แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายเรื่องจิตภาวนาหรืออธิจิตตาโยคะธรรมในวันนี้ เป็นการบรรยายที่ต่อจากครั้งที่แล้วมาและเป็นความจำเป็นที่จะต้องทบทวนเพื่อความติดต่ออย่างชัดเจน เราได้พูดกันถึงอานาปานสติหมวดที่ ๑ซึ่งมีอยู่ ๔ ขั้นด้วยกัน
ขั้นที่ ๑ การกำหนดลมหายใจยาว
ขั้นที่ ๒ การกำหนดลมหายใจสั้น
ขั้นที่ ๓ กำหนดการที่ลมหายใจปรุงแต่งร่างกาย
ขั้นที่ ๔ กำหนดการทำกายสังขารนั้นคือลมหายใจนั้นให้ระงับลง ระงับลงในการปรุงแต่งร่างกาย
นี้เป็นใจความสำคัญของเรื่องทุกคนจะต้องทบทวนให้ข้อเท็จจริงของแต่ละขั้น ละขั้นทั้ง ๔ ขั้นนี้ปรากฏแจ่มแจ้งอยู่เสมอ
ขั้นที่ ๑ เรารู้เรื่องลมหายใจยาวด้วยวิธีต่างๆ เช่นว่ามันมีลักษณะอย่างไร มันทำความรู้สึกให้เกิดขึ้นอย่างไรในจิตใจ ในร่างกาย คือมีอิทธิพลอย่างไร แล้วต่อมาก็รู้เรื่องลมหายใจสั้น ว่ามีลักษณะอย่างไร มีอิทธิพลต่อร่างกายอย่างไร ลมหายใจยาวและสั้น ๒ อย่างนี้ มันต่างกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ผล หรืออิทธิพลที่มันบังคับปรุงแต่งร่างกาย เราจะต้องเรียนรู้ไปจากธรรมชาติตามธรรมดาเรา ถ้าร่างกายปกติอยู่ในสภาพปกติ ลมหายใจก็มีลักษณะที่เรียกได้ว่ายาว เมื่อมีลมหายใจยาวร่างกายสบายตามปกติ ถ้าเกิดมีลมหายใจสั้นก็หมายความว่า มีอะไรแทรกแซงคือ มีอารมณ์ร้ายอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นความหงุดหงิด หรือความกลัว หรือความโศกเศร้า หรืออะไรก็ตาม มันมีการหายใจที่สั้น ฉะนั้นในทางที่กลับกันถ้ามีลมหายใจยาวคือร่างกายปกติ ถ้ามีลมหายใจสั้นคือร่างกายไม่ปกติ นี้เป็นกฎเกณฑ์ทั่วไปตามธรรมชาติก่อนไม่เกี่ยวกับการบังคับของเรา ทีนี้สำหรับลมหายใจยาวก็ดูกันให้มันละเอียดลงไปถึงข้อที่ว่า ถ้ามันยาวนี่มันก็ละเอียดกว่าสั้นคือ ลมหายใจสงบระงับกว่าการหายใจสั้น ถ้ามีการหายใจสั้นก็หมายความว่า ลมหายใจนั้นหยาบกระชาก หรือว่าไม่สงบ นี่มันก็บอกอยู่ในตัวแล้วว่าถ้าลมหายใจยาวมันก็สงบกว่าลมหายใจสั้น ถ้าลมหายใจละเอียดมันก็มีความสงบมากกว่าลมหายใจหยาบ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องรู้จักทำให้ลมหายใจละเอียดยิ่งขึ้นก็เพื่อให้เกิดความสงบระงับยิ่งขึ้น นี้กายกับลมหายใจนั้นมันเป็นสิ่งเดียวกัน
อย่างที่ได้บอกให้ฟังแล้วว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าลมหายใจนี้คือกายอย่างหนึ่งในบรรดากายทั้งหลาย บทสูตรของสติปัฏฐานสูตรก็มีว่า มีสติสัมปชัญญะเห็นกายในกายทั้งหลาย เห็นกายในกายทั้งหลาย ในที่นี้เราเห็นกายคือลมหายใจแล้วในกายทั้งหลายคือ กายนานาชนิด เช่น อิริยาบถนี้ก็เรียกว่ากาย ร่างกายก็เรียกว่ากาย กระทั่งไปถึงซากศพแล้วก็ยังเรียกว่ากาย คำว่ากายมีหลายอย่าง เดี๋ยวนี้เราเอากายคือ ลมหายใจเป็นหลัก เห็นว่ามันมีประโยชน์หรือดีที่สุดจึงพิจารณากายคือ ลมหายใจในฐานะที่เป็นตัวมันเองก็เรียกว่ากาย แล้วก็มันเนื่องอยู่กับร่างกายนี้ ลมหายใจเรียกว่ากายอย่างหนึ่งในบรรดากายทั้งหลายขอให้กำหนดไว้ให้ดีๆ ธรรมดาชาวบ้านไม่เรียกลมหายใจว่ากาย เขาเรียกว่าลมหายใจ แต่ในภาษากรรมฐาน วิปัสสนาหรือภาษาอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสเองว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายเรากล่าวลมหายใจออก-เข้าว่าเป็นกายอย่างหนึ่งในบรรดากายทั้งหลาย การกำหนดลมหายใจก็คือการกำหนดกาย ซึ่งเรียกว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่ความสำคัญที่จะต้องสนใจก็คือว่าลมหายใจกับกายนี้มันเนื่องกันอยู่ คือลมหายใจนั่นแหละเป็นผู้ปรุงแต่งร่างกาย เพราะฉะนั้นลมหายใจนั้นจึงได้ชื่ออีกอย่างหนึ่งว่ากายสังขาร แปลว่า สิ่งซึ่งปรุงแต่งร่างกาย นี้เดี๋ยวจะยุ่งขอให้กำหนดไว้ดีๆ ว่าลมหายใจนี้เราเรียกกันตามธรรมดาว่าลมหายใจ แต่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเป็นกายอย่างหนึ่งในบรรดากายทั้งหลาย
