แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาฏิโมกข์ของพวกเราที่นี่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกูในแง่ใดแง่หนึ่งอีกตามเคย ในวันนี้จะได้พูดโดยหัวข้อเดียวกันกับสองครั้งที่แล้วมา ในครั้งแรกมันเริ่มด้วยคำว่าตนพึ่งตน โดยการที่ตนที่มันประกอบอยู่ด้วยปัญญานั้นมันก็ฆ่าตนที่โง่เสีย เมื่อครั้งถัดมาเราพูดโดยหัวข้อว่าขันธ์,ขันธ์ ๕ พึ่งขันธ์,ขันธ์พึ่งขันธ์ หรือว่าขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยปัญญานี้มันก็กำจัดขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน ทีนี้เราพูดโดยสมมติโวหารว่าขันธ์มันพึ่งขันธ์ ขันธ์พึ่งขันธ์หรือว่าขันธ์มันฆ่าขันธ์ ถ้ามันมีการที่จะต้องฆ่ากิเลส มันก็กลายเป็นเรื่องขันธ์ฆ่าขันธ์ ถ้าหมายถึงการพึ่งพาอาศัยมันกลายเป็นขันธ์พึ่งขันธ์ พูดกันโดยนัยนี้ให้เป็นที่เข้าใจเกี่ยวกับโวหารสำหรับพูดที่มันมีอยู่ต่างๆ
ทีนี้วันนี้เราจะพูดโดยหัวข้อว่าปฏิจจสมุปปันนธรรมมันก็พึ่งปฏิจจสมุปปันนธรรม ถ้าพูดในรูปของการฆ่าก็ต้องว่าปฏิจจสมุปปันนธรรมนี้มันก็ฆ่าปฏิจจสมุปปันนธรรม เราจะต้องเข้าใจคำว่าปฏิจจสมุปปันนธรรมโดยชัดเจนด้วย เกี่ยวกับเรื่องนี้อยากจะขอทบทวนหรือว่าทำความเข้าใจซ้ำๆ กันอยู่เสมอว่ามันเป็นเรื่องสำหรับผู้ที่ต้องการจะกำจัดความยึดมั่นถือมั่นหรือทำลายความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน หมายความว่าเป็นผู้ที่เข้าใจในชั้นต้นหรือว่ายอมเชื่อแล้วว่าสิ่งเหล่านี้มันมิใช่ตน แต่เราก็ละมันไม่ได้ มันยังเห็นเป็นตนอยู่เรื่อย ฉะนั้นเรื่องนี้พูดกับคนชนิดนี้ พูดกับคนที่ต่ำกว่านี้ไม่ได้
เอาล่ะ,เราลองดูกันอีกทีหนึ่งก็ได้ สำหรับคนทั้งหลายในโลกนี้มันมีคนอยู่พอที่จะแบ่งได้เป็น ๓ พวก ๓ ชั้น คนพวกที่ ๑ คือระดับต่ำสุดทั่วไป คนพวกนี้คือพวกที่รู้สึกว่ามีตัวตนเต็มที่ ไม่อาจจะคิดหรือจะเชื่อว่าไม่มีตัวตน ได้แก่คนธรรมดาทั่วไป ตั้งแต่เกิดออกมามันก็มีความรู้สึกว่าตัวตนและก็แรงขึ้นทุกทีๆ จนกระทั่งตายไปก็มี ไม่เคยละเลยก็มี คนพวกนี้ก็ต้องได้รับคำสั่งสอนชนิดที่ว่ามันเป็นตัวเป็นตน เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสพระพุทธภาษิตไว้ประเภทหนึ่งซึ่งมีมากเหมือนกัน เป็นพุทธภาษิตที่ว่ามีตัวตน มีพึ่งตน มีทำกรรมเพื่อประโยชน์แก่ตนแล้วก็ติดตนไปในชาติหน้านู้น แล้วก็ปลดออกหมดกันเท่านั้น เรื่องมันหมดเท่านั้นสำหรับคนประเภทต่ำที่สุด และก็มีมากด้วย อุบาสกอุบาสิกาส่วนมากก็เป็นอย่างนี้ ภิกษุสามเณรส่วนมากก็ยังเป็นอย่างนี้ เพราะไม่สนใจจะรู้ให้มากไปกว่านี้ ก็แปลว่าพวกที่ ๑ นั้นต้องมีตน เพราะเขามันรู้สึกว่ามีตนอยู่เรื่อย ฉะนั้นคำสอนมันก็ต้องให้มีตน พูดอย่างมีตน แล้วก็จบกันเพียงแค่ว่ามันจะดี มันจะได้ดีมีความสุขเท่านั้นเอง
ทีนี้พวกที่ ๒ นี้มันเป็นพวกพิเศษมาก เป็นพวกที่มีจิตใจอยู่ในลักษณะหนึ่งหรือระดับหนึ่ง ซึ่งก็มีตนเหมือนกันแหละ แต่มันสูงขึ้นมาถึงขนาดที่ว่าถ้าได้ฟังคำพูดที่เหมาะสมแล้วก็จะเปลี่ยนหมดทันทีเลยเป็นไม่มีตน ถ้าพระพุทธเจ้าท่านสังเกตเห็นว่าใครมันอยู่ในลักษณะอย่างนี้ ท่านก็จะให้คำสอนชนิดหนึ่งไม่เกี่ยวกับตัวตน ก็เรียกว่าอนุปุพพิกถา ก็จะบอกเรื่องทานเรื่องศีลให้ฟังว่ามันเป็นทางมาแห่งสวรรค์ แล้วก็พูดเรื่องสวรรค์มันมีลักษณะอย่างไร พูดเรื่องสวรรค์ให้เขาเห็นชัด ให้เขาเข้าใจตามที่เขาเข้าใจอยู่แล้วอีกทีหนึ่ง แล้วจึงตรัสเรื่องความเลวของสวรรค์ แล้วจึงตรัสความที่สมควรที่จะหลีกออกมาเสียจากสวรรค์ ทีนี้ถ้าจิตใจของเขาเป็นอย่างนั้น มาตามลำดับอย่างนั้น ก็ตรัสเรื่องอริยสัจทั้งสี่ ทำให้เกิดดวงตาเห็นธรรมที่ว่าสิ่งใดมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา,สิ่งนั้นมีความดับเป็นธรรมดานั้น ก็เลยไม่เชื่อเรื่องตัวตนอีกต่อไป คือจะไม่กลับไปมีความคิดอย่างมีตัวตนอีกต่อไป พวกนี้ก็เป็นพวกหนึ่งเรียกว่าพวกที่อยู่ตรงกลาง คือพร้อมที่จะเปลี่ยนเป็นไม่มีตัวตนในเมื่อได้ฟังคำสอนหรือสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
ทีนี้มันยังมีอีกพวกหนึ่งพวกที่ ๓ ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนเรื่องไม่มีตัวตน,เรื่องอนัตตาไม่มีตัวตน มาพอสมควรแล้ว แต่ก็ยังละไม่ได้ ได้แก่คนธรรมดาสามัญที่ยังไม่เป็นพระอริยเจ้าก็ได้ ที่ศึกษาเล่าเรียนจนมันเกิดความเชื่อน้อมไปในทางว่าไม่มีตัวตนจริงแหละ มันคงจะแน่แหละ แต่ว่ามันไม่มองเห็นชัดหรือไม่ละได้ แม้จะมีคำพูดดีๆ อย่างที่พูดให้พวกที่ ๒ ฟังมาพูดให้ฟังมันก็ยังละไม่ได้อยู่นั่นแหละ มันเปลี่ยนไม่ได้ ก็เลยต้องได้ฟังคำสอนเรื่องอนัตตาๆ นี้ซ้ำๆ ซากๆ กันอยู่ที่นี่ และก็อาจจะได้แก่พวกเราที่นี่ ซึ่งจะต้องพูดเรื่องอนัตตาซ้ำๆ ซากๆ กันอยู่ที่นี่ นี้เป็นพวกที่ ๓ แหละ
ฉะนั้นคุณไปดูให้ดี มนุษย์ทั้งโลกโดยเฉพาะพุทธบริษัททั้งสิ้นมันอยู่ในลักษณะอย่างนี้ พวกแรกมีอัตตามีตัวตนเต็มที่ จะไปเรียกเขาว่าไม่ใช่พุทธบริษัทก็ไม่ได้ จะเรียกว่ามิจฉาทิฏฐิก็ยังไม่ถูก เพราะมันเป็นคนธรรมดาเท่านั้นแหละ ก็ต้องยอมรับว่าเขาเป็นคนธรรมดา เมื่อมันยังไม่อาจจะเปลี่ยนได้ไม่อาจจะละได้ ก็แนะให้ทำดี มีตัวตนที่ดีๆ จนตายไปเลย หรือให้เชื่อว่าตายแล้วก็ยังไปได้ดีนั่นแหละ มีตัวตนไปได้ดี แต่ว่านี้ไม่ใช่ตัวแท้ของพุทธศาสนา ไม่ใช่หัวใจของพุทธศาสนา มันเป็นเพียงเปลือกหรือว่ากระพี้หรืออะไรใกล้ๆ ข้างๆ แกนของพุทธศาสนาเท่านั้นเอง เพราะว่ามันช่วยอะไรไม่ได้ มันช่วยอะไรให้ดีไปกว่านั้นไม่ได้ นี่ผมได้พยายามมาเป็นสิบๆ ปีแล้วมันช่วยไม่ได้จริง ให้สังเกตเห็นประชาชนชาวบ้านทั่วไปนี่แหละ มันก็จะต้องปล่อยไปแบบนี้จนตายเลย จนไปเกิดใหม่นั่นแหละ จะต้องมีตัวตน อะไรก็ของตน บุญก็ของตน ตายไปก็ได้บุญ ได้เกิดในสวรรค์เป็นของตน นี่แก้ไม่ได้ ไม่เหมาะสำหรับที่จะฟังคำบรรยายชนิดนี้ที่ตรงนี้โดยประการทั้งปวงเลย คือไม่เหมาะที่จะฟังเรื่องชนิดนี้
ส่วนพวกที่ ๒ ที่ว่าถ้าได้ฟังคำพูดดีเหมาะแก่จิตใจ โดยบุคคลเช่นพระพุทธเจ้านะ ไม่ใช่เช่นพวกเราๆ นี้ แสดงอนุปุพพิกถาแสดงอริยสัจติดต่อกันไปตามวาระจิตที่กำลังเปลี่ยนอยู่อย่างถูกต้อง นี้ก็ไปได้ทันทีเลย เปลี่ยนเร็วทันที เปลี่ยนปั๊บเดียวที่นั่นเลย มันก็ทำไม่ได้ที่นี่ ที่นี่ทำไม่ได้ และที่นี่ก็ไม่ได้ตั้งใจจะทำอย่างนั้น แล้วก็ทำไม่ได้ ทีนี้คนชนิดนั้นถ้าสมมติว่าจะเกิดมีขึ้นมานี้ ก็ต้องไปหาคำพูดอย่างอื่นคำสอนอย่างอื่น ไม่ใช่คำสอนอย่างที่เรากำลังพูดที่นี่ที่เรียกว่าธรรมปาฏิโมกข์นี้ จากบุคคลชนิดอื่นด้วย หรือว่าที่พูดกันในวิธีอย่างอื่นและลักษณะอื่น
ทีนี้มันก็เหลือแต่พวกที่ ๓ ซึ่งกำลังอยากจะถึงธรรมะอนัตตาไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่ก็ยังตะเกียกตะกายถึงไม่ได้ แต่ที่จะกลับไปมีอัตตามีตัวมีตนเต็มที่อย่างพวกที่ ๑ ก็ไม่เอาเหมือนกัน รู้สึกขยะแขยงด้วย มันเป็นเด็กอมมือเกินไป ก็เลยต้องดันทุรังมาทางนี้เรื่อย ก็คือดิ้นรนต่อไปพยายามทำความเข้าใจเรื่อยๆ ไปให้ความรู้ในข้อนี้มันเพิ่มขึ้นๆ มันก็คงจะมีเวลาสักเวลาหนึ่งซึ่งมันประจวบเหมาะของมันเอง มันก็อาจจะรู้ได้ แต่ถึงอย่างไรก็เถอะ พูดได้แน่นอนว่าดี ดีแน่นอน ดีกว่าที่จะไม่พูดและดีกว่าที่จะไม่ฟัง แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องยืดเยื้อ ฉะนั้นจึงชักชวนให้ฟังเรื่องแบบนี้สำหรับตะเกียกตะกายกันไปเรื่อยเป็นบุคคลประเภทที่ ๓ ไม่อาจจะถอยหลังกลับไปมีอัตตาอย่างพวกที่ ๑ และก็ยังไม่มีโอกาสที่จะเป็นจะมีบุญมากอย่างพวกที่ ๒ ก็เป็นพวกที่ ๓ ที่ว่าจะคลานไปหรือว่าจะแถกไถไปดิ้นรนไปนี่ กว่ามันจะมีโชคดีสักวันหนึ่ง ฉะนั้นฟังดู สำหรับเท่าที่ฟังมาแล้ว หลายสิบครั้งเต็มทีแล้วที่พูดเรื่องธรรมปาฏิโมกข์ ไม่เคยพูดเรื่องอื่น พูดแต่เรื่องเกี่ยวกับตัวตนหรือของตน ที่เรียกภาษากิเลสว่าตัวกูของกูนี้ทุกครั้งไป
ทีนี้ก็กลับมาพูดกันเรื่องที่กำหนดไว้ในหัวข้อว่าตนพึ่งตน นี้มันก็ต่ำมากเพราะมีตัวตนต้องมีตัวตน ก็น่าจะยกไว้ให้พวกแรก เป็นหลักพอเหมาะสำหรับพวกที่ ๑
