรง ขันธ์นี้มันเกิดดับเกิดดับอยู่ตลอดเวลา บางทีเกิดมาเป็นขันธ์ที่มีกิเลส บางทีเกิดมาเป็นขันธ์ที่ไม่มีกิเลส นี้ก็เคยพูดกันแล้วไม่ใช่ไม่เคยพูด บางคนไม่เคยฟัง บางคนฟังแล้วก็ไม่สนใจ เห็นว่าไร้สาระ ฉะนั้นต้องไปทบทวนข้อนี้แหละให้เข้าใจ ที่บางคราวเกิดขันธ์ชนิดที่ไม่มีกิเลสนั้น ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นว่าตาเห็นรูป มันก็เกิดจักษุวิญญาณ การพบกันระหว่างจักษุวิญญาณกับตากับรูปนี้ก็เรียกว่าผัสสะ คือกระทบกันโดยสมบูรณ์ตามความหมายของสิ่งที่มีความรู้สึก นี้มันก็เกิดเป็นเวทนา คือสบายตาหรือไม่สบายตา ถูกตาหรือไม่ถูกตาเป็นต้น นี้ก็เรียกว่าเกิดเวทนาจากผัสสะนั้น เพียงเท่านี้มันก็มีสิ่งที่เรียกว่าเบญจขันธ์อยู่ในลักษณะหนึ่งคือยังไม่มีกิเลส คือพอมันทำหน้าที่เป็นผัสสะเป็นเวทนาแล้วมันก็ต้องหมายความว่าร่างกายนี้เกิดขึ้นแล้ว รูปเป็นรูปขึ้นมาแล้วเพราะว่าทำหน้าที่ให้จิตใจอาศัย ทำหน้าที่ของจิตใจอีกทีหนึ่ง แล้วเวทนาก็ได้เกิดขึ้นแล้วคือสบายตาหรือไม่สบายตา ทีนี้มันมีซ่อนอยู่ในนั้นก็คือว่าก่อนจะเกิดเวทนานั้นต้องมีสัญญาคือความรู้สึกประเภทที่รู้ว่ารูปอะไรนั้นแหละเสียก่อน มันจึงจะสบายตาหรือไม่สบายตาได้ สัญญานี้ก็มีคือสัญญาประเภทจำว่ารูปอะไร นี้อย่างหนึ่ง เช่นรูปดอกกุหลาบหรือรูปอะไรก็ตามใจ มันต้องรู้ว่าดอกกุหลาบ แล้วสัญญาว่าเป็นดอกกุหลาบอีกทีหนึ่ง
ทีนี้สังขารมันก็ย่อมเกิดความคิดเกี่ยวกับการเห็นดอกกุหลาบ แล้ววิญญาณมันก็เกิดแล้วที่จักษุวิญญาณนั้นเพื่อเห็นดอกกุหลาบเพื่อรู้จักดอกกุหลาบ ฉะนั้นขันธ์อย่างนี้เกิดครบขึ้นมาแล้วทันทีเวลานั้น แต่ยังไม่ประกอบด้วยอุปาทาน นี่เวทนานั้นให้เกิดตัณหาให้เกิดอุปาทานอีกทีหนึ่งมันจึงจะเป็นเบญจขันธ์ที่ประกอบไปด้วยอุปาทานขึ้นมา ถ้ามันเกิดอยากในดอกกุหลาบ เกิดยึดในดอกกุหลาบประเภทอุปาทาน มันก็เกิดความโลภหรือราคะอะไรขึ้นมา นี้ก็เรียกว่าอุปาทานให้เกิดเบญจขันธ์ชนิดที่มีอุปาทาน ถ้ามีตัณหามีอุปาทาน ถ้าอย่างนี้แล้วมันก็ต้องเลยไปถึงภพถึงชาติ คือมีตัวกู ผู้เห็น ผู้ได้ ผู้รู้ ผู้ดม ผู้อะไรขึ้นมา เป็นชาติขึ้นมามีตัวฉันขึ้นมา แล้วปัญหาเรื่องความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายก็เกิดขึ้นตามสมควร อย่างนี้เรียกว่าเบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานและเป็นทุกข์แล้ว เมื่อตะกี้ยังไม่ทันมีตัณหาอุปาทานก็ยังเรียกว่าขันธ์ล้วนๆ อยู่ หรือว่าพอเกิดผัสสะเกิดเวทนาแล้ว สติสัมปชัญญะมาทัน มีปัญญารู้ว่านี้เป็นอะไร อย่างนี้เป็นดอกกุหลาบ คืออะไร หมายความว่าอย่างไร เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องอย่างไรก็ได้ ไม่เกิดตัณหาไม่เกิดอุปาทาน แต่เกิดสติปัญญาความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องที่จะจัดการกับดอกกุหลาบนั้น อย่างนี้ก็เรียกว่าเบญจขันธ์นี้ยังไม่ได้ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน มันยังมีสติสัมปชัญญะมีปัญญาอะไรอยู่แม้ว่าไปเกี่ยวข้องกับดอกกุหลาบนั้นในลักษณะใดก็ตาม คือจะไปใช้ประโยชน์อะไร ก็ต้องใช้โดยที่ว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นโดยอุปาทาน หรือว่าจะไม่รู้สึกอะไรมากไปกว่ารู้สึกว่านี้เป็นดอกกุหลาบ แล้วกลิ่นมันหอมอะไรอย่างนี้แล้วก็เลิกกันอย่างนี้ก็ได้ ไม่ประกอบด้วยอุปาทาน นี้เป็นตัวอย่างเพียงว่าตาเห็นรูปเท่านั้น แล้วก็เฉพาะว่าดอกกุหลาบนะ
ทีนี้มันมีอื่นๆ อีกมากมายให้รู้เอาเอง ว่าขันธ์นี้เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวแล้วก็ดับไป ในบางครั้งไม่มีตัณหาอุปาทานยึดครองมันดับเสียก่อนก็มี เพราะมีสติสัมปชัญญะมาทันมันดับเสียก่อนไม่ทันจะเกิดตัณหาอุปาทานก็มี ทีนี้ในบางครั้งมันโง่ไปเผลอไปมันเตลิดเปิดเปิงไปจนเกิดตัณหาอุปาทานก็มี ถ้ามันเกิดตัณหาอุปาทานมันก็เป็นทุกข์ เป็นตัวเจ้าทุกข์เป็นตนที่เป็นทุกข์ ทีนี้มันจะป้องกันได้หรือกำจัดเสียได้ตัดเสียได้ด้วยเบญจขันธ์ที่ไม่ประกอบด้วยอุปาทาน คือมีสติสัมปชัญญะเกิดขึ้นมีญาณมีปัญญาอะไรเกิดขึ้น มันเป็นคู่ปรปักษ์กันอยู่อย่างนี้มันก็ย่อมจะทำลายกันเองตามธรรมชาติ อันหนึ่งมันประกอบด้วยวิชชาปัญญาแสงสว่าง อันหนึ่งมันประกอบด้วยอวิชชา โมหะความโง่ความหลงความมืด มันเป็นปฏิปักษ์กันอยู่ในตัว มันจึงกำจัดกันได้อยู่ในตัว เหมือนความมืดกับความสว่าง ถ้าคนคนหนึ่งเขาสามารถที่จะควบคุมให้เกิดแต่เบญจขันธ์ที่ไม่ประกอบอุปาทาน แต่มีสติปัญญาเสียเรื่อยนี่ มันก็ปลอดภัยไปก็หมดเรื่องกันเท่านั้นแหละ ถ้าทำได้จริงก็เป็นพระอรหันต์ไป ทำไม่ได้จริงคือว่ามันกลับมาอีกก็เป็นธรรมดาชั้นดี คนธรรมดาชั้นดีชั้นที่มีทุกข์น้อย
