แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายครั้งที่แปดนี้ จะได้พูดถึงเรื่อง “ความเชื่อของสังคม” ซึ่งหมายถึงสังคมใหญ่ มันเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไขด้วยเหมือนกัน ถ้าเราแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความเชื่อนี้ได้ มันก็เป็นผลสำเร็จอันหนึ่ง
สิ่งที่เรียกว่าความเชื่อนั้นมันไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย มันจำเป็นที่ทุกคนจะต้องมี เพราะว่าถ้าไม่มีความเชื่อ ความแน่ใจ อันใดสักอย่างหนึ่งแล้ว มันก็เป็นบ้าตาย เมื่อมีความเชื่อหลายๆ อย่างตามที่ควรจะมี เชื่อว่าเราจะต้องปลอดภัยอยู่ได้เพราะเหตุอย่างนั้นอย่างนี้ เรานอนตาหลับ นี้ก็เรียกว่าความเชื่อด้วยเหมือนกัน แต่นี่เราจะพูดถึงความเชื่อที่มันเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน กับการศึกษา การทำกิจอะไรต่างๆ แล้วก็ที่เกี่ยวข้องกันระหว่างบุคคลด้วย
เพื่อจะได้มีความรู้หรือการกระทำหรือก้าวหน้าไปตามลำดับ แต่ต้องเป็นความเชื่อที่ถูกต้อง ขอให้สังเกตดูให้ดีว่า ไอ้ชีวิตของเรานี้มันอยู่ได้หรือรอดมาได้ เรามีความเชื่อถูกต้อง มีความรู้ถูกต้อง มีการกระทำถูกต้อง มันจึงเกิดความแน่ใจความสนิทใจที่จะนอนหลับได้ คำว่าถูกต้องนี้ มันก็บอกอยู่แล้ว ว่ามันต้องถูกต้อง แต่ท่านก็เถียงกันได้ คนหนึ่งก็เข้าใจว่าถูกต้องไปอีกอย่างหนึ่ง คนหนึ่งก็ไปอีกอย่างหนึ่ง แต่ก็ยังดีที่ว่ามันมีความคิด มีความสามารถในการที่จะเลือก
เดี๋ยวนี้สังคมส่วนใหญ่ มันยังมีความเชื่อที่ใช้ไม่ได้ ที่พระพุทธเจ้าห้ามอยู่มาก คนโง่เชื่อไสยศาสตร์ คนฉลาดเชื่อเหตุผล จริงหรือไม่จริง ไอ้คนโง่นั้นมันกลัว มันขลาดมันกลัวมันงมงาย ไอ้ความขลาดนั้นทำให้เชื่อไสยศาสตร์ ถ้าคนฉลาดมันไม่กลัว มันกล้าแล้วมันก็เชื่อเหตุผลได้ คนโง่ไม่กล้าเชื่อเหตุผลเพราะมันมีแต่ความกลัวความงมงาย มันต้องเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ไม่เกี่ยวกับเหตุผลนี่เขาเรียกว่า “ไสยศาสตร์” คนโง่เชื่อไสยศาสตร์ คนฉลาดต้องเชื่อเหตุผล แล้วแต่ว่ามันมีความกลัวหรือมันมีความกล้า ถ้ากลัวก็ต้องเชื่อไสยศาสตร์แต่ถ้ากล้าก็เชื่อเหตุผลได้ ทีนี้เราดูเสียว่า ไอ้สังคมส่วนใหญ่ของเราในโลกทั้งโลกมันเชื่อกันอย่างไร
ไอ้เรื่องเชื่อไสยศาสตร์อย่าเข้าใจว่ามีอยู่ในคนป่านะ มีมากมายที่กรุงเทพฯ อยู่กลางกรุงเทพฯ เพราะบ้านนอกไม่ได้เชื่อปีมะ ไม่ได้เชื่ออะไรอย่างที่กรุงเทพฯเชื่อ ทีนี้พวกฝรั่งก็เหมือนกัน ได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ ก็มีเชื่อไสยศาสตร์ตามแบบของฝรั่ง คือถ้ามันกลัวแล้วมันขลาดแล้วมันต้องเชื่อสิ่งที่เป็นไสยศาสตร์ ไม่ว่าจะเรียกว่าพระเจ้าหรืออะไรก็ตามแต่ ในเรื่องไสยศาสตร์ก็ยังมีทั่วโลก แม้ในประเทศที่เรียกว่าก้าวหน้าเจริญทางวัตถุทางการศึกษา ก็มีไสยศาสตร์ไปตามแบบนั้น คือมันไม่มีเหตุผล เพราะความกลัวมันทำให้ลืมเหตุผล ไม่ใช้เหตุผล ยิ่งกลัวมากก็ยิ่งเชื่อในทางไสยศาสตร์มาก บางคนก็กลัว กลัวกันทั้งนั้น คนเป็นสัตว์ที่มีความกลัว แล้วไอ้ที่มันทำความอุ่นใจให้ได้มันก็เชื่อสิ่งนั้น มันทำให้ศาสนาเป็นไสยศาสตร์ไปเสียเยอะ ทุกศาสนาถูกทำให้เป็นไสยศาสตร์ด้วยความเชื่อของคนงมงาย มันจึงไม่ยกเว้นว่าจะเป็นชาติไหนชนชาติไหนในโลกส่วนไหน มีความเชื่ออย่างงมงาย เป็นไสยศาสตร์อีกส่วนหนึ่ง แล้วก็มีความเชื่อที่ประกอบไปด้วยเหตุผล อยู่ส่วนหนึ่ง
ทีนี้ในคนๆเดียวกันนี้ บางเวลามันก็เชื่ออย่างโง่ บางเวลาก็เชื่ออย่างฉลาด เพราะว่าส่วนที่ยังโง่มันก็ยังมี ไม่ใช่ว่ามันจะหมดได้ ในโลกมันมีทั้งไอ้เชื่องมงายและเชื่อมีปัญญาอย่างนี้ จะอยู่ร่วมโลกกันได้อย่างไรนั้น มันเป็นปัญหาทางสังคมที่เกี่ยวกับความเชื่อของสังคมนั่นเอง ถ้าถามว่าทำอย่างไรจะอยู่ร่วมโลกกันได้โดยเรียบร้อย ต้องมีความเชื่อที่เป็น “สัมมาทิฐิ”คำว่า “สัมมาทิฐิ” มีมาอีกแล้ว คือความเชื่อที่ประกอบอยู่ด้วย
