แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาฏิโมกข์ของเราก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกูไปตามเดิม สำหรับในวันนี้จะได้พูดต่อไปจากที่พูดแล้วในวันก่อน คือปัญหาต่างๆที่เกี่ยวกันกับความรู้สึกที่เป็นบวกหรือเป็นลบ ที่เรียกว่า Positive หรือ Negative ในวันนี้โดยเฉพาะจะได้ชี้ให้เห็นถึงความหลอกลวงของการบัญญัติที่เกี่ยวกับความเป็นบวกหรือความเป็นลบ เพราะว่าการบัญญัติของมนุษย์นั้นบัญญัติไปตามความรู้สึก ที่นี้ความรู้สึกของมนุษย์นั้นมันตกเป็นทาสของความหลอกลวงที่เกี่ยวกับบวกหรือลบนี่เอง ความเป็นบวกก็คือได้มา หรือพอใจ หรือตรงตามความประสงค์ ความเป็นลบก็คือตรงกันข้าม ที่นี้จิตใจตามธรรมดาของมนุษย์นั้นมันตกเป็นทาสของความรู้สึกคู่นี้ คือได้หรือเสีย บวกหรือลบ เพราะว่าเขามุ่งประโยชน์เป็นส่วนสำคัญ แล้วประโยชน์ก็คือได้เป็นบวก ถ้าเสียก็เสียประโยชน์ก็เป็นลบ แต่ถ้าเขาเกิดมีความเข้าใจถูกต้อง ก็จะไม่มีสิ่งที่เป็นบวกหรือเป็นลบ เดี๋ยวนี้ความโง่ของเขากำลังไปในทางสุดเหวี่ยงที่ถือเอาว่า ได้อย่างใจก็เป็นบวก ไม่ได้อย่างใจก็เป็นลบ แต่ในกรณีอื่นหรือในเวลาอื่นหรือว่าสัตว์ชนิดอื่นอาจจะรู้สึกตรงกันข้ามก็ได้ ดังนั้น การบัญญัติของมนุษย์จึงเป็นเรื่องที่ไม่จริง มันขึ้นอยู่กับความรู้สึกของมนุษย์ที่เป็นทาสของการได้การเสีย และตัวกูก็เกิดขึ้นมาที่ตรงนี้
ถ้าจะสรุปความให้สั้นแล้วก็ต้องพูดได้เหมือนกันว่า ตัวกูของกูที่เป็นความรู้สึก เป็นอันธพาล เป็นความทุกข์นี้ มันเกิดมาจากค่าของบวกหรือลบที่ทำให้เกิดความยึดถือ ค่าของบวกก็ยึดถือในทางรัก ค่าของลบก็ยึดถือในทางชัง ในทางยินร้าย ถ้าเกิดยินดียินร้ายเมื่อไหร่ก็คือมีตัวกูเมื่อนั้น นอกจากนั้นหรือก่อนหน้านั้นยังไม่มีตัวกู ในจิตของคนเรานี้ ธรรมดาไม่มีสิ่งที่เป็นตัวกูของกู มันจะเกิดขึ้นต่อเมื่อจิตมันไปรู้สึกรักหรืออยากหรือยึดมั่นถือมั่นอย่างใดอย่างหนึ่งเข้า ยึดถือทางบวกก็เป็นรัก อยากได้ หลงใหล ยึดถือทางลบก็ไปโกรธ ไปเกลียด ไปหลงเกลียดอยู่ที่นั่น ฉะนั้นเมื่อมันมีความรักก็มีความเกลียดเรียกว่าตัวกูเกิดขึ้นมา จนกว่ามันจะหยุดไปตามอำนาจตามธรรมชาติ คือจิตมันไม่ไปหลงในค่าของบวกหรือลบด้วยเหตุอันใดก็ตาม ด้วยเหตุว่ามันเหนื่อย มันขี้เกียจ มันเอือมระอาก็ตาม มันก็หยุดไปได้ หรือด้วยเหตุที่มีมันตรัสรู้ธรรมขึ้นมาในขณะนั้น มันก็หยุดไปได้ เราจึงพูดกันได้เป็นกฎเกณฑ์ว่า ตัวกูนี่มันเกิดมาจากค่าของบวกหรือลบ ฉะนั้นถ้าเราทำลายค่าของบวกหรือลบไปได้ เป็นกลาง มันก็ไม่มีทางที่จะเกิดตัวกู เดี๋ยวนี้พอเราเกิดมาในโลกนี้ มันก็ถูกมอมให้โง่ ให้หลงแต่เรื่องบวกเรื่องลบ คือเรื่องได้เรื่องเสีย แล้วก็บัญญัติกันไว้อย่างนั้นอย่างนี้สำหรับให้รักข้างหนึ่ง ให้เกลียดข้างหนึ่ง มันก็เลยเป็นความไม่จริงด้วย เป็นความโง่ด้วย แล้วก็เป็นความทุกข์ในที่สุด ฉะนั้นสิ่งที่ต้องการอย่างยิ่งในที่นี้ก็คือต้องการให้รู้ทัน ความหลอกลวงของความเป็นบวกหรือเป็นลบ
ในพุทธศาสนาก็มีความมุ่งหมายอย่างยิ่งที่จะทำให้มนุษย์ไม่ต้องเป็นทุกข์ เช่นที่จะเรียกว่าไม่เกิดตัวกูของกู ดังนั้น พุทธศาสนาจึงมีหลักที่จะสอนไปในทางที่ให้คนมีความสว่างไสว รู้แจ้ง อยู่เหนือความหลอกลวงของบวกหรือลบ ถ้าไม่อาจจะพูดกันได้ยืดยาวในฐานะเป็นนักศึกษาก็ตัดบทปฏิเสธไปง่ายๆดื้อๆว่า ทั้งบวกและทั้งลบมันทำความยุ่งยากใจให้แก่เราเท่ากัน คุณต้องจำหลักข้อนี้ไว้ ทั้งบวกและทั้งลบมันทำความยุ่งยากให้แก่เราเท่ากัน บวกมันก็ทำไปอย่าง ลบมันก็ทำไปอย่าง มองเห็นง่ายๆอย่างว่าดีใจหรือเสียใจนี้ อันหนึ่งเป็นบวก อันหนึ่งเป็นลบ ก็ทำความยุ่งยากให้แก่มนุษย์พอๆกัน ดีใจมันก็นอนไม่หลับ เสียใจมันก็นอนไม่หลับ คือไม่ใช่ปกติ ไม่ใช่ว่าง เป็นเรื่องที่มีตัวกูของกูกำลังระอุหรือว่าเต้นเร่าๆ บุญก็ตาม บาปก็ตาม ทำความยุ่งยากลำบากให้เท่ากัน แม้จะคนละรูป มันต้องอยู่เหนือบุญเหนือบาป ฉะนั้นจึงพูดได้ต่อไปว่าได้หรือเสีย มันก็มีทำให้นอนไม่หลับเท่ากัน จะเล่นการพนันแพ้หรือเล่นการพนันชนะ มันก็นอนไม่หลับเท่ากัน ได้ลูกได้เมีย ได้อะไรมา หรือไม่ได้หรือเสียไป มันก็ทำความยุ่งยากเท่ากัน จนกระทั่งพูดว่าสุขหรือทุกข์นี่มันทำความยุ่งยากเท่ากัน เราต้องอยู่เหนือสุขเหนือทุกข์ คือ “ว่าง” คำว่า “สุข” ในที่นี้ก็หมายถึงสุขเวทนาที่มนุษย์ชอบกันนักหนา ไม่ใช่ความว่าง พุทธศาสนาของเราจึงสอนวิทยาศาสตร์อย่างลึก วิทยาศาสตร์ทางวิญญาณอย่างลึก แต่ไม่มีใครนึก ไม่มีใครรู้ ไม่ต้องสนใจก็ได้ คือสนใจในแง่ของศาสนาหรือจริยธรรมเรื่อยไป ถ้าเรารู้สึกด้วยตนเอง ไม่ต้องมีตำราอะไรมายืนยันว่า ทั้งคู่นี้ ทั้งบวกและทั้งลบนี้ มันทำความยุ่งยากให้กับเราเท่ากัน เราต้องการนิพพานคือดับเสียทั้งบวกและทั้งลบ เพียงเท่านี้พุทธบริษัทก็หัวเราะเยาะการบัญญัติเรื่องบวกเรื่องลบของนักปรัชญาหรือนักวิทยาศาสตร์หรือมนุษย์ทั่วไปที่ถือว่าบวกเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา แล้วก็ไปหลง นี่เรียกว่าความหลอกลวงของการบัญญัติเรื่องบวกหรือเรื่องลบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางฝ่ายวิญญาณ ถึงแม้ทางฝ่ายวัตถุไปคิดดู ไปพิจารณาดู เรื่องบวกเรื่องลบนี่มันเป็นของที่ไม่ได้ถึงกับตรงกันข้าม คือมันไปบัญญัติว่าตรงกันข้ามนั้นเพราะความโง่ เราจะดูได้ต่อไปที่ว่าบวกหรือลบนี่ แม้แต่ทางวัตถุ ถ้ามันไม่มาร่วมกัน ถ้าไม่มาทำงานร่วมกัน ไม่มาเนื่องกัน มันไม่มีค่าไปด้วยกันทั้งสองอย่าง บวกมีค่าเพราะมีลบ ลบมีค่าเพราะมีบวก แล้วจะทำหน้าที่หรือทำงานในหน้าที่ของมันต่อเมื่อมันมาเนื่องกัน มันก็เลยไม่มีใครดีกว่าใคร พอแยกกันมันก็สลายไปด้วยกัน คือหมดไปด้วยกัน นั่นแหละจึงจะเป็นว่างหรือเป็นกลางตามฝ่ายวัตถุ ทางฝ่ายฟิสิกส์ ที่นี้ทางฝ่ายจิต ฝ่ายวิญญาณ มันก็มีหลักเกณฑ์อย่างเดียวกัน
ที่นี้ปัญหาของเรามันมีทางฝ่ายวิญญาณ ฉะนั้นเราต้องศึกษากันโดยเฉพาะที่มันเกี่ยวกับเรื่องจิตเรื่องวิญญาณ ที่เป็นรู้สึกเป็นบวกหรือรู้สึกเป็นลบ รู้สึกเป็นมองในแง่ดีหรือมองในแง่ร้าย เป็น Positive หรือ Negative เป็น Pessimistic หรือ Optimistic มันแล้วแต่ว่าคนธรรมดาสามัญเขาจะบัญญัติกันอย่างไร ส่วนผู้มีปัญญาในพุทธศาสนามองเห็นว่า ไม่มี ไม่มีหลักเกณฑ์อย่างนั้น เป็นความหลงผิด เป็นทาสของประโยชน์ เป็นทาสของความรู้สึกในใจคือ “กิเลสตัณหา” จึงได้บัญญัติอย่างนั้น ฉะนั้นเราจึงหลีกไกล คือไกลในทางที่จะอยู่เหนือบวกเหนือลบ
จะตั้งปัญหาถามขึ้นมาว่าหญิงกับชาย อันไหนเป็นบวกอันไหนเป็นลบ ผู้หญิงเขาก็ต้องถือว่าผู้หญิงเป็นบวก ผู้ชายเป็นลบ ผู้ชายก็ต้องถือว่าผู้ชายเป็นบวก ผู้หญิงเป็นลบ เพราะความรู้สึกของตัวเองมันเป็นหลักที่ทำให้พูดออกมา แล้วเกิดความรู้สึกก็พูดออกมาว่าเราเป็นตัวเราอย่างนี้ๆ ฝ่ายที่ตรงข้ามนั้นต้องเป็นตรงกันข้าม หรือถ้าจะถือว่าไม่อาจจะบัญญัติหญิงหรือชายว่าเป็นบวกหรือเป็นลบ มันก็แปลว่ายังไม่มีความรู้ ถ้าบัญญัติมันก็แสดงความโง่ออกมาเท่านั้น คือมันไม่จริง ฉะนั้นความยึดถือเรื่องหญิงหรือเรื่องชายมันจึงเกิดขึ้น ความยึดถือในผู้หญิงก็เกิดขึ้นในผู้ชาย ถ้ายึดถือในผู้ชายก็เกิดขึ้นในผู้หญิง ความยึดถืออันนี้เกิดขึ้น ตัวกูก็เกิดขึ้น มันจะต้องมีความทุกข์ เป็นทุกข์เพราะความรู้สึกที่ไปรู้สึกว่าเป็นชายหรือเป็นหญิง ก็คงจะบัญญัติเอาตามชอบใจอีกว่า ชายเป็น Positive หรือหญิงเป็น Positive
ที่นี้จะพูดไปถึงสิ่งที่มันยังจะต้องเถียงกันอีกมากหรือเข้าใจยาก เช่น ความตาย ความตายเป็น Positive หรือเป็น Negative คือเป็นบวกหรือเป็นลบ คือน่าปรารถนาหรือน่ารังเกียจ คนส่วนมากตามสัญชาตญาณมันก็กลัวความตาย เกลียดความตาย ก็บัญญัติเป็น Negative หรือเป็นลบ เป็นส่วนเสีย แล้วก็บัญญัติความอยู่เป็น Positive มันรู้เท่านั้น มันรู้อย่างสุนัขหรือแมวก็รู้ มันยังไม่ใช่มนุษย์ที่มีจิตใจสูง ที่นี้เราเอาคนธรรมดา คนโง่บางคนก็ยังมีความรู้สึกผิดไปแล้ว บางทีก็อยากตาย คนบางทีเขาก็อยากตาย หรือเขาได้รับคำสั่งสอนในอุดมคติอย่างอื่น เห็นความตายเป็นของน่าเสน่หา น่าปรารถนา น่ารักไปเสียอีก ความตายนี้มันดีตรงที่ว่ามันเหมือนกับว่าเปลี่ยนบ้านหลังใหม่ เปลี่ยนเครื่องแต่งตัวชุดใหม่ อะไรทำนองนั้น บางทีมันก็รู้สึกจริงๆเหมือนกันว่าตายให้มันรู้แล้วรู้รอด คือให้มันพ้นไปจากเครื่องรบกวนนี้ไปเสียที นั่นแหละลองไปคิดดูเถิดว่า การบัญญัติของคนเรานั้นยังไม่แน่ มันแล้วแต่ว่าประโยชน์มีอยู่อย่างไร เขาเป็นทาสของประโยชน์ก็บัญญัติไปตามนั้น ถ้าถือตามหลักพุทธศาสนา การเกิดกับการตายนี้เป็นสิ่งที่ต้องปัดทิ้งออกไปเหมือนกัน