แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายสำหรับผู้เป็นลูกคนเมืองตำปรื้อ ได้ล่วงมาถึงครั้งที่ ๑๐ แล้ว ในวันก่อนได้พูดถึงเรื่องการศึกษาที่ไม่ประกอบด้วยธรรม วันนี้จะพูดเรื่อง ธรรมที่ผู้ต้องการประโยชน์จะพึงประพฤติ ธรรมะหมวดนี้เป็นพระพุทธภาษิตโดยตรง ทรงแจกแจงไว้เป็นข้อๆ รวม ๑๖ ข้อด้วยกัน ฟังดูก็มากมาย แต่ว่ากลับจะจำง่าย ถ้ากลัวจะลืมก็จดไว้ดีๆ เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่าเป็นประโยชน์ ซึ่ง เป็นธรรมซึ่งบุคคลผู้ต้องการประโยชน์จะพึงประพฤติ ทั้งฆราวาสและบรรพชิต คำว่าประโยชน์ในที่นี้ หมายถึง ประโยชน์สูงสุดคือนิพพานก็ได้ หมายถึงประโยชน์ตามธรรมดาสามัญ เรื่องทำมาหากิน เรื่องเป็นอยู่ในสังคมเพื่อนมนุษย์ทั่วไปนี้ก็ได้ ล้วนแต่เรียกว่าประโยชน์ เราเรียกรวมๆ กันว่า ประโยชน์เพื่อสันติ คำว่าสันตินี้ของบุคคลก็ได้ ของสังคมก็ได้ ธรรมะเหล่านี้เลยเรียกว่า สันติบท
สันติบท แปลว่า ทางแห่งความ อ่า, แห่งสันติ มีอยู่ ๑๖ ข้อ ใน ๑๖ ข้อ
ข้อแรก สักโก พึงเป็นผู้องอาจสามารถ รวมไปถึงกล้าหาญด้วย ใช้คำว่า สักโก สักกะ คำเดียวกัน แปลว่า ผู้องอาจ สามารถ กล้าหาญ ข้อแรกคือต้องเป็นผู้องอาจ สามารถ กล้าหาญ นี่จะพอเข้าใจได้ว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ดีที่สุด น่าฟังที่สุดว่า ธรรมะจะต้องนึกถึงข้อแรกโผล่ขึ้นมา ก็คือ องอาจ สามารถ รวมความกล้าหาญไว้ด้วย ถ้าไม่กล้าหาญก็ไม่สามารถ ตัวหนังสือต่างกันแต่ความเหมือนกัน ถ้าจะเอาเป็นคำๆ เดียว ก็จะต้องเอาคำว่า สามารถ ต้องเป็นคนมีความสามารถ เราไม่สามารถด้วยเหตุใดบ้างเราต้องนึกถึง หรือว่าคนเราทั่วๆ ไปไม่สามารถ อันแรกก็มันจะต้องมีความกล้าพอ ในใจตัวเอง และก็มีความรู้ในเบื้องต้นพอที่จะลงมือปฏิบัติ คำว่าสามารถมีความหมายกว้าง ฟังดูให้ดีๆ ถ้าไม่มีความรู้เสียเลยก็ไม่สามารถ ถ้าไม่มีความกล้าหาญก็ย่อมจะไม่สามารถ ทีนี้เรามันรอดตัวอยู่อย่างหนึ่งว่า ไอ้ความรู้นี้มันมี ใครพูดว่าไม่มีความรู้คนนั้นพูดไม่จริง เพราะว่าความรู้ในที่นี้หมายถึงรู้อะไรดี อะไรชั่ว อะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ มันรู้อยู่แล้วมันจึงไม่พูดถึงความรู้ ว่าคนจะต้อง ทุกคนจะต้องรู้อะไรดีอะไรชั่ว แต่ทีนี้ไม่สามารถจะบังคับตัวให้ละส่วนที่ชั่วหรือทำส่วนที่ดี ถ้าเป็นเรื่องวิชาอาชีพ ไอ้ความรู้ที่เรายังไม่รู้นี่ก็ต้องเรียน แต่ถ้าเป็นเรื่องทางฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณฝ่ายดับทุกข์ถือว่ารู้ รู้พอเพียงแล้วทุกคน รู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดีจะต้องรู้ ไม่ก็เป็นคนอ่อนแอไม่สามารถจะบังคับตัวเองให้เดินไปในทางที่ดี โผล่ขึ้นมาต้องเป็น สักโก แปลว่า ผู้สามารถ สักโกนี้เขาแปลว่าท้าวสักกะเทวราช พระอินทร์นี่ก็ได้ หรือ พวกสักกะ สักกะ สักกะราช ศากยะวงศ์ คำเดียวกัน สักกะ บาลี ศากยะ เป็นภาษาสันสกฤต ความหมายของคำๆ นี้คือสามารถ ทีนี้เราต้องปรับปรุงตัวให้เป็นคนสามารถในการที่จะทำหน้าที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือละความชั่ว ความชั่ว หรือกิเลสนี้มันใหญ่โตอย่าไปทำเล่นว่าเป็นของที่เล็กๆ น้อยๆ ถ้าใครถือว่ากิเลสเป็นของเล็กน้อย เป็นตัว ตัวเล็กๆ แล้วก็ไม่มีทาง ให้ถือว่าเท่าภูเขาเลากาไว้เสมอ ปรับปรุงตัวสำหรับต่อสู้อย่างมีความสามารถเพียงพอ
ข้อที่ สอง อุชุ อุชุ อุชู ก็เหมือนกัน อุชุ อุชู อุชู พึงเป็นผู้ตรง เป็นคนตรง คำว่าตรงนี้มีความ หมายมันกำกวม ตรงอย่างเถรตรงก็มี ตรงอย่างถูกต้องแท้จริงก็มี อุชู นี้หมายถึงตรงชนิดที่ถูกต้องไม่ใช่เถรตรง นิทานเถรตรงเด็กๆ เมืองตำปรื้อเล่ากันได้ทุกคน คนสุดท้ายมันตกต้นตาลตาย เถรตรง ตรงชนิดนั้นมันใช้ไม่ได้ มันบ้าบิ่น คราวนี้ตรงในที่นี้หมายถึง ตรงที่ถูกต้อง แปลว่ามีอุดมคติอย่างไร ก็ตรงต่ออุดมคติอย่างนั้น อุดมคติใหญ่คือว่าเป็นมนุษย์แหละ มนุษย์มีอุดมคติอย่างไรเราต้องซื่อตรงต่ออุดมคตินั้น นั่นเขาเรียกว่าซื่อตรงต่อตัวเอง ครั้นซื่อตรงต่อตัวเองก็ซื่อตรงต่อเพื่อนแหละ ต่อเวลา ต่อหน้าที่การงานต่ออะไรทุกอย่าง ให้ตรงกับตัวเองก่อนแหละ ตรงกับตัวเองคือตรงต่ออุดมคติของความเป็นมนุษย์ เพราะตัวเองเป็นมนุษย์ ตรงต่อความเป็นมนุษย์ของเราเอง คือตรงต่อตัวเอง ข้อที่สอง ขอให้เป็นคนตรง ตรงต่อความเป็นมนุษย์ของตัวเอง แล้วก็ง่ายดายที่จะตรงต่อผู้อื่น ต่อเวลา ต่อหน้าที่การงานหรือต่ออะไรที่จะที่เราจะต้องตรง มันก็ตรงได้หมด
