แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาฏิโมกข์ของพวกเราที่นี่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกูต่อไปตามเคย วันนี้จะพูดเพียงสิ่งที่เป็นข้อสังเกตเล็กน้อยเกี่ยวกับตัวกูชนิดที่อาจจะเข้าใจผิดว่าไม่ใช่ตัวกูนี่ มันมีอยู่บางอย่าง และว่าบางคนก็อาจจะเข้าใจผิดมากกว่านั้นไปอีกก็ได้ ฉะนั้นขอให้ทุกคนตั้งข้อสังเกตในการฟังนี้ให้ดีๆ คนที่แรกเรียนหรือคนสะเพร่าเข้าใจลวกๆ ก็จะคิดว่าตัวกูของกูนี้เป็นเรื่องบาปเป็นเรื่องชั่วไปตะพึด ถ้าเข้าใจอย่างนั้นก็เรียกว่าผิดอยู่มาก ถูกนิดเดียว เพราะเขาไม่เข้าใจสิ่งที่เรียกว่าตัวกูของกูนั้นอย่างถูกต้อง ดูเหมือนว่าที่แล้วๆ มาก็เคยพูดนะ ว่าเรื่องตัวกูนี้มันก็รวมฝ่ายดีเข้าไว้ด้วย ถ้ายึดมั่นถือมั่นแล้วก็เรียกว่าตัวกูทั้งนั้น อาจจะไม่ชัดหรือบางคนอาจจะไม่ทันสังเกต ฝ่ายดีก็ยังเป็นตัวกูแหละถ้ายึดถือเหมือนกับฝ่ายชั่ว
ทีนี้มันยังมีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งกำลังไม่รู้สึกว่าดีว่าชั่ว แต่เป็นความยึดมั่นถือมั่นเหมือนกัน นี่เป็นอย่างที่ ๓ มันก็เป็นตัวกูของกูด้วยเหมือนกัน ผู้ที่เรียนนักธรรมชั้นโทมาแล้วก็จะเคยได้ยินคำนี้คือเรื่องสังขาร ๓ ว่าปุญญาภิสังขารปรุงแต่งบุญ, อปุญญาภิสังขาร ปรุงแต่งมิใช่บุญคือบาป, แล้วก็อเนญชาภิสังขาร ปรุงแต่งอเนญชา ทีนี้อเนญชานี้ยังไม่ค่อยรู้กันว่าอะไร ตัวหนังสือแปลว่าไม่หวั่นไหว มันก็เลยทิ้งไว้ทั้งที่ไม่รู้ว่าไม่หวั่นไหวนั้นคืออะไร แต่ถ้าสังเกตดูให้ดีก็จะพอเข้าใจได้ คือไม่หวั่นไหวเพราะว่ามันไม่เป็นบุญและไม่เป็นบาป บาปมันหวั่นไหวไปทางชั่ว บุญมันหวั่นไหวไปทางดี ทีนี้ตัวกูประเภทที่ไม่หวั่นไหวไปทางดีหรือทางชั่วนั้นก็มีอยู่ ฉะนั้นคำว่าอเนญชามิใช่หมายความว่าหมดกิเลส,หมดกิเลสที่เป็นเหตุให้หวั่นไหว อเนญชานี้ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องฝ่ายโลกุตตระ ยังคงเป็นเรื่องฝ่ายโลกิยะ เป็นสังขตะมีปัจจัยปรุงแต่ง ยังเป็นไปในวัฏฏสงสารด้วยเหมือนกัน
ฉะนั้นวันนี้ก็อยากจะพูดเรื่องอเนชานี้ ให้เป็นที่เข้าใจว่ายึดมั่นถือมั่นมันก็เป็นตัวกูประเภทที่มิใช่บุญและมิใช่บาป และก็แข็งทื่อเป็นก้อนหิน มิใช่บุญมิใช่บาปแต่ยังมีความรู้สึกเป็นยึดมั่น คำนี้ในบาลีแท้ๆ ในพระไตรปิฎกแท้ๆ จะพบว่า อเนชา ทีนี้ในชั้นอรรถกถาหรือชั้นต่อมาที่พวกเราเรียนพูดกันในตำราเรียนนี้เป็นอเนญชา ใส่ตัว ญ.ผู้หญิง เข้ามาตัวหนึ่ง ก็ยังเป็นคำเดียวกันนั่นแหละ จะเป็นอเนชาหรืออเนญชา มันก็คำเดียวกันแหละ แปลว่าไม่หวั่นไหว พวกที่เรียนไวยากรณ์คงจะสับสนบ้าง ถ้าอเนญชา ก็ อน-อิญฺช อิญฺช หวั่นไหว อน ไม่ และถ้าอเนชานี้ คงจะงงว่าไม่ใช่อิญฺช มันก็จะต้องอิช อิช ก็ต้องแปลว่าหวั่นไหวอยู่แล้ว อน-อิช ก็คือไม่หวั่นไหว
ทีนี้ก็มีเรื่องที่ต้องรู้กันว่าขอบเขตเท่าไหร่เรียกว่าบุญ ขอบเขตอย่างไรเรียกว่าบาป ขอบเขตอย่างไรเรียกว่าอเนชา ดูกันตามตัวหนังสืออย่างคร่าวๆ บาปนี้ก็คือชั่วนั่นแหละ ชั่วก็บัญญัติไว้ว่าเบียดเบียนตนเอง เบียดเบียนผู้อื่น เบียดเบียนทั้งสองฝ่าย นี้เรียกว่าชั่ว,บาป,บัญญัติว่าบาป ทีนี้ บุญ ก็แปลว่าไม่เบียดเบียนใครแหละ,สบายใจแหละ หมายความว่าไม่เบียดเบียนในความหมายธรรมดาปกตินะ ถ้าเบียดเบียนอย่างอื่นไม่รู้ไม่รับรอง คือไม่รวมอยู่ในนี้ คือเราเอาตามความหมายชาวบ้านธรรมดา เบียดเบียนตนให้ลำบาก เบียดเบียนผู้อื่นให้ลำบาก เบียดเบียนให้ลำบากนี้ก็บาปถ้าไม่แล้วก็บุญ ก็เลยเป็นความหมายโลกๆ ลำบากในที่นี้ก็ลำบากอย่างที่ไม่ชอบใจนี้ ทีนี้อเนชาตอนนั้นกำลังไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่นเหมือนกัน แต่ไม่เรียกว่าบุญ เพราะว่ามันไม่มีความรู้สึกประเภทที่ให้อิ่มอกอิ่มใจเหมือนกับบุญ ดังนั้นจึงหมายถึงสมาบัติประเภทที่ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกกุศลอกุศล บุญหรือบาป อันนี้เขาบัญญัติไว้ ในบาลีไม่เคยพบ ในอรรถกถาก็คำอธิบายก็บัญญัติไว้ว่าเป็นอรูปฌานขึ้นไปนี่จึงเรียกว่าอเนชา แต่ผมอยากจะให้ลงมาถึงรูปฌานด้วย ค่อนข้างจะดื้อ คือบอกให้ทราบไว้ก่อนว่าผมไม่ค่อยถือเอาตามตัวหนังสือในอรรถกถาหรือบางทีแม้ในบาลี ในบาลีพระไตรปิฎกบางทีก็ไม่ถือเอา ถือเอาตามเหตุผลที่ว่ามันเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันทั่วไป เพราะถือหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ที่เรียกว่าหลักมหาปเทส แต่ว่าปเทสฝ่ายสุตตันตะไม่ใช่ฝ่ายวินัย ใครสนใจก็ไปดูที่ท้ายของมหาปรินิพพานสูตร ธมฺเม โอสาเรตพฺพํ วินเย สนฺทสฺเสตพฺพํ นี่ ถ้ามันลงกันไม่ได้ในสูตร เทียบกันไม่ได้กับในวินัยทั่วไปแล้วก็ให้ถือว่าไม่ถูก พระพุทธเจ้าไม่ได้ว่า คนนั้นว่าเองหรือคนนั้นจำผิด คนนั้นคัดลอกมาผิด แม้คนนั้นฟังมาจากพระพุทธเจ้าเองเขาก็ฟังผิด มหาปเทสนั้นว่าอย่างนี้ มีใจความว่าอย่างนี้ ถ้าเขาฟังมา เขาก็ฟังมาผิด เขาคัดลอกจดจำมาก็ผิด เขาฟังพระเถระพูดก็เขาฟังผิด เขาฟังพระพุทธเจ้าตรัสเขาก็ฟังผิด ถ้าที่เขาฟังมาได้นั้นมันไม่เข้ากับเพื่อนฝูงอื่นๆ เอาไปเทียบในหลักธรรมมันก็เข้าเขาไม่ได้ เอาไปเทียบหลักวินัยก็เข้ากันไม่ได้ ก็ให้ถือว่านั่นไม่ใช่คำสอนของพระศาสดา นี้ก็เรียกว่ามหาปเทส แต่ว่าฝ่ายสุตตันตะ ในฝ่ายวินัยมันก็มีอยู่ ๔ ข้อต่างหาก
ฉะนั้นเมื่อเราถือเอาตามหลักมหาปเทสแล้ว มีข้อความทั้งในบาลีทั้งในอรรถกถาแหละซึ่งว่าไว้เป็นที่น่าสงสัย หรือบางทีก็เห็นได้ชัดว่ามันต้องมีอะไรผิด จำมาผิด คัดลอกมาผิด บอกต่อๆ กันมาผิดอะไรก็ได้ เอ้อ,ไหนๆ พูดเรื่องนี้แล้วก็อยากจะพูดนอกประเด็นอีกหน่อย ว่าเรื่องชนิดนี้ ตัวอย่างเช่นเรื่องติเตียนศาสนาอื่นมากเกินไปนี่ ผมว่าไม่ใช่พุทธภาษิตหรือว่าไม่ใช่หลักพุทธศาสนาที่จะมีอย่างนั้น ยกตัวอย่างเช่น อุปาลิวาทสูตร ติเตียนนิครนถ์นาฏบุตร อยู่ในรูปที่ว่าได้ยินถ้อยคำเขาสรรเสริญพระพุทธเจ้ามากมาย ร้อยคำ นับได้ร้อยคำพอดี แล้วนิครนถ์นาฏบุตรเสียใจอาเจียนโลหิต อย่างนี้ผมว่าขี้โกหกมากกว่า นี่ใช้คำหยาบคายกับพระสูตรพระบาลีไปแล้ว เชื่อว่านิครนถ์นาฏบุตรคงจะไม่เลวถึงอย่างนั้น มันเป็นเรื่องที่เพิ่มเข้าที่หลังก็ได้เพื่อจะทับถมพวกอื่น ตามหลักนี้ นี้ต้องขัดกับธรรมขัดกับวินัย อย่างน้อยก็เรื่องไม่ทับถมผู้อื่น และยังมีเรื่องอื่นอีกมาก แต่เรื่องทำนองนี้เรื่องที่เอามายกเป็นตัวอย่างนี้มันเข้ากันกับความรู้สึกหรือจิตใจของพระสาวกที่ยังมีกิเลสอยากจะทับถมศาสนาอื่น ก็เลยพอใจยินดีรับฟังรับถือเอาไว้ แต่สำหรับผม ผมอยากจะบอกว่าผมไม่ศรัทธาข้อความที่ทับถมศาสนาอื่นลัทธิอื่นคู่แข่งขันของพระพุทธเจ้านั้นผมไม่ศรัทธา ไม่เชื่อว่าเป็นคำจริงมาแต่เดิม ไม่เชื่อว่าเป็นคำตรัสของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่อย่างนั้นก็ไม่เชื่อว่าเป็นคำของพระสังคีติกาจารย์ที่เป็นพระอรหันต์ล้วนๆ ทำปฐมสังคายนาเป็นต้น มันต้องเป็นคำที่เติมเข้าใหม่รุ่นหลังๆ ต่อๆ มานี้
นี่พูดถึงเรื่องว่ามหาปเทส ที่จะตัดสินว่าอะไรควรถือเป็นหลัก อะไรไม่ควรถือเป็นหลัก ทีนี้เมื่อคนอื่นเขาถือกันตามที่เขาเคยถือกันมากๆ เรามันอุตริอยู่คนเดียวเขาก็ว่าบ้ากระมัง ว่าแหวกแนวนอกคอก ผมก็ยินดีรับคำว่าแหวกแนวนอกคอก เพราะมันทำอยู่อย่างนั้นจริงๆ