ในข้อสำคัญข้อหนึ่งที่ว่า ถ้ามีอุปาทานแล้วก็ต้องเป็นทุกข์ ฉะนั้นเราอย่ามีอุปาทาน ให้สุดความสามารถเลยที่จะไม่มีอุปาทาน คือถ้ามันมีได้มีแต่น้อย นั่นแหละคือข้อปฏิบัติหลักที่จะต้องปฏิบัติ เรื่องถ้ามีอุปาทานแล้วต้องเป็นทุกข์นี้ต้องไปทำความเข้าใจเอาเอง ซ้ำๆ กับที่ผมเคยพูดมาหลายสิบครั้งแล้วว่าถ้ามีอุปาทานแล้วเป็นทุกข์ ไม่มีอุปาทานแล้วก็ไม่มีทุกข์ พูดว่าให้เอาเยี่ยงอย่างต้นไม้ ต้นไม้มีความรู้สึก มีความคิดนึกมีความอะไรประเภทที่จำเป็นแก่ชีวิต แล้วก็ไม่มีสูงถึงขั้นที่จะต้องเป็นทุกข์ คือไม่ต้องอุปาทานไม่ต้องมีอุปาทาน ข้อนี้เราอาจจะนำสืบไม่ได้หรือว่าเราพิสูจน์ไม่ได้ แต่เรารู้ได้โดยเหตุผลว่าต้นไม้นี้มันมีแต่เพียงความรู้สึกเพื่อจะมีชีวิตอยู่เท่านั้น ไม่มีตัณหาอุปาทาน ฉะนั้นมันจึงรู้สึกสำหรับจะหาน้ำกิน หาแสงแดด หาอะไรไปตามเรื่อง มันก็ออกกิ่งออกรากไปทางทิศที่มันจะได้แสงแดดได้น้ำ มันมีการต่อสู้เพื่อจะมีชีวิตอยู่ แต่ความรู้สึกไม่สูงถึงกับจะยึดมั่นถือมั่นจนเป็นทุกข์ เพราะมันมีแต่ความรู้สึกส่วนนั้น ความคิดความนึกมันไม่เจริญ แล้วก็สมองในส่วนที่จะคิดนึกให้ไกลกว่านั้นมันไม่มี นี่เราดูเยี่ยงอย่างต้นไม้เฉพาะในข้อที่ว่ามันไม่มีความทุกข์มันก็มีชีวิตอยู่ได้ แต่มิได้หมายความว่ามันมีค่าหรือมีประโยชน์สูงสุด มันเป็นแต่เพียงต้นไม้
ทีนี้ดูให้สูงกว่าต้นไม้ก็คือดูสัตว์ เช่นสุนัขเป็นต้น ความรู้สึกที่จะมีชีวิตอยู่จะรอดชีวิตอยู่นี้ก็มี ความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นเล็กๆ น้อยๆ ก็มี แต่ไม่มากเท่าคนหรือไม่เหมือนคนเพราะมันคิดไม่เป็น มันก็มีตามธรรมชาติหรือตามสัญชาตญาณ ฉะนั้นสุนัขจึงไม่ปรากฏอาการที่เรียกว่าอุปาทานมากเหมือนคน จะคิดนึกวิตกกังวลอะไรมันก็ทำไม่เป็น เห็นอะไรด้วยตามันก็เพียงแต่ว่าจะกินได้หรือกินไม่ได้ กินไม่ได้ก็แล้วไป กินได้ก็กิน มันไม่มีความยึดมั่นถือมั่นเป็นรูปตัวกูของกู ถ้ามี,ถ้าจะมองกันในแง่ที่ว่ามันมี มันก็มีน้อยมาก ไม่มีเรื่องราวเหมือนคนเรา ฉะนั้นมันก็มีเบญจขันธ์ประเภทที่มีอุปาทานน้อยมาก หรือว่าเกิดยาก แต่มันก็ทำอะไรไม่ได้มากเหมือนๆ คนเพราะว่ามันมีน้อยมีต่ำ มันน่าดูน่าสนใจอยู่ก็ตรงแต่ที่ว่ามันมีความทุกข์น้อย ถ้าเทียบกันแล้วมันมีความทุกข์น้อยกว่าเรามากมายทีเดียวแหละ เรามันคิดเอาได้ มันคิดไม่เป็น คิดสำหรับจะโกรธใครจะเกลียดใครจะพยาบาทใครมันก็คิดไม่เป็น คิดที่ว่าจะกลัวยากจนแล้วอยากร่ำรวยสะสมนี้มันก็คิดไม่เป็น เพราะฉะนั้นมันจึงไม่เป็นโรคเส้นประสาทเหมือนที่พระเณรเรากำลังเป็น เหมือนที่ว่าแขกแทบทุกคนมาที่นี่เป็นโรคเส้นประสาท วันหนึ่งๆ ผมก็นั่งปรับทุกข์แต่เรื่องเป็นโรคเส้นประสาทพวกแขกที่มา
นี่คือผลของความที่มีอุปาทานอะไรอย่างคนอย่างมนุษย์ มีปัญหาที่เกิดออกมาจากคิดเก่งทั้งนั้น หยุดคิดไม่ได้ คนจึงเป็นโรคเส้นประสาทกันมากขึ้นทุกทีๆ เวลานี้ในโลกนี้ ส่วนสุนัขนั้นเท่าเดิม เมื่อพันปีหมื่นปีมาแล้วเป็นอย่างไรมันก็เท่านั้นแหละ มันไม่รู้จักโรคเส้นประสาทเพราะมันไม่ก้าวหน้าในส่วนนี้ บางทีมันไม่ได้กินตั้งวันมันก็ไม่มีอาการชนิดที่ว่าโกรธเคืองหรืออะไร หิวก็หิวแต่ยังสงบอยู่ได้ ถ้าขนาดพระเณรนี้คงจะบ่นแล้ว ถ้าขนาดชาวบ้านจะด่าแม่แล้ว ถ้าไม่ได้กินปล่อยให้หิวหลายชั่วโมงอย่างนี้ เพราะมันคิดอะไรไม่เป็น คิดดู นี่สัตว์เดรัจฉาน วัว ควาย อะไรก็ตาม มันก็อยู่ในประเภทที่ทุกข์น้อยเพราะว่าอุปาทานมันไม่มีหรือมันมีน้อยเกินไป
นี่เราดูเยี่ยงอย่างข้อนี้ก็เพื่อรู้ว่ามันไม่มีอุปาทานมันจึงไม่มีความทุกข์ มันมีแต่ความรู้สึกสำหรับเป็นอยู่ ก็ทำสิ่งที่จำเป็นที่จะเป็นอยู่เท่านั้น เมื่อจะได้หรือจะไม่ได้ก็ไม่มีความคิดคืบหน้าอะไรนัก ความหิวก็ทำให้แสวงหาด้วยความหิวล้วนๆ มันไม่หงุดหงิดงุ่นง่านเหมือนกับคน แม้ที่สุดแต่มันมีลูก มันมีความยึดถือน้อยมาก หามาให้ลูกกินหรือว่าหาไม่ได้ มันก็ยังมีความทุกข์น้อยมาก นี่รู้กันไว้เป็นหลักใหญ่ๆ ว่าโดยกฎของธรรมชาติมันเป็นทุกข์เพราะอุปาทาน ฉะนั้นจงบรรเทาอุปาทานตัดทำลายอุปาทาน
