แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายในครั้งที่ ๙ นี้ จะได้พูดถึงไอ้ความยึดมั่นของสังคม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องมาจากไอ้เรื่องความเชื่อ สำหรับเรื่องความเชื่อนั้นถ้าเราเชื่อถูกมัน มันเป็นความเชื่อที่แท้จริงมันก็มีประโยชน์ ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็เป็นความเชื่อที่งมงายแล้วก็เป็นโทษ เรื่องความยึดมั่นนี้ก็เหมือนกัน ถ้ายึดมั่นในเรื่องที่ถูกต้อง หรือเป็นความยึดมั่นที่ถูกต้องก็ตามมันก็มีประโยชน์ เป็นเรื่องยึดมั่นที่ไม่ถูกต้องมันก็เป็นโทษอย่างเดียวกันอีก ข้อนี้มันเป็นไอ้ความกำกวมของภาษา การสับสนของภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนี้ภาษาทางธรรมะ ดังนั้นเราจะต้องเอาไอ้ความแน่นอน ที่ภาษามันเป็นต้นตอหรือเป็นภาษาแท้ของธรรมะที่เขาสอนไว้ อย่างพระพุทธเจ้าท่านก็สอนด้วยภาษาอินเดียในสมัยโบราณ ทีนี้เราต้องสนใจภาษาอินเดียโบราณนี้ โดยเฉพาะก็คือภาษาบาลีที่เป็นภาษาทรงไว้ซึ่งพุทธศาสนา เรื่องนี้ก็ได้เคยพูดให้ฟังมาบ้างแล้ว เพราะฉะนั้นอย่าลืมเสีย ขอให้ตั้งข้อสังเกตว่าภาษาทำยุ่งได้อย่างไร สำหรับความยึดมั่นนี้ด้วยแล้ว ยิ่งยุ่งมาก มันเนื่องไปถึงคำอื่น ๆ ซึ่งมันคล้ายกัน แล้วก็พูดกันผิด ๆ แล้วก็สอนกันผิด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ มันก็ยิ่งยุ่งมากไปอีก คำว่า “ยึดมั่น” นี้ มันก็เนื่องไปถึงคำว่า ความอยาก ความต้องการ ความยึดมั่นที่เป็นกิเลส ความอยาก ความต้องการที่เป็นกิเลส จึงจะต้องกำจัดหรือละเสีย ที่เป็นกิเลสก็เพราะว่ามีมูลมาจากความโง่ที่เรียกว่า อวิชชา ความอยาก ความต้องการที่มาจากอวิชชานี่ เขาเรียกว่าความโลภ หรือตัณหา ถ้ามันมิได้มีมูลมาจากอวิชชาก็ไม่เรียกว่าตัณหา
เดี๋ยวนี้มาสอนกันว่าถ้าเป็นเรื่องอยาก แล้วก็ใช้ไม่ได้ทั้งนั้น เป็นกิเลสทั้งนั้น อย่างนี้มันผิด ไอ้ความอยาก ความต้องการที่ถูกต้อง ที่บริสุทธิ์ ที่อะไรมันก็มี คือมันอยากด้วยวิชชา ด้วยความรู้ ด้วยสติปัญญา ด้วยญาณ ด้วยทัศนะ ทำให้ต้องการ นี่เราควรจะขยักไว้เพียงว่าความต้องการ ความประสงค์ด้วยวิชชาหรือสติปัญญา อย่างนี้อย่าไปจัดมันเป็นกิเลสเลย อย่าไปเรียกว่าความโลภ ความไอ้ตัณหา หรือว่าไอ้ความยึดมั่นถือมั่นน่ะ ต่อเมื่อมันเป็นไปด้วยความโง่นี่ ด้วยอวิชชา ถึงจะเรียกว่าตัณหา หรือความโลภก็ตาม แต่แล้วมันก็สับสนอยู่นั่นแหละ ต้องสังเกตดูให้ดี ๆ เช่น เราอยากเรียนหนังสืออย่างนี้ อยากมีวิชาความรู้นี้ มันก็จะมีอยากด้วยกิเลสตัณหา ด้วยความโลภ ก็เป็นทุกข์ ก็เรียนด้วยความเป็นทุกข์ พอไม่ได้ก็ร้องไห้ เป็นต้น นี่ความอยากเรียนหนังสือในกรณีนี้เป็นความโง่ เป็นความอยาก เป็นความโลภ เป็นตัณหาที่จะนำมาซึ่งความทุกข์ ต้องเป็นความต้องการที่มันมาจากสติปัญญาที่สมบูรณ์ จึงจะไม่มีความทุกข์ เรียนก็ไม่มีความทุกข์ สอบไล่ตกก็ไม่ต้องร้องไห้ สอบไล่ได้ก็ไม่ต้องร่าเริงยินดีอะไร มันปกติอยู่ได้ นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงว่ากิเลสชื่อต่าง ๆ นั้น มันต้องมาจากความโง่ คือ อวิชชา เป็นต้นตอ
เพราะฉะนั้นยังมีเรื่องต้องการอะไรอีกมากมายในโลกนี้ ไม่ใช่เพียงแต่ต้องการจะเรียนหนังสือ กระทั่งว่าต้องการจะช่วยผู้อื่น นั้นยังมีว่ามันอยากเอาหน้าเอาตาด้วยกิเลสตัณหา หรือว่ามันจะช่วยผู้อื่นด้วยความบริสุทธิ์ใจ มีเมตตากรุณาอันแท้จริง ถ้ามันด้วยกิเลสตัณหามันก็ต้องไม่บริสุทธิ์ แล้วมันก็จะเป็นไปแต่ในเรื่องความทุกข์ ไม่ได้ช่วยเขาก็ยังมีความทุกข์ เพราะว่ามันไม่ได้หน้าได้ตา มันถึงกับแย่งกันทำบุญจนทะเลาะวิวาทกัน ในที่สุดแต่อยากไปนิพพาน มันอยากด้วยความโลภ หรือว่ามันอยากด้วยความแจ่มแจ้งสว่างไสว ถ้ามีปัญญาเห็นความทุกข์ หรืออยากจะดับทุกข์ อยากจะนิพพาน อย่างนี้มันก็ไม่เป็นไร มันไม่ ไม่ ไม่ไปเรียกว่าตัณหา ไม่เรียกว่าตัณหา ไม่เรียกว่าความโลภ ไม่เรียกว่าความยึดมั่นถือมั่น แต่เดี๋ยวนี้มันก็ยังมี กระทั่งว่า อยากไปนิพพาน มันอยากด้วยความโง่ มันตื่น มันเห่อ มันอะไรตาม ๆ กันไป เหมือนที่ว่ามาแล้ว ว่ามันเชื่อเพราะว่ามันตาม ๆ กันไปนี้ หรือเพราะมันเดาเอาเอง หรือมันคำนึงคำนวณเอาด้วยตับ ด้วยอะไรก็ตาม มันก็เป็นเรื่องอวิชชาไปหมด การอยากไปนิพพาน อยากนิพพานในลักษณะนั้น มันก็เป็นตัณหา แล้วก็ไม่ แล้วก็เป็นทุกข์ด้วยเหมือนกัน แต่ถ้ามันมาจากสติปัญญา เห็นความทุกข์ที่มีอยู่อย่างไร เกิดมาจากอะไร มันก็จะทำอย่างไรจึงจะดับได้ แล้วมันมองเห็น แล้วมันต้องการอย่างนี้ มันไม่เป็นตัณหาอะไร ความอยากนั้นไม่เป็นตัณหา
