แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
22 ตุลาคม 2514 ท่านสาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย ในการบรรยายครั้งที่ 7 นี้ เราจะได้พูดกันถึงทางของสังคม ในครั้งที่แล้วมา เราพูดถึงสื่อของสังคม คือสิ่งที่จะรวมพวกให้เข้ามาเป็นพวกเดียวกัน ให้มนุษย์ทั้งหมดเป็นมนุษย์ของพระเป็นเจ้าคนเดียวกัน สิ่งที่เป็นสื่อก็คือเครื่องมือที่จะประสานคนทุกคนให้เป็นเหมือนกับคนคนเดียวกัน เพื่อประโยชน์แก่การจะพากันเดินไปในหนทางอันเดียวกัน เพราะฉะนั้นวันนี้เราจะพูดกันถึงเรื่องหนทางของสังคม คำว่าสังคม คำว่าสมาคม ต่างก็รู้กันอยู่แล้วว่า หมายถึง มารวมอยู่ในที่อันเดียวกัน ในการกระทำอย่างเดียวกัน ในวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน คือทำในสิ่งที่ควรทำให้ได้ในสิ่งที่ดีที่สุด ที่มนุษย์ควรจะได้ ทางของสังคมที่ดีก็มีอยู่ โดยเฉพาะ แม้เรื่องนี้ที่กำลังบรรยายนี้ มันก็ยังอยู่ในหัวข้อที่ 4 ที่ว่าทำอย่างไรจึงจะสำเร็จได้ตามวัตถุประสงค์ ทางของสังคมที่ดีจะมองกันไปในแง่หนทางนั้นดี หรือว่าสังคมดีมันก็ได้ทั้งนั้น โดยพฤตินัยมันก็เป็นสิ่งเดียวกัน ทางมันดีคนที่เค้าก็เดินไปมันกลายเป็นคนที่ดี คำว่าทางของสังคมที่ดี ความจริงไม่มีปัญหาอะไร เพราะสังคมดีหรือว่าทางดี ตัวหนังสือมันแยกกันได้แต่ตัวจริงมันไม่ต้องแยกกัน หรือมันไม่อาจจะแยกกันได้ เพราะแยกออกจากกันมันก็เลิกร้างกันไปหมดไม่มิอะไรเหลือ หนทางจะดียังไง ถ้าไม่มีคนเดินก็ไม่มีประโยชน์ ไม่ได้มีหนทางเลย คนก็เหมือนกันถ้าไม่ได้เดินไปในทางที่ดีมันก็ไม่ใช่คน สังคมก็เหมือนกันอีกถ้าไม่ได้เดินไปในทางที่ดีมันก็ไม่ใช่สังคม มันเหมือนกับว่าไม่มี งั้นเราก็เห็นได้ว่า มันต้องตั้งอยู่ในความดี นี่เค้าเรียกว่าเดิน เดินไปในทางที่ดี ตรงนี้อยากจะพูดอะไรบางอย่างให้เป็นข้อสังเกตไว้ ว่าคำว่าปฏิบัติมันก็มาจากคำว่าเดิน แต่ว่าเรามาแยกเป็นว่าการปฏิบัติ เป็นมันยืมมาจากคำว่าเดิน ที่เห็นชัดยิ่งขึ้นไปอีกก็คือคำว่าหนทางนั่นเอง คำว่าหนทางนี้มันก็คือทางเดิน ไอ้คำว่าทาง หนทางนี่มันเป็นคำเก่าแก่ ตั้งแต่ก่อนสมัยหินกันแน่ ก่อนสมัยอายุหิน เพราะว่ามนุษย์ในสมัยอายุหินมันก็มีทางเดินแล้ว เพราะมันเดินไปเดินมามันจึงเกิดเป็นทางขึ้นมาเอง งั้นมนุษย์ในสมัยหินหรือก่อนสมัยหินมันมีคำพูดคำนี้แล้ว คือคำว่าหนทาง ก็คนมันเดินไปเดินมาประจำไปมันก็เกิดเป็นทางขึ้นมา มนุษย์มีคำพูดเรียก มันก็ต้องเรียกอันนั้น ว่าอะไรคำใดคำหนึ่ง คำนั้นคือคำว่า ทาง กระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ที่บางคนอาจจะสงสัยว่า ตอนนั้นมันโบราณดึกดำบรรพ์ แต่เดี๋ยวนี้มันเดี๋ยวนี้ มันจะเหมือนกันได้อย่างไร จะเป็นอันเดียวกันได้อย่างไร นั่นเพราะเขาไม่รู้ ว่าคำในทางศาสนาหรือคำในทางวัฒนธรรมก็ตาม มันยืมเอาคำของคนป่าสมัยหินหรือก่อนสมัยหินมาพูด คำวัฒนธรรมมาจากคำของคนป่า มันน่าหวง คือคนสมัยโน้นเค้าจะพูดอยู่ตามธรรมดาธรรมชาติของเขา ไม่มีธรรมะธรรมโมอะไร เป็นเรื่องในบ้านในเรือนทั้งนั้น เขาก็มีคำที่จะต้องพูดเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นจนมันครบ โดยเฉพาะคำว่าหนทางหรือทางเดิน เป็นคำสำคัญคำหนึ่งแน่ ถ้าเด็กคนไหนผู้ใหญ่คนไหนไม่รู้จักทางเดิน มันจะเดินไปทางไหนได้ แล้วมันจะมุดอยู่แต่ในบ้านยังไงได้ คนสมัยหิน คำอื่นๆก็เหมือนกันถูกยืมมาใช้เป็นคำของมนุษย์ที่เจริญแล้ว เจริญแล้ว เจริญแล้ว มีวัฒนธรรมแล้ว กระทั่งมาเป็นคำทางศาสนา เช่นคำว่าหนทางนี้ เป็นต้น เขาเรียกว่า มรรค หรือ มรคา ในภาษาไทย ที่นี้คำที่ยืมมาจากคนป่าสมัยหินก่อนสมัยหิน กระทั่งคำสูงสุดคือคำว่าเย็น ซึ่งหมายถึงนิพพาน คำว่านิพพานแปลว่า เย็น ตามภาษาธรรมดา คนป่าสมัยหินก็รู้ว่าเย็น อย่างไรเรียกว่าเย็น แต่ความหมายของคำว่าเย็นนั้นก็เปลี่ยนมาเรื่อย เปลี่ยนมาเรื่อย จนมาเป็นเย็นใจ เย็นกันอย่างที่ในพุทธศาสนาเรียกว่าเย็นคือนิพพาน นิพพานนี้แปลว่าเย็น ตามตัวหนังสือแท้ๆ แม้ในเรื่องราวที่ไม่เกี่ยวกับศาสนามันก็เป็นอย่างนี้ มนุษย์เจริญขึ้น เจริญขึ้น มันก็ไม่ได้มีคำพูดอะไรใหม่มากเหมือนคนสมัยนี้ที่ตั้งคำพูดเก่ง ใช้คำพูดที่มีอยู่แล้วให้ความหมายที่ลึกไปกว่า มันจึงเกิดคำพูดทางศาสนา ทางวัฒนธรรม เช่นคำว่าจักร ซึ่งแปลว่าล้อเกวียนของคนสมัยโบราณกาล มันมาเป็นชื่อของพระธรรม ได้ เป็นธรรมจักร หรือจักรที่ทำความเจริญ เขาถือกันว่า คำว่าไถนา ไถคำว่าไถนา เดี๋ยวนี้มันคือคำว่า เค้าเจอร์(นาทีที่ 10:30) ในความหมายปัจจุบัน เพราะว่ามันรู้จักไถนา นี่มันเก่งมาก เพราะคนที่ไม่รู้จักทำนาจะมารู้จักไถนายังไงได้ มันเก่งจริงๆขนาดรู้จักไถนา แก้ปัญหาเรื่องดินไม่ดี คนป่าที่เคยเก็บข้าวจากป่ากิน มันก็ปลูกข้าวได้ นี่จำไว้สักอย่างหนึ่งว่า คำวัฒนธรรมหรือคำศาสนาเป็นคำเก่าแก่ ตั้งแต่สมัยที่มนุษย์เป็นคนป่า โดยเฉพาะคำว่าหนทาง