แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันที่ ๕ พฤษภาคม สำหรับพวกเราที่นี่ ได้ล่วงมาถึงเวลาสี่สามสิบนอแล้ว การบรรยายเกี่ยวกับปัญหาที่พวกธรรมทูตจะพึงประสบในวันนี้ จะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า หลักธรรมที่ฝรั่งเคยและกำลังเข้าใจผิดต่อ การที่เราต้องพูดกันถึงเรื่องนี้ ก็เพราะว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งอยู่เหมือนกัน และความเข้าใจผิดเช่นนี้ เป็นความเข้าใจผิดที่เป็นไปได้โดยง่ายหรือโดยธรรมชาติ เคยเข้าใจผิดมาแล้ว แต่แล้วก็ยังกำลังเข้าใจผิดอยู่ อย่างเดียวกันนั่นเอง คือว่าคนหนึ่งเข้าใจถูก ก็มีอีกคนหนึ่งเข้าใจผิดซ้ำอย่างนั้นขึ้นมาอีกก็ได้ เมื่อฝรั่งเข้าใจผิดอย่างไร คนไทยที่ตามก้นฝรั่งก็เข้าใจผิดเช่นนั้นขึ้นมาอีกได้ จึงเป็นปัญหาที่มีได้แม้ในประเทศไทยที่เป็นประเทศพุทธบริษัท เพราะฉะนั้นขอให้พยามสังเกตให้ดีๆ ปัญหาที่เหลืออยู่ต่อไปเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็คือข้อที่ว่า พวกฝรั่งที่กำลังก้าวหน้าในทางวัตถุ เขามีความเห็นว่า พุทธศาสนานั้น มีสำหรับคนที่ไม่ก้าวหน้าหรือไม่อาจจะก้าวหน้าในทางวัตถุ ไม่เหมาะสำหรับฝรั่งที่ไปโลกพระจันทร์ได้ ข้อนี้ก็มีใจความสำคัญตรงที่ว่า เมื่อละโมบโลภลาภทางวัตถุมากเกินไปแล้ว ก็จะเห็นว่า พุทธศาสนาเป็นของที่ไม่เหมาะสำหรับเขา หรือเป็นอุปสรรคสำหรับเขา พวกนี้ก็ไม่สนใจพุทธศาสนา ที่พูดว่า ฝรั่งกำลังสนใจพุทธศาสนานั้น ลองไปคำนวณดู โดยข้อเท็จจริง ยังไม่ถึงครึ่งเปอร์เซ็นต์ของฝรั่งทั้งหมด เพราะว่าส่วนใหญ่พวกที่ก้าวหน้าทางวัตถุนั้นก็มุ่งหน้าตะบึงตะบันแต่เรื่องทางวัตถุ ได้ยินพุทธศาสนาเพียงแว่วๆ ว่าเป็นเรื่องทางจิตใจ ไม่ต้องการอะไร สันโดษ มักน้อย ต้องการนิพพาน ซึ่งเขาก็ยังไม่รู้ว่าอะไรเหมือนกัน แต่รู้ว่ามันไม่ต้องการอะไร ต่างคนต่างต้องการจะดับหายเงียบไปโดยไม่เหลือ นี่เป็นอุปสรรคอันหนึ่งด้วยเหมือนกัน ที่ผู้ที่จะไปเผยแผ่พุทธศาสนาในทิศนั้น จะต้องไปในลักษณะที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าไปปราบผี ผีคือความเข้าใจผิด ไม่มีผีอย่างไหนร้ายกาจยิ่งไปกว่าความเข้าใจผิดหรืออวิชชา เห็นสิ่งที่มีประโยชน์หรือจำเป็นที่ควรจะมีเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น สำหรับเรื่องนี้ ก็ขอให้เข้าใจกันเสียในหมู่พวกเราก่อนว่า พุทธศาสนาไม่ได้ตั้งตัวเป็นศัตรูกับเรื่องทางวัตถุหรือความก้าวหน้าทางวัตถุเหมือนที่ได้เคยพูดมาแล้ว พุทธศาสนาต้องการจะทำหน้าที่ สำหรับป้องกันไม่ให้เกิดภัยอันร้ายกาจขึ้นมาจากวัตถุที่ก้าวหน้า ถ้าปล่อยวัตถุก้าวหน้าไปตามลำพัง มัน มันมีอันตรายในทางวิญญาณอย่างใหญ่หลวงแก่มนุษย์ในโลก นี้ก็ไม่ต้องพิสูจน์อะไรกันมากมาย โลกกำลังพิสูจน์ตัวเองอยู่แล้ว เต็มไปด้วยสงคราม และสงครามที่ร้ายกาจที่สุดก็คือความริษยา คอยแต่จะทำลายกันทางเศรษฐกิจทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นต้นเหตุของไอ้สงครามฆ่าฟันกันด้วยอาวุธ นี่เรียกว่าส่วนสังคม วัตถุเป็นเหตุให้เกิดอันตรายอย่างนี้ และโดยส่วนตัว บุคคลคนหนึ่งๆ วัตถุก็ทำให้มีจิตใจที่หิวเป็นเปรตยิ่งขึ้น ทำให้นอนไม่หลับ ให้ระบบประสาทวิปริต จนคนบ้ามีมากขึ้นในโลก ทวีขึ้นเร็วอย่างน่าประหลาด อย่างน่าตกใจ เขาเคยแสดงสถิติกันครั้งหนึ่ง เมื่อเร็วนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ มีใจความสำคัญว่า การทวีจำนวนของคนที่เป็นโรคประสาทหรือเป็นเป็นบ้านั้น มันมากกว่าไอ้ยุคก่อนๆมาก แล้วก็อยู่ในหมู่ หมู่คนที่ร่ำรวยมากขึ้นๆ คือคนรวยเป็นโรคเส้นประสาท หรือโรควิกลจริตมากขึ้น ลองไปหาอ่านดู มหาเศรษฐีใหญ่ที่สุดของประเทศหนึ่ง