แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อบรมอะไรกันนักนะ เพียงแต่ขอแสดงความยินดีในความพยายามอย่างเหน็ดเหนื่อยของทุกท่านที่อุตส่าห์มาถึงที่นี่ สำหรับผมก็ถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำ แล้วเมื่อได้ทำก็ยินดีเหมือนกันนะ ไม่ใช่ว่าจะต้องทำเอาเองอะไรนี้ เมื่อได้ทำก็ยินดี ก็เลยกลายเป็นว่าช่วยซึ่งกันและกันให้ได้ทำหน้าที่ของพุทธบริษัท โดยเฉพาะไอ้ชั้นภิกษุ ถ้าเราไม่ได้ทำหน้าที่ก็คล้ายๆกับว่าเหมือนกับไม่มี ไม่มีเรา ไม่มี ไม่มีภิกษุ ไม่มีพุทธบริษัท ถ้าเกิดจะทำหน้าที่ขึ้นมา มันก็ต้องปรับปรุงมากอยู่เหมือนกัน แล้วยิ่งกว่านั้นก็ยังต้องช่วยซึ่งกันและกันด้วย บางคนมีแต่ปาก แล้วก็ไม่มีขาที่จะเดินไปที่ไหนได้ บางคนก็มีขาแล้วไม่มีปาก อย่างนี้ ถ้าว่าช่วยกันทำซึ่งกันและกันให้มันมีทั้งขาทั้งปากก็ไปได้
นี่เมื่อรู้ธรรมะแล้วยังมีความจำเป็นที่จะต้องรู้วิธีแนะนำสั่งสอนกันอีก ทำตัวเองให้รอดแล้วยังจะต้องรู้จักวิธีช่วยคนอื่นให้รอดอีก ทีนี้ในการที่จะทำหน้าที่นี้ มันเป็นเรื่อง ต้อง ต้องปักใจลงไปเลยว่ามันเป็นเรื่องเสียสละนะ คำว่าเสียสละก็ควรจะเข้าใจกันดีอยู่แล้ว คือว่ามันลำบากนะ ไม่มีอะไรนอกจากจะต้องลำบากนะ ซึ่งคนทั่วไปเขาจะรู้สึกว่ามันลำบาก แล้วเขาก็ไม่ค่อยจะอยากจะเสียสละ แต่ถ้าพวกเราเป็นภิกษุนี้มันควรจะตรงกันข้าม เพราะว่าการได้เสียสละ การได้ลำบากนั้นคือการได้ทำหน้าที่ เพราะว่าเราเกิดมามีหน้าที่สำหรับจะช่วยผู้อื่น ซึ่งมันก็ต้องลำบาก ถ้าไม่มีลำบาก มันก็ไม่มีการช่วยใครได้ ทีนี้ไอ้การที่ต้องลำบากเรากลับเห็นเป็นของไม่น่า ไม่น่าอิดหนาระอาใจ ไม่ ไม่เกลียด
ทีนี้การลำบากนี้ก็มีหลายชนิด ฉะนั้นควรจะได้ทดลองดูทุกๆชนิด นับตั้งแต่เรียนปริยัติมันก็ลำบาก แม้เราจะฝึกวิปัสสนามันก็แสนจะลำบาก ก็หลาย ๆ ขั้น หลาย ๆ ตอน มันต้องลำบาก แล้วจะช่วยกันสอนลูกศิษย์ต่อไปมันก็ยิ่งลำบาก แล้วยังจะเผยแผ่เป็นวงกว้างนี้มันก็ยิ่งลำบาก
ถ้าได้ยินคำว่าอาจารย์แล้วก็ต้องรู้เถิดว่ามันต้องคู่กันอยู่กับคำว่าลำบาก อาจารย์นี้จะต้องหวานอมขมกลืนได้ จึงจะเป็นอาจารย์ได้ ไม่อย่างนั้นมันทนไม่ได้ละกับลูกศิษย์บ้า ๆ บอ ๆ เหมือนกับสัตว์ป่า เต็มไปด้วยอารมณ์ร้ายนี้ นี่ตัวอย่างที่ว่าผู้ที่จะเป็นอาจารย์นี้จะต้องเก่งในการที่จะอดทนและเสียสละ