ทีนี้พอมาถึงคำว่าขันธ์มันพึ่งขันธ์หรือว่าธาตุพึ่งธาตุอะไรนี้ นี่มันก็เรียกว่าเราหลีกจากสิ่งที่เรียกว่าตัวตนกันเสียที มองเห็นว่าที่เรียกกันว่าตนนั้นที่แท้ก็คือขันธ์ คือเบญจขันธ์ที่กำลังเป็นตนกำลังมีอุปาทานอยู่ในเบญจขันธ์นั้นจึงสำคัญตัวเองว่าเป็นตน ที่เป็นตนโง่ก็มีคือเต็มไปด้วยกิเลสเต็มที่ และเป็นตนที่ฉลาดอยู่บ้าง หมายความว่ามันยังละตัวตนไม่ได้แต่มันก็มีความรู้พอที่จะรู้ว่าขันธ์นี้มันไม่ใช่ตน แต่เรามันละไม่ได้ ละอุปาทานไม่ได้ แต่รู้ว่าขันธ์นี้ไม่ใช่ตนและมีศรัทธามากพอแต่ว่าปัญญายังไม่มากพอที่จะฆ่ากิเลสตัวนี้ได้ จึงให้คำพูดมาอีกรูปหนึ่งแบบหนึ่งว่าขันธ์พึ่งขันธ์ ทุกคราวที่เบญจขันธ์จะเกิดขึ้นขอให้มีสติสัมปชัญญะเพียงพอที่จะระลึกนึกถึงว่าสิ่งทั้งปวงไม่ใช่ตัวตนนั่นแหละ เมื่อไหร่เบญจขันธ์มันจะตั้งต้นหรือว่าเกิดขึ้นในนามรูปนี้ ก็ให้มันมีสติรู้ว่าขันธ์ รู้ว่าขันธ์เข้าไว้ หรือว่าสักว่าขันธ์เข้าไว้ ถ้าไม่มีสติมันก็กลายเป็นปัญจุปาทานขันธ์คือขันธ์ที่เต็มไปด้วยความยึดถือซึ่งเกิดอยู่เป็นธรรมดาตามปกติของคนที่ไม่มีสติ เมื่อตาเห็นรูปหูได้ยินเสียงเป็นต้นทางอายตนะทางไหนก็ดี ถ้าเราเผลอสติ เวทนาที่มันเกิดจากอายตนะนั้นๆ ผัสสะนั้นๆ มันก็เป็นที่ตั้งแห่งตัณหาอุปาทาน เกิดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขึ้นมาครบชุด ในลักษณะที่มีอุปาทานยึดครองอยู่ อย่างนี้เรียกว่าขันธ์ที่มีอุปาทาน เป็นขันธ์เจ้าทุกข์ เป็นขันธ์ผู้มีความทุกข์
ทีนี้ในกรณีที่ตาเห็นรูปหูฟังเสียงเป็นต้นก็ตาม เกิดผัสสะเกิดเวทนา แล้วมันมีสติสัมปชัญญะอยู่หรือว่ามันเกิดขึ้นทันท่วงที มันก็รู้ว่าอายตนะก็ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา ผัสสะก็ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา นี่มันรู้ตามที่เคยศึกษาอยู่ มันก็ไม่เกิดตัณหาไม่เกิดอุปาทาน แต่เกิดสติสัมปชัญญะหรือปัญญานี้อยู่แทนในเบญจขันธ์นั้น ฉะนั้นเบญจขันธ์นั้นมันก็ไม่มีอุปาทานไม่มีทุกข์ มันก็เลยเป็นคู่ปรับกันกับเบญจขันธ์ที่มีอุปาทานและเป็นทุกข์ นี้เราจะเรียกว่า ขันธ์พึ่งขันธ์ นี่พูดให้มันน่าทึ่งหน่อยว่าขันธ์มันฆ่าขันธ์ ถ้าว่าขันธ์พึ่งขันธ์ หมายความว่าขันธ์โง่ๆ ขันธ์มีอุปาทานนั้นมันพึ่งขันธ์ที่ไม่มีอุปาทานเพราะมันมีสติสัมปชัญญะ แต่ถ้าพูดว่าขันธ์ฆ่าขันธ์ มันกลับกันทันที ขันธ์ทีแรกจะเป็นขันธ์ที่มีปัญญาสติสัมปชัญญะและก็ฆ่าและกำจัดขันธ์ที่มีกิเลสมีอุปาทาน หรือจะป้องกันก็ได้ ฆ่าเสียก็ได้ นี้เรื่องขันธ์ฆ่าขันธ์ หรือว่าขันธ์พึ่งขันธ์นี่มันหมายความอย่างนี้ และมันสูงขึ้นมากว่าที่จะพูดว่าตนพึ่งตน หรือแม้แต่พูดว่าตนมันฆ่าตน
ทีนี้มาถึงวันนี้ก็อยากจะพูดในส่วนที่มันละเอียดลึกไปกว่านั้นว่าสิ่งที่เรียกว่าขันธ์นั้นมันก็เป็นเพียงปฏิจจสมุปปันนธรรม คำพูดคำนี้ผมได้ขอร้องมากเมื่อเทศน์วันเสาร์ว่า ถ้ามันเป็นคำที่แปลกสำหรับท่านผู้ใดขอให้ท่านผู้นั้นสนใจให้มากเป็นพิเศษ อย่าให้มันเป็นคำที่แปลกอยู่เลย คำว่าปฏิจจสมุปปันนธรรมนี้ มันเป็นคำที่ไม่ค่อยได้ยินได้ฟังกันจริงๆ ฉะนั้นก็ต้องถือว่ามันยากที่จะเข้าใจหรือจะมาพูดได้ ตรงนี้ต้องบอกให้รู้ว่า เพราะว่าเรื่องที่ยากที่ดีที่มีประโยชน์มากโดยเฉพาะคือเรื่องปฏิจจสมุปบาทนั้นมันนอนเก็บเงียบอยู่ในพระไตรปิฎก ไม่ค่อยเอามาพูดไม่ค่อยเอามาสอนกัน ที่แท้มันมีมากมายเหลือเกิน ทั้งที่มันมีมากแล้วยังเก็บไว้ได้ เก็บไว้เงียบไม่ค่อยมาเพ่นพ่านในสายตาของพุทธบริษัท ทีนี้ก็อยากจะให้ส่วนที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาอย่างนี้มันออกมาสู่สายตา ให้ชินกับหูให้ชินกับปากของเราที่จะพูด แล้วก็ให้เห็นสิ่งนี้ที่มีอยู่ทุกหัวระแหงไม่ว่าจะเหลือบไปทางไหน เรียกว่าปฏิจจสมุปปันนธรรม
