แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายถวายความรู้รอบตัวในวันนี้ก็ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับคำพูดที่มีความหมายกำกวม ควรทำความเข้าใจกันอย่างถูกต้องต่อไปอีก แต่แล้วมันก็ไม่ได้แปลกประหลาดออกไป เป็นเพียงแต่ขมวดที่แล้วๆ มานั้น เอามาพิจารณาให้เห็นชัดขึ้นว่าเกี่ยวกับคำพูดนั้นมันมีแง่มุมสำหรับพูดกันอย่างไรบ้าง ที่เรียกว่าภาษาธรรมกับภาษาคน ในบรรดาคำ พูดประเภทนี้ มีพวกที่สำคัญที่สุดอยู่ก็คือพวกที่บางทีเราก็เรียกว่าคน แต่ตามธรรมดานั้นมิใช่คน ในภาษาคนก็ต้องเรียกว่าคน ในภาษาธรรมก็เรียกว่าธรรม ขอให้นึกถึงบาลีที่สำคัญๆ สักสองแห่ง คือบาลีที่ว่า ความทุกข์มี แต่ว่าผู้หรือคนที่เป็นทุกข์ไม่มี,ความดับทุกข์มี มีแล้วด้วย แต่ผู้ที่ทำความดับทุกข์นั้นไม่มี นี่ก็ที่พูดเรื่องเกี่ยวกับความทุกข์
ที่เกี่ยวกับกรรม มันก็มีพูดอย่างเดียวกันแหละ การกระทำกรรมมี และมีเสร็จแล้ว แต่ว่าผู้กระทำกรรมนั้นไม่มี และการเสวยผลของกรรมมี,มีแล้ว แต่ผู้เสวยผลกรรมไม่มี นี่คำพูดอย่างนี้ หรือแม้ที่พูดเป็นอุปมาออกไปว่า การเดินทางก็เดินแล้ว แต่ผู้เดินทางนั้นหามีไม่ นี่ก็เรื่องผู้ปฏิบัติเพื่อดับทุกข์นั่นแหละ การเดินทางคือปฏิปทา ได้ปฏิบัติไปแล้วคือเดินไปแล้ว แต่ผู้เดินไม่มี ที่เป็นพุทธภาษิตก็มีตรัสอย่างนี้ ที่เป็นพระเถรคาถาเถรีคาถาก็มี รวมความว่าเป็นหลักที่เป็นหลัก คือถือเป็นหลัก
นี้เราจะเข้าใจกันอย่างไรในข้อนี้ ข้อที่ว่าการกระทำนั้นมีแล้ว แต่บุคคลผู้กระทำหามีไม่นี้ ถ้าจะเข้าใจเรื่องนี้ก็นึกถึงเรื่องภาษาคนภาษาธรรมที่ได้พูดมาบ้างแล้วหลายครั้ง ภาษาคนมันเป็นภาษาที่เราเรียนเรารู้เราใช้พูดกันมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก เพราะมันเป็นธรรมชาติของสัตว์ที่พูดได้ เราจะต้องมองไปให้เห็นว่าสัตว์พวกหนึ่งมันพูดไม่ได้ มันก็ไม่มีปัญหาเรื่องนี้ คือสัตว์เดรัจฉานนั้นมันพูดไม่ได้ ทีนี้สัตว์มนุษย์บุคคลนี้มันพูดได้ มันเริ่มแยกจากสัตว์เดรัจฉานเมื่อมันพูดได้ มันจึงเกิดการแตกต่างกันลิบ และอย่าเข้าใจว่าการที่มนุษย์เกิดพูดได้ขึ้นมานี้เป็นเรื่องเล็กน้อย มันเป็นเรื่องทั้งหมดของความเป็นมนุษย์ทีเดียว จะต้องนึกถึงสมัยยุคแรกๆ ที่มนุษย์ยังเพิ่งจะมีขึ้นมา ยังพูดภาษาที่ไม่เป็นมนุษย์หรือครึ่งมนุษย์ มันก็พูดเสียงคล้ายสัตว์ แต่แล้วบังเอิญความคิดความนึกมันแตกแขนงออกมา รู้ความหมายของคำพูด ดีขึ้นๆ จนมันเป็นสัญลักษณ์ของความหมายอย่างหนึ่งๆ มนุษย์มันก็พูดกันได้ด้วยคำพูดที่ค่อยมากขึ้นๆ มากขึ้น เพราะรู้จักพูดนั่นแหละมันทำให้เกิดความขยายตัวในทางความคิดแล้วก็ถ่ายทอดความคิดจนทำอะไรได้เหมือนอย่างที่มนุษย์ทำ ที่สัตว์มันทำไม่ได้ แล้วลองนึกดูว่าคำแรกที่มันจะพูดกันนั้นมันจะมีว่าอย่างไร มันต้องเป็นคำพูดประเภทที่มีความหมายเป็นตัวเป็นตนทั้งนั้นแหละ มันจะมีเสียงว่าอย่างไรก็ไม่มีใครรู้หรอก เพราะว่ามันหลายล้านปีหรือว่าหลายแสนปี หรือกี่หมื่นปีก็ตามแต่ที่มันจะรู้จักทำเสียงให้มีความหมายนี้ มันต้องพูดเกี่ยวกับตัวตนนี้ก่อน เช่นของเราของฉันซึ่งมันเป็นความรู้สึกตามสัญชาตญาณ บ้านของฉัน ที่อยู่ของฉัน หรือตัวของฉัน พ่อของฉัน แม่ของฉัน อย่างนี้ มันจะพูดออกมาจากความรู้สึกที่มีความหมายเป็นตัวเป็นตนก่อนประเภทอื่น ซึ่งมันจำเป็นและมันรุนแรง ฉะนั้นยิ่งพูดมีความหมายเป็นตัวเป็นตนเข้าเท่าไหร่ มันก็ความรู้สึกที่เป็นตัวเป็นตนมันก็จะแรงมากขึ้นเท่านั้น ฉะนั้นความเป็นตัวตนก็ดี ความเห็นแก่ตนก็ดี ของมนุษย์มันก็มากขึ้นๆ ตามที่มนุษย์มันรู้จักพูด พูดได้เป็นครั้งแรกแล้วก็พูดกันต่อมา ฉะนั้นคำพูดที่พูดว่าฉันกระทำนี้ มันจะเป็นคำพูดที่รู้จักและพูดกันอยู่แล้วก่อนคำว่าการกระทำ คำว่าการกระทำนั้นมันเป็นนามธรรม นั่นน่ะสัตว์ที่ยังเป็นครึ่งลิงครึ่งคนนี้มันรู้จักไม่ได้ มันรู้จักยาก มันรู้จักได้โดยยากเพราะมันเป็นภาวนาม แต่ว่าถ้าฉันหรือกูกระทำนี่ มันรู้สึกแล้วมันพูดพ่นออกมา
นี้ก็เห็นได้ว่าโดยธรรมชาติแล้ว ภาวนามที่ปราศจากตัวบุคคลนั้นมันยากที่จะรู้สึกหรือพูดขึ้นมาได้ในตอนแรกๆ แต่ว่าถ้าผู้กระทำ ตัวผู้กระทำ ตัวบุคคลผู้กระทำแล้วก็พูดได้ง่ายตามความรู้สึก เพราะฉะนั้นเขาจึงยังไม่เห็น ตัวการกระทำ ทั้งที่เขากำลังกระทำอยู่ ก็ยังไม่รู้จักแยกการกระทำออกจากตัวบุคคลผู้กระทำ จนกว่ามันฉลาดมากฉลาดมากจนเป็นมนุษย์เมื่อเร็วๆ นี้แหละ มันจึงจะรู้จักสิ่งที่เป็นนามธรรมเป็นภาวนามเป็นความหรือเป็นภาวะอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ในภาษาไทยนี่ก็เถอะ เพิ่งจะพูดภาวะ หรือภาพหรือความเป็นนี้กัน(ดาษ)ดื่นเมื่อเร็วๆ นี้เอง
