แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาฏิโมกข์ของเราที่นี่ เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าเป็นเพียงการซักซ้อมอยู่เสมอในเรื่องตัวตน ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น ท่านที่ยังไม่เคยฟังเพราะยังไม่เคยมา เพิ่งมา ก็ให้รู้เสียเดี๋ยวนี้ว่าไม่มีเรื่องอะไรนอกจากเรื่องเกี่ยวกับตัวตน เราเรียกว่าธรรมปาฏิโมกข์ เพราะว่าเป็นการลงปาฏิโมกข์อย่างธรรมะ คู่กันกับปาฏิโมกข์อย่างวินัย ซึ่งลงกันเพียงเดือนละ ๒ ครั้ง ส่วนธรรมปาฏิโมกข์นี้มีเดือนละ ๔ ครั้ง และเผอิญระหว่างนี้มันก็รื้อมานาน มันยุ่ง ยุ่งด้วยเหตุอย่างอื่น คล้ายๆ กับวันนี้เป็นวันเริ่มกันใหม่ในงวดใหม่ ฉะนั้นขอให้ตั้งต้นทำความเข้าใจกันโดยหลักใหญ่ๆ ต่อไป
เมื่อพูดว่าเรื่องอันเกี่ยวกับตัวตนนี่ มันมีความหมายมาก เรื่องตัวตนมันเกิดก็ได้ เรื่องตัวตนเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์นี้ก็ได้ เรื่องดับตัวตนเสียเป็นเหตุให้ดับความทุกข์อย่างนี้ก็ได้ ไม่ว่าจะพูดในแง่ไหน ก็เรียกได้ว่าเรื่องเกี่ยวกับตัวตนทั้งนั้น ฉะนั้นขอให้เห็นว่าเรื่องเกี่ยวกับตัวตนนี้พูดได้ไม่รู้จบ แล้วแต่เราจะพูดกันในแง่ไหน และอีกอย่างหนึ่งก็ต้องให้รู้ไว้ด้วยว่าพุทธศาสนานี้เป็นเรื่องที่ปฏิเสธความมีตัวตน คือไม่ให้มีอะไรที่ถูกยึดถือว่าเป็นตัวตน นี่คือหลักของพระพุทธศาสนาซึ่งทำให้ผิดจากศาสนาอื่นโดยมากที่มียึดนั่นยึดนี่ว่าเป็นตัวตน
ฉะนั้นหลักพระพุทธศาสนาจึงมีว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น มันก็ว่าตัวว่าตนหรือว่าของตน นั่นเป็นหลักเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา จนเดี๋ยวนี้ก็จำกันได้มากทั่วๆ ไปแล้วว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย เป็นบทศักดิ์สิทธิ์ เป็นหัวใจของพุทธศาสนา ว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นี้ก็ต้องรู้ไว้ว่ามันเป็นหลักที่เปลี่ยนไม่ได้ ทีนี้ถ้ามันเกิดมีธรรมะข้ออื่นคือบทอื่นพูดไปในทำนองว่ามีตัวตนแล้วก็ให้เอาตัวตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งหรือว่าทำที่พึ่งให้แก่ตน อย่างนี้จะเข้าใจว่าอย่างไร นี่ก็ลองคิดดู เมื่อหลักใหญ่มันมีตายตัวอยู่ว่าสิ่งทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน ไม่ควรยึดมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวตน นี่มันก็ผิดไม่ได้ เปลี่ยนไม่ได้
ทีนี้ก็มีถ้อยคำที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ในที่อื่นบางแห่งว่า อตฺตทีปา อตฺตสรณา จงมีตนเป็นที่พึ่ง จงมีตนเป็นสรณะ อนญฺญสรณา อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา จงมีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ อนญฺญสรณา อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเป็นสรณะ นี้ก็ต้องจำไว้ด้วยว่าเป็นคำที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสจริง มีอยู่ในอังคุตตรนิกายตอนต้นๆ เลย ว่าเธอทั้งหลายจงมีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเป็นสรณะเลย จงมีธรรมะเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ อย่ามีสิ่งอื่นเป็นสรณะเลย นี่ก็พอแล้วคือเป็นฝ่ายที่มันตรงกันข้าม เป็นคำตรัสที่ตรงกันข้ามจากหลักทั่วไปที่เคยตรัสว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย,สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา แล้วคุณจะเข้าใจกันว่าอย่างไร นี่เป็นข้อที่ต้องทบทวนไว้เสมอ
ทีนี้ในโรงเรียนก็สอนกันว่า อตฺตทีปา อตฺตสรณา หรือว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ นี้ก็หมายความว่าให้มีตนเป็นที่พึ่งแก่ตน แล้วมันจะขัดกันไหมกับที่ว่าตนมันไม่มี ทีนี้ครูมักจะสอนกันว่าเมื่อยังยึดถือว่าตัวตนอยู่ มีอะไรเป็นตัวตนอยู่ ก็ใช้สิ่งนั้นเป็นผู้ทำที่พึ่งให้แก่ตน ก็หมายความว่าเมื่อมีกิเลสอยู่ว่ามีตัวตน มีของเรา มีตัวเรา มีของเราหรือมีตัวตนมีของตน ให้ใช้กิเลสนั่นแหละทำที่พึ่งหรือเป็นที่พึ่งให้แก่ตนจนกว่ามันจะหมดตน สอนกันอย่างนี้ก็มี หรือบางทีก็บอกให้ถือเอาความหมายแคบๆ ว่า คนอื่นมันช่วยไม่ได้ ฉะนั้นตัวเราต้องช่วยตัวเรา ตนนี้ต้องช่วยตนทั้งที่ตนนี้มันมิใช่ตน คนที่เขาไม่ยอมเชื่อหรือว่าเขาถือเถรตรงตามตัวหนังสือ เขาก็ไม่ยอมเชื่อ และเขาก็คัดค้านว่าทำไมพูดตลบตะแลงกลับไปกลับมาอย่างนี้ ทีนี้เราเป็นพุทธบริษัทเราจะตอบว่าอย่างไรหรือว่าเราจะปฏิบัติของเราเองว่าอย่างไรคือให้ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งให้แก่ตน เพราะว่าคนอื่นเป็นที่พึ่งให้ไม่ได้ นี้ก็เป็นคำตรัส นั้นเอาไปคิดดู และต้องคิดให้มันเสร็จไปเสียตอนหนึ่งก่อนว่า เอาตนเป็นที่พึ่งแก่ตน มีความหมายว่าเพราะคนอื่นมาช่วยทำอะไรให้ไม่ได้ ไม่มีอะไรเป็นสิ่งที่ผู้อื่นจะช่วยทำให้ได้ ต้องทำเอง
ก็ให้เข้าใจไว้ทีหนึ่งก่อนว่าคำว่า ตน ในที่นี้ก็คือสมมติ เป็นสิ่งที่สมมติ คือตนเข้าใจเอาอะไรว่าเป็นตัวตนก็ให้เอาสิ่งนั้นแหละเป็นเครื่องทำที่พึ่งให้แก่ตน ทั้งที่ทุกสิ่งมิใช่ตน แล้วก็ไปได้อย่างน้ำขุ่นๆ ไปว่า ขันธ์ ๕ นี้ มิใช่ตน ขันธ์ ๕ นี้เป็นทุกข์ เอาขันธ์ ๕ นี้มาทำที่พึ่งให้แก่ตน เป็นไปอย่างน้ำขุ่นๆ แล้วก็ฟังไม่ค่อยจะได้
