แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาฏิโมกข์ของพวกเราที่นี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกูโดยไม่ต้องเปลี่ยนเป็นเรื่องอื่น เพราะว่าเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกูนั้นมีมากแง่มากมุม พูดกันมา ๓-๔ ปีแล้วก็ยังไม่หมดเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกู วันนี้ก็ยังคงพูดเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกูต่อไปอีกในฐานะที่เป็นธรรมปาฏิโมกข์นั่นเอง ในระยะนี้พูดกันมากถึงเรื่องกับอิทัปปัจจยตาจนเกือบจะเป็นว่าอิทัปปัจจยตาขึ้นสมอง ดังนั้นเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกูก็อยากจะพูดเกี่ยวกับอิทัปปัจจยตาดูบ้าง ที่แท้ก็พูดเรื่องอิทัปปัจจยตาอยู่ตลอดเวลาที่แล้วมาแต่ไม่ได้ออกชื่อ ถ้าใครเป็นนักธรรมะจริงไม่ใช่นักธรรมะจด ก็จะทราบได้เองแล้วว่าเรื่องตัวกูของกูที่พูดกันมาตั้งร้อยกว่าครั้งแล้วนี้มันก็เรื่องอิทัปปัจจยตาในแง่ใดแง่หนึ่ง นักธรรมะจดนั้นไม่เข้าใจอะไร ได้แต่จด เมื่อมาได้ยินคำว่าอิทัปปัจจยตาก็ไม่รู้ว่านี้เป็นเรื่องอิทัปปัจจยตา ถ้าเป็นผู้เข้าใจธรรมะเป็นนักธรรมะจริงจะมองเห็นว่าไม่มีเรื่องอะไรที่ไม่เกี่ยวกับอิทัปปัจจยตา คือว่าไม่โดยตรงก็โดยอ้อม ไม่โดยอ้อมก็โดยตรง นั่นแหละขอให้รู้สึกกันไว้บ้างว่าความรู้ธรรมะของตัวนั้นมันมีมากพอถึงขนาดที่จะมองเห็นอิทัปปัจจยตาในสิ่งทั้งปวงแล้วหรือยัง จากการบรรยายเรื่องอิทัปปัจจยตาในระหว่างนี้ ก็ควรจะมองเห็นว่ามันไม่มีอะไรที่ไม่เกี่ยวกับอิทัปปัจจยตา ว่ารูปธรรมก็ดี นามธรรมก็ดีนี่ การเป็นไปของรูปธรรมนามธรรมนั้นก็ดี ผลที่เกิดขึ้นก็ดี ล้วนแต่เป็นเรื่องอิทัปปัจจยตาส่วนใดส่วนหนึ่ง
ทีนี้วันนี้จะพูดให้ยิ่งขึ้นไปอีก ถึงขนาดที่ว่าคนทั่วไปจะไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะคนที่ยึดมั่นในความรู้ของตัวเองมากเกินไปแล้วจะไม่เห็นด้วย คือว่าจะเอาอิทัปปัจจยตาใส่เข้าไปที่นิพพาน นี่บางองค์ที่นั่งอยู่ที่นี่นึกค้านในใจว่าบ้าแล้ว จะเอาอิทัปปัจจยตาใส่เข้าไปที่นิพพานได้อย่างไรในเมื่อนิพพานเป็นของเที่ยงไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง แล้วจะเอาอิทัปปัจจยตาใส่เข้าไปที่นิพพานได้อย่างไร เมื่อยังไม่เชื่อก็คอยฟังต่อไป สิ่งแรกที่สุดเราจะต้องนึกถึงข้อที่ว่าตัวกูเกิดขึ้นมาตามเหตุตามปัจจัย เกิดขึ้นในจิตใจนี้มันก็เป็นอิทัปปัจจยตา นี่ทุกคนเข้าใจอยู่แล้ว ยอมรับทันที ทีนี้ถ้าถามว่าแล้วความดับของตัวกูนั้น ความที่ตัวกูดับลงไปนั้น มันเนื่องด้วยเหตุปัจจัยหรือเปล่า ถ้ามันเนื่องด้วยเหตุปัจจัย มันก็เป็นอิทัปปัจจยตา ความดับลงแห่งตัวกู มันใกล้นิพพานเข้าไปแล้ว,เห็นไหม ในพระบาลีปฏิจจสมุปบาท ก็มีแยกอยู่เป็น ๒ ฝ่าย คือฝ่ายเกิดขึ้นและฝ่ายดับ ฝ่ายเกิดขึ้นเรียกว่าทุกขสมุทัย ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ นี้เป็นอิทัปปัจจยตาชัดๆ เห็นง่าย ว่าเพราะอวิชชาให้เกิดสังขาร สังขารให้เกิดวิญญาณ วิญญาณให้เกิดนามรูป นามรูปให้เกิดอายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติและทุกข์ เห็นง่าย พอทีเป็นทุกขนิโรธหรือนิโรธวาร มันก็ว่าเพราะอวิชชาดับจึงมีความดับแห่งสังขาร เพราะมีความดับแห่งสังขารจึงมีความดับแห่งวิญญาณ เพราะมีความดับแห่งวิญญาณจึงมีความดับแห่งนามรูป เพราะมีความดับแห่งนามรูปจึงมีความดับแห่งอายตนะนี่ ขอให้สังเกตคำว่าความดับไว้ให้ดีๆ เพราะมีความดับแห่งอายตนะก็มีความดับแห่งผัสสะ เพราะมีความดับแห่งผัสสะก็มีความดับแห่งเวทนา เพราะมีความดับแห่งเวทนาก็มีความดับแห่งตัณหา เพราะมีความดับแห่งตัณหาก็มีความดับแห่งอุปาทาน เพราะมีความดับแห่งอุปาทานก็มีความดับแห่งภพ เพราะมีความดับแห่งภพก็มีความดับแห่งชาติ เพราะมีความดับแห่งชาติก็มีความดับแห่งชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ หรือความดับแห่งทุกข์ทั้งปวงมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ นี่เป็นพระบาลี ความดับแห่งทุกข์ทั้งปวงมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ ก็แปลว่าทุกขนิโรธมีได้เพราะเหตุปัจจัยอย่างนี้
