แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เนื่องจากวันนี้เป็นวันที่เราสมมติเรียกกันว่าวันธรรมปาฏิโมกข์ ดังที่เคยบอกให้ทราบมาแล้วครั้งหนึ่ง วันอย่างวันนี้เรายังถือกันว่าจะเป็นวันสำหรับพูดเกี่ยวกับเรื่องตัวกูของกูไปเรื่อยๆ ก่อน ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นวันนี้ก็เป็นเรื่องตัวกูของกู และถือเป็นโอกาสถวายความคิดเห็นหรือความรู้รอบตัวแก่บรรดาท่านพระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลายพร้อมกันไปด้วย ผมอยากจะขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าเรื่องตัวกูของกูนั้นพูดได้ไม่จบไม่มีจบ เพราะมันเป็นทุกเรื่องที่เกี่ยวกับมนุษย์เรา แม้ที่สุดแต่จะพูดกันว่าตัวกูของกูเกิดเมื่อไหร่นี่มันก็พูดกันได้ไม่รู้จบ ที่ชี้ให้เห็นได้หลายอย่างหลายชนิดจนกระทั่งเมื่อตัวกูเกิดเมื่อมีความพอใจในความรู้สึกเกิดขึ้นที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นประจำวัน นี่มันมีอยู่มากแง่มากมุมที่จะเริ่มค่อยๆ พูดกันไป และก็ได้พูดมาแล้วตามลำดับมากมายอย่างนั้น
ส่วนวันนี้มีท่านพระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลายมาสมทบอยู่ด้วย ฉะนั้นการที่จะพูดแง่ใดแง่หนึ่งเพียงแง่เดียวเหมือนที่เคยทำมันก็ทำไม่ได้เพราะจะฟังไม่รู้เรื่อง คิดดูว่าจะพูดที่มันเป็นเค้าความใหญ่ๆ เพื่อจะให้เข้าใจเรื่องนี้กว้างขวางออกไปโดยรวบรัดนั้นจะดีกว่า ฉะนั้นจึงคิดว่าอยากจะถวายความคิดเห็นเกี่ยวกับคำว่าตัวตนนั่นแหละ หรือตัวกูของกูก็ได้แล้วแต่จะเรียก ในแง่ที่มันยังเป็นปัญหามากสำหรับการสั่งสอน บรรดาท่านพระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลายย่อมมีหน้าที่สั่งสอน ฉะนั้นการสั่งสอนจะลำบากยุ่งยากเพราะเกี่ยวกับคำพูดที่มันพูดกันไม่ค่อยจะรู้เรื่อง และบรรดาคำพูดที่พูดกันไม่ค่อยจะรู้เรื่องนี้ก็ไม่มีคำไหนที่จะเกินไปกว่าคำว่าตัวตนหรือของตนนี่แหละ เพราะว่าในบรรดาพระพุทธภาษิตทั้งหมดมันก็มีพูดที่แสดงเรื่องนี้อย่างที่เรียกว่ามันเป็นปัญหายุ่งยากขึ้นมา เช่นพระพุทธภาษิตที่ว่า ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน,ใครอื่นที่ไหนจะมาเป็นที่พึ่งแก่ตนได้ นี้ก็แสดงว่ามีตน และ อตฺตทีปา อตฺตสรณา,ท่านทั้งหลายจงมีตนเป็นที่พึ่ง เป็นที่อาศัยเถิด แม้แต่ในเรื่องพุทธประวัติก็มีข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พวกหนุ่มๆ ที่ไปเที่ยวติดตามผู้หญิงที่หลอกลวงเขา โดยตรัสกับคนหนุ่มๆ เหล่านั้นว่า เที่ยวแสวงหาตนดีหรือว่าเที่ยวหาผู้หญิงดี และคนหนุ่มๆ เหล่านั้นเกิดฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าหาตนดีกว่า ก็เลิกเที่ยวตามหาผู้หญิง ตัวอย่างเหล่านี้มันแสดงว่าพระพุทธเจ้าก็ท่านได้ตรัสถึงคำว่าตนว่าได้มีอยู่จริง
ทีนี้พวกที่มันตรงกันข้าม พระพุทธภาษิตที่ตรงกันข้าม ขันธ์ทั้งหลายมิใช่ตน, ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอะไรมิใช่ตน, สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน กระทั่งว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรจะยึดมั่นถือมั่นว่าตน คำว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงนี้มันไม่ยกเว้นอะไรให้เลย ก็เป็นอันว่าทุกอย่างไม่ใช่ตน ทีนี้เราจะสอนชาวบ้านว่าอย่างไร ว่าให้ทำอย่างไรเกี่ยวกับปัญหาเรื่องตัวตนนี้ มันก็เลยมีปัญหามากถึงขนาดว่าบางพวกก็ยึดว่ามีตัวตนอะไรอันใดอันหนึ่งแหละนอกไปจากธรรมทั้งหลายอีก คือว่ากันออกไปเสียจากขันธ์ ๕ พวกขันธ์ ๕ ก็เป็นอนัตตาไปสิ นอกจากขันธ์ ๕ ก็มีตัวตน กระทั่งว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตาก็ยังมีส่วนที่ไม่ใช่รวมอยู่ในคำว่าธรรมทั้งหลายอีก มันก็เถียงกันได้ ต่างคนก็ต่างมีปาก มันก็พูดกันได้ก็เถียงกันได้ ทำให้ชาวบ้านเขาเวียนหัว ก็ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรกันดีนี่ และอาจารย์ผู้สอนธรรมะในพุทธศาสนาด้วยกันก็มาสอนชนิดที่ขัดแย้งกันอย่างนี้
