แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๑๔ ของพวกเราที่นี่ ได้ล่วงมาถึงเวลา ๔:๓๐ น. แล้ว วันนี้เป็น ครั้งที่ ๘ ของการ บรรยาย ว่าด้วยเรื่องที่ ๔ ของสิ่งที่เป็นเครื่องเยียวยารักษาโรค ของนายแพทย์ คือ พระพุทธเจ้า จะได้พูดโดย หัวข้อว่า ทางเดินของชีวิต คำว่า ทางเดินของชีวิต ย่อมเป็นการบอกความหมายอยู่ในตัวแล้ว ว่ามันหมายถึงอะไร ถ้าจะถามว่า ทำไมจึงต้องพูดเรื่องนี้ เกือบจะไม่ต้องตอบกระมัง เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่จำเป็น สำหรับมนุษย์ที่มีชีวิต
มันก็เป็นสิ่งที่จะต้องรู้ อือ, เรื่องที่สำคัญที่สุด คือ ทางเดินของชีวิตนั้น เราจะมองกันใน เออ, ในแง่ กว้าง ๆ ทั่วไป ทีหนึ่งก่อน ในส่วนที่ว่า ชีวิตนี้เป็นการเดินทาง เมื่อพูดว่าชีวิตเป็นการเดินทาง เด็ก ๆ ก็คงจะ ไม่เข้าใจ คนโต ๆ เออ, ส่วนมากก็ไม่เข้าใจ เพราะว่ารู้กันแต่เรื่องทางร่างกาย ชีวิตซึ่งไม่มีตัวตนอันแสดงให้เห็นนี้ มันก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน จะเดินทางไหน แต่ถ้าเป็นนักศึกษาอย่างพวกคุณ จะต้องศึกษาเรื่องทาง Biology อ่า, เป็นต้น
ก็ต้องรู้อยู่ดีว่า ไอ้สิ่งที่เรียกว่า อ่า, ที่มีชีวิตนี้ มันเปลี่ยนแปลง ไปในทางที่สูงขึ้น ๆ ดีขึ้น ๆ นี่ก็เป็น การเดินทาง แม้จะเป็นการเดินทาง ทางฝ่ายวัตถุ ดูทาง Biology ก็จะเห็นว่า วิวัฒนาการของ ไอ้สิ่งมีชีวิต นับตั้งแต่สัตว์เซลล์เดียว อะไรมาเรื่อยมา จนกระทั่งมามีมนุษย์ ถ้ามันไม่สืบสายกันมาอย่างนี้ เออ, มันก็มีความ เป็นมนุษย์ขึ้นมาไม่ได้ แต่นี่มันสืบสายกันมาเรื่อย เป็นวิวัฒนาการที่เดินทาง เหมือนกับเดินทาง มันจึงมีสัตว์ที่ สูงขึ้นมาตามลำดับ จนกระทั่งมีมนุษย์ แล้วต่อไปในอนาคต อีกสักกี่หมื่นปี มันจะมีอะไรที่ดีกว่ามนุษย์ ก็ยังรู้ไม่ได้ แต่ว่าทางฝ่ายวัตถุ ทางฝ่ายฟิสิกส์นี้ มันก็เป็นการเดินทางในลักษณะอย่างนี้
ที่นี้ที่บอกว่า ชีวิตเป็นการเดินทางนั้น เราไม่ได้หมาย ถึงเรื่องทางวัตถุอย่างนี้ เป็นการเดินทาง ทางวิญญาณ ทางนามธรรม ก็คือ ดีขึ้น ๆ ๆ ด้วยเหมือนกัน ที่เรามีความรู้อะไรมากขึ้นนี้ ก็เกิดมาก็ศึกษาเล่าเรียน จิตใจก็ มีความเจริญงอกงาม มีวิวัฒนาการตามลำดับ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ตั้งแต่คลอดออกมา กระทั่งเรียนรู้นั่นนี่ มีจิตใจสูงขึ้นตามลำดับ ตามลำดับ จนถึงระดับสูงสุด คือ เป็นพระอรหันต์ หรือบรรลุถึงนิพพาน แม้ว่าของ บางคน มันจะวกวนไปมา ดีชั่ว เออ, สลับกันไปบ้าง แต่ในที่สุด มันก็ไปสู่จุดหมายปลายทางที่สูงสุด ความผิดก็ เป็นครู ความถูกก็เป็นครู มันสอนให้เรื่อย ในที่สุดมันก็ต้อง พบ อือ, จุดหมายปลายทาง ที่ถูกต้องได้เหมือนกัน
ผิดกันอยู่แต่ว่า บางกรณีมันช้ามาก บางกรณีมันก็เร็วมาก มันแล้วแต่สิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า เหตุปัจจัย แล้วแต่สิ่งที่เรียกว่า กรรม คือ การกระทำ และผลของกระทำ อ้า, ผลของการกระทำ ที่มันมีอยู่ในตัวมันเอง มันมีทั้งตัวมันเอง มันมีทั้งอำนาจสิ่งแวดล้อม มันก็วิวัฒนาการไป ในทางวิญญาณ ทำให้เราพูดได้ว่า ชีวิตทั้งหมด มันก็มีจุดหมายปลายทาง เป็นนิพพาน แต่มันจะไปถึงหรือไม่ นี้มันก็อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งการเดินทางบางที ก็เดินไป ไม่ถึง ไปตายเสียก่อน อะไรเสียก่อน แต่ถ้ามีสติปัญญา มีความรู้ มีอะไรมากพอ มันก็ถึงแน่ เพราะฉะนั้น เออ, ความรู้เรื่องการเดินทางนี่มันจำเป็น เพื่อจะช่วยให้ชีวิตนี้ มันถึงจุดหมายปลายทาง ก่อนแต่ที่ร่างกายมันจะแตกดับ
นี่เราจึงพูดกันถึง เรื่องการเดินทางของชีวิต ให้เป็นที่เข้าใจ แม้โดยหลัก อ่า, หรือโดยหัวข้อที่สำคัญ นักศึกษาสมัยปัจจุบัน ยังไม่รู้จัก หรือยังไม่เข้าใจ หรือยังเข้าใจผิด ต่อสิ่งที่เรียกว่า ทาง ในที่นี้ คือสนใจกันแต่ เรื่องทางวัตถุบ้าง หรือว่าอยากจะสนใจ เรื่องทางนามธรรม แต่ไม่เคยได้ยินคำว่า ทาง บ้าง เพราะฉะนั้นคำว่า ทางนี้ มันเป็นเรื่องที่สำคัญ หรือถ้าพูดอีกที่หนึ่ง ไอ้สิ่งที่เรียกว่า ทาง นั้นแหละ คือตัวศาสนา มันมีมาแล้ว ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ที่เขาใช้คำว่า ทาง ในฐานะเป็น เอ่อ, ตัวศาสนา ไปยืมคำว่า ทาง ของชาวบ้าน มาเป็นชื่อ ของไอ้ความรู้ หรือการปฏิบัติที่ค้นพบได้
ในทางตะวันออกเรา ศาสนาโซโรสเตอร์ (นาทีที่ 09:20) เออ, ซึ่งเก่ากว่าใครนี้ก็ดูจะใช้ ก็ใช้คำว่า ทาง นี้เป็นตัวธรรมะในศาสนา แล้วลัทธิเต๋าของเล่าจื้อ ก็ใช้คำว่า เต๋า ซึ่งแปลว่า ทาง นี้เป็นตัวคำสอน เป็นตัวศาสนา พระพุทธเจ้าก็ใช้คำว่า ทาง คือ หนทางมีองค์ ๘ อันประเสริฐนี้ นี่เป็นตัวศาสนา เป็นตัวพรหมจรรย์ ที่จะต้อง ปฏิบัติ มันมีความหมายมากอย่างนี้ สูงอย่างนี้ แต่เราก็ไม่ค่อยจะรู้กัน ได้ยินแต่คำว่า มรรค ก็เลยไม่รู้ว่า หมายถึง หนทาง สำหรับเดิน ตามธรรมดานี่ ก็เลยไปเข้าใจ เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา ซึ่งยัง อ่า, ซึ่งได้แก่อะไร ก็ยังไม่รู้ ภาษาศาสนาแล้วก็ลึก จนไม่รู้ว่าอะไรไปเสียหมด
