แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๑๔ สำหรับพวกเราที่นี่ ได้ล่วงมาถึงเวลา ๔:๓๐ น. แล้ว วันนี้เป็นการบรรยาย ครั้งที่ ๖ ของเตกิจฉกธรรม ซึ่งจะได้บรรยายโดยหัวข้อว่า สภาพปกติทางมรรยาทในฐานะเป็นเครื่องเยียวยา รักษาโรคทางวิญญาณ
ทุกวันเราต้องเริ่มด้วยคำไหว้ครูว่า สัพพัญญู สัพพทัสสาวี ชิโนอาจาริโยมะมะ มหาการุณิโก สะถา สัพพะ สัพพะโลกะ จิกิตจะโก (นาทีที่ 01:20) ซึ่งแปลว่า อาจารย์ของเราเป็นผู้รู้สิ่งทั้งปวง เป็นผู้เห็นสิ่งทั้งปวง เป็นพระศาสดาผู้มีกรุณาอันใหญ่หลวง เป็นผู้ชนะมาร เป็นผู้แก้ไขเยียวยารักษาโรคของ โลกทั้งปวง ดังนี้ ทุกคราวไป
สำหรับวันนี้ ที่จะกล่าวโดยหัวข้อว่า สภาพปกติทางมรรยาทนั้นที่จริงก็คือเรื่องศีลนั่นเอง แต่ถ้าจะเรียกชื่อว่าศีล คนส่วนมากก็จะทำจมูกย่น ซึ่งอาจจะรวมถึงพวกคุณทั้งหลายเหล่านี้ด้วยก็ได้ แต่ถ้าพูดถึงด้วยคำว่า สภาพปกติทางมรรยาท ก็ดูจะไม่เป็นเช่นนั้น คืออาจจะสนใจ อย่างน้อยก็ด้วยความสงสัย ว่าจะเป็นเรื่องอะไรกันแน่ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรจะกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ ๒ ของบรรดาสิ่งซึ่งเป็นเครื่องเยียวยารักษาโรค
ในครั้งที่แล้วมา ก็ได้พูดถึงการรับนับถือศาสนา นั้นเป็นเรื่องที่ ๑ เพื่อการเยียวยารักษาโรค วันนี้เป็น เรื่องสภาพปกติทางมรรยาทของชีวิต ที่ควรจะต้องการ ก็เป็นเรื่องการเยียวยารักษาโรคอีกเหมือนกัน ทำไมจึงได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในวันนี้ คือกล่าวถึงเรื่องศีลในนามที่ไพเราะเพราะพริ้ง หรืออาจจะไพเราะ เพราะพริ้ง สำหรับพวกคุณ ว่าสภาพปกติทางมรรยาทของชีวิตที่ควรจะต้องการ
ลองเปรียบเทียบดูถ้าพูดว่าศีล ก็เบื่อระอา ในฐานะที่เป็นระเบียบ เป็นคำที่ซ้ำ ๆ ซาก ๆ ครำ ๆ ครึ ๆ ตามศาลาวัด แต่ถ้าพูดว่า สภาพปกติทางมรรยาทของชีวิตที่ทุกคนควรจะต้องการ อย่างนี้คุณฟังออก รู้เรื่อง และมีส่วนที่น่าสนใจ เพราะพูดว่าศีลคุณฟังไม่ออก หรือว่าออกไปในทาง ที่มีความหมาย ที่ครึคระ ถูกเหมาว่า เป็นของครึคระ เบื่อระอา นี่ก็เพราะว่าพวกนักศึกษาสมัยนี้ ไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าศีลนั่นเอง หรือถ้ารู้จักศีลก็รู้จักน้อยเกินไป ส่วนมากก็ไม่รู้จักเสียเลย เพียงแต่ได้ยินคำว่า ศีล ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่ดูหมิ่น พูดตามที่สังเกตเห็นตามที่เป็นจริง
ความจริงนั้นมีอยู่ว่า ถ้ารู้จักศีลแล้วจะชอบศีล ยิ่งรู้จักศีลมากขึ้นเท่าไหร่ก็จะยิ่งชอบศีลมากขึ้นเท่านั้น เดี๋ยวนี้ถ้าคุณไม่ชอบศีลก็หมายความว่า คุณไม่รู้จักศีล ผมยืนยันได้ว่า ใครก็ตามถ้ารู้จักศีลจะชอบสิ่งที่เรียกว่า ศีล ถ้าไม่รู้ก็ไม่ชอบ ยิ่งรู้ผิด ๆ ก็ยิ่งเห็นว่ามันครึคระ
ยิ่งนักศึกษาสมัยปัจจุบันนี้ ที่เขาไม่มีการศึกษา เรื่องศีล ได้ยินได้ฟังแต่ในแง่ ที่มันน่าเอือมระอาจึงทำหน้าจมูกย่น เมื่อได้ยินคำว่าศีล ขอให้ตั้งใจฟังให้ดี ถ้ารู้จักศีล จะชอบศีล ยิ่งรู้จักเท่าไหร่จะยิ่ง ชอบมากขึ้นเท่านั้น นี่จึงได้พูดเรื่องศีล ให้เป็นที่รู้จักกันไว้ และขอให้ถือว่า เป็นเรื่องแรกที่สุด ของการนับถือ รับนับถือพระศาสนา นั้นขอให้ตั้งใจฟังให้ดี
สำหรับการรับนับถือศาสนานี้มันยังตกอยู่ในสภาพที่ หน้าไหว้หลังหลอกกันอยู่ทั่ว ๆ ไป แทบจะทุกหนทุกแห่ง คือปากพูดว่านับถือศาสนา แต่ในใจนั้นมันนับถือตัวกู ทุกคนที่เป็นคนไทย ก็นับถือ ศาสนาโดยกำเนิด โดยทะเบียน โดยกฎหมาย โดยอะไร กันอยู่ทั้งนั้น นี่ก็เป็นเรื่องปากพูด ส่วนที่ใจนั้น มันนับถือตัวกู เห็นตัวกูเป็นใหญ่ ใหญ่กว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถึงพวกพุทธบริษัท ที่สวดทำวัตร โดยเฉพาะทำวัตรเย็นอยู่ทุกวันว่า พุทธัสสาหัสมิ ทาโสวะ (นาทีที่ 09:18) ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า ธัมมัสสาหัสมิ ทาโสวะ (นาทีที่ 09:26) ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระธรรม สังฆัสสาหัสมิ ทาโสวะ(นาทีที่ 09:32) ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระสงฆ์ นี่ก็มักจะพูดแต่ปาก ปากมันพูดว่าเป็นทาสของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ใจมันเป็นทาสตัวกู คือเป็นทาสของกิเลส นา ๆ ชนิด ที่ออกมาจากความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวกูของกู นี่