“สัมมาทิฐิ” ก็หมายความว่า เชื่อหลังจากที่ได้มองเห็น เข้าใจ รู้จริงในเรื่องนั้นๆ จึงจะเชื่อ ถ้ามี “ สัมมาทิฐิ” เข้ามาในความเชื่อ มันก็ถูกต้องบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีงมงาย อย่าลืมคำว่าสัมมาทิฐิ ทำอย่างไรเราจะมีความเชื่ออย่างสัมมาทิฐิบุคคลเขาเชื่อ ก็ต้องเว้นจากความเชื่องมงายทั้งหลายเสีย เยี่ยงเรื่องนี้พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ชัดเจนว่า การที่ไม่ควรเชื่อ ไม่ควรถือเอาถึงสิบอย่าง ที่เรียกกันว่า “หลักกาลามสูตร” จำไอ้คำนี้ไปเพื่อจะได้ไปค้นหาเพื่อศึกษาให้ละเอียดต่อไป ถ้าเว้นไอ้ความเชื่อตามแบบสังคม ที่เชื่อกันอยู่ ที่สังคมใช้เป็นหลักเพื่อเชื่อกันอยู่ตามธรรมดานั้นเสีย แล้วมามีความเชื่อตามแบบของพระอริยะเจ้า คือต้องมีปัญญา เรียกว่า “ยถาปูสะสัมมะปัญญา” (นาทีที่ 10:10)
“ ยถาปูสะสัมมมะปัญญา” (นาทีที่ 10:11) คำนี้แปลกหูสำหรับคนธรรมดา แปลว่าปัญญาถูกต้องตามที่เป็นจริง แต่กลับหมายถึงความรู้สึก คือปัญญาแบบที่รู้สึกได้ด้วยใจ ไม่ต้องใช้เหตุผล Intuitive wisdom อะไรทำนองนั้น มันเป็นปัญญา มันเป็น Intuitive คือมันรู้จักแจ่มแจ้งอยู่ในใจไม่ต้องใช้เหตุผล “ยถาปูสะสัมมะปัญญา” ( นาทีที่ 10:58) สิ่งเดียวเท่านั้นแหละที่จะ ให้ที่พึ่งได้ในการที่จะเชื่อ ส่วนที่เชื่อกันอยู่ตามแบบของสังคมทั่วไปนั้น ยังใช้ไม่ได้ ทรงระบุไว้ถึงสิบอย่างจะว่าให้ฟัง
ความเชื่อหมวดแรก ก็หมายถึงความเชื่อที่ได้ยินอะไรผ่านหู ทางการฟัง อย่างนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้สามอย่าง “มาอนุสะเวนะ” (นาที่ที่ 11:47) อย่าเชื่อเพราะมันเป็นแต่เพียงฟังตามๆกันมา คือฟังบอกฟังเล่ากันต่อๆมา อย่าเชื่อเพราะฟังบอกตามๆกันมา
“นตะมาปรำปรายะ” ( นาทีที่ 12:10) อย่าเชื่อว่าเพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เค้าทำสืบๆกันมาแต่ดึกดำบรรพ์
“นะตะมาอิถิกิรายะ” (12.25) อย่าเชื่อเพราะว่าเขากำลังระบือลือชากันอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง สามอย่างนี้ไม่เหมือนกัน อย่างแรกคือฟังๆ ได้ยินจากฟัง ตามที่ได้ยินได้ฟังแล้วเชื่อ อย่างที่สองพบเห็นว่าเขาทำสืบๆกันมา แล้วก็เชื่อว่านี้มันต้องถูกแน่ เขาทำสืบๆกันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ เห็นว่าเขาทำสืบๆ กันมาแต่ดึกดำบรรพ์ แล้วก็เชื่อว่าอันนี้ถูก สังคมมันเชื่ออย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านห้าม อีกอย่างหนึ่งเขากำลังระบือลือชากันกระฉ่อน เหมือนคราวที่ ประหลาดๆ ระบือลือชากัน ตกใจกันเกือบตาย แล้วก็ไม่มีความจริงเลย แม้แต่สักนิดหนึ่ง พูดผิด ฟังผิด ความสะเพร่าของคนบางคนก็ยังมี หรือแม้แต่เขาลือชากระฉ่อนกันเรื่องนั่นเรื่องนี่ เรื่องศักดิ์สิทธิ์อะไรต่างๆ เรื่องสิ่งของ เรื่องสถานที่ เรื่องบุคคลก็ดี มาเล่าลือกันกระฉ่อน มีบ่อยๆ อยู่ที่กรุงเทพฯ ก็ไป ตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่บ้านนอกตามที่เขาเล่าลือกันกระฉ่อน มีสามอย่างนี้เกี่ยวกับการฟัง เป็นการเชื่อหรือวิธีเชื่ออยู่ในสังคม ถึงแม้พวกฝรั่งที่เจริญแล้วก็เหมือนกัน มันก็ยังมีเชื่อแบบนี้ เพียงแต่มันสูงขึ้นไปหน่อย
ทีนี้เกี่ยวกับตำรา เป็นข้อที่สี่เข้ามา มีอยู่ข้อว่า “มาปิฎะกะสัมปะเถะสัทธาเนนะ” (นาทีที่ 14:33) คืออย่าเชื่อเพราะว่ามันมีอยู่ในตำรา คืออย่างฝากเนื้อฝากตัวไว้กับตำรา “ปิฏะกะ” หรือ “ปิฎก” (นาทีที่ 14:48) นี้แปลว่าตำรา อย่าเชื่อเพราะมันมีอยู่ในปิฎก จะเป็นปิฎกชนิดไหนพระไตรปิฎก หรือปิฎกชนิดไหน ตำราเล่มไหนก็ตาม อย่าเชื่อด้วยเหตุเพียงแต่ว่ามันมีอยู่ในตำรา เขียนอยู่ชัด นี้สังคมก็เชื่อ ทำอยู่อย่างนั้น แต่ไม่ใช่ว่าอย่าพึ่งเชื่อ
ทีนี้มาถึงเกี่ยวกับการคำนวน ที่มีตั้งสี่ข้อ “มาตรรกกะเหตุ” (นาทีที่ 15:21) อย่าเชื่อด้วยเหตุผลทางตรรก หรือใช้วิธีการทางตรรก ตรรก หรือ Logic เพราะว่าตรรกหรือ Logic มันใช้เหตุผล มันเป็นตามเหตุผล ถ้าเหตุผลมันผิด ข้อมูลมันผิด ไอ้ตรรกนั้นมันก็ผิด เพราะฉะนั้นอย่าเชื่อด้วยตรรกว่า มันใช้วิธีการทางตรรก แล้วก็เอาผลของมันมาเชื่อ