นี้ในภาษาบาลีมันปนกันยุ่งไปหมด อยากด้วยอะไรอะ ความโง่ก็เรียกว่าอยาก อยากด้วยความรู้อันแท้จริงก็เรียกว่าอยาก แต่ในภาษาบาลีไม่เป็นอย่างนั้น มันอยากด้วยความโง่จึงจะเรียกว่าความโลภ หรือว่าตัณหา หรือความยึดมั่นถือมั่นนี่ ล้วนแต่เป็นคำจำกัดโดยเฉพาะ ยึดมั่นถือมั่นเขาเรียกว่าอุปาทาน อยากเขาเรียกว่าตัณหา หรือว่าโลภ โลภะ ตัณหา อุปาทาน นี่ ชื่อนี้เป็นภาษาบาลี จำกัดความแต่ฝ่ายโง่ทั้งนั้น ถ้ามันเป็นฝ่ายปัญญา แล้วก็ไม่เรียก เขาเรียกความประสงค์ เรียกความต้องการ หรือเรียกว่าสมาทาน อะไรไปตามเรื่อง ต้องสังเกตไว้เสมอ ความประสงค์ ความต้องการ ฉันทะ วิริยะ ไอ้สมาทาน อะไรอย่างนี้ อธิษฐานอย่างนี้ มันไม่ได้มาจากอวิชชา มาจากวิชชา นี่ตรงกันข้ามกันอย่างนี้ วิชชากับอวิชชา ถ้ามาจากอวิชชาก็เป็นเรื่องฝ่ายกิเลส ฝ่ายเศร้าหมอง ถ้าเป็นเรื่องวิชชา ก็ฝ่ายที่ไม่เป็นกิเลส ไม่เศร้าหมอง ภาษาบาลีมัน มันแยกกันไปเด็ดขาด มันไม่มีทางจะปนกันได้
พอมาเป็นภาษาไทยนี่ มันปรับกันเข้า ไม่ ไม่ดี ไม่ถูก ไม่ระวัง หรือเอาตามง่าย ๆ นี่ มันก็เลยเป็น เกิดเป็นปัญหาขึ้น บางสำนักถึงกับสอนว่า พอชื่อว่าอยาก แล้วเป็นตัณหา เป็นความโลภทั้งนั้น แล้วคนจะทำอะไรได้ คนในโลกจะทำอะไรได้ที่จะไม่ให้เป็นกิเลสตัณหา เดี๋ยวนี้เราเรียกว่าความยึดมั่นถือมั่น มันจะต้องมีคำเปรียบ พูดเทียบว่าอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่น เป็นความโง่ด้วยกิเลสตัณหา แล้วก็เป็นทุกข์ ทีนี้คำที่จะพอจะเอามาจับคู่กันได้ ก็คือคำว่า สมาทาน เพราะใช้สำหรับที่ไม่ ไม่เป็นกิเลส ตัณหา แล้วก็ปรับเป็นวิธีการหรือเป็นหนทางที่จะดับกิเลสตัณหาเสีย คำอื่นก็ยังมี แต่แนะคำนี้ ก็เพราะมันรูปร่างมันเหมือนกัน มันคล้าย ๆ กัน มันธาตุ ธาตุของศัพท์ หรือรากของศัพท์อันเดียวกัน อุปาทาน อุปะ อาทานะ (นาทีที่ ๑๒.๕๘) เข้าไปถือเอานี่ มันเป็นความยึดมั่นถือมั่น สมาทาน สัมมา อาทานะ (นาทีที่๑๓.๐๓ ) มันก็ถือเอาถูกต้อง หรือดี หรือพร้อมอะไร มันก็ไม่ใช่กิเลสตัณหา เช่น เราสมาทานศีล สมาทานสัมมาทิฐิ นั้นผู้ที่รู้ธรรมะจึงไม่มีทางที่จะเวียนหัว แล้วก็ชอบใช้ภาษาบาลีนี้เป็นคำสำหรับพูด คือมันเป็นหลัก มันก็เลยไม่ปนกัน ถือเอาเหมือนกัน แต่อันหนึ่งเป็นอุปาทาน อันหนึ่งเป็นสมาทาน ถ้าถือเอาด้วยอุปาทานก็เป็นทุกข์ เป็นกิเลส ถ้าถือเอาด้วยสมาทานก็ว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับความทุกข์หรือกิเลส แต่มันจะดับทุกข์หรือจะดับกิเลส ทีนี้ ไอ้เราเรียกเป็นไทย เราเป็นความยึดมั่นนี่ มันก็เลยทำความลำบาก เพราะว่าที่แท้แล้วไอ้ความยึดมั่นนั้นน่ะ มันก็จำเป็น หรือมันเป็นประโยชน์ ในเมื่อมันยึดมั่นดี ยึดมั่นถูก แล้วก็มันมีรากฐานอยู่ที่สัญชาตญาณ ความยึดมั่นตัวเองหรืออะไรเหล่านี้ มันเป็นสัญชาตญาณ คือว่าคนเราต้องมีความยึดมั่น ชีวิตมันอยู่ด้วยความยึดมั่น ความยึดมั่นนั้นมันทำให้แน่ใจ มันทำให้มีกำลังวังชา มันทำให้ถึงกับเป็นความสุขเสียเลยก็มี นี้ที่ยึดมั่นไปตามสัญชาตญาณนั้น เพราะฉะนั้นบรรดาสัตว์ที่มีความรู้สึกคิดนึกแล้ว มันก็ต้องยึดมั่น แม้แต่เป็นสัตว์เดรัจฉานมันก็ยึดนิดหน่อยไปตามแบบของสัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ใจมันมาก ใจมันสูง มันก็ยึดมั่นถือมั่นมาก มันช่วยไม่ได้ที่จะต้องมีความยึดมั่นถือมั่น แต่แล้วก็อย่าให้มันเป็นฝ่ายกิเลส มาแก้ไข ๆ ๆ ให้มันเป็นฝ่ายที่ไม่เป็นกิเลส เพราะว่ามันเป็นทุกข์มากขึ้น ๆ แก้ไขมันให้เป็นฝ่ายยึดมั่นถือมั่นที่เปลี่ยนจากความยึดมั่นถือมั่น เปลี่ยนชื่อจากความยึดมั่นถือมั่นไปเป็นอย่างอื่น นี่ที่จะต้องแยกกัน โดยภาษาบาลี ถ้าปล่อยไปตามเดิมก็เป็นอุปาทาน ยึดมั่นเป็นทุกข์ นี้มาจัดรูปเสียใหม่ให้เป็นสมาทานในฝ่ายดี ฝ่ายที่จะทำให้เป็นสุข นี้สังคมเราไม่ยอม เมื่อมีความโง่ มันก็ยึดมั่นไปตามแบบสัญชาตญาณ แล้วก็ขยายไปในทางที่เป็นกิเลส มันก็เห็นแก่ตัวทั้งนั้น ไม่มีอะไรหรอก เห็นแก่ตัวมันก็เกิดเรื่อง เป็นทุกข์ทั้งตัวเอง เป็นทุกข์ทั้งผู้อื่น คือเป็นทุกข์ทั้งสังคมและเป็นทุกข์ทั้งคน ๆ หนึ่ง ต้องรู้จักความ ต้องรู้จักความหมายของคำ ๆ นี้ให้ดี ๆ มิฉะนั้นจะพูดผิด แล้วจะเถียงกัน และจะไม่แก้ไขความทุกข์อะไรได้เลย
ฉะนั้นความยึดมั่นถือมั่นนี้ ต้อง ต้อง ถ้ายังอยากจะใช้ภาษาไทย ของความยึดมั่น ความถือมั่นนี้ ถ้าอยากจะใช้ภาษาไทย มันก็ต้องพูดต่อไปอีกว่า ด้วยสติปัญญา เมื่อฟังดูแล้วก็ยังน่าเกลียดอยู่นั่นน่ะ เพราะว่ามันน่าเกลียดที่คำว่ายึดมั่นถือมั่น แล้วในเนื้อแท้ของมันเป็นความต้องการ ความตั้งใจแน่วแน่ด้วยสติปัญญา ไม่ไช่ยึดมั่นด้วยตัวกูของกู ซึ่งเป็นกิเลสตัณหา ความยึดมั่นถือมั่นที่ไม่เป็นกิเลส กับความยึดมั่นถือมั่นที่เป็นกิเลส มันก็ยืดยาว เป็นคำพูดยืดยาวเรียกลำบาก เอาภาษาบาลีเป็นหลักเรียกสั้น ๆ ตามเดิม ยึดมั่นถือมั่นที่เป็นอุปาทาน หรือเรียกว่าอุปาทานเฉย ๆ ก็ว่าใช้ไม่ได้ละ นี้ถ้าเป็นสัจจะ เป็นสมาทาน เป็นอธิษฐานนี่ ใช้ได้ ทีนี้เราจะดูกันฝ่ายที่เรียกว่าอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นที่เป็นกิเลสตัณหากันก่อน มันมีอยู่ ๔ ชนิด เพราะฉะนั้นต้องจำไว้ดี ๆ
