แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายที่นี่พวกคุณทั้งหลายก็เห็นได้อยู่แล้วว่าเป็นไปรเวท ไม่มีฆราวาสมาร่วมฟัง ทั้งนี้ก็เพราะว่าเราอยากจะพูดกันแต่เรื่องที่เกี่ยวกับภิกษุโดยเฉพาะ มันเป็นเรื่องภายในของภิกษุ พูดกันแต่เรื่องที่มันเป็นเรื่องของภิกษุกับพรหมจารีย์ที่มีความรับผิดชอบร่วมกัน สำหรับชาวบ้านนั้นไม่ได้รับผิดชอบร่วมกันในข้อนี้ เขาจัดไว้ให้อยู่คนละระดับ ก็ขอให้ทราบว่าไอ้เรื่องต่างๆ นั้น บางเรื่องนั้นใช้ได้ทั่วไป รับผิดชอบร่วมกัน ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ที่เป็นพุทธบริษัท แต่เรื่องบางเรื่องนั้นเป็นหน้าที่ของบรรพชิต คฤหัสถ์ไม่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนี่ก็คือเรื่องวินัย วินัยของพระไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของชาวบ้าน ถ้าพูดตรงๆ กันก็ว่า พระนี่มีหน้าที่ที่จะต้องรักษาวินัย ในลักษณะที่ไม่ให้ชาวบ้านมาติเตียนได้ วินัยบางข้อ มีโทษตามวินัยด้วย แล้วก็มีโทษทางโลกทางบ้านเมืองด้วย แล้วก็ชาวบ้านติเตียนด้วย ส่วนวินัยบางข้อนั้นชาวบ้านจะไม่เห็นว่ามีอะไรที่จะต้องติเตียนด้วย แม้ว่าจะผิดวินัย มีอยู่อย่างนี้ จึงเป็นเรื่องของพระมากเกินไป
เช่นเรื่องปราศจากจีวรหรือเรื่องอะไรทำนองนี้ ชาวบ้านเขาก็ไม่ได้ติเตียน แต่ถ้าเรื่องฆ่า เรื่องลัก เรื่องขโมย หรือน้อยที่สุดอย่างเรื่องฉันอาหารในยามวิกาล ชาวบ้านเขาก็ติเตียน จริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต มันก็เรื่องลัก เรื่องขโมย แต่ชาวบ้านเขาก็ติเตียน เหมือนกับเรื่องลักเรื่องขโมย บางทีเรื่องที่วินัยไม่ได้ห้าม แต่ถ้าไปทำเข้า ชาวบ้านติเตียนยิ่งกว่าบางเรื่องที่วินัยห้าม เช่นคุณลองไปขี่จักรยานออกไปนอกถนนดูสิ ถ้าชาวบ้านเห็น เขาก็ติเตียน ทั้งๆที่เรื่องวินัยนั้นยังไม่แน่ว่าจะผิดวินัยหรือไม่ผิดวินัย ทีนี้ชาวบ้านก็เห็นเป็นเรื่องพระไม่ได้ เขาจะต้องถือว่านี่เป็นเรื่องผิดวินัย บางทีเขาถือเลยไปว่านี่บ้าแล้ว หรือไม่ใช่พระแล้วเป็นต้น นี่คุณเข้าใจเอาเองว่า เราจะต้องระวังเกี่ยวกับวินัยแล้วเกี่ยวกับชาวบ้านด้วยอย่างไรบ้าง นี้เรียกว่ากล่าวโดยส่วนใหญ่ ไอ้เรื่องวินัยนั้นมีอยู่สองประเภท ผิดวินัยล้วนๆ ก็มี ผิดวินัยแล้วชาวบ้านติเตียน และบ้านเมืองลงโทษด้วยก็มี เราต้องระวัง เพราะถ้าลองเขาติดเตียนแล้ว มันก็กระทบกระเทือนถึงพระศาสนา มันถึงไอ้ความคาบเกี่ยวระหว่างศาสนา มันมีความเสียหายมาก มันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส ของบุคคลผู้ยังไม่เลื่อมใส ศาสนามันคลอนแคลน ทีนี้มันไปเสียไอ้ข้อที่ว่าเป็นข้อที่เขาหยิบขึ้นมาสำหรับจะอ้างว่าสู้ศาสนานั้นก็ไม่ได้ สู้ศาสนานี้ก็ไม่ได้ นี้ต้องถือวินัยเผื่อถึงทั้งสองอย่างอย่างนี้ให้มันเคร่งครัดมากขึ้นกว่าธรรมดา เผื่อว่าเราบวชแล้วก็อย่าได้มีส่วนแห่งการทำลายศาสนา แล้วก็ไม่ทำร้ายไอ้ประโยชน์ที่เราจะพึงได้จากการบวชของเราด้วย เราลองไม่ถือวินัยสิ ประโยชน์นี่จะหมดไป ประโยชน์ที่เราเองพึงจะได้รับจากการบวชนี่ มันจะหมดไป แม้ว่าเราจะศึกษาเรื่องอื่นๆ มากมาย ฉลาดเฉลียว แต่เราไม่ถือวินัยอย่างเดียว มันจะเสียประโยชน์ ไม่ควรการปฏิบัติ ประโยชน์แท้จริงมันคือ ประโยชน์ที่เกิดจากการปฏิบัติ ประโยชน์ที่เกิดจากการเล่าเรียนการเรียนอย่างวิชานี่มันมีน้อย หรือมันไม่สูงอะไร มันก็เป็นประโยชน์แต่มันไม่เป็นประโยชน์โดยตรงของพุทธบริษัทผู้บวชเรียน ต้องมีวินัยที่ปฏิบัติอยู่นี่แหละ จึงได้ผลของการบวช ไม่ใช่บวชหนึ่งเดือน บวชเดือนครึ่งก็ขอให้ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ให้ได้ประโยชน์ที่แท้จริง คือประโยชน์จากการปฏิบัตินี้ อย่าสักแต่ว่าฟัง พูด อบรมวิชาความรู้ นั่นมันก็ประโยชน์ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่แท้จริงตามความมุ่งหมายของการบวช นั่นเป็นประโยชน์อย่างวิชาหาอ่านเอาก็ได้ ไม่ต้องออกมาลำบาก ไอ้ที่ออกมาลำบากนี้เพื่อจะได้อะไรที่มันคุ้มกัน คือมาฝึกฝนไอ้ระเบียบปฏิบัติต่างๆ ซึ่งมันก็ลำบากมาก ทีนี้ก็พูดแล้วเมื่อวันก่อนแล้วว่าเมื่อมาเกี่ยวข้องกับพรหมจรรย์นี้มันจะต้องเจ็บปวด เพราะพรหมจรรย์นี้มันเหมือนมีดขูดเกลาเนื้อร้ายออกเสียให้หมด ให้เป็นเนื้อดี ใส่ยาให้หาย ฉะนั้นขอให้ยอมรับโดยไม่มีข้อแม้ เพื่อว่าเราจะต้องทำให้เกิดผลในการปฏิบัติโดยลงทุนด้วยความเจ็บปวด ให้อดทน รวมความคำเดียวสั้นๆ ว่าบังคับตัวเอง บังคับตัวเองคำเดียวเท่านั้นนะ ใช้ตลอดโลก ใช้แต่ต้นจนปลาย ชอบหัวเราะก็ไม่หัวเราะ ชอบกินชอบดื่มก็ไม่กินไม่ดื่ม ตามที่มันอยาก ด้วยกิเลสหรือด้วยความเคยชินตั้งแต่เป็นฆราวาส มันอยากจะนอนสายนอนสบาย เรามาเปลี่ยนเป็นบังคับ ไม่ต้องนอนสายถึงเวลาก็ลุก ข้อนี้ไม่ใช่เล็กน้อย ทุกข้อนี่เป็นการบังคับตัวเองไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ง่ายที่สุดคือเรื่องนอนสาย หรือนอนตามสบาย บางคนเข้าใจผิด อายุมาก ทั้งๆ ที่พระที่อยู่อย่างพระที่นอนสี่ชั่วโมงนี่คงไม่ได้ คงตาย ผิดอนามัย