ทีนี้อยากจะอธิบายให้เห็นตามที่มองเห็นจากพระพุทธภาษิตนี้ ซึ่งถ้าคิดให้ดี ถ้าใครๆ คิดให้ดีก็จะมองเห็นอีกเหมือนกัน แล้วก็มีทางที่จะทำได้ คือมันกลายเป็นมีหลักว่าถ้าจะเอาตนเป็นที่พึ่งแก่ตน เดี๋ยวนี้ตนสมมติทั้งนั้นนะ เข้าใจผิดว่าตน สมมติสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าตน ถ้าจะเอาตนนั้นเป็นที่พึ่งแก่ตน เช่นว่าจะเอาเป็นขันธ์เป็นตัวตนนี่ หรือจะเอา วิญญาณเอาปัญญา มาเป็นตัวตนก็ตามใจ มันแคบเข้ามา ก็จงพยายามทำให้ตนนั้นมันมีความเห็นว่าความทุกข์ ฟังให้ดีๆ นะ ว่าความทุกข์นี้เกิดมาจากการเห็นการเข้าใจว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวตน ให้ตนโง่ๆ นั้นทำไปๆ จนมีความเห็น มีปัญญาเกิดขึ้นว่าความทุกข์เกิดมาจากการเห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวตน
นี่ประโยคนี้ต้องจำให้แม่นนะ ความทุกข์เกิดมาจากการเห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวตน ทบต้นอีกทีหนึ่งว่าเราเห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวตน คือสำคัญมั่นหมายว่าขันธ์ ๕ นี้เป็นตัวตน นี้คือความโง่ความเข้าใจผิด เป็นอุปาทานว่าขันธ์ ๕ นี้เป็นตัวตน ทีนี้จะให้ขันธ์ ๕ ตัวตนสมมตินี้เป็นที่พึ่งแก่ตนอย่างไร ก็จงทำไปอบรมไปๆ จนขันธ์ ๕ นั่นเองเกิดปัญญาขึ้นมาว่าความทุกข์เกิดมาจากการเห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวตน เพราะเห็นว่าขันธ์ ๕ เพราะยึดมั่นว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวตน ความทุกข์จึงเกิดขึ้น ฉะนั้นจงทำ ทำๆ ทุกอย่างทุกประการให้ขันธ์ ๕ นั้นมันเป็นผู้เห็นผู้รู้ขึ้นมา ว่าความทุกข์มาจากการเห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวตน นี่พูดให้มันง่ายๆ ก็ว่าทำให้ขันธ์ ๕ มันเกิดสติปัญญาขึ้นมาว่าเพราะมึงเห็นว่ามึงเป็นตัวตนนั่นแหละคือความทุกข์ นี่ขันธ์ ๕ จะทำอย่างไร คือขันธ์ ๕ มันฉลาดขึ้น แล้วขันธ์ ๕ มันรู้ว่าทุกข์เกิดมาจากการที่ตัวกูเห็นว่าตัวกูเป็นตัวตน
นี่นัยยะแห่งพระพุทธสุภาษิตแสดงอยู่อย่างนี้ เท่าที่สังเกตเห็นเท่าที่ค้นได้ แล้วนั่นแหละคือทำตนให้เป็นที่พึ่งแก่ตน ขันธ์ ๕ กำลังโง่กำลังหลงว่า เราเป็นเรา เราเป็นตน ทีนี้จะให้ตนโง่ๆ นั้นช่วยตนเองอย่างไร ก็คือให้ตนโง่นั้น พยายามไปพิจารณาไปจนเห็นว่า เอ้า,ความทุกข์เกิดมาจากการที่กูเห็นว่าตัวกูเป็นตัวตน
คำว่าขันธ์ ๕ ทีนี้เรียกได้ว่าเป็นสมมติของบุคคลคนหนึ่ง เพราะบุคคลคนหนึ่งคือขันธ์ ๕ รวมกันเป็นคนๆ หนึ่ง ทีนี้ขันธ์ ๕ นี้ยังเต็มไปด้วยอวิชชา เห็นว่าตนเป็นตน ทั้งรูป ทั้งเวทนา ทั้งสัญญา ทั้งสังขาร ทั้งวิญญาณนั้น มันมีความยึดมั่นอยู่ในนั้นว่าเป็นตนบ้าง มีในตนบ้าง เป็นของๆ ตนบ้าง ตามหลักของการยึดถือ เห็นขันธ์ในตน เห็นตนในขันธ์ เห็นขันธ์เป็นตน เห็นตนเป็นขันธ์ เห็นขันธ์ว่ามีตัวตน เห็นตัวตนว่ามีขันธ์ มันก็มีแต่อย่างนั้นแหละที่เรียกว่ายึดถือ เดี๋ยวนี้มันก็ยึดถืออยู่อย่างนั้นแล้วก็เป็นขันธ์ ๕ ที่โง่ คือเต็มไปด้วยอวิชชาและก็มีความทุกข์ ทีนี้ถ้าให้มันช่วยตัวมันเอง มันก็จะต้องตั้งต้นด้วยการรู้จักความทุกข์ ความทุกข์เกิดขึ้นทีหนึ่งเพราะการยึดมั่นถือมั่นนี้มันต้องฉลาดสักหน่อย พอให้รู้จักความทุกข์ว่าเกิดขึ้นทุกทีที่มีการยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน นี่มันจะเริ่มเป็นที่พึ่งให้แก่ตน ตนโง่ๆ จะเป็นที่พึ่งให้แก่ตนที่โง่ๆ
วิธีปฏิบัติก็คือทุกคน ขอให้สังเกตดูให้ดีๆ พอความทุกข์เกิดขึ้น แล้วพยายามจับให้ได้คือมองให้เห็นว่ามันเกิดมาจากความยึดมั่นขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวตน หลักอย่างที่เรียกว่าเบื้องต้นที่สุดหรือว่าหยาบๆ ที่สุดก็คือคอยดู คอยสังเกตเมื่อมีความทุกข์ สังเกตให้เห็นว่าความทุกข์นี้เกิดมาจากความยึดมั่นขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวตน จะเป็นความทุกข์ที่เนื่องมาจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย หรือว่าจะเป็นความทุกข์ที่มาจากโสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสทั้งหลายอะไรก็ตามใจ ความทุกข์ทุกชนิดนี้แต่ละชนิดจะต้องเกิดมาจากความยึดมั่นขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวตน เช่นยึดมั่นว่าความเกิดของตนก็เป็นทุกข์เพราะความเกิดนั้น ความเกิดของขันธ์ ๕ ยึดมั่นว่าความแก่เป็นของตนมันก็เป็นความทุกข์ขึ้นมา ว่าความตายเป็นของตนก็เป็นความทุกข์ขึ้นมา ถ้ามันมิได้ยึดว่าความเกิดเป็นของตน ความแก่เป็นของตน ความตายเป็นของตน มันก็ไม่มีความทุกข์หรอก ทั้งที่มันเกิด แก่ ตาย อยู่นี้ มันไม่มีความทุกข์ ฉะนั้นพระอรหันต์จึงไม่มีความทุกข์เพราะการเกิด แก่ ตาย เพราะมิได้ยึดมั่นความเกิด แก่ ตายว่าของตน