อันทีแรก ก็เรียกว่า กามุปาทาน ยึดมั่นในกาม ในกาม ความใคร่และกิเลส ยึดมั่นในฐานะที่เป็นกาม ยึดมั่นในกาม ตัวใคร่ รัก หลงอะไรก็ยึดมั่นในสิ่งนั้น ประเภทเป็นกาม
อันถัดมา เรียกว่า ทิฏฐุปาทาน ยึดมั่นด้วยทิฐิ มีความคิดเห็นอย่างไรก็ยืนกระต่ายขาเดียว ตัวมีความคิดอย่างผิด อย่างโง่ มันก็ยังยึดอยู่นั่นแหละ มันก็กลายเป็นเด็กดื้อไปในที่สุด
สีลัพพตุปาทาน ยึดมั่นในศีลวัตร คือยึดมั่นว่าเป็นศีลและวัตร ชื่อนี้ฟังยาก พอยึดมั่นศีลวัตรที่ผิด ที่ไม่มีเหตุผล คนเราประพฤติอะไรที่ตัวคิดว่าดี ว่าจะช่วยตัวได้นี่ อย่างงมงาย อย่างไม่มีเหตุผลอยู่มากเหมือนกัน เพราะฉะนั้นยึดถือไสยศาสตร์ ยึดถืออะไรทำนองนี้ มันเป็นความยึดมั่นข้อนี้ทั้งนั้น หรือว่าของดี ๆ ถูกต้อง บริสุทธิ์อะไรนี่ มันไปยึดมั่นให้สกปรกเสีย ระเบียบวินัยอะไรต่าง ๆ นี่ มันมีทางที่ถูกยึดมั่นให้กลายเป็นของ ทำให้เกิดเรื่อง ให้มีปัญหา ให้มีความทุกข์ เช่นว่า เรามีศีล มีศีล มีระเบียบ มีวินัย มีมารยาทนี้ มันก็เพื่อให้มันเป็นระเบียบเรียบร้อยและมีความสุข มันไปยึดมั่นว่าให้มันศักดิ์สิทธิ์ ให้มันขลัง ให้มันอะไรก็ไม่รู้เสีย เอาของ ทำของที่ไม่ใช่ไสยศาสตร์ให้กลายเป็นไสยศาสตร์ไปเสีย เพราะว่ามันจำเป็นสำหรับคนโง่ ที่บรรพบุรุษเขาจะบัญญัติไสยศาสตร์ขึ้นมาให้คนโง่มันถือ ที่แท้มันก็ไม่ใช่ไสยศาสตร์ มันก็เป็นแต่สิ่งที่มีเหตุผล แต่ในสมัยในยุคในถิ่นที่คนมันโง่ มันก็ต้องบัญญัติในรูปขลัง รูปศักดิ์สิทธิ์ ทีนี้มันแกะไม่ออก มันถือมากระทั่งเดี๋ยวนี้ มันก็เลยติดตัง ติด ติดตันอยู่ที่นี่ เป็นไสยศาสตร์ อย่างนี้เขาเรียกว่า ยึดมั่นถือมั่นในศีลวัตรปฏิบัติ ยึดมั่นด้วยความโง่ ทีแรกก็ดีอยู่ แต่ทีหลังก็ไปไม่รอด ยิ่งเป็นศีลวัตรปฏิบัติที่มันผิดด้วยแล้ว มันก็ยิ่งใช้ไม่ได้ใหญ่ เราต้องสะสางของเราอยู่เสมอ อย่าให้มันยึดมั่นถือมั่นอย่างงมงายในสิ่งเหล่านั้น ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่นว่า ยึดมั่นพระพุทธรูป ยึดมั่นอย่างนี้ก็ มันมีทางที่จะงมงายได้ คนโง่แขวนพระเครื่องก็เพื่อความเป็นคนโง่หนักขึ้น คนฉลาดแขวนพระเครื่องก็เพื่อให้มันฉลาดเร็วขึ้น ไอ้อย่างแรกมันก็เป็น สีลัพพตปรามาส ไปในทางขลัง ทางศักดิ์สิทธิ์อะไรก็ไม่รู้ อธิบายก็ไม่ได้ มันก็โง่หนักขึ้น พระพุทธรูปเองก็ยังเป็นอย่างนี้ ทีนี้พระพุทธเจ้าก็อย่างนั้นอีกเหมือนกัน พระพุทธเจ้าในทัศนะของคนโง่ ใช้ไม่ได้ มันเป็นภูเขาหิมาลัย แต่แต่ว่าคนมันยังโง่อยู่ จะทำอย่างไรล่ะ มันก็ต้องมีอย่างนั้นไปก่อน เพราะฉะนั้นเขาจึงมีระเบียบปฏิบัติให้มันหายโง่ อย่าให้พระพุทธเจ้ากลายเป็นเครื่องยึดมั่นติดอยู่ที่นี่ ไม่ก้าวหน้าไปพ้นความดับทุกข์ คือว่าให้พ้นความทุกข์ อย่างนี้จะว่า สีลัพพตปรามาส ด้วยเหมือนกัน แม้ในหมู่พุทธบริษัทที่ทำอยู่อย่าง สีลัพพตปรามาส มากไปหมด เต็มไปหมด เป็นพุทธบริษัทแต่ปาก แต่ธรรมเนียม แต่บัญชี แต่ทะเบียน มันก็ยังอย่างนี้อยู่
อย่างสุดท้ายเขาเรียกว่า อัตตวาทุปาทาน ยึดมั่นด้วยความสำคัญมั่นหมายว่าตัวตน ในใจมันพูดว่าตัวกูอยู่เสมอ ว่าตัวกูของกูอยู่เสมอ อันนี้คือตัวความยึดมั่นที่เป็นตัณหาอันแท้จริง มันติดมาแต่สัญชาตญาณยิ่งกว่าอันไหนหมด ที่เขาเรียก ที่เรียกกันว่า Ego หรือ Egoism นี้ หมายถึงอันนี้ มันเป็นไปตามสัญชาตญาณ ทีนี้มันแก่กล้าเข้า แก่กล้าเข้า มันก็เป็นความเห็นแก่ตัวที่น่าเกลียดน่าชัง Selfish Selfishness อะไรนี้ เป็นความเห็นแก่ตัวนี้ละก็ แน่นอนจะต้องมีเรื่อง ตัวเองก็ทุกข์ไปพลาง แล้วก็ไม่เท่าไรก็ทำคนอื่นให้ทุกข์ ให้มีความทุกข์ด้วย ยึดมั่นด้วยความสำคัญมั่นหมายว่าตนน่ะ ว่าตัวตนนี่ ว่าเป็นตัวกู เป็นของกู เป็นของมึง เป็นของสู ตัวสู ล้วนแต่มีตัวตนด้วยกันทั้งนั้น
อุปาทานอย่างนี้ไม่ไหว เป็นความทุกข์ทั้งนั้น ไม่มีทางที่จะไม่ทุกข์หรอก จะต้องมีความทุกข์ทั้งนั้น แต่คนก็ทนทุกข์ไปได้พลาง เพื่อจะแก้ไขให้มันพ้นไปเสีย รู้จักเอา เอาประโยชน์จากความยึดมั่นถือมั่น มี มี มี มีลู่ทางอยู่เหมือนกัน เขาเรียกว่าใช้เกลือจิ้มเกลือ หนามยอกเอาหนามบ่ง ก็แปลว่าใช้อุปาทานที่ดีกว่าไปแก้อุปาทานที่มันเลว แทนที่ไปยึดมั่นถือมั่นในกาม ในกามารมณ์ ในความโง่นั้น ก็ไป ไปยึดในทางที่มันดีขึ้น ยึดกลายเป็นสมาทานไป สมาทานศีล สมาทานสัมมาทิฐิ กระทั่งสมาทานไอ้สรณาคม ยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ไม่ได้ทำด้วยความโง่นะ ต้องเป็นเรื่องของสติปัญญาไปหมด
