แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๑๔ สำหรับพวกเราที่นี่ ล่วงมาถึงเวลาสี่สามสิบนอแล้ว เป็นเวลาที่ได้ กำหนดไว้ สำหรับการพูดกันเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับปัญหานานาชนิดที่จะเกิดขึ้นแก่ธรรมทูต และก็โดย เฉพาะอย่างยิ่ง คือธรรมทูตที่จะออกไปในต่างประเทศ ในครั้งที่แล้วมา เราพูดกันโดยหัวข้อว่า ปัญหาที่เผชิญหน้าธรรมทูตในการเผยแผ่ ได้พูดกันถึงข้อที่ว่า โลกในปัจจุบัน มีอะไรมากมายหลายอย่าง ที่มันเป็นข้าศึกขัดขวางการปฏิบัติงานของพวกธรรมทูตที่จะเผยแผ่พุทธศาสนา หรือศาสนาใดก็ตาม มันมี เพราะมันมีอะไรไขว้กันอยู่ ทีนี้เราจะแก้ปัญหาข้อนี้ โดยวิธีที่มองกันให้เห็นในทุกแง่ทุกมุม ของสิ่งที่เราจะนำไปเผยแผ่ และของผู้ที่จะรับเอา วันนี้จะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า พุทธศาสนาอยู่ในฐานะที่จะเป็นอะไรได้บ้าง ใจความสำคัญในข้อนี้ก็มีอยู่ว่า สิ่งต่างๆในโลกนี้ ไม่ว่าอะไร อาจจะมองดูได้ในหลายแง่หลายมุม แม้แต่ภูเขาสักลูกหนึ่ง เราดูทางทิศเหนือทิศใต้ทิศตะวันออกทิศตะวันตก มันก็มีรูปร่างต่างกัน แม้จะดูในทิศทั้งแปด ทิศทั้งสิบ อะไรมันก็มีรูปร่างต่างกัน ดูจากข้างบนมันก็มีรูปร่างอย่างหนึ่ง แล้วถ้าหากว่ามันเป็นไปได้ ที่เราจะดูจากทางใต้ ทางข้างล่างของภูเขา มันก็จะต้องมีรูปร่างปรากฎอีกอย่างหนึ่ง ฉะนั้นสิ่งต่างๆ จึงมีแง่มีมุมที่ไม่เหมือนกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไอ้สิ่งที่เรียกว่าชีวิตนั่นเอง มันก็มีมากแง่มากมุม ในทางร่างกายมันก็มีมากแง่มากมุม ในทางจิตทางวิญญาณมันก็ยังมีมากแง่มากมุม นี่รวมความว่า สิ่งทั้งหลายมันมีมากแง่มากมุม ดังนั้นมันก็ต้องมีสักแง่หนึ่งมุมหนึ่งที่เหมาะสมที่สุด ของสิ่งที่เราจะเอาไปให้เขา หรือว่าของเขา ซึ่งจะเป็นผู้ที่รับเอา ดังนั้นเราจึงต้องพูดกันถึงเรื่องนี้ เพื่อให้รู้ว่า เขากำลังนิยมกันอยู่อย่างไร กำลังพอใจกันอยู่อย่างไร กำลังสนใจกันอยู่อย่างไร ทีนี้อีกทางหนึ่งก็ว่า เขามีพื้นเพ อุปนิสัย อินทรีย์ เป็นต้น กันในแง่ไหน ถ้าเรารอบรู้ในสิ่งเหล่านี้ การเผยแผ่ธรรมะหรือการหยิบยื่นให้ ซึ่งธรรมะแก่คนเหล่านั้น มันคงจะง่ายกันบ้าง เพราะฉะนั้นเราจะดูกันในทุกแง่ทุกมุม ถ้าเราจะดูกันที่มนุษย์ทั่วๆไป เราจะพบว่ามนุษย์นี่อยู่ได้ด้วยปัจจัยหลายอย่างหลายทางด้วยกัน ในคราวเดียวกัน การที่เรามีชีวิตอยู่ได้ ในเวลานี้ในนาทีนี้ มันก็มีปัจจัยหลายอย่างหลายทาง ที่กำลังช่วยส่งเสริม ปรุงแต่ง สนับสนุนอยู่ มันจึงมีชีวิตอยู่ได้ หรือมีใจคอเป็นอย่างนี้ ถ้าเราจะมองดูโดยหลักการ หรือว่าโดยเค้าโครงใหญ่ๆ มันมีปัญหาทางร่างกาย แล้วก็มีปัญหาทางสังคม มีปัญหาทางจิต มีปัญหาทางวิญญาณ ซึ่งแต่ละอย่างละอย่างเหล่านั้นก็มีหลายแง่หลายมุม นี่พูดถึงมนุษย์ ที่จะเผยแผ่พุทธศาสนา หรือมนุษย์ที่จะรับเอาซึ่งพุทธศาสนานั้น ปัญหาทางร่างกายมันก็เรื่องกินเรื่องอยู่ เรื่องโรคภัยไข้เจ็บตามธรรมดาสามัญ เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องอะไรในครอบครัวนั้นๆ โดยบุคคล โดยส่วนตัวบุคคลคนหนึ่งๆ ทีนี้ก็มีปัญหาทางสังคม ที่อยู่กันมากคนเข้ามันก็มีความยุ่งยากลำบากอย่างอื่นเกิดขึ้น ที่เราเรียกกันว่าปัญหาสังคมในบัดนี้ ของประเทศไทยเราก็ดี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งของโลกทั้งโลก มันคอยแต่จะเป็นสังคมแห่งอันธพาล คือการเบียดเบียน นี้ทางภายนอกเป็นอย่างนี้ แล้วทางภายในก็ยังมีเรื่องจิตเรื่องวิญญาณ เรื่องจิตไม่ปกติ เรื่องวิญญาณไม่มีความสว่างไสวแจ่มแจ้ง มันก็ล้วนแต่เป็นปัญหาทั้งนั้น ทีนี้ที่พุทธ ทางฝ่ายพุทธศาสนา มันก็มีหลายแง่หลายมุม คงจะมีมุมที่เหมาะสมกันกับไอ้ตัวปัญหา พุทธศาสนานั้น ที่เรารู้กันรู้จักกันดีอยู่ ก็มีในส่วนที่เป็นปริยัติ เป็นปฏิบัติ และเป็นปฏิเวธ นี้เป็นหลักที่รับ นับถือกันอยู่ทั่วไป แล้วก็สำคัญอย่างยิ่งด้วย พุทธศาสนาในแง่ของปริยัตินั้น ขอให้มองกันให้กว้าง นับตั้งแต่การศึกษาเล่าเรียน ลงไปจนถึงสิ่งที่เรียนอยู่ ที่ใช้เป็นเครื่องเรียน เช่น พระคัมภีร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คัมภีร์พระไตรปิฎก ทีนี้ในพระไตรปิฎกนั้นก็มี อะไรที่จะมองดูได้มากแง่มากมุม มองในแง่คำสอนทางศาสนาก็ได้ แล้วก็มองในแง่ที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาก็ได้ เช่นมองในแง่ของอักษรศาสตร์ หรือบันทึกอะไรของมนุษย์ในโลก มีมากมายหลายอย่างซึ่งสงเคราะห์กันในคำว่าปริยัติ ทีนี้การปฏิบัติก็เหมือนกัน มันมีการกระทำเป็นชั้นๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ แล้วก็มีส่วนที่จำเป็นแก่ความดับทุกข์ แล้วก็ไม่จำเป็นแก่ความดับทุกข์ เป็นเพียงส่วนประกอบ กระทั่งส่วนเกิน นี่สำหรับปฏิเวธนั้น หมายถึงผลการปฏิบัติ ที่เป็นเรื่องโลกอยู่ในโลกนี้ก็ได้ เป็นเรื่องที่สูงไปกว่าโลก คือเรื่องทางธรรมก็ได้ มันยังมีมรรค มีผล มีนิพพาน มีอะไรเป็นชั้นๆ ไป ดูแล้วมันก็มากมาย นี่ เราจึงเอามาพิจารณา ดูกันบ้างว่าพุทธศาสนานั้น มีเหลี่ยมคูมากมาย แล้วมันอยู่ในฐานะที่จะเป็นอะไรได้บ้าง