ทีนี้คนเรามันก็มีความคิดเจริญเพราะมันสมองหรือเครื่องมือสำหรับคิด และก็รู้สึกมันเจริญเพราะมันคิดได้มาก คิดได้ล่วงหน้า คิดได้ถอยหลัง คือมีอดีต มีอนาคต มีอะไร แล้วก็ตรงปัจจุบันนี้มันก็คิดเก่งคิดมาก ฉะนั้นเรื่องหรือโอกาสที่จะเกิดอุปาทานมันก็มีมาก ตอนนี้มันก็มีความทุกข์มาก แต่แล้วมันก็ได้ของตอบแทนคือว่าคิดเก่ง ทีนี้ต้องเกิด sub image ความคิดเก่งนั้นแหละไปเสียในทางที่เป็นประโยชน์ อย่าคิดไปในทางที่จะเป็นทุกข์ คือหมุนเปลี่ยนกระแสของความเก่งนี้ไปในทางที่จะไม่ทุกข์ อย่าปล่อยไปตามเรื่อง มันจะหมุนไปแต่ในเรื่องของความทุกข์ ไหลไปแต่ในเรื่องของความทุกข์นี้ไม่ได้ มันไม่สมกับเป็นคน มันจะสู้สุนัขก็ไม่ได้ ทีนี้ก็หมุนความเก่งนี้เลี้ยววกไปหาความไม่มีทุกข์ หรือว่าทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์หรืออะไรด้วยกันให้มันมากที่สุดสมกับที่มันเก่ง ทีนี้เราทำอยู่อย่างนี้ ปฏิบัติอยู่อย่างนี้มันก็ป้องกันความทุกข์ได้จนกระทั่งมันตายตัว เปลี่ยนเป็นสภาพใหม่ที่ทุกข์ไม่ได้
ความต่อต้านตามธรรมชาติก็มีอยู่นะ ต้องมองให้ดี คือถ้าอะไรมันเกิดขึ้นเป็นทุกข์แล้วมันก็รู้จักต่อต้าน อะไรๆ มันก็รู้จักต่อต้าน และถ้ามันเป็นสิ่งที่ประกอบอยู่ด้วยความรู้สึกแม้ว่ามันไม่มีอุปาทาน เช่นต้นไม้มันถูกแดดเผา ใบมันก็จะหนาขึ้นสู้แสงแดดแรงได้ มันต่อต้านได้อย่างนี้ ถ้ามันเป็นใบอ่อนไม่เคยถูกแสงแดด พอถูกใบอ่อนมันก็เหี่ยวตาย คนเราก็เหมือนกันแหละ เซลล์นี้มันต่อต้านได้ เช่นว่าเราเดินหนักๆ เข้า ไม่สวมรองเท้า มันก็เกิดเซลล์ที่ต่อต้านหนาขึ้นเอง มันจนเดินไปได้แหละ นี่โดยธรรมชาติโดยไม่ต้องมีความรู้สึกยึดมั่นถือมั่น ไม่มีกิเลสตัณหาที่จะยึดมั่นถือมั่น มันก็เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วก็ต่อต้านขึ้นมาได้เอง
นี้ก็เป็นเรื่องส่วนของธรรมชาติ เป็นหน้าที่ของธรรมชาติ เป็นความดีหรือบุญคุณของธรรมชาติที่มันทำให้ชีวิตรอดอยู่ได้ ฉะนั้นจึงมีอาการที่ต่อต้านได้ทุกอย่างที่มันควรจะต่อต้านได้ ทนแดด ทนฝน ทนหนาว ทนร้อน ทนเจ็บ ทนป่วยอะไรมันก็ต่อต้านได้โดยไม่ต้องมีความยึดมั่นถือมั่น ฉะนั้นเราจงเข้าใจว่าไม่จำเป็นจะต้องมีความยึดมั่นถือมั่นเราก็มีชีวิตอยู่ได้ เดี๋ยวนี้เขาไม่เชื่อว่าถ้าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วเราก็จะไม่มีชีวิตรอดอยู่ได้ นี่คือความคิดที่ค้านกันกับหลักของพุทธศาสนา พวกนักจิตวิทยาหรือนักปรัชญาบางสายบางพวกเขายึดมั่นในการที่ว่าเราจะต้องมีความยึดมั่นถือมั่น ในเรื่องตัวกูในเรื่องของกูจึงจะรอดชีวิตอยู่ได้ แต่พุทธศาสนาเราต้องการจะกำจัดความทุกข์ โดยทำลายความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นนี้เสีย นี้จะทำความเข้าใจกันได้หรือไม่ก็คอยดู แต่เดี๋ยวนี้ต้องการจะพิสูจน์ส่วนเดียวเท่านั้น ในส่วนที่ว่าถ้ามีความยึดมั่นถือมั่นแล้วต้องเป็นทุกข์ ฉะนั้นจะแก้ปัญหานี้โดยเฉพาะคือไม่เป็นทุกข์ เราต้องทำลายความยึดมั่นถือมั่น คือความรู้สึกว่าตัวกูนี้เสีย ให้มันมีน้อยหรือไม่มีเลยเหมือนกับต้นไม้ ให้มันมีน้อยเหมือนกับสัตว์เดรัจฉานอย่างนี้ ให้ตัวกูของกูมันมีน้อย แล้วก็ไม่ทุกข์ นี้ส่วนที่มันหายไปนั้นต้องทดแทนมาด้วยสติปัญญา ฉะนั้นมนุษย์เราก็เร่งฝึกฝนอบรมบ่มสติปัญญานี้เข้ามาแทน แทนความยึดมั่นถือมั่น จนเป็นว่ามีชีวิตอยู่ด้วยสติปัญญา ทำอะไรทำไปด้วยกำลังของสติปัญญา อย่าทำไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น ความยึดมั่นถือมั่นหรืออะไรที่คล้ายๆ กันนี้มันก็เป็นสติปัญญาชนิดหนึ่ง แต่มันฝ่ายมิจฉาฝ่ายผิดฝ่ายอันธพาล การที่จะยึดมั่นถือมั่นก็ต้องมีสติ จะต้องมีปัญญา ต้องมีความรู้อะไรเหมือนกันแหละ แต่มันเป็นฝ่ายผิด เป็นฝ่ายมิจฉาสติ มิจฉาญาณะ มิจฉาปัญญาอะไรไปตามเรื่อง สติผิด รู้ผิด อะไรผิดอย่างนี้ก็ต้องเรียกว่ามิจฉาทิฏฐิไป ไม่ใช่โพธิ ถ้าโพธินี้เขาก็หมายถึงรู้ถูก และรู้ผิดนี้เขาเรียกว่ากิเลส กิเลสกับโพธิเหมือนกันในข้อที่ว่ามันเป็นความรู้ด้วยกัน แต่ความรู้อันหนึ่งทำให้เกิดทุกข์ ความรู้อันหนึ่งไม่เกิดทุกข์ ทีนี้เรามันชอบข้างไม่เกิดทุกข์ ฉะนั้นเราจึงเกลียดกิเลสและรักโพธิ ทั้งที่โดยธรรมชาติแล้วมันเป็นความรู้เหมือนกันเสมอกันเท่ากัน ทำหน้าที่คนละอย่าง ธรรมชาติมันไม่มีตัวมีตนอะไร มันไม่รู้สึกสุขทุกข์อะไร มันก็มีของมันตามธรรมชาติคือเป็นความรู้ ถ้ารู้อย่างนี้ได้ผลอย่างนี้ รู้อย่างนี้ได้ผลอย่างนี้ ทีนี้มนุษย์เราเกลียดฝ่ายความทุกข์ เพราะฉะนั้นจัดฝ่ายนั้นทั้งหมดทั้งกระบิทั้งกลุ่มนั้นเป็นฝ่ายผิดเรียกว่ามิจฉา ฝ่ายนี้เป็นฝ่ายถูกเรียกว่าสัมมา เพราะเราต้องการจะไม่มีทุกข์เท่านั้นเอง ทีนี้ก็ฝึกหัดกันแต่ในทางที่จะมีสติสัมปชัญญะฝ่ายถูกที่เรียกว่าญาณทัสสนะหรือว่าโพธิ อย่าให้เฉลียวฉลาดไปในทางที่จะยึดมั่นถือมั่น เพราะว่าเราก็ฉลาดในทางนี้มาถึงที่สุดแล้วก็ว่าได้ ฉลาดในทางที่ยึดมั่นถือมั่นนี่ ฉลาดกว่าสุนัขกว่าแมว ฉลาดกว่าสัตว์ทั้งปวง ฉลาดกว่าต้นไม้ นี่ฉลาดในทางที่จะยึดมั่นถือมั่นให้เป็นทุกข์ นี่เรียกว่ามันพอแล้ว จนจัดเป็นความโง่แล้ว เป็นความหลงเป็นความผิดแล้ว
ทีนี้ก็เลื่อนไปหาความที่ตรงกันข้ามจะได้ไม่เป็นทุกข์ เพราะเราไม่ชอบความทุกข์ นี่จึงใช้คำว่าให้เปลี่ยนกระแสของความเก่ง ความเก่งในทางเป็นมิจฉามาเก่งในทางเป็นสัมมา ความเฉลียวฉลาดความเก่งกล้าสามารถรวดเร็วว่องไวในทางที่จะเป็นกิเลสนี้มาเป็นโพธิเป็นปัญญาเป็นอะไรเสีย ถ้าว่ามันไปได้ไกลกว่านั้นอีกมันจะเห็นว่ามันเหมือนกันทั้งกิเลสทั้งโพธิ คือเป็นเพียงสักว่าสังขารที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย อย่างนั้นก็ได้ผลอย่างนั้น อย่างนี้ก็ได้ผลอย่างนี้ เหมือนกันไม่เอาทั้งสองอย่าง อย่างนี้มันเป็นเรื่องของพระอรหันต์ แต่เดี๋ยวนี้มันเรื่องของพวกเราที่ยังสู้รบกันอยู่กับความทุกข์ มันก็ต้องเอาอย่างชนิดที่จะดับทุกข์นี้อย่างถูกนี้ไปก่อน ก็จะละอย่างผิดเสีย
การที่จะกระโดดพรวดเดียวข้ามไปเหนือผิดเหนือถูกทั้งหมดนั้นมันยาก มันยากเพราะมันไม่รู้จักในเรื่องถูก คนเราถ้ายังไม่รู้จักสิ่งใดมันก็จะรู้จักสิ่งนั้นไม่ได้ จะเบื่อสิ่งนั้นไม่ได้ และมันต้องเคยถูกเสียก่อน เคยถูก เคยดี เคยมีความสุขเสียก่อน แล้วจนกระทั่งรู้ว่า เอ้า,มันก็ไม่มีความหมายอะไร สู้ว่าง ว่างหรือว่าพ้นไปเสียจากนั้นให้ได้มันจึงจะไปได้ เดี๋ยวนี้เรียกว่าอยู่ในระยะที่จะทำที่พึ่งให้แก่ตนไปก่อน จนกว่าจะไม่ต้องการที่พึ่ง เดี๋ยวนี้มันยังต้องการที่พึ่ง สร้างสิ่งที่เป็นที่พึ่งขึ้นมาด้วยความระมัดระวังอยู่เรื่อยไปแหละ จนกว่ามันจะชินเป็นนิสัยไม่เปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นการปฏิบัติเพื่อไม่เกิดกิเลสหรือเพื่อละกิเลสอะไรก็ตามนี้จะต้องทำมาก ทำมากทำติดต่อกันแล้วก็ทำมาก เดี๋ยวนี้เราไม่ได้ทำมาก ไม่ได้ทำติดต่อกัน
เอาล่ะ,ทีนี้เกี่ยวกับการปฏิบัติ เรามีข้อเท็จจริงหรือที่เรียกว่าข้อมูลอะไรก็ตามใจนี่ ที่เราเข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจนสรุปความจากที่พูดมากแล้วนี้ว่า ขันธ์ที่บริสุทธิ์นี้ คือไม่มีกิเลสนี้ มันจะกำจัดหรือป้องกันขันธ์ที่มีกิเลสไม่ให้เกิดทุกข์ขึ้นมา ฉะนั้นเราก็ต้องเป็นอยู่ชนิดที่มันจะมีขันธ์ที่บริสุทธิ์คือไม่เกิดกิเลสอยู่เรื่อย มีแต่ขันธ์ที่บริสุทธิ์ไม่เกิดอุปาทานขันธ์ ฉะนั้นต้องตั้งหน้าตั้งตาระมัดระวังเต็มที่ตลอดเวลาที่จะไม่เผลอ พอเผลอเมื่อไหร่ก็เกิดอุปาทานขันธ์เมื่อนั้น ถ้าไม่เผลอมันก็ยังเป็นขันธ์ที่ยังบริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลานั้น เราจะเรียกชื่อกันใหม่ว่าขันธ์ที่เป็นกุศล คือขันธ์ที่มีสติปัญญาหรือบุคคลก็ได้ โดยสมมติว่าบุคคลที่มีสติปัญญาอยู่เรื่อย อย่าไปเป็นขันธ์ที่เป็นอกุศลหรือเป็นบุคคลที่ไม่มีสติปัญญา
ความเป็นคนของเรานี้มันเป็นอย่างที่เรียกว่าเกิดดับเกิดดับอยู่เรื่อยแหละ เพราะจิตมันเปลี่ยนเรื่องนั้นไปสู่เรื่องนี้ เรื่องนี้ไปสู่เรื่องโน้น เพราะฉะนั้นความเป็นคนของเรามันก็เปลี่ยนอยู่เรื่อย เดี๋ยวเราเป็นคนโง่ เดี๋ยวเราเป็นคนฉลาด พอเป็นคนโง่ก็เรียกว่าเบญจขันธ์ที่เป็นอกุศล พอเป็นคนฉลาดก็เป็นเบญจขันธ์ที่เป็นกุศล นี่ฉลาดตามแบบธรรมะ มันเป็นอยู่อย่างนี้ แต่เดี๋ยวนี้ดูว่าวันหนึ่งคืนหนึ่งมันจะมากไปด้วยอกุศล เป็นคนบาปคนโง่เป็นเบญจขันธ์ที่เป็นอกุศล มันจะมีมาก เพราะอยู่เฉยๆ มันก็คิดนึกได้ คิดนึกไปในทางยึดมั่นถือมั่นนั่นนี่ แม้แต่อิจฉาริษยาคนนั้นคนนี้ ดูหมิ่นคนนั้นคนนี้ กลัดกลุ้มอยู่ในใจนี่ตลอดชั่วโมง ตลอดหลายๆ ชั่วโมงตลอดวัน นั้นเป็นคนบาปเป็นเบญจขันธ์ที่เป็นอกุศล เป็นอกุศลขันธ์อยู่เรื่อย อย่างนี้มันไม่ไหว มันต้องจัดไปในรูปที่ว่ามันจะเป็นกุศลขันธ์อยู่เรื่อย ความรู้เรามีแล้ว แต่นี่เรามันขาดสติสัมปชัญญะที่จะระวัง ฉะนั้นก็ไปเพิ่มสติสัมปชัญญะที่จะระวังให้มันเป็นคนที่ไม่บาปเป็นคนดีมีบุญ หรือเรียกว่าให้ขันธ์นี้มันเป็นกุศลขันธ์อยู่เรื่อย อกุศลขันธ์มันก็เกิดไม่ได้ หรือสมมติว่าเกิดอยู่ สติสัมปชัญญะมันมา มันก็ฆ่าหรือทำลายขันธ์อกุศลนั้นได้ มันมีขันธ์ที่เป็นกุศลตั้งอยู่แทนนี่ มันต้องมีหลักการอย่างนี้