การรับนับถือศาสนา ในลักษณะเช่นนี้ ใคร ๆ ก็เห็นได้ชัดว่า เป็นเรื่องหน้าไหว้หลังหลอก เป็นสิ่งที่ จะต้องปรับปรุงแก้ไขให้มันถูกต้อง การจะทำให้ถูกต้อง ปราศจากความหน้าไหว้หลังหลอก ก็มันมีนิดเดียว คืออย่าพูดแต่ปาก ต้องทำจริง ๆ ด้วย เรื่องศีลนี้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำจริง ๆ อย่างหนึ่ง ในบรรดาเรื่องที่จะ ต้องทำให้จริง ๆ นั้นขอให้ช่วยกันชำระสะสาง สิ่งที่เรียกว่า การนับถือศาสนา เริ่มต้นขึ้นมาด้วยทำ ด้วยเรื่อง ศีลนี่แหละ ซึ่งในที่นี้เราจะ เรียกโดยหัวข้อว่า สภาพปกติทางมรรยาท ที่ควรจะต้องการของชีวิต
ที่นี้เราจะพูดกันถึง สิ่งที่เรียกว่าศีลหรือสภาพปกติทางมรรยาทว่าได้แก่อะไรสืบไป เพื่อให้จำง่ายที่สุด ลืมยากที่สุด ขอให้ถือเอาความหมายของคำว่าศีลนี้ ว่ามันมาจากคำว่า ศิลา หรือก้อนหิน แล้วก็ถือเอา ความหมายของก้อนหินว่า มันนิ่งหรือปกติ
คำว่า ศีล แปลว่า ปกติ ในภาษาบาลี ฉะนั้น ศีลก็คือสภาพปกติ ตามตัวพยัญชนะเลย
พยัญชนะคำนี้ ที่เป็นรากศัพท์ก็ แปลว่า ปกติ ถ้าถามว่าปกติอะไร ก็ปกติทางมรรยาท ทางมรรยาทในที่นี้ คือทางกาย ทางวาจา นี้เราก็เลยเอาความหมายกว้าง ๆ ไว้ก่อนว่า ให้มีความปกติ ทางมรรยาท คือทางกายทางวาจา นั่นแหละคือศีล
ถ้าเข้าใจถูกต้องอย่างนี้ คงไม่ทำจมูกย่น เมื่อได้ยินคำว่า ศีล คงจะมีความสนใจ หรือพอใจ เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่า ศีลนี้ ตามสมควร
คำว่า มรรยาท จะทางจิตก็ได้ จะทางกาย ทางวาจาก็ได้ แต่เกี่ยวกับศีลนี้ เราหมายถึงทางกาย วาจา เป็นส่วนใหญ่ ทางจิตนั้นเป็น เรื่อง background อยู่ข้างหลัง ภาวะทางกาย ทางวาจา ที่เป็นเครื่องปรากฏออกมาของจิตที่เป็นปกติ มันเนื่องกันอยู่อย่างนี้ ถ้าจิตปกติไอ้ภาวะทางกาย ทางวาจา ข้างนอกมันก็ปกติ แต่เราเอาดู เราดูไปที่ความปกติทางกาย ทางวาจา แล้วก็เรียกอันนั้นว่า ศีล ถ้าเพียงแต่จิตผิดปกติบ้าง แต่ทางกาย ทางวาจา มันยังไม่ผิดปกติ เขาเรียกว่ายังมีศีล คำว่าศีล มันมีขอบเขต ตรงที่ความปรากฏทางกาย ทางวาจา ถ้ายังไม่เสียไป ก็ยังไม่ขาดศีล ดังนั้น จึงถือว่าศีลยังไม่ขาด เพียงลำพังความคิด ๆ นึก ๆ แต่ถ้าความ คิดนึกมันออก ความคิดนึกที่ผิดปกตินั้น มันออกมาถึงกาย วาจาแล้วก็เรียกว่า เสียไปแล้วในส่วนศีล ผิดศีล ขาดศีล ศีลด่างพร้อย กิ่ว ๆ คอด ๆ ไปตามเรื่อง ดังนั้นขอให้เข้าใจคำว่า ภาวะทางกาย ทางวาจา ที่เป็นเครื่องปรากฏ ของจิตที่มันปกติอยู่
ที่นี้ก็ให้เข้าใจว่า มันไม่ใช่เรื่องพิธีรีตอง เหมือนคนเข้าใจกันโดยมากว่า ปาณาติปาตา เวรมณี รับด้วยปากอย่างนี้แล้ว ก็มีศีล นั้นเป็นเครื่องสัญญาผูกพัน ผูกมัดว่าเราจะรักษาศีล โดยทำสัญญา ปฏิญญาต่อหน้าบุคคลใด บุคคลหนึ่ง ซึ่งจะเป็นผู้ให้ศีล เช่น พระให้ศีล ฆราวาสรับศีล เพียงรับเสร็จนี้ มันก็ยังไม่เรียกว่ามีศีล เป็นแต่เพียงพิธีรีตองไปก่อน หรืออย่างดีที่สุด ก็เป็นข้อผูกพัน สัญญาว่าจะรักษาศีล
ศีลนั้นไม่ใช่พิธีรีตอง พิธีรีตองเป็นเพียงจุดตั้งต้น ที่จะเกิดข้อผูกพันตัวเอง ว่าจะรักษาศีลโดยสัญญาไว้ กับบุคคลบางคน
สิ่งที่เรียกว่าศีลโดยตรงก็คือ การปฏิบัติที่เป็นการบังคับตัวเอง อย่างเฉียบขาด คำว่าการบังคับตัวเองนี้ เป็นคำสำคัญ ในฐานะเป็นคำสากล ระหว่างชาติ ระหว่างศาสนา ทุกศาสนาจะมีบทบัญญัติ เรื่องการบังคับตัวเอง จริยธรรมหรือศีลธรรมสากลในโลกนี้ ก็พูดถึงเรื่องการบังคับตัวเอง เรียกโดยภาษาบาลี ว่า ทม อ่านว่า ทะ-มะ แปลว่า บังคับตัวเอง บังคับจิตใจ บังคับกาย วาจา อย่างนี้นะคือตัวศีล
เพราะฉะนั้นศีล ไม่ใช่พิธีรีตอง เพียงแต่ว่ามาจุดธูปจุดเทียน แล้วรับสรณคมน์ รับศีลแล้วก็จะมีศีล ไอ้ทำอย่างนั้นก็ถือว่า มีได้ โดยปริยาย ถือว่าเรารับปากว่าเราจะไม่ทำ แล้วขณะที่ยังไม่ทำ มันก็ยังมีศีล แต่ว่าขณะที่เรายังไม่ทำอะไร ผิดนี้ มันเต็นอยู่ด้วยความรู้สึก คอยระวัดระวัง ตัวเองไม่ให้ทำผิดศีล ตามที่ได้สัญญากันไว้
เดี๋ยวนี้มักจะเข้าใจเสียว่า พอรับศีลเสร็จแล้ว มันก็มีศีล แล้วก็ได้บุญ แล้วก็ได้ไปสวรรค์ นี่เป็นเหตุที่ ทำให้พวกคุณเบื่อ คำว่าศีล ตามศาลาวัด ได้ยินเข้าก็รู้สึกต่อต้านในใจ รู้สึกดูหมิ่นดูถูก ว่ามันเป็นอะไรก็ไม่รู้ ดูมันครึคระชอบกล แต่ที่จริงนั้นไม่มีส่วนที่จะครึคระ มันจะทันสมัยและเป็นสิ่งที่ต้องการ ในวงการ ของสุภาพบุรุษ ในวงการของนักศึกษา หรือในวงการของมนุษย์ ที่จะมีความเป็นมนุษย์ ขอให้สนใจสิ่งที่ เรียกว่าศีลให้เป็นพิเศษ หรือเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะที่มันเป็นเรื่องสำคัญเรื่องแรก