ดังนั้นอยากจะขอบอก ให้ทุกคนที่ยังไม่ทราบ ทราบเสียว่า ไอ้ภาษาศาสนานี่ มันยืมมาจากภาษาชาวบ้าน ทั้งนั้นนะ ภาษาชาวบ้าน เป็นภาษาที่พูดอยู่เก่าก่อนแต่เดิม แต่ดึกดำบรรพ์เรื่อยมา จนถึงวันนั้น คือวันที่ถูกยืม คำบางคำมา มาใช้ในฝ่ายศาสนา มีอยู่มาก เช่นคำว่า นิพพาน เช่นคำว่า อ่า, หนทาง อย่างนี้เป็นต้น นิพพาน แปลว่า ดับหรือเย็น เอามาใช้เป็นชื่อของ ธรรมะสูงสุดในพุทธศาสนา เรามาได้ยินกันตอนหลัง แล้วเข้าใจว่า นิพพานนี้ มันเป็นคำศาสนา เป็นคำบัญญัติเมื่อมีศาสนา แต่ข้อเท็จจริงไม่เป็นอย่างนั้น เขายืมคำของชาวบ้านธรรมดานี่มาใช้ ในความหมาย ที่มันตรงกัน ไฟดับ เรียกว่า ไฟนิพพาน นี้กิเลสดับ เรียกว่า กิเลสนิพพาน ความทุกข์ดับ เรียกว่า ความทุกข์นิพพาน คำว่า นิพพาน มันจึงมาเป็นชื่อ สิ่งสูงสุดในศาสนาเรื่อย ๆ มา แล้วคำว่า มรรค ก็คือ หนทาง
ที่นี้ไอ้คำว่า ทาง นี้มันมีความหมายหลายอย่าง เอาภาษาบาลีเป็นหลัก อย่างนั้นก็มีอยู่ ๓ ๓ ความหมาย คำว่า มรรค ที่แปลว่า ทางนี้ ธรรมดาสามัญ ก็เป็นทางไหลเข้าไหลออก เช่น อุจจาระมรรค (นาทีที่ 12:24) ปัสสาวะมรรค (นาทีที่ 12:25) อวัยวะสำหรับถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะนั้น ก็เรียกว่า มรรคเหมือนกัน เพราะมันเป็นทางไหลเข้าไหลออกของอุจจาระ นี่มรรคอีกที่หนึ่ง ก็คือ ทางสำหรับเดินไปเดินมา คือ ถนนหนทาง ที่ใช้เดินด้วยเท้า หรือจะไปด้วยรถก็ได้ เป็น เป็นเครื่องเดินเครื่องไปก็แล้วกัน แต่ว่ามันไปทางกาย ไปทางร่างกาย
ที่นี่อีกทีหนึ่ง นั้นก็คือ มรรคที่เป็นทางเดินของจิต ของวิญญาณ คือ การที่จิตใจ หรือวิญญาณ หรือสติปัญญา มันก้าวหน้า ก้าวหน้าไปนั่น แนวทางอันนั้น ก็เรียกว่า มรรคเหมือนกัน นี่คือ ตัวมรรคที่เป็นตัว พุทธศาสนา กระทั่งมาเป็นชื่อของมรรค ผล นิพพาน ไอ้คำว่ามรรคที่คู่กับผลนั้นนะ คือ การปฏิบัติทางใจ ที่มันถึงที่สุด ไปตามลำ อ่า, ไปถึงที่สุดมาตามลำดับ มาตามลำดับ จนกระทั่งถึงที่สุด นี่คือ มรรคผล บรรลุมรรคผล ก็คือ ทางที่มันถึงที่สุด
นี่ลองพิจารณาดู ความหมายของคำว่า มรรค ทั้ง ๔ อย่างนี้ ก็จะพบว่า เรายังไม่ค่อยประสีประสา ต่อสิ่งที่ เรียกว่า มรรค หรือหนทาง ทั้งที่เกี่ยวข้องกันอยู่เสมอ นับตั้งแต่ทางถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ทางเดินเท้า แล้วก็มี จิตใจที่วิวัฒนาการอยู่เสมอ ก็เป็นมรรค เป็นหนทางอยู่เสมอ กระทั่งรู้อะไรบ้าง ในระดับที่เรียกว่า แน่นอน ไม่ถอยหลัง นี่ก็เรียกว่า สงเคราะห์อยู่ในคำว่า มรรค มรรคของมรรคผล แล้วเดี๋ยวนี้ก็พูดกันติดปากว่า ทำอะไรก็ ต้องทำให้ เป็นมรรคเป็นผล ก็คือ ทำให้มันสำเร็จนี้ คำว่า มรรคผล มากลายเป็นชื่อของความสำเร็จ ไปเสียก็มี เดี๋ยวนี้ในภาษาไทย นี่นักศึกษายังรู้ ไม่รู้จัก หรือรู้จักน้อย หรือบางทีรู้จักผิด ต่อคำว่า ทาง ในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นทางเดินของชีวิต ดังนั้นเราจึงต้องพูดกันวันนี้ ให้เป็นที่เข้าใจ คำสำคัญนี้ เสียตามสมควร จึงได้พูดเรื่องนี้
ที่นี้ขอให้สังเกตดูให้ดี ว่าเราจะรู้จักมัน หรือไม่รู้จักมันก็ตาม ชีวิตเป็นการเดินทางเรื่อย ที่ว่าเราจะมัวโง่ หรือมัวฉลาด หรือไม่รู้เสียเลย อะไรก็ตาม ชีวิตมันเป็นการเดินทางเรื่อย มันไม่หยุด เออ, ตรงนี้ คือสิ่งที่ต้องระวัง ว่าเราจะมัวโง่อยู่ หรือฉลาดอยู่ หรืออะไรก็ ชีวิตมันเป็นการเดินทางเรื่อย ตามเครื่องกำหนดของเวลา หรือว่าตาม อำนาจของเวลา ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับ กินสรรพสัตว์ คือ มันจะนำไปสู่ การแตกดับลง หลังจากที่มันนำมาสู่ การเกิดขึ้นแล้ว ถ้าเห็นว่าชีวิตเป็นการเดินทาง อ่า, มันไม่รอใคร มันต้องรีบทำอะไร ให้มันทันกับเวลา
เราจะรู้หรือเราจะไม่รู้ ชีวิตเป็นการเดินทางอยู่เรื่อย นี่เป็นสิ่งที่ต้องจดจำ ที่ว่าถ้าไม่รู้ ก็เดินทางผิด ถ้าไม่รู้จักนะ มันก็เดินทางผิด หรือว่าเดินทาง อ่า, วนเวียน กวัดแกว่ง วนเวียน ถ้าเรารู้ ก็เป็นการเดินทางตรง ไปยังจุดหมาย นี่ทางผิดหรือทางถูก มันจึงอยู่ที่รู้จักหรือไม่รู้จัก ไอ้ตัวชีวิตที่เป็นการเดินทาง นี้ถ้าเรารู้ ไอ้ ไอ้ ทางเดินของชีวิต นี้มันก็ราบรื่น หรือชีวิตมันเดินไปได้เร็ว เพราะฉะนั้นเราจะต้อง ขอบพระคุณ พระมหากรุณาธิคุณ ของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้ชี อ่า, ชี้หนทาง สำหรับวิญ วิญญาณของสัตว์จะได้เดินไป
นี่ขอเตือนอยู่ทุกวัน ว่าอย่าลืมไหว้ครู สัพพัญญู สัพพะทัตสาวี ชิโนอาจะริโย มะมะ มหาการุณิโก สัตถา สัพพะโลกะ จีกิจจาโก (นาทีที่ 18:04) อาจารย์ของเราเป็นผู้ รู้สิ่งทั้งปวง เห็นสิ่งทั้งปวง เป็นผู้ชนะมารแล้ว เป็นผู้สั่งสอน ที่ประกอบด้วยกรุณาอันใหญ่หลวง เป็นแพทย์ผู้เยียวยา อ่า, โรค ของ อ่า, ผู้เยียวยา อ่า, รักษาโรค ของสัตว์โลกทั้งปวง ดังนี้ จะต้องไหว้ครูทุกเช้า ทุกเย็น มันจึงจะเกิดกำลังใจ อะไรขึ้นมาพร้อมพรั่ง ในการที่จะก้าวหน้า อ่า, คือการเดินทาง
เอาละมาพูดถึงข้อที่ว่า ทำไมจึงพูดเรื่องนี้ พอสมควรแล้ว ก็จะได้พูดถึง สิ่งที่เรียกว่า ทาง กันต่อไป ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น สำหรับสิ่งที่เรียกว่า ทางนี้ เออ, เราดูเอาตามความรู้อย่างธรรมดา ๆ ที่เห็น ๆ กันอยู่ แม้ในการเดินทางด้วยเท้า มาเป็นเครื่องเปรียบเทียบ ซึ่งผมอยากจะแบ่งเป็น ๓ อย่าง คือ ทางผิดอย่างหนึ่ง แล้วก็ทางวนเวียนอย่างหนึ่ง แล้วก็ทางถูกอีกอย่างหนึ่ง เป็น ๓ อย่าง ทางผิดก็พอจะเข้าใจได้กระมัง หืม, มันผิดทิศผิดทาง ดิ่ว (นาทีที่ 20:00) ไปเสียทางหนึ่ง มันผิดจุดหมายปลายทาง ไม่ไปทางจุดหมายปลายทาง นี่ก็เพราะไม่รู้จัก ไม่รู้จักไอ้ทางถูก