ทีนี้พวกนักธรรมอวดดีนักธรรมหลับหูหลับตานี่ มันเกณฑ์ให้เหมือนกันไปเสียหมด เหตุปัจจัยให้เกิดนั้นมันอย่างหนึ่ง เหตุปัจจัยให้ปรากฏนั้นมันอีกอย่างหนึ่ง แยกกันให้ชัดออกไปเสีย เหตุปัจจัยสำหรับให้เกิดนั้นมันอย่างหนึ่ง เหตุปัจจัยสำหรับให้ปรากฏออกมานี้มันอีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกันเลย สำหรับสิ่งที่มีการเกิดจากเหตุจากปัจจัยนั้น ปัจจัยมันก็ทำให้เกิด ก็เรียกว่าปัจจัยให้เกิด แต่บางอย่างมันไม่เกิดจากเหตุปัจจัย นี่ปัจจัยก็ทำให้เกิดไม่ได้ แต่ว่าปัจจัยทำให้สิ่งนั้นปรากฏได้ ไม่ลึกลับอีกต่อไป ฉะนั้นสำหรับนิพพานจึงไม่ใช้คำว่าเกิด แต่ใช้คำว่าทำให้แจ้ง พระบาลีจะใช้คำว่า สจฺฉิกา,สจฺฉิกตฺตพฺพา สจฺฉิ แปลว่าทำให้แจ้ง,สจฺฉิกตา แปลว่าทำให้แจ้ง ใครๆ จะสร้างนิพพานไม่ได้ จะทำให้นิพพานเกิดไม่ได้ เพราะมันเป็นของไม่เกิดคือเป็นอสังขตะไม่มีการเกิด แต่ว่าเหตุปัจจัยจะทำให้นิพพานแจ้งได้ นี้ไม่ใช่เป็นเรื่องต้องอ้างว่าเป็นคำสมมติ มันเป็นคำจริง ขอให้นึกถึงคำว่าสมุทัยต้องละ นิโรธต้องทำให้แจ้ง ในอริยสัจ ๔ นั่นนึกดูใหม่สิ ทุกข์ต้องรู้ สมุทัยต้องละ นิโรธต้องทำให้แจ้ง มรรคต้องทำให้เกิดหรือให้มีขึ้นมา มันไม่เหมือนกัน ทำให้แจ้งกับทำให้เกิดมีขึ้นมานี้ไม่เหมือนกัน มรรคนี้มันเป็นสังขตธรรม ต้องทำให้เกิด แต่นิโรธนั้น เมื่อหมายถึงนิพพานแล้ว มันเป็นอสังขตะทำให้เกิดไม่ได้ ต้องทำให้แจ้ง ฉะนั้นมรรคเป็นปัจจัยที่จะทำนิพพานให้แจ้ง ไม่ใช่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิด
ทีนี้เราได้ยินจนชินหูว่านิพพานเป็นสิ่งที่ปัจจัยอะไรๆ กระทำไม่ได้ จริงหรือไม่จริง ถ้าถือเอาตามตัวหนังสือเร็วไปมันก็ไม่จริง นิพพานนี้เป็นสิ่งที่ปัจจัยอะไรๆ ทำให้เกิดไม่ได้แน่ แต่นิพพานนี้เป็นสิ่งที่ปัจจัยอะไรๆ ทำให้แจ้งให้ปรากฏออกมานี้ได้ ถ้าไม่อย่างนั้นนิพพานจะปรากฏแก่จิตใจของผู้ปฏิบัติได้อย่างไร นิพพานทำให้เกิดไม่ได้ แต่เราทำให้ปรากฏได้ ทำให้แจ้งแก่ใจได้โดยปัจจัยก็คือมรรคมีองค์ ๘ ที่พูดนี้ก็เพื่อจะให้รู้จักปัจจัยใน ๒ ความหมาย ปัจจัยที่ทำให้เกิดนั้นอย่างหนึ่ง ปัจจัยที่ทำให้ปรากฏนั้นอีกอย่างหนึ่ง ผมไม่เคยเห็นสอนในโรงเรียน เมื่อผมเรียนผมก็ไม่ได้ยินครูสอน เมื่อผมสอนเป็นครูเองผมก็ไม่ได้สอน แล้วองค์ไหนเคยได้ยินการสอนเรื่องปัจจัย ๒ อย่างอย่างนี้บ้าง เมื่อไม่เคยได้ยินก็เหมาเอาเองว่าปัจจัยมีอย่างเดียว ปัจจัยมีแต่ให้เกิดเท่านั้น และนิพพานเป็นสิ่งที่ปัจจัยอะไรๆ กระทำไม่ได้ ก็เลยรู้ว่านิพพานนี้ไม่เกี่ยวกับปัจจัย ถ้านิพพานไม่เกี่ยวกับปัจจัยแล้วทำให้แจ้งได้อย่างไร มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร การบวชของเราที่ว่าเพื่อจะทำนิพพานให้แจ้ง มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร เป็นเรื่องโกหกกลางเมืองเลย คำขออุปสมบทแบบไทยแบบโบราณมาแต่เดิม ก็บอกว่าอะไร จงบรรพชาให้แก่ข้าพเจ้าเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง สพฺพทุกฺขนิสฺสรณนิพฺพานสจฺฉิกรณตฺถาย เอตํ กาสาวํ ทตฺวา ปพฺพาเชถ มํ ภนฺเต อนุกมฺปํ อุปาทาย ขอท่านจงให้ผ้ากาสายะนี้ ทำการบรรพชาให้แก่กระผมเพื่อกระทำนิพพานให้แจ้ง ถ้านิพพานเป็นสิ่งที่ทำให้แจ้งไม่ได้ การบวชนี้ก็เป็นหมันไม่มีประโยชน์อะไร ที่บวชกันอยู่นี้แหละมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร มันเป็นหมันเพราะว่านิพพานเป็นสิ่งที่ทำให้แจ้งไม่ได้ แต่ถ้านิพพานเป็นสิ่งที่ทำให้แจ้งได้ ก็ลองคิดดูสิว่ามันก็ต้องด้วยปัจจัยอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยเครื่องมืออย่างใดอย่างหนึ่ง นั่นก็ชัดอยู่แล้วว่ามรรคเป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิดมี นิโรธเป็นสิ่งที่ต้องทำให้แจ้ง พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ถูก แต่ว่าพวกลูกศิษย์อย่าไปเข้าใจผิดก็แล้วกัน ฉะนั้นเป็นอันว่านิพพานนี้ทำให้เกิดไม่ได้ แต่ทำให้แจ้งให้ปรากฏออกมาได้โดยปัจจัยคือการกระทำที่ถูกต้องที่เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างน่าอัศจรรย์อีกอย่างหนึ่งว่า เพียงแต่ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้เป็นอยู่โดยชอบเท่านั้น โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ เมื่อท่านจะปรินิพพานอยู่หยกๆ แล้วก็ยังตรัสอย่างนี้ ให้เป็นอยู่โดยชอบโลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ นี้เป็นอยู่โดยชอบแล้วมันคือเป็นอยู่อย่างถูกต้องครบทั้ง ๘ ประการ คืออัฏฐังคิกมรรคนั่นเอง การเป็นอยู่อย่างนั้นจะทำให้นิพพานปรากฏออกมาในโอกาสใดโอกาสหนึ่งเป็นพระอรหันต์ ฉะนั้นเราจะนอกคอกกันบ้างก็ยังดีที่จะพูดว่านิพพานนี้เราต้องอาศัยปัจจัยที่ทำให้ปรากฏ คือเราเมื่อจะเอานิพพานให้ได้เราก็ต้องมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้นิพพานปรากฏแก่เรา ข้อนี้ให้นึกถึงพระพุทธภาษิตที่ว่า ธรรมธาตุ,ธมฺมธาตุ ธรรมธาตุนี้ ตถาคตจะเกิดหรือตถาคตจะไม่เกิด ธรรมธาตุมีอยู่อย่างนี้เอง นี้ก็แสดงว่าพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ทำให้ธรรมธาตุอันไหนเกิดขึ้นมาได้ มันก็มีอยู่ของมันเอง จะเป็นธรรมธาตุฝ่ายสังขตะหรือธรรมธาตุฝ่ายอสังขตะก็ตามใจ มันเป็นธรรมธาตุที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ ตถาคตเกิดหรือไม่เกิดมันมีอยู่อย่างนั้น ที่เห็นชัดก็คือว่าปฏิจจสมุปบาทก็มีอยู่เองแล้ว ตถาคตจะเกิดหรือไม่เกิด ปฏิจจสมุปบาทก็มีอยู่ ทั้งฝ่ายสมุทยวารและฝ่ายนิโรธวาร