ปฏิจจสมุปปันนะ แปลว่าอาศัยกันเกิดขึ้น ธรรมแปลว่าสิ่ง,สิ่งที่อาศัยกันเกิดขึ้น เบญจขันธ์นี้เป็นเพียงปฏิจจสมุปปันนธรรม แต่ละขันธ์ก็เป็นเพียงปฏิจจสมุปปันนธรรม ทั้ง ๕ ขันธ์ก็ยิ่งเป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม และส่วนที่ถูกสมมติว่าเป็นตัวตนก็คือส่วนหนึ่งของขันธ์หรือว่าขันธ์หนึ่งก็ได้ ก็ยิ่งเป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม ฉะนั้นคำว่าตนก็เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม คำว่าขันธ์ก็เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม
พูดว่าอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ละอย่างๆ เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม ตาเมื่อทำหน้าที่ของตาได้นั้นก็เรียกว่าตา ไม่ใช่ลูกตา ไม่ใช่แก้วตา ไม่ใช่ก้อนลูกตา คำว่าตาหมายความว่าตาที่ทำหน้าที่เห็นรูปได้อยู่ในขณะนั้นเรียกว่าตา หูก็เหมือนกันเมื่อทำหน้าที่ฟังอยู่ อย่างนี้เรียกว่าอายตนะ อายตนะหนึ่งๆ เช่นตาเป็นต้นก็เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม มันอาศัยเหตุปัจจัยอันใดอันหนึ่งมันจึงเกิดเป็นตาที่กำลังเป็นตาอยู่ได้ หูก็เหมือนกัน จมูกก็เหมือนกัน ลิ้นก็เหมือนกัน
ทีนี้รูปหรือเสียงหรือกลิ่นหรือรสก็เหมือนกัน หมายถึงเมื่อมันเข้ามาเกี่ยวข้องกับตา รูปเฉยๆ ยังไม่มีค่า เมื่อมันไม่มาเกี่ยวข้องกับตามันยังไม่มีค่า ต่อเมื่อมันมาสัมผัสกันเข้ากับตานี้จึงจะเรียกว่ารูปในที่นี้ และมันก็เป็นสิ่งที่ปรากฏแก่ตา มีปัจจัยแล้วก็ทำให้ปรากฏแก่ตา รูปนี้ก็เรียกว่าปฏิจจสมุปปันนธรรมอีกนั่นแหละ เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอะไรก็เหมือนกันทุกอย่างนี่ แปลว่าอายตนะทั้งภายในและทั้งภายนอกนี้เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรมทุกอย่าง คุณก็คงจะคุ้นหูแต่คำว่าอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์นี้เป็นอายตนะ นี่คุ้นหูกันมาก พอจะเข้าใจได้ทันที แต่ถ้าพูดว่า ๑๒ อย่างนี้เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม นี่มันไม่คุ้นหู มันฟังไม่ได้ทันที นี่เอามาพูดเอามาทำให้เข้าใจ แล้วให้คุ้นเคยกับการที่เราจะพูดจะออกชื่อมันหรือว่าเมื่อได้ยินมันหรือว่าได้รู้จักมัน เพราะอันนี้มันเป็นจุดตั้งต้นของทุกสิ่ง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์นี้ ๒ พวกนี้พวกละ ๖ นี้ให้จำไว้ในฐานะเป็นจุดตั้งต้นของทั้งหมดไม่ว่าอะไร ที่จะเป็นเรื่องความทุกข์เป็นเรื่องดับทุกข์อะไรขึ้นมาได้
อายตนะ คนที่ไม่เคยเรียนบาลี ไม่ค่อยทราบหรอกว่าอะไร เพราะว่ามันจะจำไว้แต่ว่าอายตนะๆ แล้วคือตา หูจมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็เดาเอาเองว่ามันคืออะไรนี่ คือที่ต่อ ที่สัมผัส ที่อะไรก็สุดแท้ อายตนะนี้ถ้าภาษาบ้านแท้ๆ ก็แปลว่าทางมาหรือที่เกิด ภาษาที่ใช้ตามบ้านเรือนตามภาษากลางถนนนั้น คำว่าอายตนะแปลว่าทางมาหรือแปลว่าที่เกิดเช่นบาลีสิงคาโลวาทสูตรว่า โรคานํ อายตนํ นี่ การดื่มน้ำเมาเป็น โรคานํ อายตนํ การดื่มน้ำเมาเป็นอายตนะแห่งโรคทั้งหลาย อายตนะอย่างนี้มันแปลว่าทางมาหรือที่เกิด ฉะนั้นนี้ภาษาชาวบ้านภาษากลางถนน อายตนะแปลว่าอย่างนี้
ทีนี้พอมาเป็นภาษาธรรมะ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์นี้ ก็ยังมีความหมายนั่นแหละ เป็นทางมาหรือที่เกิดนั่นแหละ แต่เรามักจะเลื่อนไปเป็นว่าที่ต่อที่กระทบ ที่สัมผัสหรือที่กระทบ ที่จริงกระทบนั้นมันหมายถึงสัมผัสหรือผัสสะต่างหาก อายตนะแท้ๆ มันแปลว่าหัว หัวข้างโน้นกับหัวข้างนี้สำหรับจะมาชนกันที่จะมากระทบกัน นั่นแหละคืออายตนะ เพราะก็คือทางมาแห่งการกระทบ พูดให้กว้างให้ถูกหมดก็คือว่าทางมาแห่งเรื่องราว อายตนะนี้,ทางมาแห่งเรื่องราว พูดให้ไกลออกไปก็สิ่งที่จะถูกกระทบหรือสิ่งที่อาจจะรู้สึกได้ ฉะนั้นแปลว่าสิ่งก็ได้ ทุกสิ่งเป็นอายตนะ แม้แต่นิพพานก็เรียกว่าอายตนะ เพราะว่านิพพานก็เป็นสิ่งที่จิตลุถึงได้ สัมผัสได้ รู้แจ้งได้ ฉะนั้นจึงมีการเรียกนิพพานว่าอายตนะก็มี นี่มันก็เตลิดเปิดเปิงเป็นเรื่องภาษามากไปแล้ว