นี่สรุปได้ว่าการกระทำนั้นหรือความกระทำนั้นเห็นได้ยากกว่าบุคคลผู้กระทำ บุคคลผู้กระทำมันเกิดจากความรู้สึกตามสัญชาตญาณซึ่งจะต้องรู้สึกอย่างนั้น คือรู้สึกด้วยความสำคัญว่าเป็นตัวเรา ส่วนการกระทำนั้นมันเป็นธรรมชาติล้วนๆ มันไม่เล็งถึงตัวผู้กระทำ ฉะนั้นธรรมชาติอันนี้ยังอยู่ลึกไป นี่ถ้าเราเข้าใจข้อเท็จจริงอันนี้ เราก็จะเข้าใจคำสอนคำพูดประเภทที่กำลังว่านี้ง่ายขึ้น มีแต่การกระทำ ผู้กระทำหามีไม่ เพราะว่ามันมาถึงยุคถึงสมัยถึงอะไรที่คนมองเห็นธรรมชาติลึกมากจนเห็นว่านี่เป็นเพียงธรรมชาติ เหมือนกับเห็นอิทัปปัจจยตาอย่างนั้นแหละ ไม่มีตัวบุคคล มีพระพุทธเจ้าเป็นบุคคลประเภทสุดท้ายที่มองเห็นสิ่งนี้อย่างชัดแจ้ง จึงได้ตรัสถึงข้อที่ว่ามันสักว่าธาตุตามธรรมชาติ เป็นสังขารปรุงแต่งซึ่งกันและกันเกิดเป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมา เป็นการกระทำขึ้นมา แม้แต่ความคิดนึกในใจของมนุษย์ก็เป็นการปรุงแต่งของการกระทำตามธรรมชาติ แต่ทีนี้เมื่อจิตใดจิตไหนมันคิดนึก จิตนั้นมันก็คิดว่ามันเป็นผู้คิดผู้นึก แล้วมันก็ได้แก่ตัวเราเองที่นี่เวลานี้ เมื่อไหร่มีการคิดการนึกการรู้สึกอย่างไร มันก็สำคัญเอาว่าเรานี้เป็นผู้คิดผู้นึกผู้รู้สึก
ทีนี้เด็กๆ เขาเกิดมา มันก็ไม่มีเรื่องที่จะต้องเรียนเรื่องธรรมะหรือธรรมชาติ มันก็เรียนแต่เรื่องฉันนี้ เป็นข้อแรก แล้วพ่อ แล้วแม่ แล้วก็ของฉัน แล้วก็อะไรก็ของฉัน ก็ลองคิดดูง่ายๆ ว่าถ้าเด็กเล็กๆ มันเกิดอยากนมหิวนมขึ้นมานี่มันจะพูดว่าอย่างไรล่ะ มันก็ต้องพูดว่ามีผู้หิวนมคือฉัน ถ้าเอาฉันออกเสียมันก็พูดไม่ได้ มันไม่เป็นเรื่องเป็นราวอะไร ฉะนั้นคำว่าฉันมันจึงตั้งต้นอะไรๆ ทุกอย่างที่จะเป็นการพูดจาการกระทำ นี่เราจึงคุ้นกับความรู้สึกว่าฉันและก็พูดออกมาว่าฉันนี้มากที่สุด นั่นแหละไวยากรณ์ภาษาบางภาษายกเอาฉันหรือฝ่ายตัวฉันนี้เป็นบุรุษที่ ๑ เอาอีกฝ่ายที่ผู้พูดด้วยเป็นบุรุษที่ ๒ เอาฝ่ายที่ไม่ได้อยู่ที่นั่นแต่เอามาพูดถึงเป็นบุรุษที่ ๓ นี้ถูกต้องที่สุด คือว่าเป็นกฎทางไวยากรณ์ที่ตั้งขึ้นตามความรู้สึกของธรรมชาติ ฉันนี้จะรู้สึกก่อน แล้วก็ปฏิปักษ์ต่อฉันก็คือท่าน แล้วทีนี้คนที่ไม่ได้อยู่ด้วยที่นั่นแต่เอามาพูดก็คือเขา ตรงนี้อยากจะบอกบางองค์ที่ไม่เคยเรียนบาลีว่า แต่ภาษาบาลีนี้กลับแปลก ไวยากรณ์ภาษาบาลีไม่เหมือนเขา กลับตรงกันข้าม ทวนกลับอย่างตรงกันข้ามเลย เหมือนกับพลิกเอา ๑ มาเป็น ๓ เอา ๓ เป็น ๑ อย่างนั้นแหละ นี่ไวยากรณ์ภาษาบาลีเขาเรียงบุรุษที่ ๑ เป็นเขา บุรุษที่ ๒ ยังคงเป็นท่าน บุรุษที่ ๓ เป็นฉัน นี้จะเพราะเหตุไรก็อย่าเพิ่งวิจารณ์ บางทีมันจะมีอะไรลึกลับมากไปกว่าภาษาธรรมดาทั่วๆ ไปที่เอาฉันเป็นบุรุษที่ ๑ เอาท่านเป็นบุรุษที่ ๒ เอาเขาเป็นบุรุษที่ ๓ นั้นผมถือว่าคำบัญญัติไวยากรณ์เกี่ยวกับบุรุษนี้ไปตามกฎของธรรมชาติที่มนุษย์มันจะรู้สึกอย่างไรก่อน คือสรุปความว่าความรู้สึกที่ว่าฉันนั้น จะรุนแรงกว่าความรู้สึกอย่างอื่นหมด ฉะนั้นเขาหรือท่านนั้น มันก็คือฉันฝ่ายตรงกันข้าม และเขานั้นคือฉันที่ไม่ได้มาอยู่ที่นี่ด้วย ฉันผู้พูดนั่นแหละคือบุรุษที่ ๑ ว่าฉัน แสดงบทบาทเต็มที่ ทีนี้ท่านนั้นก็คือฉันเหมือนกันแหละ แต่มันเป็นฝ่านตรงกันข้ามเป็นปฏิปักษ์ ทีนี้บุรุษที่ ๓ คือคนอื่นที่อยู่ที่ไหนก็ตามใจ เขาก็เป็นฉัน เป็นตัวฉันของเขา เป็นตัวฉันที่มิได้มาอยู่ที่นี่ด้วย มันมีความหมายเป็นฉันไปทั้งนั้นแหละ จะพูดว่าฉัน จะพูดว่าท่าน จะพูดว่าเขา ในนั้นมีความหมายแห่งความเป็นตัวตนอยู่ทั้งนั้น ฉะนั้นตามความรู้สึกของคนธรรมดาทั่วไปมันก็ต้องรู้สึกว่าฉันสิ ถ้าพูดว่าไม่ใช่ฉันไม่มีฉัน เขาก็หาว่าบ้า นี่คนที่เขาไม่เข้าใจคำว่าอนัตตานั้นก็จะเป็นอย่างนี้ ยิ่งเขามีอำนาจวาสนามีอะไรบังคับเขาไม่ได้ เขาก็หาว่าคนพูดว่าไม่มีตัวตนนั้นเป็นคนบ้า
