แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
และเนื่องจากได้พูดถึงเรื่องสำหรับภิกษุใหม่มาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ทีนี้ ก็จะได้พูดถึงเรื่องของภิกษุทั่วไป คือ ทั้งเก่าและใหม่ต่อไปตามความมุ่งหมายของขนบธรรมเนียมประเพณี เกี่ยวกับการเข้าพรรษา ซึ่งต้องมีการอบรมแนะนำสั่งสอนกันไปตามเรื่อง เวลานี้ก็เป็นเวลาในพรรษา-เข้าพรรษา ก็รู้กันอยู่แล้ว ก็เคยพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า เป็นเวลาที่จะต้องทำอะไรให้ดีเป็นพิเศษ อย่าให้มันเหมือนกันไปหมด นอกพรรษา ในพรรษาเหมือนกันไปหมดอย่างที่เห็นๆกันอยู่ เช่น ยังมีการไปเที่ยว-มาเที่ยวที่นี่ หรือไปธุระที่อื่น ไปเดินทางไกลไปกรุงเทพ ไปไหน เหมือนกับไม่ใช่... เหมือนกับไม่ใช่เป็นเวลาพรรษา ขอให้สังเกตดู ถ้าดูในรถ เรือ ยานพาหนะนี้ยังรู้สึกว่ามันมากไป
นี่แสดงว่าไม่ค่อยจะถือบทบัญญัติที่เป็นพระพุทธประสงค์ มีพระมาที่นี่ผมถามว่ามาทำไม? บอกว่ามาเที่ยว เขาไม่รู้สึกว่าละอายหรือกระดากอะไร เขายังคงตอบว่ามาเที่ยวอย่างเดียวกับนอกพรรษา นึกอยากจะไปไหนก็ไป ต่างจังหวัดหรือไปไหน ไม่ค่อยได้คิดทำนองที่ว่าเราจะพยายามไม่ไปไหน จะรอกิจธุระต่างๆไว้ก่อน ออกพรรษาแล้วจึงจะไปนี้ เป็นต้น นี่ มันย่อมแสดงถึงจิตใจว่าไม่สนใจ หรือไม่เคารพต่อพระพุทธประสงค์ ถ้าพูดว่า ไม่เคารพต่อพระพุทธประสงค์แล้ว ขอให้เข้าใจเถิดว่ามันแย่แล้ว ผมเคยบอกหลายครั้งหลายหนแล้วว่า พระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้ดี ท่านทำอย่างผู้ดี วิธีการระเบียบวินัยต่างๆ ท่านวางไว้อย่างผู้ดี ไม่ใช่สำหรับคนหน้าด้าน หรือคนเลว หรือคนอะไรทั้งนั้น ขอให้ไปดู ดูระเบียบวินัย ดูอะไรต่างๆ กระทั่งว่าให้ศาสนาของพระองค์อยู่ยืนมาได้อย่างไร? ก็ทำในลักษณะที่คนที่รักดีนั้นจะช่วยกันรักษาไว้ได้ เพราะฉะนั้น ขอให้ถือว่ามันไม่ต้องมีเรื่องที่จะต้องใช้อำนาจ ใช้อาชญา ใช้คำหยาบ หรือใช้อะไรของ... และก็ไม่ว่าเรื่องวินัย หรือเรื่องเป็นอยู่เล็กๆน้อยๆอะไรก็เหมือนกัน ยังมีเลวอยู่มาก อย่างง่ายๆ เช่น พูดเสียงดัง พระพุทธเจ้าอ้อนวอน ขอร้อง วิงวอนใน สูตร นับไม่ถ้วนว่า จงเป็นผู้มีเสียงน้อย จงชักชวนกันในความเป็นผู้มีเสียงน้อย นี่เรามันยังพูดเสียงดังกันอยู่ นี่มันเลวอย่างไม่รู้สึกตัว ผมก็จะยอมเป็นคนเลว คนรับบาป พระพุทธเจ้าท่านไม่พูดหยาบ ผมก็พูดหยาบ เพราะว่าพวกเราไม่ค่อยเอื้อเฟื้อในพระพุทธประสงค์ แต่ว่าผมพูดอะไรนี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นอย่างนั้นทุกองค์ ทุกรูป แต่ก็ยังมีอยู่มาก
ในพรรษานี้ขอร้องให้ระมัดระวังตั้งใจสำรวมเป็นพิเศษ อย่าโลเลเหลาะแหละเหมือนกับตลอดเวลา สิ่งใดสำรวมได้ขอให้สำรวม ที่ง่ายที่สุด เช่น ไม่พูดเสียงดัง เป็นต้น มันโง่ มันอวดดี มันดื้อ มันจึงทำได้โดยไม่เคารพพระพุทธประสงค์ นี่ มันง่ายที่สุดแล้วเรื่องที่ว่าไม่พูดเสียงดังนี่ ถือว่าเป็นเรื่องง่ายที่สุดที่ควรจะทำได้ก่อน ทีนี้ มันยังมีเรื่องอื่นๆอีกมากที่มันทำยากขึ้นไป เดี๋ยวนี้ไอ้เรื่องที่มันไม่ยากมันกลายเป็นเรื่องยาก ก็เพราะว่าเราไม่เอาใจใส่ ปล่อยปละละเลย มันเกิดเป็นความเคยชินขึ้นมา ไม่รู้สึกว่านี้เสียหายอย่างยิ่ง มันก็เตลิดไปเรื่อยจนไม่มีอะไรที่รู้สึกว่าเสียหายอย่างยิ่ง เราอยู่กันเหมือนกับ แก๊ง นี่ ใช้คำบ้าๆบอๆอย่างนี้ แต่ว่าเป็น แก๊ง ของคนทำดี ผมเห็นว่า หรือรู้สึกว่าเราอยู่กันเหมือนอย่าง แก๊ง ซึ่งความหมายว่าคนหลายๆคนอยู่รวมกัน ตั้งหน้าตั้งตาจะทำอะไรที่เป็นวัตถุประสงค์หรืออุดมคติของ แก๊ง นั้น ถ้ามันเป็นโจรก็มาทำอย่างโจร ถ้ามันเป็นบัณฑิตก็ต้องทำอย่างบัณฑิต ใช้คำว่า แก๊ง นั้นมุ่งหมายจะให้ถือเอาความหมายที่ว่าเราทำอย่างเงียบๆ ทำอย่างเงียบๆไม่อวด ไม่แสดง ไม่โฆษณา ไม่อะไร ซุ่มทำอย่างเงียบๆ เหมือน แก๊ง โจรนั้น พระพุทธเจ้าท่านก็ต้องประสงค์อย่างนั้น ไม่ให้ไปแสดงตัวแบบโฆษณา ก็มีอยู่ข้อหนึ่งว่า ยินดีในที่สงัดหรือไม่? แต่แล้วก็มีข้อที่เตือนว่า หน้าที่ที่จะต้องทำ-ทำหรือยัง? ช่วยกันสวดไว้บ่อยๆ ทศธรรมสูตร บรรพชิตควรพิจารณาเนื่องๆ ๑๐ ประการนั้น แล้วก็เคารพให้มาก เคารพคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเท่ากับเคารพพระพุทธเจ้า เพราะเหตุที่ว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนั้นว่า ธรรมวินัย ที่แสดงแล้ว บัญญัติแล้วจะอยู่เป็นศาสดาของพวกเธอ หลังจากที่ตถาคตล่วงลับไปแล้วนี้โดยร่างกาย