ที่นี้ก็อยากจะอธิบาย คำว่า สภาพปกติทางมรรยาท สภาพปกติทางมรรยาท นี้มันมีอยู่ ๒ อย่าง อย่างที่ ๑ คือ ที่เราเองต้องการ อย่างที่ ๒ คือ ที่สังคมมันต้องการ คุณไปใคร่ครวญข้อนี้ดูให้ดี ว่าสภาพปกติ ทางมรรยาท ที่เราต้องการ ที่จริงเราต้องการจริง ๆ ต้องการสภาพปกติ ที่อยู่เย็นเป็นสุข แต่เราพูดได้ไกลไป กว่านั้นว่า ระบบการกระทำทางมรรยาท ที่ส่งเสริมการงาน และส่งเสริมความสุขใจ ทุกคนต้องการให้ การงานดี ให้การงานในหน้าที่ เป็นของดำเนินไปด้วยดี และอีกอย่างหนึ่ง ก็ต้องการความสุขใจ ความสบายใจ นี้ไม่มีใครปฏิเสธ นี้ระบบการกระทำทางกาย ทางวาจา ที่นำมาซึ่งสภาพปกตินี่ มันทำให้เกิดผลดีแก่การงาน และทำให้เกิดความสุขใจ ไปตลอดเวลา นั้นเราเองนี่ ต้องการสภาพปกติเช่นนี้ คุณต้องไปคิด ไปสอดส่อง ไปพิจารณาดูให้เห็นจริง จึงจะเกิดรักศีลขึ้นมา
เดี๋ยวนี้ไม่รักศีล ก็เป็นอลัชชี ไปคิดดูจนเกิดความรักศีล ด้วยชีวิตจิตใจ เพราะเป็นของที่ ควรปรารถนา อย่างยิ่ง เหมือนที่ท่านเปรียบไว้ ว่ามันเป็นของหอม ศีลมีกลิ่นหอม ไม่ใช่ต้องทำจมูกย่น นั้นเราเองต้องการศีล เพราะคือสภาพปกติของกาย ของวาจา ที่จะทำให้เราปฏิบัติการงาน ในหน้าที่ประจำวันได้ดี และที่จะทำให้เรา มีความสุขใจ พอใจ สบายใจไปตลอดเวลาด้วย นี่เรียกสภาพปกติที่เราต้องการ นี้สภาพปกติ ที่สังคมต้องการ มันก็เรื่องเดียวกัน ลองไม่มีศีลสังคมจะเป็นอย่างไร ก็คือระบบทางกาย ทางวาจา ที่ไม่เป็นภัยแก่ผู้ใด แล้วก็เป็น ไปเพื่อความสงบ มันเป็นบทนิยามสั้น ๆ อย่างนี้
ความประพฤติ กระทำทางกาย ทางวาจา ที่มันเป็นปกติ ไม่เป็นภัย ไม่กระทบกระทั่งแก่บุคคลใด แล้วก็เป็นการรักษา ไอ้ความสงบ ของสังคมมนุษย์เอาไว้ได้ ไม่ว่าสังคมไหน ย่อมต้องการภาวะอย่างนี้ทั้งนั้น นั้นภาวะปกติทางมรรยาทนี้ เราก็ต้องการเป็นส่วนตัว เป็นคน ๆ ไป แล้วสังคมทั้งหมด กระทั่งสังคมทั้งโลก มันก็ต้องการ โลกต้องการสันติภาพ ทำเพื่อสันติภาพ แต่แล้วมันก็น่าเสียดาย น่าเสียใจ น่าเศร้า น่าสลด น่าสังเวช ตรงที่ว่า มันพูดแต่ปาก ปากมันพูดว่าต้องการสันติภาพ แต่ใจมันต้องการสงคราม คือ การยื้อแย่ง ประโยชน์ของพวกอื่น ของฝ่ายอื่นมาเป็นของตัว มันขัดกันโดยสิ้นเชิง เพราะฉะนั้นสันติภาพมันมีไม่ได้ จนกว่าเมื่อไรโลกนี้ มันจะมีศีลกันเสียที ที่โลกนี้มันจะมีสภาพปกติทางมรรยาท ไม่หน้าไหว้หลังหลอก กันเสียที รวมความว่า ไอ้สภาพปกตินี้ เป็นของมีค่าสูงสุด ที่มนุษย์แต่ละคน ควรจะต้องการ และมนุษย์ทั้งหมด ควรจะต้องการ ในความหมายอย่างเดียว คือ สันติสุข หรือสันติภาพ ของโลก
ขอให้สังเกต ดูความหมายของคำว่า สภาพปกติอย่างที่กล่าวมาแล้ว แล้วดูคุณค่าของมันสิว่า มันมีความวิเศษ จนใคร ๆ ก็ต้องการ แต่แล้วเราก็ไม่รู้จัก แล้วก็มีอาการที่ ไม่สนใจกับศีล หรือเห็นเขาทำกันอยู่ หรือได้ยินเขาพูดกัน แล้วก็มีอาการเหมือนกับ ที่เขาด่าไว้ด้วยคำสุภาษิตว่า เหมือนกับไก่เห็นพลอย ไก่เห็น เพชรพลอย ที่ตกอยู่กลางพื้นดิน มันก็ไม่ให้ความใจ เหมือนคนหนุ่มคนสาวไปวัด ไม่ให้ความสนใจแก่ การรับศีล การรักษาศีล หรือคำว่าศีล แต่แล้วคนนี้ มันไม่ใช่ไก่ มันไม่เหมือนกับไก่ มันควรจะรับผิดชอบ ในความเขลา หรือความโง่เง่าอะไร อันนี้ด้วย ขอให้ทุกคนเปรื่องตนออกมาเสีย จากภาวะที่มันน่าทุเรศ น่าเศร้า น่าละอาย น่าอะไรอย่างนี้
ที่นี้จะได้พูดถึงศีลพื้นฐาน จงจำคำว่า ศีลพื้นฐาน ไว้ก่อน เพราะว่าศีลนี้มันมีมากมาย แต่มันไป สรุปรวม เป็นข้อสำคัญอยู่ที่เรียกว่า ศีลพื้นฐาน คำว่า พื้นฐาน ในที่นี้ ก็ยังมีความหมายหลายอย่าง คือว่าเป็น รากเหง้า ของศีลทั่วไปก็ได้ หรือว่าศีลแรกเริ่มเดิมที ที่จะเกิดขึ้นในโลกก็ได้ คุณต้องหลับตาย้อนระลึกนึกถึง ไปยุค ไปถึง ไปถึงยุคดึกดำบรรพ์ ที่มนุษย์แรกมีขึ้นมาในโลก แล้วก็มีกันขึ้นมาตามลำดับ มากขึ้นในโลก ปัญหาอะไรมันเกิดขึ้นก่อน ก็คือปัญหาทางสังคม ที่เกิดมาจากการเบียดเบียนนี่ ในคัมภีร์มีกล่าวไว้ ถึงเรื่อง พระเจ้าสมมุติราชย์ เป็นกษัตริย์ หรือราชาองค์แรกในโลก หมายความว่าตั้งแต่สมัยที่มนุษย์ เริ่มรู้จักไอ้ ไอ้ความสงบสุขนี้ ใน เป็นครั้งแรกในโลก ทีแรกมนุษย์มีน้อย ของกินในโลกเท่าที่มันเป็นอยู่ตามธรรมชาติ ก็เพียงพอ ต่อมามนุษย์มากขึ้น ข้าวสาลีอะไรที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มันไม่พอ มันก็ต้องมีการเพาะปลูก
ทีแรกมันก็ยังดีอยู่ มันยังมีแต่คนตามธรรมดา ไม่ใช่คนพิเศษ คือคนที่เป็นไปตามธรรมชาติ ธรรมดานั้น มันไม่มีความคิดพิเศษ ที่เป็นผิดปกติทางมรรยาท คือ มันไม่ลัก ไม่ขโมย พอคนมันมากเข้า ก็มีคนพิเศษ มีความคิดว่า เราปลูกไม่ทัน หรือว่าเราไม่ปลูกดีกว่า เราคอยเก็บเอาของผู้อื่น เมื่อเจ้าของเขาเผลอ หรือเขาไม่เห็น นี่พอมีคนเขาทำอย่างนี้ขึ้นมา มันก็เกิดความเดือดร้อนในสังคมนั้น หนักเข้า ๆ ทนอยู่ไม่ไหว ไอ้คนที่เดือดร้อน มันก็มาปรึกษากัน ว่าจะทำอย่างไรดี เดี๋ยวนี้มีการล่วงเกินซึ่งกันและกัน หลายอย่าง หลายทางขึ้นทุกที เบียดเบียนกันบ้าง ขโมยกันบ้าง ล่วงเกินของรักบ้างนี่ มันเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่สุด