ฉะนั้นผมจึงคิดว่าควรจะถือโอกาสฝึกฝนในส่วนนี้แหละ พอได้รับจดหมายว่าจะมาที่นี่ ความคิดของผมก็แล่นไปในทางที่ว่า จะต้องฝึกฝนความอดทนและการเสียสละด้วยการยากลำบาก จึงเป็นความจำเป็นอีกส่วนหนึ่ง มันก็คิดว่า คงไม่ คงไม่ไร้ผล มันไม่มีที่ไหนที่จะทำให้ครบถ้วนสมบูรณ์และครบถ้วนทุกแขนงได้ มันก็จะต้องแจกจ่ายกันไป ที่นั่นฝึกฝนอย่างนั้น ที่นี่ฝึกฝนอย่างนี้ ที่โน่นฝึกฝนอย่างโน้น จนกว่ามันจะครบนะ
ที่นี่เราก็มีหลักการอยู่แล้วตลอดเวลา คือว่าการเป็นอยู่ ที่คล้ายกับการเป็นอยู่ครั้งพุทธกาลให้มากที่สุด แม้จะประกอบพิธีกรรม พิธีรีตอง อะไรบ้างก็เถอะ ก็ยังอยากจะให้มันคล้ายครั้งพุทธกาลให้มากที่สุด ในการกิน การอยู่ นี่ก็เรียกว่าให้คล้ายครั้งพุทธกาลให้มากที่สุด ผมแน่ใจว่าไอ้ส่วนนี้คงจะได้ ได้ประโยชน์เป็นพิเศษจากสวนโมกข์ จากการมาฝึกฝนอะไรอยู่ที่นี่
ส่วนเรื่องวิชาความรู้นั้นมันไม่ยากนะ อ่านเอาก็ได้ อะไรก็ได้ แล้วถึงแม้จะมีวิชาความรู้ ถ้ามันขาดไอ้สิ่งสำคัญคือความอดทนและความเสียสละนี้นะ วิชาความรู้นั้นไม่เคยช่วยได้ ไม่เป็น อ้า,มันกลายเป็น เป็นหมันไปเลย มันไม่ช่วยใครได้ ถ้าเราเชื่อในพระพุทธภาษิตที่ว่า ขันตี พลัง วะยะ ตีนัง ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา เราก็จะพบทันทีว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ตรัสว่าความรู้เป็นกำลังของผู้บำเพ็ญพรต ท่านก็ว่าขันติ เป็นผู้ เป็นกำลังของผู้บำเพ็ญพรต ขันตีต่างหากที่จะเผากิเลสอย่างยิ่ง มันเป็นตบะอย่างยิ่ง ไม่ได้ตรัสถึงความรู้ ความรู้มันยังไม่แน่ แม้เรียกว่าปัญญาแล้วมันก็ยังไม่แน่ว่ามันจะสำเร็จได้โดยที่ไม่ต้องมีไอ้ขันตี ฉะนั้นไอ้ขันตีนี้คงจะได้รับการฝึกฝนกันมากที่สุด
ทีนี้การที่ออกมาอยู่ในสภาพอย่างนี้ ในสถานที่อย่างนี้ ซึ่งในกรุงเทพมันเป็นไปไม่ได้ที่จะมีสถานที่อย่างนี้ ที่จะใกล้ชิดธรรมชาติถึงขนาดนี้ แล้วมีความอดทนต่อไอ้ความบีบคั้นของธรรมชาติได้ในที่สุด แล้วนี้เป็นอันว่าผมกล่าวคำต้อนรับนะ ไม่ได้มีอะไร ในการแสดงความรู้สึกว่า มีความยินดี ที่ได้มากันที่นี่ แล้วคงจะมีประโยชน์บ้าง และประโยชน์เต็มที่ก็ในแขนงหนึ่งอีกแขนงของการที่คุ้นเคยกับธรรมชาติ ซึ่งเราอาจจะอวดได้ว่าไอ้ความเป็นผู้คุ้นเคยกับธรรมชาตินี้คือคุณสมบัติอันหนึ่งของพระภิกษุ พระอรหันต์ทั้งหลาย แม้พระพุทธเจ้าเองในครั้งพุทธกาล
