แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายเรื่องธรรมปาฏิโมกข์ที่นี่ ก็เป็นอันว่าพูดเรื่องตัวกูของกูหรือเกี่ยวกับตัวกูของกูตามที่รู้กันอยู่แล้วอีกตามเคย ฉะนั้นขอให้รู้ไว้ตลอดกาลเลยว่าเราจะพูดกันแต่เรื่องที่เกี่ยวกับตัวกูของกูไม่ในแง่ใดก็แง่หนึ่งทุกครั้งไป วันนี้นึกอะไรไม่ค่อยออกหรอก ว่าที่จริงๆ เกือบจะบอกงด เพราะว่านั่งรับแขกมาตั้งแต่เที่ยงจนลุกมานี้ มันก็ชักจะเพลีย แต่โดยเหตุที่ว่าเรื่องตัวกูของกูนี้มันคุ้นเคยกันคล่องแคล่วมาก มองเห็นไปได้ทุกแง่ทุกมุม ฉะนั้นจึงพูดได้เรื่อยแม้ด้วยจิตใจที่อ่อนเพลีย นี้ก็เกิดรู้สึกขึ้นมาว่าแม้แต่ความอ่อนเพลียนี้ มันก็มิได้ช่วยบรรเทาฤทธิ์เดชของตัวกูของกูนี่ มันก็ยังส่งเสริมกำลังตัวกูของกูไปทางหนึ่ง เช่นเดียวกับความแพ้ความพ่ายแพ้มิได้ทำให้ตัวกูของกูมันลดลงไปได้ มันก็ส่งเสริมให้ยิ่งขึ้นไปอีก ฉะนั้นคราวชนะมันก็ส่งเสริมตัวกูของกู คราวแพ้มันก็ยิ่งส่งเสริมตัวกูของกูไปอีกทางหนึ่ง เป็นอันว่าตัวกูของกูนี้มันได้เปรียบเรื่อย ยากที่จะเบาบางลงไปได้ง่ายๆ เมื่อรู้สึกอย่างนี้แล้วมันก็เลยนึกไปถึงถ้อยคำคำหนึ่งซึ่งเป็นภาษาอภิธรรมที่ว่า ปุเรชาตปจฺจโย ปจฺฉาชาตปจฺจโย นี่ สิ่งที่เกิดก่อนก็เป็นปัจจัย สิ่งที่เกิดทีหลังก็เป็นปัจจัย นี่เอากับมันสิ หรือว่า อญฺญมญฺญปจฺจโย มันเป็นปัจจัยแก่กันและกัน กลับไปกลับมาได้ เพราะฉะนั้นการที่ปรุงแต่งนั้นมันจึงมีได้ง่ายและรุนแรงมาก ไม่ถอยหลัง พูดสั้นๆ ก็ว่า อะไรมันก็เป็นปัจจัยไปเสียได้หมด กระทั่งว่า อตฺถิปจฺจโย มีปัจจัยอย่างความมี นตฺถิปจฺจโย มีปัจจัยอย่างความไม่มี ถ้าเราจะมามองกันในแง่ธรรมดาๆ ก็ว่ามันเป็นปัจจัยได้ทั้งความมีและทั้งความไม่มี
คำว่าปัจจัยในที่นี้หมายถึงปัจจัยที่ให้เกิดทุกข์ทั้งนั้นแหละ ปัจจัยให้เกิดตัวกูของกู มันมีความไม่มีเป็นปัจจัย ความมีมันจึงเกิด มันต้องมีความไม่มีมันจึงเกิดความมีขึ้นมาได้ ความไม่มีก็เป็นปัจจัยให้เกิดความมี ทีนี้เกิดความมีขึ้นมาแล้ว มันก็เป็นปัจจัยให้เกิดความไม่มีอีก มันเลยหล่อเลี้ยงกันกลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ เป็นอญฺญมญฺญปจฺจโยในแง่หนึ่ง นี่พูดภาษาธรรมดาสามัญที่สุด ฉะนั้นความยากลำบากจึงเกิดแก่เราผู้ปฏิบัติที่จะหยุดการปรุงแต่งเสีย คือว่าเราไม่ต้องพูดเรื่องขันธ์ ธาตุ อายตนะอะไรนัก พูดกันง่ายๆ ภาษาชาวบ้านนี้ เกิดก่อนเป็นปัจจัย อย่างเช่นว่าแม่ก็เป็นปัจจัยให้เกิดลูก เพราะว่าแม่มันเกิดอยู่ก่อน แล้วลูกเกิดออกมาแล้ว เกิดทีหลังมันก็กลับเป็นปัจจัยแก่แม่ เพื่อให้มีเกิดมีแม่หรือเพื่ออะไรที่มันเกื้อกูลแก่แม่ จะว่าอะไรเป็นปัจจัยให้แก่อะไรโดยส่วนเดียวนั้นมันไม่ได้ แต่แล้วการเป็นปัจจัยของมันนี้มันเป็นปัจจัยในทางให้ยุ่งทั้งนั้นแหละ ไม่ใช่เป็นปัจจัยไปในทางสงบ เช่นเดียวกับว่าเหตุให้เกิดผลและผลกลับเป็นเหตุ เหตุให้เกิดผลอย่างอื่นอีก ผลก็กลับเป็นเหตุให้เกิดผลอย่างอื่นอีก ไม่มีที่สิ้นสุด ขอให้มองข้อเท็จจริงอันนี้เพิ่มขึ้นอีกสักแง่หนึ่งสำหรับการที่จะรู้จักการเกิดหรือการดับแห่งตัวกูของกู หรือจะจับความสำคัญให้ได้ว่าตัวกูของกูนั้นมันไม่ใช่มีแต่ในทางที่จะยกหูชูหาง คือว่าชนะหรือว่ากําเริบเสิบสานอะไรทำนองนั้น แม้ในทางที่มันพ่ายแพ้ มันหดหู่ มันเศร้าโศก นี้มันก็เป็นตัวกูของกูทั้งนั้น และมันยังส่งเสริมความเคยชินในความเป็นตัวกูของกู ฉะนั้นเราอย่าไปเป็นผู้ที่เรียกว่าจะอาศัยความท้อถอยหรือความพ่ายแพ้นี้เป็นเครื่องมือสำหรับละตัวกูของกู เพราะมันเป็นตัวกูของกูเสียเอง
ว่าใครด่าเรา เราก็โกรธตอบต่อสู้ตึงตังขึ้นมาไม่ยอม นี้มันก็เป็นตัวกูของกูแบบนั้นนะ แต่ถ้าเราไม่ต่อสู้ เสียใจพ่ายแพ้มานั่งร้องไห้อยู่ นี้มันก็เป็นตัวกูอีกแบบหนึ่งซึ่งเท่ากัน ซึ่งมีความหมายแห่งความเป็นตัวกูที่เท่ากัน ฉะนั้นป่วยการที่จะมีความหวังที่ว่าเราจะเป็นผู้อาศัยความพ่ายแพ้นี้จะเป็นเครื่องบรรเทาตัวกูของกู ความพ่ายแพ้มันหมายความว่ามันรู้สึกว่ากูแพ้