ก็สมมุติ มันก็ชวนกันสมมุติ พร้อมใจกันสมมุติว่า เอาคนที่มันฉลาดที่สุด แข็งแรงที่สุด เข้าทีที่สุด นี่มาสมมุติให้มันเป็นผู้มีอำนาจ สำหรับจะชี้ขาด ในการที่จะลงโทษผู้ทำผิด คนทุกคนมันตกลงกันอย่างนั้น อำนาจมันก็เกิดแก่บุคคลคนหนึ่ง ซึ่งถูกสมมุตินี่ เป็นพระราชาคนแรกในโลก ก็บัญญัติสิ่งต่าง ๆ ไปตาม เหตุผล ที่มันมีอยู่เฉพาะหน้า เช่น การฆ่า การประทุษร้ายกัน การลักขโมยกัน การล่วงเกินของรักของใคร่ ของกันและกัน การหลอกลวงกัน กระทั่งมาถึงการดื่มของมึนเมา ที่ทำให้เสียความรู้สึกรับผิดชอบ
นี่เกิดเป็นศีลพื้นฐาน ขึ้นมาอย่างนี้ เราเรียกกันเดี๋ยวนี้ว่า ศีล ๕ ฉะนั้นคุณอย่าดูหมิ่นดูถูกศีล ๕ เป็นอันขาด ถ้าดูถูกเมื่อไหร่ ความโง่จะครอบงำ โดยไม่ทันรู้ตัวเมื่อนั้น เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่คุณเอง ก็ต้องการอย่างยิ่ง ทุกคนต้องการอย่างยิ่ง ก็แล้วจงเข้าใจ สิ่งนี้ให้ถูกต้อง ในฐานะเป็นสิ่งที่น่ารัก และหอมหวน และพึงปรารถนา เพื่อให้เป็นอย่างนั้น ผมก็อยากจะ แนะให้ดูความหมาย ตลอดถึงความมุ่งหมายของศีล แต่ละข้อ แล้วขอร้องให้พวกคุณ กำหนดจดจำไปให้ดี ๆ คือเราจะให้ความหมาย แก่ศีลทั้ง ๕ ข้อนี้ ในบทนิยาม คือ definition นั้น ที่มันฟังง่าย และน่าสนใจที่สุด
ว่าศีลข้อ ๑ ไม่ประทุษร้ายชีวิต หรือร่างกายของผู้อื่น
และศีลที่ ๒ ก็ไม่ประทุษร้าย ทรัพย์สมบัติของผู้อื่น
แล้วศีลที่ ๓ ก็ไม่ประทุษร้ายของรัก ของผู้อื่น
ศีลข้อที่ ๔ ไม่ประทุษร้ายสิทธิอันชอบธรรม ของผู้อื่นด้วยวาจา
ศีลที่ ๕ ไม่ประทุษร้าย สติสมปฤดีของตนเอง
ศีลที่ ๑ พวกลูกเด็ก ๆ ก็ท่องกันว่า ไม่ฆ่าสัตว์ ฟังดูมันก็น่าสง น่าหัวเราะ หรือน่าสงสาร ความหมาย มันแคบ ๆ สำหรับลูกเด็ก ๆ แต่ถ้าสำหรับคนโต ๆ และเป็นนักศึกษาอย่างพวกคุณ ก็ควรจะพูดอย่างที่พูดไป แล้วว่า ไม่ประทุษร้ายชีวิต และร่างกายของสัตว์อื่น มันกินความกว้าง แล้วก็ทุกระดับ ทั้งอย่างใหญ่ อย่างเล็ก อย่างกลาง แล้วก็กว้างไปหมด อย่าไปประทุษร้าย กระทบกระทั่ง ชีวิตและร่างกายของผู้อื่น ในลักษณะที่ เราเองก็ไม่ชอบ ใคร ๆ ก็ไม่ชอบ
ศีลข้อ ๒ สำหรัยให้ลูกเด็ก ๆ ท่องกันไว้ก็ว่า อย่าลักอย่าขโมย นี่มันแคบ ความหมายมันแคบ มีช่องโหว่ สำหรับแก้ตัว ทีนี้เราก็ให้บทนิยามว่า ไม่ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของผู้อื่น ด้วยวิธีใดก็ตาม จะเอามาเป็นของตัว หรือจะทำให้เขาเสียหายก็ตาม มันก็ผิดศีลข้อนี้หมด
นี้ศีลข้อ ๓ เขาสอนให้ลูกเด็ก ๆ ท่องว่า อย่าทำชู้ หรืออย่างดีก็ว่า อย่าผิดประเพณี ในเรื่องชู้สาว เด็กเล็ก ๆ ชั้นอนุบาลก็ให้ถูก ถูกสอนว่าอย่าทำชู้ นี่มันน่าสังเวช น่าสงสาร ทั้งคนสอน และคนฟัง พระพุทธเจ้าท่าน ไม่ได้พูดอย่างนั้นกาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี เว้นจากการประพฤติผิด ต่อของรักของใคร่ ทั้งหลาย ตัวหนังสือมันว่าอย่างนั้น ก็คืออย่าประทุษร้าย ต่อของรักของผู้อื่น ไม่ว่าในกรณีไหนหมด เด็ก ๆ ตัวเล็ก ๆ มันก็มีของรักของมัน คนหนุ่มสาวก็มีของรัก คนแก่คนเฒ่าก็มีของรัก อย่าไปประทุษร้ายของรัก ของผู้อื่นเข้า
ของรักในที่นี้ ใช้คำว่า กาม คือมีความหมายเป็นของรักใคร่ ไม่ใช่ทรัพย์สมบัติตามธรรมดา มันมีความหมายสูงกว่า ทรัพย์สมบัติธรรมดา มันอาศัยความรู้สึกทางกา ทางกาม หรือทางกามารมณ์ เป็นความหมายสำคัญ คือ รักด้วยกิเลส รักด้วยความรู้สึก ที่เป็นทางกามารมณ์ นี้ไม่ใช่ทรัพย์สมบัติ มันเกินกว่าทรัพย์สมบัติไปแล้ว อันนี้มีอิทธิพลมาก คือมีความรู้สึกรุนแรงมาก ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติ บางทีเราก็เฉยได้ แต่ถ้าประทุษร้ายของรักแล้ว มันเฉยไม่ได้ เฉยได้ยากกว่า มันอยู่คนละระดับ อย่าไปเตะต้อง ของรักของเขาเลย เพราะเขารัก แม้แต่ว่าจะไปมองดูของรักของเขา ก็ทำให้เขามีความกระสับกระสายแล้ว เขามีภรรยาสวย มีอะไรสวยคนหนึ่ง ไปเพียง เพียงแต่ไปมองดูเท่านั้น มันก็ประทุษร้ายจิตใจของเขาแล้ว เพราะอำนาจของรัก มันยิ่งกว่าทรัพย์สมบัติ
