แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ให้เวลา ๙๐ วันของคุณให้มีประโยชน์ที่สุด มีกำไรที่สุด ครบถ้วนใน ๓ เดือนนี้ ก็ต้องฝึก ขอให้ฝึกเถอะมีประโยชน์แน่ ดีแน่ ถ้าว่าน้ำหนักจะลดไปสัก ๖ กิโลเหมือนอย่างว่าแล้วก็ เป็นที่แน่นอน ผมเคยสังเกต ให้ชั่งสอบน้ำหนัก ไอ้พวกที่เอาจริง มันจะลดไป ๖ กิโลกว่าจะสึก แต่ก็ไม่ใช่ ๑๐๐% บางคนไม่ลดก็มี บางคนเพิ่มไป ๒-๓ กิโลก็มีแต่ว่าน้อย ที่จริงมันเป็นบางอย่าง(1.00) ตามระเบียบแล้ว หนุ่ม ๆ อย่างนี้มาบวชใหม่แล้วมันจะลด ไม่ใช่เพิ่ม แต่ว่าแข็งแรง แล้วก็สบาย แข็งแรง น้ำหนักลดไป ๖ กิโล แข็งแรง ปราดเปรียว แข็งแรง ขอให้พยายามทำตามคำแนะนำไปก่อน แม้ว่าเวลานี้จะไม่เชื่อก็ได้ นี่ประชาธิปไตยของพระพุทธเจ้าแท้ ไม่ต้องเชื่อทันทีที่พูด แต่ว่าขอให้สนใจฟัง แล้วคิด แล้วก็ใคร่ครวญ แล้วมันก็เชื่อของมันเอง แล้วอาจจะเห็นดีในอนาคตก็ได้ บางทีในเวลานี้ไม่เห็นด้วยหรอก นี่เป็นธรรมดา แต่ในอนาคตข้างหน้าอาจจะเห็นด้วย แล้วก็จะต้องเห็นด้วย เพราะว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องจริง จริงที่สุดสำหรับภิกษุ ที่จะเป็นภิกษุ แล้วก็จริง จริงอย่างพื้นฐาน จริงอย่างกว้าง ๆ แม้สำหรับฆราวาส
ฉะนั้นวันนี้ ผมพูดนี้จะไม่เชื่อก็ได้ แต่ว่าขอร้องหน่อยว่าเอาไปคิด มันมีคนบรมโง่ มีคนงมงายบรมโง่อยู่พวกหนึ่ง เมื่อผมโฆษณาพระพุทธภาษิต กาลามสูตรไปตามตัวหนังสือของกาลามสูตรนั้น มันมีว่า ไม่เชื่อเพราะว่ามีในพระไตรปิฎก ไม่เชื่อเพราะว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา ไม่เชื่อว่าเพราะผู้พูดควรเชื่อได้ ผมก็ต้องพูดตามนั้นแหละ เพราะมันถูกต้องว่าไม่เชื่อพระไตรปิฎก เป็นข้อแรกนะไม่เชื่อว่าเพราะข้อความนี้มีอยู่ในพระไตรปิฎก มา ปิฏกสัมปทาเนนะ แล้วก็ มา สมโณ โน ครุ ไม่เชื่อด้วยเหตุแต่เพียงว่าสมณะนี้เป็นครู เป็นอาจารย์ของเรา มา ภุพพรูปตายะ ไม่เชื่อเพราะว่าผู้พูดนี้มันน่าเชื่อ ควรเชื่อ แล้วข้ออื่น ๆ มันมีคนทั้งโง่ ทั้งบรมโง่ ทั้งที่เป็นมหาเปรียญหลาย ๆ ประโยค มันด่าผมว่าถ้าไม่ให้เชื่อพระไตรปิฎก แล้วทำไมจึงเอาพระไตรปิฎกมาอ้างสูตรนั้น สูตรนี้ ในการบรรยาย โฆษณา นี่...ท่านดูสิ พระพุทธเจ้าท่านก็ว่าอย่างนั้น ว่าอย่าเชื่อเพราะเหตุสักว่าข้อความนี้มีอยู่ในพระไตรปิฎก ทีนี้การพูดการบรรยายของเราก็อ้างพระไตรปิฎก ยกสูตรขึ้นมา มันก็เลยหาว่าเราบ้า เพราะเขาต้องการจะให้เชื่ออย่างหลับหูหลับตา นี่ขอให้เข้าใจเอาไว้ว่า ไม่ให้เชื่อพระไตรปิฎก แต่ต้องดู ต้องอ่าน ต้องฟัง ต้องคิด ต้องใคร่ครวญข้อความตามที่มีในพระไตรปิฎกนั้น แล้วก็ไม่ต้องเชื่อเพราะว่ามันมีในพระไตรปิฎก มันเชื่อต่อเมื่อเราใคร่ครวญแล้วเห็นว่ามันจริงอย่างนั้น นั่นความประสงค์ของพระพุทธเจ้า อย่างนี้คุณต้องช่วยจำไว้นะ เพราะว่าคุณเป็นนักศึกษา เป็นรุ่นหนุ่ม คุณยังจะต้องไปต่างประเทศ ถ้าพวกฝรั่งเขาเกิดถามปัญหาอย่างนี้แล้วจะได้ตอบให้ถูก อย่าทำพระพุทธเจ้าให้กลายเป็นคนงมงาย เป็นคนบ้าอะไรไปเสีย เพราะว่าถ้าเราอธิบายไม่ถูก อย่างเมื่อคืนนี้ที่ว่า งมงายจนพระพุทธเจ้าเป็นผู้งมงายไปด้วย นี่ก็จะทำให้พระพุทธเจ้าเป็นคนบ้าไปเลยว่าอย่าเชื่อตามพระไตรปิฎก อย่าเชื่อตามที่มีอยู่ในปิฎก ปิฎกใดก็ตาม คือท่านว่า ท่านไม่ได้ห้ามว่าอย่าอ่านตำรา อย่าอ่านคัมภีร์ อย่าอาศัยคัมภีร์ ไม่ได้ห้ามอย่างนั้น เพียงแต่ว่าอย่าเชื่อข้อความนั้นด้วยเหตุสักว่ามันมีเขียนอยู่ในตำรา เพราะตำรามันผิดได้ และตำราปลอมก็ได้ ใครจะไปรู้ล่ะ แม้พระไตรปิฎกนี่มันก็มีเขียนเสริมได้ เพราะมันตั้ง ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว ถ้ามันไม่สมเหตุสมผลก็ไม่ต้องเชื่อ ที่สมเหตุสมผล แล้วก็ปฏิบัติดู แล้วมันก็จริง นี่จึงเชื่อ ฉะนั้นเรายังคงถือได้อย่างเคร่งครัดว่า ไม่เชื่อว่า เพราะมันมีตัวหนังสืออยู่ในพระไตรปิฎก แล้วก็ไม่เชื่อว่ามัน สมณะนี้เป็นครูของเรา อย่างสมมติว่าผมนี่เป็นสมณะ แล้วก็เป็นครู เป็นอาจารย์ของพวกคุณ แล้วก็คุณอย่าเชื่อเพราะเหตุว่าผมพูด มันจะต้องถือตามพระพุทธเจ้าท่านสั่ง ก็ที่พูดนั่นพูดว่ายังไง ก็ฟังสิ ไม่ใช่ว่าไม่ฟัง พูดแล้วก็ฟัง ฟังแล้วก็เอาไปคิด แล้วมันจะเห็นจริงในส่วนที่มันจริง แล้วมันจะเห็นว่าไม่จริงในส่วนที่มันพูดผิดในส่วนนั้นก็ไม่ต้องเชื่อ ส่วนที่มันจริง ก็ทำลองดู เห็นว่าจริงแล้วทำลองดู แล้วมันก็ได้ผลจริง ๆ แล้วทีนี้มันก็เชื่ออีกครั้งหนึ่ง นี่เป็นครั้งที่ ๒ วิธีของพุทธบริษัทเป็นอย่างนี้
ฉะนั้นผมจึงว่าที่ผมพูดอะไรกันตรงนี้ วันนี้ก็ยังไม่ต้องเชื่อก็ได้ แต่อย่า ๆ ถึงกับไม่สนใจ ไม่ฟัง หรือไม่เอาไปคิด ทีนี้ผมกำลังพูดว่าไอ้คำพูดเหล่านี้จะมีประโยชน์แก่คุณ ถ้าไม่เห็นเดี๋ยวนี้ ก็จะต้องเห็นในวันหน้า เอาไปทำให้มันสำเร็จประโยชน์ มันมีความสำคัญอยู่คำเดียวแหละ คือว่าบังคับตัวเอง ไอ้หัวใจของการปฏิบัติทั้งหมดทั้งสิ้นในพระพุทธศาสนาแต่ต้นจนปลายมันมีอยู่ที่คำว่า ยติ ยติ แปลว่าสำรวมระวัง บังคับตัวเอง พวกเราทั้งหมดนี้เรียกว่าพวกยติ แล้วคุณก็ไม่เคยได้ยิน ถ้าเป็นภาษาสากลไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนา เกี่ยวกับภาษาทั่วไป ภาษาในอินเดีย อย่างสากลแล้ว อย่างนักบวชทั้งหลายนี่เขาเรียกว่ายติ จะศาสนาไหนก็ตามใจ ถ้าเป็นนักบวชที่แท้จริงต้องเป็น ยติ ย-ยักษ์ ต-เต่า สระ-อิ แปลว่าผู้บังคับตัวเอง นี่เราก็เป็นผู้บังคับตัวเอง แต่ว่ามีวิธีอย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น มันก็ไม่ค่อยเหมือนกันทุก ๆ ศาสนาหรอก ฉะนั้นเดี๋ยวนี้เราจะฉันอาหาร หรือจะทำอะไรก็ตามใจ ต้องให้มีการบังคับตัวเองเจืออยู่ด้วย อย่าปล่อยไปตามสบาย เช่นไปบิณฑบาตสูบบุหรี่ บิณฑบาตเดินเคียงคู่คุยกันอย่างนี้มันไม่มีความเป็นยติ อย่างที่กรุงเทพจะเห็นมากที่สุด บางทีเคียงคู่ เคียงไหล่กันทั้งสามองค์ เต็มถนน ก็ถนนมันยังไม่มีรถ นี่สมัยผมเห็นนะ สมัย ๔๐ ปีมาแล้ว ผมก็เคยไปอยู่เหมือนกัน แล้วก็เดินสูบบุหรี่ด้วยเวลาบิณฑบาต