นี่ความยึดมั่น กิริยาอาการ ลักษณะที่มันจะยึดมั่น มันจะยึดมั่นเป็น ๔ อย่างนี้ ยึดมั่นด้วยความยึดมั่น ๔ อย่างนี้ นี้อะไรจะถูกยึดมั่น มันก็คืออารมณ์ทั้งหลาย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสนี้ ที่มันจะเกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย กระทั่งทางในใจเองนี่ จะเป็นสิ่งที่ถูกยึดมั่น มันถูกยึดมั่นไปในทางกาม เมื่อต่อเมื่อมันเป็นที่ตั้งของความรัก ความใคร่ ของกิเลส จะยึดมั่นไปในทางทิฏฐิ (นาทีที่ 27:12) ก็เพราะว่ามันไปเข้าใจสิ่งเหล่านี้ว่าเที่ยง ว่าดี ว่าสวย ว่าน่าปรารถนา นี้ไปยึดมั่นไปในทางศีลพรต ก็เพราะมันไปเชื่อในทางไสยศาสตร์ เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ หรือจะยึดมั่นไปในทางตัวกูของกู ว่านี่ของกู นี่อร่อย นี่ของกู ตัวกูเป็นผู้อร่อย ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสผิวหนัง อะไรก็ตาม บรรดาอารมณ์ทั้งหลายในโลกเป็นวัตถุ แทนความยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานในลักษณะ ๔ ประการ ฉะนั้นอารมณ์เหล่านี้ สิ่ง สิ่งที่จะถูกยึดมั่นถือมั่นเหล่านี้จึงมีเต็มไปหมดทั้งโลก แล้วก็แล้วแต่เราจะเรียกมันว่าอย่างไร หรือจะจัดหมวดหมู่มันอย่างไร ที่ธรรมดาสามัญที่สุดก็คืออันนี้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสผิวหนัง แล้วก็อารมณ์ที่ชวนให้ยึดมั่นถือมั่น อันนี้คือโลก เพราะในโลกมีสิ่งนี้ ถ้าโลกไม่มีสิ่งนี้ โลกก็ไม่เป็นโลก ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นโลกแผ่นดิน โลกก้อนดิน แผ่นดิน มันก็เป็นที่ตั้งแห่งรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ถ้าไม่งั้นมันก็ไม่มีค่าอะไร ไม่มีความหมายอะไร เพราะฉะนั้นภาษาธรรมะคำว่า โลก เขาหมายถึงไอ้สิ่งเหล่านี้ ไม่ได้หมายถึงไอ้ตัวก้อนดิน ตัว The Globe ไอ้อย่างนั้น ไม่ ไม่ใช่อย่างนั้น ไอ้ The World นี่ มันก็หมายถึงไอ้สิ่งที่มีคุณมีค่าอยู่ใน The Globe ไอ้ The Globe เป็นก้อนดิน ไอ้ The World นี้ มันก็เริ่มมีสัตว์ มีคน มีอะไรที่เป็นที่ตั้งแห่ง รูป เสียง กลิ่น รส
ระวังให้ดี ๆ ไอ้โลกเนี้ย มันจะกัดเอา ถ้าไม่รู้จักโลกแล้ว โลกนี้มันจะกัดเอา ให้เจ็บปวดและให้ตายไปในทางจิต ทางวิญญาณนี่ ฉิบหายเป็นอันธพาล มีแต่ความทุกข์ เพราะมันไปยึดมั่นด้วยอุปาทานในโลกนี้ โดยความเป็นกามบ้าง โดยความเป็นที่ตั้งแห่งทิฏฐิ (นาทีที่ 29:45) โดยความเป็นที่ตั้งแห่งความงมงาย เป็น โดยความเป็นที่ตั้งแห่งตัวกูของกู นี้เรียกว่าอุปาทานที่มีลงไปในโลก พอมีผิดมันก็เดือดร้อนเป็นทุกข์ ถ้ามีถูกก็เปลี่ยนจากความยึดมั่นถือมั่น ที่เป็นอุปาทานนั่นน่ะ มาเป็นไอ้ความต้องการที่ถูกต้อง แล้วก็จัดแล้วก็ทำไปในลักษณะที่ไม่มีใครเป็นทุกข์ ไอ้ข้อที่สิ่งที่มีชีวิตจะไม่เกี่ยวข้องกับวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือนี้มันไม่ได้ คนธรรมดาก็ตาม พระอรหันต์ก็ตาม ต้องเกี่ยวข้องอยู่เป็นประจำวันกับสิ่งที่เรียกว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นี่ แต่ปุถุชนคนธรรมดาเกี่ยวข้องด้วยความโง่ ด้วยอุปาทาน พระอริยเจ้าโดยเฉพาะพระอรหันต์นั้น ท่านเกี่ยวข้องด้วยสติปัญญาเหนือสติปัญญา สติปัญญาอย่างสูงสุด ฉะนั้นจึงไม่มีอุปาทาน จึงไม่ต้องให้เป็นทุกข์ แต่ก็ต้องเกี่ยวข้องเพราะมันต้องกิน ต้องใช้ ต้องอาบ ต้องถ่าย ต้องดู ต้องอะไรหมดเหมือนกัน ตา หูจมูก ลิ้น กาย ก็ต้องทำงานอยู่เหมือนกัน แต่ทำงานไปด้วยกันกับสิ่งเหล่านั้นโดยมีสติปัญญา ใช้ให้เป็นประโยชน์เท่าที่จำเป็น ไม่จำเป็นต้องไปยุ่งให้เสียเวลา ให้เหนื่อย
สิ่งที่เรียกว่าอารมณ์ในโลก ต้องเป็นที่จะต้องเกี่ยวข้องกันกับมนุษย์ ถ้าเอาอุปาทานมาเป็นสื่อ เป็นเครื่องมือสำหรับเกี่ยวข้อง มันก็เป็นทุกข์ ถ้าเอาการสมาทานสติปัญญา ระเบียบปฏิบัติที่ดีเข้าไปเกี่ยวข้อง มันก็แก้ไขความทุกข์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติให้น้อยลง ๆ จนไม่มีความทุกข์ เพราะฉะนั้นเราอย่าไปโทษโลก ไอ้คนโง่มันจะไปโทษโลก ไอ้คนมีสติปัญญามันก็จะโทษกิเลสของตัวเอง ไอ้โลกน่ะ มันเป็นอย่างนั้นเอง ถ้าเราเอากิเลสเข้าไปใส่มัน มันก็เกิดเป็นทุกข์ขึ้นมา ถ้าเราเอาสติปัญญาเข้าไปใส่มัน มันก็มีประโยชน์ พอเราโง่เข้าไปเกี่ยวข้องกับอุปาทาน เราก็เป็นทาสเป็นบ่าวของมัน พอเรามีปัญญาเข้าไปเกี่ยวข้อง เราก็เป็นนายเหนือมัน มันก็ต่างกันอย่างนี้เสมอไป เพราะฉะนั้นอุปาทานทำให้เป็นบ่าวเป็นทาสของสิ่งที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น ไอ้สมาทานธรรมะนี่ จะทำให้เป็นนายเหนือสิ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง ฉะนั้นไปดูในที่อยู่อาศัย ในห้องนอนของเรามีอะไรบ้าง ถ้าเราเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้นในลักษณะไหน ถ้าเราโง่เกี่ยวข้องด้วยอุปาทาน มันก็ตบหน้าเอา ถ้าเราฉลาด มีสติปัญญาสมบูรณ์ มันก็รับใช้เรา ทุกอย่างที่แวดล้อมเราจะเป็นอย่างนี้ แม้แต่ของนิดเดียว มีราคาไม่ถึงสตางค์นี่ ลองไปยึดมั่นด้วยความโง่ มันจะตบหน้าเอา มันจะมีปัญหาเหมือนกับไอ้ของที่มีราคาเป็นหมื่นเป็นแสน เดี๋ยวนี้คนฆ่าตัวตายกันอย่างไม่มีเหตุผลมากขึ้น ทั้งหญิง ทั้งชาย ทั้งหนุ่ม ทั้งสาว ก็เพราะความโง่อันนี้มันทวีขึ้นๆ เพราะฉะนั้นเสียที เสียชาติเกิด มันเลวกว่าสัตว์ เพราะสัตว์ไม่ต้องเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นรู้จักไอ้พิษสงไอ้ที่ร้าย ร้ายกาจของไอ้ความยึดมั่นถือมั่นอย่างอุปาทานกันเสียบ้าง เพราะสังคมกำลังเป็นอย่างนี้หนักขึ้นทุกที ไปดู มันเป็นมนุษย์ที่ไม่ใช่มนุษย์ เพราะมันยึดมั่นถือมั่นเกินขอบเขตมากขึ้นทุกที ยุ่งกันไปหมด จะฆ่าฟันกันคราวละหมื่น ละแสน ละล้าน มันก็เพราะอันนี้ ต่อไปข้างหน้ามันจะถึงเข้าสักวันหนึ่ง เดี๋ยวนี้มันก็ไม่ใช่หยอก มันอยู่ด้วยความเบียดเบียนตนเองกับผู้อื่นตลอดวันตลอดคืน สิ่งที่ยึดมั่นด้วยอุปาทานแล้ว มันก็กลายเป็นข้าศึก ทำความทุกข์ขึ้นมาทันที พอยึดมั่นถือมั่นมันก็ได้กอดคอกันกับความทุกข์ ได้เป็นเกลอกับความทุกข์ เพราะฉะนั้นจึงมีหลักว่าสิ่งใดที่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน แล้วจะไม่มีทุกข์ไม่มีโทษนั้นไม่มี ก็จำไว้ด้วย เป็นพระพุทธภาษิต สูตรที่ ๘ คชนียวรรษ สังยุตตนิกาย (นาทีที่ ๓๕.๔๕) ถ้าพระไตรปิฎกบาลี มันก็เล่มที่ ๑๗ หน้า ๑๑๔ ถ้า เป็นพระไตรปิฎกฉบับไทโชอื่น(นาทีที่ ๓๖) มันก็เล่มอื่นหน้าอื่นนะ ไปค้นดูเอง
นี่เป็นคำที่ตรัสไว้อย่าง เหมือนกับว่าขู่ไว้อย่างน่ากลัวที่สุด ณัฐฐินุกโขกินจิ โลกัสมิง ยะมะหัง อุปาฐิตยาวาโน นะวัชชวา อัสสัง(นาทีที่ ๓๖.๑๓ ) พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าเป็นอริยสาวกของพระองค์จะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า สิ่งนั้นไม่มีในโลกสักนิดนึง คือสิ่งที่เราไปยึดมั่นถือมั่นเข้าแล้ว จะไม่เกิดโทษเกิดทุกข์ พูดสั้นๆ ง่ายๆ ว่า ไอ้สิ่งที่ไปยึดมั่นถือมั่นเข้าแล้ว จะไม่เกิดทุกข์เกิดโทษนั้นไม่มีสักนิดเดียวในโลกนี้ ไม่มีสักอนุภาคเดียว ทั้งหมดทั้งดุ้น ทุก ทุกสิ่งในโลกไปยึดมั่นเข้าแล้ว ก็จะเกิดความทุกข์เกิดโทษ คือไอ้ภาวะที่ไม่น่าปรารถนา ช่วยจำไว้ในฐานะเป็นไอ้เครื่องรางคุ้มกันมนุษย์ไม่ให้เป็นทุกข์นี่ คุ้มกันได้มากกว่าพระเครื่องที่แขวนคอ คือธรรมะจริงของพระพุทธเจ้าเข้ามาอยู่ในใจ มันก็คุ้มกันไม่ให้เกิดความทุกข์ ฉะนั้นอย่าโง่ไปจับฉวยอะไรเข้า มีแต่ความยึดมั่นถือมั่น เมื่อพูดถึงคำ ๆ นี้ก็ยุ่งยากลำบากไปหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ เมื่อจะแปลเป็นภาษาอื่นอีกหลาย ๆ ภาษา เป็นคำเฉพาะมีความหมายบัญญัติเฉพาะในภาษาบาลี พอมาแปลเป็นภาษาไทยก็ทำยุ่ง แปลเป็นภาษาอังกฤษก็ยิ่งทำยุ่ง มัน มันเพราะว่าเขา มันมีความหมายในถ้อยคำนั้น เฉพาะในภาษานั้น เดี๋ยวนี้เท่าที่จะ จะเข้าใจกันได้ ยุติกันไว้ทีหนึ่ง ก็ ก็แปลว่า Attachment Attach นี้คือกริยาที่ยึดมั่นด้วยความโง่ เสร็จแล้วก็ไม่พ้นที่ว่าจะยึดมั่นถือมั่นด้วยสติปัญญาก็ได้ หรือบางทีใช้คำธรรมดา ๆ ว่า Grab Grab ก็คือว่าจับฉวย เหมือนกับมือไปจับอะไรนี้ ก็ ก็เคยใช้เป็นคำแปลของคำว่ายึดมั่นถือมั่นนี้เหมือนกัน บาง บางคน นัก นัก นักภาษาศาสตร์บางคนว่า Clinging ดีกว่า Clinging ก็เข้าไปผูกพันด้วยจิตใจ เพราะฉะนั้นไปพิจารณาดูความหมาย Attachment หรือ Clinging หรือ Grab มันก็ตัวเดียวกันแหละ แต่ต้องเป็นทางใจไม่ใช่ทางวัต ทาง ทาง ทาง ทาง ทางกาย ด้วยมือด้วยตีนน่ะ มันเป็นทางใจ ด้วยใจ ด้วยจิต ด้วยวิญญาณ มันเข้าไป Attach ก็มีความทุกข์ทันที ภาษาไทยเราก็ว่ายึดมั่นถือมั่นแล้วก็เป็นทุกข์ทันที อย่างน้อยที่สุดมัน อย่างน้อยที่สุด ไม่ ไม่ทันจะมีอะไรมากนะ คือความหนัก คือความหนักอกหนักใจ ยึดมั่นว่าตัวกูก็หนัก ก็แบกตัวกู ยึดมั่นว่าของกู มันก็บอกยิ่งหนักขึ้นไปอีก มันแบกของกูทั้งหมดเข้าไว้ บุตร ภรรยา สามี ทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียง อำนาจ วาสนา นี้ล้วนแต่ต้องแบกทั้งนั้นแหละ พอแบกเข้ามันก็หนักแล้ว ทีแรกนึกว่าหนักแล้ว ก็เป็นทุกข์ด้วยความหนักนี้ไปก่อน แล้วไม่ ไม่ ไม่เท่าไรน่ะ ประเดี๋ยวมันก็จะต้องมีความทุกข์เพราะอย่างอื่นด้วย เพราะเกิดการกระทบกระทั่งแข่งขันแย่งชิง หรือว่าวิตกกังวล อะไร นอนไม่หลับ เป็นโรคเส้นประสาท เป็นบ้าตายไปเลย