ทีนี้ที่ว่าระวังๆ นั้น ระวังเมื่อไหร่ ระวังเมื่อมีการกระทบทางอายตนะ ภาษาธรรมะพูดอย่างนี้คำเดียวพอ ระวังเมื่อมีการกระทบทางอายตนะ คือตากระทบรูป หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัสทางผิวหนัง จิตกระทบความรู้สึกคิดนึกที่มันเกิดขึ้น นี่เรียกว่ากระทบทางอายตนะทั้ง ๖ ระวังเมื่อนั้นแหละ มันก็เหมือนที่พูดมาแล้ว พอถ้าไม่ได้มีความรู้สึกตัวไม่ได้ระวังอะไร มันมักจะไปตามธรรมชาติของกิเลสยึดมั่นถือมั่น เพราะเรามันเคยชินมาอย่างนั้นตั้งแต่อ้อนแต่ออก พอมาเดี๋ยวนี้เราจะเกิดเปลี่ยนกระแสของมัน ก็มีความลำบากในการที่จะมีสติสัมปชัญญะระวังเมื่อเกิดการกระทบทางอายตนะ
เราควรจะมองให้เห็นว่าการกระทบทางอายตนะนี้เป็นสิ่งที่ต้องมีตลอดเวลา เป็นประจำเป็นธรรมชาติของสัตว์ที่จะต้องมีการกระทบทางอายตนะ มันช่วยไม่ได้ในข้อนี้ คือตามันต้องเห็นรูปอยู่เรื่อย หูมันต้องฟังเสียงอยู่เรื่อย จมูกก็ต้องได้กลิ่น ทีนี้ก็ระวังว่าเมื่อมันได้อะไรขึ้นมานี้ ก็อย่าให้มันเกิดการปรุงแต่งในจิตใจไหลไปในทางที่มันจะเกิดกิเลสตัณหาอุปาทาน ให้รู้สึกตัวอยู่เสมอว่ามันเป็นอะไรจะต้องทำอย่างไร นี้มันจะต้องเคยเป็นทุกข์เพราะเรื่องนั้นมาพอสมควรแล้ว มันกลัวมันเข็ดหลาบหรือมันละอาย มันก็ถอยหลังได้ระวังได้ ถ้ามันไม่เคยรู้จักสิ่งเหล่านี้เสียเลย มันไม่รู้จักกลัวไม่รู้จักละอายไม่รู้จักห้ามกันอะไรได้
ทีนี้ถ้าเราไม่เคยพิจารณากันโดยละเอียด ก็ต้องพิจารณากันเสียโดยละเอียด ว่าพอตาเห็นรูปแล้วเผลอสติก็จะเกิดผัสสะ เกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดภพเกิดชาติแล้วเป็นทุกข์ แต่ว่าส่วนมากนั้นมันเห็นก็สักว่าเห็น เพราะว่าเราไม่มีอะไรมายั่วให้มันมากกว่านั้น เช่นเหลียวไปทางนี้ก็เห็น เห็นป่าเห็นอะไรนี้ ความคิดมันก็ไม่ได้ไปยึดมั่นถือมั่น แต่ถ้าเห็นสิ่งที่เรารักเราสนใจหรือว่าเราโกรธเราเกลียดหรือเห็นหน้าคนที่เราไม่ชอบอย่างนี้ มันก็ยากแล้ว ความคิดมันก็เดินไปทางตัณหาอุปาทานเป็นทุกข์ ฉะนั้นเราชอบอะไรเราก็ต้องระวังสิ่งนั้น เราเคยชินที่จะเกิดกิเลสกับสิ่งใดเราก็ต้องระวังสิ่งนั้น เพราะว่าถึงอย่างไรเสียก็ยังคงมีหลักตายตัวว่ากิเลสมันเกิดเพราะการกระทบทางอายตนะ ไม่มีเกิดจากทางอื่น เพราะกิเลสเกิด นั่นแหละคือเบญจขันธ์เกิด เบญจขันธ์ที่มีอุปาทานเกิด
ทีนี้ถ้าว่ากิเลสไม่เกิด การกระทบทางอายตนะนั้นก็ทำให้เกิดเบญจขันธ์ล้วนๆ จะเรียกว่าบริสุทธิ์ก็ได้ แต่ควรจะใช้คำว่าล้วนๆ คำนี้มันแปลกก็ควรจะจำกันไว้ คำว่า Pure หรือคำว่าบริสุทธิ์ในภาษาบาลี มันแปลว่าล้วนๆ ไม่มีอะไรเจือ แต่เรามาให้ความหมายมากเกินไปว่าบริสุทธิ์ ว่าประเสริฐ ว่าวิเศษอะไรทำนองนั้น ถ้ามันจะประเสริฐจะวิเศษ ก็มันประเสริฐวิเศษตรงที่มันไม่มีความทุกข์ ที่จริงคำๆ นี้คำว่าบริสุทธิ์ในภาษาไทยหรือภาษาบาลีหรือคำว่า Pure ในภาษาต่างประเทศนั้นมันก็หมายความว่าล้วนๆ ไม่มีอะไรเจือ เบญจขันธ์ที่ล้วนๆ ไม่มีกิเลสเจือก็เรียกว่าเบญจขันธ์บริสุทธิ์หรือเบญจขันธ์ล้วน เช่นเราทอดสายตาไปอย่างนี้เห็นภาพนั้นๆ แล้วมันก็มีความรู้สึกว่าเป็นอย่างนั้นๆ แล้วมันก็เลิกกัน มันก็เกิดสัญญาเกิดความสบายตาเกิดอะไรได้เท่ากัน แต่มันไม่เลยไปถึงเกิดกิเลสตัณหาอุปาทาน มันจึงมีอยู่เป็น ๒ ประเภทคือว่าประเภทที่ว่ามันประจวบเหมาะ มันเลยไปปรุงเป็นตัณหาอุปาทาน ประเภทที่มันไม่เหมาะสมมันยังไม่ครบถ้วน มันก็เห็นเฉยๆ ได้ยินเสียงนกร้องเพลงเพราะ แล้วมันก็เลิกกันอย่างนี้ รู้สึกว่าเพราะแล้วอยากรู้ว่าเสียงนกอะไรด้วย ความคิดก็มีบ้าง แต่มันไม่ไปในรูปของกิเลสตัณหาอุปาทาน อย่างวัดเรานี้จะมีนกร้องอยู่เรื่อย เราก็ได้ยินอยู่เรื่อย แต่ไม่เคยถึงกับไปเป็นตัณหาอุปาทาน มันยังไม่ครบ มันไม่ครบถ้วนที่จะให้เกิดกิเลสตัณหาอุปาทาน เว้นไว้แต่บางคราวมันเกิดรำคาญขึ้นมา หนวกหูบ้าง หรือบางคราวมันเกิดชอบรักขึ้นมาอยากจะเลี้ยงอยากจะเอามาใส่กรงขังบ้างอะไรบ้าง นี่มันจึงจะเป็นประเภทที่ว่าตัณหาอุปาทาน