ฉะนั้นจึงขอบอกกล่าวทั้ง ขณะนี้ ขณะแรกของการมาที่นี่ว่า จงตั้งใจให้ได้รับผลอันนี้เต็มที่นะ เป็นสิ่งที่หวังได้แน่นอน เพราะว่าไอ้ความที่ต้องอดทน มันจะต้องมีมากละในการที่จะเป็นเกลอกับธรรมชาติลงไปให้มาก ๆ นี้ แล้วความอดทนนี้จะใช้ได้ตลอดไปถึงการทำวิปัสสนา หรือการสั่งสอน หรือการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ไอ้สิ่งที่ละยากที่สุดนะ ก็ไอ้คือความหงุดหงิดในจิตใจนี้ ก็คนโดยมากอาจจะคิดว่าเราไม่มี หรือเราละได้แล้วอะไรนี่ แล้วจะได้ทดสอบดู ได้สอบไล่กันดูคราวนี้ว่าเราจะมี หรือเราจะไม่มีไอ้สิ่งที่เรียกว่าความหงุดหงิด ปฏิฆะนี้ ด้วยเรื่องอาหารก็ดี ด้วยเรื่องที่อยู่อาศัยก็ดี เรื่องเจ็บปวด หรืออาพาตก็ดีนี้ นี่เราจะรู้กันตอนนี้ว่าเรามีความหงุดหงิดหรือไม่ หรือว่ามีเหลืออยู่เท่าไร
เดี๋ยวนี้เรากำลังมีจิตใจผ่องแผ้ว ก็ขอให้รักษาความผ่องแผ้วนี้ไว้ได้ตลอดนาทีสุดท้ายนะ เพราะต่อไปนี้มันก็จะพบกันกับธรรมชาติ แล้วความเป็นเกลอกับธรรมชาติ เรื่องที่อยู่ที่พักผ่อนเรื่องอะไรก็ตามที่อยู่กับธรรมชาตินี้ก่อน ก็ขอให้คอยกำหนดที่ใจของตัวไว้เสมอ ถ้าหงุดหงิดแล้วก็เป็นแพ้ ถ้าไม่หงุดหงิด อ้า, มันก็ชนะ หรือมันยิ่งพอใจที่ได้พบกับความไอ้ไม่สะดวกสบายอะไรอย่างนี้ ตามธรรมชาตินี้ เป็นความรู้ขึ้นมา ก็ควรจะเรียกว่าชนะมาก ชนะในด้านการศึกษา ชนะในด้านการไอ้ทรมานจิต ฝึกฝนจิต
นี้ขอให้ถืออันนี้ว่าเป็นเหมือนกับว่าปฐมนิเทศของการมาพักอยู่ที่นี่ ถ้าเราจะรักษาไอ้นาทีต่อไปนี้ทุกๆนาทีนี้ละให้มันสดชื่นแจ่มใสอยู่อย่างนี้ มันจะไม่มีความหงุดหงิด กระทบกระทั่งไอ้จิต ไม่รู้อะไรมันเกิดไม่เป็นไป อ้า, ในทางที่เรียกว่าสะดวก หรือสบาย ที่จริงไอ้ความสะดวกสบายนั้นแหละ มันเพาะนิสัยคนให้เลวลงจนหงุดหงิดง่าย ทำไมมันหงุดหงิดละ เพราะมันไม่ได้ความสะดวกสบาย เพราะว่ามันชินกับความสะดวกสบายมันจึงเกิดนิสัยนี้ขึ้นมา ว่าถ้าไม่ได้ความสะดวกสบายแล้วก็หงุดหงิด ฉะนั้นเราก็ต้องใช้ไอ้ความไม่สะดวกสบายนั่นละให้มันเป็น ให้มันบทเรียนเสียเพื่อจะเลื่อน เลื่อนชั้นขึ้นไปจนอยู่เหนือความหงุดหงิด
ทีนี้ขอให้ทำในใจถึงพระพุทธองค์ที่ท่านเป็นเกลอกับธรรมชาติ อยู่กับธรรมชาติ ใกล้ชิดกับธรรมชาติ นับตั้งแต่ว่าประสูติก็กลางดิน ตรัสรู้ก็กลางดิน นิพพานก็กลางดิน ส่วนมากก็กลางดิน กุฏิก็พื้นดิน อย่างนี้ แล้วก็ไปโดยที่ไม่ต้องมีรองเท้า ไม่มีร่ม ไม่มีอุปกรณ์อะไรอีกหลาย ๆ อย่างนี้ ทำไมท่านจึงทำได้อย่างแจ่มใสเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เราก็จะได้รู้กันว่าแผ่นดินที่ประเทศไทยนี้ มันก็มีกรวด มีทราย ที่ทำให้ปวดเท้า ไม่น้อยหรือเหมือนกันก็ได้กับที่ประเทศอินเดีย ฉะนั้นเราเป็นเกลอกันกับส่วนนี้ นับตั้งแต่จะต้องพบกันโดยการไป การมา การอยู่ การฉัน การนอน การอะไรต่าง ๆ นี่ผมก็ถือว่าเป็นการบอกให้เตรียมตัว เหมือนกับปฐมนิเทศ อะไรจึงเอาบทเรียนนี้ก่อนนะ พอเราบทเรียนนี้ได้แล้ว บทเรียนอื่นไม่มีปัญหา
