แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
สรุปที่ได้พูดเอง รวมทั้งสรุปที่คนอื่นพูด เอามาพูดคราวเดียวกันหมด ที่มันเกิดความคิดเห็นขัดแย้งกันบ้าง เพราะมันมองกันคนละแง่ มองกันคนละที ทีนี้เราก็พูดสำหรับคนที่ไม่เห็นธรรมะพวกหนึ่ง กับพวกที่เห็นธรรมะแล้วพวกหนึ่ง แบ่งเป็นสองพวก แล้วก็ยังจะยืนยันว่าอิทัปปัจจยตายังใช้ได้แก่คนทั้งสองพวก แต่มันต้องต่างกันบ้าง ต้องนึกถึงหลักความจริงอันหนึ่งว่า คนโง่มากๆก็มี คนโง่น้อยๆก็มี คนกลางๆก็มี คนฉลาดน้อยๆก็มี คนฉลาดมากไวก็มีในโลกนี้ ก็อาจจะสงสัยว่าถ้าอย่างนั้นก็ต้องใช้ธรรมะคนละข้อ ถ้าอย่างนี้ไม่ถูก ต้องใช้ธรรมะข้อเดียวตามสัดส่วน ธรรมะคือความจริง ฉะนั้นคนที่ยังไม่เห็นธรรมก็ตามและคนที่เห็นธรรมแล้วก็ตาม ก็ใช้ธรรมะข้อเดียวกัน แต่คนละชั้นคนละวิธี ถ้ามองเห็นข้อนี้แล้วจะไม่เถียงกัน ทีนี้ที่สำคัญอีกอันหนึ่งก็คือว่าคำพูดย่อมมีความหมาย ถ้าไม่มีความหมายเขาไม่ถือว่าคำพูด อันนี้ฟังให้ดีๆนะ ที่จะเรียกว่าคำพูดได้ต้องมีความหมาย ความหมายนั้นต้องรู้ ถ้าไม่รู้ความหมายหรีอไม่มีความหมายอย่างนั้นไม่เป็นคำพูด มันเป็นเหมือนนกแก้วนกขุนทองร้องหรือว่าจานเสียงมันพูด ทีนี้ภาษาบาลีมันมีความหมาย สำหรับผู้ที่รู้ภาษาบาลี ภาษาไทยมีความหมายที่รู้สำหรับคนไทย ทีนี้เรากระโดดข้ามไปเอาภาษาบาลีมาพูดกับคนไทย คนนั้นมันยังไม่รู้ความหมายของคำบาลีคำนั้น มันรู้ความหมายของคำไทย แล้วไปยึดมั่นในคำไทยมากเกินไป อันนี้ก็เป็นอวิชชาอันหนึ่ง ประโยชน์สำเร็จอยู่ที่ความหมาย พยัญชนะและตัวหนังสือไม่สำเร็จประโยชน์ ฉะนั้นมันต้องมีความหมายเกิดขึ้นเมื่อได้ยินคำๆนั้น สมมติว่าคนหนุ่มคนสาวคนหนึ่งซึ่งไม่เคยเรียนธรรมะเลย แล้วก็มีเรื่องอย่างว่าที่เรียกว่าหัวใจจะแตกอกจะหักเกิดขึ้น แล้วก็ไปถามพระพุทธเจ้าว่าเรื่องมันเกิดขึ้นอย่างนี้จะทำอย่างไร ในบางกรณีสำหรับบางคน พระพุทธเจ้าจะตรัสว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง คนๆนั้นจะสว่างไสวบรรลุมรรคผลที่ตรงนั้นได้ ด้วยคำที่พระพุทธเจ้าตรัสว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง หรือว่าในโลกนี้มันเป็นอย่างนั้นเอง คนนั้นไม่เคยเรียนธรรมเรื่องอนัตตา เรื่องอิทัปปัจจยตา โดยตัวหนังสือ โดยการท่องจำ หรือโดยการเรียนในโรงเรียนก็ตาม แต่มันก็มีความรู้สึกภายในเป็นต้นทุน พอพระพุทธเจ้าตรัสว่ามันเป็นอย่างนั้นเองมันก็โพลงออกไปแบบฟ้าผ่า ให้รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง ก็เลยไม่เสียใจ แล้วก็บรรลุมรรคผลที่ตรงนั้นก็ได้ อย่างนี้จะอธิบายว่าอย่างไร ว่าเขาเป็นคนชนิดไหน เขาเป็นคนไม่รู้ธรรมะมาก่อนเลย แต่ธรรมะระเบิดโผงออกไปที่ตรงนั้นเอง ได้ยินแต่เพียงว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง นี้มันคงประกอบกันในข้อที่ว่าเขานับถือและเชื่อพระพุทธเจ้าด้วย และเขาก็รู้สึกได้ขึ้นมาทันทีด้วยว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง ธรรมชาติหรือในโลก ในสังคม มันเป็นอย่างนั้นเอง ขอให้ถือว่าโอกาสที่จะบรรลุธรรม สำหรับผู้ที่ไม่เคยมีธรรม ผู้ที่ไม่เคยรู้ธรรมมาก่อน พอสิ่งต่างๆประจวบเหมาะพร้อมกันดี คำพูดพยางค์เดียวทำให้เป็นพระอรหันต์ได้ อย่างพระพุทธเจ้าตรัสแก่คนบางคนว่า เมื่อตาเห็นรูปก็สักว่าเห็น เมื่อหูได้ยินก็สักว่าได้ยิน ทำไมมันเข้าใจได้และเป็นพระอรหันต์ที่ตรงนั้นได้ นี้เป็นความจริงของอิทัปปัจจยตา มันผ่าลงมาอย่างกับฟ้าผ่าแต่ว่าในคำพูดออย่างอื่น ยอมรับกันอยู่แล้ว ธรรมะทุกข้อ ไม่ว่าข้อไหนหมวดไหน แก่นหรือแกนของมันอยู่ที่ความเป็นอิทัปปัจจยตา แต่เราไม่ใช้คำนี้เราใช้คำอื่น ใช้คำว่าศีล สมาธิ ปัญญา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือหมวดธรรมทั้งหลายมากมาย แต่ว่าแกนของมันอยู่ที่อิทัปปัจยตา ทีนี้การที่จะเอามาใช้ มันก็มีอย่างว่า คือว่าใช้สำหรับคนที่ไม่รู้ธรรมะชื่อนี้มาก่อน หรือว่าคนที่รู้ธรรมะชื่อนี้ดี คนที่ไม่รู้ธรรมะมาก่อนมันก็ต้องมีความประจวบเหมาะอย่างว่า ธรรมะนี้จึงจะโพลงขึ้นมา ด้วยวิธีปลุกอย่างวิธีฟ้าแลบจึงเป็นวิธีที่พวกเซนเขาชอบ แต่คนธรรมดาเขาไม่ชอบอย่างนั้น เขาชอบให้ค่อยทำค่อยไปให้เรื่องมันมาก เพราะเขาต้องการความแตกฉาน แต่พวกเซนไม่ต้องการความแตกฉานทางภาษาพูด หรือทางหนังสือ หรือทางเหตุผล ต้องการความแตกฉานแต่ทางสว่างไสวลุกโพลง ฉะนั้นจึงรอเวลา รอโอกาสบ้าง พอสะกิดคำพูดเพียงคำเดียว มันก็โพลงเป็นฟ้าผ่าฟ้าร้องเลย มันก็เห็นธรรมะนั้นได้ จะเห็นธรรมะโดยใช้ชื่อว่าอย่างไร อย่างไหนก็ตาม ความหมายก็เป็นอิทัปปัจจยตาทั้งนั้น จึงเป็นอย่างนั้นเอง มันอย่างนั้นเอง เหมือนอย่างที่ว่า ขอให้จำคำว่าอย่างนั้นเองนี้ไว้ให้มาก มันเป็นความหมายสรุปของคำว่าอิทัปปัจจยตาไว้อีกทีหนึ่ง ปฏิจจสมุปบาททั้งชุดเยอะแยะนั้นมันสรุปไว้ที่คำว่าอิทัปปัจจยตา เพราะมีสิ่งนี้ๆเป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆจึงเกิดขึ้น นี้คือ
อิทัปปัจจยตา แปลว่าอย่างนี้ ทีนี้อิทัปปัจจยตามันสรุปไว้ที่คำที่สั้นกว่านั้นไว้อีกทีหนึ่ง คือคำว่าตถตา ตถตาแปลว่าอย่างนั้นเอง เท่านั้นเองหรืออย่างนั้นเอง ไม่มีอย่างอื่น คำมันสั้นที่สุดเป็นตถตา ผู้ที่กำลังพยายามจะรู้ธรรมะ พากเพียรจะบรรลุธรรมะหรือดับทุกข์อยู่ มันก็ศึกษาอยู่เรื่อย เรื่องปฏิจจสมุปบาทหรือ อิทัปปัจจยตา มันสรุปไว้ที่คำสั้นๆว่าตถตา เพื่อประโยชน์แก่การง่ายของสติ ในการที่จะระลึกถึงด้วยสติ ปล่อยให้เกิดขึ้น พอร้องว่าตถตาคือเช่นนั้นเองมันก็หายไปหมดจริง เพราะมันเคยทำอยู่เสมอๆ พิจารณาอยู่เสมอว่า มันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้น ทั้งหมดนั้นสรุปไว้ด้วยคำว่าตถตา พรรนั้นแหละ เมื่อตะกี้นี้ไม่ต้องเปลี่ยน พรรนั้นแหละ เท่านั้นแหละ อย่างนั้นแหละ พองูกัดความเจ็บมันอาจทำให้เสียสติไป ถ้าจะไปนึกท่องปฏิจจสมุปบาทอยู่มันไม่ไหว มันจึงเอาหัวใจของปฏิจจสมุปบาทมาพลั้งเป็นอุทาน เตือนสติว่าอย่างนั้นแหละ เท่านั้นแหละหรืออย่างนั้นแหละ พวกพราหมณ์ พวกศาสนาพราหมณ์เขายังเก่งกว่าเรา คือเขาสรุปรวมความหมายของธรรมะทั้งหมดไว้ที่คำเพียงพยางค์เดียวคือคำว่าโอง พอตวาดไปด้วยคำว่าโอง ทุกอย่างจะมาหมด สติจะมาตามเดิม สติสัมปชัญญะจะมาหมด ความจริงทั้งหลายจะแจ่มแจ้งหมด ตวาดไปด้วยคำว่าโองคำเดียวเท่านั้น โอมหรือโอง สติจะมาตามเดิม แล้วก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไรตามที่เขาต้องการจะรู้ เขามีหลักไว้แล้ว นี่เขายังเก่งกว่าเราที่เขาใช้พยางค์เดียวได้ เรายังใช้ถึงสามพยางค์ว่าตถตา นี้มีทางใช้สองแง่ คนที่รู้ความหมายดีแล้วใช้สำหรับเตือนสติที่มาทันเวลา ความทุกข์มันมาอย่างฟ้าแลบเหมือนคุณเต็งฮั้วว่า ทีนี้เครื่องสกัดกั้นทุกข์ต้องออกไปอย่างฟ้าแลบว่าตถตา ส่วนคำว่าตถตานี้น่าจะสรุปไว้ที่คำว่าโอมหรืออะไรก็ได้ แต่ขอให้รู้ว่าคำว่าโองนั้นมันมีความหมายอย่างตถตา คำว่าโองนี้ไม่มีความหมายในทางภาษา ถ้าจะเอาความหมายทางภาษาไม่รู้ว่าอะไร แต่ความหมายในทางธรรมหรือทางศักดิ์สิทธิ์คือ ทั้งหมดของความจริง ของความถูกต้อง ของความเข้มแข็ง ของความดี อะไรต่างๆ เพราะเขาฝึกฝนกันมาอย่างนั้น การตวาดออกไปว่าโอมหรือโองนี่ มันเป็นอย่างนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกพราหมณ์ทุกคนจะรู้จักอย่างนั้นหรือใช้อย่างนั้น แต่ความมุ่งหมายของเขาอย่างนั้น ว่าให้มีพยางค์ศักดิ์สิทธิ์สำหรับคนเอาไปพยางค์หนึ่ง แล้วเรียกมาซึ่งสติสัมปชัญญะ ความรู้ ความแข็งแรง ความอดทน อะไรต่างๆ มันก็คุมได้ ถ้าพึ่งวิธีอย่างนี้เป็นหลักก็คือพวกที่เขาเรียกกันว่า มันตรยาน ใช้สวดมนต์บทใดบทหนึ่ง ความอดทน อะไรต่างๆ มันก็คุมได้ ถ้าพึ่งวิธีอย่างนี้เป็นหลักก็คือพวกที่เขาเรียกกันว่า มันตรยาน ใช้สวดมนต์บทใดบทหนึ่งที่เหมาะแก่เขาโดยเฉพาะสำหรับท่องบ่นให้ชินเพื่อเรียกสติมาทันท่วงที เมื่อเกิดเรื่องดีใจ เสียใจ ร้องไห้ ทุกข์โศกต่างๆ พอพ่นพยางค์นี้ออกมาแล้วมันจะเหมือนกับตวาดสิ่งเหล่านั้นให้ถอยกลับไปหมด สติสัมปชัญญะเลยอยู่ มันก็มีผลดีสำหรับคนประเภทหนึ่ง