ข้อที่ สามเรียกว่า สุหุชู นี้เติมตัว สุ เข้ามาข้างหน้า อุชู เป็น สุหุชู นี้เพิ่มน้ำหนักให้แก่คำว่าตรง เราจะแปลคำนี้ว่าคนซื่อ คนจริง ตรงยังไม่กินความมาถึงจริงทีนี้ สุหูชู นี้หมายถึงจริง ถึงซื่อ แม้ว่าเราเดินทางตรง แต่เรายังไม่จริงจังก็มีเหมือนกัน เราต้องจริงจังด้วย เป็นคนเอาจริงเอาจัง เป็นคน ข้อที่สองเป็นคนตรง ข้อที่สามเป็นคนเอาจริงเอาจัง แล้วก็อย่างเดียวกันอีก อย่าจริงจังจนเป็นเถรตรง คำว่าซื่อกับคำว่าตรง ขอให้เอาไปคิดดูให้ดี ความหมายไม่ค่อยจะเหมือนกันแท้ ด้วยภาษาทางจิตใจมันยังกว้างเหมือนกับคนซื่อ นั่นมันถึงซื่อสัตย์ ความหมายแยกออกมาเป็นซื่อสัตย์ ทีนี้ซื่อสัตย์ก็ต้องเป็นเหตุให้จริงจัง เราซื่อสัตย์ต่อบุคคลใดเราก็ต้องจริงจังต่อบุคคลนั้น เราซื่อสัตย์ต่ออุดมคติอันใดก็ต้องจริงจังต่ออุดมคติอันนั้น นี่ภาษาบาลีเป็นภาษาที่น่าสนใจ อุชู แปลว่าตรงแล้วยังมี สุหุชู แปลว่า ตรงอย่างดี ตัวหนังสือแปลว่าตรงอย่างดี แปลว่า จริง นี่เป็นข้อที่สาม เราควรจะสำรวจตัวทุกๆ ข้อว่ามันมีหรือไม่มี แล้วมีมากหรือมีน้อย
ข้อที่ สี่ สุวโจ พึงเป็นผู้ว่าง่าย ตามตัวหนังสือแปลว่า พึงเป็นผู้อันบุคคลว่ากล่าวได้โดยง่าย อันบุคคลผู้มีหน้าที่ว่ากล่าวจะพึงว่ากล่าวได้โดยง่าย สุวโจ พวกฝรั่งบางคนแปลสุวโจว่าพูดดี ตัวหนังสืออำนวยให้แปลอย่างนั้น สุ ว่าดี วโจ วาจา พวกฝรั่งบางคนแปลคำนี้ สุวโจนี่ ว่า พูดดี แต่เราถือกันว่าผิด ว่าแปลผิด ที่ถูกต้องแปลว่าผู้อันบุคคลพึงว่ากล่าวได้โดยง่าย สุ แปลว่า ง่าย สุนี้แปลว่า ดีก็ได้ งามก็ได้ ง่ายก็ได้ วโจแปลว่าพูด ว่ากล่าว สุวโจ นี่ขอให้ถือเอาใจความว่า เป็นคนว่าง่าย คนรุ่นหนุ่มนี่เป็นคนว่ายาก เด็กเสียทีเดียวก็ยังว่าง่าย คนรุ่นหนุ่มจิตใจกำลังกระสับกระส่าย พ่ายแพ้แก่กิเลสอย่างนี้เลยว่ายาก ไอ้ความว่าง่ายนี้ไม่ใช่เล็กน้อยนะ พระพุทธเจ้าตรัสว่า บรรดาบุตรทั้งหลายกี่ชนิดก็ตาม บุตรที่ว่าง่ายแหละดีที่สุด พวกเธอก็ยังเป็นคนรุ่นหนุ่มอยู่ มีลักษณะเป็นบุตรของบิดามารดาที่ยังไม่พ้นเขต ให้พึงรู้ว่าบรรดาบุตรทั้งหลายกี่ชนิดก็ตาม บุตรที่ว่าง่ายดีที่สุด แจงไปว่า บุตรที่ดีทำอะไรได้ดีกว่าบิดามารดา บุตรที่ทำอะไรได้เสมอบิดามารดา บุตรที่ทำอะไรได้เลวกว่าบิดามารดา สามพวกนี้บุตรที่ว่าง่ายดีที่สุด แม้จะทำอะไรได้เลวกว่าบิดามารดา ถ้ามันว่าง่ายกลับดีที่สุด หมายความว่าลูกที่สวย ที่รวย ที่เก่ง ที่ไม่เก่งอะไรก็สุดแท้แต่ ไอ้บุตรที่ว่าง่ายดีที่สุด จะไม่ตกนรกจะไม่ตกเหว ไอ้บุตรที่ฉลาดปรูดปราดนั่นน่ะ แล้วว่ายากสอนยาก มันก็มีโอกาสที่จะพลัดเหวง่าย พลัดเหวก่อนอยากทำอะไรมันก็ทำ ว่า ว่าง่ายสอนง่าย
ข้อที่ ห้า ว่า มุทู มุทู มุทู แปลว่าสุภาพ อ่อนโยน มันแยกมาจากว่าง่ายสอนง่าย ตรงที่ว่ามามีกิริยาอาการปรากฏการณ์อ่อนโยน สุภาพ อ่อนโยน มันไม่ใช่เรื่องเดียวกับว่าง่าย สอนง่าย สุภาพ อ่อนโยนนี่แสดงว่ามันก็ว่าง่าย สอนง่ายเหมือนกันแหละ แต่มันส่วนหนึ่งเท่านั้น เรามีความสุภาพอ่อนโยน มุ่งหมายให้ตัวเองไม่ตามใจตัวเอง ไม่ ไม่ดื้อไม่กระด้างเหมือนกัน และเป็นที่น่ารักน่าเอ็นดูแก่ผู้อื่น ถ้าใครเกะกะเก้งก้าง ยกหูชูหางก็มันผิดไอ้ธรรมะข้อนี้อย่างลึกซึ้ง คนรุ่นหนุ่มมักจะมีอาการยกหูชูหาง
ข้อที่ หก อะนะติมานี เขียนตรงๆ อะนะติมานี เขียนตรงๆ เลย อะนะติมานี ไม่กระด้างด้วยมานะ มุทู สุภาพอ่อนโยน เหตุใดต้องมีคำว่าไม่กระด้างด้วยมานะ นี่มันแสดงไปทางความคิดเห็น สุภาพอ่อนโยน มันแสดงไปทางกิริยาวาจา อะนะติมานี มันมุ่งไปยังความคิดความเห็น แต่ก็แสดงออกมาทางกายทางวาจา กระด้างด้วยมานะ นี่คือลักษณะของอันธพาลสมบูรณ์ ความเป็นอันธพาลโดยสมบูรณ์ อยู่ในข้อนี้ข้อกระด้างด้วยมานะ เป็นขี้กลากที่กินอยู่ในสมอง ความกระด้างด้วยมานะ ไม่ใช่โรคตามผิวหนัง ขี้กลากที่กินอยู่ในสมองกินอยู่บนหัว กระด้างด้วยมานะ มันก็ไม่รู้สึก ตัวมันก็ไม่อาย คำว่ากระด้างหมายความว่ามัน มัน มันไม่รู้สึกตัว มันหนา มันกระด้าง แล้วมันก็ไม่รู้สึกตัว เกาก็ไม่เจ็บ ด้วยมานะ หมายความว่า ความคิดสำคัญมั่นหมายของตัวว่าเป็นอย่างไร มันก็ยืนกระต่ายขาเดียว ไม่ฟังเสียงใคร เอาแต่ความคิดความเห็นส่วนตัว ไหนใครมีคนนั้นก็รู้จักดี ทุกคน ใครมีความกระด้างด้วยมานะก็รู้จักดี ผมก็ไม่ต้องบอกไม่ต้องอธิบาย และเคยแสดงบทบาทกระด้างด้วยมานะมาแล้วกี่ครั้งกี่หน รู้เอาเองรู้จักตัวเองเอาเอง
ข้อที่ เจ็ด สันตุสสโก สันตุสสโก เขียนลงไปตรงๆ พึงเป็นผู้สันโดษยินดีในของมีอยู่แห่งตน ไอ้เรื่องนี้เคยมีเรื่องกันที่ รัฐบาลสมัยหนึ่งเคยมีหลักการไม่ให้สอนเรื่องสันโดษแก่ประชาชน พวกพระที่เป็นอนุศาสนาจารย์ถูกขอร้อง คือห้าม ขอร้องอะไรกัน แต่เขาใช้คำว่าขอร้อง โดยมีเจ้าปัญญา คนเจ้าปัญญาคนหนึ่งเห็นว่าถ้าสอนให้ประชาชนสันโดษแล้วก็ บ้านเมืองจะล่มจม ถึงขนาดนั้น ทีนี้พระพุทธเจ้าขอร้องให้สันโดษ นี่มันก็สับสนกันอยู่มาก นี่เพราะเหตุใดเพราะเหตุใดไอ้คนนั้นมันไม่เข้าใจคำว่าสันโดษ ไม่สันโดษบ้า หมายความว่าจิตใจไม่เคยรู้สึกอิ่มรู้สึกพอในตัวเอง ด้วยตัวเอง ด้วยของของตัวเองเลย มันต้องบ้าแหละคนนั้น คำว่าสัน แปลว่า มีอยู่แห่งตน โดษ แปลว่า ยินดี สันโดษ แปลว่า ยินดีด้วยของมีอยู่แห่งตน ไม่ได้หมายความว่ายินดีแล้วไม่ ไม่ทำอะไรอื่นให้งอกงามออกไป หมายความว่าได้มาเท่า เท่าไหร่ก็ต้องมีความยินดี เพื่อหล่อเลี้ยงไม่ให้เกิดความหิวเป็นเปรต ความหิวกระหายในประโยชน์ หรือในสิ่งที่ยังไม่ ได้ เป็นความหิวรุนแรงมีอาการเหมือนกับเปรต ท้องเท่าภูเขา ปากเท่ารูเข็ม