ถ้าเรามานึกถึงคำสั่งสอนที่มีอยู่อย่างไร ก็เรียนมามากแล้ว โดยเฉพาะพวกที่บวชเก่าก็เรียนมาไม่น้อยกว่า ปี ๒ ปีก็รู้ว่ามันเป็นอย่างไร แต่แล้วคำสั่งสอนเหล่านั้นยังไม่ได้รับการเคารพมากอย่างเพียงพอกันนั้น มันก็เลยเหมือนกับไม่มีพระพุทธเจ้า ก็กลายเป็นเรื่องอะไร ลองคิดดู เราบวชแสดงอาการอย่างเป็น พระ นี้ ปฏิญญายืนยันตัวว่าเป็น พระ แต่แล้วก็ไม่มีเจตนา ไม่มีจิตใจโดยแท้จริงที่จะเคารพพระพุทธเจ้า เคารพกิเลส เคารพความสบายตามใจตัว นี่ มันก็มีผลอย่างร้ายเกิดขึ้น คือ แทนที่จะเป็น แก๊งพระ มันก็เป็น แก๊ง โจร เป็น แก๊ง โจรโดย สูตร สูตร หนึ่งว่า รับ ปัจจัย ๔ - จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัช ของทายกเหล่าใด (12.56) มาบริโภค จักเป็นไปเพื่อประโยชน์กำไร เกื้อกูลแก่ทายก-ทายิกาทั้งหลายเหล่านั้น ทีนี้ เราไม่ได้ทำตัวให้เป็นอย่างนั้นมันก็เลยเป็นเรื่อง มีคำเรียกว่า เนกะตะ คือ ผู้หลอกลวง บริโภคปัจจัยของชาวบ้าน ของประชาชน แล้วก็ไม่ได้ทำตามความมุ่งหมาย หรือว่าสถาบันที่ตั้งขึ้นไว้ในทางจิตใจ เป็นที่รู้กันอยู่ว่า พระ จะต้องทำอย่างไร? ชาวบ้านจะต้องทำอย่างไร? นี่ ข้อตกลงอันนี้เป็นสถาบันโดยไม่ต้องมีใครบังคับ ไม่ต้องมีกฎหมายบังคับ แต่ว่ามี ธรรมะ มี วินัย บังคับหรือแสดงไว้อย่างเด็ดขาด เพราะฉะนั้น ทุกวัน ทุกวันจะต้องทำให้เป็นผลเป็นกำไรแก่ทายก-ทายิกาผู้เป็นเจ้าของปัจจัย ๔ เพราะฉะนั้น ในเวลาที่เป็นพรรษานี้ขอให้ทดสอบตัวเองดูว่าได้ทำอะไรคุ้มค่า หรือว่าเป็นผล เป็นกำไรเกินค่าแก่บุคคลผู้ถวาย จตุปัจจัย
ผมเคยพูดแล้วแล้วก็จะพูดอีกว่า ลำพังเรียน นักธรรม เรียนบาลีนี้ไม่พอ นอกจากจะไม่พอแล้ว อาจจะกลายเป็นโจร เป็นแก๊งโจรไปเพราะเหตุนั้นอีกก็ได้ ถ้าหากเรียนนี้เรียนเพื่อตัวเอง เพื่อดี เพื่อเด่นของตัวเอง ไม่ใช่เพื่อศาสนาของพระพุทธเจ้า การเรียน ปริยัติ นั้นมันก็กลายเป็นเพื่อตัวเองก่อน ก็เพื่อเป็นเครื่องมือ ทำประโยชน์แก่ตัว ก็พอเป็นอย่างนั้นมากเข้า มากเข้า ก็กลายเป็นงูพิษ อย่างที่ตรัสไว้ใน อลคัททูปมสูตร ปริยัติ เป็นเหมือนงูพิษที่มันฆ่าบุคคลผู้เรียนนั้นให้ตาย คำว่า ฆ่าผู้เรียนนั้นให้ตาย นั้นมันมีความหมายหลายชั้น แต่ว่ามีความหมายรวมๆกันอยู่ที่ว่า มันจะต้องฉิบหายไปจากพระศาสนา นั่นคือ งูพิษที่กัดให้ตาย ปริยัติ ที่กลายเป็นงูพิษแล้วก็กัดผู้เล่าเรียนให้ตาย
ลองคิดดูให้ละเอียดว่า ทุกวันเราเรียน เรียน เรียน เรียน แต่เราได้เจตนาเพื่อดี เพื่อเด่นอะไรของตัวทั้งนั้น ไม่ใช่เรียนเพื่อเคารพพระพุทธเจ้า หรือเพื่อปฏิบัติ เพื่อดับทุกข์ มันก็ต้องเสียนิสัยทุกวัน ทุกวัน ทุกวัน และพร้อมกันนั้นมันก็ประมาท อวดดี หัวแข็ง ยกหู ชูหางขึ้นทุกวัน เพราะว่ารู้มากแล้วมันก็พูดเสียงดัง ทีนี้ ไม่เท่าไหร่มันก็เห็นช่องทางว่าจะออกไป สึกออกไปหาประโยชน์ได้จากการเล่าเรียนนี้ เป็นเปรียญหลายประโยคก็มีช่องทาง นี่มันก็เป็นเรื่องกัด เป็นเรื่องงูพิษที่กัด และมันในที่สุดก็คือว่าไม่เจริญงอกงามในทางของพระศาสนา ในทางของ มรรคผลนิพพาน มันก็ต้องกลับออกไปเป็น ฆราวาส นี่ ก็เรียกว่า ตาย เหมือนกัน หรือว่าไม่สึกแต่อยู่ในวัดนี้ก็อยู่อย่างไม่มีความหมายตามทางธรรม ทางวินัย ก็เรียกว่า ตาย เหมือนกัน อยู่ในวัดนี้ก็ระวังให้ดีมันก็ตาย จากพระศาสนาได้เหมือนกัน ถ้าการเป็นอยู่ประจำวันนั้น มันไม่เป็นไปตามพระพุทธเจ้าท่านต้องการ
เขามีเขียนไว้ใน วินัย ก็มาก ใน ธรรมะ ก็มี คือว่า ภิกษุบางประเภทอยู่เพื่อหากิน อาศัยอะไรต่างๆ เพื่อหากิน อย่างนี้ก็เรียกว่า ตาย แล้วเหมือนกัน นี่ ชี้ระบุเฉพาะในเรื่อง ปริยัติ เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งยกหูชูหางว่า เรียน ปริยัติ แล้วก็ดี-มันยังไม่แน่ แต่มันดีสำหรับคนนั้นที่ว่าเรียนอะไรนิดหน่อยก็ยกหูชูหาง พูดเสียงดัง ก็ดีเท่านั้น คนนั้นมันคิดว่าดี แต่ในทาง ธรรมะ ทาง วินัย ไม่ถืออย่างนั้น ไม่มีหลักอย่างนั้น สำหรับครั้งพุทธกาลการเรียน ปริยัติ นี้มันแทบจะมองไม่เห็นนะ คือ รับคำสั่งสอนข้อใดข้อหนึ่งไปเพื่อไม่พูดกันกี่คำ นั่นคือ ปริยัติ แล้วก็ไปปฏิบัติ เดี๋ยวนี้เรียนมาก มีสอบ มีอะไรก็ได้เหมือนกัน ในส่วนนั้นมันไม่ผิด แต่ว่าเมื่อเรียนเข้าไปแล้วก็ต้องระวังให้ดี มันยิ่งกลายเป็นงูพิษได้มากขึ้น