ฉะนั้นผมเห็นว่าทำความเข้าใจเรื่องนี้กันบ้างก็จะมีประโยชน์ แต่ว่าข้อเท็จจริงหรือเหตุผลอะไรมันมีมาก ไม่พูดกันจบได้ในชั่วโมงเดียว แต่จะรวบรัดให้เข้าใจในหลักสักอย่างหนึ่ง ก็อาจจะเข้าใจได้ในการพูดคราวเดียว คือว่าพระพุทธเจ้าหรือบุคคลเช่นพระพุทธเจ้า คือเป็นผู้รู้ธรรมถึงที่สุดหรือลึกซึ้งกว่าธรรมดานี้ ย่อมเกิดปัญหาขึ้นมาในการพูดจาว่าจะพูดเรื่องที่ท่านเห็นจริงแท้จริงลึกซึ้งนั้น มันพูดไม่ได้ด้วยภาษาชาวบ้านธรรมดา ภาษาชาวบ้านธรรมดาก็ต้องเป็นภาษาที่เรียกว่ามีตัวตน ทีนี้ภาษาผู้รู้นั้นเป็นภาษาที่ไม่มีตัวตน ผมเคยคิดดูแล้ว ก็เห็นว่าเรามาแบ่งกันว่าภาษาคนหรือภาษาธรรมดีกว่า ถ้าพูดว่าภาษาคนมันก็มีตัวตน ถ้าพูดว่าภาษาธรรมก็ไม่มีตัวตน อีกทีหนึ่งที่ดีกว่านั้นก็คือภาษาศีลธรรมกับภาษาสัจจธรรม ภาษาศีลธรรมไว้พูดกับสังคมธรรมดาชาวบ้านทั่วไป นี้เรียกว่าภาษาแสดงศีลธรรม ส่วนภาษาสัจจธรรมคือความจริงนั้นมันก็พูดกับผู้ที่อาจจะมองเห็น เห็นตามได้เท่านั้นแหละ เพราะมันลึก คนทั่วไปจะฟังไม่ถูก ภาษาศีลธรรมจะฟังถูกทุกคน,คนทั่วไป แต่ภาษาสัจจธรรมนั้นจะฟังถูกแต่เฉพาะคนที่เข้าใจ
ยกตัวอย่างเรื่องกรรม,คำสอนเรื่องกรรม ถ้าสอนอย่างสอนศีลธรรมและภาษาคน ก็บอกว่า จงละกรรมดำเสีย แล้วเจริญกรรมขาว ธรรมดำหรือธรรมขาว มีอยู่ ๒ อย่าง ให้ละธรรมดำเสียแล้วเจริญธรรมขาว ก็คือว่าเว้นกรรมดำเสีย แล้วก็ประกอบกระทำในกรรมขาว นี้ก็เป็นพระพุทธภาษิต กณฺหํ ธมฺมํ ปชเหยฺย, สุกฺกํ ภาเวถ ปณฺฑิโต นี่ไปค้นดูเอาเอง มันมีใจความชัดอย่างนี้ จงเว้นกรรมดำเสียแล้วเจริญกรรมขาว ก็หมายความว่าให้เว้นชั่วเสียแล้วทำดีนี่ แต่พอไปถึงเรื่องของสัจจธรรมหรือภาษาธรรม พอไปพูดถึงกรรมที่จะเลิกถอนเสียทั้งกรรมดำและกรรมขาวนั้น เลิกถอนเสียทั้งความดีและความชั่ว เป็นที่สิ้นสุดแห่งความดีและความชั่ว สิ้นสุดแห่งกรรมดำกรรมขาว อย่างนี้ชาวบ้านฟังไม่ถูก เว้นแต่จะอธิบายกันจนฟังถูก เขาสอนชาวบ้านก็สอนว่าอย่าทำชั่วแล้วก็ทำดี นี่เขาฟังถูกทันที แล้วก็ถือเป็นหลักกันอยู่แล้วด้วย แต่พอบอกว่าละเสียทั้งดีทั้งชั่ว บางทีก็ทั้งบุญทั้งบาป ละเสียทั้งบุญทั้งบาป เป็นผู้สิ้นกรรม อย่างนี้เชื่อว่าชาวบ้านน้อยคนจะฟังถูก คำว่าสิ้นกรรมก็ฟังไม่ถูกอยู่แล้ว แล้วว่าให้ละเสียทั้งดีทั้งชั่วทั้งบุญทั้งบาป อย่างนี้ก็ไม่รู้จะเอาอะไร เขาไม่รู้ว่าจะเอาอะไร มันเป็นเรื่องเหลวเคว้งคว้างไปหมด ไม่รู้ว่าจะเอาอะไร บุญก็ไม่เอา ความดีก็ไม่เอา ทีนี้มันก็มีปัญหาเรื่องวิปัสสนาที่เรียกว่าวิปัสสนากรรมฐานนี้ ถ้าเป็นวิปัสสนาที่ถูกต้อง จะต้องมีผลนำไปสู่ความอยู่เหนือกรรมหรือสิ้นกรรม เหนือดีเหนือชั่ว เหนือบุญเหนือบาปทั้งนั้น ถ้าผิดจากนี้ก็จะเป็นวิปัสสนาเก๊ วิปัสสนาว่าเอาเอง นั่นแหละขอให้สนใจข้อนี้ด้วย
วิปัสสนา แปลว่าเห็นแจ้ง ก็คือไม่ต้องอธิบายแล้ว เห็นแจ้งคือเห็นแจ้งสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน จนกระทั่งจิตไม่ยึดมั่นสิ่งใดด้วยอุปาทานว่าเป็นตัวตนหรือเป็นของๆตน ทีนี้มันก็จะเกิดอาการน่าหัวเราะขึ้นในข้อที่ว่า พูดกับเขาว่าให้ทำดี ทำดี ทำดี แต่พอสอนวิปัสสนา สอนให้เลิกดี ทิ้งดี พ้นดี เหนือดี หรือพูดให้ชัดเข้าไปอีกหน่อยว่าพระอาจารย์วิปัสสนาเดินไปตามทุ่งนาหมู่บ้านอะไร มันก็จะพูดเรื่องทำดีๆ เหมือนกับพระทั้งหลายแหละ แต่พอสอนวิปัสสนาไหนว่าดูซิ ในที่สุดมันก็จะต้องไปไกลถึงเรื่องมรรคผลนิพพานที่อยู่เหนือชั่วเหนือดี นี่ชาวบ้านเขาก็จะเวียนหัว ฉะนั้นเราจะมีวิธีอะไรที่ทำให้เขาไม่เวียนหัว และเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องนี้
ผมเห็นว่าไม่มีอะไรดีกว่าที่จะแยกออกจากกันเสียเป็น ๒ เรื่อง คือจะพูดกับคนไหนบุคคลคนไหนด้วยเรื่องระดับไหนชนิดไหน ก็พูดกันแต่เรื่องนั้น แต่ถ้าเห็นว่าเขายังเป็นคนสุกๆ ดิบๆ ครึ่งๆ กลางๆ นี้มันก็จะต้องพูดเสียเลยว่า ที่เราให้ทำดีทำบุญอะไรนี้ก็เพื่อว่าจะเป็นเหมือนกับยานพาหนะเรือแพนี้ เพื่อจะนำไปสู่สภาพที่มันเหนือไปจากบุญจากดีนั่น ที่ให้ทำบุญก็ไม่ใช่ให้มาติดอยู่กับบุญ ให้บุญเป็นเครื่องมือพาไปสู่เหนือบุญเหนือทุกอย่าง เรื่องไม่ใช่มีเรื่องเดียวแต่เพียงเรื่องอยู่ในโลกนี้ มันมีอีกเรื่องหนึ่งซึ่งจะอยู่เหนือโลกที่เรียกว่าโลกุตตระ ถ้ายังไม่ถึงโลกุตตระมันก็ยังจะต้องมีความทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ แต่ที่จะไปสู่โลกุตตระโดยไม่ผ่านไปทางความดีหรือทางบุญนี้มันไม่มี
