แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายวันนี้ก็อยากจะพูด เรื่องจะเป็นพระให้มากที่สุดเข้าไว้ได้อย่างไร? ต่อจากในครั้งที่แล้วมาอีกสักประเภทหนึ่ง คือว่า ที่พูดมาแล้วในครั้งก่อนนั้น เป็นประเภทที่เราออกมาเสียจากความเป็น ฆราวาส ให้มากที่สุด ทีนี้ ก็จะได้พูดประเภทที่ว่าจะเข้าไปใกล้ ไปสู่ความเป็น บรรพชิต ให้มากที่สุด พวกที่ออกมาจากความเป็น ฆราวาส ให้มากที่สุดนั้น มันก็มีใจความชัดอยู่แล้วว่า อะไรเป็นเรื่องที่ ฆราวาส เขาทำอยู่เป็นประจำ เราก็เว้นให้มากที่สุดเท่าที่จะเว้นได้
ทีนี้ ไอ้เรื่องประเภทที่ว่า บรรพชิตเขาทำกันอยู่อย่างไร เราก็จะทำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมกันเป็น ๒ ประเภท ก็เป็นเรื่องที่ทำให้เป็น พระ ได้มากที่สุดเข้าไว้จนสุดความสามารถ เรื่องที่จะเว้นจากความเป็น ฆราวาส นั้นก็มีอย่างที่พูดมาแล้ว ไปทบทวนจับหลักได้ว่า ที่จำเป็นแก่ ฆราวาส นั้นไม่จำเป็นแก่ บรรพชิต ที่ฆราวาสเขาชอบนั้น บรรพชิตไม่จำเป็นจะต้องชอบ เรื่องของฆราวาสนั้นก็ไม่จำเป็นบ้าง เกินบ้าง ไม่สมควรบ้างแก่บรรพชิต ก็เห็นเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมทั้งนั้น และยิ่งกว่านั้นก็คือว่าไอ้เรื่องไม่จำเป็นหรือไม่เหมาะสมเหล่านั้นมันทำให้ลำบาก ทำให้เป็นทุกข์ ถ้าเราไม่รู้เท่า-มันก็เป็นทุกข์โดยไม่จำเป็น เดี๋ยวนี้เราอยู่ในโลกที่มันเจริญด้วยเครื่องบำรุงบำเรอมนุษย์ เรามักจะเขลาไปก็ได้ว่าอะไรจำเป็น อะไรไม่จำเป็น ขอให้ตัดสินมันตรงไปตรงมา ก็ถือหลักว่า ออกไปได้เท่าไร สลัดออกไปได้สักเท่าไร ก็ยิ่งดีเท่านั้น
ผมเคยประสบปัญหาเหล่านี้ หรือว่าเคยประสบข้อเท็จจริงเหล่านี้มากเหมือนกัน ถ้าตั้งใจจะทำให้มันดีที่สุดและโดยไม่ต้องกลัวอะไร ก็มีเรื่องที่พอจะพูดให้ฟังได้ต่อไป ทีนี้ ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าเดี๋ยวนี้เราทำอะไรมากไปกว่าหน้าที่ของ บรรพชิต ตามปกติอย่างในสมัยพุทธกาล มันก็มีอยู่มากอย่างที่จะต้อง อย่างเช่น การศึกษาเล่าเรียน ทำไมต้องมี เครื่องใช้ไม้สอย หนังสือ หนังหา ตำรับ ตำรา เมื่อมีการเผยแผ่ในโลกปัจจุบันนี้ ก็ทำให้จะต้องมีเครื่องใช้ไม้สอย นี่ มันทำให้ยุ่ง จนบางทีก็ตัดสินไม่ค่อยถูก แต่เราก็เอาไอ้ความซื่อ ซื่อสัตย์ต่ออุดมคติหรือต่อตัวเองนี้เป็นหลัก ไม่จำเป็นก็อย่ามี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่จะบวชในเวลาอันสั้นนี้ทำได้มากกว่า เพราะว่ามันไม่มีเรื่องอะไรมากเหมือนไอ้จะอยู่นาน หรือจะต้องทำอะไรหลายๆอย่าง ขอให้ไปตัดสินเอาเองว่าเราจะขมวดไอ้ความเป็นพระนี้ให้มันมากเข้าได้เท่าไร จะเอาให้ถึงที่สุดเพราะเราบวชในเวลาอันสั้น อยู่ในเวลาอันสั้นจะได้เข้าถึงความเป็น พระ แล้วก็รู้รสของมันจนเอาไปใช้ให้เป็นหลักสำหรับพินิจพิจารณาอะไรได้ ข้อที่น่าอัศจรรย์อย่างหนึ่ง ก็คือ ไอ้สิ่งเหล่านี้มีมาเท่าไหร่ มันทำให้เรามีความเป็น พระ น้อยลงไป หรือเป็นคนนี้น้อยลงไป เป็น พระ น้อยลงไป ก็หมายความว่า มันไปเป็น ฆราวาส เสีย เสียบ้าง เสียมาก เป็นคนน้อยลงไปก็หมายความยิ่งไปกว่านั้นอีกนะ มันทำให้เราลืมตัว สิ่งที่ไม่จำเป็น สิ่งที่เป็นไปเพื่ออะไรทำนองนี้ ทำให้เราเป็น พระ น้อย ทำให้เป็นคนน้อย
อีกคราวหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ก็เห็นเด็กๆ คนหนุ่มเขาต้องมีนาฬิกาข้อมือกับปากกาหมึกซึม แล้วก็มีกันอย่างน่าหัวที่สุดเลย กระทั่งเด็กชาวนา นั่นแหละ มันเป็นตัวอย่างที่ว่าความนิยม หรือความเผลอ ความลืมตัวอะไรกัน เหมือนอย่างของ พระ มันมีอะไรมากไปกว่านั้น คือ มันละเอียดไปกว่านั้น ไม่ต้องมีนั่น-มีนี่ อย่างพระครั้งพุทธกาลนี้เขาไม่มีอย่างสมัยนี้ เช่น นาฬิกา ไม่มีนาฬิกา ทำอย่างไรจึงจะรู้เวลากันบ้าง มันก็ฝึกสัญชาติญาณให้รู้ ถ้าเป็นเวลานอนนี้-ตื่นขึ้นมา มันรู้ได้จากไอ้ความรู้สึก สบาย สดชื่น เพียงพอหรือไม่? รู้ได้ว่าเรานอนพอหรือยัง? เวลาจะประมาณสักเท่าใด? แล้วก็ฝึกไป ฝึกไปจนมันรู้ได้ จนมันตื่นนอนได้ตรงตามเวลาที่ต้องการ ออกมาข้างนอกก็ดูไอ้ธรรมชาติโดยเฉพาะก็ดาว วินัย ก็มี ธรรมะ ก็มี อนุญาตให้ศึกษาความรู้เรื่องดาว แต่ไม่ใช่เพื่อเป็นโหร รู้เรื่องดาวว่าดาวอะไร? ชื่ออะไร? ไม่ก็ดูเดือนไหนมันเป็นอย่างไร? พอแหงนขึ้นบนฟ้า ก็รู้ได้ว่ามันประมาณสักกี่ทุ่มแล้ว