เพราะมันเป็นของเท่ากัน เกิดขึ้นมาเพื่อดับ ดับลงไปก็เพื่อเกิด เวียนกันอยู่อย่างนี้ มันก็ผลัดกันดีผลัดกันชั่ว ฉะนั้นให้ดูพุทธภาษิตที่ว่า ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ แล้วสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนาล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ ไม่มีอะไรที่แยกตัวออกไปเป็นตัวเอง เป็นบวกหรือเป็นลบ ในเมื่อมันเป็นเหมือนกันคือมันเป็นทุกข์เหมือนกัน เท่าที่คนธรรมดารู้สึก รู้สึกว่าความเกิด ความอยู่นี่เป็นบวก ความตายเป็นลบ ถ้ารู้มากไปกว่านั้นก็เห็นว่าเหมือนกัน จิตใจมันอยู่เหนือบวกเหนือลบขึ้นมา นี่ก็เป็นอันหนึ่งที่แสดงให้เราเห็นว่าการบัญญัติเรื่องบวกเรื่องลบนั้นมันเป็นเรื่องโง่เขลาหรือว่าเป็นเรื่องมายา หรือเป็นเรื่องหลอกลวงของธรรมชาติโดยไม่รู้สึก ทำให้จิตยึดมั่นถือมั่นจนเกิดตัวกูของกูขึ้นมาได้ ทั้งทางบวกและทางลบ
ในพุทธศาสนามาสอนเรื่องเหนือนั้น ก็คือเรื่องไม่บวกไม่ลบ และเหนือ และว่างนพุทธศาสนาไม่มีหลักเกณฑ์อย่างใด เป็นความหลงผิด เป็นทาสของประโยช เพราะฉะนั้นเราก็ต้องศึกษาจนได้รู้ว่าการบัญญัติของชาวโลกมันเป็นบัญญัติที่ไม่จริง เป็นความหลอกลวง ดังนั้น เราจึงไม่หวังที่จะไปพึ่งฝ่ายไหน คือไม่รักและไม่หวังที่จะพึ่งฝ่ายบวก และก็ไปมัวเกลียดมัวชังฝ่ายลบ ฝ่ายลบมันไม่มีใครหวังอยู่แล้ว จะไปหวังกันแต่ฝ่ายบวก แต่ผู้รู้ก็จะไม่หวังทั้งฝ่ายบวกและฝ่ายลบ นี่เป็นเรื่องที่ต้องพูดกันในหมู่พวกเราที่จะเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะเดินไปตามทางของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่าจะออกไปจากกองทุกข์ ออกไปจากวัฏสงสาร ฉะนั้นพูดได้เลยว่าวัฏสงสารคือดง หรือว่าคือที่หมักหมมของบวกและลบตามความคิดโง่ๆของคนที่หลงอยู่ในวัฏสงสาร นิพพานคือไม่เกี่ยวกับวัฏสงสาร อยู่เหนือนั้น นี่มันก็เป็นวิธีหนึ่งสำหรับเราจะมองจะพิจารณา เป็นหนทางที่มันจะช่วยได้เหมือนกัน ช่วยให้ข้ามพ้นจากตัวกูของกู มันก็มีหลายวิธีอย่างที่เราเคยพูดกันมาเรื่อย อันนี้มันก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะข้ามพ้นจากตัวกูของกู คือรู้เท่าทันเรื่องความเป็นบวกหรือความเป็นลบที่มนุษย์หลงใหลและบัญญัติกันอย่างนั้นอย่างนี้
ที่นี้ก็พูดถึงสิ่งที่ไม่ใช่บวกไม่ใช่ลบกันบ้าง ตามทางวัตถุเราก็เรียกว่า “ความเป็นกลาง” ไม่บวกไม่ลบ เป็น Neutral มันเอาไปใช้ได้ทั้งทางจิตทางวิญญาณเลย เมื่อจิตมันไม่ยินดียินร้าย ไม่เป็นบวกไม่เป็นลบ มันก็เป็น Neutral เหมือนกัน ที่นี้ Neutral หรือความไม่เป็นบวกไม่เป็นลบนี่ มองดูให้ดีมันมีอยู่ ๒ ชนิด คือ Neutral เมื่อบวกกับลบมันยังไม่พบกันมันก็มีสภาพเป็น Neutral พอมันพบกัน มันก็มีสภาพเป็นบวกอันหนึ่งเป็นลบอันหนึ่ง ก็เกิดปฏิกิริยา มีความเคลื่อนความไหว ความปรุงแต่ง ภาษาจิตใจเขาเรียก “การปรุงแต่ง” เกิดสังขารธรรมขึ้นมาคือปรุงแต่งขึ้นมาเป็นดีเป็นชั่ว ทางวัตถุ เช่น หม้อแบตเตอรี่อย่างนี้ บวกกับลบสัมพันธ์เมื่อไหร่มันก็เกิดกำลังงานเมื่อนั้น ที่นี้ถ้ามันยังไม่สัมพันธ์กัน มันก็ยังเป็น Neutral ชนิดไม่แท้ ชนิดหลอกลวงอยู่เพราะมันพร้อมที่จะเป็นบวกเป็นลบ เป็นกำลังงาน นี่ก็เป็นกลาง เมื่อบวกกับลบยังไม่พบกัน มันยังไม่แท้ พบกันเมื่อไหร่มันเป็นเรื่องเมื่อนั้น ที่นี่เป็นกลางเมื่อมันพบกันจนสุดฤทธิ์แล้ว จนเราเอาขั้วบวกขั้วลบแหย่มันไว้อย่างนั้นแหละ จนมันสุดฤทธิ์ไปด้วยกัน มันก็มีความเป็นกลาง อันนี้มันจะแท้ คือความเป็นกลางที่แท้ ฉะนั้นจิตของมนุษย์เราเมื่อยังไม่พบกับอารมณ์หรืออารมณ์ที่ถึงขนาด ก็อย่าเพิ่งอวดดีว่าจะเฉยได้หรือจะไม่เกิดกิเลสขึ้น มันเป็นจิตว่างชั่วคราวเพราะว่ามันยังไม่มีกิเลส ไม่มีเหตุที่จะให้เกิดตัวกูของกู เพราะมันยังไม่มีอะไรที่เป็นบวกเป็นลบเข้ามาเกี่ยวข้อง มันก็ยังดีเหมือนกัน มันยังสบายกว่าที่มันจะไปเป็นบวกหรือเป็นลบแล้วก็พลุ่งพล่านขึ้นมา ที่นี้ทว่ามันได้เกิดกิเลสขึ้นแล้วด้วยอาศัยค่าของบวกหรือลบ ทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นแล้ว และในที่สุดมันก็หมดฤทธิ์ในกรณีนั้น มันหมดฤทธิ์เหมือนกัน มันก็ว่างไปอีกทีหนึ่งจนกว่าจะมีกรณีใหม่ ถ้าเราทำจนถึงกับว่าจิตนั้นไม่อาจจะไปหลงในเรื่องบวกหรือลบอีกต่อไป มีอะไรๆมากระทบ มันก็ไม่เกิดความรู้สึกเป็นบวกเป็นลบ นี่คือว่างจริงๆ คือว่างเพราะกิเลสหมดไป มีความเป็นกลางที่แท้จริงคือไม่เป็นบวกไม่เป็นลบ