เพราะฉะนั้นอย่าไปทำเล่นกับไอ้เรื่องนี้ และก็เป็นเรื่องที่สังคมมีมากที่สุดในโลกทั่วไปทั้งโลก คือความยึดมั่นว่าตัวกู ว่าของกู นอนไม่หลับเป็น บ้า ไป ไปมีโรงพยาบาลโรคจิตมากขึ้นทุกทีในโลกก็เพราะเหตุนี้ จนไม่มีที่ใส่คนบ้า ฉะนั้นไอ้ที่มันเดินว่อนอยู่ตามถนนหนทางในเมืองหลวง ในมหานครใหญ่ ๆ นั้นน่ะ มันเป็นคนบ้าเกินกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ที่มันควรจับไปใส่โรงพยาบาลบ้านั่นน่ะ มันไม่มีโรงพยาบาลบ้าจะใส่ มันก็เลยมาเที่ยวเดินเพ่นพ่านอยู่ ถึงในกรุงเทพฯเถอะ ก็ระวังให้ดี ไปนั่งดู คิดดูให้ดีเถอะ มันมีคนบ้าตั้งเกิน ๕๐ เปอร์เซ็นต์ มันเดินอยู่ในถนนหนทาง นี่มันบ้าด้วยอุปาทานนี่ ไม่มากก็น้อย แล้วมันบ้าขนาดที่ทำสิ่งไม่ควรทำ เหมือนพวกอันธพาลทั้งหลายที่ตำรวจยังไม่ได้จับน่ะ กระทั่งมาถึงที่เรียกว่าสุภาพบุรุษนี่ สุภาพบุรุษชนิดไม่ต้อง ที่ชนิดที่นอนหลับยาก กระทั่งกระโดดตึกตาย หนังสือพิมพ์ก็มีอยู่ ทุกวัน นั่นน่ะ เป็นโรคอุปาทานนี้ทั้งนั้น เป็นคนบ้า ถ้าไม่บ้ามันก็ไม่ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ นี่เรียกว่ามันเป็นเรื่องอุปาทาน เป็นศัต ศัตรูที่มองไม่เห็นตัว ผู้ใดมีมันก็ทำลายผู้นั้น หรือว่าอย่างน้อยก็แทะกัดผู้นั้นให้มันกร่อนอยู่เสมอ เหมือนกับเป็นโรคขี้กราก มันไม่ทำอันตรายอะไรมาก เสร็จแล้วมันก็กัดแทะให้กร่อนอยู่เสมอ แล้วบางทีก็รู้สึกสนุกเป็นสุข คนที่เป็นหิดเป็นขี้กรากน่ะ มันจะรู้สึกเป็นสุขสบายเมื่อมันเกา แล้วก็ใครต้องการวัด นี่อุปาทานหรือกิเลสมันก็มีลักษณะเป็นอย่างนี้ เป็นทุกข์ เป็นโทษ เป็นโรคที่ให้อารมณ์สุขของคนโง่
แล้วทีนี้พูดเรื่องสมาทานกันบ้างนะ ไอ้เรื่องอุปาทานนี้ไม่มีส่วนไหนที่น่าชื่นใจ สมาทานแปลว่าถือเอาด้วยดี ยึดมั่น อย่าใช้คำว่ายึดมั่นเลย มันน่าเกลียดเต็มทีแล้ว เรียกว่า ถือเอาดีกว่า ถือเอาด้วยสติปัญญา มีอำนาจของสติปัญญา หรือปัญญา หรือสัมมาทิฏฐิ (นาทีที่ ๔๔:๐๕) เข้ามาเป็นไอ้ตัวการสำหรับจะถือเอา อย่างนี้เราเรียกว่าสัจจะก็มีนะ สัจจะ ความจริงใจ อย่างนี้ นี้ก็ต้องแรงมาก ขนาดที่เรียกว่ายึดมั่นถือมั่นเหมือนกัน แต่อย่าเรียกว่ายึดมั่นถือมั่นเหมือนกัน ให้เรียกว่า ถือเอาด้วยสติปัญญา มีสัจจะ มีความจริงใจ ในหน้าที่การงาน ในอุดมคติ กระทั่งมีสัจจะต่ออุดม ไอ้ต่อเพื่อนฝูง ต่อเวลา ต่ออะไร ที่มัน เขา เขา เรียกกันว่าสัจจะ เสียชีพอย่าเสียสัตย์ ก็คือสัจตัวนี้ บางทีเราก็เรียกว่าอธิษฐาน เขาเรียกว่า อธิษฐานจิตอย่างยิ่ง ที่จะให้มันเป็นไปตามอุดมคติ แล้วก็ทำจริง เอาจริง เหมือนเป็นพระอย่างนี้ก็ต้องบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริงให้ได้ผลจริง ๆ แล้วก็สอนผู้อื่นจริง ๆ อย่างนี้เรียกว่า สัจจะหรืออธิษฐาน หรือ สัจจาธิษฐาน รวมกันไปเลย อย่าไปเรียกว่าอุปาทาน อย่าไปเรียก ความยึดมั่นถือมั่น แล้วฆราวาสก็ต้องมี เป็นคนจริง เป็นคนให้มันจริงสักที ด้วยความตั้งอกตั้งใจที่มันเต็มความสามารถ เล่าเรียนก็เล่าเรียนจริง ๆ ทำการงานก็ทำจริง ๆ แล้วก็ให้มันจริงไปให้หมด นี้เรียกว่าสัจจาธิษฐานกันดีกว่า ขอให้มีคำนี้คำเดียวก็พอ แล้วมันก็จะเลยไปถึงคำอื่นๆ ที่ ที่ค่อย ๆ มีความหมายไกลออกไป เช่น ไอ้ธรรมะที่มีประโยชน์อย่างยิ่งหมวดหนึ่งที่เรียกว่าอิทธิบาท ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ในโรงเรียนก็สอนกันอยู่แล้ว นั้นมันก็คือไอ้ความสมาทานที่จริงจัง เรียกว่าจะยึดมั่นถือมั่นก็ต้องยึดมั่นถือมั่นฝ่ายสะอาด ฝ่ายดี ฝ่ายถูก มีความพอใจในสิ่งนั้นจริง ๆ มีความพากเพียรบากบั่นตัวเป็นเกลียว
ขณะที่พระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่า ถ้าไม่บรรลุผลที่บุรุษพึงประสงค์แล้ว ไม่ยอมลุกจากที่นั่งนี้ แม้ว่ามันจะเหลือแต่กระดูก เลือดเนื้อหายไปหมด คือตายแล้วนั่นเอง นี่อธิษฐานของพระพุทธ พระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้ นี่คือวิริยะในรูปของอิทธิบาท จิตตะเอาใจใส่ฝักใฝ่ วิมังสาสอดส่องแก้ไข อะไรปรับปรุงอยู่เสมอ นี้ก็เป็นชื่อของความ ของการสมาทาน แล้วแต่เราจะเรียกชื่ออย่างไร ที่เราเห็นกันอยู่ ใช้กันอยู่ ก็สมาทานในศีล สมาทานในศีล สมาธิ ปัญญาในกรรมฐาน ในการปฏิบัติ หรือสมาทานพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เอาเป็นสรณะ นี้เรียกว่าสมาทาน ก็คือความยึดมั่นที่ไม่ใช่ความยึดมั่น ยึดมั่นที่ถูกต้อง ที่ดี ที่จะเป็นประโยชน์ได้ เรียกว่า การถือเอาซึ่งสรณะ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างถูกต้อง ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างถูกต้อง อะไรก็อย่างถูกต้อง นี้ฆราวาสก็มีอุดมคติ สำหรับความเป็นฆราวาสที่ถูกต้องก็ต้องสมาทาน ตัวใหญ่ ตัว ไอ้ใหญ่ครอบหมดก็คือ สมาทานสัมมาทิฏฐิ (นาทีที่ ๔๘:๓๒) เหมือนที่บอกแล้ววันก่อนว่า ปัญหาทั้งหลายจะแก้ได้เพราะการสมาทานสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ สมาทานา สัพพัง ทุกขัง อุปัจจคุง เข้าไปล่วงความทุกข์ทั้งปวงได้เพราะการสมาทานสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็น ความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อ ที่มันถูกต้อง อันนี้สมาทานเถอะ แต่อย่าอุปาทาน สมาทานจะเปลี่ยนกลับเป็นไอ้เรื่องทำให้หนักให้ทุกข์ สมาทานก็ถือเอาให้ถูกต้อง มันก็ไม่มีหนัก ไม่มีทุกข์ มันก็จะช่วยแก้ความหนักและความทุกข์