ทีนี้ข้อต่อไปก็คือว่าเกี่ยวกับวิชาความรู้นี้ผมก็ขอปวารณาว่า ถ้าไอ้ความรู้ประเภทไหนที่ผมมีแล้วก็ช่วยได้ แล้วก็ แล้วมันก็ ก็ไม่ต้องเกรงใจแล้ว นิมนต์ถามหรือนิมนต์อะไรได้ ขอร้องให้ช่วยได้นะ แต่อย่าได้เข้าใจว่าผมนี้จะรู้ไปเสีย อ้า, ทุกอย่าง หรือว่าแม้แต่มากอย่าง ผมก็ไม่รู้มากอย่างละ แต่ผมจะต้องรู้อย่างหนึ่งซึ่งรู้มากเพราะว่ามัน มันชอบส่วนไหน หรือมันพยายามกันอยู่กับส่วนไหน ส่วนนั้นมันก็รู้มาก บางทีผมอาจจะพูดได้ อ้า, ไม่ ไม่ผิดก็ได้ ว่าการที่จะใช้พระไตรปิฎกให้เป็นประโยชน์นี้ บางทีผมอาจจะทำได้มากที่สุด ถ้าจะพูดว่าดีกว่าคนอื่น นี้ไม่แน่ แต่ถ้าพูดว่าไม่แพ้คนอื่นละเห็นจะถูก ถ้าท่านจะใช้พระไตรปิฎกให้เป็นประโยชน์กันนี่ ผมพยายามสุดความสามารถอยู่ทุกวัน ทุกคืน ทุก จนกระทั่งออกมาเป็นความรู้จริงๆ คือความรู้ในการกระทำจิตใจจริง ๆ ก็ได้พบความรู้เป็นอันมากที่ยังตกค้างอยู่ในพระไตรปิฎก ที่ไม่เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ เป็นอันว่าส่วนนี้ถ้ามีใครต้องการแล้วก็ ผมก็ปวารณาจะช่วยในส่วนนี้ ซึ่งเคยพูดกันคราวก่อน ปีก่อนแล้วว่า เป็นการถวายความรู้ที่เข้าใจว่าจะเป็นประโยชน์แก่พระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลาย แล้วความรู้นั้นก็คือความรู้ในพระไตรปิฎกที่ตกค้างอยู่ แล้วประกอบกับไอ้ความรู้ที่ได้เอามาทดลองพิสูจน์ด้วยตนเองแล้ว เห็นว่ามันมีประโยชน์แน่ หรือว่ามันถูกต้องแน่ ก็ถวายความรู้เหล่านั้นไป
ทีนี้ก็เป็นหน้าที่ของผู้ฟังที่จะต้องถือเอาตามหลักของกาลามสูตร คือไม่ต้องเชื่อ แต่ขอให้เอาไปพิสูจน์ ถ้ามันพิสูจน์ออกมาเป็นไอ้ประโยชน์ มีเหตุผลมองเห็นชัดอยู่ว่าทำอย่างนั้นแล้วมันเป็นอย่างนั้น มันก็ควรจะถือว่าถูก ก็ทำไป แล้วถูกแน่แต่ว่าไม่ได้รับประโยชน์ เราควรจะถือหลักอย่างนี้กันทั่วไปหมด เกี่ยวกับการแสวงหาความรู้ ผมพูดแล้วก็ ก็ไม่ค่อยกลัวละ ไม่กลัวว่าเขาจะหาอย่างนั้นอย่างนี้ ผมก็ไม่โทษ ก็แม้แต่ความรู้ในพระไตรปิฎก เราก็ต้องยังพิสูจน์ว่ามันเป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้จริงหรือไม่ นี้ก่อนนะ ทีนี้ถ้าตรัสไว้จริง ท่านตรัสไว้เพื่อประโยชน์แก่ทางศีลธรรม หรือเพื่อประโยชน์แก่ทางปรมัตถธรรม บางทีเรื่องเดียวกันนะ หัวข้อเรื่องเดียวกันนะ พูดไว้เพื่อประโยชน์ทางศีลธรรมก็ตรัสไว้อย่าง ประโยชน์แก่ปรมัตถธรรมก็ตรัสไว้อีกอย่าง โดยคำพูดที่มันต่างกันมาก ทีนี้ถ้าว่าใครเขาจะช่วยเติมให้ท่านอีก มันก็อาจจะมีบ้าง ฉะนั้นเราจะต้องยึดไอ้ของขวัญอันสำคัญที่พระองค์ตรัสว่าให้ใช้กาลามสูตร โคตมีสูตร มหาประเทศ ทั้งในวินัยและในสุตตันตะนี้ เป็นเครื่องกลั่นกรอง แล้วเราก็จะได้แต่ อ้า, ชิ้นที่บริสุทธิ์ ส่วนชิ้นที่มันเป็นปัญหา เราก็ไม่แตะต้อง ก็ปล่อยไว้ ก็ไม่หาว่าผิด แล้วก็ไม่คัดออกจากพระไตรปิฎก หรือว่าไม่ตัดทิ้งไปเสีย เพราะว่าเราไม่เข้าใจ ฉะนั้นตามความรู้สึกของผม ไม่เคยคิดที่ว่าจะตัดตัวหนังสือไหนออกไปเสียจากพระไตรปิฎกแม้แต่คำเดียว เหมือนกับที่คนบางคนเขากล้าคิดว่าน่าจะทำอย่างนั้น แต่แล้วเราก็มีวิธีที่จะให้สิ่งที่มันยังเป็นปัญหาหรือยังใช้ประโยชน์ไม่ได้ก็คงอยู่นั้นนะ ถ้าเลือกเอามาแต่สิ่งที่ใช้ได้ อย่างเห็นอยู่ เห็นอยู่กับตา มันเหมือนกับของที่มันกองรวมไว้มากๆแต่โบรมโบราณ บางชิ้นเราถึงกับไม่รู้จักนะ ไม่รู้จักก็ไม่รู้จะใช้ประโยชน์ แล้วจะเอาของเขาทิ้งได้อย่างไร มันก็ไว้อย่างนั้นก็แล้วกัน เอาแต่ที่จะใช้ประโยชน์เดี๋ยวนี้ได้ออกมา แม้อย่างนั้นมันก็ยังเหลืออยู่อีกมาก ที่เรายังไม่ได้เอามาพูดกัน ฉะนั้นจึงหวังว่าเราคงจะได้พูดกันบ้าง ในส่วนนี้นะ ส่วนที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ชัด ๆ เป็นพระพุทธภาษิตชัด ๆ แล้วยังไม่ได้เอามาใช้ให้มันเป็นประโยชน์ มันยังเหลืออยู่อีก แล้วก็มักจะสำคัญด้วย เพราะว่าถ้าสิ่งใดที่ไม่ถูกเอามาใช้ สิ่งนั้นก็เพราะว่าเขาใช้ไม่ถูก ที่เขาใช้ไม่ถูกก็เพราะว่ามันลึกเกินไป ดีเกินไป ยากเกินไปก็ได้
ทีนี้ผมก็ขอปวารณาในส่วนนี้ว่า ตลอดเวลาที่อยู่ที่นี่ ถ้าอยากจะถามไอ้เรื่องบางเรื่องเกี่ยวกับปริยัติ แต่หมายถึงปริยัติในพระไตรปิฎกนะ ก็มีความยินดี แล้วเปิดโอกาสแล้วจะช่วยสุดความสามารถ
นี่เป็นอันว่าเราทำความเข้าใจปฐมนิเทศกันว่า มีอยู่สองข้อ แล้วทุกองค์พยายามทำบทเรียนเป็นเกลอกับธรรมชาติให้สุดเหวี่ยง แล้วเกี่ยวกับผมนั้น ปวารณาไว้ว่า ถ้าต้องการทราบอะไรที่แปลกออกไป หรือจะให้ผมช่วยอธิบายอะไร ช่วยตีความของอะไร ก็ยินดี
เอาละ เดี๋ยวนี้เวลาก็เย็นมากแล้ว ยังต้องไปหาที่พักกันอีก หรือต้องปรึกษาหารือเรื่องเป็นอยู่โดยเฉพาะเรื่องขบ เรื่องฉันกันอีกบ้าง เป็นอันว่าส่วนที่ทำปฐมนิเทศ ก็พบกัน อ้า,นี้ก็เป็นอันสิ้นสุดลงเพียงเท่านี้ ขอปิดประชุมไอ้ส่วนนี้ไว้เพียงเท่านี้ ขอให้ประสบความสำเร็จทุกประการ.