ทีนี้อีกทีหนึ่งก็พูดว่าไอ้ลมหายใจนั้นแหละ คือสิ่งซึ่งปรุงแต่งร่างกาย นี่หมายความว่าไอ้กายคือลมหายใจนี่มันปรุงแต่งกายเนื้อหนัง ฉะนั้นจึงเรียกลมหายใจว่ากายสังขารคือ สิ่งซึ่งปรุงแต่งร่างกายเนื้อหนัง นี่คำว่ากายสังขารมีความหมายอย่างนี้ เราจะต้องรู้จักสิ่งนี้ดีเสียก่อน รู้จักไม่ใช่รู้จักด้วยการอ่าน การฟัง การรู้จักประจักษ์ชัดในความรู้สึกทีเดียว คือว่าพอลมหายใจหยาบ มันก็ปรุงแต่งร่างกายหยาบ พอลมหายใจละเอียดมันก็ปรุงแต่งร่างกายที่ละเอียด ร่างกายหยาบ เช่นว่ามันไม่รู้สึกสงบที่ร่างกาย ที่ผิวหนัง มีความร้อนในร่างกายสูง มีความไม่ระงับอยู่ที่ร่างกายนี้ ถ้าลมหายใจละเอียดร่างกายมันก็สงบระงับลงความร้อนในร่างกายมันก็ลดลงก็ระงับกันทุกอย่าง ข้อนี้เป็นข้อที่ว่าลมหายใจเป็นอย่างไรจะปรุงแต่งร่างกายให้เป็นอย่างนั้น เราจะไปบังคับที่ร่างกายโดยตรงไม่สำเร็จเราบังคับที่ลมหายใจซึ่งเป็นเครื่องปรุงแต่งกาย พูดอย่างสำนวนก็พูดว่าเราบังคับร่างกายโดยทางลมหายใจ เรามุ่งหมายจะบังคับร่างกายแต่บังคับไปทางลมหายใจเพราะลมหายใจเป็นสิ่งที่จัดการกับมันได้โดยง่าย ยักย้าย เปลี่ยนแปลงอะไรได้โดยง่าย นี้ทำลมหายใจนี้ให้สงบระงับแล้วร่างกายก็จะสงบระงับเยือกเย็นลงไป ลงไป จนอยู่ในสภาพที่เรียกว่าเป็นสมาธิหรือเป็นฌานชั้นใดชั้นหนึ่ง นับตั้งแต่ปฐมฌานเป็นต้นไปจนถึงจตุตถฌาน ฉะนั้นอานาปานสติขั้นที่ ๔ ถึงว่า ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ อสฺสสิสฺสามีติ ปสฺสสิสฺสามีติ มันมีหลักที่สำคัญตรงนี้ คือทำกายสังขารให้ระงับอยู่ ระงับอยู่หายใจออก หายใจเข้า นี้คำบรรยายของเราก็มาถึงตอนนี้ ตอนขั้นที่ ๔ คือทำกายสังขารให้ระงับอย่างไร ให้ระงับลงไปอย่างไร อย่างไร จนถึงขั้นที่เรียกว่าเป็นสมาธิหรือเป็นฌาน ขอให้ตั้งใจฟังต่อไป ต่อจากตอนที่แล้วมา
เราบังคับร่างกายโดยผ่านทางลมหายใจ ก็คือการบังคับลมหายใจลงไปได้เท่าไร ก็จะทำให้กายระงับลงไปได้เท่านั้น ฉะนั้นวิธีที่จะทำให้ลมหายใจระงับนี้ มันก็มีหลักที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้พอเข้าใจได้ แล้วมีคำอธิบายของผู้รู้ ของพระอาจารย์ต่างๆ อธิบายเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น ที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกก็คืออานาปานสติพรรณนา ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค ของคัมภีร์พุทธกะนิกาย นี้เราไม่ได้ถือว่าเป็นรูปพุทธภาษิตโดยตรง แต่ถือว่าเพราะมีอยู่ในพระไตรปิฎก เป็นคัมภีร์ที่มีหลักฐานกว่าคัมภีร์อื่น นี้คำอธิบายนี้มันก็ถือตามหลักในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคเท่าที่มีความเข้าใจได้อย่างไรก็อธิบายให้ฟัง รายละเอียดบางอย่างก็อธิบายโดยตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ต่อๆ มา เช่นบางส่วนของคัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นต้น ในบางแง่หรือบางส่วนเท่านั้นและบางส่วนก็มิได้เอาและไม่เห็นด้วยก็มี ทีนี้เท่าที่จะประมวลมาได้จากคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคและคัมภีร์อานาปานสติ สังยุตในสังยุตตนิกาย ในอรรถกถาของสูตรชื่ออานาปานสติสูตรนั้นเองบ้าง พระคัมภีร์เบ็ดเตล็ดต่างๆ บ้าง ประมวลกันเข้าแล้ว มันก็ได้ความในลักษณะที่มีประโยชน์ที่สุดหรือดีที่สุด อย่างที่จะกล่าวให้ฟังต่อไป
เพื่อความเข้าใจง่ายเกี่ยวกับการทำลมหายใจให้อยู่ในอำนาจหรือระงับลง ระงับลงนี้ เราจะแบ่งออกเป็นขั้นๆ ใช้คำบัญญัติเฉพาะเพื่อจำง่ายเป็นภาพพจน์เสียเลยว่า
ขั้นที่ ๑ วิ่งตามลมหายใจ
ขั้นที่ ๒ เฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง แล้วก็
ขั้นที่ ๓ ทำจุดๆ นั้นให้ปรากฏเป็นอุคคหนิมิตขึ้นมา แล้ว
ขั้นที่ ๔ เปลี่ยนอุคคหนิมิตนั้นให้เป็นปฏิภาคนิมิต
ขั้นที่ ๕ หน่วงความรู้สึกที่เป็นองค์ฌานทั้ง ๕ ให้เกิดขึ้นในขณะแห่งปฏิภาคนิมิตที่เป็นไปอย่างเหมาะสม
ขั้นที่ ๖ ก็การบรรลุปฐมฌาน
ขั้นที่ ๗ ก็คือการทำให้ฌานนั้นเป็นฌานที่สงบระงับยิ่งขึ้นไปอีกจนถึงฌานสุดท้ายที่ต้องการคือจตุตถฌาน
นี่ทบทวนดูให้ดี ขั้นที่ ๑ นี่หมายถึงขั้นใหญ่ๆ นะไอ้ขั้นเหล่านี้หมายถึงขั้นใหญ่ๆ นะ ขั้นที่ ๑ วิ่งตาม ขั้นที่ ๒ เฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง ขั้นที่ ๓ ทำจุดๆ นั้นให้ปรากฏเป็นอุคคหนิมิต ขั้นที่ ๔ เปลี่ยนอุคคห นิมิตให้เป็นปฏิภาคนิมิต ขั้นที่ ๕ ในขณะแห่งปฏิภาคนิมิตที่เหมาะสมสามารถจะหน่วงความรู้สึกที่เป็นองค์ฌานให้เกิดขึ้นโดยครบถ้วน ขั้นต่อไปก็มีการบรรลุปฐมฌาน แล้วขั้นต่อไปอีก ก็คือละองค์ฌานที่มันอาจจะละได้ออกไปเสียตามลำดับให้มันเหลือน้อยเข้า ก็เป็นฌานที่ประณีตขึ้นไปจนเป็นจตุตถฌานในที่สุด