คือหัวข้อที่เราจะพูดกันในวันนี้ เพื่อว่าจะพบ ไอ้สิ่งที่ถูกตรงกับความประสงค์ของผู้ที่จะรับเอาพุทธศาสนา ในทุกประเภท ไอ้คำว่าในทุกประเภทนี่ ขอให้สนใจให้ดีๆ เมื่อถามว่าพุทธศาสนาอยู่ในฐานะที่เป็นอะไรได้บ้าง มันก็ตอบได้อย่างน้อย สักแปดอย่าง พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นพรหมจรรย์ และพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นปรัชญา พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นวิทยาศาสตร์ พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศิลปะ หรือสุนทรียวิทยา แล้วแต่จะเรียก พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นวัฒนธรรม พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นประวัติศาสตร์ หรือตัวอย่างในประวัติศาสตร์ พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นเป็นสติปัญญาของมนุษย์ แล้วพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นอนามัยวิทยาเป็นที่สุด นี้เรียกว่าต่ำสุด แล้วยังมีอะไรที่จะเป็นได้อีกมากมาย เอามาพูดให้หมดสิ้นมันก็ไม่หวาดไหว นี่เรามองดูกันในแง่ใหญ่ๆ อย่างน้อยก็มีสักแปดอย่าง อย่างนี้ ในทั้งแปดอย่างนี้ พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นพรหมจรรย์ หรือเป็นตัวศาสนานั้น สำคัญที่สุด หรือเป็นตัวใจความของเรื่อง ทีนี้อีกเจ็ดอย่างนอกนั้น เป็นส่วนประกอบ เป็นผลพลอยได้ เป็นของประดับประดาให้งดงาม เป็นต้น ทีนี้อย่าลืมว่ามนุษย์สมัยปัจจุบันนี่ มันเหมือนกับคนวิกลจริต ไปชอบส่วนที่เป็นผลพลอยได้ หรือเป็นของประดับให้งดงาม นี่ยิ่งกว่าไอ้ส่วนที่จะเป็นตัวชีวิตจิตใจ ไปดูสิ ไอ้ของที่มีขายอยู่ในตลาดนั้น คิดเทียบส่วนเป็นเปอร์เซ็นต์ดูจะพบว่า มีของที่เกินจำเป็น เกินจำเป็นกว่าที่ชีวิตต้องการ มันก็เลยเป็นเครื่องหรูหรา ฟุ่มเฟือย สวยงาม กระทั่งเรื่องมัวเมา ในเรื่องทางเนื้อทางหนัง เป็นภูตผีปีศาจไปเลย ทั้งคนหนุ่มคนสาว คนเฒ่าคนแก่ กำลังเป็นอย่างนั้น พิสูจน์ได้ที่ร้านขายของ โดยเฉพาะในเมืองหลวง หรือในถิ่นที่เขาเรียกกันว่าความเจริญ ไปดูก็แล้วกัน นี่เรื่องทางร่างกาย ทางภายนอกก็ยังเป็นอย่างนี้ แล้วเรื่องทางจิตใจ มันก็ยิ่งเป็นอย่างนั้น มากยิ่งขึ้นไปอีก มนุษย์ชอบของส่วนเกิน ยิ่งกว่าของส่วนที่จำเป็นโดยตรง ที่มันเป็นได้อย่างนี้ก็เพราะว่า ไอ้ของที่จำเป็นกับชีวิตโดยตรงน่ะมันมีน้อย มันต้องการไอ้ค่าใช้จ่ายน้อย มันก็อยู่ได้เสียแล้ว ไอ้ของส่วนเกินนั่นน่ะ มันต้องการค่าใช้จ่ายมาก ทีนี้มนุษย์ก็โง่ เอาของส่วนเกินมาเป็นของจำเป็น เรื่องกินเหล้า เรื่องดูหนัง เรื่องกินของเอร็ดอร่อย ต่างๆ เหล่านี้ เอามาเป็นของจำเป็นหมด ในการจารนัยเรื่องวัตถุจำเป็นแก่การครองชีพนั่น มีของเช่น บุหรี่ เช่น ดูหนัง รวมอยู่ด้วย นี่ภาวะที่มันน่าสงสาร ในมนุษย์โลกเดี๋ยวนี้ นี่เป็นกันทั้งโลก ขยายขอบเขตนี่ออกไปไม่มีที่สิ้นสุด จนว่า ไอ้ระดับที่จำเป็นของมนุษย์คนหนึ่งๆ ก็ว่ามีบ้าน มีตึก มีรถยนต์ มีโทรทัศน์ มีอะไรต่างๆ นี่เป็นของจำเป็นไปหมด นี่ลัทธิคอมมิวนิสต์จึงเกิดขึ้น เป็นพวกกรรมกร ชนกรรมาชีพ ต้องการจะยื้อแย่งพวกนายทุน นี่เพราะว่ามันไปเข้าใจไอ้ส่วนเกินนั้นว่าจำเป็นแก่ชีวิต ทีนี้เอาเป็นว่า อย่างไรๆ ก็ต้องมีส่วนเกิน ก็ต้องคิดหาส่วนเกินที่ไม่เป็นอันตรายกันจะดีกว่า นี่พุทธศาสนาที่จะนำไปเผยแผ่นั้นมันก็มีหัวใจอยู่ที่ส่วนที่จำเป็นแก่ชีวิต คือส่วนที่จะไม่ทำให้เป็นทุกข์เพราะความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือกิเลส ชื่ออื่นๆ รวมความแล้วก็คือตัวกูของกู ฉะนั้นพุทธศาสนา ในฐานะที่เป็นตัวแท้ของศาสนา หรือเป็นพรหมจรรย์นี้เป็นตัวสำคัญมาก ตัวที่จะเป็นปรัชญา เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นศิลปะ เป็นวัฒนธรรม เป็นอะไรต่างๆ ต่อไปนั้น มันเป็นส่วนพลอยได้ หรือส่วนเกิน ก็มนุษย์ชอบส่วนเกิน ก็ต้องเอาส่วนเกินเหล่านี้ไปให้ เช่นอย่างจะไปสอนพวกฝรั่งนี้ จะไปสอนเฉพาะตัวพรหมจรรย์แท้ๆ ดับกิเลสแท้ๆ มันก็จะได้เป็นส่วนน้อย คือน้อยทั้งไอ้ปริมาณและคุณภาพ แต่ถ้าไปเผยแผ่หรือไปยื่นให้ในฐานะที่เป็นปรัชญา เป็นอะไรอย่างนี้ มันกลับจะมีมาก เพราะฉะนั้นเราก็ต้องรู้ข้อเท็จจริงหรือว่าความลับอันนี้ ทีนี้เราจะได้พิจารณากันไปทีละข้อละข้อ พอเป็นทางแห่งความเข้าใจหรือความสังเกต โดยรายละเอียดนั้น พวกธรรมทูตต้องไปสอดส่องเอาเอง ข้อที่หนึ่ง พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนา คนที่ไม่รู้เรื่องฟังแล้วก็งง ว่าพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนา คำว่าพุทธศาสนามันเป็นส่วนรวม เป็นคำที่รวม กว้าง ทุกแง่ทุกมุม ทีนี้ไอ้มุมที่มันเป็นศาสนานั้นน่ะ เหลี่ยมที่มันเป็นศาสนานั้นน่ะ มันคืออะไร ก็คือสิ่งที่เราเรียกอย่างปลอดภัยที่สุดว่าพรหมจรรย์ คือคำที่พระพุทธเจ้าท่านเคยใช้ เรื่องของท่านจึงไม่ฟั่นเฝือ ยุ่งเหยิง ท่านใช้คำว่าพรหมจรรย์ จงไปประกาศพรหมจรรย์ ให้สมบูรณ์ทั้งอรรถะ ทั้งพยัญชนะ ให้มีความงามทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งอยู่ในคำขวัญของธรรมทูตแล้ว