ที่จริงถ้าอยู่อย่างพระ กินอยู่อย่างพระ นอนสี่ชั่วโมงมันก็พอ ถ้ากินอยู่อย่างพระมันนอนหลับสนิท สี่ชั่วโมงมันก็พอดี ไอ้เห็นอนามัยอะไรของชาวบ้าน ต้องนอนแปดชั่วโมง สองเท่า ทีนี้ระเบียบวินัยของพระที่จะต้องนอนสี่ชั่วโมง ที่จริงมันอยู่ที่ว่านอนหลับสนิทหรือไม่ ถ้าหลับสนิทสี่ชั่วโมงก็เกินพอ ถ้ามันไม่นอนหลับสนิท มันไปวิตกกังวล สะดุ้ง นอนแปดชั่วโมงก็ไม่พอ สิบชั่วโมงก็ไม่พอ ตื่นขึ้นมามันก็ยังเพลียอยู่นั่นแหละ เพราะว่าในระหว่างที่นอนนั้นมันไม่ได้เป็นการพักผ่อนโดยสนิทของจิตใจ ความวิตกกังวลมันยังค้างอยู่ ถ้านอนอย่างพระ หรือว่าเป็นผู้ปฏิบัติอย่างพระมันก็ไม่วิตกกังวล นอนก็นอน สี่ชั่วโมงมันก็เกิดเป็นการนอนที่แท้จริง เรื่องอื่นก็เหมือนกัน เรื่องนี้เป็นตัวอย่าง ที่ว่าทำไมพระเราจงเกิดมีอะไรๆผิดไปจากที่ฆราวาสเขาทำ หรือจากที่ตัวเราเองเคยทำตอนเป็นฆราวาส เรื่องกิน เรื่องนอน เรื่องไอ้อะไรต่างๆ นี้ ฉะนั้นเมื่อเราสมัครเป็นพระ เราก็ต้องได้ทดลอง ได้เรียนรู้ ได้ลอง ได้ปฏิบัติอย่างพระกันอย่างเต็มที่ เพื่อว่าเราจะได้ความรู้เรื่องพระอันแท้จริง พอปฏิบัติลงไปแล้วมันได้ความรู้เรื่องพระอันแท้จริง หรือได้เคยเป็นพระอันแท้จริง คือเต็มไปด้วยการบังคับตัวเองทุกเรื่อง เรื่องใหญ่ๆ คือเรื่องกินเรื่องนอน เรื่องเป็นอยู่ อยู่ในที่สงบสงัด นี่มันก็เหงา สำหรับคนที่เคยชินแต่การคลุกคลีมันก็เหงา มันมีเรื่องในพระคัมภีร์ ภิกษุองค์หนึ่งออกปากทูลพระพุทธเจ้าว่า ไอ้ชีวิตพรหมจรรย์ในป่านี้มันปรากฏแก่ข้าพระองค์เหมือนกับว่าไปอยู่ในนรก พระองค์นั้นรู้สึกว่าการที่อยู่อย่างในระเบียบวินัยอย่างนี้ ในที่สงัดอย่างนี้ แบบพระอย่างนี้ เขาเป็นทนเหมือนอยู่ในนรก เพราะว่าจิตใจของเขามีแต่ เปลี่ยนมา มันก็อาจจะ มันก็เป็นความจริง อาจจะมีได้แม้ในสมัยนี้ เพราะเราไม่ได้ยินดีกับพรหมจรรย์นี้ พรหมจรรย์นี้ก็เป็นนรกเป็นได้ รู้สึกเหมือนตกนรก ทนตกนรก กว่าจะผุด ชาวบ้านธรรมดาแถวนี้เขาเรียกกันว่ามันผ้าเหลืองร้อน จิตใจไม่เป็นพระ มันทนอยู่ พระผ้าเหลืองมันก็ร้อน นับวันนับคืนว่าเมื่อไหร่มันจะครบพรรษา ออกพรรษาจะได้สึก นี่พรหมจรรย์มันไม่ได้เป็นที่ยินดีแก่บุคคลนั้น นี่ไม่ต้องมีแก่พวกเราบวชในระยะสั้น อย่าให้มันมีไอ้อย่างนั้น จะถือดีว่าตั้งใจบวช ไหนๆ ก็บวช ก็บวชแล้ว ไอ้เรื่องอย่างนี้จะได้ประโยชน์หน่อย ไม่ได้ชินไม่ได้ลอง ไอ้เรื่องที่แท้จริง มันไปรู้รสของนรกเสีย ไม่ได้รู้รสของตัวพรหมจรรย์ การไม่ยินดีในพรหมจรรย์นั่นแหละ เป็นนรก ต้องสอดส่องดูให้ดี มันมีอะไรที่น่ายินดี เมื่อคืนได้แสดงฝีไม้ลายมือของความบังคับตัวเองซึ่งลูกผู้ชายผู้มีความสามารถในการบังคับตัวเอง มันเปลี่ยนเป็นมากินน้อยนอนน้อย ไม่เล่นไม่หัว ไม่ตามใจตนเอง คอยกำหนดอยู่แต่การละเว้นไอ้สิ่งที่ควรเว้น นี่คือวินัย ในทางหนึ่งนั้น ในทางจิตใจก็ ค่ายอยู่แต่ในความสงบ ของการจะได้ความสงบ จะชิมรสความสงบ จะพบหน้ากับความสงบ ไอ้พระวินัยนี้ก็เหมือนเราเตรียมตัวของเราดี จะได้พบอะไรสักอย่างหนึ่ง คอยจ้องจะพบอะไรสักอย่างหนึ่ง เตรียมตัวดี คอยเฝ้าคอยอะไร คอยซุ่มจะเอาอะไรซักอย่างหนึ่งเหมือนกับเสือจะจับเนื้อ ทางธรรมมะมันก็ได้ผล ได้ผลจนได้ความรู้ สุขอันใหม่ เป็นความรู้สึกที่ เป็นความสุขเป็นความรู้สึก เป็นความฉลาด ฉลาดต่อชีวิต ฉลาดต่ออะไรขึ้นมามากๆ นั้นขอให้สังเกตดูวินัยทุกๆ ข้อเช่น อาวนโกวาท ดูด้วยตนเอง หรือเอามาอ่านพร้อมๆ กันก็ตาม แต่อย่างสักแต่ว่าอ่านๆ ไม่ไหว มันต้องฟังต้องสังเกตต้องพิจารณาให้รู้ความมุ่งหมายแต่ละข้อ ถ้าทำอย่างนี้จะพบว่า ไอ้ความมุ่งหมายทุกข้อของวินัยนี่มันมุ่งหมายจะเตรียมตัวเรานี่ จัดหรือเตรียมตัวเราให้พร้อมให้เหมาะ ที่จะพกไอ้สิ่งที่มันเป็นพรหมจรรย์ หรือว่าแล้วแต่จะสมมุติเรียก คือหัวใจของพรหมจรรย์ ไอ้น้ำอัมฤตย์ของพรหมจรรย์ วินัยเป็นผู้ตระเตรียมให้ ให้เนื้อตัวถูกต้อง เพื่อประโยชน์อันนั้นน่ะ ท่านจึงสามารถปฏิบัติธรรมได้โดยไม่ยาก แล้วก็ได้รับไอ้ตัวพรหมจรรย์ซึ่งเป็นของที่ว่าวิเศษประเสริฐสุดๆ ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์
ทีนี้ก็อยากจะบอกให้ทราบถึงเรื่องวินัย บางอย่าง คือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวินัยบางอย่าง ไอ้ตัววินัยได้ที่พูดไว้เป็นสิขาบท สิขาบทโดยเฉพาะ ที่เป็นปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อนั้น มันเรื่องของคนเลว คุณฟังดู มันเรื่องของคนเลว คือเรื่องของคนที่ทำผิดอย่างเลว เป็นเรื่องของคนเลว เลวอย่างโดยไม่รู้ตัวหรือรู้ตัว ก็เลวทั้งนั้นแหละ ถ้าคนมันไม่เลว อย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็ไม่ต้องตรัสบัญญัติวินัยแล้ว คือวินัยไม่ต้องบัญญัติแล้ว ถ้าคนมันดี ทีนี้คนมันมากเข้าๆ มันมีคนเลว เดี๋ยวคนนั้นทำอย่างนี้ เดี๋ยวคนนั้นทำอย่างนั้น ทำเลวล่ะ ถึงต้องบัญญัติ สรุปว่าไอ้วินัยนี่มันบัญญัติเพราะคนเลว แล้วก็บัญญัติเพื่อคนเลวนั่นเอง คนเลวเป็นเหตุให้บัญญัติ แต่เมื่อบัญญัติก็บัญญัติเพื่อใช้กับคนเลวนั่นเอง เราอย่าอยู่ในจำนวนนั้นล่ะกระมัง ไปอ่านดูสิขาบทนับตั้งแต่ปาราชิกสิขาบทไปจนถึงไอ้ ท้าวเรื่องต้นเรื่อง นิทานของเรื่อง ล้วนแต่มันเป็นคนเลวทำขึ้นจนพระพุทธเจ้าต้องบัญญัติสิขาบท บางเรื่องก็ไม่จำเป็น มันเลวมากเกินไป เมื่อแรกๆ พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติสิขาบท เพราะมีแต่คนดี ในเดือนแรกๆ ในปีแรกๆ บวชเข้ามาแล้วเป็นพระอรหันต์บ้างเป็นพระโสดาบันบ้างอะไรบ้าง วินัยยังไม่ได้บัญญัติอยู่หลายปี จะกี่ปีเราก็ยืนยันไม่ได้ แต่รู้ได้ว่าหลายปี จึงต้องเกิดบัญญัติไอ้วินัยสำหรับคนเลวขึ้นมา เพราะว่าคนเลวมันเข้ามาบวช ผมจึงถือว่าไอ้วินัยเหล่านั้นมันเพราะคนเลว และเพื่อคนเลว ทีนี้เราอย่าเป็นคนเลว มันก็ไม่ต้องเกี่ยวกับเรา แต่เราก็รู้ไว้ว่าอะไรมันเลว ก็ดีเหมือนกัน เพราะว่ามันยังมี อาจจะยังมีคนเลวอยู่ เราก็ต้องสวดปาฏิโมกข์ ให้ทุกคนรู้ไว้ว่าอย่างนี้ๆ ของต้องห้าม สำหรับคนที่ดีอยู่โดยสาย มันก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องมาฟังปาฏิโมกข์ สวดนี่เพื่อความพร้อมเพรียง เพื่อความเสมอภาค เพื่อความรู้จักคนเลว สำหรับคนดี ไม่ให้เผลอลงไปทำเข้าด้วยเลยต้องลงปาฏิโมกข์ ทุกกึ่งเดือน ข้อนี้เป็นการบัญญัติเพื่ออนาคต พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติเพื่อกาลอนาคต เช่นเวลานี้แหละ ถ้าไม่มีปาฏิโมกข์ไม่มีระเบียบวินัยอย่างนี้แล้วมันก็ไม่อาจจะรักษาหมู่คณะไว้ได้ มันเลวจนสลายตัวไป มันเลวจนทะเลาะวิวาทกันแล้วก็สลายตัวไป พอมีวินัยจึงไม่ต้องทะเลาะกัน ยังทำตนให้มันเหมือนๆๆๆกันไปหมดได้ วินัยที่เป็นตัวปาฏิโมกข์
ทีนี้วินัยอีกประเภทหนึ่ง วินัยที่เขาเรียกว่า อาภิสมาจาร นี่ ที่ข้อปลีกย่อยที่ดีงามยิ่งๆ ขึ้นไป อันนี้ ดูเหมือนกับว่าสำหรับคนเลวทีเดียวก็ไม่ได้ มันมีคนที่ไม่เลวแต่ยังไม่รู้ หรืออาจจะไม่รู้อยู่มาก เป็นความปราณีตและละเอียดละออในการบัญญัติไอ้วินัยหมวดนี้ซึ่งมีมากนะ นับได้หลายสิบหลายร้อยนะ เพราะอาจจะสงเคราะห์เพิ่มเติมเข้าไปได้ ในเมื่อมันมีหลักเกณฑ์ที่เท่ากัน กลายเป็นรวมความว่าทำให้ปราณีต ละเอียดละออ ให้น่าเลื่อมใส ๆ ให้มากที่สุด ไม่เว้นจากโทษข้อเลวๆ นั้นแล้ว หมดแล้ว ก็มาทำไอ้ส่วนที่มันน่าเลื่อมใสให้มันยิ่งๆ ขึ้นไป อันนี้เรียกว่าอาภิสมาจาร มีมาก บวช ๑ เดือนมันไม่มีเวลาเรียนแล้ว แต่อาจถือได้ รู้ได้หมด โดยถือหลักว่าทำให้มันน่าเลื่อมใส น่าเคารพ น่ากราบไหว้ น่าบูชา
ผมจะยกตัวอย่างสักข้อหนึ่งให้ฟังซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับอาภิสมาจารเกี่ยวกับการรวมอยู่ในหมวดเวจกุฎี คือส้วมมีบัญญัติอาภิสมาจารอยู่ข้อหนึ่งว่าการถ่ายอุจจาระ ห้ามไม่ให้เบ่งแรง นี่เคยได้ยินหรือไม่เคยได้ยินหรือเคยอ่านแล้ว แต่การถ่ายอุจจาระห้ามไม่ให้เบ่งแรง ถ้าถ่ายอุจจาระเบ่งแรงถือเป็นการผิดวินัย ถือเป็นอาบัติ อาบัติทุกกฏ นี่ดูไอ้วัตถุประสงค์ของวินัยมีความรอบคอบ หรือมันมีความมุ่งหมายอะไร ละเอียดละออมาก ทีนี้เราลองวินิจฉัยดู ไอ้การเบ่งแรงนั้นมันเป็นคนมีจิตใจหยาบ กระด้าง แล้วมันก็ต้องให้โทษ แก่อวัยวะส่วนนั้นๆ ยิ่งคิดก็ยิ่งเห็น แต่ไอ้ตัวสิขาบทว่าห้ามมิให้เบ่งแรง เหตุผลอะไรก็ไม่รู้ไม่ได้บอกไว้ เราก็มาหาเอาเอง คนที่ถ่ายอุจจาระเบ่งแรงจะมีโทษนับตั้งแต่ว่า จะมีเลือดออกมา ไม่ว่าจะเป็นแผล เป็นริดสีดวง เป็นอะไรไปได้ ป่วยได้โดยง่าย นี่เป็นส่วนร่างกายล้วนๆ ส่วนนิสัย ส่วนอุปนิสัยมันคือคนมุทะลุ เป็นคนที่มีจิตใจหยาบคาย ทำอะไรพรวดพราด อยากให้เสร็จเร็วๆ อย่างนี้ ไม่รู้ว่าสิ่งไรควรกระทำอย่างระมัดระวัง อย่างปราณีต อย่างสุขุม มันก็รวมอยู่ในพวกที่หยาบคาย มันต้องการจะป้องกันความหยาบคาย มีข้ออื่นอีกมากมายหลายร้อยข้อ ที่บัญญัติขึ้นด้วยความมุ่งหมายคล้ายๆ กันนี้ ไปดูให้ดี รวมความแล้วก็ว่า พระพุทธเจ้านั้นท่านต้องการให้พวกเราเป็นผู้ดี ไม่ใช่ผู้เลว ไม่ใช่ผู้ไพร่ ไม่ใช่ผู้หยาบคาย ฉะนั้นอากัปกิริยาของผู้ที่เป็นไพร่ เป็นคนเลว เป็นคนหยาบคาย เป็นคนสามัญ ถูกเอามาห้ามไว้หมดเลย
ถ้าคุณศึกษาพุทธประวัติอย่างดี อย่างทั่วถึง มันจะเกิดความรู้สึกเข้ามาในใจเองว่า พระพุทธเจ้านี่มีลักษณะอาการของความเป็นผู้ดีทุกกระเบียดนิ้ว ทีนี้ไม่ได้เกี่ยวกับจิตใจนะ หมายถึงไอ้ความเป็นอยู่ทางร่างกาย อากัปกิริยาทุกอย่าง นี่ไม่มีผู้ดีที่ไหนในโลก ดีได้เกินไปกว่าไอ้ระเบียบความเป็นผู้ดีของพระพุทธเจ้า มันมีข้อไหนบ้างที่จะติท่านไปได้ แล้วมันก็มีหลายร้อยข้อ ในเรื่องอาภิสมาจาร เริ่มตั้งแต่ไม่พูดดัง พระพุทธเจ้าท่านต้องการความมีเสียงน้อย ให้พูดด้วยเสียงน้อย ให้ชักชวนในความมีเสียงน้อย ให้สรรเสริญคุณของความมีเสียงน้อย ให้เป็นอยู่ด้วยความมีเสียงน้อย ครั้งหนึ่งภิกษุหนึ่งซึ่งเป็นภิกษุบ้านนอกไม่ได้รับการอบรม ก็เอ็ดตะโรเข้ามา ท่านตรัสให้ไล่ไปเสียคราวหนึ่งก่อน แล้วค่อยพูดกันทีหลัง นี่เอามาพูดเป็นตัวอย่าง พูดหมดก็ไม่ไหว ทีนี้มันมีวินัยพวกหนึ่งที่มันเนื่องเข้าไปถึงธรรม เกี่ยวข้องเกี่ยวกับธรรม อันนี้ยิ่งละเอียดมาก อย่างนุ่งห่มไม่เรียบร้อย