ทีนี้ ถ้าว่ามันมีอะไร อะไรที่เป็นกบฏพระพุทธประสงค์ไปหมดแล้ว มันก็เรียกว่าไม่มีอะไรเหลือ คือ ตาย ตายหมด นี่ โอกาสการจำพรรษาโดยเฉพาะภิกษุเก่านั้นจะต้องถือเป็นเวลาพิเศษ โอกาสเฉพาะอะไรที่ต้องทำอะไรให้เป็นพิเศษ อย่างน้อยก็เรื่องทดสอบตัวเอง ว่าอย่างน้อยในพรรษานี้มันดี ดีกว่านอกพรรษา แล้วก็ว่าพรรษานี้ดีกว่าพรรษาที่แล้วมา แล้วก็จะดีขึ้นไปอย่างนั้นทุกๆพรรษา ถ้าไปทดสอบดูด้วยความสุจริต ซื่อตรงดีแล้วกลับเห็นมันตรงกันข้าม มันก็ควรจะเสียใจให้มากในความฉิบหายในพรหมจรรย์นี้ นี่คือ เรื่องที่อยากจะพูดรวมๆกันไปทั้งภิกษุใหม่-ภิกษุเก่า แล้วอยากจะพูดด้วยหัวข้อที่ง่ายที่สุด คือ ท่องอยู่ทุกวันว่า
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าปฎิบัติดีแล้ว
อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ปฎิบัติตรงแล้ว
ญายะปะฏิปันโน ปฏิบัติเพื่อรู้
สามีจิปะฏิปันโน ปฏิบัติสมควร สมควรแก่ความสมควร แก่ความเป็นธรรม
๔ คำนี้คิดดูเถิด เราก็สวดอยู่ทุกวัน ว่าอยู่ทุกวัน แล้วก็เล็งถึงตัวเราเองว่าเราจะต้องปฏิบัติดี สุ แปลว่า ดี อุชุ แปลว่า ตรง ญายะ แปลว่า เพื่อรู้ รู้ว่าอีกทีหนึ่งก็เพื่อออกไปได้จากกองทุกข์ สามีจิ - สมควร สมควรแก่การเป็น พระ ไม่ต้องถามว่าสมควรอะไร เพราะเราควรรู้ได้เองว่าสมควรแก่ความเป็น พระ เป็น ภิกษุ สาวะกะสังโฆ เป็นสาวก-สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ต้องปฏิบัติสมควรแก่ความเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า นี่ พระสงฆ์มีอยู่ ๔ จำพวกโดยหัวข้อใหญ่ ถ้าหมายถึงกำลังกระทำอยู่ และทำเสร็จแล้ว กำลังกระทำอยู่แต่ทำเสร็จแล้วนี่ ก็จะกลายเป็น ๘ เพราะเรื่องมันมี ๔ เรื่อง กำลังกระทำอยู่เรียกพวก ๑ ทำได้ผลเสร็จแล้วก็พวก ๑ ก็เลยเป็น ๘ พวก สวดอยู่ทุกวันว่า ๔ คู่ ๘ จำพวก
ในภาษาไทยของเราดีมากมีคำว่า พระ ใช้ ในอินเดีย ในพม่า ในลังกาเขาไม่ค่อยพบ เพราะเขาใช้คำว่า พระ เรียกผู้ที่เป็นสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ว่า พระ ก็เป็นคำที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นภาษาไทยขึ้นมาแต่ครั้งไหนก็ไม่รู้ เรียกที่ประเสริฐๆแล้วก็ว่า พระ ทั้งนั้นแหละ จะเป็นคนก็ได้ จะเป็นสิ่งของก็ได้ เดี๋ยวนี้ถ้าพูดถึง พระ เฉยๆ ก็หมายถึงคน แล้วก็เล็งถึงผู้เป็น นักบวช เป็นที่เคารพสักการะของมหาชนนี่ก็เรียกว่า พระ ถ้าดูตามตัวหนังสือ พระ ก็มาจากคำว่า วร (ออกเสียงว่า – วะ-ระ / ผู้ตรวจทาน) ว กับ พ ใช้แทนกันได้สำหรับภาษาบาลีเลยเป็น พระ พูดอย่างนี้จึงไม่มีใครค้านได้เหมือนกัน แต่จะถูกหรือไม่ถูกก็ไม่รู้ ว่า วร (ออกเสียงว่า – วะ-ระ / ผู้ตรวจทาน) มาเป็น พระ
วร (ออกเสียงว่า – วะ-ระ / ผู้ตรวจทาน) แปลว่า ประเสริฐ เพราะฉะนั้น พระ ก็ต้องเป็น ผู้ประเสริฐ ทีนี้ ถ้าถามกันว่า ประเสริฐกันที่ตรงไหน? ก็ต้องนึกถึง ๔ ข้อนั้นก่อน คือ สุปฏิปันโน - ปฏิบัติดี อุชุปฏิปันโน - ปฏิบัติตรง ญายะปฏิปันโน - เพื่อรู้ ปฏิบัติเพื่อให้รู้ สามีจิ - สมควรแก่การเป็นพระ พอครบนี้ก็เป็น พระ ก็ประเสริฐจริงๆด้วยสมตามที่คำที่ใช้อยู่ นี่ บวชแล้วก็ต้องถือว่าเป็น พระ จะโดยทางอะไรก็ตาม โดยทางทางภาษาหรือโดยทางคำพูดที่ประชาชนเขารับรู้ ยอมรับรู้ และรู้กันอยู่ ถือกันอยู่ จนเกิดเป็นทำนองสัญญาโดยไม่ต้องเซ็นกันว่า พระ ต้องปฏิบัติดี ทายก ทายิกา จะเป็นผู้เลี้ยง นี่คือ สัญญาระหว่าง พระ กับชาวบ้านที่ไม่ต้องเซ็น ไม่ต้องเซ็นชื่อแต่มันมี มีอย่างจริงจังด้วย แล้วก็หลีกไม่ได้ด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าเป็น พระ อยู่ ยังแสดงภาวะเป็น พระ อยู่ ก็ไม่มีทางหลีกเลี่ยง ต้องทำให้เป็น พระ
