แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายในวันนี้ ก็ยังอยากจะพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับผู้บวชใหม่อีกสักครั้งหนึ่ง ซึ่งจะพูดด้วยหัวข้อว่า จุดหมายปลายทางของการบวช เราก็ได้พูดเรื่องการบวชในแง่มุมต่างๆมาพอสมควรแล้ว ทีนี้ ก็อยากจะพูดรวบรัดไปถึงจุดหมายปลายทาง และก็อยู่ในลักษณะที่จำเป็นสำหรับผู้บวชใหม่จะต้องทราบเท่านั้นเอง คำว่า จุดหมายปลายทาง ในที่นี้ก็หมายถึง จุดหมายปลายทางที่สุจริต หรือถูกต้อง หมายถึง การบวชของพระธรรมชาติ ที่เราประดิษฐ์คำนี้ขึ้นเรียกกันตามอาจารย์เก่าๆเขาเรียกกันล้อ พระพวกหนึ่งเป็นพระธรรมชาติ พระพวกหนึ่งเป็นพระวิทยาศาสตร์ ก็เข้าใจกันดีแล้วว่าหมายถึงอะไร ที่นี้ จุดหมายปลายทางในที่นี้ก็หมายถึง จุดหมายปลายทางตามวิธีของพวกที่ถูกต้องตามธรรมชาติ ที่ว่าเป็นวิทยาศาสตร์นั้นก็ หมายถึง มีอะไรปิดบัง หรือถึงกับว่ามันไม่ซื่อตรงต่ออุดมคติ ก็ได้แก่ การใช้การบวชนี้เป็น เครื่องมือข้ามฟาก เขาใช้คำกันอย่างนั้น ต้องการจะมีอาชีพอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไปไม่ถึง ก็ใช้การบวชเป็น เครื่องมือข้ามฟาก ไปให้ถึง พวกนี้จึงบวชเข้ามา เพื่อจะเรียนในวิชาอะไรที่จะใช้เป็นประโยชน์ สำหรับเป็นเรือจ้างข้ามฟากไปยังอาชีพที่ตัวต้องการในที่สุด ก็คือมาเล่าเรียน ปริยัติ ในแบบใดแบบหนึ่ง ให้ได้วิทยา..วิทยฐานะสูงๆ แล้วก็ไปสมัครทำงานหรือหาอาชีพ ก็สำเร็จไปเป็นส่วนมาก สมัยเมื่อไม่นานมานี้จะพบว่าเป็นผู้พิพากษา เป็นอัยการ เป็นทนายความอะไรมากมายเหลือเกินที่ออกไปได้โดยวิธีนี้ เป็นเปรียญหลายประโยคแล้ว ก็ไปเรียนกฎหมายกันได้ ถ้าไม่บวชเสียก่อนมันเรียนไม่ได้ เขาไม่ให้เรียน แต่ที่เป็นบ้าก็มาก มีพระหนุ่มมีความคิดหรือแผนการอย่างนี้แล้วก็เรียนไม่ได้อย่างใจ ทั้งที่ว่ามีปัญญามีความเฉลียวฉลาดมันก็ไม่ได้ทันอกทันใจ กลัดกลุ้มเป็นโรคประสาท เป็นบ้าไปก็มีมากเหมือนกัน อย่างนี้มันเป็นเรื่องนอกวัตถุประสงค์ของการบวช เราเลยเรียกว่าเป็นเรื่องของพระวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่พระตามธรรมชาติ เป็นพระตามธรรมชาติก็ต้องไปตามเรื่องราวของการบวชที่ตรงกับความมุ่งหมาย ให้มีจุดหมายปลายทางถึงที่สุดอย่างถูกต้อง ซึ่งเราจะได้รู้กันต่อไป
เพื่อเข้าใจเรื่องนี้ก็อยากจะต้องพูดกันในแง่ของการเปรียบเทียบ ตามธรรมเนียมดั้งเดิม-คนแก่บวช คนที่เบื่อโลกแล้วบวช เดี๋ยวนี้ในประเทศไทยเราก็มีธรรมเนียม คนหนุ่มบวช คนแก่กลับไม่ค่อยบวช นี่มันออกจะขวางกันอยู่กับความมุ่งหมายดั้งเดิม แต่ก็ยังใช้ได้คือว่ามันไม่เสียหาย คนแก่ก็ยังมีบวช อยากจะหาความสุขในบั้นปลายของชีวิต แต่มันบวชน้อยเข้าเพราะว่าในสมัยนี้ความเจริญทางวัตถุทางวิทยาศาสตร์นี้ ช่วยให้คนแก่เพลิดเพลินไปได้จนเข้าโลง ไม่ต้องออกมาแสวงหาไอ้ความสงบสุขอย่างแท้จริงในการบวช คนแก่หาทางสนุกสนานไปได้จนเข้าโลง เพราะความก้าวหน้าทางวิทยาการแผนใหม่ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนแก่ที่บวชออกมาเพื่อแสวงหาความสุขในบั้นปลายชีวิตอย่างถูกต้องตามความมุ่งหมายดั้งเดิม แต่พอมาดูเราจะเห็นว่า คนหนุ่ม คนหนุ่มนั้นบวชมาก ในสองแสนกว่ารูปนี้จะเป็นคนหนุ่มตั้งสองแสน ทีนี้ มันจะมีความมุ่งหมายต่างกันอย่างไร? คนแก่ก็มีความมุ่งหมายไปตามเดิมเพื่อจะแสวงหาความสุขในบั้นปลายของชีวิต ตามระบอบระเบียบของพวก วานปรัสถ์ เบื่อโลกเข้าก็ต้องการความสงบ ทีนี้ คนหนุ่มก็มีอย่างว่า คือว่าจะต้องแบ่งเป็น ๒ พวก พวกที่จะบวชเพื่อใช้การบวชเป็นเรือจ้างก็มีพวกหนึ่ง เราไม่พูดถึง จะพูดถึงแต่คนหนุ่มที่มีเจตนาบริสุทธิ์ ก็กลายเป็นบวชเพื่อว่าจะเป็น พรหมจารี ซึ่งมีความหมายเป็นการบังคับตัวเอง คนหนุ่มบวชไม่ว่าสมัยดึกดำบรรพ์โน้น หรือว่าสมัยพุทธกาล หรือว่าสมัยนี้ ถ้าออกบวชแต่หนุ่มก็มุ่งหมายที่จะบังคับตัวเองทั้งนั้น มันเหมือนกับไปเข้าโรงเรียนชนิดหนึ่งอย่างที่ว่ามาแล้ว แต่เดี๋ยวนี้เราก็มีการเรียนศึกษาเล่าเรียนนานาชนิดโดยไม่ต้องบวช ยังเหลืออยู่แต่โรงเรียนสำหรับที่จะฝึกการบังคับตัวเองคือเป็น พรหมจารี นี้ ถ้าถือตามความหมายที่ถูกต้องคนหนุ่มสมัยนี้บวชเพื่อจะเป็น พรหมจารี เรียกว่า เข้าโรงเรียนการบังคับตัวเองอย่างเข้มงวดกวดขันที่สุด จะบวชพระหรือจะบวชชี หรือ อะไรก็แล้วแต่ เป็นการบวชที่มุ่งหมายเพื่อจะบังคับตัวเอง ดูให้ดีแล้วจะเห็นว่า ชีวิตในบ้านเรือนนั้นมันยากที่จะมีการบังคับตัวเอง แม้จะให้บิดา-มารดาช่วยบังคับมันก็ยากขึ้นทุกที สมัยปัจจุบันนี้ สมัยใหม่นี้นั้นเด็กๆที่จะได้รับการบังคับจากบิดา-มารดาก็หาได้ยากขึ้นทุกที จากครูบาอาจารย์ในโรงเรียนก็ยากขึ้นทุกที ทีนี้ การที่บังคับตัวเองก็ยิ่งไม่มี ก็ขึ้นมาจนถึงเป็นคนหนุ่มเต็มที่ นี่ เขตอันตราย จิตใจมันมุทะลุดุดัน ไม่มีการบังคับตัวเองแล้วทำอะไรผิดพลาด มีธรรมเนียมเก่าพูดกันอยู่ว่า อายุ ๑๙ ต้องบวช โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เกิดวันเสาร์นี้ คำพูดนั้นฟังดูคล้ายกับไสยศาสตร์ แต่ที่แท้ก็เป็นวิทยาศาสตร์นะเป็นความจริงที่แท้จริง คนหนุ่มอายุ ๑๙ กำลังมุทะลุดุดัน คนเกิดวันเสาร์เขาว่าราหูถึงเข้านี้มันก็จะติดตาราง มันก็มีจริงๆ ด้วย เขาก็จึงกลัวกันนัก ให้ลูกหลานบวชมาอายุ ๑๙ ในความจริงที่มันซ่อนเร้นอยู่ในนั้นก็คือว่า มันจะได้เข้ามาอยู่วัด ก็ได้รับการบีบบังคับจากการบวชนี้ให้มันอยู่ในกรอบในวง มันไปทำอะไรมุทะลุดุดันที่มันถึงกับติดคุกติดตารางได้ยาก ให้มันบวชเสีย ๔-๕ พรรษา อายุก็ไปถึงเกือบ ๒๕ ปี สึกออกไปมันก็อาจจะปลอดภัย หลักเกณฑ์อันนี้ยังใช้ได้จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ แม้ว่าจะเป็นคนหนุ่มที่มีการศึกษาดี มีอะไรดี มันก็ยังขาดวิชาเกี่ยวกับการบังคับตัวเองที่ละเอียด ประณีต สุขุม ต้องคอยบวชด้วยความมุ่งหมายถึงจะเป็น พรหมจารี อย่างนี้ นี่, แม้ว่าจะถือหลักง่ายๆ อย่างกิจวัตร ๑๐ ประการ บิณฑบาต กวาดวัด ปลงอาบัติ ทำวัตรสวดมนต์ เหล่านี้มันก็ช่วยได้เต็มที่ จะเป็นการบังคับตัวเองไปทุกกระเบียดนิ้ว แล้วก็ค่อยๆทำให้ประณีตละเอียดยิ่งขึ้นไป นี่, คนหนุ่มบวชด้วยความมุ่งหมายอย่างนี้ เรียกว่า จะเป็น พรหมจารี ที่ดี
เกี่ยวกับคำๆ นี้ก็อยากพูดสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยฟัง ส่วนมากก็เคยฟังแล้ว ว่าคนที่มีปัญญาแต่โบราณกาลในประเทศอินเดียนั้น เขายุติความคิดเกี่ยวกับในวัยของมนุษย์ว่ามีอยู่ ๔ วัย วัยแรก คือ พรหมจารี ตั้งแต่เด็กไปจนถึงจะมีบ้านเรือน จะมีครอบครัวนี้เรียกว่า พรหมจารี มีครอบครัวแล้วก็เป็น คฤหัสถ์ ไปจนถึงจุดเอือมระอาของความเป็น คฤหัสถ์ แล้วก็ถึงขั้นวัย วานปรัสถ์ ออกไปอยู่ในที่สงบสงัด เรียกว่าเป็นที่พอใจแล้ว เขาก็ทำหน้าที่อันใหม่จนเป็น สันยาสี เป็นที่พึ่ง เป็นที่ปรึกษา เป็นให้แสงสว่างทางวิญญาณแก่คนหนุ่มๆลูก-หลานนี้ต่อไป นี้เรียกว่าเป็น แสงสว่างทางวิญญาณแก่คนทั้งปวง ถ้าได้ครบอย่างนี้ถือว่าประเสริฐที่สุดมนุษย์คนหนึ่ง ทีนี้ในขั้น พรหมจารี นี้มีความมุ่งหมายที่จะให้อยู่ในกรอบ ระเบียบวินัยอย่างเต็มที่ เพื่อจิตใจจะได้ถูกการฝึกฝน บีบบังคับให้มีการบังคับตนเองได้ เพราะต่อไปจะไม่มีใครช่วยบังคับเมื่อไปเป็นคฤหัสถ์ แล้ว เมื่อเป็น พรหมจารี นี้ก็มีโอกาสที่จะให้ระเบียบวินัย ครูบาอาจารย์อะไรต่างๆ นี้รวมทั้งพ่อ-แม่ด้วย