แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ขึ้นมานี่ เท่ากันหมดเลยไม่มีใครได้ส่วนเกิน เพราะส่วนเกินมันยังไม่เกิด ไม่มีใครคิดจะเอาด้วย นี่แหละส่วนเกินมากขึ้นเท่าไร คนมีปั ญญามันก็เอาไว้มากเท่านั้น จึงเกิดคนมั่งมีมากขึ้น มั่งมีมากขึ้น คนจนก็จนลงไป จนลงไป เพราะว่ามัน มันโง่บ้าง มันทุพพลภาพบ้าง มันอะไรบ้าง ไอ้พวกหนึ่งมันก็สร้างเครื่องทุ่นแรงมากขึ้นสร้างอาวุธมากขึ้น ไอ้พวกหนึ่งมันก็ทำไม่ได้ มันก็เกิดคนมีคนจน เป็นเหตุให้เบียดเบียน เบียดเบียนกันตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มานี่แหละ ทีนี้บัดนี้มันยิ่งมากขึ้นนะ พวกเครื่องจักรเครื่องทุ่นแรงมันเกิด ประโยชน์ส่วนเกินมันเกิด มันจะเป็นของใครล่ะ มันก็ต้องของผู้ที่ฉลาด ที่มีอำนาจทางการเงิน ทางกำลัง ทางทุน ทางอะไรอย่างนี้ มันก็เลยเกิดรวยขนาดนายทุน แล้วทิ้งพวกกรรมกรยากจนไว้ แล้วก็ได้รบกันเป็นเวลานี้แหละ การรบกันระหว่างคอมมิวนิสต์กับเสรีประชาธิปไตยนี่แหละ ต่างคนต่างต้องการส่วนเกิน พวกนายทุนพวกเสรีประชาธิปไตยเอาไว้มากล้นเหลือ ส่วนเกินนะ แล้วคอมมิวนิสต์ก็ต้องการส่วนเกินบ้าง บางทีต้องการส่วนเกินแต่ยังขาดด้วยซ้ำไป ชนกรรมาชีพนี่เขาต้องการจะเรียกร้องส่วนเกิน ก็ยัง เขายังขาดอยู่ ยังไม่ได้เป็น เป็นมาตราฐานเลย จะว่าเกินได้อย่างไร แต่พวกนายทุนเอาไว้มาก จนไม่รู้จะเอาไปไหนแล้ว เป็นมหาเศรษฐีเป็นอะไรแล้วก็ผูกขาดเสียหมด นั่นนี่ในโลกผูกขาดเสียหมด มันก็รวยกันเรื่อยไป มันก็ต้องรบกันเพราะว่าคนมันตรงกันข้ามนี่ Positive Negative เกินไป เกิน ๆ เพราะฉะนั้นมันช่วยไม่ได้แหละ มันต้องรบกันอย่างนี้ต้องฆ่าอย่างนี้ มาแต่ส่วนเกิน เพราะโลกมันเป็นมาในลักษณะที่ว่า ถ้าผู้ใดฉลาดต้องการประโยชน์ส่วนเกินมันเอาได้ ๆ ๆ ๆ โลกมันอำนวยให้ถึงขนาดนั้น ใครฉลาดใครมีกำลังเงินกำลังทรัพย์ เป็นนายทุนอยู่แล้ว มันก็มีแผนการที่จะใช้เครื่องทุ่นแรงเครื่องจักรอะไร กอบโกยเอาส่วนเกินมากเข้า ๆๆๆ จนไม่รู้จะเอาไปไหนนี่ พวกนายทุนมา นายทุนนี้ แล้วพวกชนกรรมาชีพมันก็ขาดลง ๆ ๆ ๆ มันจะคบกันได้หรือ นี่เรียกว่าตั้งต้นมาแต่บุคคลจนมาถึงเป็นสังคมแล้วมาถึงเป็นระหว่างโลก ครึ่งโลก ซีกโลก ซีกโลกหนึ่งมัน มันเอาส่วนเกินไว้เหลือประมาณ ซีกโลกหนี่งมันขาด มันก็ต้องรบกันนั่นแหละ แล้วนี่มนุษย์ที่อื่น ๆ มันก็ต้องเลือกว่ามันจะเข้าฝ่ายไหน ฝ่ายไหนได้ประโยชน์ส่วนตัว ฝ่ายไหนจะทำให้เราพลอยได้ประโยชน์ส่วนเกินมากเข้า เราก็เข้าฝ่ายนั้นแหละ มันต้องเอาข้างฝ่ายนั้น พวกคนจนพวกหนี่งก็ต้องเข้าฝ่ายคอมมิวนิสต์เพราะว่าเข้าฝ่ายคอมมิวนิสต์แล้วมันก็จะได้ประโยชน์ส่วนเกินบ้าง อีกพวกหนึ่งก็ไปเข้าฝ่ายนายทุนได้ประโยชน์ส่วนเกินง่าย ๆ เร็ว ๆ เขาก็เข้าฝ่ายนายทุนแหละ มันจึงได้รบกันอย่างนั้น นี่แหละไอ้คำ Surplus value มันสำคัญมาก มันเป็นวิทยาศาสตร์ของธรรมชาติ เรื่องของเศรษฐกิจต่อมานะ อธิบายมันเป็นวิทยาศาสตร์ของธรรมชาติ ใครเอาส่วนเกินไว้คนนั้นก็ต้องเกิดกิเลสมาก และคนอีกฝ่ายก็ต้องขาด ขาดแคลน นี่แหละธรรมะในพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าสอนว่า กินอยู่แต่พอดี มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ อย่างนี้แหละ ให้กินอยู่แต่พอดี มันก็เกินนะ ไอ้สิ่งที่ทำมาหาได้มันก็เกิน เกินอย่าเอาไว้ ขืนเอาไว้เกิดความโลภมหาศาลขึ้นมา คิดว่าเท่านี้พอกินพอใช้สำหรับเป็น สำหรับตาย สำหรับเจ็บ สำหรับไข้ สำหรับเล่า สำหรับเรียนพอแล้ว เกินเท่าไหรก็เอาไปให้ผู้อื่นแหละ ส่วนเกินของเรามีเท่าไรเอาไปทำบุญทำทาน สังคมสงเคราะห์อะไร สงเคราะห์ผู้อื่น เรื่องก็ไม่เกิด ผู้อื่นก็ไม่จนแหละ มันได้เงยหน้าอ้าปากมากขึ้น มันพอสม่ำเสมอกันไป เดี๋ยวนี้ไอ้คนเห็นแก่ตัวมันก็จะถามว่า ถ้าอย่างนั้นโลกก็ไม่เจริญสิ ถ้าไม่มีใครผลิตให้มาก บอกเอาสิผลิตกันให้มากสิ ช่วยกันผลิตทุกคนผลิตให้มากที่สุด แล้วก็เก็บไว้ให้เท่าแค่พอดีจำเป็น นอกนั้นทำสังคมสงเคราะห์ทั้งหมด โลกเจริญหรือไม่เจริญ คุณคิดดูสิว่าโลกจะเจริญหรือไม่เจริญ ถ้าว่าพวกนายทุนทั้งหลายมีเงินมีเครื่องจักรมีอะไร ผลิตกันให้สุดเหวี่ยงเลย เอาไว้แต่พอดีเท่านั้น ทำประโยชน์สังคมสงเคราะห์ดู แล้วโลกจะเจริญหรือไม่เจริญ นี่มันเจริญแต่ตัวเอง ก็เป็นไปไม่ได้ มันก็ขัดกัน ก็ต้องรบราฆ่าฟันกัน ตายกันวินาศเท่าไรมันก็ยังไม่รู้สึกนะ
ที่นี้เมื่อคนมันไม่มีประโยชน์ส่วนเกิน แล้วไม่หวังประโยชน์ส่วนเกิน เราบัญญัติว่ามันมีอายุแปดหมื่นปีนะ นี่ต่อมาความโลภเกิดขึ้นนิด ตัณหาเกิดขึ้นนิด อวิชชาเกิดขึ้นนิด อายุมันลดลง ๆ ๆ ๆ แปดหมื่นปีเหลือสี่หมื่นปี เหลือสองหมื่นปี เหลือหนึ่งหมื่นปี ตามส่วนแต่ความอยากกิเลสตัณหาที่เกิดขึ้น มันจะลดลงเหลือห้าพันปี สองพันปี หนึ่งพันปี และความอยาก ความโลภ ความเห็นแก่ตัว หลงในส่วนเกินมากขึ้นๆๆ อายุมันก็สั้นเข้าๆๆ จนยังเหลือ สี่ร้อย ห้าร้อยปี สองร้อยปี หนึ่งร้อยปี แล้วก็เหลือห้าสิบปี จนกระทั่งเหลือสิบปี คนที่ฟังไม่เข้าใจแล้วหาว่าพระคัมภีร์พูดผิด มันโง่เอง ไม่ว่า แต่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าในสมัยนั้นอายุแปดหมื่นปี แล้วมันลดลงเพราะบาปกิเลสกรรม ทำชั่วมากขึ้นมันลดลงๆ จนมันยังเหลืออายุสิบปี แต่งงานอะไรอายุหนี่งปี มีลูกมีอะไรเมื่ออายุหนึ่งปี สองปี อายุสิบปีมันตายนี่ พออายุสิบปีนี่มันความเห็นแก่ตัวสูงสุด กิเลสความต้องการตัณหาสูงสุด วันคืนไม่พอนี่คิดดูเถอะ เวลาที่จะหาประโยชน์มันไม่พอนี่มันจึงรู้สึกว่า โอ๊ย, มันสิ้นจริงนะเวลา เพราะความอยากมันมาก ที่นี้เวลาการงานมันไม่พอ มันจึงรู้สึกว่ามันสั้น เมื่อเด็ก ๆ เรารู้สึกว่าวันคืนมันยาว จริงไหมจริง เมื่อเด็ก ๆ เรารู้สึกว่าวันคืนยาว อย่าพยักหน้าเฉย ๆ นะ ต้องนึกให้ได้จริง ๆ ว่าเมื่อเล็ก ๆ เรานอน วันหนึ่งตั้งหลายตื่นนู่นมันก็ยังไม่หมด เรายังจำได้เองนี่ไม่ต้องเชื่อใคร เมื่อเด็ก ๆ นอนตั้งหลายตื่น บางทีไปเล่นแล้วกลับมานอนอีก แล้วไปเล่นอีกทีแล้วกลับมานอนอีก มันก็ไม่ค่ำสักที ยังไม่ค่ำสักที มันรู้สึกว่าเวลามันยาวขนาดนั้นเลยนะ ความต้องการมันไม่มีนี่ ความต้องการมันไม่มี ไอ้เวลามันก็เหลือเต็มที่ ต่อมาเมื่อโตขึ้นความต้องการมันมากขึ้น มันไม่ทันนี่ พอเข้าโรงเรียนแล้วเวลามันเหลือไม่กี่ปีแล้ว เวลามันเหลือนิดเดียวแล้ว ชั่วโมงมันสั้นเข้า วันคืนมันสั้นเข้า ทีนี้เขามาเทียบดู เมื่อแต่แรกคนป่าเพียงเดินไป เก็บข้าว ผลไม้หรืออะไรกิน หมดแล้วมานอน นอน หิวก็เก็บมากิน แล้วมานอน นี่แหละเค้าเทียบให้ว่าอายุมันแปดหมื่นปี มันไม่รู้จักอยาก มันไม่รู้จักต้องการ ไม่มีความต้องการ ส่วนเกินก็ไม่มี มันไม่ความต้องการ มันต้องการไม่เป็น พอมันรู้จักต้องการส่วนเกิน ๆ ๆ เวลามันก็สั้นเข้า ๆ ๆ ไม่พอหา จนต้องทำเครื่องทุ่นแรง เครื่องทุ่นแรงทำมากที่สุด เยอะที่สุด มันก็ยังไม่พอกับตัณหานะ ไม่พอกับความต้องการ เขาจึงว่าอายุมันสิบปีนี่พวกนี้ ไอ้พวกเจริญที่สุดทางเทคโนโลยีในเวลานี้ อายุมันเพียงสิบปีเท่านั้นเอง จริงไม่จริง ทีนี้บางคนไม่เข้าใจหาว่าคัมภีร์โกหก พูดเหลวไหลไม่มีสาระ ไม่สนใจ พวกมหาเปรียญยังอธิบายกันอย่างนั้นนะ มันไม่รู้เรื่องกิเลส แล้วนี่พอลงความอยากมหาศาล เวลาเหลือนิดเดียว ไม่พอกับความต้องการ เขาว่าอายุมันสิบปี ตอนนี้เค้าเรียกว่า สัตถันตรกัป ในพระสูตรเรียกว่า สัตถันตรกัป มาถึงเข้าแล้ว ภัทรกัปป์อะไรหายหมดแล้ว สัตถันตรกัป แปลว่า กัปป์ที่บูชาการใช้อาวุธ จริงไม่จริง สุนทร จริงไม่จริง คำมันอธิบายไว้ถูกแล้ว กัปป์ที่บูชาการใช้อาวุธ พอกัปป์นี้มาถึง จะมีสิ่งที่เรียกว่า มิคสัญญี ใช้คำนี้เลยมิคสัญญี มิคสัญญีนี้คือการเข้าใจว่าผู้อื่นไม่มีคุณค่าอะไร เหมือนกับสัตว์ เหมือนกับมด เหมือนกับแมลง เอาระเบิดปรมาณูไปทิ้งให้มันตายที่ละแสนก็ไม่มีค่า ไม่มีความหมาย มันเห็นว่าเพื่อนเหมือนมดแมลง นี่แหละคือมิคสัญญี เอาสิ เอาระเบิดไปทิ้ง หลับหูหลับตา ทิ้ง ๆ ๆ ๆ ไม่ต้องคิดว่าใครเป็นมนุษย์ ใครเป็นถูกผิด มันทิ้ง ๆๆ มันจะฆ่าเขาท่าเดียว เพราะมันมีความรู้สึกความอยากของตัวเอง เขาเรียกว่ามิคสัญญี พออายุได้สิบปี มนุษย์มีอายุเพียงสิบปี อายุไข ถึงยุคที่เรียกว่า สัตถันตรกัป บูชาการใช้อาวุธ ใช้กำลัง ใช้อำนาจ ทีนี้ก็มิคสัญญี ฆ่าๆๆๆ กัน พอคนนี้ฆ่าคนนู้น คนนู้นก็ฆ่ากลับ ฆ่ากลับ ๆ ฆ่ากลับไปกลับมา ฆ่ากันใหญ่ ฆ่ากันไม่มีขอบเขต แล้วทีนี้มนุษย์บางคนบางพวกมันว่า เราไม่เอา เราไม่ฆ่าใคร ใครอย่ามาฆ่าเรา เราไม่ฆ่าใคร มันหนีไปเสีย มันหนีไปอยู่ในซอกป่า ซอกเหวซอกโน้น จนในนี้ฆ่ากันจนไม่มีใครจะฆ่ากันแล้ว ตายกันเหมือนกับ เหมือนกับ เต็มไปด้วยซากศพนะ ไอ้พวกที่หนีไปอยู่ในป่าก็ออกกลับมาเห็นแล้วความคิดมันก็เปลี่ยนนะ เมื่อเห็นซากศพเต็มไปทั้งบ้านทั้งเมืองอย่างนี้ ว่าเรา เราตั้งต้นกันใหม่เถอะ ชวนพรรคพวกที่เหลือ ว่าเราตั้งต้นกันใหม่ อย่างนี้ไม่ไหวแล้วตั้งต้นกันใหม่ ตั้งต้นที่จะเริ่มมีศีลธรรมกันใหม่ ลบระบบเก่า กลับมาตั้งระบบใหม่กัน ไม่ยอมฆ่าใคร แล้วใครก็อย่ามาฆ่าเรา แล้วที่นี้อายุมันก็ยืนขึ้นเป็นยี่สิบปี แล้วก็ประพฤติดีกันอีก อายุมันยืนร้อยปี สองร้อยปี ห้าร้อยปี พันปี เรื่อยขึ้นไป คนมันดีมากขึ้นไป ความต้องการมันก็น้อยลง เวลาก็มันแสดงอาการมันก็ยาวออกนะ จนมีอายุแปดหมื่นปีเท่าเดิม ส่วนเกินไม่มีแล้วตอนนี้ ไม่มีใครต้องการส่วนเกินนี่ พระศรีอารย์มาเลย พระพุทธเจ้าชื่อเมตไตรยเกิดขึ้นในโลก สูตรนี้เป็นสูตรพุทธภาษิตนะไม่ใช่สูตรอรรถกถานะ แล้วก็มีความต้องการสำเร็จที่เรียกกัลปพฤกษ์นะ ไปทุกหัวระแหงไม่มีใครต้องการอะไร มีความสุขชนิดที่ว่านอนไม่ต้องปิดประตูเรือน รายละเอียดเขาพูดไว้มาก แต่ว่ามันนอกพุทธภาษิต เช่นว่า พอลงจากเรือนแล้วจำกันไม่ได้นี่ว่าใครเป็นใคร มันเหมือนกันหมดนี่ มันดีเหมือนกันหมดนี่ แล้วไม่มีใครต้องการส่วนเกิน จะไม่เรียกกัลปพฤกษ์ได้อย่างไร ก็ต้องการแต่จำเป็นจะต้องการเท่าไรเล่า เท่าจะกินจะอยู่จะต้องการเท่าไร แล้วส่วนเกินนอกนั้นมันไม่ต้องการนี่ ก็มีผลเท่ากับว่ามีต้นกัลปพฤกษ์ ทำให้คนอิ่มไปหมด ด้วยความอิ่ม อิ่มไปด้วยความอิ่มไม่ต้องการอะไร นี่แหละศาสนาพระศรีอารย์ คนอายุแปดหมื่นปี นี่ลองทำอย่างนี้ดูซิ ไม่เอาส่วนเกินอะไรแล้ว ใครก็แล้วแต่ พอเกินแล้วให้เพื่อน พอเกินแล้วให้สังคม พอเกินก็ให้ทำบุญให้ศาสนา ผลิตกันให้มากมายด้วยเครื่องจักรนั่นแหละ พอส่วนเกินเท่าไรก็ให้สังคมหมด ก็เป็นพระศรีอารย์ทันที พระศรีอารย์ทันทีในไม่กี่ปีนี้แหละ ในโลกนี้แหละจะเป็นโลกพระศรีอารย์ทันทีในไม่กี่ปีนี่แหละ
นี่ไอ้เรื่องประโยชน์ส่วนเกิน สำคัญนะ ลัทธิคอมมิวนิสต์เกิดขึ้นก็เพราะไอ้นี่ Surplus value นี่แหละ กรรมกรมันยังไม่ได้เลย นายทุนมันได้ไว้มากเกินไปนี่ มันก็ต้องรบกันแหละ ต้องเป็นมิคสัญญีอะไรนี่แหละ มันต้องฆ่ากันอย่างมิคสัญญี ไอ้พวกกรรมกรมันก็ฆ่าเป็น พวกนายทุนมันก็ฆ่าเป็น มันมีอาวุธกันทั้งนั้น ฆ่าจนกว่ามันวินาศกันเกือบหมด เหลือแต่พวกที่ตั้งต้นใหม่ ธรรมะมีมาอีกครั้ง ความต้องการมันน้อยไม่มีใครเอาไว้เป็นของส่วนตัว เหลือกิน เหลือใช้ ทำบุญหมด เป็นโลกพระศรีอารย์ทันที อย่าหาว่าไม่พัฒนา ก็มีเครื่องมือเครื่องใช้ มีสติปัญญาก็พัฒนา ๆๆๆ ประโยชน์นั้นเอาให้สังคมหมด นี่ไม่เหมือนคอมมิวนิสต์นะ เดี๋ยวหาว่าเราเป็นคอมมิวนิสต์อีก คอมมิวนิสต์มันยังไม่ได้ มันยังไม่ได้ประโยชน์ส่วนเกิน มันกำลังยื้อแย่งจากนายทุน ทีนี้เราเป็นนายทุน เราก็ผลิต ๆๆๆ ทำให้มาก สร้างให้มาก เอาไว้แต่พอต้องการ แล้วนอกนั้นก็ให้คนอื่นหมด โลกนี้ก็เป็นโลกพระศรีอารย์ในไม่กี่ปี คนก็มีอายุแปดหมื่นปีตามเดิม มันไม่ต้องการอะไร ไม่ต้องเรียนก็ได้ มันไม่ต้องการอะไรเลยทีเดียว มันสบาย นั่นแหละถ้าได้ไปอ่านสูตรนี้แล้ว อย่าเพ้อหาว่าบ้านะ มันลึก เรามันโง่เองนะ หาว่าเขาบ้า บางคนอายุแปดหมื่นปีแล้วสั้นลงมา สั้นลงมา จนเหลือสิบปี ฆ่ากันตายเกือบหมดแล้วตั้งต้นกันใหม่ แล้วก็ อายุก็ยืนขึ้นอีก เป็นแปดหมื่นปีอีก แล้วเจริญที่สุด เรียกว่าโลกสมัยพระศรีอารย์ คอมมิวนิสต์มันก็รู้จักใช้คำพูดนี้ เห็นหรือไม่ แต่มันคนละวิธี คอมมิวนิสต์ก็โฆษณาโลกพระศรีอารย์เหมือนกันแหละ แต่มันทำไม่ได้หรอก อย่างนั้นนะ ทำด้วยกำลังอย่างนั้นไม่ได้ มันต้องทำโดยการมีธรรมะ มีธรรมะของธรรมชาติ เพราะนี่เป็นปัญหาของธรรมชาติ เพราะมนุษย์ไปเอาส่วนเกินไว้มาก ธรรมชาตินะมันลงโทษ พระเจ้านั่นแหละลงโทษ ให้มันเกิดสิ่งอย่างนี้