ที่นี้เรากำลังอยู่ในระดับไหน ก็รู้จักกันได้อยู่แล้ว เรื่องมันก็มีแต่เพียงทำให้มันดีขึ้น ให้มันสูงขึ้น คือว่าให้มันรู้เท่าทันมากขึ้น คือมีสติมาทันแก่เวลาทันแก่เหตุการณ์มากขึ้น ตามปกติก็ทำวิปัสสนาคือพิจารณาเห็นความโง่ของตนเองที่ไปหลงในเรื่องบวกเรื่องลบ เห็นเรื่องบวกเรื่องลบ ปรุงแต่งจิตใจอย่างไร นี่นั่งเห็นอยู่ในวิปัสสนาให้มันมากๆเข้าไว้ แต่มันยังช่วยอะไรไม่ได้ ยังไม่แน่ว่าจะช่วยอะไรได้ มันไปรู้จริงรู้เท็จกันต่อเมื่อมันมีอารมณ์เข้ามากระทบจริงๆ ถ้าวิปัสสนานั้นมาช่วยทันก็เรียกว่า “มีสติ” อย่างนี้ก็เอาตัวรอดได้ ในกรณีนั้นมันไม่เกิดเรื่อง ที่นี้ทว่าสติมันไม่มี ไม่มาทัน คือวิปัสสนานั้นมาไม่ทัน ก็เป็นทาสของกิเลสเกิดตัวกูของกูไปตามเรื่อง คือไปเป็นทาสของบวกลบไปตามเรื่อง ที่นี้การที่เราทำวิปัสสนาสูงถึงขนาดที่เห็นความหลอกลวงของความสุขและความทุกข์ มันจึงจะช่วยได้มาก มันทำไปในทางเสียให้เกิดปัญญาที่มีอยู่เป็นประจำ และก็มาก หนักแน่น แจ่มชัดอยู่เสมอ คล้ายๆกับมีสติอยู่เสมอ ที่เขาเรียกหรือบัญญัติพระอรหันต์ว่าเป็นผู้มีสติอยู่เสมอก็เพราะเหตุว่ามันไม่มีกิเลสที่จะออกไปรับอารมณ์เหล่านั้น มันจึงมีค่าเท่ากับมีสติอยู่เสมอ ทั้งหลับทั้งตื่น แต่พระอรหันต์นั้นไม่ต้องตั้งหน้าสำรวมระวัง ไม่ต้องใช้ความพยายามก็ยังมีสติอยู่เสมอ ส่วนคนธรรมดานี่ถ้าไม่ใช่ความระวัง ไม่ใช่ความพยายาม มันก็ไม่มีสติ ฉะนั้นค่าของบวกหรือลบมันก็ทำอันตรายได้ง่าย เดี๋ยวก็ร้องไห้ เดี๋ยวก็หัวเราะ เดี๋ยวก็ยินดี เดี๋ยวก็ยินร้าย ไปตามค่าของอารมณ์ที่มันเป็นบวกหรือเป็นลบ
ที่นี้ถ้าเราจะทำตามอย่างพระอรหันต์ก็พยายามทำอย่างที่ว่าไปตามปกติ ก็นั่งดูสิ่งเหล่านี้คือโลกทั้งโลกนี้อยู่เสมอว่าเต็มไปด้วยสิ่งที่มันจะหลอกให้เราโง่ไปในทางบวกหรือลบ ดูให้มันชัด แล้วก็ต้องทำให้มาก อย่าลืมเสียว่าพระพุทธเจ้าท่านย้ำมากในเรื่องคำว่า “ทำให้มาก ทำให้ชำนาญ ทำอยู่เสมอ” ทำให้มาก ทำให้ชำนาญ เพราะว่าการรู้การเห็นเพียงครั้งแรกหรือว่าเพียงครั้งที่สองที่สามนี้มันไม่ได้ มันไม่แข็งแรงพอ มันไม่หนักแน่นพอ มันไม่รวดเร็วพอ มันต้องเห็นอยู่เรื่อยจนเป็นนิสัย เปลี่ยนนิสัย จึงจะมีประโยชน์คือกำจัดความทุกข์ได้ ที่นี้ถ้าขี้เกียจคิดนึกเรื่องนี้ ขี้เกียจแม้แต่จะฟังเรื่องนี้ มันก็ลำบากเหมือนกัน เพราะมันต้องฟังต้องเข้าใจแล้วเอาไปทำให้เกิดความแจ่มแจ้งกระจ่างจ้าอยู่ในใจ อยู่เป็นวันๆเดือนๆปีๆ มันจึงจะมีกำลังพอที่จะต้านทานสิ่งเหล่านี้ได้ เพราะฉะนั้นอย่าขี้เกียจคิดอย่าขี้เกียจนึก อย่าขี้เกียจพิจารณา หรือว่าทำความเห็นแจ้งในข้อนี้อยู่กับจิตใจอยู่เสมอ ในอิริยาบถเดิน ยืน นั่ง นอน ในอิริยาบถที่ไปบิณฑบาต กลับมาอาบน้ำ ฉันข้าว ทุกอิริยาบถ อย่าไปมัวสนใจแต่เรื่องที่จะทำให้เกิดการหัวเราะด้วยการหยอกการเล่น การอะไรกันเสีย เพราะว่าอันนั้นมันเป็นการทำให้มันชินไปแต่ในทางที่จะโง่
ที่นี้เรามาดูกันในทางที่จะทำให้ฉลาด คอยดูระวังจิตที่มันจะเอียงไปในทางบวกหรือทางลบ เป็นทาสของความเป็นบวก เป็นทาสของความเป็นลบ มีตัวกูของกูเกิดขึ้นมา สำหรับยินดีหรือยินร้าย ก็อย่างที่เราเรียกกันว่า “ระวังจิต สำรวมจิต” ไม่ให้ยินดียินร้ายตามอารมณ์ที่มาทำให้ยินดียินร้าย เป็นกิจวัตรอยู่เป็นประจำ เมื่อจะกินอาหารให้ทำมากเป็นพิเศษเพราะว่ามันต้องกินทุกวัน แล้วมันอร่อยได้ง่ายและมันหลงได้ง่าย ระวังให้ดีมันจะทำให้เสียหาย บางคนตักอาหารจากหม้อส่วนกลางมากกว่าส่วนที่ตนควรจะได้ ตั้งหลายข้าว จนเพื่อนไม่ค่อยจะได้ นี่คุณคิดดูทีว่ามันเป็นเรื่องอะไร เพราะติดในรสของอาหารหรือว่าเพราะปริมาณของอาหาร มันเป็นธรรมะพวกนี้แท้ๆ เป็นเครื่องพิสูจน์หรือฟ้องตัวเองอยู่ว่า เรามิได้พิจารณาศึกษาหรือสำเหนียกในเรื่องนี้ จึงมีการละโมบ นี่เรียกว่าในส่วน “ความโลภ”