อย่างที่หกก็ “มานะยะเหตุ” (นาทีที่ 15:46) อย่างเชื่อด้วยเหตุผลหรือวิธีการทาง ปรัชญา นะยะ หมายถึงวิธีการทาง ปรัชญา คำนวณออกไปไกลกว่าตรรก เพื่อหาสิ่งที่ยังไม่รู้เลย ถ้าจะมีความถูกต้อง วิธีการทางปรัชญานั้น มันก็ยังไม่จริงยังไม่แน่ เพราะฉะนั้นอย่าเชื่อด้วยเหตุ สักว่าใช้วิธีการทางปรัชญา หรือโดยเหตุผลทางปรัชญาก็ตาม ชาวบ้านเขาเชื่อกันอย่างนี้ สังคมเขาเชื่อกันอย่างนี้ พวกนักศึกษาก็ชอบเอ่ยถึงปรัชญา
ข้อที่เจ็ดว่า “มาอาการะปริวิตะเกนะ” (นาทีที่ 16:58) อย่าเชื่อด้วยการคิดเอาด้วยสามัญสำนึก ที่จริงสามัญสำนึกนี้มันก็มีส่วนถูก ทุกคนทั่วไปก็ใช้สามัญสำนึก Common sense พวกนี้ ทีนี้ก็ว่าอย่าเชื่อด้วยเหตุว่า เป็นผลของการคิด ตามสามัญสำนึก มันผิดได้ อย่าพึ่งเชื่อ
ทีนี้ข้อที่แปดว่า “มาทิฐินิชานะขันติยา” (นาทีที่ 17:42) อย่าเชื่อด้วยเหตุแต่เพียงว่า มันทนต่อการเพ่ง ด้วยทิฐิของตน มันทนได้ต่อการเพ่งด้วยทิฐิของตน ตนจะใช้ทิฐิความเห็นความคิดหรืออะไรก็ตาม วิจารณ์มันเข้าไป แล้วมันก็ทนอยู่ได้ ต่อให้ความคิดวิจารณ์วิจัยของเรา ถ้าอย่างนี้ก็ขอให้อย่างพึ่งเชื่อ สังคมก็ต้องเชื่ออย่างนี้แหละ เพราะมันทนได้ เพราะว่าเหตุผลของเราหรือมันเข้ากันได้กับเหตุผลคนเราหรือมันเข้ากันได้ ความคิดเห็นคนเรานี้ ไปกับความเชื่อนั้นแหละ แต่พระพุทธเจ้าก็ยังห้ามไว้ทีก่อนว่า อย่าพึ่ง
ทีนี้ก็มาถึงหมวดที่มันเกี่ยวกับบุคคลอื่น ก็มีศัพท์ใช้เป็นข้อที่เก้าว่า “มาภัพพะรูปตายะ” (นาทีที่ 18:52) อย่าเชื่อเพราะเหตุแต่สักว่าผู้พูด อยู่ในฐานะที่ควรเชื่อ ก็ดูท่าทางผู้พูดอยู่ในฐานะที่ควรจะเชื่อแล้วเราก็เชื่อ แต่อย่าพึ่ง รอก่อน ให้รอไว้ก่อน ทีนี้ข้อสุดท้าย
ข้อที่สิบว่า “มาสะมันโนโนครุ” (นาทีที่ 19:24) อย่าเชื่อด้วยเหตุเพียงสักว่า สมณะนี้ เป็นครูของเรา ใครจะคิดว่าอาตมาเป็นพระเป็นสมณะและเป็นครู เป็นอาจารย์ด้วย แล้วเชื่อ คือการห้ามไว้ในข้อนี้ ก็พูดได้เลยว่า แม้พระพุทธเจ้าตรัสเอง ก็อย่างพึ่งเชื่อ ท่านเปิดโอกาสอย่างนั้น ห้ามไว้อย่างนั้น อย่าเชื่อด้วยเหตุสักว่า สมณะนี้เป็นครูของเรา แล้วคุณไปคิดดูว่า มันมีอะไรเหลือ มันหมดเลย มันไม่มีอะไรเหลือให้งมงายได้
แต่ถ้าเชื่อด้วย “ยถาปูสะสัมมะปัญญา” (นาทีที่ 20:16) นี้คือมี Experienced ในสิ่งนั้นโดยไม่ต้องใช้เหตุผล ข้อนี้จะยกตัวอย่างให้เห็นได้ง่ายๆ เช่น เขาบอกว่าไฟร้อน แต่ก็ยังไม่เชื่อ หรือว่าจะคิดค้นอย่างไร จะคิดเห็นอย่างไรก็ยังไม่เชื่อ เห็นไฟมันไหม้เชื้ออยู่ก็ยังไม่เชื่อ ครูบาอาจารย์บอก็ยังไม่เชื่อ จนกว่าจะมี Experience ในไฟนั้น คือไปขยำเอาไฟนั้นก็รู้จริง จึงว่าเชื่อได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เลย
เกี่ยวกับเรื่องทางธรรมะแม้ว่ากิเลสเป็นของไม่ดีเป็นของชั่วเป็นของร้อนนี้ก็ยังไม่ต้องเชื่อ จนกว่าจะไปดูที่กิเลสนั้น ว่ามันร้อนจริงๆ แต่สำหรับเรื่องอย่างนี้มันไม่มีปัญหายืดยาดอะไร เพราะเรามันก็ยังมีกิเลสและเคยร้อน เพียงแต่เราไม่เคยคิด จะเรียกจะตั้งกฎเกณฑ์อะไรเท่านั้นเอง พระพุทธเจ้าตรัสว่า โลภะเป็นของร้อน โทสะเป็นของร้อน โมหะเป็นของร้อน เชื่อได้เลยเพราะมันเคย มีโลภ มีโกรธ มีหลง ไม่ต้องคิดดูก็รู้สึกทันทีว่ามันเป็นร้อน เป็นของร้อน อย่างนี้ก็เรียกว่ามันอยู่เหนือเหตุผล ไม่ต้องไปดู ไม่ต้องดูด้วยเหตุผลว่ามันร้อน เมื่อรู้สึกด้วยใจ แล้วก็เชื่อได้เลย นี้ก็แปลว่าไม่ให้เชื่องมงาย ไม่ให้เชื่องมงาย แต่ก็อย่าเข้าใจผิดว่า ห้ามไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้อง หรือไม่ฟังไม่ทดลอง ไม่คบหาสมาคม เขาพูดเราก็ฟัง เขาทำๆกันมาเราก็เห็น ตำราเราก็อ่าน เหตุผลทางตรรกเราก็ใช้ เหตุผลทางปัญญาเราก็ใช้ ใช้ๆอยู่ แต่ยังไม่ถึงความสันนิษฐานลงไปร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเป็นการเชื่อ หรือยอมเชื่อ จนกว่าเมื่อไรสิ่งนั้นมันจะพิสูจน์ด้วยจิตใจ หรือทางใจเสียก่อน จึงจะเชื่อ