เป็นโรคเส้นประสาท นอนไม่หลับเป็นสิบๆ ปี ยังแต่จะขาดใจ ในที่สุดศาสนาของเขาเข้าไปได้ในจิตใจ เลยเปลี่ยนแปลงเป็นคนละคน คือนอนหลับ และทำบุญให้ทาน ถ้าเป็นอย่างนี้กันมากขึ้นๆ แล้วก็ ก็มีปัญหามากขึ้น ฉะนั้นอย่าเข้าใจว่า ธรรมะหรือศาสนาไม่จำเป็นแก่ผู้ที่มีความก้าวหน้าทางวัตถุ คือมันจะใช้วัตถุสำหรับประหัตประหารกัน แล้วตัวเองก็นอนไม่หลับ สรุปใจความมันมีเท่านี้ มันต้องมีอะไรอย่างหนึ่งซึ่งควบคุมความก้าวหน้าทางวัตถุ อย่างที่เคยพูดไปแล้วถึงเรื่อง ชีวิตนี้ต้องเทียมด้วยควายสองตัว ตัวหนึ่งทางวัตถุ ตัวหนึ่งทางวิญญาณ มันก็ราบรื่น ทีนี้ข้อต่อไปก็มีว่า เขาเห็นว่า พุทธศาสนาเป็นต้นนี้มีไว้สำหรับปลอบใจคนยากจน คำว่าปลอบใจคนยากจนนี้มันมีสองแง่ ขอให้ทำความเข้าใจให้ถูก แยกออกจากกันเด็ดขาด คือปลอบใจคนยากจนในลักษณะที่มีประโยชน์ที่ถูกต้อง และปลอบใจคนยากจนในลักษณะที่เข้าใจผิดอย่างที่เขาเข้าใจนั่นน่ะ เขาเข้าใจว่า พุทธศาสนาหรือศาสนาที่มีหลักธรรมะคล้ายนี้ ชอบทำให้คนจนพอใจยินดีสันโดษตามที่มันจนอยู่แล้วนั่น อย่างนี้มันผิด คือเป็นเรื่องสันโดษที่ผิด หรือแม้จะเป็นเรื่องอนิจจังทุกขังอนัตตา ก็เป็นเรื่องอนิจจังทุกขังอนัตตาที่ผิด เมื่อเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องขวนขวายอะไร ปล่อยให้มันตายเร็วๆ นี้ ให้คนจนคิดอย่างนี้ ทางวัตถุก็จนยิ่งขึ้นไป ทางจิตใจก็ไม่ได้อะไร ที่ในแง่ที่ถูกนั้น ก็หมายความว่า คนจนจะต้องพยายามช่วยตัวเองต่อไป แล้วก็ปลอบใจไม่ให้เป็นทุกข์ ให้คนจนมีความเชื่อแน่ว่า สิ่งต่างๆ ต้องเป็นไปตามกรรม ถ้าเรามีกรรมแต่หนหลัง ไม่พอ เราก็ต้องจน แต่แล้วเราก็พยามทำให้มันพอ เหตุปัจจัยเหล่านี้ต้องสร้างขึ้นให้พอ แล้วก็จะหายจน ก็จะอยู่ในลักษณะที่พอดี ถูกต้องหรือยุติธรรม ถ้าคนจนคิดอย่างนี้ ลัทธิ Communism เป็นต้น ก็ไม่เกิดขึ้นในโลก มันจะมีความพอดีอย่างลัทธิ Socialism หรืออะไรก็ตามใจ ที่มันจัดกันได้พอดี ทีนี้ถ้าว่ามันเข้าใจผิด มันก็รุนแรงถึงขนาดที่เรียกว่าจะยื้อแย่งกันซึ่งกันและกัน คือคนจนไม่ยอมเป็นคนจน จะมีวิธีการจะยื้อแย่งคนรวย มันก็เป็นลัทธิ Communism ที่ทำอันตรายกันเอง แล้วก็ยุ่งยากลำบากมาก นี่ถ้าคนจนมีหลักธรรมะพอ ลัทธิ Communism ก็ไม่เกิดนี่ ฝรั่งกลับไม่เห็นข้อนี้ กลับเห็นแต่ว่าเป็นเรื่องไว้ปลอบใจคนจนให้มันจนอยู่อย่างนั้น มันมองกันคนละมุม มันก็มีเหตุผลที่จะไปชี้แจงให้เห็นว่า ปลอบใจคนจนจริง แต่ว่ามันปลอบใจในแง่ที่ไม่ต้องเป็นทุกข์ แล้วในแง่ที่ไม่ต้องไปยื้อแย่ง แต่ว่าเราจะต้องพยามทำ การช่วยตัวเรานี้ให้มันยิ่งๆ ขึ้นไป มันก็ค่อยๆ มีบุญขึ้นมา แล้วก็ไม่จน นี่เขาไปดูหมิ่นเสียว่าเป็นศาสนาไว้หลอกคนโง่ ให้สันโดษหรือให้อะไรทำนองนั้น ที่ในแง่ต่อไปก็มีว่า ศาสนาอย่างพุทธศาสนานี่ มีไว้ปลอบใจคนที่มีความจำเป็นที่จะต้องต่อสู้อยู่ในท่ามกลางธรรมชาติอันดุร้ายโหดร้ายทารุณ เช่น ประเทศ บ้านเมือง แผ่นดินที่มันแห้งแล้ง ประเทศที่แห้งแล้งมากอย่างประเทศในทะเลทรายอย่างนี้ หรือแม้แต่ประเทศ อย่างประเทศอินเดียบางส่วนก็ประเทศแห้งแล้ง ที่ดินเพาะปลูกอะไรไม่ได้ แล้วก็มีด้วยกันทุกประเทศตามมากตามน้อย แล้วคนก็หนีไปไหนไม่ได้ จำเป็นที่ต้องอยู่ต่อสู้กับธรรมชาติอันดุร้ายเหล่านั้น ก็ต้องมีหลัก อย่างที่มีในพุทธศาสนา ให้ก้มหน้าก้มตาต่อสู้ แล้วก็ไม่พัฒนา ไม่ดัดแปลง ไม่แก้ไขอะไรด้วยซ้ำไป นี้ก็มีส่วนถูกอยู่บ้าง ที่ว่าคนที่อยู่ในท่ามกลางธรรมชาติอันทารุณโหดร้ายก็ต้องมีจิตใจ มีกำลังใจได้มาจากทางใดทางหนึ่งที่จะต่อสู้อยู่ได้ แต่โดยมากไม่ใช่เกี่ยวกับศาสนาหรอก ไปดู คือความเคยชินที่เขาเกิดมาในถิ่นอย่างนั้น เขาเก่งมาโดยธรรมชาติ โดยกำเนิด