เพราะฉะนั้น คำบอก วัตร สำหรับภิกษุ มันจะมีชื่อดาว ๒๗ ดาวนั้นอยู่ด้วย รู้วัน เดือน ปี รู้ดาว รู้ ชื่อดาวทั้งหลาย แล้วก็ศึกษาจนรู้ รูปร่างอย่างนั้นเรียกดาวนั้น ฤดูไหนมันขึ้นเวลาไหน มันตกเวลาไหนนี้มันก็รู้ได้เหมือนกันว่ากี่ชั่วโมง กี่นาฬิกา ถ้าไม่มีดาวมันก็ต้องใช้สันนิษฐานเอาอย่างอื่น บางทีก็อาศัยเสียงสัตว์ตามธรรมชาติก็รู้ นกบางชนิดบ้าง เสียงไก่บ้าง พอเรามีนาฬิกาใช้เราก็เลยไม่รู้เรื่องดาว แล้วมันก็ขี้เกียจที่จะนั่งจำเรื่องดวงดาวนี้มันเปลี่ยนแปลงไปหนึ่งวัน แต่ละวัน ละวัน เดี๋ยวนี้เลยไม่มีความรู้เรื่องดาวทำให้เก่งน้อยลง ทำให้ต้องมีนาฬิกาในที่สุด นี่ เป็นตัวอย่างที่ว่าเราละทิ้งธรรมชาติไกลออกไปเราก็รู้อะไรน้อยเข้า ถ้าจัดให้มันเป็นผู้ที่ไม่มีทรัพย์สมบัติ เครื่องใช้ ไม้สอยอะไร ไม่เท่าไรก็ต้องไปหันไปหาไอ้วิชาไอ้ความรู้ธรรมชาติกันมากขึ้น นี่ ยกตัวอย่างเพียงเรื่องไม่ค่อยจำเป็น เช่น เวลา เรื่องไข้ เรื่องเจ็บ เรื่องต่างๆ ก็ยิ่งมีแบบมีวิธีของมันที่เฉพาะมากยิ่งขึ้นไปอีก เขาก็รอดตายกันมาได้ จิตใจเข้มแข็ง-ร่างกายเข้มแข็ง เจ็บไข้ยาก
ถ้าเป็นอยู่ตามแบบของนักบวชแท้จริงเจ็บไข้ยาก เพราะมี สติ สัมปชัญญะ สมบูรณ์-เรื่องอุบัติเหตุก็มีน้อยที่จะเจ็บไข้เพราะอุบัติเหตุ เพราะมีไอ้ร่างกายเข้มแข็ง-มันก็ย่อยอาหารดี มีความเจ็บไข้ยาก เรื่องท้อง ท้องเสียยากหรืออะไรยากทำนองนี้ เพราะถ้าจิตใจมันดี-มันก็ไม่ปวดหัว มันก็ไม่วิตกกังวล ไม่เป็นโรคประสาท ไม่มีความดันสูง ไอ้โรคเหล่านี้เป็นโรคใหม่ทั้งนั้น บอกแล้วก็จะไม่เชื่อ โรคความดันสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวานเป็นโรคสมัยใหม่ทั้งนั้น ถ้าคนมีความเป็นอยู่อย่างใกล้ชิดธรรมชาติ ตามแบบของบรรพชิตสมัยโบราณก็เป็นยาก เพราะมันไม่มีเรื่องจะต้องวิตกกังวล มันมีจิตใจสดชื่นอยู่เสมอ เรื่องเลือด เรื่องลม เรื่องโลหิต เรื่องอะไรเหล่านี้เป็นธรรมชาติที่ปกติ แล้วก็ไม่ค่อยต้องมีอะไรมาก ไม่ต้องมีปัญหามาก ตายก็ตาย อยู่ก็อยู่ นี่ ความเป็นพระมันอยู่ที่นี่ ของที่แข็งที่คนสมัยนี้กินไม่ได้ กินแล้วไม่ย่อย สมัยนั้นเขากินกันย่อย กินใบไม้ กินรากไม้ กินของที่มันแข็ง ย่อยไม่ได้นั้นมันกินย่อยได้เพราะใจมันดี ต้องกินหญ้าก็ได้ นี่ เป็นหลักใหญ่ๆ ที่ว่า เว้นสิ่งไม่จำเป็น หรือสิ่งเหลือเฟือ หรือสิ่งอะไรออกไปได้โดยวิธีใด ก็ลองดูบ้าง ไหนๆก็บวชก็อยากให้รู้เรื่องบวช ก็ยิ่งไกลความเป็นฆราวาส ออกมาลิบ ทีนี้ ก็เข้ามาใกล้ความเป็น บรรพชิต ก็ไถลเข้าไปให้มันมากที่สุด
สำหรับความเป็น บรรพชิต มากขึ้นนี้ ก็มีเป็นหัวข้อพอสังเกตได้ เป็นข้อๆไปอย่างเดียวกันอีก
ข้อแรก ก็อยากจะระบุถึงในเรื่อง สำรวมในสิกขาบท คือใน วินัย นี้ สำรวมใน ปาฎิโมกข์ เขาเรียกอย่างนั้น เป็นผู้ที่ขวนขวายจะให้รู้ว่าอะไรห้าม-แล้วก็ไม่ทำ แม้ว่าเราจะสามารถป้องกันได้เกือบทั้งหมด ด้วยการที่ตั้งหลักว่า จะมีเจตนาบริสุทธิ์ มีจิตใจบริสุทธิ์ มันก็จะทำให้เว้นได้โดยอัตโนมัติ ไม่ ไม่ ไม่ล่วงโดยอัตโนมัติมาก แต่แล้วก็ยังควรจะศึกษาเพิ่มเติมให้รู้อีก ให้มันละเอียดอีก เพราะเหตุว่า ตามหลักของการ สำรวมใน ปาฏิโมกข์ นี้เขามุ่งหมายให้เป็นผู้ยึดถือ เป็นผู้ถือหลัก ว่าเห็นเป็นโทษอันใหญ่หลวง เห็นเป็นภัย เป็นอันตรายอันใหญ่หลวง แม้ในโทษที่มีประมาณน้อย ประโยคนี้ช่วยจำไว้ด้วย เห็นเป็นภัยอันใหญ่หลวง แม้ในโทษที่มีประมาณน้อย เรื่อง สิกขาบท ที่ถือกันว่าเล็กน้อย อะไรน้อยนี้ เขาไม่ต้องการให้ถือว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อย ให้ถือว่าเป็นเรื่องอันตรายที่ใหญ่หลวง ไม่ ไม่มีอะไรเล็กน้อย ถ้าพูดถึงความผิด หรือ อาบัติ แล้วไม่มีอะไรเล็กน้อย ที่แล้วมาเรามักจะคิดว่านิดเดียว เล็กน้อย หรือไม่สำคัญ และมักจะถือกันมาอย่างนั้น เดี๋ยวนี้ต้องเปลี่ยนใหม่แล้ว ไม่มีอะไรเล็กน้อย เป็นอันตรายอย่างใหญ่โตแม้ในสิ่งที่มีประมาณน้อย เช่น ไปเด็ดใบไม้เล่นสักใบหนึ่งนี้ก็เป็น อาบัติปาจิตตีย์ ประมาณนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ถือว่าใหญ่เท่าเรื่องฆ่าคน ที่ยิ่งน้อยไปกว่านั้นอีกมันก็ยิ่งให้มันใหญ่เข้าไว้ ให้มันน่ากลัวเข้าไว้ เปลี่ยนนิสัย ไม่มีอะไรเล็กน้อย ไม่ดูถูกว่าเล็กน้อย ทั้งในส่วนความดีและความชั่ว ความชั่วนี่เล็กน้อย อุ้ย, ไม่ได้ มันก็ต้องเป็นเรื่องที่น่ากลัวที่สุด ความดีก็เหมือนกันความดีนี่เล็กน้อย