ซึ่งมีอยู่มากในโลกนี้ จะเรียกว่าคนโง่ที่สุด หรือคนโง่ไม่มาก คนโง่ธรรมดา หรือ คนฉลาดนิดหน่อยก็ตามใจ คนจำนวนหนึ่งต้องใช้วิธีอย่างนี้ คนจำนวนหนึ่งใช้วิธีอย่างอื่น เพราะฉะนั้นบางลัทธิใช้วิธีนี้ก็เจริญเหมือนกัน แล้วก็เขาเอาตัวรอดได้ เขาใช้วิธีลัดเป็นเคล็ดลับของเขา ถ้าสมมติว่าพวกเราจะประมวลความหมายของพระธรรมทั้งหมดในพระพุทธพจน์ใน ๒๘,๐๐๐ ธรรมขันธ์ ก็ไว้ได้ในคำว่า อิทัปปัจจยตา แล้วถ้าให้สั้นก็คือ ตถตา พอมีเรื่องเกิดขึ้นแก่จิตใจก็ตวาดคำนี้ออก ไป สิ่งที่มากลุ้มรุมทำให้จิตใจระส่ำระสายมืดมัวมันก็หายไป มันเป็นสติสัมปชัญญะตามปกติเกิดขึ้น ก็ได้ประโยชน์ ถ้าอย่างนั้นไม่ทันกันกับเรื่องสายฟ้าแลบ ถ้าเราจะไม่ชอบคำนี้เราใช้คำว่า พุทโธ ธัมโม อะไรก็ได้ พออะไรเกิดขึ้นก็พุทโธ เพราะว่าเป็นคำที่รู้ความหมายได้ง่ายกว่า ก็เป็นของง่ายสำหรับคนที่ฉลาดน้อย มีความเชื่อมาก สรุปธรรมะทั้งหมดไว้ในคำว่าพุทโธ เกิดเรื่องอะไรขึ้นก็พ่นออกไปว่าพุทโธ เพื่อหยุดสิ่งที่กลุ้มรุม แล้วก็เกิดสติสัมปชัญญะ มันก็เป็นโอกาสให้ตั้งตัวได้และทำต่อไปอย่างถูกต้อง ถ้าไม่ชอบคำว่าพุทโธ ใช้คำว่าธัมโมก็ได้ ที่จริงการที่คนพลั้งปากว่า พุทโธ่ พุทโธ่ นั้นดีที่สุดแล้ว แต่ไม่ดีตรงที่เขาไม่รู้ความหมายของคำว่าพุทโธ แต่ว่าปู่ย่าตายายสอนไว้ดีแล้ว ถึงยังไงๆก็ขอให้พลั้งปากว่าพุทโธเถอะ อย่าไปพลั้งปากว่าอย่างอื่นเลย อย่างนั้นก็ดีอยู่มากแล้ว คำว่าพุทโธนั้นคือรู้นะ แปลว่าความเป็นผู้รู้ ถ้ารู้จะรู้อะไร ก็ต้องรู้ความจริง ยถาภูตัง ปชานาติ ย่อมรู้ถูกต้องตามที่เป็นจริง ความถูกต้องตามที่เป็นจริงคืออะไร คืออย่างที่พูดไว้ตั้งหลายชั่วโมงก็ได้ แล้วสรุปลงได้ในคำว่า อิทัปปัจจยตา ถ้าสั้นกว่านั้นก็ว่า ตถตา การร้องว่าพุทโธ ถ้าทำถูกต้องก็ไม่มีความหมายเท่ากับร้องว่าตถตา คำว่าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จะต้องเต็มไปด้วยความรู้ว่าตถตาบ้าง อิทัปปัจจยตาบ้าง หรือ ปฏิจจสมุปบาททั้งสองฝ่ายบ้าง หรือ อริยสัจ หรือ อะไรก็ตามที คนที่ฉลาดเขาจึงมีบทบริกรรมที่สั้นที่สุด แล้วก็ให้เหมาะสมกับคนนั้นที่สุด ถ้ายิ่งใช้กันได้รวมกันมากๆที่สุดยิ่งดี คำนี้คือ ตถตา เท่านั้นแหละ เท่านั้นแหละ นี่จะใช้ได้กับทุกคน อย่าได้ตั้งข้อรังเกียจคำๆนี้ เอาไปนึกไว้เสมอทุกวันทุกคืนว่า ทุกอย่างในโลกนี้จะไม่มีเป็นไปอย่างอื่น นอกจากที่มันจะเป็น ที่มันจะเป็นนั้นคืออิทัปปัจจยตา หรือ ตถตา เช่นนั้นเอง เท่านั้นเอง มันก็มีประโยชน์
พอพูดว่าตถตา ก็คือเอาพระไตรปิฎกทั้งหมดมาถ้าเขารู้จริง ที่นี้เราเพิ่งได้ยินกันวันแรก เป็นครั้งแรกในวันนี้ มันเป็นภาษาแขก แล้วก็หลงไปว่าเอาภาษาแขกมาเป็นมนต์ สำหรับท่อง สำหรับบ่นนี้มันไม่ใช่อย่างนั้น พุทธศาสนาไม่ใช้มนต์ในลักษณะอย่างนั้น พุทธศาสนาจะใช้มนต์ในลักษณะที่ถูกต้อง คำว่ามนต์แปลว่าความคิด ไม่ใช่คำสำหรับท่อง ไอ้คนเหล่านี้มันโง่เองคิดว่ามนต์นี้คือคำสำหรับท่อง มนต์คำนี้แปลว่าความคิดและแปลว่าคิดแล้วด้วย คิดแล้ว รู้แล้ว ถ้าเอาตถตามาเป็นมนต์ มันก็ต้องหมายความว่ารู้ความหมายของ ตถตาอย่างเต็มที่มันจึงเอามาใช้เป็นมนต์ได้ ฉะนั้นมนต์นี้จะคุ้มครองได้ หรือจะเรียกสติสัมปชัญญะมาทันทีว่าไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องดีใจ ไม่ต้องร้องไห้ มันเป็นอย่างนั้นเอง สำหรับผู้ที่เคยศึกษาธรรมะ พอที่จะศึกษาธรรมะแล้ว ต้องทำอย่างนี้แหละ สรุปทั้งหมดไว้ในคำๆนี้ เพื่อเป็นสมาธิก็ได้ เพื่อเป็นปัญญาก็ได้ ทีนี้คนที่ยังไม่รู้เรื่องตถตา ก็ให้ถือว่าเหมือนที่ปู่ย่าตายายสอนให้พลั้งว่าพุทโธไว้ก่อน อย่าพลั้งอย่างอื่น ไปติดตามหาความหมายของคำว่าพุทโธ พุทโธ จนรู้ว่ามันเป็นอะไร แล้วมันจะรู้ไปจนถึงที่มันใช้ประโยชน์ได้ คุ้มครองได้ เดี๋ยวนี้เรามันไม่ค่อยจะพินิจพิจารณาเรื่องนั้นๆ มันก็เลยไม่เข้าใจความหมายคำนั้นมากเกินไป คือไม่เข้าใจกันมากเท่าที่ควรจะเข้าใจ อย่างนั้นเอง หรือ เช่นนั้นเอง คือทั้งหมดของความรู้ที่เป็นจริง ยถาภูตะสัมมัปปัญญา คำที่ควรจะจดจำอย่างยิ่งคือคำว่า ยถาภูตะสัมมัปปัญญา อย่าเชื่อตามผู้อื่น อย่าเชื่อข่าวลือ อย่าเชื่อครูบาอาจารย์ อย่าเชื่อพระไตรปิฎก อย่าเชื่อว่านี่คือผู้ควรเชื่อ แต่ให้เชื่อ ยถาภูตะสัมมัปปัญญา พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้ ระบุคำนี้ ในคัมภีร์ชุดเดียวกับเรื่องปฏิจจสมุปบาท ยถาภูตะ แปลว่า ตามที่เป็นจริง สัมมัปปัญญา แปลว่าปัญญาที่ถูกต้อง เราจะต้องมีปัญญาที่ถูกต้องตามที่เป็นจริง ที่อบรมไว้ แม้แต่ในคำสั้นๆว่าตถตามันมีความหมายว่าอย่างไร มันก็จะตรงกันหมดว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมันเอง อย่าได้ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา ฉะนั้นประโยคว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อะภินิเวสายะ อยู่ในคำนี้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็อยู่ในคำนี้ ปฏิจจสมุปบาท ก็อยู่ในคำนี้ หลักเกณฑ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นแห่งทุกข์ และดับลงแห่งทุกข์ ก็อยู่ในคำนี้ คือคำว่า อิทัปปัจจยตา เราควรจะเข้าใจคำว่า อิทัปปัจจยตาให้แจ่มแจ้ง เหมือนที่เราเข้าใจเรื่องอริยสัจ เรื่องปฏิจจสมุปบาท เพราะมันเป็นเรื่องนั้นแหละ แต่เขาย่อให้แต่หัวใจ เช่นเราใช้คำว่า ทุ สะ นิ มะ คือหัวใจของอริยสัจ แล้วก็อย่าถือว่ามันเป็นบทมนต์ที่ไม่รู้ก็อาย ทุ สะนิ มะ หมายถึง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ก็หมายถึง ปฏิจจสมุปบาท เมื่อทำอย่างนี้แล้ว พองูกัดปั๊บ
อิทัปปัจจยตาด้วยปากก็ได้ ด้วยใจก็ได้ เหมือนกันถ้ารู้ความหมาย นี้มันก็ไม่มีอะไร ความเจ็บก็ไม่มีความหมาย ความตายก็ไม่มีความหมาย มันก็ดับไปอย่างที่เรียกว่าดับไม่เหลือ ดังที่ได้อธิบายไว้ในหนังสือเล่มเล็กๆเรื่องดับไม่เหลือ ให้ถือโอกาสอย่างนั้น พอเกิดอะไรขึ้น จะต้องเสียชีวิต แล้วก็จะต้องนึกถึงว่าดับไม่เหลือ แม้คำว่าดับไม่เหลือนี้ก็รวมอยู่ในคำว่า อิทัปปัจยตา แต่มันแยกออกมาเป็นดับไม่เหลือให้มันเข้าใจง่าย ถ้าชอบจะพูดว่าอิทัปปัจจยตาก็ได้ หรือถ้าให้ง่ายกว่านั้นก็ตถตาก็ได้ ถ้าเป็นไทยก็เช่นนั้นเอง อย่างนี้เอง งูกัดปั๊บจะตายในนาทีนี้ก็อย่างนี้เอง อย่างนี้เองแล้วก็ดับจิตไป มีหวังที่จะเป็นพระอรหันต์ที่นั่น ตรงนั้น ตามวิธีการที่เรียกว่าดับไม่เหลือ ฉะนั้นไม่ต้องรู้อะไรมากที่เป็นตัวหนังสือ แต่ให้รู้ลึกที่สุดในเรื่องความหมายของมันตามที่เป็นจริง คือเป็นไปตามปัจจัย สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามปัจจัย ยึดถือไม่ได้ นี้คืออิทัปปัจจยตา แล้วก็ที่ว่าตอนอธิบายหัวใจของพระพุทธศาสนาเป็นคำพูดอย่างอื่น ขึ้นปีใหม่นี้ก็อธิบายเรื่องนั้นแหละ เรื่องเดียวกัน ใช้คำพูดที่ดีกว่า ใช้คำพูดที่พระพุทธเจ้าท่านใช้มากที่สุด คือ ท่านว่าตถาคตจะเกิด หรือตถาคตจะไม่เกิดก็ตามใจ อันนี้มีอยู่แล้วและไม่เปลี่ยนแปลงด้วย เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าอย่างนั้นเอง หรือตถตา อย่างนั้นเอง นี้ก็แปลว่ามันเป็นคำพูดที่ฉลาดกว่า ลึกซึ้งกว่า น่านับถือกว่า ก็ขอให้เลื่อนชั้นให้สมกับปีใหม่ เราจะมีคำใหม่ ความหมายใหม่ อะไรใหม่ สำหรับเรื่องเดียวกันกับเรื่องเก่าแต่ที่สะดวกกว่า ทีนี้ยิ่งไปกว่านั้นอีกก็คือว่า จะเป็นคำพูดชนิดที่ใช้ได้ครอบจักรวาล จะเป็นคำพูดที่ปะทะกันได้กับนักคิด นักศึกษา นักในสมัยปรมาณู เดี่ยวนี้ก็มีคนพูดกันมากว่าพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ แต่มันก็หลับตาพูด ถ้ามันไม่รู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา แล้วมันไปพูดว่าพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ มันหลับตาพูด แต่ถ้าเรารู้เรื่อง อิทัปปัจจยตาดีแล้ว เราจะไปพูดกับนักวิทยาศาสตร์ล้วนๆไม่เกี่ยวกับศาสนา นั่นคืออิทัปปัจจยตา อยู่ในกฎวิทยาศาสตร์ของคุณอยู่ในการปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของคุณ อย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น