ทีนี้เราดูว่าพวกสังขตธรรมก็ดี อสังขตธรรมก็ดี มันก็เป็นธรรมธาตุเหมือนกัน ไม่ต้องแยกกัน คำว่าธรรมธาตุต้องมีอย่างเดียว พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสเรียกสิ่งนี้ด้วยพหุวจนะ ตัวสังขตะอสังขตะเสียอีกตรัสด้วยพหุวจนะว่า สงฺขตา วา อสงฺขตา วา นี้ลักษณะเป็นพหุวจนะ แปลว่ามีมากด้วยกันทั้งนั้นทั้งสังขตะและอสังขตะ แต่พอธรรมธาตุนี้พบสำนวนเอกวจนะว่าทุกอย่างมันเรียกว่าธรรมธาตุ ฉะนั้นธรรมธาตุแยกออกไปได้เป็นสังขตะเป็นอสังขตะ เป็นกี่ร้อยกี่พันอย่างก็ได้ แต่เรียกว่าธรรมธาตุเหมือนกัน เพราะความที่เป็นธรรมธาตุเหมือนกัน
สำหรับนิพพานเป็นอสังขตะ ทีนี้เมื่อว่าโดยสภาพของสิ่งที่เรียกว่านิพพานนี้ เรียกว่าอสังขตะคือไม่ถูกกระทำโดยสิ่งใด หมายความว่าไม่มีอะไรปรุงแต่งขึ้นหรือทำให้เกิดขึ้นหรือทำให้เปลี่ยนไป เป็นสภาวะเที่ยงแท้ แต่ทีนี้ความเที่ยงแท้นี้ก็มามีปัญหาอย่างที่ว่านี้ ว่ามันจะปรากฏออกมาได้แก่จิตของเราก็ด้วยปัจจัยประเภทที่ ๒ เหตุปัจจัยประเภทที่ ๒ คือเหตุปัจจัยประเภทที่จะทำให้พวกอสังขตะปรากฏออกมา ส่วนพวกสังขตะนั้นเราอาจจะสร้างหรือทำขึ้นโดยตรงก็ได้ ในบางอย่างบางกรณีอยู่ในอำนาจมนุษย์สร้างทำขึ้นมาได้ แต่พวกอสังขตะไม่เกี่ยวด้วยเหตุด้วยปัจจัยประเภทนั้น นี่สร้างทำขึ้นมาไม่ได้ แต่เราทำให้มีประโยชน์แก่เราได้โดยทำให้ปรากฏแก่จิตใจ นี้เรียกว่าทำพระนิพพานให้แจ้งคือปรากฏแก่จิตใจ ตัวนิพพานนั้นเราจะไปหยิบเอามาก็ไม่ได้ เราจะสร้างขึ้นก็ไม่ได้ แต่ว่าทำให้สัมผัสกับจิตใจได้ มีคำบาลีเรียกว่าสุญญตาสัมผัส หมายถึงจิตที่สัมผัสต่อพระนิพพาน สัมผัสต่อสุญญตาคือความว่าง ว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์นี้ จิตสัมผัสต่อสิ่งนั้นได้ เมื่อจิตสัมผัสต่อสุญญตานั้นเรียกว่านิพพานปรากฏหรือเป็นแจ้งแก่จิต นี่นิพพานซึ่งไม่ใช่รูปและไม่ใช่นามนี้ ผมถือว่านิพพานไม่ใช่รูปไม่ใช่นาม พวกอภิธรรมเขาถือว่านิพพานเป็นนาม ตามใจเขา แต่ผมถือว่านิพพานไม่ใช่นาม ไม่ใช่รูปไม่ใช่นาม เมื่อกระทำจนไม่มีกิเลสครอบงำจิต จิตนั้นก็สัมผัสกับสุญญตา คือความว่างจากกิเลสและว่างจากทุกข์ สิ่งใดรู้สึกอยู่ในขณะนั้นสิ่งนั้นเรียกว่านิพพานเป็นแจ้งหรือปรากฏแก่จิตนั้น
นี่ดูให้ละเอียดจะเห็นได้ว่าเราไม่ได้สร้างนิพพานขึ้นมา เราไม่ได้ไปคว้าเอานิพพานมาได้เป็นดุ้นเป็นก้อนเป็นอะไรเป็นความรู้สึกก็ยังไม่ได้ แต่ว่าจิตนั้นรู้สึกได้ในเมื่อสัมผัสกับความว่างจากกิเลสและความทุกข์ นี่ภาษาพูดสมมติ ก็สมมติเอาความว่างจากกิเลสนั้นเป็นนิพพาน เอาความว่างจากความทุกข์เป็นนิพพาน ทำอย่างนั้นเผลอเข้านิพพานจะเป็นสังขตะไม่ทันรู้ตัว มันต้องดูให้ดีๆ ว่าถ้านิพพานเป็นสังขตะจริง มันจะเพียงได้แต่เป็นแจ้งหรือรู้สึกแก่จิตโดยผ่านทางสุญญตาสัมผัส ทีนี้คนเขาก็แย้งว่าสุญญตากับนิพพานเป็นสิ่งเดียวกัน ว่างอย่างยิ่งคือนิพพานอย่างนี้ นั้นมันพูดเอียงไปทางสมมติเรื่อยไป เดี๋ยวจะเป็นสังขตะไปไม่ทันรู้อีกเหมือนกัน แต่เพียงเท่าที่พูดนี้ก็พอจะเข้าใจได้ว่า นิพพานอยู่ในวิสัยที่จะเป็นแจ้งแก่จิตของผู้ปฏิบัติอย่างถูกต้องแล้วด้วยเหตุปัจจัยคือการปฏิบัติที่ถูกต้องเพียงพอนี่ จะเรียกว่าเหตุนั้นไม่ถูก จะเรียกว่าปัจจัยนั้นถูก แต่บางทีคำว่าเหตุปัจจัยนี้ใช้รวมๆ ปนๆ กันไปเป็นภาษาที่กำกวม เหตุเป็นต้นเหตุ ปัจจัยแปลว่าเครื่องอาศัยประกอบ เพราะความดับไปแห่งกิเลสนี้ความไม่มีกิเลสก็ปรากฏ มันไม่ได้สร้างความไม่มีกิเลสขึ้นมา แต่มันเป็นปัจจัยทำให้ความไม่มีกิเลสนั้นปรากฏ เพราะฉะนั้นผมจึงถือเอาเองว่ามันเป็นปัจจัยเหมือนกัน แต่ปัจจัยสำหรับให้ปรากฏ
เพราะฉะนั้นจึงขอร้องให้ช่วยกันสังเกตและจำเอาไว้ว่า สิ่งที่เรียกว่าปัจจัยๆ ที่เราเคยพูดเคยสอนกันมาแต่กาลก่อนนั้น มันครึ่งเดียวมันซีกเดียว มันไม่หมด เรามองให้ดูจะเห็นได้ว่าปัจจัยสำหรับให้ปรากฏนี้ยังมีอยู่แผนกหนึ่ง อาศัยหลักที่ว่านิพพานเป็นสิ่งที่ต้องทำให้แจ้งหรืออาศัยหลักที่ว่าเพราะความดับแห่งอวิชชาจึงมีสังขาร เพราะความดับแห่งสังขารจึงมีความดับแห่งวิญญาณนี้จนกระทั่งมีความดับแห่งทุกข์ทั้งปวง อย่างนี้ไม่ใช่ในลักษณะที่ว่าสร้างมันขึ้นมา มันในลักษณะที่ว่าเป็นปัจจัยให้ปรากฏทั้งนั้น ทีนี้เมื่อเรามีปัจจัยสำหรับจะกระทำนิพพานให้ปรากฏแล้ว เรื่องอิทัปปัจจยตาก็เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนิพพานได้ในลักษณะอย่างนี้ เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไปนี่ จนในที่สุดมันดับไปอันสุดท้าย แล้วนิพพานก็ปรากฏแก่จิตใจ ความดับไปอันแรกนั้นมาจากเหตุโดยตรงจากปัจจัยโดยตรง