แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
(เริ่มที่นาทีที่ 11:05) ณ บัดนี้จะได้วิสัชชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้ เป็นธรรมเทศนาพิเศษในอภิลักขิตสมัยแห่งมาฆบูชาเป็นวันที่ระลึกถึงพระอรหันต์ทั้งหลาย เกี่ยวกับวันเป็นที่ระลึกเช่นนี้ หมายความว่าเป็นวันที่เราตั้งใจจะทำอะไรให้ดีเป็นพิเศษ สมควรแก่เหตุการณ์นั้นๆ ตามชื่อแห่งวันนั้นๆ ในวันเพ็ญวิสาขะ เรากระทำวิสาขบูชาในฐานะเป็นที่ระลึกแก่วันพระพุทธเจ้า เพราะว่าพระพุทธเจ้าได้ประสูติ ตรัสรู้และนิพพานในวันเช่นวันนั้น ต่อมาอีก ๒ เดือนถึงวันเพ็ญอาสาฬหบูชา เรากระทำการบูชาเป็นที่ระลึกแก่พระธรรม เพราะว่าในวันเพ็ญนั้น พระพุทธองค์ได้ประกาศ ได้ทรงประกาศพระธรรมซึ่งเป็นตัวพระพุทธศาสนามีธรรมจักรกัปปวัตนสูตร และต่อมามีอนัตตลักขณสูตรติดเนื่องกันไป เป็นการประกาศพระธรรมในพระพุทธศาสนานี้ที่สมบูรณ์ แต่พระสงฆ์ยังมีกระพร่องกระแพร่งเต็มที คือสี่ห้ารูปเท่านั้น เราจึงเรียกวันนี้ว่าเป็นวันที่ระลึกแก่พระธรรมเจ้า ต่อมาอีก ๗ เดือน ถึงวันเพ็ญเดือน ๓ คือเป็นวันคล้ายกับวันนี้ ซึ่งบางปีก็ตกไปเดือน ๔ แล้วแต่ว่ามาฆะฤกษ์นั้นจะตกอยู่ในเดือนจันทรคติเดือนไหน วันนี้เป็นที่ระลึกแก่การที่คณะสงฆ์มั่นคงเป็นปึกแผ่น มีพระอรหันต์ตั้ง ๑,๒๕๐ รูปประชุมกัน มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นประมุข ประกาศความที่พระศาสนานี้มั่นคง เพราะมีพระอริยสงฆ์เป็นปึกแผ่น แล้วก็ทำการบูชาในวันเช่นวันนี้เป็นที่ระลึกแก่วันพระสงฆเจ้าเป็นอันดับสุดท้ายของพระรัตนตรัย ดังนั้นวันนี้จึงถือว่าเป็นวันของพระสงฆ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระสงฆ์ที่เป็นพระอรหันต์ ถ้าจะไม่เรียกว่าวันพระสงฆ์เฉยๆ ก็เรียกว่าวันพระอรหันต์ แต่พระอรหันต์ก็เป็นพระสงฆ์ ดังนั้นเรียกว่าวันพระสงฆ์รวมๆ กันไปก็ได้
วันนี้เป็นวันที่ระลึกแก่พระอรหันต์โดยเฉพาะ ในวันเช่นวันนี้ ในประเทศอินเดีย เมื่อ ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว พระอรหันต์ได้ประชุมกันที่เวฬุวันอาราม ใกล้ๆ กันกับเมืองราชคฤห์เป็นเหตุการณ์สำคัญในวันนั้น ตั้งแต่ครั้งนั้นมา ถือเอาเหตุการณ์อันนี้เป็นที่ระลึก เราจึงทำมาฆบูชาดังที่จะกระทำในวันนี้ การกระทำมาฆบูชานี้ก็เป็นพิธีที่เพิ่งจะตั้งขึ้น เพราะถ้าเป็นในสมัยครั้งพุทธกาล ก็ไม่ต้องทำพิธีบูชาอะไรกัน มันก็มีพระอรหันต์ประชุมกันอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว แต่ครั้นตกมาถึงบัดนี้ จัดเป็นพิธีขึ้น เพื่อเป็นที่ระลึกแก่เหตุการณ์นั้น พิธีนี้จะทำอย่างไร สิ่งที่เรียกว่าพิธีนี้มีทั้งเปลือกและทั้งเนื้อใน เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้ครบถ้วนให้ถูกต้องทั้งเปลือกและทั้งเนื้อใน ถ้าพิธีบูชาก็ต้องมีการบูชาให้ถูกต้องทั้งทางกาย ทั้งทางวาจาและทั้งทางใจ พอพูดขึ้นอย่างนี้ ท่านทั้งหลายก็คงจะทายได้เองว่าบูชาชนิดไหนเป็นเปลือก บูชาชนิดไหนเป็นเนื้อใน เราจะต้องบูชาทั้งทางกาย บูชาทั้งทางวาจาและบูชาทั้งทางใจ บูชาทางกายนั้น คือทำด้วยกาย นับตั้งแต่ได้อุตส่าห์ทนลำบากมาจากเมืองไกล แล้วก็มาประชุมกันที่นี่ แล้วก็ดอกไม้ธูปเทียน เครื่องสักการะมาทำการบูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการเวียนประทักษิณ เดินเวียนข้างขวา ๓ รอบของสิ่งซึ่งเป็นวัตถุแทนพระรัตนตรัยอย่างใดอย่างหนึ่ง นี้เรียกว่าบูชาทางกาย อุทิศร่างกาย เหน็ดเหนื่อยลำบากเท่าไรก็ไม่ว่า เพื่อจะทำการบูชา จะเสียเวลา จะเสียอะไรไป ก็ไม่ว่า นี้สำหรับการบูชาทางวาจานั้น เราก็เปล่งออกมาทางวาจา สรรเสริญคุณของพระอรหันต์โดยเฉพาะในวันนี้ โดยที่เป็นวันสำหรับเป็นที่ระลึกแก่พระอรหันต์ แต่แล้วก็เนื่องถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ทั้ง ๓ อย่างตามเคย อีกสักครู่เราก็จะได้กระทำการบูชาด้วยวาจา แล้วก็จะทำประทักษิณ ส่วนการบูชาทางใจนั้นจะทำอย่างไร โดยใจความแล้ว ก็ว่าเราจะต้องทำใจให้เหมาะแก่การที่จะเป็นเครื่องบูชาแก่พระอรหันต์ จิตใจที่สกปรก มืดมัว เร่าร้อนนี้จะต้องสละ จะต้องสลัดทิ้งไปเสียชั่วคราวก่อน ใครเร่าร้อนด้วยอะไรมา ด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือแม้แต่สุดแต่ว่าจะอึดอัดขัดใจ เกลียดชังผู้ใดอยู่สักคนหนึ่ง หรือว่าจะมีจิตใจที่ขี้ขลาด หวาดกลัวอะไรอยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น ก็ควรจะสลัดออกไปเสียจากจิตใจในเวลานี้ ให้มีจิตใจว่างจากสิ่งเหล่านั้นเหมือนกับจิตใจของพระอรหันต์ชั่วขณะ นั้นจะเป็นการบูชาด้วยจิตใจหรือทางจิตใจ อุตส่าห์พยายามทำจิตใจให้เป็นเครื่องบูชาโดยการทำให้จิตใจนั้นคล้ายกับจิตใจของพระอรหันต์ให้มากที่สุด จะต้องตั้งใจทำด้วยการเสียสละ ด้วยการอุทิศ ลืมสิ่งต่างๆ แม้แต่ชีวิตนี้เสีย ให้มันเป็นจิตใจที่ว่างจากความยึดมั่นถือมั่นโดยประการทั้งปวง มันก็เป็นเครื่องบูชาพระอรหันต์ขึ้นมาทันที เราจะต้องบูชาให้ครบทั้ง ๓ อย่างดังที่กล่าวมานี้ จึงจะเหมาะสมกันกับความประเสริฐของพระอรหันต์ หวังว่าท่านทั้งหลาย จะได้พยายามกระทำให้สุดความสามารถแห่งตน แห่งตน เพื่อเป็นการบูชาในวันนี้ นี้เป็นการกล่าวตักเตือนล่วงหน้า เพื่อให้เกิดการตระเตรียมจิตใจโดยเฉพาะ ให้เหมาะสมจะใช้เป็นเครื่องบูชาพระ พระอรหันต์
ทีนี้เราก็มีการฟังคำอธิบาย เพื่อให้เป็นอย่างนั้นได้โดยง่ายยิ่งๆ ขึ้นไปอีก นี่คือการแสดงธรรมเทศนา พร้อมหน้าแต่การที่จะกระทำการเวียนประทักษิณ เป็นการชี้ให้ช่วยกันทำกาย วาจาและใจให้เหมาะสมที่สุดที่จะใช้เป็นเครื่องบูชาในวันนี้ ธรรมเทศนาในวันนี้ก็จะได้กล่าวตามหัวข้อของโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นข้อความที่พระบรมศาสดาได้กล่าวขึ้นในที่ชุมนุมของพระอรหันต์เหล่านั้นในฐานะเป็นตัวบท ซึ่งเป็นหลักเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา มีข้อความแสดงหลักธรรมะอยู่ ๑๐ ประการ ดังที่ได้ยกขึ้นไว้เป็น นิกเขปบท ข้างต้นนั้น ข้อ สพฺพปา ปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง กุสลสฺสูปสมฺปทา การทำกุศลให้ถึงพร้อม สจิตตปริโยทปนํ ทำจิตของตนให้ขาวรอบ ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ความอด คือความกลั้นเป็นตบะเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา นิพพานนั้น พวกผู้รู้กล่าวว่าเป็นบรมทาน น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตีสมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ อนูปวาโท อนูปฆาโต ผู้กำจัดสัตว์อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้เบียดเบียนสัตว์อื่นอยู่ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย นี่ข้อหนึ่ง ปาติโมกฺเข จ สํวโร ความสำรวมในปาฏิโมกข์ มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ความรู้ประมาณในการบริโภค ปนฺตญฺจ สยนาสนํ เสพที่นั่งนอนอันสงัด อธิจิตฺเต จ อาโยโค การประกอบความเพียรในการทำจิตให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ ทั้ง ๑๐ ประการนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธะทั้งหลาย นี่คือหัวข้อโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งถือว่าเป็นหลักสรุปรวมใจความของพุทธศาสนาทั้งในส่วนวิชชา และในส่วนจรณะ คือการปฏิบัติ เราจะต้องรู้ความหมายแห่งพระโอวาทปาฏิโมกข์นี้ จึงจะรู้ความหมายอันแท้จริงของการทำมาฆบูชา ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งใจฟัง