จนไปโลกพระจันทร์ได้ หรือทำอะไรได้ก็ตามใจ นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่อาจจะค้านพุทธศาสนา นี้เราก็ได้ประโยชน์ในการที่จะเผยแผ่พุทธศาสนาไปในหมู่นัก วิทยาศาสตร์ นี้ไม่พูดกันทางศาสนาแล้ว พูดกันว่าเป็นวิธีดึงคนเข้ามาสู่พุทธศาสนา เหมาะสมที่ว่าจะไปพูดกับนักศึกษาแห่งโลกปัจจุบันที่ก้าวหน้าที่สุด ให้เขาเห็นว่าพุทธศาสนานี้เป็นสิ่งที่ค้านไม่ได้ ค้านไม่ไหว กล้าท้าให้พิสูจน์อย่างนี้ อย่างนี้ นี้เรียกว่าประโยชน์ภายนอกที่กว้างออกไป จะไปใช้อะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นคนทำนาทำสวน ถ้ามีความรู้เรื่องอิทัปปัจจยตาก็ทำสวนได้ผลดีกว่า จะทำอะไรๆก็ได้ผลดีกว่า แล้วที่ดีกว่านั้นคือไม่มีทุกข์เลย จะเป็นอะไรก็ได้ เป็นทนายความก็ได้ เป็นหมอก็ได้ เป็นพ่อค้าก็ได้ เป็นกสิกรก็ได้ จะทำงานได้ผลดีกว่า แล้วก็จะไม่มีความทุกข์ด้วย การขาดทุนหรือมีกำไรเป็น อิทัปปัจจยตาด้วยกัน เป็นตถตาด้วยกัน มันก็ไม่ดิ้นรน ไม่ดีใจมาก ไม่เสียใจมาก มันหัวเราะได้ ฉะนั้นจึงเป็นว่าอะไรที่จำเป็นที่มนุษย์จะต้องรู้ นี้เรียกว่าเอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ จะต้องรู้ สิ่งนั้นรวมอยู่ในคำว่าอิทัปปัจจยตา จะอยู่ในโลกนี้ก็ต้องพึ่งความรู้อิทัปปัจจยตา ไปนิพพานเร็วๆนี้ก็ต้องพึ่งความรู้เรื่องอิทัปปัจจยตา หรือถ้าสมมติว่าอยากจะไปทำผิดทำชั่วจะไปนรก ก็ต้องอาศัยหลักอิทัปปัจจยตาด้วยเหมือนกัน แต่มาเห็นว่าในการเผยแผ่พุทธศาสนาต่อไปข้างหน้าของพวกเรานี้ จะต้องใช้ความแตกฉานในเรื่อง อิทัปปัจจยตา ถึงจะไปสอนคนในสมัยปรมาณูหรือยุคปิงปองนี้ได้ ฉะนั้นจึงเห็นว่าเป็นโอกาสที่สมควรแล้วในขึ้นปีใหม่นี้เปลี่ยนคำพูดใหม่ ให้ใช้หัวใจพุทธศาสนาโดยคำว่าอิทัปปัจจยตา ที่พระพุทธเจ้าท่านพูดมากที่สุด ในสูตรเพียงสองหน้ากระดาษครึ่งมีถึง ๒๒ ครั้ง ตะกี้พระสวดไม่ได้ยินเหรอ ข้อความที่พระสวดเมื่อตะกี้สองหน้ากระดาษครึ่ง มีคำว่าอิทัปปัจจยตาถึง ๒๒ ครั้ง มีคำว่าตถตาถึง ๑๑ ครั้ง มีคำว่าธัมมัฎฐิตตา ธัมมนิยามตา อนิจจตา อตัมมยตา นี้อย่างละ ๑๑ ครั้ง แต่ทุกคำนี้มันไปรวมอยู่ในคำว่าอิทัปปัจจยตา ต้องไปอ่านในบาลีเอง ถ้าพูดถึงปฏิจจสมุปบาทโทแล้ว จะต่อท้ายด้วยคำว่าอิทัปปัจจยตา เป็น collective
(นาทีที่ 52:25) ตถตา อวิตถตา อนัญญถตา อิทัปปัจจยตา เป็นคำที่ต้องพ่วงกันเป็นหาง อย่างที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า collective(นาทีที่ 52:37) จะพูดเพียงคำเดียวไม่เพราะ ไม่เสนาะ ไม่พอ ต้องพูดอย่างเราพูดภูเขาเลากาอย่างนี้ ต้องพูดให้มันครบกระแสความ ธัมมัฏฐิตตา เป็นการตั้งอยู่ตามธรรมดา และ ธัมมนิยามตา เป็นกฎตายตัวของธรรมดา แล้วก็เป็นตถตา เป็นอย่างนั้นเอง อวิตถตา ไม่พ้นไปจากความเป็นอย่างนั้น อนัญญถตา ไม่มีความเป็นอย่างอื่น อิทัปปัจจยตา คือ การที่เมื่อมีสิ่งนี้ๆเป็นปัจจัยสิ่งนี้ๆจึงเกิดขึ้น ประโยคนี้มันยาวแต่มันสรุปได้ด้วยคำว่าตถตา ทีนี้ที่เราได้ยินมากที่สุดคือคำว่า อนัตตา สุญญตา นั่นแหละคือตัวอิทัปปัจจยตา และแม้ที่สุดแต่ว่าเด็กๆไปอยู่วัดเพื่อที่จะบวชเขาก็ให้เรียน ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง ธาตุมัตตะเมเวตัง,ยะทิทัง ปิณฑะปาโต ฯตะทุปะภุญชะโก จะ ปุคคะโล ธาตุมัตตะโก นิสสัตโต นิชชีโว นี้ก็คือตัวอิทัปปัจจยตา หัวใจหรือตัวของอิทัปปัจจยตา ให้เด็กๆเรียนวันแรกที่เข้าไปอยู่วัดเพื่อที่จะบวชเณรก็ตาม บวชพระก็ตาม เมื่อสมัยอาตมาจะบวช เมื่อพ.ศ.โน่น วันแรกที่ไปอยู่วัดก็ให้เรียนอย่างนี้ วัดยังไม่ได้เลิกระเบียบนี้ที่มีมาแต่โบราณ อาตมาเองนี้เป็นพยานได้ วัดอยู่วัดวันแรก เขาเขียนใส่กระดานไม้ให้เรียน ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง ธาตุมัตตะเมเวตัง ยะทิทัง ปิณฑะปาโต ฯตะทุปะภุญชะโก จะ ปุคคะโล ธาตุมัตตะโก นิสสัตโต นิชชีโว สิ่งนี้ตรัสว่าธาตุเท่านั้น เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิจ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ชีวะไม่ใช่ตัวตน ยะถาปัจจะยัง ก็คือ อิทัปปัจจยตา แปลว่าเป็นไปตามปัจจัย เดี๋ยวนี้ไปดูให้ทั่วไปทั้งพระไตรปิฎก มันแสดงความหมายของอิทัปปัจจยตาอยู่ทุกบรรทัด แต่มันอยู่ระหว่างบรรทัดตรงที่เนื้อที่ว่าง คุณไปดูแต่ตัวหนังสือ คุณไปดูตรงที่ว่างระหว่างบรรทัดจะมีแต่คำว่าอิทัปปัจจยตาเต็มไปหมด ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ ฉะนั้นจึงเห็นว่าเป็นการสมควรแล้วที่จะพูดถึงคำๆนี้ แล้วก็ให้เข้าใจสำหรับไปพูดกันต่อๆไป จะได้เผชิญหน้ากับนักวิทยาศาสตร์ยุคปรมาณู ไม่พ่ายแพ้ ทีนี้จะไปพูดกับกลุ่มนักปรัชญาก็ต้องต้องอันนี้อีก ข้อนี้อีก คำนี้อีก เรื่องนี้อีก ไปพูดกับนักปรัชญา จะไม่มีทางพ่ายแพ้ เขาจะพิสูจน์อยู่ในตัวอย่างเด่นชัดว่าพุทธศาสนา คำสอนที่เราเรียกกันว่าพุทธศาสนานี้ไม่เหมือนกับศาสนาไหน คือไม่มีอัตตา ไม่มีอะไรที่พูดลงไปโดยส่วนเดียว คนโง่ๆจะพูดโดยส่วนเดียว พระพุทธเจ้ายังห้ามขาด ก็อย่าพูดว่าอะไรมันเป็นอย่างไรโดยส่วนเดียว นี้ต้องช่วยกันจำเอาไว้ ถ้าอยากจะเป็นพุทธบริษัท ถ้าพูดว่าอะไรเป็นอะไรลงไปโดยส่วนเดียว อย่าพูดว่ามี หรืออย่าพูดว่าไม่มี ให้พูดว่าเมื่อมีสิ่งนี้ๆเป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆย่อมเกิดขึ้น อย่าพูดว่าไม่มี หรือพูดว่ามี อย่าพูดว่าคน หรืออย่าพูดว่าไม่ใช่คน ให้พูดว่าเมื่อสิ่งนี้ๆเป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆย่อมเกิดขึ้น อย่าพูดว่าตายแล้วเกิด อย่าพูดว่าตายแล้วไม่เกิด มันบ้าทั้งสองพวก ให้พูดว่าเมื่อมีสิ่งนี้ๆเป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆจึงเกิดขึ้น แล้วแต่เขาจะถามว่าอย่างไร นี้เรียกว่าจะไม่พูดอะไรลงไปโดยส่วนเดียว นี้จะยกตัวอย่างที่คงจะจำได้อย่างไม่ลืม ขออภัยใช้คำอย่างหยาบว่าคำว่าขี้ ขี้นี้ดีหรือไม่ดี คนโง่ๆจะพูดว่าไม่ดี มันโง่ มันบ้า คนที่พูดว่าดี มันก็โง่และบ้า มันต้องพูดว่าเมื่อมีสิ่งนี้ๆเป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆจึงเกิดขึ้น ยกให้ดูว่าขี้ไคลทั่วๆตัวมีประโยชน์มาก ที่จะกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าไปในเนื้อในหนังง่ายๆได้ มาติดอยู่ที่ขี้ไคล แล้วก็ล้างเสียด้วยสบู่ทิ้งออกไป ขี้ไคลมีประโยชน์มาก ทีนี้คนโง่พอเห็น ว่าน่าเกลียดบ้าง สกปรกบ้าง รีบถูออกไปเสียหมด สู้พวกโยคีเขาปล่อยขี้ไคลไว้ทั้งตัวไม่เคยอาบน้ำตลอดชีวิตก็ไม่ได้ ทีนี้คนมันโง่ไปพูดว่าดีหรือไม่ดีโดยส่วนเดียวนี้คือคนโง่ที่สุด ถ้าเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า อย่าพูดอะไรลงไปโดยส่วนเดียวว่าดีหรือไม่ดี ให้พูดว่าเมื่อมีสิ่งนี่ๆเป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆย่อมเกิดขึ้น ฉะนั้นขี้ไคลบนตัว ขี้ไคลบนหัว หรือตรง ไหนก็ตาม มันมีส่วนที่เป็นประโยชน์อย่างลึกซึ้งที่คนไม่มอง คอยที่จะล้างถูออกไปเรื่อย มันก็ถูกเหมือนกัน แต่ว่าบางทีดีก็ได้ ไม่ดีก็ได้ นี่ของที่เลวที่สุดจนเรียกว่าขี้ มันก็ยังมีส่วนที่ดีอยู่มากๆ ไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปเนื้อหนังพรวดพราดทันทีได้ เพราะว่ามันติดอยู่ที่ขี้ไคล แล้วล้างไปเวลาอาบน้ำทิ้ง ฉะนั้นอย่าพูดว่าอะไรเป็นอย่างไรโดยส่วนเดียว ให้พูดเป็น อิทัปปัจจยตาไว้เสมอ แล้วก็จะเห็นโดยทันทีว่าไม่เป็นสัสสตทิฐิ แล้วก็ไม่เป็นอุจเฉททิฐิ แล้วก็ไม่เป็นอมราวิกเขปิตา นี้จำไว้คำหนึ่งซึ่งมันแปลกหูและมันสำคัญมาก อมราวิกเขปิกา ก็แปลว่าพูดให้ดิ้นได้ไม่ตายตัว อย่าเข้าใจว่า อิทัปปัจจยตานี้เป็นทิฐิ หรือเป็นลิทธิดิ้นได้ไม่ตายตัว อย่างนั้นจะโกหกใส่พระพุทธเจ้า จะตู่พระพุทธเจ้า อย่างเลวอย่างร้ายกาจที่สุด อมราวิกเขปิกา พูดให้ดิ้นได้ ไม่ตายตัวนั้น เป็นมิจฉาทิฐิอันหนึ่ง อิทัปปัจจยตาไม่ใช่ลัทธิอมราวิกเขปิกา ไปดูในทิฐิ ู๖๒ พรหมชาลสูตร มันมีพูดอย่างนี้อย่างหนึ่ง พูดกับอีกฝ่ายนี้อย่างหนึ่ง มีพวกหนึ่งพูดให้ดิ้นได้ ไม่ใช่ฝ่ายนี้และ ฝ่ายนั้น รวมเป็นสามพวก ทิฐิจะมีเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ๓ กลุ่ม พูดว่ามี พูดว่าไม่มี และอีกกลุ่มหนึ่งพูดว่ามีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่ หรือว่าพวกไม่พูดว่าอะไรเลย อย่างนี้เขาเรียกว่าพูดให้ดิ้นได้ไม่ตายตัว คนนี้มันโง่ไปทางฝ่ายซ้ายสุดโต่ง คนนี้มันโง่ไปทางฝ่ายขวาสุดโต่ง คนนี้เป็นฝ่ายดิ้นได้ไม่ตายตัวจนไม่เป็นซ้ายเป็นขวา ทั้งสามอย่างนี้ไม่ใช่อิทัปปัจจยตา เดี๋ยวจะได้ยินว่าเมื่อมีสิ่งนี้ๆเป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆจึงเกิดขึ้น แล้วจะหาว่านี้เป็นคำพูดฝ่ายดิ้นได้ไม่ตายตัว นี้ไม่ใช่ นี้ตายตัวเผงเลย เพราะมีสิ่งนี้ๆเป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น ฉะนั้นอย่าเผลอไปทำให้คำว่าอิทัปปัจจยตานี้เป็นสัสสตทิฐิหรือว่าเป็นอุจเฉททิฐิ หรือว่าเป็นอมราวิกเขปิตาทิฐิ ดิ้นได้ไม่ตายตัว อย่างเราก็ไม่เหมือนใคร ไม่เหมือนลัทธิไหน ไม่เหมือนทิฐิไหน เป็นลัทธิหรือทิฐิของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้พร่ำอยู่แต่เรื่องว่าอิทัปปัจจยตา นั่งอยู่คนเดียวก็นั่งพร่ำอิทัปปัจจยตา ลักษณะหรือประโยชน์ของอิทัปปัจจยตาคืออย่างนี้ เอามาขึ้นปีใหม่กันเสียที อาตมาก็สรุปคำบรรยายเหล่านี้
(ช่วงที่ ๒) มันก็ต้องถือเป็นธรรมชาติเพราะว่าเด็กๅไม่ได้รับการอบรมสั่งสอน ความเคยชินนั้นถ้าเรียกตามภาษาบาลีเขาเรียก อนุสัย อนุสัยแปลว่าความนอน หรือ นอนความ มันจะเพิ่มเข้าไปในสันดาน ทุกคราวที่เราได้ความพอใจ เกิดความพอใจหรือเวทนาเด็กๆก็ตาม ที่มันรู้จักสุข รู้จักทุกข์ ทุกข์คราวที่เราได้รับความพอใจ มันจะเพิ่มราคานุสัยคือความเคยชินที่จะรัก เรียกว่าราคานุสัย มันเพิ่มทุกทีไปที่เราได้รับความพอใจตั้งแต่เกิดมา ถ้าได้ไม่พอใจคือไม่ชอบไม่รัก มันจะเพิ่ม ปฏิฆานุสัย ปฏิฆานุสัยแปลว่าความเคยชินที่จะโกรธ จะเกลียด ปฏิฆะแปลว่าไม่ชอบใจ ราคะแปลว่าชอบใจ ทีนี้ถ้ามันเป็นเวทนาที่ไม่เรียกได้ว่าถูกใจหรือไม่ถูกใจ นี้เขาเรียกว่าอุเบกขา ทุกข์หรือว่าสุขนี้ มันจะเพิ่มอวิชชานุสัยคือความโง่อีกนั่นแหละ ความโง่ชนิดที่เป็นเหตุให้สนใจ ให้วิตกกังวล มันมีอยู่สามอันเท่านั้นที่เป็นหลักใหญ่ ถ้าได้ถูกใจจะเพิ่มราคานุสัย ความเคยชินที่จะรักของที่น่ารัก นี้ถ้าได้ไม่ถูกใจจะเพิ่มปฏิฆานุสัย ความเคยชินที่จะเกลียด จะโกรธ จะอึดอัด ขัดใจในสิ่งที่ไม่ถูกใจ ถ้ามันไม่ถูกใจหรือไม่ใช่ไม่ถูกใจ มันไม่อร่อยหรือไม่ไช่ไม่อร่อย แต่ว่ามันน่าสนใจ มันชวนฉงน ชวนสนใจอย่างนี้จะเพิ่มอวิชชานุสัยไปเรื่อย คือจะสนใจในสิ่งที่ไม่ต้องสนใจเรื่อยๆ มันมีสามอย่างนี้เรียกว่าความเคยชิน มันไม่ใช่ตัวกิเลสที่เกิดอยู่ในใจ แต่มันเป็นความเคยชินที่จะเกิดกิเลสเช่นนั้น ฉะนั้นเราจึงทำยาก ทำให้จิตว่าง เพราะพอสิ่งที่น่ารักมา มันมีความเคยชินที่จะรักในสิ่งที่น่ารัก มันก็เกิดขึ้นทันที ก็เกิดราคะ โลภะ ขึ้นมาทันที พอสิ่งที่ไม่ถูกใจมา ก็มีความเคยชินที่จะไม่ชอบ หรือเกลียด หรือกลัว หรืออะไรขึ้นมาทันที มันจึงไม่ว่างอีก ทีนี้ถ้ามันเฉยๆ มันก็ยังสนใจต้นไม้อะไรอยู่บ้าง อันนี้มันไม่ให้อะไรเลย ความเคยชินมีสามอย่างเท่านั้น จะแตกออกเป็นเจ็ดอย่างสิบอย่างก็ได้ มันก็ไม่มากไปกว่าสามอย่าง อย่างหนึ่งเคยชินแต่จะเกิดความรัก อย่างหนึ่งเคยชินแต่จะเกิดความเกลียด อย่างหนึ่งเกิดความเคยชินแบบสงสัย คุณอย่าฟังกันเรื่องที่พูด คุณต้องฟังเป็นเรื่องที่ไปเข้าใจตั้งแต่เกิดมาแล้วรู้สึกอยู่ในใจ คุณจะรักสิ่งที่มันน่ารัก แล้วจะเกลียดสิ่งที่มันน่าเกลียด แล้วจะฉงนในสิ่งที่ควรฉงน ไม่รู้ว่าอะไร มันจะเกิดราคานุสัยบ้าง เกิดปฏิฆานุสัยบ้าง เกิดอวิชชานุสัยบ้าง เพิ่มให้ เพิ่มให้ เพิ่มให้ ตั้งแต่แรกเกิดมาโน่น จนบัดนี้ตั้งหลายสิบปีแล้ว มันจึงแน่นหนามาก มันจึงยากที่จะป้องกันหรือจะเอาออก พอคุณเดินมาถึงตรงนี้ มันมีอิทธิพลอันหนึ่ง จะว่าน่ารักก็ไม่น่ารัก น่าเกลียดก็ไม่น่าเกลียด น่าฉงนก็ไม่น่าฉงน เลยลืมไปหมด อนุสัยทั้งสามชนิดทำหน้าที่ไม่ได้ เราก็สบายใจ จิตว่าง จิตว่างจากกิเลส เพราะว่าอนุสัยไม่ทำงาน เราก็สบายใจ พอเข้ามานั่งตรงนี้ ก็สบายใจ ฉะนั้นเรื่องความเคยชินที่เราเรียกว่าอนุสัย เป็นตัวร้ายมาก จะทำให้เราไม่สามารถจะทำจิตให้ว่าง พอสิ่งที่น่ารักมาอยู่ตรงนี้อันหนึ่ง คุณก็เกิดความไม่ว่างแล้ว เว้นไว้แต่ว่ามันมีสิ่งอื่นอีกหลายอันที่มีอิทธิพลกว่ามันเข้ามาในใจคุณเสียก่อนที่จะไปเกิดความรักในสิ่งที่น่ารัก วางอยู่อันหนึ่ง ทีนี้คุณลองนึกถึงที่บ้านที่ออฟฟิศ นึกไม่ไปหรอก อันนี้มันมีแรงกว่า นึกถึงความตายสิ คุณจะไม่กลัวตายหรอก นั่งอยู่ตรงนี้ นึกโรคภัยไข้เจ็บ นึกอะไรที่คุณเคยกลัวที่บ้าน จะไม่มี คลายวิตกกังวลเรื่องลูกเรื่องหลาน มานึกที่ตรงนี้ นึกไม่ออกหรอก ไอ้อย่างนี้มันมีอิทธิพลกว่า มันยึดจิตใจไว้ ให้ว่างอยู่เรื่อย นี่เป็นอิทธิพลของธรรมชาติเหล่านี้ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์จึงตรัสรู้ในป่า พระเยซู พระมูฮัมหมัดก็ตรัสรู้ในป่า อิทธิพลของป่ามันครอบงำให้จิตว่างอยู่เรื่อย คิดอะไรออกอยู่เรื่อย คุณอย่าเรียนหนังสือ อย่าเรียนคำพูด ให้เรียนจากตัวเอง ความจริงที่มีอยู่ในตัวเองตั้งแต่เกิดมาเป็นอย่างไรๆ อย่างคุณคนนี้จะเข้าใจได้ ถ้ารู้จักเรื่องความเคยชิน ที่มันมีมาแต่กำเนิด เคยชินอย่างนั้นๆ ซึ่งล้วนแต่ไม่ให้จิตว่าง เราก็แก้ไขส่วนนี้ จริงๆพูดว่าให้ฝึกหัดไปๆ ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ข้อแรก อย่าลืมเสีย ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ทำได้ไหม เถียงว่าทำไม่ได้ เอามาทำตรงนี้สิ มาทำตรงนี้จิตว่างแน่ เอางานบัญชีมาทำตรงนี้ เอางานเป่าปี๊ดมาทำตรงนี้ ฉะนั้นจะทำได้พร้อมกับจิตก็เป็นสุข แล้วงานก็สำเร็จ ถ้าตรงนี้ทำได้ออกไปที่บ้านก็ทำได้สิ ทำใจเหมือนนั่งทำตรงนี้ ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง นี่ข้อแรก ชอบมาชิมลดความว่างในจิตใจเสียก่อน ถึงจะไปสิ่งแวดล้อมที่ผิดกันบ้างมันก็ยังมีทาง อันนี้มันจะช่วยจิตไปได้ ถ้าว่าเราไม่เคยเป็นอย่างนี้เสียเลย เรานึกไม่ถูกหรอก วางใจไว้ไม่ถูก งั้นต้องชิมแบบนี้ให้มากๆ มากๆ ระหว่างที่อยู่ที่นี่สามชั่วโมงสี่ชั่วโมง ดื่มแบบนี้เข้าไปให้มากให้ติดเป็นรสใหม่ ไปถึงที่ข้างนอกมันก็รักษาไว้ๆ กลับไปถึงบ้านก็ให้มันอยู่ เหมือนกับไปขึ้นบ้านคนอื่น ที่ไม่ใช่บ้านเรา ที่มันทำงานที่โต๊ะที่ออฟฟิศ ก็เหมือนทำให้คนอื่น อย่าให้เกิดความหนักอกหนักใจต้องรับผิดชอบ เอาอย่านี้ดีกว่าเมื่ออยู่ที่กรุงเทพฯ หัวหนักอึ้งเรื่องงาน รับผิดชอบวุ่นวาย พอรถไฟออกจากสถานีมันเริ่มจางใช่ไหม จริงหรือไม่จริงพูดกันก่อนสิ เออมันเริ่มจาง ไอ้ตัวกูมันเริ่มจาง พอมาถึงนี้หมดเลย พอมาถึงประตูวัดหมดเลย นั่นแหละมันก็รู้ ได้ความรู้ที่ว่าอ้าวเพราะอันนั้นแหละ เพราะเราไปยึดถือว่านั่นของกู งานของกู การได้การเสียของกู ความรับผิดชอบของกู อะไรของกู แยกออกจากกันตรงนี้ งานมันก็คืองาน ความยึดถือว่าของกูก็คือความยึดถือ เอางานมาทำที่นี่ทำไมมันทำได้ แล้วมันไม่มีความยึดถือ ก็ทำได้ดีมีความสุขด้วย ทีนี้เราก็เกิดกลัวขึ้นมา กลัวจะเป็นอย่างนั้น กลัวจะตกนรกทั้งเป็นที่โต๊ะที่ออฟฟิศ แต่ความกลัวนี้จะช่วยได้ หรือคุณไม่กลัว คุณไม่กลัวความทุกข์เหรอ ทีนี้ก็ละอายบ้าง เป็นคนทั้งทีต้องตกนรก ต้องหม่นหมองทุกข์ทน ต้องมีความละอายบ้าง มีความกลัวบ้าง แล้วก็มาชิมตัวอย่างของพระพุทธเจ้า นิพพานตัวอย่าง ในที่อย่างนี้ นี้จะคอยแก้ไขอนุสัย แก้ไขความเคยชินที่ว่าเมื่อตะกี้นี้มันจะถูกแก้ไขโดยอัตโนมัติ ให้เราหัดปกติไว้เรื่อย เมื่อของน่ารักมา ใจคอปกติอยู่ได้ ต้องแก้ไขราคานุสัยคือความเคยชินที่จะรัก พอของที่ทำให้เคยโกรธมาเราไม่โกรธ มันก็แก้ไขปฏิฆานุสัย ความเคยชินตอนนั้นให้จางลงๆ ของอีกส่วนหนึ่งที่ชวนสนเท่ห์ฉงนไม่มีขอบเขต ถ้าเราลองแก้ไข มันก็ไม่ไปหลงเข้ามาอีกสิ่งที่ไม่ควรหลง มันไม่ต้องไปหลงมัน อย่างนี้ก็ทำด้วย ช่วยกันเข้ามาอีกทีหนึ่ง เรียกว่าแก้ไขในส่วนลึก ทั่วไปก็แก้ไขแล้วก็นึกถึงรสชาติอย่างนี้ไว้เรื่อย รสของความสุขชนิดนี้ นึกถึงไว้เรื่อยเหมือนเอาพระแขวนคอไว้ พระนี้แหละช่วยได้ ไอ้รสชาติที่เป็นสุขเยือกเย็นอย่างนี้ เอาแขวนคอติดไว้ด้วย ให้ไปนึกถึงได้ที่กรุงเทพฯ ช่วยแก้ไขอย่างนี้อยู่เสมอๆไม่เท่าไหร่หรอก มันเปลี่ยน นิสัยต่างๆมันเปลี่ยน ความเคยชินต่างๆมันเปลี่ยน ในทางที่จะไม่รัก ไม่เกลียด ไม่สงสัย ก็ว่างได้ง่ายขึ้น ทีนี้เราก็มาสรุปความว่าที่แท้โดยธรรมชาติแล้วมันว่าง ธรรมชาติแท้ๆว่าง เราเกิดมาจากท้องแม่ก็ว่าง แล้วเราค่อยเพิ่มเชื้อแห่งความวุ่นทีละน้อยๆ พออายุสองสามขวบจะเริ่มเพิ่มปฏิฆานุสัยมากขึ้นๆ ที่รักก็จะชินในความรัก ที่เกลียดก็จะชินเพื่อจะเกลียด ที่กลัวก็จะชินเพื่อจะกลัวให้มันชินกับความกลัวเพิ่มขึ้นๆๆ นี่ก็เสียสภาพเดิมที่เรียกว่าว่าง นี่ก็ต้องแก้ไขให้มันสู่สภาพเดิม แล้วก็ดีกว่าเดิม เพราะมันว่างเพราะถูกแก้ไข ไม่ได้ว่างเอง