แม้แต่สัตว์เดรัจฉานถ้ามันเดินไปเดินมาประจำเข้า มันก็เกิดเป็นมรรคะ ทางขึ้นมา มันมีคำอีกคำหนึ่งที่เรียกว่า วิถิ ในภาษาไทยว่า วิถี นี่มันมีความหมายสูงขึ้นไป คือมันดีกว่าธรรมชาติ มันเป็นถนนหนทางที่มนุษย์สร้างขึ้น ดีกว่าธรรมชาติ แต่ว่าความหมายก็คงเดิม มันเป็นสำหรับเดินเท่านั้น จะสวยงามหรือไม่สวยงามมันก็ไม่สำคัญ สำเร็จอยู่ที่มันเดินได้หรือเดินถึง งั้นคำว่าทางของสัตว์มันก็มาเป็นทางของมนุษย์ มนุษย์มันพูดได้ สัตว์มันไม่ต้องพูด หรือมันพูดไม่ได้ มันก็ไม่มีการเรียกร้องอะไร เรานี่มันพูดได้ ก็เรียกกันมาตามลำดับ ตามลำดับ คำเก่าแก่ก็ยังอยู่ เปลี่ยนความหมายเรื่อย มาเป็นการปฏิบัติธรรม เกิดเป็นผลของการปฏิบัติธรรมด้วย งั้นคำว่าทาง เล็งถึงการปฏิบัติธรรมหรือการครองชีวิตชนิดหนึ่ง ชนิดใดก็ได้ เป็น เวย์ ออฟ ไลฟ์ (way of life) คำคำนี้ไม่ใช่การเดินด้วยเท้า มันเดินด้วยการกระทำทางกาย วาจา ใจ เมื่อปฏิบัติดี มันก็มีผลที่เรียกว่า มรรค ที่คู่กับผลนั้นมา บรรลุมรรคผล คำว่า มรรคในที่นี้เป็นชื่อของ ฌาณ ฌาณทัศนะ สิ่งทั้งหลายที่จะตัดกิเลสได้ เพราะผลสุดท้ายคือหมดกิเลส ให้จำไว้เป็นหลักว่า คำพูดในทางวัฒนธรรมกับทางศาสนาสูงสุดที่มาจากคำธรรมดาๆในบ้านเรือน และเก่าแก่ จนไม่รู้ว่าเก่าถึงขั้นไหน เรื่องมันไม่มาก เพราะมันมาตามธรรมชาติ เดี๋ยวนี้ก็มีการบัญญัติธรรมให้มันมากให้มันเฟ้อ แล้วก็ไม่ได้ทำอะไรให้ดีไปกว่าคนโบราณได้ เพราะว่าของสิ่งนั้นมันอยู่ที่การกระทำไม่ใช่อยู่ที่การพูด ที่นี่มาดูความหมายของคำว่าหนทาง ทางเป็นเครื่องมือสำหรับให้ไปถึงจุดใดจุดหนึ่งที่เป็นวัตถุประสงค์ เดี๋ยวนี้จะเรียกมันว่าวิธีการ เรียกว่าเทคนิค เรียกว่าเทคโนโลยี หรืออะไรก็ตามใจ จะพูดกันไปถึงไหนก็ตามใจ ความหมายยังมี อย่างที่มันเป็นหนทางหรือเป็นทาง ก็คือทางนั่นเอง เทคนิคก็คือทาง ที่นี่มันมีความสำคัญอยู่ที่ว่า จะเป็นทางผิด ทางถูก ดีไม่ดี มันก็อยู่ที่คนใช้ มนุษย์ที่จะไปเป็นผู้ใช้มัน มันไม่ค่อยเกี่ยวกับตัวหนทางมากนัก มันอยู่ที่การใช้ให้ถูกต้อง พอใช้ให้ถูกต้องมันก็เป็นทางที่ดีขึ้นมาเอง มนุษย์จะโง่หรือฉลาดเนี่ยสำคัญมาก ถ้ามันฉลาดทางมันก็ดีขึ้นมาเอง ก็จะทำถูกทำดีอยู่เรื่อยๆ เกิดเป็นระบบหนทางที่ดีขึ้นมาได้ มนุษย์ในป่าสมัยหินก็เหมือนกัน มันรู้จักเดินอย่างถูกต้องมันก็เกิดหนทางที่ดีขึ้นมา มันรู้จักเลือก มันก็เกิดหนทางที่ดีขึ้นมา ดีกว่าที่จะเป็นหนทางแคบ ทางเล็ก ทางรก เจอทางขรุขระ มันก็อ้อมไปให้เดินในทางที่มันจะเกิดเป็นหนทางที่ดีขึ้นมา เพราะฉะนั้นคนสำคัญกว่าตัวพื้นดิน ธรรมชาติเหล่านี้ เพราะฉะนั้นต้องเอาคนเป็นผู้รับผิดชอบในการที่ว่าหนทางดีหรือไม่ดีที่จะเกิดขึ้น พอพูดอย่างนี้ทุกคนก็คงจะพอมองเห็นว่า หนทางมีหลายความหมายหรือหลายชั้น ทางที่เราเดินด้วยเท้ามันเรื่องของวัตถุ แม้แต่เท้าก็เป็นวัตถุ ทางก็เป็นวัตถุ ที่นี้ทางที่เราเดินด้วยใจ ด้วยการกระทำ ก็มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง ที่เรากำลังพูดนี้หมายถึงทางที่เดินด้วยการกระทำ ทางกาย ทางวาจา ทางจิต ทีนี้จะมีว่าทางประเสริฐหรือไม่ประเสริฐ ในทางศาสนาก็เล็งเห็นทางที่ประเสริฐ จึงมีคำว่าประเสริฐเติมเข้ามาข้างหน้า คือคำว่า อริยะ อริย????มรรค (นาทีที่ 17:40) หรืออริยมรรค ก็ตามใจ อริยะ แปลว่า ประเสริฐ อริยมรรค ก็แปลว่าทางที่ประเสริฐ ก็เป็นอันว่าแยกออกมาเสียจากทางธรรมดา ทางธรรมดาก็มีผลตามธรรมดา ทางประเสริฐก็มีผลอันประเสริฐ ทางของสังคมที่เราเอ่ยถึงกันนี้ เป็นทางของการกระทำ ก็ต้องเป็นทางอันประเสริฐ ไม่ยังงั้นก็ไม่มีประโยชน์ ที่เรียกว่าประเสริฐนี่ มันก็ต้องมุ่งหมายความที่ต้องดับทุกข์ได้ แก้ปัญหาได้ ในทางพุทธศาสนาบัญญัติไว้ชัดว่าหนทางอันประเสริฐนี้ ได้แก่ความถูกต้อง 8 ประการ คือรวมกันเข้า นี่ให้จำไว้เป็นหลักที่มั่นคงว่า ข้อความใดที่มันเป็นหลักสำคัญต้องจำแม่นยำ อย่าต้องนึก ต้องพูดติดปากอยู่เสมอ ความถูกต้อง 8 ประการ ที่เรียกว่าหนทางในพุทธศาสนานั้น ก็คือ มรรคมีองค์ 8 พูดอย่างนี้เป็นภาษาวัด แต่แล้วมันก็เรื่องเดียวกัน มรรคมีองค์ 8 คือความถูกต้อง 8 ประการ รวมกันเข้าเป็นหนทาง จำไว้ให้เป็นไทยๆ ก็คือ ความถูกต้องในความคิดเห็น ความถูกต้องในความมุ่งหมาย ความถูกต้องในการพูดจา ความถูกต้องในการกระทำทางกาย ความถูกต้องในการหาเลี้ยงชีวิต ความถูกต้องในความพากเพียร ความถูกต้องในการดำรงสติ และความถูกต้องในการมีจิตอันมั่นคง อย่างที่หนึ่ง เขาเรียกว่า สัมมาทิฐิ สัมมาสัมตัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ (นาทีที่ 20:23) ท่องกันให้ลั่นไป แต่ท่องกันอย่างนกแก้วนกขุนทอง ที่เราจะไม่ท่องก็ได้แต่เราท่อง ต้องแม่นยำ ต้องแจ่มแจ้งเสมอ ถูกต้องในความคิดเห็น ก็ลองไปสำรวจตรวจดู เรามีความคิดเห็นที่ถูกต้องหรือยัง เราอาจจะยังผิด มีผิดอยู่ในความคิดเห็นโดยไม่รู้สึกตัว เพราะจิตนี่มันเห็นได้แต่อย่างเดียว