เดี๋ยวนี้ขอให้รู้แต่เพียงว่าแม้แต่อายตนะนี้ทั้งภายในภายนอกมันก็เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม กำหนดไว้ให้ดีว่าจุดตั้งต้นมันอยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส นะ นี่มันเป็นปฏิจจสมุปปันนธรรมแล้วเต็มที่ ทีนี้มันได้พบกันระหว่างอายตนะภายนอกกับภายในนี้ มันก็เกิดจักษุวิญญาณขึ้นมา หรือเกิดโสตวิญญาณ ฆานะวิญญาณอะไรขึ้นมา มันเกิดวิญญาณขึ้นมา แล้ววิญญาณมันจะไปที่ไหนได้ มันก็ต้องเป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม วิญญาณก็ยังคงเป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม แปลว่าสิ่งที่อาศัยปัจจัยอันใดอันหนึ่งแล้วเกิดขึ้นมา ทีนี้ ติณฺณํ ธมฺมานํ สงฺคติ ผสฺโส พระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างนี้ ประจวบกันแห่งสิ่งทั้งสามนี้เรียกว่าผัสสะ ฉะนั้นผัสสะมันก็คือปฏิจจสมุปปันนธรรม จะยิ่งเหลวขึ้นทุกที จะยิ่งเป็นปฏิจจสมุปปันนธรรมที่แรงขึ้นทุกที คือเป็นมายายิ่งขึ้นทุกที ทีนี้ผัสสะให้เกิดเวทนา เวทนาก็ยิ่งเป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม เวทนาให้เกิดตัณหา ตัณหาก็ยิ่งเป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม ตัณหาให้เกิดอุปาทาน อุปาทานก็ยิ่งเป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม
ทีนี้ในขณะที่เกิดตัณหาอุปาทานนั้น เราก็มองดูกันอีกแง่หนึ่ง คือรูปในเวลานั้นเป็นรูปขันธ์ที่มีอุปาทานครอง เวทนาในขณะนั้นก็เป็นเวทนาขันธ์ที่มีอุปาทานยึดครอง สัญญาความจำหรือความสำคัญมั่นหมายในขณะนั้นก็เป็นสัญญาขันธ์ที่มีอุปาทานยึดครอง สังขารคือความคิดในขณะนั้นก็เป็นสังขารขันธ์ที่มีอุปาทานยึดครอง ตัววิญญาณเองในขณะนั้นแหละมันยิ่งมีอุปาทานยึดครอง ในชั้นแรกมันทำหน้าที่รู้ ก็เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรมไปตามธรรมชาติ พอตอนหลังมันเกิดสัญญาความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นนั่นเป็นนี่เป็นตัวตนของตนขึ้น วิญญาณนั้นมันเลยถูกสมมติว่าเป็นตัวตนเป็นเจ้าของนามรูปนี้ทั้งหมดไปเลยนี่ วิญญาณนั้นแม้เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม มันกลับมีอาการเหมือนกับว่าเป็นฉันเป็นตัวฉัน เป็นตัวตนในตัวมัน ฉะนั้นคนจึงถือลัทธิว่าวิญญาณมาเกิด วิญญาณมาเข้าท้อง วิญญาณตั้งอยู่ประจำตลอดชีวิต แล้วก็วิญญาณไปเกิดข้างหน้าต่อไปอีกเมื่อร่างกายแตกตายแล้ว นี้ก็เรียกว่ามิจฉาทิฏฐิชนิดหนึ่ง เอาวิญญาณนี้เป็นหลัก ทั้งที่วิญญาณนี้เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม วิญญาณมีหลายความหมาย ทุกความหมายเป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม และความหมายที่ทำเรื่องราวมากที่สุดก็ความหมายที่ว่าเป็นตัวตนนั่นแหละ วิญญาณเป็นผู้ฟัง ผู้เห็น ผู้กิน ผู้ดื่ม ผู้รู้รส ผู้อร่อย ผู้ยึดครองชีวิตนี้ และผู้จะตายไปเกิด นี่อะไรๆ มันมารวมอยู่ที่วิญญาณ
ทีนี้หลักธรรมะในพุทธศาสนาก็มีความสำคัญตรงนี้นิดเดียวว่า บอกว่าวิญญาณก็วิญญาณแหละแต่ไม่ใช่ตัวตน วิญญาณเป็นสักว่าปฏิจจสมุปปันนธรรม นี้ทบทวนมาให้ดีๆ อย่าให้มันเฝือสิ ตั้งแต่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ กระทบกันเป็นวิญญาณ ทีแรกเพียงแต่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แล้วก็ประจวบกันอย่างนี้แล้วเป็นผัสสะ แล้วก็เป็นเวทนาเป็นตัณหาเป็นอุปาทาน ตอนนี้แหละเป็นวิญญาณชนิดที่ยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน แต่ที่แท้มันเป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม เมื่อมันมีอุปาทานยึดครองก็เรียกว่านามรูปทั้งหมดนี้คือปัญจุปาทานขันธ์ ถ้าไม่มีอุปาทานยึดครองก็เป็นนามรูปเฉยๆ ล้วนๆ อยู่ ก็เรียกว่าปัญจขันธ์เฉยๆ นี้คือความต่างกันระหว่างปัญจขันธ์กับปัญจุปาทานขันธ์
ทีนี้ถ้าว่าปัญจขันธ์นั้นแหละ แทนที่จะมีอุปาทานเข้ามายึดครอง มันเกิดมีสติปัญญาสัมปชัญญะเข้ามาครอบครอง มันก็เปลี่ยนเป็นเบญจขันธ์ชนิดที่ไม่มีกิเลส ในขณะนั้นไม่มีโง่ ไม่มีอวิชชา ไม่มีกิเลส เป็นเบญจขันธ์ที่สามารถที่จะต่อต้านกับความทุกข์ ถ้าเรามีเบญจขันธ์ชนิดนั้นกันอยู่ แล้วก็เบญจขันธ์นี้มันจะช่วยเป็นที่พึ่งแก่เบญจขันธ์คือเบญจขันธ์ชนิดที่เป็นตัวตน เบญจขันธ์ที่มีสติปัญญาว่าไม่ใช่ตนนี้จะฆ่าเบญจขันธ์ชนิดที่มีอุปาทานว่าตัวตน จึงเรียกว่าขันธ์มันพึ่งขันธ์ เบญจขันธ์มันพึ่งเบญจขันธ์ ทั้งที่ทั้งสองฝ่ายแต่ละอย่างนี้มันก็เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม แบ่งออกเป็นกี่ส่วนทุกส่วนก็เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม รวมกันหมดให้เป็นเรื่องเดียวส่วนเดียวมันก็เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม ฉะนั้นถ้าจะพูดให้ดีที่สุดก็เลยพูดว่าปฏิจจสมุปปันนธรรมมันพึ่งพาอาศัยปฏิจจสมุปปันนธรรม หรือพูดกลับกันก็ว่าปฏิจจสมุปปันนธรรมนี้มันฆ่าปฏิจจสมุปปันนธรรม คือว่าธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นฝ่ายที่ประกอบด้วยสติปัญญานี้มันจะฆ่าส่วนที่อาศัยเกิดขึ้นแล้วก็มีกิเลสตัณหาอุปาทาน นี้เพื่อจะแสดงความที่มันไม่มีตัวไม่มีตนยิ่งขึ้นทุกที แสดงให้เห็นว่ามันมีแต่ปฏิจจสมุปปันนธรรมอย่างนี้ ไม่มีตัวไม่มีตนเลย มันก็ยังเป็นไปได้ทั้งฝ่ายที่จะเป็นทุกข์และทั้งฝ่ายที่จะดับทุกข์ คือเป็นไปได้ทั้งฝ่ายที่จะเป็นผู้ทุกข์และฝ่ายที่เป็นที่พึ่ง หรือเป็นฝ่ายที่ว่าจะมาฆ่าฝ่ายที่มันควรจะถูกฆ่าเสีย
ขอให้เข้าใจดีๆ ว่า คำพูดเหล่านี้เป็นคำสมมติทั้งนั้นแหละ พูดว่าที่พึ่งก็สมมติ พูดว่าฆ่าเสียมันก็สมมติ แล้วแต่เราจะมองเห็นความหมายชนิดไหนได้ง่ายกว่า ฉะนั้นเมื่อเราได้ยินคำที่เขาพูดสำหรับบุคคลชั้นต่ำสุดว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตนนี้ เราก็ต้องรู้ว่ามันหมายถึงอะไร สำหรับผู้ที่เขาไม่มีความรู้เรื่องอนัตตา เขาก็ว่าตัวตนไปตามเรื่องของเขา แต่สำหรับเรามันเป็นอย่างนั้นไม่ได้เพราะว่าเรามันเกิดไปรู้เรื่องอนัตตาเข้า เราจึงรู้ว่าการที่พูดว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตนนั้นก็คือเอาสมมตินั่นแหละมาเป็นตัวตั้งตัวตีสำหรับที่จะดับสมมติ หรือว่าจะต่อสู้เพื่ออย่าให้ความทุกข์มันเกิดขึ้นโดยวิธีที่สมมติ มันก็จึงได้แต่ว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตน ตนทำดีตนได้ดี ตนอย่าทำบาปอย่าทำชั่ว แล้วตนก็จะได้ไปเกิดในสวรรค์ ก็เรียกว่าตนพึ่งตนเหมือนกัน สมมติก็พึ่งสมมติได้
แต่ทีนี้พอมาถึงเรื่องสัจจะเรื่องจริงเรื่องไม่สมมติ เป็นปรมัตถสัจจ์เป็นอะไรสัจจ์ มันก็ไม่พูดว่าตนแล้ว ก็พูดว่า ธรรมบ้าง มีธรรมเป็นที่พึ่ง ธรรมชาติก็พึ่งธรรมชาติ ขันธ์ก็พึ่งขันธ์ อายตนะก็พึ่งอายตนะ หรือว่าปฏิจจสมุปปันนธรรมก็พึ่งปฏิจจสมุปปันนธรรม ฉะนั้นถ้าผู้ใดเข้าใจคำว่าปฏิจจสมุปปันนธรรม คนนั้นจะเห็นอรรถะของความหมายนี้ได้ง่ายขึ้น คือเห็นชัดว่าโดยที่ไม่ต้องมีตัวตนเลยมันก็มีความทุกข์ได้ และก็มันมีสิ่งที่กำจัดความทุกข์ได้ ด้วยความรู้สึก ด้วยเจตนา ด้วยความตั้งอกตั้งใจ ด้วยความพยายามของสิ่งที่เป็นเพียงปฏิจจสมุปปันนธรรมไม่ใช่ตัวตนนนี่ ฉะนั้นภาษาอภิธรรมเขาจึงเรียกว่าธรรมเฉยๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง จัดเป็นฝ่ายกุศล เจตสิกธรรมฝ่ายที่เป็นกุศลนั่นแหละทำให้มันเกิดขึ้นมา มันจะกำจัดหรือมันจะขัดขวางฝ่ายที่เป็นอกุศลได้ เรียกว่าปฏิจจสมุปปันนธรรมฝ่ายกุศลนี้มันจะต่อต้านฝ่ายที่เป็นอกุศล แล้วฝ่ายที่มันเป็นกุศลยิ่งขึ้นไปจนถึงกับว่ามีปัญญาสูงสุดจะเป็นโลกุตตระนี้ มันก็จะกำจัดเสียทั้งกุศลและทั้งอกุศล ฉะนั้นพวกญาณพวกปัญญาพวกอะไรต่างๆ ที่มันสูงขึ้นไปนั้น ที่แท้มันก็เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรมเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย แต่ไปทำให้มันเกิดขึ้นมาสิ มันจะฆ่าพวกความยึดมั่นถือมั่นในกุศลและในอกุศลเสีย เรียกว่าอยู่เหนือกุศลเหนืออกุศลไปเสีย