ทีนี้ เมื่อเป็น พระ แล้วมันก็มีประโยชน์ทั้งแก่ตัวเอง และแก่มหาชน มหาชนได้บุญมาก ได้กำไรมาก ตัว พระ นั้นเองก็ได้รับประโยชน์ยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก คือ ได้สิ่งที่ดีที่มนุษย์ควรจะได้ ได้รับผลของพระธรรม ธรรมะ มันก็เป็นเรื่องดีไปหมด เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าไม่เคยคิดอย่างนี้มาก่อน ผมก็ขอร้องเดี๋ยวนี้ว่าให้คิด ถ้าไม่คิดจะต้องฉิบหาย ถ้าไม่คิดอย่างนี้ และไม่ถือหลักอย่างนี้จะต้องฉิบหายเลย ไม่ต้องมีใครมาแกล้ง มาแช่ง มันก็ฆ่าตัวมันเอง นี่ ก็พูดกับพระเก่าๆมาก็พูดแล้ว หลายหนแล้ว-พูดอย่างนี้ นี่ พระใหม่ๆก็พูดทุกปี ทุกปีที่มีการบวชเข้ามาใหม่ ทีนี้ ทำไมจึงพูด? ก็ไปนึกเอาเองก็แล้วกัน จะนึกในแง่ไหนก็ได้ นึกในแง่ร้ายก็ได้ นึกในแง่ดีก็ได้ ที่ว่าจะนึกในแง่ร้ายก็ได้ ในแง่ดีก็ได้นั้นก็หมายความว่า มันแล้วแต่ชอบ แล้วแต่นิสันสันดาน แต่มันมีหลักว่า จะนึกในแง่ไหนก็ได้ เฉพาะต่อเมื่อการนึกในลักษณะอย่างนั้นมันเป็นประโยชน์แก่ตัวผู้นึก ถ้าเป็นประโยชน์แก่ตัวผู้นึกแล้วก็ใช้ได้ สำหรับผมนั้นมันเป็นหน้าที่ที่จะต้องพูด นี่ เพียงเท่านี้ก็พอสำหรับผม ทำไมจึงพูด? ก็เพราะมันเป็นหน้าที่ที่จะต้องพูด ถ้าพูดอย่างอื่นเดี๋ยวจะไม่เชื่อ ถ้าพูดว่าเป็นหน้าที่แล้วมันก็จำเป็นที่จะต้องเชื่อ เพราะ พระวินัย ก็บังคับ ในฐานะที่เป็นอะไร เป็นครูบาอาจารย์ วินัย ก็บังคับให้ทำหน้าที่ของครูบาอาจารย์ ธรรมะ ก็บังคับให้ทำหน้าที่ครูบาอาจารย์ และความที่เขาเรียกเราว่าอาจารย์นั่นแหละ มันบังคับให้เราต้องทำหน้าที่ของอาจารย์ นั่นมันจึงมองแต่ในแง่เดียว คือ แง่ที่ว่าจะต้องทำหน้าที่ ผมรับใช้พระพุทธเจ้าก็ไม่มีหน้าที่อื่นอีก มีหน้าที่ที่จะแนะนำสั่งสอน เท่าที่จะแนะนำสั่งสอนได้-แก่ผู้อื่น เพราะนี่เป็นความประสงค์-เป็นพระพุทธประสงค์ เพราะฉะนั้น ควรจะเห็นอกเห็นใจกันในข้อนี้ เพราะมันเป็นหน้าที่ แล้วคนที่ไม่ได้ทำหน้าที่ก็คือคนบ้า คนโง่ คนเลว คนฉิบหาย คนใช้ไม่ได้ คนที่ไม่ทำหน้าที่ของตัว เพราะฉะนั้น ก็เป็นอันว่าทุกคนต้องทำสิ่งซึ่งมันเป็นหน้าที่ เกิดมาทำไมก็รู้-แล้วก็ทำหน้าที่นั้น เดี๋ยวนี้ก็เกิดมาแล้ว แล้วก็มีเรื่องแฝงเข้ามาเฉพาะ คือ เป็น พระ ก็ต้องทำหน้าที่ของ พระ / พระ คืออะไร? ก็พูดกันแล้ว คือ ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติอะไร เป็นต้น ก็ทำหน้าที่นั้น แต่คอยนึกกว้างๆ นึกเป็นส่วนรวมกว้างๆ เราเป็นคน เราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า แล้วเราก็จงเป็นคนของโลก ของคนทั้งโลก ของมหาชนกันเถิด เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านมีพระประสงค์อย่างนั้น แล้วทำอะไรๆเดี๋ยวก็ตรัสวิงวอนว่า จงทำสิ่งที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชน ทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ แถมเทวดาเข้ามาด้วย หน้าที่ สิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล จิตตะ สุขะ เป็นประโยชน์ เป็นความเกื้อกูลทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ ก็ใช้คำอื่นอีกมากซึ่งไม่มีทางหลีก ให้เห็นแก่สัตว์ สิ่งที่มันมีชีวิต มันรู้สึกคิดนึกได้ เราจะต้องทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่มัน อย่างนี้ถ้าวันหนึ่ง คืนหนึ่งเรามาเหลาะแหละๆ หัวเราะเหาะแหะอยู่แต่เรื่องของตัว ที่ทำประโยชน์อะไรก็เพื่อตัว บางทีก็เป็นของเล็กๆน้อยๆ เหมือนกันเด็กๆนี้ เพื่อกินเพื่อเล่น เพื่ออะไรแบบเด็กๆนี้มันก็ไม่ไหว เมื่อเทียบกันแล้วมันก็ไม่ไหว นี่ มันต้องหมื่น ต้องแสน แล้วมันก็ได้เพียงแค่ ๑ คะแนนอย่างนี้ งานให้หน้าที่ๆจะต้องมีคะแนนเต็มๆตั้งหมื่นตั้งแสน แล้วเราทำได้คะแนนเดียว
เพราะฉะนั้น ขอให้ไปนึก ให้ถือตามหลักพระพุทธเจ้าว่าเราจะหลีก หลีกออกจากจับกลุ่มกันหัวเราะนั่นนะ แล้วก็ไปหาความว่าง ความสงบสงัด เพื่อจะได้คิด มันก็คิดได้มาก นึกได้มาก ถ้าเราเผลอไม่ได้เผลอแล้วเป็นจับกลุ่มหัวเราะกันนี้ มันจะคิดอะไรได้ มันก็ไม่ได้คิด นานๆเข้ามันก็ลืมหมด เวลาที่หลีกออกไปสู่ที่สงัด คิดนึก ศึกษาอะไรของตัวนี้ ต้องถือว่าเป็นประจำเป็นพื้นฐาน แล้วเวลาส่วนน้อยที่จะพบปะกันบ้าง คุยกันบ้าง ก็ให้เป็น ธรรมกถา คือ เรื่องที่ประกอบไปด้วยธรรม อย่าพูด เดียรฉานกถา ได้ยินมากเหลือเกินในวัดเรานี้ ยังพูด เดียรฉานกถา อยู่มาก พูดเรื่องการเมือง วิจารณ์คนนั้น วิจารณ์คนนี้ นี่คือ เดียรฉานกถา ทั้งนั้น และโดยมากก็เป็นพระที่มีความรู้เคยร่ำเคยเรียนมาเสียอีก พระที่ไม่เคยนั้นจะพูดไม่ค่อยเป็น ขอให้จำไว้ด้วยว่า