ทีนี้เอ้า,มา วกกลับมาเรื่องอเนชา ไม่หวั่นไหวนี้ จะเอากันแค่อรูปฌานหรือว่าจะลดลงมาถึงรูปฌาน บาปนี้แผดเผาให้เร่าร้อน บุญนั้นทำให้สบายใจ ทีนี้ถ้าเราพิจารณาดูถึงอรูปฌานมันก็จริงอยู่ มันระงับความรู้สึกประเภทนี้ไปเสียหมด ทีนี้แต่พอดูถึงรูปฌาน ชั้นปฐมฌานนี้จะมีความรู้สึกเป็นสุขเพราะมีปีติและสุขอยู่ด้วย ทีนี้พอถึงขั้นตติยฌานมันก็เริ่มไม่รู้สึกสุขอย่างธรรมดาแล้ว พอถึงขั้นจตุตถฌานมันไม่มีปีติและสุขเหลืออยู่เลย องค์ประกอบของจตุตถฌาน เหลืออยู่แต่อุเบกขากับเอกัคคตา ไม่มีคำว่าสุขซึ่งเป็นลักษณะของบุญเหลืออยู่ด้วย ฉะนั้นอเนชาไม่หวั่นไหวนี้ ควรจะนับตั้งแต่จตุตถฌานขึ้นไป คือรูปฌานที่ ๔ ขึ้นไปถึงอรูปฌานทั้งหมดเป็นอเนชา ตามเหตุผลธรรมดาสามัญมันจะต้องเป็นอย่างนั้น แต่ว่าอรรถกถาหรืออะไรก็ยังไม่พบที่มาที่แน่นอน เพียงแต่ว่าที่สอนๆ กันอยู่ในประเทศเราหรือประเทศอื่นนั้น อเนชาก็หมายถึงอรูปฌานขึ้นไป ก็เป็นหลักที่แน่นอน เพราะว่าอรูปฌานนี้จะไม่เกี่ยวกับสุขหรือทุกข์ เกี่ยวกับให้เงียบไปเท่านั้นเอง นั่นแหละคืออเนชา เข้าใจไว้เถิด มันไม่ใช่รู้สึกเป็นสุข ไม่ใช่รู้สึกเป็นทุกข์ ไม่ใช่รู้สึกเป็นบาปไม่ใช่รู้สึกเป็นบุญ เพราะมันเงียบ มันไม่หวั่นไหว มันเงียบ แต่มันเงียบอย่างมีตัวตน ฉะนั้นจึงเป็นสังขารชนิดหนึ่ง และทั้ง ๓ อย่างนี้มาจากอวิชชาเสมอกัน ทั้งบุญทั้งอบุญทั้งอเนชา ทั้ง ๓ อย่างนี้จะมาจากอวิชชาเหมือนกัน
อเนชานี้ไม่ได้มาจากวิชชา มากจากอวิชชาเท่ากันกับบาปและบุญ สูตรที่เคยพูดบ่อยๆ ก็มีอยู่แล้วว่า อวิชฺชาคโต บุคคลผู้ไปแล้วสู่อวิชชา ย่อมปรุงสังขารอันเป็นบุญบ้าง อันเป็นอบุญบ้าง อันเป็นอเนชาบ้าง นี้เป็นพุทธภาษิต มันก็มีมากในสังยุตตนิกาย ผู้ไปแล้วสู่อวิชชา อภิสงฺขโรติ ย่อมปรุง อภิสงฺขารํ ซึ่งวิสังขาร ปุญฺญํ เป็นบุญบ้าง อปุญฺญํ เป็นอบุญบ้าง อเนชา เป็นอเนชาบ้าง เพราะฉะนั้นหมายความว่าทั้งบาปทั้งบุญทั้งอเนชามาจากอวิชชา เมื่อเขาปรุงแต่งสังขารอันเป็นบุญ ปุญฺญูปคํ วิญฺญาณํ โหติ วิญญาณนั้นก็เป็นวิญญาณเข้าถึงซึ่งบุญ เมื่อปรุงแต่งอภิสังขารอันเป็นอบุญ อปุญฺญูปคํ วิญฺญาณํ โหติ วิญญาณนั้นก็เข้าถึงอบุญ ทีนี้ อเนชํ สงฺขารํ อภิสงฺขโรติ อเนชูปคํ วิญฺญาณํ โหติ วิญญาณนั้นก็เข้าถึงซึ่งอเนชา ฉะนั้นทั้ง ๓ อย่างนี้รวมอยู่ในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ยิ่งคำอธิบายอย่างอรรถกถาเขาระบุเลยว่าอวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารก็คือปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนชาภิสังขาร ส่วนในบาลีพุทธภาษิตไม่ว่าอย่างนั้น สังขารคำนี้ตรัสอธิบายเป็นกายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร แต่แล้วมันก็ไปสู่จุดเดียวกันนั่นแหละ เพราะว่ากายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขารอะไรก็ตามมันจะต้องแจกออกไปเป็นบุญ เป็นอบุญ เป็นอเนชาอีกทีหนึ่งในที่สุด การแจกสังขารให้เป็นบุญ อบุญ อเนชา ก็ถูกแล้ว แต่พระพุทธเจ้าท่านทรงอยากจะแจกเป็นกาย วจี มโน ก่อนหรือมากกว่า เพราะมีความหมายเกี่ยวกับตัวปฏิจจสมุปบาทมากกว่า ส่วนเรื่องบุญ อบุญ อเนชานี้ถือว่าเหมือนกัน ไม่แปลกอะไร ก็เป็นเรื่องหลอกๆ ด้วยกัน นี้จิตที่ประกอบด้วยอวิชชา กระทั่งมีอุปาทานแล้วก็ยึดมั่นนี่ ยึดมั่นในบุญก็เป็นตัวกูของกูประเภทบุญ ยึดมั่นในอบุญก็เป็นตัวกูของกูประเภทอบุญคือไม่ใช่บุญ ยึดมั่นในอเนชาก็เป็นตัวกูของกูประเภทอเนชา ถ้าเราจะพูดถึงเลวที่สุดก่อนก็คือบาปก่อนแล้วก็มาถึงบุญ แล้วสูงสุดก็อเนชาไม่ใช่บาปไม่ใช่บุญ เป็นตัวกูชนิดหนึ่งซึ่งไม่รู้สึกสุขหรือทุกข์ แต่เป็นตัวกูที่มีความรู้สึกเป็นตัวกู มีความหมายเป็นตัวกูเหมือนกัน
ฉะนั้นที่พูดมามากมายนั้นอาจจะมีคนเข้าใจผิดไปว่าเรื่องตัวกูของกูนี้เป็นเรื่องบาปไปเสียท่าเดียว กลัวว่าจะเป็นอย่างนั้น วันนี้จึงพูดเฉพาะส่วนนี้เสียให้ชัดลงไปว่าตัวกูของกูนั้นเป็นบาปก็มี อวิชชาปรุงแต่งสังขารอันเป็นบาป และเป็นบุญก็มี อวิชชายึดมั่นถือมั่นปรุงแต่งสังขารเป็นบุญ ทีนี้อวิชชาปรุงแต่งสังขารอันเป็นอเนชา ข้อนี้รู้ได้จากประวัติความเป็นมาของธรรมะนั่นเอง สมัยก่อนโน้นดึกดำบรรพ์โน้นยังไม่ค่อยรู้อะไรนั่น ก็เป็นเรื่องวัตถุนิยมเนื้อหนังเอร็ดอร่อย เอาความสุขที่เกิดรู้สึกเป็นสุขนี้ว่าเป็นดีที่สุด เป็นนิพพาน กามคุณสูงสุดบริบูรณ์เต็มที่นั้นเป็นนิพพานกันอยู่ยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง เพราะมันไม่รู้จักอะไรที่ดีกว่านั้น มันเกือบคล้ายกับสัตว์แหละ รู้จักความสุขสบายทางกายทางเนื้อหนังนี้เป็นยอดสุดของความปรารถนาของมนุษย์ ก็บัญญัติความถึงที่สุดของกามารมณ์ของกามคุณเป็นนิพพาน นี่เขาเรียกว่ากามาวจร มีจิตเที่ยวไปในกาม นี้ก็เรียกว่าบุญ ทีนี้ต่อมามนุษย์มันดีขึ้นหรือจิตใจมันสูงขึ้น มันไปพบว่าจิตที่ไม่ยุ่งด้วยกามไม่จมอยู่ในกามเป็นจิตสงบเพราะมีอะไรเป็นเครื่องยึดหน่วงต่างหากนั้น ทำให้เกิดความสุขสูงกว่า เกิดความสุขสูงกว่านะ ฟังให้ดี ว่ามันเกิดความสุขสูงกว่ากาม ฉะนั้นจึงขวนขวายจนพบที่เรียกว่ารูปฌานนี่,รูปฌาน ๔ ปฐมฌาน มี วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ครบขึ้นมาอย่างนี้ นี้ไม่มีกามไม่เกี่ยวกับกามไม่เกี่ยวกับบาป นี้เลยเป็นสุขที่สูงขึ้นมา แต่เนื่องด้วยมันยังเกี่ยวอยู่กับสุข เพราะฉะนั้นจึงจัดว่าเป็นพวกสุขเป็นพวกบุญ ยังเป็นบุญอยู่นั่นแหละ แต่ว่าสุขนั้นมิใช่กามแล้ว นี่เขาเรียกว่าพวกรูปาวจรมีจิตท่องเที่ยวไปในสิ่งที่เป็นรูปบริสุทธิ์ไม่เกี่ยวกับกาม ยึดเอารูปบริสุทธิ์เป็นวัตถุของจิต เป็นวัตถุที่กำหนดของจิต ให้จิตสงบแล้วก็มีความสุข มันไปได้จนถึงจตุตถฌานอย่างที่ว่ามาเมื่อตะกี้นี้ จตุตถฌานนั้นมันไม่เป็นสุขเป็นทุกข์แล้ว เพราะละสุขละทุกข์เสียได้แล้ว เป็นอุเบกขาแล้ว ลักษณะเฉพาะของจตุตถฌานนั้นมันก็ถึงกับดับสังขาร กายสังขารคือไม่หายใจ ดับวจีสังขารคือความคิดนึกต่างๆ มโนสังขารบางส่วนก็ดับไปแต่ไม่ใช่ทั้งหมด แต่ว่าถ้าจะดูให้ดีแล้วก็จะเห็นว่าในเวลานั้นไม่รู้สึกสุขหรือทุกข์เสียแล้ว แต่ก็ยังจัดไว้เป็นรูปฌาน ถูกจัดไว้เป็นพวกกุศลก็มี อันนี้มันน่าจะจัดเป็นฝ่ายอเนชาไปแล้ว คือเลื่อนขึ้นไปเป็นฝ่ายอเนชา พอถึงอันต่อไปก็ผู้ฉลาดเกิดขึ้นมารู้สึกว่าสุขๆ นี้ใช้ไม่ได้ เอาที่ประณีตละเอียดสงบระงับกันดีกว่า เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่ารูปฌานทั้งหลายยังมิได้สงบระงับถึงที่สุด นี่ถ้าอย่างไรเราจะก้าวล่วงรูปฌานเสียไปกำหนดอรูปเป็นอารมณ์ ฉะนั้นจึงถือเอาอากาศ แล้วก็วิญญาณ แล้วก็ความไม่มีอะไร และเอาเนวสัญญานาสัญญายตนะนี้เป็นอารมณ์ มันจึงเกิดอรูปฌาน ๔ ขึ้นมา นี่อยู่เหนือความรู้สึกเป็นสุข ทุกข์ก็ไม่ต้องพูดถึง จึงได้เรียกมันว่าอเนชา แปลว่าไม่หวั่นไหว คือเหนือ,เหนือไปจากสุข
ทีนี้สิ่งที่เรียกว่าอเนชานี้ ชาวบ้านคงไม่ค่อยรู้จักหรอก ฉะนั้นเราก็รู้จักเอาไว้บ้าง แล้วก็ค่อยๆ ทำความเข้าใจกันต่อไป ตัวกูที่ลุ่มหลงอยู่ในบาปยึดมั่นอยู่ในสิ่งที่เป็นบาป มันก็เลวมากแหละ ทีนี้ตัวกูที่มันมาลุ่มหลงอยู่ในบุญในกุสลในดีนี้มันก็ดีแหละ เป็นตัวกูชั้นดี ส่วนตัวกูที่เป็นชนิดอเนชานี้ก็จะต้องเรียกว่าตัวกูชั้นดีเลิศแหละ ยังคงเป็นตัวกูอยู่นั่นเอง พูดอย่างสมมติ ในกามนี้ก็คือสวรรค์ สวรรค์ชั้นกามาวจรรวมทั้งมนุษย์ด้วย ทีนี้รูปาวจรก็รูปพรหม ๒ พวกนี้เอาไว้เป็นกุศลหรือบุญ พอถึงอเนชาก็คืออรูปาวจรหรืออรูปพรหม นี้เอาไว้เป็นชั้นอเนชา