ไม่ต้องทำก็ได้ มันจะดีอะไรไปได้ ก็ต้องว่ามันใหญ่ที่สุด-มันก็ต้องทำ ไอ้ความชั่วเล็กน้อยก็ต้องละ ความดีเล็กน้อยก็ต้องทำ ให้เป็นเรื่องใหญ่ไปให้หมด ถือหลักอย่างนี้จึงจะ สำรวม สิ่งที่เรียกว่า ปาฏิโมกข์ ไว้ได้ มิฉะนั้นเราจะเป็นคนหยาบ เป็นคนหยาบคาย เป็นคนสะเพร่า เป็นคนประมาท สรุปความก็เรียกว่า เป็นคนประมาท คนประมาท คือ คนตายแล้ว นี่เป็นพุทธภาษิต ลองไประมัดระวัง สังเกต ทำสถิติดู เราจะเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อยก็แค่เท่านั้น ไม่สนใจ วันหนึ่ง วันหนึ่งไม่รู้กี่เรื่องต่อกี่เรื่อง ที่เราปล่อยให้มันผ่านไปโดยไม่แก้ไข ไม่ระวัง ไม่สนใจ ทำอะไรผิดไปในทางที่แสดงให้เห็นว่าไม่มี สติ เสีย สติ นี้ก็ต้องเป็นเรื่องใหญ่โตแล้ว เช่น ทำแก้วน้ำแตกใบหนึ่งนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ไม่ใช่เป็นเรื่องเท่ากับราคาถ้วยแก้ว เป็นเรื่องความเลวของ ภิกษุ ผู้ไม่มี สติ -สัมปชัญญะ แม้ในเรื่องง่ายๆ อีกเรื่องอื่นๆก็ถือหลักอย่างเดียวกันนี้ ไม่ใช่ทำแก้วของสงฆ์แตก ทำแก้วของตัวเองแตกก็ถือว่ามันเสียความเป็น บรรพชิต ผู้มี สติ –สัมปชัญญะ จะโดยเหตุใดก็ตาม แล้วก็ไม่ต้องแก้ตัวด้วย ถ้าว่าลมมันพัด ประตูหน้าต่างทำให้มันตกแตก ก็เพราะว่าเรามันสะเพร่า ไม่ดูว่าลมมันจะพัด นี่ ถ้าเราทำไว้ไม่ดี ให้แมวมาช่วยทำให้แตก ต้องโทษเรามันสะเพร่าเอง อย่าไปโทษแมว เขาต้องการละเอียด สุขุมในลักษณะอย่างนี้ จึงจะสามารถรักษา สำรวม ปาฏิโมกข์ ไว้ได้ - เห็นภัยแม้ในโทษที่มีประมาณน้อยอยู่ได้ นี่ ตัว สิกขาบท ต่างๆมันชัดอยู่แล้วไปเปิดดูเองใน ปาฏิโมกข์ ไม่มีเรื่องแก้ตัว คือ ไม่ใช่รู้ ปาฏิโมกข์ สำหรับจะแก้ตัว คนสมัยนี้เขาเรียนกฎหมายเพื่อแก้ตัว เราเป็น บรรพชิต ทำอย่างนั้นไม่ได้ ข้อแรก คือว่า ต้องสำรวมในพระ ปาฏิโมกข์ พระ ปาฏิโมกข์ คือ ระเบียบ วินัย ที่เป็นหลัก เป็นประธาน
ทีนี้ ข้อถัดไปอยากระบุถึง สำรวมอินทรีย์ คำว่า อินทรีย์ หมายถึง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ / ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างนี้เรียกว่า อินทรีย์ ซึ่งแปลว่า มีความสำคัญมากทั้งในการที่จะให้โทษ และในการที่จะให้คุณ ถ้าได้ยินคำว่า อินทรียะ ในพุทธศาสนาภาษาบาลีในพุทธศาสนา ก็ให้เข้าใจเลยว่ามันเป็นเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญมาก ถ้าทำผิดให้โทษมาก ถ้าทำถูกก็ให้คุณมาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นเรื่องใหญ่ของมนุษย์ ทำถูกก็เป็นคุณมหาศาล ทำผิดก็เป็นโทษมหาศาล กิเลส เกิดขึ้นเพราะ การไม่สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจให้ถูกต้องนี้ เมื่อสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจถูกต้องก็มีแต่ความสุข เดี๋ยวนี้ ที่เป็นอยู่มาก ก็คือ สำรวมไว้ไม่ถูกต้อง สำรวมบ้าง ไม่สำรวมบ้าง สำรวมไม่เพียงพอบ้าง หรือว่าสำรวมผิดวิธีบ้างเพราะไม่รู้จริง ในทางเสียหายคนเราเกิด กิเลส เพราะว่าการสำรวมในสิ่งเหล่านี้ไม่เพียงพอ การสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี่ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า สติ พอมีอะไรมากระทบ ตา หรือมากระทบทางหู ทางจมูก เป็นต้น ถ้า สติ มาไม่ทัน หรือเขาเรียกว่าไม่มี สติ สติไม่มี มันก็ทำไปตามอำนาจ กิเลส ตามความรู้สึกฝ่ายต่ำที่มันคอยแต่จะไหลไปทางฝ่ายต่ำ ซึ่งมันก็ไหลไปเองในทางฝ่ายต่ำเพราะมันไหลไปง่าย ไอ้ของที่จะไหลไปทางต่ำมันไหลไปง่าย เรื่องทางวัตถุนี้เห็นได้ง่าย การดึงดูดของโลกมีอยู่ตลอดเวลาก็ไหลไปทางฝ่ายต่ำ เอียงราบไปทางนั้น ทีนี้ ทางจิตใจก็เหมือนกัน กิเลส อาสวะ คือ ความเคยชินในทางฝ่ายต่ำมันมีอยู่ตลอดเวลา ถ้าปราศจาก สติ การกระทบอารมณ์นั้นจะไหลไปทางฝ่ายต่ำ คือ ฝ่ายที่เป็น กิเลส มันก็เกิดความเสียหายขึ้น เดือดร้อนตัวเอง เดือดร้อนผู้อื่น ดังนั้น จงหัดในข้อนี้ให้มาก คือว่า เอาจริงเอาจังกันเลย บันทึกทำสถิติหรือทำตารางแสดงในวันหนึ่ง วันหนึ่งมันเผลออย่างไร? มันเผลอเท่าไร? มันช้าไปเท่าไร? สติ มันมาช้าไปเท่าไร? เพื่อที่จะทำให้มันมาเร็วขึ้น มันก็ไม่เผลอ อีกทางหนึ่งนั้นเราจะต้องฝึกโดยหลักที่ว่าจะไม่ทำความรู้สึก หรือคิดนึก หรือตัดสินอะไรลงไปก่อนที่จะมารู้สึกตัวให้เต็มที่เสียก่อน อย่าทำชนิดที่ว่าเข้ามาปุ๊บก็ไปทำนองนั้น