ช่วยกันบีบบังคับแล้วก็มาให้ พรหมจรรย์ พระศาสนาของพระพุทธเจ้านี้ช่วยบีบบังคับ ขัดเกลาในระดับสุดท้าย ดังนั้น จึงมีธรรมเนียมว่า บวชเสียสักครั้งหนึ่งก่อนจะแต่งงาน เพราะเมื่อการแต่งงานมันมีแน่ การบวชเสียสักครั้งหนึ่ง คือ มาเข้าโรงเรียนบีบบังคับจิตใจตนเองอย่างละเอียดลออ ประณีต สุขุม ลึกซึ้งนี้เสียสักพักหนึ่ง แล้วก็เหมาะที่จะไปเป็น คฤหัสถ์ คำภาษาโบราณเขาเรียกว่า บัณฑิต นั่นเอง อยู่ในอาศรมใดอาศรมหนึ่ง อยู่เรียนจนเป็นที่พอใจของอาจารย์ก็ออกไปได้ ควรจะออกไปต่อสู้โลกได้ก็ให้มันเป็น บัณฑิต แล้วให้มันออกไป ธรรมเนียมนี้ยังมีใช้อยู่ในประเทศอินเดีย ประเทศไทยเราเหลือแต่คำว่า ทิด ทิด ซึ่งมาจากคำว่า บันทิด ซึ่งออกเสียงคำว่า บัณฑิตไม่ถูกต้อง แต่ในที่สุดได้กลายเป็นไอ้เรื่องป้ำเป๋อ น่าหัวเราะ เป็น ทิด นี้กลายเป็นคนงุ่มง่ามงมงาย ไม่เป็น บัณฑิต ตรงตามความมุ่งหมายเดิม เพราะว่าเมื่อบวชมันไม่ได้ประพฤติอย่างถูกต้องตามแบบของ พรหมจารี ที่ไม่ได้เป็นพระเป็นเณรที่ถูกต้องนั่นเองก็ออกมาเป็น ทิด เป็นคำล้อ ที่แท้ว่ามีการบวชที่ถูกต้อง บวชจริง บวชให้มันก้าวหน้าไปทุกๆ ชั่วโมง มันก็ไปสู่จุดที่เป็น บัณฑิต ได้ แล้วจะกลับออกไปสู่โลกอีกก็มีอะไรๆพร้อมบริบูรณ์ สำหรับจะไปเป็น คฤหัสถ์
นี่, ธรรมเนียมบวชของคนหนุ่มมันมุ่งหมายอย่างนี้ และยังคงใช้ได้แม้กระทั่งวันนี้ เพียงจะต้องปรับปรุง ขยับขยายให้มันตรงจุดถูกต้องให้มากขึ้นเท่านั้นเอง ก็ไปเป็น คฤหัสถ์ ที่ดี ก้าวหน้าไปได้โดยเร็ว มันถึงจุดหมายของการเป็น คฤหัสถ์ แล้ว มันก็เป็น วานปรัสถ์ เป็น สันยาสี ได้ตามลำดับ นี่คือข้อความว่า คนแก่ก็บวชเพื่อหาความสุขในบั้นปลายชีวิต คนหนุ่มก็บวชเพื่อเป็น พรหมจารี บังคับตัวเองอย่างดีเพื่อไปเป็น คฤหัสถ์ ที่ดี แล้วก็ไปเป็นผู้มีความสุขในเบื้องปลายเหมือนกัน มีการเป็นอยู่อย่างเหมือนกับบวชอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นบวชเสวยความสุข ไม่ใช่บวชเพื่อบังคับตัวเองอย่างเดี๋ยวนี้ นี่ มันต่างกันอยู่อย่างนี้ เดี๋ยวนี้เราก็เป็นคนหนุ่มบวช มันก็อยู่ในความมุ่งหมายข้อหลังเพื่อจะเป็น พรหมจารี ที่สมบูรณ์
ทีนี้ ปัญหาก็มีต่อไปที่เป็นเรื่องปัญหาปลีกย่อย คำว่า หนุ่ม หรือ แก่ นี้จะเอาอายุเป็นประมาณมันก็ไม่ถูกนัก ต้องเอา ความรู้สึกทางจิตใจ สติปัญญา ความรู้สึกของจิตนี้ เป็นหลัก ผู้ที่มีความรู้สึกสูงถึงเรียกว่า คนแก่ ดังนั้น คนแก่มีได้หรือเป็นได้ทั้งที่อายุยังน้อยๆ ถ้ามีจิตใจสูง มีความรู้สึกสูง ที่นี้ เราก็มีคน..คนหนุ่มอายุน้อยแต่จิตใจก็สูงเหมือนคนแก่ ทีนี้ ในทางที่กลับกันข้างตรงกันข้ามมันก็มีคนแก่ที่ยังเป็นเด็ก คือ คนอายุมากเป็นสิบๆ ปีนี้ แต่ยังมีความรู้สึกเท่าเด็ก มาบวชเข้ามันก็เป็นอย่างไร เหมือนกับเด็กบวช คนแก่ที่เป็นเด็ก กับ เด็กที่เป็นคนแก่ มันตรงกันข้ามอยู่อย่างนี้ ทีนี้ก็มาบวชมันก็มีผลต่างกันอีก ต่างอย่างตรงกันข้าม คนหนุ่มที่มีจิตใจสูงมันก็มาบวช จะเกิดการได้รับผลกว้างขวางเป็น พรหมจารี เป็น วานปรัสถ์ พร้อมกันไปได้ในคราวเดียวกัน คือ คนที่มีจิตใจสูง มีสติปัญญาสูงนี้ มันก็ทำพร้อมกันไปได้ เรียนเพื่อบังคับตัวเองอย่าง พรหมจารี ก็ทำได้ และอาจเสวยความสุขสูงสุดจากการบวชอย่าง วานปรัสถ์ ไปเลยก็ได้ ในครั้งพุทธกาลก็มีคนอย่างนี้ คนหนุ่มที่มีจิตใจสูงก็ออกไปบวชอย่างนี้ก็มี มีผลเหมือนคนแก่ด้วย ก็เป็นที่น่าพอใจ คือ น่าชื่นใจยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อมีกุลบุตรชนิดนี้ออกไปบวชได้ผล ๒ เท่า ทีนี้ ส่วนคนแก่ที่ยังเป็นเด็กนี้ มันก็เป็นคนไม่สมประกอบนั่นเอง มีจิตใจไม่สมประกอบ อายุตั้งสิบๆปีแล้วมันยังมีอะไรเหมือนเด็ก ไปบวชเข้ามันก็ไม่ได้อะไรเลย ประโยชน์อย่างที่คนหนุ่มจะพึงได้-ก็ไม่ได้ ประโยชน์อย่างที่คนแก่จะพึงได้-ก็ไม่ได้ นี่มันกลายเป็น-ไม่ได้อะไรเลย ส่วนคนหนุ่มที่มีจิตใจสูงอย่างคนแก่กลับได้ทั้ง ๒ อย่าง มันต่างกันอยู่อย่างนี้