คำที่มันทำให้ฉงนมากอยู่คำหนึ่ง คือคำว่าโลกุตตรกุศล ไม่เคยพบในพระพุทธภาษิต เป็นภาษาอภิธรรมที่มีอยู่มากว่าโลกุตตรกุศล คนเขาได้ฟังก็คิดว่ากุศลที่เป็นโลกุตตระ เมื่อพูดว่าโลกุตตรกุศล ก็จะคิดทีแรกว่ากุศลที่เป็นโลกุตตระ ไม่ค่อยจะคิดหรือว่าตีความหมายไปทำนองว่ากุศลที่เป็นไปเพื่อโลกุตตระ เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ควรจะเข้าใจได้ทันทีว่ากุศลนี้เป็นไปเพื่อโลกุตตระก็มี ไม่เป็นไปเพื่อโลกุตตระก็มี ถ้ากุศลใดที่จะนำไปสู่โลกุตตระ เป็นไปเพื่อโลกุตตระก็เรียกว่าโลกุตตรกุศลได้ แต่ถ้ากุศลใดจะนำไปสู่วัฏฏะ เวียนว่ายไปในวัฏฏะประเภทวัฏฏคามินีกุศลนี่ กุศลเหล่านี้ไม่เป็นไปเพื่อโลกุตตระ ไม่ได้มุ่งหมายหรือไม่ได้ตั้งต้นที่จะเป็นไปเพื่อโลกุตตระ แต่จะเป็นไปเพื่อวัฏฏะ เกิดเป็นสุคติ เป็นมนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัติอะไรทำนองนั้น กุศลประเภทนี้ไม่ควรจะเรียกว่าโลกุตตรกุศล โลกุตตรกุศลก็ต้องเป็นเรื่องที่จะส่งเสริมไปในทางเป็นโลกุตตระ ดูมีบทว่า เอกนฺตกุสลายิกา โลกุตฺตรา ซึ่งแปลว่าโลกุตตระนั้นจะมาจากกุศลอย่างเดียวเท่านั้น ก็แปลว่าโลกุตตระนั้นจะมาจากอกุศลไม่ได้ ฉะนั้นจึงพูดชัดเสียเลยว่า เอกนฺตกุสลายิกา โลกุตฺตรา ธรรมที่เป็นโลกุตตระจะมาจากกุศลแต่ส่วนเดียว จะมาจากอกุศลไม่ได้ นี้มันกล่าวเป็นหลักฝ่ายโลกุตตระต่างหากคือต้องมาจากฝ่ายกุศลฝ่ายเดียว แต่ว่ากุศลนั้นมิได้หมายความว่าจะเป็นไปเพื่อโลกุตตระทุกอย่างทุกประเภท เป็นไปเพื่อเวียนว่ายในวัฏฏะก็มี แต่คำพูดที่ยืนยันนั้นว่าถ้าเป็นโลกุตตรธรรมต้องมาจากการตั้งต้นที่เป็นกุศลเท่านั้น ก็หมายความว่าละอกุศลเสีย มาสู่ความเป็นกุศล และจากความเป็นกุศลนี้จะนำไปสู่โลกุตตระอีกชั้นหนึ่ง ฉะนั้นก็ไปถือว่าความดีความถูกต้องบุญกุศลเหล่านี้มันเป็นกุศลประเภทที่จะนำไปสู่โลกุตตระ ฉะนั้นชาวบ้านเขาทำบุญทำกุศลก็มีอยู่ ๒ อย่าง เขาจะไปสวรรค์เพื่อกามสุข เพื่อกามารมณ์ เพื่ออะไรต่างๆ หรือว่าจะทำเพื่อเป็นพรหม รูปพรหม อรูปพรหมอะไรต่างๆ นี้มันเป็นวัฏฏะ ยังไม่ใช่เพื่อโลกุตตระ
เอ้า,พูดให้ต่ำที่สุดเลยว่าเหมือนกับทายกทายิกาให้ทาน ถวายอาหารให้ทานธรรมดาๆ ประจำวันนี่ พวกหนึ่งก็อาจจะคิดว่าจะไปสวรรค์จะเอาวิมานจะมีนางฟ้าจะมีอะไรก็ได้ มันก็เป็นเรื่องที่เขามีสิทธิที่จะคิดได้ จะไปห้ามเขาไม่ได้ ก็เรียกว่ามนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัติเขาต้องการ เขาก็มีสิทธิที่จะคิดจะทำ เพราะเราก็สอนกันอย่างนั้นแล้วก็ถือว่าดีกว่าคิดไปในทางผิดไปนรกไปอบาย ทีนี้แต่ถ้าว่ามันมีทายกทายิกาพวกหนึ่ง เขาไม่ต้องการอย่างนั้น เขาต้องการว่าการบริจาคทานในวันนี้จงทำลายความเห็นแก่ตัว ทำลายความยึดมั่นถือมั่นเรื่องของตัว เพื่อความสิ้นไปแห่งอุปาทานเหล่านี้เถิด บางพวกเขาทำทานแล้วก็อธิษฐานอย่างนี้ นี่กุศลอย่างนี้มันจะเป็นไปเพื่อโลกุตตระ แต่กุศลอย่างแรกมันจะเป็นไปเพื่อเวียนว่ายไปในวัฏฏะ แม้ว่าจะไปสวรรค์ก็ยังเรียกว่าวัฏฏะ ก็ยังเป็นเรื่องหลงอยู่ในวัฏฏะ ฉะนั้นกุศลที่ทายกทายิกากระทำกันอยู่เป็นประจำนี้ก็ยังต้องแบ่งแยกเป็น ๒ ฝ่ายอย่างนี้ แม้ที่สุดแต่การให้ทานต่ำๆ ง่ายๆ นี่
ทีนี้การรักษาศีลก็เหมือนกันอีกแหละ คนหนึ่งมันจะรักษาศีลไปสวรรค์ มันก็มีสิทธิที่จะทำได้ คนหนึ่งมันรักษาศีลเพื่อจะกำจัดความเห็นแก่ตัว ความสบายด้วยกามารมณ์นี้ มันถือศีลอุโบสถไม่ได้คิดว่าจะขจัดความเห็นแก่ตัว มันแสวงหาความสุขทางเนื้อหนัง ฉะนั้นศีลนั้นของคนบางคนมันก็เป็นไปเพื่อวัฏฏะ ของบางคนมันก็เป็นไปเพื่อโลกุตตระ ทีนี้พอมาถึงทำสมาธิ คนที่เขาอยากจะทำสมาธิเพื่อเป็นพรหมเป็นอะไรมันก็ทำได้ ใครจะไปห้ามเขาได้ มันก็เป็นไปเพื่อวัฏฏะ แต่ถ้าทำสมาธิเพื่อจะกำจัดนิวรณ์กำจัดกิเลส มันเป็นไปเพื่อปัญญาชำแรกกิเลส สมาธินั้นมันก็เป็นโลกุตตรกุศลไป คือเป็นกุศลเพื่อโลกุตตระไม่ใช่เป็นกุศลเพื่อวัฏฏะ ส่วนการเจริญปัญญานั้นเรามีความหมายจำกัดเพียงฝ่ายถูกต้องฝ่ายเดียว คือฝ่ายสัมมาทิฏฐิฝ่ายเดียว ไม่ต้องแยกเป็นว่าปัญญานี้จะพาไปในวัฏฏะ ถ้าปัญญาไหนพาไปในวัฏฏะนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิได้ จัดเป็นมิจฉาทิฏฐิได้ ปัญญาที่ถูกต้องมันจะต้องพาไปหาโลกุตตระคือเหนือโลก ฉะนั้นปัญญานี้ควรจะจัดเป็นโลกุตตรกุศลแต่ส่วนเดียว คือเป็นกุศลชนิดที่จะพาไปให้เหนือโลก