ไม่มีความสำรวม ไม่มีการบังคับตัวเอง ฉะนั้นเวลาไปบิณฑบาตนี้ต้องถือว่าเป็นเวลาในห้องเรียน เวลาที่อยู่ในบทเรียน ในห้องเรียน พอออกจากวัดก็กลายเป็นบทเรียนว่าไปบิณฑบาต ถ้าอยู่ที่วัดก็บทเรียนแบบหนึ่ง บิณฑบาตนี้จะต้องทำในใจว่า เราเป็นเปรต อย่างที่ว่าเมื่อวาน แต่ว่าเปรตในอีกความหมายหนึ่ง ไม่ใช่เปรตอย่างที่ เปรต ที่เขาใช้เป็นคำด่านั่น เปรตในที่นี้มันมีความหมายกว้างทั่วไปว่า ไม่ทำมาหาเลี้ยงชีพ ข้าวปลาอาหารด้วยตนเอง แต่รับเท่าที่เขาให้ เดี๋ยวนี้เรากำลังไปขอทาน แต่ว่าขอทานอย่างมีเกียรติ ขอทานอย่างผู้ปฏิบัติความดีสูงสุดกว่าบุคคลผู้จะให้ทาน อาหารนั้นมันก็เลยได้ เพราะว่าบารมีของพระพุทธเจ้า ที่เขาได้ใส่บาตรนั่นไม่ใช่เพราะเขาเห็นแก่เรา หรือเห็นแก่วัดนี้โดยตรงก็ไม่ใช่ เขาเห็นแก่พระพุทธเจ้า เห็นแก่พระพุทธศาสนา แล้วเราไปขออย่างเปรตนี้ ปรทัตตูปชีวี มีชีวิตอยู่ได้เพราะสิ่งที่ผู้อื่นให้ นี่คือความหมายของคำว่าเปรตโดยทั่วไป ส่วนที่มันจะเป็นทุกข์ทรมาน เป็นแผลพุพอง เป็นงู เป็นยักษ์อะไร มันอีกเรื่องหนึ่ง นั่นมันอีกส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่มันเหมือนกันคือเปรตนี่เขาถือกันไว้ หรือบัญญัติกันไว้ว่าไม่อาจจะมีส่วนบุญกุศลของตัวเอง ที่จะหล่อเลี้ยงตัวเอง ไม่มีอะไรดีในตัวเอง ฉะนั้นต้องแล้วแต่บุคคลอื่นให้ ดังนั้นเขาจึงให้นึกถึงเปรต ให้ช่วยบุคคลที่ไม่สามารถจะเลี้ยงตัวเอง จะแปลตามตัวหนังสือว่าเปรตที่เป็นผีนั้นก็ตามใจ หรือว่าจะแปลในปัจจุบันนี้ว่า คนบางคน บางพวก ที่มันไม่อาจจะเลี้ยงตัวเอง ผู้อื่นต้องช่วยนี่ก็อยู่ในพวกเปรต แล้วเราก็ช่วยกันอยู่ สงเคราะห์คนอนาถา คนตาบอด คนอะไรเหล่านี้ก็อยู่ในชุดนี้ ฉะนั้นเป็นเรื่องที่ดีมากแล้ว สำหรับว่าอาศัยมีชีวิตเป็นอยู่ด้วยสิ่งที่ผู้อื่นให้ เดี๋ยวนี้พวกเราก็กำลังเป็นเปรตในความหมายนี้ แต่ว่าในส่วนหนึ่ง คือจะไม่ทำนา จะไม่ค้าขาย จะไม่ประจบประแจงคฤหัสถ์ สอพลอเอานั่นเอานี่มากิน ใช้ลิ้นลมเล่ห์เหลี่ยมต่าง ๆ ล่อลวงเอาอาหารมา เอาเงินมา มาซื้อกินอย่างนี้ไม่ทำ จะเป็นผู้ไม่มีอะไรเลย ไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรเลย แล้วก็ถือบาตรเดินไป เขาใส่ให้นั้นแหละเรียกว่าเขาให้ แล้วก็มาเลี้ยงชีวิตอยู่ ฉะนั้นเราต้องคำนึงถึงข้อนี้ในใจ เดินไป ฉะนั้นจะทำเดินสูบบุหรี่ไปพลาง คุยกันเรื่องนั้นเรื่องนี้ไปพลาง หรือแม้ที่สุด แต่จะชมนกชมไม้ก็ไม่ควร เช่นว่าเดินไปสองคน ไปบิณฑบาตสายนี้ เห็นต้นไม้ เห็นนกเห็นอะไร มันก็จะชวนกันชมนกชมไม้อย่างนี้ก็ไม่ควร ให้ถือว่าเหมือนกับอยู่ในห้องเรียน ที่ครูห้ามไม่ให้คุยกัน เราจะต้องทำแต่บทเรียน ไปบิณฑบาตก็ต้องอย่างนั้น แล้วต้องมีจิตใจสำนึกความเป็นผู้อะไรของเรานี้ เราเป็นอะไรนี่ มีเพศต่างจากคฤหัสน์แล้ว เหมือนที่บทสวด ที่จะต้องสวดทุกวัน ๆ น่ะ (นาทีที่ ๑๑.๔๒ – นาทีที่ ๑๑.๔๗ เป็นบทสวดภาษาบาลี ไม่ได้ถอด) เดี๋ยวนี้เรามีเพศแปลกแตกต่างไปจากฆราวาสแล้ว เราจะต้องทำตามแบบของบรรพชิต กินอยู่ นั่ง นอน ยืน เดินทุกอย่างแหละ แม้จะไปบิณฑบาตก็ต้องนึกถึงข้อนี้ เมื่อย่างก้าวเท้าออกไปจากวัด เพราะเรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว
เดี๋ยวนี้เรากำลังทำหน้าที่ เพื่อเลี้ยงร่างกายเลี้ยงชีวิตอยู่ตามระเบียบที่พระพุทธเจ้าท่านทรงอนุญาตไว้ วางไว้ แล้วถ้าไม่มีเวลาก็นึกถึง ปัจจะเวก ยะถาปัจจะยัง เขาวางไว้ ระเบียบไว้อย่างนี้ว่าเรานี่ที่กำลังไปขอนี่ก็ไม่ใช่สัตว์บุคคล เป็นธาตุตามธรรมชาติ มีเหตุมีปัจจัยปรุงแต่งให้เป็นสัตว์ชนิดนี้ แต่ว่าไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่ของกู กระทั่งว่าอาหารที่ได้มา หรือแม้แต่บุคคลที่ใส่บาตรก็เหมือนกัน ถ้าพิจารณารูปนี้มันเป็นการทำวิปัสสนาสูงสุดเมื่อเดินไปบิณฑบาตนั่นเอง มันได้ประโยชน์อย่างนั้น มันได้กำไรอย่างนั้น ถ้าเราไปมัวสูบบุหรี่เสีย ไปคุยกันเสีย เวลาเดินบิณฑบาตมันก็ไม่ได้อะไร แล้วมันก็ขาดทุน ลึกลับเข้าไปอีก ถ้าเราทำอย่างนั้นมันกลายเป็นได้บุญ ได้กุศล ได้ทุกอย่าง ไปโปรดเขาให้เขาได้บุญก็ได้ แล้วเราก็ได้วิปัสสนาที่ว่าพิจารณาอยู่ว่า ผู้กินก็มิใช่บุคคล ของที่กินก็มิใช่บุคคล ผู้ให้ก็มิใช่บุคคล นี่จนกว่ามันจะกลับมา แรก ๆ มันคงทำยาก แล้วจะต้องเดินระวังไม่ให้พลัดหัวคันนา ตกหัวคันนาไม่ให้ควายขวิดตาย นี่มันก็ต้องมี มันต้องมีสติสัมปชัญญะมาก นั่นมันวิเศษอย่างนั้น คือมีสติสัมปชัญญะมากถึงขนาดนั้นที่จะเดินไปในละแวกบ้าน ไม่ชนเอาใครเข้า ไม่ไปโดนเอาควายเข้า สุนัขก็ไม่กัด ไม่ตกท้องร่อง แล้วก็ได้มาโดยเรียบร้อย แล้วก็อยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ แต่ต้นจนกลับ นี่บทเรียนระหว่างไปบิณฑบาตกว่าจะกลับ ก็ไม่มีเวลาที่จะคุยกัน หัวเราะกัน พอกลับมาถึงโรงฉัน มันก็ต้องทำอย่างดีที่สุดตามระเบียบตามวินัย กระทั่งว่าได้มาวางอยู่ตรงหน้าเพื่อจะฉัน เพราะมันมาเป็นบทเรียนชั่วโมงหลังอีก ชั่วโมงถัดไปอีก ชั่วโมงถัดไปอีก เดี๋ยวนี้จะต้องฉันอย่างกินเนื้อลูกกลางทะเลทรายอย่างนี้ ก็อย่าลืมเสีย ว่าจะเปิบก็ว่านี่เนื้อลูกกลางทะเลทราย แต่มันคงจะทำยาก ยากมากทีเดียวสำหรับผู้แรกบวช ที่จะว่ารู้สึกเหมือนกับเนื้อลูกกลางทะเลทราย แล้วมันเห็นอะไร ดูสิในนี้ปลานอนอยู่ มันมีไข่ มันมีอะไรก็ตามใจ มันยากที่จะเห็นว่าเป็นเนื้อลูกกลางทะเลทราย มันต้องทำกัน ฝึกฝนกันจนรู้ความหมาย ให้ฉันพอเลี้ยงชีวิต นี่ผมจะพูดวันนี้ก็มีแต่ข้อนี้ว่า อย่าคิดว่ามันง่ายนะที่จะฉันด้วยการรู้สึกว่าฉันเนื้อลูกกลางทะเลทราย คือฉันด้วยจิตเฉย ๆ นั่นน่ะ ผมก็สังเกตมาก คิดมาก ทบทวนมาก สมมติว่าไอ้พวกฝรั่งตะกละนี่ มันไปชี้กุ้งเป็น ๆ ในตู้กระจกว่าฉันเอาตัวนี้มาทอดให้ที เขาก็เอาเข้าไปในครัวมาทอดให้ มาเสิร์ฟ แล้วมันก็กินด้วยจิตเฉย ๆ เอ้า, ยอมรับว่าด้วยจิตเฉย ๆ ไม่ได้ตะกละ ละโมบ ละมาบอะไรนัก แต่คิดดูเหอะ มันต่างกันที่ว่าจะคิดว่านี่กินเนื้อลูกกลางทะเลทราย ไอ้เฉย ๆ นั้นน่ะ แม้ว่ามันจะไม่อะไรมากมันก็ยังอร่อย แม้ว่ามันจะไม่อร่อย แต่ว่าการเฉยนั้นมันสร้างนิสัยอันหนึ่งขึ้นมาโดยไม่ต้องเห็นแก่ใคร ไม่คิดถึงใคร ไม่คิดถึงผู้ใด มันมีความเห็นแก่ตัว แล้ว...เอาละกินเฉย ๆ เพื่อจะไปทำงานเร็ว ๆ อย่างนี้ก็ได้ นี่เรียกว่าเขากินอย่างนั้น เฉย ๆ แต่มันผิดกับของเรา ที่ว่าเฉย แต่มันเฉยอย่างอื่น ไม่ใช่กินปลา ไม่ใช่กินหมู ไม่ใช่ให้กินแต่อาหาร แล้วก็ในปริมาณที่ว่าพอเหมือนกับหยอดน้ำมันเพลาเกวียน ของเรามันเป็นการฝึก ทำบทเรียน ไม่ใช่กินอาหาร แล้วไปทำงานเหมือนพวกฝรั่งนั้น นี่เรากำลังฝึกทำบทเรียน เปิบแต่ละคำนี่เป็นบทเรียน ไม่ใช่ว่ากินข้าวเสร็จแล้วจะไปทำงานไม่ได้ งานมันอยู่ที่นี่ งานมันอยู่ที่จะเปิบข้าวใส่ปากให้ถูกวิธี คือบทเรียนสำหรับบรรพชิต