ผ้าเพ่อวาดออกมาจากในส้วมอย่างนี้ ก็เรียกว่าเป็นอาบัติส่วนวินัย ถ้านอนไม่มีสติสัมปชัญญะ ขี้เกียจ ผ้าผ่อนมันไม่ปกติ มันเป็นเรื่องเสียอย่างธรรม อย่างธรรมะ เรียกว่านอนอย่างไอ้ชาติหมา เหมือนนิทานล้อคนในตึกนั้น มันนอนอย่างไอ้ชาติหมา ผ้าผ่อนไม่เรียบร้อย พูดว่าดิ้นไปดิ้นมาหลับกระจุยกระจายกันไปหมดทั้งที่นอนทั้งอะไรนั่น ทีนี้ก็ต้องนอนในท่าที่ถูกต้อง แล้วก็มีสติสัมปชัญญะในการนอนแล้วก็ตื่น ตรงตามเวลา ถึงจะเรียกว่านอนอย่างบรรพชิต หรือนอนอย่างสมณสากยปุติย คำนี้ก็เป็นคำสำคัญที่คุณควรจะจำไว้ มันเป็นคำที่มีเกียรติที่สุดแล้ว คือคำว่า สากยปุตติย ทุกคนพอบวชเข้ามาก็เป็นสมณะสากยปุตติย มันเป็นเกียรติสูงสุดที่วางไว้ที่กำหนดไว้ ที่ตราไว้คล้ายๆ กับว่าเป็นธรรมนูญอะไรอย่างหนึ่ง พอบวชแล้วก็บวชมาเป็นสมณะสากยปุตติยะ คือความเป็นผู้ดีเป็นผู้มีธรรมวินัย ตอนแรกเราก็ไม่ค่อยสนใจ หรือไม่รู้ว่าอะไร มันก็เลยไม่อยากเป็นสมณะสากยปุตติยะเพราะว่าไม่รู้ว่ามันหมายความว่าอย่างไร นั้นจึงสมัครเอาข้างสรวญเสเฮฮา สนุกสนาน สบาย ไม่เป็นสมณะสากยปุตติยะก็ช่างมัน
สมณศากยบุตร นั้นคือพระพุทธเจ้า สมณะ สากย ปุตต บุตรแห่งสากยะที่เป็นสมณะ คือสมณะสากยะบุตรที่เป็นพระพุทธเจ้า ทีนี้มันมีเติมปัจจัย ยะ เข้าไป ตอนท้ายก็เป็น สมณะสากยะปุตติย ก็นับเนื่องอยู่ในสากยะปุตติย แล้วก็เป็นบุตรของสากยะไปด้วย เป็นเกียรติยศที่สูงสุดสำหรับเรานะ ที่จะได้ไปร่วมอะไรกันกับพระพุทธเจ้าในความเป็นสมณะสากยะปุตติย ถ้าเรามองเห็นข้อนี้แล้วเราก็คงจะระมัดระวังมากที่จะได้มีเกียรติเป็นสมณสากยปุตติย ในการรักษาวินัยดี ปฏิบัติธรรมดี นี้ถ้าคุณคิดว่าบวชเดือนเศษ หรือเดือนเดียว ช่างหัวมัน แล้วก็ไม่รู้เรื่องนี้ด้วย หรือว่ารู้แล้วก็คิดว่า โอ๊ย ไม่ต้องการ ช่างหัวมัน อย่างนี้ลองคิดดูเหอะว่ามันหยาบคายกันแค่ไหน เพราะไหนๆ ก็บวชแล้ว แล้วก็บวชแล้วจริงๆ ด้วย แล้วมันตามวินัยที่ตามระเบียบวินัย กฏเกณฑ์ต่างที่เขากำหนดไว้เพื่อเป็นสมณะสากยปุตติย ถ้าเราไม่รู้ก็เท่ากับว่าเราหลับตา หลับตาบวชเข้ามา เพื่อไม่รู้ว่ามันจะมีอะไรบ้าง ที่แท้มันบวชเข้ามาในกฏเกณฑ์ ในระเบียบในสิทธิ ในหน้าที่อะไรก็ตามที่จะเป็นสมณะสากยปุตติย แล้วก็สูงสุดที่สุด
ถ้าเราทำในใจถึงเรื่องนี้ไว้เสมอมันก็จะทำให้เราประมาทไม่ลง สะเพร่าไม่ได้ เราจะเสียสละ อดกลั้นอดทนได้เพื่อเป็นสมณะสากยปุตติย จะไม่เหลวไหล จะไม่เหลาะแหละ จะไม่หลุกหลิก จะไม่หัวเราะดัง จะไม่พูดดัง จะไม่โขมงโฉงเฉง เก้งก้าง อะไร ก็เพื่อเป็นสมณะสากปุตติย สักเดือนหนึ่งหรือเดือนเศษก็แล้วแต่ช่วงบวชนี้ เมื่อบวชสึกแล้ว เขาก็บอก อนุศาสน์ คุณคงจะนั่งหลับกระมังท่า พอบวชสึกตอนเสร็จพิธี ตอนจะเสร็จพิธี เขาจะบอก อนุศาสน์ ๔ ไอ้คำนี้ จะมีคำว่าสมณะสากปุตติโย ถ้าประกอบในทุนธรรม เป็นต้นก็ไม่ใช่ สากยปุตติย หมดความเป็นสมณสากยปุตติย ถ้าเว้นสิ่งเหล่านี้ได้ก็ยังเป็นสมณะสากยปุตติย หรือว่าถ้าไปทำหนังสือไปในวินัย ข้อที่รองๆลงไปยังไม่ถือกับว่าเป็นปาราชิก มันก็ได้เป็นสมณะสากยปุตติยที่คอดๆ กิ่วๆ ด่างๆ พร้อยๆ ไม่ใช่พันธุ์แท้ ถ้าไปละเมิดในไอ้ปาราชิก ๔ ก็หมดเลย ไม่มีเหลือเลย ถ้าไปละเมิดไปใน ไปที่รองๆ ลงมา ที่หนักๆ เกือบเท่าปาราชิก มันก็คอดๆ กิ่วๆนั่นนะ ในอื่นๆ ก็เหมือนกันถ้าไปล่วงเข้าก็ทำให้ สมณะสากยะปุตติยซูบซีด เศร้าหมองไป
คำขอร้องของพระพุทธเจ้านั้นมันน่าจะได้รับความเอาใจใส่ หรือความเอื้อเฟื้ออย่างยิ่ง คือว่าขอให้เป็น มาเป็นเพื่อนกันประพฤติพรหมจรรย์อะไรทำนองนี้ มาขอร้องบางอย่างก็น่ารับฟังที่สุดแหละ ภิกษุทั้งหลายเธอจงมีท่อนไม้เป็นหมอนเถิด อย่างนี้ ขอร้องอย่างนี้ หรือภิกษุทั้งหลายเธอจงเป็น ผู้เอกภัตสิโกวันหนึ่งเธอจงมีอาหารเพียงหนเดียวเถิดอะไรอย่างนี้ เพราะว่าอย่างนั้นๆ ต้องแสดงอานิสงค์ จงเป็นผู้มีเสียงน้อยเถิด จงเป็นผู้อะไรหลายๆอย่าง มันเป็นการชักชวนให้เราทำเหมือนท่าน เพื่อความเป็นเหมือนท่าน เพื่อความมีเกียรติ เป็นสมณะสากปุตติย อันที่สมบูรณ์ พระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่าพวกเราเหมือนกันแหละเหมือนที่พวกเราใช้เวลานี้แหละ ท่านใช้คำว่าพวกเรา ในเมื่อจะพูดอะไรเหมือนกับว่าพวกเราทั้งหมด ท่านใช้คำว่าพวกเรา รวมตัวท่านเองด้วย ในกรณีที่มันเกี่ยวกับท่านเอง ท่านใช้คำว่าพวกเราคือทั้งหมดไม่เฉพาะท่านเอง มีคนๆนึงประทุษร้ายในนามของพุทธศาสนาแล้วมาขอโทษ ท่านก็ว่าดีแล้ว เมื่อท่านขอโทษ พวกเราก็จะยกโทษให้ท่าน พวกเรานี่คือเราทั้งหมด พระพุทธเจ้าด้วย พูดในนามของ สงฆ์ทั้งหมด ใช้คำว่าพวกเรา รวมท่านเองด้วย ท่านแสดงความเป็นเพื่อนพรหมจารีย์กับเราด้วยเหมือนกัน เราทำเป็นพระพุทธเจ้า ผมขอร้องให้นึกกันในแง่นี้ แล้วก็นึกอยู่เป็นประจำ ด้วยสติสัมปชัญญะ อย่าเผลอ อย่าเผลอในที่ทุกหนทุกแห่ง เมื่ออยู่ที่ที่พักก็ดี เมื่อออกมาข้างนอกก็ดี เมื่อเดินไปก็ดี ไปไหนก็ดี ไปตลาดก็ดี ในรถไฟก็ดี อย่าลืมความข้อนี้จนกว่าเราจะสึกออกไปจากผ้ากาสาวพัตร์นี้เสียก่อน ขอให้มีความงดงามเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส เพื่อประโยชน์แก่ความมั่นคงของพระศาสนา และประโยชน์ของตัวเราเองด้วย เอาแต่ตามอารมณ์ เอาแต่ตามสะดวก หรือมากที่สุดตามแต่ความหิว พอหิวขึ้นมาแล้วไม่ต้องรู้มันจะไปซื้ออาหารฉันเองในลักษณะที่น่าเกลียดได้ บางทีอาจจะยืนฉันอาหาร เหมือนพวกหนุ่มๆ ยืนพุ้ยข้างหาบก๋วยเตี๋ยวก็ได้ มันจะเป็นอย่างนั้น แม้แต่การดื่มน้ำก็ไม่ควรดื่ม ระเบียบวินัยของภิกษุในพุทธศาสนานี้ แม้แต่ดื่มน้ำนี้ก็ไม่ควรดื่ม แม้หาที่นั่งไม่ได้ หาที่นั่งให้เรียบร้อยน่ะได้ ไม่ต้องพูดถึงยืนรับประทานไอ้ของที่เป็นรับประทาน