(นาทีที่ 15:40 คนถาม เสียงเบา) นั่นแหละเพราะมันทำด้วยกิเลส มันทำด้วยความเห็นแก่ตัว มันกอบโกยประโยชน์ส่วนเกิน มันไม่ยอมให้ใคร เอาไว้มากเรื่อยไป ฝ่ายหนึ่งมันก็ขาดสิ การจะเป็นมหาเศรษฐีขึ้นมาสักคน คนต้องจนลงไปหลายล้านคนแหละ (นาทีที่ 16:00 หลักคอมมิวนิสต์มันอยากจะตัดคนรวยออก) ถูกแล้วมันจะอ้างหลักนี้ มันจะอ้างหลักธรรมะ คอมมิวนิสต์มันฉลาดเหมือนกัน มันอ้างหลักนี้ว่า แย่งเอาของคนรวยมา แต่ว่ามันเอามาใช้เองของมัน เอามาใช้เอง เอามาแบ่งกันเอง ที่จริงแล้วคอมมิวนิสต์ก็ควรจะรีบผลิต ๆ ๆ ๆ เอาไว้แต่พอดี ที่เหลือก็ทำบุญอีกแหละ ทำอย่างเดียวกันแหละ พอเหลือก็เหลืออีกแหละ ที่นี้คอมมิวนิสต์มันอยากเป็นนายทุนนะ มันอยากมีเกินส่วนเกินเหมือนนายทุนนะ แล้วมันจึงจะพอได้อย่างไรเล่า มันก็รบกันไปสิ ถ้าคอมมิวนิสต์ตั้งต้นด้วยการผลิต ๆๆๆ พอเหลือกินแล้วก็ทำประโยชน์สังคม มันก็เหมือนกันอีก นายทุนก็ทำอย่างนั้น คอมมิวนิสต์ก็ทำอย่างนั้น โลกนี้ก็เป็นโลกพระศรีอารย์ภายในไม่กี่ปีแหละ หรือภายในพริบตาเดียวกันก็ได้ ถ้าตกลงพร้อมเพียงทั้งโลก มันเข้าใจผิดเรื่องประโยชน์ (นาทีที่ 17:03 คนถาม เสียงเบา) โอ้, ไม่ใช่เขาจำกัด ไม่ใช่จำกัดให้หาเช้ากินค่ำ กินให้พอเหมาะพอดี ก็จะเป็นอยู่สบาย ถ้าว่าก็มีคนช่วยเหลือชาวนามันก็ยกตัวได้เร็ว แต่ถ้านายทุนคอยแต่กดชาวนาเอาเปรียบชาวนา แล้วชาวนามันก็โงไม่ขึ้น มันเป็นอย่างนี้ แต่ว่าชาวนาเมื่อก่อนเขาก็พอใจ ชาวนาสมัยยุคหิน สมัยนู้น ก็ยิ่งพอใจใหญ่ ทำกินไปวันๆหนึ่งมันก็พอ (นาทีที่ 17:43 ปัญหาอยู่ที่ว่า พอเข้าไปพัฒนาแล้ว เขาจะรู้วิธีใหม่ๆที่เราถ่ายทอดมากเกิน) นี่ก็โลภขึ้นมาอีก ก็ซ้ำรอยอีก ประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอยอีก พอมีเครื่องทุ่นแรง ประโยชน์ส่วนเกินเกิดขึ้นก็โลภ ๆ ๆ ๆ พอมีอำนาจรวบรวมเอาไว้ได้มาก ก็ยิ่งโลภ ๆ ๆ ยิ่งใช้อำนาจ ยิ่งผูกขาด ยิ่งใช้อำนาจ เขาเรียกว่าระบบนายทุน ระบบศักดินาอะไร มันเพื่อกอบโกยประโยชน์ส่วนเกินทั้งสิ้น ถ้าคนพวกนี้คิดว่าอะไรเกิน เอาไปให้เพื่อน ทำบุญ มันก็ไม่เกิดนายทุน ไม่เกิดระบบศักดินา โลกมันก็สบายแหละ นี่มันต่างคนต่างจะเป็นนายทุนกันเสียทั้งนั้น เป็นคอมมิวนิสต์มันก็อยากเป็นนายทุน ก็มันอยู่ในฐานะขาดแคลน มันก็ต่อสู้ไปสิ ทีนี้ถือศาสนาใหม่กันให้หมดทุกคนเถอะ ถือศาสนาใหม่ ทุกคน ทุกฝ่าย คือไม่เอาประโยชน์ส่วนเกิน ถือข้อเดียวเท่านั้น ถือตามพระพุทธเจ้าว่า กินอยู่พอดี ไอ้กินดีอยู่ดี อย่าเอาเลย มันไม่มีขอบเขต กินดีอยู่ดีไม่มีขอบเขต เอาแต่ว่ากินอยู่พอดี ถือศาสนานี้กันทุกคน แล้วมันจะรักกันทุกคนโดยไม่มีใครฆ่าใคร เพราะมันเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย เพื่อนทุกข์ เพื่อนยาก เพื่อนลำบาก กันทั้งนั้น ไม่เอาประโยชน์ส่วนเกิน จะบาปได้อย่างไรล่ะ ศาสนาคริสต์เตียนเขาก็สอนเอาไว้ดีแล้ว ใครหาแล้วมี แล้วใช้เกินต้องการ คนนั้นบาป คุณเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แสวงหาหรือว่ามีไว้หรือว่าใช้เกินความจำเป็น บาป เป็นคนบาป นี่ต้องการจะมีเงิน ต้องการจะถูกล็อตเตอรี่ ต้องการจะ ไม่ ไม่ ไม่รู้ว่าส่วนเกิน มันก็ไม่มีอั้นเรื่องส่วนเกิน ต้องการจะกินให้ดี จนเงินเดือนไม่พอ (นาทีที่ 19:57 ถ้าสมมติว่าทุกประเทศมีพอกินพอใช้ ไม่มีประเทศด้อยพัฒนาแล้ว แล้วทุกประเทศก็เร่งการผลิต พอเร่งการผลิตนี้มันจะก่อให้เกิดประโยชน์ส่วนเกินขึ้นมา) ก็มีบทบัญญัติอยู่แล้ว ส่วนเกินเอาไว้ไม่ได้ ต้องให้สังคม (ก็ในเมื่อหลายประเทศทั่วโลกเขามีดีกินดีกันหมดแล้ว) อ้าว, ถ้าขี้เกียจก็อย่าไปผลิตมันแหละ (แล้วการผลิตมันยังมี) เอาเถอะถ้ามันยังการผลิตอยู่มันก็เพื่อ เพื่อส่วนรวมเรื่อยไป อย่าเพื่อว่า อย่าเพื่อบุคคลก็แล้วกัน แล้วก็ต้องเป็นของศาสนาของอะไร ศาสนามันก็จะเจริญ เป็นของศาสนา อย่าเป็นของบุคคล หรือเป็นของสังคมสงเคราะห์ไป ก็เป็นของสังคมสงเคราะห์ไปจริง ๆ ผลิตได้ ผลิตกันได้เรื่อยไป แต่เพื่อความเจริญของโลก ของศาสนาของนู้นไปเลย มันไม่จริงเมื่อวันก่อนใคร ๆ ก็ยอ ประเทศออสเตรเลียว่าสวัสดิการทางสังคมดีที่สุดจนคนแก่ไม่เป็นห่วง ไม่ใช่หรือ คุณไม่ได้ยินหรือ แล้วตอนนี้ประเทศออสเตรเลียเป็นกรรมกรไม่ใช่หรือ เป็นรัฐบาลกรรมกร สังคมสงเคราะห์อะไร มันหลอกกันชัด ๆ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลียเป็นรัฐบาลกรรมกรแล้ว เมื่อสี่ ห้าปีที่แล้ว สวัสดิการสังคมดีมาก จนไม่มีใครเป็นห่วงเรื่อง ยิ่งเรื่องตายเรื่องอะไร คนแก่คนไข้ เป็นสังคมกรรมกรนั่นแหละ มันไม่จริงนี่
ถือศาสนาเดียวกันทั้งโลก พร้อมกันหมดว่า ไม่เอาประโยชน์ส่วนเกิน ไอ้นั้นคือบาป ใครแตะต้องประโยชน์ส่วนเกิน นั่นคือทำบาป แล้วโลกทั้งโลกก็ไม่ต้องมี ไม่มีเขาไม่มีเรา ไม่มีนายทุน ไม่มีเศรษฐี ไม่มีกรรมกร ไม่มีชั้นสูง ชั้นกลาง ชั้นต่ำ ทุกคนไม่แตะต้องประโยชน์ส่วนเกิน เอาสิ นี่แหละลัทธิพระพุทธเจ้า เขาเรียกว่า ไม่ ไม่อยากใหญ่ เป็นผู้สันโดษ หรือว่า กินอยู่พอดี หรือไม่สะสมกองกิเลส หรือว่าไม่ประกอบทุกข์ เข้ามาในข้อนี้ อย่าไปแตะต้องไอ้สิ่งที่เป็นเหยื่อของกิเลส มันเป็นประโยชน์ส่วนเกิน นี่แหละโลกกำลังเป็นทุกข์เหลือประมาณ เหมือนกับถูกลงโทษ ธรรมชาติลงโทษ พระเจ้าลงโทษ ให้มันฆ่าวัน ๆ เท่าไร เหมือนอเมริกา อเมริกัน เอาบอมบ์ไปใส่เวียดนามก็เพราะอันนี้ ด้วยเหตุผลนี้ คือเรื่องนี้นั่นเอง คือมีมูลมาจากประโยชน์ส่วนเกิน ถ้ามันไม่ต้องการสิ่งเหล่านี้ มันก็ไม่มีการฆ่ากันได้ ฆ่าไม่ลง หรือไม่รู้จะฆ่ากันทำไม นี่มันเมาประโยชน์ส่วนเกินกันทั้งสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งก็จะต่อต้าน ฝ่ายหนึ่งก็จะแย่งชิง เอาสิ ก็ต้องฆ่ากันหมดจนเหลือไม่กี่คน เหมือนที่พูดไปเมื่อเดี๋ยวนี่แหละ มิคสัญญี ฆ่ากันไป ๆ จนเหลือไม่กี่คน หนีไปเกาะเสีย แล้วกลับมาทีหลังตั้งต้นกันใหม่ ให้อายุมันยืนออกไป ยืนออกไป ความต้องการน้อยลง เวลาก็ยาวเข้า จนอายุก็แปดหมื่นปีเหมือนเดิมอีก (นาทีที่ 22:59 พระพุทธเจ้าทำนายแบบนี้แน่แล้ว ก็หมายความว่าต่อไปก็มีแต่ฆ่ากันมากขึ้น จนว่าจะตายกันเกือบหมด) ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าทำนาย เรื่องนี้อย่าพูดว่าพระพุทธเจ้าทำนาย พระพุทธเจ้าไม่ได้ทำนายสำหรับใคร แต่ว่าพูดเป็นหลักกลาง เป็นกฏกลาง ๆ กฏเกณฑ์กลาง ๆ คล้าย ๆ ว่าธรรมชาตินั่นเอง เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ (นาทีที่ 23:19 นี่ถ้าสมมติเราเห็นธรรม แล้วเราชักจูงกัน เราจะปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อไม่เอาส่วนเกิน แต่ว่าในขณะเดียวกันกลุ่มอื่นๆก็) เอาเปรียบหรือ (เมาในส่วนเกินเหลือเกิน เราควรจะวางตัวแบบไหน) นั่นแหละปัญหาก็จะเหลือเท่านี้แหละ เราเมื่อได้ประโยชน์เพียงพอ ถึงแม้ไม่ได้ประโยชน์ส่วนเกิน เราได้ประโยชน์แค่พอดีเพียงพอ เราก็ไม่มีความทุกข์ ถึงเราจะไม่ ไม่ ไม่ ถึงว่าคนทั้งโลกเขาไม่ทำ ทำแต่เราไม่กี่คน เราก็ไม่มีความทุกข์ แต่ว่าทางธรรมะเขาสอนไปไกลกว่านั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อย่างนั้น คนอื่นไม่ทำ คนอื่นจะมาฆ่าเรา เราก็ไม่มีความทุกข์ ตรงนี้จะไม่เข้าใจ คือสอนเรื่องการไม่มีตัวตน ไม่ยึดมั่น ถือมั่น เขาไม่เอากับเรา เขากลับฆ่าเรา เราก็ไม่มีความทุกข์ แต่ว่าเรื่องมันไม่ต้องไปถึงนั้น เราตั้งหน้าตั้งตาทำให้ถูกต้องให้พอดีไว้เถอะ เหมือนในมหาวิทยาลัย กลุ่มพุทธศาสตร์นี่แหละกี่คน ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักธรรมเสีย เฉพาะกลุ่มพุทธศาสตร์เท่านั้นแหละ ไม่ต้องทั้งมหาวิทยาลัยหรอก อย่าใช้ส่วนเกิน อย่ามีส่วนเกิน แต่ว่าข้อนี้ต้องขยับขยายได้นะ ไม่ใช่ว่าต้องเท่านั้นบาท เท่านี้บาท มันต้องขยับขยายได้ คนมีสติปัญญา คนสามารถ มีครอบครัวใหญ่ อะไรมันก็ต้องเอากันแหละ กระทั่งถึงว่าจะเป็น จะตาย จะเจ็บ จะไข้ก็ต้องมีพอแหละ จึงจะเรียกว่าประโยชน์ส่วนเกิน แต่ทีนี้เวลาการปฏิบัติจริง ๆ มันไม่เป็นอย่างนั้นเสียนี่ มันเกินเสียตั้งแต่ทีแรกนี่ เมื่อเด็กนักเรียนชั้นประถมนี้แหละ มันต้องการจะมีใช้จ่ายปีหนึ่งตั้งหลายร้อยบาทนู่น มันจะใส่นาฬิกาข้อมือนู่น เด็กเล็ก ๆ นะ มันจะใช้ปากกาที่แพงนู่น ปากกาหมึกซึมที่แพง มันอยากกินดีอยู่ดี บางคนเป็นเจ้าชู้ตั้งแต่เด็ก ๆ นู่น นี่แหละเป็นประโยชน์ส่วนเกินทั้งนั้น อย่าเอา อย่าให้มัน อย่าต้องการให้มันเกินแก่ฐานะเวลานั้นเรื่อยไป ๆ ให้ฐานะมันขึ้นไป แล้วก็ใหญ่ขึ้น ๆ ที่ว่าเป็นครอบครัวหนึ่ง ต้องการเงินประมาณหนึ่งล้านบาท ก็ขอให้เท่านั้นเถอะ อย่าให้มันมากกว่านั้นเลย แต่ความจริงมันไม่ต้องถึงล้านบาท มันก็เป็นอยู่กันไปได้ ต่อสู้กันไปได้ หมุนกันไปได้ อยู่สะดวกสบายได้ เหมือนสมัยก่อนนะ ที่จิตใจของเขาดี ไม่กลัวเจ็บ ไม่กลัวความเจ็บไข้ ไม่กลัวความตาย ไม่กลัวอะไรทั้งหมด ถือว่ามันไปตามธรรมชาติ รักษาก็รักษาไปเถอะ เจ็บไข้ก็รักษา ไม่ใช่ไม่รักษา แต่รักษาแต่พอเหมาะพอสม แต่นี่มันดีเกินไป มันกลัวเกิน การรักษามันก็เกิน พระพุทธเจ้ามีหลักว่าให้มันพอดี อย่าให้มันเกินพอดี เช่นว่าบัญญัติว่าภิกษุ ภิกษุนี้ให้เขาทำการผ่าตัดไม่ได้ ผ่าช่องท้อง ผ่าอะไรผ่าในที่แคบไม่ได้ ก็หมายความว่าตายดีกว่า ดีกว่าไปทำในส่วนเกิน มันไม่จำเป็นจะต้องอยู่ คือว่ามันควรจะตาย ตายดีกว่าอย่าไปต่อสู้มัน แต่พระสมัยนี้ไม่มีใครเชื่อพระพุทธเจ้าหรอก ไปผ่าตัดในโรงพยาบาลเต็มเลย เพราะมันไม่ยอมรับว่าเท่านี้มันพอสมควรแล้ว นี่พระพุทธเจ้าท่านมีหลักที่กลาง ๆ ว่า ให้มันพอดี อย่าให้มันเกินไป แต่ถ้ามันเกินแล้วมันก็ไม่ถูกแหละ มันก็ตาย ตาย ตายดีกว่า ดีกว่าไปทำในส่วนเกิน มันควรแล้ว มันควรที่จะตาย แล้วก็ให้มันตายเสีย ถ้ามันควรที่จะตาย ทีนี้เรื่องจะกิน เรื่องจะอยู่ เรื่องจะใช้ เรื่องจะสอยให้มันพอดี พอถูก เด็กก็ใช้อย่างเด็กเรื่อย ๆ ขึ้นมาจนถึงว่าเป็นปู่ เป็นตา เป็นย่า อะไรมันก็ พอดีแหละ ถ้าทุกคนถือแต่หลักอย่างนี้มาแต่ทีแรกมันก็ไม่มีความทุกข์ คนที่ไม่ต้องการส่วนเกินคนนั้นไม่มีความทุกข์ คุณต้องการพยานหรือเปล่า คนที่ไม่ต้องการส่วนเกิน ไม่ได้อยู่ส่วนเกิน คนนั้นไม่มีความทุกข์ ต้องการพยานหรือเปล่า (นาทีที่ 27:59 ไอ้นี้เชื่อ ความทุกข์บางทีมัน) ต้องการไม่ต้องการ หือ ๆ ๆ นอนอยู่นี่ ไม่มีตัวไหนต้องการส่วนเกิน ไม่มีตัวไหนต้องการส่วนเกิน มันเป็นอาจารย์เรา มันสอนเรา เราได้ความคิดมาจากนี้ ไม่มีตัวไหนต้องการส่วนเกิน พอมันอิ่มก็พอแล้วก็นอนหลับ หิวอีกก็กินใหม่ ไม่เคยต้องการส่วนเกิน ไม่สะสม ไม่อะไรเลย แต่คนมันคิดนึกมาก มันสะสม มันไปฝากธนาคารไว้บ้าง มันทำอะไรบ้าง มันธรรมชาติ เขาไม่ต้องการส่วนเกิน ต้นไม้นี่ดูดน้ำกินแต่พอจำเป็นเท่านั้น อาหารที่ต้นไม้ดูดเอาแค่พอจำเป็น ไม่ต้องการส่วนเกินนี่ แล้วมันอยู่สบาย สัตว์เดรัจฉานก็ไม่มีสัตว์เดรัจฉานไหนต้องการส่วนเกิน มันจึงไม่มีความทุกข์ พอต้องการส่วนเกินแล้ว อายุสั้นแหละ ปวดหัวแหละ ธรรมะที่สำคัญที่ว่าใช้ได้หมดทุกศาสนาคือไม่ต้องการส่วนเกิน อยู่ด้วยความพอเหมาะพอดี เขาเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่าพอดี ไม่ขาดและไม่เกิน (นาทีที่ 29:25 ความทุกข์ที่เกิดจากได้ไม่พอ ได้เท่าไรมันก็ไม่พอ ถ้ามันจะเกิดจากที่ว่า) เราก็ลดสิ ลดจนให้มันพอแหละ นั่นเราไปอยากมากกว่าที่จะได้ (ถ้ามันเกิดจากเหตุที่ว่า ไม่พอให้ได้ไหม) ไม่พอให้เพราะเราอยากมากกว่าที่ควรจะได้ เราไปหวังส่วนเกินล่วงหน้าไว้เสียแล้ว เราจึงรู้สึกว่าเราไม่พอ เราเป็นทุกข์เพราะเราไม่พอ (ไม่พอให้ ผมหมายถึงว่า ยกตัวอย่างว่า เห็นคนลำบาก แล้วอยากจะให้เขาดีแบบนี้ แล้วเก็บมาเป็นทุกข์ หรือว่าเราก็เห็นว่าเขาเอาส่วนเกินมากจากอีกฝ่ายหนึ่ง) โอ้, นั่นมันอีกปัญหาหนึ่ง ถ้าเราเห็นคนจนแล้วเราเป็นทุกข์นั้น มันยังไม่ใช่ความรับผิดชอบของเรา เราอยากจะช่วยก็พยายามสิ พยายามเจียดส่วนเกินของเราไปช่วยนะ แล้วเราก็ลด สดสิ่งที่เราต้องการลงเสีย ส่วนเกินของเราจะได้เหลือมากขึ้น เราไปช่วยคนจนได้มากขึ้น (ถ้าเราเห็นว่าส่วนเกินของเราที่จะแบ่งให้คนนั้น มันถูกคนอื่นที่อยากได้ดักเอาไปหมด) อ้าว, คนอื่นแบบไหน คนจนหรือว่าคนแบบไหน หรือคนอื่นล่ะ (คือให้แล้วไม่ถึง ตามวิธีของมนุษย์เรา) อ้าว, เราอย่าทำอย่างนั้นสิ เราให้ถึงสิ ในเมื่อคนจนมันนอนตรงนี้เราก็ให้มันตรงนี้ ไปให้ทางไหนกันจึงไม่ถึงล่ะ ให้ทางไหนจึงไม่ถึง ฝากเขาไปหรือ อันนั้นมันปัญหาปลีกย่อย ไม่ต้องพูดก็ได้ ใครขืนเอาประโยชน์ส่วนเกินไว้ คนนั้นมันโกงพระเจ้า มันขี้โกงพระเจ้า มันขี้โกงธรรมชาติ มันต้องเป็นทุกข์นะ มัน มันแน่นอนเลย ถ้าว่ามันจะไม่พอ เราลด ลดความต้องการสิ ถ้าเรามีเงินใช้น้อยในเดือนหนึ่ง เราก็ลดความต้องการลง มันก็พออีกแหละ ส่วนเกินมัน มันไม่ขาดและมันก็ไม่ทำให้เราเป็นทุกข์ ลดได้ให้ถึงตายเลย ลดได้จนถึงตายเลย เพื่อที่จะไม่เป็นทุกข์ แม้จะตายลงไปวันนี้ก็ไม่เป็นทุกข์ เราไม่ได้เก็บเงินไว้สักสตางค์เดียว เจ็บไข้ไม่มียากิน เราก็ยินดีจะได้ตายโดยไม่ต้องมีความทุกข์ พระทำได้ ฆราวาสนั้นไม่แน่ แต่ว่าพระนั้นทำได้ ถ้าไม่มีใครให้ข้าวกิน ไม่มีใครให้ยารักษา เราก็ยินดีตาย ไม่ต้องการจะทุกข์ ไม่มีความทุกข์ ไม่มีส่วนขาดแคลน นี่ก็เพราะว่าพระพุทธเจ้าสอนให้รู้จักทำจิตใจอย่างนี้นะ ฆราวาสอาจจะทำไม่ได้เพราะไม่เคยคิดเคยนึกขนาดนี้ แต่ถ้าพระต้องทำได้ เพราะมันสอนอยู่กันขนาดนี้ จึงไม่ต้องสะสมเงิน ไม่ต้องสะสมอะไรที่เรียกว่าจะเอาเป็นหลักประกัน
(นาทีที่ 32:11 อาจารย์ครับ ที่พระพุทธเจ้าทรงแบ่งมนุษย์ออกเป็นสี่จำพวก โดยเอาบัวมาเปรียบเทียบ แล้วพอหลังจากพระองค์ทรงตรัสรู้เสร็จแล้วก็ คิดว่าจะไม่ทรงประกาศธรรมะแก่ชาวโลกนั้น แสดงว่าท่านคงคิดว่ายังไง ๆ ธรรมะก็จะช่วยแก้ปัญหาของโลกไม่ได้แน่) คุณฟังผิดสับสนหมดแล้ว คือเห็นทีแรกว่าจะไม่สอน พอตรัสรู้แล้วคิดว่าจะไม่สอน เพราะเห็นว่าไอ้ธรรมะนี้ยาก คิดว่าจะไม่สอน ธรรมะนี้ยาก แล้วต่อมาใคร่ครวญ อ้อ, มันยังมีบางคนที่อาจจะรู้ เราตั้งใจใหม่สอนคนที่อาจจะรู้ ส่วนคนที่ไม่อาจจะรู้ก็รอไปก่อน พระพุทธเจ้าไม่ได้ตัดทิ้งถึงกับว่าไม่รับรู้ รอไปก่อน แล้วก็เลยสอนให้คนที่ควรจะรู้ได้เท่าไรให้มันรู้ไปเสียเต็มที่ แล้วคนที่มันไม่อาจจะรู้ มันยังไงก็สอนเท่าที่มันควรจะได้รับ นี่เป็นเรื่องสอนให้ยึดถือ เรื่องบุญเรื่องชาติหน้า เรื่องอะไร ๆ ไปตามเรื่องนะ สอนเรื่องชาติหน้า เรื่องตัวเรามีดี มีได้อะไร พวกนี้ ปทปรมะ ไม่รู้จักนิพพานในชาตินี้ แล้วพวกไหนสามารถจะรู้จักพระนิพพานในชาตินี้ ก็สอนเรื่องไม่มีตัวตนเลย คือสอนเรื่องการตรัสรู้ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ก็ไม่กี่คนนะ จริงๆ เป็นพระอรหันต์กันไม่กี่คน นอกนั้นก็เป็นไม่ได้
(นาทีที่ 33:49 คนที่ต้องการบรรลุวิมุตติสุข จำเป็นต้องออกบวชไหมครับ) โอ๊ย, นั่นไม่เกี่ยวกัน บวชหรือไม่บวชไม่เกี่ยวกัน ให้ทำอย่างเดียวนั่นแหละ แต่ว่าบวชนั่นมันสะดวก ถ้าต้องการความสะดวก ต้องการเร็ว ๆ ก็บวชเสีย แต่ถ้าไม่ต้องการเร็ว ๆ ไม่ต้องการความสะดวก ในการนี้นะ ทำไปเรื่อย ๆ ก็ได้ ทำไปที่บ้าน ทำไปเรื่อย ๆ หาไปกินไป ศึกษาไปถึงความไม่น่ายึดถือไม่น่ายึดมั่นได้เหมือนกัน เป็นพระโสดาก็ได้ เป็นสกิทาคาก็ได้ เป็นอนาคาก็ได้ อยู่แบบที่บ้านนั่น
(นาทีที่ 34:35 อาจารย์ครับ แล้วพระพุทธเจ้าบอกว่ามีบุคคลจำพวกหนึ่ง อเวไนยสัตว์ เป็นพวกที่สั่งสอนไม่ได้) นี่เขาหมายความว่านำไปนิพพานยังไม่ได้ แต่มันอยู่ที่นี่ได้ (พวกนี้เป็นพวกสั่งสมประโยชน์ส่วนเกิน) ก็แน่นอนแหละ ถ้ามีอวิชชามีตัณหาเสียมาก มันก็หลงลุ่ม ลุ่มหลงเสียแต่ประโยชน์ส่วนเกินนั่นแหละ คือข้อที่นำไปนิพพานไม่ได้ (ถ้าตราบใดที่มีพวกอเวไนยสัตว์ โลกนี้ก็ไม่มีทางจะสงบสิ) อ้าว, ก็ถูกแหละ มันก็ยังมี มีอยู่บ้าง มันยุ่งแหละพวกนี้ แล้วเราอย่าไปอยู่กับมันสิ เราแยกออกมาอยู่คนละโลก คุณแยกไม่เป็นเหรอ อยู่แบบคนละโลกเลย ก็คือเราไม่ทำเหมือนเขา แล้วมันก็อยู่คนละโลก หรือว่าสถานที่นี่ก็เหมือนกัน เหมือนที่นี่แหละ มันคนละโลกถ้าเปรียบกับกรุงเทพ เหมือนกับคนละโลก สถานที่ ที่นี้จิตใจและการกระทำก็เหมือนกันอีก เราแยกอยู่คนละโลกได้ แล้วถ้าเก่งอยู่ที่กรุงเทพนั่นแหละแต่เหมือนอยู่คนละโลก จิตใจของเราไม่เหมือนกับเขา ไม่ได้ทำเหมือนเขา ไม่รู้ไม่ชี้ อยู่ที่กรุงเทพแต่ว่าอยู่คนละโลก เพราะว่าธรรมะนั้นมันมุ่งหมายอย่างเดียว มุ่งหมายจะไม่ให้มีความทุกข์ วิธีไหนก็จะไม่มีความทุกข์ ในเมื่อคนอื่นมีความทุกข์ ไอ้นี่มันไม่มีความทุกข์ มันอยู่คนละโลกได้อย่างไรล่ะ ก็เหมือนสุนัขไม่มีความทุกข์ เรามีความทุกข์ อยู่วัดเดียวกันได้ มันทำคนละอย่างเลย ไอ้เรื่องวัตถุไม่สำคัญหรอก คุณทำจิตใจให้มันถูกต้องสิ แล้วมันจะไม่มีความทุกข์ วัตถุจะมีมากก็ได้ มีน้อยก็ได้ จะกินจะใช้ ก็กินเท่าที่มันจำเป็นนะ ที่เหลือจากนั้นก็อย่าไปคิดมัน คิดว่าให้คนอื่นไปแล้วก็ยังดี ถึงจะต้องกินต้องใช้ ถ้ามันเกิดไม่ได้กินขึ้นมาด้วยเหตุผลอันสมควร ก็ตายแล้วกันแหละไม่ต้องเป็นทุกข์ดีกว่า เอาข้างไม่เป็นทุกข์ แต่มาขลาดกลัวเสียอีก กลัวตายเสียอีก กลัวตายกันอีก เอาข้างไม่เป็นทุกข์ไว้เถอะ ไม่ต้องกลัว นั่นคิดดูสิ คุณดูสิ เราไม่มีเงินสักสตางค์ แต่เราสร้างตึกสร้างอะไรได้ นั่นมันคือประโยชน์ส่วนเกินของผู้อื่นบริจาคมานะ คุณเข้าใจไหม เราอยู่นี่ไม่มีเงินสักสตางค์เดียว แต่ทำไมถึงทำไอ้นั่นขึ้นมาได้ ราคาเป็นแสน ๆ ล้าน ๆ มันคือประโยชน์ส่วนเกินของผู้อื่นบริจาคมา แต่เขาจะบริจาคมาด้วยความรู้สึกอย่างไร นั่นมันอีกเรื่องหนึ่งนะ แต่มันเป็นประโยชน์ส่วนเกินแหละ เขาถึงบริจาคได้ แล้วก็บริจาคมาเพื่อศาสนา เพื่อมนุษย์ แล้วเราก็อยู่กันได้ อย่ากลัวว่ามันจะไม่พัฒนา หรือจะไม่ ไม่อะไร ไม่ต้องกลัว เมื่อเราไม่ถือว่าของเรา ไม่ถือว่าตัวเรา เราตายก็ได้ มันไม่ใช่ของเรา ชีวิตนี้ก็ยังไม่ใช่ของเรา ความสุขก็ไม่ใช่ของเรา เราจึงไม่มีความทุกข์ แต่แล้วมันก็ไม่ได้ไปไหนเสีย ชีวิตก็ยังอยู่ ทรัพย์สมบัติก็ยังเป็นสิทธิแก่ผู้นั้นจะใช้จะจ่าย กฎหมายมันมี วัฒนธรรมประเพณีอะไรยังมี ไม่มีใครมายื้อแย่ง แต่ใจของเรานั้นอย่าไปยึดถือเข้า มันจะมีความทุกข์นะ ปล่อยให้กฎหมายช่วยคุ้มครองอเสียไปตามเรื่อง ไม่มีความทุกข์ กินกันได้ พระท่านให้กินก็กินสิ เมื่อทำไว้ถูกต้องดีแล้ว ไม่ต้องเสียใจ แต่ถ้ามันเกิดผิดพลาดอย่างใดอย่างหนี่ง มันก็ต้องตาย คุณไม่อ่านหนังสือพิมพ์หรือ ประเทศนิการากัวหรืออะไรที่มันแผ่นดินถล่มมันกำลังตายเป็นพัน ๆ มันจะไปเรียกร้องเอาจากใครล่ะ คุณจะไปเรียกร้องเอาจากใคร แผ่นดินมันถล่ม หรืออะไรก็ไม่รู้ แผ่นดินไหวใช่ไหม ตายกันกี่พันก็ไม่รู้ ฟังวิทยุเมื่อคืนนี้ อย่างนี้เขาเรียกว่าไม่มีทางที่จะเรียกร้องจากใคร เมื่อคนเหล่านั้นมันทำกันดีแล้ว อยู่กันดีแล้ว แผ่นดินไหว แผ่นดินถล่ม เราก็เหมือนกันแหละ เมื่อเราทำดีแล้ว ถ้าเหตุการณ์มันเกิดขึ้น รถยนตร์มาชนหรือว่าโจรมาปล้น หรือว่าถูกอะไรยิงตาย ก็ตามใจมันแหละ มันเป็นเรื่องที่ไม่ต้องกลัวนี่ เราทำไว้ดีแล้ว ทำดีตลอดเวลา ถูกต้องตลอดเวลา เราก็ไม่ต้องกลัวนะ