แต่ความดับไปอันสุดท้ายที่จะทำให้นิพพานปรากฏนี้มันแปลกจากเขาหมด เพราะอันนั้นดับไปนิพพานก็ปรากฏแก่จิต จะเป็นนิพพานชั่วคราว เป็นนิพพานที่ไม่แท้นั้นก็เหมือนกัน จะนิพพานแท้ก็เหมือนกัน นิพพานมีเชื้อเหลือหรือนิพพานไม่มีเชื้อเหลือก็เหมือนกัน ล้วนแต่อยู่ในลักษณะทำให้ปรากฏทั้งนั้นแหละ จะทำให้เกิดไม่ได้ เพราะมันไม่มีเหตุปัจจัยโดยตรง มันเป็นพวกความดับเป็นพวกความว่าง ไม่มีเหตุปัจจัยโดยตรงที่จะสร้างมันขึ้นมา แต่มีเหตุมีปัจจัยชนิดที่จะทำให้เราเห็นแจ้งหรือว่ามันปรากฏแก่จิตใจของเรา ด้วยเหตุนี้แหละกฎเกณฑ์แห่งอิทัปปัจจยตาจึงเอาไปใช้กับนิพพานได้ ซึ่งฟังแล้วมันน่าสะดุ้ง ถ้าไม่เข้าใจปัจจัยที่ว่าปัจจัยสำหรับให้ปรากฏ เพราะเคยฟังมาแต่ปัจจัยสำหรับทำให้เกิดเท่านั้นเอง
ทีนี้เราพูดอย่างที่เรียกว่าประยุกต์ คือว่าต้องปฏิบัติได้กันนี้ มันก็ต้องตั้งปัญหาขึ้นว่านิพพานจะมีประโยชน์แก่เราได้อย่างไร มันก็ต้องปรากฏแก่เราสิ ถ้าอย่างนั้นนิพพานเป็นสังขตะหรือ? มันบอกไม่ใช่ นิพพานคงเป็นอสังขตะแต่อาศัยเหตุปัจจัยประเภทหนึ่งซึ่งไม่ค่อยรู้จักกันในลักษณะนี้หรือในชื่อนี้ว่าเป็นเครื่องทำให้ปรากฏ เพียงสักว่าเป็นอยู่ให้ชอบเป็นอยู่ให้ถูกต้องเท่านั้นโลกก็ไม่ว่างจากพระอรหันต์
ทีนี้ก็มาดูกันในเรื่องที่เกี่ยวกับตัวกูของกู ตัวกูของกูนี้ก็เหมือนกันอีก มีการเกิดขึ้นมาในลักษณะเป็นสังขตะ มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งโดยเฉพาะจึงเกิดขึ้นเป็นตัวกูเป็นของกู ก็คืออุปาทานประเภทอัตตวาทุปาทาน รู้สึกเป็นอัตตา รู้สึกเป็นอัตตนียา อัตตาคือตัวกู อัตตนียาคือของกู อัตตาแปลว่าตน อัตตนียาแปลว่าเนื่องอยู่กับตน นั่นแหละคือตัวกูคือของกู ถ้าเป็นอัตตาเป็นอัตตนียา มีลักษณะเป็นสังขตะ อาศัยปัจจัยประเภทที่ทำให้เกิดขึ้นโดยตรง แต่ถ้าเป็นเรื่องดับไปแห่งตัวกูดับไปแห่งของกูแล้ว ระวังให้ดี มันจะเลยเถิดออกไปเป็นอสังขตะ หรือมันไม่ใช่เลยเถิด มันจะเลยไปตามกฎเกณฑ์ของมันออกไปถึงอสังขตะ เพราะมันเป็นความดับไปแห่งตัวกู เหตุปัจจัยที่จะทำให้เป็นความดับเป็นความไม่มีนั้น มันต้องผิดกันกับเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดหรือให้มี สังเกตในข้อนี้ไว้ก็จะพบว่าปัจจัยนี้มี ๒ ประเภทอย่างนี้ ปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้นนั้นมันเห็นง่ายๆ แต่ปัจจัยที่จะทำให้ไม่เกิดนี้มันเห็นยาก เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ ยทิทํ สพฺพสงฺขารสมโถ สพฺพูปธิปฏินิสฺสคฺโค นี่ อันนี้เห็นยากที่สุด ประณีตที่สุด ละเอียดที่สุด สุขุมที่สุด คือธรรม,ธรรมะนะ ที่จะเป็นเครื่องเข้าไปสงบระงับแห่งสังขาร ธรรมะที่จะเป็นที่สลัดเหวี่ยงทิ้งไปซึ่งอุปธิ เหล่านี้เป็นต้น คือนิพพานทั้งนั้น นี้เป็นสิ่งที่เห็นยาก ฉะนั้นปัจจัยที่จะทำให้เกิดนี้เห็นง่าย แต่ปัจจัยที่จะทำให้ดับนี้เห็นยาก เพราะมันเป็นปัจจัยที่ไม่ได้ทำให้เกิด แต่ทำให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งแจ้งออกมาหลังจากที่สิ่งนั้นมันดับไป เราดับอวิชชา เรียกว่าดับกิเลสหมด ความทุกข์ก็ดับ เมื่อความทุกข์ดับ นิพพานจะปรากฏหรือเป็นแจ้งแก่จิตใจ จนเอามาเป็นอันเดียวกันเสียกับว่าทุกข์ดับนั้นคือนิพพาน นี้เป็นเงื่อนงำอยู่นิดเดียวเท่านั้นที่ว่านิพพานจะถูกเข้าใจเป็นสังขตะไปไม่ทันรู้ก็ได้ ที่แท้จะต้องเป็นอสังขตะคือปัจจัยอะไรกระทำแก่พระนิพพานไม่ได้
ทีนี้ความดับแห่งตัวกู ถ้ามันเป็นถึงที่สุด มันก็คือดับอวิชชา แล้วก็มีผลเป็นไม่มีทุกข์ เป็นภาวะแห่งความดับของความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง มีค่าเท่ากับสิ่งทั้งปวงดับ คือรูปดับ นามดับ ขันธ์ดับ ธาตุดับ อายตนะดับ อะไรดับๆ ไปหมดไม่มีอะไรเหลือ นี่ภาวะแห่งความดับของสิ่งเหล่านั้นเป็นแจ้งแก่จิตใจได้เพราะเราทำให้ปรากฏได้ แต่เราสร้างขึ้นไม่ได้ การเกิดแห่งตัวกูเป็นไปตามปัจจัยของสังขตะ ความดับแห่งตัวกูในตอนต้นๆ เป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งปัจจัยของสังขตะ แต่ในวาระสุดท้ายจะต้องเป็นประเภทหรือเป็นขั้นที่ว่าเป็นไปตามปัจจัยแห่งการกระทำให้เป็นแจ้งหรือการกระทำให้ปรากฏ รู้สึกว่าเดี๋ยวนี้ไม่มีตัวตนไม่มีของตน เป็นความรู้สึกที่แจ่มแจ้งแก่จิตใจว่าปราศจากตัวตนปราศจากของตน ฉะนั้นเรื่องอิทัปปัจจยตาที่นำมาใช้กับตัวกูของกูนี้ต้องเข้าใจกันให้แจ่มแจ้งตลอดถึงที่สุดถึงปัจจัยประเภทที่ ๒ คือปัจจัยที่เป็นเพียงการกระทำให้ปรากฏเท่านั้น ไม่ใช่ปัจจัยที่จะมัวสร้างมัวปรุงแต่งมัวให้เกิดกันเสียเรื่อย