ที่นี่ทางที่ ๒ คือ ทางวนเวียน วกวน วนไปวนมา ไม่รู้ เออ, ว่าทิศไหน ไม่เป็นทิศเป็นทาง นี่ก็เพราะไม่รู้สึก ไม่รู้สึกตัวว่ากำลังเดินอยู่ที่ไหน ตั้งต้นที่ไหน ไม่รู้ทั้งนั้น มันเกิดมาอย่างหลับหูหลับตา ไม่รู้ว่าชีวิตเป็นการเดินทาง ไม่รู้ว่าต้องเดินทาง ไม่รู้ว่าจุดตั้งต้นอยู่ที่ไหน จุดปลายทางอยู่ที่ไหน หรือแม้ว่ามันจะรู้บ้าง โดยสามัญสำนึก แต่ความรู้สึก ที่จะควบคุมการเดินทางนั้น มันสูญเสียไป คนที่ไม่มีความรู้สึกตัวในการเดินทางนั้น มันเผลอวกวน ไปทางไหนเสียเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แม้ว่าที่แรก มันจะรู้แนว ว่าเขาเดินกันทางนี้แหละ มันก็เดินไปทางนั้นแหละ แต่แล้ว มันเผลอ มันไม่รู้สึกตัวตลอดเวลา มันก็เผลอวกวนออกไปนอกทาง วนไปวนมาอยู่ที่ตรงนั้นเอง เดินไปได้หน่อย เด๋ียวก็กลับมาที่ต้นทางอีก เดี๋ยวก็กลับมาที่ต้นทางอีก อย่างนี้เรียกว่าทางเป็นวกวนเพราะไม่รู้สึก มีทางอีก ทางหนึ่ง ก็คือทางถูก เพราะทั้งรู้จักและรู้สึก จึงเดินได้ถูกทาง รู้จักว่าทางเป็นอย่างไรแล้ว ก็รู้สึกตัวมีสัมปชัญญะ ในการเดินไปตามทางที่ถูกนั้น มันก็กลายเป็นถึงจุดหมายปลายทาง
สรุปความว่า ทางผิด เพราะเราไม่รู้จัก ไอ้ทางวนเวียนเพราะเราไม่รู้สึก ไอ้ทางถูกนั้นเพราะ เราทั้งรู้จัก และทั้งรู้สึก ขอให้แยก ความหมายของคำว่า รู้จัก และรู้สึกนี้ ให้เห็น เออ, ชัด ให้เข้าใจให้ดี ไอ้ความรู้สึกตัว อยู่ตลอดเวลานั้น มันต่างกันกับ ความรู้จักที่แรก จุดตั้งต้น รู้จักแล้วมันยังต้องควบคุม ให้ความรู้จักนั้นนะ มันรู้จักอยู่ตลอดเวลา เป็นความรู้สึกตัวทั่วถึงอยู่ตลอดเวลา นี่แค่ว่าทางโดยทั่วไป โดยภาษาธรรมดา จะเป็นทาง เดินเท้าก็ดี จะเป็นทางเดินด้วยจิต ด้วยวิญญาณก็ดี ยังมีทางผิด ทางวกเวียน ทางถูก ให้เราเห็นอยู่อย่างนี้ นี่เป็นหัวข้อใหญ่ ของสิ่งที่ เรียกว่า ทาง เราก็เว้นทางผิดเสีย เว้นทางวกวนเสีย ถือเอาแต่ทางถูกต้อง ในฐานะที่ เป็นพุทธบริษัท ก็คือเป็นไปตามหลัก ของพุทธศาสนา นี่ก็จะพูดแต่หนทางที่ถูก ที่ประเสริฐ ประกอบด้วยองค์ ๘ ตามที่ได้ยินมา
ฉะนั้นต่อไปนี้ เราก็จะพูดถึง การเดินทางต่างชนิด ก็คือทั้ง ชนิดผิด และชนิดวกเวียน เออ, ชนิดถูก ต่อไปอีกเหมือนกัน เราจะต้องตั้งต้น อือ, ศึกษา ถึงจุดหมายปลายทาง ให้รู้จัก มันจึงจะมีการเดินทาง ไอ้คนที่ เขาเดินทางทุกคนนะ เขาต้องมีอะไร เป็นไอ้จุดหมายปลายทาง แม้ด้วยความรู้ ได้ยินบอกเล่า หรืออะไรก็ตาม ก็ต้องมีจุดหมาย ไม่อย่างนั้นมันก็ไม่เดินหรอก ที่นี่ไอ้ ไอ้ที่จุด ที่เป็นจุดหมายนั้น มันก็ลำบากเหมือนกัน ไม่เคยไป มันก็ได้ยินเขาเล่า มันก็ทำความคิดนึก อ่า, ไป แล้วก็เดินไปตามความคิดนึก ที่นี้มันผิดหรือถูกก็ไม่แน่ ยังไม่แน่
ที่นี้จะพูดถึง จุดหมายสำหรับการเดิน เออ, ให้เป็นที่เข้าใจ ไว้อย่างกว้าง ๆ ก่อน สำหรับการเดิน ที่มันจะถูก หรือมันจะผิด มันมีคำอีกคำหนึ่ง เขาเรียกว่า คติ คุณก็ต้องเคยได้ยินคำนี้ คำว่า คติ ค.ควาย ต.เต่า สระอิ คำที่มาเปลี่ยนรูป เป็นภาษาไทยว่า คดีอย่างนี้ ความหมายมันทิ้ง ทิ้งกันไกล ทิ้งกับไอ้คำเดิมที่ว่า คติ คตินี้เป็น นี้แปลว่า เครื่องไป หรือทางไป มีคติดี มีคติชั่ว ก็หมายความว่า มันจะไปสู่สุคติ หรือทุคติข้างหน้านะ นั้นคตินั้น มันเป็นการไป ไปดีก็เรียกว่า สุคติ ไปไม่ดี ก็เรียกว่า ทุคติ เราก็พูดกันอยู่ในภาษาไทยว่า สุคติและทุคติ เมื่อเป็นเรื่องทางวิญญาณ ทางจิตใจแล้ว สุคติมันก็มีอยู่พวกหนึ่ง ทุคติก็มีอยู่พวกหนึ่ง คุณได้ยิน ๒ คำนี้แล้ว แต่อาจจะไม่รู้ว่าอะไรก็ได้ อะไรสักกี่อย่างก็ได้ จะเอามาพูดให้ฟัง พอเป็นเครื่องสังเกต
ถ้าเอามาแต่ข้างล่าง ข้างต่ำก็เรียกว่า ทุคติก่อน ทุคติชั่ว คือ นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย ๔ คำนี้ควรจะ ชินหูไว้ คำพูดของชาว อ่า, พุทธบริษัท ตามวัดตามวา ก็มีไอ้ ๔ คำนี้ สำหรับโลกที่เสื่อมทราม โลกที่เลวทราม คือ นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย เป็น ๔ อย่างอยู่
ที่นี้ส่วนที่เป็น สุคติ คือ สูงหรือดี เออ, อันนี้ก็คือ มนุษย์นี้ ความเป็นมนุษย์นี้ แล้วเป็นเทวดาในสวรรค์ ชั้นกามาวจร และเป็นเทวดาชั้นรูปพรหม เป็นเทวดาชั้นอรูปพรหม มันก็มี ๔ อีก โดยหัวข้อใหญ่ มันก็มี ๔ เป็นมนุษย์นี่ก็เป็นสุคติ เป็นเทวดาในสวรรค์วิมาน ที่สมบูรณ์ด้วยกามารมณ์ นั้นก็ถือว่าเป็นสุคติ แล้วเป็นพรหม ประเภทที่มีรูป อาศัยรูป อาศัยสิ่งที่มีรูปก็เรียก สุคติ แล้วก็อรูปพรหม พรหมที่ไม่อาศัยรูป ก็เรียกว่า สุคติ คือ มันไม่ทนทรมาน พอจะดูได้ หรือน่าดู ยิ่ง ๆ ขึ้นไป นี้เรียกว่า สุคติ เรียกว่า ไปดี ไอ้ทุคตินี้มันไม่ไหว นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย
ที่นี้คติทั้ง ๘นี่ มันก็มีพูดอย่างภาษาคน หรือภาษาสมมุติ ของชาวบ้านนั้นก็อย่างหนึ่ง เมื่อพูดภาษาธรรม ของนักปราชญ์ ของผู้รู้โดยแท้จริงนั้น มันก็อีกอย่างหนึ่ง ของ ๘ อย่างนี้ ถ้าพูดอย่างภาษาชาวบ้าน ที่เขาพูดทาง ศีลธรรม ชักชวนให้กลัวบาป กลัวกรรม ตามแบบของชาวบ้านนี่ มันก็พูดเป็นบ้าน เป็นเมือง เป็นโลก เป็นบ้าน เป็นเมือง
นรก ข้อแรกก็คือ เมืองนรก อยู่ข้างใต้ลงไปนี้ ร้อนเป็นทุกข์ แล้วเดรัจฉาน ก็คือ โลกของสัตว์เดรัจฉาน วัว ควาย ช้าง ม้า เป็ด ไก่ แล้วก็เปรต ก็คือ สัตว์ที่ผอมโซ เพราะความหิว เจ็บป่วย ร่างกายเปื่อยเน่าผุพัง นี้เป็นพวก เปรต อยู่ในโลกที่มองเห็นได้ยากเหมือนกัน เพราะว่ามันไม่มีร่างกาย อือ, ที่ดูได้ง่าย ๆ แล้วอสุรกายนี้ คือ พวกที่ ไม่เห็นตัวเลยนี้ ซ่อน ซ่อนตัวได้มิดชิด ไม่มีใครเห็นตัว เรียกว่า อสุรกาย นี้ภาษา อ่า, ชาวบ้านพูด แล้วเขียนรูปภาพ ตามผนังโบสถ์ เป็นอย่างนี้