นี้เรื่องทางตาเป็นอย่างไรทางหูก็เป็นอย่างนั้น ทางจมูก ลิ้น กายก็เป็นอย่างนั้น ยิ่งระวังอย่าให้เกิดเป็นตัวกูของกูขึ้นมา อย่าให้เกิดเบญจขันธ์ประเภทมีอุปาทานขึ้นมาเมื่อมีการกระทบทางอายตนะ นี้ก็คือเวลาที่ต้องระวังเวลาหนึ่ง เรียกว่าเวลาที่จะมีการกระทบทางอายตนะนั้นต้องระวัง ทีนี้อีกเวลาหนึ่งก็คือเวลาที่เมื่อเราจะคิดจะพูดจะทำ ตามธรรมดาเราจะต้องมีเรื่องที่จะต้องคิด แล้วมีเรื่องที่จะต้องพูดด้วยปาก แล้วก็มีเรื่องที่จะต้องทำด้วยมือด้วยเท้า นี้ก็เป็นเวลาที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งอีกประเภทหนึ่งที่จะต้องระวัง อย่าให้เผลอสติสัมปชัญญะได้ นี่เราจะทำไปตามสติปัญญาสัมปชัญญะควบคุมอยู่เสมอ อย่าทำไปตามอำนาจของกิเลส ก็ป้องกันความเกิดทุกข์ได้ มันก็เป็นสิ่งที่ต่อเนื่องกัน ถ้าเราระวังหรือควบคุมไว้ไม่ได้เมื่อตอนกระทบทางอายตนะ เราก็ยังมีโอกาสแก้ตัวในการที่จะระวังในเมื่อจะทำหรือจะพูด หรือจะคิดนี้อีกทีหนึ่ง หมายความว่าเมื่อเราเห็นอะไรแล้วเกิดอุปาทานพอใจรักใคร่แล้วนี่ แล้วมันจะมีการกระทำ เช่นจะไปยิงมันหรือว่าจะไปจับมัน หรือว่าจะพูดอะไรออกไปตามเรื่องที่มันมีคนมายั่วมาอะไรอย่างนี้ หรือว่าจะคิดนึกอยู่ในใจเฉยๆ ก็เหมือนกัน จะต้องมีสติสัมปชัญญะก่อนแต่ที่จะคิด ก่อนแต่ที่จะพูดออกมา ก่อนแต่ที่จะทำอะไรลงไป ถ้าทำได้อย่างนี้ ตัวกูของกูก็ไม่เกิดเหมือนกัน คือมันหยุดอยู่ได้ตอนที่จะพูดจะคิดจะทำนี่ มันหยุดพูดคิดทำไปด้วยกิเลสด้วยอุปาทานได้
นี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องฝึกหัดให้เป็นนิสัย ฝึกหัดรู้สึกสติสัมปชัญญะเสียก่อนแต่ที่จะทำจะพูดจะคิดนี่ให้เป็นนิสัย จะมีประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือมีประโยชน์ฝ่ายที่จะป้องกันไม่ให้ทุกข์เกิดหรือดับทุกข์นี้อย่างหนึ่ง แล้วก็ฝ่ายที่ทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองแต่ในทางดีทางงามนี้อีกฝ่ายหนึ่งด้วย อีกฝ่ายหนึ่งมันจะกันไม่ให้ชั่ว ไม่ให้บาป ไม่ให้ผิด ไม่ให้เสื่อม ไม่ให้ทรุดโทรม อีกทางหนึ่งมันจะทำให้เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า เราหัดแต่รู้สึกมีสติสัมปชัญญะก่อนเคลื่อนไหวดีกว่า ใช้คำว่าเคลื่อนไหว ก่อนที่จะเคลื่อนไหวอะไรออกไปให้มีสติสัมปชัญญะรู้ก่อนว่ากำลังจะทำอะไรหรือมันคืออะไร เคลื่อนไหวทางกายก็ได้ เคลื่อนไหวทางวาจาก็ได้ เคลื่อนไหวทางจิตก็ได้ ก่อนแต่จะเคลื่อนไหวทางใดก็ตามให้มีสติสัมปชัญญะรู้ก่อนว่าอะไร อะไรอย่างไร จะเคลื่อนไหวอย่างไร จะทำอย่างไร นี่มันจะป้องกันความทุกข์ด้วย จะทำให้เกิดความสุขความเจริญด้วย กระทั่งเรื่องปลีกย่อยความสุขความเจริญที่เป็นปลีกย่อยที่สุด ถ้าเราหัดอยู่อย่างนี้ก่อนแต่จะเคลื่อนไหวเราจะมีสติสัมปชัญญะก่อนแล้วเราจะไม่ลืมลูกกุญแจไว้ในห้องแล้วงับประตูห้อง ซึ่งแสดงความโง่ความลำบากออกมาให้คนอื่นเห็น ก่อนแต่ที่มือจะผลักประตูนี้จะต้องรู้ว่าจะทำอะไร เอ้า,หรือจะปิดประตูมีสติสัมปชัญญะรู้ว่ามันลูกกุญแจอยู่ข้างในหรือเปล่านี่ มันก็รู้หมดเลย มันก็ไม่ทำลักษณะที่เรียกว่าขาดสตินั้นได้ แม้ที่สุดแต่ว่าจะตื่นนอนจะพลิกตัวนี้ต้องรู้ว่าเราตื่นแล้วเราจะพลิกตัวแล้ว อะไรอยู่ทางไหน ทิศไหนอยู่ทางไหนจึงจะลุกขึ้นมานี้ มันก็ปลอดภัย มันก็ไม่ไปทับเอาอะไรหรือว่ามันไม่พลัดตกไปจากที่นอนเป็นต้น
นี่คือประโยชน์อานิสงส์ของสิ่งที่เรียกว่าสติสัมปชัญญะในส่วนปลีกย่อยในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับธรรมะดับทุกข์อะไรนัก มันก็ยังมีประโยชน์มากถึงอย่างนี้ ทีนี้ประโยชน์โดยตรงของมันคือเพื่อจะดับทุกข์เพื่อจะไม่เกิดตัณหาอุปาทานต่อจากเวทนาและไม่มีความทุกข์ มันประโยชน์สูงสุดคือไม่เกิดทุกข์ สำหรับความเจริญนั้นเขาถือเป็นเรื่องเล็กน้อย ต้องการความไม่ทุกข์อย่างเดียว นี่เราจะต้องระวังเมื่อมีการกระทบทางอายตนะด้วย ระวังเมื่อจะมีการเคลื่อนไหวทางกายทางวาจาทางจิตด้วย ทีนี้ควรจะถือเป็นหลักว่าเมื่ออุปาทานไม่เกิด คือกิเลสไม่เกิด ก็ควรจะถือว่ามันก็ถูกป้องกันและถูกกำจัดอยู่ตลอดเวลา การที่เรามีการระวังดีทั้งสองเวลา คือทั้งเมื่อกระทบทางอายตนะหรือเมื่อจะเคลื่อนไหวกายวาจาใจนี้ กิเลสเกิดไม่ได้ ก็ถือว่าเป็นการกำจัดกิเลสป้องกันกิเลสอยู่ในตัวมันเองตลอดเวลา