ความยอมมันมีอยู่ ๒ ชนิด ยอมเพราะไม่มีทางสู้ นั้นมันก็ยอมอย่างหนึ่ง ยอมเพราะว่าฉลาดกว่าเห็นว่ายอมเสียนี้ดี แม้มีทางสู้ก็ยอมเสียดี นี้มันก็อีกอย่างหนึ่ง อย่างแรกนั่นแหละมันก็เป็นตัวกูของกูแบบอวิชชาแบบโง่เง่านี่ แต่มันดูเหมือนกับว่ามันไม่มีตัวกูของกูเพราะมันไม่ต่อสู้ เพราะไม่ยกหูชูหางขึ้นมาต่อสู้ ยอมแบบหลังนี้ที่ว่าเรามีปัญญาเหนือกว่า ยอมให้คนโง่เสีย อย่าไปต่อสู้กับมันนี่ อย่างนี้ได้ อย่างนี้เป็นเรื่องที่ถูก คือว่าอยู่เหนือตัวกูของกู ชนะตัวกูของกู มีประโยชน์แก่การที่จะปฏิบัติเพื่อบรรเทาตัวกูของกู และบุคคลนี้มันไม่เศร้าโศก ไม่เศร้าสร้อย ไม่อ่อนเพลีย ไม่เสียใจ ฉะนั้นสังเกตดูให้ดีๆ ว่าเราอยู่ในโลกนี้มันต้องเกี่ยวข้อง มันเป็นเรื่องสังคม มันก็ต้องมีทั้งถูกด่าถูกชมซึ่งตรงกันข้าม ถูกชมนั้นมันก็เหมือนกับหล่อเลี้ยงตัวกูของกูของคนธรรมดานี้ให้เจริญงอกงามไปอีกทางหนึ่ง ถ้าผู้มีปัญญามันก็ไม่มีความหมายหรอกเรื่องชมนี้ แต่คนธรรมดาสามัญแล้ว การชมนี้มันมันหล่อเลี้ยงตัวกูของเขาไว้ให้เจริญงอกงามไปอีกแบบหนึ่ง
ทีนี้ถ้านินทาหรือด่าว่านี่ มันก็ระวังให้ดี อาจจะโกรธเกิดขึ้นมาและก็ต่อสู้ นี้มันก็ตัวกูของกูยกหูชูหางขึ้นมาแบบหนึ่ง ถ้าเสียใจมานั่งร้องไห้อยู่ นี้มันก็ตัวกูอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวกูที่น่าเกลียดน่ารังเกียจเท่ากันแหละ หัวเราะแก้เก้อยังดีกว่า ทีนี้ถ้ามีปัญญาจริงๆ มันไม่หวั่นไหวนี่ มันยิ้มอยู่ข้างใน มันเยาะเย้ยอยู่ข้างในได้ อย่างนี้เรียกว่าถูกต้องในการที่จะบรรเทาหรือว่าชนะตัวกูของกู เราไม่อาจจะหวังพึ่งความอ่อนแอหรือความอ่อนเพลียหรือความไม่มีแรงที่จะต่อสู้นั้นว่ามันจะเป็นเครื่องช่วยบรรเทาตัวกูของกู ฉะนั้นเลิกเสียดีกว่า เลิกหวังอย่างนั้นเสียดีกว่า นั้นมันก็ต้องมีจิตใจที่ชนะที่ปกติที่อยู่เหนือเรื่อยไปแหละ ยิ่งถ้าเป็นคนถือโชคถือลางกันแล้วยิ่งไปกันใหญ่ คือว่าใจมันเสีย ใจมันหวั่นวิตกกังวลหวาดกลัวโศกเศร้าได้ง่ายได้มาก อย่าเข้าใจว่ามันจะบรรเทาตัวกูของกู มันยิ่งส่งเสริมเหมือนกัน จะเป็นความโศกเศร้าเพราะอะไรก็ตาม ด้วยอวิชชาหรือว่าด้วยโทสะหรือว่าด้วยปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง มันก็เป็นเรื่องส่งเสริมตัวกู ฉะนั้นสิ่งที่เกิดทีหลังอย่างนี้มันย้อนกลับไปส่งเสริมย้อนต้นก็ได้ อย่าเข้าใจว่าเหตุปัจจัยแล้วมันจะส่งไปทางหน้า จะส่งเสริมไปทางข้างหน้าเรื่อยไป มันเกิดเป็นอัญญะมัญญะคือส่งเสริมกันและกันก็มี ในลักษณะที่ว่าเกิดทีหลังแล้วย้อนกลับไปส่งเสริมต้นตอมันก็มี ด้วยเหตุนี้แหละพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าเกิดกิเลสขึ้นครั้งหนึ่ง มันก็พอกพูนอนุสัยไว้ครั้งหนึ่ง เราเกิดความโลภขึ้นมาครั้งหนึ่ง มันก็เป็นปัจจัยส่งเสริมให้ย้อนกลับไปเป็นอนุสัยหรืออาสวะก็ตามที่จะโลภใหม่เก่งกว่าเก่า และถ้ามันออกมา แต่มันกลับหล่อเลี้ยงของเดิมให้มากขึ้นให้แรงขึ้น ไม่ใช่ให้มัน ไม่ใช่มันลด ลด ลด ให้น้อยลง เราโกรธทีหนึ่งนั้น อย่าเข้าใจว่ามันหมดฤทธิ์โกรธแล้วมันก็เลิกกัน มันย้อนเข้าไปส่งเสริมให้เกิดอาสวะหรืออนุสัยสำหรับโกรธให้มากขึ้นอีก เรียกว่าปฏิฆานุสัย,ปฏิฆะ-อนุสัย เกิดความโลภเพื่อส่งเสริมราคานุสัย โลภทีหนึ่ง ออกมาเป็นความโลภย้อนกลับไปส่งเสริมราคานุสัยให้มากไปกว่าเดิม โกรธทีหนึ่งมันก็ไปย้อนกลับไปส่งเสริม โกธานุสัยซึ่งเรียกว่าปฏิฆานุสัยนี่ให้แน่นแฟ้นมั่นคงเจริญยิ่งกว่าเดิม