ขอให้สนใจทำ ตลอดเวลาที่เรายังเป็นนักบวช แล้วต่อไปจะพอดี ฝึกต่อไปแล้วทุกอย่างจะเป็นนิสัย เป็นเรื่องพอดี เป็นเรื่องอะไรที่มีประโยชน์กว่าเดิม ระหว่างที่บวชอยู่นี้ก็กินข้าวแบบ กินเนื้อลูกกลางทะเลยทรายไปก่อนเถิด แล้วกินปริมาณหยอดน้ำมันเพลาเกวียน แล้วก็บังคับจิตทุกอย่างทุกประการตลอดเวลา เรียกว่าการบังคับตัวเอง เป็น spirit ของความเป็นบรรพชิต เรื่องมีสติอยู่เสมอ จะเผลอสติไม่ได้ ฉะนั้นถ้าไปเพ่งเล็งอีกมุมหนึ่งก็คือว่า การไม่เผลอ ไม่เผลอสติ พอเผลอก็คือไม่บังคับตัวเอง ถ้ามีเผลอไม่มีบังคับตัวเอง ถ้ามีบังคับตัวเองมันก็ไม่มีเผลอ คือมันต้องมีสติ ฉะนั้นมันเป็นบทเรียนเดียวกัน ทีนี้เราจะมาฝึกทุกอย่างที่เป็นการฝึกฝนความมีสติ ยกตัวอย่าง แม้แต่ว่าทำแก้วน้ำแตกนี่ก็เรียกว่ามันเสีย spirit เสียเจตนารมณ์ของธรรมะและวินัย เพราะมันไม่มีสติ แก้วมันแตกเองไม่ได้ คนต้องเผลอ หรือไม่คุ้มครอง ฉะนั้นจะมีเรื่องวินัยประเภทหนึ่งมากมายหลายสิบข้อ เกี่ยวกับมีสติคุ้มครองสิ่งต่าง ๆ นี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เช่น ไตรจีวรนี่จะต้องมีสติรักษาคุ้มครอง พระพุทธเจ้าเป็นผู้ฉลาดประเสริฐที่สุด ไม่โง่ ไม่งมงาย อย่างที่คนบางคนไปพูดให้พระพุทธเจ้าเป็นคนงมงาย อย่างที่พูดเมื่อหัวรุ่งนี้ แต่อันนี้จะต้องถือเคร่งครัดที่สุด เดี๋ยวนี้ก็มีขึ้นแล้ว ฉันข้าวแล้วก็จะจัดการเรื่องนี้ เรื่องที่มีการเผลอและทำให้จีวรนั้นเป็น อยู่กับจา...(นาทีที่ ๑๘.๐๓) เอาละ เอามาไว้ทางนี้ ฉันข้าวก่อนแล้วค่อยพูดกัน นี่ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องละอาย แต่ว่าทำให้ถูก ทำให้ถูกตามระเบียบ ตามวินัย เพื่อความเป็นผู้เผลอยาก ถ้าเราปฏิบัติอยู่อย่างนี้ตลอดสามเดือนที่บวชนี้ ต่อไปจะเป็นคนเผลอยาก แล้วมีการบังคับอะไรต่าง ๆ ได้ดี แล้วมันต้องฉันข้าวไปก่อน เดี๋ยวบางคนจะหิว แล้วจะเผลอ แล้วจะโมโห เผลอแล้วโมโหได้เหมือนกัน พูดไปพลาง ฉันไปพลางก็ได้ ผมเป็นคนพูด แต่คุณอย่าพูด เพราะเมื่ออาหารอยู่ในปาก มีวินัยห้ามไม่ให้พูด แต่ผมไม่ได้งมงายตามตัวหนังสือ เพราะว่าถ้ามันจำเป็นจะต้องพูดเวลานั้นผมก็พูด และผมเชื่อว่าไม่เป็นอาบัติ แม้ถ้าเป็นอาบัติผมก็จะยอมเป็นอาบัติ เพื่อว่าจะพูดให้มันถูกกาลเทศะ เอ้า, นิมนต์ฉัน นั่งขัดสมาธิสิ นึกถึงว่าไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ผู้กินก็ดี อาหารที่กินก็ดี ดู ๆๆ พยายามที่จะให้มันเป็นเนื้อลูกกลางทะเลทรายไปเรื่อย ๆ วันแรกๆ มันเป็นไม่ได้หรอก มันเป็นข้าวตอก มันเป็นปลาหมึก มันเป็นอะไรอยู่นั่นแหละ แต่ว่าอย่าท้อถอย พยายามทำไป อาบัติที่ต้อง เพราะไม่รู้ เพราะไม่เจตนามีน้อยมาก แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องรักษากันอย่างเคร่งครัด ส่วนไหนจะฉันอย่างคลุกก็คลุกได้ ที่เหลือไว้ ถ้าสมมติว่ายังสู้ไม่ไหว จะฉันเพล ก็เก็บไว้ฉันเพล แต่ผมแนะนำว่า ตอนแรก ๆ นี้อย่าไปนึกถึงฉันเพลฉันเพลินอะไรเลย นึกถึงแต่พระพุทธเจ้าประสงค์อย่างไร เราจะทำอย่างนั้นดีกว่า ฉะนั้นจะถือธุดงค์สักสามวันเต็มๆ อย่างเคร่งครัดก็ยังดี ๗ วันก็ยังดี ๑ เดือนก็ยังดี หลายเดือนก็ยังดี นี่ถ้าเป็นอย่างสวนโมกข์ที่แรก ที่พุมเรียงนี่ เอามาคน ๆๆ กันแล้วก็แบ่งกันคนละกอง ๆ อยู่น้อยคนทำได้สะดวก จะฉันมุมไหนก็คลุกที่มุมนั้น แล้วก็ฉันให้หมด ที่เหลือก็ให้คนอื่นก็ได้ หรือจะฉันเพลอย่างว่าก็ได้ แต่ว่าอย่าเพิ่งดีกว่า ถ้าหิวไปแก้ตัวด้วยน้ำปานะ ด้วยไอ้เครื่องดื่มอย่างอื่นก่อน แล้วจะรู้ประโยชน์ของเครื่องดื่มเหมือนกัน มันสำหรับคนอ่อนเพลีย
อ้าว, มาช่วยจัดการกับลูกสุนัขที ลูกติดที่นั่งอยู่นั่น เด็กนั่น (ไปจับลูกหมาที) เอาไปให้ไกล เอาไม้เล็ก ๆ ทำเฟี้ยว ๆ ให้ตกใจ วิ่งหนีเลย
อาหารนี้แม้ว่าจะมาจากโรงครัว ก็อยู่ในรูปผู้อื่นให้นั่นแหละ ฉันอย่างที่ว่าเป็นเปรตน่ะ ผู้อื่นให้ นี่ถ้าใช้คำพูดในระดับนี้ เขาเรียกว่าในระดับของอริยวินัย หรือวิธีของพระอริยเจ้านี้ อย่างนี้พอดี ถ้าต้องสั่งปิ่นโต ต้องอะไรก็จะต้องเรียกว่าตะกละ ตะกละในระบอบอริยวินัย อาจจะไม่ใช่ตะกละในระบอบชาวบ้านก็ได้ นั่นพอดี แต่ถ้าว่าในระบอบของพระอริยเจ้าแล้วจะถือว่าเกิน เกินคือตะกละ จะฉันด้วยมือก็ได้ จะฉันด้วยช้อนก็ได้ แต่ต้องถูกต้อง ถ้ามีข้าวร่วงจากปาก หรือแม้แต่ข้าวร่วงจากช้อน หรือร่วงจากมืออย่างนี้ก็ผิดวินัยที่ว่าทำข้าวให้มันร่วงเรี่ยราด เพราะไม่มีสติสัมปชัญญะ เพราะไม่ตั้งอกตั้งใจจะทำคำข้าวให้เหมาะสมในการที่จะยกขึ้นมาใส่ปาก ข้าวร่วงจากปากบ้าง ข้าวร่วงจากมือบ้าง ข้าวร่วงจากช้อนบ้าง อย่างนี้เรียกว่าผิดเสขิยวัตร เพราะเรามันหิว แล้วก็จะฉันเร็ว ๆ จะทำคำข้าวให้เรียบร้อยก็ไม่ทัน อย่างนี้ก็ต้องเรียกว่าผิดวินัยข้อนี้ เหมา ๆ ไว้แสดงอาบัติรวม ๆ กัน ยกตัวอย่างเช่นว่า ทำข้าวร่วงจากปาก น่าเกลียด ร่วงจากช้อนนี่ เหมา ๆ ไว้ ถึงเวลาเช้าก็แสดงอาบัติ ฉันแล้วก็แสดงอาบัติ แม้ร่วงจากช้อนก็ต้องเรียกว่าไม่เรียบร้อย เป็นเรื่องผิดอาบัติ ผิดระเบียบเหมือนกับที่ว่าฉันกับมือแล้วมันร่วงเหมือนกัน เป็นคนรีบร้อน เป็นคนไม่มีสติสัมปชัญญะ ข้าวจึงร่วงจากปากบ้าง จากมือบ้าง นั่นไม่สำรวม ไม่ระวัง ไม่มีสติสัมปชัญญะ หัดฉันด้วยมือเสียบ้าง เพื่อเป็นที่ระลึกแต่พระพุทธเจ้าที่ฉันข้าวด้วยมือจนตลอดชีวิต แต่ทว่าในที่ประชุม หรือในที่ ๆ มันไม่ควรจะฉันด้วยมือ แล้วก็ไปฉันด้วยมือ แล้วยังถือเคร่ง อย่างนี้เรียกว่าคนโง่ คนงมงาย ตัวเองงมงาย แล้วไปทำให้พระพุทธเจ้าเป็นผู้งมงายไปอีก ถ้ามันไม่เรียบร้อยในมือก็ตาม ในช้อนก็ตามก็อย่าเพิ่งฉัน ทำให้เรียบร้อยแล้วจึงยกขึ้นมาฉัน ถ้าว่าละโมบทำคำใหญ่มันก็ต้องร่วง ร่วงจากมือ ร่วงจากปาก หรือหิวจัด หรือว่าละโมบก็ตาม มันทำคำข้าวใหญ่เกินไปมันก็ต้องร่วง ไม่ร่วงจากปากก็ร่วงจากช้อน ร่วงจากมือ นี่มันบังคับตัวเองกี่มากน้อย จงอย่าไปหวังไอ้ความอร่อยจากอาหาร หวังความอร่อยจากการที่เราได้ประพฤติตรงตามพระพุทธเจ้า อร่อยกันตรงนี้ เพราะการทำอย่างนี้ ๆ มันตรงตามความประสงค์ของพระพุทธเจ้า แล้วอร่อย อร่อยใจที่ตรงนี้ ทีนี้อาหารมันก็จะอร่อยเอง เพราะว่าจิตมันมีปิติปราโมทย์ ถ้าใครจะอร่อยก็อร่อยในข้อที่ว่าได้ปฏิบัติตรงตามพระพุทธประสงค์ รู้สึกพอใจแล้วก็อร่อยในความปฏิบัตินั้น จะฉันข้าวกับเกลือก็ยังอร่อย
ในพระคัมภีร์มีกล่าวเยอะแยะมากมายหลายสิบแห่ง สรุปความได้ว่า มีการบรรลุมรรคผลเมื่อมีความพอใจตัวเอง ที่ผมเรียกว่าอร่อยนี่ อร่อยคือรู้สึกได้ปฏิบัติดีที่สุดแล้ว นี่อร่อยอย่างนี้ นั่นแหละเรียกว่าปิติปราโมทย์ มันมีการบรรลุมรรคผลเมื่อเป็นอย่างนั้น มากมายเหลือเกิน ฉะนั้นอุตส่าห์ทำอะไร ๆ ให้มันมีลักษณะที่ว่า พอใจตัวเอง นับถือตัวเอง อร่อยแก่ตัวเองได้ไว้เสมอ ๆ มีโอกาสบรรลุมรรคผล ง่ายกว่าธรรมดา จะลุกหอบหนีฝนไปก็ไม่ผิดวินัยอะไร ไปนั่งฉันได้อีก มีบาลีว่าจะฉันได้อาสนะเดียว เอกาสะนิกังคัง ฉันได้ที่นั่ง ที่นั่งเดียว ฉันนั่งคนเดียว นี่สมมติว่าฝนตกมา เราจะหอบไป ลุกเดินไปที่ตึกนั่นแล้วไปฉันอีก อย่างนี้พวกคนที่เคร่งตามตัวหนังสือจนโง่ ก็ว่าขาดธุดงค์แล้ว เพราะว่าเป็นการนั่งครั้งที่ ๒ แล้ว แต่ตามความหมายเขาว่า มื้อเดียว หมายถึงมื้อเดียว ให้ฉันเพียงมื้อเดียวก็แล้วกัน ไอ้มื้อหนึ่งมันไม่เสร็จตรงนี้ มันมีเหตุอะไรที่ต้องให้ลุกไปมันก็ได้ถ้าตามความหมาย แต่ถ้าตามตัวหนังสือมันไม่ได้ ฉะนั้นใครจะถือแต่ตัวหนังสือหรือตามความหมายมันอยู่ที่ตรงนี้
ทีนี้ก็มีบุคคลที่ฉลาดที่เขาถือได้ทั้งสองอย่าง คือทั้งอรรถถะทั้งพยัญชนะ ทั้งความหมายและตัวหนังสือ ก็หมายความว่าเขารู้ว่าตัวหนังสือนั้นมันหมายความว่าอย่างไร ตัวหนังสือนั้นมันหมายความว่าอย่างไร ก็เลยถือตามความหมาย ก็ถูกทั้งทางตัวหนังสือและทั้งทางความหมาย ให้ถูกตามความหมายนั่นแหละคือไม่ทำให้เรางมงาย และก็ไม่ทำให้พระพุทธเจ้าถูกหาว่าเป็นคนงมงายเพราะบัญญัติไอ้สิ่งเหล่านี้ไว้ จำคำว่าความหมายไว้ให้ดี ๆ ให้ถูกความหมายแล้วก็ไม่งมงาย ยึดตัวหนังสือข้างเดียวแล้วก็มีส่วนที่งมงายได้ง่าย ทีนี้สมมติว่าฝนตกลงมา ลองเดาสิ สันนิษฐานว่าพระพุทธเจ้าจะลุกหนีไหม นั่งฉันข้าวอยู่อย่างนี้ ถ้าฝนตกลงมาพระพุทธเจ้าจะลุกหนีไหม ใครมีความเชื่อยังไงก็ปฏิบัติอย่างนั้น มีวินัยห้ามว่าไม่ให้ฉันพลางสะบัดมือพลาง หมายถึงฉันด้วยมือนะ มันต้องมีน้ำล้างมือ แม้ไม่มีน้ำล้างมือก็ไม่ให้ฉันพลางสลัดมือพลาง
คำว่าภิกขุแปลว่าผู้ขอ นี่เราเรียกเราว่า ภิกขุ แปลว่าผู้ขอ นี่ถ้าถือตามตัวหนังสืออย่างงมงาย ขอทานขอเทินก็เป็นภิกขุไปหมด มันก็จริงเหมือนกันแหละ แต่มันไม่ถูกเรื่อง คำว่าภิกขุแปลว่าผู้ขอ แต่ไม่ได้หมายความว่าขอทานก็เป็นภิกขุ ภิกขุ ผู้ขอ ภักโข ผู้กิน ภักโขในความหมายทั่ว ๆ ไปนั่นคือเป็นยักษ์ เป็นมาร เป็นคนเอาเปรียบ เป็นคนอย่างนั้นแหละเรียกภักโข ผู้กิน ไอ้เราก็ผู้กินเหมือนกันแต่ไม่ใช่ภักโขแบบนั้น วินัยข้อหนึ่ง ซึ่งผู้แปลหรือนักแปลเถียงกันอยู่ ได้ความว่าพระพุทธเจ้าไม่ให้เริ่มฉันลงไปตรงกลาง ของในถาดในบาตรนี่ห้ามไม่ให้ฉันลงไปตรงกลาง ไม่ให้ตั้งต้นตรงกลาง ให้ตั้งต้นมาแต่ริม ผมว่าอย่างนี้ถูก แต่บางคนเขาว่ายังแปลผิด ว่าฉันมาแต่...ฉันตรงกลาง เอาเถอะหาเอง(นาทีที่ ๓๙.๒๘) ฉันลงไปตรงกลางนั่นมันคือคนละโมบ รีบร้อน ไอ้คนที่ฉันไปแต่ริม ๆ มันเป็นคนที่มีสติสัมปชัญญะ เมื่อวานก็พูดแล้วว่าถ้าฉันด้วยจิตที่อร่อย หรือละโมบนั้นคือกินไฟ กินก้อนไฟเข้าไป เมื่อวานพูดแล้ว หมายความว่าต้องนึกถึงอยู่ทุกวัน อย่าบริโภคด้วยตัณหา ถ้าบาลีเขาว่าอย่างนั้น บริโภคนี้อย่าได้บริโภคที่จิตกำลังประกอบอยู่ด้วยตัณหาในรส ถ้าทำอย่างนั้นจะกินไฟเข้าไปทั้ง ๆ ของนี้เย็นสนิทเลย
มันมีบาลีว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่าบางคราวเราฉันหมดบาตร บางคราวครึ่งบาตร บางคราว ทีนี้คนมันจะคิดว่า เอ๊ะ, พระพุทธเจ้านี่แย่แล้ว ฉันข้าวหมดบาตร เพราะมันไม่มีความรู้เรื่องบาตรว่าเป็นอย่างไร บาตรในครั้งพุทธกาลนั้นฉันหมดบาตรได้ มันแบบรูปขัน ไม่โตนัก ที่เขาขุดได้ทางโบราณคดี ที่เชื่อกันว่าจะเป็นบาตรเมื่อครั้งพุทธกาลจริง ก็มีอยู่ตามพิพิธภัณฑ์บางแห่ง ไปดูกันเถอะ มันเล็ก แตกเป็นเสี่ยงแล้ว แต่ก็มาต่อกันเข้ามาก็ยังเห็นได้ชัดว่ามันเป็นบาตรขนาดเล็ก ไม่เหมือนกับบาตรเดี๋ยวนี้ โดยเฉพาะในประเทศไทย ครั้งพุทธกาลไม่มีฝาบาตร นี่คุณยังมีฝาบาตร นี่เรายังมีฝาบาตรใช้ แล้วเรายังมีเชิงบาตรรองบาตรใช้ ถ้าเป็นอย่างครั้งพุทธกาลไม่มีทั้งเชิงบาตรทั้งฝาบาตร ในทางโบราณคดีก็ไม่มี ในทางวินัยก็ไม่เห็นพูดถึง ในพระไตรปิฎกก็ไม่มีพูดถึงเชิงบาตร ฝาบาตร บาตรมีขนาดเล็ก ทางพระคัมภีร์ยังมีพูดถึงว่าห้ามใช้ผลมะตูมหรือกะโหลกศีรษะแทนบาตร แสดงว่ามันเล็กนะนี่ ฉะนั้นไม่ต้องเอาอย่างผม นิมนต์ฉันอีกเถอะ นิมนต์ฉันไปเรื่อย ๆ เถอะ เพราะว่าผมมันต้องการลดความอ้วน ต้องรู้ว่าต้องฉันเท่าไหร่ จำกัด ของคุณไม่มีเรื่องลดความอ้วนก็ฉันไปเรื่อย ๆ ผมจะพูดให้ฟัง