แต่ถึงอย่างไรก็ดี ชนิดที่เรียกว่าว่างเองก็ยังมีอยู่ตลอดเวลา เพราะธรรมชาติมันว่างเอง ถ้าคุณไม่ทำอะไรจิตมันว่าง แต่คุณอย่าได้คิดไปทำอะไรเข้า จิตมันว่าง ไปรักไปเกลียดไปกลัวเข้ามันก็ยิ่งว่าง ทีนี้เราไปเผลอให้มันไปรักเข้าไปโกรธเข้าไปกลัวเข้า มันจึงไม่ว่าง นี้ยังบอกว่าไม่ต้องทำอะไร อยู่นิ่งๆให้มันว่าง อย่างตรงนี้แหละพิสูจน์ อย่าไปคิดในทางนั้น อย่าไปนั่นในทางนี้ มันว่างเอง ต้นไม้สิ่งแวดล้อมช่วยด้วยยิ่งว่างใหญ่ มันไม่ยากถ้าถูกวิธีมันว่างเอง ถ้าไม่ถูกวิธียิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา ก็เลยท้อใจกันตอนนี้ เพราะไม่ถูกวิธี ถูกวิธีว่างเอง นี้มันเป็นเคล็ด ทีนี้พอจะแก้ไขพอจะช่วย ลืมบทเรียนอย่างที่ว่า ฝึกหัดทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่างไปก่อน แล้วก็ฝึกคิดล่วงหน้าไว้ด้วยว่าถ้าได้ผลงานอะไรมายกให้ความว่างเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ทำพินัยกรรมล่วงหน้าไว้เลย ผลงานอะไรเกิดขึ้นยกให้ความว่าง เอาเงินมาแต่ใช้ เอาเงินมาแต่ไหนกิน ก็กินด้วยความว่างนั่นแหละ เมื่อทำมันทำด้วยความว่างได้ ผลที่เกิดขึ้นมาก็เกิดด้วยความว่างได้ กินใช้ด้วยจิตที่ไม่คิดว่าเงินนี้ของกู เดี๋ยวนี้มันอะไรของกูหมด ทรัพย์สมบัติทั้งหลายของกูหมด ฝากไว้ในธนาคารก็อดเป็นห่วงไม่ได้ใช่ไหม กลัวธนาคารจะล้มบ้าง กลัวอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง อยู่ที่ธนาคารแล้วก็ยังเป็นของกู มันมาอยู่ในจิตใจเรื่อย ฉะนั้นจึงตัดบทเสียว่า ตายแล้ว ตายเสร็จสิ้นในตัวแต่หัวที นี้คำกลอน คือไม่มีตัวเราดีกว่า ตัดบทเป็นไม่มีตัวเราเสียดีกว่า ตายตั้งแต่แรกเกิดจนบัดนี้ คือตายๆๆหมดแล้ว นี้มันเป็นธรรมะสูงสุดในพุทธศาสนา มันก็ยากสักหน่อย จะให้มันง่าย พระพุทธเจ้าก็ไม่ต้องเกิด มันก็ยากต้องมีคนเก่งเกิดมาอีกคนสอน การที่เรารู้สึกว่าตัวเราไม่มีอยู่ตลอดเวลา ถ้าทำเป็น นั้นคือว่างที่แท้จริง ว่างจริงๆ และเป็นสุขที่สุด และเป็นนิพพานจริง เดี๋ยวนี้มันนิพพานขึ้นๆลงๆ นิพพานชั่วคราว เรียกว่านิพพานชั่วระยะ ชั่วขณะๆ ภาษาบาลีเขาเรียกว่า สามายิกะ แปลว่า ชั่วสมัย สามายิกะ ชั่วสมัย นิพพานชั่วสมัย ชั่วครู่ tempolary ชิมนิพพานตัวอย่าง ชั่วขณะ สามายิกะ นี้ก็ยังวิเศษมากเอาให้ได้ เอาติดไป นิพพานชั่วขณะ มันก็มาหาธรรมชาติ ถามว่ามีความสุขไหม มันมีความสุข พอใจไหม คุณพอใจหรือเปล่าพูดกันจริงๆ พูดจริงๆว่าพอใจรสของความว่าง นี้เราเรียกว่ามหรสพ Spiritual Entertainment ที่เรียกว่าโรงมหรสพทางวิญญาณ Spiritual Theater สิ่งเหล่านั้นก็เพื่อให้รสชาติอย่างนี้ อย่างที่ว่านี้ ถ้าคนทั้งหลายเขาชอบมหรสพชนิดนี้ เรื่องมันง่ายที่สุด เดี๋ยวนี้คนก็จะไปบางแสน ไปหัวหิน ไม่มาสวนโมกข์ เพราะเหตุอะไร เพราะมันไม่ชอบ มันไม่ชอบจริง มันไม่ชอบมหรสพชนิดนี้โดยแท้จริง มันไปชอบมหรสพอย่างที่กรุงเทพฯ ชอบมหรสพที่ทำให้ไม่ว่าง นี้เรามีมหรสพที่ทำให้ว่างแล้วคุณก็ไม่ได้ชอบจริง แต่ก็ชอบ เราก็เชื่อว่าคุณพูดจริง พอเข้ามาถึงตรงนั้นแล้วสบายคุณก็ชอบ แต่แล้วทำไมมันไม่ชอบนานๆ ไม่ชอบยั่งยืนถาวร เหมือนกับที่โน่น ลองคิดถึงข้อนี้ มันไม่จริง มันไม่กลัว มันไม่ละอาย มันไม่จริง ไปเพิ่มความชิน ความกลัว ความละอายให้มากๆ มันก็จะง่ายโดยไม่ต้องทำอะไร พอเราวุ่นวายทีหนึ่งก็คือ ตกนรกทีหนึ่ง จิตวุ่นวายทีหนึ่งนั่นคือตกนรกที่แท้จริงทีหนึ่ง นรกที่ใต้ดินตกตอนตายแล้ว ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร นรกที่โง่ที่สุด ที่ไม่จำเป็นอะไร แต่นรกที่เกิดทางตา ทางจมูก ทางหู ทางอะไรอยู่ทุกวันเวลานี่แหละนรกจริง มันเหลือประมาณ มันร้อนเป็นนรกเหลือประมาณ แล้วก็มีทุกวัน พระพุทธเจ้าสอนนรกอย่างนี้แต่คนไม่สนใจ แล้วไปอ่านคำพูดนั้นเข้าแล้ว คิดว่านรกใต้ดินเสียอีก นี่อรรถกถาจารย์ บ้าเสียขนาดนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ อยิกนิกนรก(นาทีที่ 1:26:50) แล้วไปแปลว่า อเวจีบ้าง โลหกุมภีบ้าง อยู่ใต้ดิน ไม่เอาตรงตามที่พระพุทธเจ้าพูด นี่คุณต้องเอาตามที่พระพุทธเจ้าตรัส พอตามันบ้าขึ้นมาก็เป็นนรกที่ตา พอหูมันบ้าเป็นนรกที่หู หาได้มากที่บางแสน ที่หัวหินที่ไหน ทีนี้เดี๋ยวนี้มันไม่ตกนรก เราก็ควรจะชอบ แล้วเราก็ควรจะเกลียดหรือกลัวนรกชนิดที่ว่า ที่เกิดทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนัง ทางอะไรอยู่บ่อยๆ นี่เขาเรียกว่า หิริ โอตตัปปะ ละอายเมื่อตกนรก แล้วก็กลัวเมื่อตกนรก มันขาดความรู้แม้แต่พื้นฐาน คือความละอายและความกลัว ไม่มีหิริและโอตตัปปะ คนโบราณเขาสอนให้ลูกเด็กๆท่องคาถานี้ เมื่ออาตมาเด็กๆยังถูกสอนให้ท่อง หิริโอตัปปะ สัมปันนา ถึงพร้อมด้วยหิริและโอตตัปปะ สุกกะธัมมะสะมาหิตา ประกอบอยู่ด้วยธรรมะอันขาวสะอาด สันโต สัปปุริสา เป็นผู้สงบ เป็นสัตตบุรุษ โลเก เทวะธัมมาติ วุจจะเรติ นี่แหละเรียกว่าเทวธรรม เขาสอนเด็กๆอย่างนี้ ในบาลีในอะไรก็มี ในอรรถกถาก็มีเหมือนกัน คนที่ไม่มีหิริโอตตัปปะ จะต้องตกนรก จะถูกยักษ์กิน ไหนๆพูดแล้ว คุณไม่รีบจะไปใช่ไหม จะพูดต่ออีก คำมันจำง่ายดี นิทาน สามคนพี่น้อง คนหนุ่มเดินตามไปในป่าไปเมืองอื่น ทีนี้หนทางมันไกล มันหิวน้ำกลางทาง มันต้องการจะกินน้ำ คนพี่ใช้น้องคนเล็กไปเอาน้ำในสระมากิน ให้น้องคนเล็กไปเอาน้ำที่สระ ยักษ์มาจับตัว ถามว่ารู้จักเทวธรรมไหม มันก็ไม่รู้ มันก็ต้องบอกว่าไม่รู้ ดีกว่าไปหลอกยักษ์ให้ยักษ์มันโกรธ ยักษ์ก็จับตัวไว้จะเอาไปกิน นานเข้าพี่เห็นว่าทำไมยังไม่กลับมา ใช้คนที่สองไปตาม ไปที่สระน้ำนั้นอีก ยักษ์ก็จับตัว ถามว่ารู้จักเทวธรรมหรือไม่อย่างเดิม มันก็ไม่รู้อีก มันก็ถูกกักตัวไว้อีก ทีนี้คนพี่ชายมันต้องไปเอง พอยักษ์ถามว่ารู้หรือไม่ มันบอกว่ารู้ มันก็ว่าคาถานี้ คาถาที่พูดเมื่อตะกี้นี้ หิริโอตัปปะ สัมปันนา สุกกะธัมมะสะมาหิตา สันโต สัปปุริสา โลเก เทวะธัมมาติ วุจจะเรติ ในโลกนี้เขาถือกันว่าผู้ที่มีหิริและโอตตัปปะสมบูรณ์ เป็นสัตบุรุษ เป็นผู้สงบระงับ นี่คือเทวธรรม ยักษ์ก็ยอมแพ้ มันตอบถูก ในโลกนี้ถ้ามีความละอายและความกลัวแล้ว โลกนี้วิเศษ เป็นโลกที่วิเศษ นี้คุณดูโลกนี้เวลานี้ไม่มีความละอายและความกลัว มันคดข่มเหงกันซึ่งหน้า มันหลอก ลวงกันซึ่งหน้า ที่มันรบกันนี่มันเต็มไปด้วยความไม่ละอายและความกลัว ทีนี้ในส่วนบุคคลมันเต็มไปแต่ความไม่ละอายและไม่กลัว ไม่กลัวบาป ไม่ละอายบาป บ้านเมืองจึงเป็นอย่างนี้ ถ้ามีอันนี้คอรัปชั่นจะเกิดได้อย่างไร คิดดู ถ้ามีหิริและโอตตัปปะแล้ว มันจะเกิดได้อย่างไร ฉะนั้นยักษ์ก็เลยปล่อยหมด เพราะมันรู้เทวธรรม ความทุกข์เกิดไม่ได้ กิเลสทำอะไรไม่ได้ ยักษ์เป็นชื่อของกิเลส ของความทุกข์ มันทำอะไรไม่ได้มันก็ต้องปล่อยตัว มันจึงรอดมาได้ เดี๋ยวนี้ไม่สอนกันให้ลูกเด็กๆมีหิริและมีโอตตัปปะ สอนว่าให้หา ให้เรียน ให้หา เอาไว้ให้มาก ให้สนุกกันเต็มที่ ให้สนุกกันไม่มีขอบเขต เดี๋ยวพรุ่งนี้จะตายเสีย เอ้าสนุกกันเร็วๆ สอนกันแต่อย่างนี้ โลกก็เป็นอย่างนี้ เขาเรียกว่ามันสอนกันแต่เรื่องความวุ่น มันเพิ่มกันแต่ความวุ่น โลกมันจึงเป็นอย่างนี้ แต่ละคนๆก็เป็นอย่างนี้ ทั้งโลกก็เป็นอย่างนี้ พระศาสดาทั้งหลาย รวมทั้งพระพุทธเจ้า หรือศาสดาต่างๆเขาต้องการอย่างโน้น ต้องการให้คนมีความละอายบาป กลัวบาป ไม่เห็นแก่ตัว และมีจิตว่าง ที่เราใช้คำว่าจิตว่าง พวกโน้นเขาใช้คำว่ามีจิตที่อยู่กับพระเจ้า มีจิตที่อยู่กับพระเป็นเจ้าตลอดเวลา เป็นคำสมมติ เป็นคำอุปมา พอเราเป็นคนของพระเจ้า จิตอยู่กับพระเจ้า เราจะทำอะไรให้วุ่นไม่ได้ เราทำบาปไม่ได้ เราทำชั่วไม่ได้ พระเจ้าอยู่กับเราตลอดเวลา พอทำงานที่โต๊ะที่ออฟฟิศพระเจ้าก็อยู่กับเรา พอกลับมาบ้านพระเจ้าก็อยู่กับเรา ในห้องน้ำห้องส้วม พระเจ้าก็อยู่กับเรา เราจะทำอะไรได้ที่เป็นความชั่ว หรือวุ่น มันวุ่นไม่ได้ ก็สบายตลอดเวลา พระเจ้าอยู่กับเรา พระธรรมอยู่กับเรา