ขอให้มองเห็นข้อเท็จจริงกว้างๆอย่างนี้ นี่ เรียกว่าพูดกันอย่างให้มันหมดทุกประเภท ลองทบทวนดูว่า คนหนุ่มตามธรรมดาบวชแล้วก็ได้ฝึกความเป็น พรหมจารี คนแก่บวชแล้วก็ได้รับความสุขในบั้นปลายของชีวิต ถ้าบังเอิญคนหนุ่มมันมีความเป็นคนแก่อยู่ในนั้นด้วย คือ สติปัญญาดี ไอคิวดี อะไรที่เขาเรียกกันนั้น มันก็เลยได้ทั้ง ๒ อย่าง อย่างที่คนหนุ่มจะพึงได้-มันก็ได้ อย่างที่คนแก่จะพึงได้-มันก็ได้ด้วย ทีนี้ ถ้าเป็นคนแก่ที่มันเป็นเด็ก มันก็ไม่ได้อะไรเลยสักอย่างเดียว มันก็บวชเป็น..เป็น..ไม่รู้จะเรียกอะไรดี เป็นหลวงตา เป็นอะไรก็แล้วแต่จะเรียก คือ มันไม่ได้อะไรทั้งที่อย่างที่คนแก่ก็จะพึงได้ คนหนุ่มก็จะพึงได้ นี่ เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ขอให้สังเกตดูเอาเองว่า จุดหมายปลายทางมันอยู่ที่ตรงไหน? จุดหมายปลายทางการบวชอันแท้จริงนั้นมันมีอยู่ที่ตรงไหน? ถ้าคนหนุ่มออกบวชก็กลับออกไปเป็น คฤหัสถ์ อีกแล้วก็มีสติปัญญาสูง ก็จะได้ทั้งไอ้วิชาสำหรับคนหนุ่มควรจะได้ คือ การบังคับตัวเอง แล้วก็ได้รับความสุขสงบในระยะนั้นด้วย คนหนุ่มทั่วไปเป็นอย่างนี้แม้ว่าไปบวช แต่ยังมีคนหนุ่มอีกไม่กี่คนที่บวชเพื่อจุดหมายปลายทางสูงสุดโดยแท้จริง คือ คนหนุ่มที่ไปบวชแล้วเป็นพระอรหันต์ ในประวัติศาสตร์ในพระพุทธศาสนาของเรา ในพระบาลีมีไม่กี่คน นับตัวถ้วน ที่คนหนุ่มไปบวชแล้วเป็นพระอรหันต์ไปเลย นั่นมันก็มีลักษณะเป็น Genius หรือเป็นอะไรอยู่เป็นพิเศษ นี่ต้องเป็นเรื่องยกเว้น แต่ก็ไม่พ้นไปจากที่ว่าเขาไปได้ถึงจุดหมายปลายทางของการบวช ถ้ามีเวลาก็ไปหาอ่านดูเอง ประวัติของพระอรหันต์ประเภทที่ออกบวชตั้งแต่ยังหนุ่ม และไปเป็นพระอรหันต์มีไม่กี่คน น้อยมากจนจะไม่ยกเอามากล่าวได้ว่ามีอยู่ประเภทหนึ่ง เพราะส่วนมากจะบวชเข้ามาผ่านโลก ผ่านชีวิตมาแล้วอย่างสมบูรณ์ มาพบกับพระพุทธเจ้าไม่กี่นาทีก็เป็นพระอรหันต์ไปก็มี
ทีนี้ ถ้ามาเป็นพระอรหันต์มีจุดหมายปลายทางของการบวชที่แท้จริง-มันก็หมด หมดความเป็นอะไรทุกอย่าง นี่คือข้อที่อยากจะพูดให้รู้ไว้บ้างในวันนี้ว่า เมื่อถึงจุดหมายปลายทางของการบวช คือ ความเป็นพระอรหันต์ มันก็หมดความเป็นคนหนุ่ม หรือความเป็นคนแก่ พระอรหันต์นี้อยู่เหนือความเป็นคนหนุ่ม หรือความเป็นคนแก่ มักจะชอบเรียกกันว่า เป็นคนแก่ เป็นพระเถระ อะไรก็ดี แต่ข้อที่แท้จริงนั้นมันพ้นจากความเป็นคนหนุ่ม หรือพ้นจากความเป็นคนแก่ มันเลยไป พ้นจากความเป็นคนหนุ่มมันก็ถูกแล้ว มันก็เลยไปพ้นจากความเป็นคนแก่อีกทีหนึ่ง แม้พระอรหันต์หนุ่มๆนี้ก็ไม่ได้เป็นคนหนุ่มหรือไม่ได้เป็นคนแก่ เพราะมีจิตใจเปลี่ยนไปหมด อยู่เหนือประโยชน์ทุกอย่าง อยู่เหนือความต้องการทุกอย่าง ความหนุ่ม-ความแก่เลยไม่มีความหมาย นี่ ขอให้จำหลักอันนี้ไว้ว่า ถ้าจิตใจมันอยู่เหนือความอยาก หรือความประสงค์ ความต้องการ หรือประโยชน์ใดๆโดยประการทั้งปวงแล้ว ไอ้คำที่จะเรียกเขาว่าเป็นอย่างไรนั้น มันจะหมดความหมายไปในทันที นี่คือ ความหมายของคำว่า เป็นพระอรหันต์ ที่ถูกต้องที่สุด เป็นพระอรหันต์ หมายความว่า มีจิตใจที่อยู่เหนือ...