ไปคำนวณเลขดูว่ามันจะหิวมากน้อยเท่าไหร่ มันกินเข้าไปได้เท่ารูเข็มแต่ท้องมันใหญ่เท่าภูเขา ความหิวมันจะมีเท่า ไหร่ นี่คนที่หิวในทางจิตใจทางวิญญาณ ความหวังความหิวในเรื่องจะได้ดีได้เด่นได้นั่นได้นี่ ความฝันสร้างวิมานในอากาศ อย่างนี้เขาเรียกความไม่สันโดษ ทำให้หิวเป็นเปรต หนักเข้ามันก็บ้า ฉะนั้นเราต้องยินดีเท่าที่ทำได้ ทำได้หรือมีอยู่ในวันหนึ่ง วันหนึ่ง วันหนึ่ง หล่อเลี้ยงจิตใจให้อิ่ม เหมือนเอาน้ำรดต้นไม้ให้มันสดชื่นไว้ทุกวันๆ มันก็งอกงามไปได้ ไม่ใช่เอาน้ำรดแล้วต้นไม้มันจะหยุดงอกไม่ใช่ ให้มันอิ่มอยู่ทุกวันมันก็งอกงามไปได้ ถ้ามันไม่มีอะไรหล่อเลี้ยงไอ้ ไอ้ ไอ้จิตใจและวิญญาณมันจะหิวแล้วมันจะเหี่ยว นั่นมันจะบ้า ขอพูดคำซ้ำๆ ซากๆ สักข้อ คล้ายๆ กับอวดแต่ไม่ใช่จะอวด คือว่าเราอยู่กันที่วัดนี้ ถือหลักข้อนี้ มีคนถามว่าเมื่อไหร่โรงหนังจะเสร็จ ไอ้บ้า ไม่ดูให้ดีมันเสร็จทุกวันนะ มันเสร็จอยู่ทุกวัน เราพอใจในความเสร็จไปทุกวัน ทุกวันแหละ ไม่ ไม่มีคำว่าเมื่อไหร่จะเสร็จ มีคำว่าเสร็จอยู่ทุกวัน เสร็จ เสร็จ เสร็จเพิ่มขึ้นทุกวัน นี่เราพอใจเพิ่มขึ้นทุกวัน ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความร้อน ไม่มีความวิตกกังวลที่ทำให้นอนไม่หลับ สมภารที่ไม่รู้จักสันโดษมันก็เป็นทุกข์นอนไม่หลับ พอสร้างโบสถ์เสร็จก็ตายพอดีสร้างไปทำอะไรกัน ความที่มันไม่รู้จักพอใจหรือไม่รู้จักอะไรนี่มันสร้างโบสถ์นานๆ หลายๆ ปีหลังใหญ่ๆ ใช้เงินหลายๆ แสน แต่ละวันละวันไม่เกิดความพอใจว่าเสร็จทุกวัน วิตกกังวลตลอด ๔-๕ ปีที่สร้างโบสถ์ พอเสร็จเป็นวัณโรคหรือเป็นอะไรตายเลยมีอยู่บ่อยๆ คนเจ้าปัญญาของรัฐบาลสมัยหนึ่งห้ามสอนเรื่องสันโดษ ปรับให้พระพุทธเจ้าเป็นคนพูดอะไรผิดๆ คนลูกเมืองตำปรื้ออย่าเชื่อ อย่าไปเชื่อว่าสันโดษนี่จะทำให้คนหยุดทำงานไม่ก้าวหน้า ให้เชื่อเสียว่าจะทำให้มีความอิ่มเอิบแล้วก้าวหน้าไปอย่างล่ำสันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ไม่ใช่หิวเป็นเปรตเดินโซเซโซเซเผลอก็ตายเลย นี่เรื่องสันโดษพูดมากสักนิด เพราะมันเป็นปัญหา เข้าใจผิดกันแล้วเป็นปัญหาที่สุด อย่าไปเชื่อใครว่าสันโดษจะทำให้ไม่ก้าวหน้า แต่ทำให้ก้าวหน้าไปอย่างมั่นคงเข้มแข็งล่ำสัน และเป็นผู้รวยอยู่ตลอดเวลา ไม่จน ไอ้เรื่องที่ต้องการจะได้มาเพิ่มเติมก้าวหน้านั้นมันเป็นกิเลสดั้งเดิมอยู่แล้ว มันเป็นกิเลสประจำวิญญาณของสัตว์อยู่แล้วไม่ต้องกลัวว่ามันจะไม่อยากก้าวหน้า ความหิวมันเป็นความอยากก้าวหน้าอยู่แล้ว ทีนี้เรามันหยุดความหิวเสีย อย่าให้มันแสดงอาการออกมา ให้มันก้าวหน้าไปโดยไม่ต้องหิวมันไม่ทรมาน สันโดษทำให้สบายทำให้อิ่มให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคง
ข้อที่ แปด สุภะโร สุภะโร ภะ ภ สำเภา สุภะโร แปลว่า เลี้ยงง่าย ตามรูปของภาษาบาลี คำนี้แปลว่า เป็นผู้อันบุคคลพึงเลี้ยงได้โดยง่าย ถ้าตัวเองเลี้ยงตัวเองก็นั่นแหละผู้เลี้ยงก็คือตัวเองแหละ ถ้าผู้อื่นเลี้ยงก็ผู้อื่นแหละ ถ้าเป็นผู้อันบุคคลพึงเลี้ยงได้โดยง่าย อย่าเข้าใจว่าเป็นเรื่องของพระ เรื่องของพระยิ่งกวดขันมากเรื่องเลี้ยงง่าย มันอยู่ในหลักศีลธรรมวินัย ๘ ประการ เพราะพระมันเนื่องด้วยผู้อื่นในการเลี้ยงชีวิต แต่ถึงฆราวาส ทายก อุบาสก อุบาสิกา ก็เหมือนกันต้องเป็นผู้เลี้ยงง่าย เพราะอาการเลี้ยง เลี้ยง ยากก็เป็นอาการของกิเลสของตัวกู ของไอ้ยกหูชูหางแบบหนึ่ง ที่สวนโมกข์เราต้องการความเลี้ยงง่ายเป็นข้อใหญ่ จะพูดว่าเพราะจนไม่มีอะไรจะกินด้วยก็ได้เหมือนกัน แต่ถ้าเราพยายามก็คงจะมี แต่ที่เราต้องการความเลี้ยงง่ายขอให้มันง่ายๆ คุณระหว่างที่มาพักอยู่ที่นี่หัดเรื่องเลี้ยงง่ายเป็นอยู่ง่าย ให้มากที่สุด มีคนเขียนปัญหาถามว่าระหว่างอยู่สวนโมกข์นี้จะได้ จะปฏิบัติอะไรให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ผมจะระบุว่าเลี้ยงง่าย กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู เป็นอยู่อย่างทาส ทำข้อนี้ได้แล้วก็ ได้ประโยชน์มากที่สุด ในการพักอยู่ที่นี่ในระหว่างเวลานี้ ความเลี้ยงยากเป็นกิเลส ความเลี้ยงง่ายเป็นโพธิ โพธิแปลว่าไม่ใช่กิเลส แปลว่าปัญญา โพธิ โพธิ ต้นโพธิ์แหละ ความเลี้ยง เลี้ยงง่ายเป็นโพธิ ความเลี้ยงยากเป็นกิเลส ทีนี้คนมันเห่อ มันยกหูชูหาง ถ้าเลี้ยงง่ายมันรู้สึกว่าไม่มีเกียรติ ไม่ได้อวดแฟน มันโง่หลายชั้น ที่มันเสียหายในข้อที่ว่ามันเพิ่มให้แก่กิเลส มันเพิ่ม เพิ่มกำลังให้แก่กิเลสไอ้เรื่องเลี้ยงยาก มันไม่ขูดเกลากิเลส เราจะเล่นงานกิเลสแล้วก็ประชดกิเลสด้วยการเลี้ยงง่าย แต่ว่าคำว่าเลี้ยงง่ายไม่ได้หมายความว่าแร้นแค้นทุเรศ มันพอเหมาะพอดีแหละ มีอาหารที่พอและก็ถูกต้อง และกินเลี้ยงชีวิตให้งอกงามเจริญได้ แต่มันง่ายๆ นี่ ไม่ใช่ว่าจะต้องขับรถไปกินของอร่อยนอกกรุงนอกเมืองตั้งชั่วโมงตั้งครึ่งชั่วโมง มีมากที่บางกอก คนเมืองตำปรื้ออย่าไป อย่าไปเอาอย่างชาวบางกอก ที่จะขับรถไปกินของอร่อยๆ นอกเมืองตั้งครึ่งชั่วโมงตั้งชั่วโมงหนึ่ง นั่นเป็นเรื่องของคนโง่ เขาว่าคนเมืองตำปรื้อโง่เราก็บอกชาวบางกอกแหละโง่ มันตรงกันข้ามอยู่อย่างนี้ เรื่องกินอยู่อย่าให้ลำบาก ถ้าไม่อย่างนั้นไม่ใช่พุทธบริษัท กินอยู่ถูกต้องพอดีพุทธบริษัท ไอ้กินดีอยู่ดีนั่นเป็นเรื่องนอกออกไปเกินไป เอาแต่กินอยู่พอดีก็แล้วกัน