แล้วทีนี้ก็จะพูดต่อไปถึงข้อที่ว่าไม่ให้ประมาทในเรื่องเล็กน้อย เช่นคุณยืนดื่มน้ำได้ หรือว่ายืนถ่ายปัสสาวะได้ หรือว่ายืนทำอะไรได้ต่อไปอีก ความประมาทไม่เห็นเป็นภัย อันตรายในโทษที่มีประมาณน้อย พอสวดปาฏิโมกข์จบ คือสวดไอ้บทเตือนสตินั่น ท้ายปาฏิโมกข์ จงสำรวมในปาฏิโมกข์ จงเห็นภัย เห็นเป็นภัยแม้ในโทษที่มีประมาณน้อย สวดเป็นบาลีฟังไม่ค่อยถูก มันจะได้สวดไทยกันซะบ้าง แต่ความสำคัญมันอยู่ที่นั่น สำนวนในปาฏิโมกข์ ด้วยการเห็นเป็นอันตรายแม้ในโทษที่มีประมาณน้อย น้อยอย่างกับว่ายืนดื่มน้ำอย่างนี้ ยืนดื่มน้ำนี้ มันน้อยเหลือเกิน โทษนี่อันตรายนั้นมันมีน้อย แต่มันเป็นโทษมาก คือมันทำให้เสียนิสัย พอเสียนิสัยแล้วมันก็ทำอะไรได้ ก็เลื่อนไปตามลำดับ โทษแม้มีอันตรายน้อย เป็นอันตราย เมื่อทำอย่างนี้ได้แล้วอย่างอื่นมันก็ทำได้ จะทำได้มันทำแล้วมันก็จะสูงขึ้นไปๆ จนทำอย่างอื่นได้เอง อาบัติที่ได้ขาดได้ นี่เป็นของธรรมดาและแน่นอนที่สุด ถึงว่าสำรวมระวังไว้แหละ พยายามสำรวมระวังไว้ แม้ในสิขาบทเล็กน้อย มันจะเปลี่ยนนิสัยให้กลายเป็นคนไม่ประมาท ไม่มักง่าย ไม่เลินเล่อ เขาก็ดีขึ้นๆ พอไปหละหลวมเข้า กลายเป็นคนประมาท มักง่าย เลินเล่อ มันก็เลวลงๆๆๆ เคล็ดของการถือวินัยอยู่ที่นี่ อยู่ที่ไม่เห็นว่าอะไรเล็กน้อย ฉะนั้นมีเวลาเท่าไหร่ที่จะมีโอกาสศึกษาวินัยได้ ก็ศึกษาไปเลย ได้เท่าไหร่ก็ดี แล้วก็คุยกัน แล้วก็ปรึกษากันด้วยเรื่องวินัยของพระนี่ อย่าเพิ่งคุยเรื่องอื่น ยังไม่ได้ฝึก อย่าเพิ่งคุยเรื่องอื่น ยังเป็นพระอยู่คุยแต่เรื่องของพระ แม้แต่ท่านนี้ถามเรื่องวินัยกัน อะไรมาก วินิจฉัยเรื่องวินัยกัน เพียงแต่พูดเรื่องวินัย ก็มีความเป็นพระมากขึ้น แล้วก็ปฏิบัติวินัยอีก ไอ้ความเป็นพระมันก็จะมากขึ้นอีก แม้ที่สุดแต่ว่าเอามาวินิจฉัยดูเล่นว่าทำไมนะพระพุทธเจ้าถึงต้องห้ามจู้จี้หยุมหยิมขนาดนี้ แล้วก็ช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์แล้วก็พบเหตุผลที่ว่าทำไมท่านต้องบัญญัติวินัยในส่วนนี้ เช่นวินัยว่าถ่ายอุจจาระอย่าเบ่งแรง แล้วก็รู้จักนิสัยจิตใจอะไรของพระพุทธเจ้ามากขึ้นๆ ต้องการให้มันดีที่สุด ให้สมบูรณ์แบบที่สุดทั้งในฝ่ายธรรมะและฝ่ายวินัย
ถ้าในระยะเดือนหนึ่งนี่ สำรวมมัธยัสถ์ให้ดี มันคงมีอิทธิพลมากที่จะเปลี่ยนนิสัย ได้มาก สึกออกไป คงเป็นคนมัธยัสถ์ สำรวม ไม่สะเพร่า ไม่มักง่าย ไม่พรวดพลาด ผลุนผลัน ไม่โขมงโฉงเฉง จะได้อานิสงค์แม้แต่ขณะนี้ เราเอาประโยชน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในการบวชครั้งหนึ่ง แล้วเอาประโยชน์ที่ดีที่สุดด้วย ไม่ใช่เอาประโยชน์เลวๆ ประโยชน์เล็กๆ ตื้น หรือประโยชน์ในขั้นที่เกี่ยวกับนิสัยจิตใจเลย ให้มันดีขึ้นมาให้ได้ ผมคิดว่าไอ้ความดีส่วนนี้มันดีมาก ดีมากกว่าไอ้ปริญญาเอก ด๊อกเตอร์ สิบปริญญารวมกันก็ยังไม่เท่า ที่เรามีนิสัย จิตใจน้อมไปทางละเอียด ปราณีต สุขุม สงบ ระงับ ไม่มักง่าย ไม่เลินเล่อนี่ ปริญญาทางวิชาอย่างนั้น บางทียิ่งมีมากยิ่งประมาท ยิ่งอวดดี ยิ่งจองหองพองขน นั่นจะล้มละลายเลย ถ้าทำอย่างนั้น ยิ่งมีปริญญามากขึ้น ยิ่งจองหองมากขึ้น ลืมตัวมากขึ้น เพราะฉะนั้นต้องหัดนิสัยที่จะไม่ จะไม่ประมาทเลินเล่อ มักง่าย สะเพร่า จองหอง พองขน ด้วยการยอมปฏิบัติตามวินัยนี่ให้ละเอียด ให้ปราณีต ให้มันแก้นิสัย ยังไงๆก็ประมาทไม่ได้ จองหองไม่ได้มันก็เลยคุ้มได้ ต่อไปเราจะเป็นอะไรในอนาคต ธรรมะนี่คุ้ม ไม่ให้เผลอไม่ให้ลืมตัว ไม่ให้มักง่าย ไม่ให้บันดาลโทสะ ไม่ให้อะไรต่างๆ ซึ่งเป็น ความฉิบหาย ฉะนั้นอย่าทำเล่นเรื่องของพระพุทธเจ้า อย่าลืมวินัยข้อนิดเดียว มันก็ล้วนแต่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนนิสัยคนนะ ทีนี้เรามันบกพร่องมองเห็นเป็นของเล็กน้อย ประมาทไม่สนใจ มันก็เหมือนเดิม มันก็เท่าเดิม มักง่าย หุนหัน โมโหโทโส ไม่มีอะไรที่เป็นความปลอดภัยเลย ที่ผมพูดเรื่องนี้เผื่อว่าจะเกิดการเข้าใจผิดกันขึ้นเพราะได้ยินเสียงไอ้พวกอื่น ไม่ใช่พวกคุณเวลาที่นี่ เวลานี้ เดี๋ยวนี้นะ เสียงพวกอื่นที่พูดกันว่าเสียเวลา ท่องวินัยเสียเวลา สนใจกับวินัยเสียเวลา เราบวชเรียนอะไรที่เราต้องการนั้นชั่วขณะแล้วเราก็สึกออกไป ไปมัวสนใจในเรื่องวินัยเสียเวลา หรือบางทีก็หาว่าวินัยส่วนมากก็ครึคระพ้นสมัย มันก็มีเหมือนกันแหละวินัยที่พ้นสมัย คือวินัยเกี่ยวกับภิกษุณียังไม่ถอนออก ทั้งที่ภิกษุณีหมดไปแล้ว