ทีนี้พรหมจรรย์ ประพฤติอย่างประเสริฐ ก็สมชื่อจริงๆ คือดับทุกข์ได้ ส่วนใดไม่เกี่ยวกับความดับทุกข์โดยตรง ก็ไม่ต้องเรียกว่าพรหมจรรย์ คือวิชาเฟ้อทั้งหลาย ที่จะกล่าวต่อไป ทีนี้ส่วนที่เป็นพรหมจรรย์ก็ต้องเป็นตัวการปฏิบัติ เพราะพรหมจรรย์ไม่ใช่ปริยัติ แล้วพรหมจรรย์ ก็ไม่เล็งถึงผลของการปฏิบัติ เช่น มรรคผลนิพพานเป็นต้น แต่เล็งถึงตัวการปฏิบัติโดยตรงลงไปที่ ศีล สมาธิ ปัญญา หรืออะไรก็ตาม ที่จะเรียก แทน ศีล สมาธิ ปัญญา แม้พระพุทธองค์ จะตรัสด้วยคำว่าธรรมวินัย ก็ไม่ได้หมายถึงปริยัติ ก็หมายถึงไอ้ตัวการปฏิบัติ ธรรม และวินัย คือส่วนที่เป็นระเบียบ ให้หมู่ตั้งอยู่ได้นี้เรียกว่าวินัย ส่วนที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์นี้ก็เรียกว่า ธรรม มีธรรม และวินัย สองอย่างก็พอ ให้เหลือคำเดียวก็ว่าพรหมจรรย์ พรหมจรรย์แยกออกเป็น ธรรมะ วินัย สองอย่าง แยกออกเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา สามอย่าง แยกออกเป็นแปด ก็คืออริยะมรรค มีองค์ ๘ แยกออกเป็นเท่าไหร่ก็ได้ หัวใจมันอยู่ที่คำว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ฉะนั้นพรหมจรรย์คือตัวการปฏิบัติ จริยาก็แปลว่าปฏิบัติ หรือประพฤติอยู่แล้ว พรหม เขาเอาความหมายแต่เพียงว่าสูงสุดหรือประเสริฐ นี่ไปศึกษากันให้ดี ในส่วน ศีล สมาธิ ปัญญา ส่วนที่ยุ่งยาก ลำบาก ก็คือส่วน สมาธิ หรือปัญญา เพราะฉะนั้น เราจึงพูดเรื่อง อธิจิตตาโยค สมาธิ ภาวนา กันอยู่เป็นประจำในตอนหัวค่ำ ที่เห็นอยู่แล้ว นี่เรียกว่า พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นตัวศาสนา ตัวศาสนาไม่ใช่เพียงคำพูดหรือคำสอน แต่เป็นตัวพรหมจรรย์ คือตัวการปฏิบัติ ปทานุกรมภาษาไทยคงจะทำยุ่ง ก็ทำให้เข้าใจผิดแก่คนบางคน ถ้าหากว่า ไปแปลคำว่าศาสนาเป็นคำสั่งสอน นั่นมันทางตัวหนังสือ ทางอักษรศาสตร์ โดยตัวจริงนั่นมันคือตัวพรหมจรรย์ คือตัวการปฏิบัติ คือคำที่พระพุทธเจ้าท่านเคยใช้ว่าพรหมจรรย์ เรามายักเรียกเสียว่าเป็นศาสนาในภาษาไทย นี่พอไปถึงภาษาต่างประเทศ เราก็ หรือใครก็ตาม คงจะไม่แปลคำว่าพุทธศาสนานี้ว่าคำสั่งสอนเป็นแน่ แล้วความจำเป็นก็จะบังคับให้เราต้องใช้คำว่า Religion เป็นแน่นอน ทีนี้ปัญหาว่าจะเป็น Religion หรือไม่ ในเมื่อเขามาถกเถียงกัน เราก็อธิบายให้เขาฟัง โดยนัยยะดังที่กล่าวมาแล้วในการบรรยายครั้งก่อนๆ ว่า Religion หมายถึงอะไร โดยสรุปความสั้นๆ ไอ้ Religion ก็หมายถึง ระบบการปฏิบัติ ก็ออกมาเสียจากความทุกข์ มาอยู่กันกับความไม่ทุกข์ พระเจ้าเป็นชื่อของความไม่ทุกข์ มาอยู่กับพระเจ้า คือมาอยู่กับความไม่ทุกข์ ฉะนั้นเราจะมีพระเจ้าอย่างบุคคล หรืออย่างไม่ใช่บุคคล มันก็มีความหมายอันเดียวกัน คือออกมาเสียจากความทุกข์ ฉะนั้นพุทธศาสนาก็เป็น Religion มีระบบ วิธีของตัวเอง ใช้คำพูดไม่เหมือนกัน แต่ความมุ่งหมายเป็นอย่างเดียวกัน จีงเป็น Religion อย่างหนึ่งในบรรดา Religion ทั้งหลายที่จะมีอยู่ในโลก ที่คำแรกที่สุด จะทำพาสปอร์ตไปต่างประเทศ ก็ยังจะต้องถามว่าถือศาสนาอะไร แล้วจะเป็นคนไม่มีศาสนามันก็ เขาไม่ออกพาสปอร์ตให้เป็นแน่นอน ทีนี้สิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนา อยู่ในฐานะที่เป็นศาสนา จึงมีความหมายเฉพาะ หมายถึงระบบปฏิบัติ ความดับทุกข์ที่บุคคลนั้นๆ ถืออยู่ ปฏิบัติอยู่ เราเรียกว่าพรหมจรรย์ อย่างปลอดภัยที่สุด เพียงเท่านี้ก็พอแล้วสำหรับหัวข้อนี้ คงจะเข้าใจได้ ด้วยการศึกษาเอาเองต่อไป ทีนี้อันที่สองก็มาถึงศาสตร์ เอ้อ พุทธศาสนา ในฐานะที่เป็นปรัชญา อันนี้มองเห็นได้ชัดทันทีว่าเป็นเรื่องปริยัติ เพราะตัวปรัชญาไม่ได้หมายถึงตัวการปฏิบัติ อย่างดีที่สุดที่มันจะเป็นได้ก็คือเป็นอุดมคติของการปฏิบัติ ตัวปรัชญาเองมันก็เป็นตัวผี คือไม่มีตัวตนอะไรที่แท้จริง เป็นเพียงความคิดนึก ที่ตั้งอยู่บนฐานของการคำนึง คำนวณ คาดคะเน เป็นสมมติฐาน มากกว่าที่จะเป็นเนื้อเป็นตัวของอะไร เป็น Hypothesis มากกว่า ที่จะเป็นไอ้ระบบของการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง นี่มันเป็นหน้าที่ของปรัชญา ที่จะสร้างสมมติฐานอะไรขึ้นมา หาความจริงมาแวดล้อม สำเร็จอยู่ด้วยการคำนึง คำนวณ มันมีไอ้ข้อเท็จจริงอยู่สองแง่ อย่างที่ว่าแล้ว คือปรัชญาในฐานะที่จะเป็นอุดมคติของการปฏิบัติ นี่อย่างหนึ่ง หรือว่านอกนั้นก็เป็นปรัชญาเฟ้อ ยิ่งเรียนรู้ก็ยิ่งท่วมหัว ยิ่งท่วมหัวก็ยิ่งเอาตัวไม่รอด เป็นบ้า หอบฟาง อย่าลืมคำว่าบ้าหอบฟาง มีพิษร้ายมาก เดี๋ยวนี้โลกกำลังมีปรัชญาชนิดบ้าหอบฟาง จึงสร้าง สันติภาพขึ้นมาในโลกนี้ไม่ได้ ถ้าเราจะมีพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นปรัชญาไปให้ ก็อยู่ในปรัชญาที่เป็น อุดมคติ หรือเป็นจุดตั้งต้นที่เป็นไปเพื่อให้เกิดการดับทุกข์ ทีนี้เรื่องนี้ก็ได้พูดกันมาแล้วแต่วันก่อนๆว่า ไอ้หลักพุทธศาสนา ซึ่งเป็นธรรมอันประณีต โดยเฉพาะไอ้ชนิดที่เรียกว่า เอตัง สันตัง เอตัง ปะณีตัง ยะทิทัง สัพพะสังขาระสะมาโถ อะไรเป็นต้นเหล่านี้ มันจะปรากฎแก่ทุกคนในฐานะเป็นปรัชญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่ไม่เคยรู้เรื่องพุทธศาสนามาก่อน