ข้อหนึ่ง สพฺพปา ปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง สิ่งที่เรียกว่าบาปก็รู้กันอยู่แล้ว เคยได้ยินได้ฟังมามากแล้ว ตั้งเจตนาที่จะเว้นเสียซึ่งบาปทั้งหลายทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันนี้ในเวลานี้ ที่จะทำมาฆบูชานี้ จะต้องมีจิตใจที่แน่วแน่เป็นการอธิษฐานจิต เว้นจากการทำบาปทั้งปวง โดยเห็นว่าการเว้นจากการทำบาปทั้งปวงเป็นของถูกต้องที่สุด เป็นสิ่งแน่นอนที่เราจะต้องกระทำ อย่าได้มีความลังเลในเรื่องนี้ และให้รู้ว่าพระอรหันต์ทั้งหลายเป็นผู้ว่างจากบาปทั้งปวง ไม่มีกิเลสเจตนาจะทำบาปอีกต่อไป นั่นแหละคือบุคคลพวกที่ไม่ทำบาปทั้งปวง ถ้าจะกล่าวให้ถูกยิ่งไปกว่านี้ก็คือว่า เป็นผู้อยู่เหนือการทำบาปโดยประการทั้งปวง ผู้ที่ยังมีกิเลส กิเลสครอบงำ ให้ทำไปตามอำนาจของกิเลส เมื่อทำไปอย่างนั้น มันก็เป็นบาป ผู้ที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ยังจะต้องทำบาป มากหรือน้อย หรือน้อยที่สุด ไปตามอำนาจของกิเลส แต่เราก็ตั้งเจตนาที่จะไม่ทำ แม้ว่ายังมีกิเลส นี่ก็มันมีหลักว่าแม้จะมีกิเลสหรืออาจจะมีกิเลส เราก็ไม่ยอมมีกิเลส ไม่ยอมใช้กิเลสที่เป็นเหตุให้ทำบาป เราจะต้องตั้งใจสำรวมจิตใจที่จะไม่ทำบาปให้แน่นแฟ้นในเวลานี้ แล้วก็ใช้จิตใจชนิดนี้ ดวงนี้ที่กำลังสะอาดบริสุทธิ์ว่าจะเกลียดบาป ว่าจะไม่ทำบาปนี้ นี่แหละเป็นเครื่องบูชาพระอรหันต์ เอาจิตใจที่แน่วแน่ในการที่จะเดินตามรอยของพระอรหันต์นี้ เป็นเครื่องบูชาพระอรหันต์ ผู้อยู่เหนือบาป ผู้ว่างจากบาปโดยประการทั้งปวง เราต้องสำรวมในการที่จะไม่ทำบาปทั้งปวง พระอรหันต์ท่านไม่ต้องสำรวม ท่านก็ไม่ทำบาปทั้งปวง เพราะว่าอยู่เหนือจากกิเลส ไม่มีกิเลสที่เป็นเหตุให้ทำบาป การไม่ทำบาปทั้งปวงจึงเกิดมีเป็น ๒ ความหมาย ไม่ทำโดยอัตโนมัติ ไม่ทำตลอดกาลนั้นเป็นเรื่องของพระอรหันต์ แต่เรื่องของพวกเรานั้นอยู่ที่ความสำรวมระวัง เพราะฉะนั้นความสำรวมระวังนั่นแหละ จะพอที่จะใช้เป็นเครื่องสักการะบูชา แด่พระอรหันต์ทั้งหลายในวันนี้ได้ ขอให้ท่านทั้งหลายจงตั้งอกตั้งใจบูชาพระอรหันต์ในฐานะที่เป็นบุคคลผู้ควรแก่การบูชาอย่างยิ่ง คือว่างจากบาป อยู่เหนือบาป โดยประการทั้งปวงและตลอดเวลาอย่างที่ว่ามาแล้ว
ข้อที่สอง กุสลสฺสูปสมฺปทา การทำกุศลให้ถึงพร้อม นี่ก็เหมือนกันอีก พระอรหันต์ท่านอยู่เหนือกุศล มีอำนาจเหนือกุศล สิ่งที่เรียกว่ากุศลอยู่ในอำนาจของท่าน หรือพูดให้ชัดยิ่งไปกว่านั้นก็คืออยู่ใต้อำนาจ อยู่ใต้ฝ่าเท้าของท่าน พระอรหันต์มีจิตใจที่ว่างจากกิเลส ไม่มีบาป ไม่มีอกุศล หรือไม่มีกุศล ไม่มีอกุศลอันใด ที่จะมีความหมายแก่จิตใจชนิดนี้ คือมันกลายเป็นขี้ฝุ่นไป เรียกว่าท่านอยู่เหนือกุศล เหนืออกุศล นี่คือเรียกว่าความถึงพร้อมแห่งกุศลโดยอัตโนมัติและตลอดเวลา ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าความสมบูรณ์ด้วยกุศลจนอยู่เหนือกุศลมีเป็นธรรมดาแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย สำหรับเรายังมีกิเลส ยังต้องการกุศลมาเป็นเครื่องชำระอกุศล ยังต้องการบุญมาเป็นเครื่องล้างบาป ปัญหามันมากมาย เมื่อพระ พระอรหันต์ไม่มีบาป ไม่มีอกุศล ไม่มีกิเลสที่เป็นเหตุให้ทำบาป ทำอกุศล ท่านก็ไม่มีปัญหา เพราะฉะนั้นท่านจึงตั้งอยู่ในฐานะที่ควรบูชา เราทั้งหลายจงทำการบูชาท่านด้วยกุศลภาวนา ซึ่งเป็นหน้าที่หรือเป็นปัญหาเฉพาะหน้าของเรา กุศลภาวนาแปลว่าการเจริญกุศล คือการทำกุศลให้เจริญ ให้เกิด ให้มี ให้สมบูรณ์ ดังนั้นในเวลานี้ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ จงมีจิตใจตั้งปณิธานสัจจาธิษฐานอย่างแน่วแน่ลงไปว่า จักเจริญกุศลจนวาระสุดท้าย จะทำกุศลให้ถึงพร้อมให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไปจนวาระสุดท้าย ก็หมายความว่า จนกว่าจะเป็นพระอรหันต์ซึ่งไม่ต้องการกุศลอีกต่อไป เพราะไม่มีบาป ไม่มีอกุศลที่จะต้องชำระชะล้าง ตลอดเวลาที่เรายังมีบาปจะต้องล้าง มีอกุศลที่จะต้องตัดอยู่ดังนี้แล้ว ก็จงมีปณิธานตั้งใจที่จะเจริญกุศล แล้วก็ใช้จิตใจชนิดนี้แหละเป็นเครื่องบูชาพระอรหันต์ในวันนี้ ซึ่งเราประกอบพิธีเพื่อเป็นที่ระลึกแก่พระอรหันต์
ที่นี้ก็มาถึงข้อที่สาม สจิตตปริโยทปนํ (นาทีที่ 33:29) การทำจิตใจให้ขาวรอบ นี่แปลตามตัวหนังสือ ปริโยทปนะ (นาทีที่ 33:42) แปลว่าทำให้ขาวรอบ สจิตตะ (นาทีที่ 33:44) แปลว่าจิตของตน การทำจิตของตนให้ขาวรอบ นี้ตามตัวหนังสือ นี่เราระลึกถึงพระอรหันต์ เราจะเข้าใจได้ว่าพระอรหันต์เป็นผู้มีจิตใจขาวรอบ ท่านมีจิตใจถึงที่สุดแห่งความขาวรอบ คือมีจิตใจสะอาด สว่าง สงบอย่างนี้ก็ได้ ท่านมีจิตใจที่หยุด ที่เย็นที่ยอมอย่างนี้ก็ได้ ท่านมีจิตใจที่วาง ที่ว่างแล้วก็ที่ว้าง คำพูดเหล่านี้ พูดประดิษฐ์ขึ้นเพื่อให้จำง่าย สะอาด สว่าง สงบ เกือบไม่ต้องอธิบาย ถ้าเป็นคนวัดคนวาอยู่บ้างก็อาจจะเข้าใจได้ สะอาดคือไม่มีความเศร้าหมอง สว่างคือไม่โง่ รู้สิ่งที่ควรรู้อย่างแจ่มแจ้ง ไม่มืดมน สงบก็คือไม่กระวนกระวายไม่เดือดร้อน แต่ว่าสงบเย็น นี้เรียกว่าสะอาด สว่าง สงบ พระอรหันต์ท่านมีจิตใจถึงที่สุดแห่งความสะอาดสว่างสงบ จึงไม่ต้องพูดถึงการทำให้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป ท่านเรียกกันว่าวุสิตัง พรหมจริยัง (นาทีที่ 35:25) พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความดับกิเลสดับทุกข์นั้นไม่มีอีกต่อไป อย่างนี้เป็นต้น
อีก ๓ คำสำหรับชาวบ้านว่าหยุด ว่าเย็น ว่ายอม ชาวบ้านไม่หยุดเพราะว่ามีตัวกูของกู สำหรับหวาดเสียวสะดุ้ง สำหรับวิ่งไปวิ่งมา จะทำนั่นทำนี่ตามอำนาจของกิเลสตัณหา ไม่หยุดเหมือนพระองคุลีมาล ก่อนบวช แต่แล้วพระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงความหยุดว่าฉันหยุดแล้ว องคุลีมาลไม่เข้าใจก็บอกว่าหยุด หยุดเป็นฉัน หยุดเป็นตัวกูของกู เที่ยววิ่งไปวิ่งมา ร่างกายนั้นไม่ได้หยุดอยู่กับที่ แต่ว่าจิตใจมันหยุด นี่เรามันไม่หยุด เรายังมีอะไรที่คอยวิ่งไปวิ่งมา อยากได้อะไรก็วิ่งไปที่นั่น อยากได้อะไรก็วิ่งมาที่นี่ ถึงแม้จะหยุด ก็หยุดที่จะเอา ที่หยุด หยุดที่ตรงนั้น มันยังไม่หยุด มันยังเอาอยู่ มันยังไม่หยุด ถ้าหยุดจริงๆ ก็คือไม่วิ่งไปวิ่งมา ไปหาอะไรที่ไหน แล้วก็ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นอะไรอยู่ที่ไหน อย่างนี้เรียกว่าหยุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลานี้ ที่นี่เดี๋ยวนี้ ขอร้องให้ท่านทั้งหลายมีจิตใจที่หยุด ไม่อย่างนั้นจะไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องสักการะบูชาพระอรหันต์ให้สมกัน ทีนี้เรียกว่าเย็นก็คือไม่ร้อน