นี่มันเป็นความยากลำบากที่เราจะไปพิสูจน์ให้เขาเห็นว่า ความรู้สึกว่าตัวตนนั้นมันเป็นเพียงความรู้สึกหรือเข้าใจผิด มิได้มีอยู่จริง นี่มันลำบากตอนนี้ ฉะนั้นขอให้ท่านพระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลายนึกถึงข้อนี้ให้มากนะ ถ้าผมขอถวายความเห็นอันนี้ ก็ขอให้นึกถึงข้อนี้ให้มาก มันเป็นหัวใจของปัญหาทั้งหมด ที่เราเองก็เหมือนกันแหละอย่าว่าแต่คนอื่นเลย มันก็ไม่ยอมเห็นว่าไม่มีตน มันรู้สึกว่ตนอยู่ทุกทีไป แล้วก็เร็วเป็นสายฟ้าแลบ แล้วก็โกรธฝ่ายตรงกันข้ามแล้ว ถ้าความรู้สึกที่ว่าตนนั้นไม่เกิด ความโกรธก็เกิดไม่ได้ ทีนี้ความรู้สึกว่าตนนี่ ว่าฉัน ว่ากูนี่ มันเกิดเป็นสายฟ้าแลบ เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเท่านั้น แล้วมันก็โกรธเป็นสายฟ้าแลบทันควันกันไปเลย ถ้าความรู้สึกประเภทนั้นเกิดไม่ได้ มันก็มีไม่ได้หรอก ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความโลภ ความกลัว ความหลงนั้นมันมีไม่ได้ ความรู้สึกที่ว่าเป็นฉันนั้นมันแทรกอยู่ในตัวความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างสายฟ้าแลบนั้นด้วย ในเมื่อความรู้สึกที่กล่าวนี้มันเกิดมาจากความโง่นะ ที่เกิดมาจากอวิชชาเพราะความไม่รู้ เพราะความไม่ได้สดับธรรมะของพระอริยเจ้า นี่เรียกว่าอวิชชาเข้าผสมโรง เกิดความรู้สึกอะไรขึ้นล้วนแต่เป็นกิเลสชื่อนั้นชื่อนี้ทั้งนั้น ในนั้นมีตัวตนมาเสร็จพร้อมกับ ความรู้สึกอย่างนั้น เช่นความรู้สึกอยากนี้เกิดขึ้น ความรู้สึกว่าฉันผู้อยากก็เกิดเสร็จพร้อมอยู่ในนั้น ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านต้องการจะให้มองในแง่ของวิทยาศาสตร์ว่าไม่ต้องมีตัวตนวิญญาณเจตภูติหรือบุคคลสัตตะอะไรที่ไหน มันเป็นเพียงสังขารธรรมตามธรรมชาติล้วนๆ มันได้ปรุงแต่งกันแล้วมันก็เกิดความรู้สึกอยากขึ้นมา อยากด้วยอวิชชาที่เรียกว่าตัณหานั้น พอรู้สึกอยากที่เรียกว่าตัณหา มันก็มีความรู้สึกว่าผู้อยาก ฉันเป็นผู้อยากหรือผู้อยากนี้อยู่ในนั้นเสร็จ ฉะนั้นถ้าไปมองที่ผู้อยาก ความรู้สึกเป็นผู้อยาก มันก็เป็นความหลอกลวง ความไม่จริงหรือมุสา แต่ถ้ามองที่ความอยากที่เกิดขึ้นตามกฎเกณท์ของอิทัปปัจจยตาเป็นต้น นี้ก็คือความจริง ไม่มุสา
ฉะนั้นขอให้ย้อนกลับไปพิจารณาการเกิดของปฏิจจสมุปบาทแบบที่พระพุทธเจ้าท่านทรงเอามาพึมพำด้วยพระองค์เองอยู่บ่อยๆ นั้น อาศัยตากับรูปเกิดจักษุวิญญาณ อาศัยตากับรูป อาศัยตาด้วย,รูปด้วย เกิดจักษุวิญญาณนี่ จกฺขุญฺจ ปฏิจฺจ รูเป จ อุปฺปชฺชติ วิญฺญาณํ อาศัยตากับรูป เกิดจักษุวิญญาณ ๓ อย่างนี้ อันไหนเป็นตัวฉันตัวผู้ตัวตน มันไม่มี ให้ดูที่ ๓ อย่างนี้ก่อนว่าจักษุนี้ก็มิใช่ตัวตน รูปที่มากระทบตาก็มิใช่ตัวตน จักขุวิญญาณโพล่งออกมาเดี๋ยวนั้นเพราะการกระทบแห่งตากับรูป นั่นก็มิใช่ตัวตน ตัวจักษุวิญญาณนั้นน่ะ ติณฺณํ ธมฺมานํ สงฺคติ ผสฺโส ความประจวบแห่งธรรม ๓ ประการนี้คือผัสสะ ความประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการนี้ก็คือว่าตาด้วย รูปด้วย จักษุวิญญาณด้วย ๓ ประการนี้ประจวบกันเรียกว่าผัสสะ มันมีตัวตนที่ไหนล่ะ ผัสสะก็คือมิใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงประกายที่เกิดออกมาจาก ๓ อย่างนั้น ทีนี้ ผสฺสปจฺจยา เวทนา ก็ไม่มีตัวตนที่ผัสสะและไม่มีตัวตนที่เวทนา ทีนี้ เวทนาปจฺจยา ตณฺหา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาคือความอยาก ก็ความอยากเท่านั้นแหละ มิใช่ตัวตนที่เป็นผู้อยาก ตณฺหาปจฺจยา ภโว เพราะตัณหาเป็นปัจจัย ภพคือว่าความมี ความเป็น ความถึงพร้อมแห่งความมีความเป็นมันก็เกิดขึ้น แต่ก็ภพเท่านั้นแหละ สักว่าภพ มิใช่ตัวตน ภพเป็นปัจจัยก็เกิดชาติ ชรา มรณะนี้ ทั้งสายไม่มีตัวตน เรียกว่ากองทุกข์ทั้งปวงเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้ นี้ไม่มีตัวตน มีแต่ความหรือการ มีแต่ตากับรูป กับจักษุวิญญาณ กับผัสสะ กับเวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ไม่มีตัวตนที่ส่วนไหน นี้ตามธรรมชาติตามความจริงเป็นอย่างนี้ แต่แล้วตามความรู้สึกของมนุษย์ไม่เป็นอย่างนี้ มีตัวตนทุกตอน เข้าใจว่าเป็นตัวตนไปเสียทุกตอน เพราะว่ามันสะสมความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก เช่นตา มันก็มีความหมายเป็นตัวตนเป็นตา เราเป็นตา เรากำลังมีที่ตา หรือเป็นตา หรือตาเป็นเราอย่างนี้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นตัวตนของตานั่นเอง คำนี้เข้าใจยากที่สุดในบรรดาคำธรรมะทั้งหลาย เห็นจักษุเป็นตน เห็นโสตะเป็นตน เห็นฆานะเป็นตน เห็นชิวหาเป็นตน พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้แต่ไม่มีใครฟังถูกกี่คน และที่ชินหูมากที่สุดก็ว่ารูปเป็นตน เวทนาเป็นตน สัญญาเป็นตน สังขารเป็นตน วิญญาณเป็นตน นี้ก็ได้ยินกันมากที่สุด แต่ก็ฟังไม่ถูก