แต่ถ้าได้หลักธรรมะเข้าไปช่วยเหลือ มันก็ดียิ่งขึ้น แต่แล้วมันไม่ใช่ความมุ่งหมาย หรือมันไม่ใช่มีค่าเพียงเท่านั้น สำหรับพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ที่มีปัญญา จะต้องแก้ไขหรือต่อสู้กับธรรมชาติอันดุร้ายนั้นได้ดีที่สุด แล้วก็มีอะไรมากไปกว่านั้น คือว่าแม้ผู้ที่อยู่ในถิ่นที่มีธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ก็ยังต้องมีพุทธศาสนาอย่างยิ่งอยู่นั่นเอง อย่ามาดูถูกกันว่า พุทธศาสนามีไว้เพียงเพื่อคนที่มันอยู่ในที่ที่มันแห้งแล้ง ต้องอยู่ด้วยความทนทรมาน ต้องปลอบใจไปวันหนึ่งวันหนึ่ง นี่เขาเคยเข้าใจผิดอย่างนี้ เคยออกปากมาอย่างนี้ แล้วความเข้าใจอย่างนี้ มันก็ยังเหลืออยู่กระทั่งบัดนี้ เห็นเป็นของครึคระงมงาม พ้นสมัย มีไว้สำหรับคนที่ล้าหลังอย่างนั้น อีกแง่หนึ่ง ก็หาว่า หลักธรรมะอย่างนี้ มีไว้สำหรับคนโง่ ก้มหน้าหลับตาหาความสุข นี่ระวังให้ดี แม้แต่ในเมืองไทย ก็ยังมีไม่น้อย เพราะเมืองไทยก็ไปตามก้นฝรั่งในเรื่องวัตถุนิยมอีกเหมือนกัน จึงตามก้นในความคิดเห็นชนิดนี้ด้วย ว่าความสุขหาเอาได้ด้วยนั่งหลับตาภาวนาของคนโง่ มีเขียนอยู่เป็นหลักฐานในหนังสือเล่มหนึ่ง ว่าไปนั่งคิดปรัชญาอันลึกล้ำของพวกกรีกเสียสักชั่วโมงหนึ่ง จะมีประโยชน์มากกว่าการนั่งหลับตาเข้าฌานอย่างโง่ๆ ของคนอินเดียไปตลอดชีวิต คิดดูสิ คำพูดอย่างนี้มันมีอย่างไร เขามองคนอินเดียว่าเป็นคนโง่ นั่งหลับหูหลับตาเข้าฌานหาความสุขไปจนตลอดชีวิต นี่มันก็มีสองแง่ คือถ้าเขาพอใจอย่างนั้น ก็ถูกของเขา เป็นเรื่องส่วนตัว แต่มันไม่ใช่เรื่องนั่งหลับตาเข้าฌานโง่ๆ แล้วโดยเฉพาะพุทธศาสนา ก็ไม่ได้สอนให้นั่งหลับตาตลอดวันตลอดคืน ตลอดชีวิต เพื่อหาความสุขเพียงเท่านั้น เขาจะไปนั่งหลับตาเพื่อศึกษาพบความจริงในส่วนลึกของชีวิต เพราะมันไปนั่งหลับตาอย่งนั้น มันคิดได้ดีกว่า แล้วบางที ก็ยังเดินคิด ยืนคิด อะไรคิดอยู่ ไม่ใช่ว่านั่งหลับตาตะพึด ให้รู้ความจริงในส่วนลึก แล้วเอามาปรับเข้ากับจิตใจให้มันมีความสุข ต่อไปจะทำอะไรก็ได้ ก็ยกเว้นพวกฤาษี โยคี มุนี บางคนบางพวก ที่เขาชอบอย่างนั้นจนตลอดชีวิต ก็เป็นสิทธิที่เขาจะทำได้ เขายังมีความสุข คือไม่ปวดหัว ไม่เป็นเปรต ไม่หิวเป็นเปรตอยู่ทั้งวันทั้งคืนเหมือนพวกสมัยใหม่ ทีนี้ถ้ามองดูถึงปรัชญาของพวกกรีกนั้นน่ะ ก็ไม่เห็นมีอะไร นอกจากทำให้ความคิดมันยุ่งหัวเท่านั้นเอง ไอ้คนที่ชอบคิดเรื่องลึกๆ แล้วก็ภูมิใจว่ากูเป็นนักปราชญ์ ทั้งที่ความคิดเหล่านั้นไม่มีประโยชน์อะไรเลย นอกจากว่ามันคิดได้ลึกซึ้งและทะนงตัวว่าเป็นนักปราชญ์อย่างนี้ ปรัชญาของพวกกรีกก็ไม่เคยช่วยโลกให้มีสันติภาพได้ มันตีกันยุ่งไปหมด อย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น ถูกแล้ว มันก็มีส่วนที่ดีที่เรียกว่า ทำให้หูตาสว่าง แต่ไอ้ความสว่างเพียงเท่านั้นหรือชนิดนั้น มันช่วยมนุษย์ไม่ได้ แล้วมันกลับเป็นอันตราย คือเป็นนักคิดที่เป็นยาเสพติด นักปรัชญาตัวยงก็คือเป็นนักคิดที่หลงใหลในการคิด เหมือนกับติดยาเสพติด ไม่คิด ก็ไม่อยู่เป็นสุข แล้วก็ภาคภูมิใจในความที่ว่าได้คิดลึก มันก็แค่นั้นเอง ไม่ได้ทำตัวเองให้เป็นผู้มีความสงบสุข อย่างที่เรียกว่า สะอาด สว่าง สงบ ใจปั่นป่วนอยู่ด้วยความคิดอันลึกซึ้ง และก็ทะนงตัวว่าเราเก่ง ก็มีเท่านี้ นักปรัชญา จึงไม่สามารถทำโลกให้มีสันติภาพได้ ต้องเป็นเรื่องของศาสนาที่ถูกต้อง จึงจะทำโลกให้มีสันติภาพได้ ถูกอยู่เหมือนกันที่บางคนพูดว่า เราต้องมีหลักปรัชญาเป็นอุดมคติ ผมก็มองเห็นข้อนี้ แต่มันต้องเป็นปรัชญาที่ปฏิบัติได้ ถ้าถูกต้องจนกลายเป็นเรื่องที่ปฏิบัติได้ และหมดความเป็นปรัชญาไป จึงจะมีประโยชน์ ถ้ายังเป็นปรัชญาอยู่เพียงไร