ถ้าเสียสละสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นออกไปเสียหมดแล้ว มันก็เย็นเอง เพราะว่าการยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นของร้อน เพราะว่าการยึดมั่นถือมั่นนั้นทำให้เกิดราคะ ทำให้เกิดโทสะ ทำให้เกิดโมหะ พอไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร โลภะ หรือ ราคะ ก็เกิดไม่ได้ โทสะ หรือโกรธะก็เกิดไม่ได้ โมหะ อวิชชาอะไรก็เกิดไม่ได้ ไม่มีไฟ มันก็เย็น ชั่วขณะนี้จงตั้งอกตั้งใจสำรวมให้ดี อย่าให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น มันก็หยุดเอง ก็ใช้ภาวะที่หยุดนี้ เป็นจิตใจที่สะอาด สว่าง สงบ ใช้เป็นเครื่องบูชาพระอรหันต์กันที่นี่ในการบูชานี้ ไอ้คำสุดท้ายที่ว่า ยอมนั้น มีความหมายลึกซึ้งมาก ถ้ามีกิเลสแล้วก็มันก็ไม่ยอม ขอให้คิดดูเถอะ ที่ไม่ยอมนั้นก็เพราะกิเลส ถ้าหมดกิเลส มันเป็นการยอมโดยอัตโนมัติ โดยทุกปริยาย โดยประการทั้งปวง ถ้ายังมีความโลภ มันก็ไม่ยอมหยุด ถ้าไม่มี ถ้ายังมีความโกรธ มันก็ไม่ยอมให้อภัย มีโม โมหะมานะมันก็ไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมแพ้ทั้งที่เป็นคนแพ้ เพราะว่ามันมีตัวกู ยกหูชูหาง มันไม่ยอม นี้ก็อย่างหนึ่ง ที่มากกว่านั้นมันไม่ยอมแม้แก่พระพุทธเจ้า แม้แก่พระธรรม แม้แก่พระสงฆ์ ห้ามว่าอย่ากินเหล้า มันก็ยังกิน มันดื้อ มันไม่ยอมแม้แก่พระพุทธเจ้า มันจะกินเหล้าแม้ในวันเช่นวันนี้ อย่างนี้เรียกว่าไม่ยอม แล้วมันยังมีไม่ยอมอะไรอีกหลายอย่าง สรุปแล้วไม่ยอมเชื่อพระพุทธเจ้าว่านี้เป็นสิ่งที่ควรทำ นี่เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ อย่างนี้มันก็ไม่ยอมเชื่อ มันยังดื้อ มันยังทำ ตรงกันข้ามจากที่พระพุทธเจ้าท่านสั่งสอน ไม่ยอมเดินตามรอยของพระอรหันต์ อย่างนี้เรียกว่าไม่ยอม กิเลสที่เป็นเหตุให้ไม่ยอมนี้ ก็คือกิเลสประเภทมานะ ที่เรียกว่าตัวกูหรือของกู หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งก็เรียกว่าความยึดมั่นถือมั่น หรืออุปาทาน เป็นเหตุให้ไม่ยอมทุกอย่างทุกประการ ไม่ยอมเชื่อ แล้วก็ยังไม่ ไม่ยอมทดลองฟัง ไม่ยอมลองฟัง ไม่ยอมลองคิดตาม ไม่ยอมมากถึงขนาดนี้ มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ มันเป็นคนหัวดื้อ พระอรหันต์นั้นท่านยอมโดยอัตโนมัติ โดยปริยายเพราะว่าไม่มีกิเลส ให้พวกเราทั้งหลายไปรุมด่าท่านกันคนละร้อยคำหมื่นคำ ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะไม่มีกิเลสที่เป็นเหตุให้ไม่ยอม นี่เรียกว่าไอ้ความยอมนี้เป็นปัญหาอย่างหนึ่งซึ่งเรายังทำไม่ได้ เรามีตัวกูของกูที่เป็นเหตุให้ไม่ยอมอยู่เสมอ แต่อย่างไรก็ดี ในเวลานี้ ที่นี่เดี๋ยวนี้ ในโอกาสนี้ ขอให้ยอม ยอมว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้ดีจริง พระธรรมเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้ากล่าวไว้แล้วดีจริง พระสงฆ์เป็นผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจริง อย่างน้อยก็ยอมอย่างนี้ เพราะว่าเราอาจจะถือได้ว่าพระพุทธเจ้าจริง พระธรรมก็จริง พระสงฆ์นั้นเอาแต่ที่จริง ถ้าไม่จริง ก็ไม่ใช่พระสงฆ์ ก็เลือกเอาแต่ที่จริง มันก็มีพระสงฆ์จริง เพราะฉะนั้นเราควรจะยอมได้ ยอมในการที่จะเชื่อ จะนับถือ จะปฏิบัติตาม ไม่ยกหูชูหางสำหรับจะดื้อดึงอีกต่อไป ไม่กินเหล้า ไม่เล่นไพ่ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่โกหกพกลม ไม่อะไรในวันเช่นวันนี้เป็นต้น ก็จะเป็นการบูชากันเต็มที่สักวันหนึ่ง นั่นแหละขอให้หยุด ให้เย็นให้ยอม มีสิ่งนี้เป็นเครื่องบูชาพระอรหันต์
ทีนี้คำพูดอีกชุดหนึ่งที่ว่า วาง ใส่ไม้เอกเป็น ว่าง ใส่ไม้โทเป็น ว้าง อย่างนี้เพื่อจำง่าย ว่าวาง แล้วก็ว่าง แล้วก็ว้าง ข้อแรกจะต้องวาง ไอ้ความโง่ที่ยึดอะไรไว้ว่าเป็นตัวกูเป็นของกูนั้น ต้องอย่ายึด จะต้องวาง วางสักชั่วขณะที่จะบูชา มาฆบูชานี้ก็ยังดี วางได้ทั้งวันทั้งคืนก็ยิ่งดี วางได้หลายๆ วัน หลายๆ เดือน หลายๆ ปีมันก็ยิ่งดี ถ้าไม่วางมันก็กดอยู่บนศีรษะ สมน้ำหน้า หรือว่ามันกดอยู่บนบ่า บนจิต บนใจ มันก็หนักไปทั้งนั้น ฉะนั้นต้องรู้จักวาง อย่ายกขึ้นมาทับถมไว้บนเนื้อบนตัวบนจิตบนใจ มีอะไรก็ทำไปได้ มีอะไรก็ใช้สอยไปได้ มีอะไรก็กินไปได้ โดยไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น ด้วยจิตใจเหนียวแน่นว่าตัวกู ว่าของกู อย่าให้ความรู้สึกว่าตัวกูของกูเกิดขึ้นแล้วทำอะไร หรือบริโภคอะไร หรือเก็บ มีอะไร ใช้อะไร อย่างนี้ก็เรียกว่าวางอยู่เสมอ แต่พอเผลอ มันก็ยึดมั่นถือมั่นอีก มันต้องมีสติเป็นเครื่องควบคุมความปล่อยวาง ให้มันวางไว้เรื่อยๆ ไป จนกว่ามันจะกลายเป็นนิสัย นี่ถ้าวางแล้วมันก็ว่าง ข้อนี้เห็นได้ง่ายๆ ด้วยมือของเรา ถ้ามือของเราไปจับอะไรอยู่ ก็เรียกว่ามือไม่ว่าง มือมันติดธุระอยู่ ถ้ามือของเราไม่ได้จับอะไร เราก็เรียกได้ว่ามือของเราว่าง จิตใจนี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันไปจับฉวยอะไรอยู่ มันไม่ว่าง พอมันไม่จับฉวยอะไร มันก็เรียกว่าใจว่าง ถ้าใจว่างมันก็สะอาด สว่าง สงบเอง มันก็หยุด มันก็เย็น มันก็ยอมเอง เพราะว่ามันว่าง แล้วว่างนี้มันสบายด้วย แล้วมันก็ทำอะไรได้ดีด้วย จิตใจที่ว่างที่แจ่มใสที่ปลอดโปร่งที่ไม่มีอะไรผูกมัดรัดตรึง นี้มันทำอะไรได้ดี เดี๋ยวนี้เราก็กำลังมีจิตใจว่าง เพราะว่าเราอุตส่าห์มาถึงนี่ มานั่งอยู่ในท่ามกลางธรรมชาติที่แวดล้อมให้จิตใจของเราว่าง เราก็พอจะมีความว่างกันได้บ้างสักขณะหนึ่ง แล้วก็ใช้เป็นเครื่องสักการะบูชาแก่พระอรหันต์ นี้มาถึงคำว่า ว้าง คำว่าว้างนี้เป็นการแสดงอานิสงค์ คือไม่มีอะไรขีดเกะกะขัดหูขัดตา มันเวิ้งว้างมันเป็นอิสระ ถ้ามีอะไรมีขีดเกะกะขวางตา ขวางหน้าเราก็เรียกว่ารำคาญ แล้วเราก็รู้สึกว่าเราไม่เป็นอิสระ แต่ถ้ามันมีลักษณะว้างเวิ้งไปหมด มันรู้สึกว่าเป็นอิสระนี้ มันก็สบายใจ ขอให้จิตใจของเรามีภาวะเหมือนกับว่าตกอยู่ในท่ามกลางแห่งความเวิ้งว้าง ไม่มีอะไรรบกวนให้รำคาญ นี้วางแล้วก็ว่าง ว่างแล้วก็ว้าง มันดีทั้ง ๓ คำเลย
สะอาด สว่าง สงบ ก็เรียกว่า ๓ สอ มีตัวสอ ๓ ตัว เรื่องหยุด เรื่องเย็น เรื่องยอม มันก็มีตัว ยอ อยู่ ๓ ตัว เรื่องวาง เรื่องว่าง เรื่องว้าง มันก็มีตัววอ อยู่ ๓ ตัว นี่ก็เพื่อจำง่าย ถ้าผู้ใดชอบใจก็จำเอาไป ใช้ตลอดชีวิต แต่ที่อาตมาขอร้องว่าที่นี่และเดี๋ยวนี้ขอให้มีจิตใจที่จะใช้เป็นเครื่องสักการะบูชาแก่พระอรหันต์ได้ คือให้สะอาด สว่าง สงบ หรือว่าให้หยุด ให้เย็น ให้ยอม หรือว่าให้วาง ให้ว่าง ให้ว้าง มันจึงจะมีคุณค่าเหมาะสมที่จะใช้เป็นเครื่องบูชาพระอรหันต์อันเป็นสิ่งประเสริฐสูงสุด ขอให้พยายาม เราทำการบูชาท่านด้วยความพยายามตลอดเวลา ที่จะให้หยุดให้เย็น ให้ยอม ให้สะอาด สว่าง สงบ มีวาง ว่าง ว้างนี้เป็นดอกไม้ธูปเทียน บูชาท่าน คนในโลกเขากำลังไม่ยอมก็ตามใจเขา เขาไม่ยอมสละความสุขทางเนื้อทางหนัง เขายังจะไปโรงหนังโรงละคร ไปสถานที่อาบอบนวด หรือสถานที่อะไรก็ตามใจเขา เขาไม่ยอมสละก็ตามใจเขา เขาไม่ยอมสละเนื้อหนัง คือความสุขทางเนื้อหนัง ก็ปล่อยไปตามเรื่องของเขา มันไม่เกี่ยวกับพวกเราที่นี่ เพราะว่าเรายอมสลัดขว้างทิ้งสิ่งเหล่านั้น แล้วก็มามีอะไรๆ เหมือนกับที่กล่าวมาแล้ว ที่จะเป็นเครื่องหยุด เครื่องเย็น เครื่องยอม ในโลกนี้ เขาไม่ยอมมึง ยอมกูกัน เขาจะทะเลาะวิวาทกัน จะทำสงครามล้างผลาญกัน ไม่มีใครยอมใครก็ตามใจเขา แต่ว่าที่นี่ เดี๋ยวนี้ โดยเฉพาะนี้ จะต้องเย็น จะต้องหยุด จะต้องยอม ให้มีหัวใจสะอาด สว่างพอ หยุด ยอมหยุด หยุดโง่ หยุดดื้อ หยุดอะไรก็ตามใจ จะยอมหยุด นี้เป็นเครื่องบูชาพระอรหันต์ได้อย่างถูกต้อง อย่างเหมาะสม อย่างสมควรแก่กันและกัน คือสมควรแก่ความประเสริฐของความเป็นพระอรหันต์