แต่ถ้าภาษาธรรมะนั้น หมายอีกอย่างหนึ่ง คือ เป็นสภาพ หรือ อ่า, เป็นภาวะ อ่า, ทางจิตใจ พอ พอมาเป็น ภาษาทางจิตใจ ก็ชี้ไปยังภาษาทางจิตใจ หรือ หรือภาวะทางจิตใจ อย่างนรกนี้ก็คือ ภาวะที่กำลังร้อนใจ เป็นไฟเผา อยู่ในตัวคน เดรัจฉาน ก็คือ ความโง่ที่มีอยู่ในตัวคน เพราะสัตว์เดรัจฉาน มันคือ โง่ เพราะฉะนั้นถ้าความโง่นั้น มาอยู่ในตัวคน ไอ้โรคเดรัจฉาน ก็มาอยู่ในใจคน ในตัวคน เปรต นั้นคือ ความทะเยอทะยาน ความหิว เออ, ด้วยกิเลสตัณหาในนั่น ในนี่ ในกามารมณ์ หรือในความหวังอะไรก็ตาม หวังจนนอนไม่หลับ หิวจนนอนไม่หลับ เปรียบเหมือนกับว่า มันมีปากเท่ารูเข็ม มีท้องเท่าภูเขา มันจะกินเข้าไปให้ทันได้ยังไง มันก็หิวเรื่อย นี่อสุรกาย คือ ความกลัว ความกลัวเป็นปัญหาใหญ่ รบกวนจิตใจเหลือเกิน นี่คือ อสูรกาย หรือโลกของอสูรกาย ที่มันอยู่ในคน
นี่พูดอย่าง อ่า, ภาษาผู้รู้ ไอ้ทั้ง ๔ อย่างนี้ ทุคติทั้ง ๔ อย่างนี้ มันอยู่ในคน คือ ในจิตใจของคน ถ้าพูดอย่างที่ ชาวบ้านพูด คือ ชาวบ้านเป็นผู้ที่เข้าใจ เรื่องอย่างนี้ไม่ได้ ก็เลยพูดให้มันเป็นวัตถุ อ่า, เป็นโลกทาง ทางวัตถุขึ้นมา โลกนรก โลกเดรัจฉาน โลกเปรต โลกอสุรกาย อยู่ที่นั่นที่นี้ ทิศนั้นทิศนี้ มีอาการอย่างนั้นอย่างนี้ โดยเฉพาะไอ้ โลกนรก อยู่ข้างล่าง ข้างใต้ ข้างใต้สุดลงไป มีหลาย ๆ ชนิด เหมือนกัน นรกล้วนแต่ร้อน ล้วนแต่เจ็บปวด ล้วนแต่ คือ เดือดร้อน นั่นมันก็คือ คติ ที่จะต้อง ไป หรือการไป ไปสู่ไอ้โลกเดรัจฉาน ไปสู่ อ่า, ไปสู่โลกนรก ไปสู่โลก เดรัจฉาน ไปสู่โลกเปรต ไปสู่โลกอสุรกาย นี่ก็ต้องถือว่าทางผิดแล้ว ไม่มีใครต้องการ ไม่มีใครปรารถนา ที่ไป
ที่ไป ๔ แห่งนี้ เป็นทางผิดแล้ว เรียกว่า ทุคติ
ที่นี่ไอ้สุคติ ความเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา ๓ ชนิดนั้น รวมกันเป็น ๔ ชนิดนี้ ที่เขาเรียกว่า สุคติ มันยังน่าไป อ่า, หรือมันชวนให้ไป สำหรับความเป็นมนุษย์นี่ ก็พูดกันตรงกันแหละ คือ ในโลกอย่างมนุษย์ มนุษย์นี้ แต่ภาษา ชาวโลก ภาษาโลก ก็เอา เอาตัวแผ่นดินโลกนี้ เอาตัวคนที่สักว่าเป็นคนนี้ เป็นมนุษยโลก แต่ภาษาทางธรรม เขาเอาไอ้ความหมาย หรือคุณสมบัติของความเป็นคน ว่าเป็นมนุษย์ ว่าเป็นคน อย่างเมื่อคุณบวช คุณก็ถูกถามว่า เป็นมนุษย์หรือเปล่า พูดอย่างนี้มันมีความหมายพิเศษ เห็นอยู่โต้ง ๆ ว่ารูปร่างมันเป็นมนุษย์ แล้วทำไมยังถามว่า เป็นมนุษย์หรือเปล่า ข้อนี้มันเล็งไปถึงคุณสมบัติอย่างมนุษย์ ความรู้สึกอย่างมนุษย์ ความต้องการอย่างมนุษย์ คุณมีหรือเปล่านั่นนะ คือ ความเป็นมนุษย์ มนุษย์ในภาษาธรรม มันหมายถึงอย่างนี้ ไม่ใช่หมายถึง เกิดมาเป็น รูปร่างอย่างนี้ หรือว่าอยู่ในโลกนี้
นี้เทวดาในกามโลก ทางภาษาคนก็มีอยู่ข้างบน เป็นสวรรค์ เป็นวิมาน เป็นว่ามี เออ, เทวบุตร มีนางฟ้า มีพระอินทร์ มีอะไรแล้วแต่ หรือว่ากลุ่มของสัตว์ ที่มันสนุกสนาน สบาย สวยสดงดงามอย่างนี้ เป็นภาษาโลก ๆ ภาษาคน และภาษาธรรมะ ภาษาของสติปัญญา ก็คือ ว่าภาวะที่กำลังสมบูรณ์ด้วยกามารมณ์ คือ ของถูกอกถูกใจ ในเวลาใดเป็นอย่างนั้น เวลานั้น เรียกว่า เป็นสวรรค์ชั้นกามาวจร ในจิตใจของคนนั่นเอง เมื่อคนบางคน หรือว่า บางขณะก็ตาม เขามีโอกาสที่จะมี ความเพลิดเพลินอยู่ด้วยกามารมณ์ เวลานั้น ขณะนั้น เออ, ที่นั้น เขาก็เป็นเทวดา ประเภทกามาวจร
ที่นี่เทวดาที่สูงขึ้นไป เป็นรูปพรหมนั้น เป็นเทวดา ที่ไม่แตะต้องกามารมณ์ อยู่ด้วยวัตถุรูป ทำสิ่ง อ่า, รูปธรรมอย่างใด อย่างหนึ่ง ที่บริสุทธิ์ และเพลิดเพลินอยู่กับสิ่งนั้น ภาษาคนก็พูดไว้เป็นโลกอีกโลกหนึ่ง สูงขึ้น ไปอีก สูงขึ้นไปจากไอ้โลก อย่างที่เป็นกามารมณ์ แต่ภาษาจิตใจก็หมายถึง จิตใจในบางครั้ง มันเกลียดกามารมณ์ จิตใจมันสูงเกินกว่า ที่จะไปรักกามารมณ์์ เป็นบางขณะของคนเรานี่ ภาวะจิตอย่างนั้นเรียกว่า รูปพรหม เป็นได้น้อย ๆ ชั่วขณะก็ยังดี หรือมันจะเป็นจนตลอดชีวิตก็ได้ ถ้ากับบางคน บางคนอยู่ได้ด้วย ความผาสุก ไม่เกี่ยวข้องกามารมณ์จนตลอดชีวิต ไปอยู่ด้วยวัตถุสิ่งของที่เป็นที่พอใจ หรือว่าอยู่ด้วยสมาธิ ที่เกิดมาจาก รูปธรรมเป็นอารมณ์ สบายอยู่ด้วยสมาธิอย่างนั้น นี่เขาเรียกว่า รูปพรหม
นี้เทวดาอันสุดท้าย มันก็เป็นไอ้อรูปพรหม คล้าย ๆ กัน แต่ว่าเขาไม่เอาสิ่งที่มีรูป เป็นที่เพลิดเพลิน เอาสิ่งที่ไม่มีรูป เป็นนามธรรม ที่เกี่ยวกับสมาธิ หรือสมาบัติ เขาเอาความว่างเปล่า ไม่มีอะไรเป็นอารมณ์ของสมาธิ คือให้มีจิตหยุดอยู่ด้วย ความพอใจในความเป็นอย่างนั้น มันก็สบายถึงที่สุด สูงสุดไปตามแบบของเขา รวมความแล้ว ก็ว่าถ้าพูดอย่างภาษาคน ภาษาชาวบ้าน มันก็เป็นวัตถุ เป็นโลก เป็นบ้านเป็นเมือง ทั้ง ๘ แห่ง อ่า, ถ้าพูดอย่างภาษาธรรม ภาษาจิตใจ มันก็คือ ภาวะของจิตใจ ๘ ชนิด ที่มีอยู่ในจิตใจของคน
คนนี่ มันเป็นเหมือนกับ Medium ตรงกลาง จะเปลี่ยนเป็นอย่างไรก็ได้ ในที่สุด ก็นับตัวเองเข้าไปด้วย มันก็เลยเป็น ๘ อย่าง ถ้าจะเอาความหมายให้ชัด เฉพาะมนุษย์นี้ก็คือ มนุษย์ที่มันต้องลำบากพอสมควร เพื่อจะแลกเอากามารมณ์ เอาสิ่งที่ตัวรักตัวชอบใจ นี่มันเป็นมนุษย์ แต่ถ้าเป็นเทวดา มันไม่ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ เหมือนมนุษย์ ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย เพื่อแลกกามารมณ์ นั้นมันมีบุญมาก มันมีเหตุปัจจัยที่ทำไว้อย่างนั้น นี่ก็คติ ๘ ที่มันเป็นการเดินทาง หรือเป็นตัวทางก็ได้