เอ้า ทีนี้จะว่ากันโดยรายละเอียดกันทีละขั้น ขั้นที่ ๑ ที่เรียกว่าวิ่งตามนี้ เป็นอุปมาเหมือนกับว่า วิ่งตามอะไรสักอย่างหนึ่ง ในที่นี้ก็คือ วิ่งตามลมหายใจ ทำเหมือนอย่างว่าวิ่งตามลมหายใจ อะไรเป็นผู้วิ่งตามก็คือ สิ่งที่เรียกว่า สติ ก็เรียกว่าจิตอีกเหมือนกัน จิตในขณะที่ทำหน้าที่เป็นสติ คือมีสติเกิดขึ้น ที่นี้ลมหายใจนั้นมีการหายใจอยู่ตามธรรมชาติแล้ว คือออกและเข้า เมื่อหายใจออก ก็คือหายใจด้วยการตั้งต้นจากข้างในออกมาข้างนอก หายใจเข้าตั้งต้นจากข้างนอกเข้าไปข้างใน ฉะนั้นมันมีอาการเหมือนวิ่งไปสุดฝ่ายโน้นแล้ววิ่งกลับมาสุดฝ่ายนี้เหมือนกะลูกตุ้มนาฬิกาอย่างสม่ำเสมออยู่อย่างนั้น ทีนี้กริยาที่เอาสติเข้าไปกำหนดไอ้ลมที่กำลังไหลเข้าไหลออกอยู่นี้ เรียกว่า โยคะ คือว่าประกอบจิต หรือสตินี้ติดเข้ากับลมหายใจ จิตก็เลยมีอาการติดไปกับลมที่วิ่งไปวิ่งมา วิ่งเข้าวิ่งออก วิ่งเข้าวิ่งออก คำว่าโยคะ มีความหมายว่าผูกให้ติดกันเข้าเหมือนกับว่าเราเอาอานผูกม้า หรือว่าเอาวัวผูกกับแอก เปรียบอีกอย่างหนึ่งก็ว่า ไอ้ลมหายใจนั้นเหมือนกับหลักแล้วก็เอาสัตว์อะไรมาผูกเข้ากับหลักนั้น ให้มันติดอยู่กับลมหายใจนั้น ฉะนั้นสติก็คือ เครื่องผูกเหมือนกับเชือกเป็นต้น ไอ้สัตว์นั้นก็คือ ไอ้ลมหายใจนั้นเหมือนกับหลักแล้วเอาจิตนั้นมาสำหรับผูกติดเข้ากับหลักนั้นโดยสติเหมือนกับเชือก นี่อุปมาอย่างนี้มันช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น การที่เอาสติเหมือนกับเชือกผูกจิตให้ติดอยู่กับอารมณ์ของภาวนานี้คือ โยคะ เรียกว่าโยคะ เดี๋ยวนี้เราเอาลมนี้เป็นหลักสำหรับจิตเข้าไปติดโดยอาศัยสติเป็นเครื่องผูก แล้วก็มีอาการเหมือนกับวิ่งตาม ลมออกมาเท่าไรไอ้จิตก็ทำเหมือนกับว่าติดออกมาตลอดสาย เมื่อหายใจเข้าก็ติดเข้าไปตลอดสาย คือไม่ละกันเลยไปด้วยกัน เข้าด้วยกัน ออกด้วยกัน เข้าด้วยกัน ออกด้วยกัน อาการอย่างนี้ถ้าเปรียบเหมือนกับการไกวเปลของคนเลี้ยงเด็กก็หมายความว่าเด็กยังไม่ง่วงนอนมันจะตกจากเปลคนเลี้ยงเด็กที่ไกวเปลก็ต้องเหลียวดูเด็กที่อยู่ในเปล ไม่ว่าเปลจะแกว่งไปสุดทางไหน ฉะนั้นเขาจึงมีอาการนั่งแกว่งหน้าไป แกว่งหน้ามา ไปตามเปลที่มันแกว่งอยู่อย่าได้ขาดตอนได้ นี่คือความหมายของคำว่าวิ่งตาม หายใจออกก็วิ่งตามออกไป หายใจเข้าก็วิ่งตามเข้ามา นี่เป็นบทเรียนแรกที่สุด แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องอาศัยฉันทะ วิริยะอะไรอยู่มากเหมือนกัน มันจึงจะทำได้สำเร็จ แต่ว่าเป็นบทที่ง่ายที่สุดเพราะยังเป็นของหยาบอยู่ เอาลมหายใจแท้ๆ เป็นนิมิตในฐานะที่เป็นบริกรรมนิมิต คือนิมิตเริ่มแรกของการกระทำขั้นลงมือทำ เขาเรียก บริกรรมนิมิต มันได้แก่ตัวลมหายใจที่ซูดซาด ซูดซาดอยู่นั้นแหละในช่องของการหายใจนั้น
ทีนี้เราทำให้เหมือนกับว่า ไอ้ช่องทางที่ลมเดินนี้เป็นเหมือนกับร่องหรือหลอดอะไรอันหนึ่งซึ่งมีความรู้สึกเต็มที่ลมหายใจผ่านไปถึงไหนแล้ว ก็ให้มีความรู้สึกโดยกำหนดให้มันละเอียด ละเอียดตามความรู้สึกให้มันละเอียดเข้าจนรู้สึกเหมือนกับว่าลมนี้เหมือนกับก้อนอะไรก้อนหนึ่งที่วิ่งเข้าวิ่งออกอยู่ในหลอดในตัวเราที่สำหรับมีไว้ให้ลมวิ่ง คือทางที่ลมวิ่ง แต่มิได้เอาตามข้อเท็จจริงอย่างวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์มันก็บอกว่าหายใจเข้าไป แล้วก็เข้าไปในปอด แล้วกระจายละเอียดไปในปอด แล้วกว่าจะได้รวมกลับกันออกมาอีก อย่างนี้เราไม่เอา เพราะไม่ใช่เรียนวิทยาศาสตร์ เราจะทำตามความรู้สึกที่มันรู้สึกได้ง่ายๆ โง่ๆ ว่ามันเป็นหลอดเป็นทางอยู่ตั้งแต่ช่องจมูกนี้ก็เข้าไปข้างในผ่านหน้าอกก็ลงไปสุดที่ตรงไหนที่เราหายใจเข้าไปแล้วมันรู้สึกว่ามันไปสุดที่ตรงนั้น แล้วลองหายใจเข้าแรงๆ แล้วเราก็รู้สึกว่ามันไปสุดที่ท้อง ที่ท้องมันป่องสุดอยู่ที่ตรงนั้น ก็เลยสมมุติตรงนั้นนะว่ามันเป็นสุดปลายทางข้างใน โดยเฉพาะก็กำหนดเอาที่สะดือถือว่าที่ตรงจุดสะดือนั้นเป็นที่สุดของข้างใน แล้วก็หายใจออกมา ที่สุดของข้างนอกนั้นก็คือจมูก ในช่องจมูก ปลายสุดของช่องจมูก ที่เรียกว่าจงอยจมูก แล้วลองหายใจให้แรงเข้าอย่างนี้มันก็รู้ว่าตรงไหนมันกระทบมากที่สุดก็ถือเอาตรงนั้นนะเป็นจุดๆ หนึ่งข้างนอก สุดข้างนอก แล้วสุดข้างในซึ่งเราทำอะไรไม่ได้มากกว่าสมมุติเอาว่าที่สะดือ ถือว่าลมวิ่งเข้าวิ่งออก วิ่งเข้าวิ่งออกอยู่ระหว่างจุด ๒ จุดนี้เหมือนลูกตุ้มนาฬิกา หรือเหมือนเปลที่มันไกวไปไกวมาทางโน้นทีทางนี้ที พอสุดเหวี่ยงข้างโน้นแล้วมันก็กลับมาข้างนี้ สุดเหวี่ยงข้างนี้แล้วมันก็กลับไปข้างโน้น ฉะนั้นลมก็เหมือนกับสิ่งหนึ่งที่ทำหน้าที่เดินทางอยู่ระหว่างจุด ๒ จุดนี้ ฉะนั้นเมื่อเอาสติไปกำหนดหรือว่า สติเอาจิตผูกเข้าไปที่นั้นก็ได้ มันเรียกได้ ๒ โวหาร พูดสั้นๆ ก็พูดว่ากำหนดด้วยสติ เอาสติวิ่งตามลม ถ้าพูดเป็นปรมัตถ์มากไปก็เอาจิตนั้นนะผูกเข้าที่นั้นโดยสติ ทีนี้เราจะพูดโดยโวหารหลังง่ายๆ ว่าเอาสตินั้นเป็นเครื่องกำหนด คือจิตที่มีความรู้สึกอะไรได้นั้นเป็นเครื่องกำหนด เดี๋ยวนี้ลมมันวิ่งไปถึงไหน วิ่งอยู่อย่างไรไอ้ตัวที่เรียกว่าสติมันก็ตามไปเรื่อย ทำให้แรงเข้า แรงเข้า แรงเข้าก็เข้ารูปเข้ารอย คือสามารถที่จะให้สติวิ่งตามลมอยู่ได้โดยที่ไม่ขาดสติ ขาดสติหมายความว่า จิตหรืออะไรมันหนีไปเสียแล้ว ไม่กำหนดอยู่ที่ลมนี้แล้ว มันก็ทดสอบดูว่าเราสามารถที่จะให้สตินี้ติดอยู่กับลมไม่ขาดสติ ไม่เป็นช่องว่าง สติกำหนดอยู่ที่ลมวิ่งเข้าวิ่งออก วิ่งเข้าวิ่งออก วิ่งเข้าวิ่งออกไปด้วยกันเรื่อย เรียกว่ามีสติกำหนดลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ทีนี้มันยาวหรือมันสั้นก็รู้ได้ง่ายสิมันใช้เวลานานก็เรียกว่ายาว มันใช้เวลาน้อยก็เรียกว่าสั้น ถ้ามันประณีตก็เป็นลักษณะของหายใจยาว ถ้ามันหยาบกระโชกกระชากก็มันเป็นเรื่องของหายใจสั้น ฉะนั้นมันเป็นการรู้พร้อมกันหมดคราวเดียวเมื่อกำหนดอยู่อย่างนี้ รู้ความที่ยาวหรือสั้น หยาบหรือละเอียด ระงับหรือไม่ระงับ มันก็วิ่งไปมา ไปมา ไปมาอยู่ระหว่างอะไร ระหว่างจุด ๒ จุดนี้ นี่ทำอย่างนี้ไปก่อนจะกินเวลา ๑ วัน ๒ วันหรือว่าอาทิตย์ ๒ อาทิตย์ก็สุดแท้ มันก็ต้องทำไปจนสุดความสามารถที่จะทำได้ชนิดที่เรียกว่า วิ่งตาม
ทีนี้เมื่อทำในขั้นนี้ได้ดีแล้ว หรือว่าพอใช้ได้แล้ว ก็จะเลื่อนไปขั้นที่ว่า เฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งคือ ขี้เกียจวิ่งตามแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องวิ่งตามแล้วเพราะว่าทำมาได้ดีแล้วในส่วนที่วิ่งตาม ทีนี้จะเฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง จุดที่ดีที่สุดก็คือที่จงอยจมูกเรียกว่าจุดข้างนอก ถ้าเข้าก็ต้องผ่านจุดนั้นถ้าออกก็ต้องผ่านจุดนั้นคือจุดที่จงอยจมูก เรียกว่าจุดนอก ส่วนจุดในที่สะดือไม่ต้องไปนึกถึงมันเพราะเดี๋ยวนี้เราจะไม่วิ่งตามแล้วนี่ ก็เฝ้าดูอยู่แต่ที่จุดนอกซึ่งเป็นเหมือนประตู เข้าๆ ทางนั้น ออกๆ ทางนั้นเหมือนประตูเมือง ถ้าเราสำรวจตรวจตราอยู่ที่ประตูได้ดีก็เหมือนกับสำรวจตรวจตราทั้งเมือง ทีนี้ก็ สติก็กำหนดอยู่แต่ที่ตรงจุดข้างนอกที่ลมมันจะกระทบ เฉพาะเมื่อมันกระทบที่ตรงนั้นเมื่อเข้าก็ตามเมื่อออกก็ตาม ทีนี้ก็มีปัญหาเกิดขึ้นว่าเมื่อมันยังไม่มากระทบคือมันยังอยู่ข้างในนี้ จิตหรือสติก็จะหนีไปเสียที่อื่น นั้นมันก็เป็นได้และก็เป็นได้จริงนั้นคือทำไม่สำเร็จ ถ้าทำสำเร็จเราก็เพ่งอยู่แต่ที่จุดนั้นเมื่อลมผ่านมาก็รู้ เมื่อลมผ่านไปหมดแล้วมันก็กำหนดอยู่ที่จุดนั้นไม่ต้องตามลมไปออกไปไกลไปข้างนอก หรือว่าไกลเข้าไปข้างใน หรือกำหนดที่จุดนั้นเป็นนิมิตอยู่ตลอดเวลาที่ลมหายใจมันผ่านเข้าหรือผ่านออก
ตรงนี้ขอแทรกเพื่อเตือนไว้ซ้ำๆ อยู่เสมอว่า อานาปานสตินี้คือการกำหนดอยู่ที่สภาวธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ทุกครั้งที่หายใจออกและเข้า มิได้หมายความว่ากำหนดอยู่แต่ตัวลมหายใจเข้า-ออก กำหนดอยู่ที่สภาวธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งทุกครั้งที่หายใจออก-เข้า ก่อนนี้เรากำหนดลมหายใจยาวทุกครั้งที่หายใจอยู่ แล้วก็กำหนดลมหายใจสั้นทุกครั้งที่หายใจอยู่แล้ว แล้วกำหนดลมหายใจปรุงแต่งกายทุกครั้งที่หายใจอยู่ เดี๋ยวนี้จะกำหนดจุดที่จะเป็นที่ตั้งของนิมิต สำหรับจิตกำหนดให้ประณีตขึ้นๆ ไป เพราะฉะนั้นจึงกำหนดเฉพาะที่ลมมันกระทบเมื่อเข้าหรือเมื่อออกก็ตามอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งที่จงอยจมูกนี้ ทีนี้เมื่อทำไปนานเข้า นานเข้ามันมีความละเอียดมากเข้า มันก็มีอาการรู้สึกเหมือนว่าตรงนั้นเป็นที่ จุดสำคัญที่มันกระทบมีความรู้สึกเหมือนว่าตรงนั้นมันไวต่อความรู้สึกเป็นแผลหรือเป็นอะไรก็ตาม มันก็กำหนดแต่ตรงนั้นแรงเข้า แรงเข้า แรงเข้า ลืมเรื่องที่ว่าลมมันเข้าไปข้างในแล้วก็ออกไปข้างนอก แต่แล้วก็อย่าลืมว่าลมมันต้องผ่านที่ตรงนั้น แล้วมันก็เป็นการกำหนดลมหายใจออก-เข้าอยู่โดยปริยายทุกครั้งที่มีการหายใจออก-เข้า แต่สิ่งที่เข้ามาแทนที่ชัดขึ้น ชัดขึ้น ชัดขึ้น คือจุดๆ นั้น เมื่อความรู้สึกมันเป็นไปอย่างละเอียดมากเข้าไอ้จุดๆ นั้นจะกลายเป็นจุดที่สามารถสร้างภาพ ภาพที่เป็นเพียงมโนภาพขึ้นมาได้ที่นั่น แล้วแต่ว่าผู้ใดจะสร้างขึ้นมาได้ในรูปใด จุดตรงที่ว่านั้นจะปรากฏเป็นมโนภาพอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา เมื่อการกำหนดนั้นมันละเอียดมากจนกระทั่งถึงกึ่งสำนึกหรือใต้สำนึก