มันต้องมีความรู้สึกสมบูรณ์ก่อน แล้วจึงจะคิด หรือจะนึก หรือจะทำ หรือจะพูด หรืออะไรออกไป อันนี้ต้องฝึก หมายความว่า อันนี้ต้องทำให้ช้าลง ไม่ใช่ทำให้เร็วเข้า สำหรับ สติ ที่จะรับการกระทบนั้น-ต้องเร็ว ในการที่รู้สึกว่ามันกระทบจะต้องมี สติ อย่างไรบ้าง? แต่ครั้นจะมาถึงคราวที่จะทำปฏิกิริยาตอบต่อสิ่งนั้นนี้ทำให้มันช้าหน่อย อย่าให้มันผลุนผลันออกไป เราไหวตัวในเรื่องนี้ให้เร็วในเมื่อมันมา เข้ามา แต่ว่าที่จะกลับออกไปนั้นต้องให้มันถูกต้อง มันต้องมีช้าพอสมควร ไอ้นิทานสอนเด็ก เรื่องนับสิบเสียก่อน แล้วจึงจะค่อยพูดหรือค่อยไปนั้น มันเป็นหลักเกณฑ์อย่างเดียวกัน เมื่อเราถือหลักอย่างนี้ก็สามารถจะควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้ อย่าให้มันเกิดการบกพร่องรั่วไหลเข้ามาทางนั้น สิ่งเหล่านี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งก็เรียกว่า ทวาร
คำว่า ทวาร นั้นก็คือ ประตู แปลว่า ประตู ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้เป็นประตูที่ไหลเข้า ไหลออก ของอารมณ์และความคิด อารมณ์เข้ามาทั้งจากข้างนอกเข้ามา และความคิดของเราออกไปข้างนอก เป็นที่เข้า-ที่ออกของไอ้สิ่งเหล่านี้ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทวาร ทีนี้ ถ้าควบคุมไอ้ประตูหรือ ทวาร นี้ไม่ดีนั้น ก็นึกดูเอาเองก็แล้วกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น ชื่อที่ลึกออกไป สูงออกไปก็มีชื่ออีกเรียกว่า อายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่า อายตนะ
อายตนะ นั้นมันเป็นสิ่งที่ทำหน้าที่กระทบ เป็นที่สำหรับการกระทบ และ Contact คืออะไร? ตรงนั้นมันต้องมีการกระทบระหว่างของ ๒ อย่าง ถ้าเอาความหมายอย่างนี้เขาเรียกว่า อายตนะ ที่ตานั้นเป็นที่ที่รูปข้างนอกกับความรู้สึกทางตาหรือตาข้างในนี้จะกระทบกัน ฉะนั้น ตานั้นจึงเป็น อายตนะ เพราะฉะนั้น สิ่งทั้ง ๖ นี้มีชื่อเรียกต่างๆกันแล้วแต่จะไปเพ่งถึงหน้าที่ หรือว่าคุณสมบัติ หรืออะไร ที่เรียกว่า อินทรีย์ ก็เพราะมีความสำคัญมาก เรียกว่า ทวาร เพราะมันเป็นที่เข้า-ที่ออกของของดีหรือชั่ว ของคุณหรือโทษ เรียกว่า อายตนะ มันตรงที่จะเกิดเรื่อง มีการกระทบระหว่าง อายตนะ ข้างนอกกับ อายตนะ ข้างใน เกิด วิญญาณ ขึ้น เกิด ผัสสะ เกิด เวทนา นี้จะเกิด ตัณหา จะเกิด อุปาทาน จะเกิด ภพ เกิด ชาติ แล้วจะเกิด ทุกข์ นี่ คำว่า อายตนะ มีความหมายอย่างนี้
ความรู้เบื้องต้นอย่างนี้พระบวชใหม่ควรจะทราบ เพื่อผลดีในการที่จะสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่จริงจะไม่รู้จักชื่อสิ่งเหล่านี้ก็ได้ ถ้าถือหลักแต่ว่าจะสำรวมมันก็ใช้ได้เหมือนกัน แต่ถ้ารู้มันก็จะดีกว่า จะง่ายขึ้นจะดีกว่า คนสมัยก่อนบวชแล้วก็ไม่ได้รู้เรื่องนี้ คำเหล่านี้ แต่ก็สำรวมดีเหมือนกัน เพราะมีความจริงใจ ทีนี้ เราก็มีความจริงใจด้วย และมีความรู้เรื่องนี้ด้วยจะทำได้ดีกว่า ที่จริง ฆราวาส ก็ต้องมีไอ้การสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ แต่เขาก็ไม่ค่อยพูดถึงกัน ยอมรับความเสียหาย ยอมรับอะไรระคนปนกันไป เรื่องสนุกกับเรื่องความทุกข์นี้มันระคนปนกันไป โดยเขาจะถือว่าไอ้ความสนุกนี้ต้องซื้อเอาด้วยความทุกข์ มันถูกของฆราวาส ของ พระ ใช้ไม่ได้ เดี๋ยวนี้เรามาเป็นพระประพฤติ ประพฤติพรหมจรรย์ก็เพื่อจะแก้ไขส่วนนี้ ไม่ต้องซื้อความสนุกด้วยความทุกข์ ต้องการความบริสุทธิ์ ทีนี้ ทางมาแห่งความไม่บริสุทธิ์ก็คือไอ้พวกเหล่านี้ ทวาร เหล่านี้ สำรวมเอาไว้ได้ มันก็ไม่มีความไม่บริสุทธิ์ หรือความทุกข์ ก็มีแต่ความบริสุทธิ์ คือ ความไม่ทุกข์ ฆราวาส ก็ตามใจเขา แต่ถ้าเป็นบรรพชิต นี่ต้องถือหลักอย่างนี้ เรียกว่า สำรวมอินทรีย์ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ต่อมาจาก สำรวมในปาฏิโมกข์ ก็หมายถึง สำรวม อินทรีย์
ทีนี้ ข้อถัดไปอยากจะระบุว่า ให้ได้แก่สิ่งที่เรียกว่า หิริ และ โอตตัปปะ
หิริ คือ ความละอาย
โอตตัปปะ คือ ความกลัว