ทีนี้เรื่องเบ็ดเตล็ด โสกะ ความโศกเศร้า ปริเทวะ ร่ำไรรำพัน ทุกข์กายทุกข์ใจ โทมนัส เหือดแห้งใจนี้ก็เหมือนกัน มันต้องไปยึดอะไรเข้าด้วยความเป็นตัวตน แล้วจากนั้นมันวิบัติพลัดพรากตายไป หรือว่าไม่ได้อย่างใจอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะต้องเกิดความทุกข์เบ็ดเตล็ดชนิดนี้ขึ้นมา เพราะฉะนั้นจะต้องมีสติพิจารณาทันท่วงทีอยู่เสมอเมื่อเกิดความทุกข์ ให้เห็นว่าความทุกข์นี้เกิดมาจากความยึดมั่นขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวตน แต่เรื่องมันสลับซับซ้อน บางทีมันเป็นขันธ์ ๕ ข้างนอก มันเป็นขันธ์ ๕ ข้างใน บางทีมันเนื่องกันอยู่ เช่นว่าพ่อของเราตายแล้วเราเป็นทุกข์ ความยึดมั่นนั้นก็ยึดมั่นว่าพ่อของเรา คือยึดมั่นว่าของเรา ยึดมั่นขันธ์ ๕ ที่เป็นพ่อเราว่าเป็นพ่อของเรา นี้ก็ยึดมั่นว่าของเรา
ทีนี้การยึดมั่นว่าของเรามันมีไม่ได้ถ้าไม่มีการยึดมั่นว่าเราอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นมันต้องยึดมั่นว่าเรานี่เป็นเราเป็นตัวเรา เราอยู่ด้วยที่เป็นลูกนี่ ต้องมีเราด้วย ไปยึดมั่นพ่อว่าพ่อของเรา ฉะนั้นของเราต้องตั้งอยู่บนเราเสมอ ฉะนั้นในกรณีที่พ่อตายแล้วเป็นทุกข์ มันก็มีการยึดมั่นสองชั้นหรือสองซ้อน เรายึดมั่นว่าเรามีพ่อ เรามีเราและเรามีพ่อ เราเป็นเราและเรามีพ่อ ฉะนั้นความทุกข์เกิดมาจากการที่เรายึดมั่นเราว่าเรา ยึดมั่นเบญจขันธ์นี้ว่าเราว่าพ่อของเรา เราเสียพ่อของเราไปเราจึงมีความโศกเศร้า ต้องดูให้ดีว่าความยึดมั่นนั้นจะเป็นสองซับสองซ้อนหรือหลายซ้อนก็ได้
ทีนี้เราจะเป็นทุกข์เพราะว่าสุนัขตัวนี้ตาย มันก็ต้องมีตัวเราที่เป็นเจ้าของสุนัข มันจะพ้นจากความยึดมั่นว่าตัวเราไปไม่ได้ เพราะว่าถ้าไม่มีตัวเราแล้วมันไม่มีของเรา ฉะนั้นให้ฉลาดสังเกตศึกษาทุกคราวที่มันมีจิตวิปริตผิดไปจากความปกติไม่สงบ คือมันเป็นทุกข์ แม้แต่นิดหนึ่งก็เถอะ แม้แต่เพียงความหม่นหมองนิดหนึ่งก็เถอะ จะพบว่านี่มาจากความยึดมั่นว่าเราว่าของเรา ความขี้ขลาด ความกลัว ความโกรธความอะไรก็เหมือนกันทั้งนั้น มันรวมอยู่ในเครือเดียวนั้นถ้ายึดมั่น ความโศกเศร้าและความกลัวที่ทำให้เป็นทุกข์ ความเกลียดอะไรที่ทำให้เป็นทุกข์ ความวิตกกังวลอะไรที่ทำให้เป็นทุกข์ มันต้องไปรวมจุดเดียวกันอยู่ที่ตัวเรา คือยึดมั่นเบญจขันธ์นี้ว่าตัวเรา ที่พูดนี้ยังหยาบอยู่ว่า ยังพูดอย่างหยาบๆ ยึดมั่นเบญจขันธ์ว่าตัวเรา ที่จริงความยึดมั่นนั้นมันมิได้แสดงมีลักษณะเหมือนกับว่ามีผู้ยึดมั่น พอมันโง่มันก็เป็นการยึดมั่นอยู่ในตัวความโง่ ฉะนั้นสิ่งใดเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นเพราะโง่ โง่แล้วไปยึดมั่นว่าเรานี่ เรียกว่าสิ่งนั้นมีการยึดมั่นแล้ว ถูกการยึดมั่นยึดมั่นแล้วนี่ มันก็เป็นทุกข์
แต่ถ้าพูดถึงตัวจริงแล้วมันเป็นทุกข์อยู่ในตัวของมันนั่นแหละ เบญจขันธ์ที่มีความยึดมั่น ตัวเบญจขันธ์นั่นแหละเป็นทุกข์ เราเกิดเบญจขันธ์ได้โดยไม่ต้องยึดมั่นก็มี เรื่องนี้ไม่ค่อยสอนกัน ไม่สอนกันเพราะเหตุใดก็ไม่ทราบ แต่ก็ไม่ค่อยสอนกันว่าเบญจขันธ์เฉยๆ ไม่ยึดมั่นไม่ถูกยึดมั่นนั้นก็มีอยู่ เพราะฉะนั้นไม่เป็นทุกข์ ต่อเมื่อมันยึดมั่น คือ ความโง่มันเข้าไปถือเอาอีกทีหนึ่งเป็นความรู้สึกเกิดขึ้นว่าเราหรือว่าของเรา จึงจะมีความทุกข์
เดี๋ยวนี้เราไม่รู้จักแม้แต่สิ่งที่เรียกว่าเบญจขันธ์ เราอ่านแต่หนังสือได้ยินคำๆ นี้ ได้ยินคำเหล่านี้แล้วก็จำได้ แต่ตัวจริงเราไม่รู้จัก แล้วเราจะรู้จักความทุกข์ได้อย่างไร แล้วก็พูดลมๆ แล้งๆ ไปเท่านั้นเอง แม้จะมาสวดอยู่เสมอว่าเบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานเป็นตัวทุกข์ ก็สวดไปสิ มันก็ไม่รู้จักว่าทุกข์อย่างไร หรือขันธ์นั้นอย่างไร เพราะไม่รู้ว่าขันธ์คืออย่างไรเสียแล้ว แล้วจะไปรู้ว่าทุกข์คืออย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นต่อไปนี้มันก็จะต้องเลื่อนขึ้นไปถึงการที่ทำให้รู้ว่าขันธ์นั้นคืออะไร เมื่อไหร่มีขันธ์ และเมื่อไหร่ขันธ์นั้นถูกยึดถือ
เรื่องนี้ก็ได้พูดมามากมายหลายครั้งแล้ว บางคนก็เข้าใจ บางคนก็ไม่เข้าใจ บางคนก็ไม่สนใจจะเข้าใจ คืออวดดี แต่ความจริงแล้วความยากลำบากมันอยู่ที่ตรงนี้ อยู่ตรงที่ว่าเราไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าเบญจขันธ์ เรารู้จักแต่ตัวหนังสือหรือปากมันว่า ฉะนั้นถ้าทบทวนกันอีกสักทีหนึ่งก็จะมีประโยชน์ เพราะเราจะตั้งต้นธรรมปาฏิโมกข์กันใหม่ คำว่าขันธ์ ๕ ก็ต้องแม่นยำว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทีนี้มันเกิดเมื่อไหร่ มิได้เกิดอยู่ตลอดเวลา อาจจะเรียนมาผิดแล้วอาจจะสอนมาผิด พวกครูก็สอนมาผิดว่าตัวเรานี้คือขันธ์ ๕ อยู่ตลอดเวลา ถ้าพูดอย่างนี้มันก็ไม่ถูก ถ้ามันเกิดอยู่ตลอดเวลามันก็เป็นสิ่งที่ไม่ต้องดับ หรือมันเป็นสัสสตะไป เป็นสัสสตทิฏฐิว่าไม่มี มันเที่ยงตลอดเวลา ที่จริงจริงขันธ์ ๕ นี้มันก็เกิดเป็นคราวๆ ดับไปเป็นคราวๆ นี้ก็เป็นหลักพุทธศาสนาอันหนึ่งว่าสังขารทั้งหลายนั้นมีเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดา นี่ต้องจำไว้ให้ดี