ให้ใช้คำพูดนอกเรื่องของธรรมวินัย แล้วยังแถมไปวิจารณ์คนนั้น คนนี้ แล้วก็ล้วนแต่เรื่องเสียหายทั้งนั้น ไอ้เรื่องวิจารณ์ไม่เคยมีเรื่องดี เช่นนี้เป็น เดียรฉานกถา หลายต่อ อย่าอ่านหนังสือพิมพ์เลย ถ้าจะอ่านบ้างก็อ่านในลักษณะที่ปลอดภัย ผมยอมรับเคยปฏิญญา ผมอ่านหนังสือพิมพ์ แต่ผมอ่านโดยมีความมุ่งหมายว่า จะรู้ว่าจะช่วยเขาอย่างไร ทีนี้ โดยมากมาอ่านเรื่องการเมือง ย้อมตัวเองให้หลงใหลในเรื่องการเมือง เรื่องวีรบุรุษ เรื่องอะไรนี้ นี่มันเหมือนกับเด็กๆที่ไปอ่านการเมืองชนิดที่เอามาวิจารณ์ อย่างเหมือนกับฆราวาสอย่างนี้ นี่คือ เดียรฉานนกถา สำหรับ ภิกษุ มาพูดกันเอ็ดไปหมด อย่างนี้ไม่ใช่ ธรรมกถา ก็มีพระพุทธภาษิตว่า ถ้าไม่กล่าว ธรรมกถา แล้วไปนอนเสีย ทั้งๆที่การนอนนั้นเป็นของเลวอยู่มากแล้วสำหรับ บรรพชิต ถ้าไปนอนกลางวันนี้เป็นของเลวอยู่มากแล้วสำหรับ บรรพชิต ถ้าไม่พูด ธรรมกถา ยังยอมว่าให้ไปนอนเสีย คือ อย่าไปพูด เดียรฉานกถา อย่าพูดที่ไม่เป็น ธรรม ไม่เป็น วินัย นี้ เรื่องนี้มีอยู่แล้วใน นวโกวาท อะไรเป็น ธรรม? อะไรเป็น วินัย? เห็นชัด-ชอบพูดเรื่องเกี่ยวกับการเมือง เกี่ยวกับความคิดเห็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวเลย ส่วนเรื่องพระพุทธ พระสงฆ์ เรื่องควรนิพพานไม่พูด ไม่สนุก ไม่มีใครชวนกันสนุกในเรื่องนี้ ไปพูดเรื่องคนนั้นคนนี้ เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์การเมือง ในอะไรต่างๆซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเรา แล้วพูดไปก็ไม่มีประโยชน์ มีแต่โทษ ท่านก็ว่าอยู่ในที่สงัดเป็นพื้นฐาน ถ้าออกมาพบกันบ้างก็อย่าพูดกัน ถ้าพูดก็พูดด้วย ธรรมกถา เรียกว่า ประหยัดปาก ประหยัดคำ สงวนไว้ให้มากที่สุด ไม่เหลือเกิน-ไม่จำเป็นแล้วก็จะไม่พูด
ทีนี้ว่าหนังสือพิมพ์อ่านแล้วมันชวนให้พูด ถ้ามันไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องตายเพราะอย่างนั้นแล้วก็อย่าเพิ่งอ่านดีกว่า ถ้าอ่านก็ต้องระวังให้ดี ทำสติให้ดี จะอ่านหนังสือพิมพ์บ้างให้ระวังทำสติให้ดี เพราะมันมีแต่เผลอได้ง่าย เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้ให้ถือว่าเราอยู่ในฐานะที่สูง สูงกว่าธรรมดา สูงกว่าแต่ก่อน บทที่ ๑ เววังนิยังหิอัจชูภวโต ( นาทีที่ 38.13) เดี๋ยวนี้ เรามีวรรณะผิดแปลกไปจากเมื่อก่อนแล้ว ก็หมายความ สูงกว่าเมื่อก่อนแล้วเราจะต้องทำอะไรเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้ เมื่อก่อนนี้เราอ่านหนังสือพิมพ์ด้วยจิตใจอย่างไร เดี๋ยวนี้เราจะอ่านหนังสือพิมพ์ด้วยจิตใจอย่างนั้นไม่ได้ นี่เราจะพูดเล่น พูดหัว พูดอะไรกันไม่ได้ มันไปเป็นลบ มันไม่ใช่เป็นบวก เดี๋ยวมันจะลบ ลบ ลบ จนไม่มีอะไรเหลือ ยิ่งเราคิดจะบวชเพียง ๑ พรรษา หรือในระยะสั้นๆ ยิ่งระวังให้ดี เดี๋ยวมันจะเป็นลบ ลบแล้วมันจะหมด ถึงแม้บวชหลายพรรษาก็เถิดถ้าประมาทแล้วมันมีแต่ลบ ถ้าเป็นคนประมาทแล้วมีแต่ลบ มันลบเรื่อยไปมันก็หมดเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้ก็เริ่มเข้าพรรษาเข้ามาแล้วก็ขอให้ผลัดใจดี ตั้งใจดีให้มันเป็นบวก ตามความประสงค์ของพระพุทธเจ้า คือ เอาความประสงค์ของพระพุทธเจ้าเป็นหลักนะ พอเรา.. พอค่ำลงเรารู้ว่าเราได้ทำตามความประสงค์นั้นแล้ว ก็ถือเป็นคะแนนบวกเรื่อยๆไป แล้วมันก็เป็นตรงกันข้ามก็เป็นคะแนนลบ ไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ไหน เพราะไม่เคารพพระพุทธเจ้า ไม่เชื่อฟัง
ท่อง สุปะฏิปันโน ภะคะวะโตสาวะกะสังโฆ
อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโตสาวะกะสังโฆ
ญายะปะฏิปันโนภะคะวะโตสาวะกะสังโฆ