ถ้าเราไม่มีความละอาย-ไม่มีความกลัวแล้วมันจะสำรวมสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ เพราะเราไม่กลัว ไม่กลัวความทุกข์ เพราะเราไม่ละอายใครจะติเตียน หรือไม่ละอายความผิด ความเลวอะไรเราไม่ละอาย ขอให้ไปดูเถอะ ไอ้ในเรื่องทั้งหลายในโลกนี้มันทำในสิ่งที่ไม่ควรทำเยอะ ก็เพราะไม่มี หิริ และ โอตตัปปะ คือ ไม่ละอายและไม่กลัว เรื่องนี้เป็นรากฐานตั้งแต่เบื้องต่ำที่สุดจนไปถึงที่สุดนั้น ตั้งแต่เรื่องในบ้าน-ในเรือน เรื่องไม่ใช่ ไม่ใช่หลักธรรมะอะไรก็อยู่ที่นี่แหละ ที่ๆความละอาย-ความกลัวนี้จะช่วยให้มันเรียบร้อยอยู่ได้ กระทั่งมาปฏิบัติธรรมะ กระทั่งจะไปนิพพานนี้ก็ต้องอาศัยความกลัวต่อความทุกข์ ละเอียดยิ่งขึ้นทุกที ละอายแก่ใจเองเมื่อทำผิดพลาด มีความทุกข์เกิดขึ้นไม่มีใครรู้ ก็ละอายแก่ตัวเองเหลือประมาณ เด็กๆเขาไม่ทำอะไรให้มันผิดพลาด หกล้ม อย่างหกล้ม ถ้าหกล้มเอาละอาย เขากลัวเจ็บด้วย นั่นแหละความหมายของ หิริ และ โอตตัปปะ มันตั้งต้นที่นั่น ถ้าหกล้มก็ละอายเพื่อนฝูงทั้งหลาย แล้วมันก็เจ็บด้วย ความหมายของละอายและกลัวอยู่ที่นี่
ทีนี้ ก็ขึ้นมาถึงเรื่องศีลธรรม ยังมีความละอายอย่างเดียวกัน ความกลัวอย่างเดียวกัน ขึ้นมาถึงเรื่องปรมัตถ์ธรรม เรื่อง กิเลส อันลึกซึ้ง ก็ยังอาศัยไอ้ของ ๒ อย่างนี้ ในเรื่องศีลธรรมถ้ามี หิริ โอตตัปปะ - มันทำไม่ได้ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม นี้มันทำไม่ได้ เรื่อง ปรมัตถ์ธรรม ที่จะปล่อยให้ไอ้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความคิดมั่น-ถือมั่นเกิดนี้ก็ทำไม่ได้เหมือนกัน ต้องใช้ หิริ และ โอตตัปปะ นี้เป็นเครื่องช่วยสนับสนุน คือ เป็นรากฐานอยู่ เป็นรากฐานที่สำคัญอยู่ ไม่สำรวมวินัยได้ก็เพราะไม่มี หิริ โอตตัปปะ ไม่ระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เพราะขาด หิริ โอตตัปปะ อยู่นี่เอง พอมีไอ้นี้ก็มี อันนี้เขาเรียกว่า รากฐาน มีการสำรวมได้ดีเพราะมี หิริ และ โอตตัปปะ เพราะฉะนั้น เราต้องทำให้มันถี่ยิบเข้าไว้ ความละอายและความกลัวนี้ให้มันมีในทุกกรณี ให้มันถี่ยิบเข้าไว้ คือ อย่าประมาท ให้มันเหมือนกับตะแกรงที่ตามันถี่ยิบ ไม่ให้มีอะไรมันรั่วไปได้ง่ายๆ แล้วสิ่งต่างๆจะจะดีขึ้นได้โดยง่าย จะง่ายขึ้นด้วย จะทำได้ง่ายขึ้นด้วยในการที่จะทำให้ดี
เดี๋ยวนี้โลกทั้งโลกกำลัง เสื่อม และ ถอย เสื่อม ก็เพราะอย่างเหตุอย่างเดียวกันอีกแล้ว คือ ไปหลงใหลในวัตถุ นิยมความเอร็ดอร่อยทางเนื้อทางหนัง ก็ทำให้ หิริ โอตตัปปะ สิ้นไป สิ้นไป สิ้นไป ซึ่งเดี๋ยวนี้การเปลือยกายจะไม่มีความหมายเป็นการเปลือยกายแล้วนี่ ยิ่งข่าววิทยุว่ามหาวิทยาลัยไหนต้อนรับน้องใหม่กัน โดยจับนิสิต น้องใหม่ที่เป็นผู้หญิงเปลือยกาย เท็จจริงอย่างไรก็ไม่รู้ แต่วิทยุมี นี่ ไปถึงขนาดนี้ ไอ้เรื่องอนาจารมันก็กลายเป็นไม่มีไป กลายเป็นไม่ใช่อนาจารไป มันก็ค่อยๆเข้ามาทีละนิด ทีละนิด การแต่งกายของสตรีแล้วเรื่องที่เสียหายอย่างอื่นก็พลอยตามหลังมา กลายเป็นไม่ผิดบ้าง ไปยกเลิกศีลข้อ กาเมสุมิจฉาจาร และข้ออื่นๆที่คล้ายกัน นี่คือ ผลของการที่ว่าไม่มี หิริ และ โอตตัปปะ ขอให้นึกเกี่ยวกับข้อนี้ ขอให้นึกถึง ปัจจเวกขณ์ ของเรา ที่ ปัจจเวกขณ์ อยู่ทุกวัน เช่น จีวร ห่มจีวรนี้ก็ไม่ใช่เพื่อนั่น เพื่อนี่อะไร เพื่อจะป้องกัน เพื่อจะปกปิดอวัยวะ อันจะทำความละอายให้กำเริบนี้ ทำ หิริ ให้เสียไป ถ้าเราไม่นุ่งผ้าแล้วก็แปลว่าเราไม่ละอาย นี่เรานุ่งผ้าเพื่อจะป้องกันในข้อนี้ก็ยังมีรู้สึกละอายอยู่ หิริโกปินปฏิจฺฉาทนตฺถํ สิ่งที่ทำให้ หิริ กำเริบจะปกปิดไว้ แล้วจึงห่มจีวรอย่างที่เราห่มนั้น นุ่งห่มปกปิดร่างกายอย่างที่เราห่มนี้ ทีนี้ ไอ้ผู้นำในด้านนี้ก็คือพวกฝรั่งนั้น เขาค่อยๆเปิดมัน เปิดมัน เปิดมันจนจะไม่ต้องปิดกันแล้วทีนี้ แล้วมันไม่ได้อยู่ที่ตรงนั้นหรอก มันอยู่ที่จิตใจเลวลง เลวลง มันไม่ได้อยู่ที่ร่างกายถูกเปิด แต่มันอยู่ที่จิตใจเลวลง เลวลง แต่เขาก็ว่าดี ว่าดี ว่าไม่ต้องลำบาก ไม่ต้องยึดถือ นั่นแหละ วิญญาณ ของฮิปปี้ พวกฝรั่งเมื่อก่อนเขาก็ปิดกายมากกว่าพวกฝ่ายตะวันออกนะ ทั้งหญิงทั้งชาย ดูไอ้รูปภาพเก่าๆเกินกว่า ๑๐๐ ปีผู้หญิงเขาแต่งตัวกันอย่างไร และเดี๋ยวนี้เขาแต่งตัวกันอย่างไร แล้วพวกตะวันออกไปตามเขา มันก็เลยหมดไอ้สิ่งที่เคยดี เพราะฉะนั้น หิริ โอตตัปปะ ก็เสียไป เสียไป เรากำลังเดือดร้อนก็ข้อนี้ เรื่องอันธพาล เรื่องเด็กหนุ่มไม่อยู่ในระเบียบวินัย มีมูลมาจากข้อนี้ กี่ชนิด กี่ชนิด กี่ร้อยชนิดก็มีมูลมาจากข้อนี้ เพราะมันขาด หิริ และ โอตตัปปะ