ทีนี้โง่ทีหนึ่ง โมหะหรือโง่ทีหนึ่ง มันก็ย้อนกลับไปส่งเสริมอวิชชานุสัยหรืออวิชชาสวะนี้ให้หนาขึ้นกว่าเดิม นี่ของเกิดทีหลังกลับส่งเสริมต้นตออย่างนี้ ระวัง นี่จะเป็นปัญหาที่ยังไม่รู้จักและไม่เคยคิดว่ามันอันตราย ฉะนั้นเราโศกเศร้าครั้งหนึ่งมันก็จะเป็นเหตุให้เกิดอนุสัยสำหรับจะโศกเศร้านั่นแหละ ก็อยู่ในพวกอวิชชานุสัยอะไรก็ได้มากขึ้นไปอีก ต่อไปมันก็จะโศกเศร้าได้ง่ายขึ้นไปอีก มันก็แย่เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้วก็ มันกลับส่งเสริมต้นตอรากเหง้าของกิเลสทั้งนั้นแหละ ฉะนั้นเราอย่าปล่อยให้มันเป็นไปในทางที่ว่าง่ายหรือมักง่ายเกินไป ในการที่จะรักในการที่จะเกลียด ในการที่จะโกรธ ในการที่จะกลัว ในการที่จะเศร้าโศก ในการที่จะละเหี่ยละห้อย หรือทุกอย่างไปเลย อย่ายินดีรับเอาสิ่งนี้ไว้ และก็อย่าประมาทว่ามันเป็นของเล็กน้อย มันจะเกิดสิ่งที่เรียกว่าอาสวะหรืออนุสัย พูดภาษาธรรมดาหน่อยก็คืออาการเรื้อรัง อาการคลอนิกเรื้อรังมันจะเกิดหนาขึ้นๆ แล้วมันเป็นอย่างไร มันก็ยาก ยากแก่การแก้ไขยิ่งขึ้น เราปล่อยให้กิเลสเกิดขึ้นเท่าไหร่ ทีหนึ่งหรือเท่าไหร่ก็ตาม มันจะทำให้แก้ไขกิเลสนั้นยากยิ่งขึ้น
ฉะนั้นถ้าเราไม่โกรธเสียได้ทีหนึ่ง ไม่โลภเสียได้ทีหนึ่ง ไม่โง่เสียได้ทีหนึ่ง มันก็จะทำให้อาการเรื้อรังนั้นน้อยลงๆ เหมือนกัน มันก็จะง่ายแก่การที่จะแก้ไขหรือกำจัดต่อไปข้างหน้า ฉะนั้นจงมีสติให้สมบูรณ์ในการที่จะไม่เผลอปล่อยให้จิตใจมันเป็นอย่างนั้น รักบ้าง โกรธบ้าง เกลียดบ้าง กลัวบ้าง เศร้าสร้อยละเหี่ยละห้อยบ้างก็ตามใจ มันจะโง่ขนาดหนักกันไปถึงกับว่าเราไม่ควรจะถูกใครดูหมิ่นดูถูกนินทาติเตียนด่าว่านั่น มันจะมีโมหะคือมีอวิชชานุสัยมากไกลออกไปถึงเท่านั้น และมันลำบากล่ะทีนี้ เดี๋ยวมันก็จะเป็นโรคประสาทแหละ คือจิตมันผิดปกติ มันเสียระเบียบปกติเรียกว่าเป็นโรคเส้นประสาท ทีนี้โรคประสาทนั้นไม่ใช่ว่ามันจะไม่มีอะไร โรคประสาทนั้นแหละมันจะยิ่งส่งเสริมตัวกูของกูหรืออวิชชาหรือกิเลสนี้มากขึ้นไปอีก ไม่ใช่ว่าคนเป็นโรคเส้นประสาทเสียแล้วมันก็จะมีกิเลสเบาบางได้ด้วยโรคเส้นประสาท มันจะเพิ่มหรือมีการทำซ้ำๆ ซ้ำๆ อย่างง่ายๆ อย่างไม่รู้สึกตัวนี่มากขึ้นอีก ถ้าพูดทางภาษาธรรมะของพระพุทธเจ้า ก็ต้องถือว่าความโกรธหรือความขี้โกรธนี้ก็เป็นโรคเส้นประสาท ความรักความขี้รักขี้มักรักมักโลภนี้ก็เป็นโรคเส้นประสาท ความโง่ก็เป็นโรคเส้นประสาท นี่ภาษาสูงๆ ภาษาวิญญาณของพระพุทธเจ้าต้องพูดอย่างนั้น แต่ภาษาธรรมดาสามัญ โรคประสาทนี้มันเป็นเรื่องฟั่นเฝือเอาไหนไม่ถูก ควบคุมไม่ได้ ไม่เป็นระเบียบ แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ส่งเสริมให้ตัวกูของกู ทั้งที่มันไม่เป็นระเบียบ ทั้งที่มันไม่รู้ว่าอย่างไร จะเอากันอย่างไรแน่นี่ มันก็เป็นส่งเสริมอวิชชานุสัยมากขึ้นอีกเป็นบ้าเลย มันก็กลายเป็นบ้าเลย
ฉะนั้นเราเป็นพระเป็นเณรอยู่ในฐานะเป็นบรรพชิต มันต้องรักษาเกียรติเครดิตของบรรพชิต ถ้ามันลงไปได้ถึงอย่างนั้นแล้วก็เรียกว่ามันไม่มีเหลือแหละ ระวังให้ดี ถ้าพระเราเป็นโรคเส้นประสาทขนาดชาวบ้านเป็นแล้วก็ เรียกว่าหมดแหละ หมดความเป็นพระเป็นบรรพชิต นี่ก็คือข้อที่ต้องกลัว ยิ่งลงเป็นโรคเส้นประสาทแล้วไม่ใช่ว่ามันจะช่วยทำให้กิเลสน้อยลง มันก็หล่อเลี้ยงยิ่งขึ้นไปอีกตามแบบของจิตที่มันรวนเร ฟั่นเฝือ ไม่มีระเบียบ โรคเส้นประสาททางธรรมดาเป็นอย่างนี้ ตามธรรมดาภาษาชาวบ้านเป็นอย่างนี้
ทีนี้โรคเส้นประสาทของพระอริยเจ้า ภาษาพระอริยเจ้าก็คือกิเลส โดยเริ่มเป็นโรคเส้นประสาทที่มีพิษมีโทษมีอาการร้ายกาจน่ากลัว บางคนมันหนักไปทางขี้โมโห บางคนมันหนักไปทางขี้มักได้ แต่บางคนมันขี้โง่ขี้โอ่ขี้อะไรต่างๆ นี่เรียกว่าชาวบ้านเขาไม่เรียกว่าคนนี้เป็นโรคประสาท แต่พระอริยเจ้าจะเรียกว่าคนนี้มันเป็นโรคเส้นประสาท เป็นโรคประสาท มันก็ส่งเสริมกิเลส ส่งเสริมให้อาสวะอนุสัยโดยไม่รู้สึกตัวนั่น โดยไม่รู้สึกตัวคำนี้มันไม่ใช่เล่น ถ้าเรารู้สึกตัวแล้ว อะไรมันเป็นไปไม่ได้ในทางร้าย เดี๋ยวนี้มันไม่รู้สึกตัวขนาดหนักขนาดเบามันไม่รู้สึกตัวเพราะมันไม่รู้จัก เพราะว่ามันไม่เข้าใจ มันก็ไม่รู้สึก ฉะนั้นเรากำลังรู้สึกว่าเราถูกต้อง เราดีหรือว่าเราถูกต้อง หรือแม้แต่ว่าเรามีสิทธิอันชอบธรรมที่จะทำอย่างนั้นอย่างนี้นะ ระวังให้ดี มันจะเป็นโรคเส้นประสาทหรือโรคบ้าอะไรอย่างหนึ่งโดยไม่รู้สึกตัว โดยไม่รู้สึกตัวยิ่งกว่าไม่รู้สึกตัว ฉะนั้นไม่มีวันหายหรอก จนตลอดชีวิตจนตายเปล่าไม่มีวันหาย ธรรมะก็ช่วยไม่ได้