นี่คำว่าโลกุตตรกุศลมันจะต้องมีความหมายอย่างนี้ ถ้าไม่อย่างนั้นจะเกิดความเข้าใจผิด เพราะมันมีหลักอยู่ว่า โลกุตตระนั้นต้องเหนือกุศลเสมอ ถ้ายังเป็นกุศลยังเป็นอกุศลอยู่ ยังไม่เป็นโลกุตตระ แต่ว่ากุศลบางชนิดส่งเสริมหรือนำไปสู่โลกุตตระหรือถูกจัดไว้ในฝักฝ่ายของโลกุตตระ ทีนี้ก็มองดูว่าถ้าชาวบ้านหรือประชาชนเขามองเห็นความจริงส่วนนี้ เราก็จะพูดกับเขาได้ว่าการทำดีทำบุญทำอะไรนี้มันเพื่อวัฏฏะก็ได้ นั่นแหละคือเรื่องศีลธรรม ทำดีให้ได้ดี ใฝ่ดี เกิดดี สวย รวย ก็สุดแท้ นี้เป็นเรื่องศีลธรรม แต่ถ้าว่าเรื่องสัจจธรรมแล้ว เราก็ไม่มัวบ้าดีกันอยู่ที่นี่ มันต้องการจะพ้นไปจากดีอีกทีหนึ่ง มีภาพล้ออยู่ในตึกนั้นภาพหนึ่งเรื่องพ้นแล้วโว้ย นี่เขาเขียนล้อ เป็นภาพที่จะเขียนเพื่อให้แสดงว่ามันต้องขึ้นไปหมดจนเหนือโบสถ์เหนือวิหาร เหนือสวรรค์ เหนือวิมาน เหนืออะไร มันจึงจะเป็นพ้นแล้วโว้ย
นี้ตัวอย่างที่เอามาแสดงให้เห็นให้เข้าใจว่าคำพูดมีอยู่ ๒ ชนิด ชนิดหนึ่งเป็นศีลธรรม สอนพวกที่อยากจะมีตัวตน ยังมีตัวตน ยังต้องการจะมีตัวตนที่ดี นี่เราสอนศีลธรรมต้องพูดอย่างนี้ อีกพวกหนึ่งสอนสัจจธรรม สอนความจริงที่เด็ดขาด เป็นปรมัตถธรรม พวกฝรั่งก็ลำบากในเรื่องที่จะหาคำพูดมาใช้กับ ๒ คำนี้ เดี๋ยวนี้ก็ดูเหมือนจะพูดกันอยู่ว่า Realative truth นั่น จริง, จริงอย่างศีลธรรม จริงอย่างชาวบ้าน Absolute truth นั้นก็จะจริงอย่างเด็ดขาด แต่เรียกว่าจริงเหมือนกัน แต่พอจริงกันทั้ง ๒ อย่างมันก็เลยปนกันยุ่ง ไม่รู้จะเอาจริงไหน ผมอยากจะให้แบ่งเสียว่า ศีลธรรมไปเสียทางหนึ่ง สัจจธรรมไปเสียทางหนึ่ง จริงอย่างยืดหยุ่นได้นั้นมันก็ไม่จริงหรอก คือว่าจริงที่คล้อยตามจิตใจของบุคคลที่ยังมีตัวตนนั้นมันก็ไม่จริง มันจริงไปไม่ได้ แต่แล้วมันก็ยังต้องใช้คำพูดประเภทนั้น มันจึงใช้คำว่าจริงที่มันในโลก จริงในภาษาคน นี่จริงอย่างภาษาคนกับจริงอย่างภาษาธรรม จริงอย่างภาษาคนมันยืดหยุ่นได้ตามประสงค์ของคน จริงอย่างภาษาธรรมนี้ไม่มีการยืดหยุ่นคือว่าจริงอย่างเด็ดขาด ฉะนั้นเมื่อพูดว่ามีตน มีตัวมีตนเป็นที่พึ่งแก่ตน แสวงหาตน มีตนเป็นที่พึ่งเถิด อย่างนี้เรียกว่าพูดอย่างภาษาศีลธรรม เป็นความจริงที่ยืดหยุ่นได้ คือใช้ชั่วเวลาชั่วขณะชั่วระยะเท่านั้น และพูดว่าไม่มีตนเว้ย นี้ก็คือพูดกันเด็ดขาดแล้ว พูดความจริงอย่างเด็ดขาด
ในพระคัมภีร์มันมีอยู่ ๒ ชนิดอย่างนี้ พระพุทธภาษิตด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้นควรจะเข้าใจพระพุทธภาษิตประเภทที่ ๑ ให้ดี จนไม่ขัดขวางกันกับพระพุทธภาษิตประเภทที่ ๒ ที่ว่าไม่มีตัวตน ประเภทที่ ๑ เช่นยกตัวอย่างมาเมื่อตะกี้นี้ว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตน ใครอื่นที่ไหนจะมาเป็นที่พึ่งแก่ตนได้นี่ ประโยคหลังนั้นมันบอกชัดว่าภาษาคนชาวบ้าน จะมีใครอื่นที่ไหนมาเป็นที่พึ่งแก่ตนได้ คือยังมีตัวมีตน เป็นเขาเป็นเราอะไรอยู่ ฉะนั้นจึงถือว่าเป็นภาษาศีลธรรม ให้มีความหมายแต่พียงว่าการที่จะทำตนให้พ้นไปจากทุกข์นั้น อย่าไปหวังให้คนอื่นช่วย ต้องทำเอง ทำเองไปเรื่อยๆ จนหมดตน นี่การจะถอนตนก็ทำด้วยตนเองจนกว่าจะถอนตนได้คือหมดตน อันที่ว่ามีตนเป็นที่พึ่งมีตนเป็นสรณะก็มีความหมายอย่างเดียวกันนี้ ให้พยายามทำเอง ให้ถือหลักว่าต้องทำเอง ไม่ต้องนึกถึงสิ่งที่เป็นตัวตนอะไรเด็ดขาดด้วย เช่นพระเจ้าหรือเช่นอะไรทำนองนั้น ให้ถือหลักอย่างด้วยภาษาธรรมดาสามัญว่าเราจะต้องกินเองมันจึงจะรู้สึกอิ่มเอง เราจะต้องไปถ่ายอุจจาระเอง ไปวานคนอื่นถ่ายแทนมันไม่ได้ ฉะนั้นมันเป็นของเฉพาะตนในลักษณะอย่างนี้
ส่วนที่ตรัสกับพวกหนุ่มๆ เหล่านั้นว่า จะเที่ยวตามหาผู้หญิงดีหรือเที่ยวตามหาตนเองดี นี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสแก่คนที่ยังไม่รู้ เด็กหนุ่มที่กำลังเดือดด้วยกิเลสนั้น ท่านก็ต้องใช้สำนวนที่มันกระตุกความรู้สึกให้มากที่สุดที่จะมากได้ ฉะนั้นคำว่าแสวงหาตนดีหรือหาผู้หญิงดีนี้ มันเป็นสำนวนชาวบ้านธรรมดาที่จะทำให้เขาสะดุ้งขึ้นมาว่าเอ้า,ตนมันหายไปแล้ว,โว้ย เพราะว่าคนชาวบ้านธรรมดาสามัญต้องรักตนเสมอ พอใครพูดให้ฟังในทำนองที่ว่าตัวหายไปหมดแล้วก็จะสะดุ้งจะตกใจ ผู้หญิงหายกับตัวเราหายอันไหนจะน่ากลัวกว่า คิดดูสิ พระพุทธเจ้าท่านจึงใช้วิธีที่จะกระตุกทีเดียวให้มันหันกลับมาหาตนก่อน คือเลิกเอาใจใส่ผู้หญิง คนหนุ่มๆ เหล่านี้มีความตกใจในลักษณะว่าตัวเองกำลังหาย ตัวเองกำลังไม่มี สิ่งที่รักที่สุดนั้นกำลังหาย ฉะนั้นจึงทูลตอบว่า เอ้า,หาตนดีกว่า ก็เลยเลิกไปหาผู้หญิง ทีนี้ก็มาฟังพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าหาตนกันอย่างไร หาให้พบตนอย่างไร ก็ปรากฏว่าพวกนี้ได้บรรลุมรรคผล แต่จะขั้นไหนก็ไม่แน่ แต่แม้ว่าจะไม่ถึงขั้นเป็นพระอรหันต์ มันก็เริ่มเข้าใจสิ่งที่ว่าไม่มีอะไรที่จะยึดถือว่าตัวตนได้ เรื่องมันก็จะกลายเป็นว่าตัวของตนก็ไม่มีแล้วผู้หญิงของตนจะมีมาแต่ไหน ก็จึงเข้าทางเข้าร่องรอยของโลกุตตรธรรม แม้เป็นเพียงพระโสดาบันก็เริ่มลืมหูลืมตาเป็นครั้งแรก ตัวตนมันไม่มี แล้วของตนมันจะมีมาแต่ไหน มีแต่สิ่งที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งเหตุปัจจัยหรืออิทัปปัจจยตา แม้ว่าเขาจะไม่รู้จักคำว่าอิทัปปัจจยตา แต่เขาต้องรู้จักความหมายของมันว่ามันมีแต่สิ่งที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีตัวตน นี่มาหาเรื่องนี้มาเข้าใจเรื่องนี้แล้วก็จะไม่มีความทุกข์ จะได้ความสงบสุขยิ่งกว่าไปบ้าผู้หญิง นี่มาหาตนก็หมายความอย่างนี้ ให้พบ,ให้พบปัญหาที่แท้จริงของตน คือตนนี้จะต้องไปสู่ที่ที่มันไม่มีทุกข์เลยนั่นแหละ ไปหาผู้หญิงมันก็ยิ่งจมลงไปในกองทุกข์
ฉะนั้นคำพูดชนิดนี้ต้องศึกษาให้ดีๆ มันเพียง ๒-๓ คำเท่านั้นแหละ แต่ความหมายมันเหลือประมาณ มันมากเหลือประมาณ ทีนี้พระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลายก็เที่ยวเดินถ่อมๆ ถ่อมๆ ไปตามบ้านเมืองชนบท มันก็ต้องมีปัญหาอย่างนี้ เช่นอาจจะไปเจอบุคคลชนิดเดียวกับพวกภัททวัคคีย์หนุ่มๆ เหล่านั้นก็ได้ แล้วจะพูดอย่างไร หรือจะไปเจอคน คุณย่าคุณตาคุณยายที่กำลังต้องการจะไปสวรรค์อยู่อย่างยิ่งก็ได้ จะพูดอย่างไร
นี่ขอฝากไว้ให้เป็นความสามารถหรือว่าเรียกว่าดุลยพินิจของพระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลาย อ้อ,ตรงนี้ผมอยากจะชี้ให้เห็นอะไรสักอย่างว่า คำพูดที่รุนแรงนั่นแหละมันเป็นวิปัสสนาอย่างแท้จริงอยู่ในตัว นอกจากที่จะต้องไปนั่งหลับหูหลับตาที่โคนไม้อย่างเดียว คำพูดที่รุนแรงบาดใจบาดความรู้สึกอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสกับภัททวัคคีย์ว่า หาตนดีกว่าหาผู้หญิงกระมัง คำพูดนั้นเป็นวิปัสสนาอย่างรุนแรงที่มันชำแรกเข้าไปในจิตใจของคนหนุ่มเหล่านั้น วิธีการอย่างนี้มันคล้ายๆ กับที่พวกเซน(Zen)เขาชอบใช้กันอยู่ คือคำพูดที่กระตุกหันกลับไปเลย ก็เห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าท่านก็ใช้คำหรือวิธีการอย่างนี้ (ไฟล์เสียงกระตุกเป็นช่วงๆ นาทีที่ 40:43/เป็นวิปัสสนาแบบสายฟ้าแลบ...แผล็บเดียวมันก็เป็นวิปัสสนาและไม่เป็นวิปัสสนา ทำให้คนเหล่านั้นลืมหูลืมตาสว่างไสวเป็นวิปัสสนา)
เราจะสังเกตดูหลักพระธรรมเหล่านั้นมันเป็นคำพูดที่ใหญ่หลวงมากคือทำให้รู้สึกว่าตัวกูหายแล้ว,ตัวกูหายแล้ว นี่มันเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก จะต้องสนใจเรื่องตัวกูกันก่อน ฉะนั้นควรจะถือว่าวิปัสสนานั้นนั่งทำกันเป็นชั่วโมงๆ ก็ได้ หรือไม่กี่นาทีก็ได้หรือชั่วระยะเวลาเหมือนกับฟ้าแลบแป๊ปเดียวก็ได้ มันแล้วแต่เรื่องแล้วแต่เหตุการณ์แล้วแต่ผู้บันดาลให้เป็นไป อย่างพระพุทธเจ้านี้มีมากที่สุดที่พูดออกไปคำเดียวมันเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือในจิตใจของคนนั้น เราก็ควรจะนึกถึงลักษณะอย่างนี้บ้าง ควรจะเตรียมไว้ให้พร้อมเพื่อที่จะมีโอกาสใช้วิปัสสนาแบบสายฟ้าแลบบ้าง อย่าไปใช้วิธีวิปัสสนาที่จะต้องกินเวลามาก อืดอาดๆ อย่างเดียวในการเผยแผ่สั่งสอน วิปัสสนาที่จะต้องทำเป็นปีๆ นั้นมันก็เพื่อจะศึกษาอย่างหนึ่งให้พบ แล้วเอาสิ่งที่พบนั้นมาใช้อย่างแบบสายฟ้าแลบ ทีนี้ที่มันเกี่ยวกับตัวกูของกูมันก็อย่างนี้แหละ เพราะว่าคนเขาเต็มไปด้วยความคิดความรู้สึกอย่างตัวกูของกูเสมอ เราจะไปล้างเขาได้อย่างไรโดยวิธีไหน ถ้าต้องใช้เวลามากนัก เราก็ทนอยู่ที่นั่นไม่ได้ เราต้องเดินทางต่อไป มันก็ไม่ไหว มันก็ได้เค้าเงื่อนทิ้งไว้ให้ แต่ถ้าใช้วิธีที่แบบสายฟ้าแลบแล้วมันมีถูกฝาถูกตัว มันได้ผลมากที่นั่น
ทีนี้ข้อที่จะต้องพิจารณาให้ดีที่สุดอีกข้อหนึ่งก็คือว่าตัวตนของตนนั่นแหละ มันเป็นสิ่งที่จะเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดได้ในการละตน จะต้องใช้ความยึดถือตนของคนทั้งหลายนั้นมาเป็นเครื่องมือสำหรับประหารเสียซึ่งตัวตนนั้นในเมื่อมันทำถูกวิธี คนทั่วไปที่ยังเป็นปุถุชนแท้ๆ ก็ต้องมีตัวตนนี่ ไม่มีตัวตนเขาก็ไม่เป็นปุถุชนอย่างนั้นหรอก ฉะนั้นก็พูดได้เลยว่าปุถุชนนี้จะต้องมีตัวตนมีลักษณะแห่งสัสสตทิฏฐิปริยายใดปริยายหนึ่ง คือว่าฉันอยู่ที่นี่ตลอดเวลากว่าจะเข้าโลง แล้วฉันก็ไปอีก แล้วฉันค่อยรับผลที่ฉันได้ทำไว้ในชาตินี้ในชาติต่อๆ ไป อย่างนี้มันลักษณะของสัสสตทิฏฐิ ต้องยอมรับว่าบุคคลทั่วไปแม้เป็นชั้นดีนะ เพียงชั้นดีไม่ใช่อันธพาล ก็ยังเป็นสัสสตทิฏฐิ ทายกทายิกาทั้งหลายไม่เป็นอันธพาลเลย ทำบุญทำกศลอะไรต่างๆ เพื่อว่าฉันตายแล้วจะได้ไปรับกุศลอันนี้ข้างหน้าเรื่อยๆ ไป อย่างนี้ก็มันเป็นลักษณะของสัสสตทิฏฐิปริยายหนึ่ง ตายแล้วตัวฉันมีอีก