ทีนี้เราดูสังคมมนุษย์ปัจจุบันนี้ในโลกทั้งโลกมันเชื่ออยู่ในสิบอย่างนี้ เชื่อด้วยอาการสิบอย่างนี้ พวกไทย พวกฝรั่ง พวกเทวดาไหน มันก็เชื่ออยู่ในสิบอย่าง อาการสิบอย่างนี้ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสห้ามไว้เป็นหลักแห่ง กาลามสูตร คนทั้งโลกมันเชื่อด้วยอยู่อาการเหล่านี้ เชื่อเพราะฟังตามๆกันมา เพราะเห็นทำกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ เพราะกำลังลือกระฉ่อนไปทั้งโลก เพราะมันมีอยู่ในตำรา เพราะเราใช้เหตุผลทางตรรก เพราะเราใช้เหตุผลทางปรัชญา เพราะมันเข้ากันกับสามัญสำนึกของเรา แล้วมันทนต่อการพิสูจน์ของเรา เพราะคนนี้เป็น Professor ยิ่งเป็น Professor ก็ควรจะเชื่อได้ นี้เป็นอาจารย์ของเรา เราต้องเชื่อ มีแต่ย่างนี้ทั้งนั้น นี้เรียกว่าความเชื่อของสังคม ที่ได้เป็นอยู่จริง มีอยู่จริงในโลกนี้
ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านมาเหนือนั้นหมด ตัดทิ้งไปหมดทั้งสิบอย่าง กลายเป็นเชื่อความรู้สึกของตัวเอง หลังจากที่ได้ผ่านสิ่งเหล่านั้น มันจึงจะมาถึง ความเชื่อที่เรียกว่า “ยะถาปูสะสัมมะปัญญา” (นาทีที่ 24:36) ด้วยความรู้สึกที่เป็นความรู้สึกที่อยู่ในใจ ไม่ต้องใช้เหตุผลอะไรกันอีก เมื่อเราอยู่ในโลกนี้ เกี่ยวข้องกันอยู่กับสังคมในโลกนี้ เราจะทำอย่างไร ที่เกี่ยวกับความเชื่อ เราก็ทำไปคิดอะไรไป เหมือนที่เขาทำๆกันอยู่ ตำราก็เรียน อะไรก็ทำ แต่การที่จะให้เชื่อ ลงไปร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น ต้อรอจนกว่ามันจะแจ่มแจ้ง ในระหว่างนั้นก็เรียกว่าเป็นการทดลอง ค้นคว้า พิสูจน์ อย่างนี้เรียกว่าไม่ใช่เชื่อ ยังไม่ได้เชื่อ แม้อยู่ในระยะที่ทดลอง พิสูจน์อยู่นี้ ก็ยังมิได้เชื่อ
หลักของการไม่เชื่อสิบอย่างนี้ ยิ่งจำเป็นมากขึ้นทุกที สำหรับในโลกที่เจริญแล้ว หลักอันนี้พระพุทธเจ้าตรัสขึ้น โดยการที่มีคนไปทูลถามท่านว่า มีนักบวชผู้สั่งสอนผ่านมีที่นี้เรื่อย พวกนี้สอนอย่างนี้ พอพวกอื่นมาก็บอกว่าไม่ถูก ต้องอย่างนี้ พอพวกอื่นมาอีกก็ไม่ถูก ต้องอย่างนี้ ไม่รู้กี่อย่างกันแล้ว ตั้งสิบอย่างยี่สิบอย่างก็แล้ว ไม่รู้ว่าจะเชื่ออย่างไหนดี พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสตอบด้วยหลักการอันนี้ สิบอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ก็เหมือนกัน ในโลกนี้มันยิ่งมี ไม่รู้จะเชื่อทฤษฎี ของนักปรัชญาคนไหน แม้ในเรื่องแคบๆเข้ามา ไม่รู้จะเชื่อวัดไหน สำนักวิปัสสนานั้น สำนักวิปัสสนานี้ สำนักวิปัสสนาโน้น ไม่รู้ว่าจะเชื่อสำนักไหน และจะยิ่งเป็นมากขึ้นทุกที เพราะการค้นคว้า ซอกแซกๆ ขึ้นทุกที ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านจึงตอบแก่คนที่ไปถาม ยากทั้งนั้นแหละ ท่านก็เลยสิบอย่างนี้ไม่เอาแล้ว เชื่อสมณะนี้เป็นครูของเราก็ไม่เอา เชื่อว่ามีอยู่ในพระไตรปิฎกก็ไม่เอา อะไรก็ไม่เอา ให้คอมพิวเตอร์สักสิบเครื่องรวมกันก็ไม่เชื่อ แต่ว่าจะเชื่อด้วยความรู้สึก ที่รู้สึกอยู่แล้วแก่ใจ ต้องทำความรู้สึกอันนี้ให้เกิดขึ้นมา อย่าลืมว่าได้พูดแล้ว ไม่ได้ห้าม เพื่อการศึกษา ทำไปเถอะจะได้ยินได้ฟัง ได้ศึกษาได้ไต่ถาม ได้คบค้าสมาคมกับอาจารย์ ก็ทำไปได้ จึงจะเมื่อไรมันจะประจักษ์แก่ใจของเรา ณ คนเดียวนี้ จะเรียกชื่อใหม่ว่าเชื่อโดย “ยะถาปูสะสัมมะปัญญา” (นาทีที่ 28:42) สิ่งที่รู้สึกอยู่ในใจโดยประจักษ์แล้วก็เชื่อได้ อย่างเช่นว่า ความโลภเป็นของร้อน นี้เป็นต้น อันว่าถือหลักสิบประการนี้ แล้วไม่มีทางที่จะงมงายได้ แล้วก็ไม่มีทางที่ถูกหลอกได้ เขาจะพูดกันอย่างไร จะอะไรกันอย่างไร มันก็ไม่ทำให้เราไปงมงายได้ ที่นี้มาดูต่อไปว่าทั้งหมดนี้ มันสรุปอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า งมงาย หรือว่ามีปัญญา
ดูดีๆก็จะเห็นกันง่ายๆ คนโง่แขวนพระเครื่องที่คอ มันก็เพื่อเป็นคนโง่ เพื่อเป็นคนงมงาย หายกลัวอย่างโง่ๆ ไม่หลุดพ้นจากความโง่ ที่ว่าคนฉลาดแขวนพระเครื่องมันก็เพื่อฉลาด แขวนพระเครื่องเพื่อว่ามันจะเป็นเครื่องช่วยให้เรานึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่เรื่อย กันลืมพระพุทธเจ้าแล้วจะพยายามฉลาดอย่างพระพุทธเจ้า ถ้าคนฉลาดแขวนพระเครื่องมันก็จะเป็นคนฉลาด ถ้าคนโง่แขวนพระเครื่องมันก็จะเป็นคนโง่