เรียนธรรมะ ก็ให้มันถูกธรรมะ ให้มันเข้าใจธรรมะ อย่าท่องแต่ตัวหนังสือ ถ้าท่องกันแต่ตัวหนังสือแล้วไม่มีทางที่จะเข้าใจหรอก ต้องการให้รู้จักทำจิตใจให้ไม่เป็นทุกข์นะ ใครรู้จักการทำจิตใจไม่ให้เป็นทุกข์ได้แล้วก็ต้องเรียกว่าเป็นธรรมะล่ะ แต่คำว่าตัวเองไม่เป็นทุกข์ อย่าไปทำคนอื่นให้เป็นทุกข์ ตัวเองไม่เป็นทุกข์แต่ไปเล่นทำคนอื่นเป็นลำบากอย่างนี้ ไม่ได้ หมายความว่าเราไม่เป็นทุกข์ นี่ถูกต้องและเป็นธรรมะ แต่การกระทำนั้นต้องไม่มีใครเป็นทุกข์ด้วย แม้แต่แมวหรือสุนัขสักตัวก็ต้องไม่เป็นทุกข์ ถึงจะถูก
(นาทีที่ 39:45 ดังนั้นวิธีการบังคับจิตใจอย่างไร) ก็อย่าให้มันเป็นไปตามอำนาจของกิเลส ความโง่ก่อน แล้วก็ความโลภ แล้วก็ความโกรธ (อาจารย์ครับ อย่างเวลาสอบทุกที พยายามจะไม่ให้ตื่นเต้น แต่มันก็ตื่นเต้น) อ้าว, ก็นั่นเราไม่เคยฝึก พอเข้า พอถึงชั่วโมงสอบไล่แล้วตื่นเต้นวุ่นวาย ระส่ำระส่ายเพราะเรานั้นไม่เคยฝึกไว้ให้ดี เราต้องฝึกให้ดี เราทำถูกต้องอยู่ตลอดเวลา พอถึงคราวจะสอบไล่มีใจคอก็ปรกติที่สุดเลย เวลาจะสอบไล่หรือเวลาที่เราจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญเหมือนการสอบไล่ ต้องทำใจคอปรกติจึงจะฉลาด จึงจะคิดได้ คิดดี คิดจำเก่ง ระลึกได้ดี พอจิตใจระส่ำระส่าย ที่จำได้มันก็ลืม นึกไม่ออก ก็สอบไล่ตก ต้องหัดแหละ เวลาเล่นกีฬานั่นนะ ถ้าเล่นกีฬาที่แท้จริงนะ เป็นเวลาที่ฝึกหัดให้ใจคอปรกติ ในการที่จะทำอะไร ตัดสินใจทำอะไร เราก็เลยเกิดนิสัยเคยชินมีใจคอปรกติ เวลาเข้าด้ายเข้าเข็ม ยิ่งใจคอปกติ เราก็ทำอะไรได้ดี แม้แต่การสอบไล่
(นาทีที่ 41:08 ท่านอาจารย์ครับ พระพุทธเจ้าก็ไม่เชื่อว่า ไม่เชื่อในหลัก ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอย่างเดิมใช่ไหมครับ) พระพุทธเจ้าไม่ได้พูด ในรูปในลักษณะอย่างนี้ พูดว่าสิ่งทั้งหลายมันเปลี่ยนเรื่อย เพราะว่าสิ่งทั้งหลายมีเครื่องกระตุ้น มีเหตุปัจจัยกระตุ้นมันเปลี่ยนเรื่อย มันเปลี่ยนเรื่อยๆ และมันอาจจะซ้ำรอยก็ได้ มันซ้ำรอยก็ได้ ถ้าเหตุปัจจัยมันซ้ำรอย มันอาจซ้ำรอยก็ได้ ยกตัวอย่างเรื่องที่เล่าให้คุณฟังเมื่อสักครู่ ว่าอายุแปดหมื่นปีลดมาเหลือสิบปี ยังกลับไปหาแปดหมื่นปีได้อีก มันก็แล้วแต่เหตุปัจจัยที่มันจะโผล่มาโผล่ไป โผล่มาโผล่ไป คือไม่เที่ยง แต่ไม่ได้ใช้คำว่าประวัติศาสตร์ และในระยะสั้น ๆ เหมือนกับเราเรียนประวัติศาสตร์ของโลก เวลานี้มันระยะไม่กี่พันปี มันไม่สามารถถึงกับซ้ำอย่างนั้นได้ นี่พูดกันเป็นล้าน ๆ ปีเลย บางคนก็เปลี่ยนกันถึงขนาดเหมือนอายุแปดหมื่นปีเป็นสิบปี มันต้องกินเวลาเป็นแสนปี หมื่นปี แสนปี ล้านปี
(นาทีที่ 42:22 ถ้าทุกข์ที่เกิดจากอยากให้ผู้อื่นได้ดี ยกตัวอย่าง ความทุกข์ของแม่ที่อยากให้ลูกได้ดีอย่างนี้ จะแก้อย่างไร) นี้มันอีกแบบหนึ่ง อีกส่วนหนึ่ง ปัญหาหนึ่ง ความทุกข์ที่เกิดมาจากการทำดี ต้องพูดให้กว้างกว่าที่คุณพูดนะ ความทุกข์หรือว่าสิ่งที่เรารู้สึกว่าต้องทนทุกข์ ซึ่งเกิดมาจากการที่อยากจะทำดี เช่น เราอยากจะปฏิบัติให้ละกิเลสอย่างนี้ เราก็ลำบากเหมือนกัน ต่อสู้กิเลสนี้จะลำบากยิ่งกว่าพ่อแม่จะเลี้ยงลูกให้ได้ดีเท่าใด ความลำบากจะมีมากกว่า นี่ถ้าพ่อแม่ฉลาดรู้จักเลี้ยงลูกให้ดี อบรมลูกให้ดี โดยตัวเองไม่ต้องเป็นทุกข์ก็ได้ ต้องเป็นพ่อแม่ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ รู้ธรรมะดี รู้จักตั้งจิตใจดี และก็ทำการทำงานแล้วเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานให้มันดี โดยตัวเองไม่ต้องเป็นทุกข์ก็ทำได้ ไม่ใช่ทำไม่ได้ แต่นี่พ่อแม่ของเราไม่ได้รับการศึกษาในทางธรรมะ มันเป็นทุกข์เสียตั้งแต่ทีแรก ตั้งแต่ก่อนมีลูกอีก พอมีลูกมันก็ลำบากมากขึ้น ทุกข์มากขึ้น นี่เพราะมันขาดธรรมะ ถ้ามีธรรมะแล้วก็จะไม่มีความทุกข์มาตั้งแต่แรก ๆ มันก็จะสามารถหาเลี้ยงชีวิตได้ เลี้ยงลูกได้ แต่ว่าถ้ามันจะเป็นอุบัติเหตุอะไรบังเอิญแทรกแซงเข้ามา ก็ไม่ต้องเป็นทุกข์เหมือนกัน ถ้ามีธรรมะแล้วมันไม่มีทุกข์หรอก เราทำไว้ดีเราทำอยู่ดีทุกอย่างแหละ แล้วถ้ามีอะไรมา accident ตัดตอนออกไปเราก็ไม่เป็นทุกข์ อย่าเป็นทุกข์ ข้อสำคัญว่าอย่าเป็นทุกข์ เราทำดีอยู่แล้ว ถูกอยู่แล้ว เราก็ทำไป เราสงสารคนขอทาน เราจะต้องเป็นทุกข์ด้วยหรือ ถ้าเราต้องเป็นทุกข์ด้วย เราคิดเสียใหม่เถอะ มันต้องคิดเสียใหม่ เพราะมันไม่ต้องเป็นทุกข์ เราก็ช่วย ช่วยคนขอทาน ช่วยคนที่มีความทุกข์ ก็ยังได้ ที่นี้แม่พ่อมันรักลูกมากเกินไป มันรักหลับหูหลับตา อะไรสักนิดมันก็เป็นทุกข์เสียแล้ว ทุกข์มากเกินความจำเป็น
(นาทีที่ 44:41 เห็นคนอื่นเขาโกงอยู่ชัด ๆ ทั้งๆที่ตัวเองไม่ได้ถูกโกง แต่รู้สึกเป็นทุกข์เหมือนกัน) มันไม่ใช่ว่าเป็นทุกข์หรอก ควรจะต้องไปคิดให้ดี ๆ ถ้ายังไม่เป็นโพธิสัตว์แล้ว ยังไม่มีความทุกข์เพราะเห็นคนอื่นเป็นทุกข์ คุณเดินขบวนเพราะอยากจะได้ชื่อได้เสียงไม่ใช่หรือ ไม่ใช่เพราะเป็นทุกข์ ไม่ใช่หรือ เวลาเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลนั้น เพราะอยากจะดังอยากจะเด่นนะไม่ใช่เพราะมันเป็นทุกข์ และถ้าว่าเกิดเป็นทุกข์เพราะเห็นว่าราษฎรจะเดือดร้อนจึงเดินขบวนต่อต้านรัฐบาล นี่มันเป็นโพธิสัตว์ไปแล้วนะ เป็นบุคคลประเภทโพธิสัตว์แล้วนะ ไม่ใช่เล็กน้อยนะ ทำไมจะไม่จริงล่ะ ไม่ได้ทำเอาดีเอาเด่นอะไร ที่ว่าต่อต้านรัฐบาลได้ ไปถามกันดูเองเถอะ ต่อต้าน เดินขบวนทำทำไมกัน