ทีนี้หลักพุทธศาสนาต้องการจะกำจัดสัสสตทิฏฐิ มันก็คล้ายๆ กับว่าไปฆ่าเขาเท่านั้น ให้มันหมดความรู้สึกว่าตัวตนด้วยอาศัยสัมมาทิฏฐิที่ว่าไม่มีตัวตน นี้เป็นปัญหายากที่ทำไม่สำเร็จอยู่ในปัจจุบันนี้ เพราะว่าคนเขาเป็นสัสสตทิฏฐิ ต้องการมีตัวตนมีของๆ ตน ทีนี้ถ้าไปพูดอย่างนี้มันขัดกันโดยสิ้นเชิง ถ้าการพูดนั้นไม่คมไม่เฉียบแหลมแบบสายฟ้าแลบมันก็ไม่สำเร็จประโยชน์ ผมก็ยอมสารภาพว่าทำไม่สำเร็จ สำเร็จเป็นส่วนน้อย พูดทิ้งๆ ไว้อย่างนั้น มันเป็นการกระทำที่ยาก เป็นการกระทำของบุคคลชั้นพระพุทธเจ้าหรือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างเราๆ นี้มันก็ทำตามที่ท่านแนะไว้เท่านั้น มันก็ไม่ค่อยมีอะไรที่เขาเรียกว่ากลเม็ดหรือเล่ห์เหลี่ยมหรืออะไรมากพอ ก็ทำไปซื่อๆ มันก็ไม่ค่อยจะได้ผล ถึงได้ผลมันก็เป็นไปอย่างเฉื่อยชาอย่างช้าๆ ฉะนั้นคนเขาจึงยิ่งมีอะไรๆ ที่จะเป็นสัสสตทิฏฐิมากขึ้นเดี๋ยวนี้ เพราะว่าความสะดวกสบายสนุกสนานเอร็ดอร่อยนี้มันมีมากขึ้น มันหล่อเลี้ยงสัสสตทิฏฐิ ไม่ใช่จะเหลืออยู่แต่คนที่เห็นโลกพอสมควรรู้จักสิ่งทั้งหลายดีว่ามันเป็นเรื่องหลอกๆ ทีนี้เราจะมาเร่งเขาให้เห็นเร็วๆ ด้วยสิ่งที่เรียกว่าวิปัสสนานี่ วิปัสสนานี้ทำหน้าที่หนักไม่ใช่เล่น คือเร่งคนให้เห็นความจริงก่อนเวลาที่เขาจะเห็น มันยาก ถ้าปล่อยไปตามเรื่องบางทีเขาก็ตายเปล่า ไม่ทันเห็น จึงจำเป็นที่จะต้องใช้สิ่งที่เรียกว่าวิปัสสนามาเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนเห็นความจริงเร็วกว่าที่เขาจะเห็นเองตามธรรมดา ก็เลยเกิดเทคนิคขึ้นหลายแง่หลายมุมคือเกี่ยวกับความจริงบ้าง เกี่ยวกับเวลาบ้าง เกี่ยวกับวิธีการบ้าง มันจึงยากอย่างนี้แหละ มันทำไปไม่ได้อย่างเครื่องจักรหรือว่าแบบฉบับที่ตายตัว เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าตัวตนตัวกูของกูนี้ มันเป็นของที่เหลวคว้างหรือเป็นมายาเป็นของหลอกลวง คือมันไม่มีตัวตน เราไปเข้าใจว่ามีตัวตน เพราะมันเคยชินแต่ที่จะมีตัวตน มันรักแต่ที่จะมีตัวตน มันเป็นความรู้สึกของจิตอย่างเดียว ไม่มีอะไร เป็นเพียงความรู้สึกของจิตที่ประกอบอยู่ด้วยอวิชชาอย่างเดียว
ฉะนั้นการที่จะรู้เรื่องจิตหรือว่าทรมานจิตหรือเปลี่ยนจิตให้มันไปในทางที่ถูกต้องนั้นมันยาก แต่มันก็เป็นหน้าที่ของวงการวิปัสสนา คือถ้าไม่อย่างนั้นก็ไม่ต้องมีพุทธศาสนาสิ มีพระพุทธศาสนามีวงการวิปัสสนาก็เพื่อที่จะช่วยแก้ไขปัญหาอันนี้ เพื่อให้มนุษย์มันเร็วเข้าในการที่จะเห็นความจริงของธรรมชาติจนไม่หลงอยู่อีกต่อไป ฉะนั้นก็จะถือว่าเป็นของที่ละเอียดสุขุมประณีตทำเล่นๆ ไม่ได้ วิธีการของวิปัสสนานี้ที่จะใช้ลงไปแก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงนี้มันแสนที่จะละเอียดประณีตสุขุมเร้นลับและเต็มไปด้วยเทคนิคที่มองไม่เห็น มันเป็นเรื่องจิตเรื่องวิญญาณ มันก็จะได้อุทิศชีวิตเพื่อจะทำหน้าที่อันนี้อย่างที่พูดกันวันแรกที่สุดนั้น ก็ให้ถือว่ามันเป็นโอกาสที่ดีหรือมันเป็นงานอันสูงสุด ประเสริฐที่สุด จึงไม่ท้อใจ ท้อใจว่ามันเป็นงานที่ยาก ก็ไม่ทิ้ง แม้ว่าเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นเราคงทำไม่สำเร็จแต่เราก็ยังไม่ทิ้ง ได้เท่าไหร่ก็เอาเท่านั้น เพราะทิ้งก็ทิ้งไปหาที่มันเลวกว่า ฉะนั้นเราจึงไม่ทิ้ง ไม่มีความคิดที่ว่าจะเลิกละความตั้งใจอันนี้แม้เราทำไม่สำเร็จ ถ้าทิ้งความคิดอันนี้มันก็เป็นเรื่องเด็กๆ เป็นเรื่องเด็กอมมือ เป็นเรื่องผลประโยชน์ทางโลก ค้าขายอย่างนี้ไม่พอกินก็ไปค้าขายอย่างอื่น นี้เป็นปุถุชนกันไป มันเป็นของดับทุกข์ของตัวเองหรือช่วยผู้อื่นดับทุกข์ที่เราเรียกกันว่าวิปัสสนากันนี้ มันถือหลักอย่างนั้นได้ ฉะนั้นก็ทำไปจนสิ้นชีวิต มันก็ผลบ้าง ไม่ใช่ว่าจะไม่มีผลเสียเลย ความพยามนั้นมันก็มีผลอย่างน้อยก็ครึ่งๆ กลางๆ ไปเท่าไหร่โน่นนะ(นาทีที่51.58) ไม่ใช่ไม่มีผลเลย แต่ถ้าไม่ประมาทใช้ความสามารถใช้ความพยายามให้ดี มันก็มีผลได้อย่างเป็นที่น่าพอใจเหมือนกันแหละ