ยังไม่มีประโยชน์ เช่น เรื่องอริยสัจ หรือเรื่องปฏิจจสมุปบาท พวกฝรั่งแรกเข้ามาแตะต้อง มันก็เป็นปรัชญาไป เขาคิดอย่างปรัชญา เตลิดเปิดเปิงไป ไม่เข้าถึง ไม่มีการปฏิบัติ แต่ถ้าเขามาจับฉวยอย่างถูกต้อง และปฏิบัติเข้าไปเท่าไหร่ๆ มันจะยิ่งกลายรูปจากปรัชญา มาเป็นศาสนา หรือเป็นวิทยาศาสตร์ในทางจิตใจ เรื่องอริยสัจนั้น ก็เป็นเรื่องพุทธศาสนาถูกต้องขึ้นมาและดับทุกข์ได้ เรื่องปฏิจจสมุปบาทก็เหมือนกัน มันจะเป็นสิ่งที่อยู่ในลักษณะของปรัชญาอย่างลึกซึ้ง แก่พวกฝรั่ง พูดกันไปได้ทั้งปีทั้งชาติ อย่างผิดๆ พอถึงเรื่องที่จะปฏิบัติถูกขึ้นมา มันก็เป็นเรื่องระวังตาหูจมูกลิ้นกายใจให้ดีๆ อย่าให้เกิดเวทนาชนิดที่ปรุงตัณหาอุปาทาน ภพ ชาติ มันก็ไม่มีความทุกข์ตอนนี้ ไม่มีความทุกข์จริงๆ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ต่อตายแล้ว เหมือนที่เราสอนกันผิดๆ นี่จะต้องพูดกันสักทีหนึ่ง
ฉะนั้นเรื่องนั่งหลับตานั้นมันเป็นเรื่องที่จะทำปรัชญาให้กลายเป็นวิทยาศาสตร์ ให้กลายเป็นศาสนามากกว่า นี่เรียกว่า เป็นพื้นฐานทั่วๆ ไปของความเข้าใจผิด ที่ผู้ที่มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยิ่งทางวัตถุ เขาทะนงตัว แล้วก็มองดูไอ้สิ่งที่เรียกว่าศาสนาของชาวตะวันออกนี้ในลักษณะที่เป็นของเด็กอมมือบ้าง โง่บ้าง จำเป็นบ้าง เราต้องเข้าใจถูกต้องเสียก่อน จึงจะไปพูดกับเขาให้รู้เรื่องได้ นี่ว่าด้วยหลักกว้างๆ ทั่วๆ ไป ทีนี้ก็มาถึงแง่มุมที่มันละเอียดหรือเฉพาะ ก็มีอยู่หลายเรื่องด้วยกัน เช่นเรื่องที่พวกฝรั่งส่วนใหญ่ที่เป็นนักศึกษาก้าวหน้าตามแบบของเขานั้น ก็จะหาว่า พุทธศาสนานี่มีหลักปฏิบัติหรือมีปรัชญาอยู่ในกลุ่มที่เป็น Negative Negativism คอยแต่จะปฏิเสธว่า อะไรก็ไม่มี ไม่มี ไม่มีไปเสียหมด นี่เขาไม่รู้พุทธศาสนา จึงรู้สึกอย่างนั้น ไอ้ลัทธิปฏิเสธไปเสียหมดที่เรียกว่านัตถิกทิฏฐินั้น ไม่ใช่พุทธศาสนา พุทธศาสนาจัดนัตถิกทิฏฐิไว้เป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่แล้วมันก็มีทางที่จะทำให้เข้าใจผิดกันอยู่ตรงที่เรื่องนี้มันลึกหรือมันยาก แล้วคำว่าไม่มี ไม่มีนี่มันก็สองความหมาย ความหมายในภาษาธรรมดาอย่างหนึ่ง ความหมายในภาษาธรรมอันลึกซึ้งอีกอย่างหนึ่ง เช่น สุญญตา อนัตตานี้ ถ้ามองด้วยความรู้สึกของคนที่ศึกษามาอย่างสมัยใหม่โง่ๆ นะ ต้องใช้คำว่าอย่างนี้บ้าง ก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องปฏิเสธว่าไม่มีอะไร ก็เป็นอนัตตา เป็นสุญญตา ทีนี้ตามหลักของผู้เป็นเจ้าของลัทธิ อนัตตาหรือสุญญตาคือพุทธศาสนานั้นมิได้ปฏิเสธว่าไม่มีอะไร ทุกอย่างมีอยู่ หากแต่ว่าถ้าเราไปสำคัญสิ่งที่มีอยู่เหล่านั้นว่าเป็นตัวตน มันก็เป็นทุกข์ ฉะนั้นเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งที่มีอยู่เต็มไปหมดในลักษณะที่รู้เท่าทันว่า จะไปหมายมั่นปั้นมือว่ามันเป็นตัวเราหรือเป็นของเราไม่ได้ โดยเนื้อแท้มันเป็นสิ่งที่ว่างจากคุณค่าที่จะไปยึดถือว่ามันเป็นตัวตน เป็นของตน คือเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา มันก็มีคุณค่าสำหรับให้คนทั้งหลายเข้าไปเกี่ยวข้องใช้สอยบริโภคอะไรก็ตามใจ ไปตามธรรมชาติ ไปด้วยความรู้สึกคิดนึกที่ถูกต้อง คือไม่ยึดมั่นถือมั่น เราก็มีโลกนี้ได้โดยที่ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นว่ามันเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา หรือว่าแม้แต่เป็นตัวมันเอง เพราะว่ามันเปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัย มันมีกฎของแห่งเหตุแห่งปัจจัย เป็นตัวมันเอง เป็นของมันเอง ไม่ฟังเสียงใคร อย่างนี้มันไม่ใช่ Negativism มันเป็นปัญญา มันเป็นสติปัญญา