ฉะนั้นอย่าประทุษร้ายของรักของผู้อื่น แม้ด้วยสายตา โดยไม่ต้องพูดถึงการกระทำ ด้วยมือ ด้วยเท้า หรือด้วยทางกายนี่ เมื่อเราให้คำบัญญัตินิยามอย่างนี้ ไอ้ลูกเด็ก ๆ พอพูดได้ มันก็จะต้องถือแล้วนะ ศีลข้อนี้ มันมีของรัก เช่น ตุ๊กตา เป็นต้น มันรักมาก มันไม่ใช่ทรัพย์สมบัติ มันเป็นของรัก ฉะนั้นเด็กอีกคนหนึ่ง ก็อย่าไปเตะต้อง หรือกระทั่งอย่าไปดูด้วยก็จะยิ่งดี ให้เจ้าของเขาเกิดความกระสับกระส่าย ในจิตใจ นี่ศีลข้อ ๓ มันผิดกับศีลข้อ ๒ มากถึงอย่างนี้
นี้ศีลข้อ ๔ มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากการพูดมุสา ลูกเด็ก ๆ ก็ได้รับการสั่งสอนให้ฟังว่า อย่าโกหก นี้ความหมายมันแคบ ก็น่าเอ็นดู หรือน่าสงสารไปในที่สุด จึงให้คำนิยามเสียใหม่ว่า อย่าไปประทุษร้ายสิทธิ อันชอบธรรมของผู้อื่นด้วยวาจา เราใช้วาจาเป็นเครื่องมือประทุษร้ายสิทธิ หรือความเป็นเจ้าของ หรืออะไร ของบุคคลอื่น ศีลข้อนี้มีมูลอันแรกที่สุด มาจากการโกหก ในการเป็นพยาน นี่ค้นดูร่องรอยดึกดำบรรพ์ สมัยโน้น มันมีมูลมาจาก เขาเรียกมาถามเพื่อเป็นพยาน มันโกหก เรียกว่าการโกหกนั้นนะ มันประทุษร้าย ประโยชน์ของผู้อื่น ของเพื่อนฝูง ของสังคม โดยอาศัยวาจา เดี๋ยวนี้เราก็ใช้วาจา เป็นเครื่องเอาประโยชน์ ของผู้อื่น มาเป็นของตัว ใช้วิธีพลิกแพลง ในทางสังคม โดยใช้วาจาเป็นเครื่องมือ จนประโยชน์ของผู้อื่น ตกมาเป็นของตัว หรือเขาเสียหายไป อย่างใดอย่างหนึ่งนี้ มันคือศีลข้อนี้ มันมีความหมายกว้างมาก ฉะนั้น คุณอย่าใช้คำพูดใด ๆ ที่ทำให้ผู้อื่นเขาเสียประโยชน์ไป เรียกว่า ประทุษร้ายสิทธิอันชอบธรรม หรือความชอบธรรมก็ตาม ของผู้อื่น ด้วยวาจา
ทีนี้ มาถึงศีลข้อ ๕ ลูกเด็ก ๆ ได้รับคำสอนว่า ให้ท่องไว้ว่า อย่าดื่มน้ำเมา มันก็แคบ น่าเอ็นดู น่าสงสารอย่างเด็ก ๆ ไปตามเคย ว่าอย่าดื่มน้ำเมา เหมาะแล้วสำหรับลูกเด็ก ๆ ที่จะฟังอย่างนั้น แล้วก็จำไว้ อย่างนั้น แต่สำหรับคนโต ๆ อย่างพวกเรานี้ มันไม่พอ มันน่าสงสาร จึงให้คำนิยามใหม่ว่า อย่าประทุษร้าย สติสมปฤดีีของตนเอง อันนี้มันกลายเป็นการประทุษร้ายตัวเอง ประทุษร้ายสติสมปฤดีีของตนเอง ด้วยบทบาลีที่ว่า ปมาทะ ถานา (นาทีที่ 39:49) เป็นฐานะแห่งความประมาท ประมาท คือมัวเมา คือสูญเสีย สติสัมปชัญญะ สูญเสียสมปฤดีี ที่ทำให้รู้จักผิดชอบชั่วดีตามปกติ สิ่งใดที่ทำให้สูญเสียสมปฤดีีอันนี้ สิ่งนั้นต้องห้ามหมด จะเป็นสิ่งที่จะใช้ดื่ม หรือใช้กิน หรือใช้ทา หรือใช้ดม หรือใช้อะไรก็ตาม หรือแม้แต่ใช้ คิดนึก ถ้ามันทำให้สติสมปฤดีีปกติเสียไปแล้ว มันผิดศีลข้อที่ ๕ นี้ทั้งนั้น
ไม่ใช่เฉพาะแต่กินเหล้า ของสูด ของดม ของทา ของทุกอย่าง แม้แต่มันจะฉีดเข้าไป อย่างสมัยใหม่ ด้วยเข็มฉีดยา หรืออะไรก็ตาม ที่มันทำให้สภาพปกติของสมปฤดีีเปลี่ยนไป เป็นบ้าเป็นหลัง เป็นมักมาก ในกามารมณ์ หรือเป็นอะไรก็สุดแท้ มันก็เสียไปหมด เพราะว่าเมื่อสติสมปฤดีีเสียไปแล้ว คนเราก็ทำสิ่งที่ ตามปกติทำไม่ได้ ทุกอย่างทุกประการ ฉะนั้นอย่าไปประทุษร้ายสติสมปฤดีีเข้า เพราะมันเสียไอ้ความปกติ ของมันแล้ว คนเราก็เป็นอะไรไปก็ไม่รู้ คือไม่เป็นคนแล้วตอนนี้ มันก็ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ได้ทุกอย่าง นี่เรียกว่า ศีลข้อที่ ๕ สำคัญในส่วนที่ว่า ถ้าเสียไปแล้ว ไอ้ยากที่จะรักษาศีล ไอ้ข้างต้น ๔ ไว้ได้ นี้ให้ระมัดระวัง เป็นพิเศษ
นี้ผมก็ช่วยประกอบบทนิยาม ให้พวกคุณจำไว้ง่าย ๆ และก็ถูกต้อง ครบถ้วนดี ว่า ๑ อย่าประทุษร้าย ชีวิต ร่างกายของผู้อื่น สัตว์อื่น ๒ อย่าประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของสัตว์อื่น ๓ อย่าประทุษร้ายของรักของใคร่ ของสัตว์อื่น ๔ อย่าประทุษร้ายสิทธิอันชอบธรรม หรือความเป็นธรรมของผู้อื่นด้วยวาจา ๕ อย่าประทุษร้าย สติสมปฤดีของตัวเอง นี่เป็นพื้นฐานกว้างขวาง ครอบงำไปหมด เพราะมันเป็นรกรากอันแรก ที่เกิดมีศีล ขึ้นมาในโลก
ทีนี้ ศีลนอกนั้น เป็นศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ หรือศีลอะไรก็ตาม แล้วแต่จะเรียก มันก็ขยายออกไป จากไอ้ ศีล ๕ ข้อนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันขยายออกไปจากศีลข้อ ๕ คือ เสียสติสมปฤดีีแล้ว ก็ทำอะไรที่ ไม่ควร ทำทุกอย่าง เราจะเปรียบเทียบกันดู ว่ามันขยายออกไปอย่างไร เอาสิ่งที่ประทุษร้ายสติสมปฤดีี คือ ศีลข้อ ๕ กันก่อน พูดถึงศีลพระ ศีลเณร มันก็มีเรื่อง ไม่ให้ใช้ของหอม ไม่ให้ลูบทาของหอม ไม่ให้นั่งนอน บนที่นอนที่มัน เกินฐานะของพระ เณร คือที่นอนที่มันทำให้เกิด ความเคลิบเคลิ้มในทางอารมณ์ ทางกามารมณ์ เป็นต้น นั้นมันก็ออกไปจากศีลข้อ ๕ เพราะศีลข้อ ๕ จะไม่ทำสิ่งที่ ทำให้สติสมปฤดีีเสียไป นี้ดอกไม้ก็ดี ของหอมก็ดี การประดับตกแต่งก็ดี ที่นั่งที่นอนที่มัน อ่อนนุ่มสบายเกินไปก็ดี มันทำให้เสีย สติสมปฤดีี เสียสภาพปกติไป โดยไปหลงเข้าแล้ว เป็นที่ตั้งแห่งความประมาทแล้ว ดังนั้นถ้าเรามีศีลข้อ ๕ ให้ถูกต้องเพียงข้อเดียวเท่านั้น ไอ้ศีลข้อไอ้นัจจะคี ไอ้มาลา (นาทีที่ 44:10) อะไร มันก็รวมอยู่ในนั้น นี่เรียกว่า มันขยายออกไปอย่างนี้