แล้วทีนี้เราจะดูไอ้ความยึดมั่นถือมั่นตลอดสายกันสักที ตั้งแต่ความยึดมั่นอย่างเลวที่สุด แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นความยึดมั่นอย่างกลาง แล้วก็อย่างดีจนไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ระดับแรกพื้นฐานตามสัญชาตญาณเลย ยึดมั่นด้วยอุปาทานนี่ คืออุปาทานนั่นเอง ว่าตัวกู ว่าของกู เป็น Egoism แล้วก็เป็น Selfishness เป็นอะไรเรื่อยขึ้นมา ยึดได้แม้กระทั่งในดี ในชั่ว ในบุญ ในบาป ในสวรรค์ ในนรก ไอ้ความดีความชั่วน่ะไปยึดมั่นเข้าเถอะ มันจะตบหน้าทันที จะมีความทุกข์ คัมภีร์คริสเตียนเขาบัญญัติไว้ชัดว่า เกิดมีปัญหา มีความทุกข์ มีบาปขึ้นมาเพราะไปรู้จักดีรู้จักชั่ว ตรงกันกับหลักพุทธศาสนา คือวันหนึ่ง อดัมกับอีฟ เกิดดื้อพระเจ้า ไปกินผลไม้ของต้นไม้ที่ห้ามไว้เข้าไป ต้นไม้ต้นนั้นมันมีว่าต้นไม้แห่งความรู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว มันไปกินเข้า มันก็เกิดรู้ดีรู้ชั่วขึ้นมาทันที ก็เริ่มมีบาปมีทุกข์ขึ้นมาทันที ก่อนมันไม่นุ่งผ้า แล้วมันก็เกิดละอายก็ว่าไม่ได้นุ่งผ้า มันก็เลยเข้าไปซ่อนในพุ่มไม้ ปกปิดความละอายนี่ พระเจ้ารู้ อ้าว, นี่มันกินลูกไม้นี้เข้าไปแล้ว ก็พูดว่า แต่ไปนี้มึงมีบาป คือตาย ไอ้ยึดมั่นดีชั่วก็ไม่ ไม่ ไม่ไหว ยึดมั่นบุญบาปก็ไม่ไหว ยึดมั่นสุขทุกข์ก็ไม่ไหว ยึดมั่นนรกสวรรค์ก็ไม่ไหวทั้งนั้นน่ะ มันมีความทุกข์ทั้งนั้น เป็นตัวกูของกูต้องมีความทุกข์ ไอ้ยึดมั่นอย่างเลวที่สุดที่มนุษย์มีอยู่ทั้งโลก ทั่วไปทั้งโลก ยึดมั่นของสังคมมันเป็นอย่างนี้ ต้องแก้ไข
ยึดมั่นอันดับสองขึ้นมาก็ ยึดมั่นอุดมคติ ยึดมั่นสัจจะ ยึดมั่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ว่างมงาย หลับตายึด หลับตาทุกข์ ยึดมั่นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็ได้ แต่มันหลับตายึด ยึดมั่นแบบความงมงายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย หรือแม้แต่อุดมคติ สิ่งที่เรียกว่าอุดมคติของคนงมงายก็มีเหมือนกัน คนงมงายก็มีอุดมคติไปตามแบบของคนงมงาย บางทีใช้คำพูดคำเดียวกันด้วยซ้ำไป คำพูดที่ถูกต้องน่ะ เอาไปยึดเป็นงมงายได้ ทีนี้ไอ้ยึดมั่นสิ่งเดียวกันนั้นแหละ แต่ว่าไม่งมงาย ยึดมั่นอุดมคติ ยึดมั่นสัจจะ ยึดมั่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อะไรก็ตามน่ะ แต่มันไม่งมงาย เดี๋ยวมันก็ดีขึ้นมา
ทีนี้ถ้าว่าจะดีขึ้นไปอีก ก็ไปถึงชั้นที่ว่า ยึดมั่นในธรรมะ ยึดมั่นในศาสนา ยึดมั่นในข้อปฏิบัติ ยึดมั่นในพระเจ้าที่แท้จริง ยึดมั่นอุดมคติสูงสุด เช่น อุดมคติว่าต้อง คนทั้งหลายเป็นเพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตาย แก่กันและกันทั้งหมดทั้งสิ้น นี่ควรยึดมั่น แต่ว่าต้องด้วยสติปัญญา คือถือเอาด้วยดี เกิดแก่เจ็บตายนี้อย่าหัวเราะเยาะนะ เด็กๆนี่ คนหนุ่มคนสาวชอบหัวเราะเยาะเมื่อคนเขาพูดถึงคำว่า เกิดแก่เจ็บตาย ไอ้นั่นแหละ ระวังให้ดี พอลืมแบบนี้แล้วมันก็จะ จะไม่เป็นมนุษย์ เกิด แก่ เจ็บตาย ก.ก.จ.ต. นี่ สมัยนี้เขา เขาแก่อักษรย่อกันใช่ไหม อะไรก็บัญญัติเป็นอักษรย่อ อักษรย่อที่ดีนี่ ก.ก.จ.ต. นี่ ช่วย ช่วยเอาไปพูดให้ติดปากบ้าง มันจะเตือนสติ มันจะสอน มันจะช่วยประคับประคอง อย่าให้พลัด พลัดตกลงไปในความชั่ว ที่นี่เรามีไอ้อักษรย่อ ส.ส.ส. ๓ ส. ส.ส.ส. นี่ ส. สะอาด ส.สว่าง ส.สงบ นี้ก็ไม่ใช่เล่น ชอบตัวอักษรย่อ ก็ชอบอย่างนี้บ้าง ยึดมั่นถือมั่นในอุดมคติสูงสุดว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอันเดียวกัน มนุษย์ทุกคนเป็นมนุษย์คนเดียวกัน เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน ในบางลัทธิ บางศาสนาเขามีคำว่า ไกวัลย์ ไกวัลยตา (นาทีที่ ๕๔:๔๒) ความที่ทั้งหลาย สิ่งทั้งหลาย ทั้งปวงเป็นสิ่งเดียวกัน ฉะนั้นต้องมีสายตาลึก มีความรู้สูง เห็นว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นสิ่งเดียวกัน คนก็เป็นว่าคนทุกคนในโลกเป็นคน ๆ เดียวกัน มันมีปัญหาอย่างเดียวกัน มีหัวอกเดียวกัน มีเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน เพราะฉะนั้นเราอย่าไปแบ่งแยกเป็นเราเป็นเขา เป็นมึงเป็นกู ยึดมั่นอุดมคติอันนี้จะทำลายความยึดมั่นถือมั่นที่เป็นฝ่ายกิเลส แม้ว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็สอนไอ้เรื่องนี้ ปฏิบัติเรื่องนี้ เรายึดมั่นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็ยึดมั่นให้มันถูก อย่ายึดมั่นด้วยอุปาทาน ถ้ายึดมั่นด้วยอุปาทาน มันก็เป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์หลอก ๆ ไม่รู้สึกตัว ถ้ายึดมั่นด้วยสติปัญญาเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จริง เป็นที่พึ่งได้ เป็นสรณะได้ แล้วก็ถือเอาให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก ยึดมั่นถือมั่นด้วยสติปัญญา ในพระรัตนตรัย ในอะไรเหล่านี้