ทีนี้ก่อนจะเอาพระเครื่องมาแขวนให้ใช้หลัก สิบประการนี้เสียก่อน มันจะได้แขวนเพื่อให้มันได้ฉลาด ถ้าเราฉลาดจริงยิ่งขึ้นไป ก็มีพระอย่างอื่นที่ไม่ต้องแขวนให้หนักคอ นี้ถ้าฉลาดจริงฉลาดมากขึ้นไปอีก นี้ยังฉลาดน้อยอยู่ ยังขี้ลืมขี้อะไรอยู่ก็เอาแขวนพระเครื่องก็ได้ แต่แขวนเพื่อให้ฉลาด แต่ถ้าฉลาดจริงฉลาดถึงที่สุดก็แล้วมีพระอย่างอื่นอยู่ในใจเลยไม่ต้องแขวนคอให้รุงรัง อยู่ในหัวใจตลอดเวลาไม่หนีไปไหน ไม่สูญหายไปไหน หรือถ้าเก่งกว่านั้นอีก ก็เรานี้ เป็นพระเสียเอง เรามีคุณธรรมอย่างพระเสียเอง เราเป็นพระเสียเอง หรือเราจะแขวนจะใส่ให้มันยุ่งยาก ไอ้ความรู้สึกอันนี้คือ Intuitive Wisdom หรือว่า “ยะถาปูสะสัมมะปัญญา” (นาทีที่ 31:46) ว่า เรากำลังเป็นพระอยู่เองในหัวใจของเรา กาย วาจา ใจของเรา เป็นพระอยู่เอง เป็นเนื้อเป็นตัว ทั้งเนื้อทั้งตัว ก็ไม่ต้องแขวนพระเครื่อง
ทีนี้ความเชื่อมันก็อยู่คนละระดับ คนโง่แขวนพระเครื่องให้โง่ เพราะมีความเชื่ออย่างโง่ คนฉลาดแขวนพระเครื่องเพื่อรักษาความฉลาด แล้วก็ความเชื่อนั้นมันก็ฉลาด แล้วยิ่งไปกว่านั้นไม่ต้องแขวนไอ้สิ่งของเหล่านี้ มันก็ฉลาดถึงที่สุด คือจิตใจมันตรัสรู้ สว่างไสวเหมือนกับจิตใจของพระพุทธเจ้าไปเลย นี้คือความเชื่อชนิดที่พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า “ยะถาปูสะสัมมะปัญญา” (นาทีที่ 32:39) เป็นผู้ Risen Intuitive Wisdom มันทั้งฉลาดและมันทั้งประจักษ์แก่ใจจริงแล้วก็ถูกต้อง อะไรไปหมดเลย ควรจะพยายามให้เป็นไปในรูปนี้ แล้วถ้าเมื่อไรสังคมโลกของเรานี้มันมีความรู้ความเชื่อถึงขนาดนี้ แล้วปัญหาหมด ปัญหาทางสังคมทั้งหลายจะหมดไป
ทีนี้ความคิดมันแตกแยก เพราะความเชื่อมันเป็นไปตามอาการทั้งสิบอย่าง มันดึงกันอยู่ ก็พูดกันไม่รู้เรื่อง พวกฝรั่งที่มันฉลาดเฉลียวในการศึกษาอย่างมากมายถึงที่สุด เราไปนับถือเขานั้น ก็ดูไอ้พวกฝรั่งมันพูดกันรู้เรื่องเมื่อไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พูดกันเรื่องทำโลกให้มีสันติภาพ มันพูดกันไม่รู้เรื่อง เพราะมันดึงกัน โดยหลักการอย่างนี้ เพราะมันมีความเชื่อ ความคิดความแน่ใจ ที่มันแตกต่างกันมากอย่างนี้ เรียกว่าคนโง่แขวนพระเครื่องเพื่อให้เป็นคนโง่ คนฉลาดแขวนพระเครื่องให้มันเป็นคนฉลาด และความเป็นคนฉลาด แต่ว่าศาลพระภูมินั้นมากเกินไป ไม่มีทางที่จะแยกออกเป็นอย่างนี้ได้ นั้นมากขี้ขลาดมากเกินไป อ่อนแอมากเกินไป เป็นความหลับ หลับแลวิชามากเกินไป มันย้อนกลับไปสู่ลัทธิ Animism เชื่อวิญญาณผีๆ สางๆ อย่างของคนป่าสมัยหินก็ได้ ระวังให้ดี ศาลพระภูมิสวยๆ นั้น จะไปเชื่อตรงๆ ไปตามนั้นแล้ว มันก็ไม่มีทางฉลาดได้
คำว่า “พุทธะ” แปลว่ารู้ แปลว่าตื่น แปลว่าเบิกบาน นี้พูดไปแล้วจำไว้ดีๆ เมื่อจะเรียกตัวเองว่าเป็นพุทธบริษัท ก็ต้องดูคำที่ว่า พุทธ หมู่คณะที่เป็นพุทธ คือรู้ ตื่น และก็เบิกบาน รู้คือไม่งมงายรู้จริง ตื่นคือตื่นจากโง่จากหลับ และเบิกบานคือว่ามันไม่มีความทุกข์ ถ้ามันยังมีความทุกข์ มันก็อยู่ไม่ไหว ไม่ได้ พิสูจน์ว่ายังผิดอยู่ ถ้ามันยังมีความทุกข์อยู่ คือมันไม่รู้ มันไม่ตื่นจากหลับ ถ้ามันยังไม่รู้ ไม่ตื่น ไม่อย่างนี้มันก็ยังล้าหลัง มนุษย์ที่ล้าหลัง ไม่ถึงกับเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นโลกนี้ทั้งโลกนี้มันยังล้าหลัง ยังไม่เป็นโลกที่รู้ที่ตื่น ที่เบิกบาน เป็นโลกที่ไม่รู้ยังหลับอยู่ ยังทุกข์ทนหม่นหมอง ยังเต็มไปด้วยความกลัวมากขึ้น ในประเทศก็ดี ในโลกก็ดี มีความกลัวเพิ่มขึ้นๆ ปัญหามันยุ่งยากมากขึ้น เกิดกลัวมากขึ้น กลัวจนทำอะไรไม่ถูก เหมือนพวกฝรั่งกลัวคอมมิวนิสต์ จนทำอะไรไม่ถูก ก็ต้องระวังด้วยเหมือนกัน