ที่นี้จิตใจของคนบางคน รวมทั้งพวกคุณเองด้วย มันก็มุ่งอยู่อย่างนี้ ใน ๘ อย่างนี้ เออ, เผลอไป มันก็ไปทางผิด ไปสู่ความร้อนใจ สู่ความกลัว สู่ความหวัง สู่ความหิว หรือความโง่ในที่สุดก็ได้ อือ, แล้วบางเวลา มันก็ไปในทางกามารมณ์ บางเวลามันก็รักจะพักผ่อน ไม่ไปแตะต้องกับกามารมณ์ ขยะแขยง ไอ้ของบ้า ๆ บอ ๆ นั้น มันก็ไปหยุด ไปพักอยู่ แต่แล้วมันก็ไม่แน่นอน เดี๋ยวมันก็กลับมาอีก ไอ้สิ่งที่ว่าสกปรก ก็กลายเป็นของสะอาด คือ หลงใหลขึ้นมาอีก นี่ให้รู้ว่า มันมี ๘ จุด เออ, หรือ ๘ ทางไว้อย่างนี้ทีก่อน ถ้ามันเป็นทุกข์ เป็นเดือดร้อน ก็เรียกว่า ทางผิด ถ้ามันเป็นที่พอใจ พออกพอใจ มันก็เป็นทางถูก ไอ้เรื่องผิดเรื่องถูกนี้ เป็นของหลอกลวง ถ้าพอใจก็ว่าถูก ถ้าไม่พอใจก็ว่าผิด นี่ว่าทั้งถูกทั้งผิดนี้ มันยังเป็นความทุกข์ เป็นวนเวียนอยู่ในกองทุกข์ ต้องเหนือถูกเหนือผิด หรือว่ามันถูกจริง ๆ ที่แท้มัน คือ เหนือถูกเหนือผิด
คนธรรมดาสามัญ ที่ยังมีกิเลส ก็ต้องถือว่าไอ้ได้อย่างอกอย่างใจนี่ถูก แต่พระอริยเจ้าถือว่า โอ้ย, มาสู้ไม่ได้ หรือไม่อยากไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะอยากอะไร ให้มันไม่อยู่เปล่า ๆ นั่นนะคือ ถูก มันถูกคนละอย่าง อย่างนี้ ที่แท้มัน เหนือผิดเหนือถูก เขาเรียกว่า เหนือโลก ในโลกมีถูกมีผิด ตามความโง่ของคนที่มันอยู่ในโลก แต่ว่าเหนือโลกนั้น มันจะอยู่เหนือถูกเหนือผิด นั่นนะมันคือ ถูกจริง ฉะนั้นการเดินทางที่ถูกต้อง มันจึงต้องไปเหนือโลก ออกไปนอกโลก นอกไปจากความถูก-ความผิด ความดี-ความชั่ว พ้นทุคติ พ้นสุคตินั้น จึงจะเป็น อ่า, นิพพาน
ที่นี้เราก็ แยกตัวออกมา จากไอ้สุคติทุคติเหล่านั้น จะมาเป็นผู้อยู่เหนือสุคติ เหนือทุคติ คือ เหนือโลก โดยอาศัยไอ้การเดินทาง ที่ประเสริฐที่สุด ที่พระพุทธเจ้า ท่านได้ตรัสไว้ เป็นทางเดินออกไปนอกโลก เป็นโลกุตระ ดังนั้นถ้าไม่เคยได้ยินคำว่า โลกุตระ ก็รู้เสียสิว่า มันนอกโลก เหนือโลก กุตระแปลว่า ยิ่งหรือเหนือ โล-กะ (นาทีที่ 41:24) แปลว่า โลก โล-กะ-กุด-ตะ-ระ (นาทีที่ 41:26) โลกุตระ แปลว่า นอกโลก เหนือโลก ยิ่งกว่าโลก ทางเดินใน พุทธศาสนานี้ เพื่อออกไปนอกโลก ไม่ไปเที่ยวบ้าอยู่ในโลก เดี๋ยวดี เดี๋ยวชั่ว เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ ดังนั้นเราจึงถือว่า ไอ้ทั้ง ๘ อย่างนั้นนะ เป็นทางที่ อ่า, สำหรับหลงใหลวนเวียน หรือผิด หรือสลับกันอยู่ กับความถูกตามแบบคนโง่ ต้องออกมาเสียจากไอ้ผิด ๆ ถูก ๆ ตามแบบคนโง่ มาสู่ไอ้ความถูกอย่างแท้จริง หรือเหนือผิดเหนือถูกตามแบบของ พระอริยเจ้า นี้จะอาศัยหนทางอริยมรรค มีองค์ ๘ ประการ เป็นเครื่องเดินไป
การที่จะไปสู่ ไอ้คติ ๘ นั้นนะ ไม่ได้อาศัยอริยมรรค มีองค์ ๘ ประการ คุณเข้าใจให้ดี ๆ จะไปนรก ไปอบายนั้น มันไม่อาศัยอริยมรรค มีองค์ ๘ ประการแน่ หรือจะไปเทวดา ไปสวรรค์ ไปพรหมโลก มันก็ไม่ได้อาศัย อริยมรรค มีองค์ ๘ ประการเล่า หรืออย่างดีก็อาศัยบางส่วน ซึ่งไม่ครบก็ไม่เรียกว่า อริยมรรค มีองค์ ๘ แล้วมันก็ ยังนิดเดียว เกี่ยวข้องอยู่ด้วยอริยมรรค มีองค์ ๘ เพียงนิดเดียว อย่างนั้นไม่เรียกว่า อริยมรรค มีองค์ ๘ จะไปสวรรค์ ไปพรหมโลก ด้วยฌาน ด้วยสมาธิ ด้วยการทำดี มันยังไม่ครบทั้งองค์ ๘ มันยังไปหลงไอ้กามารมณ์ หรือหลง ความสุข อริยมรรค มีองค์ ๘ เป็นทางเอก เป็นทางสูงสุดนี้ มันออกมาเสียจาก ไอ้การลุ่มหลง ในกามารมณ์ หรือความสุขชนิดไหนหมด
เดี๋ยวนี้เราก็มีทางถูก หรือยิ่งกว่าถูก คือ ทางมีองค์ ๘ ที่เราสวดกันอยู่เสมอ จะเรียกว่า ทางถูกทางตรงก็ได้ เออ, หรือทางเอกก็ได้ เมื่อพูดเป็นสำนวนโฆษณาชวนเชื่อ ภาษาบาลีเขาใช้คำว่า ทางเอก หนทางเอก มันยังเก่งกว่า ไอ้ทางตรง หรือทางถูก ความหมายมันรัดกุมกว่า เอกนี้แปลว่า เดียว เอ-กะ (นาทีที่ 43:58) แปลว่า เดียว ไอ้เดียวนี้ มัน อืม, มันก็ต้องไม่มีใครเหมือน ไม่มีใครเป็นคู่เปรียบ แล้วมันก็ดีที่สุด ถ้ามันเดียว มันก็หมายความว่า ไม่มีใคร เป็นคู่เปรียบเทียบได้ ไม่มีใครเสมอ มันก็ดีที่สุด นี่คือว่า เอก
ที่นี่เอก อีกที่หนึ่งก็คือ คนเดียวเดิน ของใครใครเดินนี่ เป็นทางของคน ๆ เดียวเดิน แล้วเส้นทางเส้นนี้ มันเส้นเดียว ไม่ใช่ ๘ เส้น เหมือนที่คนเข้าใจกันโดยมาก แล้วก็มันไปสู่จุดหมายปลายทาง เพียงอย่างเดียว มันเลยเดียวไปหมด เดียวหรือเดี่ยวไปหมด มันคนเดียว เฉพาะนะคนเดิน แล้วไปสู่จุดหมายปลายทาง เพียงอย่างเดียว หนทางนี้ก็เส้นเดียว ไปสู่ไอ้ความเป็นของอย่างเดียว ที่ไม่มีอะไรเหมือน นี่เขาเรียกว่า เอกายนมรรค (นาทีที่ 45:07) ความหมายอย่างนี้ นี่ถ้ากำลังเดินอยู่ในทางนี้ ก็เรียกว่า ถูกต้อง หรือกำลังเป็นไป ในทางที่จะเหนือโลก อยู่เหนือโลก ฟังดูแล้ว มันจะเกินความต้องการไปเสียแล้ว หรือยังไง คุณลองพิจารณาตัวเองดู
ที่พระพุทธเจ้า ท่านได้ตรัสหลักอันนี้ไว้ ก็เพื่อจะออกมาเสียจากความทุกข์ทั้งปวง ไอ้ความทุกข์ที่ เออ, มันน่าเกลียด น่ากลัวก็มี อ่า, ความทุกข์ที่มันน่ารัก น่าหลงใหลมันก็มี จะไปหลงใหลในความทุกข์ที่น่ารักเข้า เห็นจะออกมาเสียจาก ความทุกข์ทุกชนิด ต้องอาศัยหนทางอันเอกนี้ ที่นี่ก็มันเห็นได้ ว่ามันจำเป็นแก่ทุกคน ที่จะต้องรู้ อย่าได้ไปหลงใหล ในหนทางที่หลอกลวงของพญามารที่น่ารัก ที่โรยไว้ด้วยดอกไม้ นี่สำหรับอริยมรรค มีองค์ ๘ รายละเอียดก็ไปดูเอา ในเรื่องที่ เออ, นั้นโดยเฉพาะ