มันมีคำบาลีที่ว่าเป็นผู้มีอาหารน้อยเถิด นั่น...ทีนี้คนโง่ คนงมงายมันก็เข้าใจว่ากินให้น้อยที่สุดเลย กินคำเดียวสองคำแล้วจะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีอาหารน้อย มันงมงาย อาหารน้อยคืออย่ากินตามที่ตัณหาต้องการ แล้วก็อย่ากินให้อิ่ม ให้เหลือไว้กินน้ำบ้างนี่เขาเรียกว่ามีอาหารน้อย ไอ้คำมันไม่แน่ บางคนมันกินมากบางคนมันกินน้อย แต่ว่าอย่ากินด้วยตัณหา และอย่ากินจนรู้สึกว่ามันอิ่มด้วยอาหาร ด้วยอามิสนี่ เหลือที่ให้กินน้ำ ให้อิ่มด้วยน้ำอย่างนี้ก็เรียกว่าพอดี สบาย ก็เรียกว่าฉัน อยู่ในพวกอาหารน้อย อาหารน้อยก็คือฉันจนท้องบอกว่าไม่ไหวแล้ว ไอ้ปากมันก็ยังจะฉันเรื่อย เหมือนพวกชาวกรุงสมัยนี้ กินเรื่อย เพราะมันมีของอร่อยให้เลือกเรื่อย ฉะนั้นเรารู้ประมาณเอาเอง พอจวนมันจะอิ่มล่ะก็ขยักเสียบ้าง แล้วกินน้ำให้อิ่ม ในบาลีไม่มีคำที่จะเรียกว่าช้อนอย่างนี้ เพราะอาหารน้ำมันไม่มี ถ้าอาหารน้ำ มันก็คลุก แกงกับมันคลุกข้าวทั้งนั้น ที่จะต้องซดน้ำแกงซดอะไรนี่มันไม่มี ถ้ามันน้ำจริง ๆ มันก็ดื่มจากถ้วย มันมีอย่างนั้น ถ้าแบบอินเดีย ถ้าของมันเป็นน้ำจริง ๆ มันก็ดื่มจากถ้วย ถ้าของมันไม่เป็นน้ำก็ดื่ม ก็คลุกข้าว อย่างข้าวต้มนี่มันเป็นการดื่มจากถ้วย ไม่มีช้อน เดี๋ยวนี้เรามันมีช้อน แต่เรื่องนี้ไม่มีผิดไม่มีถูกน่ะเกี่ยวกับช้อน หรือแม้ว่าจะตะเกียบนี้มันก็ไม่มีผิดไม่มีถูก ถ้าต้องใช้ตะเกียบก็ใช้ได้ แต่ให้มันเรียบร้อยก็แล้วกัน นี่มันไม่มีจำเป็นอะไรที่ต้องใช้ตะเกียบ มันก็ฉันกับมือ แต่ถ้ามันจำเป็น มันมีอะไรเหตุผลมากแล้วก็ เอาก็ได้เหมือนกัน ถ้ามันจะเกิดเรื่องเสียหายขึ้นน่ะ พระพุทธเจ้าท่านไม่มีงมงายหรอก ท่านจะผ่อนผันไม่ให้มันมีเรื่องงมงายเกิดขึ้นได้ พวกเถรตรงมันว่าเอาเอง จนให้พระพุทธเจ้าเป็นคนงมงายไป เพราะคนเข้าใจผิด หรืออีกทีหนึ่งถ้าเรื่องมันยุ่งยากนักก็ไม่ฉันมันก็ได้ ก็ไม่ผิดอีกเหมือนกัน ไอ้คนตะกละ คนงมงาย มันก็บอกว่า โอ้ย, ไม่ฉัน มันเสียศรัทธาชาวบ้าน แล้วก็เป็นอาบัติอีก มันตะกละมันก็ว่าอย่างนั้น แต่ถ้ามันไม่ถูกไม่สมควร หรือมันยุ่งยากนักไม่ฉันก็ได้ หรืออะไรที่สงสัยว่าไม่สมควร ไม่ฉันก็ได้ ไม่ต้องไปคิดว่าเขาจะเสียใจ มันต้องดูให้ถูกทุกอย่างไป แต่ถ้าทำให้เขาเสียศรัทธา เสียความตั้งใจโดยไม่มีเหตุผลต้องถือว่าเป็นอาบัติ ไม่ควรทั้งในทางธรรมแล้วก็ถือว่าเป็นโทษทางวินัย เช่นว่ารับมามากเกินอย่างนี้ก็เป็นอาบัติ แต่บางทีมันก็ต้องรับมากยิ่งกว่ามาก ถ่ายสองหนสามหนก็มี เพราะว่าคนมันมามากมันต้องการใส่ ไม่ได้ใส่มันเสียใจ รับจนล้นบาตรแล้วถ่าย ถ่ายแล้วรับอีก รับอีก ถ่ายบาตรตั้งสามหนอันนี้มันเกินกว่ามาก นั่นแหละตัวอย่างของคำว่าถือว่าตามตัวหนังสือ มันทำไม่ได้หรอก มันปฏิบัติไม่ได้ต้องถือโดยอรรถ โดยความหมายที่ถูกต้อง แล้วก็ต้องมีเจตนาอันบริสุทธิ์ แล้วฉลาด ฉลาดในอรรถ พยัญชนะ และมีเจตนาบริสุทธิ์อย่างนี้คือวินัยได้ดี ถ้างมงายมันจะยืนยันเอาแต่ตัวหนังสือบ้าง หรือตามปรัมปราที่คนเขาเคยทำกันมาบ้าง อย่างนี้ก็ผิดแล้ว มีกาลามสูตร มีมหาประเทศอย่างอื่นห้ามทำอย่างนั้น มา ปรัมปรายะ อย่าอ้างเหตุผลว่าเพราะทำสืบ ๆ กันมาอย่างนี้ อย่าอ้าง มันต้องถูกต้อง ฉันอย่างกินเนื้อลูกกลางทะเลทรายนี้มันแน่นอนล่ะต้องเคี้ยวช้า ถ้าไม่เคี้ยวช้า พิจารณาไม่ทัน พิจารณาไม่ออก ต้องเคี้ยวช้า กลืนช้า อะไรช้า มันพอนึกตามความหมายกินเนื้อลูกกลางทะเลทรายได้
ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคที่เป็นหนังสือชั้นหลัง เมื่อสักพัน พ.ศ.ตั้งพันนะนี่ ท่านแนะว่า ให้เว้นเสียสี่ห้าคำที่เราเคยกินพอดี ๆ นั้นให้ลดเสียสี่ห้าคำ แล้วกินน้ำเถิด ให้อิ่ม นี้พอดี สำหรับผู้ที่จะประพฤติพรหมจรรย์ บาลีมันมีว่า จตฺตาโร ปญฺจ อาโรเป อภุตวา อุทกํ ปิเว เราไม่กิน สี่ห้าคำแล้วกินน้ำเถิด ทีนี้นักแปลรุ่นแรกของโรงพิมพ์ไทย แปลวิสุทธิมรรคมันไม่เข้าใจ ไม่กินสี่ห้าคำแล้วกินน้ำเถิด มันไม่เข้าใจ มันเลยไปแก้ดื้อ ๆ ว่ากินสี่ห้าคำแล้วกินน้ำเถิด มันบ้าเลย หนังสือสมัยนี้ก็ยังใช้เป็นแบบฉบับกันอยู่ จนเดี๋ยวนี้ ก็กินสี่ห้าคำแล้วกินน้ำเถิด พอไม่กิน บาลีมันชัดว่า อภุตวา แปลว่าไม่กินสี่ห้าคำแล้วกินน้ำเถิด มันติดตัวหนังสือเกินไป มันฟังไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าทำอย่างไร มันหาว่าหนังสือผิด ไปแก้เลย แก้บาลีเลย เป็นว่ากินสี่ห้าคำแล้วกินน้ำเถิด ที่พวกที่โง่ตามวิสุทธิมรรคที่แปลอย่างนี้ก็ผิดตายเลย แล้วก็หาว่าพระพุทธเจ้าบ้าบอไปเลยที่บังคับให้กินข้าวสี่ห้าคำ แล้วก็พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ว่ากินสี่ห้าคำ ผู้เขียนหนังสือวิสุทธิมรรคว่า ว่าไม่กินสี่ห้าคำ ก็คือว่าสี่ห้าคำตอนท้ายน่ะอย่ากิน เพราะเขาแต่งเป็นคำกลอน นี่คำกลอนทำพิษ มันบังคับตัวหนังสือ จำกัดจำนวนตัวหนังสือ จตฺตาโร ปญฺจ อาโลเป อภุตวา อุทกํ ปิเว ปหิตตฺตสฺส ภิกฺขุโน มันว่าเป็นคำกลอน ทีนี้มันจะมีตัวหนังสือเต็มที่ไม่ได้ เราต้องรู้ไอ้ความหมายของคาถานั้น ไม่กินสี่ห้าคำแล้วกินน้ำ อลํ ผาสุวิหาราย เท่านี้ก็พอแล้วที่จะอยู่ ปหิตตฺตสฺส ภิกฺขุโน สำหรับผู้มีตนนั้นส่งไปแล้วในพรหมจรรย์ ในสมาธิ ระวังตัวหนังสือ แล้วก็ระวังหนังสือคัมภีร์ที่เอามาถือมาอ้าง มันมีแปลผิดอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ของเดิมมันถูก พระพุทธเจ้าจึงว่าอย่าไปอ้างตำรา อย่าไปยึดว่าเขาทำสืบ ๆ กันมา อย่ากระทั่งว่า อย่าถือเอาเพราะว่ามันตรงกับความเห็นความคิดของเราทุกทีไป ไอ้อย่างนี้ก็ยังไม่เอา มันต้องมีเหตุผลที่จะดับทุกข์ได้ชัด ๆ ถ้าทำกันแล้วมันดับทุกข์ได้จริงจึงจะเอา