ฉะนั้นอย่าทำแบบอย่างเครื่องจักร ต้องทำแบบอย่างที่ว่ามนุษย์ที่มีสติปัญญา จะต้องรู้จักปรับปรุงแก้ไขให้มันเหมาะหรือโดยหลักที่ว่ารอบรู้ในสิ่งที่สัตบุรุบควรรู้ ๗ ประการนั่นแหละ เขียนไว้บนนั้นก็มี รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้เวลา รู้บริษัท รู้บุคคล เรียกว่าสัปปุริสธรรม เป็นเครื่องมือทำให้สำเร็จ ซึ่งผู้ที่ได้อุทิศชีวิตตลอดชีวิตเพื่อกิจการของพระพุทธเจ้านั้นจะได้ใช้ จนเกิดความสำเร็จขึ้นในชีวิตอย่างเกินค่า ไม่อย่างนั้นไม่เท่าไหร่ต้องกลายเป็นคนโกหก ทิ้งงานหน้าที่อันนี้คือสึกเท่านั้นแหละ พูดตรงๆ ก็ไปหาความเอร็ดอร่อยทางอายตนะต่อไป มันก็หาข้อแก้ตัวอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็ไม่ต้องไปเสียเวลาพูดกับคนที่มันไม่จริง ถ้าคนที่มันจริงมันก็ต้องใช้ธรรมะนี้เป็นเครื่องต่อสู้ให้หน้าที่นี้มันสำเร็จไปได้ หน้าที่ของผู้ที่จะทำแสงสว่างขึ้นในจิตใจตนและผู้อื่นนี้ ที่เรียกสั้นๆ ว่าพระวิปัสสนาจารย์ หรือนักวิปัสสนา หรือว่าวิปัสสกบุคคล คือบุคคลที่ทำความแจ่มแจ้งให้เกิดขึ้นทั้งเพื่อตนและเพื่อผู้อื่น อย่างนี้มันเป็นเจตนาที่เป็นไปทางในโลกุตตระล้วน ไม่มีโลกิยะ ไม่มีวัฏฏคามินีปฏิปทาแทรกอยู่ที่ไหนได้ ฉะนั้นเราไม่ไปนึกถึงเรื่องสวรรค์วิมานหรือว่าอะไรทำนองนั้น นึกให้เหนือโลกเรื่อยไป ส่วนเรื่องอบาย นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกายนั้นไม่ต้องนึกถึง เพราะมันไม่เกี่ยวกันสำหรับผู้ที่จะไปเหนือโลก มันกลัวแต่ว่าจะติดที่โลกที่สวยงามเอร็ดอร่อยที่ยั่วตายั่วใจ สิ่งเหล่านี้มีความหมายอยู่ที่คนที่มีชีวิตเป็นๆ ยังมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจที่บุคคลผู้นั้นยังไม่รู้จักและก็ปล่อยให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเกิดอะไรขึ้นมา เกิดกิเลสขึ้นมา เกิดนรกสวรรค์อะไรก็ที่ตรงนั้นแหละ ถ้าไม่เห็นก็เป็นคนหลับตา ถ้าหลับตาก็ไม่ใช่นักวิปัสสนา นักวิปัสสนาเห็นจริงๆ ว่านรกสวรรค์เกิดที่ตรงไหนเมื่อไหร่อย่างไรนี่ ถ้าทำแบบพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่ามันเกิดที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ ในขณะที่มันได้รับอารมณ์ แต่เป็นอวิชชาสัมผัสคือรับอารมณ์ด้วยอวิชชา นี่หลับตาเห็นข้อนี้ก็เป็นนักวิปัสสนาที่ผุดผ่องถูกต้องตามแบบของพระพุทธเจ้า
มีนรกชื่อผัสสายติกนรก มีสวรรค์ชื่อผัสสายติกสวรรค์ เป็นพระพุทธภาษิตตรัสไว้ชัดๆ พวกอรรถกถาจารย์อธิบายเป็นนรกใต้ดินเสียอีกแหละนี่ คัมภีร์วิสุทธิมรรคหรืออรรถกถาของพระบาลีนั้นโดยตรงก็เอาไปไว้ใต้ดินเสียอีก ในเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสว่านรกอยู่ที่การสัมผัส หรือสวรรค์อยู่ที่การสัมผัส นี้น่ากลัวกว่าหรือรุนแรงกว่า นรกสวรรค์ชนิดนี้ต้องเห็นด้วยวิปัสสนาเห็นด้วยตาที่เป็นวิปัสสนา นรกใต้ดินสวรรค์บนฟ้านั้นมันก็เชื่อไปตามที่เขาพูด ไม่ต้องเห็น ไม่ต้องเกี่ยวกับการเห็น มันเชื่องมงายไปตามที่เขาพูด แต่ถ้านรกและสวรรค์ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสแล้วต้องเห็นด้วยตาของวิปัสสนา จึงเห็นอะไรๆ รวมอยู่ที่นั่น ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นรกก็อยู่ที่นั่น สวรรค์ก็อยู่ที่นั่น
ที่ชาวบ้านพูดว่า สวรรค์ในอก,นรกในใจนั้น ยังถูกน้อยไปเสียอีก ยังไกลเกินไปเสียอีก พระพุทธเจ้าท่านว่าอยู่ที่ผัสสะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในขณะนั้นเวลานั้น จะเป็นนรกก็เรียกผัสสายติกนรก เป็นสวรรค์ก็เรียกผัสสายติกสวรรค์ ถ้าไม่มีตานักวิปัสสนาย่อมมองเห็น ถ้าไม่เห็นมันก็เลยหมดปัญหาแหละ ที่ว่าอยากจะไปสวรรค์หรืออะไรมันคงหมดอยากไปเอง ก็มองเลยต่อไปว่าแม้สอนชาวบ้านเรื่องนี้กันเสียบ้างก็น่าจะดี ให้ชาวบ้านมองเห็นนรกที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เห็นสวรรค์ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้เสียบ้างก็จะดี เผื่อโอกาสเหมาะมันก็สำเร็จผลพรวดพราดก็ได้ และก็เป็นวิปัสสนาแท้ ไม่มีวิปัสสนาไหนจะยิ่งไปกว่านี้ วิ แปลว่าแจ้ง,วิเศษ ปัสสนา แปลว่าเห็น วิปัสสนา เห็นอย่างแจ้งวิเศษชัดเจน เป็นเกี่ยวกับสัจจธรรมล้วนๆ ผู้ที่ข้องอยู่ในศีลธรรมหรือสัสสตทิฏฐิไม่มีทางจะเห็นสิ่งชนิดนี้ ก็ต้องปล่อยไปก่อน สวรรค์ต่อตายแล้ว นรกต่อตายแล้ว อะไรต่อตายแล้วมันก็เป็นเรื่องจูงใจเขาให้เว้นชั่วให้ทำดีได้ ก็เป็นขั้นที่เรียกว่าชั้นอนุบาล เป็นเด็กชั้นอนุบาล หรือชั้นเตรียมประถมเตรียมอะไรขึ้นมาตามลำดับ บางคนขึ้นมาถึงขั้น(เสียงขาดๆ หายๆ นาทีที่ 59:13) แล้วมันต้องเห็นสัจจธรรม จะเห็นแต่เพียงศีลธรรมอยู่ไม่ได้ เดี๋ยวนี้ศีลธรรมเขาก็ไม่ค่อยจะเห็น เขาเหยียบย่ำศีลธรรมกันลงไปเลยเพราะไม่เห็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับศีลธรรม ปัญหามันก็ยิ่งมาก จะไปสอนสัจจธรรมแก่บุคคลที่กำลังเหยียบย่ำศีลธรรมนี้มันยิ่งเป็นปัญหาใหญ่ มันต้องฉลาดที่สุด มันต้องเก่งที่สุดเหมือนพระพุทธเจ้าจึงจะได้