นี้ก็คือกิริยาอาการที่จะเรียกได้ว่าขันธ์มันฆ่าขันธ์อยู่ตลอดเวลา อุปาทานขันธ์ถูกฆ่าโดยบริสุทธิขันธ์อยู่ตลอดเวลา บริสุทธิขันธ์มันมีสติปัญญา อุปาทานขันธ์มันมีกิเลสตัณหา อยู่อย่างนี้ก็คือตนฆ่าตนหรือว่าขันธ์ฆ่าขันธ์อยู่ตลอดเวลา และมันเป็นไปได้ ไม่ตาย อย่าไปคิดว่าถ้าไม่มีตัวกูไม่มีของกูเกิดแล้วเราทำอะไรไม่ได้ เราจะต้องตาย ตัวกูของกูเป็นคำสมมติสำหรับกิเลสตัณหาต่างหาก มันไม่มีเสียก็ดีเหมือนกัน ไม่ต้องตาย ตัวกูตายไม่ได้หมายความว่าชีวิตนี้จะต้องตายด้วย แล้วไม่ต้องมีชีวิตอยู่ด้วยตัวกูด้วยของกูด้วยอุปาทานก็ได้ เหมือนต้นไม้เหมือนนี้ก็ยังได้เหมือนสัตว์เดรัจฉานก็ยังได้ นี้คนเราก็อยู่อย่างนั้นแหละ แต่ให้ดีกว่านั้น ให้มันทำประโยชน์อะไรได้มากตามความหมายของมนุษย์ด้วย แล้วก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ด้วย
ทีนี้จะพูดในรูปของแบบฝึกหัดสั้นๆ โดยตรง เป็นแบบฝึกหัดขึ้นมาสัก ๓ แบบ หรือ ๓ ข้อ
ข้อที่ ๑ ไม่ให้เกิดความรู้สึกตัวกูของกูนี้ ไม่ให้เกิดอุปาทานตัวกูของกูนี้ ทุกคราวที่มีการกระทบทางอายตนะ นี้ข้อหนึ่ง บทเรียนคือจะมีสติสัมปชัญญะรู้สึกตัวป้องกันไม่ให้เกิดอุปาทานเป็นตัวกูเป็นของกูขึ้นทุกคราวที่มีการกระทบทางอายตนะ หมายความว่าเมื่อมีผัสสะเมื่อมีเวทนาทางใดทางหนึ่งก็ตาม นี่ข้อแรกข้อที่ ๑ ตลอดกาลเลย ตลอดวันตลอดคืนไปเลย ทำจนชินจนมันทำได้ง่ายๆ ครั้งแรกๆ มันคงจะยุ่งยากบ้าง แต่พอทำไปๆ มันก็เข้ารูปเข้ารอยก็ทำไปได้ เหมือนที่เราเดินไม่หกล้ม เมื่อเด็กๆ เราเดินหกล้ม ต่อมาเราก็ไม่หกล้ม
ทีนี้บทเรียนที่ ๒ ก็หัดพูด พูดคำพูดนี่ พูดภาษาคนที่มีตัวกูของกูโดยที่จิตไม่มีตัวกูของกู ภาษาที่เราต้องพูดในโลกนี้นะ ในประเทศเราในประเทศอะไรก็ตาม เป็นภาษาตัวกูของกูทั้งนั้น ทีนี้เราต้องหัดพูดภาษาตัวกูของกูชนิดที่มีสติสัมปชัญญะอยู่ภายในเพื่อไม่ให้มันมีความรู้สึกชนิดที่เป็นตัวกูของกู อยู่ได้เหมือนจากบทเรียนข้อที่ ๑ บทเรียนข้อที่ ๑ เราระวังจิตไม่ให้มีตัวกูของกูอยู่ตลอดเวลานี่ พอบทเรียนที่ ๒ เมื่อเราจะต้องพูดนี่ เราต้องพูดด้วยภาษาของมนุษย์ธรรมดาที่มีตัวกูของกูนี่ เราอย่าเผลอตอนนี้อีกทีหนึ่ง เดี๋ยวพอปากไปว่าตัวกูว่าของกูอะไรเข้า จิตมันเปลี่ยนไปในรูปเป็นตัวกูของกู อย่างนี้มันก็เสีย เสียหมด คือข้อที่ ๑ มันก็พลอยเสียไปด้วย
ฉะนั้นจึงมีหลักว่า หัดพูดภาษามนุษย์ธรรมดาที่เต็มไปด้วยความหมายแห่งตัวตนของตนตัวกูของกูนี่ พูดกับเขาได้แต่จิตไม่เผลอ จิตยังคงสำนึกความไม่มีตัวกูของกูอยู่เสมอ แล้วเราก็พูดถูกต้องด้วย ไม่ต้องเป็นบ้าบอ ไม่ต้องพูดผิดๆ ถูกๆ อะไรหรอก พูดถูกเหมือนที่เขาพูดกันแหละ แต่ในใจของเราไม่ได้ยึดถือความหมายของคำพูดนั้นเหมือนกับที่เขายึดถือกัน เขาจะต้องพูดว่าเงินของกู ทองของกู อะไรของกู บางเวลาเราก็ต้องพูดว่าเงินของเรา ทองของเรา วัดของเรา จีวรของเรา บาตรของเรา อะไรๆ ของเรา เหมือนกับชาวบ้านที่เขามีความยึดถือพูด ถ้าเราพูดภาษานั้นแล้วจิตมันยึดถือเหมือนที่เขาพูด ก็เรียกว่าเราใช้ไม่ได้ คือเราเป็นชาวบ้านหรือเราเป็นคนธรรมดาหรือเป็นชาวบ้าน ไม่ใช่นักศึกษา
ฉะนั้นข้อที่ ๑ ก็หัดระวังไม่ให้เกิดตัวกูของกูเมื่อเราพูดภาษาที่เป็นตัวกูของกู ให้เราใช้ภาษานี้ได้อย่างถูกต้องเหมือนเขาสำเร็จประโยชน์ในการที่จะสังคมกันกับคนทั้งโลกได้ แต่ในจิตไม่ต้องเกิดตัวกูของกูนี่ บทเรียนที่ ๒ คือพูดภาษาคนได้ถูกต้องโดยจิตไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น และพูดได้เรียบร้อยถูกต้อง เหมือนพระพุทธเจ้านี่ อ้างตัวอย่างเสียสูงลิบเลย พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าตถาคตก็พูดด้วยโวหารที่เขาพูดกันนั่นแหละ แต่จิตไม่ได้ยึดถือความหมายนั้นๆ เรื่องนี้จะพูดโดยละเอียดวันหลังดีกว่ามันยืดยาว
ทีนี้บทเรียนที่ ๓ หลังจากที่พูดแล้วก็จะมีสติสัมปชัญญะระวังไม่ให้จิตมันกลับวกไปหาความยึดถือความหมายที่ยึดถือ นี้มันเนื่องกันกับบทเรียนที่ ๒ ที่ว่าเราหัดพูดให้มันถูกต้อง ทีนี้พูดไปเสร็จแล้ว บางทีพูดไปแล้วมันเผลอไปอีก มันกลับไปยึดถือคำพูดนั้นอย่างที่มีความหมายเป็นยึดถือขึ้นมาอีก นี้ยังต้องระวังอีกทีหนึ่ง มันเนื่องกันทั้ง ๓ ชั้นแหละ ทั้ง ๓ บทแหละ บทที่ ๑ ตามปกติ ตลอดวันตลอดคืนจะระวังให้มีสติสัมปชัญญะไม่ให้เกิดตัวกูของกู ทีนี้บทที่ ๒ ก็หัดพูดหรือหัดระวังในการพูด พูดภาษาตัวกูของกูโดยไม่ต้องเกิดความหมายเป็นตัวกูของกู พูดกับชาวบ้านพูดกับใครทุกคนในโลกนี้ได้ ทีนี้บทที่ ๓ ระวังอันสุดท้าย อย่างที่เรียกว่าถือท้ายไว้สุดท้ายเลย พูดแต่ตัวกูของกูมากเข้าๆ เดี๋ยวเผลอไปมีตัวกูเข้าจริง นี่ต้องระวังอีกทีหนึ่ง ระวังจิตอย่าให้วกกลับไปยึดถือความหมายของคำพูดนั้น ทั้งนี้เพราะว่าจิตนี้มันเผลอ มันคอยแต่จะเผลอเพราะมันมีความเคยชินในการเผลอเป็นนิสัยทั้ง ๓ เวลานั้น