สังขารทั้งหลาย หมายความว่าสิ่งทั้งหลายที่มันมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งนั้นเรียกว่าสังขาร และสังขารทั้งหลายย่อมมีการเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดา ถ้ามีแต่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เกิดอยู่ตลอดเวลา ก็มิใช่เกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดา ฉะนั้นขันธ์ ๕ นั้นก็คือตัวสังขาร เพราะฉะนั้นมันจะมีการเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา ถ้าเข้าใจว่าเรามีชีวิตเป็นตัวอยู่อย่างนี้ก็เป็นขันธ์ ๕ อยู่ตลอดเวลา เที่ยงอยู่อย่างนี้มันก็ผิดหมด เพราะว่านั่นมันเป็นสัสสตทิฏฐิไปแล้ว ฉะนั้นดูกันว่าขันธ์ ๕ เกิดขึ้นอย่างไรและเมื่อไหร่ มันมีอวัยวะ อายตนะหรือทวารก็แล้วแต่จะเรียก ที่จะให้เกิดเบญจขันธ์นี้ ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่าง เรียกว่าอายตนะ ๖ เรียกว่าทวาร ๖ อะไร ๖ ก็สุดแท้ แต่ว่าเป็นเครื่องมือสำหรับให้จิตนี้มันติดต่อกับสิ่งข้างนอก ใน ๖ อย่างนี้อย่างใดก็ได้และไม่ใช่เกิดทีเดียวครบทั้ง ๖ อย่างได้ มันต้องเกิดทางใดทางหนึ่งเท่านั้น เกิดทีเดียวทั้ง ๖ ทางมันเป็นไปไม่ได้ พอจะเข้าใจได้เองว่ามันเป็นไปไม่ได้ คือเราจะทั้งเห็นรูป ฟังเสียงอะไรทีเดียวครบกันทั้ง ๖ นี้มันไม่ได้ ต้องทำทีละอย่าง ทีละทาง ทีนี้แม้แต่ทำทีละทางนี้ มันก็ครบ มันก็เกิดเบญจขันธ์ได้นั้นแหละ
ยกตัวอย่าง ทางตา ซึ่งมันมีมาก นี่ตาของเรายังดีอยู่แล้วก็ยังลืมอยู่ แสงสว่างมีอยู่ เราก็ทอดสายตาไปเห็นสิ่งนั้นเข้า สิ่งนั้นก็เรียกว่ารูป เช่นเห็นสุนัขตัวนี้ สุนัขตัวนี้ก็กลายเป็นรูปสำหรับตาเห็น แล้วตานี้อยู่ข้างใน สุนัขอยู่ข้างนอก เขาจึงเรียกสุนัขนั้นว่าอายตนะภายนอก เรียกตานี้ว่าอายตนะภายใน ทีนี้อายตนะภายในกับอายตนะภายนอกได้อาศัยกัน คือเห็นมองกันนี่ มันก็เกิดจักษุวิญญาณขึ้นมา นี้ระวังให้ดีนะ เดี๋ยวจะไปเข้าใจว่าจักษุวิญญาณมันเกิดอยู่ก่อนแล้ว ถ้าใครว่าอย่างนั้นหรือใครคิดอย่างนั้นก็ตามใจ มีอิสระที่จะคิด แต่ว่าพระบาลีที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะอาศัยตากับรูปนี้ จึงเกิดจักษุวิญญาณ ทีนี้เรามีตาแล้วก็สัมพันธ์กันกับนี้คือรูปสุนัขนี้ ก็เกิดสิ่งที่เรียกว่าจักษุวิญญาณขึ้นมา มันจึงเห็น เห็นชัด ทีแรกถ้าไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่าจักษุวิญญาณ มันก็ไม่เห็นสุนัขเท่านั้นแหละ ตากับสุนัขได้มีการสัมพันธ์กัน จึงเกิดจักษุวิญญาณ แล้วเห็นสุนัขชัดลงไปว่าเป็นอย่างนี้ๆ เห็นหมด จะเห็นสี เห็นรูปร่าง เห็นอะไรต่างๆ มันเห็น นี้เห็นด้วยจักษุวิญญาณ
ทีนี้มัน ๓ อย่างแล้วนะ ตา อายตนะภายใน รูป อายตนะภายนอก แล้วก็จักษุวิญญาณ ๓ แล้ว นี้ความประจวบกันแห่งสิ่งทั้ง ๓ นี้ เรียกว่าผัสสะ อีกทีหนึ่ง พอมันครบ ๓ อย่างนั้นแล้วก็เรียกว่าผัสสะ คือการสัมผัสด้วยตา โดยอาศัยจักษุวิญญาณลงไปบนนั้นเรียกว่าผัสสะ แปลว่าการกระทบ ทีนี้พอเกิดผัสสะแล้วมันก็จะเกิดเวทนา สำหรับสุนัขตัวนี้สวยหรือไม่สวยนั้น น่าเกลียดหรือไม่น่าเกลียด ทำให้สบายตาหรือทำให้ไม่สบายตา อย่างนี้เรียกว่าเวทนา ทีนี้เวทนาต่อไปนี้ระวัง มันจะแยกทางกันเดิน คือจะเป็นไปในทางมีความทุกข์หรือยังไม่มีความทุกข์ ถ้าเพียงแต่ว่าสบายตาแล้วก็ไม่ได้ยึดถืออะไร หรือว่าไม่สบายตาเป็นสุนัขที่น่าเกลียดแล้วก็ไม่ได้ยึดถืออะไร ก็คิดว่ามีความคิดเกิดขึ้นว่าจะทำอย่างไร จะหลีกไปเสียหรือจะทำอย่างไรก็ได้ เรามีความคิดเกี่ยวกับสุนัขนี้ได้โดยไม่ต้องยึดมั่นให้เกิดกิเลส หรือว่าถ้าเราโง่ไป เราเกิดความยึดมั่น หรือมันเป็นสุนัขที่เราชอบอยู่แล้วมันก็เกิดความคิดอย่างอื่นได้ ตอนนี้ที่ว่าจะเป็นตัณหาหรือไม่ เวทนานี้จะทำให้เกิดตัณหาหรือไม่,ตอนนี้ สุนัขตัวนี้ดีน่ารัก ถ้ามันโง่ไปมันจะเกิดตัณหาที่จะเป็นห่วงวิตกกังวลไม่อยากให้มันตายหรือว่าอยากจะเลี้ยงดูให้ดีหรือว่ากลัวมันจะตายอะไรก็ตามใจ กระทั่งความคิดชนิดไหนก็ตามที่มันเกิดเป็นความยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาแล้วนี้เรียกว่าตัณหาและก็อุปาทาน พอเกิดตัณหาก็ต้องเกิดอุปาทาน นี้มันช่วยไม่ได้
มันกี่อย่างแล้วล่ะ คิดดู ทีแรกมีอายตนะภายใน คือตา อายตนะภายนอก คือรูป ในที่นี้คือสุนัข แล้วเกิดจักษุวิญญาณทางตาเห็นชัดเจนว่าเป็นอย่างไร และเกิดผัสสะเพราะ ๓ อย่างนั้น แล้วก็เกิดเวทนาเพราะผัสสะ และเวทนานี้อีกทางหนึ่งก็ให้เกิดตัณหาให้เกิดอุปาทาน นี่คือจะไปในทางยึดมั่นถือมั่น ทีนี้ทางหนึ่งมิได้เกิดเพราะว่ามันไม่ทำให้เกิดหรือไม่จำเป็นจะต้องเกิดหรือว่าเรามีสติไม่ให้มันเกิด มันก็ไม่เกิดตัณหาอุปาทาน ในกรณีที่จะเกิดตัณหาอุปาทานนี้ จะเกิดเบญจขันธ์ครบ แล้วถูกยึดมั่นด้วย ถ้าไม่ถูกยึดมั่นมันก็เกิดเบญจขันธ์เฉยๆ ไม่เป็นเบญจขันธ์ที่ถูกยึดมั่น เมื่อตาเราเห็นรูปก็เรียกว่าตานี่ซึ่งเป็นรูปนี้ได้ทำหน้าที่แล้ว ตาก็อาศัยกาย กายนี้ก็ได้อาศัยตา กายกับตารวมกันทำหน้าที่ของมัน เราเรียกว่าเดี๋ยวนี้รูปขันธ์ ได้เกิดขึ้นแล้ว ทีนี้เกิดวิญญาณ เกิดผัสสะ เกิดเวทนาแล้วว่า สุนัขน่าเกลียดหรือน่ารักอะไรอย่างนี้เป็นต้น นี้ก็เรียกว่าเวทนาก็เกิดแล้ว