คือไม่เต็มสำนึก ลักษณะที่เป็น subconscious จะมากขึ้น มากขึ้น แต่มันก็มีความรู้สึกอยู่นั่นเอง ฉะนั้นตรงนั้นจึงสามารถสร้างมโนภาพขึ้นมาได้เรียกว่า อุคคหนิมิตแปลว่า นิมิตที่เราถือเอามาได้ ก็กลายเป็นอีกอันหนึ่งต่างจากบริกรรมนิมิต บริกรรมนิมิตทีแรกคือลมหายใจนั่นเป็นตัววัตถุตามธรรมชาติ เขาเรียกบริกรรมนิมิต เป็นตัวที่มีตัวตนจริงคือว่าเป็นconcrete เป็นconcrete เหมือนกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็น object ที่เป็น concrete และสามารถทำให้มีมโนภาพขึ้นที่จุดที่เรากำหนดไว้นั้นเดี๋ยวนี้มันเป็น imaginary object ไม่ใช้ concrete object เหมือนทีแรก ทีนี้ความสำเร็จในขั้นที่ว่าเฝ้าดูอยู่ที่จุดๆ เดียวนี้มันก็ให้เกิดอุคคหนิมิตขึ้นมาได้ เป็นความสำเร็จในขั้นที่ ๒ ขั้น ๑ วิ่งตามก็ได้แต่บริกรรมนิมิตอยู่นั่นเอาลมหายใจเองเป็นตัวนิมิต พอมาถึงขั้นนี้มันก็กลายเป็นเฝ้าดูจนเกิดนิมิต imaginary ขึ้นมาในสภาพที่เป็น subconscious ไม่เป็นเต็ม conscious ฉะนั้นลักษณะของสิ่งที่เรียกว่าอุคคหนิมิต สังเกตได้ง่ายอย่างนี้จะเป็นอุคคหนิมิต ที่เกิดมาจากกรรมฐานชนิดไหนภาวนาชนิดไหนก็ตามจะมีอาการเป็น subconscious ขึ้นมาแล้ว ยกตัวอย่างเมื่อเราจะเพ่งดูหลอดไฟฟ้า ถ้าเราลืมตาดูอยู่มันก็เป็นหลอดจริงๆ แต่หลับตาแล้วยังเห็นนี้ก็เป็น imaginary object เราก็ต้องศูนย์เสีย conscious ไปครึ่งหนึ่งเราจึงจะเห็นไอ้นิมิตชนิดที่ติดตานั้น นั้นได้ เขาเรียกว่าอันใหม่อันที่สร้างขึ้นมาใหม่จากอันที่เป็นจริงที่เป็นตัวธรรมชาติจริง ฉะนั้นจึงเห็นเหมือนกัน แต่ทีนี้ถ้าใน line ของอานาปานสตินี้มันไม่อาจจะเห็นเหมือนกันได้เพราะลมหายใจไม่มีภาพเราจึงต้องสร้างภาพ imaginary นี้ขึ้นมาตรงที่จุดที่มันกระทบ สำหรับบางคนจะมีอาการเหมือนกับว่าจุดขาวเหมือนกับสำลีอยู่ก้อนเล็กๆ อยู่ที่ตรงนั้น ค่อยงอกขึ้นมา งอกขึ้นมา หรือว่าเป็นดวงไฟเล็กๆ ติดอยู่ที่ตรงนั้น หรือว่าจะเป็นดวงสีต่างๆ ติดอยู่ที่ตรงนั้น หรือว่าจะเป็นเหมือนกับว่าหยดน้ำที่มีอยู่ตามใบบัวมาปรากฏอยู่ที่ตรงนั้น หรือบางทีก็เหมือนใยแมงไหมแมงมุมในสายแดดท่ามกลางแสงแดด ปรากฏอยู่ที่ตรงนั้น นี่เป็นตัวอย่างแล้วก็มีอย่างอื่นได้อีกแต่ว่าเป็นภาพอะไรที่เกิดขึ้นที่ตรงนั้นแล้วก็ถือเอาไว้ให้เป็นอย่างดี คือหล่อเลี้ยงเอาไว้ ให้มันชัดอยู่ในความรู้สึกกึ่งสำนึก เรียกว่าเป็นอุคคหนิมิต หรือว่าเป็นนิมิตในมโนภาพ คือ imagination นี้ก็เรียกว่า ประสพความสำเร็จในขั้นที่ ๒ คือ ขั้นที่เฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง ความสำเร็จในขั้นที่ ๑ เราได้บริกรรมนิมิต ความสำเร็จในขั้นนี้เราได้อุคคหนิมิต
ทีนี้หัวข้อที่ ๓ ของเราก็คือเปลี่ยนอุคคหนิมิต ให้กลายเป็นปฏิภาคนิมิต นี่คือการหน่วงอารมณ์นั้น หน่วงภาพที่เห็นในอุคคหนิมิตนั้นแล้วแต่ใครจะเห็นเป็นรูปอะไรนี้ ให้มันเปลี่ยนขนาดเช่นใหญ่ ใหญ่ออกไป ใหญ่ออกไปหรือว่าเล็กเข้ามา เล็กเข้ามา นี้อย่างหนึ่ง มันก็เป็น imaginary object ที่ละเอียดประณีตสูงขึ้นไป เดี๋ยวนี้มันเป็น dynamic คือจะเคลื่อนที่ได้ จะเปลี่ยนได้ ก่อนนี้มันเป็น static คือ อยู่นิ่งๆ ทีนี้เพราะว่ามันเปลี่ยนได้เคลื่อนที่ได้จึงเรียกว่า ปฏิภาคนิมิต คือนิมิตที่จะเปลี่ยนรูปไปรูปใดรูปหนึ่ง รูปใดรูปหนึ่งเป็นเฉพาะ ถ้าสมมุติว่าเห็นเป็นจุดก้อนขาวเหมือนก้อนสำลีเล็กๆ อยู่ที่ตรงจงอยจมูกนั้นเป็นที่พอใจแล้ว เดี๋ยวนี้ก็เริ่มน้อมจิต คำว่าน้อมความคิดไปที่จะเปลี่ยนให้มันใหญ่ขึ้น ใหญ่ขึ้นมันก็ทำได้ ทำได้เหมือนกันกับที่ว่าจะทำด้วยสิ่งที่ง่ายๆ เช่นเพ่งดูหลอดไฟอย่างนี้ เมื่อเป็นนิมิตติดตาแล้วก็ขยายให้มันใหญ่ให้มันเล็กอะไรได้ ได้จัดทำได้ง่ายเหมือนกับอย่างนั้น เพราะเดี๋ยวนี้มันไม่ใช่ลมหายใจแล้วที่มันเป็นนิมิตมันเป็นดวงหนึ่งซึ่งเราได้สร้างขึ้นมาเป็นนิมิตแทน ฉะนั้นมันเหมือนกันหมดไม่ว่าจะมาจากการกำหนดอะไรเป็นอารมณ์ ถ้ามันสร้างอุคคหนิมิตขึ้นมาได้แล้วมันก็เหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นมันจึงอาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้ตามที่จิตมันน้อมนึกไป ครั้งแรกที่ง่ายที่สุดก็น้อมนึกให้มันเปลี่ยนขนาดให้มันใหญ่ออก ใหญ่ออก ใหญ่ออกให้ดวงนั้นมันใหญ่ออก ใหญ่ออกและให้มันกลับเล็กเข้า เล็กเข้า เล็กเข้า ที่นี้ทำให้มัน ก็คือว่ามัน มันคล้าย auto suggestion เหมือนกัน น้อมจิตไปในทางที่จะให้มันเปลี่ยนสี