ทีนี้ข้อที่สี่ ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา (นาทีที่ 50:47) ขันตี ความอดทน คือ ตีติกขา ความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง ตบะนี้คือไฟสำหรับเผากิเลส ไฟสำหรับเผากิเลสนั้นจะเล็งถึงความอดกลั้นอดทนก่อน เพราะว่าถ้าไม่อดกลั้นอดทนแล้ว มันก็ไม่มีทางที่จะทำการเผากิเลสได้ เหมือนว่าเราจะเข้าไปดับไฟ มันก็ต้องทนร้อน ยืนห่างตั้งหลายวามันก็ร้อนแล้ว ถ้าเราไม่ยอมทนร้อน เข้าไปใกล้ๆ เพื่อจะดับไฟ มันก็ดับไม่ได้ การบีบคั้นของกิเลสก็เหมือนกัน มันบีบคั้นออกไปไกลตั้งหลายวา หรือหลายโยชน์ มันบีบคั้นจิตใจของเรา นี่เราไม่ ไม่ต่อสู้ ไม่อดกลั้น แล้วก็แพ้แก่มัน ตามใจมัน มันก็พาเราไป ทำสิ่งต่างๆ ตามอำนาจของกิเลส นี่ขั้นแรกที่สุดจะต้องอดทนต่อการบีบคั้นของกิเลส ขันตีที่แท้จริงนั้นคือการทนต่อการบีบคั้นของกิเลส ไอ้ทนร้อน ทนหนาว ทนเจ็บไข้ ทนเขาด่าว่านี้มันเป็นขันตีลูกเด็กๆ แต่ก็ไม่ใช่ทำง่ายนะ ขอให้คิดดูเถอะ ทนหนาวทนร้อนนี้ก็ไม่ใช่ทำง่าย ทนเจ็บทนไข้ลำบากนี้ก็ไม่ใช่ทนง่าย ไอ้ทนเขาด่าเขาว่านั้นก็ไม่ใช่ทนง่าย ส่วนไอ้ทน การบีบคั้นของกิเลสนั้น ยิ่งทนยากไปกว่านั้น ก็นั้นแหละคือขันตีที่แท้จริง ทนต่อการบีบคั้นของกิเลสได้ ก็ไม่ไปกินเหล้า ไม่ไปดูหนัง ไม่ไปดูละคร ไม่ไปเที่ยว หาความสุขทางเนื้อหนัง นี่กิเลสมันบีบคั้นเราไม่ได้ หรือบีบคั้นเท่าไรเราก็ทนได้ เราก็ไม่ไป เรียกอย่างนี้ว่าขันตี คืออดทน นี่อดทนให้มากต่อไป ก็ต้องเรียกว่ากลั้น เรียกว่าตีติกขา ขันตี หรือ ตีติกขาก็ตาม เป็นไฟที่จะเผากิเลสให้เหือดแห้งไป ถ้าเปรียบอย่างจะดับไฟก็เหมือนว่าไอ้น้ำที่มันจะดับไฟ แต่เดี๋ยวนี้สิ่งที่เรียกว่ากิเลสนั้น ต้องเอาไฟไปเผาให้หมด งั้นไฟมีอยู่ ๒ ไฟ ไฟทำให้ร้อนเล่นเฉยๆ สนุกๆก็มี ไฟทำให้กิเลสหมดไปก็มี ให้ถือเอาธรรมะเป็นเหมือนไฟสำหรับเผากิเลสให้เหือดแห้งไป อย่าถือเอากิเลส ราคะ โทสะที่เป็นไฟมาเผาตัวเองให้เร่าร้อน นั่นมันไม่ใช่ไฟที่จะเผากิเลส แต่มันเป็นตัวกิเลสที่เผาเรา ทีนี้เราเอาไฟ คือพระธรรมมาเผากิเลสอีกทีหนึ่ง เอาไฟเผาไฟ ไฟที่มันดีกว่า มันก็เผาไฟที่เลวกว่า นี้เรียกว่าความอดกลั้น ความอดและความกลั้นเป็นไฟเผากิเลสอย่างยิ่ง ความอดกลั้นเพราะความจำเป็นอย่างนี้มันก็ยังไม่ใช่ความอดกลั้นแท้ เพราะสู้ไม่ได้ เพราะอะไรไม่ได้ เลยต้องอดกลั้นนั้น นี่เรียกว่าเราสู้ได้ แต่เราก็ยังอดกลั้น เหมือนจะไปด่าเขาก็ได้ แต่เราก็ไม่ด่า เราจะไปตีตอบเขาก็ได้ เราก็ไม่ตี กิเลสจะบังคับเรา เราจะไปก็ได้ แต่เราไม่ไป นี่จึงจะเป็นความอดกลั้นที่แท้จริง ความอดกลั้นของพวกนักการเมืองในโลกนี้เวลานี้ มันก็ล้วนแต่ความจำเป็น มันบังคับ มันไม่ใช่ความอดกลั้นที่แท้จริง มันไม่รู้จะทำอย่างไร มันก็ต้องหวานอมขมกลืนอย่างนี้ มันก็ไม่ใช่เรื่องที่ว่านี้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังดี ยังมีประโยชน์ ลองไม่อดกลั้นสิ มันฆ่ากันตาย วอดวายทั้งโลกแล้ว มันยังมีความอดกลั้นชนิดนี้อยู่ เพราะมัน มันก็ยังดีอยู่ ความอดกลั้นของพวกเราที่เป็นสัตบุรุษนั้น ดีกว่านั้น ความอดกลั้นของสัตบุรุษ ก็เพื่อจะฆ่ากิเลส มันเป็นอุบาย ที่จะใช้เป็นเครื่องดับกิเลส ดับทุกข์ มันก็ยิ่งเป็นการ เป็นความอดกลั้นที่ดี ส่วนความอดกลั้นของพระอรหันต์นั้น พิเศษยิ่งไปกว่านั้น ไม่มีกิเลสที่เป็นเหตุให้คนเราต้องอดกลั้น เพราะนั้น พระอรหันต์มีเหตุผลอยู่ที่ว่า อยู่เหนือความอดกลั้น หรือว่าเป็นความอดกลั้นอยู่โดยไม่ต้องอดกลั้น นี่ฟังให้ดีๆ ว่ามันเป็นความอดกลั้นถึงที่สุดโดยที่ไม่ต้องทำการอดกลั้น มันมีผลแห่งการอดกลั้นถึงที่สุด เพราะว่าท่านไม่มีกิเลส ชนิดที่เป็นเหตุให้พวกเรานี้ต้องทำความอดกลั้น เรายังมีกิเลสชนิดนี้อยู่เพียงไร เราก็ต้องอดกลั้น ทำความอดกลั้นอยู่เพียงนั้น เพราะฉะนั้นเห็นได้ว่าเราต้องยอมแพ้ท่าน เราต้องยอมบูชาท่าน เหมือนกับที่เราจะบูชากันอยู่เดี๋ยวนี้แล้ว
ข้อที่ห้า นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา (นาทีที่ 57:14) นิพพานนั้น ผู้รู้ทั้งหลายเรียกว่าบรมธรรม ผู้รู้ในที่นี่ หมายว่ามีความรู้ มีสติปัญญาสำหรับจะคิดจะนึก อย่างต่ำก็ได้ อย่างกลางก็ได้ อย่างสูงก็ได้ อย่างโลกๆ ก็ได้ อย่างธรรมะแท้ก็ได้ ผู้รู้ทุกขนาด ทุกมาตรฐาน ทุกยุคทุกสมัย ทุกศาสนา จะยอมรับว่าไอ้สิ่งเรียกว่านิพพานนี้จะต้องสูงสุด นิพพานคืออะไร ก็จะได้ว่ากันต่อไป ข้อนี้พูดเผื่อไว้ว่าแม้ในยุคที่โลกหลอกลวงกันเป็นยุคปิงปองนี่ ถ้าไปพูดเรื่องนิพพานให้เข้าใจมันก็ยกมือขึ้น ยอมว่าไอ้นิพพานนี้เป็นเรื่องสูงสุดจริง เพราะเหตุไร เพราะว่านิพพานนี้เป็นความไม่เบียดเบียน ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น คือไม่เบียดเบียนใครโดยประการทั้งปวง อุดมคตินี้มีมาแต่โบราณกาลก่อนพระพุทธเจ้า เขาพูดเป็นกันแล้ว ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด ว่าอาหิงสา ปรโม ธัมโม (นาทีที่ 58:49) อหิงสา ความไม่เบียดเบียน ปรโม ธัมโม เป็นบรมธรรม แต่บางทีในยุคแรกๆ นั้นจะหมายถึงการไม่เบียดเบียนผู้อื่น หรือไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ต่อมาคนก็จะรู้ขึ้นมากขึ้นไปกว่านั้นว่า เบียดเบียนตัวเองก็มี หรือกิเลสเบียดเบียนตัวเองอย่างนี้ก็มี นี้ก็เป็นการเบียดเบียน คือเบียดเบียนตัวเอง ก็คิดแก้ไข ครั้นมาถึงยุคพระพุทธเจ้า รู้จักการเบียดเบียนตัวเองนั้นสูงสุด ลึกซึ้งถึงที่สุด คือกิเลสที่เบียดเบียนตัวเอง ก็หาวิธีทำลายกิเลสนั้นเสีย ก็ไม่มีการเบียดเบียนอะไรเหลืออยู่ เมื่อคนเราไม่มีกิเลสแล้ว เบียดเบียนเขาก็ไม่ได้ เบียดเบียนเราเองก็ไม่ได้ นี้ช่วยจำไว้ให้ดี เพียงแต่ไม่มีกิเลสเท่านั้นแหละ เบียดเบียนเขาก็ไม่ได้ เบียดเบียนเราก็ไม่ได้ คือเบียดเบียนตัวเองก็ไม่มี เบียดเบียนผู้อื่นก็ไม่มี เพราะฉะนั้นพวกไหนก็ตาม พวกนักการเมืองพวกไหนก็ตาม มันจะยอมยกนิ้วมือว่านี่สูงสุดจริง แล้วตัวเองก็กำลังเบียดเบียนเขาอยู่โดยตรง โดยอ้อม ทั้งที่ว่ามันกำลังเบียดเบียนกันและกันอยู่นั่นแหละ มันก็ยังต้องยอมยกนิ้วเห็นด้วยว่าการไม่เบียดเบียนนี้สูงสูดจริง เป็นสิ่งสูงสุดจริง งั้นต้องขอให้พวกเรามองดูให้ดี สำหรับสิ่งที่เรียกว่านิพพาน ถ้าพูดถึงนิพพานก็ขอให้นึกถึงคำว่า วาง ว่าง ว้าง นั่นแหละคือนิพพาน วาง ว่าง ว้าง วาง ว่าง ว้าง นี่แหละ คือนิพพาน ไม่มีอื่น ปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นเป็นวิมุตติ ว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ เวิ้งว้างไปหมด ไม่มีอะไรกระทบกระทั่ง นั้นคือนิพพาน เราจะรู้สึกนิพพานได้ ในเมื่อจิตกำลังว่าง รู้จักความว่างของจิตได้ด้วยจิตว่าง รู้จักความว่างด้วยจิตว่าง จิตว่างจึงจะรู้จักความว่าง มันเป็นความว่างของสัตบุรุษ สำหรับสัตบุรุษ คือผู้ที่ต้องการจะว่างให้ถูกต้อง ว่างจริงๆ นิพพานนี้เรียกว่า วิญญาณัง(นาทีที่ 01:01:28) คือสิ่งที่ต้องรู้แจ้ง ที่แท้ก็คือสิ่งที่ต้องรู้แจ้ง ไม่มีอะไรที่ควรจะรู้แจ้งยิ่งไปกว่านิพพาน และนิพพานอยู่ในวิสัยที่อาจจะรู้แจ้งได้ เพราะฉะนั้นขอให้แน่ใจ นอนใจ แน่ใจว่านิพพานเป็นสิ่งที่รู้แจ้งได้ เพราะว่าแม้จะเป็นสิ่งสูงสุด แต่ถ้ารู้แจ้งไม่ได้ ถึงไม่ได้ แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร แล้วมันจะสูงสุดไปได้อย่างไร ถ้ามันไม่มีประโยชน์ แล้วมันจะต้องสูงสุดทั้งในทางที่เป็นประโยชน์ และในทางที่สามารถรู้จะแจ้งได้หรือถึงได้ ดังนั้นนิพพานจึงเป็นบรมธรรมแท้และสูงสุด คือไม่เบียดเบียนไปทุกความหมาย เดี๋ยวนี้คนในโลกกำลังรู้แต่การเบียดเบียน และยังมุ่งแต่การเบียดเบียน มุ่งแต่ที่จะเบียดเบียนนี้ คนในโลกนี้กำลังมุ่งแต่ที่จะเบียดเบียนซึ่งกันและกัน เบียดเบียนใต้ดิน หมายความว่ามีแผนการณ์ที่จะเอาประโยชน์ของผู้อื่น ยังไม่ได้รบราฆ่าฟันอะไรกันสักนิด แต่มีการเบียดเบียนอย่างยิ่ง เบียดเบียนอยู่ในส่วนลึกของจิตใจเพื่อวางแผนการณ์ใต้ดิน ที่ไม่ให้เขารู้สึกตัว แล้วก็เบียดเบียนเขายิ่งกว่าการเบียดเบียนใดๆ นี่เรียกว่าคนทั้งหลายในโลกกำลังเป็นอย่างนี้ พวกนักการเมืองไม่รู้จักความไม่เบียดเบียน รู้จักแต่ความเบียดเบียน หัวสมองของนักการเมืองเต็มไปด้วยความเบียดเบียน นี่โลกมันถูกนำไปด้วยนักการเมือง เพราะฉะนั้นโลกนี้จึงมีแต่ความเบียดเบียน นี่เราพูดให้เขาฟัง พวกเราช่วยอุตส่าห์พูดให้เขาฟังว่าไอ้ความไม่เบียดเบียนเป็นสิ่งสูงสุด แล้วเขาก็จะเห็นด้วย เขาก็จะค่อยๆ คลายความคิดที่จะเป็นผู้เบียดเบียนตลอดกาล ถ้าเราทำอย่างนี้ เรียกว่าเราบูชานิพพาน นิพพานคือความไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น เราพยายามช่วยกันเผยแพร่ความไม่เบียดเบียน นี้เรียกว่าการบูชานิพพาน
ข้อที่หก อนูปวาโท อนูปฆาโต (นาทีที่ 01:04:18) การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย พระพุทธเจ้าท่านตรัสเผื่อไปถึงบรรพชิต จึงได้ขยาย ทรงขยายความออกไปว่า น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี (นาทีที่ 01:04:39) ผู้กำจัดสัตว์อื่นอยู่ หาชื่อว่าบรรพชิตไม่ สมโณ โหติ ปรํ สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ (นาทีที่ 01:04:46) ผู้ทำผู้อื่นให้ลำบากอยู่ หาชื่อว่าเป็นสมณะไม่ ก็แปลว่าความไม่เบียดเบียนกันด้วยปาก เรียกว่า อนูปวาโท ความไม่เบียดเบียนกันด้วยการกระทำ เรียกว่า อนูปฆาโต อย่าเบียดเบียนกันด้วยปาก หรือเบียดเบียนกันด้วยการกระทำ นี่ก็ย่อมหมายความว่าใจมันไม่เบียดเบียน มันจึงไม่มีการเบียดเบียนกันออกมาทางกาย ทางวาจา การทะเลาะวิวาท นั่นแหละคือการเบียดเบียน ทะเลาะกันทางวาจาก็ได้ ทะเลาะกันทางจิตใจก็ได้ ในโลกนี้กำลังทะเลาะวิวาท เบียดเบียนด้วยปาก เบียดเบียนด้วยกาย โดยเฉพาะโลกในยุคปิงปองนี่ การทะเลาะวิวาทเบียดเบียนกำลังสลับซับซ้อน บางคนอาจจะไม่ทราบว่ายุคปิงปองคืออะไร ก็ขอบอกให้ทราบว่าอาตมาหมายความว่า ไอ้โลกยุคที่ไปโลกพระจันทร์นั้นผ่านพ้นไปแล้ว ล้าสมัยแล้ว เดี๋ยวนี้เขาเป็นโลกที่กำลังเล่นปิงปอง คือหลอกลวงหลอกล่ออะไรกันอย่างลูกปิงปอง นี้โลกยุคนี้ใหม่กว่าโลกยุคอวกาศ นี้โลกยุคปิงปองนี่กำลังเบียดเบียนกันด้วยวาจา เบียดเบียนกันด้วยกาย ด้วยเครื่องมือเครื่องไม้อย่างสลับซับซ้อน เพราะว่าเขาไม่รู้จักพระอรหันต์ ไม่รู้จักบุคคลผู้ไม่เบียดเบียน บุคคลผู้ไม่เบียดเบียนคือพระอรหันต์ คนพวกนี้ไม่รู้จัก จึงรู้จักแต่การเบียดเบียน เรื่องการเบียดเบียนกันนี้ก็อยากจะพูดอีกทีหนึ่งว่า มันมีมูลเหตุมาจากกิเลส อย่าเข้าใจว่ามันมีมูลเหตุมาจากวัตถุ นั่นมันดูผิวๆ เผินๆ คล้ายๆกับว่าเราอยากได้ของของคนอื่น เราก็ไปลักเขามา อย่างนั้นมันข้างนอก ข้างในนั้นนะเพราะมันมีจิตใจที่พ่ายแพ้แก่อะไรอย่างหนึ่ง เช่นเราพ่ายแพ้แก่รสอร่อยของวัตถุปัจจัยต่างๆ แล้วไม่มีเงิน เราจึงไปลักเขามา นั้นต้นเหตุแท้ๆ มันอยู่ที่พ่ายแพ้ แก่สิ่งที่มีรสอร่อย มีความล่อลวง มีความหลอกลวง มีความเป็นเหยื่อ เพราะฉะนั้นฟังคำที่พระพุทธเจ้าท่านได้ทรงแสดงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าพิศวงอย่างน่าอัศจรรย์ที่สุด พระพุทธเจ้าตรัสว่าเพราะอาศัยเวทนาจึงเกิดความอยาก เวทนานี้ไม่ใช่ความสงสาร เวทนาอย่างนี้หมายความว่ารสอร่อย ที่จะพึงได้รับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นี่เรียกว่าสุขเวทนาทางเนื้อทางหนัง อาศัยเวทนานี้จึงเกิดตัณหาคือความอยาก อยากได้ อยากยึดครอง อยากมีไม่มีที่สิ้นสุด นี่เวทนาให้เกิดตัณหา ตัณหา ปฏิจฺจปริเยสนา(นาทีที่ 01:08:56) เพราะอาศัยตัณหานี้ จึงเกิดการแสวงหา เห็นชัดน่ะ เพราะอยากจึงได้แสวงหา ปริเยสนํ ปฏิจฺจ ลาโภ (นาทีที่ 01:09:11) เพราะมีการแสวงหาจึงมีการได้รับ ลาภํ ปฏิจฺจ วินิจฺฉโย (นาทีที่ 01:09:23) เพราะมีการได้รับจึงมีการปลงใจรักสิ่งที่ได้รับ ใจมันปลงลงไป คือมันไปรักเข้า วินิจฺฉยัง ปฏิจฺจ ฉนฺทราโค (นาทีที่ 01:09:36) เมื่อมีการปลงใจรัก ก็มีฉันทราคะ คือมีความกำหนัดในสิ่งนั้นด้วยความเพลิดเพลินในรสอร่อยของสิ่งนั้น เรียกว่าฉันทราคะ ฉนฺทราคํ ปฏิจฺจ อชฺโฌสานํ (นาทีที่ 01:09:55) เพราะว่ากำหนัดอยู่ในความเพลิดเพลินอย่างนั้น มันจึงมีความสยบมัวเมาหมกหมุ่น ไม่ลืมหูลืมตา ก้มหัวลงเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้น นี่ที่เรียกว่าสยบมัวเมาในสิ่งนั้น อชฺโฌสานํ ปฏิจฺจ ปริคฺคโห (นาทีที่ 01:10:19) เมื่อหมกมุ่นมัวเมาอย่างนั้น ก็เกิดความรู้สึกจับอกจับใจในสิ่งนั้นยิ่งขึ้น หรือว่าสิ่งนั้นมันจับอกจับใจของบุคคลผู้นั้นไว้ในอำนาจของมันยิ่งขึ้น หรือว่าผู้นั้นมันจับอกจับใจในสิ่งนั้นยิ่งขึ้น ปริสหัง ปฏิจฺจ มจฺฉริยํ (นาทีที่ 01:10:44) ถ้ามันจับอกจับใจขนาดนี้แล้ว มันก็ตระหนี่ ไม่ ไม่ปัน ไม่แบ่งไม่ปัน ไม่อยากให้ใครมามีส่วน มจฺฉริยํ ปฏิจฺจ อารกฺโข (นาทีที่ 01:11:00) เพราะตระหนี่จึงมีการหึงการหวง เรียกว่าอารักโข หึงหวง หวงกั้น กั้นกลาง เอามือล้ำไว้ทีเดียว ไม่ให้ใครเขามาใกล้ ดังนั้นจึงเกิดทณฺฑาทานะ (นาทีที่ 01:11:26) การใช้อาวุธที่ไม่มีคม สตฺถาทานะ (นาทีที่ 01:11:31) การใช้อาวุธที่มีคม สรหะ (นาทีที่ 01:11:37) เกิดความโกลาหล วิคคหะ(นาทีที่ 01:11:41) เกิดการยื้อแย้ง วิวาทะ เกิดการทะเลาะวิวาท ตุวังตุวะ (นาทีที่ 01:11:48) เกิดการพูดว่ามึงๆ กูๆ เปสุญวาท (นาทีที่ 01:11:54) การใช้วาจาให้มันเกิดการ การแตกสามัคคี มุสาวาทะ ใช้ความเท็จเป็นเครื่องมือทำร้ายล้างกัน เพราะเหตุการหวงกั้นหรือการหึงหวงนั้นเอง สิ่งเหล่านี้มีหนาแน่นยิ่งขึ้นทุกที ในโลกนี้ ในยุคปิงปองนี้ สตฺถาทานะ อตันตะ สรหะ วิคคหะ ตุวังตุวะ เปสุญวาทะ มุสาวาทะ (นาทีที่ 01:12:27) นี่เต็มไปทั่วทุกหัวระแหงในโลกยุคปิงปอง แต่ว่ามีมูลมาจากสิ่งที่ลึกซึ้งที่สุด คือเวทนา