สามีจิปะฏิปันโนภะคะวะโตสาวะกะสังโฆ ไว้เสมอ ปฏิบัติดีก็รู้อยู่แล้วว่าดีอย่างไร? ดีให้มันดับทุกข์ได้ ให้ตรง-ตรงอย่างไร? ก็ตรงต่อพระพุทธประสงค์นั้น ตรงต่อความประสงค์ของพระพุทธเจ้า เพื่อดับทุกข์เหมือนกัน ปฏิบัติให้รู้ก็ให้สว่างไสวก็เรียกว่า ดับทุกข์ เหมือนกัน ปฏิบัติสมควรนี้มีความหมายกว้าง มันควรเป็นทุกอย่างที่มันเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ใช้คำว่า สมควรแก่ธรรม ก็ได้ ปฏิบัติ ธรรม ให้สมควรแก่ ธรรม นี่ มองความหมายกว้างพูดตั้งชั่วโมงก็ไม่หมด คือ มันถูกไปให้หมด ให้มันเหมาะสมพอดีไปให้หมด อย่าให้ขาด อย่าให้เกิน แล้วยังมีบทกำกับตอนท้าย อาหุเนยโย ปาหุเนยโย อัญชะลีกะระณีโย กระทั่ง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ นั่นแหละ ไปคิดดูมากๆมันเป็นอย่างนั้นจริงๆหรือเปล่า? อาหุเนยโย ปาหุเนยโย นี่คิดได้ทุกวัน ตัวหนังสือไม่แน่แต่แน่ที่สุดคือความหมาย ขณะที่คุณไปเอามาจากบ้านตอนเช้านี้เป็น ปาหุเนยโย ที่เขาเอามาถวายถึงที่นี่เป็น อาหุเนยโย นี้ ๒ คู่นี้ถูกแน่ แต่ตัวหนังสือจะตรง แม้จะจำไม่ค่อยแม่น แต่คำนี้ ๒ คำนี้หมายความว่า ไอ้ที่เราไปเอาหรือเขามีไว้ต้อนรับ เขามีไว้ต้อนรับหรือเขาเอามาให้เรานี้ แล้วก็ยังมี ทักขิเนยโย อันนี้สำคัญมาก ทักษิณา นี้ทำเพื่อผู้ตายไปแล้ว เรามีคุณสมบัติพอที่จะบริโภคอาหารที่ตักขึ้นเพื่อเป็น ทักษิณา แก่บุคคลที่ตายไปแล้ว อัญชลีกรณีโย นี่ ควรแก่การไหว้กราบของมหาชน อนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ เป็นนาบุญให้เกิดบุญแก่มหาชนไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า เพราะฉะนั้นอย่าทุจริตต่อหลักการเหล่านี้ ให้มันควรเถิดแล้วไม่เป็นไรหรอก แล้วก็ไม่ต้องค้าขาย หากิน เลิกทีเถิด เป็น พระ พระ ขายหากิน มี พระ เสียชื่ออยู่ในวัดนี้ เอารูปผมไปขายบ้าง เอาเทปอัดเสียง เอาเสียงนี้ไปขายโดยอ้อมบ้าง อย่างนั้นมันเกินไปแล้ว อย่าทำเลย นั่นเป็นค้าขาย เป็น บรรพชิต ค้าขายไม่ได้ มันหมดความเป็น บรรพชิต เพราะเราต้องทำดี มีสิทธิ มีอะไร เขามาถวายให้ได้บุญ เขาถวายให้เรากิ เขาได้บุญ
ครั้งหนึ่งมีคำพูดที่ร้ายแรงมากของคนชื่อ นรินทร์กลึง บางคนยังเกิดไม่ทัน นรินทร์กลึง กระผมทัน เขียนหนังสือด่ากระทั่งพระสังฆราชลงมา เขาว่าพระทำอะไรไม่คุ้ม ไม่ตรงตามอุดมคติของพระ ไม่ควรจะบริโภคอาหารของทายกทั้งหลาย มีประโยค ประโยคหนึ่งซึ่งน่าหัวว่า เอามาให้กินแล้วยังไหว้อีกด้วย เขาใช้คำว่าอย่างนี้ เขาอุตส่าห์เอามาให้กินเอามาถวายพระนี่แล้วยังไหว้แล้ว ไหว้เล่า ไหว้แล้ว ไหว้อีกด้วย นี่คิดดู ไม่มีใครเขาทำที่ไหนอย่างนั้น ทีนี้ แกก็ด่าพระว่าไม่มีอะไรเหลือ ไม่สมกับที่ว่าเอามาให้กินแล้วยังไหว้อีกด้วย เขาว่าอย่างนั้น ใจความว่าอย่างนั้น ก็ไม่เคยเห็นใครจับ นรินทร์กลึง นี้ไปฟ้องหมิ่นประมาทหรืออะไร แกก็ด่าไปจนตายในที่สุด นี่ เราก็มีหน้าที่ที่จะดูว่าไอ้คำด่านี่มันจริงหรือไม่จริง? สำหรับเราถ้าไม่จริงก็แล้วไป เราไม่ต้องไปตอบเขา เราก็พอใจตัวเอง เราพยายามทำไม่ให้คำด่าคำเหล่านั้นมาให้มาถึงเราได้ นายนรินทร์กลึงนี่เขียนไปรษณียบัตรไปด่าผม ทำนองด่านั่นแหละ ว่าถ้าเขาบอกว่าท่านกำลังปฏิบัติไม่คุ้มอะไรนี่ ท่านจะว่าอย่างไร? ผมก็ไม่ได้ตอบ วันหนึ่งแกบุกเข้าไปถึงในห้อง ห้องผมอยู่ห้องเล็กๆที่วัดปทุมคงคาตอนนั้น ไปถามอย่างเดียวกันนี้ ผมก็บอกว่า ผมไม่ตอบ ฉันไม่ตอบ แกก็ทำอะไรไม่ได้ บ้งเบ้งๆ นิดหนึ่งแล้วก็ออกไป นี่ ผมก็ไม่ตอบจริงแต่ผมนึกมาก ไม่ตอบ ยิ่งไม่ตอบก็ยิ่งนึกมาก นึกตลอดเวลา นึกตลอดวัน ตลอดคืน นึกอยู่ตลอดเวลา นี่ สิ่งเหล่านี้ลืมไม่ได้แล้วก็ไม่ลืม มันก็มีผลให้นึกคิดทำอะไรในลักษณะที่ให้มันคุ้ม คุ้มข้าวสุกไว้เสมอ ตรงพระพุทธประสงค์อยู่เสมอ นี่ จึงมาเกิดมีสวนโมกข์ มีอะไรขึ้น จนมาอยู่ที่นี่ จนให้เป็นเหตุให้เราได้พบกันที่นี่ ในลักษณะอย่างนี้ ในวันนี้ มันล้วนแต่เป็นผลของความรู้สึกกลัว รู้สึกละอาย รู้สึกอายไปหมด แล้วก็ไม่ไปตอบ ไม่ไปเถียง ไม่ไปอะไรกับใคร แต่มารู้ว่าอะไรจะต้องทำ-แล้วก็จะทำ
ผมก็ยังอยากขอร้องให้ทุกๆองค์ถืออย่างเดียวกันนี้ อย่าไปโกรธ อย่าไปว่าเขา ยิ่งไปว่าจะยิ่งขาดทุน ยิ่งมีส่วนจริง เราก็มาคิดว่าจะต้องทำอย่างไรเมื่อเขาว่าอย่างนั้น เราก็ทำไปก็แล้วกัน อย่าไปทะเลาะกับชาวบ้าน อย่าไปทะเลาะกับเพื่อนฝูง อยู่ด้วยกันยังทะเลาะกัน คนนั้นเคร่ง คนนี้ไม่เคร่ง นี่ ขอร้องว่าอย่าไปสนใจ เราทำของเราให้ถูกต้อง ไม่เท่าไหร่มันละอายมันเองแล้วมันก็เปลี่ยนได้ ถ้าว่าไป บ่นเขานั่นแหละเขาจะยิ่งดื้อ เพราะสันดานของกิเลสมันเป็นอย่างนั้น มันไม่ค่อยจะดื้อไม่ค่อยจะอะไรนักนะ พอถูกว่าเข้ามันก็จะดื้อขึ้นมาทันที พระพุทธเจ้าสอนว่า อย่าไปว่ามัน อย่าไปดูมัน ดูแต่ของเรา-ที่ว่าเราทำดีแล้วหรือยัง?
นะ ปเรสัง วิโลมานิ นะ ปเรสัง กตากตัง อัตตโนวะ อเวกเขยยะ กตานิ อกตานิ จะ.