ที่รู้ตามที่เป็นจริงว่า สิ่งเหล่านี้มีอยู่เต็มไปหมด แต่อย่าไปโง่ ไปหมายมั่นปั้นมือว่าของเรา หรือจะเอาเป็นของเรา หรือยึดถือเป็นของเรา จะหามาให้มากมายไม่มีที่สิ้นสุด ทีนี้ถ้าใครเข้าใจพุทธศาสนาในข้อนี้ดี จะมองเห็นว่าพุทธศาสนาไม่ใช่ Negativism ไม่ใช่ Positivism ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง อย่างที่เราเรียกกันว่าสายกลางหรือตรงกลางนี้ คือมองในแง่ Positive ก็ได้ มองในแง่ Negative ก็ได้ ในถึงบางคราว มันก็มองในแง่ Positive คือส่วนที่มันมีอยู่ และก็ในบาง อีกทางหนึ่ง ก็มองในแง่ที่ว่า ยึดถือเอาว่าเป็นของเราไม่ได้ นี่ก็มีอาการคล้ายๆ กับ Negative ฉะนั้นความรู้สึกว่าเป็นทุกข์มันจะเกิดขึ้นมาในแง่ใด ให้เราแก้ไขในแง่นั้น เพราะว่าไอ้ทั้งสองแง่ คือทั้ง Positive และ Negative นี้มันเป็นของหลอกลวง เมื่อเห็นว่าตรงกับความต้องการของตัวก็ว่ามันดี ไม่ตรงก็ว่ามันชั่ว นี่มันเอาตัวเองเข้ามาเป็นหลัก ไม่ใช่ความถูกต้องหรือความจริงเป็นหลัก เอากิเลสตัณหาเป็นหลัก อวิชชาเป็นหลัก มันจึงเกิด Positive Negative ขึ้นมา ฉะนั้นอย่าหาว่าพุทธศาสนาเป็น Negative โดยที่ว่ามันมี อะ อะ หรือไม่ ไม่ ไม่ นี่มากที่สุด อนิจจัง อนัตตา หรือแม้แต่คำว่า สุญญตา มันก็มีความหมายตามความรู้สึกของคนพวกนี้ว่าเป็น Negative ที่จริงคำว่า ว่าง ว่าง นี่ ถ้าจริงสูงสุด ถูกต้องแล้วก็ มันไม่เป็น Positive หรือ Negative ได้ นิพพานเป็นของว่างอย่างยิ่ง ไอ้ว่างนี่เป็น Positive ก็ไม่ได้ เป็น Negative ก็ไม่ได้ มันเป็นความหมายของอวิชชา ของความยึดมั่นถือมั่น แต่นี่มันเหนือความยึดมั่นถือมั่น มันไม่เป็นอย่างนั้นได้ ก็เป็นอะไร ตามที่เรียก เรียกว่า สุญญตา อนัตตาไปตามเรื่อง แล้วก็เป็นกลาง อยู่ตรงกลาง ในบางทีก็จะใช้คุณค่าทาง Positive ในบางทีก็ใช้ทาง Negative ไม่พูดอะไรไปตายตัว ไอ้ Nihilism หรือนัตถิกทิฏฐินั้น ไม่ใช่พุทธศาสนา นี่ต้องระวังให้ดี ต้องป้องกันไว้ให้ได้ อย่าให้เอาไอ้ความคิดเห็นที่โง่เขลาที่สุดนี้มาสวมให้แก่พุทธศาสนา เดี๋ยวนี้ก็ค่อยยังชั่วขึ้น ที่ว่ามีฝรั่งที่มันรู้พุทธศาสนาดีขึ้นมากเป็นจำนวนเพิ่มขึ้น ความเห็นว่าพุทธศาสนาเป็น Nihilism ไม่มีอะไรนั้น ก็น้อยลงบ้าง ทีนี้ในแง่ต่อไปที่มันเนื่องๆ กันก็คือ Pessimistic หรือ Optimistic คือว่า มองโลก มองสิ่งทั้งปวงในแง่ดี หรือว่าในแง่ร้าย มองโลกในแง่น่าชื่นใจหรือว่าน่าเศร้า นี่ฝรั่งเอาคำว่า นิพพิทา ในพุทธศาสนาไปเข้าใจอย่างผิดๆ ก็เห็นโลกไปในแง่ร้าย หรือพูดว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่เรื่อย มันก็หมายความ เขาก็เข้าใจว่า นี่มันหมายความไปในแง่ร้าย หรือพูดว่าทุกสิ่งเป็นทุกข์ ไม่มีอะไรนอกจากทุกข์ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นี่ก็ยิ่งมองในแง่ร้ายว่ามีแต่ความทุกข์เท่านั้น นี่มันเกิดขึ้นได้เพราะว่า ฟังไม่ทันศัพท์ จับไปกระเดียดบ้าง หรือว่าเอาไปแต่ครึ่งเดียวบ้าง ไอ้ตัวแท้พุทธศาสนาที่เรียกว่า พรหมจรรย์นั้น คือเครื่องกำจัดทุกข์ ตัวพุทธศาสนาคือตัวเครื่องกำจัดทุกข์ ไม่ใช่ตัวความทุกข์ หรือสอนกันแต่เรื่องความทุกข์ ทีนี้จะกำจัดทุกข์มันก็ต้องมีตัวทุกข์เข้ามาให้เห็น เพราะฉะนั้น มันจึงเอ่ยกันถึงเรื่องความทุกข์ก่อน คือในอริยสัจข้อที่ ๑ ก็โผล่ขึ้นมาเป็นความทุกข์ แล้วก็เหตุให้เกิดทุกข์ก็ตามมา แล้วทำไมไม่เลยไปถึงว่า ความดับทุกข์ก็มีอยู่ หนทางของความดับทุกข์ก็มีอยู่ ทำไมไม่เลยมาถึงนี่ ความดับทุกข์เสียได้นั่นแหละเป็นความสุข เป็นความไม่มีทุกข์ แต่เราไม่ใช้คำว่า ความสุข เหมือนที่มนุษย์ตามธรรมดาสามัญเขาต้องการ เพราะกลัวจะกลายเป็นเหยื่อล่อให้คนหลงใหลอยู่ในความสุขทางเนื้อทางหนัง