เหนือทั้งหมด เหนืออำนาจของสิ่งที่จะมาทำให้ต้องการ-อยากได้ เหนือความต้องการ เหนือความอยาก เหนือประโยชน์ใดๆทั้งหมด มันก็เลยพูดไม่ได้ว่าเป็นอะไร นี่เป็นหลักในพระพุทธศาสนาที่สำคัญข้อหนึ่ง-จำไปด้วย แล้วไปคิดต่อไปเอาเอง เพราะเมื่อจิตใจอยู่เหนือความต้องการอะไรแล้วก็กลายเป็นมนุษย์อะไรก็ไม่รู้ ที่อยู่เหนือการบัญญัติว่าเขาจะเป็นอะไรได้อีกต่อไป ไอ้สิ่งสมมตินั่นมันก็สมมติเรียกกันไปตามเรื่องว่า เป็นหญิงเป็นชาย เป็นพระ เป็นฆราวาส เป็นคนฉลาด เป็นคนโง่ อะไรก็ตามใจ นั่นมันคนไม่รู้พูด ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วก็หมายความว่า มันอยู่เหนือความเป็นอะไร เหนือบวช เหนือไม่บวช เหนือหนุ่ม เหนือแก่ เหนือความเป็นหญิง เหนือความเป็นชาย ก็เรียกว่า เหนือไปทั้งหมดที่มันเป็นคู่ๆ เหนือแพ้-เหนือชนะ เหนือได้-เหนือเสีย เหนือการได้-เหนือการเสีย เหนือดี-เหนือชั่ว เหนือบุญ-เหนือบาป เหนือสุข-เหนือทุกข์ จนมันไม่เกี่ยวกับสิ่งที่เป็นคู่ๆเหล่านี้อีกต่อไป ก็เลยพ้นจากความที่จะถูกบัญญัติว่าเป็นอะไร ชาวบ้านก็สมมติไปตามเรื่องจะเรียกท่านว่าเป็นอะไร คือว่าชาวโลกจะเรียกท่านว่าอย่างไรตามสมมติของโลกก็เรียกไป แต่จิตใจของท่านอยู่เหนือความเป็นอย่างนั้นทั้งหมด เพราะฉะนั้น จึงถือว่าท่านอยู่เหนือการที่จะถูกเรียกว่าอะไร จะเรียกว่าผู้ชายก็ไม่ได้ เพราะความต้องการอย่างผู้ชายจะไม่มีเหลืออยู่เลย ถ้าเป็นพระอรหันต์ผู้หญิงก็จะเรียกว่าผู้หญิงก็ไม่ได้ ไม่มีความต้องการอย่างผู้หญิงเหลืออยู่เลย ทีนี้ ถ้าจะเป็นคนดีก็ไม่ได้ ไม่ต้องการจะมีดีอะไร ไม่อยากจะดีอะไร ไม่ยึดถืออะไรว่าเป็นความดี จะว่าเป็นคนชั่วก็ไม่ได้ มันอยู่เหนือที่จะเป็นคนชั่วได้ ควรจะสนใจไอ้คำพูดชนิดนี้กันไว้บ้าง จะเข้าใจจุดหมายปลายทางของพระอรหันต์กันง่ายขึ้น จะมามีจะมีใครทำให้แพ้ก็ไม่ได้และจะไม่ชนะอะไรด้วย ไม่ต้องการชนะอะไรด้วย ไม่ต้องการบุญและก็ไม่มีการทำบาป มันอยู่เหนือบุญ-เหนือบาปอย่างนี้ ไม่ต้องการความสุข-ไม่ต้องการความทุกข์ ความสุขก็ไม่มีความหมาย ความทุกข์ก็ไม่มีความหมาย เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า ไม่ใช่คนเป็นสุข หรือคนเป็นทุกข์ จะพูดกันสักวันหนึ่งก็ได้ว่า ท่านที่เป็นพระอรหันต์นั้นจะอยู่เหนือการบัญญัติสมมติของชาวโลกที่จะไปสมมติบัญญัติให้ว่าเป็นอะไร มันก็เรียกเพ้อๆ สมมติเพ้อๆ ไปอย่างนั้น แต่ในจิตใจโดยสภาวะแล้วมันไม่เป็นอะไรอย่างนั้นได้ รวมทั้งไม่เป็นพระ หรือไม่เป็นฆราวาส ด้วย จิตใจอย่างฆราวาสก็ไม่มี จิตใจอย่างฉันเป็นพระก็ไม่มี มันเหนือนั้นไปอีก แต่คนทั้งหลายก็ต้องเรียกว่า คนนี้เป็นพระ เพราะรูปร่าง เครื่องแต่งตัว เป็นอยู่อย่างพระ ก็เรียกว่า เป็นพระ แต่ว่าจิตใจของพระอรหันต์นั้นอยู่เหนือนั้น อยู่เหนือไอ้ความหมายอย่างนั้น ดังนั้น จึงเรียกว่าเหนือความเป็น ฆราวาส เหนือความเป็นพระ รวมกันหมดนี้เรียกว่า อยู่เหนือโลกโดยประการทั้งปวง นี่ จุดหมายปลายทางของการบวชอยู่ที่นี่ จะชอบหรือไม่ชอบก็ตามใจ ก็ตามธรรมชาติที่แท้จริงมันอยู่ที่นี่ ใครจะต้องการหรือไม่ต้องการก็สุดแท้ มันเป็นเรื่องส่วนตัว มันเป็นสิทธิที่จะเลือกเอาได้เพียงเท่าไร จะต้องการเพียงเท่าไรหรือจะต้องการทั้งหมด ถ้าต้องการเพียงว่า สึกออกไปผจญโลก ก็รีบฝึกบทเรียน พรหมจารี นี้ให้มากๆ บังคับตัวเองให้คล่องแคล่วว่องไว คือ บังคับ กิเลส นี่เอง ชนิดที่มันจะเป็นอันตรายให้มันอยู่ในอำนาจให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ไม่หุนหันพลันแล่น ไม่สะเพร่า ไม่อวดดี ไม่อะไรทุกอย่าง ไม่ขี้รัก ขี้โกรธ ขี้เกลียด ไม่กลัว ไม่อะไร แต่ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ เป็นแต่บังคับในส่วนที่ควรจะบังคับ เพื่อไม่ให้เกิดการเสียหายขึ้นในการที่จะไปอยู่ในท่ามกลาง ในโลกที่เต็มไปด้วยความยั่ว ยั่วให้รัก ยั่วให้เกลียด ยั่วให้โกรธ ยั่วให้กลัว