หรือแนวเดียว ไซด์เดียว เราจะเห็นอย่างไรมันก็มักจะสำคัญตรงที่ว่านี่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นคนทำชั่วมักมีความคิดว่าถูกต้อง ถูกต้องตามแบบของเขา ถ้าอย่างนี้ใช้ไม่ได้ ต้องถูกต้องตามความหมายของคนที่ถูกต้อง คือคนดี สัตบุรุษบัณฑิต ถ้ามีปัญญาเพียงพอ คำว่าความคิดเห็นมันรวมไปถึงความเข้าใจ รวมไปถึงวิชาความรู้ รวมไปถึงความเชื่อ คือทุกอย่างที่มันเกี่ยวกับความคิดเห็น ก็ต้องเอามารวมไว้ในคำๆนี้ ว่า สัมมาทิฐิ ความเห็นอันถูกต้อง ความเข้าใจอยู่ในพวกนี้ ความเชื่อก็อยู่ในพวกนี้ ความรู้ก็อยู่ในพวกนี้ เรียกเป็นภาษาบาลีว่า สัมมาทิฐิ สัมมา แปลว่าถูกต้อง ทิฐิ แปลว่าทิฐิ คือความคิดเห็น ได้ถือโอกาสพูดตามหลักพุทธศาสนา... (นาทีที่ 23:00) ความคิดเห็นถูกต้อง เรียกว่า สัมมาทิฐิ ชั้นต่ำๆ สำหรับคนทั่วไป สำหรับคนในบ้านเรือนทั่วไป เขาระบุไว้เป็นหลักว่า มีความคิดเห็น หรือมีความเชื่อถูกต้องว่า มีดี มีชั่ว มีบุญ มีบาป มีนรก มีสวรรค์ มีโลกนี้ มีโลกหน้า มีบิดามารดา ครูบาอาจารย์ ทีนี้คุณไปดูตามมหาวิทยาลัย ความคิดนึกรู้สึก เป็นไปในทางที่ไม่มีครูบาอาจารย์ ไม่นับถือครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์เป็นลูกจ้างของรัฐบาล ต้องสอนเรา เราไม่นับถืออย่างครูบาอาจารย์ ในมหาวิทยาลัยของพวกคุณก็เต็มไปด้วยมิจฉาทิฐิ ไม่มีครูบาอาจารย์ ยิ่งกว่าพวก... (นาทีที่ 24:15) ที่บ้านที่เรือนก็เหมือนกัน ไม่มีบิดามารดา ที่ถูกรับนับถือว่าเป็นบิดามารดา ยิ่งกว่าพวก... (นาทีที่ 24:25) ไอ้เด็กๆสมัยใหม่ไปตามก้นฝรั่งที่บิดามารดาไม่มี ยิ่งกว่าพวก... (นาทีที่ 24:35) วัฒนธรรมฝรั่งไม่เลี้ยงบิดามารดาที่แก่เฒ่า ส่วนวัฒนธรรมไทยจะยอมตายก่อนบิดามารดาที่แก่เฒ่า เราถือว่าชีวิตของเราได้มาจากบิดามารดา ทั้งหมดของเราต้องเป็นของบิดามารดา งั้นเราจะรักษาเลี้ยงดูบิดามารดาเมื่อท่านแก่เฒ่าเข้าโรงไป เรายอมเสียความสุขส่วนตัวเรา ทำได้อย่างนี้เรียกว่าบิดามารดามี เคารพครูบาอาจารย์ เรียกว่าครูบาอาจารย์มี เมื่อมีอันนี้ชั่ว อันนี้ดี ตามที่ได้บัญญัติไว้ ไม่ใช่ว่าทำได้ก็เรียกว่าดี ไม่ได้ก็เรียกว่าไม่ดี ถ้าได้อย่างใจของเราก็เรียกว่าดี ถ้าไม่ได้ก็เรียกว่าไม่ดี อย่างนั้นมันผิด ไอ้นรกสวรรค์มันมี สำหรับว่าเป็นผลของการกระทำ ทำไม่ดีก็ได้นรก ทำดีก็ได้สวรรค์ นรกก็หมายความว่า เดือดร้อน สวรรค์ก็หมายความว่า สบาย เป็นที่น่าพอใจ ในโลกนี้ก็หมายความว่าที่ปรากฎชัดอยู่ในความรู้สึกนี้เขาเรียกว่าโลกนี้ ที่มันยังเข้าใจไม่ได้ ที่อาจจะดีกว่านี้ มันก็ยังมีอยู่ข้างหน้าในโอกาสต่อไป นี้เขาเรียกว่าโลกหน้า ไม่ได้หมายความว่าตายแล้วจึงจะไปนะ ในโลกหน้านี้เขาว่าอยู่ในระยะกาลต่อไป สัมปะรายะ (นาทีที่ 26:24) ในภาษาบาลีก็หมายความว่า ต่อไปข้างหน้า หลังจากวินาทีนี้ เป็นสัมปะรายะ (นาทีที่ 26:31) งั้นโลกหน้ามันต้องมี อย่าเข้าใจเขลาๆไปว่า ไม่มี ถ้าใครมีความเข้าใจ คิดเห็น ความรู้ความเชื่อถูกต้อง ว่ามีดี มีชั่ว มีบุญ มีบาป มีสุข มีทุกข์ มีโลกนี้ มีโลกหน้า มีนรก มีสวรรค์ มีบิดามารดา มีครูบาอาจารย์ ก็เรียกว่า เขามีสัมมาทิฐิ เป็นความถูกต้องข้อที่หนึ่ง สัมมาทิฐิพื้นฐานก็มีอยู่อย่างนี้ ถ้าสัมมาทิฐิสูงขึ้นไปก็เป็นเรื่องความรู้ที่สูงขึ้นไป รู้เรื่องทุกข์ว่าเป็นอย่างไร รู้เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ว่าเป็นอย่างไร รู้จักสภาพที่ว่าไม่มีทุกข์นั้นเป็นอย่างไร รู้จักหนทางไปถึงความดับทุกข์นั่นว่ามันเป็นอย่างไร นี่ก็เรียกว่าสัมมาทิฐิที่มันสูงขึ้นไปกว่าระดับธรรมดา จนกระทั่งสัมมาทิฐิสูงสุด เรียกว่าเห็นความจริงที่ลึกซึ้งของสิ่งทั้งปวง ในพุทธศาสนาเรียกสรุปด้วยคำๆเดียวว่า อิทัปปัจจยตา อิทัปปัจจยตา เป็นคำแปลกหูสำหรับคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นพุทธบริษัท มันมีอยู่มากในพระไตรปิฎก แต่ไม่ได้เอามาเห็น มาดู มาพูด อิทัป แปลว่า นี้ ปัจจยตา แปลว่า ความเป็นปัจจัย ใจความของมันก็ว่า เพราะความที่สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงมีขึ้น สิ่งนี้ก็คือหมายความว่าสิ่งหลัง แต่เขาใช้คำว่านี้ นี้ เหมือนกันหมด เพราะสิ่งนี้มีอยู่ สิ่งนี้จึงมีขึ้น สิ่งนี้มีอยู่ สิ่งนี้จึงมีขึ้น สิ่งนี้มีอยู่ สิ่งนี้จึงมีขึ้น ทยอยกันไปเป็นลูกโซ่ เป็นห่วงโซ่ ภาวะอย่างนี้เขาเรียกว่า อิทัปปัจจยตา สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น ถ้าเคยเรียนวิทยาศาสตร์มาอย่างถูกต้อง ก็จะมองเห็นความข้อนี้ วิชาวิทยาศาสตร์สมัยปัจจุบันจะแสดงความจริงข้อนี้ให้เห็นได้ ไม่มีอะไรที่เป็นของตายตัว หรือหยุดนิ่ง ที่เกิดขึ้นโดยการส่งเสริมซึ่งกันและกันเรื่อยไป ไม่มีอะไรเป็นของที่แท้และตายตัว นิ่งหยุดอยู่ได้อย่างนี้ เพราะฉะนั้นที่เรียกว่า ธาตุแท้ในโลกนี้ ก็ดู ธาตุเหล็ก ธาตุออกซิเจนอะไรก็ตาม มันก็เป็นอิทัปปัจจยตาทั้งนั้น