ทีนี้ก่อนจะเกิดเวทนานั้นมันต้องมีสัญญาเกิดก่อนด้วย เมื่อเกิดวิญญาณและเกิดผัสสะแล้วนี้จะต้องเกิดสัญญาขึ้นว่าอย่างนี้มันเรียกว่าสุนัข อย่างนี้เรียกว่าดำ ว่าขาว ว่าสวย ว่าดี ว่าไม่ดี นี่มันต้องเกิดสัญญาขึ้นก่อน เมื่อตะกี้ลืมออกชื่อสัญญานะ พอวิญญาณคือเห็นแจ้งนี้แล้ว สัญญาจะมาช่วยทำให้รู้ว่า เอ้า,นี้มันสุนัข นี้คือตัว สุนัขตัวนี้ชื่อว่าอะไร ของใครอย่างนี้ แล้วก็เกิดเวทนาอย่างที่ว่าน่ารักหรือไม่น่ารัก ก็เกิดสังขาร ความคิดนึกว่าควรจะทำอย่างไร ทีนี้วิญญาณมันก็เกิดอยู่แล้วคือจักษุวิญญาณ
นี้เพียงแต่ตาเห็นรูปสุนัขแล้วมันก็มีการปรุงแต่งในจิตนี้เป็นวิญญาณ จักษุวิญญาณเกิดขึ้น มีวิญญาณเกิดแล้วจะเห็นได้ว่าวิญญาณมาก่อนในพวกจิตนั้น ทางฝ่ายจิต ตากับรูป ฝ่ายรูปนี้เป็นที่ตั้งนะ มันก็ต้องเกิดอยู่แล้ว ทีนี้ฝ่ายจิตวิญญาณมันจะเกิดก่อนว่าสุนัข ว่าเห็นอย่างนี้ๆ วิญญาณมีหน้าที่แต่เพียงเห็นอย่างนี้ๆ เท่านั้นแหละ แต่ก็ไม่รู้ว่าอะไรหรอก ต่อเมื่อสัญญาเกิดขึ้นจึงจะรู้ว่าเอ้า,สุนัขตัวนี้คืออย่างนี้ๆ ว่ามันเป็นสุนัขชื่อนั้น อยู่ที่นั่นหรืออะไรก็ตามแต่ หรือว่าอย่างน้อยว่านี้เรียกว่าสุนัข ก็ยังเรียกว่าสัญญาได้ มันให้เกิดเวทนา ถูกตาหรือไม่ถูกตา แล้วเกิดสังขารคิดนึกอย่างไรเกี่ยวกับสุนัขตัวนี้ มันก็เลยครบเพราะการเห็นสุนัขตัวนี้ รูปลุกขึ้นมาทำหน้าที่เป็นรูปเรียกว่ารูปบังเกิด เวทนาก็เกิด สัญญาก็เกิด สังขารก็เกิด วิญญาณก็เกิด แต่ไม่เกี่ยวกับความยึดถือ ฉะนั้นไม่เป็นทุกข์ ชุดนี้มันเป็นปฏิฆสัมผัส คือสักว่าตามันสัมผัส มันยังไม่ถึงกับว่าจะเกิดกิเลส นี่ตอนนี้ยังเป็นเบญจขันธ์เฉยๆ อยู่ เบญจขันธ์ล้วนๆ ไม่มีอุปาทาน
ทีนี้มันเกิดเวทนาแล้วอย่างที่ว่านี้ และอวิชชาก็มี แล้วเกิดรัก เกิดไม่รัก เกิดอะไรขึ้นในสุนัขนี้ เวทนานั้นก็ทำให้เกิดตัณหาคือกิเลส ตัณหาก็ทำให้เกิดอุปาทานคือกิเลส มันก็จะมีความยึดถือตัวฉันนี้ผู้เห็นสุนัขนี้ หรือว่าสุนัขของฉันอย่างนี้เป็นต้นอย่างที่ว่ามาแล้ว มันจะมีความยึดถือทั้งข้างในและทั้งข้างนอก ยึดถือข้างในนี้ก็เป็นตัวฉันก่อน พออุปาทานว่าสุนัขสวย ฉันอยากจะได้เท่านั้น ตัวฉันก็เกิดแหละ อุปาทานว่าตัวฉันมันก็เกิดที่เบญจขันธ์นี้ว่าเบญจขันธ์นี้คือตัวฉัน และที่สุนัขนั้นว่าของฉัน อย่างนี้เบญจขันธ์ทั้ง ๕ นี้ถูกยึดว่าเป็นตัวฉัน เพื่อจะได้สุนัข เพื่อจะยึดครองสุนัขหรือว่าเพื่อจะอะไรสุนัขก็สุดแท้ มันก็มีความทุกข์
เมื่อพูดโดยละเอียดก็คือว่า เพราะความสวยของสุนัข จิตมันสัมผัสในความสวยของสุนัขอีกครั้งหนึ่ง เขาเรียกว่าอธิวจนสัมผัส ตอนนี้ไม่ใช่สักว่าสัมผัสโขกๆ ลงไปนี่ มันสัมผัสด้วยอวิชชาและความโง่ ด้วยจิตมายึดความน่ารักน่ายินดีต่อสุนัขนี้ หรือแม้แต่เวทนาเพราะได้เห็นสุนัขนี้เกิดขึ้นแล้ว จิตมันยึดถือในเวทนานั้น เป็นความสุขความสบายตาก็ตาม นี่เป็นสัมผัสอีกครั้งหนึ่งด้วยใจ ไม่ใช่ตาสัมผัสรูปแล้วทีนี้ ใจส่วนที่เป็นส่วนสำคัญนั้นมันจะสัมผัสลงบนเวทนาที่เกิดมาจากการเห็นสุนัขนั้น อย่างนี้เบญจขันธ์นี้ถูกยึดถือแล้วว่ามีตัวฉัน คือเห็นสุนัขที่จะต้องเป็นของฉันหรือว่าอะไรก็แล้วแต่เรื่อง เรียกว่าเป็นเบญจขันธ์ที่ถูกยึดถือ มันจึงมีความทุกข์เพราะการยึดถือนั้นว่าสุนัขตัวนี้ต้องเป็นอย่างนั้นต้องเป็นอย่างนี้ ตามความต้องการของฉัน นี่เรียกว่าความทุกข์เกิดขึ้นเพราะยึดขันธ์ ๕ ว่าตนครบบริบูรณ์
นี้มันเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องศึกษาให้เข้าใจ ว่าความทุกข์จะต้องเกิดขึ้นมาเพราะมีการยึดมั่นด้วยอุปาทานในขันธ์ ๕ นั้น ว่าเป็นตัวตน ว่านั้นเป็นของตน ทางตาก็เกิดได้อย่างนี้ แล้วทางหูก็เกิดได้อย่างนี้ ทางจมูกก็เกิดได้อย่างนี้ ทางลิ้นที่รู้รสอาหารก็เกิดได้อย่างนี้ ทางผิวหนังสัมผัสไปถูกนั่นถูกนี่ก็เกิดได้อย่างนี้ ทางใจล้วนๆ ก็เกิดได้อย่างนี้ ทางใจล้วนๆ นั้นมันก็เกิด ๒ ชั้นเหมือนกัน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายต้องเกิด ๒ ชั้นอย่างนี้ เห็นอย่างนี้ทีแล้วใจมันไปสัมผัสอยู่บนเวทนานั้นอีกที ถ้าเกิดทางใจล้วนๆ ก็ว่า สุนัขไม่ได้นอนอยู่ที่นี่ แต่อาศัยความจำความนึกระลึกถึงมัน เห็นในภาพระลึกด้วยมโนกับกามารมณ์ สัญญาที่เป็นกามารมณ์ล้วนๆ แล้ว เสร็จไปทีหนึ่งแล้วจึงเกิดความรู้สึกอย่างเดียวกันกับที่มันนอนอยู่ทีนี่อีกทีหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ใช้สัญญาหรือความจำเท่านั้น
ฉะนั้นจึงเป็นอันว่าทั้ง ๖ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้เกิดขันธ์ ๕ ได้ก่อน และให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ นั้นได้ทั้งนั้น พอเกิดความยึดมั่นถือมั่นแล้วก็เป็นทุกข์แหละ เพราะฉะนั้นมันจึงมีบทฟอร์มูล่า(formula)ตายตัวว่า ทุกข์เกิดเพราะการยึดมั่นขันธ์ ๕ ว่าเป็นตน นี้เป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่ในทุกอย่างทุกสิ่งประจำวัน ถ้าเพียงแต่เห็น เห็นรู้เรื่องว่าอะไรแล้วก็เลิกกัน แล้วไม่มีการยึดมั่น มันก็ไม่เป็นทุกข์ คือขันธ์ ๕ นั้นไม่ถูกยึดมั่นว่าเป็นตัวฉัน ผู้เห็น ผู้ได้ ผู้รู้ ผู้อะไรขึ้นมา นี่เราวันหนึ่งๆ เราก็เห็นและก็ได้ยินเสียงแต่ไม่ได้เกิดทุกข์ อย่าเข้าใจว่าพอตาเห็น หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่นแล้วจะเป็นทุกข์ไปหมด มันต้องยึดมั่นอีกทีหนึ่ง เดี๋ยวนี้คุณเหลือบตาไปทางนั้นเห็นต้นไม้เห็นอะไรเห็นเต็มไปหมดเลย แล้วทำไมไม่เป็นทุกข์ล่ะ แม้เห็นว่าต้นไม้ต้นนี้สวยมันก็ยังไม่เป็นทุกข์ เพราะมันเฉยได้ มันไม่ได้ยึดมั่นเลยโดยอุปาทาน ต่อเมื่อมันมีอะไรมาทำให้เกิดยึดมั่นด้วยอุปาทาน มันจะเป็นเป็นทุกข์ไปได้หมด แม้แต่ก้อนดินสักก้อนหนึ่ง เดี๋ยวนี้เรามองเห็นตึกหลังนี้ มันก็เห็นเท่านั้นแหละ มันมีความคิดเกี่ยวกับตึกหลังนี้ก็ได้ แต่มันไม่มีความยึดมั่น เพราะฉะนั้นมันไม่ทุกข์