ผมเข้าใจว่าเรื่องอย่างนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้จัดและไม่ได้ตรัสว่าเป็นของพระองค์ เป็นเรื่องที่เขาพูดกันอยู่ก่อนทั้งนั้น รู้ได้ง่ายๆ ว่าพระพุทธเจ้าจะไม่ได้ทรงอธิบายคำว่าอเนชาว่าอะไร แต่พอตรัสว่าปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนชาภิสังขารนี่ คนฟังถูกแล้ว สาวกฟังถูกแล้ว นี่ขอให้สังเกตอย่างนี้กันบ้าง อย่าให้อะไรๆ ก็เป็นของพระพุทธเจ้าผูกขาดเสียองค์เดียว เพราะเรื่องอะไรที่พอพระพุทธเจ้าตรัสออกไป คนอื่นฟังถูกไม่ต้องอธิบาย อย่างนี้ก็ให้ถือว่าเรื่องนั้นพูดกันอยู่ก่อนแล้ว รู้กันอยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเช่นขันธ์ ๕ พวกยึดมั่นถือมั่นก็ว่าเรื่องขันธ์ ๕ นี้ไม่มีในศาสนาอื่นเป็นของพระพุทธเจ้าคิดขึ้นบัญญัติแล้วสอน แต่ผมไม่มองเห็นอย่างนั้น เรื่องขันธ์ ๕ นี้เป็นความรู้ทั่วไป เรารู้กันอยู่แล้วว่าขันธ์ ๕ เป็นอย่างไร บางทีจะรู้โดยไม่เที่ยงด้วยซ้ำไป แต่ว่าไม่รู้ว่าเป็นอนัตตา พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา รูปํ อนตฺตา เวทนา อนตฺตา ปัญจวัคคีย์ฟังถูกโดยไม่ต้องพูดว่ารูปคืออะไร เวทนาคืออะไรไม่ต้องพูด มันฟังถูกเพราะมันรู้อยู่แล้ว เป็นความรู้ทั่วไปของคนชั้นนักปราชญ์สมัยนั้นหรือพวกโยคีมุนีสมัยนั้น เอ้า,ก็เลยเถิดไปอีกหน่อยว่าเรื่องนิพพาน นี่มีคนมาถามพระพุทธเจ้าขอให้ช่วยบอกนิพพานที อย่างนี้คุณคิดว่าอย่างไร ช่วยสอนนิพพานให้ผมทีนี่ คิดว่าอย่างไร คิดว่ามันเอาคำนิพพานมาจากไหนเล่า ถ้ามันไม่เคยได้ยินมาก่อน ในโสฬสปัญหา ๑๖ มานพนั้นมีตั้ง ๒ คนนะ ที่มาขอให้อธิบายเรื่องนิพพาน นิพฺพานํ อิติ วุจฺจติ ที่ว่านิพพาน นิพพานนั้นเป็นอย่างไรพระเจ้าข้า นี่แสดงว่ามันได้ยินจนชินหูแล้วคำว่านิพพาน แต่ไม่รู้ว่าอย่างไรแน่ ที่เขาพูดกันนั้นไม่น่าจะเป็นนิพพาน ต้องมาถามพระพุทธเจ้านิพพานอย่างไรแน่ ทีนี้อีกคนหนึ่งมาพูดๆ ว่าต้องอธิบายให้ข้าพเจ้าสามารถปฏิบัตินิพพานเพื่อตน สิกฺเข นิพฺพานมตฺตโน,สิกฺเข นิพฺพานํ อตฺตโน,สิกฺเข นิพฺพานมตฺตโน นี่ จะเป็นโธตกมาณพอะไรไปดูเอาเองก็ได้ มาขอให้พระพุทธเจ้าอธิบายจนเขาสามารถปฏิบัตินิพพานเพื่อตน
ฉะนั้นคำว่านิพพาน ต้องมีใช้อยู่แล้ว ไม่ใช่พระพุทธเจ้าจะบัญญัติขึ้น ทีนี้คำในสูตรทั้งหลายเช่นพรหมชาลสูตรก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนบางพวกถือเอากามารมณ์เป็นนิพพาน คนบางพวกคือเอาจตุตถฌานเป็นนิพพาน คนบางพวกเหล่านี้มันก่อนพระพุทธเจ้านะ ฉะนั้นแสดงว่ามันมีอยู่ก่อนแล้วคำว่านิพพาน ฉะนั้นเรื่องกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร อะไรก็ตามนี้ มันต้องเป็นเรื่องที่เขาพูดกันอยู่แล้ว และเข้าใจกันอยู่แล้วว่าหมายถึงอะไร รวมทั้งคำว่าปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนชาภิสังขาร เพราะพระพุทธเจ้าจะไม่ตรัสโดยรายละเอียดของสิ่งทั้ง ๓ นี้ ตรัสว่าคนที่มีอวิชชามันก็ปรุงสังขารที่เป็นบุญ เป็นอบุญ เป็นอเนชา ถ้ามันปรุงสังขารประเภทบุญวิญญาณก็เข้าถึงบุญ ถ้ามันปรุงประเภทอบุญวิญญาณก็เข้าถึงอบุญ ถ้ามันปรุงอเนชาวิญญาณก็เข้าถึงอเนชา ท่านตรัสแต่เพียงอย่างนี้ อันเป็นหลักที่คนเหล่านู้นแต่ก่อนนู้นไม่เข้าใจและไม่รู้ แต่รู้จักชื่อสิ่งเหล่านี้ว่าหมายถึงอะไร ฉะนั้นพระพุทธเจ้าตรัสแต่ชื่อก็พอแล้ว