แต่ว่าวินัยที่ว่าถ่ายอุจจาระอย่าเบ่งแรงนี้ ไม่มีทางที่ว่าล้าสมัยหรือพ้นสมัย มันจะเป็นของจริงอย่างนั้นอยู่ตลอดไป ไม่เชื่อก็ไปลองทำดู มันจะเป็นอันตรายแก่อวัยวะร่างกายนั้นด้วย มันทำนิสัยเป็นนิสัยมุทะลุ ดุดัน มักง่าย อวดดีด้วย คนไม่เยือกเย็น ไม่รอได้ คอยได้ มันจะไปรู้กันเมื่ออายุมากเข้า คนอายุมากเข้ามันจะถ่ายอุจจาระลำบากทุกทีแหละ คือมันถ่ายไม่ได้ทันที มันต้องรอจนกว่ามันจะเตรียมพร้อม เพราะมันมีอุจจาระผูกบ้างอะไรบ้าง ทีนี้ไม่ทันใจไปเบ่งแรงมันก็เกิดอันตรายทันที มันสร้างนิสัยโมโหโทโส รอไม่ได้คอยไม่ได้ให้แก่บุคคลนั้น ไอ้หนุ่มๆ หรือเด็กๆ ยังไม่รู้เรื่องนี้นัก เพราะร่างกายอวัยวะอะไรมันยังดีอยู่ แต่พออายุมากๆ เข้า ซึ่งเป็นต้องมีท้องผูกกันเป็นประจำธรรมดาล่ะก็ การถ่ายอุจจาระเร็วๆ เบ่งแรงๆ นั้นจะต้องได้รับโทษอันสมน้ำหน้า ถึงจะมีไอ้โรคผิดปกติที่ช่วงทวาร ปากทวารนั่น นี่เป็นตัวอย่างนะ อย่างอื่นถ้ามีเวลาก็ไปหาดู ถามกันดู ดูพิจารณากันดู เอามาอ่านกันดู
ทีนี้ก็อยากจะบอกถึงเรื่องความมุ่งหมายที่มันเป็นกลุ่มๆ พอเป็นตัวอย่าง ไอ้วินัยจำนวนมากมันก็แบ่งได้เป็นกลุ่มๆ ตามความมุ่งหมาย ไอ้กลุ่มแรกที่หนึ่งที่สุด คือทำไม่ได้ ถ้าทำแล้วต้องเลิกกัน หมดความเป็นภิกษุ ก็คือวินัยกลุ่มที่เป็นปาราชิก คือถ้าเลวถึงขนาดทำอย่างนั้นได้ก็ไม่ได้แล้วที่จะประพฤติความดับทุกข์ในเพศภิกษุ ต้องออกไปเป็นฆราวาสแล้วไปทำความดับทุกข์ในเพศฆราวาสเถิด ข้อนี้หมายความว่าไอ้การเป็นภิกษุที่เขาบัญญัติ จัดไว้ระดับหนึ่งคือระดับที่มีไว้เหมาะสำหรับผู้ดี มีใจดี มีความเคารพนับถือตัวเอง เพื่อจะไปเร็ว แล้วก็เพื่อจะมีสิทธิบริโภคอาหารของผู้อื่นคือทายก ทายิกา คือพอเราบวชเข้ามาเราก็ฉันอาหารที่ผู้อื่นให้นะ ที่เขาถวาย ที่เขาบูชา ทีนี้ระเบียบ เขาจัดไว้คือเขาจะถวาย จะบูชาเฉพาะผู้ที่มีความดีในระดับหนึ่งที่ถูกต้องเท่านั้นเอง เช่นว่าจะทำปาราชิก ๔ นั้นไม่ได้ นี่คือส่วนที่จะกินอาหารฟรีของชาวบ้านทั้งหลาย แล้วก็สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้เป็นไปโดยเร็วที่สุด ถ้าตัวไปทำตนให้ไม่อยู่ในระดับนั้น มันก็ควรคัดออกไป ไปทำในระดับอื่น คือเป็นฆราวาส แล้วก็ประพฤติพรหมจรรย์ระดับอื่นต่อไปได้อีก ก็ไปอย่างช้าๆ ตามแบบของฆราวาสที่จะต้องหากินเอง เลี้ยงปากเลี้ยงท้องเอง อยู่ในระดับที่ไม่มีความเป็นผู้ดีละเอียดสูงสุดเหมือนอย่างบรรพชิต มันก็มีอย่างนั้นแหละ คือว่ามันตามกฏเกณฑ์ที่มีเหตุผลที่สุด ที่ว่าถ้าทำอย่างนั้น ไปในส่วนปาราชิก ๔ นี้แล้ว ก็ให้ออกไป ไปอยู่ในระดับที่มันเหมาะสมกันแล้วก็ทำความดับทุกข์ต่อไปเถอะ แต่ถ้าต้องการจะทำในเพศบรรพชิตเพื่อความรวดเร็ว เพื่อความสะดวก เพื่ออะไรต่างๆ กระทั่งว่าอาหารก็ไม่ต้องหาเองนี่ มีผู้ให้ ก็ต้องรักษาไอ้ระเบียบวินัยที่วางไว้สำหรับผู้ที่มีสิทธิอันนี้ มีสิทธิที่จะกินอาหารของผู้อื่นนี่แหละ พอไปทำผิดไอ้กฏเกณฑ์ที่วางไว้ ก็เรียกว่ามันหมดสิทธิ คือไม่มีความสมควรที่จะกินอาหารอย่างนี้ ก็ต้องออกไปแค่นั้น มีแค่นั้น ไม่ใช่ว่าเป็นปาราชิกในภิกษุแล้วจะหมดโอกาสที่จะปฎิบัติเพื่อมรรคผลนิพพาน เพียงแต่ต้องออกไปจากระบบนี้หรือระดับนี้ที่เขาจัดไว้สำหรับคนอย่างนี้ ก็ไปประพฤติพรหมจรรย์ในเพศฆราวาส วินัยหมวดนี้ก็มีอยู่คือปาราชิก ๔ นี่แหละ เพื่อความเป็นภิกษุในระดับที่เป็นผู้มีสิทธิที่จะไปกินอาหารฟรีของประชาชนที่จะปฏิบัติธรรมะไปเร็วๆ ได้ ทีนี้ไอ้กลุ่มอาบัติรองๆ ลงไปเช่น สังฆาทิเสส ที่มันเนื่องอยู่กับกลุ่มนี้ก็อยู่ในกลุ่มนี้ จัดไว้ในกลุ่มนี้ แต่ถ้ามันไม่ถึงขนาดที่ต้องออกไปเป็นฆราวาสก็ให้ทำการลงโทษตัวเองขนาดหนัก น้องๆ กันไปเลย ไม่ต้องอาบัติปาราชิกนี่ก็ต้องทำพิธี เป็นพิธีสงฆ์ เปิดเผยหรือประจานตัวเองถึงขนาดที่เรียกว่าให้มันรู้จักเข็ดหลาบ นี่ถ้าเบากว่านั้นก็ลงโทษกันน้อยกว่านั้นเรื่อยไป นี่ก็วินัยหมวดที่มุ่งหมายที่จะให้มีความเป็นพระที่ถูกต้อง
ทีนี้วินัยบางสิขาบทรวมกันเป็นหมวดหมู่ขึ้นทำความงดงาม มีความถูกต้องแล้วก็ยังต้องการความงดงามด้วย ฉะนั้นจึงมี วินัยหมวดที่ต้องการความงดงามให้น่าดู ให้ภิกษุในพระพุทธศาสนานี้งดงาม น่าดู น่าเลื่อมใส นี้มันก็มีอยู่ วินัยบางหมวดก็มุ่งหมายไปในทางว่าให้คนมีสติสัมปชัญญะ เช่นว่าไม่พรากจีวร ไม่อยู่ปราศจากจีวร นอกจีวรกัน ไม่เป็นคนสะเพร่า สะเพร่าในเรื่องจีวร สะเพร่าในเรื่องบาตร สะเพร่าในเรื่องที่อยู่อาศัย ไม่เป็นคนสะเพร่า นี่วินัยหมวดนี้ที่ต้องการสะกัดกั้นไอ้ความเป็นคนสะเพร่า มันมีความมุ่งหมายเป็นเรื่องๆไป กระทั่งว่าอย่าให้มันเป็นคนมักมากให้เป็นคนสันโดษ ไม่ให้รับอาหารบิณฑบาตรเกินกว่าที่จำเป็น ไม่ให้ไปเบียดเบียนอาหารบิณฑบาตรที่เขามีไว้เพื่อคนที่ยากจนหรือลำบากกว่า
มันมีวินัยบางชนิดที่ ที่คนธรรมดาเข้าใจไม่ได้ เช่นว่าถ้าไม่สบาย ถ้าสบายดีไม่ให้กินยา คนสบายกินยาถือเป็นความผิด ถือเป็นอาบัติ ดูความมุ่งหมายของวินัย คนสบายดีเสือกไปกินยานี่มันคล้ายๆ คนบ้า หรือมันทำไอ้สิ่งที่ไม่ต้องทำให้มันหมดเปลือง วินัยบางหมวดมุ่งหมายไม่ให้มีการสะสมไม่ให้เกิดมีนิสัยสะสม เช่นสะสมอาหารไว้กินอย่างนี้ เช่นรับประเคนค้างคืนเป็นต้น มีอีกหลายๆๆความหมายที่มุ่งหมายจะไม่ให้มีการสะสม เพราะถ้ามีการสะสมแล้วมันก็ จิตใจมันก็เสื่อม