ในฐานะที่เป็น บรรพชิต จะต้องทำอย่างดีที่สุดนะ สุดความสามารถเลยไม่เช่นนั้นไม่เป็น พระ นี่ อย่าทำเล่นไป คำ ๒ คำนี้ หิริ และ โอตตัปปะ เมื่อเด็กๆแม่บอกให้สวดทุกคืน ไอ้เราเด็กๆจะต้องสวดมนต์ว่า หิริโอตตัปปะสัมปันนา สุกกะธัมมะสะมาหิตา. สันโต สัปปุริสา โลเก เทวะธัมมาติ วุจจะเร ฯ นี้ ทีแรกก็ไม่รู้อะไร ก็สวดไปอย่างนั้น เดี๋ยวนี้ก็ยังจำได้ว่ามันสวดไปทั้งที่ไม่รู้ว่าอะไร ที่เขาบอกว่า หิริ โอตตัปปะ นี้เป็น เทวะธรรม เป็นธรรมะสูงสุด ถ้าเด็กๆเข้าใจกันอย่างนี้และถือกันมาอย่างนี้ก็ดีนะ หิริโอตตัปปะ สัมปันนา ..................สุกกา ธัมมา สะมาหิตา (นาที่ที่ 44:46) นี่ ถึงพร้อมด้วยธรรมะอันขาวสะอาด สันโต เป็น สัตตบุรุษ / สัปปุริสา สัปปุริสา เป็น สัตตะบุรุษ ผู้สงบระงับ นี่เขาเรียกว่า เทวะธัมมาติ วุจจะเร นี่คือ เทวะธรรม แล้ว ถ้าโลกมีสิ่งนี้สิ่งเดียวเท่านั้น ก็มีสันติภาพถาวร นี่คือความหมายของคำว่า หิริ และ โอตตัปปะ
ทีนี้เรื่องที่ ๔ ก็อยากจะพูดย้ำในเรื่อง สติ - สัมปชัญญะ / สติ สัมปชัญญะ นั้นโดยหลักทั่วไปคือ สติ ในทุกสิ่งในทุกเวลา สติ ต้องมีในทุกสิ่ง ในทุกเวลา ในทุกสถานที่ จะใช้คำไหนก็ตามแต่ แต่ที่สำคัญที่สุด ก็ในเรื่องที่มันเกี่ยวข้องอยู่กับเราเป็นประจำวัน เรื่องกิน เรื่องอยู่ เรื่องนุ่ง เรื่องห่ม เรื่องเจ็บ เรื่องไข้ เรื่องไอ้ที่มันเกี่ยวข้องก็อยู่กับเรานั้น ภิกษุ จึง ปัจจเวกขณ์ ไง ปัจจัย ๔ มี จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัช มี สติ อยู่เสมอเพราะฉะนั้น เมื่อยังเป็นพระจะให้เป็น พระ มากๆก็ต้องมี สติ มากในสิ่งที่มันมาเกี่ยวข้องกับเราโดยตรงนี้ เอาหลักที่ว่ามันกำลังมาเกี่ยวข้องอยู่กับเราโดยตรง จึงต้องมี สติ กับมันในที่ทุกหน ทุกแห่ง ทุกเวลา ทุกเมื่อ ในทุกสิ่ง ทุกเวลา และก็ทุกหน-ทุกแห่ง เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ต้องมี สติ แล้วหลักเกณฑ์อย่างนี้ก็เอาไปใช้ได้ที่บ้านอีกนะ ไม่ต้องสงสัยไม่มีปัญหาอะไร แต่เดี๋ยวนี้ความเป็น พระ นั้นเขาถือว่าเหมือนกับว่าในระดับสูง เหมือนกับเพชร กับพลอย เหมือนกับทองคำนี้ ไม่อยากให้มันเศร้าหมอง ให้ถนอมไอ้ความมีค่าของมัน เหมือนเขาถนอมเพชร พลอย ทอง ชมพูนุชอะไร เขาใช้คำนี้ไอ้ทองชั้นดีที่สุด นี่ เราเป็น พระ จะถนอมความเป็น พระ ในลักษณะอย่างนั้น ก็โดยอาศัย สติ / สัมปชัญญะ สติ -ความระลึก สัมปชัญญะ -ความรู้ตัว เขียนอยู่ใน นวโกวาท นั้น ไปอ่านดู พอระลึกได้แล้วมันต้องคงอยู่ ถ้าไม่อย่างนั้นมันหายไปอีกได้ นี่ ถ้าให้ถูกกว่านั้น สัมปชัญญะ คือ ความรู้ ความรู้ที่เราเคยรู้มา มันขึ้นมา มันถูกดึงมาใช้ได้ด้วยอำนาจของ สติ ทีนี้ ถ้ามันแยกกันอยู่ก็ไม่ต้องได้ประโยชน์เลย แต่ในกรณีทั่วๆไป คำว่า สติ ก็รวม สัมปชัญญะ ไว้ด้วยเสร็จ จึงไม่ค่อยจะพูดคำหลัง พูดคำหน้าคือคำว่า สติ ก็พอ เมื่อพูดว่า สติ แล้วขอให้ถือว่ามี สัมปชัญญะ รวมอยู่ในนั้นด้วย ถ้าจะพูดเต็มคำก็ให้ว่า สติ สัมปชัญญะ จะพูดย่อก็ว่า สติ สติ คือ ความรู้ที่วิ่งมาทันท่วงทีในเรื่องที่มันเกิดขึ้น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น นี่ ทีนี้ เราจะต้องมี สติ อยู่ตลอดเวลา เพราะคนเรามันมีเรื่องอยู่ตลอดเวลาก็ว่าได้ เรื่องป้องกัน เรื่องรักษา เรื่องต่อสู้ เรื่องมันมีทุกเวลา ฉะนั้น จึงมีว่าพุทธภาษิต หรือธรรมภาษิต หรืออะไรภาษิต ตรงกันหมดก็ว่า สติ นี้ต้องใช้ คือ ต้องมี และต้องใช้ในที่ทั้งปวง ในทุกกรณี ไปทดสอบดูถึงความที่เราไม่มี สติ มาช้าบ้าง สัมปชัญญะ ไม่พอบ้าง และต้องเสียใจทีหลังเพราะเหตุนี้ ไม่ใช่จะไม่รู้แต่ว่าความรู้มันไม่มาทัน เพราะมันไม่มี สติ หรือมันเหมือนกับไม่รู้ ความรู้ที่มันนึกไม่ได้ มันก็เหมือนกับว่าไม่รู้ นี่ คือโทษที่มันขาด สติ พูดกันแต่หัวข้อก็พอจะได้ เพราะว่าเรานี้พูดหลาย หลายเรื่อง พูดแต่เท้าความ รายละเอียดไปหาอ่านได้จากหนังสืออื่นข้างหน้า