ข้อที่ เก้าเรียกว่า อัปปะกิจโจ อัปปะกิจโจ พึงเป็นผู้มีกิจแต่พอประมาณ พึงเป็นผู้มีกิจแต่พอประมาณ คุณฟังให้ดี พระพุทธเจ้าฉลาดสักเท่าไร หรือว่าพระพุทธเจ้าคร่ำครึไม่ทันสมัย ให้เป็นผู้มีกิจ คือกิจธุระหน้าที่การงานแต่พอประมาณ คำว่าพอประมาณนี่เรามันไม่รู้นี่ว่าพอประมาณนั้นคือเท่าไหร่ คือมันพอดีกับกำลังสติปัญญาความสามารถ อย่ามีกิจการให้เกินความสามารถ ไอ้คนสมัยปัจจุบันนี้มันบ้าหลายเท่า มันมีกิจการเกินความสามารถ แล้วก็เดือดร้อนเป็นเหมือนกับตกนรกอยู่ตลอดเวลาแหละ แล้วก็พลัดเหวหรือพลัดนรกไปเมื่อไหร่ก็ไม่ทันรู้ เพราะความโลภมันมาก มันมีกิจการงานเกินความสามารถ นี่ก็ อัปปะกิจโจ ให้มีการงานแต่พอประมาณ พอประมาณนี้พอดีไม่ใช่ว่าน้อย ไม่ใช่มีกิจน้อย บางคนแปลคำนี้ว่ามีกิจน้อย ไม่ถูก แปลว่าพอประมาณถูก ถ้าภาษาบาลีนะ ถ้าแปลเป็นภาษาไทยใช้คำว่ามีกิจพอ ประมาณ คือพอดีกับกำลังสติปัญญา เรียกว่าน้อยสำหรับกิเลส แหละ เพราะกิเลสมันต้องการมากไม่มีขอบเขต ถึงเราเอาให้มันน้อยพอกับกิเลสต้องการนั่นนะพอดีหรือพอประมาณ เมื่อเรียน เรียนเกิน เกินพอดี เกินพอประมาณก็ตายได้เหมือนกันแหละ นักเรียนที่เรียนเกินประมาณเกิน มันก็ตายได้เหมือนกัน เรียนมากหลายอย่างมันก็ไม่ได้ผลดีมันกระท่อนกระแท่นบกพร่องไปหมด การงานก็เหมือนกันถ้ามันเกินความสามารถแล้วก็ มันก็ต้องล้มละลาย ถ้ามันมากเกินไปก็เป็นการทรมานโดยไม่รู้สึกตัว เป็นเรื่องของความโลภ พอได้บำนาญเดือนหนึ่ง ๘ พันบาท ข้าราชการชั้นสูง ได้บำ เอ่อ, ออกแล้วได้บำนาญเดือนละ ๘ พันบาทแล้ว ก็ยังทำงานเหมือนกับ เขาเรียกว่า เหมือนสายตัวจะขาดหรือมันสมองจะระเบิด มันคนบ้านี่นะ มันไม่รู้จักว่าอะไรเท่าไหร่พอดี หรือเกิดมาทำอะไร แล้วมันก็ตายเร็ว บำนาญจะมีประโยชน์อะไรถ้าทำตัวให้ตายเร็ว นี่ตัวอย่างที่จะต้องเหลือบดูว่า การงานพอประมาณแก่กำลังกาย กำลังจิต กำลังปัญญามัน มันอยู่เท่าไหร่ อย่าปล่อยให้มันไปตามอำนาจของความโลภ ทีนี้จะทำเท่าไหร่นี่มันไม่แน่ จะทำกันเท่าไหร่มันไม่แน่ ถ้ามันมีปัญญามากมีอะไรมากมันทำได้มาก ทำได้เป็นว่าเล่น อันนี้เขาไม่เรียกว่าเกิน เกินประมาณ เช่นว่าคนคนหนึ่งมันมีความสามารถมากเฉลียวฉลาดมาก เคยชินการงานมาก มันทำโรงสีพร้อมกัน ๑๐ โรงก็ได้ไม่เสียหาย แต่ถ้าคนที่มันไม่สามารถไปทำโรงเดียวมันยังล้มละลาย ปริมาณจะทำเท่าไหร่พูดไม่ได้เพราะคนมันต่างกันมาก ฉะนั้นคำว่ามีการงานพอประมาณ ก็พอประมาณ พอดีกับสติปัญญาความสามารถของตนของตนก็แล้วกัน เป็นนักเรียนก็ดี เป็นผู้ทำการงานแล้วก็ดี หรือว่าเป็นผู้รับภาระอะไรใหญ่โตกว้างขวางก็ดี ต้องให้พอประมาณพอดีกับสติปัญญา
ทีนี้ข้อที่ สิบ สัลละ สัลละหุกะวุตติ สัลละหุกะวุตติ เป็นผู้มีความประพฤติเป็นอยู่เบาพร้อม เป็นผู้มีความประพฤติเป็นอยู่เบาพร้อม หายใจคล่องอยู่เสมอ สัลละหุกะวุตติ ประพฤติเบาพร้อม ไม่หนักอึ้งเหมือนกับแบกของหนักอยู่เสมอ ตรงกันข้ามกับอันนี้ ผู้มีชีวิตเป็นอยู่เบาพร้อม หมายความว่าไม่มีอะไรผูกพันเหมือนกับถูกจองจำ ไม่มีอะไรเป็นเครื่องผูกพันเหมือนกับถูกจองจำ แล้วก็เป็นผู้มีความพอเหมาะ อะไรเรื่องความสามารถกับการ กับการงานของตัวนี่มันจึงจะเบาพร้อมไปได้ แม้แต่ร่างกายกระปรี้ กระเปร่า จิตใจเฉลียวฉลาดคล่องแคล่ว ประกอบการงานพอดีกับสมรรถภาพของมัน ชีวิตความเป็นอยู่ก็เรียกว่าเบา เบาพร้อม ไม่ไปเที่ยวทำความผูกพันรัดรึงกับสิ่งต่างๆ ด้วย คำว่าพร้อมหมายความว่าหลายอย่าง คือเบาไปทุกๆ อย่าง จึงเรียกคำว่าเบาพร้อมนี้ว่าแปลตามภาษาบาลี ฟังเป็นภาษาไทยเคอะๆ คะๆ แต่ก็จำเป็นต้องใช้คำแปลตรงตามภาษาบาลี เบาพร้อมไปทุกอย่างเลย ถ้ามันหนักที่ส่วนไหนแก้ส่วนนั้น มันขัดข้องอึดอัดอยู่ที่ส่วนไหนแก้ส่วนนั้น ให้เราเบาพร้อม แต่ไม่ใช่เพรียวลมเหมือนกับคนหนุ่มคนสาวสมัยนี้ นี่ก็ต้องเขียนให้ชัดด้วย เบาพร้อมอย่างถูกต้องอย่างเหมาะสมที่จะเป็นการเป็นงาน ไอ้เพรียวลมมันก็ไปลงคูแหละ ไอ้เบาพร้อมนี่ก็ไปตามถนนหนทาง