ผมอยากจะพูด จำกัดความแต่เพียงว่า ความถูกต้อง ๘ ประการ ที่รวมตัวกันเข้า เป็นหนทางสายหนึ่ง ความถูกต้อง ๘ ประการ ที่รวมตัวกันเข้าเป็นหนทางสายหนึ่ง คนสะเพร่าหรือคนไม่รู้ คนอวดดีมันพูดว่า มรรค ๘ พูดว่ามรรค ๘ นี่มันผิด มันกลายเป็น ๘ ทาง คนที่รู้คนที่ไม่สะเพร่า จะพูดว่า มรรคมีองค์ ๘ มี Factor ๘ แต่สิ่งนั้น สิ่งเดียว คุณได้บวชได้เรียนทั้งที ได้เป็นนักศึกษาทั้งที อย่าไปพูดผิด ๆ ว่า มรรค ๘ ถ้ามรรคมัน ๘ มัน ๘ ทางแล้ว จะเดินยังไง ใครจะเดินได้ มันมีอยู่ ๘ เส้นขนานกันไป แล้วเดินยังไง แต่นี้มันเพียงแต่ทางเดียว ประกอบอยู่ด้วย องค์ประกอบ ๘ ๘ ชนิด ๘ อย่าง หนทางทางนี้ ที่จะเดินไปกรุงเทพ มันต้องประกอบไปด้วยองค์ ๘ อย่าง เช่นว่า มันมี มีแนวทางที่จะให้เดินได้ไม่หลง มันมีความปลอดภัย มีอาหารหากินได้ มีสะพานข้ามคลอง มีไอ้การอารักขา ที่เพียงพอ มันจึงจะเดินไปได้ถึงกรุงเทพ ผ่านป่าผ่านดงผ่านภูเขาอะไรไปได้ นี่เขาว่าไอ้องค์ประกอบ ๘ อย่างนั้น ที่จำเป็นนั้น มันมีอยู่ในหนทางอันนั้น เส้นเดียวนั้นก็เดินไปได้
ส่วนอริยมรรค มีองค์ ๘ ของพระพุทธเจ้านี้ ก็คือ ความถูกต้อง ๘ ประการ ที่เรียกว่า อัฏฐังคิกมรรค นี่ เราเอาคำว่า ถูกต้อง คือ สัมมา นี้เป็นหลัก สัมมา แปลว่า ความถูกต้อง เอาถูกต้องเป็นหลัก แล้วก็ถูกต้อง ๘ ประการ อันแรกถูกต้อง อ่า, ในความคิดเห็น คือ ความรู้หรือความเข้าใจ ความคิดเห็นที่ถูกต้อง แล้วถูกต้องที่ ๒ คือ ความปรารถนา ความหวัง ความใฝ่ฝันที่ถูกต้อง อันที่ ๓ คือ ความถูกต้องของการพูดจา ที่ ๔ ความถูกต้องของ การกระทำทางร่างกาย ทางกาย อันที่ ๕ ความถูกต้องของการเลี้ยงชีวิต ที่นี้อัน อ่า, ที่ ๖ ความถูกต้องของ ความพากเพียร อันที่ ๗ ความถูกต้องของสติ หรือสมปฤดี ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี หรือที่เรียกว่า สติ อันสุดท้าย ความถูกต้องของจิต ที่ดำรงไว้ถูกต้อง คือ ความเป็นสมาธิที่ถูกต้อง เรียกเป็นภาษาบาลีก็ว่า สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สวดกันอยู่ทุกวัน ถ้าไม่สวดอย่างนกแก้ว นกขุนทอง ก็จะซึมซาบอยู่ในใจว่า มันเป็นความถูกต้อง ๘ อย่าง แล้วความถูกต้องอันนี้ มารวมกันเข้า เป็นเนื้อเดียวกัน เป็นความถูกต้องของชีวิต เป็นความถูกต้องของการเดินทางของชีวิต ไปสู่จุดหมายปลายทางของชีวิต ที่เรียกว่า ความดับทุกข์โดยประการทั้งปวง
พอจะเข้าใจได้แล้ว โดยหลักใหญ่ ๆ ที่มันไม่มีทางจะผิดได้ รายละเอียดไปดูเอา ในตำรับตำรา มีเยอะแยะไป นี่ก็ระวังอย่าพูดให้ผิด อย่าพูดว่ามรรค ๘ ให้พูดว่า มรรค ประกอบอยู่ด้วยองค์ ๘ ภาษาบาลีเขา เรียกว่า อัฏฐังคิกมรรค มรรคประกอบอยู่ด้วยองค์ ๘ เขาไปแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Eightfold Path มันเป็นทางแล้ว ประกอบอยู่ด้วย Fold ๘ (นาทีที่ 51:06) คือ ประกอบอยู่ในส่วนประกอบ ๘ ก็คือ ความถูกต้อง ๘ อย่างที่ว่ามาแล้ว นี้เรียกว่า อือ, ทางนี้ประกอบไปด้วย องค์ ๘
ที่นี่ก็อยากจะพูด ไอ้เรื่อง ไอ้ลำดับของความถูกต้อง ให้ฟังบ้าง รู้สึกว่าออกจะเกินไป แต่สำหรับบางคน คงจะฟังถูก ลำดับของความถูกต้อง เขาแยกมา มา มาอีกส่วน ว่ามันจะไอ้ความถูกต้อง มันจะมีลำดับไปอย่างไร เป็นธรรมะชั้นลึก ในพุทธศาสนา เรียกว่า ความสะอาด หรือวิสุทธิ ๗ อย่าง เพราะเหตุว่า ไอ้ความถูกต้อง ๘ ประการที่ว่านั้นนะ มันจะมาอยู่ในหลักอันนี้ คือ ลำดับของความถูกต้อง ที่มันจะมีลำดับอย่างไร เราพูดถึงลำดับ เป็นลำดับ ๆ ของความถูกต้อง ๘ ประการ ที่จะดำเนินไปอย่างไร
ลำดับแรกที่สุด เขาเรียกว่า ศีล เออ, ความถูกต้องในชั้นศีลที่กายวาจา หรือที่มันเกี่ยวข้องกันอยู่ที่กายวาจา ที่มันถูกต้อง เรียกว่า ศีลสะอาด ศีลบริสุทธิ์ ศีลถูกต้อง นี้ถัดขึ้นไป อีกขั้นหนึ่งก็คือ จิต หรือสภาพของจิต มันถูกต้อง อันแรกไม่ขาดศีล อันที่หลังจิตมีสมาธิ ปราศจากการรบกวนของนิวรณ์ นี้จิตมันสะอาด จิตมันถูกต้อง เป็นลำดับที่ ๒ ที่นี้ลำดับที่ ๓ ความเข้าใจ หรือความคิดเห็น ที่เรียกว่า ทิฐิ นี่มันถูกต้องเป็น สัมมาทิฐิ หมายความว่า ไม่ ไม่ ไม่ไปเข้าใจผิด ในสิ่งต่าง ๆ ไม่เข้า ไม่เข้าใจผิดต่อโลก โดยเฉพาะ ว่าทุกอย่างในโลก เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่าไปโง่ อย่าไปเข้าใจผิด ว่าเป็นสุข หรือเป็นของเที่ยง หรือเป็นตัวกูของกู อย่างนี้ เป็นต้น นี่ก็ทิฐิ ความเห็นมันถูกต้อง มีเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นหลัก ให้ความถูกต้องนี้ มันชัดเจน ชัดแจ๋วไว้ก่อน
แล้วที่นี้ก็ไปถึงอัน อ่า, ลำดับที่ ๔ คือ ความรู้ที่จะ ทำให้เราอยู่เหนือความสงสัย ลังเลนี่ มันถูกต้อง ไอ้ความรู้ขณะที่ ให้เราจะตัดความสงสัยลังเลเสียได้ นี่มันถูกต้อง ถ้าเรียกเป็นภาษาบาลีเรียกว่า กังขาวิตรณวิสุทธิ
มันยุ่งสำหรับพวกคุณ คุณนึกดูสิขั้นที่ ๓ เรารู้ ไอ้ ไอ้ เรามีความเห็นความเข้าใจถูกต้อง ว่าไอ้โลกนี้มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่นี้ขั้นที่ ๔ นี่มันก็หมดความสงสัยเยื่อใย เออ, หรือว่าความลังเล ที่จะไปเกี่ยวข้องกับโลกนั้น
นี้อันดับที่ ๕ อ่า, มันมารู้กันตอนนี้เอง ว่าอันไหนมันทางผิด อันไหนมันทางถูก แน่ชัดลงไปว่า ทางไหนผิด ทางไหนถูก มันมารู้ตอนนี้ ที่แรกว่าเดินมาทางศีล ทางสมาธิ ทางนั้น มันเป็นแต่เพียง เดินมาตาม แนวทางเท่านั้น ความแน่ใจถึงที่สุดยังไม่มีหรอก จนกว่าจะมาถึงขั้นนี้ ทำลายความสงสัยลังเลเสียได้แล้ว มันจึงจะเห็นชัดแจ๋ว อ้าว, นี่เรามาถูกแน่แล้ว โว้ย, ที่แรกก็เดินมา ว่าเผื่อว่ามันถูก คือว่าอาศัยเหตุผล ว่ามันถูก อ่า, ความแน่ใจยังไม่สมบูรณ์ พอมาถึงอันดับที่ ๕ นี้ ชัดเจนสมบูรณ์ ถูกแน่ ไม่มีทางผิดอีกต่อไปนี้ เขาเรียกเป็น ภาษาบาลี ยุ่ง ๆ ยาก ๆ ว่า มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ มันยืดยาว มันรุงรัง มันลำบากสำหรับพวกคุณ จึงผมจึงบอกแต่ว่า ไอ้ความรู้ว่า มันถูกแน่ หรือมันผิดแน่ มัน มัน มันแน่นอนที่ขั้นนี้ มันชัดแจ้งกัน เออ, ตรงนี้ อ่า, ใน ในระยะนี้