แล้วทีนี้ที่สำคัญอยู่หมวดหนึ่งแล้วกว้างขวางมาก ก็คือว่ามันไม่สมควรถูกต้องตามจารีตประเพณีของนักบวช นี่มันกว้างนะ อันนี้ไม่ค่อยได้บัญญัติไว้เป็นตัวระบุ มันเป็นตัวสิขาบทชัดเจน แต่บัญญัติไว้กว้างว่ามันไม่ใช่จารีตประเพณีของนักบวช เช่นว่าจะขุดดินหรือจะตัดต้นไม้ หรือว่าจะกินอาหารอะไรในเวลาวิกาลอะไรอย่างนี้ เป็นต้น มันไม่ใช่จารีตประเพณีของนักบวช หรือมากที่สุด อย่างว่าเราจะไปขี่รถจักรยานอะไรอย่างนี้ ถึงแม้ว่าไม่ได้บัญญัติห้ามไว้ในพระคัมภีร์ เพราะสมัยโน้นมันไม่มีรถจักรยาน แต่ก็มันมีข้อห้ามไว้ชัดว่า ไม่ให้ทำในสิ่งที่ผิดจารีตประเพณีของนักบวช ฉะนั้นไม่มีเหตุผลที่จะมาอ้างว่าเราขี่รถจักรยานเพราะว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามไว้ เพราะได้ห้ามไว้ชัดเลยโดยประโยคว่า ไม่ให้ทำสิ่งที่มันไม่ใช่จารีตประเพณีของนักบวช มันก็กินความหมายกว้าง ครอบคลุมไปได้มากมายหลายร้อยชนิด อะไรที่มันไม่ใช่จารีตประเพณีของนักบวช หรือว่าที่มันเทียบเท่าเข้ากันได้กับที่มันไม่ใช่จารีตประเพณีของนักบวช เอาเป็นว่าห้าม ทีนี้เมื่อคุณจับหลักเกณฑ์ได้อย่างนี้ มันก็ง่าย ในเมื่อเรามันซื่อตรงกับตัวเอง เราก็จะนึกออกในแง่ใดแง่หนึ่งว่านี้แหละควรทำหรือไม่ควรทำ แม้ว่าจะไม่ได้เรียนวินัย เราก็ยังไม่มีโอกาสเรียนวินัย บวชมาหยกๆ นี้ ไม่มีเวลาจะศึกษาส่วนวินัย แต่ก็อาจจะรู้ได้โดยการใช้สามัญสำนึกว่านี่ต้องผิดวินัยแน่ เพราะว่ามีความมุ่งหมายวางไว้เป็นหลักบรรทัดฐานกว้างๆๆๆ ที่ง่ายที่สุดที่ดีที่สุดก็คือว่าอย่าไปทำเข้า ถ้ามีอะไรแปลก เป็นที่น่าสงสัย อย่าไปทำเข้า ไปถามผู้รู้วินัยก่อน ผู้บวชก่อน ถามครูบาอาจารย์ หรือผู้บวชก่อนนี่ ก็ปลอดภัย อย่าไปทำมันเข้าโดย ยกตัวอย่างเหมือนกับว่าหยอกกันในน้ำ ในเวลาเล่นน้ำเวลาอาบน้ำอย่างนี้ มันผิดวินัยหรือไม่ผิดวินัย เพิ่งบวชไม่เคยอ่านวินัย ในสามัญสำนึกมันบอกได้เองว่ามันไม่ได้แน่ ถ้าหยอกล้อ สรวญเสเฮฮากันในน้ำนะ เป็นการเล่นน้ำ มันผิดวินัยแน่ ไม่รู้ผิดข้อไหน แต่ต้องผิดแน่ แล้วไม่ต้องรู้ว่าผิดข้อไหนก็ได้ คือไม่ทำก็แล้วกัน หรือแสดงอาการเก้งก้างในที่ชุมนุมชนนี่ มันก็ผิดวินัยแน่ เพราะวินัยมีความมุ่งหมายที่จะรักษาความงาม ความเรียบร้อยความน่าเลื่อมใส มันก็ผิดวินัยแน่ โดยสามัญสำนึกมันบอกได้เอง ฉะนั้นอย่าไปคิดว่าเราไม่มีทางจะรู้วินัยโดยที่เราไม่ได้ท่องไม่ได้เรียน เราอาจจะรู้วินัยได้โดยจับหลักเกณฑ์กว้างๆ ได้ แต่โดยสามัญสำนึก เราจะถือเป็นหลักไว้ว่า พระต้องสวยงาม ต้องน่าดู ต้องน่าเลื่อมใสกว่าฆราวาสเสมอ อย่าทำอย่างฆราวาสก็แล้วกัน ถือวินัยข้อนี้ข้อเดียวมันก็ปลอดภัยเถอะเกือบจะทั้งหมดอยู่แล้ว ให้รู้สึกว่าพระนี่ต้องน่าดู ต้องน่าไหว้ ต้องน่าเลื่อมใส ต้องกว่าฆราวาสเสมอ แล้วจะไปทำเหมือนอย่างฆราวาสได้อย่างไร ทั้งการที่ทำตัวเสมอฆราวาส เพื่อนฝูงสมัยที่เป็นฆราวาสมันก็ผิดวินัยนั่นแหละโดยไม่ต้องรู้ไม่ต้องเปิดดูในพระคัมภีร์เลย ทีนี้พอเราไปทำความเป็นกันเอง เสมอกันกับเพื่อนฆราวาส นั่งเก้าอี้ตัวเดียวกัน กอดคอกันอย่างนี้นี่ มันก็ต้องรู้ได้สิว่า มันผิดวินัยแหละ เพราะว่าพระจะต้องสำรวม น่าไหว้ น่าเลื่อมใส น่าดูกว่าฆราวาส นี่เรียกว่า หลักอันหนึ่งหรืออุบายอันหนึ่งสำหรับจะทำให้เราถือวินัยให้ดีที่สุด ทั้งที่เรายังไม่ทันจะเรียนวินัย หรือไม่มีโอกาสจะเรียนวินัยก่อน ทั้งนี้เขาเรียกว่าอาศัยหิริ และโอตัปปะ เป็นบรรทัดฐาน คือเราต้องละอายก่อน เราต้องกลัวก่อน หิริแปลว่าความละอาย โอตัปปะแปลว่าความกลัว คือกลัวมันจะเลว กลัวมันจะเสีย กลัวมันจะน่าติเตียนนะ แล้วก็ละอายด้วย ถ้าความรู้สึกอันนี้อยู่มันก็ยากเหลือเกินที่เราจะไปล่วงวินัยข้อไหนเข้า ทั้งที่เรายังไม่เคยเรียนวินัย ไอ้หิริโอตัปปะนี่มันเป็นธรรมะ เครื่องทำความเป็นผู้ดี คุณจำไว้เถอะว่าถ้าคุณจะต้องเป็นผู้ดี ทำความเป็นผู้ดี ถือหลักผู้ดีแล้วก็ ต้องยึดธรรมะไว้หิริ และโอตัปปะ แล้วมันจะเป็นผู้ดีไปเองโดยที่เราไม่ต้องรู้กฏเกณฑ์อะไรมาก หิริความละอายต่อความชั่วความบาปต่อตัวเอง โอตัปปะคือกลัวต่อความชั่ว ต่อบาป กลัวต่อความทุกข์ นั้นไอ้ความประมาทฟุ้งซ่านมันก็คือไม่มีสองอันนี้ ไม่มีหิริ ไม่มีโอตัปปะ ฉะนั้นท่านจึงบัญญัติว่าหิริ และโอตัปปะนั้นเป็นบรรทัดฐานของศีลหรือของวินัย วินัยอยู่ได้เพราะหิริและโอตัปปะ คุณอยู่ในห้องคนเดียวไม่มีใครเห็นคุณจะทำผิดวินัยอะไรก็ได้ แต่ถ้ามีหิริ และโอตัปปะล่ะก็ มันก็ทำไม่ได้ อยู่คนเดียวก็ทำไม่ได้ เพราะมันมีหิริโอตัปปะ ฉะนั้นหิริโอตัปปะมันจึงเป็นบรรทัดฐานของศีล ไอ้เรามีหิริโอตัปปะแล้วมันก็คุ้ม ทำให้มันผิดวินัยไม่ได้ ยกตัวอย่างให้เห็นว่าความมุ่งหมายของวินัยมีอยู่อย่างนั้นๆ เราก็สงเคราะห์ได้เองว่าอะไรที่มันทำเข้าแล้ว มันเสียความมุ่งหมายอย่างนั้น ทำเข้าแล้วมันเป็นผิดวินัย ความมุ่งหมายใหญ่ๆ