ผมพูดได้เลยว่า ถ้าคุณยิ่งสนใจไม่ประมาท ศึกษาโดยละเอียดโดยไม่ประมาทแล้ว คุณจะรักพระพุทธเจ้ายิ่งขึ้นทุกที ๆ เหมือนผม ผมยิ่งรักพระพุทธเจ้ามากขึ้นทุกปี ๆๆๆๆๆ ไม่มีส่วนที่จะเห็นเป็นเรื่องงมงายหรือเป็นเรื่องปฏิบัติไม่ได้ หรืออะไรทำนองนั้น พวกเคร่งตามตัวหนังสือมันก็เคร่งเพื่อชื่อเสียงของตัวเอง เพื่อหน้าตา เพื่อเกียรติของตัวเอง อยากดี อยากดังทั้งนั้น ก็ไม่มีทางที่จะรู้จักพระพุทธเจ้า หรือความหมายของพระพุทธวจนะ ฉะนั้นเราจะต้องไม่ประมาทก่อน คือถือหลักที่พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าไม่เชื่อทันทีก่อน แล้วใคร่ครวญด้วยเหตุผล ซักไซ้ไต่ถามเอามาพิจารณา หรือว่าเอามาทดลองปฏิบัติดูก็ได้ แต่ยังไม่เชื่อ มันอย่างเดียวกับไอ้ของแผนใหม่ ไอ้หยูกยาแผนใหม่ที่วิเศษ ๆ น่ะ เรามาลองกินดูก่อน ถ้ามันมีประโยชน์ก็เชื่อหรือถือเอาเป็นหลักไป แต่ที่จะมาให้เชื่อทันทีนี้ก็ไม่เชื่อ ฉะนั้นสรุปแล้ว ขอให้ถือเป็นหลักว่า ถ้าเรารักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มากขึ้นทุกทีอันนั้นจะถูก ถ้าเราชักจะไม่เห็นด้วย ชักจะเฉย ๆ ชักจะไม่เข้าใจมากขึ้นทุกทีแล้วมันก็ผิดแล้ว เพราะพระพุทธเจ้าจริงก็ไม่ใช่พระพุทธเจ้าที่นิพพานแล้ว นั่นพระพุทธเจ้าของเด็ก ๆ พระพุทธเจ้านิพพานแล้ว พระพุทธเจ้าจริงไม่มีนิพพานล่ะ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ฉะนั้นไม่รู้จักนิพพาน ธรรมะมีอยู่ตลอดเวลา ถ้าถามว่าธรรมะข้อไหนที่ว่าเห็นแล้วเห็นพระพุทธเจ้า ต้องธรรมะเรื่องดับทุกข์ได้ จึงมีสูตรกล่าวไว้ชัดว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาทผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท อย่างนี้มีพระบาลีพุทธภาษิต ในตัวพระไตรปิฎกเอง ทีนี้ที่อื่นมันมีว่าผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ถ้าใครอยากเห็นพระพุทธเจ้าต้องเห็นธรรม ที่เห็นธรรม เห็นที่ไหน เห็นที่เห็นปฏิจจสมุปบาท ไอ้เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นเรื่องดับทุกข์โดยตรง ทุกข์เกิดขึ้นอย่างนี้ แล้วทุกข์จะดับลงไปอย่างนี้ ผู้ใดเห็นข้อนี้ผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า มันก็ยิ่งรักพระพุทธเจ้าเท่านั้นเอง ส่วนพระพุทธเจ้าที่เป็นคนหรือเป็นพระพุทธรูป หรือว่าที่เป็นวิญญาณ เชิญมาได้อีก เรื่องนี้มันคนละเรื่อง อย่าเอามาปนกัน เขาไว้สำหรับคนพวกอื่น ไม่ใช่สำหรับพวกเราที่นั่งที่นี่ แล้วผมก็ไม่ไปคัดค้าน หรือไม่ไปว่าอะไรเขาให้มันเสียเวลา เรามีพระพุทธเจ้าอย่างของเรา เขาก็มีอย่างของเขา เราก็ไม่ต้องปะทะกันก็ได้
ในที่สุดมันเห็นได้ว่ามันก็อยู่เป็นชั้น ๆๆๆๆ ชั้นผิวนอก ชั้นข้างใน ชั้นตรงกลาง ชั้นที่ลึกถึงที่สุด มันมีเป็นชั้น ๆ วินัยก็มีเป็นชั้น ๆ ธรรมะก็มีเป็นชั้น ๆ การบรรลุผลก็มีเป็นชั้น ๆ ฉะนั้น ๙๐ วันทำให้ดี จะมีประโยชน์บอกไม่ถูกเลย จะมีค่ายิ่งกว่าไอ้เวลาอื่น ๆ ที่เรามีในชีวิต ไอ้ ๙๐ วันของคุณถ้าทำให้ดี มันก็พอจะทนได้ ๙๐ วันพอจะทนได้ ถ้าพูดเป็นภาษาอะไรล่ะ ภาษาธรรมะก็จะพูดว่า ไม่ใช่เพียงแต่รู้จักชีวิต ไม่ใช่เพียงแต่รู้จักชีวิต มันเป็นตัวชีวิต มันเป็นการถึงชีวิตเอง แต่นี่เราไม่รู้จักแม้แต่ชีวิต ไม่ถึงตัวชีวิตที่แท้จริง ถึงชีวิตอย่างไอ้ลูกเด็ก ๆ อ่ะ ชีวิตก็คือไม่ตายอย่างนี้มันก็ไม่ใช่ ไอ้ชีวิตมันมีความหมายยิ่งกว่านั้น มันสดใสกว่านั้น มันลึกซึ้งกว่านั้น สำนวนหนึ่งเขาหมายถึงนิพพาน เพราะสิ่งอื่นมันตายนี่ นอกจากนิพพานอย่างเดียวที่ไม่ตาย สิ่งอื่นทุกอย่างนอกจากนิพพานแล้วตายทั้งนั้นแหละ ไม่ช้าก็เร็ว นิพพานอย่างเดียวไม่ตาย เอาคำว่าชีวิตมามีความหมายที่สูงสุดก็คือนิพพาน การลุถึงนิพพานคือการมีชีวิตแล้วก็ไม่ตาย ระหว่างบวช ...เสียงขาดหายไป... (นาทีที่ ๐๑.๐๑.๐๓) ทรัพย์สมบัติอะไรก็ตามจะช่วยทำให้เราเป็นทุกข์ ฉะนั้นเราต้องรู้ธรรมะอันนี้ แล้วสิ่งต่าง ๆ จะไม่ทำให้เราเป็นทุกข์ เรียกว่าได้เครื่องรางคุ้มกันตลอดชีวิต ไม่มีความทุกข์ จึงถือว่ามันวิเศษ ประเสริฐกว่าสิ่งใด ๆ หมด อยู่ในวิสัยที่คุณอาจจะเข้าใจได้ใน ๙๐ วัน แต่ที่จะถึง ลุถึงได้หรือไม่นั้นไม่รับรอง รับรองแต่ว่ามันอยู่ในวิสัยที่คุณจะเข้าใจได้ภายใน ๙๐ วัน ขอให้ทำให้ดี ๆ แต่จะถึงจริง ได้จริงหรือไม่นั้นมันอีกเรื่องหนึ่ง มันไม่แน่ ถ้าสมมติว่า ถ้าว่าจิตใจของเราเปลี่ยนหมด จนมีความทุกข์อะไรไม่เป็นอีกต่อไปนั่นเรียกว่าได้ ได้จริง ๆ ด้วย เดี๋ยวนี้เอาแต่เพียงว่าเรารู้เรื่องนี้ ไม่เข้าใจผิด ไม่หลงทางอีกต่อไป จนกว่าจะตาย เท่านี้ก็พอแล้ว อย่า ไป ๆๆ นี่จะให้ไอ้สามตัวนี้ หลวงพ่อต้องกันจีวรขึ้น
กิจวัตรของพระเราคือบิณฑบาต กวาดวัด แสดงอาบัติ ทำวัตร สวดมนต์ ขวนขวายภาวนาเรื่อยไปเรื่อย บิณฑบาต ไม่บิณฑบาตนี่มาก่อนเลย เพราะถ้าไม่มีบิณฑบาตมันก็อยู่ไม่ได้ แล้วกวาดวัด แต่โบราณ พระ เณรจะกวาดวัด เพื่อไม่ให้ขี้เกียจ เพื่อให้ว่องไว เพื่อให้ปราดเปรียว กวาดวัดนี้มันแก้ความเห็นแก่ตัว นี่มานั่งอยู่เฉย ๆ จะจับไม้กวาด กวาดสักหน่อยก็ไม่ได้ มันเห็นแก่ตัว ฉะนั้นถ้าจับไม้กวาดกวาดมันก็ไม่เห็นแก่ตัว แล้วมันก็ยังกวาดจิตใจ เรากวาดวัดแต่มันกวาดจิตใจเรา ให้เรากวาดวัด วัดมันกวาดจิตใจเราให้หมดความเห็นแก่ตัว พระเณรแต่โบราณบ้านนอก เขาจะกวาดวัดทันที พอมาจากบิณฑบาต เอาบาตรวาง แล้วก็จับไม้กวาดกวาดกันทันที ทุกคนอ่ะ กว่าจะถึงเวลาตีกลองฉันจึงจะไป โดยเป็นธรรมเนียม มันจึงมีคำพูดติดกันมาบิณฑบาต กวาดวัด ปลงอาบัติ ทำวัตร สวดมนต์ ขวนขวาย กรรมฐาน ภาวนา ทีนี้บิณฑบาต กวาดวัด แล้วปลงอาบัติ ปลงอาบัตินี้ยังไม่เข้าใจ บางคนยังไม่เข้าใจ เข้าใจอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้นไปตามเรื่องก็มี ไอ้ปลงอาบัตินี้ก็คือการทำตัวเองให้พ้นจากโทษหรือข้อผูกพันอันนั้น ถ้าเราทำผิดอะไรเข้าไปแล้ว เราก็ทำให้มันเลิกล้างกันไปตามวิธีที่กำหนดไว้ ก็เป็นอันว่าพ้นจากโทษนั้น ๆ เพราะว่าไอ้โทษนี้เป็นสิ่งที่บัญญัติขึ้น ไม่ใช่เรื่องของกรรม อย่าเอาไปปนกัน ฟังให้ดี ๆ เรื่องปลงอาบัติทางวินัยนี้ไม่ใช่เรื่องของกรรม เรื่องของกรรมมันยังมีส่วนต่างหาก แต่ส่วนอาบัตินี้ไม่ใช่เรื่องของกรรม เป็นเรื่องทางวินัย เพราะพระพุทธเจ้าท่านบัญญัติขึ้นมันจึงมีวินัยข้อนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อท่านบัญญัติไว้ว่าทำอย่างนี้จะพ้นโทษข้อนี้ มันก็เป็นพ้นโทษ มันต้องอาบัติที่แสดงได้ ก็แสดงหมด ก็พ้นโทษ แล้วอาบัติที่สูงสุดมันต้องแสดงด้วยการลาสิกขา สึกออกไปเสีย ต้องแสดงอาการอย่างนั้นก็มี ก็พ้นได้เพราะว่ามันแสดงเปิดเผย