ข้อที่ สิบเอ็ด สันตินทริโย สันตินทริโย พึงเป็นผู้มีอินทรีย์อันระงับ อินทรีย์อันระงับ อินทรีย์ นึกถึงนกอินทรีย์ เรื่องใหญ่เรื่องสำคัญเรื่องคอขาดบาดตาย เขาเรียกว่าอินทรีย์ ถ้าอินทรีย์อันระงับในที่นี้หมายถึงนกอินทรีย์ในเรา คือนกอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นกอินทรีย์ ๕ ตัวเขียนรูปภาพไว้ในโรงหนัง นกอินทรีย์ตัวหนึ่งกินตา นกอินทรีย์ตัวหนึ่งกินหู นกอินทรีย์ตัวหนึ่งกินจมูก นกอินทรีย์ตัวหนึ่งกินลิ้น นกอินทรีย์ตัวหนึ่งกินกาย แล้วมันจะระงับเสียได้ อินทรีย์มันจะระงับเสียได้ ถ้า ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันเป็นไฟอยู่เสมอ ปราศจากความรู้ ปราศจากการควบคุมที่ถูกต้อง มันจะมีอาการเหมือนกับว่ามันถูกกัดอยู่ตรงนี้เสมอ ถูกกัดที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เสมอ บางทีก็ใช้คำว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ลิ้น กาย เอาแต่ ๕ อย่างนี้เป็นไฟอยู่เสมอ จะจะเติมใจเข้าไปด้วยก็ได้เป็นอินทรีย์ ๖ แต่โดยมากเขามุ่งแต่เพียงไอ้ ๕ ข้างต้น ซึ่งเป็นส่วน ส่วนที่เกี่ยวกับร่างกาย ตา หู จมูก ลิ้น กาย อะไรก็ส่งไปยังใจ ใจก็เป็นอินทรีย์ตัวใหญ่อีกตัวหนึ่ง ทีนี้มันใช้คำว่าระงับหมายความว่าไม่แสดงออกให้คนเห็น หมายถึง ตา หู จมูก ลิ้น กาย มีความสงบระงับ อินทรีย์มีอีกคำหนึ่งเป็นชื่อของธรรมะที่สำคัญ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา อินทรีย์ ๕ นั้นไม่เกี่ยวกับอันนี้ คำว่ามีอินทรีย์อันระงับอยู่เสมอหมายความว่า มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย อันระงับอยู่เสมอ จักขุนทรียัง โสตินทรียัง ฆานินทรียัง ชิวหินทรียัง กายินทรียัง พระสวดอยู่บ่อยๆ หมายถึงอินทรีย์ ๕ อย่างนี้ ไอ้ส่วนอินทรีย์ ๕ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา นั้นมันเป็นอินทรีย์ชนิดที่จะฆ่านกอินทรีย์นี้ คือเป็นอินทรีย์ฝ่ายที่จะทำลายหรือฆ่าอินทรีย์ทั้ง ๕ นี้ให้สงบระงับ ถ้าคุณจะถามว่าเอาอะไรมาทำให้อินทรีย์ระงับ ก็อินทรีย์ ๕ อันมาระงับมาทำให้ระงับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ๕ ตัวนี้มันเป็นไฟ เราก็เอาศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ๕ ตัวนั้นมาดับมาระงับ เป็นผู้มีอินทรีย์ ๕ (อันระงับ) ไม่เป็นบาดตาคอยสอดส่องมองในครัว หูก็คอยฟังอะไรที่มันร้องเพราะๆ จมูกก็คอยดม ลิ้นก็คอยหาแต่อร่อยๆ นี่ แม้แต่เพียงไปบิณฑบาตนี่มันก็มีเรื่องที่อินทรีย์พลุ่งพล่านได้มากเรื่องกินอาหารอย่างเดียว พระเณรไปหาบิณฑบาตมาฉันนี่มันยังทำให้อินทรีย์ทั้ง ๕ วุ่นวายร้อน คราวนี้เรื่องอื่นๆ ยังมีอีกมาก ขอให้ทำโดยวิธีที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ลุกเป็นไฟอยู่ตลอดเวลาทุกๆอย่างทุกๆ การงาน ทุกหน้าที่การงาน สำหรับพวกคุณพูดง่ายๆ ถ้าอินทรีย์ไม่ระงับแล้วสอบไล่ตก ปีนี้ปีไหนก็ตามที่สอบไล่ได้นี่เพราะอินทรีย์มันระงับอยู่พอสมควร ลองไม่ให้มันระงับมันก็ต้องยุ่งกันไปหมดสอบไล่ตก อินทรีย์ระงับนี้กินความไปถึงความสงบเย็นแห่งจิตใจ แต่ว่าในที่นี้ในขั้นนี้เอาแต่เพียงภายนอกเสียก่อน ตา หู จมูก ลิ้น กาย
ข้อที่ สิบสองเรียกว่า นิปะโก ไอ้จะ จะ นี้แปลว่า ด้วย ด้วย นิปะโก แล้วก็ จะ จะแปลว่าด้วย คือด้วยมาเรื่อย ด้วย ด้วย ด้วย ด้วยนั้น ด้วยนั้น นิปะโก แปลว่ามีปัญญารักษาตัวพอตัว คำนี้แปลก เราได้ยินแต่คำว่า ปัญญา ปัญญา วิชชา ญานะ อะไร คำนี้ว่า นิปะโก คือว่า ตัดต่อออกมา แบ่งออกมา เจียดออกมาเฉพาะปัญญาที่รู้รักษาตัวหรือพอตัว หรือว่าถ้าจะไม่เรียกว่าแบ่ง ก็จำกัดความให้มันแคบเข้ามันสั้นเข้ามาว่าปัญญาที่จะรักษาตัวรอดแล้วก็พอตัว หมายถึงปฏิภาณ ไหวพริบอะไรอยู่มาก ข้อนี้ ไม่ ไม่ได้หมายถึงปัญญาโดยตรง ปัญญาอืดอาด ปัญญานั้นมันไม่พอไม่พอตัวและไม่รักษาตัวได้ บางคนปัญญามันลึกอยู่ลึก คลานงุ่มง่ามกว่าจะขึ้นมาถึง ไม่ทันต่อเหตุการณ์ ปัญญาที่เป็นสติ หรือเป็นปฏิภาณนี้คือปัญญาไวทันต่อเหตุการณ์ พอตาเห็นรูปทันต่อเหตุการณ์ทันทีว่า กูจะไม่บ้ากับมันหรือไม่หลง ไม่มี ไม่มีโอกาสที่จะ จะ จะหลงเมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูได้ยินเสียง เมื่อจมูกได้กลิ่น เป็นสติหรือเป็นปฏิภาณ เกิดขึ้นมาแก้ปัญหาหรือว่าแก้ แก้ไขสถานการณ์หรือว่าตัดสินใจ หรือว่าอะไรถูกต้อง ปัญญาชนิดนี้เขาเรียกว่าปัญญารู้รักษาตัวอย่างพอตัว ไม่มากไม่น้อย บางคนมีปัญญาน้อย บางคนมีปัญญาเฟ้อ มันไม่อยู่ในบทที่ว่า นิปะโก ปัญญาที่พอดีถูกต้องตามเรื่องราวและพอดี เวลานี้ในโลกนี้มันปัญญาเฟ้อ ถึงคุณเรียนในมหาวิทยาลัยก็มีส่วนที่เฟ้อ ความรู้ก็เฟ้อ มีหลัก หลักสูตรมันอย่างไหนก็ไม่รู้ เด็ก เด็กถูกทรมานให้เรียนสิ่งที่ไม่ควรจะต้องเรียน ชั้นประถม ทั้งชั้นอนุบาล ชั้นประถม เรียนสิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องเรียน มันบ้าไป โอ้, ต้องเก่งทุกอย่างต้องตามฝรั่งให้ทัน ต้อง เด็กเล็กๆ ท่องๆ เรื่องเมืองฝรั่ง ป่วยการ มันเกิน ปัญญาเฟ้อ ทีนี้ส่วนปัญญาจะช่วยเด็กให้รอดได้กลับขาด เด็กไปเรียนที่ปัญญาเฟ้อแล้วขาดบกพร่องในปัญญาที่จำเป็น หลักสูตรการศึกษาในประเทศไทยหรือของโลกก็ตามยังอยู่ในสภาพที่ขัดหลักข้อนี้ ปัญญาที่รู้รักษาตัวรอดและพอตัวนั้นมันไม่ มันไม่พอมันไม่ดี มัน มันมีแต่เฟ้อไปเฟ้อมาขาดไปขาดมา ทีนี้ทั้งโลกก็เป็นกันอย่างนี้เรียนจบเป็นฮิปปี้ เพราะมันไม่ตรงจุดมันไม่พอตัวที่จะแก้ปัญหา