ข้อนี้ขอให้ลองคิดดูเถิดว่า ถ้ามันไม่มีปัจจัยประเภทนี้ ประเภทที่ ๒ ประเภทหลังนี้ นิพพานเป็นแจ้งไม่ได้ นิพพานจะปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรายังจะต้องใช้ปัจจัยที่คู่ควรกันกับการกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานนี้อยู่เสมอ ถ้าสังเกตดูจากพระบาลีทั้งหมดจะเห็นว่าปัจจัยๆ นี้คือกิเลสทั้งนั้น นั้นมันปัจจัยประเภทก่อสร้างหรือปรุงแต่ง ทีนี้ถ้าว่าเป็นปัจจัยประเภทให้เป็นแจ้งให้ปรากฏแล้ว จะเป็นญาณหรือเป็นโพธิทั้งนั้น จะต้องจับของ ๒ อย่างนี้เข้ามาเป็นคู่กันก่อนในโอกาสแรกนี้ กิเลสมีอวิชชาเป็นประมุข นี้พวกหนึ่ง แล้วก็โพธิหรือญาณความรู้นี้มีวิชชาเป็นประมุข เป็น ๒ ชนิด เป็นคู่กันขึ้นมา เป็นวิชชาฝ่ายหนึ่ง เป็นอวิชชาฝ่ายหนึ่ง อวิชชานี้เป็นปัจจัยสำหรับก่อสร้างให้เกิด ส่วนวิชชานั้นไม่บ้าเหมือนอวิชชา ทำหน้าที่ให้ปรากฏ ไม่ใช่ทำหน้าที่สร้างให้เกิด ฉะนั้นถ้าว่าปัจจัยๆ ที่พูดกันอยู่เป็นประจำวันแล้ว มันเป็นปัจจัยฝ่ายอวิชชาฝ่ายกิเลสให้เกิดความรู้สึกเป็นตัวตนเป็นของตนแล้วเป็นทุกข์ ปัจจัยพวกนี้ก็จะต้องรู้ไว้เพื่อจะกำจัดหรือจะทำลาย
ทีนี้จะกำจัดหรือทำลายอะไรด้วยอะไร ก็ต้องด้วยตรงกันข้ามคือวิชชา นั่นมันเป็นปัจจัยที่จะทำลายปัจจัย,เห็นไหม อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสเกิดทุกข์ เราก็มีวิชชาเป็นปัจจัยที่จะทำลายอวิชชา ทำลายอวิชชาแล้วจะเป็นเหตุให้กระทำให้แจ้งได้ซึ่งความดับแห่งทุกข์หรือพระนิพพาน ฉะนั้นกิเลสกับโพธินี้ แม้มันจะต่างตรงกันข้าม มันก็เป็นปัจจัยด้วยกัน พวกไทยไม่กล้าพูดหรอก พวกเถรวาทไม่กล้าพูด แต่พวกเจ๊กเขากล้าพูดว่าโพธิกับกิเลสนั้นเป็นสิ่งอันเดียวกัน นี่หมายถึงพวกนักศึกษาฝ่ายมหายานที่คงแก่เรียนที่รู้ธรรมะดี บางคนเขาพูดตัดบทให้มันสั้นเข้ามาว่ากิเลสกับโพธินั้นคือสิ่งเดียวกัน กิเลสทำให้เกิดทุกข์ โพธิเป็นไปเพื่อดับทุกข์ แต่เขากลับว่าสิ่งเดียวกัน สิ่งเดียวกันก็คือมันเป็นปัจจัยด้วยกัน เป็นสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ด้วยกัน ฉะนั้นก็ว่าความทุกข์ก็ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ความดับทุกข์ก็ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นสิ่งเดียวกัน กิเลสกับโพธินี้อย่าไปเล่นกับมัน ไปยึดมั่นเข้าเมื่อไหร่มันกัดเอาทั้งนั้นแหละ มันจะมีความทุกข์ทั้งนั้นแหละ เพราะว่ามันเป็นปัจจัยเท่านั้น กิเลสเป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ โพธิเป็นปัจจัยทำนิพพานให้แจ้ง แต่อย่าไปเล่นกับมัน มันจะกัดเอา เพราะมันเป็นสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ จะไปเข้าใจว่าตัวกูเข้าใจว่าของกูนี้ไม่ได้ มันไม่เป็นโพธิขึ้นมาได้หรอก ถ้าไปคิดว่าโพธิของกูหรือกูเป็นโพธิ อย่างนี้มันไม่มีความหมายอะไร คือมันเป็นอย่างนั้นไม่ได้ ฉะนั้นกิเลสก็เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ โพธิก็เป็นปัจจัยทำพระนิพพานให้แจ้ง แต่อย่าเข้าใจว่าโพธินั้นเป็นนิพพาน มันคนละอันกันอีก
ทีนี้ทั้ง ๒ อย่างนี้เป็นปัจจัย ถ้าเป็นปัจจัยก็ต้องตราหน้ามันว่าอิทัปปัจจยตา สิ่งใดมีลักษณะเป็นปัจจัยก็ปิดป้ายแขวนคอให้ได้เลยว่ามันเป็นอิทัปปัจจยตา นี่จึงกล้าพูดว่าเอาเรื่องอิทัปปัจจยตาใส่เข้าไปที่นิพพานเลย คือว่านิพพานนั้นยังอยู่ในอำนาจหรืออยู่ในวิสัยที่เราจะทำให้แจ้งได้ด้วยปัจจัยประเภทที่ ๒ คือปัจจัยประเภททำให้แจ้งได้ แล้วก็ทำตามกฎเกณฑ์แห่งอิทัปปัจจยตาเหมือนกัน อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นปัจจัยที่ประเสริฐที่สุดที่จะทำนิพพานให้แจ้งได้ ทีนี้ไปดูเข้าที่ตัวอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็เป็นสังขตธรรม มีเหตุมีปัจจัยกระทำขึ้นมาได้สร้างขึ้นมาได้ก่อให้เกิดขึ้นมาได้ เป็นสัมมาทิฏฐิ สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เหล่านี้เป็นสังขตธรรม เป็นไปตามปัจจัยประเภทที่ทำให้เกิดขึ้น เราก็ทำให้เกิดขึ้นได้ ทีนี้เมื่อปัจจัยเหล่านี้เกิดขึ้นได้ถึงที่สุดแล้ว มันเป็นปัจจัยต่อไปที่จะทำนิพพานให้แจ้งหรือให้ปรากฏ มันเป็นหน้าที่ของธรรมธาตุอันนั้น ไม่ใช่อำนาจหรือหน้าที่หรือความสามารถของเราที่โง่ๆ เหมือนอย่างว่าแสงสว่างเข้ามาความมืดมันก็หายไป นี่มันไม่ใช่อำนาจของเรา มันอำนาจของแสงสว่าง เราทำให้แสงสว่างเกิดขึ้นปรากฏขึ้นก็ได้ตามเหตุปัจจัยตามกฎเกณฑ์แห่งอิทัปปัจจยตา เมื่อมีสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นปัจจัยสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