ที่นี่เรามามองดูถึงพระอรหันต์ ไม่แตะต้อง ไม่ข้องแวะไม่อะไรกับสิ่งเหล่านี้เลย พระอรหันต์ไม่มีกิเลส ไม่มีอวิชชาสัมผัส คือลูบคลำสิ่งทั้งหลายด้วยอวิชชา ไอ้คนในโลกนี้มันลูบคลำสิ่งทั้งหลายด้วยอวิชชา ลูบคลำทางตา ลูบคลำทางหู ลูบคลำทางจมูก ทางลิ้น ทางอะไรก็ตาม มันลูบคลำด้วยอวิชชา เรียกว่าอวิชชาสัมผัส มันจึงเกิดอย่างที่ว่า คือเกิดติดใจในเวทนา แล้วก็เกิดอะไรที่เป็นการทำลายล้างผลาญกัน งั้นพระอรหันต์ไม่มีกิเลส คืออวิชชา เลยไม่ ไม่สัมผัสแตะต้องอะไรด้วยอวิชชา นั้นจึงไม่เกิดอาการอย่างที่ว่านี้ นั่นแหละบูชาท่านเถิด ไม่มีบุคคลใดประเสริฐกว่านี้ มองให้เห็นความจริงข้อนี้ แล้วบูชาท่านด้วยกายด้วยวาจาด้วยใจในขณะที่ทำประทักษิณ ปุถุชนมีอวิชชาสัมผัส แตะต้องสิ่งต่างๆ รอบตัวตน รอบตัวเองด้วยอวิชชา เป็นทาส เป็นขี้ข้าของเวทนา มันจึงเกิดอาการอย่างที่ว่านั้นครบถ้วนอยู่เป็นประจำวัน มันฮื่อ มันแฮ่กันได้ แม้แต่สามีกับภรรยา เพราะอำนาจของสิ่งนี้ บางทีพ่อกับลูกด้วยซ้ำไป มันมีอะไรไปเกิดตรงกัน เผื่อว่ามันไปมีอะไรไปรักตรงกันมันก็ฮื่อแฮ่กันได้ แม้แต่พ่อและลูก ถ้ามันมีอวิชชาเป็นเครื่องชักนำ มีอวิชชาสัมผัสแล้ว มันก็ลืม ลืมความเป็นพ่อ ลืมความเป็นแม่ ลืมความเป็นภรรยาสามี ลืมความเป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย มันก็ฮื่อแฮ่กันได้ งั้นพระอรหันต์จึงอยู่ในฐานะที่ควรจะบูชาอย่างยิ่ง เราก็กำลังจะบูชาด้วยจิตใจที่รู้สึกอยู่อย่างนี้
ปาติโมกฺเข จ สํวโร (นาทีที่ 01:15:07) เป็นข้อที่เจ็ด เคร่งครัดในระเบียบวินัย ระเบียบวินัยนี่อยากจะแบ่งเป็น ๒ พวก วินัยปาฏิโมกข์ ธรรมาปาฏิโมกข์ ปาฏิโมกข์แปลว่าเป็นหัวข้อใหญ่ เป็นหลัก เป็นประธานสำหรับดับทุกข์ ปาฏิโมกข์อย่างวินัยก็คืออย่างศีล ของพระ ของเณร ของอุบาสก อุบาสิกา หรือที่เรียกว่าศีล นี่วินัยปาฏิโมกข์ ศีล ๕ เป็นปาฏิโมกข์ของฆราวาส ศีล ๘ เป็นปาฏิโมกข์ของอุบาสก อุบาสิกาที่สูงขึ้นมา ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๐ นั่นก็เป็นปาฏิโมกข์ของภิกษุสามเณร นี้ล้วนแต่เป็นวินัยปาฏิโมกข์ ส่วนธรรมาปาฏิโมกข์นั้นมันหมายถึงหลักธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ๑๐ ข้อที่ว่ามานี้คือธรรมปาฏิโมกข์ แต่ถ้าสรุปให้เหลือสั้นๆ ก็คือว่า ข้อปฏิบัติที่เกี่ยวกับความไม่มี ไม่ให้เกิดความยึดถือตัวตน นี่เรียกว่า ธรรมาปาฏิโมกข์ ขอให้เป็นผู้มัธยัสถ์เคร่งครัดสำรวมปาฏิโมกข์ ทั้งฝ่ายวินัยและทั้งฝ่ายธรรม คือทั้งธรรมาปาฏิโมกข์และทั้งวินัยปาฏิโมกข์ เพราะฉะนั้นจะครอบคลุมไปหมดถึงศาสนา ถึงกฏหมาย ถึงวัฒนธรรม ถึงประเพณี ถึงอะไรต่างๆ ถ้ามันเป็นหัวข้อ ที่ต้องถือเป็นหลักปฏิบัติแล้ว เรียกว่าปาฏิโมกข์ได้ทั้งนั้น เป็นกรณีๆ ไป ไม่ใช่ว่าคำนี้จะใช้เฉพาะแต่ในวงของภิกษุสามเณร คำว่าปาฏิโมกข์แปลว่าหัวข้อ กฎเกณฑ์ที่เป็นที่สรุปแห่งหลักปฏิบัติทั้งหลาย พระอรหันต์ท่านมีปาฏิโมกข์แบบตลอดกาล แบบตลอดกาลแล้วก็แบบอัตโนมัติ ถ้าเป็นพระอรหันต์ท่านมีปาฏิโมกข์ทุกชนิด โดยแบบตลอดกาลโดยแบบอัตโนมัติ หมายความว่าไม่ต้องเจตนา เราต้องเจตนาที่จะสำรวมที่จะระวัง นี่มันมีเจตนา มันก็ล้มลุกคลุกคลาน แต่ถ้าไม่มีกิเลสแล้วมันไม่มีอะไรที่จะทำให้ล้มลุกคลุกคลานได้ งั้นเราต้องบูชาท่าน พวกเราเดี๋ยวก็ต้องปลงอาบัติ พวกเราเดี๋ยวก็ต้องขอโทษพระรัตนตรัย กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา ทำไม่รู้กี่ครั้งกี่หนวันหนึ่ง นี้มันล้มลุกคลุกคลานอย่างนี้ แต่ก็เพื่อสำรวมระวังต่อไป ไม่ใช่ว่าทำอย่างหลับหูหลับตา ทำผิดมันก็ต้องสำนึกผิด แล้วก็ตั้งจิตใจที่ทำเสียใหม่ ให้ถูก นี่อยู่ในพวกที่ว่าจะต้องมีความเคร่งครัดในระเบียบวินัยจนเรื่อยๆ ไป จนกว่าจะเป็นพระอรหันต์ เราก็จะมีศีล มีธรรม มีวินัยอะไร โดยอัตโนมัติตลอดกาลโดยไม่ต้องเจตนา งั้นเราจึงเห็นว่าพระอรหันต์จึงเป็นบุคคลผู้ควรบูชา ไม่มีใครจะยิ่งไปกว่า
ข้อที่แปด มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ (นาทีที่ 01:19:00) รู้ประมาณในการบริโภค คำว่าบริโภคนี้ไม่ได้หมายถึงรับประทานทางปากอย่างเดียว บริโภคทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อะไรก็ได้ แม้จะเราอยู่ในบ้านในเรือนใช้สอย ก็เรียกว่าเราบริโภคสิ่งเหล่านั้น คนทั่วไปมักจะเข้าใจบริโภคนี่ใช้กับบริโภคอาหาร แต่ว่าในภาษาบาลีนี้ ก็หมายถึงทั้งหมดที่จะเป็นปัจจัยเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตความเป็นอยู่ มันอยู่ด้วยการบริโภค แล้วก็รู้ประมาณในการบริโภคว่า บริโภคอย่างไร เท่าไร เพียงไรจึงจะพอดี ในการแสวงหา ในการได้มา ในการเก็บรักษาไว้ ก็ต้องพอดี ถ้าเกินพอดี เป็นยุ่ง ยุ่งแน่ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง แล้วถ้าเกินพอดี มันก็ต้องถือว่าเหนื่อเปล่าแหละ ไอ้ส่วนที่มันเกินไปมันเหนื่อยเปล่าๆ เอาแต่ตามที่มันจำเป็น เท่าที่พอดี เท่าที่พอเหมาะ แต่ว่าข้อนี้มันจะระบุลงไปว่ากี่บาทกี่สตางค์ มันไม่ได้ มันไม่เหมือนกัน พอดีสำหรับคนโง่มันก็อย่างหนึ่ง พอดีสำหรับคนฉลาดมันก็อีกอย่างหนึ่ง คนที่มีความฉลาด สามารถ มันก็ทำได้มาก มีได้มาก หาได้มาก อะไรได้มาก ไอ้คนที่ไม่ค่อยฉลาด ไม่สามารถ มันก็ทำได้น้อย เมื่อทุกคนทำพอดีแล้วก็ไม่ต้องทะเลาะกัน ไม่ควรอิจฉาริษยากัน พระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่า มัตตัญญุตา จ ภตฺตสฺมึ (นาทีที่ 01:20:50) แปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า กินอยู่พอดี ๔ พยางค์ กินอยู่พอดี กินอยู่นี้มันก็ต้องรวมหมด ถึงว่าแสวงหา มีไว้อะไรด้วย เพราะมันเพื่อจะได้กินอยู่ ก็กินอยู่พอดี ตามเพศพันธุ์วรรณะแห่งตนแห่งตน เป็นฆราวาสอย่าง บรรพชิตอย่าง นี้เรียกว่ามีเพศต่างกัน หรือเพศหญิงเพศชายก็ตามใจ แต่คำว่าเพศนี้ บรรพชิตก็เรียกว่าเพศ ฆราวาส คฤหัสถ์ก็เรียกว่าเพศ อยู่ในเพศบรรชิต อยู่ในเพศคฤหัสถ์อย่างนี้ ก็ให้พอดีแก่เพศของตน แก่พันธุ์ของตน แก่วรรณะแห่งตน เป็นเศรษฐี เป็นชาวบ้าน เป็นขอทาน เป็นอะไรก็ให้มันเหมาะแก่วรรณะแห่งตนแห่งตน ก็เรียกว่าจะไม่เกิดปัญหายุ่งยากขึ้นมา