ฉะนั้นจำไว้ให้ดี อย่าเอาไปปนกันในระหว่างขันธ์ที่มีความยึดมั่นกับขันธ์ที่ไม่มีความยึดมั่น ความทุกข์มาจากเบญจขันธ์ที่มีความยึดมั่นว่าตัวตน ถ้าไม่ศึกษาให้เข้าใจตอนนี้แล้วไม่มีทางจะเข้าใจสิ่งอื่นต่อไปได้ เพราะว่าไม่รู้จัก สิ่งที่เรียกว่าขันธ์ ๕ ฉะนั้นตั้งต้นกันใหม่ พยายามกันใหม่ให้สุดความสามารถให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าขันธ์ ๕ มันเกิดเมื่อไหร่ มันเกิดเมื่อไหร่ก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ ทางจมูกก็ได้ ทั้ง ๖ ทางนั้นมันเกิดได้ แล้วเมื่อไหร่ก็ได้ มันเกิดขันธ์ ๕ ขึ้นมาได้ ทีนี้มันก็มีปัญหาอีกชั้นหนึ่งว่า เกิดขึ้นมาแล้วมันถูกยึดถือว่าตัวเราหรือของเราหรือไม่นั่นแหละ เท่านั้นเอง ถ้ามันเกิดความยึดถือขึ้นมาด้วย เป็นมีความทุกข์แน่ ช่วยไม่ได้
นี่รู้จักศึกษาเพียงเท่านี้ว่าขันธ์ ๕ เกิดแล้วหรือยัง เกิดแล้วถูกยึดถือเป็นตัวตนหรือไม่นี่ ทีนี้ตามันก็ลืมอยู่ ทุกคนยังลืมตาอยู่ไม่ได้หลับ มองไปทางไหนก็เห็นภาพทั้งหลายเหล่านี้ เรียกว่าตาเห็นรูปแล้ว วิญญาณก็เกิดแล้ว สัญญาก็เกิดแล้ว ว่านั่นต้นลั่นทม นั่นต้นสาละ นั่นต้นหลิว นั่นต้นสน สัญญาก็เกิดแล้ว ก็รู้ว่านั่นคือต้นสน แล้วความคิดที่จะคิดเกี่ยวกับต้นนี้ก็ยังคิดได้ว่าจะทำอย่างไรดี หรือว่ามันชวนให้เกิดความคิดอย่างใดก็ได้แต่ยังไม่ยึดถือ ยังไม่เป็นความยึดถือ นั่นรูปก็ทำหน้าที่แล้ว เวทนาก็เกิดแล้ว น่ารักหรือไม่น่ารักต้นไม้เหล่านี้ สัญญาก็เกิดแล้ว ก็จำได้ว่าต้นอะไรๆ สังขารก็คิดแล้ว วิญญาณก็เกิดตั้งแต่ตาเห็นแล้ว นี่ขันธ์ ๕ เกิดแล้ว ทีนี้ขันธ์ ๕ นี้มันไม่ถูกยึดถือสิ ถ้ามันจะถูกยึดถือก็เช่นว่าต้นไม้ต้นนี้มันต้องสำคัญมาก มันมีประโยชน์แก่เรา เราต้องรักษา เราต้องหวงแหนและเกิดวิตกว่าปลวกมันจะกินที่โคนนี่ นี่ความคิดมันจะปรุงไปในทางยึดถือแหละ พอคิดว่าปลวกมันจะกินที่โคนเท่านั้นแหละ ฉะนั้นระวังให้ดีเถอะ มันจะอวิชชาหรือไม่อวิชชา ถ้าอวิชชามันจะต้องเป็นทุกข์แล้ว จะต้องรู้สึกห่วงวิตกกังวล จิตใจผิดปกติแล้วไม่มากก็น้อย แต่ถ้าว่ามีสติสัมปชัญญะ มีปัญญา มีวิชชา ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ไม่วิตกไม่กังวล ถ้าปลวกจะกินที่โคนก็ไปดูสิ จะรักษาหรือป้องกันอะไรก็ทำไปสิ อย่าได้เกิดเป็นตัวตนที่เป็นเจ้าของที่จะได้หรือที่จะเสีย หรือว่าจะได้หรือจะเสียนี่สำคัญ
เดี๋ยวนี้เรามองสายตาไปรอบๆ ด้าน เราเห็น เรารู้สึก เราคิดนึก แต่ความคิดที่ว่าจะได้หรือจะเสียมันไม่เกิด เข้าใจไหม เพราะตามันก็ลืมอยู่มันหลับไม่ได้ ตามันก็เห็นอยู่มองไปรอบด้าน ก็จำได้ว่าต้นไม้ต้นอะไร สบายตาหรือไม่ คิดก็คิดเกี่ยวกับที่เห็นๆ อยู่นี้ แต่เพียงเท่านี้มันเกิดขันธ์ ๕ ล้วนๆ ยังไม่มีการยึดมั่นในเวทนาที่เกิดในขันธ์ ๕ ชุดนี้ ทีนี้ถ้าจิตมันเกิดขึ้นมาอีกรูปหนึ่ง มันเกี่ยวกับเรื่องได้เรื่องเสียแล้วโดยเฉพาะเข้าใจได้ง่ายว่าเราจะเสียต้นไม้ต้นนี้ไปหรือว่ามันจะยังดีอยู่อะไรก็ตาม นี่ระวัง มันจะเกิดอุปาทาน มีฉันเป็นผู้เสียแล้ว และก็กลัวแล้ว และมีฉันเป็นผู้ได้ในขณะเกิดความโลภ ความทะนง ความยินดี ยกหูชูหางแล้ว มันก็เป็นอุปาทานแล้ว ทางหูก็เหมือนกัน ไปคิดเอาเอง นี้เรายกตัวอย่างกันแต่เพียงทางตาอย่างเดียวก็แย่แล้ว ยังเข้าใจได้ไม่ทุกชั้น
นี่ขอเตือนขอย้ำอีกทีหนึ่งว่าให้ไปศึกษาเสียใหม่ ทำความเข้าใจเสียใหม่ให้รู้ว่าขันธ์ ๕ เกิดเมื่อไหร่ และเกิดอย่างไร ทีนี้พอมันสิ้นเรื่องของมันแล้ว มันดับไปอย่างไร ความรู้สึกต่อการเห็นสุนัขตัวนี้เมื่อตะกี้แล้วมันจะดับลงไปอย่างไร ไม่เกี่ยวกับความคิดว่าฉันอีกต่อไป นี้เรียกว่ามันดับไป ขันธ์ ๕ ล้วนๆ ไม่มีอุปาทานยึดครองมันก็ดับไป และดับไปได้โดยง่าย ดับแป๊บๆ แป๊บๆ ผ่านไปเลย จนเห็นเท่านี้ เห็นเท่านี้ เห็นเท่านี้ มันเกิดดับ เกิดดับ แต่ถ้ามันเป็นขันธ์ ๕ ที่ถูกยึดถือแล้วมันดับยาก มันจะกระวนกระวาย จะปั่นป่วนอยู่ในใจ จะผูกพันมั่นหมาย จะวิตกกังวล ดับได้ยาก นานพอสมควรแล้วมันจึงจะดับ เช่น เราเกิดโลภขึ้นมา เกิดโกรธขึ้นมา เกิดหลงใหลขึ้นมานี้ มันต้องกินเวลานานกว่ามันจะดับ แต่ถ้าสักว่าเห็น สบายตาหรือไม่สบายตาเท่านี้มันดับได้ง่ายๆ เห็นสุนัขแล้วเห็นสิ่งอื่นต่อไปได้ เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับได้ง่าย เหมือนกับดูต้นไม้นี้ แล้วดูต้นนี้ แล้วดูต้นนี้มาเป็นแถวนี่ นี่จะมีเกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ พอเห็นต้นนี้เกิดความรู้สึกว่าต้นสน เห็นต้นนี้เกิดความรู้สึกว่าต้นลั่นทม มันก็รู้มาตามสัญญาตามนั่น พอให้มีเวทนาสบายใจหรือไม่สบายใจได้นิดหนึ่งๆ นี่เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ ไปตามที่มันละไปโดยเร็ว แต่พอต้นไหนเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือของมันแล้ว มันจะหยุดอยู่ที่นั่นนาน แล้วก็มีความรู้สึกประเภทที่เรียกว่าเป็นทุกข์หรือหนักใจ หนักใจขึ้นมาด้วยความรักหรือหนักใจด้วยความโกรธหรือหนักใจอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับได้เกี่ยวกับเสียนี่ ให้ดู ให้เห็น ไม่ใช่ไปดูด้วยตา ไปพิจารณาด้วยใจให้เห็นว่าขันธ์ ๕ คืออย่างนี้ เกิดอยู่อย่างนี้ วันหนึ่งๆ เกิดอย่างนี้ แล้วเกิดมากที่สุด แล้วก็มีน้อยเรื่องที่สุดที่จะยึดมั่นถือมั่นจนเป็นทุกข์ มันมีน้อย เหมือนอย่างว่าเห็นคนที่เกลียดน้ำหน้า เป็นศัตรูคู่เวร ไม่ชอบน้ำหน้า ผ่านมานี้ เห็นแล้วนี่ มันเอาไว้ไม่อยู่ คนธรรมดาจะเอาไว้ไม่อยู่ พอเกิดขันธ์ ๕ ชุดแรกแล้วจะเกิดความยึดมั่นลงบนขันธ์ ๕ ชุดนั้น มึงเป็นศัตรู กูเป็นศัตรู มันก็เป็นอุปาทานเต็มที่แล้วมันเป็นทุกข์เต็มที่ แต่ถ้าเห็นคนธรรมดาเดินมา มันเป็นแต่ว่าคนเดินไปเท่านั้นแหละ ก็เห็นได้ รู้สึกได้ มีเวทนาทางตาได้ คิดนึกก็คิดได้ แต่ไม่คิดแบบอุปาทาน
ฉะนั้นขอให้ไปสังเกตเป็นข้อแรก เป็นบทเรียน ก. ขอ ก.กา วันแรกว่าจะลองรู้เรื่องขันธ์ ๕ และขันธ์ ๕ คืออะไร และเกิดขึ้นมาอย่างไรและดับไปอย่างไร และชนิดที่ถูกยึดมั่นถือมั่นนั้นรุนแรงอย่างไรและดับยากอย่างไร พอรู้อย่างนี้ดีแล้ว ก็จะรู้ เอ้า,ความทุกข์เกิดขึ้นเพราะขันธ์ ๕ ที่ถูกยึดถือว่าเป็นตัวตน ก็รู้จักตัวตนว่าเป็นมายาเพราะยึดถือขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ เป็นที่ตั้งแห่งตัวตน ยึดถือว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวตน ขันธ์ ๕ มันก็เป็นตัวตนขึ้นมา จะตนเป็นขันธ์หรือขันธ์เป็นตน หรือแม้ที่ว่ามีตนในขันธ์ มีขันธ์ในตน มันก็ได้เหมือนกันแหละ มันเป็นตนขึ้นมาที่ขันธ์ ๕ มันก็มีทุกข์
ทีนี้จะให้ตนเป็นที่พึ่งแก่ตนมีทางเดียวเท่านั้นแหละ คือฝึกฝนอบรมให้มันเกิดสติปัญญาขึ้นมาในขันธ์ ๕ เห็นว่าความทุกข์นี้เกิดขึ้นเพราะยึดถือขันธ์ ๕ ว่าเป็นตน ฉะนั้นขันธ์ ๕ มันก็จะกลายเป็นครูขึ้นมาทันที สอนให้รู้ว่านี้คือความทุกข์แหละ แล้วขันธ์ ๕ นั่นเองมันเป็นประโยชน์ขึ้นมาทันที พอเรามีปัญญารู้ว่าเพราะเรายึดถือขันธ์ ๕ เป็นตนมันเป็นทุกข์นี้ ขันธ์ ๕ มันกลายเป็นที่พึ่งและกลายเป็นประโยชน์ขึ้นมาทันที คือมันทำให้เรารู้ว่ามันเป็นทุกข์เพราะเหตุนี้ ขันธ์๕ มันก็เลยช่วยเป็นที่ตั้งของความรู้ว่า เอ้า,ผิดแล้ว แล้วตัวมันเองที่ว่าเป็นทุกข์นั่นแหละมันก็หายเป็นทุกข์ได้ เพราะมันช่วยตัวมันเอง ในขันธ์ ๕ มันไม่เป็นขันธ์ ๕ ที่ถูกยึดถือเสียแล้ว มันเป็นขันธ์ ๕ ที่เต็มไปด้วยวิชชา แสงสว่าง ปัญญา ขันธ์ ๕ มันช่วยตัวมันเองได้อย่างนี้ทั้งที่มันไม่ใช่ตน จึงเรียกว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตนทั้งที่ตัวตนมิได้มี สิ่งที่เรียกว่าตัวตนมิได้มีอยู่จริงแต่ความทุกข์ก็ได้เกิดขึ้น และความดับทุกข์ก็มีได้ทั้งที่ขันธ์ ๕ มิใช่ตน
นี้เป็นทั้งหมดของพุทธศาสนา เข้าใจก็เข้าใจ ไม่เข้าใจก็ไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจก็จะมัวแต่ฉงนกันอยู่ว่าไม่มีตนแล้วมันจะมีอะไรเกิดขึ้นได้ ใครจะได้อะไร ใครจะเสียอะไร มันก็เข้าใจไม่ได้ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านไม่ตรัสเรื่องได้เรื่องเสียเรื่องอื่น ตรัสแต่เรื่องทุกข์ พอเกิดอุปาทานขึ้นมาในขันธ์ ๕ ยึดถือขันธ์ ๕ แล้วก็เป็นทุกข์ ถ้าไม่เกิดก็ไม่เป็นทุกข์ ฉะนั้นจึงเรียกว่าเอาตนเป็นที่พึ่งแก่ตน ก็ทำตนให้รู้ว่าความทุกข์เกิดขึ้นเพราะยึดถือขันธ์ ๕ ว่าเป็นตน เพราะยึดถือตัวมันเองนั่นแหละว่าเป็นตน เมื่อจิตยึดถือตัวจิตเองว่าเป็นตน มันก็มีความทุกข์ เราทำให้จิตรู้ว่าความทุกข์เกิดขึ้นเพราะจิตยึดถือตัวเองว่าเป็นตน และจิตก็ไม่กล้ายึด ความทุกข์ก็ไม่เกิด
มองกันในแง่หนึ่ง ก็เป็นเรื่องเหลวคว้างเท่านั้น ไม่มีตัวตนอะไร เป็นมายาอย่างยิ่งไปทุกสิ่งทุกอย่าง เรียกว่า มายาอย่างเหลวคว้าง ความทุกข์ก็มิได้มี ตัวตนก็มิได้มี อะไรก็มิได้มี เพราะว่ามันมิใช่ตน แต่ตามความรู้สึกมันไม่รู้สึกอย่างนั้น ถ้าเป็นทุกข์มันก็เจ็บปวดเหลือประมาณ แล้วมันก็เป็นตัวเป็นตนเพราะมันทำให้เกิดเรื่อง มันมีเรื่อง แล้วเรื่องมันมีได้เพราะมีอวิชชา มีอุปาทาน คือมีความโง่แล้วไปยึดมั่นถือมั่น จะว่าไม่มีตนได้อย่างไรเพราะมันเจ็บกำลังเจ็บปวด กำลังเป็นทุกข์อย่างยิ่ง จนกว่าเมื่อเห็นจริงแล้วก็เอ้า,ก็เลยไม่ใช่ตนกัน ความทุกข์ก็มิใช่ตน ขันธ์ ๕ ก็มิใช่ตน กิเลสทั้งหลายก็มิใช่ตน นั่นแหละคือข้อที่ว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็ตรัสถูกต้องแล้วว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงมิใช่ตน พระพุทธเจ้ามิได้ตรัสผิดและเราก็เห็นว่าพระพุทธเจ้ามิได้ตรัสผิด และอีกทีหนึ่งพระพุทธเจ้ามาตรัสว่าตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งแก่ตน นี้มันก็ถูกอีกเหมือนกัน ถูกเท่ากันเลย อย่างที่ว่ามาแล้ว ให้ทำให้เกิดความเห็นขึ้นในตนว่าความทุกข์เกิดขึ้นเพราะเห็นขันธ์ ๕ เป็นตน มันก็เลยตนเป็นที่พึ่งแก่ตนขึ้นมา