ที่นี้เรื่องที่ ๒ ก็คือเพราะเรามิได้พิจารณา แล้วเราก็เผลอไปโกรธ ในกรณีที่ไม่น่าจะโกรธ พูดโกรธหรือกระทำอย่างความโกรธ เสียความเป็นพระเป็นเณรไปเลย นี่เป็นเรื่องของ “โทสะ” เป็นเรื่องที่ ๒ เพราะไม่ได้พิจารณาอยู่ว่า อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งบวกหรือลบ ความยินดียินร้ายนั้นมันเป็นมายา เราก็ขี้มักโกรธ ฟังผิดก็เอามาโกรธ ฟังถูกก็โง่จนถึงกับไปเอามาโกรธ เพราะว่าเรื่องมันไม่ต้องโกรธ ถึงจะเป็นเรื่องจริงที่ควรโกรธมันก็ไม่ต้องโกรธ เรื่องนิดเดียวก็เอาไปโกรธได้ตั้งร้อยเท่าพันเท่าและโกรธได้นาน ถ้าพระหรือเณรยังมีความรู้สึกที่อาฆาตจองเวรหรือมุ่งร้ายต่อเพื่อนคนใดคนหนึ่งอยู่ นี่มันก็ใช้ไม่ได้ ไม่มีความเป็นพระเป็นเณร ไม่ต้องมีใครว่าและก็ไม่ใช่ผมว่า กฎเกณฑ์ของธรรมะมันว่า ที่นี้เรื่องที่ ๓ ก็คือว่าการเป็นอยู่ชนิดนั้นคือ “โมหะ” ไม่มีอะไรเป็นโมหะมากไปกว่านี้ ไปเที่ยวหลงบวกทีหลงลบที หลงยินดีที หลงยินร้ายที นั่นคือโมหะอย่างยิ่ง ไม่มีโมหะอะไรยิ่งไปกว่านี้
มันก็กลายเป็นคนที่อยู่ด้วยโลภะ โทสะ โมหะ และก็ดูสิ ดูอิทธิพลของความเป็นบวกและความเป็นลบที่มันครอบงำจิตใจ ที่เรามันไปหลงยึดในความเป็นบวกความเป็นลบ ไม่รู้จักความว่างหรือความเป็นกลาง ให้รู้จักความเป็นกลางกันเสียบ้างใน ๒ ปริยาย คือปริยายที่บวกลบยังไม่มารบกวน หรือบวกลบรบกวนและก็หมดไปกรณีหนึ่งแต่ยังพร้อมที่จะเกิดกรณีใหม่อย่างนี้ เป็นความเป็นกลางที่ไม่แท้ ไม่จริง ไม่ว่างจริง เราจะรักษาความเป็นกลางที่แท้จริงได้ด้วยการมีสติ ด้วยเจตนาที่จะระมัดระวัง ก็มีปัญญาอยู่เสมอพอตัวที่จะรู้สึกตัว มีสัมปชัญญะ รู้สึกตัว ไม่ให้สิ่งเหล่านี้ทำได้ มันก็เป็นความเป็นกลางที่จริงขึ้นมาได้ แม้ว่าจะยังเป็นเพียงเรื่องหนึ่งๆ ยังต้องระวังกันอีกต่อไป มันก็เป็นความเป็นกลางที่แท้จริงที่พอจะสบายได้ เมื่อระวังกันหนักเข้าๆ ต่อไปมันก็เป็นความเป็นกลางที่ถาวรได้ คือกิเลสมันหมดไปแล้ว โดยอาศัยหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า อยู่ให้ถูกต้อง อยู่ให้ถูกต้อง เท่านั้น โลกนี้ก็ไม่ว่างจากพระอรหันต์ แล้วก็อยู่โดยความถูกต้องคือความที่บวกหรือลบนี่มันมาหลอกเราไม่ได้ อารมณ์ที่เป็นบวกหรืออารมณ์ที่เป็นลบนี้จะมาครอบงำจิตใจให้ยินดียินร้ายไม่ได้ อยู่อย่างนี้เรื่อยไปเรียกว่า “เป็นอยู่ถูกต้อง” ความเคยชินที่เป็นกิเลสก็ค่อยๆละลายไป ค่อยๆละลายไป จนสูญสิ้นไป กิเลสก็ไม่อาจจะเกิดแม้อารมณ์อย่างนี้มากระทบ มันเฉยได้หรือเป็นกลางได้ จะเรียกชื่อว่า “ว่าง” ก็ได้ จะเรียกชื่อว่า “อุเบกขา” ก็ได้ เรียกว่า “ความเป็นกลาง” ก็ได้ แทนกันได้ “มัชฌัตตตา” แปลว่าความเป็นกลาง อุเบกขาในที่นี้แปลว่าเฉยหรืออะไรมาปรุงแต่งไม่ได้ ว่างแล้วมันยิ่งดี มันไม่มีอะไรเข้ามายุ่งด้วย นี่แปลว่าเราต้องการความเป็นกลาง หรือความว่าง หรือความเฉย แม้ชนิดชั่วคราวก็ยังดี
ที่นี้ก็มาถึงปัญหาที่เกี่ยวกับอะไรที่จะช่วยให้เกิดความเป็นกลางหรือความรู้นี้ มันมีธรรมชาติอยู่อันหนึ่งที่เรียกว่า “โพธิ” โพธิแปลว่ารู้ คือรู้ตามที่เป็นจริง ถ้ารู้จริงคือเป็นโพธิจริงจะไม่โง่ไม่หลงไปในทางบวกหรือทางลบ เพราะฉะนั้นจะต้องถือว่าตัวโพธินั้นไม่เป็นบวกหรือเป็นลบ คือตัวความเป็นกลาง หรือเครื่องมือทำความเป็นกลาง ฉะนั้นโพธินั้นจะไม่หลงสุขหรือเกลียดทุกข์ จะไม่ชอบยินดีหรือเกลียดยินร้ายหรืออะไรไปหมด นี่เป็นคุณสมบัติของโพธิ เป็นหน้าที่เป็นอะไรของโพธิที่จะไม่เอียงไปทางบวกหรือทางลบ แต่โพธิชนิดนี้มันหมายได้แต่โพธิที่สุกรอบ โพธิที่ถูกบ่มจนสุก จนแก่จัด หรือสุกรอบ ส่วนโพธิที่ยังเป็นเชื้อ เป็นเพียงเชื้อของโพธินั้น คือโพธิในระดับที่ยังไม่สุกรอบ ยังไม่แก่จัดนี่ มันไม่เป็นอย่างนี้ คือมันยังอ่อนจนถึงกับว่ากิเลสมันครอบงำได้ ฉะนั้นเราจะต้องแยกคำว่า “เชื้อแห่งโพธิ” ออกเสียอีกชั้นหนึ่งจากคำว่า “โพธิ” ถ้าโพธิเราต้องกำจัดกิเลสได้ ที่เรายังไม่ได้บ่มให้ถึงขนาดที่เรียกว่าสุกหรือแก่จัด มันก็ยังพ่ายแพ้แก่กิเลสอยู่บ่อยๆ ถ้าคุณไปอ่านเรื่องชาดกเยอะแยะ หลายร้อยเรื่องในชาดกบางเรื่องจะแสดงชัดเลยว่าพระโพธิสัตว์บางองค์ยังพ่ายแพ้แก่กิเลส ทั้งที่เรียกว่าโพธิสัตว์แล้ว ที่ต่ำมาก เช่น โพธิสัตว์นกกระทาไปติดบ่วงเพราะว่าเขาเอานกกระทาตัวเมียมาเป็นนกต่อ แล้วเทวดามาถามว่าทำไมท่านจึงเป็นอย่างนี้ นี่ก็บอกว่าบางคราวมันก็แพ้แก่กิเลสเพราะว่ามันเผลอไป นี่แสดงว่าโพธิสัตว์นั้นยังไม่ใช่โพธิบุคคลที่เต็มเปี่ยม ยังเป็นเพียงผู้มีเชื้อแห่งโพธิและกำลังบำเพ็ญบารมีไป