ถ้าพูดโดยอานิสงค์มันก็ไปในทำนองที่ว่า ข้อที่หนึ่ง จะให้หมู่คณะนี้ดูงดงาม ให้คณะสงฆ์ทั้งหมดเลยดูงดงามนั้นแหละ ท่านมุ่งหมายอย่างนั้น ถ้าเราไปทำอะไรเข้ามันก็เป็นคอรัปชั่น จุดๆ ดำกลางพื้นขาวขึ้นมาทันที มันก็ผิดน่ะ ความมุ่งหมายที่จะให้หมู่คณะทั้งหมดนี้ดูงดงาม ทีนี้ว่าเพื่อให้สามัคคีกัน รักใคร่สามัคคีกัน ด้วยความมีศีลเสมอกัน คุณลองนึกถึงคุณเองเถอะ ที่จะรักเพื่อน รักใครสักคนหนึ่ง เพราะว่าเขามีอะไรเข้ากันได้กับเรา เสมอกันกับเรา เราจึงรักเขาได้ ภิกษุทั้งหลายก็เหมือนกัน ต้องมีอะไรเสมอกันได้ เข้ากันได้ จึงจะเกิดความสามัคคีขึ้นมา มีความกลมเกลียวกันขึ้นมาไม่รังเกียจกัน ก็ต้องมีวินัยเป็นเครื่องทำให้ไม่รังเกียจกัน ให้เสมอกันโดยศีล ให้มันเหมือนๆ กันโดยศีล นี่มันลำบาก เพราะว่าบางคนเกิดมาในตระกูลชาวนาที่ไร้การศึกษา บางคนเกิดมาในตระกูลพ่อค้า บางคนเกิดมาในตระกูลสูง เป็นเจ้าเป็นนายก็มี มันยากที่จะมารักใคร่กันได้ มันต้องมีอะไรมาเฉลี่ยให้มันพอกลมกลืนกันไปได้ สามัคคีกันได้ นั่นก็คือวินัย ก็คือวินัยเสมอกัน ไอ้ที่เลวมันก็ฟุ้งกันไป ไอ้ที่ฟุ้งไปมันก็ลดมาโดยวินัย โดยเฉลี่ยหรือเกลี่ยให้มันเสมอกัน มันก็สามัคคีกันได้ทั้งที่ว่าไอ้ที่มาบวชนี่มันต่างกันโดยชาติ โดยกำเนิด โดยตระกูล โดยไอ้อะไรต่างๆ นี่เขาต้องการให้หมู่คณะสวยงาม ต้องการให้มีความสมัครสมานสามัคคีกัน ไม่ทะเลาะวิวาทกัน อันที่สุดท้ายมันก็ต้องการให้มีความเป็นอยู่ที่ผาสุก นี่เป็นแม่บทให้เกิดความเป็นอยู่ที่ผาสุก โดยส่วนตัวก็ผาสุก ทั้งคณะทั้งหมู่ที่ผาสุก ไอ้ความผาสุกของผู้ดีอย่างของพระพุทธเจ้าเรียกว่าเป็นผู้ดีที่สุด ผาสุกมันหมายถึงความที่เราไม่มีสิ่งของร้อนใจ ถ้าเรามีการทำผิด ทำชั่วติดตัวอยู่ ปกปิดซ่อนเร้นไว้ เราต้องมีวิปัตติ ๓ คือร้อนใจ ไหว้ตัวเองไม่ได้ นับถือตัวเองไม่ได้ นั่นก็คือความไม่ผาสุก นั้นถ้าใครอยากจะมีความผาสุก จะต้องไม่มีความผิดความชั่วความลับอะไรที่ปกปิดอยู่ วินัยช่วยได้ วินัยมันช่วยทำให้ไม่มีความชั่ว ความลับที่ปกปิดอยู่ มันจะกวาดล้างไปหมด แล้วโดยส่วนบุคคล วินัยมีส่วนที่จะทำให้มีความผาสุก มีจิตใจเยือกเย็น มีความเคารพนับถือตัวเองได้ เรียกว่าไหว้ตัวเองได้เรียกว่ามีความผาสุกที่สุดแล้ว ถ้าใครไหว้ตัวเองได้ เรียกว่ามีความพอใจตัวเอง ความพอใจตัวเองทำให้เกิดความรู้สึกเป็นสุข นี่หมู่คณะก็เหมือนกันต้องไม่มีความผิดความชั่ว ของหมู่คณะนั้น หมู่คณะนั้นก็จะอยู่เป็นสุข พอสมาชิกของหมู่คณะนั้นเป็นผู้มีความสุข หมู่คณะนั้นก็มีความสุขไม่แก่งแย่ง ทะเลาะวิวาทกัน ไม่อะไรกันล้วนแต่อยู่กันอย่างผาสุก รักใคร่กลมเกลียวกัน มองดูซึ่งกันและกันด้วยสายตาที่แสดงความเป็นมิตร หมู่คณะนั้นก็เลยผาสุก นี่เรามุ่งหมายเอาอานิสงค์ ๓ ข้อนี้เป็นหลักก็ได้เหมือนกันแหละ ก็ปฏิบัติวินัยถูกเหมือนกัน แม้ไม่เคยเรียนไม่เคยท่องมาทุกสิขาบท มันก็ปฏิบัติตรงกันได้ ทีนี้จะปฏิบัติให้หมู่คณะนี้ดูงดงามมีความน่าเลื่อมใส อะไรน่าเกลียดก็ไม่ทำ มันก็ไม่มีผิดวินัยได้ แล้วมันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสนั่นแหละเรียกว่าความงดงาม อะไรที่ทำให้มันเกิดความรังเกียจกัน มึงเลว กูดี กูดี มึงเลว มันก็อะไรอย่างนี้ล่ะก็ต้องกำจัดมันออกไป โดยเอาหลักบรรทัดฐานของวินัยที่มีอยู่เป็นหลัก มาถึงระดับนี้ก็เสมอกันหมด ฉะนั้นเราอย่าเป็นผู้ย่อหย่อน อยู่ใต้ระดับ ต้องยกตัวขึ้นมาอยู่ในระดับที่วางไว้ อย่างนั้น ถ้าเสมอเหมือนกันหมด เดี๋ยวมันก็รักใคร่กันไปเอง คนหนึ่งเป็นลูกชาวนา เซอะซะเงอะงะ แต่ว่ามีเจตนาดี เจตนาบริสุทธิ์ เดี๋ยวก็ทำตัวขึ้นมาอยู่ในระดับนี้ ไอ้พวกเจ้านายชั้นสูงที่มาบวช เดี๋ยวก็จะรักใคร่สงสาร ทีนี้ก็จะแสดงความเป็นกันเองได้ ไม่รังเกียจ นี่คือความสามัคคี ไม่วิวาทกัน ไม่แตกแยกกัน อันสุดท้ายความสุข ความสงบสุข อยู่อย่างผาสุก อยู่อย่างเป็นลูกของพระพุทธเจ้าที่มีความสุข ขอวกกลับไปหาไอ้คำที่สรุปความว่า เป็นสมณสากยปุตตเถิด บวชนี่เป็นสมณะสากยปุตต กลายเป็นลูกพระศากยะพระพุทธเจ้า บางทีก็เรียกว่าพุทธชิโนรส ขึ้นมาอีก ยิ่งเป็นลูกพระพุทธเจ้าเลย พุทธชิโนรส โอรสของพระชินะ ผู้เป็นพุทธะ หรือโอรสของพระพุทธ ที่เป็นชินะ อะไรก็ตาม ศายะบุตร มีเกียรติสูงสุด พุทธชิโนรสก็มีเกียรติสูงสุด นี่เขามุ่งหมายอย่างไร ขอให้ช่วยกันคิดดูที่จัดให้ภิกษุทั้งหลายเป็นสมณะสากยปุตต เป็นพระพุทธชิโนรสอะไรทำนองนี้ ฉะนั้นขออย่าให้ทำลายหลักการอันนี้ แล้วก็อย่าทำลายตัวเอง คือไปทำให้มันผิดวินัย สำรวมวินัยไว้แล้วก็รักษาความเป็นพุทธชิโนรส พุทธบุตรอะไรได้ เป็นผู้มั่นคงในธรรมะและวินัย ก็เป็นในสมณะสากยปุตตย พุทธชิโนรสได้ ในผ้ากาสาว ผ้ากาสายะ แม้ว่าจะบวชเพียงเดือนเดียว สรุปสั้นๆ ก็คือว่าผมได้พยายามชี้แจงว่า วินัยเป็นส่วนสำคัญ ทำความเป็นภิกษุที่แท้จริง วินัยทำให้เกิดความเป็นสมณะสากยปุตติย ให้เป็นพุทธชิโนรสเป็นต้น เอาละขออย่าได้ประมาทเลย ก็พอสมควรแก่เวลา ก็ยุติไว้เท่านี้ก่อน