ที่จริงคำนี้มันก็เป็นคำสมมติมาก ไม่ต้องไปฆ่าไปเฆ่ออะไรมันหรอก เพียงแต่ว่าไม่ไปยึดมั่นถือมั่นเท่านั้นก็พอแล้ว นั่นแหละคือฆ่ามันเสีย จนไม่ไปยึดมั่นในอกุศลในกุศลนี้ มันก็หมดอำนาจ หมดอำนาจที่จะทำอะไรแก่เรา นี่เราก็สมมติว่าเดี๋ยวนี้เราฆ่ามันเสียได้ ไปยืมภาษาธรรมดามาใช้ เตลิดเปิดเปิงหรือว่าฆ่ากิเลสบ้างอะไรบ้าง มันเป็นภาษาสมมติยืมมาใช้ ถ้าอะไรฆ่ากิเลส มันก็ต้องวิชชา,วิชชาปัญญานี้ฆ่ากิเลส มันก็ไม่ต้องมีตัวมีตน มันก็ฆ่าของมันเองได้ ร่างกายก็ไม่ใช่ตน เป็นที่ตั้งอาศัยของจิต จิตนี้คิดนึกได้ แล้วมันก็ทำไปในลักษณะที่ทั้งกายทั้งจิตนี้มันอยู่โดยวิชชา โดยปัญญา โดยความรู้ พอมันอยู่ได้ในรูปนี้ความทุกข์หรือกิเลสมันก็เกิดไม่ได้ นี้เราเรียกว่าฆ่ากิเลสหรือว่าดับทุกข์ไป
ฉะนั้นเมื่อจะพูดกันอย่างภาษานักวิทยาศาสตร์แท้ๆ ก็ต้องพูดว่าปฏิจจสมุปปันนธรรมนี้มันฆ่าปฏิจจสมุปปันนธรรม หรือว่าปฏิจจสมุปปันนธรรมมันเป็นที่พึ่งแก่ปฏิจจสมุปปันนธรรม มันแยกกันได้เป็นส่วนๆ ฝ่ายๆ อย่างนี้ นี่คือไม่มีอัตตา ไม่มีอัตตาโดยแน่นอน แล้วก็ไม่เตลิดเปิดเปิงไปจนถึงเป็นอุจเฉทะคือไม่มีอะไรเสียเลย มันเป็นอนัตตาจริงแต่ว่าไม่ใช่จะหมายความว่าไม่มีอะไรเสียเลย มันมีสิ่งที่ไม่ใช่อัตตาก็แล้วกัน ฉะนั้นพวกที่พูดว่าอนัตตาๆ ระวังให้ดี อย่าให้ความหมายมันเตลิดเปิดเปิงไปถึงว่าไม่มีอะไร มันจะเป็นอุจเฉททิฏฐินัตถิกทิฏฐิ มันก็ยิ่งผิดใหญ่ เขาเรียกว่าอนัตตาเพ้อเจ้อ อนัตตาที่ผิดที่เข้าใจผิดที่หลงที่ไม่รู้ แล้วก็ถือเอาความหมายแต่เพียงว่าเมื่อไม่มีอัตตาแล้วมันก็ไม่มีอะไร พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าอนัตตานั้นก็หมายความว่ามันมิใช่อัตตา ไปถือเอาความหมายให้ถูกว่ามันมิใช่อัตตา มันมีอยู่สิ มันก็เป็นไป มันก็มีอยู่ เช่นปฏิจจสมุปปันนธรรมทั้งหลายนั้นมันก็มีอยู่ จะว่าไม่มีไม่ได้ แต่มันมีอย่างปฏิจจสมุปปันนธรรมคืออาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ทยอยกันอยู่อย่างนั้นแหละไม่มีความเด็ดขาดจริงแท้แน่นอนถาวรอะไร มันมีอย่างนั้น ว่าอัตตาก็ไม่ใช่ ว่าไม่มีอะไรเสียเลยก็ไม่ใช่ เราสมัครจะเรียกกันว่าอนัตตาคือมิใช่อัตตา สิ่งนั้นมีอยู่สิ่งนั้นมิใช่อัตตา
ฉะนั้นผู้ที่ถือว่าวิญญาณเป็นอัตตา เป็นเจตภูต เป็นชีโว เป็นอะไรนี้ก็เข้าใจกันเสียใหม่ว่านั่นมันเป็นเพียงปฏิจจสมุปปันนธรรมเหมือนกัน มีธรรมอันใดอันหนึ่งตั้งอยู่ แล้วถูกเข้าใจผิดถูกยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตน บาลีนี้มีอยู่ประโยคหนึ่งว่า ปฏิจฺจสมุปฺปนฺนธมฺมํ วิญฺญาณํ วุตฺตํ วิญญาณเรากล่าวว่าเป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม อญฺญตฺร ปจฺจยา นตฺถิ วิญฺญาณสฺส สมฺภโว เมื่อเว้นปัจจัยเสียแล้ว การเกิดขึ้นพร้อมแห่งวิญญาณย่อมไม่มี นี่มีหลักแล้วทีนี้ เป็นพระพุทธภาษิตว่าวิญญาณนั้นเรากล่าวว่าเป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม เว้นปัจจัยเสียแล้วการเกิดแห่งวิญญาณไม่มีคือเกิดไม่ได้ ให้เข้าใจคำว่าวิญญาณนี้เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรมเสียสักอย่างหนึ่งก็พอ ถ้าเราไม่อาจจะสนใจไปทุกอย่างโดยละเอียด ก็สนใจสิ่งที่เรียกว่าวิญญาณนี้โดยละเอียด ให้เห็นว่ามันเป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม วิญญาณไหนก็ตามใจ วิญญาณทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ชั่วขณะนี้ก็ได้ หรือว่าวิญญาณที่จะเป็นจุติปฏิสนธิไปเกิดใหม่อะไรก็ได้ มันเป็นปฏิจจสมุปปันนธรรมทั้งนั้น พอความรู้เรื่องนี้มีถูกต้องครบถ้วน มันก็จะปฏิเสธหมดทุกอย่างเลย ไม่มีอะไรที่จะเป็นตัวตนได้ เพราะว่ามันสัมพันธ์กันหมด ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็สัมพันธ์กับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ สัมพันธ์กับวิญญาณ สัมพันธ์กับผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทานเรื่อยไปจนถึงทุกข์ ถ้าวิญญาณที่เป็นสิ่งที่รู้แจ้งทำหน้าที่รู้แจ้งประจำอยู่ในนามรูปนี้ เป็นเจ้าหน้าที่รู้แจ้งประจำอยู่ในนามรูปนี้นะ แต่อย่าไปคิดว่าเป็นตัวตนนะ เป็นของเกิดอยู่วับๆ วับๆ ไปตามลักษณะของปฏิจจสมุปปันนธรรมนะ วิญญาณชนิดนี้ก็เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม แล้วเรื่องมันก็หมดแหละ จะไม่มีผู้ ที่เรียกว่าสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขานั้น คือจะไม่มีผู้ ผู้ใดผู้หนึ่ง ผู้รู้ ผู้เห็น ผู้กิน ผู้ดม ผู้ลิ้ม ผู้ได้ ผู้เสีย ผู้สุข ผู้ทุกข์อะไร ผู้ ผู้ ผู้ เหล่านี้จะไม่มี มีแต่ปฏิจจสมุปปันนธรรม ทั้งความทุกข์ก็เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม ความดับทุกข์ก็เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม เบญจขันธ์ที่กำลังเต็มไปด้วยความทุกข์ก็เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม ทีนี้เบญจขันธ์ที่มีสติปัญญาเต็มอยู่ก็เป็นเพียงปฏิจจสมุปปันนธรรม
ฉะนั้นขอให้มองเห็นในแง่ที่ว่าปฏิจจสมุปปันนธรรมเท่านั้นที่กำลังเป็นไปอยู่ เรียกว่าธรรมะล้วนๆ ปฏิจจสมุปปันนธรรมล้วนๆ กำลังเป็นไปอยู่ ไม่มีตัวไม่มีตนอะไรที่กำลังเป็นไปอยู่ ก็เลยเห็นว่าความทุกข์ก็เป็นสักว่าความทุกข์ สักว่าปฏิจจสมุปปันนธรรมที่มันเป็นทุกข์คือทนยาก ทีนี้ความดับทุกข์คือสิ่งที่มันตรงกันข้ามแต่ก็เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม ก็มองให้เป็นรูปเป็นร่างก็เรียกว่าเป็นเบญจขันธ์แหละ เบญจขันธ์ก็ยังเป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม เพราะฉะนั้นเราจึงถือว่าปฏิจจสมุปปันนธรรมเป็นที่พึ่งแก่ปฏิจจสมุปปันนธรรม ปฏิจจสมุปปันนธรรมมันฆ่าปฏิจจสมุปปันนธรรมแล้วแต่จะชอบพูดในโวหารไหน เล็งไปหาหลักที่ว่าตนพึ่งตนในอันดับที่มีความหมายสูงสุด ตนพึ่งตนในความหมายต่ำเตี้ยสุดก็มี ตนพึ่งตนในความหมายกลางๆ ระดับกลางๆ ก็มี มีความหมายระดับสูงสุดอย่างนี้ก็มี ปฏิจจสมุปปันนธรรมที่ถูกสมมติว่าตนนี้ ก็ได้อาศัยปฏิจจสมุปปันนธรรมที่ถูกสมมติว่าตนนั่นแหละเป็นที่พึ่ง
เพราะฉะนั้นพระพุทธภาษิตทั้งหลายไม่มีทางที่จะค้านกันในตัวเองเลย เว้นเสียแต่ว่าเราเข้าใจผิด เราอธิบายผิด เราไม่เข้าใจเรื่องราวเหล่านั้น แล้วความสับสนอันนี้มันเกิดขึ้นเพราะเหตุว่าพระพุทธเจ้าท่านต้องตรัสต้องพูดต้องสนทนาต้องสั่งสอนบุคคล ๒ ชนิดซึ่งมีอยู่ในโลก หรือว่า ๓ ชนิดอย่างที่พูดเมื่อตะกี้นี้ แต่ผมพูดว่า ๒ ชนิดโดยแยกเอาพวกแรกเป็นพวกที่ว่ามีตัวตนเต็มอัดอยู่ในความรู้สึกนี้พวกหนึ่ง และก็พวกที่กำลังจะละลายตัวตนให้หมดไปให้จางไปนี้พวกหนึ่ง มันมีอยู่ ๒ พวกอย่างนี้ ทีนี้คำพูดสำหรับพวกหนึ่งพระพุทธเจ้าท่านก็ต้องตรัสอย่างหนึ่ง สำหรับพวกที่มีตัวตนก็ต้องตรัสอย่างมีตัวตน ให้มันได้ดี ให้มันได้ทำดี ให้มันพยายามทำดี แล้วก็จบกันด้วยความตาย ทีนี้พวกที่จะไปไกลกว่านั้นคือพวกที่จะเข้าถึงธรรมะที่ไม่ใช่ตัวตน ก็ตรัสเรื่องอนัตตาเรื่องสุญญตาเรื่องสิ่งทั้งปวงไม่ควรไปยึดมั่นถือมั่น สิ่งทั้งปวงเป็นเพียงปฏิจจสมุปปันนธรรม นี่คำพูดมีอยู่สำหรับคน ๒ พวกอย่างนี้ เราต้องฟังให้ดีๆ อย่าให้มันตีกันยุ่งไปหมด
ทีนี้ถ้าว่าจะต้องยืมคำพูดของคนพวกหนึ่งมาใช้กับพวกที่ ๒ ก็มีทางอธิบายได้โดยการปรับความหมายให้มันสูงขึ้นไป เช่นตน มันกลายเป็นธรรมไปเลย กลายเป็นธรรม เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม เป็นอะไรธรรมไปเลย มันก็ยังได้อยู่นะคำพูดอย่างเดียวกัน นี้ก็เป็นปัญหาอันหนึ่งซึ่งจำไว้ให้ดีว่าคำพูดประโยคเดียวแท้ๆ นี้ เราอาจจะพูดอธิบายอย่างสมมติสัจจ์ก็ได้ อธิบายอย่างปรมัตถสัจจ์ก็ได้ อธิบายอย่างว่างไปเลยไม่เป็นอะไรก็ได้ คำพูดคำเดียวกันประโยคเดียวกัน แม้ที่สุดแต่ประโยคที่ว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตน
เอาล่ะ,วันนี้เราพูดกันถึงเรื่องตนเป็นที่พึ่งแก่ตนในความหมายอันดับลึกสุดที่ ๓ ว่าปฏิจจสมุปปันนธรรมเป็นที่พึ่งแก่ปฏิจจสมุปปันนธรรม เพราะมันสูงกว่าที่จะพูดว่าขันธ์เป็นที่พึ่งแก่ขันธ์ ซึ่งมันก็ยังสูงกว่าที่พูดว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตน นี่พอกันทีสำหรับวันนี้