ทีนี้ ถ้าหากว่าต้องการมากไปกว่านั้น ก็คือ ต้องการความสุขแบบที่ไม่ใช่โลกๆ ไม่ใช่ ฆราวาส ก็ขวนขวายไปในทางที่จะให้ได้ ถ้าได้ถึงที่สุด ก็คือ อย่างที่เรียกว่า เป็นพระอรหันต์ แต่อย่าทำไปด้วยความตั้งใจว่าจะได้เป็น ต้องทำไปด้วยความตั้งใจว่าจะขจัดความทุกข์ หรือเหตุให้เกิดความทุกข์นี้ มากขึ้น มากขึ้น มากขึ้นตามลำดับ และไปจบลงตรงที่ว่า พ้นจากความเป็นอะไร จิตใจนี้พ้นจากความยึดถือว่าเราเป็นอะไรโดยประการทั้งปวง ทีนี้ ไม่มีอะไรจะทำให้ทุกข์ได้ คือ มันพ้นกระทั่งว่าพ้นจากความรู้สึกว่าเรามีชีวิตอยู่ หรือเราตายแล้ว ความมีชีวิตอยู่ หรือความตายแล้วนี้-ไม่มีความหมาย ต้องการแต่จิตชนิดที่ไม่รู้จักจะเป็นทุกข์ และก็มิได้หลงหรือหวังจะได้ความสุข นั่นเขาเรียกว่า ว่าง คำนี้ฟังยาก คนฟังไม่ออก ไม่เข้าใจ เอาความโง่ของตัวเองเข้ามาวัด ก็เข้าใจคำว่า ความว่าง ในพุทธศาสนาไม่ได้ เอาไปล้อเลียนกันบ้าง เอาไปทำอะไรกันบ้างตามที่ตัวเข้าใจ มันเป็นเรื่องที่ยังไกลกว่าที่คนเหล่านี้จะเข้าใจได้ แต่ที่เอามาบอกให้ฟังว่า มันจะไปจบที่ความว่าง คือ ความไม่เป็นอะไร เมื่อพระพุทธเจ้าท่านมีเวลาว่าง คือ ไม่ติดอะไรที่ทำอะไร ท่านก็อยู่ด้วย ความว่าง เรียกว่า สุญญตาวิหาร วิหาร แปลว่า อยู่ สุญญตา แปลว่า ความว่าง คือ อยู่ด้วยจิตที่ว่างจากความรู้สึกว่าเป็นอะไร อย่างมากจะรู้สึกแต่เพียงว่า อายตนะ มันยังรู้สึกอะไรได้อยู่ แต่ก็ไม่ต้องการอะไร คือ มันยังไม่ตาย นี่, มันไปจบลงที่นี่ เป็นพระอรหันต์ชั้นพระพุทธเจ้าแล้วก็ไม่มีอะไรที่จะไปไกลมากไปกว่า ความว่าง ได้
ทีนี้ คำว่า ว่าง นี้ใช้ภาษา-ใช้ความหมายธรรมดาเป็นหัวข้อสำหรับหาความหมายก็ได้ ถ้าพูดว่า ว่าง มันต้องหมายความว่า ไม่มีขนาด ไม่มีรูปร่าง ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีอะไรทุกอย่างที่มันมีๆกัน ไม่มีมิติใดๆ จึงจะว่าง และก็ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกันกับไอ้ความเปลี่ยนแปลง สึกหรอนี้ มันไม่เกี่ยวกันเลยกับสิ่งที่เรียกว่า ความว่าง และเป็น ความว่าง มันก็ไม่เกี่ยวกับเวลามันจึงไม่มีการเปลี่ยนแปลง คือ ไม่ชรา ไม่แก่เฒ่า ถ้านอกจากสิ่งนี้แล้ว มันจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามไปด้วยกันกับเวลา แล้วก็ชรา แก่เฒ่า หรือแตกดับ ความว่างจึงเป็นสิ่งที่แปลกประหลาด คือ ไม่เป็นอะไรเหมือนที่เรารู้จัก มันจึงเป็น Eternity คือ เป็น อนันตกาล เป็น Immortality คือ เป็นความที่ไม่รู้จักตาย เป็นอะไรอีกหลายๆ อย่าง นี้ถ้าเรียกกันโดยสมมติก็เรียกกันอย่างนี้ จิตที่มันไปถึงที่สุดตามวิธีของการบวชนี้ ประพฤติพรหมจรรย์นี้ มันไปที่นั่น มันไปมีจุดจบที่นั่น ทีนี้ ใครจะถึงหรือไม่ถึงมันก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าตามธรรมชาติ ตามผลที่เกิดออกมาจากธรรมชาติมันบังคับว่าการบวชมันเป็นอย่างนี้ มันไปที่จุดนั้น มันสมกันกับคำว่า ไปหมด เว้นหมด เคยบอกให้ฟังแล้วคำว่า บวช ป.ว.ช. นี้ ป. ปะ แปลว่า หมด ว.ช. ว่า ไป ป.ว.ช. ว่า ไปหมด ไปหมดจากทุกสิ่ง ก็คือ เหนือทุกสิ่ง ว่างจากทุกสิ่ง ถ้ามีตัวมันเอง ก็คือ ตัวความว่าง ซึ่งไม่เป็นอะไร แต่เขาก็ไม่เรียกไม่เช่นนั้นก็เป็นตัวขึ้นมาอีก ให้มันว่างเด็ดขาดไปเลย ไม่ต้องเป็น ตัวความว่าง อะไรขึ้นมาอีก