ทีนี้ก็อยากจะพูดอันสูงสุด ซึ่งคนอาจจะไม่ฟังถูก ไม่ยอมรับว่า ยึดมั่นถือมั่นในความไม่ยึดมั่นถือมั่น จงพอใจในความไม่ยึดมั่นถือมั่น แล้วก็ยึดมั่นในความไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้นน่ะจะให้ถึงที่สุดเสียที เราจะมีปณิธาน มีสัจจาธิษฐาน มีอะไรต่าง ๆ ที่จะไม่ยึดมั่นถือมั่นอย่างรุนแรง ให้มันว่างไปจนไม่มีที่จะยึดมั่นถือมั่น จิตใจสะอาดมันว่างไปจากความยึดมั่นถือมั่น จิตใจนี้ไม่มีความทุกข์ เป็นนิพพานเพราะมันว่าง พอว่างมันก็ไม่มีทุกข์ เป็นนิพพานคือเย็น ฉะนั้นเหลือบตาดูทีเดียวให้ตลอดสายสิว่า ยึดมั่นถือมั่นที่เลวที่สุดเป็นอย่างไร แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนมาเป็นดีขึ้นสูงขึ้น แล้วสูงสุดอยู่ที่ตรงไหน แล้วก็เลือกจัดตัวเองไว้ให้เหมาะสม ถ้ายึดมั่นถือมั่นก็ต้องด้วยสติปัญญา อย่าให้ต้องร้องไห้ อย่าให้ต้องฆ่าตัวตาย อย่าให้ต้องเป็นทุกข์ อย่าให้ต้องวิตกกังวลทั้งหลับและตื่น นี้สังคมเป็นบ้านอนไม่หลับ มันยึดมั่นถือมั่นผิด ผิดทาง มีอันธพาลเต็มบ้านเต็มเมืองมากขึ้น พวกอันธพาลก็คือ พวกที่ยึดมั่นถือมั่นอย่างบ้าคลั่งไปสับกันหมด เอาดีเป็นชั่ว เอาชั่วเป็นดี หรือว่าไม่มีอะไรนอกจากความต้องการของกู ยึดมั่นตัวกูกันอย่างนี้เลย ดีชั่วบุญบาปสุขทุกข์ไม่รู้อยู่ที่ไหน ตัวกูก็แล้วกัน
โลกกำลังจะเป็นอย่างนี้มากขึ้นทุกทีนี่ การยึดมั่นของสังคมโลกเป็นอย่างนี้ ระวังให้ดี ๆ อย่าไปผสมโรง ถ้ามีความทุกข์ แล้วก็ช่วยกันบอกกล่าวเพื่อนฝูงมิตรสหายให้เข้าใจในเรื่องนี้ แก้ไขไปเล็กๆ น้อยๆ ตามที่เราจะทำได้ เราจะพลิกกลับโลกทีเดียวให้มันหมุนกลับให้ตรงกันข้ามนี่มันไม่มีใครทำได้ เพราะไอ้ความยึดมั่นที่มันมากขึ้นๆ นี่ มันใช้เวลาเป็นร้อยปี พันปี หมื่นปีนี้ จะกลับทีเดียวนี่ มันก็เก่งมากเกินไป ทำไม่ได้ มันก็ต้องค่อยๆ กลับ ค่อยๆ กลับ ให้การศึกษาที่ถูกต้อง อะไรที่ถูกต้อง มีมามันก็ค่อยๆ ค่อยกลับ ทีนี้กลัวแต่ว่าการศึกษามันจะผิดเพราะมันไม่เล็งไปถึงจุดนี้ ที่จะแก้ไขไอ้ต้นเหตุอันนี้ มันไปแก้ไขปลายเหตุหมด เพราะการศึกษานั่นเองมันเพิ่มความยึดมั่นถือมั่น บ้าๆ บอๆ ไกลออกไป ไม่มีทางที่จะสร้างสันติภาพในโลกนี้ได้นี่ ประชุมกันทั้งโลกแล้วมันก็ยังแก้ไขโลกนี้ไม่ได้ เพราะไม่เข้าใจเรื่องนี้ เรามีเวลามีอะไรก็พูดกับเขาบ้างว่า ไอ้ต้นเหตุที่แท้จริงมันอยู่ที่ความยึดมั่นถือมั่นผิด
เดี๋ยวนี้โลกก็อยู่ด้วยความยึดมั่นถือมั่นไปตามเดิม ตามสัญชาตญาณอันเดิม โลกก็คือสังคมใหญ่แห่งความยึดมั่นถือมั่น สังคมโลกนี่ คือสังคมแห่งความยึดมั่นถือมั่น ฉะนั้นจึงไม่มีวันที่จะพ้นจากทุกข์ ไม่มีทางที่จะพูดกันรู้เรื่อง พูดโดยสังคมทั้งสังคมแล้วไม่มีทางจะพูดกันรู้เรื่อง ไม่มีทางที่จะถอนความยึดมั่นถือมั่นใน ใน ใน ในขณะนี้ ความโง่กำลังเป็นโลก ครอบงำโลกเต็มโลก ฉะนั้นคนหนึ่ง คนหนึ่งนี่ จะ จะ จะต้องแก้ไขของตัวเอง ปัจเจกชน มีโอกาส มีหวัง มีอะไรที่จะแก้ไขของตัวเอง ตามที่ธรรมชาติอำนวยให้ นี้โดยเฉพาะสังคม สังคมพุทธ สังคมพุทธ มันจะเป็นคำพูดที่อะไรก็ตามใจเถอะ ก็หมายถึงไอ้พวกหมู่พุทธนี่ จะต้องตื่น ต้องลืมตาก่อน อยากจะให้ก่อนผู้อื่นเพราะว่ามันมีชื่อว่าพุทธนี่ ตัวเองมันไปเรียกชื่อตัวเองว่าพุทธนี่ ต้องรับผิดชอบนี่ พุทธแปลว่าตื่น พุทธติ (นาทีที่ ๑: ๐๐:๕๕) แปลว่าตื่นนอน หลับมาด้วยกิเลส ด้วยอวิชชา นานนักแล้ว ตื่นนอนกันเสียที ฉะนั้นสังคมพุทธนี่ จะบรรเทาความยึดมั่นถือมั่น หรือบรรเทาความทุกข์ได้กว่าสังคมอื่น แต่ไม่ใช่อวดดีนะ เพราะว่าเราจะเป็นพุทธกันไม่แท้จริง จะเป็นสังคมของบุคคลผู้ตื่นนอน ตื่นจากหลับคือกิเลส คือความยึดมั่นถือมั่น ไม่ไปผสมรอยผสมโรงกับไอ้สังคมแห่งความยึดมั่นถือมั่นในโลกนี้ นี่จงรู้จักความยึดมั่นถือมั่นให้ถูกต้อง ว่าอย่างไรเรียกว่า อุปาทาน อย่างไรเรียกว่า สมาทาน ๒ คำนี้มันช่วยประกันความฟั่นเฟือน อุปาทานนั้นอย่า อย่า อย่าไปเอากับมัน ถ้าสมาทานละก็เอาไว้ก่อน จนกว่าจะถึงที่สุด คือไม่ต้อง ไม่ต้องทั้งสมาทาน ทั้งอุปาทานน่ะ มันไม่ต้องทั้งสองอย่างน่ะ นั้นมันหลุดพ้น มันเป็นวิมุตติ ความเชื่อที่พูดมาแล้วก็เหมือนกัน ถ้าเชื่อถูกก็ควรเชื่อ เชื่อ เชื่อ ถ้าผิดก็อย่าไปเชื่อ ไอ้ความยึดมั่นนี้ก็เหมือนกัน มันงมงายก็อย่าไปงม อย่าไป อย่าไปยึดมั่น ต้องลืมหูลืมตาสว่างไสว แล้วก็สมาทานให้ถูกต้อง โลกนี้ก็จะดีขึ้น นะอย่างน้อยก็มีเราคนหนึ่งคนเดียวที่ทำให้โลกนี้มันดีขึ้น เพราะบรรเทาความยึดมั่นถือมั่น
เอาละ พอกันทีสำหรับวันนี้
[T1]ไม่แน่ใจว่าจะให้ใช้ตัวสะกดไหน ทิฏฐิ หรือ ทิฐิ