ไม่รู้สึกตัว คำว่าไม่รู้สึกตัวนี้ คือความหมายอันถูกต้องเต็มที่ของคำว่าความประมาท เรื่องความประมาทนี้รู้กันดีอยู่แล้วนะ เกือบจะไม่ต้องพูดแล้วกระมัง เป็นพระเป็นเณรไม่รู้จักคำว่าประมาทความประมาทแล้วก็แย่มากแหละ แต่ก็ระวังให้ดีเถิด มันไม่รู้สึกตัวจึงไม่รู้จักความประมาท ความประมาทนั้นเป็นทั้งหมดของความฉิบหาย ของความมีทุกข์เป็นทุกข์ ความไม่ประมาทนั้นมันเป็นทั้งหมดของความที่ตรงกันข้ามคือไม่ฉิบหายและไม่เป็นทุกข์ เราไม่รู้สึกว่าเราประมาทเพราะเราไม่รู้สึกตัว ไม่รู้จักความประมาท กำลังประมาทอยู่เต็มที่และก็ไม่ได้คิดว่าเรากำลังประมาท นี่ก็เรียกว่าโรคมันถึงขนาดหนักขนาดสูงสุด มีกิเลสประเภทอาสวะหรืออนุสัยมาก,มากเกินไปหรือว่ามากสุดขีด ของความเป็นปุถุชน ประมาทก็ไม่รู้สึกว่าประมาท แล้วลองคำนวณดูเถิดว่า ถ้ามันถึงขนาดนี้แล้วอะไรก็ช่วยไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็ช่วยคนชนิดนี้ไม่ได้ ทั้งอุตส่าห์เล่าเรียนอุตส่าห์ศึกษาอุตส่าห์กำหนดจดจำไว้ตั้งมากมายมันก็ช่วยไม่ได้เพราะมันคนละเรื่องกัน คนชนิดนี้ยิ่งเรียนมากยิ่งประมาทมาก ยิ่งรู้อะไรมากก็ยิ่งประมาทมาก คือมันเข้าใจว่าตัวเก่งขึ้นมากก็เลยอวดดีมากกว่าทีแรกนี่ ความคิดนึกก็เป็นไปในทาง ตัวกูของกูมันยิ่งขึ้นไปกว่าทีแรก นี่ก็เจริญด้วยอนุสัยด้วยอาสวะข้อนี้ยิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไป จนตายเปล่าแหละ เพราะฉะนั้นถ้าใครรู้สึกว่า เอ๊ะ,นี่ทำไมมันจึงไม่ดีขึ้นในทางที่กิเลสเบาบาง ในเมื่อเราก็ได้ยินได้ฟังมากขึ้น ศึกษาก็เข้าใจมากขึ้น ได้ยินได้ฟังอะไรมากขึ้น แต่ก็รู้สึกว่าทำไม เอ้า,ทำไมกิเลสมันยังไม่ค่อยยังชั่ว ไม่ค่อยลดน้อยลง มันมีการหลอกลวงกันที่ตรงนั้นเอง คือทางฝ่ายนี้เราก็แน่ใจว่าเราได้ยินได้ฟังมากขึ้นศึกษาเล่าเรียนมากขึ้น รู้อะไรมากขึ้น ฉลาดในการตอบคำถามในการพูดจาในการโต้วาทะอะไรมากขึ้นทุกที แต่กิเลสมันก็ไม่ได้เบาบางลงไปนี่ พอเรามาตรวจดูมาเหลียวดู เอ้า,เราก็ยังขี้โกรธ ยังมีกิเลสโลภโกรธหลง มีอะไรต่างๆ เท่าเดิมหรือว่ามันจะยิ่งกว่าเดิม นี่คนแก่ๆ ควรจะสอบ ทดสอบดูในส่วนนี้บ้าง ถึงคนหนุ่มมันก็ทดสอบได้เพราะมันก็ยิ่งแก่ขึ้นทุกวันๆ เรียนอะไรได้มากขึ้น ทำไมกิเลสมันไม่ได้ลดลง กระทั่งเรียนจบพระไตรปิฎกแล้วทำไมกิเลสมันไม่ลดลง
ฉะนั้นขอให้ทำในใจโดยแยบคาย ทำในใจให้มันแยบคายยิ่งกว่าแยบคายๆ จนให้รู้จักตัวความประมาทคือความที่ไม่รู้จักตัวเองว่าเป็นอย่างไร ความไม่รู้สึกตัวว่าเป็นอย่างไร ความประมาทมันก็มีโอกาสที่จะหนาแน่นหนาแน่น หนาแน่น จนถอนไม่ไหว ยิ่งอายุมากยิ่งประมาทมาก นี่มันมีทางเป็นไปได้และก็ได้เป็นอยู่โดยมากด้วย ถ้ามันไม่รู้สึกตัวมันจะเข้าใจว่าอย่างนั้นแหละ ว่าเราก็เก่งขึ้นทุกวัน แก่ก็ด้วย เป็นอาจารย์ก็ด้วย เป็นอะไรก็ด้วย ไม่รู้จักตัวเข้าใจผิด ความประมาทครอบงำมหาศาลทีเดียว
ฉะนั้นคำสอนง่ายๆ คือว่าหยุดเสียบ้าง หยุดพูดเสียบ้าง ข้อแรกหยุดพูดเสียบ้าง อย่าชอบพูด ถึงแม้จะรู้สึกว่าน่าพูดก็อย่าพูด นี่จะได้ตั้งต้นสำหรับที่จะรู้จักกลัวความประมาท เพราะมันมัวอร่อยแต่ในการพูดหรือในการอวด และมันไม่มีทางที่จะเหลือบเห็นตัวความไม่ประมาท พูดอย่างนี้ก็คงจะฟังถูกว่า พอได้พูด ได้พูดแล้วมันอร่อย อร่อยในการพูด แม้แต่พูดอย่างโง่ๆ มันก็ยิ่งอร่อย พูดฉลาดพูดยาก พูดให้ถูกมันพูดยาก พูดโง่ๆ ก็ยิ่งง่ายแล้วก็ยิ่งอร่อย ก็เลยเตลิดเปิดเปิง เป็นความประมาทที่มันเตลิดเปิดเปิง นี้เพื่อความปลอดภัยไว้ก่อนก็นิ่งสิ ไม่ตายแน่ นิ่ง แม้ในเรื่องที่มันรู้สึกว่าน่าพูด เรามันเคยชินแต่การที่พูดตามพอใจ พูดตามพอใจตามที่อยากจะพูดชินเป็นนิสัย แล้วต่อมามันก็เกิน คือว่าไม่ควรพูดมันก็พูด เพื่อนเขารู้สึกว่ามันเป็นคนบ้า เขาหาว่าบ้ากันทั้งบ้านทั้งเมืองแล้วมันก็ยังจะพูดอยู่นั่นแหละ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสแนะนำไปในทางว่าให้นิ่ง ไม่จำเป็นจริงๆ แล้วอย่าพูด อย่าพูดอย่าเพิ่งพูด เพราะว่าการนิ่งนั้นมันเป็นการบีบคั้นกิเลสนั่น อย่าเข้าใจว่าอยู่นิ่งๆ แล้วมันไม่เกิดอะไรหรือมันไม่ได้อะไร มันเพียงแต่สักว่านิ่ง ที่แท้ความนิ่งนั่นแหละคือความบีบคั้นกิเลส เพราะมันอยากจะพูด เราก็ไม่พูด นิ่งเสีย ความนิ่งมันบีบคั้นกิเลสที่อยากจะพูด ฉะนั้นเพียงแต่นิ่งเฉยๆ นี่มันก็วิเศษอยู่แล้ว มันบีบคั้นกิเลส