ทีนี้ดูให้ดีว่า คำว่า เมื่อมีสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นปัจจัยนั้น มันเป็นปัจจัยประเภทไหน ปัจจัยประเภทให้เกิดหรือปัจจัยประเภททำให้แจ้งเท่านั้น เหมือนกฎเกณฑ์แห่งอิทัปปัจจยตา ฝ่ายที่ทำให้เกิดก็ใช้กับฝ่ายทุกข์ ฝ่ายที่ทำให้เป็นแจ้งหรือปรากฏก็ใช้กับการดับทุกข์คือพระนิพพาน ทำพระนิพพานให้เป็นแจ้ง เป็นอันว่าเราไม่มีเครื่องมืออื่นนอกจากอิทัปปัจจยตา แม้ว่าเพื่อจะทำพระนิพพานให้แจ้ง แต่มันไม่ใช่ลักษณะเดียวกันกับอิทัปปัจจยตาที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องนี้เขาคงคัดค้านหรือไม่ยอมหรือว่าด่าผมว่านอกรีตนอกรอยแหวกแนว กระผมก็ไม่กลัว คือจะชี้ให้เห็นในแง่ที่ว่าอิทัปปัจจยตานี้มันก็มี ๒ ปัจจัย ปัจจัยสำหรับทำให้เกิด ปัจจัยสำหรับทำให้เป็นแจ้ง ปัจจัยสำหรับทำให้เกิดนั่นแหละมันร้าย อย่าไปรักไปชอบมัน ปัจจัยสำหรับทำให้เป็นแจ้งนี้ ยังจะต้องพึ่งพาอาศัยกันต่อไปอีกนานจนกว่าจะเกิดญาณทัสสนะเกิดการตรัสรู้ เมื่อตรัสรู้ก็หมายความว่ามันเป็นแจ้งต่อสิ่งที่เรียกว่านิพพานอันอยู่เหนือปัจจัยทั้งหลาย ปัจจัยชนิดไหนๆ ก็สร้างพระนิพพานไม่ได้ นิพพานอยู่เหนือการสร้างของปัจจัยทั้งหลาย แต่มาพ่ายแพ้แก่ปัจจัยอันหลังอันที่ ๒ นี้ ปัจจัยที่จะทำพระนิพพานให้เป็นแจ้งได้นี้มันมี พระพุทธเจ้าท่านก็สอน ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วนิพพานก็ไม่ปรากฏแก่ใครเลย ไม่ปรากฏแม้แก่พระพุทธเจ้าเอง พระพุทธเจ้าท่านเก่งในส่วนไหน จึงทำนิพพานให้ปรากฏได้เป็นบุคคลแรกในโลก ท่านก็ต้องเก่งในการใช้ปัจจัยประเภทที่ทำให้เป็นแจ้ง พอตรัสรู้แล้วท่านก็พูดผางๆไปเลยว่านี้เป็นสิ่งที่เราไม่เคยฟังมาแต่กาลก่อน ปุพฺเพ อนนุสฺสุเตสุ ธมฺเมสุ นี่คืออริยมรรคมีองค์ ๘ ชนิดที่ทำนิพพานให้เป็นแจ้งได้
เพราะฉะนั้นเราหยุดหลับตากันเสียบ้าง มาลืมตากันเสียทีว่า สิ่งที่เรียกว่าปัจจัยๆ นี้มันมีอยู่อย่างนี้ มันมีอยู่ในลักษณะนี้ที่เราไม่เคยพูดไม่เคยสอนกันมาก่อน แล้วเราก็พูดไปตามที่จำได้เท่านั้นเองว่านิพพานไม่เกี่ยวกับปัจจัย หรือพอพูดว่านิพพานเกี่ยวกับอิทัปปัจจยตาก็ไม่เชื่อ ฉะนั้นผมจึงพูดให้เห็นอย่างนี้ว่ามันไม่มีอะไรหรอกที่จะไม่เกี่ยวกับอิทัปปัจจยตา คือทั้งฝ่ายเกิดและทั้งฝ่ายดับ ถ้ามันไม่เป็นปัจจัยโดยตรงมันก็เป็นปัจจัยโดยอ้อมหรือเป็นปัจจัยที่เป็นเครื่องทำให้ปรากฏออกมา เรื่องบัญญัติสมมตินี้มันมีมาก ระวังให้ดี บางทีเขาบัญญัติไว้ครึ่งเดียวเท่านั้นแหละ เขาใช้แก่ความหมายครึ่งเดียวเท่านั้นแหละ เราเข้าใจว่าทั้งหมด อย่างนี้มันผิดหมดแหละ ยิ่งคำพูดในทางโลกๆ ด้วยแล้ว ยิ่งกำกวมใหญ่ คำพูดในทางธรรมค่อยยังชั่วหน่อย
เป็นอันว่าเรื่องตัวกูของกูนี้เกี่ยวกับอิทัปปัจจยตาทั้งฝ่ายเกิดขึ้นและฝ่ายดับลงไป และยิ่งไปกว่านั้นอีกก็คือว่า เมื่อไม่เนื่องด้วยตัวกูโดยประการทั้งปวง คือออกไปเสียจากขอบเขตของตัวกูได้ มันก็เป็นเรื่องเหนือเหตุเหนือปัจจัย เป็นอสังขตะเป็นนิพพานไปได้เหมือนกัน ความหมายเดียวกัน เราสมมติเรียกตามที่จะให้เข้าใจได้อย่างไร สำหรับส่วนนี้ผมอยากจะพูดโดยไม่กลัวอีกว่าไม่มีคำพูดไหนที่ไม่ใช่สมมติ เพราะว่าขึ้นชื่อว่าคำพูดแล้วต้องสมมติทั้งนั้น แม้ใช้คำพูดว่าสัตว์บุคคลนี้ก็สมมติ แม้ใช้คำพูดว่าไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคลนั้นก็สมมติ ฉะนั้นจะพูดว่านิพพานนั้นก็คือสมมติ คือให้ความหมายแก่คำๆ นั้นว่ามันหมายความว่าอย่างนั้น การให้ความหมายนั้นเองคือการสมมติ แต่ว่าถ้าสมมติชั้นต่ำๆ ชั้นชาวบ้าน สมมติไปด้วยอำนาจตัณหาอุปาทานนี้ มันเป็นสมมติชั้นเลว ทำให้เกิดความทุกข์เลวๆ ทันควัน สมมติชั้นละเอียดนั้นของบุคคลผู้รู้แล้ว ยักไปเรียกเสียว่าบัญญัติ ไม่ใช่สมมติแต่เป็นบัญญัติ บัญญัตินั้นก็คือสมมติชั้นดี อย่าไปยึดมั่นถือมั่นว่ามันไม่ใช่สมมติ หรือว่าถึงกับว่าตรงกันข้ามจากสมมติ นี่มันจะบ้าโดยไม่รู้สึกตัว คนบ้าย่อมไม่รู้สึกตัวทั้งนั้น ถ้ารู้สึกตัวอยู่มันก็ไม่บ้า เดี๋ยวก็ยึดมั่นถือมั่นในคำพูดเถียงคอเป็นเอ็นหมดไปหมด จนได้ทะเลาะวิวาทกันเพราะถ้อยคำที่สมมติ
คำว่านิพพานนั้นแปลว่าเย็น มาจากภาษาชาวบ้านที่พูดอยู่ในบ้านในเรือนว่าเย็น เย็น เย็น จะไม่สมมติอย่างไรล่ะ คำว่ากิเลสนั้นแปลว่าเครื่องเศร้าหมอง,ของสกปรก มาจากของสกปรกเลนตม นั่นแหละเอามาใช้เป็นชื่อของกิเลสในจิตใจ แล้วจะเรียกว่าไม่สมมติอย่าไร เรียกว่าไฟนี่ กิเลสก็คือสมมติตามความหมายของคำว่าไฟ คำว่าไฟชาวบ้านพูดก็สมมติให้แก่สิ่งที่มันร้อนมันเผามันไหม้ ฉะนั้นไม่มีคำพูดคำไหนที่จะไม่เป็นการสมมติ สมมติแปลว่ารู้พร้อมๆ รู้กันทุกคน สม แปลว่าพร้อม มติ แปลว่ารู้ สมมติแปลว่ารู้พร้อมๆ กัน แต่จะมารู้พร้อมๆ กันตรงกันนี้ มันต้องทำความเข้าใจกันมาแต่ทีแรกเหมือนๆ กัน เด็กเกิดขึ้นมามันก็เรียกนี้ว่าแม่สิ เพราะเขาเรียกว่าแม่กันทั้งนั้นแหละ นี้เรียกว่าพ่อสิ นี่ความหมายของคำว่าสมมติว่าพ่อว่าแม่นี้มันมาแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว พอเด็กคลอดออกมามันก็เข้าไปในวงของการสมมติโดยไม่รู้สึกตัว แล้วก็สมมติติดมาเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นพี่ เป็นป้า เป็นอา เป็นบ้าน เป็นเรือน เป็นอะไร แล้วก็ว่าเป็นพ่อของกู แม่ของกู เรืองของกู อะไรของกู นี้คือสมมติที่ซ้อนๆ ซ้อนๆ กันเข้าไป นั่นแหละคือต้นตอของตัวกูของกู ทำไมไม่ดูให้ดี มันไม่ได้อยู่ที่ไหน พอเราเกิดเข้ามาก็ยื่นคอเข้าไปในบ่วงแห่งตัวกูของกู ตั้งแต่อ้อนแต่ออก ตั้งแต่ลืมตาขึ้นมาในโลกนี้ นี้เป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งอิทัปปัจจยตาเพื่อจะให้เกิดความทุกข์ มันก็ติดตะราง ติดคุกติดตะรางนี้ลึกเข้าไป ลึกเข้าไป ลึกเข้าไป กว่าจะโตเป็นหนุ่มเป็นสาวเป็นคนโตๆ นี้ แล้วมันจะถอนสมมติได้อย่างไร ก็ถอนกันเรื่อยไปแหละ ถอนกระทั่งว่าไม่ยึดถือแม้แต่คำว่านิพพาน มีความสำคัญมั่นหมายว่านิพพาน ว่านิพพานของเรา ว่านิพพานอะไรนี้มันเป็นสมมติอย่างเดียวกันแหละที่จะสมมติว่าเงินของกู ทองของกู ให้ลิงล้างหูใส่หน้า
ฉะนั้นทั้งหมดที่เป็นไปนี้ เป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งอิทัปปัจจยตา แล้วคำว่าปัจจยตานั้นมี ๒ ความหมาย ว่าปัจจัยแห่งการเกิดหรือปัจจัยแห่งการทำให้ปรากฏเท่านั้นเอง ถ้าเรายังมีความติดในสมมติ มันจะมีแต่ปัจจัยสำหรับทำให้เกิด ให้เกิดๆ เกิดๆ เกิดก็คือทุกข์แหละ ถ้ารู้ปัจจัยสำหรับทำให้ปรากฏนี้ มันไปใช้กันได้กับฝ่ายที่ตรงกันข้ามกับปัจจัยที่ทำให้เกิด ก็คือใช้กับฝ่ายที่เป็นนิพพาน คือตรงกันข้าม แม้จะตรงกันข้ามก็คือสมมตินั่นแหละ เมื่อเป็นคำพูดแล้วต้องเป็นสมมติทั้งนั้น นั่นแหละไปๆ มาๆ เดี๋ยวนิพพานกับวัฏฏสงสารก็คืออย่างเดียวกันอีกแหละ พวกจีนเขากล้าพูด พวกไทยไม่กล้าพูด นิพพานกับวัฏฏสงสารก็คือสิ่งเดียวกันแหละเพราะมันยึดถือไม่ได้ทั้งนั้นแหละ เรากล้าพูดที่ไหนล่ะ แต่คนที่เขาเป็นอิสระเขากล้าพูด เพราะเขาไม่ติดสมมติมากเหมือนเรา ต่อเมื่อไม่ยึดถืออะไรเลยนั่นแหละจึงจะไม่เป็นทุกข์ มันก็อยู่เหนือไปหมด เหนือทุกสิ่งเหนือที่จะพูดว่าอะไร นี่มีพระบาลีอยู่ชัดนะ สพฺเพสุ ธมฺเมสุ สมูหเตสุ, สมูหตา วาทปถาปิ สพฺเพ นี่ เมื่อถอนความยึดมั่นถือมั่นในธรรมทั้งปวงเสียได้ คลองแห่งการพูดจาก็ถูกเพิกถอนด้วยนั่น ต้องหุบปาก ฉะนั้นภาษาที่ไม่สมมติมีอย่างเดียวคือหุบปาก เมื่อมัญชุศรีถามวิมลกิตติว่า ทางไปนิพพานนั้นอยู่ที่ไหน วิมลกิตติก็หุบปากยื่นใส่หน้าให้มัน ให้โพธิสัตว์มัญชุศรีที่แสนจะฉลาดแล้วนั่นแหละ อุบาสกคนหนึ่งก็ยังหุบปากยื่นใส่หน้ามันว่าไอ้โง่ มันหุบปากเสีย นั่นแหละภาษาที่ไม่สมมติมีอย่างเดียวคือภาษาหุบปาก คือไม่พูดนะ คือไม่แสดงความหมายอะไรนะ
ฉะนั้นขอให้มองให้เข้าใจสิ่งที่เรียกว่าอิทัปปัจจยตาว่ามันเป็นทุกอย่าง มันเกี่ยวข้องทุกอย่าง มันมีอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่ารูปธรรมไม่ว่านามธรรม และไม่ว่าสิ่งที่พ้นไปจากรูปธรรมและนามธรรมคือความดับแห่งรูปและนาม ธรรมธาตุที่เขาไม่ค่อยพูดกันมีอยู่ ๓ คือรูปธาตุ อรูปธาตุ นิโรธธาตุ นี่ผมกล้าตะโกนดังๆ ว่าพวกอภิธรรมไม่ค่อยสนใจหรอกธาตุทั้ง ๓ ธาตุนี้ ไปสนใจธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ เสียหมด รูปธาตุคือธาตุที่มีรูป อรูปธาตุคือธาตุที่ไม่มีรูป แล้วก็นิโรธธาตุคือธาตุเป็นที่ดับแห่งรูปและอรูป มี ๓ ธาตุเท่านั้นแหละสิ่งที่เรียกว่าธาตุ หรือธา-ตุ แล้วทั้ง ๓ ธาตุนี้ก็เป็นธรรมธาตุเสมอกัน เป็นธรรมธาตุเสมอกัน ธาตุที่เป็นเองตามธรรมชาติตามธรรมดาเรียกว่าธรรมธาตุ พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิดฉันก็เป็นฉันอย่างนี้แหละ นี่ธรรมธาตุนี้มี ๓ คือรูปธาตุ อรูปธาตุ นิโรธธาตุ ถ้าใครเข้าใจ ๓ คำนี้ เข้าใจหมดทั้งพุทธศาสนาเลย ผมกล้าท้า ฉะนั้นคุณไปศึกษา ศึกษาเรื่อยๆ ไป รูปธาตุ อรูปธาตุ นิโรธธาตุ แล้วไม่มีอะไรอีก ธรรมธาตุหมดเท่านี้ แล้วอันไหนเป็นอิทัปปัจจยตา อันไหนไม่เป็นอิทัปปัจจยตา อันไหนไม่เกี่ยวกับอิทัปปัจจยตา มันจะไม่มีหรอก เพราะว่ามันจะต้องเกี่ยวกับปัจจัยอย่างที่ให้เกิด หรือมิฉะนั้นก็ต้องเกี่ยวกับปัจจัยอย่างที่ให้ปรากฏ พวกรูปธาตุอรูปธาตุนั่นแหละมันเกี่ยวกับปัจจัยให้เกิด ส่วนนิโรธธาตุนั้น มันเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้ปรากฏเท่านั้น
การที่จัดนิพพานว่าเป็นนาม มันก็เป็นอรูป แล้วมันไปเข้ากับปัจจัยฝ่ายให้เกิด นี้บ้าเลย นิพพานต้องเป็นนิโรธธาตุ ไม่ใช่รูป ไม่ใช่อรูป แต่ต้องเป็นนิโรธะ,นิโรธธาตุ นี่ขอทีเถิด,อย่าไปจัดนิพพานเป็นอรูปธาตุ นั้นมันเป็นรูปธาตุ อรูปธาตุซึ่งเป็นรูปเป็นนาม แล้วอันที่ ๓ เรียกว่านิโรธธาตุ นี่นิพพานรวมอยู่ในความหมายที่ ๓ นี้ กลุ่มนี้ เป็นธาตุแห่งความดับ ดับของอะไร ดับของรูปและอรูป รูปธาตุคือธาตุที่มีรูปปรากฏสำหรับที่จะแตกสลาย ทีนี้อรูปธาตุคือธาตุที่ไม่มีรูปสำหรับจะปรากฏแห่งการแตกสลาย นี่ก็คือนาม รูปธาตุอรูปธาตุนั้นเป็นไปตามปัจจัยแห่งการเกิด แล้วก็เป็นทุกข์ไปตามแบบของปัจจัยแห่งการเกิด ทีนี้นิโรธธาตุนี้ให้ถือว่าเป็นอสังขตะ ไม่เป็นไปตามอำนาจแห่งปัจจัยเหล่านั้น แต่แล้วเกี่ยวอยู่กับกฎเกณฑ์แห่งปัจจัยที่จะทำให้แจ้ง เพราะฉะนั้นก็มาพ่ายแพ้แก่พวกเราที่เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ถ้าเราไม่เป็นลูกศิษย์เก๊ ถ้าเราเป็นลูกศิษย์ที่ดีของพระพุทธเจ้า เราจะสามารถทำนิโรธธาตุนี้ให้เป็นแจ้งให้ปรากฏแก่เราได้