ฉะนั้นเราก็ต้องระมัดระวังให้ดี ต้องเก่งทั้ง ๓ เวลา ระวังไม่ให้เกิดตัวกูของกู ระวังเมื่อพูดด้วยภาษาพูดของคนที่เขามีตัวกูของกู ระวังเมื่อพูดเสร็จแล้วอย่าเผลอลืมตัวไปเกิดความหมายตามนั้นในตอนหลังหรือว่าหลังจากนั้นอีก ก็แปลว่าระวังทั้งข้างหน้าและระวังทั้งข้างหลัง ระวังทั้งตรงกลางระวังกันหมดเลย มันก็มีส่วนที่จะปลอดภัยได้ผลดี ด้วยการทำอยู่อย่างนี้แหละจะมีอาการที่เรียกว่าตนฆ่าตน ขันธ์ฆ่าขันธ์อะไรอยู่เรื่อยไปในตัวมันเองโดยอัตโนมัติ เราทำแต่เพียงอย่างนี้ ทุกอย่างมันจะทำของมันเองหมดในลักษณะที่เรียกว่าขันธ์ฆ่าขันธ์ หรือว่ากุศลมันฆ่าอกุศลอยู่ตลอดเวลา อกุศลถูกฆ่าอยู่ตลอดเวลา หรือว่าตนที่ควรฆ่าถูกฆ่าอยู่ตลอดเวลา ขันธ์ที่เป็นทุกข์จะถูกฆ่าถูกกำจัดถูกป้องกันอยู่ตลอดเวลา นี่ทำได้อย่างนี้ ก็โดยที่เรามั่นใจว่าไม่มีความรู้สึกที่เป็นตัวกูของกูนั่นแหละ เป็นสุขไม่มีทุกข์และเรารอดชีวิตอยู่ได้ ทำความเจริญหรือว่าทำประโยชน์ทุกๆ อย่างได้โดยไม่ต้องมีตัวกูของกู ถ้าเป็นพุทธบริษัทจะต้องมองเห็นอย่างนี้ แล้วก็อย่าไปหลงเชื่อนักจิตวิทยาโง่ๆ ว่าคนเราต้องอยู่ด้วยสัญชาตญาณแห่งการยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวกูของกู ถูกแล้ว,ถ้าอยู่ด้วยสัญชาตญาณอย่างนั้น ต้องตกนรกทั้งเป็น จะมีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา ทีนี้เราจะเลื่อนขึ้นมาถึงบุคคลประเภทที่เหนือธรรมดาคือไม่มีความทุกข์ เราเลยจะต้องย้อนกลับไปฆ่าหรือทำลายหรือป้องกันหรือบรรเทาสิ่งที่เรียกว่าสัญชาตญาณแห่งตัวตนนั่นแหละเรื่อยๆ ไปจนกว่ามันจะหมด
นี้มันเป็นเรื่องหลักธรรมะในพระพุทธศาสนาที่มันเป็นไปถึงจุดหมายปลายทาง เพราะฉะนั้นมันจะต้องหรือมันจำเป็นจะต้องขัดขวางกันกับจิตวิทยาครึ่งๆ ท่อนๆ ของนักจิตวิทยาแห่งโลกสมัยปัจจุบันเป็นธรรมดา ฉะนั้นเราอย่าเป็นคนที่ขี้ขลาดหรือว่ายึดมั่นเชื่อถืออะไรมันโดยที่ไม่เป็นอิสระแก่เหตุผลแก่ความคิดนึก กระทั่งแก่คำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วก็อย่าลืมว่าเคยเตือนหลายครั้งหลายหนแล้วว่าพระพุทธภาษิตนั้นมีความหมายที่ดิ้นได้และกำกวม พระพุทธเจ้าตรัสทั้งภาษามีตัวตนและภาษาที่ไม่มีตัวตน หรือตรัสทั้งภาษาโลกอย่างชาวบ้านพูดและตรัสทั้งภาษาพระอริยเจ้าพูด แล้วแต่โอกาสแล้วแต่กรณี นี้มันก็ทำความยุ่งยากแก่เราแล้วที่จะตีความหมายหรือจะถือเอาความหมายที่ถูกต้องว่าคราวไหนพูดภาษาโลกคราวไหนพูดภาษาธรรม เช่นว่าเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตนอย่างนี้ ท่านพูดภาษาอะไรกันแน่ พูดภาษาโลกหรือว่าพูดภาษาธรรม ทีนี้เรามันไม่อาจจะรู้ให้มันเด็ดขาดลงไปได้ เราก็หาทางใหม่หาทางที่จะรู้ว่า รู้ชนิดไหนเป็นประโยชน์คือดับทุกข์ได้ เราจะรู้อย่างนั้น
นี้ก็ของเตือนอีก เตือนแล้วเตือนอีก เตือนแล้วเตือนอีก กระทั่งเตือนอีกที่นี่เดี๋ยวนี้ว่า ความถูกต้องหรือความจริงในพุทธศาสนานั้นถือว่า เมื่อมันดับทุกข์ได้ เมื่อมันดับทุกข์ได้จริงถือว่าเป็นความถูกต้องหรือเป็นความจริง ส่วนนักปรัชญาเขาจะถือกันอย่างอื่น เขามีเหตุผลกันอย่างอื่น นี้เรามันเป็นเรื่องศาสนาเป็นเรื่องศีลธรรม มันจะจริงหรือไม่จริงในส่วนลึกกว่านั้นก็ไม่ต้องไปรู้มัน จริงเท่าที่มันดับทุกข์ได้ก็พอแล้ว ที่ถือว่าถูกต้อง นี้เป็นความดี นี้เป็นความถูกต้อง ก็ถือที่มันดับทุกข์ได้นั่นแหละเป็นความดีหรือเป็นความถูกต้อง ฉะนั้นเราจึงไม่ลำบากในการที่จะวินิจฉัยลงไปว่านี้จะเรียกว่าถูกหรือไม่ จะเรียกว่าดีหรือไม่ ไม่เวียนหัวเหมือนพวกนักปรัชญาที่บัญญัติกันมากมายหลายพวกหลายสาขาจนตีกันเองค้านกันเองยุ่งไปหมดจนตกลงกันไม่ได้ว่าอะไรเรียกว่าดีอะไรเรียกว่าถูก
ทีนี้เราเป็นพุทธบริษัทอยู่ อย่างน้อยเราก็ต้องมีหลักเกณฑ์ของพุทธบริษัทอยู่ในส่วนนี้ เช่นว่ากำจัดป้องกัน ความรู้สึกประเภทตัวกูของกูเสีย แล้วเราก็ไม่มีความทุกข์จริงๆ ด้วย นี้คือความถูกต้อง นี้คือความจริง นี้คือความดีที่สุดของมนุษย์ มันไม่มีปัญหาแล้ว เอาล่ะ,เป็นอันว่าวันนี้เราพูดถึงเรื่องว่าทำอย่างไรมันจึงจะมีอาการที่เรียกว่าตนฆ่าตนอยู่ตลอดเวลา เอาล่ะ,พอกันที/