นี่มันมีคำอยู่อีก ๔ คำ ๔ พยางค์เหมือนกันที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ ที่เรากินดีอยู่ดี อย่าลืมว่าเมื่อตะกี้นี้พูดว่า กินอยู่พอดี มันมีความหมายอย่างไร เดี๋ยวนี้บอกว่ากินดีอยู่ดี นั่นและ ระวังเถอะมันยืดหยุ่นออกไปได้ มันยืดออกไปได้ มันไม่หยุ่นกลับ กินดีอยู่ดีต้องระวัง มันอาจจะลุกลามเป็นไอ้ไฟไหม้โลกขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ ไอ้เรื่องกินดีอยู่ดีนี้ ที่มันรบกันอยู่เดี๋ยวนี้ ทั้งโลกนี้ ก็เพื่อจะกินดีอยู่ดีตามแบบของมัน ใช้คำพูดหยาบๆ หน่อย กินดีอยู่ดีตามแบบของมัน แล้วมันก็ไม่มีทางที่จะมีสันติภาพ แต่แล้วทุกคนกินอยู่พอดี แล้วก็มีทางที่จะสันติภาพตามแบบของพระพุทธเจ้า ทีนี้พระอรหันต์นั้นน่ะ อย่าไปสงสัยท่านเลย กินอยู่พอดี มาเทียบกับเราแล้วก็น้อยกว่ากันมาก กินอยู่เพียงมีชีวิตอยู่ ส่วนตัวท่านนั้นเหมือนกับตายแล้ว แต่เรี่ยวแรงยังมีอยู่ก็ทำประโยชน์แก่มนุษย์ต่อไป กินอยู่เพียงเท่านั้น ตัวท่านเองนั้นเสมือนหนึ่งว่าตายแล้ว มิได้มีอยู่แล้ว ไม่มีความหมายอะไรแล้ว นี่กินอยู่พอมีชีวิตอยู่ ก็เคลื่อนไหว ไปตามอำนาจธรรมะที่มีอยู่ในจิตใจ เมตตากรุณาไปตามเรื่อง เพื่อว่าโลกนี้จะมีแสงสว่าง ถ้ามีพระอรหันต์อยู่ในโลก นี่ท่านกินอยู่พอดี รู้ประมาณในการบริโภคเกินกว่ารู้ คือมันเป็นไปเอง ไม่ต้องทำรู้อะไรกันแล้ว มันเป็นไปของมันเอง มันพอดีของมันเอง แล้วมันยิ่ง ยิ่ง ยิ่งกว่าพอดีมั้ง ที่ว่าตัวเองไม่มีอะไร ชีวิตอยู่สำหรับผู้อื่น งั้นเราบูชาท่านกันให้ดีๆ วันนี้ตั้งอกตั้งใจดี บูชาท่านกันให้ดีๆ นึกถึงข้อนี้อยู่ในใจแล้วเวียนเทียน
ข้อที่เก้า ปนฺตญฺจ สยนาสนํ (นาทีที่ 01:24:15) นี่เริ่มอธิบายถึงจรณะแล้วโดยตรง นั่งนอนในที่อันสงัด คำนี้มันมีความหมายเป็นชั้นๆ เหมือนกัน ระวังให้ดี นั่งนอนในที่สงัด ที่นั่งที่นอนอันสงัด สงัดคือไม่ถูกรบกวน ไม่ถูกรบกวนจากคนด้วยกัน หรือว่าไม่ถูกรบกวนจากธรรมชาติ ดินฟ้าอากาศ แต่ว่าที่ดีที่สุดนั้น คือไม่ถูกรบกวนจากกิเลส นั่งนอนอย่างไรไม่ถูกรบกวนจากกิเลสนั่นแหละคือ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ (นาทีที่ 01:24:59) ไม่ได้พูดว่าที่วัด หรือว่าในป่า หรือว่าบนฟูก หรือว่า กลางกระดาน หรือว่ากลางดิน ไม่ได้พูดอย่างนั้น แต่ว่าไอ้ที่นั่งนอนไหนมันทำให้เกิดความสงัดได้ ทางกายทางจิตแล้วก็ดี สงัดทางกาย ไม่ถูก กายไม่ถูกรบกวน สงัดทางจิต จิตไม่ถูกรบกวน แล้วยังมีสงัดสูงขึ้นไปกว่านั้น คือว่าความฉลาดของเราไม่ถูกรบกวนให้โง่ เราไม่รู้จักกิเลสมาแต่เดิม แต่เดี๋ยวนี้มันมีกิเลสมารบกวนเกิดขึ้น เพราะว่าเราเป็นอยู่ไม่ดี นั่งนอนไม่ดีทำให้เกิดความอยากนั้นอยากนี้ ทุกคนอยากจะนอนบนที่นอนที่อ่อนนุ่ม ที่สบายแสนจะสบาย มาพูดว่าทุกคน พูดอย่างสำนวนธรรมดาๆ ทุกคนต้องการอย่างนั้น แต่ว่าจะนอนหรือไม่นอนไม่รู้ แต่ว่ามันอยากอย่างนั้น นี่ก็หมายความว่าเป็นทาสของกิเลส เปิดโอกาสให้กิเลสรบกวนแล้วมันจะสงัดได้อย่างไร เมื่อนอนในที่นั่งที่นอนอย่างนั้น อย่างน้อยราคะมันก็รบกวน ครั้งหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทูลถามพระพุทธเจ้าว่า เอ๊ะ นี่มันอะไรกัน ไอ้นอนกลางกระดาน หรือนอนบนเสื่อ หญ้านี้จะมีความสุขอย่างไร พระพุทธเจ้าก็ตอบว่านี่สบายที่สุด ไม่เหมือนกับที่พระเจ้าแผ่นดินนอนบนฟูก บนหมอนอะไรนั่นน่ะ มีราคะตลอดคืน นี่ไม่มีราคะตลอดคืนใครนอนสบายกว่ากัน เลยต้องนิ่ง นั้นที่ว่าที่นั่งที่นอนอันสงัดนี่ มันมีความหมาย ส่วนใหญ่เล็งถึงว่าไม่ก่อให้เกิดกิเลส แล้วก็ขยายความออกมาถึงว่าไม่มีอะไรรบกวนก็ได้ คำว่าสงัดนี้มันก็คือไม่มีอะไรรบกวน
ทีนี่ก็เลยมาถึง ไอ้สถานที่เช่น ป่า ป่าไม้อย่างนี้ เราก็เรียกว่าที่สงัด ในป่าอย่างนี้ก็เรียกว่าที่สงัด เพราะว่าป่านี้มันไม่รบกวนจิตใจ ลองไปนั่งในโรงหนัง โรงละคร โรงอะไรที่ตลาดดูสิ มัน ไอ้ ไอ้สิ่งทั้งหลายที่แวดล้อมอยู่มันรบกวน พอเรามานั่งในป่าระหว่างต้นไม้ ก้อนหินนี้ มันไม่รบกวน คือมันไม่ยั่ว ให้ยุ่งขึ้นมา ไม่ยั่วให้วิ่งไปวิ่งมา ไม่ยั่วให้เกิดรักเกิดเกลียด งั้นป่าจึงเป็นที่สงัด คือไม่รบกวน ทุกคนก็พอจะรู้อยู่แล้ว พอเรามานั่งตามโคนไม้ ตามก้อนหินอย่างนี้ ไม่มีอะไรรบกวน ปันตะ ปนฺตญฺจ (นาทีที่ 01:28:15) คือปันตะ ปันตะ แปลว่าสงัด ไม่มีอะไรรบกวน อย่างนั้น ปันตะนั้นเป็นไปตามธรรมชาติ ถ้าแปลไปตามธรรมชาติ ไม่มีอะไรรบกวน พอผิดธรรมชาติเริ่มมีอะไรรบกวนแล้วก็มากขึ้นๆ จะถือว่าธรรมชาติที่เป็นของประเสริฐ เป็นของประทานของพระเจ้า เรียกพระเจ้าว่าเป็นบุคคลสูงสุด ผู้สูงสุดประทานธรรมชาติให้ เป็นของดีที่สุด คือไม่รบกวน เพราะธรรมชาตินี้มันชวนให้เย็น ให้หยุด ให้ยอม โมโหมาแต่บ้าน พอมานั่งตามต้นไม้ ก้อนหินนี่ มันหายโมโห เรียกว่าธรรมชาติทำให้หยุด แล้วก็ทำให้เย็นลง แล้วทำให้ยอมได้ ที่หัวแข็งไม่ยอมนั้นน่ะเกิดยอมได้
ทีนี่คนในโลกเขาไม่ชอบที่สงัด พวกนักการเมืองที่ปกครองโลกนี้ มันก็ไม่ชอบที่สงัด ไม่ชอบความสงัด แล้วเห็นได้ว่าเขาไม่ได้นั่งพิจารณาปรึกษาการเมืองกันในป่าที่สงัด เขานั่งกันที่โต๊ะเหล้า ไอ้โต๊ะที่มีเหล้ามีอะไร เขาจะนั่ง นั่งทำหน้าที่นักการเมืองกันที่นั่น งั้นโลกทั้งโลกนี้มันจึงเป็นเหมือนอย่างที่เป็น คือวิกฤตการณ์ถาวร หรือเป็นนรกชนิดหนึ่ง เพราะว่าคนเหล่านั้นไม่ชอบนั่งนอนในที่สงัด จะคิดจะนึกในที่สงัด จะวินิจฉัยปัญหาต่างๆ ในที่สงัด จะตัดสินกรณีหรือปัญหาต่างๆ ในที่สงัด เพราะมันตัดสินกันที่โต๊ะเหล้า ก็ไปเทียบกันเองว่าที่ ที่ ที่ในวงโต๊ะเหล้ากับที่ในป่านี้มันต่างกันกี่มากน้อย นี้พระอรหันต์ท่านอยู่ในท่ามกลางความสงัด ทางกายก็อยู่ในที่สงัด ทางจิตก็อยู่ในที่สงัด สติปัญญาของท่านไม่ถูกรบกวนกิเลส ไม่เกิด กิเลสไม่มี ไม่มีทางจะเกิด กิเลสไม่มีทางจะเกิดเรียกว่าสงัดจากกิเลส มันก็เลยเป็นผู้นั่งนอนในที่สงัดโดยอัตโนมัติอย่างยิ่งตลอดเวลา เราควรจะบูชาท่าน เข้าใจข้อนี้ไว้ด้วย
ทีนี้สุดท้ายข้อที่สิบ อธิจิตฺเต จ อาโยโค (นาทีที่ 01:31:09) ประกอบความเพียรในการทำจิตให้ยิ่ง ธรรมดาจิตมันไม่ยิ่ง จิตมันหย่อน จิตมันต่ำ หรือว่า มันไม่ยิ่งก็แล้วกัน มันเลว มันต่ำ มันหย่อนทำความเพียร วิธีใดก็ตามที่จะทำให้จิตยิ่ง ยิ่งก็อยู่เหนือกิเลส เหนือความทุกข์ เหนือการหลอกลวง บีบคั้นของทุกสิ่งในโลก ใช้คำว่าทุกสิ่งในโลก ล่อลวง บีบคั้น เราอยู่ใต้อำนาจมันอย่างนี้มันไม่ยิ่ง ต้องมีจิตอยู่เหนือสิ่งเหล่านี้จึงจะเรียกว่าจิตยิ่ง จิตยิ่งนั่นคือจิตของพระอรหันต์ พระอรหันต์มีจิตยิ่งโดยปกติ ไอ้เรามีจิตยิ่งๆ หย่อนๆ ไม่แน่นอน เพราะส่วนมากก็หย่อน หรือว่าต่ำไปเลย จิตยิ่งถึงที่สุดคือจิตของพระอรหันต์ ไม่มีปัญหา ไม่มีข้อสงสัยอะไร ไม่มีความหวังอะไร ไม่ต้องการอะไร ไม่เกี่ยวกับความเกิดหรือตาย ไม่เกี่ยวกับความเกิดหรือไม่เกิด ไม่มีความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้นในจิตใจที่ยิ่ง มันยิ่งกันอยู่เหนือปัญหาที่ว่าเกิดหรือไม่เกิด ตายหรือไม่ตาย ตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด ซึ่งเป็นปัญหาของคนโง่ของคนที่ยังมีกิเลสเห็นแก่ตัว มันจึงมีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้น ไอ้ใจความของคำนี้ มันอยู่ที่เป็นจิตที่เหนือ เหนือความหมายต่างๆ ความหมายต่างๆนั้นหมายความว่า เป็นความหมายที่เวียน ที่เอียงไปขวาสุดซ้ายสุด เช่นดี เช่นชั่ว เช่นบุญ เช่นบาป เช่นสุข เช่นทุกข์ เช่นได้ เช่นเสีย เช่นแพ้ เช่นชนะ เช่นหญิง เช่นชาย แค่นี้ ไม่รู้กี่ร้อยคู่ กี่พันคู่ ไอ้ความรู้สึกที่เหวี่ยงไปสุด สุดซ้ายสุดขวา อย่างนี้เรียกว่าโง่ แล้วก็ไม่ยิ่ง ไม่สูง ไม่ประเสริฐ มันไปโง่ข้างซ้ายที มันไปโง่ข้างขวาที ถ้าจิตยิ่ง จิตสูง จิตประเสริฐแล้วไม่เกี่ยวกับคู่ๆเหล่านี้ มีความรู้สึกเห็นเป็นอิทัปปัจจยตาไปหมด คือมันไปตามเรื่องของมัน ไม่ ไม่ควรจะยึดมั่นถือมั่น ไม่น่าจะยึดมั่นถือมั่น