มันมีเหตุปัจจัยที่ปรุงขึ้นมา ปรุงขึ้นมา ปรุงขึ้นมา ... (นาทีที่ 29:35) มันหลอกให้เป็นของแท้ เรามันโง่ นั่นก็คือหัวใจของสัมมาทิฐิชั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา เราเรียกว่าความจริง เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่พวกเด็กๆชอบหัวเราะเยาะกันนัก ถือเป็นความรู้ที่ถูกต้องสูงสุดของมนุษย์ชั้นพระพุทธเจ้า อนิจจังไม่เที่ยง ทุกขังดูแล้วแสดงลักษณะแห่งความเป็นทุกข์ อนัตตา ไม่มีส่วนไหนที่ควรจะถือว่าตัวตน มันไหลเรื่อย เพราะตัวตนคือความไหลเรื่อย มันก็เป็นของหลอก อย่าไปสำคัญสิ่งใดว่าเป็นของเที่ยง หรือไม่ทุกข์ หรือเป็นตัวตน นั่นแหละความเห็นที่ถูกต้องสูงสุดมันอยู่ที่นี้ นี่คือความถูกต้องข้อแรก คือความถูกต้องของความคิดเห็น ที่ข้อที่สอง ความถูกต้องของความมุ่งหมาย เรียกว่า สังกัปปะ สังกัปปะแปลว่าความหวัง ต้องการความมุ่งหมาย อันนี้ก็ต้องถูกต้อง แต่ว่ามันไม่ลำบาก ถ้าสัมมาทิฐิมันมี ถ้าความคิดเห็นถูกต้อง ความมุ่งหมายก็จะถูกต้องตามไปเอง ตามหลังมันไปได้ แต่นี่เรามายึดติดเอาที่รูปร่างของความมุ่งหมาย ในพุทธศาสนาก็จำแนกไว้ชัดว่า มุ่งหมายจะออกไปจากกาม มุ่งหมายจะไม่ประทุษร้าย มุ่งหมายจะไม่เบียดเบียน จะไม่ให้เป็นทางเบียดเบียนโดยประการทั้งปวง นี่มันไม่เหมือนกัน มุ่งหมายจะออกจากกาม ออกไปเสียจากอำนาจของสิ่งที่ยั่วเย้าหลอกลวงให้เราหลง กามแปลว่าของรัก ของใคร่ มุ่งหมายจะออกไปเสียจากอำนาจครอบงำผูกพันของสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความรัก ความใคร่ เรียกว่า มุ่งหมายจะออกไปเสียจากกาม แม้อยู่ในบ้านเรือน ยังครองเรือน มีคู่ผัวตัวเมียแล้วละก็ระวังให้ดี อย่าถลำลึกเกินไป ต้องอยู่เหนือบ้าง เหนืออำนาจครอบงำของสิ่งที่เรียกว่ากามกันบ้าง เพราะฉะนั้นจึงจะไม่ตกนรกทั้งเป็น ไม่ต้องฆ่าตัวตาย แต่สำหรับบรรพชิต เขาจะหลีกไปอยู่กันคนละมุมโลกเลย มีความมุ่งหมายอย่างรุนแรง แต่สำหรับชาวบ้านก็ควรจะรู้ว่าอย่าถลำลึกลงไปแล้วจมแช่อยู่ที่นั่น มันควรจะถอนตนออกมาได้ถ้าคิดจะถอนออกมาได้ อย่าเป็นคนตาบอดในเรื่องของกาม เพราะฉะนั้นคำนี้จะใช้ได้ตั้งแต่บรรพชิตเลยไปฆารวาส หมายมั่น มั่นหมาย มุ่งหมาย ดำริ ใฝ่ฝันที่จะออกมาเสียจากอำนาจของกาม อันที่สอง มุ่งหมายที่จะไม่ให้เป็นการพยาบาท พยาบาทนี่เบียดเบียนเขาด้วยเจตนา เขาเรียกว่าประทุษร้ายด้วยเจตนา จะมุ่งหมายออกไปให้พ้นเสียจากการประทุษร้ายด้วยเจตนา อันที่สามเรียกว่า วิหิงสา นี่คือการเบียดเบียนโดยไม่เจตนา เช่นว่าทำอะไรตามความต้องการของเรา แต่ไปทำคนอื่นให้เดือดร้อนโดยไม่เจตนา อันนี้ก็ต้องระวัง คนเห็นแก่ตัวมันไม่รับผิดชอบ มันจึงมีวิหิงสาอยู่เรื่อยไป เช่นว่าโรงงานอุตสาหกรรมทำอะไรสกปรก เหม็นหึงออกมา หรืออะไรก็ตามแต่ แม้แต่หนวกหู นี่เรียกว่าทำผู้อื่นให้ลำบากโดยที่ตนไม่ได้เจตนา ถ้าเขาคิดลึกเสียบ้าง เขามุ่งหมายเสียตั้งแต่ทีแรก มันก็ไม่มีอาการอย่างนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ 3 อย่าง เรื่องความมุ่งหมายถูกต้อง มุ่งหมายจะอยู่เหนืออำนาจของกาม มุ่งหมายที่จะไม่เบียดเบียนใครโดยเจตนา และมุ่งหมายที่จะไม่เบียดเบียนใครโดยไม่รู้สึกตัว ที่นี่ความถูกต้องของความมุ่งหมายทุกอย่างก็ให้สรุปรวมอยู่ที่นี่ รวมทั้งไม่เบียดเบียนตนด้วย อันถัดไป ความถูกต้องของการพูดจา อันนี้รู้กันมากอยู่แล้ว ว่าไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดยุยงให้แตกกัน และไม่พูดเพ้อเจ้อไร้ประโยชน์ ถ้อยคำที่ไม่ควรพูดเหล่านี้ มันเนื่องๆกัน มันสัมพันธ์กัน เดี๋ยวนี้มนุษย์พูดเพ้อเจ้อไม่มีประโยชน์อยู่ตลอดเวลาก็ว่าได้ ถ้าดูให้ดีมันพูดไอ้ที่ไม่ต้องพูด ไอ้พูดเล่น พูดหัว พูดอะไรไม่รู้เดี๋ยวนี้มันมีมากขึ้น มันสนุกสนานอยู่ในการพูดเล่น พูดหัว เสียนิสัยหมด ก็เลยเป็นคนเหลาะแหละไม่จริง อย่าไปเห็นเป็นของเล็กน้อย เพราะฉะนั้นไอ้การพูดเล่น พูดเพ้อเจ้อ ไม่ใช่ของเล็กน้อย ไม่ใช่ของปลายแถว หรือว่าหางแถวอะไร มันเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้คนเราโลเล เหลาะแหละ ไม่จริง อันแรกพูดถึงพูดเท็จ อันนี้เป็นเรื่องเลวมาก แล้วก็พูดคำหยาบคาย ถึงไม่มีใครต้องการจะฟังในโลกนี้ แต่ก็ยังพูดกันได้ มันเป็นอันธพาล พูดย้อนพูดยุพูดยั่วยุให้มันแตกกัน ทำลายความสามัคคี ในวิทยุที่กลุ้มอยู่ทั่วโลกในขณะนี้มีมาก อยู่ในรูปที่มันแฝง คำพูดมีแต่เป็นมึง เป็นกู ไม่มีคำพูดไหนที่จะรวมทั้งหมดเป็นคนๆเดียวกันของพระเจ้า เป็นมนุษย์ของพระเจ้า เป็นคนๆเดียว โดยเฉพาะคำพูดทางการเมือง มันเคลือบไว้ด้วยความยั่วยุอย่างร้าย แล้วก็พูดกันอยู่ทั้งวันทั้งคืนทั้ง 24 ชั่วโมงในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยคำเหล่านี้ แล้วโลกจะมีสันติภาพได้อย่างไร มันผิดหลักอย่างยิ่ง เขาเรียกว่าพูดส่อเสียด ฉะนั้นผู้ที่ไม่รู้ความหมายอันนี้ แต่ไปเข้าใจว่าพูดส่อเสียดนั้นคือพูดให้เจ็บใจ พูดส่อเสียดเขาว่าพูดเหมือนตอกลิ่ม ภาษาบาลีคำนี้แปลว่าพูดอย่างตอกลิ่ม นั่นคือพูดส่อเสียด ตอกลิ่มให้มันแยกออกเป็น 2 ฝ่าย ปิสุนาวาส (นาทีที่ 38:42) เป็นคำพูดที่เป็นการตอกลิ่ม เปสุนยาวาส (นาทีที่ 38:47) ก็เรียก มุสาวาส พูดเท็จ พรุสวาส พูดคำหยาบ ปิสุนาวาส หรือ เปสุนยาวาส พูดตอกลิ่ม สัมปปราวาส (นาทีที่ 38:4) พูดโปรยประโยชน์ทิ้งให้หมด ต้องเว้น 4 ประการนี้ก็เรียกว่ามีความถูกต้องทางการพูดจา ทีนี้เราก็มาถึงความถูกต้องในการกระทำทางกาย เรียกว่า สัมมากัมมันโต สัมมาวาจาถูกต้องฝ่ายพูดจา สัมมากัมมันโตถูกต้องฝ่ายการกระทำทางกาย ที่เป็นพระบาลีพุทธภาษิตระบุไว้ชัดว่า ปาณา อทินนา กาเม นี่ชินหูกันที่สุด ปานาไม่ประทุษร้ายชีวิต อทินนาไม่ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติ กาเมไม่ประทุษร้ายของรักของใคร่ ตรงนี้อยากจะบอกว่า แม้ที่ตรัสสำหรับภิกษุก็ตรัสคำนี้ อถังทิกมรรค (นาทีที่ 40:10) ที่ตรัสแก่ภิกษุ หรือจะตรัสแก่ฆราวาสก็ตาม ใช้คำๆเดียวกันนี้ คือคำว่า กาเมสุมิจฉาจารา ทีนี้มันก็เกิดเป็นปัญหาขึ้นมา ในเมื่อเราตีความหมายผิด ฉะนั้นคำว่ากาเมสุมิจฉาจารา เว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย สำหรับฆราวาสก็ตีไปอย่างหนึ่ง สำหรับบรรพชิตก็ต้องตีไปอย่าง ตัวหนังสือเดียวกัน ตัวหนังสือมันว่าประพฤติผิดในกามทั้งหลาย เดียวนี้ก็ตีความกันผิดๆในหมู่อนุศาสนาจารย์ พูดดูถูกดูหมิ่นกันซะอย่างนี้ ไปตีความหมายกันในเรื่องทำชู้ ประพฤติผิดในระหว่างเพศ แล้วลูกเด็กๆเล็กๆเพิ่งเกิดมันจะถือได้อย่างไรศีลข้อนี้ เด็กชั้นอนุบาลจะถือได้อย่างไร มันตีความหมายผิดจนเด็กเล็กๆอย่างนี้ไม่ต้องถือศีลข้อนี้ แต่ถ้าเราถือเอาตามที่พระพุทธเจ้าตรัส มุ่งหมายว่าประพฤติผิดในของรักของใคร่ทั้งหลาย ทีนี้คนทุกวัยมันมีของรักของใคร่กันทั้งนั้น เด็กๆก็มีของรักของใคร่ไปตามประสาเด็กๆ เช่นตุ๊กตา เป็นต้น หรือมันจะรักอะไรก็ตามใจ มันเป็นของรักของเขา อย่าไปแตะต้อง อย่าไปประทุษร้ายของรักของเขา งั้นเด็กเล็กๆพอรู้จักประสีประสาพูดได้ก็ต้องถือศีลข้อนี้ ว่าของรักของคนอื่นอย่าไปแตะต้อง อย่าไปเหยียบย่ำ อย่าไปทำให้เขาเจ็บใจ ช้ำใจ ทีนี้พอโตขึ้นมาของรักมันเปลี่ยน มีหนุ่มสาวคนไหนยังเล่นตุ๊กตาอยู่บ้าง มันก็เปลี่ยนเป็นเรื่องอื่น เรื่องเพศ เรื่องอะไร งั้นอย่างไปแตะต้องของเขา ทีนี้เป็นอันว่าฆราวาสก็ถืออย่างนี้ อย่าไปแตะต้องของรักของเขา ประทุษร้ายของรักของเขา ให้เขาช้ำใจ ฉะนั้นจะเรียกว่าประพฤติผิดในของรัก หรือกาม ทีนี้พอบรรพชิตก็บรรยัติว่าประพฤติผิดในกาม คือไปเสพกามนั่นแหละ เพราะฉะนั้นบรรพชิตจึงเว้นจากการเกี่ยวข้องกับกามทั้งปวง จึงจะเรียกว่าไม่ประพฤติผิดในกาม ฉะนั้นบรรพชิตก็คงใช้ความหมายนี้ได้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ด้วยคำๆเดียว สัมมากัมมันโต ก็จะต้องไม่ประพฤติผิดในกามเหมือนกันหมด บรรพชิตก็เว้นขาดไป ฆราวาสก็ทำแต่ที่ถูกที่ควรสำหรับฆราวาส ส่วนบรรพชิตความถูกความควรนี้มันอยู่ที่ไม่แตะต้องในเรื่องกาม ทีนี่เรื่อง... (นาทีที่ 43:28) ก็ไม่ต้องพูดเสียเวลาเปล่าๆ พูดกันอยู่เองได้แล้ว แต่ขอให้จำกัดความดีๆหน่อยว่า ปาณาอย่าไปประทุษร้ายชีวิต กล้ำกลายเขา อทินนาอย่าไปประทุษร้ายทรัพย์สมบัติเขา กาเมอย่าไปประทุษร้ายของรักของใคร่เขา ที่เกี่ยวกับเขา เกี่ยวกับบรรพชิตก็อย่าไปเกี่ยวข้องกับกาม ถึงจะเรียกว่าถูกต้องในกาม สำหรับบรรพชิต ทีนี้ก็ไปสงสัยว่าทำไมพระพุทธเจ้าตรัสเหมือนกันหมดทั้งบรรพชิตและคฤหัส คงมรรคข้อนี้ ที่ถัดไปก็ความถูกต้องในการเลี้ยงชีวิต เขาเรียกว่า อาชีวะ จะเป็นการแสวงหา หรือการมีไว้ หรือการได้มา การบริโภคซึ่งปัจจัยเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิต ต้องทำให้ถูกต้อง เรียกว่าสัมมาอาชีวะ หาปัจจัยที่เลี้ยงชีวิตถูกต้อง มีไว้ถูกต้อง บริโภคถูกต้อง เรียกว่าดำรงชีวิตถูกต้อง ความหมายก็กว้าง ก็สรุปได้คำเดียวว่า มีการเลี้ยงชีวิต ดำรงชีวิตให้ถูกต้องก็แล้วกัน อย่าไปทำที่ผิดๆ จะทำอาชีพอะไร เป็นข้าราชการ เป็นครูบาอาจารย์ หรือเป็นพ่อค้า ชาวนา ชาวสวน ก็ให้ได้ชื่อว่าเป็นการหาเลี้ยงชีวิตที่ถูกต้อง ไม่มีโทษไม่มีการเบียดเบียน ผู้ใดเขาเรียกว่าถูกต้อง ทีนี้ต่อไปความถูกต้องในความพยายาม วายามะ เป็นไทยว่าพยายาม ไปถอดรูปมาจากคำสันสกฤต ความพยายามภาษาบาลีเรียกว่า วายาโม วายามะความพยายามนี่ต้องถูกต้อง มีหลักที่กล่าวไว้ดี ควรจะจำให้แม่นยำว่า พยายามระวังในสิ่งที่ต้องระวัง พยายามละในสิ่งที่ต้องละ พยายามสร้างสิ่งที่ควรจะสร้างขึ้นมา พยายามรักษาสิ่งที่ดี ที่สร้างขี้นมาดีให้คงดีอยู่ต่อไป 4 หัวข้อใช้ได้ตลอดโลก เกือบทุกชนิดของหน้าที่การงาน ทุกชั้นทุกวัยของบุคคล และพยายามอย่างยิ่งที่จะระวังในสิ่งที่ต้องระวัง เดี๋ยวนี้เราไม่ระวัง ก็ปล่อยไปตามสบาย แล้วก็ต้องละในสิ่งที่มันควรละ อย่าไปละ อย่าไปเสพกับมัน ต้องละให้มันเด็ดขาด แล้วก็ต้องสร้างหรือว่าก่อในสิ่งที่ควรก่อควรสร้าง นี่เราไม่ต้องพูดละ คุณอาจจะรู้ดีกว่าอาตมาก็ได้ ควรสร้างควรก่ออะไรในโลกนี้ และต้องรักษาในสิ่งที่ควรรักษา เราก็ข้ามไปได้ข้อนี้ ถ้าทำอย่างนี้ก็จะเรียกว่า พากเพียรอยู่อย่างถูกต้อง พยายามอยู่อย่างถูกต้อง ถัดไปความถูกต้องในการดำรงสติ สติสัมประดี ทำให้ถูกต้อง เพราะมันผิดได้ มีสัมประดีผิดได้ มีสติผิดได้ ต้องระลึกไว้ให้ถูกต้องในสิ่งที่ถูกต้องให้มันแม่นยำ ให้มันลืมไม่ได้ พอลืมเขาก็จะหาว่าเสียสติ เสียสัมปชัญญะ เสียสัมประดี ที่เป็นหลักธรรมะสูงสุดเขาพูดไว้ว่า มีสติถูกต้องอยู่เสมอ ในเรื่องของร่างกาย ทางกาย เกี่ยวกับกาย ถูกต้องอยู่เสมอในเรื่องที่เกี่ยวกับเวทนา หรือปัสสะ ปัสสะตัวร้ายเลย เวทนาตัวร้าย อันนี้ทำให้คนบ้า หรือดี หรือชั่ว ความรู้สีกเอร็ดอร่อยที่เกิดขึ้น โดยอาศัยตาหูจมูกลิ้นกาย เรียกว่าเวทนา ระวังให้ดี มีสติ ถูกต้องมั่นคงเกี่ยวกับเรื่องนี้ เรียกว่าในเวทนา ถูกต้องในเวทนา ถูกต้องในจิต ในลักษณะของจิต พฤติของจิต มีสติระวังให้ดี ให้จิตอยู่สภาวะที่ถูกต้อง แล้วก็ธรรม ธรรมคือความจริงข้อเท็จจริง ความจริงทั้งหลาย ต้องมีสติดำรงไว้เพื่อจะรู้ธรรม มีธรรม มีหลักธรรมที่ถูกต้องอยู่เสมอ แต่ถ้าเป็นชั้นสูงสุดก็เพื่อจะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จากสิ่งเหล่านี้ แต่นี่ทั่วไปสำหรับชาวบ้าน เรียกว่า ร่างกายหรือเกี่ยวกับกาย ต้องมีสติกับมันให้ดีๆ อย่างสัมผัสทางจิตใจ ทางเวทนาก็ต้องระวัง มีสติกับมันให้ดีๆ แล้วก็ตัวจิตเองซึ่งปกติกลับกลอก หลอกลวง หวั่นไหวอยู่เสมอ มีสติระวังกับมันให้ดีๆ แล้วความจริงทั้งหลายในโลก คือธรรมะ ก็ต้องมีสติสัมพันธ์กันให้ดีๆ มีความถูกต้องทางสติสัมปชัญญะ สัมประฤดี มันมีอยู่อย่างนี้ อย่าไปกินเหล้า ให้สติสัมปชัญญะมันเสียไป แม้ว่าเหล้าจะให้ปัสสะ หรือเวทนาที่อร่อยที่ถูกใจ ซึ่งมันจะทำให้หมดสติ เพราะสิ่งเสพติดทุกชนิดควรเว้น แม้ที่สุดแต่ว่าบุหรี่ เพราะมันทำให้ลำบาก พอเงี่ยนบุหรี่เข้ามามันก็ไม่มีสัมปชัญญะ ยกตัวอย่างนะ มันยังมีอย่างอื่นอีกแยะ สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ปราศจากสติ ก็ต้องเว้นไว้ คือศีลข้อที่ 5 สุราเมรัย ก็มาเกี่ยวข้องกับข้อนี้ คือต้องมีสติที่ถูกต้อง ถ้าไปทำ ไปเสพ ไปติดต่อกับไอ้สิ่งที่มันทำลายสติ แล้วจะมีสติถูกต้องได้อย่างไร คิดดูเองบ้าง ทีนี้ก็สัมมาสมาธิ ความถูกต้องในการตั้งจิตมั่น ก็เป็นเรื่องจิต คือมีการดำรงจิตที่ถูกต้อง สมาธิแปลว่าตั้งมั่น ตั้งมั่นแห่งอะไร ตั้งมั่นแห่งจิต ตั้งมั่นแห่งจิตที่ถูกต้อง โดยหลักทั่วไปคือมีจิตเป็นสมาธิ ทีนี่มีจิตเป็นสมาธิคนเข้าใจผิด นึกว่าแข็งทื่อเหมือนท่อนไม้ เหมือนคนตาย เหมือนคนหลับ มันว่าเอง พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสอย่างนั้น ถ้าเป็นสมาธิของจิตนั้นมีลักษณะสังเกตไว้ จัดไว้ 3 อย่าง คือ จิตบริสุทธิ์ หมายความว่าไม่มีความผิด ความชั่ว หรือกิเลศ หรือสกปรกอะไรในจิต เรียกจิตบริสุทธิ์ แล้วก็จิตมั่นคง ไม่หวั่นไหว ไม่โยกเยก ไม่ฟุ้งซ่าน แล้วก็จิตว่องไวในหน้าที่ อย่างแรกเรียก ปริสุทโธ จิตบริสุทธิ์ อย่างที่สองเรียกว่า สมาธิโต จิตตั้งมั่น อย่างที่สามเรียกว่า กรรมนีโย จิตว่องไวในหน้าที่ คือกรรมคือการกระทำ ทีนี้เราพูดกันติดปากว่า active คือว่องไวในหน้าที่ เป็นองค์อันหนึ่งของจิตที่เป็นสมาธิ จิตบริสุทธิ์ pure หรือ clear หรืออะไรก็ตาม จิตตั้งมั่น firm, stable อันแรกเรียกว่า pureness หรือ clearness อันที่สอง firmness, stability อันที่สาม activeness ไม่ใช่ activity นะ activeness ก็คือแคล่วคล่องว่องไวในหน้าที่ ไม่ใช่เพียงแต่การเคลื่อนไหวเฉยๆ activity มันเล็งไปถึงการเคลื่อนไหวเฉยๆ เคลื่อนไหว เคลื่อนไหวได้เร็ว แต่ activeness มันต้องว่องไวในหน้าที่ ถูกต้องตามหน้าที่ มีภาวะบริสุทธิ์ มีภาวะมั่นคง มีภาวะว่องไวในหน้าที่ ก็เรียกว่าจิตเป็นสมาธิ ใช้ได้ทุกอย่างทุกประการ แม้แต่ทำไร่ทำนาก็ต้องมีจิตชนิดนี้ ปัญญาชนก็ต้องมีจิตชนิดนี้ ถ้าเป็นไปสูงสุดในทางพระพุทธศาสนาก็คือจิตที่บรรลุฌาน ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุทฌาณ ก็เลยมีความหมายอย่างนี้ยิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไป แต่ว่าเป็นไปในทางที่จะชนะกิเลส เพราะว่าหน้าที่ในทางธรรมก็คือชนะกิเลส พ้นจากกิเลส หน้าที่มันมีอยู่อย่างนั้น เพราะเราอบรมจิตให้ว่องไวในหน้าที่อย่างนั้น เป็นเรื่องที่บรรลุฌาณ แล้วบรรลุญาณ แล้วก็บรรลุมรรคผล แต่นี้ถ้าอยู่ที่บ้านที่เรือนก็เอาตามความหมายพื้นฐานที่วางไว้ทั่วไปว่า ปริสุทโธ สมาธิโต กรรมนีโย อย่างที่ว่าแล้ว ที่นี้ความถูกต้องของการดำรงจิต หรือมีจิตดำรงมั่นอย่างถูกต้อง รวมเป็น 8 ความถูกต้อง ถูกต้องทางความคิดเห็น ถูกต้องทางความมุ่งหมาย