ข้อที่ สิบสาม อัปปะคัพโภ คัพนี้ พ พาน แล้ว ภ สำเภา อัปปะคัพโภ พึงเป็นผู้ไม่คะนอง ไม่คะนอง ที่เราพูดว่าไม่คึก ไม่คึกไม่คะนอง คะนองมี คะนองกาย คะนองวาจา หรือคะนองใจ คะนอง คือ ประมาท คืออวดดี คนหนุ่มคนสาวเป็นมาก เพราะว่าไอ้กำลังงานมันกำลังเจริญมันก็เลยคึกคะนอง ได้ฟ้าได้ฝนก็เลยคึกคะนองกันใหญ่ ไอ้นั่นแหละคือความฉิบหาย สำหรับภิกษุถือเป็นเรื่องที่เสียหายร้ายกาจ การคะนองกาย คะนองวาจา ถือเป็นเรื่องที่น่าเกลียดที่สุด แต่พวกฆราวาสอาจจะเห็นว่ามันน่าสนุกน่าสนานชอบคึกชอบคะนองสรวลเสเฮฮาเกินความจำเป็น ไอ้เรื่องรับน้องใหม่บ้าๆ บอๆ ของพวกคุณก็อยู่ในข้อนี้ เอาไปพิสูจน์ดู ถ้าเราจะพิจารณาความหมายของคำคำนี้ ที่ว่าคะนองหมายถึงเกิน ประมาท อวดดีเป็นกิเลสประเภทหนึ่ง มันเสีย เสียแรงงานเปล่าๆ โทษของมันคือมันเสียแรงงานไปเปล่าๆ ไม่มีประโยชน์นี่อย่างหนึ่ง แล้วมันกลับเป็นโทษในข้อที่ว่า ทำไปด้วยความประมาทความโง่ความหลง อยู่นิ่งๆ ดีกว่า คือสำรวมระวัง ไม่ต้องคึกไม่ต้องคะนอง พอพูดว่าคึก แล้วก็หมายความว่าเกินพอดี ทีนี้คึกด้วยคะนองด้วยแล้วมันก็เลยเถิด
ข้อที่ สิบสี่ กุเลสุ อะนะนุคิทโธ กุเลสุ อะนะนุคิทโธ คิทโธนี้ ค ควาย ธ ธง อ่า, ค ควาย ท ทหาร ธ ธง โธ ธธง คำนี้พูดสำหรับพระโดยตรง เพราะเป็นผู้ไม่พัวพันในตระกูลทั้งหลาย เป็นผู้ไม่เข้าไปพัวพันในตระกูลทั้งหลาย ถ้าเป็นพระอย่าเข้าไปพัวพันในชาวบ้าน แต่ถ้าคุณเป็นชาวบ้านอยู่แล้วไม่พัวพันในอะไร ลองคิดดู หา, ก็อย่าไปสุมหัวกันกับพวกที่มันต่ำลงไปอีก ไปสุมหัวไปสำมะเลเทเมากันกับพวกที่อันธพาล ต่ำทรามลงไปอีก คำว่าชาวบ้านสำหรับพระก็หมายความว่ามันอยู่กันคนละระดับ พระอยู่ระดับชาวบ้านอยู่ระดับ ชาวบ้านอยู่ระดับต่ำ คราวนี้ชาวบ้านก็มีแต่เรื่องกิน เรื่องสบายเรื่องไอ้สนุกสนานเอร็ดอร่อย พระอย่าไปพัวพันกับชาวบ้าน โดยเห็นแก่ได้กินได้เล่นได้หัวได้สนุกสนานเอร็ดอร่อย แต่ว่าถ้าคุณสึกไปเป็นฆราวาสแล้ว หลักธรรมะหลักธรรมะข้อนี้ก็อย่าไปพัวพันกับไอ้แก๊งค์หรือกลุ่ม ที่มันเอาแต่กิน แต่เล่น แต่สนุก แต่เอร่อย ให้ตั้งตัวไว้ให้ ให้ ให้มันปลอดภัยอย่าไปสุมหัวในเรื่องสำมะเลเทเมา ถ้าแปลสำหรับพระก็ว่าอย่าไปพัวพันในตระกูลทั้งหลาย ถ้าแปลสำหรับฆราวาสก็อย่าไปพัวพันในเรื่องสำมะเลเทเมา คำว่าตระกูล คำว่า คำว่า คำว่าตระกูลหรือ กูละ ในที่นี้บาลีก็ กูละ แปลเป็นไทยว่า ตระกูล หรือ สกุล สกุล มาจากสันสกฤต คำว่า กูละ นี้แปลว่า ระคน เอามาทำให้ระคนกัน นั่นคืออาการที่เรียกว่า กูละ หรือ ตระกูล ตระกูลบ้านเรือน ทีนี้ บ้านเรือนหรือครอบครัวมันระคน เหมือนกับเอา เอาของมาใส่ถาดเสร็จแล้วคน มันยุ่งมันวิ่งว่อนเหมือนมด นี่เขาเรียกว่า ตระกูล ตระกูล ก็คือ ระคนกันอยู่อย่างพลุกพล่านอยู่เรื่อยไป ทีนี้ผู้ที่จะ จะ จะก้าวหน้าในทางจิตใจต้องถอยออกมา ต้องถอยออกมาอยู่ข้างนอก มันก็ได้ความว่าอย่าไประคน กับไอ้เรื่องที่มันพลุกพล่านพลุ่งพล่าน ถอยออกมายืนในที่ที่เงียบที่สงบที่สงัด แล้วคิดแล้วนึกพิจารณาอย่างแยบคาย อย่าลงไปสุมหัว หัวเราะเฮฮากันอยู่ชั้นล่าง ขึ้นไปชั้นบน นั่งอยู่คนเดียว เดินคิด นอนคิด ยืนคิด นี่แหละข้อนี้ ปฏิบัติข้อนี้ อยู่ที่โรงเรียนที่วิทยาลัย เราปลีกตัวไปอยู่กับการงานของเราอย่าลงไปสุมหัวในห้องสโมสรหรือห้องอะไร ล้วนแต่หัวเราะกันทั้งนั้น จะทำได้บ้างเพียงแต่ว่าที่มัน มันไม่ ไม่เกินไปและไม่ให้โทษ นี่เขาหมายถึงให้โทษมันเกินไป หรือมันไม่จำเป็น อย่าพัวพันในสิ่งที่ระคน อย่าเข้าไปพัวพันในการระคนคลุกคลีกัน
ข้อสิบห้า ยาวสักนิดนะ นะจะ ขุททัง ท ทหารทั้ง ๒ ตัว สะมาจะเร กิญจิ นะจะ ขุททัง สะมาจะเร กิญจิ อย่าประพฤติความต่ำทรามอะไรๆ ขุททังในที่นี้แทนที่จะแปลว่าเล็กน้อย แปลว่าต่ำทราม อย่าประพฤติสิ่งที่ ที่เรียกว่าต่ำหรือทราม แม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง ไรไร แปลว่าชนิดไหนก็ตาม ครั้นถ้าเรารู้สึกว่าต่ำทรามแล้วก็อย่าไปทำ อย่าเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย ขึ้นชื่อว่าความต่ำทรามไม่มีเล็กน้อย อย่าเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย ถ้าต่ำทรามแล้วก็ไม่ทำ ยกตัวอย่างเหมือนกับว่าสูบบุหรี่นี่ คุณคิดดูเป็นเรื่องต่ำทรามหรือไม่ อยู่ในข้อนี้หรือไม่ ในข้อนี้มันมีว่า กิญจิ คือ ไร ไร เล็กก็ตามใหญ่ก็ตาม ไอ้เรื่องสูบบุหรี่นี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะว่ามันทำให้เสียหลักในส่วนใหญ่ หลักที่ใหญ่โตที่สุดคือหลักว่า เราจะไม่ทำสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ คือเราจะไม่ทำสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ คือหลักที่ใหญ่มหึมาสำคัญอย่างยิ่งเท่าภูเขาเลากา เราจะไม่ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ เอ่อ, ไม่เป็นประโยชน์ เพราะเราไปทำสิ่งที่ไม่เป็นประ โยชน์ ถือว่าเรามันบ้าที่สุด เลวที่สุด ต่ำที่สุด แต่ถ้าสิ่งไม่มีประโยน์สิ่งนั้นต้องเป็นโทษ ไปทำสิ่งที่ไม่มีประโยชน์นั่นคือโง่ คือบ้า คือมีโทษ เพราะมันเสียเวลาเสียเงิน เราไปทำสิ่งใดก็ตามเราต้องเสียเวลาในการทำสิ่งนั้น ถึงเราไปทำสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ก็ต้องเสียเวลาเหมือนกันแหละ แล้วบางทีก็ต้องเสียเงินเหมือนกันต้องไปซื้อ เช่นบุหรี่นี่ต้องซื้อแล้วเสียเวลาสูบ เสีย เสีย เสียร่างกาย ร่างกายมันร่อยหรอทรุดโทรม แต่ ๓ อย่างนี้ก็ยังไม่เท่ากับว่าเรามันเสียหลักทางวิญญาณ คือจิตใจเสียในทางวิญญาณ ไม่ ไม่รู้ว่ามีหลักกันอย่างไรแล้วเวลานี้ เช่น สิ่งที่ไม่ควรทำก็ทำแล้วจะมีหลักอะไรเหลือ ถ้ามีหลักก็มันต้องมีหลักว่าสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ไม่ควรทำจะต้องไม่ทำโดยเด็ดขาดเลย นี้จึงบัญญัติไว้ว่า จะไม่ทำความ ไม่ ไม่ประพฤติความต่ำทรามทุกชนิด แม้เล็กก็ตามใหญ่ก็ตาม ที่ยกตัวอย่างให้คุณฟังเรื่องสูบบุหรี่นี้ไม่ใช่เรื่องเล็กเสียแล้ว มันเรื่องทำลายหลักเกณฑ์ทั้งหมดของชีวิตในข้อ ข้อที่เราจะต้องถือ ถ้าไม่มีประโยชน์เป็นไม่ทำโดยเด็ดขาด ถ้าไปทำก็ไม่มีประโยชน์ ก็บอกว่าไม่มีหลัก เป็นคนไม่มีหลัก คราวต่อไปจะกวัดแกว่งหมดแหละ จะไปเรียนสิ่งที่ไม่ควรเรียน หรือว่าจะไปทำสิ่งที่ไม่ควรทำโหญ่โตโลกังไปเลย แล้วก็ลงเหวในที่สุด เพราะไปทำให้มัน มัน มันผิดหลัก มันเสียหลักจนไม่มีหลักเหลือ หลักนี้ต้องเด็ดขาดจะไม่ทำสิ่งต่ำทรามทุกชนิด นี่เรื่องบุหรี่นี่ยกมาเป็นตัวอย่าง มันเป็นเห็นได้ง่ายๆ ทั่วไปว่า คนจำนวนมากมายนี่ยังโง่ ไปทำสิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องทำ ไม่ควรทำ เสียเวลาเปล่าๆ เสียเงินเปล่าๆ เสียร่างกายเปล่าๆ แล้วก็เสียทางวิญญาณอย่างลึกซึ้งถือว่ามันโง่ จึงบัญญัติไปเสียเลยว่า ไร ไร ทุกอย่าง นั่นคือสิ่งที่ต่ำที่ไม่มีค่าทุกอย่าง
ทีนี้ข้อสิบหก เมตตา เมตตัญจะ เมตตา เมตตา ตัวหนังสือแปลว่าความเป็นมิตร มิตตะ เขาลงวิภัติปัจจัยเขาแปลงรูปหนังสือเป็นเมตตา แปลว่าความเป็นมิตร ความเป็นมิตรนี้มันเป็นมิตรโดยที่ว่า ทั้งทาง ทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ นี่ นี่เป็นหลัก ๓ คำนี้ เป็นหลักที่เราจะต้องจำไว้ ถ้าจะพูดอะไรให้ครบถ้วน ทางกาย ทางวาจา ทางใจ เป็นภาษาศาสนา จำไว้ด้วย จิตใจต้องเป็นมิตรก่อน แล้วพูดออกไปก็เป็นมิตร แล้วกระทำก็เป็นมิตร อย่าไปตี อย่าไปฆ่า อย่าไปอะไรนี่คือเป็นมิตร แล้วก็พูดไม่พูดร้าย นี่ก็เป็นมิตร แล้วใจมันก็รักใคร่เมตตาปราณี บทสำหรับเมตตานี้มีว่า สุขิโน วา เขมิโน โหนตุ สัพเพ สัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตา สัตว์ทั้ง หลายทั้งปวงจงเป็นผู้มีความสุข จงเป็นผู้มีความเกษม จงมีตนถึงแล้วซึ่งสุข จะมีอยู่ ๓ คำ ที่เป็นประธาน เป็นรายละเอียดมีมากเอาคำเป็นประธาน ๓ คำ สุขิโน มีสุข เขมิโน มีความเกษม สุขิตัตตา มีตัวที่ถึงซึ่งความสุข สุขิโน มีสุขอยู่แล้ว ก็มีตัวถึงซึ่งความสุขแล้ว มันย้ำมากขึ้นไปเท่า เท่านั้นเอง ที่สุขมันคือเกษมอยู่เหมือนกันแต่ว่าเขาแยกออกไป คำว่าสุข มันไม่มีทุกข์ คำว่าเกษม มันชื่นบาน หรือ สำ สำราญรื่นเริง แต่ถ้าถือตามตัวหนังสือแท้จริงในภาษาบาลีคำว่า เขมะ หรือ เกษม แปลว่าปลอดภัย ในภาษาไทย คำว่าเกษมแปลว่า สนุกกันใหญ่ คำว่าเกษมในภาษาไทยไม่ได้แปลว่าปลอดภัย แต่ตัวบาลีแปลว่าปลอดภัย สุขิโน มีความสุข เขมิโน มีความปลอดภัย สุขิตัตตา มีตนอันถึงแล้วซึ่งความสุข เขมะหรือเกษมะ เฉยๆ แปลว่า ปลอด ปลอดอันตรายทางกาย ทางใจปลอด ในภาษาธรรมะ เกษมนี่ต้องเกษมจากโยคะ โยคะคือเรื่องผูกพัน เช่นโซ่ตรวน นี่เขาเรียกเครื่องผูกพัน ถ้าปลอดจากเครื่องผูกพันเขาเรียกว่าเกษมจากโยคะ ทีนี้โยคะทางวิญญาณคือ โลภะ โทสะ โมหะ ไอ้กิเลสนานาประการนั่นน่ะคือโยคะ ปลอดภัยจากกิเลสเขาเรียกว่าเกษม นี่เราภาวนาว่าขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงมีความเกษม คือปลอดภัยจากเครื่องผูกพันทั้งทางกายทางใจ ไม่เป็นทุกข์ทั้งทางกายและทางใจ ทีนี้เราอาจจะลืม เราลืมลืมนึกถึงเพื่อนสัตว์ จะเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ตาม สัตว์มนุษย์ด้วยกันก็ตาม เราลืมวันหนึ่งคืนหนึ่งไม่เคยนึกถึงเพื่อนเลย ถ้านึกถึงก็นึกถึงแต่คนรัก หรือคนที่จะได้ จะให้หรือคนเกลียด คนเกลียดเอามานึกจองเวรกัน และคนที่รักก็นึก สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงไม่นึกเราไม่ได้นึก นี่ว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงแม้แต่สัตว์เดรัจฉานทั้งหมดทั้งสิ้น ขอให้เป็นผู้มีความสุขมีความปลอดภัย มีตัวก็เต็มไปด้วยความสุข มันธุระอะไรเหตุผลอะไรจะต้องไปนึกถึงคนอื่น นี่คน คนอันธพาลจะถามแบบนี้ เมื่อได้ฟังข้อนึ้คนอันธพาลจะถามว่าธุระอะไรจะไปนึกถึงคนอื่น เพราะว่าคนอันธพาลมันเต็มอัดอยู่ด้วยความเห็นแก่ตัว มันก็ไม่นึกถึงคนอื่น เมื่อเราต้องการจะทำลายความเห็นแก่ตัวเราก็ต้องนึกถึงคนอื่น แล้วมันเป็นความจริงเป็นข้อเท็จจริงด้วยว่า เราทั้ง หลายเป็นเพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น มีปัญหาอย่างเดียวกันมีหัวอกอย่างเดียวกัน คุณคิดดูให้ดี มนุษย์ทุกคนมีปัญหาอย่างเดียวกันมีหัวอกอย่างเดียวกัน ต้องเรียนต้องทำการงานเหมือนกัน เพราะมันถูกบีบคั้นด้วยความทุกข์มาเหมือนกัน