เลิกกันไปเป็นฆราวาส แต่นี่อาบัติที่ว่าจะต้องทำตามระเบียบพิธีกรรมต่าง ๆ นี้ก็มี เช่นแสดงอาบัติด้วยการบอกนี่ก็มี ในการกระทำบางอย่างเข้าไปด้วยก็มี อันนี้ก็มีแต่ระเบียบที่ว่าฉันข้าวแล้วแสดงอาบัติ ผมนี่เป็นพยานหลักฐานว่าผมก็ได้ปฏิบัติอย่างนั้น พอฉันข้าวแล้วก็ต้องแสดงอาบัติ ไม่มี ไม่มีอาบัติจะแสดง ก็แสดงแบบหนึ่งที่เรียกว่ารวม ๆ เพราะว่าถือว่าเราจะ อาจจะไม่รู้ก็ได้ เพราะว่าอาบัติพวกอจิตตกะก็มีอยู่บ้าง คือเราไม่รู้ว่าเป็นอาบัติก็มี เช่นอยู่ปราศจากจีวรนี่ แม้เราเผลอไปเราไม่รู้ หรือว่าดื่มในสิ่งที่ไม่ควรดื่มเข้าไปโดยไม่รู้นี้ พวกอจิตตกะ เขาเรียก มันมีอยู่ไม่กี่ข้อหรอก แต่มันก็มี ฉะนั้นเราก็แสดงอาบัติรวม ๆ ไว้ทีก่อนก็ได้ โบราณเขาคงจะเห็นอย่างนั้น ไม่ใช่งมงายหรอก เว้นไว้แต่คนนั้นมันจะงมงายเสียเอง แต่ผมเห็นว่า เขาคงจะมุ่งหมายให้เราเป็นคนซื่อตรง ให้มันชินอยู่กับการเปิดเผย อย่าให้ชินอยู่กับการปกปิด นี่เรามันชินกับการปกปิดความลับตั้งแต่เกิดมาใช่ไหม ทำอะไรผิดนิดหนึ่งก็ไม่อยากให้แม่ให้พ่อรู้ เดี๋ยวนี้ก็ให้มันเปลี่ยนนิสัยกันเสียใหม่ จะฝึกให้เป็นคนเปิดเผย ถึงเวลาแสดงอาบัติก็จะนึก ๆๆๆ ถ้ามีอาบัติชื่ออะไร ก็บอกว่าต้องอาบัติชื่อนั้น ทีนี้ถ้ามันยังไม่รู้อะไรแน่ ก็สร้างนิสัยกันใหม่ว่าบอกเถอะ ผมต้องการอาบัติอะไรผมก็ขอแสดงวิธีก่อน เพื่อให้มันไม่ลืม เพื่อให้มันจำได้ ให้มันคล่องแคล่ว หรือว่ามันมีนิสัยที่ชอบแสดงอาบัติ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว หลายปีน่ะมันถึงจะแสดงมาสักทีหนึ่ง แล้วมันจะเกิดนิสัยไม่แสดง บางทีมันรู้อยู่ มันก็ปกปิดเสีย ฉะนั้นสู้แสดงอย่างนี้ไม่ได้ แต่บางพวกบางนิกายเขาหาว่าทำอย่างนี้งมงายไปอีก ผมก็ว่าผมไม่ทำอย่างงมงายนะ ผมก็ทำมาอย่างนั้น แล้วรู้ความหมายของอาจารย์ ผู้เฒ่า จากการสอน วางไว้อย่างนั้น พูดตรง ๆ ก็คือว่า มหานิกายมีระเบียบอย่างนี้ ธรรมยุติจะมีไม่มีก็ไม่ทราบ พอกินข้าวแล้วจะแสดงอาบัติ โดยเฉพาะผู้บวชใหม่ จนกว่ามันจะเคยชินเป็นนิสัย บวชเก่าแล้วก็ค่อย ๆ ห่างไป แต่ถ้าว่ามีอะไรก็จะต้องแสดง หรือถึงเวลาที่ถือว่าจะต้องเป็นผู้ไม่มีอาบัติ เช่นจะไปทำอุโบสถ สังฆกรรม ทำอะไรก็ เอ้า, แสดงอาบัติกันเสียก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าเราไม่มีอาบัติจริง เข้าไปเป็นคณะสงฆ์ทำสังฆกรรมอย่างนี้ ก็เหมาะแล้วสำหรับคนที่บ้านนอกคอกนาป่าเถื่อนยังไม่รู้อะไรมาก ทำอย่างนี้ดีกว่าไม่ทำ แต่คนเขาฉลาดจริง เขาทำอย่างอื่นก็ได้ ดีเหมือนกัน
วันนี้มีเรื่องแสดงอาบัติ ไหนล่ะท่านจันทร์ เอ้า, ให้คุณอุดมเล่า หึ ซ้อมมายัง เอ้า, มาที่นี่ เอาผ้าผืนนั้นมาด้วย เอ้า, คุณมาที่นี่สิ คุณจะเป็นผู้รับอาบัตินี่ แสดงเป็นสาธิตไปเลย แล้วก็เป็นเรื่องจริงด้วย คุณอุดมจะต้องแสดงอาบัติ เพราะปรากฏว่าเมื่อตอนเช้านี้ไม่มีสังฆาฏิมา ถามว่าทำไมไม่เอามา ลืม ถ้าลืมแล้วไม่มีปัญหา ถ้าเจตนาที่จะไม่เอามาเพราะว่าประตูมันใส่กุญแจได้นั้นยัง ๆไม่เป็นไร แต่ถ้าว่าเพราะลืมแล้วก็ต้องถือว่าเป็นอาบัติที่ไม่เอาใจใส่กับบริขาร เดี๋ยวก่อน อย่าเพิ่งก่อน ต้องฟังกันก่อน นั่นเอาให้อ่าน อ่านทบทวนดูก่อน วางไว้นั่นก่อน อย่าเพิ่งๆ คุณนั่งก่อนด้วย อย่าเพิ่งแสดง นั่งก่อน อ่านนี่ก่อน นี่จะแสดงอาบัติเกี่ยวกับลืม มีสิกขาบทบัญญัติไว้ว่าภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวรก็ต้องอาบัติ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ เฉพาะผ้าผืนนั้นนะ จะต้องสละ ผ้าผืนนั้นไม่ควรแก่การใช้อีกต่อไป นี่ฟัง อย่างการศึกษาอ่ะ นั่งราบ นั่งราบ ต้องเข้าใจ ทุกองค์จะต้องมี แต่เผอิญที่มีอยู่เป็นรายแรก ทุกรายจะต้องมี เมื่อลืม ไม่รักษาไตรจีวรให้อยู่ในสภาพที่เรียกว่ามีสติ สัมปชัญญะรักษา จนลืม ลืมเอามาด้วย แล้วก็ไม่ได้มีเจตนาว่าจะเก็บไว้ด้วยกุญแจด้วย มันเป็นการลืม อย่างนี้ก็เรียกว่า เข้ารูปของไอ้สิกขาบทนั้น ว่าเป็นผู้ที่อยู่ปราศจากไตรจีวร ผืนนี้ ไตรจีวรหรือสิ่งของใดที่ผิดวินัยหมวดนี้แล้วก็ต้องสละออกไป เดี๋ยวเราแสดงอาบัติแล้วก็ยังอยู่นี่มันก็เลยทำให้ชะล่าใจ พระพุทธเจ้าจึงบัญญัติว่า ประเภทนี้ต้องสละของนั้นออกไป จีวรผืนที่ลืมนี้จะต้องสละออกไป เราต้องหาเอาใหม่ แต่แล้วก็มีวินัยที่เป็นอนุบัญญัติมีว่า ผู้ที่รับเอาจีวรผืนนี้ไป ถ้าเขาสมัคร เขาจะคืนให้ก็ได้ กลายเป็นมีใช้ได้ แต่ว่าต้องสละด้วยใจจริง ไม่ใช่ว่าจะทำเล่นตลก ฉะนั้นผมจะไม่ให้คืน ผมจะให้ใหม่ จีวรผืนนี้สละไปแล้วสละไปเลย ถ้าทำอย่างว่า มันจะต้องทำบริกัปอีกทีหนึ่ง คือคนจะได้รับนี่จะต้องบอกบริกัปว่า จีวรผืนนี้ผมขอทำบริกัปไว้เป็นของไม่มีเจ้าของ หรือหลายเจ้าของ หรือเป็นเจ้าของร่วมกัน คุณไปใช้ก็ได้ ถ้าอย่างนี้จะเอาจีวรผืนนี้กลับไปใช้อีกได้ แต่เดี๋ยวนี้ผมชอบใจที่คุณอุดมเป็นผู้เปิดเผยไม่ปกปิด ผมจะให้รางวัล จีวรที่ไม่เลวกว่านั้น ให้รางวัลในฐานะที่เป็นผู้เปิดเผย ไม่มีการปกปิด แล้วผมก็อยากจะให้ด้วย ว่าจริงๆ นะ แต่ไม่มีโอกาสจะให้
ทีนี้มาทำความเข้าใจ อ้าว, นั่นไม่ได้เขียนคำเสียสละจีวรมาน่ะ อิมัง จีวะรัง นิสสัคคิยัง อะหัง กัง นิสัจเชมิ คุณว่าเป็นไทยเอาก็ได้ ผู้มีก็ว่า(นาทีที่ ๐๑.๑๓.๐๐ภาษาใต้) ต้องเขียนใส่กระดาษ ขึ้นไปทำมาก่อนเมื่อคืน ต้องซื้อ มากางไว้นะ(นาทีที่ ๐๑.๑๓.๐๖) นี่คุณอุดมต้องเข้าใจเรื่องว่า อย่างนี้มันมี อาบัติ นิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ เพราะว่าเราลืมจีวร ทีนี้เราก็เปิดเผยขึ้นว่า ผมสละจีวรผืนนั้น ว่าเราน่ะสละจีวรผืนนั้น ว่ากระผมถือว่าจีวรนี้เป็นนิสสัคคีย์ นิสสัคคิยะ ควรสละ ผมสละ ใช้คำว่าสละ ในใจก็ว่าอย่างนั้น นี่จึงจะเรียกว่าเป็นการสละ เอ้า, เราเราสละกันก่อน คุณเรียงคำพูดเอาเองสิว่า จีวรผืนนี้เป็นนิสสัคคีย์ ควรสละ คุณว่า เอ้า, คุกเข่า พนมมือสิ ข้าแด่ท่านผู้เจริญ จีวรผืนนี้เป็นนิสสัคคิยะ ควรแก่การสละ กระผมขอสละจีวรนี้ เอ้า,ว่าเป็นบาลีอีกที อิทัง จีวะรัง นิสสัคคิยัง อะหัง กัง นิสัจเชมิ ให้แล้วนะ ให้หรือไม่ให้ (ให้ครับ) เอ้า, ...