ที่นี้เพื่อความเป็นบรรพชิต เป็นพระ เป็นเณร อะไร มันก็ต้องให้มัน ขยายขอบเขตออกไป ให้มันกว้าง ขวางออกไป หรือให้มันป้องกันได้มากขึ้น เราก็ไม่กินอาหารเย็น ตอนเย็นนี้ เพราะว่ามันเกิน ความต้องการ ของบรรพชิต ซึ่งอยู่อย่างไม่ออกกำลังกาย กินอาหารเย็นเข้าไปมันก็เกิน ไอ้ความเกินนี้ ก็เสียปกติภาวะ เสียสติสมปฤดีด้วยเหมือนกัน ที่จะทำให้เกิดความรู้สึก พลังทางเนื้อหนังมาก มีจิตใคร่ไปในทางกามารมณ์ เป็น เป็นข้อใหญ่ นอกจากนั้น มันก็ยุ่งยาก ลำบากเปล่า ๆ
ทีนี้ ศีลข้อ กาเม ของฆราวาสนี่ มากลายเป็นไอ้ ศีลอพรหม อพรหมจริยา ของพระ ของเณร นี้ก็เพื่อ ให้มันขยาย ให้กว้างออกไป ให้ยิ่งขึ้นไป ฆราวาสเขาประกอบกามกิจ ระหว่างเพศที่ถูกต้อง ตามศีลธรรมได้ แต่บรรพชิตไม่ยอมทำ ก็เพราะต้องการจะให้มันยิ่งขึ้นไป ป้องกันไม่ให้มีส่วนที่จะไป กระทบกระทั่งไอ้สิ่ง ชนิดนั้น ฉะนั้นจึงถือศีล ในรูปที่เรียกว่า อพรหมจริยา เว้นการกระทำทางเพศ ทุก ๆ อย่าง โดยเด็ดขาด มันเลวเกินไป มันโง่เกินไป สำหรับบรรพชิต ที่จะไปทำอย่างนั้น แม้ว่ามันจะพอดีสำหรับฆราวาส ชาวบ้าน ที่เขาจะทำ การกระทำที่มัน ทั้งสกปรก ทั้งเหน็ดเหนื่อย เพื่อบ้าแวบเดียว อย่างนี้ นี่ผมบทบัญญัติไว้อย่างนี้ ทั้งสกปรก ทั้งเหนื่อย เพื่อความบ้าแวบเดียวนี้ มันไม่เหมาะสำหรับบรรพชิต นั้นจึงถือศีลอพรหม เมื่อชาวบ้านเขาถือศีลกาเม มันเป็นการขยายออกไป ให้สูงขึ้นไป ให้รัดกุมเข้ามา สำหรับที่จะเป็นบรรพชิต ผู้จะไปก่อน ไปเร็ว ไปสู่ความดับทุกข์ คือ นิพพาน
ตรงนี้ก็อยากจะ ให้คุณสังเกตดูให้ดี อีกอย่างหนึ่ง อีกแง่หนึ่ง ว่าศีลสำหรับฆราวาส ก็มีอยู่พวกหนึ่ง ศีลสำหรับบรรพชิต ก็มีอยู่พวกหนึ่ง เขาสอนกันเพียงเท่านี้ แต่ผมอยากจะเติม เข้าไปอีกพวกหนึ่ง คือ ศีลสำหรับฆราวาส จะไปลองเป็นบรรพชิตชั่วคราว เฉพาะกาล นี่ได้ทั้ง ๓ ศีล ศีลสำหรับฆราวาสตามปกติ เป็นประจำ นั้นพวกหนึ่ง แล้วก็ศีลสำหรับบรรพชิตที่มีอยู่เป็นปรกติ เป็นประจำนั้นก็พวกหนึ่ง ทีนี้มีศีล อีกพวกหนึ่ง สำหรับฆราวาส จะไปลองเป็นบรรพชิตชั่วขณะ ชั่วกาละ เช่น ศีลอุโบสถ พวกฆราวาสเขา อยากจะมาลองเป็นบรรพชิต ชั่ววันอุโบสถก็ทำได้ นี่เป็นศีลครึ่ง ๆ กลาง ๆ สำหรับฆราวาสมาทำอย่าง บรรพชิต ให้เป็นพิเศษบ้าง ในบางวัน บางเวลา เมื่อคุณเป็นฆราวาส คุณก็ถือศีลฆราวาส เมื่อคุณเป็นบรรพชิต คุณก็ถือศีลบรรพชิต
ถ้าสมมุติว่า คุณกลับสึกออกเป็นฆราวาสอีก ก็จงพยายามถือศีล ที่อยู่ตรงกลาง หรือสมัครถืออย่าง บรรพชิต บางครั้ง บางคราว บางวัน จะมีผลดี มีอานิสงส์ กว่าที่จะเป็นฆราวาสดิบ ๆ สด ๆ เสียตลอดวัน ตลอดเวลา คือบางเวลา มันมีการบังคับตัวเอง ถึงขนาดบรรพชิตเสียบ้าง เว้นอะไรเด็ดขาด สูงขึ้นไปกว่า ฆราวาส ถ้าสึกออกไปก็อย่าถือเพียงศีล ๕ ในความหมายลูกเด็ก ๆ อมมือ ถือให้กว้างอย่างที่ว่า แล้วก็บางคราว ก็ถือศีลขนาดบรรพชิตเสียบ้าง คือถือศีลอุโบสถนี้ มันจะมีประโยชน์ มีอานิสงส์แก่ดวงวิญญาณของคุณ มากกว่าที่จะไม่ทำอย่างนี้
ทีนี้เรื่องต่อไป ที่อยากจะพูดถึงเรื่อง มูลเหตุที่ต้องมีศีล นี้ที่จริงก็ไม่น่าจะพูด แต่ว่าบางคนอาจจะ นึกไม่ได้ เหตุที่ทำให้โลกเราต้องมีศีล หรือมนุษย์เราต้องมีศีล ก็แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ความทนไม่ได้ ของเราเอง และความทนไม่ได้ของสังคม ไม่ต้องพูดถึงสังคมหรอก เราเองก็คนเดียวก็ทนไม่ได้ ถ้าเราลอง ไม่มีศีล กาย วาจาของเรา ก็เป็นไปในทาง ที่จะทำอันตรายแก่ตัวเราเอง ไปลองดู ไปลองทำผิดศีลดู แล้วปฏิกิริยาจะเกิดมารอบด้าน รอบข้าง ที่จะทำให้เราทนไม่ได้ อยู่เป็นปรกติสุขไม่ได้ แล้วมันก็เป็น โรคทางวิญญาณมากขึ้น ๆ ด้วย มันก็ทนไม่ไหว ตัวเราเองก็ต้องการศีลขึ้นมาทันที
แต่เดี๋ยวนี้เรากำลังหลับหู หลับตา ไม่มองเห็นไอ้ ไอ้ข้อเท็จจริงอันนี้ ก็เลยไม่สนใจกับเรื่องศีล หรือไม่ต้องการจะมีศีล ที่แท้เรานี่จะทนไม่ได้ก่อน จากหรือต่อปฏิกิริยาที่ มันเกิดมาจากการที่เราไม่มีศีล เราจะถูกบาดเจ็บ เราจะนอนไม่หลับ เราจะเสียทรัพย์ เราจะอะไร ทุก ๆ อย่าง ที่เรา ที่ล้วนแต่เราจะทนไม่ได้ ที่นี้ที่สังคมมันทนไม่ได้ ด้วยเพราะเหตุว่า ได้มีคนทุศีลมาเที่ยวอาละวาดอยู่ แล้วสังคมมันทนไม่ได้ มันจึงช่วย กันใช้อำนาจมหาชน มติมหาชนนี้จัดการ นั้นเขาจึงมีระเบียบชนิดที่ จะป้องกันไว้ตั้งแต่ทีแรกดีกว่า เพราะสังคมมันทนไม่ได้ ในการที่เป็นโรคทางวิญญาณ อาละวาดกันอยู่อย่างนี้