ถ้ามันเคยขาวให้มันเปลี่ยนเป็นสี่อื่น สีอื่น สีอื่นตามที่ต้องการ เปลี่ยนขนาดแล้วก็เปลี่ยนสี ทีนี้ให้มันเคลื่อนที่ให้มันเหมือนกับว่ามันลอยห่างออกไป ลอยห่างออกไป ลอยห่างออกไป แล้วก็กลับเข้ามา กลับเข้ามาอยู่ที่จุดเดิม นี่เป็นเรื่องลวงทั้งนั้นเป็นภาพลวงเป็นเรื่องลวงทั้งนั้น แต่ว่ามีผล คือการบังคับจิต ถ้าบังคับจิตไม่ได้มันจะเห็นอย่างนี้ไม่ได้ ถ้ามันเห็นได้อย่างนี้ ก็คือการบังคับจิตได้ ฉะนั้นไอ้เรื่องลวง คือเรื่องดวง เรื่องสีอะไรต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องลวงนั้นเราไม่ได้ต้องการเลย เราต้องการแต่ผลของมัน คือการบังคับจิตได้ ฉะนั้นต้องบังคับจิตต้องน้อมจิตไป อุคคหนิมิตจึงจะเปลี่ยนสี เปลี่ยนขนาด เปลี่ยนที่ เปลี่ยนอะไรต่างๆ ได้ ตอนนี้ก็เป็นตอนที่เรียกว่าสนุก จะมองไปในลักษณะเป็นของเล่นหรือเป็นของสนุกก็ได้ ก็แปลว่าเราสามารถสร้างนิมิตอีกแบบหนึ่งขึ้นมาได้คือนิมิตที่มันเปลี่ยนแปลงได้ ก็เลยเรียกชื่อให้ใหม่ว่า ปฏิภาคนิมิตจะต้องทำอยู่นานทีเดียวให้มันคล่องแคล่วได้ตามปรารถนามีความเหมาะสมอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เดี๋ยวนี้ก็หมายความว่าจิตมันเริ่มอยู่ในอำนาจของเราแล้วเป็นทาสของเราแล้ว ใช้คำว่าเรา ก็หมายความว่าสมมุติอันหนึ่ง ตัวเราจะบังคับจิตของเราให้เป็นอย่างไรก็ได้โดยบังคับผ่านทางนิมิต ปฏิภาคนิมิตนี้ เช่นเดียวกับบังคับร่างกายทางลมหายใจ เดี๋ยวนี้เราก็บังคับจิตโดยผ่านทางนิมิตเหล่านี้ นับตั้งแต่อุคคหนิมิตเป็นต้นมาถึงปฏิภาคนิมิต นั้นเราต้องทำจนชำนาญจึงจะเรียกว่าบังคับจิตได้ในขั้น ๑ คือถึงขนาดที่เรียกว่าบังคับจิตได้ บทเรียนนี้บางทีก็กินเวลามากกว่าที่แล้วมา ก็คือกินเวลามากกว่าขั้นที่ ๒ ที่ว่ากำหนดจนเกิดอุคคหนิมิตนั้น ทีนี้เมื่อทำสำเร็จได้เราน้อมนึกอย่างไรนิมิตเปลี่ยนไปอย่างนั้น เราน้อมนึกอย่างไรนิมิตเปลี่ยนไปอย่างนั้นจนให้มันออกไปนอกจักรวาลก็ได้ให้มันกลับมาอีกก็ได้ ทิศไหนก็ได้ ข้างบนก็ได้ ก็แสดงว่าจิตแคล่วคล่องว่องไวต่อการที่จะทำตามคำสั่งหรือว่าการน้อมนึก เดี๋ยวนี้จิตมีคุณสมบัติดีขึ้นกว่าก่อนมากแล้ว คือสามารถบังคับอยู่ในอำนาจได้ตลอดเวลาไม่หนีไปไหนแล้ว และโดยอุบาย เคล็ด หรืออุบายที่เอาของสนุกๆ มาล่อเข้าไว้จิตมันจึงไม่หนีไปไหน สมัครที่จะป้วนเปี้ยนอยู่กับอารมณ์หรือนิมิตนี้ นี่เขาเรียกว่าเคล็ดหรืออุบายมันจึงสำเร็จได้ ถ้ามันไม่ยั่วให้สนุกอย่างนี้มันก็หนีไปเสียนานแล้ว หนีไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ แล้วก็ไม่มีทางที่จะเป็นจุดเดียวเป็นอารมณ์เดียวหรือจะเป็นสมาธิขึ้นมาได้ เดี๋ยวนี้มันก็เป็นได้อยู่ในอำนาจถึงขนาดที่เรียกว่าบังคับให้รู้สึกอย่างไร ให้เห็นอย่างไร ให้อะไรก็ได้ นี่เฉพาะเป็นภาพอย่าไปนึกถึงเรื่องเป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นอะไรเข้ามันยุ่ง เป็นแต่เพียงภาพทีแรกที่เห็นด้วยตาและภาพที่เห็นด้วยใจ แล้วภาพที่เห็นด้วยใจนั้นเปลี่ยนได้ เท่านี้ก็พอ
ทีนี้ขั้นที่ ๔ นี้ว่ากันโดยสังเขปลวกๆ ไปนะ ขั้นที่ ๔ ก็คือว่า ในขณะที่ปฏิภาคนิมิตเป็นไปอย่างคล่องแคล่วที่สุดนั้นนะ หน่วงให้เกิดความรู้สึกที่เป็นองค์ฌานขึ้นมา ที่เรียกว่าวิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตา ๕ อย่างนี้ ที่จริงมันก็เป็นอยู่แล้ว แต่เราไม่ได้ไปดูมันเท่านั้น ทีนี้เราจะเริ่มดูมัน วิตก มันก็คือการที่ว่าจิตติดอยู่กับอารมณ์ ติดอยู่กับนิมิตเรียกว่า วิตก คือ สติหรือจิตที่เป็นตัวสติกำหนดอยู่ที่นิมิตนั้นอย่างนี้เรียกว่าวิตก แล้วจิตหรือสตินั้น มันซึมทราบต่อข้อเท็จจริงต่างๆ ไอ้สภาวะต่างๆ ของอารมณ์นั้น นี่เรียกว่าวิจารณ์ ไม่ใช่คิดอย่างคิดเลข ไม่ใช่คิดอย่างคิดปัญหาธรรม คำว่าวิตก วิจารณ์ในที่นี้ มีความหมายเฉพาะเอาไปใช้ที่อื่นไม่ได้ เพราะว่า วิตกหมายแต่เพียงจิตเกาะอยู่ที่อารมณ์ วิจารณ์หมายเพียงจิตรู้สึกซึมทราบทั่วถึงต่ออารมณ์นั้น นี้มันก็ทำให้เป็นความรู้สึกที่ชัดขึ้นมา ชัดขึ้นมา ชัดขึ้นมา ทีนี้เมื่อจิตยอมอยู่ในอำนาจอย่างนี้ คือยอมสงบระงับอย่างนี้ ไอ้ความรู้สึกที่เป็นปีติและสุขมันก็จะค่อยๆ โผล่ขึ้นมาเองคือความพอใจที่เกิดมาจากการทำจิตให้ระงับได้นี้ จะเป็นปีติ แล้วพอหลังจากปิติก็มีความรู้สึกที่เป็นความสุข ๒ อันนี้จะไปด้วยกันเสมอ ปีติกับสุขนี่ มันจึงต่างกันเพียงว่าปีตินี้พอใจที่ประสพความสำเร็จ ส่วนสุขนั้นรู้สึกเป็นสุข ส่วนเอกัคคตานั้นมันก็เป็นอยู่แล้ว มันก็เหลืออยู่เพียงแต่ว่า