ทีนี้ ข้อถัดไปอันที่ ๕ นี้เรียกว่า ขันตี ขันตี แปลว่า ความอดทน มีความหมายสำคัญว่า ขันตี พลัง วะยตีนัง. ขันตี นั่นแหละ เป็นกำลังของผู้สำรวม คือ ผู้บำเพ็ญพรตในการสำรวม ตรงนี้อยากจะเล่านิดหน่อยถึงคำว่า ยตี ยตี ยตีนัง และของ ยตี ทั้งหลาย เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยได้ยินนะคำว่า ยติ ไปมีแต่หนังสือเก่าๆ หรือว่าไอ้คำที่มันเป็นระเบียบเกินไป มันเป็นภาษาอินเดียใต้ ใช้อยู่ในอินเดียใต้ เรียกนักบวชทั้งหลายว่า ยตี ยติ ยติ กิริยารากศัพท์แปลว่า ผู้สำรวมระวัง เดี๋ยวนี้เห็นใช้อยู่ในสัญญาบัตรตราตั้งบ่อยๆ ยติคณิศร อย่างชื่อผมนี่ก็มี ราชชัยกวี สมาทินตรี พนาธิปัต โมกขพลวัตธรรมสุนทร ยติคณิสสรบวรสังฆารามคามวาสี ...(นาทีที่ 52.34)…. ยติคณิสสรบวรสังฆารามคามวาสี คำว่า ยติคณิศร หัวหน้าของ ยติ / ยติ ในที่นี้หมายถึง บรรพชิต คือ พระ เป็นภาษาอินเดียใต้ใช้ทั่วไป พวกพราหมณ์มาจากอินเดียใต้มาสอนภาษาไทย มาสอนคนไทยเราเลยคำๆนี้ติดอยู่ในภาษาชั้นสูง คือ ภาษาสันสกฤต หรือภาษาที่เนื่องมาจากสันสกฤต ทีนี้ บาลีมีว่า ขันติ พลัง วยะ ตีนัง – ขันติ – ความอดทนเป็นกำลังของ ยตี ทั้งหลาย ของ ยติ ทั้งหลาย ยติ คือ คำๆนี้ถ้าพูดก็เป็น พรต ในอินเดียเขา คล้ายเป็นคำกลาง กว้าง ผู้ที่จะบำเพ็ญพรต อย่างที่ว่ามาแล้วแต่ต้น เพื่อจะให้มีอะไรบริสุทธิ์ หมดจด สะอาดนี้ ต้องมีความอดทนเป็นเบื้องหน้า ถ้าไม่มีความอดทนแล้วมันล้มละลายแหละ เขาเรียกอย่างล้อๆว่า ขันแตก นี่มันเป็นภาษาไทยเอามาล้อ ขันติ เป็นภาษาบาลีแปลว่า ความอดทน ไอ้ขันแตกนี่หมายความว่าไอ้ขันตักน้ำมันแตก ตีจนแตก ไม่มีความอดทน ขาดความอดทน พรหมจรรย์ล้มละลาย อดทนต่ออะไร? อดทนต่อสิ่งที่บีบคั้น และสิ่งที่บีบคั้นที่สุดไม่มีอะไรยิ่งไปกว่าการบีบคั้นของ กิเลส ไปมัวสอนกันแต่ว่าทนหนาว ทนร้อน ทนแดด ทนเจ็บปวด ทนอะไรมันเรื่องเด็กอมมือเท่านั้นแหละ เพราะเด็กๆมันก็อดทนได้ ทนหนาว ทนร้อน เด็กๆอดทนได้ ทนแดด ทนฝน ทนอะไรต่างๆ ทนถูกเฆี่ยนยังทนได้-ทนเก่ง เพราะฉะนั้น ความอดทนที่แท้ คือ ทนต่อการบีบคั้นของ กิเลส นี่ ทนยาก บีบคั้นไปทาง ราคะ โทสะ โมหะ ในที่สุดมันจะบีบคั้นให้ไปดูหนัง ดูละคร นี่ก็ยากที่จะทนแล้ว ดังนั้น เราต้องสมัครอดทน จะเจ็บปวดก็ต้องอดทน ทนเจ็บ ทนปวด มันจึงจะว่าทนได้ เพราะมันบีบคั้นมาก มันเหมือนกับเผา เหมือนกับจี้ด้วยไฟด้วยอะไร มันจี้ มันเผาหัวใจนี้ เมื่อ ราคะเกิดขึ้น ทีนี้เราก็ทน ทนเหมือนกับเผาหัวใจ แต่ก็ต้องทนได้ แล้วก็หาวิธีระบายหรือวิธีแก้ไขอย่างอื่นให้มันทนได้ก็แล้วกัน เป็นเรื่องที่ต้องทนไปตั้งแต่เรื่องเล็กที่สุดไปจนเรื่องใหญ่ที่สุด คือ บีบคั้นของ กิเลส นี้ ทนหนาว ทนร้อน ทนยุงกัด ทนอะไรต่างๆ ก็ทนได้ ทนหิวกระหายก็ให้ทนได้ ทนที่ยากขึ้นไปอีก ถึงขนาดกลาง คือว่า ทนความสบประมาท ให้ทนต่อความบีบคั้นธรรมชาติ เช่น หนาว เช่น ร้อนนี้ เรียกว่า ระดับต่ำที่สุดเลย ที่สูงขึ้นไปตรงกลาง คือ ทนต่อการสบประมาท และสูงสุด คือ ทนต่อการบีบคั้นของ กิเลส แต่ถ้าว่ากันอย่างเอาเปรียบ ก็มีส่วนถูกว่าทั้งหมดเป็นการอดทน การบีบคั้นของ กิเลส ทนยุงกัด ทนแดด ทนฝนนี่ก็เถอะ กิเลส ต้องการให้หนีไปเสีย หนีแดด หนีฝนไปเสีย ไอ้เราไม่หนี เราจะทนทำงาน นี่ ก็เรียกว่า ทนต่อการบีบคั้นของ กิเลส ทนแดด ทนฝนอยู่กลางไร่ กลางนานี้ก็ทนต่อการบีบคั้นของ กิเลส ที่มาบอกว่าไปเสียเถอะ อย่าทำเลย ที่เขาหยามน้ำหน้า เขาสบประมาทนี้ยากที่จะทนได้ กิเลส มันพลุ่งขึ้นมาออกรับ ต่อสู้ มันต้องอดทนต่อการพลุ่งของ กิเลส จึงทนอยู่ได้ ไม่โกรธตอบ ไม่ตีตอบ ไม่อะไร ไม่ทะลุแก่ โทสะ ที่เขาสบประมาทนี้ ทีนี้ ไม่มีใครสบประมาทแล้วอยู่ตัวคนเดียว ที่เงียบๆเสียด้วย ความบีบคั้นของ กิเลส นั้นหลายชนิด เช่น ราคะ ทำให้นอนไม่หลับ ก็ต้องต่อสู้ด้วยการอดทน ด้วยวิธี ด้วยอุบายที่ฉลาด ให้มันทนได้ ให้มันผ่านไปได้ จนชนะได้ในที่สุด นี่คือ กำลังของ ผู้บำเพ็ญพรต แล้วเราจะเป็น พระ ได้มากเท่าไรก็อยู่ที่ว่าเราอดทนได้มากหรือน้อย ยิ่งมีภาระหน้าที่มาก ยิ่งเป็นครูบาอาจารย์ยิ่งต้องอดทนมาก ยิ่งเป็นผู้บังคับบัญชาเขามากเท่าไร ต้องยิ่งเป็นผู้อดทนมากเท่านั้น ไม่อย่างนั้นล้มละลายหมด ไปสังเกตดูเถิด ไม่ใช่ว่าเป็นนายเขาแล้วจะไม่ต้องอดทน จะไปบีบคั้นเอาแต่ผู้น้อยได้ ยิ่งเป็นอาจารย์ ยิ่งเป็นนาย ยิ่งเป็นอะไรๆ ยิ่งจะต้องอดทน ไม่เช่นนั้นล้มละลาย เพราะมันมีแต่คนที่จะทำให้ทนไม่ไหว มีเรื่องยั่ว เรื่องรบกวนความรู้สึกอะไรต่างๆสารพัดอย่าง ยิ่งเป็นอาจารย์ก็ยิ่งมีลูกศิษย์ที่ทำให้เกิดโกรธ เกิด กิเลส มาก ยิ่งเป็นผู้บังคับบัญชา คนมากเข้าไปเท่าไร ก็ต้องเผชิญสิ่งนี้มากเกินกว่าธรรมดา ถ้าอดทนไม่ได้ไม่เท่าไรก็หกคะเมน นี่ เรียกว่า ขันตี เป็นกำลังใจที่จะต่อสู้ของ ผู้บำเพ็ญพรต ทั้งหลาย
อันสุดท้ายนี่ก็ การบังคับตัวเอง มีสุภาษิตว่า ผู้บังคับตัวเองได้เป็นยอดมนุษย์ ขันโต เศรษโฐ มนุสเสสุ.