ผมเคยยกตัวอย่างบ่อยๆ เรื่องนี้ว่า ความหมายของคำว่าตนนั้นมันเป็นอะไร คือมันเป็นเพียงความรู้สึกสำคัญว่ามันเป็นตน เหมือนกับดูบางคนเขาฟาดถ้วยชามลงไปแตกเปรี้ยงปร้างนี่ เขาโกรธถ้วยชามนั้น นั่นเขากำลังโง่ถึงที่สุด ว่าถ้วยชามนั้นก็เป็นตัวตนคือเป็นสิ่งที่ทำความขัดใจแก่เขา บางคนก็เตะประตูเตะเสาก็มี ถ้ามันเกิดโง่หนักขึ้นมา มันเป็นตัวตนอะไรชนิดหนึ่งเหมือนกัน มันกำลังลืมไป มันกำลังโง่จัดเดือดจัด ไม่ได้ตีตบต่อยคนหรือสัตว์ที่มีชีวิตก็ไปเตะก้อนหินก็ได้ ถ้ามันโกรธบ้าขึ้นมาในฐานะที่ว่านี้มันเป็นตัวตนอันใดหนึ่งซึ่งเป็นอันตรายแก่กู มีคนที่รู้จักกันดีคนหนึ่งไม่ต้องออกชื่อ วิทยุมันโกง มันรวน มันไม่ค่อยดัง ฟาดกระจายทั้งเครื่องเลย นี่โกรธวิทยุว่ามันแกล้งหรือมันแกล้งบิดพลิ้วหรือมันแกล้งไม่ทำตามหน้าที่ ต้องไต่ไปจากความหมายเหล่านี้จึงจะพบความหมายของคำว่าตัวตน เกิดขึ้นแม้ในสิ่งที่มิได้มีชีวิตวิญญาณอะไร ถ้าใครเคยฟาดดินสอปากกาหักลงไปบ้างแล้วก็ไปคิดดู ไม่ได้อย่างใจหักดินสอหรือหักปากกาเสียก็มี นี้คือความโง่ประเภทอวิชชาสะสมมาตั้งแต่เล็ก มีความหมายเป็นตัวตนไปได้ทุกสิ่งทุกอย่าง
อาจารย์คู่สวดของผม ไม่ใช่จะเอาท่านมาประจาน เพราะท่านเล่าให้ฟังเองนี่ เป็นหวัดน้ำมูกไหล สั่งแล้วสั่งอีก เช็ดแล้วเช็ดเล่า มันก็ไม่หยุดไหล ก็เลยเอากำปั้นยัดเข้าที่จมูกตัวเองเลือดไหลออกมานี่ ท่านเล่าให้ฟังและคนอื่นก็เล่า ตอนนี้มันเกิดแยกกันว่าเราเป็นเรา จมูกเป็นจมูก ไม่ใช่จมูกของเรา นั่นแหละจมูกแท้ๆ ก็เกิดเป็นตัวตนได้นี่ แล้วทำไม เรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ จะเป็นตัวตนไม่ได้ ดูให้ดี มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณแล้วมันยิ่งจะเป็นตัวตนได้มากขึ้น คือสำคัญว่าเป็นตัวตนได้ง่ายและได้มากขึ้น เดี๋ยวก่อน,เดี๋ยวจะเข้าใจผิดว่าอาจารย์ที่ว่านั้น เมื่อก่อนบวชนะ ไม่ใช่บวชแล้ว เมื่อแกก่อนบวช แกเป็นคนอย่างนั้น เมื่อบวชแล้วก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น กลายเป็นคนที่เรียกว่ามันเปลี่ยนเพราะการบวช
เดี๋ยวนี้มันมีการบวชแล้วนี่เรา มันควรจะมีการเปลี่ยนเพราะการบวชกันบ้าง เรื่องตัวตนหยาบๆ น่าเกลียดแบบนั้นก็ควรจะหมดไป คงมีแต่ตัวตนที่ลึกลับซับซ้อนละเอียด เกี่ยวกับชื่อของกิเลสอนุสัยที่มันละเอียดๆ แล้วก็ไม่มีอยู่กี่ตัวหรอกที่จะเห็นได้ว่ามีอยู่จริง เช่นราคะ เช่นโทสะ เช่นโมหะ เช่นโลภะ เช่นตัณหา เช่นอุปาทาน ชื่อเหล่านี้จำไว้เถิด มันมีอะไรแล้วมันก็มีตัวตนอย่างนั้นแหละ เช่นมีความโลภ พอพูดว่าความโลภ ต้องหมายความมาจากอวิชชา ถ้ามาจากสติปัญญาไม่เรียกว่าความโลภ พอมีความโลภ มันก็มีผู้โลภ กูแหละโลภ กูแหละมีความรู้สึกโลภ โกรธก็เหมือนกัน พอความโกรธเกิดขึ้นตามกฎเกณท์ของอิทัปปัจจยตานี่ แต่ความรู้สึกอีกด้านหนึ่งว่ากูโกรธ ความรักก็เหมือนกัน เมื่อมีความรักด้วยอวิชชานี้ มันก็มีผู้รัก ผู้เกลียด ผู้กลัว ผู้เศร้า ผู้เป็นทุกข์ เลยมีผู้ขึ้นมาเป็นคู่กันกับภาวะนั้นๆ ทันควันไปเลย
ความโลภเป็นเพียงปฏิจจสมุปปันนธรรม คือธรรมที่เกิดขึ้นตามกฎเกณท์ของอิทัปปัจจยตาตามธรรมชาติ เป็นความรู้สึกคือความโลภ แต่อุปาทานยึดครองปฏิจจสมุปปันนธรรมนั้น ฉะนั้นจึงเกิดความรู้สึกว่ากูต้องการ ฉะนั้นเรื่องโทสะ โมหะ ตัณหา มานะ ทิฏฐิอะไรก็เหมือนกัน เมื่อใดมีความอยาก เมื่อนั้นมีผู้อยาก เมื่อใดมีความกลัว เมื่อนั้นมีผู้กลัว เอาไปคิดเอาเองมันมีกี่ชื่อ นี้คือความโง่ ทีนี้ต้องเรียนธรรมะจากใจนั่น ทุกองค์นี่ขอร้อง,ผมขอร้องว่าให้เรียนธรรมมะจากใจ เพราะเมื่อมีความรู้สึกอะไรขึ้นมาก็ให้จับตัวความรู้สึกที่เป็นผู้นั้นให้ได้ เช่นรู้สึกอร่อยเมื่อฉันอาหาร ก็จับตัวความผู้อร่อย ซึ่งเป็นผีทั้งนั้นแหละ ไม่ใช่มีอยู่จริง เป็นผีที่แฝงตัวอยู่ในรูปของผู้,ผู้อร่อย ให้ได้ มันละเอียดเหลือประมาณแหละ มันละเอียดเท่ากับนิพพานแหละ อัตตานี้มันละเอียดเท่ากับอนัตตา ถ้าไม่แยกออกจากกันได้ มันก็ไม่มีทางที่จะดับความทุกข์ได้ ที่แท้มันเป็นเพียงความอร่อยที่เกิดขึ้นตามกฎเกณท์ของธรรมชาติ หรือกฎที่เรียกว่าอิทัปปัจจยตา รู้สึกเป็นอย่างนั้นที่ลิ้นนะ แต่จิตมันไม่ได้คิดอย่างนั้น มันกูอร่อย มันไม่เพียงแต่ความอร่อยเกิดขึ้นตามธรรมชาติ