มนุษย์ตามธรรมดาสามัญเกิดขึ้นมาในโลกนี้ เจริญเติบโตแล้ว ก็ติดรสอร่อยทางวัตถุ คือความสุขทางเนื้อทางหนัง พอบอกว่า ความสุขทีไร ก็เข้าใจไปทำนองนั้นทุกที มันมากขึ้น แรงขึ้นๆ แล้วมันไม่ใช่ความจริง ไอ้ความสุขทางเนื้อหนัง เอร็ดอร่อยทางตา ทางหู ทางกามารมณ์นั้น มันไม่ใช่ความจริง เป็นความโง่ แล้วก็โง่หนักขึ้นๆๆ จนบูชานี้ ก็จมอยู่ในกองทุกข์ ท่วมหัวท่วมหูตลอดเวลา ทีนี้การที่มาบอกว่าอย่างนั้นเป็นความทุกข์นั่น ไม่ได้หมายความว่า บอกว่าทั้งหมดเป็นความทุกข์ หรือว่าไอ้ความสุขจะไม่มีเสียเลย ให้ขึ้นมาเสียจากไอ้หลุม ไอ้ถ่านเพลิง หรือว่าไอ้หลุมโคลน หลุมของเน่าของเหม็นนี่ มาอยู่ตามปกติ ตามสบาย ฉะนั้นเนื้อแท้ของพุทธศาสนาไม่ใช่ Optimistic จะมองกันไปในแง่สนุกสนาน อร่อย เพลิดเพลิน พอใจ ไปเสียหมด แล้วก็ไม่ใช่ Pessimistic คือไม่มองอะไรไปในแง่ร้าย โดยส่วนเดียว จะมองในแง่ที่ทุกอย่างแก้ไขได้เสมอ เพราะหลักใหญ่มีอยู่แล้วว่า ธรรมเหล่าใดมีเหตุเป็นแรงเกิด ตถาคตจงแสดงเหตุและความดับของเหตุของสิ่งเหล่านั้น ฉะนั้นคุณหาคำพูดที่เหมาะๆ พูดว่า พุทธศาสนาไม่ใช่ Optimistic กับ Pessimistic แต่เป็นพุทธศาสนาที่แก้ไขได้ทุกอย่าง พุทธศาสนาคือลัทธิที่ทำการแก้ไขได้ทุกอย่าง แก้ Pessimistic เป็น Optimistic แก้ Optimistic เป็น Pessimistic ก็ทำได้ เพราะฉะนั้น จึงถือว่าอยู่ในลักษณะที่เป็นกลาง เดินสายกลาง เราจึงสบาย Pessimistic ทำให้เศร้า Optimistic ทำให้เหลิง บ้าทั้งสองอย่าง ยิ่งไปสุดโต่งของไอ้สองอย่างนี้ด้วยแล้วก็คือบ้าที่สุด พวกกามสุขขัลลิกานุโยค มันก็บ้าไปทางหนึ่ง สุดโต่งไปทางหนึ่งคือพวก Optimistic แล้วอัตตกิลมถานุโยค ก็บ้าไปทางหนึ่ง คือ Pessimistic มองเห็นชีวิตร่างกายไปในแง่ร้าย แล้วก็อยากทุกข์ทรมาน อยากทำลาย ทำให้มันเสื่อม ให้มันหมดสมรรถภาพที่จะทำหน้าที่ของมัน นี่ก็เป็นแง่ร้ายต่อร่างกาย และแง่ดีก็เอาเข้า เอาเข้า เอาเข้า เอร็ดอร่อย สนุกสนาน เพลิดเพลิน พอใจ พอใจ นี่เป็นกามสุขัลลิกานุโยค พุทธศาสนาไม่ใช่ทั้งกามสุขขัลลิกานุโยค ไม่ใช่ทั้งอัตตกิลมถานุโยค เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่ทั้ง Pessimistic และ Optimistic อยู่ตรงกลางเป็นปกติ มั่นคง สะอาด สว่าง และสงบ นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องใหญ่ ที่ถ้าพูดกันไม่รู้เรื่องแล้วก็ ทำกันไม่ได้แน่ การเผยแผ่นั้นไม่สำเร็จแน่ ต้องศึกษาให้แตกฉาน ที่จะมีเหตุผลทุกอย่างที่แสดงว่ามันเป็นอย่างไร สำหรับข้อนี้ ผมขอร้องให้สังเกต แล้วจดจำไว้ให้แม่นยำอย่างหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ว่าทั้งหลายทั้งปวง จะกล่าวว่าอะไรโดยส่วนเดียวไม่ได้ อย่าไปพูดให้มันเป็นลัทธิใดลัทธิหนึ่ง สุดเหวี่ยงไปข้างใดข้างหนึ่งโดยส่วนเดียว เราไม่ใช้คำว่า สุขหรือทุกข์หรอก เราใช้คำว่า มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย อาการอย่างนั้น ใครจะถือว่าสุขหรือทุกข์ก็ตามใจ มันชอบใจ มันก็ถือว่าสุข ไม่ชอบใจ มันก็ถือว่าทุกข์ ฉะนั้นนิพพานปรากฏเป็นความทุกข์แก่คนโง่ ไอ้หลักหรือหัวใจของพุทธศาสนาในการพูดจา จะพูดว่า แล้วแต่เหตุ แล้วแต่ปัจจัย อย่าพูดว่า มันดีโดยส่วนเดียว มันเลวโดยส่วนเดียว อย่างที่พูดมาแล้ว ว่า Negative หรือ Positive โดยส่วนเดียว Pessimistic หรือ Optimistic โดยส่วนเดียว นี้มันไม่ถูกทั้งนั้น มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เฉพาะเรื่อง เฉพาะกรณี ในเวลานั้น ในที่นั้น เราแก้ไขให้มันอยู่ในสภาพที่ไม่เป็นความทุกข์ แล้วก็ใช้ได้ นี่คือหลักเกณฑ์ที่ตั้งไว้เป็นกลาง เพื่อไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้น