บารมีไป แม้เป็นชาติสุดท้ายคือพระเวสสันดรอย่างนี้ ก็ยังมีเรื่องบ่นว่ามีอารมณ์งุ่นง่าน ตาแดงเป็นเลือด ว่าอย่างนี้เมื่อชูชกเขาตีลูกไปต่อหน้า นี่เขาถือกันว่าพระเวสสันดรเป็นโพธิสัตว์อันดับสุดท้ายที่จะเป็นพระพุทธเจ้าในชาติต่อไป ก็แปลว่าเชื้อของโพธินั้นยังมิได้ถึงขนาดที่ว่าแก่จัด สุกงอม ก็ยังมีบ้าง ไม่โกรธ ไม่ด่า ไม่อะไรมาก แต่ความกดดันในจิตมีมากจนถึงกับตาแดงเป็นเลือด ที่นี้เรามันก็อยู่ในพวกที่ว่ามีเชื้อของโพธิอยู่ด้วยกันทุกคน พูดอย่างนี้ดีกว่า ถือตามที่พวกมหายานพูด มีแม้แต่ในสุนัข เชื้อแห่งความเป็นพระพุทธเจ้ามีแม้ในสุนัข ก็แปลว่าในคนทุกคนมันก็มีเชื้อแห่งความเป็นพระพุทธเจ้าหรือโพธินี้ แต่มันไม่สุกไม่งอม ไม่แก่ มันจึงสู้กิเลสไม่ได้อยู่บ่อยๆ แต่ในบางคราวมันก็ทำหน้าที่ของมันได้คือเป็นสติสัมปชัญญะ เป็นปัญญาขึ้นมา หยุดยั้งอะไรได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราขยันให้มาก ในการที่จะบ่ม ใช้คำว่า “บ่ม” หรือ “บำเพ็ญบารมี” มันก็จะดีขึ้นๆ ในที่สุดมันอาจจะถึงขนาดได้เหมือนกัน ไม่ต้องเป็นพระพุทธเจ้าก็เป็นพระอรหันต์ธรรมดาได้
นี่รวมความแล้วก็ว่าโพธินี้มันเป็นไม่บวกไม่ลบ แต่ถ้ามันยังไม่แก่ถึงขนาดความเป็นบวกเป็นลบของอารมณ์ มันครอบงำได้ ตัวโพธิเองจะไม่เป็นบวกหรือเป็นลบ จะกำจัดเสียถึงความหมายของความเป็นบวกหรือความเป็นลบ แต่ถ้ามันยังอ่อนอยู่แล้ว อารมณ์ที่แรงมาก มันก็ยังครอบงำ ทำให้โพธิไม่สามารถทำหน้าที่กำจัดความเป็นบวกเป็นลบ กลายเป็นถูกครอบงำด้วยความเป็นบวกหรือความเป็นลบเสียเอง เหมือนกับนกกระทานั้น แต่ถ้าเราจะพูดกันให้ชัดลงไปว่า ความที่ไปติดบ่วงนั้นไม่ใช่เป็นเพราะอำนาจของโพธิ มันเป็นเพราะอำนาจของกิเลสที่เกิดมาจากบวกลบ คือนกกระทาตัวเมีย ส่วนโพธิมันเพิ่งตามมาเมื่อติดบ่วงแล้ว มันไม่ทันแก่เวลา เพิ่งจะแสดงตัวออกเมื่อติดบ่วงเสียแล้ว ตอนนั้นมันถูกครอบงำห่อหุ้มอยู่ด้วยกิเลส พ่ายแพ้แก่อำนาจของกิเลส นี่เราก็จะอยู่กันในรูปนั้นเหมือนกัน ระวังให้ดี ถ้าในทางบวกมันทำให้โลภ ให้รัก ให้กำหนัด ถ้าในทางลบ มันทำให้โกรธ ให้เกลียด ให้กลัว มีกันอยู่แต่อย่างนี้ ถ้าไม่เป็นอย่างนั้นก็ทำให้สงสัย ลังเลไม่รู้อะไรเป็นอะไรแน่ เป็นโมหะ ไปแยกกันให้ชัดว่าอะไร อารมณ์อะไรทำให้เกิดความยินดี เรียกว่า “อิฏฐารมณ์” อารมณ์อะไรทำให้เกิดความยินร้ายตรงกันข้ามเรียกว่า “อนิฏฐารมณ์” อย่าให้มันมีความหมายอย่างนั้น จะไม่มีอารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ สำหรับเรา ให้เป็นแต่เพียงธรรมชาติล้วนๆ หมุนไป เปลี่ยนไป ผ่านไป
ทว่าเราปฏิบัติธรรมบำเพ็ญธรรมตามหลักพุทธศาสนา มันก็เป็นการหล่อเลี้ยงโพธิเหมือนกับรดน้ำพรวนดินให้ต้นโพธิให้มันเจริญงอกงามขึ้นในจิตในวิญญาณ มันก็แก่กล้าเข้มแข็งขึ้นมา เราไปอ่านชาดกตั้งหลายร้อยเรื่องนั้น เราจะพบว่าชาดกส่วนมาก พระโพธิสัตว์ไม่เคยเสียท่า เป็นคนฉลาด ทันแก่เหตุการณ์ จะมีบ้างก็เล็กน้อย นี่ก็คือการที่บำเพ็ญบารมีบ่มมาๆ อย่างพระเวสสันดรนี้ก็ยังถือว่าไม่ใช่เสียท่า ส่วนใหญ่ยังเอาไว้ได้ มีอะไรเล็กน้อย ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็เป็นพระอรหันต์เสียตั้งแต่เป็นพระเวสสันดร ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า
ที่นี้เราก็ต้องมาดูพร้อมๆกันทีเดียวทั้ง ๓ อย่าง สมมติว่าข้างซ้ายนี้เป็นลบ ข้างขวาเป็นบวก ตรงกลางเป็นโพธิ รักษาความเป็นกลางความว่างนี้ไว้ สำหรับกำจัดเสียซึ่งความเป็นบวกหรือความเป็นลบ บทสูตรของโพธิก็คือ “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” อันนี้มันอยู่ตรงกลาง หมายความว่าความเห็นแจ้ง หรือความรู้สึกเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันจะขจัดเสียได้ทั้งฝ่ายบวกและฝ่ายลบ ฝ่ายที่มาทำให้รักก็ไม่รัก ฝ่ายที่มาทำให้เกลียดก็ไม่เกลียด อย่าเข้าใจว่าถ้าเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้วจะเกลียดเอือมระอา ไม่มีแผ่นดินอยู่ อันนั้นมันพูดผิด มันอธิบายผิด ถ้าเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยถูกต้องมันจะเป็นกลางคือเฉยได้ น่ารักมาก็เฉยได้ น่าเกลียดมาก็เฉยได้ ก็เลยมีลักษณะเป็นกลาง คนมักจะเข้าใจว่าเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้วรำคาญไปหมด ไม่อยากอยู่ในโลกนี้ ไม่มีที่อยู่ที่สบายตา สบายหู อย่างนั้นยังไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันต้องเฉยได้