เช่นพวกฝรั่งโดยเฉพาะนี่ พอไปพูดเรื่องนี้เข้า เช่นเรื่องปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น มันก็เป็นปรัชญาเต็มตัว ไม่มีทางเลือก คือเขากำลังงงเป็นไก่ตาแตก ทีนี้พวกไทยเราเองที่เป็นพุทธบริษัทมานานแล้ว มันก็ยังเหมือนกันนั่นแหละ เมื่อยังไม่เข้าใจไอ้หลักธรรมประเภทนี้อยู่เพียงไร หลักธรรมประเภทนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือปฏิจจสมุปบาทนี่ มันจะปรากฎในลักษณะที่เป็นปรัชญาอยู่เพียงนั้น แม้แต่เรื่องอริยสัจ ซึ่งชัดเจนกว่านั้น มาแตะต้องกันในคร้ังแรก มันจะอยู่ในรูปปรัชญา และต่อมาเมื่อปฏิบัติลงไปได้ ก็จะกลายรูปจากปรัชญา ไปเป็นสิ่งที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องทางจิต ทางวิญญาณ มันก็เป็นวิทยาศาสตร์ฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณไป เอาล่ะ ตัวอย่างเราๆ ในบัดนี้ พอไปแตะเรื่องปฏิจจสมุปบาทเข้า ก็งงเป็นไก่ตาแตก อยู่ในรูปปรัชญา ว่าเพ้อๆ ไปอย่างนั้นแหละ จนกว่าเมื่อเราจะเข้าใจในเรื่องปฏิจจสมุปบาท แล้วปฏิบัติได้สำเร็จ ก็คือพออารมณ์มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นต้น มีสติสัมปชัญญะทันควัน แล้วก็เพียงพอ แล้วก็หยุดชะงักเสียได้ซึ่งการเกิดแห่ง ตัณหา อุปาทาน ในสิ่งที่มากระทบน้ัน ก็ไม่เกิดภพ เกิดชาติ เป็นไอ้ ตัวกู ของกู เดือดร้อนอยู่ด้วยโลภะ โทสะ โมหะ หรือว่าเดือดร้อนอยู่ด้วยตัณหาเกี่ยวกับความเกิด แก่ เจ็บ ตาย การได้ การเสีย เป็นต้น ปฏิจจสมุปบาท ก็พ้นจากความเป็นปรัชญา มาเป็นสิ่งที่ชัดเจนเปิดเผย เหมือนกับ เหมือนกับวิทยาศาสตร์ นี่เป็นตัวอย่าง เป็นสิ่งที่จะใช้เป็นหลักในการสั่งสอนต่อไป ว่าเรื่องที่ยังไม่เข้าใจ จะอยู่ในรูปของปรัชญา มืดมัว สลัว อย่างนั้น พอปฏิบัติสำเร็จแล้ว ผ่านไปแล้ว ได้รับผลปรากฎแก่จิตใจแล้ว เป็นปฏิเวธไปแล้ว มันก็เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ ฉะนั้นปรัชญาจึงเป็นเรื่องปริยัติ วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องปฏิบัติ กระทั่งผลของการปฏิบัติ คัมภีร์ทางพุทธศาสนา คือคัมภีร์อภิธรรม 33.50 ซึ่งเป็นคัมภีร์ปรัชญาอันใหญ่หลวงของพุทธศาสนา และก็ยิ่งเป็นส่วนเฟ้อหรือส่วนเกินออกไปทุกที ออกไปไกลออกไปทุกที เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ ไม่ใช่เรื่องส่วนเฟ้อหรือส่วนเกิน แต่ถ้าเข้าใจไม่ได้ก็เป็นปรัชญา จนกว่าจะเข้าใจได้ จนกว่าจะแจ่มแจ้งแทงตลอด จึงจะกลายเป็นปฏิบัติที่เป็นวิทยาศาสตร์ เรื่องอริยสัจก็เหมือนกัน เป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ได้ทั้งหมด ก็กลายเป็นเรื่องปรัชญาไปหมด แม้กระทั่งเรื่องนรก เรื่องสวรรค์ ก็มาพูดกันในแง่ของปรัชญา คำนึง คำนวณไปตามเรื่อง ถ้าผิดจากนั้นก็เป็นเรื่องเชื่ออย่างงมงาย จนกว่าจะได้รู้ว่า สวรรค์คือมีความหมายอย่างไร นรกมีความหมายอย่างไร นี่จะเป็นวิทยาศาสตร์ ผมว่าอบายทั้งสี่ นรก เดรัจฉาน เปรต อสูรกาย มีอยู่ในจิตใจคน เมื่อใดร้อนใจเมื่อนั้นเป็นนรก เมื่อใดโง่เมื่อนั้นเป็นเดรัจฉาน เมื่อใดหิวเมื่อนั้นเป็นเปรต เมื่อใดกลัวเมื่อนั้นเป็นอสูรกาย ทีนี้สวรรค์ก็เมื่อมีความเคารพนับถือตัวเองได้ พอใจ อิ่มอกอิ่มใจตัวเอง มันก็เป็นสวรรค์ได้ นี่ก็เป็นวิทยาศาสตร์ไป ทีนี้ถ้าพูดกันเรื่องโลกที่มองไม่เห็นตัว มันก็เป็นความเชื่องมงายไป หรือจะใช้คำนึงคำนวณอย่างมีเหตุผลบ้าง มันก็เป็นปรัชญาไป ทีนี้พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นปรัชญา นี้ก็มีมาก ที่เป็นไอ้กองใหญ่เท่าภูเขาก็คือคัมภีร์อภิธรรมอย่างนี้ แล้วแคบเข้ามาก็เป็นเรื่องปฏิจจสมุปบาท ที่จำเป็นแก่การที่จะต้องรู้ แต่เมื่อยังไม่รู้ยังเป็นปรัชญา พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ตลอดเวลาที่ตถาคตยังไม่แจ่มแจ้งแทงตลอดในเรื่องปฏิจจสมุปบาท ก็ยังไม่ปฏิญญาณตัวว่าเป็น อรหังสัมมา สัมพุทธะ นี่อย่างนี้ และก็ตรัสสำหรับสาวกทั้งหลายด้วยเหมือนกันว่า เมื่อยังไม่แจ่มแจ้งแทงตลอดในปฏิจจสมุปบาท ก็ยังไม่ชื่อว่าออกจากทุกข์ได้ ทีนี้มันเป็นปรัชญาสลัวอยู่อย่างนี้ไปก่อน เรื่องปฏิจจสมุปบาท ยิ่งสอนในโรงเรียนน่ะยิ่งทำให้สลัว ยิ่งเข้าใจผิด จะพูดกันสักทีก็ได้ เมื่อมีเวลา นี่มาถึงเรื่องอริยสัจ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ สภาพไม่มีทุกข์ และทางให้ถึงสภาพไม่มีทุกข์ เแรกฟังก็เป็นปรัชญา พวกฝรั่งก็รับเอาไปในฐานะเป็นปรัชญา แล้วก็ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ไอ้เรื่องกิเลส เรื่องความทุกข์ เหมือนที่พวกเรารู้ พอพูดคำว่าความทุกข์ออกไปเท่านั้นแหละ ก็เสียเวลาเป็นชั่วโมงๆ ที่จะถกคำว่าความทุกข์คำเดียวเท่านั้น มันเป็นในรูปปรัชญาไปเสียหมด แม้แต่คำว่าความทุกข์ ทั้งที่มันเผาลนร่างกายจิตใจอยู่แท้ๆ ก็จะถือเอาความหมายในแง่ที่มันเป็นวิทยาศาสตร์ไม่ได้ นี่พุทธศาสนาในส่วนที่เป็นปรัชญา เราก็เลือกให้ดีๆ ให้มัน Match หรือมัน Suit เข้าไปในจิตใจของคนที่เขาเมาปรัชญา แล้วก็ดึงมาหาไอ้การปฏิบัติต่อภายหลัง เรื่องที่ดีที่สุดในส่วนนี้ก็คือเรื่องปฏิจจสมุปบาท