ตรงนี้อยากจะพูดว่าต้องระวังกันหน่อยคำว่าของเป็นคู่นี้ เช่นคำว่าสุญญตา เช่นคำว่าอนัตตานี้ ถ้าเข้าใจไม่ถูกต้องมันจะพลัดลงไปเป็นคู่กับของคู่ สุญญตาก็ตาม อนัตตาก็ตาม ถ้าไม่เกี่ยวกับกฏของอิทัปปัจจยตาแล้ว ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งนั้น สุญญตาก็เป็นว่างอันธพาล อนัตตาก็เป็นนัตถิกทิฏฐิ ให้เข้าใจว่าสุญญตาก็เป็นมิจฉาทิฏฐิได้ อนัตตาก็เป็นมิจฉาทิฏฐิได้ ถ้าไม่เกี่ยวกับอิทัปปัจจยตา เมื่อว่างตามแบบของพระอรหันต์ หรืออนัตตาตามแบบของพระอรหันต์นั้น เนื่องอยู่กับกฏเกณฑ์ของอิทัปปัจจยตา เพราะฉะนั้นจึงไม่มีทางแห่งสัมมาทิฏฐิ เพราะฉะนั้นจึงเป็นจิตที่ยิ่งยอดสมบูรณ์ประเสริฐ เราไม่ควรจะพูดว่าว่างหรือไม่ว่าง ไม่ควรจะพูดว่าอัตตาหรืออนัตตาที่จริง เพราะว่าไอ้ไม่ว่างมันก็ตรงกันข้ามกับว่าง อนัตตาก็ตรงกันข้ามกับอัตตา มันเป็นคู่ดึงชักกะเย่อกันอยู่อย่างนั้น เราควรจะพูดว่าอิทัปปัจจยตา คือแล้วแต่เรื่อง แต่ถ้าพูดอย่างนี้ ไม่มีใครฟังถูก ก็เลยต้องพูดเป็นแบบของคู่ ถึงพระพุทธเจ้าท่านก็จำเป็นที่จะต้องตรัสด้วยคำอย่างนี้ เช่นพูดว่าอนัตตาอย่างนี้ คนฟังเขาก็ไปเข้าใจผิดได้ คือเห็นเป็นคู่กับอัตตา ถ้าอย่างนี้แล้วก็ไม่ถูก อนัตตาของพระพุทธเจ้านั่นหมายความว่าเป็นอิทัปปัจจยตา ไม่ใช่ว่าไม่มีโดยประการทั้งปวง หรือว่ามีโดยประการทั้งปวง แต่ว่ามีหรือไม่มีอย่างอิทัปปัจจยตา ไอ้คำพูดธรรมดาสามัญที่จะเอามาเป็นหลักสำหรับป้องกันไม่ให้เข้าใจผิดน่ะ เช่น ก็มีคำที่ดีอยู่คือคำว่ามี กับคำว่าไม่มี ความรู้สึกว่ามีมันก็โง่ ความรู้สึกว่าไม่มีมันก็โง่ แต่ความรู้สึกว่าแล้วแต่เรื่องนั่นแหละ ไม่โง่ ไอ้แล้วแต่เรื่องนั่นคืออิทัปปัจจยตา สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามกฏของอิทัปปัจจยตาว่า เมื่อมีสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆ จึงเกิดขึ้น ระวังให้ดี จำไว้ให้ดี เมื่อมีสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆ จึงเกิดขึ้น พูดว่ามีก็โง่ พูดว่าไม่มีก็โง่ เราพูดว่าแล้วแต่ปัจจัยนั่นแหละคือไม่โง่
นี่จิตของพระอรหันต์ไม่ติดอยู่กับความมีและไม่ติดอยู่กับความไม่มี แต่ว่าสว่างแจ่มแจ้งอยู่ด้วย อิทัปปัจจยตา นั่นจึงเรียกว่าจิตของท่านยิ่ง คือเป็นอภิจิต ถึงที่สุด พวกเราบูชาท่านกันในข้อนี้ คือมี มีการระวังตั้งใจ ระวังตั้งใจให้จิตมันยิ่งอยู่เสมอ เราที่ยังมีกิเลสนี้ ระวังตั้งใจให้จิตมันยิ่งอยู่เสมอ ก็อย่าเผลอให้ไปเกิดความคิดอะไรๆ ที่ยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวกูของกู จิตที่กำลังว่างจากตัวกูของกูนั่นแหละคือจิตที่ยิ่ง ยิ่งเห็นมันก็ยิ่งยิ่งยิ่ง ยิ่งว่าง ยิ่งว่างเอง แล้วก็ไม่ทุกข์เอง แล้วก็จะยิ่งเข้าใจดีขึ้นไปอีก นี้เรียกว่าจิตยิ่ง ยิ่งยิ่งยิ่งขึ้นไปตามลำดับ กว่าจะถึงที่สุดของความยิ่ง คือสูงสุด เพราะเราต้องทำความเพียรด้วยจิตยิ่ง ส่วนพระอรหันต์นั้นคือผู้ที่ถึงความยิ่งถึงที่สุดแล้ว โดยอัตโนมัติก็ยิ่งอยู่ในตัว ไม่เปลี่ยนแปลงเรียกว่าตลอดกาล งั้นบูชาท่านกันเถิด บอกว่าอย่างนี้ เดี๋ยวเราทำพิธีบูชาท่านกันเถิด
นี่เรา วันนี้ก็จะทำการบูชาที่เรียกว่ามาฆบูชา เป็นการบูชาอุทิศพระอรหันต์โดยเฉพาะ ๑,๒๕๐ รูป มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เป็นบุคคล เป็นกลุ่มแห่งบุคคล นี่พูดอย่างสมมติ เป็นกลุ่มแห่งบุคคลผู้สูงสุด พูดอย่างสมมติน้อยหน่อย ก็ว่าเป็นกลุ่มแห่งจิตใจที่สูงสุด พูดไม่สมมติเลย ก็ว่าเป็นความว่าง เป็นภาวะแห่งความว่างจากกิเลส ความว่างจากความทุกข์ นั่นแหละประเสริฐอยู่ที่นั้น นี่เราอุตส่าห์เสียเวลา เสียเหน็ดเหนื่อยอะไรกันมานั่งกันที่นี่ ประชุมกันอย่างนี้ เพื่อเป็นที่ระลึกแก่ความว่างอันสูงสุด จิตที่ว่างอันสูงสุด หรือบุคคลผู้มีความว่างอันสูงสุด คือพระอรหันต์ทั้งหลาย เรียกว่าวันนี้ถึงโอกาสที่จะได้ดี การได้ที่ดี หรือได้สิ่งที่มีค่ามีประโยชน์แก่การดับทุกข์แล้ว เราจงประกอบพิธีที่จะให้สิ่งนี้ฝังแน่นลงไปในจิตใจ เพื่อจะได้เป็นเครื่องป้องกันไม่ให้ ไม่ให้กิเลสนี้มารบกวนได้ง่ายๆ หรือว่าไม่รบกวนได้เลย วันมาฆบูชาคือวันสำหรับทำการบูชาด้วยความรู้สึกที่ถูกต้องแท้จริงต่อพระอรหันต์ทั้งหลาย บูชาคุณของท่าน สรรเสริญคุณของท่าน มีปณิธานที่จะเดินตามรอยของท่านทุกอย่างทุกประการ ทุกอย่างทุกประการยังมีอีกหลายประการ แต่ว่าประการหนึ่งนี้คือจะทำมาฆบูชาที่นี่ งั้นขอให้มีจิตใจประกอบไปด้วยลักษณะที่กล่าวมาแล้วทั้ง ๑๐ ประการนั้น แล้วร่างกายมันก็ดีไปเอง ตั้งจิตใจให้บริสุทธิ์ร่างกายมันก็บริสุทธิ์ นี้วาจามันก็บริสุทธิ์ อะไรมันก็บริสุทธิ์ เมื่อบริสุทธิ์แล้วก็สมควรที่จะบูชา แก่พระอรหันต์ทั้งหลาย นี้ขอให้ท่านทั้งหลายเตรียมเนื้อเตรียมตัวเตรียมทุกอย่าง เพื่อทำมาฆบูชาในโอกาสนี้ ที่ตรงนี้เป็นพระเจดีย์ที่เขาสร้างขึ้นอุทิศพระพุทธเจ้า แต่ว่าขโมยก็ขุดแหลกไปหมดแล้วในลักษณะอย่างนี้ ก็เอาสัญลักษณ์ภาพปั้นแห่งการประสูติ การตรัสรู้ การนิพพานนี้ แผ่นนั้นเหล่านี้มาตั้งประกอบเข้า ว่านี้เป็นสัญลักษณ์แห่งการประสูติ ตรัสรู้ นิพพาน หรือธรรมะ หรือสัญลักษณ์ของพระอรหันต์ ให้ถือเอาวัตถุเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์แสดงความหมายของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือพระอรหันต์ บูชาด้วยร่างกาย กราบไหว้ดอกไม้ธูปเทียนเวียนประทักษิณ แล้ววาจาก็เปล่งคำบูชาระลึกสรรเสริญคุณเป็นต้น จิตใจก็ทำไว้ ในลักษณะที่กล่าวมาแล้ว ปาก ปากไม่ต้องสวดอิติปิโสภควาก็ได้ พระสงฆ์ทั้งหลายจะสวดให้ เพื่อว่าจะได้มีจิตใจชนิดที่ระลึกได้ดี จะระลึกพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณนั้นก็ได้ หรือจะระลึกถึงคุณของพระอรหันต์อย่างที่กล่าวมาแล้วก็ได้ แล้วก็เวียนประทักษิณ
ประทักษิณนี้แปลว่าเวียนไปข้างขวา ขวาหมายความว่าถูก ซ้ายหมายความว่าผิด นี่เราทำการเวียนประทักษิณ มันก็มีค่าเท่ากับว่าเราสัญญาว่าเราจะทำดี ขอให้ช่วยถือเป็นหลักไว้สักหน่อยหนึ่งว่า การเวียนเทียน เวียนประทักษิณนี้ เวียนข้างขวา เวียนข้างขวาคือการกระทำดีกระทำถูก นั้นเวลาเราเวียนประทักษิณ เวียนข้างขวานี้ ขอให้ถือว่าเป็นสัญญา ที่เราทำกับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ว่าเราจะทำความดี คือขวา เวียนประทักษิณนี้คือการเซ็นต์สัญญากันกับพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ว่าเราจะเป็นผู้ทำตามคำแนะนำของพระองค์ เวียน ๓ รอบ รอบที่หนึ่งสัญญากับพระพุทธเจ้า รอบที่สองสัญญากับพระธรรม รอบที่สามสัญญากับพระสงฆ์ ว่าจะไม่เป็นลูกนอกคอก ว่าจะไม่เป็นลูกของพระยามาร ว่าจะไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสนี้ เราจึงเวียนประทักษิณสิ้น ๓ รอบ ไม่ว่ารอบที่จะได้ทำต่อไป ธรรมเทศนาที่เป็นการเตือนสติปัญญา เตรียมเนื้อ เตรียมตัว เตรียมใจ สำหรับจะประกอบพิธีมาฆบูชา ก็นับว่าสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติธรรมเทศนาไว้แต่เพียงนี้ก่อน เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้