ไอ้ความกลัวที่มันมากเกินไปจะทำอะไรไม่ถูก ก็จะทำให้ทำอะไรไม่ถูก แล้วมันเป็นมูลเหตุให้เชื่องมงาย รู้จักมันไว้ให้ชัดๆ ไอ้ความกลัวที่ไม่มีเหตุผลนั้นจะเป็นมูลเหตุคือต้นตอของความเชื่อที่งมงายอย่างนี้ทั้งนั้น จะแขวน ตระกรุดทิศะหมอ (นาทีที่ 37:13) หรือจะทำพิธีอะไรต่างๆนาๆ ทางไสยศาสตร์นั้นเพราะว่า มันมีความกลัว ความกลัวตัวเดียวนี้ ทำให้เกิดความงมงายแล้วก็มีเรื่องไสยศาสตร์
คนโง่เชื่อไสยศาสตร์ คนฉลาดเชื่อเหตุผล มันก็เห็นอยู่ชัดๆ จงอย่ากลัว ขอร้องกันทีก่อนว่าถ้าความกลัวเกิดขึ้นในใจ แล้วสลัดทิ้งไป ให้ใจคอปกติแล้วจึงดู แล้วจึงคิด แล้วจึงเชื่อ แล้วจึงพิจารณา แล้วจึงตัดสินใจ ความกลัวต้องเอาออกไป ไอ้ความกลัวชนิดที่กรุ่นเป็นความวิตกกังวลอยู่ในนี้ก็เหมือนกัน อยู่ในเครือนี้ต้องสลัดออกไป ถ้าขืนเอาไว้คือตัวเสนียดจัญไร เสนียดจัญไรอย่างอื่นไม่มี มันไม่ใช่ความโง่ ความงมงาย
คนที่เขาเชื่อไสยศาสตร์กันอย่างนั้น เป็นอุบาทว์อย่างนี้ เสนียดอย่างนั้น เป็นอะไร มันไม่จริง ไอ้ความความโง่ของคน ทำให้เกิดความงมงายเกิดขึ้นเกิดเสนียดเกิดอุบาทว์เกิดอะไรขึ้นมาก มีแต่ความทุกข์ทั้งนั้น อะไรเกิดขึ้นก็อย่างพึ่งกลัวดีกว่า จะได้คิดให้ถูกต้อง แล้วก็ทำไปให้ถูกต้อง ทีนี้พอเห็นอะไรที่น่ากลัวก็กลัวซะแล้ว เห็นอะไรที่เข้าใจไม่ได้ก็กลัวซะแล้ว ที่ไปกลัวสิ่งที่ไม่ควรจะกลัว เหมือนิทานพระสอนเด็กเรื่อง ไอ้ลูกหนู มันว่าสัตว์อะไรก็ไม่รู้ หน้าแดงร่า ขันดัง ร้องดัง น่ากลัวจริงๆ สัตว์อะไรก็ไม่รู้ หน้าตาดี หมายถึงแมว หนูมันว่าแมวนี้น่ารัก ไอ้ไก่มันน่าเกลียด น่ากลัว มันยังมีความโง่ถึงขนาดนั้น คนเราก็มีความโง่ถึงขนาดนั้นอยู่เสมอ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว นั้นก็เลยสับสนไปหมด ต้องทำใจคอปกติบ้าง แม้แต่สอบไล่ ก็อย่ากลัวสอบตก ใจคอปกติแล้วมันจะสอบไม่ตก พอความกลัวเกิดขึ้นแล้วมันก็จะ หมดความเชื่อตัวเอง หมดเหตุผลหมดอะไรไปหมด มีแต่ความกระสับกระส่ายฟุ้งซ่าน
อยากจะพูดเปรียบเทียบไว้ให้มากเข้าสักหน่อย ให้เกินๆเข้าหน่อยว่า เห็นเสือกลางป่าต่อหน้านี้ก็อย่ากลัว ก็คิดดู ไปกลัวจะมีประโยชน์อะไร ถ้าอย่ากลัวนั้นมันมีประโยชน์ เพราะว่า ถ้าว่าเราจะวิ่งหนี เราก็วิ่งหนีโดยไม่ต้องกลัว ถ้าวิ่งหนีด้วยความกลัวเดี๋ยวมันก็หกล้ม ถ้าเราจะขึ้นต้นไม้ก็ขึ้นต้นไม้โดยที่ไม่ต้องกลัว ถ้ามันกลัวตัวสั่นจะขึ้นยังไงได้ มันก็ตกลงมาให้เสือกิน ถ้าสมมุติว่ามันต้องสู้เสือ ที่นี้ก็อย่ากลัวสู้กันจนวินาทีสุดท้าย ก็อาจจะเอาชนะเสือได้ด้วยความกล้า เรียกว่าอย่ากลัวจนวินาทีสุดท้าย แม้แต่ว่าตายไปก็อย่าให้มีความกลัว
พูดมันง่ายทำมันยาก ข้อนี้ก็รู้อยู่ แต่ว่าขอให้ถือหลักอย่างนั้น เมื่อเราไม่ต้องกลัว เพราะว่าพอกลัวเข้ามันก็หมดความสามารถ หมดสมรรถภาพอะไรไปหมด ทีนี้ไอ้ความกลัวนี้มันเกี่ยวกันอยู่กับความเชื่อ มันเป็นเรื่องเดียวกันด้วยซ้ำไป พอกลัวก็เชื่องมงายพอกล้าก็เชื่อเหตุผล ความกลัวก็มาจากความเชื่อว่าเราต้องตายแน่ ว่าเราต้องพ่ายแพ้แน่ เราต้องฉิบหายแน่ เราไม่มีทางสู้แน่ มันเป็นความเชื่อที่โง่ที่สุด ทีนี้เรายังไม่ต้องกลัว อยู่ด้วยความไม่กลัวดีกว่า แต่แล้วก็อย่ากล้าดี อย่าโง่ไปทางที่ประมาท อวดดี เพราะฉะนั้นจะต้องนึกถึงหลักกิเลส พูดไปแล้ววันก่อนว่า พุทธศาสนานั้นเป็น “มัชฉิมาปฏิปทา” (นาทีที่ 42:26) คืออยู่ตรงกลาง ไม่กลัวแล้วก็ไม่ขลาด ไม่โง่แล้วก็ไม่บ้าบิ่น นี้คือความเชื่อที่เป็น “สัมมาทิฎฐิ” (นาทีที่ 43:01) มันทำให้เชื่อตัวเอง ให้มันแน่ใจตัวเอง ให้มันไว้ใจตัวเอง
เอาล่ะที่นี้เรามาถึงจุดปลายทางที่ว่า สังคมควรจะมีความเชื่ออย่างไร ให้ตรงกันทั้งโลกด้วย และก็มีความเชื่อที่ถูกต้องของ “สัมมาทิฏฐิบุคคล” (นาทีที่ 43:31) นี้ก็ยังพูดกันกำปั้นทุบดิน แล้วก็ยังพูดด้วยคำพูดธรรมดา เราอยากจะพูดว่า ขอให้ทุกคนในโลกเชื่อพระเจ้า บางคนยังหัวเราะเยาะเชื่อพระเจ้า คนนั้นมันไม่รู้จักพระเจ้า คำว่าพระเจ้านี้เป็นภาษาไทย หมายถึงบุคคลสูงสุดหรือ สิ่งสูดสุด ไม่ใช่ว่าของชาตินั้นชาตินี้ ศาสนานั้นศาสนานี้