นี่เหตุที่มีศีลโดยแท้จริง โดยธรรมชาติ มันบังคับ มีเท่านี้ เราก็ทนไม่ได้ ผู้อื่นก็ทนไม่ได้ ก็เลยต้องมี ระบบศีล ขึ้นมาในสังคม ไปมองดูข้อนี้ให้ดี ๆ แล้วเราก็ จะน้อมจิตไปในทางที่จะมีศีล รักศีล หรือไม่ทำ จมูกย่นต่อศีล โดยรายละเอียด คุณมีสติปัญญา ไปขยายออกไปได้ ผมก็พูดแต่หัวข้อ เพราะเราทนไม่ได้ ผู้อื่นก็ทนไม่ได้ มันต้องมีศีลทันที
ที่นี้ ก็อยากจะพูดถึง ทางที่จะมีศีลได้ จะพูดถึงสมุฏฐานของศีล หรือว่ารากฐานของศีล หรือปัจจัย ของศีล ที่ทำให้เกิดศีล และรักษาศีลอยู่ได้ ซึ่งเป็นเหมือนกับแผ่นดิน เป็นที่อาศัยของศีล สมุฏฐานของศีล อยากจะระบุ ให้จำไว้ให้แม่นยำ สัก ๓ คู่ เป็นธรรมะ ๓ คู่
คู่ที่ ๑ คือ หิริโอตตัปปะ หิริ ความละอาย หรือความเกลียดบาป โอตตัปปะ ความกลัวบาป หิริโอตตัปปะนี้ ช่วยจำไว้ให้แม่นยำ ให้ฝังอยู่ในจิตใจ ในสันดาน มันเป็นอะไรมากมาย เป็นธรรมะคุ้มครอง โลกให้รอด หิรินี้ เกลียด หรือขยะแขยง แล้วก็ละอาย ต่อความชั่ว หรือความผิดศีล ความไม่มีศีล เดี๋ยวนี้คนไม่ ละอายบาป ไม่ละอายต่อความชั่ว จึงทำคอร์รัปชั่น โอตตัปปะ คือ ความกลัว บรรดาสิ่งที่น่ากลัวแล้ว ผู้มีปัญญาเป็นบัณฑิต นักปราชญ์ เขากลัวความทุศีล คือว่ากลัวบาปนี้ ยิ่งกว่ากลัวเสือ กลัวผี กลัวอะไร แต่นี้คนมันโง่ เพียงแต่ไปกลัวเสือ กลัวผี จนกระทั่งกลัวจิ้งจก ตุ๊กแก กลัวลูกหนูตัวแดง ๆ คลานก็ยังไม่ได้ นี่มันโง่เท่าไร ที่ไปกลัวสิ่งเหล่านั้น ไอ้สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้น หรือน่ากลัวอย่างยิ่ง คือ บาปนี้ไม่กลัว ฉะนั้นมันก็ ทำคอร์รัปชั่น เพราะว่าไม่มีหิริ และโอตตัปปะ ถ้าคนมีหิริโอตตัปปะแล้ว มันล่วงศีลไม่ได้ ขาดศีลไม่ได้ ก็รักษาหล่อเลี้ยง ศีลไว้ได้
คู่ที่ ๒ คือ สติสัมปชัญญะ สติ แปลว่า ความระลึกได้ สัมปชัญญะ แปลว่า ความรู้ตัว ตามคำแปล ในหนังสือแบบเรียนนี้ มันต่างกันอยู่ที่ว่า มันเป็นความรู้ด้วยกันทั้งนั้น คือ ปัญญา ความรู้ด้วยกันทั้งนั้น แต่ว่าสตินี้ มันหมายถึงว่าปัญญาที่วิ่งมาทันที เมื่อมันมีอะไรเกิดขึ้น ส่วนสัมปชัญญะนั้น เป็นความรู้ที่อยู่ ตลอดเวลา ความรู้ที่ทำหน้าที่ ขณะวิ่งมาทันท่วงทีนี้ก็เรียกว่า สติ เมื่อตากระทบรูป เมื่อหูได้ยินเสียง หรือเมื่ออะไร เกิดขึ้นแก่ชีวิตนี้ ปัญญาความรอบรู้ของเรา ที่วิ่งมาได้ทันท่วงที ไม่ ไม่ ไม่พลาดเวลานี้เรียกว่า สติ สัมปชัญญะก็คุมความรู้นั้น ไว้เรื่อยไป ไม่ให้มันวิ่งกลับเข้าไปอีก มันก็ช่วยได้ เมื่อมีสติสัมปชัญญะ รู้สึกตัว รู้สึกชั่วดี ถูกต้องอยู่เสมอ มันก็ทำคอร์รัปชั่นไม่ได้ มันไปดูความจำเป็น ที่จะต้องมีสติสัมปชัญญะ เพราะสติต้องใช้ในทุกกรณี ในที่ทุกหน ทุกแห่ง พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนั้น
นี้คู่ที่ ๓ ขันติและโสรัจจะ ขันติ แปลว่า ความอดทน โสรัจจะ แปลว่า ความยิ้มแย้ม แจ่มใส ทนหน้าบูด หน้าบึ้งนี้ มันไม่ไหว มันไม่ทำให้ศีลงดงามได้ ต้องยิ้มแย้มแจ่มใส มีใครเอามีดมาเชือด เลือดไหลอยู่ ก็ยังยิ้มแย้ม แจ่มใสอยู่ได้ นั่นแหละคือ โสรัจจะ ถึงที่สุด เพียงแต่ทนได้ยังไม่น่าดู มันต้องยิ้มแย้ม แจ่มใสได้ด้วย ในเมื่อมันจะต้องทน เพื่อให้มีศีล หรือว่าทน ในเมื่อมีผู้มาประทุษร้ายเรา ล่วงเกินเราทางศีลนี้ เราก็ทนได้ ยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่ได้ ก็เป็นเหตุให้ศีล มีอยู่ได้อย่างงดงาม ไม่ใช่สักแต่ว่ามีอยู่ได้ มันจะมีอยู่ได้ อย่างงดงาม มันเป็นความงามขึ้นมา นี้ถ้าว่ามันทนได้ มันก็ไม่ทำคอร์รัปชั่น เพราะทนไม่ได้ ต้องไปทำคอร์รัปชั่น
คอร์รัปชั่นนี้ มีความหมายกว้าง ไปเปิดดูปทานุกรม คำว่า คอร์รัปชั่น แปลว่า จุดสกปรกในพื้นที่ อันสะอาด นี้เขาเรียกว่า คอร์รัปชั่น แม้แต่จุดสกปรกเล็ก ๆ ในพื้นที่อันสะอาด อันกว้างขวาง นั้นแหละ คือหมายความ ของคอร์รัปชั่นนะ ในทีแรก เดี๋ยวนี้มาขยายเป็นโกง กินสินบน มันก็ยังมีความหมายตามเดิม ว่ามันเป็นจุดดำ จุดสกปรก ที่มีอยู่ในสังคมอันขาวสะอาด แต่ถ้าสังคมมันดำไปหมด มันก็ ก็หมดคอร์รัปชั่น เหมือนกัน เพราะคอร์รัปชั่นกันทุกคน ทั้งโลกนี้ คำว่าคอร์รัปชั่นก็จะหายไป เดี๋ยวนี้คอร์รัปชั่น ยังมีอยู่เพราะ ว่า ยังมีคนดี อยู่บ้าง หรือมีอยู่มากในโลกนี้ เป็นพื้นขาว แล้วก็มีจุดดำ เป็นแกะดำ อะไรขึ้นมา เป็นจุด ๆ นี่คือ คอร์รัปชั่น ถ้ามีศีลแล้วก็ไม่ ไม่มีคอร์รัปชั่น จะช่วยให้มีศีลก็คือ หิริโอตัปปะ สติสัมปชัญญะ ขันติโสรัจจะ