เอาล่ะ,เป็นอันว่าเราจะต้องใช้หลักการของพระพุทธเจ้า ที่ว่าภาษาพูดต้องมี ๒ ภาษา พระศาสดาได้ใช้ภาษา ๒ ภาษาในการสอนพุทธศาสนา คือภาษาศีลธรรม สอนเรื่องศีลธรรมแก่คนธรรมดาสามัญที่ยังมีสัสสตทิฏฐิอยู่โดยปริยายใดปริยายหนึ่ง ให้เขากลัวความชั่วให้ชอบความดีคือให้สร้างกุศล พอมาถึงขั้นนี้ก็เรียกว่าขั้นหัวเลี้ยวหัวต่อ จบขั้นประถมแล้วก็จะขึ้นขั้นมัธยม จึงพูดกันด้วยภาษาสัจจธรรม ว่ากุศลนั้นจะต้องให้เป็นไปในทางที่เหนือโลก อย่าให้เป็นไปในทางที่จะจมในโลก คือเวียนว่ายไปแต่ในรื่องที่หลงใหล แยกกุศลออกมาให้เป็นฝ่ายโลกุตตรกุศล มันก็จะเป็นไปในทางของโลกุตตระ คือเหนือโลก เหนือดี เหนือชั่ว เหนือบุญ เหนือบาป เหนือสุข เหนือทุกข์ เป็นผู้ที่ไม่มีความรบกวนในจิตใจ ก็เรียกว่าเป็นสมณะคือผู้มีความสงบ ความดีก็ไม่รบกวนจิตใจ ความชั่วก็ไม่รบกวนจิตใจ ความไม่ดีไม่ชั่วก็ไม่รบกวนจิตใจ อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นผู้สงบแท้จริง นั่นแหละโลกุตตระมันอยู่ที่นั่น คืออยู่เหนือโลก เหนือความรบกวนของโลกโดยแท้จริง เขาเรียกว่าโลกุตตระ เริ่มแต่พระโสดาบันขึ้นไปถึงพระอรหันต์ นี้ก็ต้องอาศัยกุศลประเภทนี้ประเภทโลกุตตรกุศล เหมือนกับว่าเราต่อเรือ ซึ่งช้าอย่างนี้ เราจะต่อเรือเพื่อข้ามฟากไปเร็วๆ ก็ได้ หรือเราจะต่อเรือเพื่อไปเที่ยวบ้าเล่นในทะเลไม่รู้จักสิ้นจักสุดที่นั่นที่นี่ที่โน่น ไม่มีสิ้นสุดก็ได้ มันก็เรือเหมือนกันแหละ แต่เรือลำหนึ่งมันมีไว้สำหรับบ้าไปในวัฏฏสงสารไม่มีที่สิ้นสุด คือบุญกุศลประเภทที่เป็นโลกิยะหรือว่าเป็นวัฏฏคามินี นี่เรือลำหนึ่งไม่ใช้อะไร ใช้ที่จะข้ามฟากข้ามทะเลข้ามมหาสมุทรท่าเดียว มันก็เป็นเรือเหมือนกันแหละ บางทีรูปร่างก็เหมือนกันเสียด้วย แต่นี่มันเป็นไปเพื่อโลกุตตระ เป็นเรือเพื่อโลกุตตระ นี่โลกุตตรกุศล
คำว่าโลกิยกุศล,โลกุตตรกุศล เป็นคำบัญญัติซึ่งใช้ในสมัยที่ร้อยกรองคัมภีร์อภิธรรม แต่ก็เป็นคำที่เหมาะสมที่ถูกต้อง ถ้าเราเข้าใจความหมายถูกต้อง เดี๋ยวนี้มาสับสนกันหมด เอาโลกิยะเป็นโลกุตตระ ไม่รู้จักโลกุตตระ คนก็ฟังไม่รู้เรื่อง ว่าทำวิปัสสนาไปหาสวรรค์วิมาน ทำวิปัสสนาเพื่อเวียนว่ายไปในวัฏฏะตามที่ตนชอบ กำลังเป็นปัญหาในวงการวิปัสสนา ฉะนั้นจึงหวังว่าจะได้ช่วยกันพิจารณาดูให้ดีๆ ให้ทุกข้อที่ว่ามันมีความกำกวมซับซ้อนสับสนกันอยู่ในคำที่ใช้พูด หรือภาษา ๒ ภาษา ภาษาคนกับภาษาธรรม พอปนกันแล้วเป็นยุ่ง ถ้าแยกกันเป็นภาษาๆ ไปก็ไม่ยุ่ง ภาษาสัจจธรรมกับภาษาศีลธรรมก็เหมือนกันแหละ ถ้ามันไม่ปนกันก็ไม่ยุ่ง ปนกันแล้วยุ่ง ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เดี๋ยวมีตน เดี๋ยวไม่มีตน เดี๋ยวว่าให้พึ่งตน เดี๋ยวว่าไม่ต้องเอาอะไร นี่มันยุ่งอย่างนี้ ทีนี้ตนมันก็ได้เปรียบสิ ตนมันก็ลุกลาม โลกิยะก็เป็นฝ่ายได้เปรียบ โลกุตตระก็เป็นฝ่ายที่ลับหายไปไม่ปรากฏ
นี่ผมเห็นว่าโอกาสอย่างนี้เวลาอย่างนี้ เราควรจะพูดกันด้วยเรื่องอย่างนี้ จึงได้พูดอย่างนี้ ในฐานะที่เป็นทั้งธรรมปาฏิโมกข์และเป็นทั้งการถวายความรู้รอบตัวแก่ท่านวิปัสสนาจารย์ทั้งหลายที่มีความเสียสละมีความอุทิศที่จะดำเนินงานนี้ไปจนตลอดชีวิตด้วยการถือว่าได้เป็นอย่างนี้คือเป็นผู้ที่มีโชคดีได้บวชเข้ามา นี้เป็นโชคดีที่ได้พบกิจการงานอันนี้ในพระพุทธศาสนา แล้วก็สมัครที่จะดำเนินชีวิตด้วยกิจการอันนี้ไปจนสุดความสามารถ ไม่มีความเปลี่ยนแปลงว่าเห็นท่าไม่ดีแล้วกลับไปหาอะไรสวยๆ งามๆ ดีกว่า เรื่องอย่างนั้นไม่ต้องพูดกัน ขอยังคงถือหรือมองเห็นว่านี้มันเป็นโชคดีที่สุดแล้วที่ได้มามีหน้าที่การงานอย่างนี้นะ บวชเข้ามาในพุทธศาสนาและก็เพื่อทำพุทธศาสนาให้เป็นที่แจ่มแจ้งแก่ผู้อื่นพร้อมทั้งตนเองรวมๆ กันไป ดูจะไม่มีอะไรที่เป็นโชคดีกว่านี้ นอกนั้นเป็นเรื่องของเด็กอมมือเท่านั้น เอาล่ะ,ผมขอถวายความรู้รอบตัวในวันนี้อย่างนี้ แต่เพียงเท่านี้ ขอยุติเวลา/