(นาทีที่ 45:43 พระพุทธเจ้าที่ทรงห้ามไม่ให้มีคนพิการ ด้วยเพียงแค่สาเหตุที่ว่า จะประกอบกิจของสงฆ์ไม่ได้) นั่นแหละก็เพราะมาประกอบกิจไม่ได้ จะพลอยทำให้คนอื่นลำบาก เกิดภาวะที่ไม่น่าดูขึ้นมาในสงฆ์ ในหมู่สงฆ์ (แล้วก็ไม่ใช่ความผิดของเขา ที่เกิดมาพิการ) อ้าว, นั่นแหละ เขาไม่บวชก็ได้ เขาก็ปฏิบัติได้ ถ้าว่าพิการ พิการชนิดที่น่ารังเกียจไม่ใช่พิการทั้งหมดนะ วินัยไม่ได้หมายถึงพิการทั้งหมด แค่พิการที่น่ารังเกียจ พิการที่อาจจะเป็นอันตราย หรือน่ารังเกียจ หรือทำความเสียหาย นี่เขาห้ามนะ ถ้าพิการชนิดหนึ่ง พิการธรรมดาก็ไปอีกอย่างหนึ่ง ไม่ได้ห้าม เพื่อความเหมาะสมนั่นแหละ ไปเข้าใจเสียใหม่นะ (นี่หมายความว่าสงฆ์ ที่ต้องปฏิบัติกิจ ของสงฆ์ และต้องช่วยคนอื่นด้วยใช่ไหมคะ) นั่นแหละ มีเพื่อให้สำเร็จตัวเองและก็ช่วยผู้อื่นแหละ คนพิการที่จะช่วยตัวเองก็ได้โดยที่ไม่ต้องบวชก็ได้ ถ้าบวชก็อาจจะมาทำความลำบากให้ผู้อื่น ความที่ว่าไม่น่าดูในคณะสงฆ์ มันจะทำให้คณะสงฆ์ไม่เป็นไปด้วยดี ซึ่งเขาทำโดยไม่ต้องมาบวชก็ได้ หรือถ้าบวชก็อย่าบวชให้ถึงขนาดที่บัญญัติไว้ อย่าเป็นภิกษุแบบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่ต้องทำอย่างนั้น ๆ ๆ เป็นสามเณรบ้าง เป็นอุบาสก อุบาสิกาบ้าง หรือว่าเป็นนักบวชแบบของตัวเองโดยไม่ต้องมารวมในคณะสงฆ์ก็ได้ ได้เหมือนกัน ต้องการจะปฏิบัติอย่างไรก็จะปฏิบัติได้เต็มที่ แต่ว่าจะไม่มาทำให้เกิดความลำบากยุ่งยากขึ้นในหมู่สงฆ์ที่ต้องการความเป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสของมหาชน มันจึงมีบัญญัติว่าคนที่เสียชื่อ ก็อย่ามาบวชเลย มันจะพลอยให้ถูกระแวงสงสัยกันไปเสียหมด ไม่ว่าจะเป็นคนพิการ หรือมีโรคน่ารังเกียจ หรือว่าที่ไม่เหมาะสมนั่นแหละ นี่ไม่ใช่ปัญหาธรรมะ ปัญหาเกี่ยวกับระเบียบหมู่คณะ
(นาทีที่ 48:05 ท่านอาจารย์ครับ มีคนเคยกล่าวว่า พระพุทธเจ้านี่เป็นฮิปปี้องค์หนึ่ง ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร) โอ้, เราไม่ได้บัญญัติความหมายอันแน่นอนว่าฮิปปี้คืออะไร คุณว่าฮิปปี้คืออะไร พูดมาก่อน (ผมเคยฟังอาจารย์คึกฤทธิ์ ท่านอธิบายว่าการไม่พอใจของสภาวะสังคม สมัยที่ยังเป็นเจ้าชายสิทธิถัตถะ) เอาแหละ คนที่ไม่ใช่ฮิปปี้ มันพอใจในสภาพสังคมหรือ (ท่านเข้าใจความหมายของคำว่าพวกฮิปปี้คือพวกที่ไม่พอใจกับสภาพสังคม หนีออกจากสังคมไปเพื่อไปคิดสร้างสังคมใหม่ขึ้นมา) นั่นก็เรียกว่าหาเรื่องพูด หาแง่หรือหาเรื่องมาพูด แต่ว่าความจริงคนส่วนมากก็ไม่ได้พอใจสังคม อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ใช่ทุกอย่าง แต่ฮิปปี้นั้นตามความรู้สึกของเรา รู้สึกว่าไปหาความตามใจตัวเอง ละสังคมไปหาอาการตามใจตัวเอง ตามพอใจตัวเอง พระพุทธเจ้าไม่ได้ผละสังคมไปหาการตามใจตัวเอง ไปหาการตรัสรู้ไปหาการดับทุกข์แล้วมาช่วยคนอื่น ฮิปปี้ไม่ได้คิดแบบนั้น (แต่อาจารย์คึกฤทธิ์ ก็บอกว่าฮิปปี้นี้มีหลายจำพวก) นั่นแหละ ฮิปปี้พวกไหน เออ,ฮิปปี้พวกไหน ที่ออกไป (พวกที่พยายามคิดสร้างสังคมใหม่ขึ้นมาก็มี) แต่ว่าพวกที่ไม่ใช่ฮิปปี้ เขาก็คิดอย่างนั้นกันอยู่ทั่วไปไม่ใช่เหรอ (คือเขาหาแง่พูดมากกว่า) สุภาพบุรุษต้องคิดแง่นั้นแหละ คิดว่าเราจะไปหาแง่หาอะไรสร้างสังคมให้ดีขึ้น คือว่าพระพุทธเจ้านั้นต้องอยู่เหนือความเป็นฮิปปี้และไม่ใช้ฮิปปี้เป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอยู่เหนือความเป็นอะไรทุกสิ่ง นี่เวลานี้เราเองก็ยังไม่รู้เลยว่าฮิปปี้คืออะไร พูดไปเดี๋ยวผิด อย่าพูดดีกว่า ถ้าฮิปปี้ผมยาวก็เป็นฮิปปี้กันหมดแหละ ผมยาวกันทุกคน เรายังไม่รู้ว่าฮิปปี้คืออะไร ฮิปปี้เขาว่าเป็นอย่างนู้น อย่างนี้ อย่างนั้น แต่รวมความแล้ว ตามความรู้สึก รู้สึกว่าฮิปปี้นี้ผู้กล้าสลัดละทิ้งสังคมไปหาความเพลิดเพลินตามความพอใจของตัวเอง แล้วจะเอาเวลาไหนไปสร้างสังคมล่ะ คิดดูสิ ตามใจตัวเอง เพลิดเพลินกัน แล้วเอาเวลาไหนไปสร้างสังคม ถ้าสร้างก็สร้างสังคมฮิปปี้ ตายเลย สังคมฮิปปี้ก็ โลกนี้ก็ไม่เป็นโลกแล้ว
(นาทีที่ 50:54 ลักษณะที่แบ่งระหว่างโลกุตรธรรมและโลกียธรรม มองกันชัดๆ เป็นอย่างไรไม่ทราบ) ไอ้เรื่องแบ่งเป็นโลกียะ โลกุตระนี้ พระพุทธเจ้าไม่เคยแบ่ง เราไม่เคยพบพระพุทธภาษิตที่แบ่งธรรมะหรือแบ่งบุคคลชัดลงไปว่าเป็นโลกียะหรือโลกุตระ เพียงแต่ว่า ตรัสไว้ว่า ถ้าเรามีจิตใจชนิดนี้แล้วก็ เราจะถูกครอบงำโดยสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลก ที่เป็นที่ตั้งแห่งความยั่วยวนนั้น ถ้าเรามีจิตใจแบบนี้ ทีนี้ถ้าเราอบรมจิตใจเสียแบบอื่น อบรมจิตใจแบบอื่น แบบอื่น แบบอื่น จนว่าไอ้ทั้งหลายที่มันเคยทำคนให้เป็นทุกข์ ครอบงำจิตใจคนให้เป็นทุกข์ มันครอบงำไม่ได้ ซึ่งจิตใจนี่แหละเขาเรียกว่าชนะ ชนะโลก เรียกว่าเหนือโลก เหนือโลกคือโลกุตระ ความจริงมันเป็นจิตใจที่ว่าโลกไม่มีอิทธิพล อย่างใดอย่างหนึ่งจะทำให้บุคคลนี้ให้มีความทุกข์ได้ แล้วคนธรรมดาสามัญ ปุถุชนคือคนที่อะไรเข้ามาก็เป็นทุกข์แล้ว เดี๋ยวก็ร้อง เดี๋ยวก็หัวเราะ เดี๋ยวก็ร้อง เดี๋ยวก็หัวเราะ นี่หมายความว่าโลกมันทำได้ตามชอบใจ ทำคนนั้นได้ตามชอบใจ คนนี้เขาเรียกว่ายังอยู่ในวิสัยโลก เป็นโลกียะ ก็ต้องมีความทุกข์ ไม่ระดับใดก็ระดับหนึ่ง จนมันมีน้อยลง ๆ ๆ จนไม่มีเลย เหนือโลกด้วยประการทั้งปวง เขาเรียกว่าพระอรหันต์นะ พระอรหันต์ หรือผู้ที่จะกำลังเป็นพระอรหันต์โดยแน่นอน นี่แหละเขาเรียกว่าเหนือโลก นอกนั้นเขาเรียกว่าในโลก ธรรมดา คนธรรมดา ปุถุชน ปุถุชนคือคนหนา หนาไปด้วยความไม่รู้ ความมืด ความไม่รู้ ถ้าบัญญัติว่าโลกียะ โลกุตระ ก็บัญญัติว่า ถ้ายังต้องไปตามอำนาจบีบคั้นของโลก เรียกว่า โลกียะ สามารถอยู่เหนือการบีบคั้นของโลก โลกบีบคั้นไม่ได้ต่อไป เรียกว่าโลกุตระ เท่านั้นแหละ คุณก็ไปดูเอาเถอะ ตัวอย่างง่าย ๆ ก็ เป็นๆ กันนี่แหละ บางคนมันก็ เดี๋ยวก็หัวเราะ เดี๋ยวก็ร้องไห้ ยินดียินร้าย แต่ว่าบางคนมันไม่มีอะไรจะทำให้ยินดียินร้ายได้ คนนี้มันเริ่มอยู่เหนือโลก พูดง่าย ๆ ว่าคนที่มันยังหลงอยู่ในโลก กับคนที่ไม่หลงอยู่ในโลกอีกต่อไป นี่คือ โลกียะ โลกุตระ ไอ้ที่หลงอยู่ในโลก เมื่อมากขึ้นนี่เรียกว่าฉลาดในทางโง่ มันมีความเฉลียวฉลาดในทางที่จะโง่ มันไม่ฉลาดในทางที่จะอยู่เหนือโลก มันฉลาดในทางที่จะทำให้โลกนี้ยั่วยวนมากขึ้น กระทั่งว่าไปโลกพระจันทร์นี่ก็ต้องว่าฉลาดนะ มีสติปัญญาแต่ว่าทำให้จมในโลกมากขึ้น