มองดูให้เห็นเท่านั้น ว่าเดี๋ยวนี้จิตมีอารมณ์อันเดียวเอกัคคตา เอกะ แปลว่าหนึ่ง อัคคะ แปลว่ายอด เอกัคคตาแปลว่า ความที่มันมียอดสุดเพียงอย่างเดียว คือมันกำหนดอยู่ที่อารมณ์อันนี้เพียงอันเดียว เรียกว่าเอกัคคตา ไอ้สิ่งที่จะต้องหน่วงขึ้นมามากหน่อย ก็คือ ปีติและสุข ส่วนวิตก วิจารณ์ กับเอกัคคตานี้ มันเป็นอยู่แล้วในตัวตั้งแต่แรกเริ่มมา แต่มันไม่แน่วแน่เดี๋ยวนี้มันถึงเขตที่แน่วแน่ นี้ก็ยังเหลือแต่ว่ายังจะให้ความรู้สึกที่เป็นปีติและเป็นความสุขนั้นชัดแจ้งยิ่งขึ้น ชัดแจ้งยิ่งขึ้น พอมีสัดส่วนที่พอเหมาะสมกันทั้ง ๕ ส่วนคือมี วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตา แล้วก็พยายามที่หยุดความรู้สึกของจิตไว้ในสภาพอย่างนี้ นี่ก็เรียกว่าหน่วงความรู้สึกที่เป็นองค์ประกอบของฌานให้ปรากฏออกมาครบถ้วนชัดเจนในความรู้สึก
ทีนี้ขั้นต่อไปก็ทำให้เกิดฌาน คือองค์ปฐมฌาน มันก็คือว่าทำการหน่วงความรู้สึกที่เป็นองค์ฌานให้ครบถ้วน ให้แน่นแฟ้น ให้มั่นคงอยู่ในสภาพที่สม่ำเสมอถึงขนาด ก็พอที่จะเรียกว่าปฐมฌาน ประกอบไปด้วย วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตา ๕ องค์ ตอนนี้จะถึงขั้นที่ปฏิบัติยากปฏิบัติลำบากขึ้นเพราะเป็นของที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงสูญหายไปก็ได้ทันที เพราะฉะนั้นจะต้องพยายามอย่างดีให้สุดความสามารถจึงถึงกับต้องละเว้นสิ่งต่างๆ ไว้ชั่วคราว ถ้าจะประคองจิตในลักษณะที่ให้เกิดฌานอย่างนี้ มันก็ต้องเรียกว่าไม่รู้ไม่ชี้กับเรื่องอื่นหมดเลย จึงเรียกว่าเป็นโยคี ที่จะต้องปลีกตัวออกไปอยู่ที่ส่วนตัวในป่าหรือในอะไรก็สุดแท้ การรบกวนต่างๆ จะต้องไม่มีในส่วนในตอนนี้ และเจ้าตัวนั้นก็ไม่ไปสนใจกับอะไรเลย สนใจอยู่แต่เรื่องข้างในเท่านั้น มันจึงจะสามารถเกิดสิ่งที่เรียกว่าปฐมฌาน คือ ภาวะของจิตที่ประกอบอยู่ด้วยองค์ ๕ ประการนี้อย่างแน่นแฟ้นถึงขนาดเป็นปฐมฌานคือแน่วแน่ได้ ไม่อย่างนั้นมันก็เดี๋ยวมาเดี๋ยวไป เดี๋ยวมาเดี๋ยวไปล้มลุกคลุกคลานอยู่นั่น ไอ้ความแน่วแน่ที่เป็นอัปปนาสมาธินั้นต้องรักษาไว้อย่างที่เรียกว่าอยู่ได้สม่ำเสมอมันจึงจะเลี้ยงไอ้สิ่งที่เรียกว่าองค์ฌานทั้ง ๕ นี้ไว้ได้ มิฉะนั้นมันก็ล้มๆ ลุกๆ ล้มๆ ลุกๆ ที่เรียกว่าอุปจารสมาธิอยู่เรื่อยไป พอมันหยุดล้มหยุดลุก มันก็เป็น อัปปนาสมาธิ มันก็ได้บรรลุไอ้สิ่งที่เรียกว่าปฐมฌานโดยแท้จริง
ทีนี้ขั้นต่อไปก็คือทำฌานที่ได้แล้วนี้ ให้เป็นฌานที่สงบระงับประณีตลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก ก็คือจะไปสู่ปฐมฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน และมันก็ไม่มีอะไรมาก ไม่มีอะไรมาก คือมีแต่เพียงว่าปลดความรู้สึกที่เป็นองค์ฌานบางองค์ออกไป ออกไป ออกไปให้เหลือน้อยเข้า ความรู้สึกที่เป็นวิตก วิจารณ์นี้ ก็เริ่มละไปก่อนปลดความรู้สึกที่เป็นองค์ฌานที่ ๑ ที่ ๒ ออกไปเสียได้มันก็เหลือ ๓ ข้างบน ข้างท้ายก็เป็นทุติยฌานขึ้นมายังเหลืออยู่แต่ปีติและสุขแล้วเอกัคคตา เมื่อมันเหลือน้อยเพียง ๓ ความสงบระงับมันก็มากกว่า ฉะนั้นฌานนี้จึงประณีตกว่าระงับกว่าปฐมฌาน ฌานที่ ๒ จึงประณีตกว่าระงับกว่าฌานที่ ๑ ทีนี้ฌานที่ ๓ ก็ต้องการให้ประณีตระงับยิ่งขึ้นไปอีก ฉะนั้นจึงปลดบางอันออกไปอีกคือปลดความรู้สึกที่เป็นปีติซาบซ่านออกไปเสียมันก็ยังเหลือแต่สุขกับเอกัคคตาเป็นองค์ประกอบเพียง ๒ องค์ของฌานที่ ๓ ทีนี้ก็เห็นว่าโอ้ย ไอ้ความรู้สึกเป็นสุขนี้ มันก็ยังรบกวนไม่ระงับถึงที่สุดเปลี่ยนให้เป็นอุเบกขาเสีย จึงเหลือแต่อุเบกขากับเอกัคคตาเป็นลักษณะของฌานที่ ๔ แล้วมันก็สิ้นสุดกันทีสำหรับเรื่องสมาธิฝ่ายรูปฌาน
ทีนี้หลังจากนี้จะไปกันในทางไหนค่อยพูดกัน ถ้าจะไปในทางสิ้นอาสวะก็ใช้ไปในทางที่จะทำลายอาสวะ ถ้าอยากจะไปในทางอิทธิปาฏิหาริย์ ปฏิสัมภิทา ชรภิญญา (นาทีที่ 53.49) ก็ฝึกไปในทางนั้นหรือถ้าต้องการไอ้เรื่องของสมาธิยิ่งขึ้นไปอีก มันก็เปลี่ยนเป็นอรูปฌานไป แล้วแต่จะแยกเดินกันในทางไหน เดี๋ยวนี้เราต้องการที่จะเดินไปในทางของอานาปานสติเรื่อยไป ก็เลยทำไปในทางที่จะให้อาสวะสิ้น มันจึงเลื่อนไปหมวดที่ ๒ ซึ่งเป็นกำหนดเวทนา หมวดที่ ๓ ซึ่งกำหนดจิต หมวดที่ ๔ ซึ่งกำหนดธรรม ไม่ไปห่วงเรื่องอรูปฌาน ไม่ไปห่วงเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ และไม่ไปห่วงแม้แต่ความสุขที่จะเกิดจากฌานเหล่านี้ ถ้าไปพอใจในความสุขเสียมันก็จะชะงักอยู่ที่นั้น ทีนี้ผู้ที่จะไปได้จนถึงจตุตถฌานนั้นต้องมีองค์ประกอบมากมาย