นี้อยากจะพูดถึงตัวศีล ที่ออกมาจากไอ้สิ่งเหล่านี้ สักที อีกทีหนึ่งเป็นการย้ำ ตัวศีลแท้ ๆ คือ ตัวธรรมะ หรือสังวระ (นาทีที่ 58:49) หรือปหานะ ทม บอกว่าการบังคับตัวเอง เมื่อก่อนนี้พูดแล้ว นั่นแหละคือตัวศีล มีการบังคับตัวเองที่ไหน มีศีลที่นั่น เรียกว่า ทม นี้อีกคำหนึ่งที่แทนกันได้ก็คือ สังวะระ หรือสังยะมะ สังวะระ ก็ตาม หรือสังยะมะก็ตาม(นาทีที่ 59:09) มันก็หมายถึง การสำรวม การระวัง การสำรวม ถ้ามีสังวรระวัง สำรวมอยู่แล้ว การสำรวมระวังสังวร นั้นแหละคือ ตัวศีล อีกอันก็คือ ปหานะ แปลว่า ละ ละ ละไอ้ของ สกปรก ของชั่วนี้ ละสิ่งที่ควรละ นั่นแหละคือ ตัวศีล มันละอยู่ สังวรอยู่ ระวังอยู่ บังคับตัวเองอยู่ นี่คือตัวศีล ไม่ได้อยู่ที่คำพูด ไม่ได้อยู่ที่พิธีรีตอง
อยากจะพูดอุปมา ให้เข้าใจง่าย จำง่ายอีกทีว่า ศีลก็ต้องกินอาหาร หล่อเลี้ยงให้มันงดงาม ใหญ่โตไป คือ อยู่ได้ไม่ตายเสีย คำว่า อาหารนี่ เรากินเพื่อให้อยู่ได้ คุณเป็นแพทย์ เรียนแพทย์ คุณรู้ดีกว่าผม ทีนี้อาหาร นอกจาก ทำให้รอดอยู่ได้แล้ว มันยังทำให้งอกงามออกไป ใหญ่ขึ้น โตขึ้น นี่ก็เป็นความหมายของคำว่า อาหาร ศีลมันก็ต้องการอาหารหล่อเลี้ยง สิ่งที่จะหล่อเลี้ยงได้ดีก็คือ สัจจะ และความเคารพตัวเอง สัจจะ คือ ซื่อสัตย์ ไม่หน้าไหว้หลังหลอก ต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่หน้าไหว้หลังหลอกต่อสังคม ไม่หน้าไหว้หลัง หลอกต่อศีล นี่เรียกว่า สัจจะ ตรงต่อเวลา ตรงต่อหน้าที่การงาน ตรงต่อเพื่อนมนุษย์ ตรงต่อคำพูดที่พูดไปแล้ว โดยรวมความแล้ว คือ ตรงต่อตัวเอง พอตรงต่อตัวเองอย่างเดียว มันก็ตรงต่อผู้อื่น ต่อเวลา ต่ออะไรหมด นี่เรียกว่า สัจจะ คู่กันกับความเคารพตัวเอง
ที่แท้ความเคารพตัวเอง มันก็คือสัจจะอันหนึ่ง เรามีอุดมคติในชีวิตของเราอย่างไร แล้วเราซื่อตรงต่อ อุดมคตินั้น นั่นแหละคือเคารพตัวเอง คนเราถ้าลองไม่เคารพตัวเองแล้ว ทำความชั่ว ความเลวได้ทุกอย่าง นั้นคนที่เล่าเรียนมามาก มีการศึกษามาก มีอะไรมาก แต่มันไม่เคารพตัวเอง มันก็ทำชั่ว มีปริญญาดอกเตอร์ เป็นหางมาจากเมืองนอก ไม่กี่วันติดตารางก็มี นี่คุณไปดูเถอะ เพราะมันไม่เคารพตัวเอง ไม่เคารพอุดมคติ ไม่เคารพเกียรติ ที่ตัวเองมีอยู่ ฉะนั้นอย่าไปหวังว่า ปริญญานั้นมันจะช่วยให้ไม่ต้องติดตาราง ลองไปดูเถอะ ขาดศีล ไม่มีศีล ไปทำผิดสิ ปริญญามันก็ช่วยไม่ได้ จะต้องติดตาราง แล้วศีลนี้มันช่วยได้ นั้นเรามีความเคารพ ตัวเอง เคารพอุดมคติของความเป็นมนุษย์อยู่เสมอ มันก็ไม่มีทางจะขาดศีลได้ จึงถือว่ามันเป็นอาหาร หล่อเลี้ยงศีลไว้ ให้มีชีวิตรอดอยู่ได้ และให้เจริญงอกงามต่อไป
นี่ขอให้จำไว้ให้ดี ๆ ไอ้คำไม่กี่คำนี้ ว่ารากฐาน สมุฏฐานของศีล คือ หิริโอตัปปะ สติสัมปชัญญะ ขันติ โสรัจจะ ตัวศีลนั้นคือ ทม สังวะระ(นาทีที่ 01:02:56)ปหานะ แล้วมันกินอาหารคือ สัจจะและการเคารพตัวเอง ทีนี้มันก็มี สภาพปรกติทางมรรยาทเกิดขึ้น ปรากฏอยู่ทางกาย ทางวาจา ในลักษณะที่ควรต้องการ ควรปรารถนาอย่างยิ่ง ในชีวิตนี้ นี่คือศีล คือ สภาพปรกติ ที่มนุษย์จะต้องมี แล้วจะได้ไปเป็นมนุษย์ คือ ไม่เป็น โรคทางวิญญาณ ถ้าปราศจากศีล นั้นก็คือ เป็นโรคทางวิญญาณ ในระดับเริ่มแรก ในระยะเริ่มแรก ในระดับ พื้นฐาน แล้วมันก็จะลุกลามต่อไป ๆ จนวิญญาณไม่มีเหลือ ไม่มีความเป็น วิญญาณที่ถูกต้องเหลืออยู่ มีแต่วิญญาณที่เป็นโรค
ขอให้ไปสังเกตดูเองว่า ถ้าเรามีสภาพปรกติทางมรรยาท ที่น่าปรารถนาอย่างนี้อยู่แล้ว เราก็ไม่มี ทางที่จะเป็นโรคทางวิญญาณ หรือถ้าเป็นอยู่ก่อน มันก็จะค่อย ๆ หายไป นี่เป็นการรักษาโรคทางวิญญาณ เป็นวิธีการรักษาโรคทางวิญญาณ ของสัตว์โลกในโลกนี้ คือ ศีล ให้ศีลครอบงำโลก คุ้มครองโลก โลกก็จะ สะอาด สว่าง สงบ พระพุทธเจ้าเป็นนายแพทย์ ผู้รักษาโรคทางวิญญาณของสัตว์โลกทั้งปวง ขอร้องให้คุณ ไหว้ครู ครูใหญ่ของคุณ คืออาจารย์ใหญ่ นายแพทย์ใหญ่ ในทางแพทย์ของโลกอยู่เสมอ โดยคาถาว่า สัพพัญญู สัพพะทัสสาวี ชิโนอาจะริโย มะมะ มหาการุณิโก สัตถา สัพพะโลกะจิกิตจะโต (นาทีที่ 01.05.01) อาจารย์ของ เรานั้น รู้สิ่งทั้งปวง เห็นสิ่งทั้งปวง ชนะมารแล้ว เป็นผู้สั่งสอน ที่ประกอบด้วย กรุณาอันใหญ่หลวง เป็นนายแพทย์ผู้รักษา เยียวยาโรคของสัตว์โลกทั้งปวง ดังนี้ อุตส่าห์ท่องไว้ทุกวัน ไหว้ครูของแพทย์ของ โลกทั้งปวงไว้ทุกวัน อย่าประมาทเลย
นี่คือการพูดบรรยาย เรื่องสภาพปรกติทางมรรยาท ที่น่าปรารถนาในชีวิตของมนุษย์ เรียกสั้น ๆ พยางค์เดียวว่า ศีล แล้วก็เลิกทำจมูกย่น ต่อสิ่งที่เรียกว่า ศีล กันเสียที นกก็ร้องบอกว่า เวลาหมด ยุติการบรรยายวันนี้ ไว้เท่านี้