จะให้ฝรั่งเป็นนักปราชญ์ หัวสมองใสอย่างไรมาก็ตาม มันก็จะต้องงงในเรื่องนี้ แล้วก็จะสนุกสนานในการวิพากวิจารณ์ คิดค้นในเรื่องนี้ ก็จะไม่เป็นปรัชญาเฟ้อ เป็นปรัชญาที่นำไปสู่จุดที่เป็นตัวแท้ของพุทธศาสนาได้ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งให้ไพเราะหน่อยก็ว่า อุดมคติของการดับทุกข์ ก็คือเรื่องปฏิจจสมุปบาท ที่อยู่ในฐานะที่เป็นปรัชญา และต่อไปก็กลายเป็นเรื่องอริยสัจ เป็นเรื่องการดับทุกข์โดยตรงขี้นมา มันมีอยู่ในคัมภีร์สังยุตตนิกาย ที่พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องปฏิจจสมุปบาท ในฐานะเป็นเรื่องอริยสัจ ถ้าไม่ทราบก็ขอให้ทราบเสียด้วย อริยสัจเล็กๆ สำหรับคนทั่วไป ก็อย่างที่เราเรียนกันในโรงเรียนนักธรรมนั่น ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อย่างที่แจกไว้ในธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร ทุกข์คือทุกข์ สมุทัยคือตัณหา ๓ อย่าง แล้วก็นิโรธก็คือความดับตัณหา แล้วมรรคก็คือมรรคมีองค์ ๘ ที่ในที่อื่นซึ่งมันเป็นเรื่องปฏิจจสมุปบาท ก็มีขึ้นว่าอริยสัจ ๔ เหมือนกัน ทุกข์ก็คือทุกข์ไปตามเดิม แต่สมุทัยคือปฏิจจสมุปบาทฝ่ายสมุทยวาร แจกลูกเป็นหางยาวไปตามปฏิจจสมุปบาท ทีนี้ส่วนนิโรธคือความดับแห่งทุกข์ ก็คือปฏิจจสมุปบาทในส่วนนิโรธวาร นิโรธอริยสัจ คือปฏิจจสมุปบาทในส่วนนิโรธวาร แล้วมรรค ทางความดับทุกข์ ก็มรรค ๘ มีองค์ ๘ ไปตามเดิม นี่ก็เรียกว่าอริยสัจใหญ่ คืออริยสัจพิเศษนี่ สมบูรณ์ อริยสัจที่เราพูดเราสอนกันอยู่นี่เป็นอริยสัจเล็ก แจกสมุทัยเป็นเพียง ตัณหา ๓ แทนที่จะแจกเป็นปฏิจจสมุปบาททั้งสายทั้งเครือเลย แจกนิโรธเป็นคำสั้นๆ ว่าดับเสียซึ่งตัณหา ทีนี้ก็จะดับ อวิชา เอ้อ อวิชา สังขาร วิญญาณ นามรูปเรื่อยไปจนถึง ตัณหา อุปาทาน ภพชาติ นั่นก็คือนิโรธอริยสัจในรูปที่สมบูรณ์แบบ เรียกว่าอริยสัจใหญ่ ทีนี้ปฏิจจสมุปบาทที่สลัวมา มันก็กลายเป็นเรื่องที่ชัดเจนกระจ่างขึ้นในรูปของอริยสัจ นี่ส่วนนั้น ก็ช่างมัน มาสนใจส่วนที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ ปฏิบัติเข้าให้ถูกต้อง มันก็กลายเป็นวิทยาศาสตร์ คือดับทุกข์ได้อย่างมีเหตุผล โดยประจักษ์ชัดเจน ทนต่อการพิสูจน์ต่างๆ พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นปรัชญาคืออย่างนั้น และพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นวิทยาศาสตร์คืออย่างนี้ ปรัชญาก็เป็นปริยัติไป วิทยาศาสตร์ก็เป็นตัวการปฏิบัติไป นี่พอจะเข้าใจได้และต่อไปอีก นี่สี่ในฐานะที่เป็นศิลปะหรือเป็นของสวยงาม นี่ก็อาศัยพระพุทธภาษิต คำขวัญธรรมทูตอีกตามเคยว่า อาทิกัลยาณัง งดงาม กัลยาณะ แปลว่า งดงามในเบื้องต้น หรือไพเราะในเบื้องต้น ถ้าเป็นปริยัติก็ไพเราะในเบื้องต้น ถ้าเป็นปฏิบัติก็งดงามในเบื้องต้น มัชเฌกัลยาณัง ถ้าเป็นปริยัติก็ไพเราะในท่ามกลาง ปฏิบัติก็ว่างดงามในท่ามกลาง ปะริโยสานะกัลยาณัง งดงามไพเราะในเบื้องสุดท้าย ที่สุด ทีนี้ตัวพุทธศาสนา ถ้าเราจะจำแนกเป็นสามตามที่พูดกันอยู่แล้ว ก็เป็นปริยัติ เป็นปฏิบัติ เป็นปฏิเวธ ปริยัติก็งดงามในเบื้องต้น ถ้าพวกฝรั่งหรือใครเขาเป็นผู้หลงใหลในความงาม ก็ชี้แจงความงามในทางจิตทางวิญญาณนี้ ไอ้ความรู้ที่ถูกต้องที่จะดับทุกข์ได้นี้ เป็นความงามที่สุดในเบื้องต้น และการปฏิบัติลงไปเป็นความงามในท่ามกลาง ได้ผลการปฏิบัติมาก็เป็นความงามในขั้นสุดท้าย นี่คือคำว่า อาทิกัลยาณัง มัชเฌกัลยาณัง ปะริโยสานะกัลยาณัง ที่เป็นความหมายใหญ่หลวงเล็งถึงความงาม ทีนี้ถ้าจะให้แคบเข้ามาก็จะว่า ศีลงามในเบื้องต้น สมาธิงามในท่ามกลาง ปัญญางามในข้อขั้นสุดท้าย ก็ได้เหมือนกัน ใช้คำพูดเดียวกันได้ สัพพปาปัสสะ อกรณัง งามในเบื้องต้น กุลัสสูปสัมปทา งามในท่ามกลาง สจิตตปริโยทปนัง งามในขั้นสุดท้าย อันนี้มันก็ได้ มันมองเห็นชัดๆ อยู่ แต่ความสำคัญมันอยู่ตรงที่ว่างามอย่างไรนั่น มันไม่ใช่ดอกไม้ มันไม่ใช่คนหนุ่มคนสาว มันไม่ใช่เพชรนิลจินดา นี่ มันงามอย่างไร มันก็กลายเป็นเรื่องไอ้งามในทางฝ่าย Spiritual Spiritualist คือว่างามฝ่ายความหมายในทางวิญญาณ ทางสติปัญญา อันสูงสุด พูดถึงเรื่องนี้ ผมอยากจะซ้ำๆ ซากๆ ถึงไอ้สุภาษิตของปู่ย่าตายายว่า งามนั้นอยู่ที่ซากผี ลูกหลานก็โง่ไม่เข้าใจตามเคย งามอยู่ที่ซากผี ดีอยู่ที่ละ คือไม่เอา พระอยู่ที่จริง ไม่ใช่อยู่ที่ผ้าเหลือง นิพพานอยู่ที่ตายซะก่อนตาย งามอยู่ที่ซากผี ถ้าคิดออกแล้วก็จะพบไอ้ความงามในแง่ Spiritualist ที่สูงสุดเลย ก็ธรรมดาเราก็งามที่ดอกไม้ ที่หญิงชายรุ่นหนุ่มรุ่นสาว เครื่องประดับประดาตกแต่งอยู่ที่นั่น แล้วมันผิดกันอย่างไรกับที่ซากผี ไอ้ซากผีนี่มันข้างนอกก็ได้ข้างในก็ได้ ยังเป็นๆ เดินได้พูดได้กินได้ นี่ก็เป็นซากผีชนิดหนึ่ง ที่ว่าเมื่อสิ้นลมหายใจ ไปนอนเน่าเฟะอยู่ ก็ต้องเหลือแต่กระดูก นี่ก็เป็นซากผี ซากผีชนิดไหนก็ตามมีความงาม ดูไอ้ปฏิกูลเป็นความงามไปได้ เมื่อเป็นปัญญาสูงสุด นี่เขาหลงใหลในความงาม ไอ้สุนทรียศาสตร์ เขาก็ไม่ได้หมายถึงไอ้เรื่องสวยทางตา เช่นไอ้ของสวยทางตานี่ เขาหมายถึงความงามในแง่ของศิลปะ ศิลปะนี่เขาใช้ความงามเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะดึงคนไปสู่อุดมคติที่เขาต้องการ นี่เขาเรียกว่าฝ่ายศิลปะ มันมีความหมายอย่างนี้ ไม่เอาเงิน ไม่เอาของ ไม่เอาอะไรมาจ้างคนไป ดึงคนไปสู่อุดมคติที่เขาต้องการ แต่เขาใช้ความงาม นั่นความงามตามแง่ของศิลปะ ถ้าหนักเข้าก็มึนเมาเหมือนยาเสพติด นี่ศิลปะ Modern Art อะไรต่ออะไรเราแทบจะดูไม่ได้ เพราะเราไม่เข้าใจ เราไม่รู้สึกงาม แต่พวกเขาที่เข้าใจ หรือดื่มด่ำเป็นยาเสพติดไปแล้วก็งามที่สุด ใจความก็คือเอาความงามเป็นเครื่องจูงจิตใจของสังคมไปสู่อุดมคติที่เขาต้องการ ทีนี้ทางพุทธศาสนาเรามีความงามคือความดับทุกข์ เห็นความทุกข์เป็นของน่าเกลียด เห็นความไม่ทุกข์เป็นของสวยงาม ก็เลยอยู่ที่นี่ ความงาม คือการปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา มีความงามอยู่ที่ตรงนี้ คือตัวการปฏิบัตินั่นแหละเป็นความงาม นี้ถ้าว่าปริยัติเป็นความงาม มันก็ มันงามในทางปริยัติ คือว่า ความลึกซึ้ง ความน่าฉงนสนเท่ห์ ของการใช้ไอ้ อักขระ พยัญชนะ หรือความหมายต่างๆ ฉะนั้นกวีนิพนธ์ หรือ ไอ้ฉันทลักษณ์ หรืออะไรก็อยู่ในพวกนี้ กระทั่งถึงไอ้ความน่าอัศจรรย์ของไอ้คำพูดที่ร้อยกรองเป็นพระคัมภีร์ เป็นระบอบเป็น system อะไรต่างๆ ของสิ่งที่เรียกว่าปริยัติ มันก็งามเหมือนกัน ปฏิบัติก็งามอย่างที่ว่าแล้ว ทีนี้ปฏิเวธนั้นไม่ต้องสงสัย คือมันไม่มีทุกข์ เป็นมรรคผลนิพพานนี้เป็นความงามสูงสุด ถึงใครๆ ก็ต้องยอมรับว่าความไม่มีทุกข์นี้มันงดงามที่สุด ทีนี้ถ้าเข้าไปในหมู่คนที่หลงใหลในทางศิลปะ เอาความงามเป็นอุดมคติล่ะก็ ก็ชี้พุทธศาสนาในส่วนที่เป็นศิลปะทางวิญญาณนั้น ความงามของปริยัติ ของอักษรศาสตร์ในพระคัมภีร์พระไตรปิฎก ก็เป็นความงามในทางวิญญาณในขั้นต้นได้เหมือนกัน แต่ความงามแท้จริงก็คือตัวพรหมจรรย์ มีความงดงามในส่วนศีล สมาธิ ปัญญา กระทั่งถึงมรรคผลนิพพาน คืองามที่สุดที่นั่น ก็คือพูดเรื่องตัวพุทธศาสนา แต่ใช้สำนวนโวหารของศิลปะ ของวิชาศิลปะ นี่พระพุทธเจ้าท่านก็เป็นนักอักษรศาสตร์ จึงทรงย้ำว่า สาตถัง สะพยัญชะนัง พวกเธอจงทำให้สมบูรณ์ด้วยอรรถะ ด้วยพยัญชนะ นี้ในแง่อักษรศาสตร์มันก็งาม ทีนี้ อาทิกัลยาณัง มัชเฌกัลยาณัง ปะริโยสานะกัลยาณัง นี้มันก็แง่ของศิลปะ มันก็งดงาม กระทั่งมรรคผลนิพพานมันก็งาม ทีนี้รวมความว่าในแง่ของศิลปะนี้มันอยู่ที่ความงาม ทีนี้ถัดไปอีกเป็นเรื่องที่ห้า คือวัฒนธรรม หรือภูมิธรรม Culture Culture นี้ก็ดูเหมือนเขาเอาคำนี้เป็นคำว่า เป็นวัฒนธรรม ทีนี้ก็มีคำว่าอารยธรรม ภูมิธรรม Civilization หรืออะไรก็ตามเถอะ ผมก็ไม่ค่อยรู้แน่ ข้อนี้ แต่มันอยู่ในกลุ่มเดียวกันนี้ คือกลุ่มวัฒนธรรมนี้ เป็นอารยธรรม หรือภูมิธรรม หรือ อะไรธรรม เราเรียกว่าวัฒนธรรม ไอ้วัฒนธรรมนี่ ไม่ได้เล็งถึงความงามเหมือนศิลปะ แล้วก็ไม่ได้เล็งในแง่วิทยาศาสตร์หรือปรัชญา มันแง่ที่จะเอาประโยชน์ เอาความสงบทางสังคม ความน่าดูในทางสังคมนี่เป็นส่วนใหญ่ แล้วก็เอาส่วนตัวเป็นส่วนๆ ส่วนน้อย ไอ้คำว่าวัฒนธรรมมันเกิดขึ้น ก็คือว่ารู้จักทำอะไรให้ดีกว่าที่ธรรมชาติมีให้ สมัยก่อนคนเราก็อยู่รูอยู่ถ้ำ นี่ตามที่ธรรมชาติมันจะอำนวยให้ ต่อมาเราก็ทำเพิงทำกระท่อมทำอะไรอยู่ กระทั่งเดี๋ยวนี้เราทำตึกกี่ชั้นอยู่ นี่ เขาเรียกว่าวัฒนธรรมสาขาที่อยู่อาศัย ซึ่งมันมากมายเหลือเกิน ก้าวหน้ากว่า มากมายกว่า กว่าแง่ไหนหมด เรื่องกินอาหาร เมื่อก่อนนี้ก็กินอาหารดิบๆ กินปูกินเปรี้ยวอยู่ตามริมทะเลเหมือนกับลิงเดี๋ยวนี้ มันก็มาเปลี่ยนเป็นอะไรดู จนไม่รู้จัก ผม เดี๋ยวนี้ผมไม่รู้จัก ไอ้ที่เขากินๆ น่ะคืออะไร มันมากนัก วัฒนธรรมเรื่องการกิน มันก็เป็นมาอย่างนี้ เรื่องอาหาร วัฒนธรรมเรื่องแต่งตัว ก่อนนี้ก็มีขนยาวๆ สำหรับเป็นเสื้อผ้า เดี๋ยวนี้ขนมันหายไป ก็ต้องใช้เปลือกไม้ใช้ใบไม้ อีกหน่อยมันก็ต้องใช้ผ้า เดี๋ยวนี้เขาก็ใช้อะไรกันอย่างวิเศษวิโส ก็เรื่องใช้เครื่องนุ่งห่ม ทีนี้ยาแก้โรคก็เหมือนกันอีกอ่ะ จากของที่เลวที่สุด มาเป็นของที่ดีที่สุด แต่พระเรายังขอร้องว่า ให้ถือเอาไอ้ปูติมุตตเภสัชชะ เป็นหลักไว้ก่อน มูตร ภูตร เถ้า ดิน ปรุงด้วยน้ำมูตร เป็นเภสัชสำหรับภิกษุในพุทธศาสนา พวกนั้นก็จะหาว่าล้าหลังเต็มที ตัวโลกเขาก้าวหน้าในทางหยูกยา เดี๋ยวนี้ยาก็กินเหมือนกับขนม มันก็แก้โรคชะมัด โรคที่เคยกลัวก็ไม่ต้องกลัว นี่ี่ก็คือวัฒนธรรมส่วนหยูกยา ส่วนกำจัดโรค วัฒนธรรมตั้งต้นขึ้นมาอย่างนี้ เขาสอบสวนกันดูแล้วเขาลงมติกันว่า คำว่า Culture นี่ คำนี้โดยเนื้อแท้ทีแรกก็แปลว่าไถ สำหรับไถนา มนุษย์เก็บข้าวกิน จากไอ้ข้าวหรือหญ้าชนิดที่มันมีสารให้กินได้ ที่เกิดอยู่ตามป่า ไม่ต้องไถนา ไม่รู้จักไถนา พอเริ่มรู้ว่ามันไม่พอล่ะเว้ย ต้องปลูกล่ะเว้ย ก็รู้จักไถนา เอาอะไรมาเขี่ยดินให้มันร่วน เพื่อจะปลูกไอ้ต้นข้าวให้ได้ผลดี นี่ วัฒนธรรมตั้งต้นที่มนุษย์รู้จักเขี่ยดินให้ร่วน เพื่อจะปลูกหญ้าชนิดที่มีสารกินได้ ฉะนั้นคำนั้นเลยมาเป็นคำ เป็นชื่อของคำว่าวัฒนธรรมมากระทั่งจนบัดนี้ ทุกวันนี้ ก็คือคำว่า Culture เขาอธิบายกันอย่างนี้ ในทางจิตทางวิญญาณก็เหมือนกัน