เกี่ยวกับเรื่องความหลอกลวงของวัตถุเหล่านี้ เขาอธิบายกันได้ดีในภาษาวิทยาศาสตร์ ไปหาอ่านหาศึกษากันเสียบ้าง พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสแต่เพียงว่าให้มันเวทนาสักแต่ว่าเวทนา ไม่ได้อธิบายในแง่ของวิทยาศาสตร์มากไปกว่าที่ว่ามันเป็นสักแต่ว่าเวทนาแล้วก็มีผู้รู้สึกเวทนา นี้มันเป็นความหลง ทีนี้ถ้าจะให้รู้ว่าอร่อยคืออะไร ไม่อร่อยคืออะไร ก็ต้องไปศึกษาเรื่องวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เกี่ยวกับฟิสิกส์โดยมาก เช่นว่าอร่อยนี้ มันก็มาจากรสที่มันพอดีกันกับ ความรู้สึกของเส้นประสาทที่ลิ้น พูดยิ่งพูดก็ยิ่งไกล แต่พูดเป็นตัวอย่างก็ได้ เช่นนับมาตั้งแต่ที่มันจืด รสมันจืดและรสมันกร่อย และรสมันเค็มและรสมันขม และรสมันเปรี้ยว แล้วมันเปรี้ยวถึงขนาดที่เรียกว่าเป็นกรดไปเลย นี่เขาอธิบายว่ามันไม่มีอะไรที่ว่าผิดแปลกแตกต่างตรงกันข้าม มันเป็นเพียงความมากน้อยของวัตถุธาตุที่มีอยู่ในสิ่งนั้นที่มันจะทำปฏิกิริยาลงไปที่เส้นประสาทของลิ้น ถ้ามันทำปฏิกิริยาลงไปแก่เส้นประสาทปลายเส้นประสาทที่รับรสนี้มากเท่านั้นมันจะรู้สึกว่ากร่อย ถ้ามันมากกว่านั้นมันจะรู้สึกว่าเค็ม ถ้ามากกว่านั้นมันจะรู้สึกว่าขมอย่างนี้เป็นต้น หรือว่ามันจะถึงหวาน ถึงหวาน หวานมากกว่านั้นมันจะถึงขม หวานกับขมนั้นคืออย่างเดียวกัน แต่ว่ามากน้อมากกว่ากัน ตัววัตถุในสิ่งนั้นมันทำปฏิกิริยาแก่ระบบปลายประสาทนั้นมันมากน้อยกว่ากันเท่านั้น น้ำกร่อย ถ้าเราเอาไปงวดให้มันมากเข้ามันก็จะเป็นน้ำเค็มหรือน้ำขม น้ำตาลสดนี่มันก็กร่อยๆ นะ พอไปงวดมันเข้ามันเป็นน้ำตาลที่หวาน ถ้างวดเกินกว่านั้นอีกมันก็ขมแหละ คือที่เรียกว่าไหม้นั่นแหละ หมายความว่าส่วนที่เป็นน้ำ มันหายไปอีก มันมีส่วนที่จะทำปฏิกิริยาแก่ลิ้นมากกว่านั้นอีกมันเลยเป็นรสขม เขาอธิบายอย่างนี้ ไม่ใช่ว่ามันต่างกันคนละอย่าง,ไม่ใช่ แค่ความมากน้อยของการสัมผัสต่อระบบประสาทที่ลิ้น
ยิ่งทางตานี้ ยิ่งเข้าไปพิสูจน์ได้ง่ายด้วยเครื่องมือ เขาเรียกว่าคลื่นแสง คลื่นแสงที่มาในขนาดนั้น จะเห็นเป็นสีนั้น สีนั้น สีนั้น สีนั้น มากขึ้นไปสูงสุดแค่สีม่วง ถ้าคลื่นแสงที่มันยาวกว่าคือมาได้น้อยครั้งกว่านั้นจะเป็นสีแดง,ต่ำกว่าแดงอย่างนี้ เป็นเพียงคลื่นแสงเท่านั้น แต่เราเห็นคล้ายๆ ว่าตรงกันข้าม สีเหลืองตรงกันข้ามกับสีน้ำเงิน หรือว่าสีดำตรงกันข้ามกับสีขาวนี่ อย่างนี้เราก็ไม่รู้ แล้วเราก็โง่ ว่าเห็นเป็นสีต่างๆ กัน จนรักสีนี้แล้วเกลียดสีนั้น นั่นเป็นอย่างนั้น ที่จริง สีตั้งแต่สีแดงขึ้นไปถึงขึ้นมาเรื่อยๆ จนมาเป็นสีส้ม สีเหลือง สีเขียว สีฟ้า สีม่วง นั่นแหละคือคลื่นแสงที่ต่างขนาดกันเท่านั้น นี้ยิ่งแสดงความไม่เป็นตัวตนของรูปของสิ่งที่เห็นด้วยตามากขึ้น แต่เราไม่จำเป็นถึงกับเรียนวิทยาศาสตร์อย่างนั้นก็ได้ เพราะว่าเราข้ามไปเอาความสำคัญกันที่เวทนา มันจะจากอะไรก็ตาม จากรูป จากเสียง จากกลิ่น จากอะไรก็ตาม มันก็เกิดเวทนา เราจะเห็นเวทนานี้เป็นตามความจริงว่าเป็นเพียงปฏิจจสมุปปันนธรรมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ฉะนั้นเราจะไปหลงรักก็คือโง่ ถ้าจิตรู้อย่างนี้จริง รู้ว่าเป็นปฏิจจสมุปปันนธรรมล้วนๆ จริง มันก็เฉยได้ ฉะนั้นการทำวิปัสสนาก็คือทำให้รู้สิ่งเหล่านี้ตามที่เป็นจริงว่ามันเป็นเพียงปฏิจจสมุปปันนธรรม มันจึงเฉยได้ ผลของวิปัสสนาก็คือทำให้มันเฉยได้ต่ออารมณ์ทั้ง ๖ นั้น ชนิดที่อยู่ในลักษณะที่เรียกกันว่าสวย ว่างาม ว่าอร่อย ว่าอะไรต่างๆ คือขนาดที่พอเหมาะกันกับตาก็ว่าสวยหรือสบายตา ขนาดพอเหมาะกับหูก็ว่าเพราะหู ขนาดพอเหมาะกับประสาทในจมูก ก็เรียกว่าหอม ต้นดอกหงอนไก่ที่อยู่ข้างกุฏิผม พอมันเป็นบาน มันบานพร้อมกันทั้งต้น และเข้าไปใต้ต้นแล้วหายใจไม่ออก ฉุน,ฉุนจนบอกไม่ถูกว่าอะไร เดินห่างออกไป ๒-๓ วา หอม เดินห่างไกลอีก ๒-๓ วา ก็จะหอมพอดีนี่ คือว่าแก๊สที่มันมีความเข้มข้น มันก็กระทบเส้นประสาทที่จมูกมาก มันก็ฉุน พอทำให้มันจางลงมันก็หอม ฉะนั้นคนที่เขารู้เรื่อง เขาว่าเขาเอาอุจจาระ เอาน้ำมันผีนี่ไปทำให้หอม ไปทำให้มันจางลง ให้มันพอหอม แล้วก็หอมพอดีหอมอย่างยิ่งหอมอย่างจับจิตจับใจนี่ คือไปทำให้มันจางลง เดี๋ยวนี้เรามันไม่รู้เรื่องนี้ เรารู้แต่ว่ามันหอมเท่านั้นแหละ แต่ถ้าความหอมนั้นงวดให้เข้มเข้ามันก็ฉุนนะ จนไม่หอม จนเหม็น จนฉุน จนจมูกทนไม่ไหว นี่กลิ่น
ทีนี้รสทางลิ้นก็พูดกันแล้ว สัมผัสผิวหนังก็เหมือนกัน ที่มันนิ่มนวลนั้นเพราะมันพอเหมาะ คือมีปริมาณมาก สิ่งนั้นต้องอ่อนแล้วก็มาประกับกันกับผิวหนัง ทำให้เกิดความรู้สึกแก่ปลายเส้นประสาทมากที่สุด นี้จะรู้สึกว่านิ่มนวล เป็นที่ตั้งแห่งความกระสัน ถ้ามีความแห้ง มันกระด้าง ปริมาณมันน้อยลง ถ้ามีความเปียกมันประกบกันสนิทกว่ามากกว่า เพราะฉะนั้นจึงมีความรู้สึกนิ่มนวลกว่า นี่เป็นเรื่องหลอกของปริมาณที่กระทำแก่ระบบประสาทที่มีอยู่ตามผิวหนัง ความนิ่มนวลกับความกระด้าง เช่นเอามือไปแตะก้อนหินนี้ มันจะมีโอกาสถูกเส้นประสาทให้รู้สึกไม่กี่หน่วยหรอก แต่ถ้าของมันเปียกอ่อนนิ่มไปถูกเข้า มันถูกทั้งหมดเลยก็ว่าได้ ฉะนั้นมันจึงเป็นความอ่อนความนิ่มนวล
ทีนี้เรื่องจิตใจนั้นเขายกไว้เป็นพิเศษ ๕ อย่างข้างต้นนี้เห็นง่ายมาก เรื่องของจิตใจมันไม่เป็นวัตถุ แต่ถ้ามันประเล้าประโลมใจ คือทำความรู้สึกชนิดที่เหมือนกับมีความนิ่มนวลแก่ใจอ่อนหวานแก่ใจ นี้มันก็เรียกว่าอารมณ์ทางใจที่จับใจที่สุด ที่เรียกว่า อิฏฺฐา กนฺตา มนาปา รชนียา กามูปสญฺหิตา พวกนั้นแหละ เดี๋ยวนี้เรามันถูกหลอกมาตั้งแต่เกิด เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องหลงในเรื่องรูปสวย รูปไม่สวย เสียงเพราะ เสียงไม่เพราะ กลิ่นหอม กลิ่นเหม็น รสอร่อย รสไม่อร่อย ความนิ่มนวลและความกระด้าง กระทั่งความถูกใจและความไม่ถูกใจ นี่เมื่อใดมีความรู้สึกอย่างนี้เมื่อนั้นเป็นตัวฉัน มีความหมายเป็นตัวฉัน เป็นอัตตา หรือว่าเป็นอีโก้ เป็นSelf ขึ้นมา เป็นความรู้สึกที่เป็นผีทั้งนั้น ไม่ใช่จริง ทีนี้ก็จะรู้ได้โดยการทบทวนดูว่าเมื่อใดมีความรู้สึกอย่างไร เมื่อนั้นก็จะมีตัวผู้รู้สึกอย่างนั้น การปรุงแต่งทางอายตนะ เกิดขึ้นเป็นเวทนา รู้สึกอร่อย ก็มีจิตที่เป็นผู้รู้สึกอร่อย เป็นผู้อร่อย เป็นผู้เสวยความอร่อย เวทนาก็เป็นตัวตนขึ้นมา ทีนี้เวทนาก็ต้องมาจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
ฉะนั้นเรื่องทั้งหมดก็ไปรวมอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อีกตามเคย ฉะนั้นอย่าลืมคำพูดที่เราพูดกันแล้ววันก่อนๆ ว่าตา หู จมูกนั้น นั่นแหละเป็นตัวการ ตา เป็นสัญโญชนียธรรม เป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ ตา เป็นอุปาทานียธรรม เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน พอฉันทราคะเกิดในตา ก็เกิดสังโยชน์เกิดอุปาทาน นั่นแหละคือเกิดผู้,ผู้เห็นรูปขึ้นมา ในฉันทราคะนั้นก็คือความรู้สึกกำหนัดยินดีพอใจอย่างยิ่ง ความรู้สึกนั้นแหละทำให้มีความหมายเป็นอีกส่วนหนึ่ง เป็นตัวผู้ ผู้กำหนัดขึ้นมา ความกำหนัดเป็นเพียงสิ่งที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติ นั้นเป็นตัวความกำหนัด ทีนี้จิตที่มันรู้สึกต่อนั้น มันไม่รู้สึกว่าตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติ มันรู้สึกว่าฉัน ฉันมีความรู้สึกอย่างนี้แหละ ฉะนั้นฉันรู้สึกอะไรได้ ฉันจึงมีอยู่ เขาถือเป็นหลักสำหรับจะยืนยันว่ามีตัวตน
นักปราชญ์ฝรั่ง ศตวรรษ,ดูหมือนจะศตวรรษที่แล้วมานี้เอง ที่เขาพูดว่า เพราะฉันรู้สึกได้,ดังนั้นฉันมีอยู่ ให้ถือว่าฉันมีอยู่ ตัวตนมีอยู่ อย่างนี้คนโง่ก่อนพุทธกาลก็เคยคิดเคยรู้สึกอย่างนี้ ปรัชญาของเดการ์ต (Descartes,Rene) ฝรั่งเศสนั้นแหละ ฉันรู้สึกได้,ดังนั้นฉันมีอยู่, cogito ergo sum ฉันคิดได้ ฉันรู้สึกได้ ดังนั้นฉันมีอยู่ เขาก็ถือเป็น ความคิดหรือความฉลาดที่จัดเป็นปรัชญาแขนงหนึ่ง ที่จริงมันเป็นความคิดของคนโง่ก่อนครั้งพุทธกาลนู่น แต่พระพุทธเจ้าเกิดแล้วพิสูจน์ให้เห็นว่ามันไม่ใช่อย่างนั้น มันเป็นเพียงความรู้สึกที่เกิดตามธรรมชาติแล้วจิตมันเข้าใจว่าฉัน
แล้วทีนี้ผมก็อยากจะเล่าถึงเรื่องที่มันเกี่ยวกับการปฏิบัติมากขึ้นไปอีก แล้วก็แสดงความข้อนี้ได้ดียิ่งขึ้นไปอีก คือมีภิกษุองค์หนึ่งมาทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ที่เขาพูดกันว่าอยู่คนเดียวๆ เอกวิหารี แปลว่าผู้อยู่คนเดียว เอกวิหารี นั่นมันคืออย่างไร มันคืออะไร แล้วด้วยเหตุเพียงเท่าไหร่จึงได้ชื่อว่าเป็นเอกวิหารี คือผู้อยู่คนเดียว ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านก็ตอบคำถามนี้ แต่ท่านตรัสด้วยคำพูดที่ตรงกันข้ามก่อน คือว่าอย่างไรเรียกว่าไม่อยู่คนเดียวคืออยู่สองคน แล้วจึงค่อยตรัสว่าอย่างไรเรียกว่าอยู่คนเดียว