ถูกต้องทางการพูดจา ถูกต้องในการกระทำทางกาย ถูกต้องในการเลี้ยงชีวิต ถูกต้องในความพยายาม ถูกต้องในความมีสติสัมปชัญญะ ถูกต้องในการดำรงจิตมั่น รวมกันเป็น 8 อย่าง แล้วก็รวมกันเป็นอย่างเดียว คือเป็นหนทาง นี่คืออริยมรรค หนทางอันประเสริฐในพุทธศาสนา ที่จะเป็นทางแห่งสังคมได้ดีที่สุด สังคมจะได้เดินไป ที่นี่เรามาดูกันรูปที่ว่าจะให้มันเป็นพวกๆ ง่ายๆ กำหนดง่ายๆ ขึ้นมา ก็เรียกว่าถูกต้องทางความรู้หรือสติปัญญานี่พวกหนึ่ง ถูกต้องในการกระทำนี่พวกหนึ่ง แล้วถูกต้องในกำลังจิตที่จะมาส่งเสริมสติปัญญาหรือการกระทำนี่พวกหนึ่ง ความถูกต้องหมวดหนึ่งเป็นความถูกต้องทางสติปัญญา ความถูกต้องหมวดที่สองคือความถูกต้องในการกระทำ ถูกต้องอีกหมวดหนึ่งก็คือถูกต้องในการที่จะมีกำลังอุดหนุนสติปัญญาและการกระทำ นี่เป็น 3 หมวดอย่างนี้ก็ได้ ก็คือมรรคมีองค์ 8 นั่นเอง ที่ดูอีกเหลี่ยมหนึ่งก็คือ ถูกต้องในทางกายวาจา ประพฤติวาจาถูกต้อง ถูกต้องทางจิต มีการดำรงจิตหรือภาวะจิตที่ถูกต้อง แล้วก็มีความถูกต้องทางสติปัญญา ความคิดความเห็น นี่ก็เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ทีนี้จะเรียกอย่างอื่นก็ได้อีกว่า ถูกต้องในความเชื่อ หลักของความเชื่อถูกต้อง แล้วถูกต้องในทางความรู้ แล้วก็ถูกต้องในการกระทำ เท่านี้มันก็พอแล้ว มันเริ่มที่ความเชื่อถูกต้อง เด็กๆ ต้องเชื่อบิดามารดา ครูบาอาจารย์ จึงจะได้ความเชื่อที่ถูกต้องมา อย่าเพิ่งเชื่อตัวเอง จึงมาถึงความเชื่อ ความถูกต้องของความรู้ ทีนี้ไม่ใช่ความเชื่อแล้ว มันเป็นความรู้ พอความรู้ สติปัญญา ความคิดเห็นมันถูกต้องแล้ว จึงไปเป็นความถูกต้องในการกระทำ คือกระทำไปตามความรู้ที่ถูกต้อง นี่คือการดำรงชีวิตอยู่ในโลก ถ้ามันเป็นอย่างนี้แล้วเราก็มีสังคมที่ดี มีความเชื่อถูกต้อง มีความรู้ถูกต้อง มีการกระทำถูกต้อง ทีนี้ไปดูที่เราอยู่ๆกัน มันไม่ค่อยจะมีความถูกต้องอย่างนี้นัก มันเอาแต่ตามใจตัวเอง ทีนี้มาดูว่าทางนี้ประเสริฐอย่างไร พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าทางประเสริฐ มันก็นำไปสู่ความดับทุกข์ คือจะพาสังคมไปสู่สันติภาพถาวร จะพาปัจเจกชนไปสู่สันติสุขอันแท้จริง อย่างที่ว่ามาแล้ว โดยส่วนตัวบุคคลได้สันติสุขที่แท้จริง โดยส่วนรวมก็ได้สันติภาพถาวร ทางนี้ประเสริฐสำหรับจะทำให้โลกนี้ไม่ว่างจากมนุษย์ที่ดี สัตตบุรุษ หรือพระอรหันต์ ถ้าทางนี้ยังคงมีอยู่ในโลก โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ มันประเสริฐอย่างนี้ ที่นี้บางทีก็เรียกอีกอย่างง่ายๆว่าทางสายกลาง แทนที่จะเรียกว่าทางประเสริฐก็เรียกว่าทางสายกลางก็มี มัชชิมาปฏิปทา หนทางสายกลาง กลางอย่างไร ถ้าพูดอย่างสมัยใหม่ก็กลาง คือ ไม่ positive ไม่ negative positive มันไปในทางหลงรัก negative มันไปในทางเกลียดชัง positive มันเป็นในทางที่ดี ดี ดี มากเกินไป negative ก็เป็นในทางไม่ดี ไม่ดี ไม่ดีมากเกินไป นี่มันบ้า มันอยู่ตรงกลาง อิทัปปัจจยตา เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี แล้วอยู่ตรงกลาง เป็นไปตามกฎแห่งเหตุผล อยู่ในอำนาจของเหตุผล ไม่พูดเป็น negative positive โดยเด็ดขาดตายตัวลงไป ถูกแล้วโดยคำพูดจัดได้ว่าอันนี้เป็น negative อันนี้เป็น positive แต่ว่าการปฏิบัติดำรงชีวิตนี้จะต้องไม่เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งโดยส่วนเดียว จะต้องอยู่ที่การแก้ไขไอ้ร้ายให้กลายเป็นดี แก้ไขผิดให้มันเป็นถูก อันนี้เรียกว่าอยู่ตรงกลาง positive ก็ไม่ถูก negative ก็ไม่ถูก แต่อาจจะบัญญัติเป็นอย่างอื่นก็ได้ ก็เรื่องถูก เรื่องผิดก็ได้ แต่ไปดูเถอะมันเป็นไปไม่ได้ บางที positive มันถูก บางที negative มันถูก เพราะฉะนั้นเราไม่ไปยึดมั่นข้างใดข้างหนึ่งโดยส่วนเดียว เราอยู่ที่ตรงกลาง ไอ้หลักปฏิบัติในพุทธศาสนาต้องการจะให้เป็นอย่างนี้ สอนให้อยู่ในเหตุผลที่ตรงกลางนี้ เพราะสิ่งนี้สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้สิ่งนี้จึงมี เราต้องการสิ่งไหนเราก็ทำปัจจัยเหตุของสิ่งนั้น ไอ้เรื่องที่มันเป็น positive ของคนนี้ มันอาจเป็น negative ของคนอื่นก็ได้ เราไปบังคับเขาอย่างนี้ไม่ได้ จะไม่ประชาธิปไตย ระวังให้ดี อย่าทะเลาะกันก็เพราะยึดมั่นโดยส่วนเดียว ตามความคิดเห็นของตน งั้นก็ทะเลาะวิวาทกันเท่านั้นเอง ทีนี้เรามาดูว่าทำไมมันถึงต้องกลาง ถ้ามันเอียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมันไม่สมดุลใช่มั้ย positive ก็เสียดุลไปหมด negative ก็เสียดุลไปหมด ถ้าอยู่ตรงกันมันถึงจะสมดุล เราต้องการความสมดุลอย่างมาก ต้องไปดูให้ดี ไปติดซ้ายติดขวา ติดหน้า ติดหลัง ติดบน ติดล่างนี้มันไม่สมดุล ไอ้จุดศูนย์กลางมันจะสมดุล งั้นเราต้องดูว่า ไอ้ความหมายพิเศษนั้นกลางมันอยู่ตรงไหน ไอ้กลางมันต้องอยู่ที่ตรงจุดศูนย์กลางของทุกอย่าง หลับตาดูภาพไอ้การออกไปทุกทิศทุกทาง