ทีนี้ไม่นิ่งเปล่า คิดด้วย ในขณะที่นิ่งมันคิดด้วย มันคิดใคร่ครวญทบทวนอะไรด้วย มันก็เลยได้ประโยชน์ใหญ่หลวงสิ เพราะว่าเมื่อเราพูด พูดๆ พูดอย่างบ้าน้ำลายนี้ ไม่มีโอกาสคิดหรอก ไม่มีโอกาสหยุดหรือยั้งคิดพิจารณาอะไร มันได้สนุกมันอร่อย ก็พูดไปจนไม่มีแรงจะพูด เราเห็นคนบางคนเป็นอย่างนี้ มันตรงกันข้าม มันไม่มีการบีบคั้นกิเลสและไม่มีโอกาสตริตรองข้อเท็จจริงหรือความประมาทหรือไม่ประมาท ฉะนั้นเราต้องปกติคือนิ่ง นิ่งบีบคั้นกิเลสเป็นโอกาสแห่งการตริตรอง
ทีนี้ทางที่ตรงกันข้ามก็เหมือนกันแหละ อย่าเสียใจอย่าละเหี้ยละห่าละเหี่ยละห้อยหรือเศร้าสร้อยอะไรนี้ ไม่ต้องไม่จำเป็น นี้เรียกคนหุบปากแต่มันเศร้าสร้อยละเหี่ยละห้อย ยังไม่นิ่งนะ นิ่งแบบนั้นเรียกว่าไม่นิ่ง ยังไม่นิ่ง เพราะจิตไม่ได้หยุดหรือไม่ได้บังคับความรู้สึกที่ทำให้เศร้าสร้อย มันพูดอยู่ด้วยความเศร้าสร้อยอยู่ข้างในนู้น ต้องไม่เศร้าสร้อย เรียกว่าต้องไม่แฟบ แล้วก็ต้องไม่ฟู มันจึงจะนิ่ง ฟูๆ ไปนั้นก็ไม่ใช่นิ่ง แฟบๆ ลงนี้ก็ไม่ใช่นิ่ง ฉะนั้นต้องมีสติบีบคั้นความรู้สึกเหล่านั้นไว้ นี่เรียกว่านิ่ง ตลอดเวลากิเลสถูกบีบคั้น กิเลสตัวกูของกูมันถูกบีบคั้นทั้งฝ่ายที่จะลุกโพลงๆ หรือทั้งที่ฝ่ายที่ว่าจะยุบจะเศร้าสร้อยหรือจะแฟบ ทีนี้ใคร่ครวญไปเลยขณะนั้น ตริตรองใคร่ครวญไปเลย เดี๋ยวมันหัวเราะได้แหละ แต่ไม่ต้องหัวเราะออกมาเป็นเสียงหรอก หัวเราะอยู่ข้างในก็พอ มันหัวเราะเยาะกิเลสได้ก่อนแล้วก็หัวเราเยาะสิ่งที่มายั่ว มายั่วให้รักมายั่วให้โกรธมาหลอกให้เศร้า นี้มันหัวเราะได้ กระทั่งบุคคล,หัวเราะเยาะบุคคลที่มาทำให้เกิดความรู้สึกยุ่งยากลำบากอย่างนี้ นี้เรียกว่าปฏิบัติธรรมะแท้จริงเต็มที่อยู่ตลอดเวลา ปฏิบัติเต็มที่ตลอดเวลาหมายความว่ามันขูดเกลาอนุสัย ชะล้างชำระชะล้างอนุสัยอาสวะอย่างยิ่งอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่มันอยู่เฉยๆ ดูคล้ายกับว่ามันนิ่ง แต่ว่ามันนิ่งชนิดที่ว่ามันเผากิเลส ไม่ใช่ว่านิ่งเป็นท่อนไม้แข็งทื่อหรือว่ามันนิ่งอย่างไม่รู้สึกอะไร หรือเข้าฌานเข้าสมาบัติอย่างนั้นก็ไม่ใช่ มันนิ่งด้วยสติปัญญาในการเผชิญหน้ากับกิเลส ความนิ่งชนิดนี้เขาเรียกว่าเป็นตบะ คือเป็นไฟ ตบะเป็นชื่อของไฟ ไฟบางทีก็เรียกว่าตบะ มันเผา มันเผากิเลส ตบะมันมีอยู่ในภายในมันก็เผากิเลสในภายใน เราก็อยู่นิ่งๆ มีลักษณะเหมือนกับอยู่นิ่งๆ แต่ว่าสร้างตบะขึ้นมาได้คือความบังคับให้มันปกติอยู่ได้
นี้เราก็เรียกว่าเราใช้สิ่งที่เกิดทีหลังนี้แม้เป็นกิเลสนี่ให้เป็นประโยชน์แก่การกำจัดกิเลส เขาด่าเรา เราใช้ความถูกด่าให้เป็นประโยชน์ คือเป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งความชนะการที่ถูกเขาด่า คือชนะกิเลสที่เป็นเหตุให้รู้จักเจ็บจักปวดเมื่อถูกเขาด่า ก็เรียกว่ามันเป็นเรื่องที่ได้กำไรไปเสียทั้งนั้นแหละ เกิดก่อนก็เป็นประโยชน์เกิดหลังก็เป็นประโยชน์ในทางที่จะขูดเกลากิเลส ถ้าทำผิด นั้นก็ให้เขาอดเป็นโทษเป็นอะไร ความเสียหายจากปัจจัยเกิดทีก่อนปัจจัยที่เกิดหรือปัจจัยที่เกิดทีหลัง ไม่ถูกด่ามันก็มีกิเลส พอถูกด่าเข้ายิ่งเพิ่มกิเลส อย่างนี้ขาดทุนเหลือประมาณ อยู่เฉยๆ มันก็มีกิเลสโดยไม่รู้สึกตัว อยู่เป็นปกติคือมีอาสวะมีอนุสัยสำหรับจะโกรธมีเรื่องอะไรก็โกรธ ทีนี้พอถูกด่า ก็โกรธ โกรธก็ยิ่งเพิ่มความเคยชินสำหรับจะโกรธ มันก็แรงขึ้นๆ ไม่มีวันลดจนกระทั่งตาย ตายไป ร่างกายแล้วมันก็เป็นเวลาที่งบบัญชีงบยอดบัญชีดู มันเต็มไปแต่เรื่องเสีย เรื่องลบ เรื่องเสียหาย