คือท่านตรัสว่าในโลกนี้มีรูป รูปที่เห็นได้ด้วยตา ที่มันน่ารักน่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่ตั้งแห่งความใคร่คือกาม แล้วก็เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด มันมีอยู่ในโลก นี้ท่านพูดเป็นหลักกลางๆ ว่าในโลกนี้มันมีรูปประเภทนี้ ทีนี้ภิกษุ,ก็พูดง่ายๆ ว่าภิกษุที่ยังไม่รู้ ก็ยินดีอย่างยิ่งในรูปนั้น ยินดีถึงขนาดปากพร่ำสรรเสริญอยู่ในรูปนั้น มีจิตใจมัวหมกอยู่ในรูปชนิดนั้น เมื่อเพลิดเพลินพร่ำสรรเสริญมัวหมกอยู่อย่างนั้น นันทิก็เกิดขึ้น นี่คำว่านันทิ มาอีกแล้ว วันก่อนก็พูดถึงนันทิกัน นันทิก็เกิดขึ้น นันทิที่แปลว่าความเพลินมันก็เกิดขึ้น นนฺทิยา สติ เมื่อนันทิมีอยู่, สาราโค โหติ สาราคะก็มี สาราคะมันก็คือกำหนัดยินดีอย่างสูงสุด สาราเค สติ เมื่อสาราคะมี, สญฺโญโค โหติ สังโยชน์ก็มี คือความผูกพร้อม,ความประกอบพร้อม ก็มี
ทีนี้ภิกษุผู้ประกอบพร้อมอยู่ด้วยสังโยชน์เพราะนันทินั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าอยู่สองคน เรียกว่า สทุติยวิหารี สทุติยวิหารี ผู้อยู่ด้วยบุคคลที่ ๒ คือว่าอยู่สองคน แล้วก็ระบุว่า แม้ว่าภิกษุนั้นจะเสพคบเสนาสนะป่าอันสงัด ปราศจากเสียงแห่งมหาชน เป็นที่ตั้งแห่งการทำการลับ เป็นที่ควรแก่การหลีกเร้นของมุนี หรือว่าที่ที่สงัดที่สุดแหละ ไม่มีใครเลยนั่นแหละ ภิกษุนั้นก็ยังชื่อว่าอยู่สองคน ครั้นตรัสอย่างนี้แล้วก็ตรัสฝ่ายที่เรียกว่าอยู่คนเดียวนั้นว่ามันก็มีอย่างนั้นอีกแหละ ในโลกนี้มันมีรูปที่รู้ได้ด้วยตา เป็นที่น่ารัก น่าพอใจ น่ายินดี เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยแห่งกาม เป็นที่เกิดของความกำหนัด แต่ถ้าว่าภิกษุไม่เพลิดเพลินเฉพาะในรูปนั้น ไม่พร่ำสรรเสริญในรูปนั้น ไม่มัวเมามัวหมกในรูปนั้น เมื่อเป็นดังนั้น นันทิก็ไม่เกิด เมื่อนันทิไม่มี สาราคะก็ไม่มี เมื่อสาราคะไม่มี สังโยคะก็ไม่มี ภิกษุผู้ปราศจากสังโยชน์ด้วยอำนาจความเพลินนั้นชื่อว่าเป็นผู้อยู่คนเดียว,เอกวิหารี แม้ว่าภิกษุนั้น กิญฺจาปิ คาเม วิหรติ เขาจะอยู่ในหมู่บ้าน เกลื่อนกล่นไปด้วยภิกษุทั้งหลาย เกลื่อนกล่นไปด้วยภิกษุณีทั้งหลาย เกลื่อนกล่นไปด้วยอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย เกลื่อนกล่นไปด้วยพระราชาทั้งหลาย เกลื่อนกล่นไปด้วยอำมาตย์ของพระราชาทั้งหลาย เกลื่อนกล่นไปด้วยเดียรถีย์ทั้งหลาย เกลื่อนกล่นไปด้วยสาวกของเดียรถีย์ทั้งหลาย อถโข เอกวิหารีติ วุจฺจติ แม้อย่างนั้นก็ยังชื่อว่าอยู่คนเดียว ตํ กิสฺส เหตุ ข้อนี้เพราะเหตุอะไรเล่า ข้อนี้เพราะเหตุว่า ตณฺหา หิสฺส ทุติยา ตัณหาเป็นบุคคลที่ ๒ ของภิกษุนั้น สาสฺส ปหีนา เมื่อตัณหาอันภิกษุนั้นละแล้ว ตสฺมา เอกวิหารีติ วุจฺจติ เพราะเหตุนั้นแหละจึงชื่อว่าอยู่คนเดียว
เมื่อเรียนนักธรรมตรี ผมเชื่อว่าทุกๆ องค์จะต้องอ่านข้อความที่แสดงลักษณะของป่าอันสงัด หรือในพุทธประวัติตอนหนึ่งก็จะมีว่าป่าอันสงัดคือไม่มีอะไรเลย มีว่า อรญฺญวนปฏฺฐานิ อยู่ป่า วนปฏฺฐานิ เป็นผู้อยู่ในป่า ปนฺตานิ อันสงัด เสพเสนาสนะอันสงัด ปราศจากเสียงทั้งปวง ปราศจากความกึกก้องทั้งปวง ปราศจากลมเกิดแต่ชนผู้เข้าออก เป็นที่มนุษย์ประกอบการลับ เป็นที่ควรแก่การหลีกเร้น สำนวนนี้จะเป็นอย่างนี้ น่าจะจำไว้ ในหนังสือเรียนนักธรรมตรีมันมี พอถึงทีเกลื่อนกล่นอย่างยิ่งแล้วก็จะมีบาลีที่ว่า คามนฺเต วิหรติ แปลว่าอยู่ติดกับหมู่บ้าน แล้วเกลื่อนกล่นไปด้วยเพื่อนภิกษุ เพื่อนภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ เดียรถีรย์และสาวกของเดียรถีย์
ตรงนี้จะเป็นความรู้พิเศษผนวกเข้าไว้ด้วยว่า ภิกษุนั้นย่อมคบแม้กับเดียรถีย์คือลัทธิอื่นหรือสาวกของเจ้าลัทธิอื่น แม้พระพุทธเจ้าก็คบ ไม่เหมือนชั้นอรรถกถาที่เขียนมากเกินไปจนดูถูกเหยียดหยามลัทธิอื่นคล้ายๆ กับว่ามันเป็นอะไรที่เข้าใกล้ไม่ได้อย่างนั้น ตอนเช้าพระพุทธเจ้า ถ้าว่ายังเช้านักไปบิณฑบาตไม่สมควร ก็แวะเข้าไปในวัดเดียรถีย์ แล้วก็สนทนากับเดียรถีย์ อย่างนี้มีมากในสูตร หรือสาวกของเดียรถีย์ก็ไม่รังเกียจที่จะคุยด้วยถ้าเขามาถามปัญหา ทีนี้ก็มีคนที่จะมาติดต่อด้วยนับตั้งแต่คนธรรมดาจนถึงพระราชามหากษัตริย์ กระทั่งข้าราชการ กระทั่งศาสนาอื่น มันก็ไม่สงัดสิ วันหนึ่งมีคนมามากยิ่งกว่าวัดเรานี้ แต่ถ้าภิกษุนั้นมิได้เพลินเฉพาะ มิได้พร่ำสรรเสริญ มิได้มัวหมกในรูปอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดแห่งความรู้สึกทางกามแล้ว ก็เรียกว่าเขาอยู่คนเดียว,เขาอยู่คนเดียว ทีนี้เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องโผฏฐัพพะ เรื่องสี่อีกห้าอย่างก็เหมือนกันแหละ ตรัสเหมือนกันเลย
ทีนี้ขอให้สังเกตคำสำคัญอย่างยิ่งอยู่คำหนึ่ง ตณฺหา หิสฺส ทุติยา ความอยากนั่นแหละคือเพื่อนของเขา คือบุคคลที่ ๒ ของเขา ตณฺหา คือตัณหา ทุติยา เป็นบุคคลที่ ๒ หิสฺส ก็คือ หิ-อสฺส ของบุคคลนั้นแล,ของภิกษุนั้นแล ตัณหานั้นคือบุคคลที่ ๒ ฉะนั้นขอให้นึกถึงเมื่อตะกี้ที่พูดว่า เมื่อมีความอยากก็มีผู้อยาก ว่าเมื่อมีตัณหาคือความอยากก็ต้องมีผู้อยากที่เป็นผีคือไม่ใช่ตัวจริง ตัวจริงนั้นเป็นเพียงความอยาก เกิดตามกฎเกณฑ์ของปฏิจจสมุปบาทและมีอยู่จริง จากอายตนะจนกระทั่งเป็นตัณหาคือความอยากนี้มีอยู่จริง ส่วนผู้อยากนั้นมันเป็นเพียงความรู้สึก มิได้มีอยู่จริง,เป็นผี แต่ในที่นี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าตัณหานั่นแหละเป็นบุคคลที่ ๒ ของเขา ขอให้ถือเอาความหมายว่าความอยากนั้นมันเป็นบุคคลขึ้นมาได้ในเมื่อมีความอยาก ฉะนั้นผู้ที่มีความอยาก ก็เป็นผู้ที่มิได้อยู่คนเดียว ทีนี้มันไม่เฉพาะแต่ความอยากหรอก ความยึดมั่นความอะไรก็ตามที่มันเป็นกิเลสตัณหาเครือเดียวกันแล้ว ถ้ามันมีแล้วก็เป็นบุคคที่ ๒ ทั้งนั้น ฉะนั้นการที่บุคคลคิดว่าจะไปอยู่เสียในป่าลิบไม่ให้มีใครเห็นแล้วจะได้อยู่คนเดียวอย่างนี้ มันยังไม่ถูกนักหรอก มันยังโง่อยู่กว่าครึ่งก็ได้ เพราะมันมีบุคคลที่ ๒ ที่ตามไปในที่ทุกหนทุกแห่งได้
ฉะนั้นการที่จะแสวงหาที่สงัดพอสมควรนั้นมันก็ถูกแล้ว แต่อย่าไปหลงถึงกับว่าถ้าอยู่ในที่สงัดแล้วจะชื่อว่าอยู่คนเดียว นี่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ชัดอย่างนี้ ว่าแม้ไปอยู่ในที่อย่างนี้ สงัดขนาดนี้ มันก็ไม่ใช่อยู่คนเดียว เพราะว่าตัณหานั่นแหละเป็นบุรุษที่ ๒ สำหรับเขา ฉะนั้นเขาอยู่ ๒ คน จะไปอยู่นอกฟ้าหิมพานต์หรือที่ไหนที่ว่าคิดว่าอยู่คนเดียวนั้นน่ะ แต่ถ้าว่าจิตมันยังไปจับฉวยเอาอารมณ์ คือรูป เสียง กลิ่น รส อะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง มันก็มีบุคคลที่ ๒ ขึ้นมาทันที มันมีบุคคลผู้จับฉวย มีบุคคลผู้อยาก มีบุคคลผู้ยึดมั่นถือมั่นอะไรขึ้นมาทันทีเป็นเพื่อนของบุคคลนั้น ทีนี้เราจะไปอยู่ที่ไหนล่ะ จะไปอยู่ในป่าไหนล่ะ ที่จะไม่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันก็มีสิ มันก็มีตา อารมณ์ของตา หู จมูก ลิ้น กาย มันก็ต้องระวัง อย่าให้เกิดบุคคลนี้ขึ้นมา จะเรียกว่าอยู่คนเดียว ส่วนที่คลุกคลีกันอยู่กับประชาชน เพื่อนภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกาอะไรก็ตามใจ แต่มิได้เกิดตัณหาขึ้นมาด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งเลย มิได้เกิดอุปาทานขึ้นมาด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งเลย ก็เรียกว่ามันไม่มีบุคคลที่ ๒ ที่เข้าไปอยู่กับเรา คนเหล่านั้นมันอยู่ข้างนอก มันไม่ได้เข้าไปในจิตใจของเรา คนที่จะตามเข้าไปนั่งอยู่ในจิตใจด้วยอีกคนหนึ่งนี้มันคือตัณหาอุปาทานเป็นต้น เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะอาศัยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ถ้าพูดตามหลักที่พูดๆ มาแล้วก็ว่า เมื่อใดมีอวิชชาสัมผัส เมื่อนั้นก็มีเพื่อนสอง คืออวิชชานั่นแหละเกิดเป็นเพื่อนสองขึ้นมา
นี่ขอให้เข้าใจคำว่า เอกวิหารี อยู่คนเดียว สทุติยวิหารี อยู่ด้วยเพื่อนสอง นี่มันมีความหมายอย่างนี้ ในภาษา ธรรมะแท้ๆ มันมีความหมายอย่างนี้ ดังนั้นเราสามารถนะ ถ้าเราไม่เหลวไหลนะ เราสามารถที่จะอยู่คนเดียวได้ไม่ว่าที่ไหน ในรถไฟเราก็อยู่คนเดียวได้ หรือว่าที่ตลาดแออัดเราก็อยู่คนเดียวได้ ถ้าจิตมันมิได้เกิดสิ่งที่เรียกว่าตัณหาอุปาทานนั้น ก็ไม่มีอะไร ผู้,ไม่มีผู้อะไรเกิดขึ้นในใจอีกคนหนึ่ง มันก็มีคนเดียว ฉะนั้นพยายามต่อสู้เพื่อจะอยู่คนเดียวอย่างนี้กันบ้าง อย่าหนีเข้าป่าตะพึด มันจะไม่ประสบความสำเร็จในการที่จะอยู่คนเดียว เพราะว่าการอยู่คนเดียวหรือหลายคนตามแบบของพระพุทธเจ้าท่านมีหลักอย่างนี้ นี่คือผมถือว่าเป็นความรู้รอบตัวขอถวายแก่บรรดาท่านพระวิปัสสนาจารย์ ทั้งหลายในวันนี้ นี้ก็เป็นการสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้เพียงเท่านี้คน-ภาษาธรรม