นี้เราเป็นนักวิทยาศาสตร์เราพูดว่า จิตของเราว่างตลอดเวลา เราไม่พูดว่าพระเจ้า เราพูดว่าจิตของเราว่าง อยู่กับความว่าง ที่แท้ความว่างคือพระเจ้า ความว่างคือนิพพาน หรือคือที่ดีๆทุกอย่าง คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เรามีพระอยู่กับเราตลอดเวลา เราก็มีจิตว่าง อยู่ตลอดเวลา ความทุกข์ก็เกิดไม่ได้ นรกก็ไม่มี สวรรค์ก็ไม่มี มีแต่สิ่งที่ดีกว่านั้นคือ ความไม่มีทุกข์เลย สวรรค์นั้นเป็นความทุกข์ ถ้าจะเรียกว่าเป็นความสุข ก็เป็นสุขอย่างลวง หรือเป็นความทุกข์อย่างอร่อย แล้วต้องมีราคะ โทสะ โมหะ เหมือนกัน ถ้าหมดราคะ โทสะ โมหะไปแล้ว สวรรค์ก็ไม่มีความหมาย สวรรค์มีค่ามีความหมายเพราะมันมีราคะ โทสะ โมหะ เป็นเครื่องเอร็ดอร่อย แต่ว่าเขาจำกัดไว้สั้นมาก ถ้ามีโทสะเมื่อไหร่หมดสวรรค์เมื่อนั้น คือพวกเทวดาโกรธไม่ได้ พอโกรธแล้วของที่เคยอร่อยมันไม่อร่อยเลย คุณมองข้อนี้ อย่าไปเห็นเป็นเรื่องตลก พอความโกรธเกิดแล้วของที่เคยอร่อยที่สุด มันก็ไม่อร่อย จริงหรือเปล่า เพราะฉะนั้นเทวดาโกรธไม่ได้ พอโกรธแล้วจุติทันที จุติไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือไปเป็นมนุษย์ในทันที แต่แล้วมันก็ยังมีโกรธ พวกพรหมว่าดีที่สุดยังมีอึดอัด สวรรค์ก็ยังมีกิเลส ฉะนั้นต้องดีกว่าสวรรค์ คือพ้นไปจากกิเลส นี้เขาเรียกว่าว่าง แต่ถ้าเรียกว่างคนไม่ชอบ ต้องเรียกว่านิพพาน คุณถึงชอบหน่อย แต่แล้วความจริง นิพพานัง ปรมัง สุญญัง ที่ว่างที่สุดคือนิพพานจริง ว่างที่สุดคือนิพพาน พอพูดว่าว่างคุณว่าไม่มีอะไร แล้วบางคนแถมหนักแปลว่าสูญเปล่า อย่างนี้ทำลายพุทธศาสนา นิพพานัง ปรมัง สุญญัง นิพพานนี้เป็นสุญญะอย่างยิ่ง ถ้าคุณแปลว่าว่างอย่างยิ่งก็ค่อยยังชั่ว พอนิพพานสูญเปล่าอย่างยิ่ง มันก็หมดค่า ไม่ได้มีใครอยาก เพราะมันเป็นสูญเปล่า ที่กรุงเทพฯก็ยังแปลสุญญะว่าสูญเปล่า ระวังให้ดี สุญญะของพระพุทธเจ้าแปลว่าว่าง แล้วก็ไม่ใช่ว่าว่างจนไม่มีอะไร มันมีไปตามเดิม แต่มันว่างจากความหมายที่ว่าตัวกูและของกูยิ่ง ถ้าคุณแปลว่าว่างอย่างยิ่งก็ค่อยยังชั่ว พอนิพพานสูญเปล่าอย่างยิ่ง มันก็หมดค่า ไม่ได้มีใครอยาก เพราะมันเป็นสูญเปล่า ที่กรุงเทพก็ยังแปลคำสุญญะว่าสูญเปล่า ระวังให้ดี สุญญะของพระพุทธเจ้าแปลว่าว่าง แล้วก็ไม่ใช่ว่าว่างจนไม่มีอะไร มันมีไปตามเดิม แต่มันว่างจากความหมายที่ว่าตัวกูและของกู นั่นแหละคือนิพพาน ว่างอย่างนิพพาน ว่างอย่างยิ่งคืออย่างนี้ นี้คนไหนก็ไม่รู้เป็นคนแรก แปลสุญญะว่าสูญเปล่า สุญญะแปลว่าสูญก็ค่อยยังชั่ว พอแปลว่าสูญเปล่าหมดท่า ไม่มีความหมายอะไรเลย อย่าแปลสุญญะว่าสูญหรือสูญเปล่า แปลว่าว่าง แล้วว่างจากอะไร ถามว่าอะไรที่ทำให้ไม่ว่าง ก็ตัวกูไงที่ทำให้ไม่ว่าง ว่างจากตัวกูคือว่างที่พระพุทธเจ้ามุ่งหมาย ในคำว่าว่างคือนิพพาน ว่างไม่มีอะไรเลยหรือว่างไม่นึกคิดอะไรเลยนั่นของพวกอื่น ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้า ฉะนั้นคุณอยู่ในความว่างอย่างของพระพุทธเจ้า ใจมันก็จะฉลาด รวดเร็ว ว่องไว เป็นสุข มีสมรรถภาพ จิตที่เข้ามาถึงตรงนี้ คุณก็ยอมรับว่ามันสบาย แล้วคุณอย่ามองแต่ในแง่ว่าสบาย มันยังมีอีก ฉลาดด้วย ใจคอที่มันปกตินั้น มันฉลาด ว่องไว สามารถ และเป็นสุขด้วย ที่เรียกว่าว่างของพระพุทธเจ้าคืออย่างนี้ คือไม่มีทุกข์ ไม่มีกิเลส ว่องไว ฉลาด และสามารถ และเป็นสุขอยู่ในตัว ฟุ้งซ่านนี้เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ฟุ้งซ่านชนิดไหน คุณอาจจะใช้ความหมายไม่เหมือนกันเสียแล้ว ฟุ้งซ่านนี้เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ อย่างนี้ในทางธรรมะเขาไม่เรียกว่าฟุ้งซ่าน เขาเรียกว่ามีสมาธิ เฉียบแหลม ว่องไวที่สุดมากกว่า เพราะมันคิดถูกเท่าที่ควรคิด ไม่เกินกว่าที่ควรจะคิด เขาไม่เรียกว่าฟุ้งซ่าน ที่ฟุ้งซ่านนั้น ต้องเป็นกิเลส ต้องเป็นความทุกข์ ต้องเป็นความวุ่น ไม่ว่าง มันอยู่ในพวกเดียวกันพวกกิเลส มันเป็นความอยาก ความต้องการที่มันควบคุมไว้ไม่ได้ มันก็กล้าไปทุกทิศทิศทุกทาง หรือว่าจะมาจากโมหะ ความสงสัยที่มันควบคุมไว้ไม่ได้ ตัวฟุ้งซ่าน ไว้ในพวกที่ว่าต้องไม่มี ต้องเอาออก ต้องไม่มี ที่นี่เมื่อตะกี้บอกคุณว่าเป็นมหรสพ เป็นโรงมหรสพ มหรสพนี้มีความมุ่งหมายจะได้อะไร ไอ้ที่เรียกกันว่ามหรสพ มหรสพ เท่าที่คุณทราบ มันมุ่งหมายจะได้อะไร จะได้ความสุข หรือใครคิดว่าจะได้อะไรที่ไม่ใช่ความสุข อย่างนั้นมันเป็นดูหนังการศึกษาไปแล้ว กำลังถามว่ามหรสพทั่วไป หนัง ละคร ลิเก อะไรก็ตามใจ มหรสพทั่วไป ได้ความมุ่งหมาย ได้อารมณ์ มันเป็นความสุขหรือเปล่า เราไม่เรียกว่าความสุข เราเรียกว่าความเพลิดเพลิน ใช้คำว่านันทิ นี้อันตรายอย่างยิ่ง นันทิ อุปาทานัง พระพุทธเจ้าตรัสว่า นันทิ นั่นแหละคืออุปาทาน มหรสพที่เขามีกันในโลกคือนันทิ มีผลเพื่อนันทิ และนันทินั่นแหละคืออุปาทาน ไม่ใช่หลอกคุณ พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ นันทิ อุปาทานัง นันทิ นั่นแหละคืออุปาทาน ยา นันทิตัง ปาทานัง
(นาทีที่ 1:40:56) นันทิ นั่นแหละคืออุปาทาน ฉะนั้นมหรสพทุกชนิดในโลกมันเพื่อนันทิทั้งนั้น เพื่อเพลิดเพลิน เพื่อเพ้อเจ้อไม่ใช่เพื่อความสุข ถ้าคุณไปเอาความสุขที่นี่ เรียกว่า เรียนธรรมะผิดแล้ว เว้นไว้แต่มันจะเป็น ธรรมนันทิ มหรสพของเรานี้ต้องเติมคำว่าธรรมะเข้าไปข้างหน้า เรียกว่าธรรมนันทิ มีความเพลิดเพลินในธรรม เพราะว่าธรรมะนั่นแหละคือมหรสพ นี้โรงนะ ตรงนี้ต้นไม้ โรงมหรสพ โรงมหรสพคือตัวธรรมะ ที่ทำให้เย็น เย็นตะกี้นี้ ที่เข้าตรงนี้แล้วทำให้เย็น เป็นสุขบอกไม่ถูก ตัวเย็นตัวนั้นแหละตัวมหรสพ ที่นี้สถานที่เหล่านี้ โรงหนัง โรงอะไรทั้งหมดทั้งวัดนี้ มันเป็นโรง โรงมหรสพ ก็เราใช้ประโยชน์จากโรงมหรสพ เพื่อให้ได้มหรสพ ทีนี้เนื้อหาสาระของมหรสพนี้คือ นิพพาน คือ นันทิในธรรม ส่วนมหรสพที่ข้างนอกนั้นเป็นนันทิในกิเลส ไม่ใช่นันทิในธรรม ที่พูดนี้ก็เพื่อว่าขอให้ใช้ต้นทุนเดิม ที่คุณมันชอบมหรสพ นี้ไม่ต้องเลิก ไม่ต้องสละ คุณชอบมหรสพก็ชอบมหรสพไปตามเดิม แต่ขอให้เปลี่ยนโรง ถ้าเปลี่ยนโรงตัวมหรสพมันก็เปลี่ยนเอง มันก็มากลายเป็นมหรสพของพระธรรม เป็นธรรมนันทิ สวนโมกข์ทั้งหมดทั้งสวนนี้จัดไว้เพื่อเป็นโรงมหรสพ ที่จะให้เกิดธรรมนันทิของพระพุทธเจ้า ตอนนี้ถ้ามาจิตก็ว่าง หรือถ้าจิตว่างก็ได้รับรสอันนี้ ถ้าได้รับรสอันนี้ก็คือจิตว่าง เหมือนว่าคุณเข้ามาตรงนั้น คุณไม่ได้มีเจตนาอะไร ไม่ได้ทำอะไร สบายบอกไม่ถูก นั่นแหละคือได้รับมหรสพ แล้วจิตมันก็ว่าง เมื่อจิตมันว่าง มันก็ได้รับมหรสพอันนี้ หรือว่าเมื่อได้รับมหรสพอันนี้ นั่นคือจิตมันว่าง มีเท่านี้ ว่างตามแบบของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ตามแบบของคนอื่นที่เขาพูดเอาเอง อาตมาไม่ได้ว่านิพพานคือความสูญเปล่า นิพพานคือความว่างอย่างยิ่ง (มีคนถามเรื่องความ หมายของการเกิด) คุณจะไปหาอะไรถูกต้อง คุณต้องคิดว่าความเกิดอย่างเกิดคลอดจากแม่ก็มีใช่ไหม มันมีอยู่จริงใช่ไหม ทีนี้การเกิดในใจ เกิดเป็นอารมณ์ เรียกว่าเป็นตัวฉัน ตัวกู มันก็มีจริง ใช่ไหม ก็ยอมรับว่าความเกิดมีอยู่สองอย่างจริง ถ้าอันนี้มันเสร็จแน่ไปแล้ว มันก็มีปัญหาต่อว่า ความเกิดอันไหนเล่าที่เป็นปัญหา ที่เป็น problem การเกิดชนิดไหน เราก็อย่าไปถึงพูดการเกิดที่ไม่ใช่ปัญหา เราก็พูดถึงการเกิดที่กำลังเป็นปัญหา นิพพานไม่เกิดอย่างนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับร่างกาย เรื่องตายทางร่างกายไม่ใช่นิพพาน คนนิพพานๆก่อนร่างกายตายทั้งนั้นแหละ ถ้านิพพานจริง มันจะนิพพานก่อนร่างกายตายทั้งนั้นแหละ ก่อนร่างกายแตก พระพุทธเจ้าก็บรรลุนิพพานที่โคนต้นโพธิ์ แล้วอยู่มาได้อีก ๔๕ ปี นี้มันเป็นเรื่องของร่างกาย นิพพานนี้มีไว้ใช้กับการเกิดอย่างที่สอง การเกิดอย่างหลัง เรื่องร่างกายตายนั้นไม่ใช่นิพพาน คนมันโง่ มันเขียนตำราให้เด็กเรียนผิดว่า พระพุทธเจ้าตายเรียกว่านิพพาน นิพพานไม่เกี่ยวกันกับตาย (มีคนถามว่าถ้าอย่างนั้นแสดงว่าพระพุทธเจ้าก็ยังต้องเกิด นี้ไม่ได้หมายความว่าเกิดทางอารมณ์ แต่เกิดเป็นชีวิตขึ้น) คุณไม่รู้จักพระพุทธเจ้า ความเป็นพระพุทธเจ้านั้น คือการที่รู้ว่าเกิดนี้ไม่ไหว ความรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นญาณปัญญาด้วย ความเกิดนั้นเป็นทุกข์ ความเกิดเช่นไหนก็เป็นทุกข์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเกิดอย่างหลังนี่เป็นทุกข์อย่างยิ่ง ถ้าเราไม่มีตัวเรา มันก็ไม่มีใครเกิด มองเห็นกันว่าไม่มีตัวเราที่จะเกิด ก็ไม่มีอะไรที่จะไปเกิดได้ พระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์นั้นไม่ใช่ตัวที่จะทำนั่นทำนี่ นั่นมันร่างกาย ต้องพยายามแยกความเป็นพระพุทธเจ้าออกเสียจากร่างกาย มันไม่ใช่อันเดียวกัน ร่างกายตามใจเราไม่สนใจ มันทิ้งไปแล้วเหมือนกับซากศพ จิตที่รู้แจ้งถึงที่สุด
เรียกว่าพระพุทธเจ้านั้น ไม่ได้ยึดถือร่างกายนี้ว่าของเรา มันทิ้งไปเสียแล้วเหมือนกับซากศพ ฉะนั้นก็เหลือแต่ว่าอาศัยร่างกาย เมื่อร่างกายยังไม่แตกดับ จิตนั้นก็อาศัยร่างกายอยู่ แต่ตัวจิตแท้ๆก็ไม่ใช่พระพุทธเจ้า ความเป็นพระพุทธเจ้านั้นเพียงแต่อาศัยจิต จิตอาศัยร่างกาย ความเป็นพระพุทธเจ้า ถ้าพูดให้ใกล้เข้ามาหน่อยคือ ความที่มันรู้ รู้จนกิเลสเกิดไม่ได้ รู้จนกิเลสไม่เกิดอยู่ตลอดเวลา แล้วก็ว่างอยู่จากความทุกข์ ว่างอยู่จากกิเลส ว่างอย่างยิ่งนั้นคือนิพพาน นิพพานนั้นแหละคือผลที่พระพุทธเจ้ามุ่งหมาย จิตจึงเป็นนิพพานอยู่ตลอดเวลา ความเป็นพระพุทธเจ้านี้เราสมมติ เราบัญญัติขึ้นมา ภาวะอย่างนั้นเราเรียกว่า ความเป็นพระพุทธเจ้า เราสมมติขึ้น ที่จริงมันเป็นธรรมชาติเหมือนกันหมด ความทุกข์ก็ธรรมชาติ ความสุขก็ธรรมชาติ ความเกิดก็ธรรมชาติ ความดับก็ธรรมชาติ แต่เรามาสมมติส่วนที่มันน่าดูคือไม่ทุกข์ แล้วก็ไม่โง่ ไม่มีกิเลส เป็นความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน ถ้าผู้ใดมีความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน เราตั้งชื่อให้ใหม่ว่าพระพุทธเจ้า อย่าไปยึดถือในส่วนนั้นให้มันเกิดการยึดถือ เฉยๆเสียดีกว่า เอาแต่ที่ว่าทำอย่างไรจิตจะไม่ทุกข์ แล้วก็จิตนั้นก็จะเหมือนจิตพระพุทธเจ้า ก็เหมือนกับที่เราสมมติเรียกว่าพระพุทธเจ้า คุณทำอย่างไรให้จิตว่างก็แล้วกัน ปัญหาอื่นไม่มี ปัญหานอกนั้นมันไม่ใช่ความจำเป็น ทำงานไปพลางเป็นพระพุทธเจ้าไปพลางดีกว่า ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่างตลอดเวลาดีกว่า ว่างเท่าไรเป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น ว่างเต็มที่ก็เป็นพระพุทธเจ้าเต็มร้อยเปอร์เซนต์ (มีคนถาม แต่ฟังคำถามไม่ชัด) หนึ่งยังทำไม่เป็น ยังแสดงบทบาทนี้ไม่เป็น สมาธิของคุณหมายความว่าอย่างไร หยุดเข้าฌาน ตอนนั้นทำงานหรือเปล่า ตอนที่ว่าคุณเป็นสมาธิ คุณทำงานหรือเปล่า นี้เราต้องการว่าสมาธิต้องอยู่ตลอดเวลา เมื่อทำงานต้องมีสมาธิตลอดเวลา พูดว่าคิดเลขด้วยสมาธิ คุณฟังถูกหรือไม่ คิดเลขทำเลขด้วยจิตที่เป็นสมาธิอย่างนี้ ฟังถูกไหม คือเข้าใจที่พูดไหม ยิงปืนด้วยจิตที่เป็นสมาธิ คุณฟังถูกไหม อ้าวกลัวว่าจะเสียสมาธิ จะหมดท่าเพราะสมาธิของคุณ สมาธินั่นต้องเป็นสมาธิที่ใช้กำลังงานที่อยู่ในโหลด (นาทีที่ 1:51:14) จึงจะเรียกว่ากำลังงานที่มีประโยชน์ สมาธิเป็นกำลังงาน แล้วต้องมีโหลด(นาทีที่ 1:51:20) คือทำอะไรอยู่ นั้นคือสมาธิที่ประเสริฐที่สุด พระพุทธเจ้าตรัสว่า อนันตริกสมาธิ เป็นสมาธิที่ประเสริฐที่สุด คือ สมาธิที่อยู่กับงาน ถ้าทำวิปัสสนา ก็เป็นสมาธิที่อยู่กับวิปัสสนา อันนี้แหละประเสริฐที่สุด หรือว่าเสวยวิมุตติสุข สมาธิที่กำลังอยู่กับการเสวยวิมุตติสุขนั่นแหละ มันมีประโยชน์ แล้วคุณเข้าสมาธิอยู่คุณทำอะไร เสวยวิมุตติสุขหรือว่าทำอะไร มันสองเรื่องแตก(นาทีที่ 1:52:00) กันอยู่เสมอ สมาธินี้เป็นกำลังงาน คุณก็ไม่ได้อะไร ทำสมาธิชนิดที่ไม่ได้อะไร ต้องได้ความสุข แล้วจิตที่มันแน่วแน่อยู่ในความสุขนั้นเขาเรียกว่าสมาธิที่มันอยู่กันกับความสุข ก็ยังดี ยังมีประโยชน์ หรือว่าสมาธิที่มันอยู่กับการพิจารณา ทำวิปัสสนานี้ก็มีประโยชน์ ทีนี้สมาธิที่อยู่กับการทำงาน คิดเลข ยิงปืน เล่นหมากรุก ก็ยังมีประโยชน์ สมาธิเมื่อทำงานจึงจะเป็นสมาธิตามความหมายของมันที่มีค่า ถ้ามันไม่รู้สึกอะไรมันก็ไม่มีประโยชน์ ฉะนั้นอย่าไปยึดแต่ว่าคุณมีสมาธิแต่บางเวลา เมื่อไปนั่งนิ่งๆ เดี๋ยวนี้คุณก็ต้องตั้งใจฟังอาตมาพูดอย่างมีสมาธิ คุณต้องมีจิตเป็นสมาธิ ฟังอาตมาพูด ไม่งั้นไม่เข้าใจ หรือเข้าใจน้อย ถ้าเข้าใจน้อย คุณต้องฟังด้วยจิตที่เป็นสมาธิ จึงจะรู้คำอธิบายที่กำลังอธิบายนี้ คุณเข้าไปในห้องน้ำถ่ายนี้ คุณถ่ายด้วยจิตที่เป็นสมาธิหรือเปล่า นั่นแหละคุณต้องใช้ในขณะนั้นแหละ อย่าเอาสมาธิเก็บไว้เวลาไปนั่งนิ่งๆหลับตา แต่ว่าถ้าเป็นนักเลง เป็นนักธรรมะชั้นนักเลง เขาต้องมีสติ มีสัมปชัญญะ มีสมาธิ ที่เป็นการควบคุมให้สมบูรณ์อยู่เสมอ ไม่มีเผลอ เดี๋ยวนี้ก็ต้องมีสมาธิ เมื่อใดก็ต้องมีสมาธิ เป็นสมาธิที่อยู่กับการใช้งาน สมาธิที่กำลังใช้งานเขาเรียกว่า อนันตริกสมาธิ ไม่มีสมาธิไหนดีกว่าสมาธินี้ ทีนี้มันก็แล้วแต่งานนั้นสูงสุดหรือไม่ สมาธิที่กำลังพิจารณาธรรมะอยู่ หรือเสวยผลของการบรรลุธรรมะอยู่ ก็เป็นสมาธิสูงสุด แม้แต่สมาธิที่ใช้ในการคิดเลข ในการทำงานที่โต๊ะในออฟฟิศก็เหมือน กัน มันเป็นสมาธิที่ดีกว่าไม่ได้ใช้อะไร ถ้าเราเอาเครื่องยนต์สักเครื่องมาติดอยู่เฉย ไม่มีโหลด มันก็อยู่อย่างนั้นแหละ ก็บ้า จริงไหม เอาเครื่องยนต์มาอันหนึ่งมาเร่งติดอยู่อย่างนั้น ไม่มีโหลดอะไร มันก็บ้า มันได้ผลอะไร ทำสมาธิแบบนี้แล้วก็ไม่ไหว คือทำสมาธิที่ไม่ใช้อะไร ต้องทำพร้อมกันแล้วใช้อะไรอย่างหนึ่ง ติดเครื่องยนต์ขึ้นเพื่อจะหมุนไดนาโม จะสูบน้ำจะทำอะไรก็ได้ ถ้าเกิดเล่นติดเครื่องยนต์เฉยๆ จะเร่งแรงเท่าไรมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ฉะนั้นสมาธิที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่สมาธิ เป็นสมาธิที่ให้ความรู้ มันก็ได้อะไรอย่างหนึ่ง สมาธิที่สอนให้มีความรู้ แต่อย่าลืมว่ามันจะมีความสุข ถ้าจิตเป็นสมาธิ มันก็มีความสุข สอนให้รู้จักความสุขหรือความสงบ นี้เราไม่อยากไปรู้เสียอีก ปิดหมดเลย เป็นไม่ต้องรู้อะไร ทีนี้พูดให้มันละเอียดไปอีก พอคุณเดินมาตรงนั้น สบายใจใช่ไหม คุณมีสมาธิไหมตอนนั้น นั่นแหละสมาธิอย่างยิ่ง สมาธิที่มันแปลกกันอยู่กับความรู้สึกว่าเป็นสุข คุณก็เดินได้ คุณก็วิ่งก็ยังได้ ทั้งที่เดินและทั้งที่วิ่งก็ยังเป็นสมาธิอยู่ มันเป็นสมาธิที่แท้จริงไม่ใช่สมาธิรูปร่าง เมื่อจิตเป็นปริสุทโธคือบริสุทธิ์ เป็นสมาหิโตคือแน่วแน่ และ กัมมนีโยไวต่อการงาน นั่นแหละเขาเรียกว่าสมาธิ ไม่จำเป็นจะต้องนั่งหลับตา ถ้านั่งหลับตานั้นมันเป็นเรื่องฝึกหัดมากกว่าหรือว่านั่งเสวยความสุขในวิมุตติสุขมากกว่า ไม่ทำการงาน เราอย่าไปหวังถึงอย่างนั้น ให้ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง งานนั้นจะได้ดีและความสุขพร้อมกับการทำงาน ทีนี้วุ่น จิตวุ่น งานก็ไม่ดี แล้วก็มีแต่ความทุกข์ เมื่อทำการงาน นี้คุณจะพอใจเพียงเท่านี้ทั้งโลก คุณจะพอใจว่าเมื่อทำงานด้วยมีสุขด้วย เป็นเคล็ดที่พระพุทธเจ้าแนะนำ แล้วก็ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ มนุษย์ได้เท่านี้ก็พอแล้ว มีความสุขในการงาน ไม่ยึดถือว่าการงานของกู ไม่ยึดถึอว่าผลงานของกู ใจมันก็ว่างอยู่เรื่อย จะกินจะใช้ก็ใช้ก็กินไป มีเงินก็เหมือนไม่มีเงิน พวกคริสเตียนเขาสอน พวกพุทธอย่าเลวกว่าพวกคริสเตียน เพื่อประโยชน์ที่มันจะเป็นความแน่นหนา แน่นแฟ้นขึ้น คุณไปอ่านในคัมภีร์พวกคริสเตียนเสียบ้าง จะได้ช่วยให้เราจริงจังขึ้น และแนะนำให้อ่านเฉพาะภาคท้ายของคัมภีร์ใหม่ ที่เรียกกิจการของพระสาวก The Act คัมภีร์โรม คัมภีร์โครินธ์เชี่ยน