คำว่าพระเจ้านี้เป็นภาษาไทย สมัยหนึ่งคำว่าพระเจ้านี้หมายถึงพระสงฆ์ แต่ว่าความหมายทั้งหมดของมันไม่ได้เล็งถึงแต่พระสงฆ์ มันก็พระเจ้าที่เราไม่ต้องรู้จักหรอก แต่เรารู้แต่เราเชื่อแน่ว่าสูงสุด นั้นแหละคือพระเจ้า ทีนี้อะไรมันเป็นสิ่งสูงสุด เราก็ไม่รู้จัก ก็ลองนึกดูสิว่า อะไรเป็นสิ่งสูงสุด
นี้เรากำลังโง่กำลังหลับตา แล้วกำลังไม่ยอมเชื่อด้วยอาการสิบอย่างนั้น เราจะว่าอะไรสูงสุด เราก็ต้องรู้สึกออกมาจากจิตใจของเราว่าอะไรสูงสุด ที่เราเห็นอยู่ว่าเราต่อสู้ไม่ได้เราต้านทานไม่ได้ โดยจะพบว่า กฎแห่งธรรมชาติ กฎเกณฑ์ของธรรมชาตินี้สูงสุด ไม่มีใครต่อต้านมันได้ ทีนี้ในความหมายอันนี้มันเป็นอันเดียวกันกับความหมายคำว่าพระเจ้า พระเจ้าภาษาไทยคือสิ่งสูงสุดที่ไม่มีใครต่อต้านได้ ถ้าดูในวงแคบเข้ามาก็ กฎแห่งกรรมเป็นต้น
เพราะกฎแห่งเหตุผลหรือกฎแห่งกรรมขณะนี้ คือกฎธรรมชาติ เพราะฉะนั้นธรรมชาติในฐานะที่เป็นกฎคือพระเจ้า นั้นก็ควรจะเชื่อ คือยอมรับที่จะเอาไปเชื่อได้ทั้งโลก แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ดู มันไม่ยอมดู ไม่ยอมฟัง แล้วเกิดมาแตกแยกกันว่ามึงมีพระเจ้ากูไม่มีพระเจ้า นี่เป็นความโง่ที่โง่มากออกไป มากออกไป งมงายออกไป ถ้าเราอย่าใช้คำว่าพระเจ้า อย่าใช้คำอะไรทำนองนั้น ใช้คำว่ามีสิ่งสูงสุดอันหนึ่งอยู่ในสากลจักรวาล ต้องดูให้ดีกว่าเป็นอะไร ในที่สุดก็ต้องพบตรงกันหมด เมื่อมีการศึกษาพอสมควรแล้วก็จะรู้เรื่องนี้ เรียกว่ากฎของธรรมชาติ กฎของกรรม กฎของอะไรก็ตาม ที่มันแน่นอนไม่มีใครแก้ไขต่อสู้ต้านทานได้
ก็อยากให้สังคม ทั้งโลก หรือหลายๆโลกก็ได้ เชื่ออย่างนี้กันก่อน เชื่อไปตรงจุดเดียวกันก่อน คือเชื่อพระเจ้า ถ้าเกิดพระเจ้านั้นดี มันจะได้กำไร หรือว่าคนในโลกส่วนมากไปเชื่อพระเจ้า เป็นฮินดู หรือว่าเป็น คริสต์ อิสลาม อะไรก็ แม้แต่ในประเทศจีน นี้ก็มีสิ่งที่เรียกว่าพระเจ้า หรือมีความหมายตรงกับคำว่าพระเจ้า ทีนี้คนไทยเราก็เชื่อพระเจ้า แต่เชื่อมานี้ไม่รู้อะไร นี้ก็นับถือพระ นับถือเจ้า นับถือพระเจ้า นับถือว่ามีอะไรเป็นสูงสุดอยู่เหมือนกัน
ดังนั้นถ้าเทียบว่าพระเจ้านั้นดีกว่า มันจะเข้าใจกันได้เร็วๆ แล้วก็ไปดูว่าอะไร เดี๋ยวนี้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มันก็มีมากขึ้น ก็รู้จักธรรมชาติ รู้จักกฎของธรรมชาติ แล้วคำพวกนี้ก็ไปตรงกับหลักพระพุทธศาสนา ธรรมะ ก็คือธรรมชาติ คือกฎธรรมชาติ คือหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ แล้วผลที่ได้รับมาเป็นมรรคผลนิพพานอะไรก็ตาม ตามกฎของธรรมชาติ นี้เรียกว่าธรรมะในสี่ความหมาย
ธรรมะในสี่ความหมายนี้คือพระเจ้าที่แท้จริง ไม่มีทางจะผิดเลย เราก็มีพระเจ้าที่แท้จริง เราจะเรียกว่าอย่างไรก็ตามใจเรา เพราะฉะนั้นแล้วกฎของธรรมชาติ กฎของเหตุผลนั้น ถ้าศึกษาธรรมะในพุทธศาสนาครบเครื่องถูกต้องจริงๆแล้ว ก็จะพบว่า กฎแห่งเหตุผลคือพระเจ้า ที่ในพระคัมภีร์เรียกว่า “อิทัพปัตตะยตา” (นาทีที่ 49:21)
“อิทัพปัตตะยตา” (นาทีที่ 49:24) นี้แปลกหูที่สุดสำหรับชาวบ้าน สำหรับพระเณรก็ ไปถามดูเถอะ ไม่ค่อยสนใจกันหรอก แต่นี่คือพระเจ้า ดูให้ดีให้เข้าใจ “อิทัพปัตตะยตา” (นาทีที่ 49:36) นี้คือพระเจ้า คือกฎที่มันเฉียบขาด เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี มันเป็นกฎเกณฑ์หรือเป็นอำนาจอันใดอัหนึ่งซึ่งเฉียบขาดที่สุด ไม่มีใครแก้ไขต้านทานได้ และนี้คือพระเจ้า
คำว่า “อิทัพปัตตะยตา” (นาทีที่ 49:57) นี้ มันทำหน้าที่อย่างพระเจ้า สมเป็นพระเจ้าจริงๆด้วย อะไรๆมันเกิดขึ้นก็เพราะกฎเกณฑ์อันนี้ อะไรๆเปลี่ยนแปลงไปก็เพราะกฎเกณฑ์อันนี้ อะไรมันดับหายไปก็เพราะกฎเกณฑ์อันนี้ มันจะเกิดมาใหม่ก็เพราะกฎเกณฑ์อันนี้ เนื้อตัวของเราก็เป็นอย่างนี้ จิตใจของเราก็เป็นอย่างนี้ ของคนอื่นก็เป็นอย่างนี้ วัตถุแท้ๆ ดิน น้ำ ไฟ ลม ก้อนหิน ก้อนกรวด ก็เป็นอย่างนี้ อยู่ในกฎเกณฑ์อันนี้ มีพระเจ้าอยู่ในตัวเรา เราก็ยังโง่ถึงขนาดที่ไม่รู้จัก ชี้ว่าไม่มีพระเจ้าไหนที่จะมาช่วยได้ เพราะมันโง่เกินไป เพราะคนมันโง่เกินไป มันไปหวังปัจจัยภายนอก เชื่อเทวดา ผีสางภายนอก เพราะเจ้าจริงๆที่มีอยู่ในเนื้อในตัว มันไม่รู้จัก มันก็เลยไปเชื่องมงายข้างนอก มันไม่เชื่อตัวเองข้างใน