มันมีปัญหาเรื่องพระอรหันต์เป็นฆราวาสจะตายใน ๗ วัน ผมว่ามันไม่จริง มันเป็นคำพูดเปรียบ ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วขืนบังคับให้อยู่ในที่อึดอัดอย่างนั้น ร่างกายมันทนไม่ได้อาจจะตายใน ๗ วัน ก็เป็นได้ เพราะร่างกายมันถูกบีบคั้น แต่ว่าความเป็นพระอรหันต์นั้นมันเฉยได้ในทุกกรณี มันไม่มีอะไรจะทำให้มันเป็นทุกข์ได้ ถ้าพูดว่าพระอรหันต์ต้องทนรำคาญไม่ไหวตายใน ๗ วันนี้ ผมว่าไม่ใช่พระอรหันต์ เป็นคนมองในแง่ร้าย รู้สึกแง่ร้ายเสียมากกว่า แต่เขาเปรียบความบริสุทธิ์ของความเป็นพระอรหันต์ว่ามันไม่ชอบหรือว่ามันไม่ปรารถนาสิ่งเหล่านี้ มันมีความรู้สึกเหมือนขยะแขยงหรืออะไรก็ตามใจที่คนธรรมดาจะรู้สึกได้ แต่พระอรหันต์ไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น เมื่อเอาคนธรรมดาไปเป็นมาตรฐานวัดแล้วก็จะรู้สึกว่าเขาคงรำคาญตายภายใน ๗ วัน แต่แล้วมันก็มีความแน่นอนอยู่ว่าพระอรหันต์มันก็ไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในบ้านเรือน ไม่มีใครต้องการ หรือว่าจะไปเสียก็ได้ หรือว่าถ้าจะมีอยู่จริงก็ไม่มีใครรู้ นี่เพื่อจะระบุลงไปว่าจิตของพระอรหันต์นั้นจะเป็นกลาง ไม่อาจจะถูกครอบงำด้วยความเป็นบวกหรือความเป็นลบ ความเป็นหญิงหรือความเป็นชาย ความสุขหรือความทุกข์ ความอะไรก็ตาม และเมื่อโพธิถึงที่สุดความเป็นพระอรหันต์ก็ดีหรือความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ดี มันก็เป็นโพธิระดับหนึ่ง ที่ถึงที่สุดในการที่จะอยู่เหนือบวกหรือเหนือลบ แต่คุณสมบัติอย่างอื่นไม่เท่ากัน โพธิของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องมีขอบเขตกว้างกว่าของพระอรหันต์
ฉะนั้นเราจึงได้เรื่องมาเป็น ๓ เรื่องก่อน คือว่าบวกเรื่องหนึ่ง ลบเรื่องหนึ่ง แล้วโพธิที่ไม่ใช่บวกไม่ใช่ลบเรื่องหนึ่ง เป็น ๓ เรื่อง แต่ที่ได้พูดมาแล้วตั้งแต่ต้นว่าเรื่องบวกเรื่องลบนี้ มันเป็นเรื่องของคนโง่พูด ตามธรรมชาติแล้วจะไม่มีความเป็นบวกหรือความเป็นลบ แต่มันมีคุณสมบัติอะไรที่แสดงออกมาให้คนชนิดนี้รักหรือเกลียด แต่คนชนิดอื่นอาจจะไม่รักหรือเกลียดก็ได้ ความเป็นบวกเป็นลบมันเพิ่งมีขึ้นมาและในขอบเขตที่สำหรับคนโง่ คนชาวบ้านธรรมดาหรือปุถุชนเท่านั้น ที่นี้เราก็เลยเหลือเพียง ๒ เรื่อง คือเรื่องอารมณ์ที่จะเป็นบวกหรือลบก็ได้นี้เรื่องหนึ่ง แล้วก็โพธิที่จะไม่หลงในอารมณ์นั้น เหลือ ๒ เรื่อง
ที่นี้เมื่อโพธิมันทำให้อารมณ์บวกหรืออารมณ์ลบของชาวบ้านนั้นไม่เป็นบวกไม่เป็นลบ มันก็มีค่าเท่ากับไม่มีอารมณ์ที่เป็นบวกเป็นลบ ไม่มีสำหรับโพธิ ผมเห็นเป็นเรื่องว่างไปหมด มันก็เลยเหลือแต่โพธิเรื่องเดียว ที่นี้โพธิถ้าแท้จริงมันจะเป็นตัวกูของกูมาอีกไม่ได้แล้ว เพราะตัวกูของกูต้องอาศัยอารมณ์บวกลบมาปรุงแต่งเป็นตัวกูของกู แล้วมาห่อหุ้มโพธิ เดี๋ยวนี้โพธิมันเจริญจนถึงกับว่าไม่มีอะไรมาทำให้รู้สึกบวกหรือลบได้ มันก็เหลือแต่โพธิ ฉะนั้นโพธินั้นต้องเป็นความว่างจากตัวกูของกูและว่างจากโพธินั้นเองด้วย เดี๋ยวเผลอให้โพธิสำคัญตัวเองว่าเป็นตัวกูขึ้นมาอีก อย่างนี้มันก็ไม่ได้ ฉะนั้นโพธิก็เป็นสิ่งที่ต้องถูกเพิกถอนออกไปเป็นอันสุดท้าย ให้ว่างไปจากโพธิอีกทีหนึ่ง มันจึงจะว่างจริงๆ
ถ้าเราจะพูดอย่างจิตวิทยา เราก็พูดได้ว่าโพธินี่แม้จะวิเศษวิโสอะไรอย่างนี้ มันก็เป็นเพียง “เจตสิกธรรม” กิเลสก็เป็นเจตสิกธรรม แต่มันฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายบวกลบ มืดมัว ที่นี้โพธิมันก็เป็นเจตสิกธรรม แต่มันอีกฝ่ายตรงกันข้าม คือมันจะไม่หลงในเรื่องบวกลบ ดีชั่ว มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิต ก็เรียกว่าเจตสิกธรรม เมื่อเป็นเจตสิกธรรม มันก็เป็นสักว่าธรรมหรือเป็นสังขารธรรม คือตั้งอยู่ในเหตุปัจจัยปรุงแต่งด้วยเหมือนกัน ฉะนั้นธรรมทั้งปวงอันบุคคลไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ไม่ว่าเจตสิกธรรมชนิดไหนหมด จะเป็นโพธิหรือจะเป็นกิเลส มันก็ต้องถูกเพิกถอนออกไปจากความยึดมั่นถือมั่น เพราะฉะนั้นบางคนเขามองกันแต่ในแง่นี้ เขาก็เลยพูดว่ากิเลสก็คือโพธินั่นเอง โพธิก็คือกิเลสนั่นเอง คือมันเป็นเพียงเจตสิกธรรม ส่วนที่เป็นโพธินี้มันคอยจะรู้ฝ่ายตรงกันข้าม ฝ่ายตรงกันข้ามนั้นมันก็ค่อยแต่ทำให้โง่ ให้หลง ให้อะไรไป ในที่สุดก็ต้องโกยทิ้งทั้งกะบิของเจตสิกธรรม ไม่ยึดถือเจตสิกธรรมอันไหนว่าเป็นตัวกูของกู