มียืดยาวอย่างนี้ทั้งนั้น ก็อย่าไปดูของมันพูดดี-พูดร้าย ทำดี-ทำเลวอย่างไร ดูแต่ว่าของเรานี้มันดีแล้วหรือยัง? ถ้าเป็นอย่างนี้ไม่เท่าไหร่ก็ดีกันหมด แล้วก็ไม่มีทะเลาะวิวาทกันด้วย ถ้าเราไปมองผู้อื่นในแง่ผิด แง่ร้าย ไอ้เรามันก็พลอยร้ายไปด้วย แล้วไม่เท่าไรมันจะสร้างนิสัยให้เราเป็น ผู้มองในแง่ร้ายแล้วจะยกตัวโดยไม่ทันรู้ ที่จะไม่ให้มีคนเลวในโลกนี้มันก็ไม่ได้ มันก็ต้องมี มีในวัดมันก็ต้องมี จะไม่ให้มีแกะดำก็คงไม่มีไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าว่ามีแกะดำขึ้นมา ธรรมวินัย ก็มีอยู่ว่าต้องทำอย่างไร? แต่ไม่มีหรอกที่จะให้ไปเล่นงานกันด้วยวาจา ด้วยการกระทำ ด้วยอะไรนี้-ไม่มี มีแต่ให้ทำอย่างสุภาพอย่างดีที่สุด สมตามที่ว่าพระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้ดี ท่านไม่ต้องการให้ทะเลาะวิวาทกัน ตอนจบของ ปาฏิโมกข์ นั้นฟังดูเถิด ทุกครั้งที่จบปาฏิโมกข์ ไม่ให้มันเป็นไปเพื่อวิวาทกัน ให้เป็นไปเพื่อสามัคคีกัน เป็นไปเพื่อความอยุ่กันเป็นผาสุกทั้งนั้นแหละ ไม่มีที่จะไปว่าเขา ไปดุเขา หรือมองในแง่ร้าย ก็แก้ไขได้ด้วยการที่เราไม่ยอมทำเลว ไม่ยอมทำชั่ว ไม่ยอมทำผิด ไม่เท่าไหร่มันก็ทนอยู่ไม่ได้ มันก็มีการเปลี่ยนแปลง ถ้าเราไปว่าเขา เขาโกรธ-เขาก็ยิ่งเอาใหญ่ มันก็ยิ่งเลวใหญ่ แล้วมันจะได้ทะเลาะวิวาทกันด้วย เพราะฉะนั้น การช่วยกันให้ดีไปได้รอดไปได้นั้น ต้องทำด้วยอุบายที่ฉลาดถูกต้อง ตาม ตาม วินัย แล้วผู้ทำต้องมีความรู้สึกที่ดี คือ ไม่ร้าย ไม่โกรธ ไม่ดูหมิ่น ไม่เกลียดชัง ไม่อะไรหมด อย่าไปเกลียดชังแกะดำเหล่านั้นหรือตัวนั้น ต้องพยายามที่จะทำให้เราไม่ดำก็แล้วกัน ผลสุดท้ายมันก็อยู่ไม่ได้-ไปเอง ถ้าอยู่ได้มันก็เปลี่ยนดำเป็นขาว ถ้ามันไม่ยอมเปลี่ยนมันก็อยู่ไม่ได้ มันก็ต้องลา-ลาออกไปเอง
มันจริงอย่างพระพุทธเจ้าท่านว่า ธรรมวินัย นี้เหมือนมหาสมุทร ซากศพตกลงไปมันจะซัดขึ้นฝั่ง ไม่ยอมให้อยู่ ที่พูดอย่างนี้มันก็เหมือนกันที่ผมพูดเสมอนั้นว่า พระพุทธเจ้าท่านได้จัดแจงไว้ดีแล้ว จัดแจงไว้ดีแล้ว คือ มันจะมีความเป็นไปโดยอัตโนมัติในตัวมันเองในลักษณะที่ว่า แกะดำมันจะอยู่ไม่ได้ มันจะค่อยๆขาว หรือมิฉะนั้นมันจะต้องค่อยๆหลีกไป ทีนี้ เราอย่าไปทำเป็นแกะดำตัวใหม่ คือ ไปมีความคิดร้าย มุ่งร้าย ไปก่อการทะเลาะวิวาท ก่ออะไรขึ้นมาอย่างนี้ ก็ให้มีความอดกลั้น อดทน มีสติสัมปชัญญะ มีการบังคับตัวเอง เหมือนกับคำพูดที่พูดเมื่อคืนสุดท้ายในครั้งที่แล้วมานี้ ว่าเป็น พระ ก็ ประเสริฐ ประเสริฐก็อยู่เหนือการเบียดเบียน เหนือการทะเลาะวิวาท เหนือการเบียดเบียนก็ประเสริฐ ถ้าเราไปอยู่ด้วยการเกลียดชัง ความอิดหนาระอาใจนั้นมันเป็นบาปอยู่ในตัวแล้ว เป็นกิเลสด้วย เป็นบาปด้วยอยู่ในตัวด้วย แล้วเผลอมันจะย้อมนิสัยเราให้เป็นอย่างนั้นมากขึ้น เพราะฉะนั้น อย่าไปมองในแง่ร้ายดีกว่า มองในแง่ดีมันจะคิดช่วยกันได้ ถ้ามองในแง่ร้ายมันคิดทำลายกัน ถ้ามันเป็นแกะดำก็ต้องคิดว่า อุจจาระของมันยังคงใช้เป็นปุ๋ยต้นไม้ได้ มันก็คงไม่เลวทั้งหมด นี่ คิดอย่างนี้ก็เรียกว่าคิดในแง่ดี ก็ช่วยกันแก้ไขให้มันรอดชีวิตอยู่ ให้มันเป็นไปในทางที่จะเป็นประโยชน์
นี่ ผมพูดอย่างนี้ไม่ใช่ว่าพูดแบบนอกคัมภีร์ นี่คือ ใจความของพระคัมภีร์ที่มีอยู่ ถ้าไปมัวพูดตามตัวหนังสือในพระคัมภีร์ให้มันฟังยากให้มันมากนัก ก็เลยรวบรัดมาพูดในภาษาแบบนี้ โวหารแบบนี้ ซึ่งเป็นใจความของพระคัมภีร์เหล่านั้น ถ้าเพิ่งบวชก็เรียน นวโกวาท ก็ดู สูตรสาราณียธรรมสูตร (นาทีที่ 55.35) ให้รักให้เมตตาไม่มีประมาณ ไม่มีเลือก ไม่มีคัดเลือก มีความหวังดี ไม่มีใครที่เป็นศัตรูต่อกันและกัน นั่นแหละคือ พระ เป็น พระ อยู่ที่นั่น ถ้ามันเกิดมีเวร-มีภัย มีอึดอัด-ขัดใจกันอยู่ก็หมดความเป็น พระ ไปในทันที ถึงแม้ว่าเราจะเห็นว่าผู้ใดมีความชั่วมีความผิด เราก็ไม่จำเป็นจะต้องไปอึดอัด-ขัดใจให้มันเป็น กิเลส เราต้องมี ปัญญา ขึ้นมาเพื่อจะแก้ไข แล้วก็ไม่ได้คิดว่าเราจะเห็นแก่ตัวแล้วก็ตัดบทง่ายๆ เอามันไปฝังเสีย ฆ่าให้ตายไปฝังเสีย แบบนี้ก็ไม่ถูกมันเห็นแก่ตัวมากเกินไป หรือจะเอาย้อมแมวขาย เอาไปย้อมเป็นแมว ย้อมไปขายคนอื่นเสีย อันนี้ก็ทำไม่ได้เหมือนกันมันไปหลอกลวงคนอื่นอีก เพราะฉะนั้น ก็พยายามแก้ไขกันไป เป็นเรื่องอยู่ในวัด ในครอบครัว ในใต้บังคับบัญชาอะไรก็ตาม นี่ ไม่ได้พูดเฉพาะเรื่องวัดวา พูดถึงเรื่องบ้าน เรื่องเรือน เรื่องหน้าที่การงาน ราชการอะไรด้วยก็เหมือนกัน