ทีนี้ตัวกูของกูที่มันไปยึดสิ่งทั้ง ๓ นี้แหละ มันมีเป็นชั้นๆ มันดีเลวกว่ากันอยู่เป็นชั้นๆ ฉะนั้นอย่าเข้าใจว่าอเนชา เมื่อไม่หวั่นไหวแล้วจะไม่เป็นตัวกูของกู ขอให้เข้าใจเสียใหม่ว่าอเนชาตามภาษาที่พูดกันอยู่ในสมัยนั้นของชาวบ้านนั้นไม่ได้หมายถึงหมดกิเลส หมายเพียงว่ามันไม่ทำความหวั่นไหว ฟูๆ แฟบๆ ด้วยบุญด้วยบาป คล้ายๆ ว่ามันหยุดอึดอยู่โดยที่ไม่มีความรู้สึก
ทีนี้อเนชาอีกคำหนึ่ง อนิญฺชิตาอะไรก็ตามอีกคำหนึ่ง นั้นมันไม่ใช่คำเดียว คำนี้มันหมายถึงคุณสมบัติของพระอรหันต์ผู้ไม่มีกิเลสแล้วไม่หวั่นไหว อย่าเอามาปนกับคำนี้ ถ้าอเนชาในชุดอภิสังขารนี้ มันยังมีกิเลสยังมีอนุสัย หากแต่ว่าเวลานั้นจิตถูกอบรมให้อยู่ในลักษณะที่ไม่หวั่นไหวไปตามอำนาจของกิเลสก็ได้ กิเลสยังมีอยู่ มันอยู่นิ่งๆ เพราะว่ากิเลสยังไม่กวน ถ้าอยู่นิ่งๆ ตามแบบพระอรหันต์นั้นเพราะหมดกิเลส เหมือนว่าต้นไม้ต้นหนึ่งมันไม่หวั่นไหวนี้ก็เพราะว่าลมไม่พัด มันก็ไม่หวั่นไหวได้ แต่ถ้าดีกว่านั้นมันไม่หวั่นไหวเพราะว่ามันแข็งจนไม่มีลมอันไหนมาทำให้มันหวั่นไหวได้ นี่ อเนชา หรือ อเนญชา อนิญชิตา ของพระอรหันต์นั้นเพราะไม่มีกิเลส ส่วน อเนชา ในอสังขารหรืออภิสังขารนี้ เพราะว่ามันกระทำจิตไว้ในลักษณะหนึ่งซึ่งความหวั่นไหวไม่อาจจะเกิดรู้สึกขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นมันจึงยังเป็นอเนชาที่กลับหวั่นไหวได้ ฉะนั้นจึงมีพระพุทธภาษิตชัดอยู่เลยว่า จุติจากอรูปพรหมแล้วไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน นี่ฟังดู ยังมีโดยมาก หลังจากหมดเหตุหมดปัจจัยในชั้นอรูปพรหมแล้วไปเกิดในกำเนิดเดรัจฉาน ต่ำสุดดี นั่นเอากับอเนชาแบบนี้ เพราะมันตัวกูของกูนั่นเอง ตัวกูของกูแบบไม่กระดุกกระดิกอยู่ชั่วขณะ
นี่กลัวว่าได้ยินคำว่าอเนชา อเนญชา อภิสังขารแล้ว จะไปเข้าใจเป็นหมดกิเลสหมดอะไรไป มันจะเข้าใจผิด ฉะนั้นจึงมาพูดแต่ว่าอเนชาที่เป็นตัวกูของกูเป็นกิเลสก็มี จึงได้ตัวกูของกูเป็น ๓ ประเภท ตัวกูของกูประเภทบุญหรือดีหรือสุข นี้ประเภทหนึ่ง ตัวกูประเภทบาปหรือชั่วหรือทุกข์ นี้ก็ประเภทหนึ่ง และตัวกูที่ไม่กระดุกกระดิกอะไรเลยอยู่ นี้เป็นอเนชาอีกประเภทหนึ่ง ตัวกูประเภทที่ ๓ นี้อาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจไม่ค่อยสังเกตหรือไม่รู้จัก จะทำให้เข้าใจหลักธรรมนี้ผิด ฉะนั้นจึงเอามาพูดวันนี้เฉพาะข้อนี้เพื่อป้องกันความเข้าใจผิด แต่ถ้าจำคำไว้ ๒ คำ ว่าอเนชา หรืออเนญชา หรืออนิญชิตานี้ ที่มันมีอยู่ ๒ ชนิดแหละ ไม่หวั่นไหวเพราะอำนาจของสมถะนั้นก็มี ไม่หวั่นไหวเพราะอำนาจของปัญญาของความสิ้นกิเลสนั้นก็มี เป็น ๒ไม่หวั่นไหวอยู่
ที่ไม่หวั่นไหวด้วยสมถสมาธินั้นเป็นตัวกูของกูเต็มที่ก็ได้ เมื่อเกิดความยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาก็เป็นตัวกูของกู ส่วนที่ไม่หวั่นไหวเพราะหมดกิเลสสิ้นเชิงคือเป็นพระอรหันต์นั้นมันไม่มีทางที่จะเป็นตัวกูของกูได้ ฉะนั้นอยากจะให้เรียกอย่างในบาลีเรียกเป็นเครื่องสังเกตง่ายๆ เรียกว่า อเนชา อเนชาภิสังขาร เพื่อไม่ให้ไปปนกับคำว่าอเนญชาหรืออนิญชิตา ความไม่หวั่นไหว