ไม่ใช่อยู่เหนือโลก เรื่องความรู้เทคโนโลยีประดิษฐ์ ประดิษฐ์สิ่งที่น่ารัก น่าใช้ น่าพอใจ น่าหลงใหลมากขึ้น ๆ จะต้องกินแบบนั้น จะต้องนอนแบบนั้น จะต้องแต่งตัวแบบนั้น จะต้องทำท่าแบบนั้น เหมือนกับคนบ้า ไม่จำเป็นเลย ทำไมมันต้องทำท่า ทำท่าเหมือนกับคนบ้า หรือว่าแสดงแฟชั่นบ้าง แสดงอะไรบ้าง เหมือนกันคนบ้าชัด ๆ มันเสียเวลาไปทำทำไม นี่มันเกิน ยิ่งกว่าก็เกิน นี่ก็เรียกว่ามันอยู่ใต้โลกหนักขึ้นไปอีก แล้วตัวเองก็ประดิษฐ์ขึ้น มนุษย์นั่นแหละประดิษฐ์ขึ้น นี่แหละมันฉลาดสำหรับจะโง่ มันต้องฉลาดสำหรับเพื่อจะหลุดพ้นไปได้ เขาจึงเรียกว่าฉลาดจริง เราไม่เคยไปเห็นด้วยตาหรอก แต่ว่าเราดูในสมุดแคตตาล็อค หนังสือพิมพ์รายเดือนบ้าง อะไรบ้าง เราเห็นว่ามันไปกันใหญ่แล้ว จะแต่งตัว จะกิน จะใช้ จะสอย จะอะไรต่ออะไร มันลำบากโดยไม่จำเป็นมากขึ้น นี่เป็นส่วนเกินด้วย และเป็นส่วนเกินชนิดบ้าที่สุด ไม่ใช่ส่วนเกินธรรมดา มันก็เลยมีความทุกข์มาก เสียเวลาเท่าไรเรื่องแต่งตัวแต่งนั้น แล้วไปยืนแอคท่า โดยไม่มีประโยชน์อะไรเลย นี่แหละคือโลกียะแรง ๆ ปุถุชนอย่างแรง ปุถุชนอย่างเลวมาก ปุถุชนธรรมดาก็มี ปุถุชนเลวมากก็มี และปุถุชนที่ค่อยยังชั่วแล้วก็มี เหมือนอย่างคุณนี้ ดูจะเป็นปุถุชนที่ค่อยยังชั่วแล้ว ถ้าดีกว่านั้นเขาเรียกว่ากัลยาณปุถุชน ปุถุชนที่งาม งดงามพอดูได้ กัลยาณปุถุชน ถ้าเหนือจากนี้ก็จะเป็นฝ่ายนู้นแล้ว ฝ่ายโลกุตระ ผู้ที่ไม่หลงในโลก
(นาทีที่ 56:25 อาจารย์เขาบอกว่า นิพพานเราไม่สามารถบรรยายได้ บอกลักษณะไม่ได้ คือพูดในทำนองตรรกะ ก็มองว่า ผู้พูดไม่รู้ ผู้รู้จะไม่พูด ทำนองนี้ ผมไม่เข้าใจ คือผมถามอาจารย์ อาจารย์อธิบายผมไม่เข้าใจ ว่าทำไมจึงอธิบายนิพพานไม่ได้ เมื่ออธิบายลักษณะของนิพพานไม่ได้ แล้วทำไมนิพพานถึงอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนาจนถึงปัจจุบันนี้) ส่วนที่อธิบายได้มันก็มี แต่ว่าไม่ใช่ตัวนิพพานจริง ส่วนที่ยังเอามาอธิบายได้ มาพูดได้ มาบรรยายได้นั้นมันยังไม่ใช่ตัวจริง ส่วนตัวจริงแท้ ๆ บรรยายไม่ได้ หมายความว่าบรรยายให้รู้สึกชนิดนั้นไม่ได้ ไม่ต้องนิพพานหรอก อะไรก็ตามใจแหละ ส่วนที่เราบรรยายด้วยคำพูดไม่ได้ ก็มี อยากจะบรรยายได้ก็ต้องไปลองดูด้วยตนเอง เช่นว่า น้ำตาลหวาน เกลือเค็มอย่างนี้ เราบรรยายได้ แต่ว่าส่วนที่บรรยายไม่ได้ก็มี ความเค็มที่แท้จริง ความหวานที่แท้จริงบรรยายด้วยตัวหนังสือไม่ได้ ไม่รู้จะใช้คำพูดอะไร แต่เราบรรยายได้ว่ามันเค็ม แต่ที่นี่มันได้เพราะเห็นว่าทุกคนมันเคยกินเกลือ พอพูดว่าเค็มแล้วมันก็รู้ พอพูดว่าหวานมันก็รู้ แต่ความจริงถ้ามันไม่เคยกินเกลือกินน้ำตาลมาก่อนมันก็บรรยายไม่ได้เหมือนกัน ว่าหวานมันคืออย่างไร ร้อนคืออย่างไร เย็นคืออย่างไร แล้วนิพพานไม่เคยชิมนี่ แต่ว่านิพพานส่วนเคยชิมมันก็ไม่สนใจนี่ เวลาที่จิตว่างไม่มีความทุกข์นั่นแหละคือนิพพาน นี่ก็นิพพานที่เป็นตัวอย่าง ฉะนั้นส่วนที่บรรยายด้วยคำพูดได้ มี แต่ส่วนที่บรรยายด้วยคำพูดไม่ได้ มี ทุกอย่างความรู้สึกทุกอย่าง มีอยู่สองชั้น ชั้นที่บรรยายด้วยคำพูดได้นี่ยังว่า ไม่ถึงตัวจริง ไอ้ตัวจริงบรรยายด้วยคำพูดไม่ได้ ถ้าอย่างนั้น ทำอย่างไรจะรู้กันเล่า ก็ต้องไปชิมกันสิ ไปกินกันสิ ไปกินเกลือ กินน้ำตาล กินอะไรเข้าก็รู้ กินที่เรียกว่าหวานหรือเค็ม ทีนี้นิพพานก็พยายามให้มีเวลาที่จิตมันว่างสักนิดดูสิ ว่างจากกิเลส ว่างจากตัวกู ว่างจากของกู มานั่งตรงนี้สบายใจหรือไม่สบายใจ ถ้าสบายใจก็รู้ว่า เอ้า, นี่มันเป็นตัวอย่าง เป็นตัวอย่างของความว่าง ว่างจากตัวกู ว่างจากของกู เป็นนิพพานตัวอย่าง เราพูดถึงนิพพานตัวอย่าง เขาไม่ค่อยเชื่อ เขาว่านิพพานตัวอย่างไม่มี มันมี ของทุกสิ่งมันมีตัวอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอะไร นิพพานแปลว่าเย็น เย็นก็คือไม่ร้อน เวลาหายใจเย็นแท้จริง ไม่ร้อน นั่นแหละคือตัวอย่างนิพพาน ฉะนั้นนิพพานส่วนที่บรรยายได้ก็บรรยายไปตามที่จะบรรยายได้ แต่ส่วนรสของมันจริง ๆ มันบรรยายไม่ได้ เช่นเดียวกับความหวานความเค็ม เป็นต้น นี่แหละเขาก็พูดว่า สิ่งที่บรรยายได้ ยังไม่ใช่ตัวจริง จะเป็นธรรมะก็ตาม จะเป็นนิพพานก็ตาม จะเป็นเต๋าก็ตาม ประโยคนี้เราไม่เคยพบในพระคัมภีร์ พระไตรปิฎก แต่มันมีในคัมภีร์ของเต๋า ของเล่าจื้อ ประโยคหนึ่ง ประโยคที่หนึ่งของหน้าแรกจะมีว่า เต๋าที่บรรยายได้ด้วยคำพูดนั้นมิใช่เต๋า คุณฟังดู ประโยคที่หนึ่ง บรรทัดแรกของคัมภีร์เต๋า เต๋อ จิน ถ้าเปลี่ยนเป็น เราก็ว่า ธรรม ธรรมะนะ ที่บรรยายได้ด้วยคำพูดนั้นไม่ใช่ธรรมะ มันจะเหมือนกัน แต่ว่าส่วนที่บรรยายได้มี และเต๋าก็มี ธรรมะก็มี นิพพานก็มี ที่บรรยายได้ บรรยายให้ฟุ้งไปทั้งวัน ๆ ก็ได้ แต่นั่นมิใช่ มิใช่เต๋า มิใช่ธรรมะ มิใช่นิพพานที่แท้จริง ที่จะรู้ได้ด้วยความรู้สึก ไม่ใช่ด้วยสันทิฏฐิโก ไม่ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ โน้น เพราะว่าสันทิฏฐิโก เวทิตัพโพ มันบรรยายไม่ได้ด้วยคำพูด ส่วนที่มันบรรยายได้ด้วยคำพูดมันมี ทุกอย่างก็มี พระพุทธเจ้าในส่วนที่เราบรรยายได้ด้วยคำพูดก็มี ส่วนที่เราบรรยายพระพุทธเจ้าด้วยคำพูดไม่ได้ก็มี พระธรรม พระสงฆ์ อะไรเหมือนกันหมด ความรักคุณบรรยายได้เหรอ ด้วยคำพูด พูดกันง่าย ๆ สิ่งที่เรียกว่าความรัก บรรยายได้ด้วยคำพูด แต่มันไม่ใช่หรอก ไม่ใช่ตัวจริงหรอก เพราะมันเป็นความรู้สึกที่อยู่เหนือการบรรยายด้วยคำพูด
(นาทีที่ 01:01:51 อาจารย์ครับ ฉะนั้นแสดงว่านิพพาน นี่มีเป็นขั้นใช่ไหมครับ) โอ้, ทุกอย่างแหละ มันมีเป็นขั้น ๆ นิพพาน คำพูด นิพพานคำพูดมันแปลว่าเย็น อะไรเย็นก็เรียกว่านิพพานทั้งนั้น ถ่านไฟเย็น ก็เรียกว่าถ่านไฟนิพพาน กาแฟน้ำชาเย็นก็เรียกว่ามันนิพพาน จนกระทั่งว่าจิตใจมันเย็นก็เรียกมันว่านิพพาน (นี่พ้นจากวัฏสงสารไป ก็เป็นนิพพานเหมือนกัน) คือไม่มีวัฏสงสารนั่นแหละ เพราะวัฏสงสารมีความหมายว่าร้อน ปรุงแต่งด้วยกิเลส มันคือวัฏสงสาร มันคือร้อน พอไม่มีร้อนก็คือเย็น นี่พูดตามสำนวนธรรมดานะ เพราะว่าเราไม่มีคำพูดเกินกว่านั้นพูด เดี๋ยวพูดว่า ไม่ร้อนไม่เย็น คนก็ไม่รู้อีก ไม่ร้อนไม่เย็น นั่นแหละก็คือเย็น เดี๋ยวจะฟังไม่ค่อยเข้าใจอีก