นี้คือความเชื่อของสังคม ตั้งเก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์ยังโง่งมงายอย่างนี้ ทั้งโลกก็ว่าได้ มันเป็นพุทธบริษัทไม่ได้ ไม่รู้ ไม่ตื่น ไม่เบิกบานกันเลย แล้วจะเรียกชื่อพระเจ้าว่าอะไรก็ได้ ว่ากฎเกณฑ์ก็ได้ ว่าธรรมะก็ได้ ว่า “อิทัพปัตตะยตา” (นาทีที่ 51:25) ก็ได้ เนื้อแท้มันสิ่งเดียวกัน ทีนี้พอเรารู้จักสิ่งนี้ดีแล้ว มันก็เป็นเชื่อพระเจ้าข้างในคือตัวเอง ที่เจิดแจ้งอยู่ในสติปัญญา เชื่อตัวเองมันต้องหมายถึงอย่างนี้ หมายถึงมันปรากฏแจ่มแจ้งชัดเจนเหมือนกับมีการตรัสรู้แล้วข้างในนี้มันถึงจะเชื่อ
เชื่อที่เป็น “ยถาปูสะสัมมะปัญญา” (นาทีที่ 52:03) ที่อยู่เหนือเหตุผล ไม่เกี่ยวกับเหตุผล มันเกี่ยวกับความรู้สึกจริงๆแล้วมันจะต้องเอาเหตุผลทำไม ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วมันก็ยังงมงายทั้งนั้น แล้วก็ถึงขนาดที่เรียกว่าเชื่อตัวเองได้ แล้วมันก็ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น ไม่ต้องเชื่ออย่างที่สังคมเชื่อในอาการสิบอย่างนั้น นึ้คือจุดปลายทางของความเชื่อที่สังคมจะต้องไปให้ถึง ถ้าไม่อย่างนั้นก็ยังเป็นสังคมแห่งความทุกข์ สังคมแห่งความพูดกันไม่รู้เรื่อง สังคมที่ต้องทนทุกข์ เพราะความเชื่อนี้มันไม่เป็นความเชื่อที่ถูกต้อง
ทีนี้ว่าความเชื่อมันมีแนวอยู่อย่างนี้ เราก็เขยิบขึ้นมา เขยิบขึ้นมา เขยิบขึ้นมาให้มันเชื่อดีขึ้น ดีขึ้น ดีขึ้นเป็นความฉลาด จนไม่ต้องอาศัยความเชื่ออีกต่อไป ถ้ายังเป็นปุถุชนอยู่ มันต้องเชื่ออย่างนั้นไป หรือแม้เป็นพระเป็นเจ้าขั้นต้นๆก็ยังต้องเชื่ออยู่นั้น จนกว่าจะเป็นพระอรหันต์ ถึงจะเลิก เลิกความจำเป็น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเชื่ออะไรอีกต่อไป อันนั้นปัญญาถึงที่สุดแล้วมันก็เป็นปัญญาอยู่แทนไม่ต้องมีความเชื่อ จะเชื่อไปทำไม ต้องการอะไรที่ไหน แต่ว่าอยู่ด้วยแสงสว่างของปัญญาจนไม่ต้องมีเรื่องความเชื่อ นั้นแหละจุดหมายปลายทางที่ว่ามนุษย์จะต้องไปถึงที่นั่น
แต่ทีนี้สังคมโลกก็ยังคลานต้วมเตี้ยมอยู่ที่นี่ ยังงมงายอยู่ในความเชื่อสิบประการนั้น แล้วจำไว้ให้ดีๆ ทบทวนอีกทีก็ยังได้ อย่าเชื่อเพราะฟังตามๆกันมา อย่าเชื่อเพราะเห็นเขาทำสืบๆกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ อย่าเชื่อเพราะว่ามันกำลังลือกระฉ่อนกันทั้งโลก สามข้อนี้เกี่ยวกับหูหรือการฟัง ทีนี้อย่าเชื่อเพราะมันมีอยู่ในตำรา นี้เกี่ยวกับตำรา อย่าเชื่อด้วยเหตุผลทางตรรก เหตุผลทางปรัชญา เหตุผลทางสามัญสำนึก เหตุผลทางที่ว่ามันทนได้ต่อการพิสูจน์ของเรา ที่เกี่ยวกับการคำนวณ ทีนี้ก็ว่าอย่าเชื่อเพราะว่าผู้นี้มันอยู่ในฐานะที่ควรเชื่อ หรือว่าเพราะว่าสมณะผู้นี้เป็นครูของเรา เป็นอาจารย์ของเรา เท่านี้ก็หมดแล้ว แล้วอย่าเป็นคนดื้อ จองหอง ไม่ยินไม่ฟัง ไม่ดู ไม่อะไรเสียเลย เรารับมันได้ทั้งสิบอย่างนั้น รับเอามา แต่ไม่ใช่รับเอามาเชื่อ รับเอามาดู รับเอามาศึกษา รับเอามาพิสูจน์ ค้นคว้าทดลอง ความเชื่อจะเจริญงอกงาม ไปจนถึงความเชื่ออันสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าท่านแนะไว้ แล้วก็ไม่ต้องเชื่ออะไรอีกต่อไป เพราะหน้าที่นั้นเสร็จแล้ว กิจเหตุที่จะต้องทำมันเสร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความดียิ่งขึ้นไปอีกมันไม่มีแล้ว มันก็หมดปัญหาที่จะต้องเชื่อ
นี้ก็มีแต่ความสุขที่เรียกว่า ทางแห่งความเชื่อของสังคม มันมีอยู่อย่างนี้ตั้งแต่งมงายที่สุด ไปจนถึงฉลาดที่สุด จนกระทั่งถึงไม่ต้องมีความเชื่ออีกต่อไป ใครจะเอาได้เพียงไร จะรับเอาได้เพียงไร จะทำไปได้เพียงไร ก็แล้วแต่บุคคลนั้น ที่พูดนี้เพียงแต่พูดให้ฟังทั้งหมด ดูทีเดียวทั้งหมด ว่าความเชื่อนั้นมันมีอยู่อย่างไร แล้วก็หน้าที่ ที่เราจะต้องดูแลควบคุมให้ความเชื่อของเราเป็นไปในทางที่ถูกที่ควร เรื่องก็จบ พอทีสำหรับวันนี้