นี่วันนี้ก็ตั้งใจจะพูดเพียงข้อนี้ข้อเดียว ว่าให้รู้จักตัวกูประเภทที่อาจจะเข้าใจผิด หรือว่าตัวกูของกูประเภทที่มันอาจจะตบตาคนที่ไม่รู้ ไม่รู้จัก มันจะหลอกคนไม่รู้จักให้เห็นว่ามันไม่เป็นตัวกูของกู ทีนี้แถมพกว่าผมเรียกเวลาที่ไม่มีตัวกูของกูว่าจิตว่าง มันไปเข้าใจว่ามันว่างตามแบบที่ชั่วคราว ว่างเพราะกิเลสไม่รบกวนนะ ไม่ใช่ว่างจริง ไม่ใช่ว่างเพราะหมดกิเลส ฉะนั้นในขณะแห่งรูปฌานก็ดี อรูปฌานก็ดี ถ้าเวลานั้นมันหยุดความคิดนึกอย่างอื่นมันก็ไม่เกิดอุปาทานยึดมั่นถือมั่น นั้นก็ว่างไปได้ชนิดหนึ่ง เพราะมันกำลังไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่แล้วมันเกิดความรู้สึกปรุงแต่งคือพอใจในสุขรูปฌาน ในสุขอรูปฌาน หรือในความสงบระงับชั้นอรูปฌานอะไรก็ตาม มันก็เป็นสังขารขึ้นมาอีก ปรุงแต่งกำเนิดนั้นกำเนิดนี้กระทั่งกำเนิดเดรัจฉานก็ได้ในที่สุดเมื่อมันหมดฤทธิ์ของพวกอเนชา ในเวลานั้นมันไม่มีตัวกูของกูจริง เพราะมันกำลังอยู่ในสมาบัติบ้าง อยู่ในความสุขระงับหยุดนิ่งบ้าง แต่แล้วมันรู้รสอร่อย อัสสาทะเขาเรียกว่ารสอร่อย ของความสุขนั้นๆ เป็นชั้นๆ ไป มันก็มีความยึดมั่นถือมั่นในความสุขนั้นมันจึงปรุงแต่งตัณหา ปรุงแต่งอุปาทาน ปรุงแต่งอะไรไปตามเรื่อง นี่เป็นตัวกูที่เกิดมาจากความยึดมั่นบุญก็มี ยึดมั่นบาปก็มี ยึดมั่นอเนชาก็มี
ฉะนั้นเราไม่มีทางที่จะอวดดีหรอก ถ้ายังเป็นตัวกูของกูอยู่ไม่มีทางที่จะอวดดี ไม่มีทางที่จะยกหูชูหาง มันยังเป็นกิเลสอยู่นั่นแหละ แต่ว่าถ้าไม่ยกหูชูหางมันก็ไม่ใช่ตัวกูของกูเสียอีกแหละ เพราะว่ามันบ้า มันก็ต้องยกหูชูหางไปตามเรื่อง ชนิดบาปก็ยกหูชูหางไปอย่าง ชนิดบุญก็ยกหูชูหางมันไปอย่าง ชนิดอเนชาก็ยกหูชูหางไปอย่าง อันสุดท้ายอันสูงสุดมันก็จะยกหูชูหางว่ากูดีกว่าใครแหละ กูประเสริฐกว่าใคร กูอยู่ในชั้นสูงสุดกว่าใครแหละ นี่จึงไปตกหนักอยู่ที่ชั้นพรหมชั้นอรูปพรหมที่จะยกหูชูหางว่าเราดีกว่าใครทั้งหมด แต่พอสิ้นฤทธิ์เข้าก็ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานตามพระพุทธเจ้าว่าที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ฉะนั้นสิ่งที่จะต้องทำมันก็ไม่มีอะไรนอกจากทำลายตัวกูของกูเสียทุกชนิดเลย เรื่องหลังต่อตายแล้วหรือภพอื่นโลกอื่นนั้นเราเอามาพูดให้ดูไม่ได้ แต่จะพูดด้วยเรื่องที่มันพอจะเปรียบเทียบกันได้ที่นี่ในโลกนี้เดี๋ยวนี้ ยึดมั่นในกามารมณ์ระหว่างเพศ มันก็เป็นเรื่องกามารมณ์ประเภทกามาวจร ทีนี้ยึดมั่นของรักของพอใจแต่ไม่ใช่กามารมณ์เป็นวัตถุสิ่งของหรือเป็นอะไรที่มันชอบมีชอบดูชอบอะไร อย่างเราบ้าต้นไม้บ้าดอกไม้บ้าก้อนหินก้อนอะไรเหล่านี้ มันก็จะเป็นพวกไม่ใช่กามารมณ์ แต่มันก็เป็นรูปาวจร คือไปหลงใหลในสิ่งที่มีรูปที่ทำให้เกิดความพอใจ
ทีนี้ถ้าสูงไปกว่านั้นมันก็พวกไม่มีรูป มันคล้ายๆ กับพวกฝันหวาน มันจะฝันหวานอะไรก็ตามใจ อย่าไปมีรูปแล้วก็ไม่ใช่เกี่ยวกับกามารมณ์ด้วยนะ มันฝันหวานไปในเรื่องเกียรติยศชื่อเสียงความเป็นใหญ่เป็นโตความดีความเด่นไม่เกี่ยวกับวัตถุด้วย ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ด้วย แต่มันก็ปรารถนาอย่างยิ่งยึดมั่นถือมั่นอย่างยิ่ง ไม่ระวังให้ดี บุญที่บ้ากันโดยไม่รู้ว่าอะไรนั้นก็จะอยู่ในพวกนี้ ถ้าบุญจะไปเกิดสวรรค์ชั้นกามาวจรมันก็เป็นกามาวจรไป ทีนี้บุญที่ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ว่ามีทางที่จะบ้ากันมากเหมือนกัน มันก็จะเป็นรูปาวจรก็ได้อรูปาวจรก็ได้ โดยเฉพาะเรื่องเกียรติยศชื่อเสียง นี้ไม่ใช่รูป มันเป็นแต่เพียงชื่อเสียง เขาก็สมัครตาย เขาสมัครตายเพื่อเอาชื่อเสียงเท่านั้นแหละ นี่เขาบ้าชื่อเสียง นี้เป็นอรูป ชื่อเสียงมันเป็นอรูป สมัครตายกล้าตายเพื่อทำอะไรสักอย่างหนึ่งให้เป็นชื่อเสียง
ฉะนั้นเราดูให้ดีแล้ว สิ่งที่เขาบัญญัติไว้เป็นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร ประเภทหนึ่งมีได้ในมนุษย์โลกนี้ ในเวลาชีวิตนี้ชีวิตเดียวนี้ คือยินดีตายนี่ จะเอาอะไรล่ะ คนมันยินดีตายเพื่อเอาชื่อเสียง ตายแล้วเอาอะไรมาพอใจล่ะ จะเอาเวลาไหนมาพอใจ ฉะนั้นจะว่าเขาพอใจในสุขในอะไรก็ไม่เชิง เพราะมันไม่มีเวลาจะเป็นสุขเพราะเขาสมัครจะไปตายเพื่ออะไรอย่างหนึ่ง เพื่อชาติประเทศก็ได้เพราะเป็นชื่อเสียง