ถ้าเราไปพูดกับพวกอื่นเขาก็ไม่เชื่อสิ ถ้าเขาถือเหตุผลง่ายๆ ถือเหตุผลตามกฎตามตรรกะของลอจิก(logic) เขาก็ไม่เชื่อ พูดโกหกกลับไปกลับมาเท่านั้นเอง แล้วก็เลยไม่เชื่อเสียทั้งสองอย่างเลย หรือถ้าไปพูดกับพวกฝรั่งเจ้าความคิดเรื่องตรรกะเรื่องลอจิกนี้ มันก็ไม่เชื่อ เมื่อตะกี้พูดว่าทุกอย่างมิใช่ตนแล้ว ทำไมมาให้ดับทุกข์ของตนด้วยตน มันไม่เชื่อ บ้า,คนนี้ ไม่สนใจเลย แต่เราทำอย่างนั้นไม่ได้ คือเราต้องพยายามเข้าใจความหมายของคำที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสนี้ทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายที่บอกว่าทุกสิ่งมิใช่ตน แล้วอีกฝ่ายหนึ่งกลับว่าจงมีตนเป็นที่พึ่งของตน มีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ ทีนี้ก็เหลืออยู่แต่ประโยคที่ ๒ ที่ว่าจงมีธรรมเป็นที่พึ่ง จงมีธรรมเป็นสรณะ มันแฝดกันมาเลย พระบาลีนี้จะแฝดกันมาเลยว่าจงมีตนเป็นที่พึ่ง จงมีตนเป็นสรณะ นั่นคือจงมีธรรมเป็นที่พึ่ง จงมีธรรมเป็นสรณะ
ถ้าสามารถทำตนให้เป็นที่พึ่งเป็นสรณะได้แล้ว นั่นก็คือทำให้ธรรมะเป็นที่พึ่ง ธรรมะเป็นสรณะ เพราะว่ารู้ธรรมเห็นธรรมบรรลุธรรมว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตน ทุกข์เกิดขึ้นเพราะไปยึดว่าตนนี้ รู้อย่างนี้เรียกว่ารู้ธรรม เห็นธรรม ถึงธรรม บรรลุธรรม เพราะฉะนั้นธรรมนั้นมันก็เลยเป็นที่พึ่งแก่ตนขึ้นมาทันที เป็นสรณะแก่ตนขึ้นมาทันที ถึงพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสอย่างนั้นว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตน เป็นคำเดียวกับธรรมะเป็นที่พึ่งแก่ตน ตนกับธรรมเลยเป็นตัวเดียวกันเลย ทั้งที่ตรัสว่าธรรมทั้งหลายมิใช่ตนนั่น หรือว่าตนมิได้มีอยู่ แต่ในกรณีอย่างนี้กลับตรัสว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตน ธรรมเป็นที่พึ่งแก่ตน เพราะว่าทำให้ธรรมะปรากฏมาขึ้นในใจนี้ ตนมันหายไป ธรรมก็เหลือแต่ธรรมมิใช่ตน เหลือแต่ธรรมทั้งหลายคือเป็นธรรมชาติมิใช่ตน ตนหายไป นี่ตนมันทำตนให้เป็นที่พึ่งแก่ตัวมันเองได้โดยการทำให้ตนนั้นหายไป เพราะมารู้ว่าทุกข์ทั้งหลายเกิดมาแต่การยึดถือขันธ์ทั้ง ๕ ว่าเป็นตัวตน
นี้คือเบสิค(basic) คือว่าประโยคแรกที่จะเป็นรากฐานของการศึกษาธรรมะต่อไปอีกมากมาย คือให้รู้ว่าธรรมทั้งปวงสิ่งทุกสิ่งมิใช่ตน แล้วไปยึดถือว่าเป็นตน ทีนี้จะดับได้ก็ต้องอาศัยตนนั่นแหละมาทำให้ตนมันรู้ว่าทุกข์เกิดขึ้นเพราะยึดถือสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นตน ถ้าไม่เข้าใจก็จะฟังไม่รู้เรื่อง แล้วฟังเป็นขัดกันอยู่ในตัว แต่แล้วเนื่องจากว่าพุทธศาสนามันมีเท่านี้ มันมีเพียงเท่านี้ ไม่มีมากไปกว่านี้ ฉะนั้นเราก็พอจะมีเวลา ๑ เดือนปี ๑ ปี ๒๐ ปี ศึกษาเพียงข้อเดียวนี้ให้มองเห็นได้ มันไม่มีอันอื่นไม่มีเรื่องอื่น หรือจะลงมือศึกษาอันแรกที่สุดก็ให้รู้จักขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คืออะไร เกิดเมื่อไหร่ ดับเมื่อไหร่ เกิดเมื่อไหร่ ดับเมื่อไหร่ แล้วขันธ์ ๕ อีกชนิดหนึ่งก็คือขันธ์ ๕ ที่ถูกยึดมั่นด้วยอุปาทานว่าเป็นตัวตน ถ้ามีบาลีว่า ปญฺจกฺขนฺธา รูปกฺขนฺโธ เวทนากฺขนฺโธ สญฺญากฺขนฺธโธ สงฺขารกฺขนฺโธ วิญฺญาณกฺขนฺโธ นี้ก็แปลว่า ขันธ์มี ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่ขันธ์ ๕ เปล่าๆ ขันธ์ ๕ ล้วนๆ
แต่ถ้าไปเกิดว่า ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา รูปูปาทานกฺขนฺโธ เวทนูปาทานกฺขนฺโธ สญฺญูปาทานกฺขนฺโธ สงฺขารูปาทานกฺขนฺโธ เหมือนที่สวดตอนเช้านั่น วิญฺญาณูปาทานกฺขนฺโธ นี้คือขันธ์ ๕ ที่ถูกยึดมั่นแล้ว และต้องเป็นทุกข์แน่ พูดว่ารูปขันธ์เฉยๆ ไม่เป็นทุกข์ แต่ถ้าพูดว่ารูปูปาทานขันธ์แล้ว เป็นทุกข์ เพราะว่ายึดมั่นเสร็จแล้ว และเป็นทุกข์เพราะรูปนั้นแล้ว พูดว่าเวทนาขันธ์เฉยๆ ยังไม่เป็นทุกข์ ต้องพูดชัดลงไปว่าเวทนูปาทานขันธ์จึงจะเป็นทุกข์ เพราะเวทนานั้น นี่จำคำว่าอุปาทานะไว้ให้ดี เอาไปเติมเข้าที่ไหนเป็นทุกข์ที่นั่น ขันธ์ ๕ ล้วนๆ ไม่เป็นทุกข์ ขันธ์ ๕ ที่ประกอบด้วยอุปาทานเป็นทุกข์ นี้เป็น ก.ขอ ก.กา สำหรับเรียนธรรมะ แล้วก็เป็นหัวใจด้วย นี้ธรรมปาฏิโมกข์ซึ่งผมถือว่าต้องทบทวนสอบสวนอยู่เสมอเพราะมันเข้าใจยาก เมื่อไม่เข้าใจแล้วมันลืม พูดเสร็จมันก็ลืมได้เพราะมันไม่เข้าใจ ฉะนั้นต้องเข้าใจ ในวันนี้ก็จำไว้แต่เพียงว่าขันธ์ ๕ คืออะไร แล้วขันธ์ ๕ ที่มีอุปาทานยึดถือนั้นคืออะไร แล้วมันเกิดเมื่อไหร่ มันดับเมื่อไหร่ ทางไหนกี่ทาง อันไหนเป็นทุกข์ อันไหนไม่เป็นทุกข์ แล้วมันจะช่วยตัวมันเองได้อย่างไร ถ้าปัญหาเหล่านี้ยังอยู่ แล้วตอบปัญหาเหล่านี้ได้ ก็ยังไม่สับสน ยังเข้าใจได้ ว่านี้คือใจความทั้งหมดมีอยู่อย่างนี้ รายละเอียดปลีกย่อยมีอีกเยอะแยะ สำหรับวันนี้ก็พอกันที/