ที่นี้ต่อไปอีก มันก็รู้แน่เฉพาะฝ่ายที่ถูก อย่าเอาไปปนกันนะ ไอ้อันที่ ๕ นั่นมันรู้ว่า ผิดแน่ ถูกแน่ เป็นอย่างนี้ ที่นี้เราก็แยกออกมาแต่ที่ถูกแน่ มันถูกแน่ยิ่งขึ้นทุกที นี่เขาเรียกว่า ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ก็เป็นอันว่า เออ, ความแน่ใจ ความเห็นแจ้งอะไร มันชัดลงไปว่านี้มันถูกแน่ ที่นี้อันสุดท้ายอันที่ ๗ มันก็คือ จุดหมายปลายทาง มันถึงกันแล้ว รู้เห็นทุกสิ่งกระทั่งว่า ตั้งแต่ต้นมาถึงจุดหมายปลายทาง นี่ผมก็จะเปรียบเทียบ ด้วยการเดินทาง อย่างไปกรุงเทพอีกนะ ในแง่นี้ ว่าเราเริ่มมีศีล เริ่มมี เออ, สมาธิ เริ่มมี เออ, ความเข้าใจ คือ ทิฐิถูกต้องนี้ มันเริ่ม มันก็เริ่มเดินออกไปจากไชยาอย่างนี้ เห็นรอยทาง เตรียมตัวพร้อมด้วย ศีลด้วยนี้ เตรียมการเดินทาง ปรับปรุงตัว ให้มันพร้อม ให้ ให้ที่จะเดินทางนี้ มันก็เหมือนกับมีศีล และมีกำลังใจที่จะเดินทาง คือ สมาธิ แล้วก็มีความเข้าใจถูกต้อง ว่าจะต้องเดินไปทางนั้น นี้พอไป เออ, มันมีความเข้าใจ ในส่วนที่ว่าเดินไป ทางนั้น อ่า, เรื่อยไปจนถึงระดับหนึ่ง เออ, มันไม่มีความลังเลแล้ว ไม่มีความคิดที่ถอยหน้าถอยหลังแล้ว เพราะมันเดินเข้าไปตั้ง เออ, เกือบครึ่ง เกือบอะไรอย่างนี้แล้ว ความไม่ ไม่ลังเลว่า เออ, เราจะเดินดี หรือไม่เดินดีนี้ มันไม่มีแล้ว ไม่มีเหลือแล้ว
ที่นี้มันก็ไปถึงขั้นที่ว่าถูกแน่ ขึ้นไปถึงประจวบ หรือไปถึงหัวหิน มันก็รู้ว่ามาถึงหัวหิน มันก็ถูกแน่ มันไม่ไปถึงนครศรีธรรมราช หรือพัทลุงแล้ว เพราะมันมาถึงหัวหิน ถึงไอ้ ไอ้ราชบุรี เพชรบุรี มันถูกแน่ หรือว่าไอ้ผิดนะ คือไปทางนี้ ไอ้ถูกนะคือไปทางนี้ ฉะนั้นที่เรามานี้ มันถูกแน่แล้ว ถ้าวกไปทางโน่นมันผิด ถ้ามาทางนี้มันถูก นี่ก็ถือเอาถูกแน่ ดุ่มไปอีกหน่อยไปถึงนครปฐม นี้อันสุดท้ายมันก็ถึงกรุงเทพ มองดูมาข้างหลัง ตั้งแต่ไชยาถึงกรุงเทพ เป็นอย่างนี้เอง
นี้คุณไปวิเคราะห์ดูเอง ว่ามันตั้งแต่แรกออกเดิน เออ, เริ่มเตรียมตัวที่จะ ออกเดิน ก็มีความรู้มีความเข้าใจ ที่จะเดิน เรื่อยไป แล้วก็เดินเรื่อยไปจนรู้ทางนี้ถูกแน่แล้ว โว้ย, มันเพิ่งไปรู้ว่า ถูกแน่แล้ว โว้ย, จริง ๆ เมื่อไปตั้ง ครึ่งทาง เมื่อแรกออกเดิน มันเป็นเพียงคาดคะเนว่าถูกเท่านั้น หรือตามแนว ที่เขาวางไว้ หนทางที่เขาวางไว้ ความไว้ใจตัวเองยังไม่ ไม่ ไม่ถึงที่สุด กว่าจะถึงขั้นที่เรียกว่า มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ นั้นนะ มันจะรู้นี้ถูกแน่ นี้ผิดแน่ นี้ถูกแน่ แล้วก็เลือกเอาแต่ถูกแน่ เข้าไปอีก แล้วมันก็ถึงโครมเข้า เหลียวมาดูทางแล้ว อ้าว, ถูกแน่ ตลอดทาง รู้แจ้งว่าเป็นอย่างไร ตรงนั้นเป็นอย่างไร ตรงนั้นเป็นอย่างไร ตรงนั้นเป็นอย่างไร เป็นอย่างไร จนถึงที่กรุงเทพ นี่ถ้าเปรียบเทียบทางเดินเท้าเป็นอย่างนี้
นี้ทางเดินของจิตใจนี้ เออ, มันก็เป็นอย่างที่ว่านี้ เขาเรียกว่า ไอ้ถูกต้อง หรือบริสุทธิ์ หรือสะอาด ๗ อย่าง นับตั้งแต่ไอ้สิ่งที่เรียกว่า ศีล เบื้องต้นไปจนถึง ไอ้ญาณทัสสนะอันสุดท้าย ถ้าติดตามไปดูเรื่องละเอียด ก็ไปหาเรื่อง วิสุทธิ ๗ ลำดับ ในหนังสือนักธรรม หนังสือไอ้ที่เขาใช้เรียน ในโรงเรียนนักธรรมนั่นดู เรียกว่า วิสุทธิ ๗ ๗ ลำดับ สำหรับอันสุดท้าย ที่เรียกว่า ญาณทัสสนวิสุทธิ นั้น ไปหาเรื่องวิปัสสนาญาณ ๙ อ่านดู ในคำบรรยายของผม ก็มี เออ, หลาย ๆๆ หลายแห่ง
เอ้า, ที่นี้เรามาดูกันอีกทีหนึ่ง ดูอย่างรวบ เออ, รวบรัด ที่เราไปกระจาย ออกไปให้มันมากนั้น เพื่อให้มัน เห็นชัด ในทางกระจายออกไป มันก็เห็นชัดเหมือนกัน แต่จะเห็นชัดอีกทีหนึ่ง เราต้องรวบรัด หรือสรุปให้ มันเหลือน้อย เข้ามาอีก อีกทีหนึ่ง ดูอย่าง Annlyzer Analisys (นาทีที่ 01:01:20) ดูให้มันเป็นแฉก ๆ ออกไป นี้ดูอย่าง Synthesis (นาทีที่ 01:01:27) ก็ดูให้มันหดกลับเข้ามา มันก็จะมัน มันเหลือ ไอ้ที่มันน้อยลง ๆ ที่นี้ไอ้ ๘ อย่าง ๗ อย่างนั้นนะ มันจะเหลือเพียง ๓ อย่างได้ ถ้าเราดูอย่างสงเคราะห์ กลับเข้ามา เป็นเหลือเพียง ศีล สมาธิ ปัญญา ในมรรคมีองค์ ๘ นั่น ๒ องค์ข้างแรก มันเป็นปัญญา ๓ องค์ตรงกลาง มันเป็นศีล ๓ องค์สุดท้าย มันเป็นสมาธิ มันก็เหลือศีล สมาธิ ปัญญา
ที่นี้ไอ้ลำดับ ๗ อย่างที่ว่านี้ อันแรกก็เป็นศีล อันที่ ๒ มันก็เป็นสมาธิ เหลือนอกนั้น มันก็เป็นปัญญาหมด นี่เราก็เหลือแต่ศีล สมาธิ ปัญญา ที่นี้ไอ้ศีล สมาธิ ปัญญานี่ มันต้อง ๓ ทำให้เหลือเพียง ๑ มันก็คือไอ้ทางนี้ หนทางนี้ หนทางอันเอก หนทางสายเดียว มันก็เหลือแต่ว่า ทาง เพียงคำเดียว พุทธศาสนาทั้งหมดทั้งสิ้น ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ ตั้ง ๘๔,๐๐๐ ประเด็น มี Item ตั้ง ๘๔,๐๐๐ แล้วมาเหลือ เพียงคำ ๆ เดียวว่า ทาง ถ้าเราเข้าใจคำว่า ทาง มันก็รู้ไอ้เรื่อง ๘๔,๐๐๐ เรื่องนี้ ทางผิด ทางถูก ทางครึ่งทางอะไร หนทางเป็นอย่างไร อุปสรรคของมันเป็นอย่างไร ผลของมันเป็นอย่างไร อู้, มันตั้ง ๘๔,๐๐๐ ประเด็น แต่พอ พอสรุปแล้ว มันเหลือแต่คำว่า ทาง เราก็รู้ที่จะเดินไป แล้วก็ถึงจุดหมายปลายทาง