เอาคำว่าทางเดินนี่ มัค มัคคะ วีถิ (54.35) หรืออะไรก็ตามที่แปลว่าทางเดินนี่ เอาคำนี้มาเป็นจุดตั้งต้นของไอ้เรื่องทางศาสนา ที่จะดับทุกข์ทางจิตใจ ก็คืออริยมรรคมีองค์ ๘ นี่ เอาคำว่าทางเดินของสัตว์เดินคนเดินมาใช้ มันก็ตั้งต้นที่นี่ วัฒนธรรมทางวิญญาณก็ตั้งต้นที่นี่ คือจิตใจรู้จักเดินไปตามทางของจิตใจเพื่อจะพ้นทุกข์ นี่ก็เป็นวัฒนธรรมทางวิญญาณ แต่เดี๋ยวนี้เขาไม่มีคำว่าวัฒนธรรมทางวิญญาณ เราไปเติมให้เขา วัฒนธรรมตามปกติที่ใช้กันอยู่ในโลกก็คือไอ้เรื่อง เกี่ยวกับไอ้การเป็นอยู่ของมนุษย์ที่ดีขึ้น ในทางอาหาร ทางเครื่องนุ่งห่ม ทางอยู่อาศัย ทางยาแก้โรค แล้วก้าวหน้าจนเลยเถิด จนแย่งชิงกัน จนรบราฆ่าฟันกันไม่หยุดหย่อน เพราะไอ้สิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมนั่นเอง ก็เลยถือเอาสงครามเข้าเป็นวัฒนธรรมอันหนึ่ง นี่ก็ไปชี้กันใหม่นะว่า ในแง่ที่ว่าวัฒนธรรมทางจิตทางวิญญาณ สำคัญกว่าความรู้ทางปริยัติ ทางปฏิบัติ ทางปฏิเวธ ก็เป็นวัฒนธรรมไปได้เหมือนกัน ทีนี้ในแง่ถัดไป พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นประวัติศาสตร์ตัวอย่าง นี่ผมหมายถึงข้อความในพระไตรปิฎก ถ้าใครอยากจะรู้ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ในฐานะมานุษยวิทยา หรือไอ้ประวัติศาสตร์ในแง่ไหนก็ตาม พระไตรปิฎกประเสริฐวิเศษที่สุด แสดงวัฒนธรรมทางจิตใจเป็นมาอย่างไร วัฒนธรรมทางวัตถุเป็นมาอย่างไร ทางสติปัญญาเป็นมาอย่างไร มากมายเหลือเกิน แต่นักประวัติศาสตร์ของเรากลับไม่มอง ไม่ค้นเอาความเป็นประวัติศาสตร์จากพระไตรปิฎก ก็มีนัก นักศึกษา หรือนักปราชญ์ทางนี้ในประเทศอินเดีย ก็เริ่มทำอย่างนี้ เขียนหนังสือเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ เก็บข้อความจากพระไตรปิฎกออกมาทั้งนั้น มันแสดงในแง่ความเป็นมาของมนุษย์ทั้งทางวัตถุและทางจิตใจ เช่น มนุษย์เคยเอากามารมณ์เป็นนิพพาน แล้วมนุษย์เริ่มฉลาดว่า อ้าว ไม่ใช่ ก็เอาไอ้ผลเกิดจากสมาธิ หรือฌานสมาบัตินี้เป็นนิพพาน ในรุ่นคนที่เป็นอาจารย์ของพระพุทธเจ้า เช่น อุทกดาบส อาฬารดาบส ก็เอาไอ้ผลของสมาบัตินี่เป็นนิพพาน สูงสุดอยู่ที่นั่น นี่มาถึงรุ่นพระพุทธเจ้า ก็เอาความสิ้นกิเลสเป็นนิพพาน นี้ก็คือประวัติศาสตร์ทางวิญญาณที่ดีที่สุด ทีนี้ประวัติศาสตร์ทางวัตถุ ทางบุคคล มันก็มีเรื่องพวกอสูร พวกเทวดา ที่มีเรื่องความเป็นมาของบ้านของเมือง มากมายเหลือจะมองกันในแง่ประวัติศาสตร์ แต่ไม่มีอะไรดีเท่าที่ว่า ประวัติศาสตร์ทางจิตใจ ความเป็นมาของความเปลี่ยนแปลงในทางจิตใจของมนุษย์นี่เป็นยอดของประวัติศาสตร์ ตัวความรู้ทางประวัติศาสตร์มีประโยชน์ก็ต้องเป็นส่วนนี้ นอกนั้นก็เป็นเรื่องเด็กเล่น นี่ถ้าว่าพวกชาวต่างประเทศ หรือพวกฝรั่งเขาเป็นนักประวัติศาสตร์ เขาหลงใหลในประวัติศาสตร์เป็นยาเสพติด ก็ชี้ไอ้ส่วนที่เป็นประวัติศาสตร์ที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในพระคัมภีร์ของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือพระไตรปิฎก และอรรถกถานี่ เพราะว่าสิ่งนี้มันเกิดก่อนพวกฝรั่งเกิด เมื่อพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นนี้ พวกฝรั่งยังไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ไปศึกษาทางประวัติศาสตร์ธรรมดาสามัญดู ยังไม่ยังคุมกันไม่ติด ยังไม่เป็นประเทศ ที่จะเรียกว่าเป็นประเทศที่เจริญแล้ว ในเมื่อประเทศอินเดียเป็นประเทศที่รุ่งเรืองแล้ว ประเทศกรีกยังไม่ค่อยรู้ว่าอยู่ที่ไหน นี่ สำหรับพวกฝรั่งเป็นอย่างนี้ แล้วไปมีพวกเปอร์เชีย พวกอิหร่าน พวกอียิปต์ นู่น ที่เก่าแก่มาก เป็นบ้านเป็นเมืองแล้ว ส่วนพวกฝรั่งนี่ยังไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนเลยในช่วงพุทธกาล แล้วทำไมไม่สนใจประวัติศาสตร์ ที่ ที่น่าสนใจ เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ชี้เผื่อไว้นะ ให้สังเกตนะอย่ามองข้าม ว่าคัมภีร์พุทธศาสนาของเราก็เป็นคัมภีร์ประวัติศาสตร์ นี้ถัดไปอีกก็เป็นเรื่องกลางๆ คือว่าเรื่องสติปัญญาของมนุษย์ เพราะใครๆ ก็ชอบสติปัญญา นับตั้งแต่ไอ้ Knowledge Intellect กระทั่ง Wisdom เป็นอะไรตามลำดับ เป็นสติปัญญาของมนุษย์ เป็นคำกลางๆ ไม่เกี่ยวกับศาสนา ก็เพื่อจะชี้ให้ดูว่า บรรดาสติปัญญากันแล้ว ไม่มีสติปัญญาอันไหน ดีกว่า สวยกว่า งามกว่า ประเสริฐกว่า กว่าสติปัญญาอย่างพุทธศาสนานี่ พุทธะ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ธรรมะ ก็แปลว่า ความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน นี้ก็คือสติปัญญาที่แท้จริง สติปัญญานอกจากนี้มันเป็นสติปัญญาโง่ คือจะพาไปสู่ไอ้ความยุ่งยาก โกลาหลวุ่นวายเป็นทุกข์ นี่เรียกว่าสติปัญญาโง่ ผิด จากนั้นไปอีกก็สติปัญญาโกง ไอ้สัตว์ตัวไหน หรือคน คนไหนที่มันฉลาดในการทำอันตรายผู้อื่น เอาเปรียบผู้อื่น เราก็เรียกมันว่ามีสติปัญญา แต่มันใช้ให้ผิด ใช้ไปในทางโกง ดังนั้นไอ้เด็กที่ฉลาดนี่กลายเป็นเด็กคดโกง รังแกผู้อื่น กระทั่งไปติดคุกติดตาราง ไปนอนอยู่ในคุกในตาราง ทั้งที่มันเกิดมามีปัญญาที่สุด เด็กคนนี้ Intellect มากที่สุด ใช้ผิดไป