ฉะนั้นเท่าที่เราจะมองเห็นนี่ เท่าที่พูดมาแล้วจะมองเห็นหรือเห็นว่า มันเป็นปัจจัยแก่กันและกัน ย้อนกลับหลังมาเป็นปัจจัยแก่กันและกันได้ทั้งนั้น แล้วก็อยู่กันประจำ นี้ก็แปลว่าถ้าถูก ก็ถูกทั้งขึ้นทั้งล่อง ถ้าผิดก็ผิดทั้งขึ้นทั้งล่อง เพราะตามปกติมันก็มีแต่ผิด เพราะว่ามันประมาท เพราะมันไม่รู้จักตัวเอง มันไม่รู้สึกตัวเอง เมื่อพูดว่าไม่รู้สึกตัวเอง คำพูดว่าไม่รู้จักตัวเองนี้ มันเป็นสิ่งที่เสียหายที่สุดเลวร้ายที่สุดเลย ถ้าด่าคนควรจะถือเป็นคำด่าที่เจ็บปวดที่สุดแหละ ไม่รู้จักตัวเองนี่ แต่แล้วทุกคนก็ยังไม่รู้จักตัวเอง มันจึงมีเรื่องอะไรที่มันบ้าๆ บอๆ ตะพึดตะพือไปเรื่อยตามความที่ไม่รู้จักตัวเอง แต่ใครไปบอกมันก็ไม่เชื่อหรอก ต้องสมมติว่ามีใครมาบอกว่าไม่รู้จักตัวเองอย่างนี้ ไม่เชื่อ ผมยังคิดว่าแม้พระพุทธเจ้ามาบอก คนนั้นก็ยังไม่เชื่อว่าไม่รู้จักตัวเอง เพราะว่าเมฆหมอกของอวิชชาหรือทิฏฐิมานะมันมาก ไม่เถียงก็จริง แต่มันไม่เชื่อ มาบอกว่าคุณไม่รู้จักตัวเองนี่ มันไม่เชื่อแต่ไม่เถียง ถ้ารู้จักตัวเองจริงมันต้องรู้จักอย่างที่ว่ามาทั้งหมดนี้แหละ เห็นแจ้งชัดว่าตัวเองมันเป็นอย่างนั้นๆ น่าสงสารที่สุดแหละ
นี่ทีนี้ก็มาดูถึงเรื่องตัวกูของกู ตัวกูของกูคือกิเลสตัวนี้มันได้เปรียบอยู่ตลอดเวลา ผีตัวนี้เป็นฝ่ายได้เปรียบอยู่ตลอดเวลา คนไม่รู้ที่ไหนเสียเปรียบฉิบหายอยู่ตลอดเวลา ความเป็นมนุษย์ที่ดีที่ถูกต้องนั้นมันเสียเปรียบอยู่ตลอดเวลา ผีตัวกูของกูยกหูชูหางมันได้เปรียบอยู่ตลอดเวลา นี่สมมตินะ พูดอย่างสมมติเป็นบุคคล ฉะนั้นเราจึงไม่พบความเจริญงอกงามในพระพุทธศาสนา ทั้งที่บวชมาหลายพรรษาแล้ว เรียนอะไรมาก็มากแล้ว ไม่พบความเจริญงอกงามในพระพุทธศาสนา และก็ไม่รู้ว่าพบอะไรด้วย แต่พบว่ากูนี้เก่ง กูเก่ง กูเก่งขึ้นทุกปี กูอะไรขึ้นทุกปี พบแต่อย่างนั้นแหละ ก็คิดว่านั่นแหละเป็นความเจริญงอกงามในพระพุทธศาสนา แต่คนนั้นย้อนดูตัวเองอีกทีหนึ่ง เอ้า,มันเต็มไปด้วยกิเลส ยิ่งโลภแรงยิ่งโกรธแรงยิ่งอะไรแรงขึ้นทุกทีนี่ นี่คนที่มีความรู้มากมีเกียรติยศมากมีอะไรมาก มันยิ่งมีกิเลสมาก ยิ่งโลภจัด ยิ่งโกรธจัดยิ่งอะไรจัด ฉะนั้นถ้าเข้าใจถ้าไปสรุปความได้ถูกต้อง มันก็จะกลัว กลัวว่าความที่เรามันเสียเปรียบแก่กิเลสอยู่เรื่อย ไม่มีกิเลสรบกวนมันก็ยังมีกิเลส พอกิเลสเกิดขึ้นยิ่งเพิ่มกำลังให้แก่กิเลส ไม่สามารถที่จะยับยั้งการเกิดของกิเลสเพราะไม่รู้จักตัวเอง นี้มันวนเวียนกันอยู่อย่างนี้ เมื่อกิเลสตัวนี้เกิดไม่ได้ กิเลสตัวอื่นที่มันฉลาดกว่ามันเกิดได้เพราะว่าคนนั้นมันไม่รู้จักตัวเอง
ฉะนั้นคำว่าไม่รู้จักตัวเองนี้ เป็นคำที่สำคัญที่สุดในทุกกรณี ในเรื่องโลกก็ตาม เรื่องธรรมะก็ตาม เรื่องต่ำเรื่องสูงเรื่องอะไรก็ตาม ความไม่รู้จักตัวเองนี้เป็นทั้งหมดของความฉิบหาย ฉะนั้นจึงว่าหยุดพูดกันเสียบ้าง หยุดยกหูชูหางกันเสียบ้าง หยุดนิ่งๆ เพื่อจะดูตัวเองเพื่อจะรู้จักตัวเอง มันจะเป็นการขูดเกลากิเลสอยู่ในตัวเองด้วย มีโอกาสตริตรองให้แจ่มแจ้งด้วย นี่คือหลักปฏิบัติ ก็นึกถึงที่เคยพูดให้ฟังหลายครั้งหลายหนแล้วว่าพระพุทธเจ้าท่านขอร้องว่าอย่าพูดสิ่งที่มันไม่จำเป็นหรือไม่มีประโยชน์ ถ้าพูดก็ต้องคิดแล้วคิดอีก ระวังแล้วระวังอีก ให้มันเป็นประโยชน์คือประกอบไปด้วยธรรมะทุกคำพูด ถ้าอย่างนั้นไปนอนหลับเสียดีกว่า ทั้งที่การนอนหลับนี้ฉันก็เกลียดอย่างยิ่ง การนอนนั้นถือว่าไม่สมควรหรือผิดธรรมะผิดวินัยผิดปกติวิสัยของภิกษุอยู่แล้ว ถ้าถึงอย่างนั้นแหละยังดีกว่าที่จะพูดอย่างที่เรียกว่าไม่ควบคุมตัวกูของกู ยิ่งพูดยิ่งสบายยิ่งพูดยิ่งอร่อย ทุกคราวมันจะย้อนกลับหลังไปส่งเสริมความเป็นอย่างนั้น คือความโลภโกรธหลงอะไรมันมากขึ้นๆ นี่ผมเรียกว่าอัญญมัญญปัจจัย ในลักษณะที่ใช้เป็นประโยชน์ได้ ไม่พูดเพ้อเจ้อ อธิบายเพ้อเจ้ออย่างอภิธรรม ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ แล้วอธิบาย ปุเรชาตปจฺจโย ปจฺฉาชาตปจฺจโย ก็ในลักษณะอย่างนี้ที่ใช้เป็นประโยชน์ได้ เพราะว่ามันอธิบายได้มากได้กว้างแล้วแต่จะเอาเรื่องอะไรมาอธิบาย นี่อธิบายแต่เรื่องที่มันกำลังเป็นปัญหาเฉพาะหน้า ที่มันได้เป็นอยู่จริงในวันหนึ่งๆ ในจิตใจของเรา แล้วทำความเสื่อมเสียให้แก่เรา