ฉะนั้น คำที่พูดว่า ออกบวชเพื่อแสวงหาความสุขในบั้นปลายแห่งชีวิตนี้กลายเป็นคำพูด หรือเป็นเรื่องของเด็กอมมือ นั่นมันยังติดความสุข จะหาความสุข จะเอาความสุขนี้นั้นมันเด็กอมมือ ถ้ามีการบวชอย่างถูกต้องมันไปพ้นนั้นไปอีก หรือจะบัญญัติว่าพ้นนั้นไปอีก คือ ไม่เป็นอะไร อย่างนี้เป็น ความสุข ก็ได้เหมือนกัน แต่อย่าลืมว่านี่ไม่เรียกว่า ความสุข มันอยู่เหนือความสุข เหนือความทุกข์ เหนืออะไรหมด เหนือความเป็นทุกๆ ชนิด ทีนี้ จะถือว่านั่นเป็นความสุขก็ได้ แต่ว่าเป็นเรื่องว่าเอาเอง สมมติบัญญัติเอาเอง-ว่าเอาเอง แต่แล้วเราก็ยังจำเป็นที่จะต้องใช้คำพูดชนิดนี้พูดกันอยู่ เช่น คำว่า พระนิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง หรือนำมาซึ่งความสุขอย่างยิ่ง เป็นคำพูดสมมติ เป็นคำพูดโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อให้คนเกิดความสนใจในสิ่งที่เรียกว่า นิพพาน นิพพาน นั้นเป็นที่สิ้นสุด เป็นที่ดับหมดแห่งสิ่งทั้งปวง ก็คือ ว่าง อีกเหมือนกัน จึงมีคำกล่าวว่าไอ้ ว่างที่สุดถึงที่สุด นั่นแหละคือ นิพพาน
นี่, จุดหมายปลายทางของการบวชมันมีอยู่อย่างนี้ ผมก็ต้องพูดไปตามหน้าที่ อย่าเข้าใจว่าจะเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ หรือขู่ให้กลัว หรืออะไรก็อย่าได้คิดไปอย่างนั้น แต่ต้องการจะให้ทุกคนทราบว่า จุดหมายปลายทางของการบวชที่แท้จริงมันอยู่ที่ไหน มันก็ขึ้นอยู่แก่ความรู้สึกของคนนั้นว่ายังต้องการอะไรอย่างกิเลสที่เขาต้องการ ถ้าการบวชมันจะช่วยเขาได้สิ่งนั้นเขาก็เอาทันทีเลย แล้วบางทีก็เป็นเรื่องงมงาย มายาอย่างยิ่ง เช่น พูดว่า เช่น สมัยก่อนเขาก็มีเหมือนกัน เขาว่าผู้บวชนี้จะได้ไปสวรรค์ แล้วคนมันก็เลยบวชเพื่อจะได้ไปสวรรค์ นี่น่าหัวเราะมาก ที่จริงเรื่องบวชนะ คือ เรื่องที่แท้นั้น คือ เรื่องที่แยกตัวออกมาจากสวรรค์ ไม่ไปลุ่มหลงสวรรค์ แต่เมื่อคนมันชอบสวรรค์ แล้วก็บอกว่าบวชเถิดจะได้ไปสวรรค์ คนมันก็บวช นี่ ก็ ประพฤติพรหมจรรย์ อย่างนักบวช ต่อมาถึงจะค่อยบอกว่า มีอะไรที่ดีกว่าสวรรค์ที่จะได้จากการบวช ก็ค่อยเลื่อนไปหา นิพพาน ทีนี้ ถ้าคนมันต่ำมากเกินไปก็บวชเพื่อเป็นสะพาน เป็นเรือจ้างออกไปหาอาชีพอย่างที่ว่ามาแล้ว หรือถ้าดีกว่านั้นบริสุทธิ์กว่านั้นก็บวชเพื่อรู้จักบังคับตัวเอง สามารถที่จะไปเผชิญกับโลกที่มันจะโกลาหลวุ่นวายมากขึ้น เพื่อทำหน้าที่ของเราให้ได้ดีที่สุด อย่างนี้มันก็ดี แบบนี้ก็ดีมากแล้ว หรือดีที่สุดอยู่แล้วสำหรับ ฆราวาส ถ้าบวชเพื่อจะให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ยิ่งไปกว่านั้น ต้องไปตามทางของพระอรหันต์อย่างที่ว่ามาแล้วนั่นเอง แล้วมันก็น่าหัวที่จะไปพูดว่า บวชเพี่อเข้าถึง ความว่าง ไปในที่สุด นี่ คนเกือบทั้งโลกฟังไม่เข้าใจ แล้วก็สั่นหัว แล้วหาว่าบ้าก็ได้ แต่ที่แท้มันจริงอย่างนั้น บวชแล้วไปตามทางของการบวชอย่างถูกต้องถึงจุดหมายปลายทาง มันจะเข้าไปถึง ความว่าง ซึ่งไม่เป็นอะไรเลย ทีนี้ คนพอได้รู้จัก ความว่าง หรือคำว่า ว่าง ในแง่ในแง่ที่ไม่น่าเสน่ห์หา แง่ร้ายอย่างนี้ก็ไม่มีใครเอา จนกว่าเมื่อไรจะรู้ว่า อุ้ย! มาอยู่ในโลกนี้มันเหมือนกับตกนรกทั้งเป็น หรือไม่ถึงกับตกนรกทั้งเป็นมันก็ยัดเหยียด เบียดเสียด อึดอัดนี้ ไอ้ที่อึดอัดที่สุด ก็คือ กามารมณ์นั่นแหละ มันก็อยากจะออกจากที่อึดอัด อยากไปสู่ที่ความว่าง-ความโล่งกว่านี้ พอมันเดินไปทางนี้ก็พบว่างมากยิ่งๆ ขึ้นไป ว่างยิ่งๆ ขึ้นไป จนกระทั่ง ว่างจริง คือ เป็นเรื่องว่างจากความมีตัวกู หรือของกู เขาเรียกว่า ว่างจากตัวตน นั่นคือ จุดจบของ พรหมจรรย์ พรหมจรรย์ ไปสุดลงแค่นี้ ไม่มีอะไรที่ต้องปฏิบัติเลยนี้ไปอีก จะเรียกอะไรก็ตามใจ จะเรียกว่า ไม่มีทุกข์ก็ได้ จะเรียกว่า ไม่ตายก็ได้ จะเรียกว่า ว่าง ก็ได้