เขาพูดกันว่าเมื่อคราวที่ญี่ปุ่นเขาจมเรือรบใหญ่ๆ เรืออิมพันช์(นาทีที่ 39:53)อะไรของอังกฤษที่ปลายแหลมมลายูนี้ พวกญี่ปุ่นกล้าตายทั้งนั้นแหละ ใช้เรือบินขนาดเล็กเอาลูกระเบิดไปแล้วก็กระโจนลงไปในเรือนั้นให้ลูกระเบิดมันระเบิดขึ้น ตัวเองก็แหลกไปด้วย แต่เรือของฝรั่งลำใหญ่สองลำนั้นมันจมไป นี่อย่างนี้ลองคิดดูสิ คนนั้นมันก็ได้แต่ชื่อเสียงเท่านั้นแหละ แล้วก็ชื่อเสียงในความฝันความรู้สึกเมื่อเขาตายแล้ว ไม่ได้รับผลประโยชน์อะไร อย่างนี้จะเรียกว่าเขาบ้ากามก็ไม่ใช่ บ้าความสุขก็ไม่ใช่ มันบ้าอะไรชนิดหนึ่งซึ่งเป็นอรูป แต่ว่าเดี๋ยวนี้มันยังไกล พูดอย่างนี้ดีกว่า ว่าคนๆ หนึ่งนี้ นาย ก. นาย ข. นางสาว ก. นางสาว ข. คนใดคนหนึ่งนี้ เมื่อรุ่นหนุ่มมันก็บ้ากาม พอมันอยู่ไป อายุ ๕๐-๖๐-๗๐แล้วอวัยวะเรื่องเกี่ยวกับกามมันก็เฉยเมยไป มันก็ต้องไปบ้ารูป รูปล้วนๆ นั่นแหละ ทีนี้ถ้ามันเกิดอยู่ไปถึงอายุ ๙๐ ๑๐๐ปี ๑๒๐ปี มันจะบ้ารูปอยู่ได้เหรอ มันก็ต้องบ้าสิ่งที่เป็นนามธรรม บุญกุศลอะไรไปตามเรื่อง
ฉะนั้นการบัญญัติอวจร ๓ ชั้นนี้ ผมเข้าใจเอาเองว่ามันบัญญัติมาจากระดับขั้นของคนๆ หนึ่งของมนุษย์คนหนึ่งที่มันอยู่ยืนยาวไปประมาณร้อยปี ร้อยยี่สิบปี หนุ่มๆ สาวๆ พ่อบ้านแม่เรือนก็บ้ากาม พอแก่เฒ่าไปหน่อยก็บ้ารูป แม้แต่หลงรักลูกหลานเหลนนี้ก็ต้องจัดเป็นพวกบ้ารูปเพราะมันไม่ใช่บ้ากาม ทีนี้พอเลยนั้นไปอีก มันก็ต้องหวังไปนู้นแหละเบื้องหน้าโลกหน้าอะไรก็ไม่รู้ซึ่งไม่มองเห็นตัวไม่มีรูป แล้วแต่ว่าได้รับคำสั่งสอนมาอย่างไร นั่นก็บ้าอรูป
ฉะนั้นคนๆ หนึ่งถ้ามันเป็นมนุษย์ปกติไม่เลวเกินไป ชีวิตนั้นจะได้ครบทั้ง ๓ ภูมิ กามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร เว้นไว้แต่มันจะเลวเกินไปคือมันบ้ากามจนเข้าโลงนี่ อย่างนี้มันได้ภูมิเดียว คนบางคนมันเกิดมามันบ้ากามอย่างเดียวจนเข้าโลงหรือมันชิงตายไปเสียก่อน ก็แปลว่าชาติของมันชาติหนึ่งก็ได้แต่กามาวจรภูมิ ทีนี้ถ้ามันได้รับการอบรมดี การสั่งสอนดี อายุไม่เท่าไหร่มันก็จะเบื่อกาม หรือแม้โดยธรรมชาติมันก็ต้องเบื่อกาม ความรู้สึกในเนื้อหนังร่างกายต้องการอะไรต่างๆ มันเปลี่ยนแปลงหมด ความรู้สึกทางเพศมันก็เฉยไป แต่คนเราจะอยู่เฉยไม่ได้ก็ต้องไปคว้าอะไรมาอันหนึ่ง อาจจะบ้าบ้าน บ้าเรือน บ้าเรือกสวนไร่นา บ้าวัตถุอะไรก็ได้ บ้าที่ดินก็ได้ ทีนี้มันอยู่ต่อไปอีกมันก็ต้องบ้านามธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่เชื่อคุณลองอายุยืนไปสัก ๑๒๐ ปีสิ ถ้าไม่เป็นอย่างผมว่าค่อยมาด่าผม เอ้า,พยายามอยู่ให้ ๑๒๐ปี เลย ๑๐๐ปีไปแล้วคุณจะบ้าอะไร นี่ถ้าว่ายังดีๆ อยู่นะ มันก็ต้องบ้าดีบ้าบุญบ้ากุศลบ้าอะไรไปตามเรื่อง
นี้เรื่องปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนชาภิสังขาร มันจะไปรูปนี้ ไม่ใช่ว่ามันหมดตัวกู อายุ ๑๒๐ปีแล้วไม่บ้ากามบ้ารูปแล้ว มันก็บ้าความหยุดนิ่งก็ได้ บ้าอยากอยู่เฉยๆ ก็ได้ ใครอย่ามากวนกูก็แล้วกันนี่ ผิดหูผิดตาผิดอะไรหมด อยู่เฉยๆ อย่างนี้แหละ นี่จะเป็นพวกอเนชาภิสังขาร แต่ก็ยังเป็นตัวเป็นตนเป็นของตนเป็นตัวกูของกูอยู่ ฉะนั้นสังเกตข้อนี้ไว้ให้ดี อย่าให้มันไปปนเปกันจนเข้าใจทั้งหมดไม่ได้
นี่วันนี้มุ่งหมายจะพูดเพียงให้รู้จักตัวกูของกูประเภทอเนชา ซึ่งเกิดมาจากอเนชาภิสังขาร ไม่ใช่บุญไม่ใช่บาปแต่เป็นระหว่างบุญระหว่างบาป ไม่ใช่บุญไม่ใช่บาปแต่ยังเป็นตัวกูของกู เอาล่ะ,พอกันที