ให้แล้วนะ เอ้า, นี้มันไปเป็นอันว่าเราไม่มีจีวรผืนนั้นแล้ว ทีนี้เราจะแสดงอาบัติ คำแดง ๆ นั้นว่าผมต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ คุณว่าแต่คำแดงนะ เดี๋ยวก่อนสิ คำเขียวของฝ่ายโน้นนะ คุณถือขึ้นมาดูสิ ผมจะแปลให้ฟัง ยกขึ้นมาดู อะหัง ภันเต นิสสัคคิยัง ปาจิตตียัง อาปัตติโย/ อาปัตติง อาปันโน (นาทีที่ ๐๑.๑๔.๕๘) ผมต้องอาบัตินิสสัคคีย์ ทีนี้องค์นี้จะถามว่า ปัสสะสิ อาวุโส นี่คุณไม่ต้องว่านะ องค์นี้ถามว่าคุณเห็นรึ คือว่าคน คุณรู้สึกหรือเห็นอยู่ว่าต้องการอาบัตินั้น นี่คุณก็ว่าเส้นบรรทัดแดง อามะ ภันเต ว่าไง ปัสสามิ ภันเต, อามะ ภันเต ก็ได้ เห็น แล้วก็องค์นี้จะบอกว่า ที่บรรทัดเขียวนะ ที่คุณไม่ต้องว่า อายะติง สังวะเรยยามิ นี่ฝ่ายโน้นว่าแล้วใช่ไหม แล้วคุณว่าอันนี้ต่อไป บรรทัดสุดท้าย ว่าสามหน สาธุ จุตตุ ภันเต อะยะติง สังวะริสสามิ, ทุติยัมปิ สาธุ จุตตุ ภันเต อะยะติง มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ สังวะริสสามิ
เอ้า, คุณว่าเป็นไทยก่อน พนมมือ ท่านจันทร์ลุกขึ้นสิ นี่ ดูเอานี่ เป็นตาทิพย์ไปเลย ให้คนทั้งหลายดู
อะหัง ภันเต นิสสัคคิยัง ปาจิตตียัง อาปัตติง อาปันโน ปะฏิเทเสมิ, อามะ ภันแต ปัสสามิ, สาธุ จุตตุ ภันเต อะยะติง สังวะริสสามิ, ทุติยัมปิ สาธุ สุฏฐุ ภันเต สังวะริสสามิ, ตะติยัมปิ สาธุ สุฏฐุ ภันเต สังวะริสสามิ(นาทีที่ ๐๑.๑๖.๑๕ – นาทีที่ ๐๑.๑๖.๕๕)
นี่เป็นอันว่าแสดงอาบัติ นั่ง คำแรกว่า ผมต้องอาบัติ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ผมขอแสดงอาบัตินั้น ทีนี้ฝ่ายนี้จะต้องถามว่าคุณแน่ใจ คือคุณเห็นอยู่ รู้สึกอยู่ เห็นอยู่ว่าต้องอาบัติจริง ๆ หรือ ต้องย้ำอย่างนี้อีกที นี่เป็นระเบียบของพระพุทธเจ้า ให้รับ ให้ยอมรับว่าเห็นอยู่จริง ๆ ว่าต้องอาบัติ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องสำรวมต่อไป นี่ก็รับว่าจะสำรวมต่อไป นี่เป็นการแสดงอาบัติเฉพาะกรณีที่รู้อยู่ว่าทำผิดอะไร ถ้าเป็นอาบัติที่ต้องเสียสละสิ่งของ ก็สละไปด้วย แล้วจึงแสดงอาบัติได้ ทีนี้ถ้าว่าจะแสดงให้เป็นนิสัยของการแสดงอาบัติ ฉันข้าวแล้วก็แสดง แล้วก็ให้แสดงอย่างรวม ๆ ตามแบบโบราณที่วางไว้ว่า สัพพา ตา อาปัตติโย อาโรเจมิ สัพพา ตา อาปัตติโย อาโรเจมิสัพพา ตา อาปัตติโย อาโรเจมิ นี่ เขามีไว้อย่างรวม ๆ ว่า ไม่ระบุ เขาแสดงอย่างนั้น เพื่อว่าเราจะได้คุ้นเคยกับการแสดงอาบัติ ก็มีถามตอบ ๆๆๆ ถ้าไม่ฝึกไว้ทำไม่ได้ ฉะนั้นถือว่าเป็นการฝึกไว้ก็ได้ เดี๋ยวนี้คุณอุดมไม่มีอาบัติแล้ว อาบัติปาจิตตียะ อาบัติปาจิตตีย์ อาบัติ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ก็ได้แสดงแล้ว ก็ได้สละสิ่งของซึ่งเป็นเหตุให้ต้องอาบัตินั้นแล้ว นี่คือเป็นความเป็นปรกติ แต่เดี๋ยวนี้จีวรขาดไปผืนหนึ่ง ผมถวาย แล้วก็ไปถึงกุฏิ ก็อธิษฐานใหม่ว่า อิมัง สังฆาฏิ อธิษฐามิ แล้วผืนนี้เป็นหน้าที่ของพระองค์นี้ เป็นสิทธิของพระองค์นี้ ถ้าพระองค์นี้ไม่อยากรับเอาไว้ ก็เอาไปวิกัปกับองค์ใดองค์หนึ่ง ว่าผมทำจีวรนี้ให้เป็นวิกัป คือไม่เป็นของผม ไม่เป็นของผู้ใด ให้เป็นของกลาง ๆ ไว้ ผู้ใดต้องการจะใช้ก็จงเอาไป อย่างนี้ต้องไปทำกับอีกคนหนึ่ง เว้นไว้แต่ว่ายินดีที่จะเอาใช้เอง ก็เอาไว้ใช้ได้ นี่ถ้าว่าจีวรมีแล้ว ขืนรับเข้าไปอีกมันก็เกิน ก็เอาไปทำวิกัป ฉะนั้นจำคำว่า วิกัป ไว้ด้วย สิ่งที่เราไม่อยากจะมีไว้เกิน เกินจำเป็นหรือว่าเกินที่วินัยอนุญาตนั้นน่ะ เราเอาไปทำวิกัป บาตรก็วิกัปได้ จีวรก็วิกัปได้ สบงก็ได้ ผ้าอะไรก็ได้ เราไม่ยึดถือสิทธิในสิ่งนี้ เขาเรียกว่าวิกัป ผู้ใดไม่อยากจะมีของเกินที่ควรจะมีหรือตามที่วินัยอนุญาตให้มี ก็เอาไปทำวิกัป ทีนี้วิกัปนั้น คนนั้นเขาก็รับวิกัป แล้วก็บอกว่าผู้ใดจะใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างไร ก็ทำได้ตามสมควร ฉะนั้นใครจะไปเอาใช้ก็ได้ ถ้าเขาปวารณาไว้กว้าง ใครก็ได้ ถ้าเขาภาวนาเฉพาะวิกัปองค์นี้ องค์นี้ก็เอาไปใช้อีกก็ได้ นี่ระเบียบของพระพุทธเจ้าที่วางไว้สำหรับของที่มันเหลือใช้ เหลือเฟือ ไม่ให้ถือไว้เป็นสิทธิของตัว เอ้า, นี่ขอไอ้ดินสอ คุณอุดมก็ต้องมาตรงนี้สิ กระทำพินทุ อย่างที่เขาสอนให้วันแรกบวชนั่น นี้มันเป็นความบกพร่องของผู้ที่ทำหน้าที่พี่เลี้ยง ไม่เตือนให้ดี ไม่ระวังให้ดี ถ้าเข้า(นาทีที่ ๐๑.๒๐.๓๘) ก็แก้ตัวแบบสากลว่าไม่มีเวลา ผลสุดท้ายผมรับบาปเอาเองว่าผมเป็นผู้บกพร่อง ไม่ตักเตือนซึ่งกันและกันให้ควบคุมให้ดี จนคุณอุดมต้องเป็นอย่างนี้ แต่ที่จริงมันเป็นหน้าที่ของพวกที่เป็นพี่เลี้ยง ทำเครื่องหมายว่าให้ จะเป็นลายเซ็นชื่อก็ได้ แต่โบราณเขาไม่มีระเบียบนั้น เขาทำจุดเครื่องหมายว่า จะไม่ให้เปลี่ยนกับของคนอื่นนั่นแหละ สามจุดห้าจุดอะไร อิมัง พินทุ กัมปัง กะโรมิ ว่าสามหน ทำสามหน อิมัง พินทุ กัมปัง กะโรมิ, อิมัง พินทุ กัมปัง กะโรมิ, อิมัง พินทุ กัมปัง กะโรมิ นี่ก็หมายความว่า ถ้าเผอิญจีวรมันไปกองรวม ๆ กันอยู่ อะไรอยู่ พอเลือกมันเลือกไม่ถูก ถ้ามันเกิดเหมือนกันเข้า แต่ถ้าเรามีเซ็นชื่อไว้อะไรไว้เหมือนอย่างเดี๋ยวนี้ เราก็เลือกของเราถูก มันไม่ปนกัน อีกความหมายหนึ่ง เขาว่าทำให้มันเศร้าหมองไป นั่นไม่เห็นจริงเลย จุดสองจุดมันไม่เศร้าหมองหรอก แต่ที่ผมเห็นว่าความมุ่งหมายนี้กันปนกัน มันเป็นเครื่องหมายที่เราจะไม่ทำสับสนกัน เอ้า, ทีนี้อธิษฐาน อธิษฐานเดี๋ยวนี้เลย ไหน ๆ ก็แสดงแล้ว ไม่ต้องละอาย อิมัง สังฆาฏิ อธิษฐามิ ยกขึ้น ว่าสามหน อิมัง สังฆาฏิ อธิษฐามิ, อิมัง สังฆาฏิ อธิษฐามิ, อิมัง สังฆาฏิ อธิษฐามิ ไปใช้ได้เลย ไม่ผิดวินัย ไม่เป็นอาบัติ นี่เราสั่งสอนอบรม ศึกษา สาธิต ให้เป็นตัวเสร็จทุกอย่าง ทั้งการมาฉันข้าวที่นี่ มันดีอย่างนี้ ฉะนั้นขอร้องว่าที่บวชใหม่ๆๆ นี่ มาฉันข้าวกับผมตรงนี้สัก ๔-๕ วัน จะได้ฟังไอ้เรื่องที่มันควรจะทราบนี้ให้เสร็จ ๆ ไปเสียที เอ้า, วันนี้ก็ปิดประชุม