ฉะนั้นอย่าปล่อยจิตให้เป็นไปตามอารมณ์ ตามความต้องการของกิเลส คราวรักก็รัก คราวโกรธก็โกรธ คราวเกลียดก็เกลียด คราวกลัวก็กลัว คราวร้องไห้ก็ร้องไห้ คราวหัวเราะก็หัวเราะ นี่มันเป็นคนบ้า คือเรียกว่าเป็นโรคเส้นประสาทก็แล้วกัน
แต่ว่าตามระดับของพระอริยเจ้า ยังไม่ต้องไปหาหมอที่นี่ ที่โรงพยาบาลแถวนี้ แต่ว่าต้องไปหาหมอ หาโรงพยาบาลแบบพระพุทธเจ้าแล้ว นี้มันเกี่ยวกันกับตัวกูของกู,ตัวกูของกู ซึ่งที่แท้เป็นเพียงความโง่ลมๆ แล้งๆ เป็นปีศาจแห่งความโง่ เป็นผีความโง่อะไรชนิดหนึ่งเท่านั้น ไม่มีตัวตนจริงๆ แต่แล้วก็ทำมนุษย์ให้ฉิบหายหมด ให้เป็นทุกข์ด้วย นี้เรียกว่าเรามองดูตัวกูของกูกันในมุมหนึ่งในแง่หนึ่ง คำพูดนี้ยังคงเกี่ยวกับเรื่องตัวกูของกู เพื่อจะบอกว่าตัวกูของกูมันไม่รู้จักตัวเองอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นจึงไม่รู้จักการป้องกันหรือว่าแก้ไขให้มันเป็นไปในทางดีขึ้น อะไรเกิดขึ้นอย่างไรมันก็ล้วนแต่เป็นไปเพื่อเลวร้ายยิ่งขึ้นทั้งนั้น ถึงแม้ว่าจะทำบุญทำกุศล มันก็ทำเพื่อให้กิเลสมากขึ้น คนชนิดนี้ไปดูเถิด แม้มันจะทำบุทำกุศล จะเสียสละหรือว่าจะอุทิศอะไรก็ตาม มันจะเป็นไปเพื่อให้กิเลสมากขึ้น ไม่ใช่ลดกิเลสลง เพราะไม่ได้ทำด้วยความรู้จักตัวเองหรือรู้จักกิเลสหรือมีสติปัญญานี่
เดี๋ยวนี้เราก็ทำอะไรอยู่ที่เป็นประโยชน์กันอยู่ทุกๆ คนและทุกๆ วัน แต่ขอว่าให้ระวังให้ดี อย่าให้สิ่งที่ตัวรู้สึกว่าทำประโยชน์นั้นแหละมันกลายเป็นส่งเสริมตัวกูของกู ส่งเสริมชีวิตตัวกูของกูให้ยังคงอยู่ไปอีกนาน เรื่องทำบาปมันก็ส่งเสริมตัวกูของกูโดยตรง เห็นง่าย เรื่องทำบุญเผลอเข้ามันก็เป็นอย่างนั้นเสียอีก แล้วส่วนมากก็เผลอทั้งนั้นแหละ ฉะนั้นเราจึงต้องเตือนกันอยู่บ่อยๆ ในเรื่องนี้ เผลอคือไม่รู้จักตัวเอง คือประมาท ประมาทคือตายแล้วนี่พระพุทธเจ้าตรัส ประมาทมีค่าเท่ากับตายแล้ว และเราก็ตายอยู่จริงๆ แหละ แต่มันเป็นตายชนิดเกิดอีก ตายเกิดอีก ตายเกิดอีก นี่เป็นเรื่องเวียนว่ายอยู่แต่ในกองทุกข์อย่างนี้ ทีนี้มาตั้งต้นกันเสียใหม่ว่าทำบาปก็ให้มันเป็นเรื่องล้างกิเลส คือมันนึกได้แล้วมันล้างกิเลส ทำบุญก็เป็นเรื่องล้างกิเลส ทำผิดก็ให้เป็นครู ทำถูกก็ให้เป็นครู ตลอดวันตลอดคืน ถ้ามันโง่ก็คือให้รู้จักว่ามันโง่หรือมันผิด นั่นแหละมันจึงจะลดกิเลสอาสวะ เดี๋ยวนี้มันไม่รู้นี่ มันกลับยกเอาเป็นเหตุที่ว่าตัวดี มันก็มีแต่ส่งเสริมหรือพอกพูนให้กิเลสมันหนาขึ้น
นี่ปัญหาของคนทุกคนของพุทธบริษัททุกคนเวลานี้นะ ผมเห็นว่ามันอยู่ในลักษณะอย่างนี้ ฉะนั้นเราจึงไม่ก้าวหน้าไปตามทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาเพราะเหตุนี้ เราพยายามจะทำดีแต่เราก็ไม่รู้เท่าทันมัน ความดีนั้นกลับไปส่งเสริมความเคยชินหรือที่เรียกว่าอาสวะหรืออนุสัยยึดมั่นถือมั่นให้มีมีอวิชชา แล้วจะเป็นความดีได้อย่างไร จะเรียกว่าความดีได้อย่างไร ถ้ามันดีจริงมันต้องเป็นไปเพื่อขูดเกลากิเลสแหละ ทีนี้คำว่าดี มันดิ้นได้อยู่อย่างนี้ ดีของคนโง่มันไม่ไหวแล้ว มันต้องดีของคนฉลาดที่รู้ว่าอะไรมันดีจริง อะไรมันชั่วจริง ฉะนั้นเราจะต้องถือเอากฎเกณฑ์หรือภาษาหรือความหมายของพระอริยเจ้านั้นเป็นหลัก อย่าเอาของปุถุชนเป็นหลัก มันหลอกลวงกลับไปกลับมาทั้งนั้น ถ้าว่าหลักเกณฑ์หรือวิธีพูดหรือภาษาพูดของพระอริยเจ้าแล้วก็ มันจะไม่มีทางที่จะให้โทษ มันมีแต่ว่าความทุกข์นะ แล้วก็เหตุให้เกิดทุกข์นะ แล้วความดับทุกข์เสียด้วยการทำอย่างนี้ๆ นะ นี่มันก็ไม่มีทางจะกลับกลอกหลอกลวงหรือให้เข้าใจผิดอะไรได้