ขันโต แปลว่า ผู้บังคับตัวเองได้
เศรษโฐ คือ ประเสริฐที่สุด เลิศที่สุด ยอดที่สุด
มนุสเสสุ ในหมู่มนุษย์
แปลตามภาษาธรรมดาง่ายๆก็แปลว่า คนที่บังคับตัวเองได้ เป็นยอดมนุษย์ ทีนี้ คุณก็ไปดูว่าใครบังคับตัวเองได้กี่คน ไอ้เรื่องแรกที่สุดก็คือ เรื่อง โกรธ ไม่ โกรธ-บังคับตัวเองได้ แล้วก็ไม่ โลภ หรือว่า ไม่บ้า กาม นี่ก็บังคับตัวเองได้ ส่วนไม่มี โมหะ ไม่มี อวิชชา นั้นยากมาก นั้นเป็นการบังคับชนิดที่มองไม่เห็น รวมความว่า การบังคับตัวเองนี่ก็คล้ายๆกันกับ ขันตี ที่แล้วมา มันแบ่งเป็น ๒ แผนกได้ บังคับตัวเองในกรณีที่มันมีบุรุษที่ ๒-๓ มาเกี่ยวข้อง คือ ผู้อื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ขันตี คือ บังคับตัวเองในเมื่อในจิตใจภายในล้วนๆไม่มีใครเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องบังคับได้
คำว่า ธรรมะ ที่แท้มันแปลว่า ฝึก ฝึก ฝึก ก็คือ บังคับ จะมีการฝึกอะไร-ต้องบังคับสิ่งนั้น จะฝึกจิต-ก็ต้องบังคับจิต จะฝึกสุนัขหรือแมวหรืออะไร-ก็ต้องบังคับสุนัข มันต้องบังคับโดยอุบายอันใดอันหนึ่งมันจึงจะฝึกไปได้ อย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น เพราะฉะนั้น จะบังคับจิต จะฝึกจิต-ต้องบังคับจิต แล้วมันเป็นเรื่องเดียวกัน ปุริสะธรรมะสาระถิ เป็น ไวพจน์ ที่ใช้เรียกพระพุทธเจ้า เป็น สารถี ผู้ฝึก บุรุษ ไม่มี สารถี อื่นยิ่งกว่า คือ ท่านฝึกหรือบังคับคน ทั้งเทวดา ทั้งมนุษย์ สัตว์นี้ให้ไปตามครรลองของธรรมะ ไม่มี สารถี อื่นยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า เป็น สารถี ฝึกคน ท่านฝึกได้เพราะท่านฝึกตัวเองเสร็จแล้ว เป็น ทันโต คือ ตัวเองฝึกตัวเองแล้ว เป็นยอดคนแล้วจึงไปฝึกคนอื่นได้ ฉะนั้น ผู้ใดมีหน้าที่จะไปฝึกคนอื่น ไปบังคับคนอื่น ไปควบคุมคนอื่น จงทำแก่ตัวเองให้ได้เสียก่อน ควบคุมตัวเอง ฝึกตัวเองอะไรได้แล้วมันก็จะฝึกคนอื่นได้ ชนะตัวเองได้แล้วก็ชนะคนอื่นได้ นี่ เป็นหลักพุทธศาสนาให้จัดการกับตัวเอง ตัวเองต้องทำได้ก่อนจึงจะไปให้คนอื่นทำได้ นี่ ยิ่งเห็นได้ชัดว่าทำได้เท่าไรก็ยิ่งเป็น พระ มากเท่านั้น ชนะตัวเองได้ ฝึกตัวเองได้ บังคับตัวเองได้เท่าไรเป็น พระ มากเท่านั้น นี่ สำรวม ปาฏิโมกข์ สำรวม อินทรีย์ มี หิริ โอตตัปปะ มี สติ สัมปชัญญะ มีความอดกลั้นอดทน มีการบังคับตนก็พอแล้ว อะไรมันก็จะมารวมอยู่ในนี้ จะขยายออกไปก็ได้ จะลดไปอีกก็ได้ นี่ พูดพอให้มันสังเกตเห็นง่ายๆ และจำไว้ได้ง่ายๆ เราบวชในเวลาอันสั้นพยายามเป็น พระ ให้มากที่สุดเข้าไว้ในลักษณะอย่างนี้ คือ ประเภทแรก คือ ให้มันไกลมาเสียจากความเป็น ฆราวาส ถ้าประเภทหลัง ก็คือ ให้ใกล้เข้าไปในการเป็น บรรพชิต ก็เลยได้เป็น พระ มาก และก็ไม่มีอะไรดีกว่านี้ในการที่มาบวช บวชชนิดไหนก็ตาม ชนิดชั่วคราวหรือชนิดถาวร ไม่มีอะไรดีกว่านี้ ดีกว่าความเป็น พระ ให้มากเข้าไว้ สุดความสามารถของตน ให้น่าดูด้วย คือ สำเร็จประโยชน์ด้วย แล้วก็น่าดูด้วย คือ สวยดีด้วย สำเร็จประโยชน์อย่างเดียวก็ยังไม่ค่อยดีเท่าไร ต้องให้น่าดูด้วย
นี่ ในเรื่องเป็น พระ ให้มากเข้าไว้ได้อย่างไรก็พอกันที