ฉะนั้นคำว่าสติปัญญานี่กำกวม ระวังให้ดี มันจะลากคอเข้าไปอยู่ในคุกในตารางก็ได้ เมื่อมันฉลาดที่จะเป็นโจรเป็นขโมยมากเกินไป ทีนี้สติปัญญาบริสุทธิ์ สติปัญญาแท้ ในความหมายของคำว่าสติปัญญา แล้วก็คือไอ้หลักธรรมะในพระพุทธศาสนา ในส่วนที่เป็นปริยัติก็ตาม ปฏิบัติก็ตาม แล้วก็ถือว่าเป็นสติปัญญาของมนุษย์ที่วิวัฒนาการมาจนถึงระดับสูงสุด แล้วก็ไปไกลไม่ได้กว่านี้ หมดเท่านี้ ถ้าแตกแยกไปจากนี้ มันก็วกไปยัง ย้อนหลังไปเป็นสติปัญญาโง่ สติปัญญาโกง สติปัญญาเฟ้อ อยู่นั่นแหละ ไปไหนไม่ได้ ไปไหนไม่รอด ข้อนี้ก็ต้องเข้าใจให้ดี เพราะว่าพวกฝรั่งเขาหาว่าเราโง่เป็นพวกล้าหลัง เป็นพวกไม่พัฒนานี่ เขาหาว่าเขามีสติปัญญาสูงสุด ผมเรียกว่าสติปัญญาโง่ สติปัญญาโกง สติปัญญาเฟ้อ สติปัญญาบริสุทธิ์แท้จริงนี่ก็คืออย่าง สติปัญญาของพุทธศาสนา ของพุทธบริษัท ทีนี้การที่คนไทยเราจะไปตามก้นพวกฝรั่ง ก็น่าเวทนาสงสารที่สุด ทีนี้งานธรรมทูตเป็นงานที่ยากเพราะเหตุนี้ ทีนี้อันสุดท้ายที่จะพูดด้วยคำว่าอนามัย ภาวะที่เป็นอยู่อย่างปราศจากโรคและต้านทานโรคเรียกว่าอนามัย ก็รู้จักกันแต่อนามัยทางเนื้อหนัง สำหรับภาษาไทย คำว่าอนามัยนี่ คงจะมีคนคิดว่าเป็นศัพท์ใหม่ๆ เพิ่งเกิด ตัวเองค้นพบแล้วก็ตั้งขึ้น คำว่าอนามัย ไปดูไอ้ วรรณคดีชาดกเก่าแก่ สองพันสามพันปีนี่ ว่าเขาทักกัน เขาทักกันด้วยคำว่า กุศะลันเจ อะนามะยัง (นาทีที่ 65.20) นี่ พระอัจจุตฤาษีทักชูชกว่า กุศะลันเจ อะนามะยัง คำว่าอนามัยนี่ เป็นคำเก่าแก่โบรมโบราณ ที่เราทักกันโดยภาษาร้อยแก้วว่า กัจจิ ขะมะนียัง นี่ ยังพอทนได้อยู่หรือ อย่างนี้ก็คือคำว่าอนามัยยังดีอยู่หรือ นี่ภิกษุสาวก พระอรหันต์ เมื่อท่านทักกัน ก็ทักว่า กัจจิ ขะมะนียัง ยังพอทนไหวหรือ นี่ก็เพื่ออนามัยยังเป็นไปได้อยู่หรือ คำว่าอนามัยนี่เก่าหลายพันปี เดี๋ยวนี้ก็เอามาใช้กันในความหมายที่ถูกต้อง สถานีอนามัย ก็ไปช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ สภาพปราศจากโรค ก็มีความต้านทานโรค ป้องกันโรค ทีนี้ก็ไปนึกถึงทางกาย ทางวิญญาณ อนามัยทางร่างกายนี่เป็นของเด็กเล่น ถ้าอนามัยทางวิญญาณเสียไปแล้ว อนามัยทางกายจะเสียหมด ใจคอไม่ปกตินอนไม่หลับ เพราะความวิตกกังวล เพราะกิเลสตัณหานี่ คือเสียอนามัยทางวิญญาณ ไม่เท่าไหร่ก็เป็นความดันโลหิตสูง เป็นโรคเบาหวาน เป็นโรคสารพัดอย่าง เสียอนามัยทางเนื้อหนังขึ้นมา นี่โรคกำลังเกิดขึ้นในโลก แปลกๆๆๆขึ้นทุกปีๆ เพราะมนุษย์เสียอนามัยในทางวิญญาณนี่ เราจะยืนยันกับพวกฝรั่งอย่างนี้ ว่าโลกกำลังสูญเสียอนามัยในทางจิตทางวิญญาณ ฉะนั้นอนามัยทางกายก็เสื่อมโทรมลงไป ทางจิตก็เป็นบ้า เป็นวิกลจริตมากขึ้น เดี๋ยวนี้เป็นที่ยอมรับแล้ว ว่าโรงพยาบาลไม่พอ ทั้งโรงพยาบาลทางกาย และโรงพยาบาลทางจิต เพราะมนุษย์สูญเสียอนามัยทางวิญญาณ คือหลักทางพระศาสนานี่ มันเป็นเรื่องป้องกันโรคทางวิญญาณ นี่หัวข้อย่อๆ มีอย่างนี้ ไปศึกษาให้ละเอียด จะได้ถึง ๘ แง่ ๘ มุม ของพุทธศาสนา เหมือนกับเพชร มีเหลี่ยม ๘ เหลี่ยม จะเอาเหลี่ยมไหน หันเข้าไปหาคนไหน เมื่อไหร่ ก็ไปคิดเอาเอง แต่ผมขอบอกว่า ทุกเหลี่ยมนี่ ไปรวมอยู่ที่เรื่องสุญญตา เย เต สุตตันตา คัมภีรา คัมภีรัตถา โลกุตตรา ตถาคตภาสิตา คือ สุญญตัปปฏิสังยุตตา ปฏิสังยุตตะ ก็แปลว่าเนื่องเฉพาะ เกี่ยวข้องเฉพาะ สุญญตาคือสุญญตา คือความว่างจากตัวกู ไม่เกิดความคิดปรุงแต่ง หรือ Concept ว่า I ว่า My จะมาสู้กับคำว่าตัวกูว่าของกูไม่ได้ ความหมายดีกว่า คำว่า I หรือ คำว่า My ถ้าว่างจาก I ว่างจาก My ว่างจากตัวกูของกูนี่ จะเป็นหมดทุกอย่าง เป็นศาสนา เป็นพรหมจรรย์ที่ถึง ที่แท้จริงและสูงสุด เป็นปรัชญา เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นได้ทุกอย่าง ทั้ง ๘ แง่ ๘ มุม อย่างที่ว่ามาแล้ว นี่ในพุทธศาสนา เราต้องรวมทั้งปริยัติ ทั้งปฏิบัติ ทั้งปฏิเวธ ปริยัติก็เพื่อสุญญตา ปฏิบัติก็เพื่อสุญญตา ปฏิเวธก็เพื่อสุญญตา มันก็ไม่มีอะไร นอกไปจากสุญญตา ดังที่พระพุทธเจ้าท่านทรงยืนยันว่า ตถาคตภาสิตา นั้นเป็น สุญญตัปปฏิสังยุตตา นอกนั้นเป็น พาหิรา จิตตะขรา จิตตะพยัญชนา (นาทีที่ 1.09.35) สวยแต่ทางตัวอักษร สวยแต่ทางตัวพยัญชนะ เป็นเรื่องไม่ดับทุกข์ ต่อเป็นเรื่องสุญญตา จึงจะเป็นเรื่องดับทุกข์ ฉะนั้นถ้าถูกต้องแล้ว ไม่ว่าแง่ไหนจะต้องดิ่งไปหาจุดๆ เดียว คือเรื่องสุญญตา จะเป็นเรื่องอนามัย เรื่องสติปัญญา เรื่องประวัติศาสตร์ เรื่องวัฒนธรรม เรื่องศิลปะ เรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องปรัชญา กระทั่งถึงเรื่องพรหมจรรย์ ถ้าถูกทางแล้วจะดิ่งไปสู่จุดคือสุญญตา ทำให้มนุษย์รู้ไอ้ความที่ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ถือว่าเป็นตัวกูของกูไม่ได้ จากจุดเดียวนี่มีเหลี่ยมคู ไปได้ถึงอย่างน้อยก็ ๘ เหลี่ยม พูดให้มากตั้ง ๑๐ เหลี่ยม ๒๐ เหลี่ยม ๑๐๐ เหลี่ยมก็ได้ แต่ไม่จำเป็น ไอ้ ๘ เหลี่ยมใหญ่ๆ นี่ ก็ไปอยู่ในวิสัยที่มนุษย์กำลังสนใจอย่างยิ่งอยู่แล้ว จึงขอให้รู้จักพุทธศาสนา ที่อยู่ในฐานะที่จะเป็นอะไรได้บ้างในลักษณะอย่างนี้ แล้วเวลาของเราก็หมด น้อง เอ้อ นกมันร้องเตือน