ทีนี้ภาษาพูดของคนธรรมดา มันสุขนะ เอร็ดอร่อยนะ ดีนะ สรรเสริญเยินยอนะ อะไรอย่างนี้ มันมีแต่อย่างนี้ คำพูดอย่างนี้ไม่มีในภาษาของพระอริยเจ้า ภาษาของพระอริยเจ้าจะมีอยู่เพียง ๔ คำเท่านั้นแหละ ว่าความทุกข์นะ แล้วก็เหตุให้เกิดทุกข์นะ ความไม่มีทุกข์ แล้วการทำให้มันไม่มีทุกข์คือมรรค เรียกว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ๔ คำเท่านั้นแหละ นอกนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะว่าเพียงแต่ความทุกข์มันก็เป็นปัญหาท่วมหูท่วมหัวอยู่แล้ว จงรู้จักเหตุให้เกิดทุกข์แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติเพื่อทำลายเหตุนั้นเสีย ความไม่มีทุกข์ก็ปรากฏขึ้น เพราะฉะนั้นไม่มีคำพูดไหนที่จะหลอกลวงอะไรได้ คำพูดชาวบ้านนั้นก็รู้กันอยู่แล้ว ดีนะ อร่อยนะ เขายกย่องสรรเสริญนะ ของกูนะ ของมึงนะ นี่มันมีแต่อย่างนี้ คือมันมีสิ่งที่เป็นที่ตั้งของกิเลสนั้นมากเกินไป คือความโง่มากเกินไป รู้จักสิ่งนี้ว่าดี มันก็รู้อย่างโง่ๆ ชั่วก็รู้อย่างโง่ๆ ดีก็คือถูกใจกู ชั่วคือไม่ถูกใจกู เท็จจริงอย่างไรไม่รู้ นี่ภาษาชาวบ้าน ฉะนั้นมันจึงมีเรื่องโกรธเรื่องยกหูชูหางเรื่องอะไรอยู่เรื่อย และเรื่องโลภโดยไม่รู้สึกตัวอยู่ด้วย
ผมได้พูดในแง่อื่นมุมอื่นมามากมายแล้ว วันนี้ก็พูดในแง่นี้หรือมุมนี้เพื่อไปสมทบกันเข้ากับที่พูดมาแล้วแต่ก่อนนั้นให้เป็นหลักสำหรับสังเกตสำหรับพินิจพิจารณากันให้ทุกแง่ทุกมุม ผมพูดมากหลายแสนหลายล้านคำพูดแล้วก็ได้แต่ไม่ใช่เรื่องบ้าน้ำลายเพราะว่าพูดแต่เรื่องตัวกูของกู ไม่แง่ใดก็แง่หนึ่ง เหลี่ยมใดเหลี่ยมหนึ่งที่จะให้รู้จักมันดีขึ้นแล้วกำจัดมันเสีย ฉะนั้นผมกล้าพูดท้าทายยืนยันว่าไม่ได้พูดอย่างเพ้อเจ้อ แต่พยายามอย่างยิ่งที่จะพูดให้มันเข้าใจจนได้ในเรื่องที่มีประโยชน์ ฉะนั้นผมไม่ต้องไปนอนเสียตามคำสั่งของพระพุทธเจ้า ยังต้องพูดกันต่อไปแหละ พูดให้สุดความสามารถที่จะพูดได้ด้วยมุ่งหมายว่าให้มันเกิดความเข้าใจถูกต้องแจ่มแจ้งสว่างไสวขึ้นมาในจิตใจของพวกเราพุทธบริษัทนั้น แล้วก็ยังเป็นสหธรรมิกใกล้ชิด เป็นเพื่อนบรรพชิตใกล้ชิดอยู่ด้วยกันไปด้วยกัน ด้วยหน้าที่ที่ต้องทำอย่างนี้คือประพฤติประโยชน์แก่เพื่อนสหธรรมมิก มันก็ต้องทำไปเรื่อย ขอร้องแต่เพียงว่าอย่าประมาท อย่าประมาทในการฟังหรืออย่าประมาทในการที่จะเอาไปพินิจพิจารณา อย่าประมาทในการที่จะไปหลงความเอร็ดอร่อยแห่งตัวกูของกูที่มันชักจูงไปนี้ มาหยุด มาหาความสงบ อร่อยในความสงบ เมื่อไม่ถูกตัวกูของกูรบกวนนี้อร่อยกว่าเสียอีก คือว่ารสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ นี่ เมื่อถามว่ารสอะไรเลิศกว่ารสทั้งหลาย พระพุทธเจ้าท่านตอบอย่างนี้แหละ สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ รสแห่งธรรมก็มีเมื่อมันมีความสงบหรือว่างจากการรบกวนของกิเลสประเภทตัวกูของกู ไม่เกิดความโลภความโกรธความหลงความรักความเกลียดความโกรธความกลัวอะไร แล้วมันไม่ฟูๆ แฟบๆ มันปรกตินี่ ใครเข้าถึงสิ่งนี้ มันก็มีธรรมนันทิ มีธรรมราคะตรงกันข้ามกับที่เป็นกิเลส คือพอใจในธรรมเพลิดเพลินในธรรม เรียกว่ารสแห่งธรรมชนะรสแห่งรสทั้งปวง นี้เป็นความมุ่งหมาย คำพูดทุกครั้งก็มุ่งหมายให้ตรงไปที่นี่ แต่ก็พูดแต่ละครั้งๆ นี่แยกแยะให้เห็นส่วนที่มันกางขวางหน้าอยู่ เขาเรียกว่าอะไรที่มันขวางหน้าอยู่ มันมีอยู่หลายชนิดนักหลายอย่างนัก ก็รู้จักมันเรื่อยๆ ไปทีละอย่าง ทำให้มันพังทลายไปทีละอย่าง เอาชนะมันได้ไปทีละอย่าง
นี่เรียกว่าธรรมปาฏิโมกข์ พูดกันทุกวัน วันพระ วันอุโบสถ วันธรรมสวนะ ลงอุโบสถธรรมะกันทุกวันอุโบสถ เท่าที่จะทำได้เรื่อยๆ ไป พูดชนิดขึ้นธรรมาสน์พูดนั้น มันลำบาก มันพูดให้ชัดเจนให้ตรงไปตรงมาอย่างนี้ไม่ได้ ต้องเป็นพิธีรีตอง ถ้ามีชาวบ้านฟังอยู่ด้วยก็พูดอย่างนี้ไม่ได้ นี่เขาถือว่าเป็นเรื่องภายในของบรรพชิต พูดตรงไปตรงมากับบรรพชิตมันก็พูดได้ เอาล่ะ,ธรรมปาฏิโมกข์ของเราในวันนี้ก็พอสมควรแก่เวลา ยุติไว้ที