radiation มันจะแผ่ไปทุกทิศทุกทาง ทั้งบน ทั้งล่าง ทั้งซ้าย ทั้งขวา ได้หมด ไอ้จุดศูนย์กลางคือกลาง ตรงนั้นจะสมดุล ตรงอื่นไม่มีสมดุล มัชชิมาปฏิปทา อยู่ตรงกลาง มันกลางอย่างนี้ จากทุกทิศทุกทางมาอยู่ตรงจุดศูนย์กลาง เราจะพูดเอาเองก็ได้ว่า ความถูกต้อง 8 ประการมันเหมือนกับ radiation คือ 8 ทิศ 8 ทาง แล้วมันไปจุดอยู่ที่ตรงกลาง มัชชิมาปฏิปทา เพราะต้องจุดอยู่ที่นั่น ความถูกต้องทุกๆทิศทุกๆทางมารวมจุดอยู่ที่ตรงกลาง เกิด มัชชิมาปฏิปทา ขึ้นมา อะไรๆมันก็ต้องวิ่งไปสู่ศูนย์กลาง ธรรมชาติแท้ๆก็ดู ไอ้จุดศูนย์กลางของโลกเป็นที่รวมของความดึงดูดรอบไอ้ก้อนโลกนี้ ตรงนั้นเป็นกลาง มันหยุดได้ ถ้าไม่งั้นยังต้องวิ่งอยู่เรื่อย ไม่สนุก ทีนี้ความถูกรต้อง 8 ประการนี้ มันจะรวมมนุษย์ รวมมนุษย์ทั้งโลก มาอยู่ที่จุดศูนย์กลาง ถ้าเราชวนกันปฏิบัติ มัชชิมาปฏิปทา มันจะดึงมนุษย์ทุกทิศทุกทางมาอยู่ที่จุดศูนย์กลางจุดหนึ่ง ซึ่งดีที่สุดในทางที่จะไม่เกิดความทุกข์ มันเข้าใจกันได้ มันรักกันได้ มันมองดูกันด้วยสายตาแห่งความรัก เป็นจุดเดียวอันเดียว ไม่แบ่งแยกเป็นเขาเป็นเรา เป็นมึงเป็นกู งั้นไม่มีสังคมไหน ที่จะดีไปกว่าสังคมที่มันอยู่ด้วยลักษณะอย่างนี้ คืออยู่ในหนทางที่ถูกต้อง หรือมัชชิมาปฏิปทา หรือหนทางอันประเสริฐ ให้มันรวมกันสนิทเหมือนกับเชือกเส้นหนึ่งมีหลายเกลียว มันทำงานร่วมกัน เขาเรียกว่าสามัคคี มรรคะสามัคคี องค์แห่งมรรครวมกันเป็นองค์เดียว เชือกบางเส้นมีไม่รู้กี่สิบเกลียว ดูเชือกที่สำคัญๆบางอย่างเช่นลวดสลิง ลวดเส้นนึงก็คือเกลียวนึง แล้วมันก็มีไม่รู้กี่ร้อยเส้นบางที ควั่นกันเป็นลวดสลิงเส้นนึง ยกของเป็นร้อยตัน นี่ไอ้ความสามัคคีขององค์ประกอบที่ควรจะมีในพุทธศาสนาเรียกว่า มรรคะสามัคคี ถ้าอันนี้มาแล้วรู้มรรคผลนิพพานแน่ ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน ถ้ามีอันนี้แล้วก็เป็นมนุษย์ที่ประเสริฐ เป็นพระอริยเจ้า เป็นสังคมแห่งพระอริยเจ้า เนี่ยคือตัวพุทธศาสนา เป็นตัวพรหมจรรย์ด้วยกันทุกศาสนา แล้วก็เรียกอย่างภาษาธรรมดาที่สุดว่า ทางเดิน ถ้าคุณไม่สังเกต ควรจะสังเกตดูว่าไอ้ศาสนาคือตัวทาง เรียกว่า ทาง ทุกศาสนา แล้วมีอยู่ก่อนอันใดหมด ตั้งแต่ทางของมนุษย์สมัยหิน มันก็ถือเอาทางเป็นหลักสำคัญ ไอ้ทางนี่ยืมมาใช้เป็นชื่อของศาสนา ศาสนาก่อนพุทธศาสนา เช่นศาสนาเต๋า ถือว่าลัทธิเต๋าก่อนพุทธศาสนาอยู่หลายปี เขาว่าเต๋าแปลว่า ทาง รู้ไว้เฉยๆว่าเต๋าแปลว่าทาง ศาสนา...(นาทีที่ 1:06:50) ไอ้คำที่เล็งถึงตัวศาสนา คำนั้นก็แปลว่าทาง เข้าใจกันอย่างนั้น เคยถามกันลงไปอย่างนั้น พอมาถึงพุทธศาสนา ก็มีคำว่ามรรคนี้ มรรคเป็นองค์ 8 เป็นตัวพรหมจรรย์ เป็นตัวศาสนา พุทธเจ้าตรัสว่า มรรคมีองค์ 8 เป็นตัวพรหมจรรย์ พรหมจรรย์เป็นตัวศาสนา ก็คือทางนั่นเอง พระเยซูก็พูดว่า ฉันนี่แหละคือทาง ตัวฉันนี่แหละคือทาง ให้เดินตามพระเยซูนั่นแหละคือทาง แล้วก็พูดได้ว่าพระมูฮำหมัด ... (นาทีที่ 1:07:34) คือทาง ถ้าใครไม่เดินตามฉันจะตัดคอเลย ไอ้คำว่าทางมันมีความหมายประหลาดที่สุดเลย เพราะทำให้คนอันทพาล ต้องใช้ดาบ บังคับให้มันเดินตามทาง เพราะงั้นดาบของมูฮำหมัดนี่แหละคือทาง ที่เราพูดอย่างไม่รู้ว่าเขาจะชอบหรือไม่ชอบก็ไม่ทราบ แต่ว่ามันจริงที่สุด นี่ก็แสดงว่าศาสนาทุกศาสนามันมีตัวตน ตัวแทนของศาสนาก็คือหนทาง ทางของสังคมที่สังคมจะต้องเดินไปสู่จุดๆเดียวกันคือการดับทุกข์โดยสิ้นเชิง ทั้งส่วนตัวบุคคลและส่วนสังคมด้วย สังคมมนุษย์ควรจะเดินตามทาง ไม่เดินตามทางก็ไม่ใช่สังคมมนุษย์ เป็นสังคมสัตว์อะไรไปแล้ว ผิดจากนี้ไม่ใช่มนุษย์ ถ้ามนุษย์ต้องเดินตามทาง ทางนี่มีไว้สำหรับสังคมมนุษย์เดิน สังคมคำนี้ก็ได้มาพร้อมกันหรือไปพร้อมกัน สมาคมจะไปจะมาก็พร้อมกัน มาพร้อมกันที่ไหน มาพร้อมกันที่จุดนี้ ทางนี้ ทางมีองค์ 8 ในพุทธศาสนา คือทางของสังคม ทางรอดของสังคมโลก ของสังคมมนุษย์ มันเป็นทางของสัมมาทิฐิบุคคล คือบุคคลผู้มีสัมมาทิฐิ มันไม่ใช่ทางของมิจฉาทิฐิบุคคล ไม่ใช่ทางของอันธพาล แต่ถ้าอันธพาลต้องการทางอันนี้มันก็ดี มันก็เปลี่ยนเป็นสัตตบุรุษไป ก็ขอให้ทุกคนมีทางที่ถูกต้อง มีสัมมาทิฐินำหน้าแล้วอื่นๆจะถูกหมด ความถูกต้องในการคิดเห็นดี แล้วอื่นๆจะถูกหมด พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนี้ ความคิดเห็นถูกต้อง หรือความถูกต้องของความคิดเห็นนำหน้า เหมือนแสงสว่างนำหน้า แล้วสัมมาทิฐิอยู่หลังๆสุด คือกำลังที่จะผลักดันทั้งหมดให้ไปข้างหน้า ทีนี้นอกนั้นมันก็ไปข้างหน้าทั้งนั้น เพราะฉะนั้นทางนี้จึงไปสู่สิ่งอันประเสริฐ คือความดับทุกข์โดยประการทั้งปวง สังคมต้องเดินทางนี้ ไม่อย่างนั้นจะลงนรก เรียกว่าทางของสังคมที่ดี หรือทางของสังคม ถ้าเราจะจัดสังคมเราต้องนึกถึงทางนี้ มันเป็นหลัก เป็นแนว เป็นกระบวน เป็นตัวการ เป็นรากฐาน เป็นสุดยอดก็อยู่ที่นี่ เรียกว่าทางของสังคมที่ดี เอาละพอกันที