ความจนหรือว่าความลำบากหรือว่ากิเลสรบกวน หรือว่าความเกิดแก่เจ็บตายเป็นปัญหาขึ้นมาอะไรอย่างนี้ เรามีความทุกข์อย่างเดียวกันหัวอกเดียวกัน แล้วมองเลยไปถึงสุนัข แมว วัว ควาย อะไรก็เหมือนกันอีก มันมีปัญหาอย่างเดียวกัน คือ กำลังทนทุกข์ เราถือว่าชีวิตนี้เป็นความทน คุณไม่เคยได้ฟัง ก็ฟังเสียนะ การมีชีวิตอยู่คือการทน แต่ว่ามองไม่เห็น คนโง่ๆ มองไม่เห็น เมื่อมีความทุกข์อยู่ก็ดี เมื่อมีความสุขอยู่ก็ดี เป็นความต้องทน ความต้องทนหมายความว่ามันต้อง ต้องทำการทนทรงตัวไว้นี่ เช่นเราจะยืนอยู่นี่ เราจะยืนอยู่ไม่ให้ล้มเราต้องทำอะไรบ้าง เราต้องตั้งความระวัง ต้องตั้งการดำรงทรงไว้ แล้วการทรงนี้มันคือหนัก คือหนัก และต้องทน ฉะนั้นการมีชีวิตเขาเรียกว่า ทรมานโน ทรมานโน แล้วมันก็ทรงอยู่ คำนี้เรียกว่า ทรมานไปเสียเลย ถูกที่สุด ทรมานโน แล้วทรมานไปเลย ที่จริงทรมานนี้แปลว่าทรง ฉะนั้นสิ่งใดมันจะตั้งอยู่ได้ต้องมีการทรงตัว ถ้าไม่มีการทรงตัวมันก็ล้ม ชีวิตจะตั้งอยู่ได้ต้องมีการทรงตัว ต้องการ มีอาการต้องเหมือนกับว่าต้องทนนั่นแหละ ไม่นั้น ไม่ ไม่ ไม่เช่นนั้นมันก็ล้ม ทีนี้เราก็มามองเห็นว่า โอ้, ทุก ทุกๆ สัตว์ที่มีชีวิต นับตั้งแต่ต้นไม้ มานี่มันก็ต้องมีการทรง มีการทรมาน ทรมานโน มันต้องดิ้นรน ความดิ้นรนนั่นแหละคือการ การทรมานแหละ ถ้าไม่ดิ้นรนมันอยู่ไม่ได้ ต้องดิ้นรนต้องหาอาหารต้องกินต้องอาบต้องถ่าย คุณลองอยู่เฉยๆ ไม่กิน ไม่อาบ ไม่ถ่าย กินเข้าไปแล้วไม่ถ่ายได้อย่างไร มัน มันเป็น ต้อง ไปเสียหมด ต้องหา ต้องกิน ต้องถ่าย ต้องอาบ ต้องรักษา คำว่า ต้อง นั่นแหละ คือคำว่าทรง มันหนัก คำว่าต้อง นี่เราก็ดูเพื่อนสัตว์ชีวิตมีชีวิตด้วยกัน ตั้งแต่สัตว์มนุษย์ด้วยกัน สัตว์เดรัจฉานลงไปถึงต้นไม้ต้นไร่บรรดามีชีวิต มีความทนทรมานทั้งนั้น จึงหวังว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงพ้นจากความทนทรมานนี้โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ขอร้องภาวนา อธิษฐานแผ่เมตตา นี่มันทำลายความเห็นแก่ตัวและฉลาดด้วย คือมองเห็นความจริงว่า เออ, มันเหมือนกันหมด เป็นคนที่ไม่เห็นแก่ตัวและเป็นคนที่ฉลาด
ข้อสุดท้าย คือเมตตานี้ ๑๖ ข้อ ถ้าจะปฏิบัติได้ทั้ง ๑๖ ข้อนี้ มันก็ต้องไปรวมอยู่ที่ว่าไม่เห็นแก่ตัว อาศัยหลัก สุญญตา ที่ว่างจากตัวกูนี้เป็นจุดรวม เราจะประพฤติผิดก็เพราะว่ามันไม่ว่างจากตัวกู ตัวกูเข้ามาก็ต้องทำผิดทันที ตัวกูออกไปมันก็ทำถูกทันที เรื่องสุญญตายังคงสำคัญ ว่างจากตัวกูเมื่อไหร่ก็มีคุณธรรมเหล่านี้ครบบริบูรณ์ จะเป็นคนสามารถ เป็นคนตรง เป็นคนเลี้ยงง่าย เป็นคนอะไรทุกอย่างแหละ ปล่อยตัวกูเข้ามาอย่างเข้มข้นแล้วมันก็มืดมนหมด มันก็โง่ มันก็ไม่สามารถ เพราะมันโง่เสียเต็มตัวแล้วมันจะสามารถได้อย่างไร แล้วมันจะซื่อตรงไปได้เหรอ มันก็จะดื้อ ดื้อกระด้าง ไม่สันโดษ เลี้ยงยาก โง่เขลางมงายไปสารพัดอย่าง ตรงกันข้ามกับ ๑๖ ข้อที่ว่ามาแล้วนี้ ฉะนั้นยึดหลักที่ว่าทำลายตัวกูของกูด้วยอำนาจสุญญตาที่พูดกันอยู่ทุกวันทุกคืนนี้เพียงข้อเดียว จะปฏิบัติธรรมะทั้งหลายเหล่านี้ได้โดยง่าย ได้โดยถูกต้องและโดยสมบูรณ์ ด้วยธรรมะทั้งหลายที่เนื่องด้วยสุญญตา ตรงนี้เตือนเตือนสักนิดหนึ่งว่า บางคนอาจจะไม่สังเกต ต้องถูกต้อง และต้องสมบูรณ์ และต้องโดยง่ายไม่อย่างนั้นไม่ไหว การที่คุณจะทำอะไรที่เรียกว่าประสบความสำเร็จนั้น ถูกต้องและครบถ้วน ถูกต้องไม่ครบถ้วนใช้ไม่ได้ และต้องโดยง่ายคือโดยไม่ลำบาก จึงจะเรียกว่าเป็นความสำเร็จ ที่ ที่สมบูรณ์ ที่น่าดู เพื่อจะมีธรรมะทั้ง ๑๖ ข้อนี้อย่างถูกต้องสมบูรณ์โดยง่ายให้อาศัยหลักธรรมเรื่องสุญญตา ซึ่งได้พูดมาแล้วหลายครั้ง และเรายังจะต้องพูดกันต่อไปอีกหลายครั้ง เรื่องสุญญตา ในที่นี้พูดกันแต่เพียงว่า ธรรมะที่ผู้ต้องการประโยชน์จะพึงประพฤติ โดยเฉพาะไอ้พวกลูกเมืองคน ไอ้ ไอ้ คนลูกคนเมืองตำปรื้อนี้ จะต้องรักษาเกียรติของเมืองตำปรื้อที่ทำอะไรดีมาตั้ง ๑,๒๐๐ กว่าปีแล้ว พูดกันหลายหนแล้วอย่าลืมเสีย หน้าที่ที่ต้องกู้เกียรติเมืองตำปรื้อยังมีไม่สิ้นสุด ผมก็คนเมืองตำปรื้อ พวกคุณก็คนเมืองตำปรื้อ ฉะนั้นต้องรับผิดชอบร่วมกัน หมายความว่าร่วมมือกันกู้เกียรติของเมืองตำปรื้ออย่าให้มันตกต่ำลงไป พวกบางกอกมันกู้เกียรติคนบางกอก ภาคอีสานกู้เกียรติภาคอีสาน ถ้าต่างคนต่างกู้เกียรติได้หมด หรือทั้ง ทั้งประเทศก็ดีแหละ สบายเป็นสุขแหละ เมืองตำปรื้อมีปมด้อยที่ชื่อเขาเรียกว่าเมืองตำปรื้อ เลิกล้างเลิกถอนไปเสียให้หมด ปฏิบัติธรรมะ ๑๖ ประการนี้ ไปพิจารณาดูทุกคน มันไม่ยากและสนุก และจะดีหมดทั้งการเรียนการงานการอะไรก็ตาม เป็นพระก็ได้เป็นฆราวาสก็ได้ เป็นเด็กก็ได้ผู้ใหญ่ก็ได้ ๑๖ ข้อนี้เอาไปพิจารณาให้สมกับพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ผู้ที่ต้องการประโยชน์จะต้องปฏิบัติธรรมะเหล่านี้ ประโยชน์สูงสุดก็ตาม ประโยชน์ต่ำๆ เตี้ยๆ ก็ตาม ให้ปฏิบัติธรรมะทั้งหลายเหล่านี้ พอกันทีเวลาล่วงไปเกินไปบ้างแล้ว