พวกนักวิปัสสนาเขาก็พูดกันเรื่องนี้ว่าให้เหลืออยู่แต่ “ตัวผู้รู้” ให้เหลืออยู่แต่ตัวผู้รู้ แล้วก็หยุดเสียแค่นี้ ก็เลยเป็นผู้รู้ เป็นตัวกูขึ้นมา นี้มันไม่ถูก มันก็ต้องเพิกถอนผู้รู้นั้นให้หมดไปเสียอีกทีหนึ่ง มันจึงจะว่าง คงจะพูดมาตาม Logic หรือตามตรรกะว่า อารมณ์ทั้งหลายไม่ควรยึดมั่นถือมั่น แล้วใครเป็นคนรู้ จิตเป็นผู้รู้ก็เหลืออยู่แต่ผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น แล้วก็มีตัวผู้รู้เหลืออยู่ ไม่กล้าทำลายหรือเพิกถอนตัวผู้รู้ มันก็ตีบตันอยู่ที่นั่น ที่นี้ความรู้ทาง Logic มันไปตันอยู่ที่นั่น มันไม่คิดว่า อ้าว, ถ้ายังมีอันนี้อยู่มันก็ยังมีตัวผู้รู้อยู่ นึกว่ายังเพิกถอนผู้รู้หรือความรู้ก็ตามใจออกไปเสียจากความเป็นตัวกูของกู เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วมันก็เพิกถอนทุกๆอย่างเลย เพิกถอนตัวกูแล้วมันก็ต้องการเพิกถอนทุกอย่าง หมายความว่าเราเพิกถอนตัวกู ไม่มีอะไรเป็นตัวกูแล้ว อะไรที่จะเป็นของกูทั้งหมดถูกเพิกถอนหมด คือความเป็นผู้รู้ของกูก็ถูกเพิกถอนออกไป ตลอดถึงสิ่งข้างนอก ความเป็นหญิง ความเป็นชาย บุญ บาป ดี ชั่ว สุข ทุกข์ อะไรก็ตาม มันหมดค่าของความหมายตามคำพูดนั้นๆไปด้วย เมื่อถอนความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูเสียได้แล้ว คำพูดทุกคำก็เลยถูกเพิกถอนความหมายไปหมดด้วย
สัพเพสุ ธัมเมสุ สะมูหะเตสุ เมื่อธรรมทั้งหลายถูกเพิกถอนแล้ว
สะมูหะตา วาทะปะถาปิ สัพเพ คำพูดสำหรับเรียกร้องสิ่งเหล่านั้นก็พลอยถูกเพิกถอนไปด้วย
เพราะฉะนั้นเมื่อผู้นั้นจะได้ยินคำว่าหญิง ว่าชาย ว่าสุข ว่าทุกข์ ว่าดี ว่าชั่ว ว่าบุญ ว่าบาป ว่าบ้านของกู เงินของกู ลูกของกู เมียของกู มันก็ไม่มีความหมายอะไร เป็นแต่เพียงคำพูดสำหรับชาวบ้านพูดตามธรรมดา ทั้งหมดนี้คือความอยู่เหนืออำนาจหลอกลวงของความเป็นบวกหรือความเป็นลบ ซึ่งที่แท้มันก็คือความเท็จ ไม่ใช่ความจริง
ที่นี้ถ้าเราไปเรียนวิทยาศาสตร์ชนิดที่จะให้มีอะไรเป็นบวกมีอะไรเป็นลบขึ้นมาจริงๆแล้ว มันก็จะติดที่นี่ อย่างดักดานเลย ไม่เข้าใจพุทธศาสนาได้ ทั้งหมดให้เห็นว่าความเป็นบวกความเป็นลบนี้ปุถุชนคนธรรมดา คนโง่ คนพาลเขาบัญญัติตามความรู้สึกของเขา ซึ่งเป็นทาสของอารมณ์หรือของประโยชน์ตามที่เขาจะรักหรือจะเกลียดอย่างไร แต่ก็ต้องให้อภัยเพราะว่าการบัญญัติคำพูดต้องบัญญัติอย่างนี้ทั้งนั้น ไม่มีทางจะบัญญัติอย่างอื่น ถ้าไม่บัญญัติอย่างนี้ก็ไม่มีคำสำหรับพูดในโลกนี้ เพราะฉะนั้นเราจึงมีคำพูดที่เป็นคู่ๆๆๆที่เป็นบวกเป็นลบนี้ไม่รู้จักกี่สิบคู่กี่ร้อยคู่กี่พันคู่ เขาเรียกว่า “คู่ของธรรมที่ตรงกันข้าม” เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น คุณไปนั่งคิดเอาเองก็ได้ จดบัญชีเองก็ได้ นับตั้งแต่สุขทุกข์ บุญบาป ดีชั่ว ได้เสีย แพ้ชนะ เรื่องไปเรื่องมา เรื่องสูงเรื่องต่ำ เรื่องดำเรื่องขาว นับไม่ไหวแล้วหรอก ถ้ายังโง่อยู่ก็จะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นบวกเป็นลบ อยู่ตรงกันข้าม มันก็จริง มันทำให้อันหนึ่งเกิดความหมายขึ้นมาเพราะมีอันหนึ่งซึ่งตรงกันข้าม ถ้าเพิกถอนเสียได้ มันก็ไม่มีอะไรที่เป็นของตรงกันข้าม เพราะฉะนั้นเราจะต้องมองให้เห็นชัดลงไปว่าพระพุทธเจ้าต้องการให้มีจิตใจอยู่เหนือโลก คืออยู่เหนือสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่ให้ไปมัวเรียนให้รู้ว่ามันเป็นคู่ๆอยู่อย่างนี้ ก็จะเลือกเอาฝ่ายที่ดี ไปสอนกันแต่ว่าให้บูชามหากุศล ปรารถนามหากุศลอยู่นี่ มันก็จะจมดักดานลงไปในเรื่องบวก มันก็ไม่มีอะไรดีขึ้น มันก็อยู่ด้วยความเกลียดลบรักบวกอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป มันก็หลงมากขึ้น มีนรกกับสวรรค์ที่สลับกันอยู่เรื่อยไป ไม่มีทางที่จะอยู่เหนือโลกได้ ฉะนั้นผมจึงอยากจะยืนยันว่าการศึกษาให้รู้จักความหลอกลวงของการบัญญัติเรื่องบวกเรื่องลบนี้มีประโยชน์มาก แล้วเวลาของเราก็หมด