อย่างที่เรียกว่ามีบุญญาบารมี มีอุปนิสัย ทีนี้คนส่วนมากก็ไปไม่ถึงยังเหลืออยู่แค่ฌานรองๆ ลงมาหรือว่าบางคนอาจจะไม่ได้แม้แต่ปฐมฌานคงได้แต่สมาธิที่ไอ้ล้มๆ ลุกๆ นี่คืออุปจารสมาธิ แม้ได้เพียงเท่านี้ก็อย่าท้อแท้ อย่าเสียใจ อย่าน้อยใจเพราะว่ายังสามารถที่จะปฏิบัติในขั้นต่อไปได้เหมือนกัน คือปฏิบัติในหมวดเวทนา จิตตา ธรรมมาต่อไปได้ แม้ว่าเราไม่สามารถจะทำให้ฌานทั้ง ๔ นี้เกิดขึ้นได้ก็ไม่ต้องเสียใจ สำหรับผู้ที่จะปฏิบัติเพื่อความสิ้นอาสวะ แต่ถ้าต้องการจะเป็นไปเพื่ออรูปฌาน หรือจะเป็นไปเพื่ออิทธิปาฏิหาริย์นั่น คือความล้มเหลวเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่สามารถทำฌานทั้ง ๔ ในประเภทรูปฌานนี้ให้เกิดขึ้นแล้ว มันก็ก้าวต่อไปในทางที่ไม่จำเป็นไม่ได้ เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ก็ดี เรื่องอรูปฌานต่อไปก็ดีมันล้มเหลวหมด
ที่นี้เราไม่ต้องการส่วนเหล่านั้น เราต้องการมุ่งไปสู่ความสิ้นอาสวะ เพราะฉะนั้นแม้ว่าเราจะทำไปได้ถึงฌานจนถึงจตุตถฌานก็ตาม เราก็ยังต้องถอยหลังกลับออกมาสู่ความรู้สึกที่เป็นลักษณะของอุปจารสมาธินั่นแหละ เพื่อจะพิจารณาเวทนา จิตตาอะไรต่อไป ในขณะแห่งฌานแท้ๆ ทำอะไรไม่ได้ มันหยุดมันต้องเป็นเรื่องที่ออกจากฌานแล้วมาอยู่ในสภาพปกติอย่างนี้เป็น subconscious เป็น conscious เต็มๆ อีกทีหนึ่งไม่ใช่ subconscious แต่ว่าเดี๋ยวนี้จิตมันแปลกแล้วจิตมันใหม่จิตมันถูกอบรมมาใหม่เป็นจิตที่สามารถ ที่เรียกว่าเป็นจิตบริสุทธิ์ เป็นจิตตั้งมั่น เป็นจิตว่องไวควรแก่การงาน มันได้อันนี้มา เดี๋ยวนี้จิตของผู้ฝึกดีแล้วอย่างนี้มีคุณสมบัติพิเศษในทางฝ่ายสมาธิแม้ว่าออกมาจากฌานแล้วมันก็ยังมีประโยชน์มีอานิสงส์อันนั้นเหลืออยู่ คือว่าเป็นจิตสะอาดบริสุทธิ์ แล้วก็เป็นจิตที่ตั้งมั่นแน่นแฟ้นมีกำลัง แล้วก็เป็นจิตที่ว่องไวในหน้าที่ของมัน เรียกว่าปริสุทโธ เรียกว่าสมาหิโต เรียกว่ากัมมนีโย ๓ คำนี้เป็นลักษณะพิเศษ ๓ อย่างของจิตที่อบรมดีแล้ว ถ้าเป็นอัปปนาสมาธิมีฌานมีอะไรมันก็มีองค์ประกอบทั้ง ๓ นี้มากที่สุด ถึงแม้ไม่ถึงฌาน ไม่ถึงอัปปนาสมาธิเป็นอัปปนาสมาธิที่ล้มๆ ลุกๆ มันก็ยังมีองค์ประกอบ ๓ อย่างนี้ตามสัดตามส่วนที่มันควรจะมี เพราะฉะนั้นการฝึกสมาธิจึงไม่เสียหลายจะสำเร็จฌานหรือไม่สำเร็จฌานก็ต้องได้คุณสมบัติของสิ่งที่เรียกว่าสมาธิมา ๓ อย่างนี้ พอที่จะใช้ต่อไปในการปฏิบัติในขั้นที่สูงขึ้นไป คือหมวดเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และไปสำคัญอยู่หมวดสุดท้ายคือ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือไปพิจารณาอนิจจา อนุปัสสี การพิจารณาไตรลักษณ์ หรืออะไรทำนองนี้มันต้องการจิตที่มีเต็มสำนึกไม่ใช่อยู่ในฌาน เพราะฉะนั้นคนที่มีสมาธิอบรมแล้วพอสมควร เรียกว่ามีความเป็นสมาธิถึงขนาดหนึ่งแล้วมันก็ทำได้ ไม่ต้องเก่งถึงขนาดว่าได้ฌานครบทุกฌาน แต่ถ้าได้ฌานครบทุกฌานมันก็เก่งกว่าก็ทำได้ดีกว่าในการที่จะพิจารณา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
นี่วันนี้เราพูดกันถึงการปฏิบัติขั้นที่ ๔ ที่มีตัวบทว่า ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ อสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ มีใจความว่า ทำกายสังขารให้ระงับอยู่หายใจออก-เข้า ทำกายสังขารให้ระงับอยู่ด้วยขั้นทั้ง ๕ หรือทั้ง ๗ นี้ ที่จริงก็ทั้ง ๕ แค่ ๕ นี้ก็พอ ๑ วิ่งตาม ๒ เฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง ๓ ทำอุคคหนิมิตให้เกิดขึ้นมาได้ ๔ เปลี่ยนอุคคหนิมิตให้เป็นปฏิภาคนิมิต แล้วก็ ๕ ในขณะแห่งปฏิภาคนิมิตนั้นทำความรู้สึกที่เป็นองค์ฌานทั้ง ๕ องค์ให้แจ่มแจ้งขึ้นมาได้ นี่ก็คือการทำกายสังขารให้ระงับอยู่มันก็มีเพียงเท่านี้ ทีนี้ก็เหลือแต่รายละเอียดจะทำอย่างไร โดยรายละเอียดนั้น มันก็ต้องพูดกันเฉพาะเรื่องไปแต่เค้าเรื่องคืออย่างนี้ตลอดสายของการทำกายสังขารให้ระงับอยู่ หายใจออก-เข้า ผลคือ สมาธิ ในสมาธินั้นจะมีปีติและสุขแสดงให้เห็น แล้วก็จะใช้ปีติและสุขนี้เพื่อปฏิบัติในหมวดต่อไป คือหมวดเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน นี้เป็นเงื่อนหรือหัวต่อระหว่างหมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐานกับหมวดเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานขอให้กำหนดไว้ให้ดีๆ เราก็จะพูดกันวันหลัง นี่เวลาที่กำหนดไว้มันก็มีเพียงเท่านี้ ทีนี้กลับไปถึงกุฏิอย่าเพื่อนอนเสีย ลองทำดูซิ