แล้วที่นี้ที่จะเหลืออยู่ เวลาเหลือนิดเดียวนี่ ก็จะพูดถึงเรื่อง วัยในชีวิตสำหรับการเดินทาง วัย นี่ก็แปลว่า ความสิ้นไป ๆ คำว่า วัย หรือ อ่า, วัยของอายุนี่ วัยหนุ่ม วัยสาว วัยอะไรนี่ คำว่า วัย นี่แปลว่า ความสิ้นไป เป็นตอน ๆ หรือว่าวัยหนึ่ง วัยหนึ่ง สำหรับชีวิตนี้มัน เออ, แบ่งเป็นกี่วัยก็ได ้แล้วแต่เราจะต้องการ ตามเหตุผล ที่เราจะต้องพูด ต้อง เออ, ทำนี้ แต่ถ้าสำหรับเรื่องนี้ เรื่องการเดินทางของชีวิตนี้แล้ว ผมอยากจะแนะว่า แบ่งออกเป็นสัก ๔ วัย วัยแรก คือ เป็นพรหมจารี ก่อนแต่งงานเป็นพ่อบ้านแม่เรือน นั้นเขาเรียกว่า พรหมจารี แล้วถึงวัยคฤหัสถ์ แต่งงานเป็นพ่อบ้าน แม่เรือนครอบครองเรือน แล้ววัยถัดไปก็คือ วัณนัปปลัด (นาทีที่ 01:04:54) วัยที่หลีกออกจากบ้านเรือน ไปหาสงบสงัด นี้หลังจากนั้นอีกเป็นวัยสนธยาศรี(นาทีที่ 01:05:05) เที่ยวแจกความรู้ แจกของที่มีประโยชน์ ทางวิญญาณนี้แกผู้อื่น นี้หมายความว่า เราทำได้ดีนะ มันจึงไปถึงวัยสุดท้าย หน้าที่ของวัยสุดท้าย คือ เที่ยวแจกของส่องตะเกียงให้ผู้อื่น
ในชั้นนี้ จะไม่พูดถึงเรื่องบวช เรื่องอะไรกันหรอก เรื่องบวชเรื่องเรียนจะไม่พูดถึง พูดถึงคนธรรมดา อยู่ในโลกนี้ สมัยปัจจุบันนี้ ทำให้ดีที่สุดในวัยศึกษา ตั้งแต่เกิดมาจนถึงหนุ่ม เป็นหนุ่มเป็นสาวเต็มที่ นี่วัยนักศึกษา
เขาเรียกว่า พรหมจารี พรหมจารีในกรณีอย่างนี้แปลว่า นักศึกษา คือ ประพฤติอย่างพรหม สำรวมระวังไม่ให้ ไม่ให้ผิด ไม่ให้พลาด ไม่ให้มัว เออ, หม่นหมอง ไม่ให้เสียหาย ไม่ให้สกปรก นี่เป็นพรหมจารี ทำให้ดีผ่านให้ดี นี่เป็นการเดินทาง ขั้นแรก แรกก้าวเดิน แล้วก็เดินไปถึงขั้นที่เป็นคฤหัสถ์ ถ้าแต่งงานเป็นพ่อบ้านแม่เรือน มันก็ไปรับภาระหนัก ความผิด-ความถูก ความดี-ความชั่ว เออ, อะไรมันอยู่กันที่นี่ มันจะสอนให้หมดที่นี่ มันหนักที่สุด การครองเรือน ยิ่งมีลูกมีหลานมีเหลน มีอะไรมากเข้า มีคนในบังคับบัญชา รับผิดชอบมากเข้า มันก็เลยหนักที่สุด นี่มันผ่านไป ๆ ถึงระยะหนึ่ง มันก็ อุ้, บ้าทั้งนั้น ชักจะเบื่อ ก็หาว่าอะไรมันดีกว่านี้ ก็ออกไป หาความพักผ่อน ความสงบ ความหยุดพัก ทางจิตทางวิญญาณ หลีกออกจากไอ้ครอบครัว จะไปบวชก็ได้ ไม่บวชก็ได้ อยู่เป็นอิสระ ไม่ไปพัวพันกับไอ้เรื่องหนัก ๆ อย่างนั้น
ดังนั้นคนแก่ ๆ บางทีก็แอบไปนั่งอยู่มุม มุมบ้าน ใต้กอไผ่ ใต้กอกล้วย มี เออ, กระต๊อบเล็ก ๆ อะไรอยู่ ไม่ยุ่งกับไอ้เรื่องบนเรือน บนตึก หรือถ้าออกไปบวชได้เลยก็ได้ นี่มันเริ่มเปลี่ยนไปสู่โลกอีกโลกหนึ่ง คือ โลกของความสงบ จากโลกของความวุ่นวาย นี้ถ้าผ่านไปสำเร็จแล้ว ก็นึก อ้าว, มันก็ เราก็หมดกันเท่านี้เอง ไม่มีปัญหาส่วนตัว เราก็นึกถึงผู้อื่นบ้าง ก็กลับมาช่วยลูกช่วยหลาน แนะนำ ชี้แจง ไอ้ ช่วยไอ้เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมบ้าน ร่วมโลก กันให้มันรู้อย่างเราบ้าง ช่วยประหยัดเวลาให้เขา ถ้าเป็นนักบวช ก็เที่ยวสั่งสอน ไปอย่างพระพุทธเจ้า ถ้าเป็นชาวบ้านก็สอนลูกสอนหลาน สอนเพื่อนข้างเคียงอยู่ ตามวิสัยของชาวบ้าน
นี่วัยทั้ง ๔ มันผ่านไปด้วยดี แล้วก็เป็นการเดินทางที่ถูกต้อง เดินจากวัยเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่ เออ, จากวัยผู้ใหญ่ไปสู่วัยผู้สูงอายุ วัยผู้สูงอายุไปสู่วัยที่ เป็นแสงสว่างแก่ผู้อื่น แจกของส่องตะเกียง ถ้าไปอย่างนี้ มันไปตามลำดับวัย มันสะดวก ถ้าในกรณีพิเศษ อยากจะข้ามลำดับวัย มันก็ต้องลำบากหน่อย เช่น กระโดด มาบวชอย่างนี้ มันมาสู่วรรณะปรัสถ์ (นาทีที่ 01:09:02) วัยที่ ๓ มันก็ต้องพยายาม ต้องสามารถ ต้องทำถูกต้อง แต่ส่วนมากก็มาไม่ได้ มาก็มาชั่วคราว มาชิมดู แล้วก็กลับไป เดินมาใหม่
แต่ในบางคน บางกรณี จิตใจมันสูง ไอคิวมันสูง มันรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ โดยไม่ต้องไปลอง ก็มีเหมือนกัน มันมองเห็นด้วยสายตา มันก็รู้ได้ว่า แค่นั้นเอง มันไม่ต้องไปลอง ไม่ต้องกระโดดลงไป ในหนอง ในคลอง ในโคลน ในเลน มันก็รู้ได้ว่าไอ้โคลน ไอ้เลนนี้ มันไม่ควรกระโดดลงไป โว้ย, ส่วนคนที่ไม่รู้ มันก็จมโลน อ่า, จมโคลน จมเลนไปพักหนึ่ง พักใหญ่ กว่าจะมาเปียก หรือขึ้น ขึ้นมา มันจึงว่าส่วนน้อย ที่ว่าจะข้ามคิว หรือลัดคิวไปได้ ส่วนใหญ่มันก็ต้องมาตามลำดับคิว นี่การเดินทางของชีวิต มันมีอยู่อย่างนี้ น้อยคนที่จะเดินทางลัดคิว มันต้องมาตามคิว ถ้ามาตามคิวมันก็ดี ให้มันรอบรู้ ถ้ามันลัดคิวได้ก็ดี เพราะมันไม่เสียเวลามาก มันแล้วแต่ใครมันจะเหมาะ
ดังนัันขอให้คุณสังเกตดูว่า พรหมจรรย์ของพระพุทธเจ้านี้ มันรักษาโรคของสัตว์โลกได้อย่างไร พระองค์เป็นนายแพทย์ทางวิญญาณของสัตว์โลก เป็นยอดสุดของนายแพทย์ อื้ม, สอนไอ้วิธีที่จะ อือ, รักษาโรค ในทางวิญญาณไว้อย่างนี้ อื้ม, ศีลไว้รักษาโรคทางกาย ทางวาจาให้หมดไป สมาธิไว้รักษาโรคทางจิตให้หมดไป
ปัญญาก็รักษาโรคทางวิญญาณให้หมดไป เราพูดกันแต่วันก่อนแล้วว่า โรคมี ๓ ระดับ โรคทางกาย โรคทางจิต โรคทางวิญญาณ ใน ๓ ระดับนี้ อื้ม, ศีลก็รักษาโรคทาง ทางกาย สมาธิก็รักษาโรคทางจิต ไอ้ปัญญาก็รักษา โรคทางวิญญาณ
นี่ให้ไหว้ครูอยู่เสมอ ว่าอาจารย์ของเรา เป็นนายแพทย์ผู้รักษาโรคของโลกทั้งปวง อื้ม, ให้ เออ, หายไปได้ด้วย การเดินทางของชีวิตให้ถูกต้อง นี่ทางเดินของชีวิต มันมีอยู่อย่างนี้ พระพุทธเจ้า ท่านได้สอน ไว้อย่างนี้ รักษาโรคทางวิญญาณ ก็คือ เดินพ้นไป จากไอ้ขุมโรค หรือแหล่งโรคทั้งทางกาย ทั้งทางจิต ทั้งทางวิญญาณ ให้เราระลึกถึงพระคุณ มหากรุณาธิคุณอยู่เสมอ และเวลาก็หมด เลยไปบ้างนิดหน่อย นกก็เตือนหลายหนแล้ว