ทีนี้ ขอให้นึกทบทวนไปถึงเรื่องที่เราได้พูดกันมาตั้งแต่วันแรกว่า บวชทำไม? คืออะไร? ยังไง? เรื่อยๆมา แล้วก็บวชเข้ามาในศาสนานี้ นับตั้งแต่ว่าจะต้องมี อุปัชฌาย์ มีอาจารย์เป็นผู้ควบคุม แล้วก็เดินเตาะแตะ เตาะแตะมาเหมือนเด็กสอนเดิน จนถึงเขตที่ว่าเป็นพ้นนิสัย เดินเองได้ แล้วก็เดินไปไหน แล้วก็เดินมาสู่ความเป็นนักบวชที่ดี เป็น บรรพชิต ที่ดี ที่ถูกต้อง แล้วก็ไปต่อไป ต่อไป จนกระทั่งมันได้อยู่เหนือทุกสิ่ง เพราะมันมีแต่ความว่าง มีหลักสำคัญที่ควรจะจำไว้เพียง ๒-๓ คำ ให้ทุกสิ่งที่มันมีอยู่ในโลก ในสากลจักรวาล ในอะไรก็ตามนี้ เราเรียกว่าโลกก็แล้วกัน ในโลกนี้เป็นของว่างเพราะไม่มีสาระอันแท้จริงที่ตรงไหน มันเป็นไอ้การไหลเวียนของสิ่งที่ปรุงแต่งซึ่งกันและกัน สร้างสรรค์ ปรุงแต่งซึ่งกันและกันไปเรื่อย ถ้าดูพบความจริงข้อนี้เขาเรียกว่า เห็นว่าโลกนี้ว่างจากตัวตน โลกว่างจากตัวตน มันเป็นกระแสแห่งความไม่เที่ยง ถ้าเห็นโลกอย่างนี้ว่า โลกว่างอย่างนี้ จิตมันก็ว่าง คือ มันไม่รู้จะไปจับฉวยเอาอะไรมาเป็นตัวตน ไม่เป็นสำคัญมั่นหมายจับฉวยที่จุดใดจุดหนึ่ง-เป็นตัวตน นี่ มันก็เรียกว่า จิตมันก็ว่างจากการจับฉวย นี้เป็นภาษาทาง Spiritual ทางภาษาที่สูงกว่าที่มนุษย์จะเข้าใจได้ ไม่ใช่ภาษาวัตถุคือว่าว่างแล้วก็ไม่มีอะไร มันว่าง เพราะ มันไม่เห็นว่าอะไรมีค่าหรือเป็นตัวตน เพราะไม่เห็นว่ามีอะไรที่จะไปจับ ไปฉวย ไปยึด ไปเกาะ ไปอะไรได้ นี่มันเป็นความว่างอย่างนี้ ความว่างอย่างนี้เป็นจุดหมายปลายทางของการบวชที่ถูกต้องตามธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของพุทธศาสนา คือ ศาสนาที่เราบวชเข้ามา อุทิศพระพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้เรื่องนี้ แล้วก็สอนเรื่องนี้ เพื่อผลอย่างนี้ เรียกไปตามภาษาโบรงโบราณที่เขาเรียกมาแต่ดั้งเดิม เรียกว่า นิพพาน - เป็นจุดหมายปลายทางของการบวช นิพพาน นี้แปลว่า เย็น ถ้าถามว่าทำไมเย็นแล้วจะว่างได้อย่างไร ก็เป็นเย็นทางแบบวิญญาณ ภาษา Spiritual ทางวิญญาณ เย็นอย่างแบบวิญญาณ เย็นอย่างแบบวิญญาณ คือ ต้องว่างจากสิ่งรบกวนทั้งหลาย จิตนี้จึงจะเย็น จะมีความเย็นชนิดนั้น
เพราะฉะนั้น ขอสังเกตให้เห็นเสียว่า จะเรียกว่าอะไรก็ได้ จะเรียกว่า นิพพาน ก็ได้ จะเรียกว่า อมฤต ก็ได้ จะเรียกว่า ที่สุดสิ้นของความทุกข์ ก็ได้ การดับหมดไม่มีอะไรเหลือ ก็ได้ เยอะแยะ ไวพจน์ คำแทนชื่อของ นิพพาน แต่ที่ถูกต้องตามความจริงที่สุดก็คือ คำว่า ว่าง / ว่าง ถึงที่สุด ที่สุดอยู่ที่นั่น ทีนี้ คนเรามันยังหวังที่จะมีผล ก็ให้มันเป็น-ไม่มีทุกข์ หรือสบาย หรือเย็น คนมันไม่อยากตายก็รู้อันนี้ จุดนี้ ตรงนี้ คือ ไม่ตาย คือ ความไม่ตาย นี่คือไปเอาความต้องการของมนุษย์มาใส่ให้เป็นชื่อ ที่ทำให้เกิดความปรารถนา ความหวัง ความประสงค์ ถ้าไม่อย่างนั้นจะไม่สนใจเอาเสียเลย ทีนี้ ถ้ามาสนใจแล้วเดินไป เดินไป เดินไปตามนั้นก็พบเอง ไม่ต้องใครบอก ว่ามันไม่มีอะไรจะต้องประสงค์ สิ้นสุดแห่งความประสงค์ พูดด้วยภาษาที่ถูกต้องที่สุดก็ว่า คือ ว่าง นี่เอง ไม่มีอะไรวนเวียนเป็น วัฏฏสงสาร ไม่มีอะไรทำให้เกิดทนทุกข์ทรมาน ไม่มีอะไรทั้งหมดที่เรียกว่า ว่าง
เอาแหละ เห็นว่าเป็นการเพียงพอที่จะชี้แนวทาง หรือว่า Outline ทั้งหลายของสิ่งที่เกี่ยวการบวชนี้ ว่ามันมีกรุย-มุ่งหมาย-ดิ่งไปที่ไหน? แล้วก็อย่าไปกลัว ทำในใจให้แจ่มแจ้งชัดเจนไว้เถิด เราจะเอาแค่ไหนก็เอาแค่นั้นแหละ แต่ให้รู้ไว้ทั้งหมด ตัวโชคมันดีก็จะได้ทั้งหมด ถ้าจะต้องกลับออกมาอีก มันก็ได้เยอะแยะเหมือนกัน คือ ได้จิตใจใหม่ ได้สมรรถภาพทางจิตใจใหม่ อะไรๆ ใหม่ เพื่อไปเผชิญโลกที่แสนจะรบกวน ให้มันอยู่เหนือเข้าไว้ตามสมควร ก็ความหมายอันเดียวกัน คือ ว่างจากความรบกวนตามสมควร แม้จะไม่ว่างหมด นี่ ขอร้องว่าให้ได้อย่างนี้อย่างน้อย เป็นอย่างน้อยกลับออกไป
พอกันทีสำหรับคำว่า จุดหมายปลายทางของการบวช สำหรับวันนี้