ฉะนั้นขอให้สนใจเรื่องนี้ให้มาก พยามยามสะสมความรู้เรื่องนิโรธธาตุ อย่าสะสมหนังสือ อย่าสะสมแสตมป์ อย่าสะสมรูปภาพ อย่าสะสมสิ่งเหล่านั้น สะสมความรู้เป็นข้อๆ ไปที่เกี่ยวกับนิโรธธาตุ ไม่เท่าไหร่หรอกจะเห็นดีเห็นแดงเห็นดำกัน คือจะสามารถทำให้เป็นแจ้งต่อนิโรธธาตุ ธาตุเป็นที่ดับแห่งรูปและอรูป ฉะนั้นนิโรธธาตุคือธาตุเป็นที่ดับแห่งตัวกูของกู ซึ่งมันเนื่องอยู่ที่กับรูปและอรูปนั่นเอง รูปและอรูปเป็นฝ่ายตัวกูของกู นิโรธธาตุนี้เป็นฝ่ายดับไปแห่งตัวกูและของกู มันจะปรากฏเป็นคราวๆ สำหรับคนที่ยังไม่หลุดพ้น มันจะปรากฏเที่ยงแท้แก่บุคคลผู้หลุดพ้นแล้ว นี้ผมเรียกว่านิพพานชั่วคราว ก็คือนิโรธธาตุปรากฏชั่วคราว เรียกว่านิพพานถาวรก็คือนิโรธธาตุปรากฏถึงที่สุดหรือตลอดกาล ให้สังเกตดูให้ดี ไม่ใช่ว่าเราจะมีตัวกูของกูอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ถ้าอย่างนั้นแล้วเราตายแล้ว อย่างน้อยก็เป็นบ้าแล้ว ถ้าตัวกูมันมีอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ความยึดถือมั่นเรื่องตัวกูก็เกิดเป็นพักๆ เกิดเป็นคราวๆ เดี๋ยวก็หลีกโอกาสให้ความดับไปแห่งตัวกูของกูปรากฏนี่ มันอยู่แค่จมูกนี่เอง เดี๋ยวก็เป็นรูปธาตุ เดี๋ยวเป็นอรูปธาตุ เดี๋ยวเป็นนิโรธธาตุ สับเปลี่ยนกันไป สับเปลี่ยนกันมาให้เรามีชีวิตรอดอยู่ได้แต่ว่าทนอยู่ด้วยความสับเปลี่ยนไปสับเปลี่ยนมาเป็นความทุกข์
ทีนี้เราจะเอาชนะมันให้ได้ ก็อย่าให้มันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ให้มันปรากฏเป็นแจ้งถึงที่สุด มันเที่ยงสำหรับที่จะไม่เป็นทุกข์ มันเที่ยงสำหรับที่จะไม่เป็นทุกข์นะ นิพพานนั้นเที่ยงสำหรับจะไม่เป็นทุกข์ และนิพพานก็ไม่เที่ยง นี่ผมกล้าพูด สำหรับที่จะเดี๋ยวปรากฏเดี๋ยวไม่ปรากฏแก่คนโง่ๆ คนปุถุชนธรรมดาเดี๋ยวนิพพานปรากฏ เดี๋ยวนิพพานไม่ปรากฏ มันเป็นชั่วคราวๆ หรือจะพูดให้มันมากกว่านั้นก็ว่านิพพานนี้เดี๋ยวที่ไม่เคยปรากฏก็มาปรากฏ เอ้า,นิพพานที่ไม่เคยปรากฏแก่ปุถุชนนี่ เดี๋ยวก็มาปรากฏแก่ปุถุชนนั้น เมื่อเขาปฏิบัติไปจนเป็นพระอรหันต์ อย่างนี้จะเรียกว่านิพพานไม่เที่ยงได้หรือไม่ ภาษาสมมติมันก็ต้องได้สิ เพราะเดี๋ยวมันปรากฏ และเดี๋ยวมันไม่ปรากฏ หรือเดี๋ยวไม่ปรากฏ และเดี๋ยวมาปรากฏอย่างนี้ เราเกณฑ์ให้นิพพานไม่เที่ยงเสียบ้าง พวกนั้นไม่กล้าพูด เพราะไม่มองเห็นปัจจัยที่ ๒ คือปัจจัยแห่งการปรากฏหรือไม่ปรากฏนี้ ถ้านิพพานเดี๋ยวปรากฏเดี๋ยวไม่ปรากฏ เดี๋ยวปรากฏแก่คนนั้นไม่ปรากฏแก่คนนี้ ที่ไม่เคยปรากฏแก่คนนี้ก็กลับมาปรากฏแก่คนนี้ในระยะสุดท้ายอย่างนี้ ความปรากฏแห่งพระนิพพานนั้นก็ไม่เที่ยง เพราะขึ้นอยู่ในอำนาจของบุคคลผู้ปฏิบัติธรรม ตามกฎเกณฑ์แห่งอิทัปปัจจยตา ทำอริยมรรคให้เกิดขึ้น ทำพระนิพพานให้ปรากฏ นี้ก็ปรากฏแล้ว
นี่พูดโดยสมมติก็พูดได้ว่านิพพานก็ไม่เที่ยงในลักษณะอย่างนี้ แต่ว่านิพพานเที่ยงสำหรับที่จะไม่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยชนิดที่ให้เกิด หรือนิพพานเที่ยงสำหรับที่จะไม่เป็นทุกข์อีกต่อไป มันเป็นอย่างนี้ต่างหาก ฉะนั้นเชื่อคำพูดแล้วก็เวียนหัวแหละ ไปถือเอาตามคำพูดแล้วก็จะเวียนหัว ขอให้ถือเอาความหมายให้ถูกต้อง แล้วพูดเอาเองก็แล้วกันจะเรียกว่าอะไร ใครไม่ต้องรู้ของเราก็ได้ ผมมีอะไรที่ผมพูดเอาเอง ไม่พูดกับคนอื่นก็มี เพราะพูดแล้วมันฟังไม่ถูก แต่ว่าบางทีก็พูดเหมือนกัน เพื่อว่าเขาจะฟังถูก
นี่ที่พูดวันนี้ก็ฉลองโรงเรียนใหม่ เปิดโรงเรียนใหม่ที่ตรงนี้ แล้วก็พูดอะไรให้มันใหม่ๆ บ้าง คือเอาอิทัปปัจจยตาสาดเข้าไปที่นิพพาน แล้วก็เกณฑ์ให้นิพพานไม่เที่ยงเสียบ้าง คือว่าไม่เคยปรากฏแก่คนๆ หนึ่งแล้วมาปรากฏแก่คนๆ นั้นอย่างนี้ เอ้า,จะว่าอย่างไร มันก็เป็นคำพูดที่ใหม่หรือแปลกสำหรับโรงเรียนใหม่นี้บ้าง นี่พอเป็นที่ระลึกแก่พระเณร ที่ทำมาเหน็ดเหนื่อย ฉลองโรงเรียนใหม่ด้วยการพูดให้มันใหม่ให้มันแปลกออกไป แต่เรื่องราวก็คงเดิม ถ้าคนโง่ฟังก็จะเห็นว่ามันผิดไปจากหลักเกณฑ์ต่างๆ ถ้าคนฉลาดฟังก็จะเห็นว่ามันเท่าเดิมและคงเดิม เพียงแต่ชี้ให้เห็นความสับปลับของคำพูดที่มนุษย์มันพูดกันอยู่เท่านั้น นี่เรื่องตัวกูของกูที่เกี่ยวกับอิทัปปัจจยตาในวันนี้ สำหรับธรรมปาฏิโมกข์ในวันนี้มีอย่างนี้ เอาล่ะ,พอกันที