ขอให้อ่าน มันเป็นพุทธศาสนาทุกบรรทัดเลย รวมทั้งประโยคที่ว่า มีภรรยาก็จงเหมือนกับไม่มีภรรยา ถ้าคุณไม่เคยฟังคุณต้องฟังให้ดีๆนะ มีภรรยาก็จงเหมือนกับไม่มีภรรยา มีทรัพย์สมบัติก็จงเหมือนไม่มีทรัพย์สมบัติ มีความสุขก็จงเหมือนกับไม่มีความสุข มีความทุกข์ก็จงเหมือนกับไม่มีความทุกข์ ซื้อของที่ตลาดแล้วอย่าเอาอะไรมา คุณคงไม่ยอมแน่ คุณอยู่ที่กรุงเทพคุณคงไม่ยอมแน่ ขั้นตอน เขาบอกสาวกว่าเดี๋ยวนี้เราก็แก่ทุกคนแล้ว คนที่มีภรรยาก็จงเหมือนกับไม่มีภรรยาเถิด มีทรัพย์สมบัติก็จงเหมือนกับไม่มีทรัพย์สมบัติเถิด ซื้อของที่ตลาดก็อย่าเอาอะไรมา คัมภีร์นี้เขาเรียกว่า โครินธ์เชี่ยน เซนต์จอห์นเป็นผู้สอนแก่ชาวบ้านเมือง โครินธ์ นี้เป็นพุทธศาสนาทุกบรรทัด ถ้าคุณไปอ่านเสียบ้างคุณจะชอบพุทธศาสนามากขึ้น ไปอ่านคัมภีร์ คริสเตียน จะเป็นพุทธบริษัทมากขึ้น น่าหัวเราะไหม จะเข้าใจพุทธศาสนามากขึ้น พระพุทธเจ้าก็สอนอย่างนั้นแหละ แต่ท่านไม่ใช้คำพูดแบบนั้น อะไรๆก็อย่ายึดถือว่าตัวกู อย่ายึดถือว่าของกู ซื้อของที่ตลาดไม่ได้เอาอะไรมา หมายความว่าไม่ได้คิดว่าของกู ไม่ถือสิทธิการซื้อว่าเงินของกู หิ้วมากินเข้าไปแล้วก็ยังไม่ใช่ของกู ทำงานด้วยความว่าง กินอาหารด้วยความว่าง ตายแล้วตั้งแต่ทีแรก มันก็ไม่มีของกู พระพุทธเจ้าก็สอนเหมือนกันแหละเรื่องไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา นี้เขาก็สอนอย่างนั้น บางทีเขาพูดชัดเจนกว่า น่าฟังกว่า มีภรรยายังเหมือนกับไม่มีภรรยา ซื้อของที่ตลาดอย่าเอาอะไรมา จะเป็นคำสอนของใครวิธีไหนของใครก็ตาม แต่ถ้ามันให้มีผล ทำให้มีผลคือไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว ถูกทั้งนั้น พระไตรปิฎกทั้ง ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ ก็ตั้งใจสอนให้ไม่ยึดมั่นถือมั่น แสดงโทษบ้าง แสดงคุณบ้าง แสดงลักษณะบ้าง ของความไม่ยึดมั่นถือมั่น ของความยึดมั่นถือมั่นคู่กันไป เดี๋ยวนี้มันกำลังไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ถึงนั่งยิ้มกันอยู่ได้ที่นี่ พอเข้ามาถึงตรงนั้นก็สบายแล้ว การยึดมั่นถือมั่นมันถูกธรรมชาติริบเอาไปหมด จิตยังว่างอยู่ นี้เป็นโรงละครสำหรับชิมรสความว่าง ศึกษาความว่าง ให้เข้าใจในเรื่องของความว่างยิ่งๆขึ้นไป เราเรียกว่า สวนโมกขพลาราม โมกขแปลว่าหลุดพ้น หลุดพ้นนั่นแหละคือว่าง ถ้าไม่ว่างไม่หลุดพ้นหรอก หลุดพ้นนั่นแหละคือว่าง โมกข์แปลว่าว่าง พละแปลว่ากำลัง อารามแปลว่าป่าไม้ อารามที่เป็นกำลังของความว่าง เป็นกำลังของความหลุดพ้น เพียงแต่เข้าใจความหมายของคำว่าโมกขพลารามก็ช่วยได้เยอะแล้ว ช่วยให้เข้าใจธรรมะได้เยอะแล้ว จริงไหม เพราะว่าพอคุณเดินมาถึงตรงนั้น คุณมันว่าง คุณมันสบาย คุณมันโมกข เข้าใจหรือเปล่าที่พูดนี้ พอคุณเดินมาถึงตรงนั้นมันเกิดโมกข คุณรับสารภาพเองว่าพอเดินมาถึงตรงนั้น สบายใจบอกไม่ถูก เรียกให้ถูกว่าคุณหลุดพ้นจากสิ่งร้อยรัดหุ้มคอ เพราะว่าป่าไม้นี้เป็นกำลังของความหลุดพ้น คุณก็ไม่รู้สึกตัว ไม่มีเหตุผลอะไร ไม่ต้องใช้ความพยายามอะไร พอเดินมาถึงตรงนั้น จิตก็ว่างเอง มันก็หลุดพ้น มันก็สบายบอกไม่ถูก คุณเป็นอย่างนั้นไช่ไหม ก็แปลว่าคุณมาถึงสวนโมกข์แล้ว คนหนึ่งแล้ว คนอื่นๆไม่รู้ แปลว่าคุณมาถึงสวนโมกข์คนหนึ่งแล้ว จะเอาไปหรือไม่ก็ตามใจ แต่ว่ามันมาถึงสวนโมกข์แล้ว แต่ว่าคนหลายๆคน ไม่มาถึงสวนโมกข์ เข้าเที่ยวให้ทั่วสวนโมกข์ก็ไม่ถึงสวนโมกข์ แล้วมันจะน่าหัวมากกว่านั้นอีกที่ว่าพระเณรบางองค์ที่อยู่ในสวนโมกข์นี้ก็ยังไม่เคยถึงสวนโมกข์
(มีคนถามคำถาม) ก็เรียกว่าไม่ว่างเหมือนกัน ไม่ว่างมีหลายชนิด นรกมีหลายชนิด คุณไม่เคยได้ยินเหรอ นรกมีหลายชนิด เดี๋ยวเข้าไปดูที่ใต้ถุนกระดานดำ นรกมีหลายชนิด นรกมืดก็มี นรกร้อนก็มี นรกเย็นก็มี นรกหอกดาบก็มี นรกแสบปวดก็มี มันมีหลายนรก ถ้าเราโมโหช่วยไม่ได้แล้ว เป็นนรกแน่ การที่เราเห็นความไม่เป็นธรรมในโลก แล้วเกิดโมโหหรือเกิดเจ็บร้อนแทนผู้ที่ได้รับการเบียดเบียน ก็ต้องเป็นโมโห เป็นกิเลสเหมือนกัน แต่เป็นกิเลสชั้นดี ชั้นที่มีความยุติธรรมหรือชั้นที่เห็นแก่ผู้อื่นบ้าง มันเป็นกิเลสชั้นดี แต่ยังไม่หมดจากกิเลส หรือยังไม่ว่างจากกิเลส ทีนี้มันโมโหเพราะไม่ได้อย่างใจตัว นี้มันร้าย แต่มันก็เจือกันแหละ คุณไม่ได้อย่างใจคุณ พอไม่ยุติธรรมคุณโมโห นี้เป็นเพราะคุณไปเล่าไปเรียนมาให้หลงในความยุติธรรม ให้หลงหรือให้บ้าคลั่งในยุติธรรม พอเห็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมคุณก็โมโห ก็เป็นกิเลสชั้นดี ถ้าโมโหด้วยความเห็นแก่ตัวล้วนๆเป็นกิเลสชั้นเลว ถ้ามันเป็นโมโหแล้วเป็นกิเลสแน่ มันไม่ว่างมันก็เป็นทุกข์ มันไม่สนุก แต่ว่าความทุกข์ขนาดนี้มันไม่เท่าไหร่หรอก ถ้าเราจะช่วยกันแก้ไขมันก็ดีเหมือนกัน อย่ามัวโมโหอยู่ ถ้าโมโหมันขาดทุน มันร้อน ทำจิตว่างแล้วก็แก้ไขไป แก้ไขสังคมให้ดี แก้ให้ดีอย่าโมโห ต้องทำประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น พระพุทธเจ้าสอนอย่างนั้น ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ต้องพยายามทำให้ถึงพร้อมเสียโดยเร็ว ด้วยความไม่ประมาท ถ้าเราไปไม่โหเสีย ความโมโหนั้นเป็นความประมาทชนิดหนึ่ง มันจะไม่ทำอะไรให้ดีขึ้นได้ ฉะนั้นต้องหยุดโมโห ต้องเป็นอิสระ ปกติ แล้วก็แก้ไขๆๆ มันมีเรื่องที่จะให้โมโห ในโลกนี้มีมากมาย คนที่มีลูกก็โมโหเพราะลูก ลูกเล็กๆมันไม่รู้ประสีประสา แม่ก็ไปโมโห ตั้งต้นตั้งแต่นี้เลย ไอ้ลูกมันเล็กมันร้อง แม่มันก็โมโห มันสร้างความเคยชินกับการที่โมโห เป็นปฏิฆานุสัยมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกแล้ว พูดจริงแล้วก็ไม่โกรธ ฆราวาสถือสองข้อนี้ก็พอ พูดจริงทำจริงแล้วก็อย่าโกรธ แก่บางคนและบางทีพระพุทธเจ้าสอนเพียงเท่านี้ พูดจริงและอย่าโกรธ พูดจริงและทำจริง อะไรจริงๆๆ แล้วก็อย่าโกรธเป็นอันขาด ถ้าคุณจริงแล้วคุณไปโกรธ คุณก็โกรธตายเลย คุณก็โกรธจนตัวเองตายเลย มันก็ไม่ได้ เราทำไปตามหน้าที่จริงๆ แล้วก็อย่าโกรธเมื่อเราทำไม่ได้ตามที่เราต้องการ เพราะในโลกนี้เราจะเอาอะไรตามต้องการเราทุกอย่าง มันไม่ได้ แต่เราต้องทำไปตามหน้าที่ ทำให้จริง แต่พอมีอะไรขัดขวาง หรือทำไม่ได้ด้วยเหตุใด อย่าโกรธ โกรธมันเชือดคอตัวเอง มันเป็นนรก นรกโกรธนี้คุณจะจัดว่าเป็นนรกมืด นรกร้อน หรือเป็นนรกเย็น ความโกรธนี่ นรกร้อนไม่ใช่นรกเย็น ถูกแล้ว เย็นเกินไปมันก็ทนไม่ไหว ร้อนเกินไปก็ทนไม่ไหว มืดนักก็ไม่ไหว อะไรก็ไม่ไหว เขาเรียกว่านรกเสมอกันหมด ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนัง ทางจิตใจ แล้วก็มีประเภทโลภ ประเภทโกรธ ประเภทหลง เป็นนรกทั้งนั้น (มีคนถามว่าสรุปแล้วคนเราอยู่ในนรกมากว่าสวรรค์) มันแล้วแต่คน ถ้าอยู่ในนรกเรื่อยไปเขาเรียกว่าบุถุชน ถ้าว่าอยู่กับนรกน้อยหน่อย อยู่กับสวรรค์บ้างเขาเรียกว่าบุถุชนชั้นดี มีกัลยาณบุถุชน บุถุชนเฉยๆเรียกว่าบุถุชนชั้นเลว ถ้าสูงขึ้นมาเรียกว่าบุถุชนชั้นดี ถ้าเลยจากบุถุชนชั้นดี ทีนี้จะมีพระอริยเจ้า โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี เรื่อยไป นี้ก็หมายความว่าร้อนอย่างชนิดนั้น ไม่มีแล้ว ถึงร้อนก็ร้อนพอสบาย ร้อนอุ่นๆ แล้วก็ร้อนน้อยเข้าๆ พอถึงชั้นพระอรหันต์แล้วไม่มีร้อนเลย ไม่มีร้อน ไม่มีมืด ไม่มีหนาว ไม่มีอะไร ไม่มีหมด บรรดานรก เดี๋ยวนี้เราอาศัยธรรมชาติช่วย แล้วก็หยุดนรกไปได้พักหนึ่ง เดี๋ยวนี้ไม่ตกนรกแล้วใช่ไหม ไม่ตกนรกห่วงเหรอ ห่วงงานที่ออฟฟิศ ไม่ตกนรกห่วง นรกร้อน นรกมืด นรกเย็น นรกแสบเผ็ด ก็ดีเป็นการพักผ่อนที่ดี ธรรมะเป็นมหรสพที่ดี ธรรมะเป็นการพักผ่อนที่ดี เรียกว่ามหรสพทางวิญญาณ