ถ้ามันไม่ดีมันก็ต้องช่วยกันแก้ไขด้วยความเมตตา-กรุณากันจนจะถึงวาระสุดท้าย จะไปหลอกขายให้คนอื่นหรือก็ไม่ถูก จะตีให้ตายก็ไม่ถูก อย่างมากที่สุดก็คือไม่ยุ่งด้วย นั่นแหละ มากที่สุดแล้วในธรรมวินัย นี้ การฆ่าคน ก็คือ การไม่ยุ่งด้วย พระพุทธเจ้าท่านว่าอย่างนี้ แต่ถ้ายังมีช่องทางที่จะช่วยเหลือกันได้และก็ยังยุ่งด้วยช่วยแก้ไขให้มันดีขึ้น ถ้ามันไม่ไหวเราไม่ยุ่งด้วยเลยเป็นอันขาด อริยะโวหาร คือ สำนวนพูดของพระอริยะเจ้า เขาเรียกว่านี่คือ ฆ่า เมื่อทุกคนถือหลักอย่างนี้ก็ไม่มี ก็ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นในลักษณะที่ทำให้หมดความเป็น พระ หมดความเป็น พุทธบริษัท หรือเป็น พุทธศาสนา ซึ่งไม่เบียดเบียนตนเอง-ไม่เบียดเบียนผู้อื่น หมายความว่า ไม่มีใครเดือดร้อน
เดี๋ยวนี้ พุทธศาสนาเรามันกำลังเข กำลังเถลไถล ผิดลู่ผิดทางแนวทางของพระพุทธเจ้าอยู่อย่างน่าวิตเหมือนกัน แต่วิตกไปก็ไม่มีประโยชน์ ก็แก้ไขไปเท่าที่จะแก้ไขได้ พยายามนึก-ศึกษาถึงหลักหัวใจของพระธรรมให้เข้าใจ ก็พยายามทำไปตามนั้น จับหัวใจของพระธรรมของพระศาสนาให้ได้ แล้วก็ทำไปตามนั้น เดี๋ยวนี้ สิ่งที่เรียกว่าต้นเหตุหรือปัจจัยของความมีจิตทราม จิตต่ำนั้นมันมากขึ้นทุกที ในโลกนี้ ในบ้าน ในเมือง ผมไม่ค่อยได้ไปไหนกับเขา พอไปสักทีหนึ่งก็รู้สึกมาก มากเกินไป ไปนั่งที่ร้านที่เขามีไว้ขายเครื่องดื่มที่ริมทะเลที่บ้านดอนนั้นนะ เพราะต้องเข้าไปพักนิดหนึ่งแล้วจะกลับ เขาจะเลี้ยงน้ำแข็ง เข้าไปในบริเวณนั้นไม่รู้จะหันหน้าไปทางไหน มีแต่รูปปฏิทิน Calendar ภาพเปลือยทั้งนั้น ไม่ว่าจะเหลียวไปทางด้านไหนทิศไหน นี่ มันไปมีสัญลักษณ์ของความมีจิตทรามอย่างนี้ไปทุกหน ทุกแห่ง แล้วมันมากเหลือเกิน คล้ายๆกันว่าถ้าไม่มีภาพเหล่านี้มาติดไว้แล้วก็จะขายของไม่ได้อะไรอย่างนั้น คล้ายๆกับอย่างนั้น ถ้าอย่างนั้นทำไมเอามาติดไว้มากมายอย่างนั้น ไม่ว่าจะเหลียวหน้าไปทางไหนก็หลบไม่พ้น นี่ ระวังให้ดี ไอ้ที่อยู่ส่วนตัวของ พระ-เณร บางรูป บางวัดก็มีภาพอย่างนี้ นี่ แสดงว่าความมีจิตทรามมันมีมากเข้ามาอย่างนี้ เข้ามาถึงอย่างนี้ แล้วก็ไปเทียบกันดูก็แล้วกันว่า มันถึงขนาดนั้นแล้วมันจะนึกถึงพระพุทธเจ้าได้อย่างไร? นี่เป็นเรื่องที่ว่าต่ำที่สุด ถ้ามันดึงลงถึงขนาดนี้แล้วก็ไม่ไหว แล้วก็ลำบาก เดี๋ยวนี้ ไม่ว่าหนังสือพิมพ์ หนังสือรายเดือน หนังสืออะไร มันก็จะมีแต่อย่างนี้มาเรื่อยๆมากขึ้น มากขึ้น เพราะมันมีจิตทรามกันทั่วทั้งประเทศ ทั้งผู้ทำและผู้ควบคุมการกระทำ มันเป็นของที่ไม่ลามกอนาจารไปในที่สุด แต่แล้วความจริงมันก็ไม่ใช่อย่างนั้น เมื่อกี้ มีหนังสือพิมพ์หนึ่งเขียนว่า ชาวอังกฤษไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น เขาก็ประหลาดใจที่ว่า ในโรงงานทั้งหลายที่กรรมกรอยู่ไม่มีภาพอย่างนี้นี้ ไม่มีภาพ Calendar เปลือยอย่างนี้ แล้วก็มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างมาก นี่ แสดงว่าในประเทศอังกฤษก็ยังมี ในเมืองไทยนี้ไม่ต้องถาม ไปดูว่ากรรมกรเขาเป็นประชาธิปไตยเขาจะแขวนรูปอะไรก็ได้ เขตทำงานส่วนตัวของเขามีแต่รูปอย่างนี้ ที่ปั๊มน้ำมันที่ท่าเรือตรงโน้น ไปดู เต็มไปแต่ด้วยภาพเหล่านี้ ไม่รู้แขวนไว้ให้ใครดู แต่คนที่มันเป็นเจ้าของนั้นมันชอบ นี่ ลองเทียบจิตใจดู ลองเทียบจิตใจของคนเหล่านั้นดูมันต่างกันอย่างไร? ไอ้คนที่เอาภาพเหล่านี้มาแขวนไว้มากมายกับคนที่ไม่ยอมมี มันต้องต่างกันมาก เพราะฉะนั้น ขอให้พระ-เณรทั้งหลายถือเป็นหลักที่ว่า ไอ้สิ่งชนิดนี้มันต้องไม่มี คือ สิ่งที่จะแสดงความมีจิตทราม หรือว่าดึงไปสู่ความมีจิตทราม หรืออะไรต่างๆ-ต้องไม่มี ถ้ามิเช่นนั้นมันป่วยการ ป่วยการที่ว่าจะมาปฏิบัติอะไร ต่อสู้กับอะไร มันพ่ายแพ้หมดแล้ว
ที่พูดกันวันนี้ก็เพียงแต่ว่า ให้ลองหยิบไอ้สิ่งเหล่านี้ขึ้นไปพิจารณาดู ให้พบความจริงเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ว่ามันเป็นอย่างไร? แล้วขอให้พยายามชำระ-สะสางความไม่บังคับตัวเองทั้งหลายเหล่านี้ให้มันหมดไป หมดไป หมดไป แล้วถ้าใครมันเกิดนั่นนี่ขึ้นมา ก็อย่าไปพลอยมีจิตใจขุ่นหมอง ขุ่นมัวเศร้าหมองด้วย ช่วยกันเป็นแกะขาวไว้เรื่อย แกะดำมันก็จะ กลายๆๆๆ ค่อยๆกลายไปเอง หรือมันก็หนีไปเอง ขอมีแต่ความสงบในหมู่สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร นี่เราสวดทุกวันนี้ ขอให้มันสมกับที่ว่าเราสวดทุกวันก็แล้วกัน ดังนั้น วันนี้วันแรกพอกันทีสำหรับเพียงเท่านี้