นี่มันก็เลยเนื่องไปถึงการไม่พูดโดยส่วนเดียว ว่าตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิด พวกฝรั่งที่เขาเรียนพุทธศาสนาตามแบบของเขา เขาพูดว่า พุทธศาสนาคือลัทธิที่ถือว่าตายแล้วเกิด แล้วคุณก็คิดดู แม้แต่ในโรงเรียนนักธรรมชั้นตรี ขั้นแรกเรียน เราก็บอกสอนกันอยู่แล้วว่า ไอ้ว่าตายแล้วเกิดนี่เป็นสัสสตทิฐิ เป็นมิจฉาทิฐิ ตายแล้วสูญก็เป็นอุจเฉททิฐิ จะมายัดเยียดให้พุทธศาสนาเป็นสัสสตทิฐิ ข้อนี้มันมีมูลมาจากการที่พวกฝรั่งเขา เขาเก่งตามวิธีการของเขา ว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย เรียกรวมๆว่าเป็นศาสนาอินเดีย ศาสนาอินเดียส่วนใหญ่ก็มีอาตมัน อัตตาที่ไม่รู้จักตาย เขาเขียนไว้อย่างไพเราะเพราะพริ้งที่สุด เป็นคัมภีร์ภัควัตคีตาเหล่านี้ เป็นต้น หรือไปถามใครที่ไหน มันก็พูดตายแล้วเกิดทั้งนั้น เพราะเป็นสอนพุทธศาสนาในขั้นศีลธรรม มีตัวเรา มีอะไรเป็นของเรา บุญบาปของเรา ตายแล้วก็เกิด ไปรับเอาข้างหน้า อย่างนี้เป็นของเก่าแก่เต็มที เป็นของฮินดูในอินเดีย มาตั้งแต่ไหนแต่ไรก็ไม่รู้ แล้วก็ไม่รู้จะเรียกว่าพวกอะไรด้วย ฮินดูก็เป็นคำใหม่ๆ เกิดขึ้น ใช้เป็นคำรวมๆ ของชาวอินเดียที่ถือลัทธิอย่างฮินดูหรือพราหมณ์นี้ ว่าตายแล้วเกิด ตายแล้วเกิด แล้วก็หมายทางร่างกาย ทางเนื้อหนังที่เกิดจากท้องแม่ แล้วตายคือเข้าโลงด้วย ไม่ได้หมายถึงเกิดตายทางฝ่ายนามธรรม คือความรู้สึกคิดนึกว่า ตัวกูเกิดขึ้น ตัวกูดับ ดับไปสลายไป นี่คืออะไร นี่คือตายเกิดที่แท้จริง ถูกแล้ว ไอ้แม้ตัวกูทางวิญญาณ อุปาทานว่าตัวกูนี้ มันก็ตายเกิด ตายเกิดอยู่เป็นประจำ กว่ามันจะสิ้นสุดเพราะว่ารู้ ว่าไม่มีตัวกู จึงยกเลิกไปเสียทั้งความตายและความเกิด ไอ้ส่วนตาย ส่วนเกิดจากท้องแม่ แล้วตายเข้าโลงไปทีหนึ่ง เกิดใหม่อีกเดี๋ยวนั้น พุทธศาสนาไม่พูด นั่นน่ะ คือว่า ยืนยันว่าตายแล้วเกิดอีก เป็น เป็นสัสสตทิฐิ ตายแล้วขาดสูญ ก็เป็นอุจเฉททิฐิ เรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องพูด ตายแล้ว เข้าโลงไปแล้ว จะเกิดอีกหรือไม่ นี่ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องพูด ไอ้เรื่องที่เราจะต้องพูดนั้น มันมีอยู่ว่า ทำอย่างไร คนที่เกิดที่นี่เดี๋ยวนี้ จะไม่มีความทุกข์ นี่คือเรื่องพุทธศาสนา ตัวพุทธศาสนา มันมีเท่านี้ มีอยู่ว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่มีความทุกข์ เดินตามมัชฌิมาปฏิปทาแล้วดับทุกข์เสียได้ เป็นอริยสัจผู้หลัง นี่ถ้าเดินไปตามนี้เรื่อย มัชฌิมาปฏิปทานี่จะดับทุกข์ได้ โดยข้อเดียวเท่านั้น คือข้อที่บอกว่า เดี๋ยวนี้ ก็มิได้มีคน อนัตตาหรือสุญญตามันอยู่ที่ตรงนี้ เดี๋ยวนี้ ที่นี่ เวลานี้ ก็มิได้มีคน เพราะที่ใดเป็นอย่างนี้ ก็มีความทุกข์เลย เมื่อไม่มีคนอย่างนี้ ใครจะไปเข้าโลง ใครจะไปเกิดอีก มันไม่มี เพราะโดยแท้ ตลอดเวลา มิได้มีคนอยู่ตามที่เข้าใจกัน ทักผิดกันว่ามันมีตัวกู มีของกู โดยเนื้อแท้มิได้มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา วิเศษที่สุดอยู่ในบท ปัจจะเวก ยะถา ปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง ธาตุมัตตะ เมเวตัง ก็ไม่ค่อยจะจดกัน ถ้าไม่เข้าถึงจุดนี้ ก็ตายเกิด ตายเกิด วันหนึ่งไม่รู้กี่สิบครั้ง กี่ร้อยครั้ง มีกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ อย่างใดอย่างหนึ่ง ครั้งหนึ่งเท่านั้นน่ะคือเกิดครั้งหนึ่ง หมดเรื่องนั้นก็ดับไป เดี๋ยวเรื่องใหม่เข้าอีก ก็เกิดอีก ตัวกูก็เกิดขึ้นมาอีก แล้วตัวกูก็ดับสลายไปชั่วคราว เดี๋ยวตัวกูก็เกิดขึ้นมาอีก ทีนี้อัสมิมานะ เกิดเมื่อใด เมื่อนั้นเรียกว่า มีการเกิด คำว่า อุปาทาน ภพ ชาติ ในปฏิจจสมุปบาท หมายถึงการเกิดอย่างนี้ พวกฝรั่งไม่รู้เรื่องนี้ เอาไอ้ของฮินดูมาสวมให้ คือตาย คือเกิดจากท้องแม่ ตายแล้วก็เข้าโลง อย่างนั้น มันก็ มันก็พาเข้าไปในกลุ่มสัสสตทิฐิหรืออุจเฉททิฐิทั้งนั้น ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ทีนี้การที่รู้ว่าตัวกูนี้เป็นเพียงความคิดปรุงแต่งด้วยอำนาจของอวิชชา เกิดเป็นตัณหาและอุปาทานขึ้นมาว่า เราอย่างนั้น เราอย่างนี้ เรามีสุข เรามีทุกข์ เราได้ เราเสีย เราเป็นผู้แพ้ เราเป็นผู้ชนะ เราเป็นพ่อแม่ เราเป็นลูกหลาน แล้วแต่จะ มันมีความยึดมั่นด้วยอุปาทานอย่างไร ก็มีการเกิดขึ้นมาทีหนึ่ง ตามนัยแห่งปฏิจจสมุปบาท มีอุปาทานก็มีภพ มีภพก็มีชาติ คำว่า ชาติ นี้เป็นทาง Spiritual ไม่ใช่ทาง Physic ดังนั้น จึงเกิดได้วันหนึ่งหลายหน แล้วก็ตายวันหนึ่งหลายหน แล้วก็เรื่อยไปตลอดปี จนกว่าจะเข้าโลง มันนับไม่ไหว นับเป็นอสงไขย อสงไขยชาติ ที่ในที่สุด มันก็เบื่อ ที่ไม่ทันจะถึงสิบปี ผู้มีปัญญาก็มองเห็นความเวียนว่ายนี้มันน่าเบื่อ ก็น้อมไปทางหยุด คืออยู่เหนือการเกิดและการตาย เรื่องนี้มันยืดยาว ขอพูดคราวอื่นดีกว่า ทีนี้เพียง ในที่นี้เพียงแต่จะบอกให้รู้ว่า เขาเข้าใจว่าพุทธศาสนาเป็นลัทธิที่สอนว่า เกิดจากท้องแม่ และอยู่ไปจนเข้าโลง เข้าโลงแล้วก็ไปเกิดอีก อย่างนี้ไม่ใช่พุทธศาสนา เป็นสัสสตทิฐิ เพราะถ้าถือว่าตายแล้วสูญเลย ขาดสูญเลย ก็เป็นอุจเฉททิฐิ ที่ถูกก็คือ ลัทธิที่ว่า มีแต่สิ่งทั้งหลายที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย อวิชชาเป็นเหตุแล้ว ก็ทำให้ความรู้สึกว่า มีตัวกู มีของกู มีเกิดอย่างนี้ อวิชชาดับไป ตัวกูของกูก็ดับไป นี่เรียกว่า มีแต่ไอ้สิ่งทั้งหลายที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิจ ที่แท้ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงอะไร นั่นน่ะคือพุทธศาสนาที่ถูกต้อง นี่พุทธศาสนาสำหรับการโฆษณาทางศีลธรรม ก็รับเอามติดั้งเดิมก่อนพุทธกาลโน่นมา ที่สอนเรื่องจิตวิญญาณ เจตภูติมาสิงร่างกายนี้ ตายแล้วก็ยังไม่ดับ ไปเกิดอีก เพื่อรับผลกรรม แล้วมันก็มีประโยชน์อย่างยิ่งเหมือนกัน ที่จะทำให้คนกลัวบาปกลัวกรรม จนในสมัยที่คนไม่อาจจะยอมรับลัทธิอย่างนั้นได้ มันก็มีอยู่ ก็ต้อง ก็ใช้ไม่ได้ คือมันเป็นคำพูดที่ไม่มีใครฟังขึ้นมา แต่ว่าถ้าพูดตามหลักของพระศาสนาแล้ว มันจะถูกต้องอยู่ตลอดอนันตกาล ใครๆ ก็ต้องฟัง แม้ว่าฝรั่งเก่งกว่านี้อีกหลายร้อยเท่า มันก็ต้องฟัง เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย นี้หมายความว่า อะไรมากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก แล้วมันปรุงความคิดนึกรู้สึกจนเกิดขึ้นความว่าตัวกูขึ้นมาจนได้ นั่นน่ะคือชาติ แล้วเดี๋ยวสลายไปนั่นแหละคือ ชรา มรณะ เป็นทุกข์อยู่ที่ตรงนี้ เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งที่ต้องเข้าใจดี ไม่ต้องมาปะทะกันเผชิญหน้ากันกับพวกฝรั่ง เราเรียกว่าอย่างนี้ฟังง่ายดี แต่อย่าลืมนะ ก็บอกแล้วว่า ไม่ใช่ฝรั่งทุกคนเหมือนกันหมด ฝรั่งส่วนมากหลงวัตถุ เราเรียกว่า ฝรั่งอย่างนี้ (นาทีที่ 47.12) ฝรั่งที่เป็นอริยบุคคลหรือเข้าใจพุทธศาสนาถูกต้องก็ต้องมี ตามหลักของไอ้ธรรมะ พุทธศาสนาพูดว่า ไม่มีคน มีแต่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ฟังให้ดีๆ เดี๋ยวฝรั่งจะสอดเข้ามาว่า อ้าว ถ้าไม่มีคน ก็เป็น Negativism ไม่ใช่อย่างนั้น มันมี มี แต่สิ่งนั้นมันไม่ใช่คน มีแต่สิ่งที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยเรื่อยไป นี่แหละ จะมาว่า Negative ไม่ได้ เพราะมี มันมี มันมีอยู่ชัดๆ มีดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ ที่ปรุงขึ้นมาเป็นอะไรกลุ่มหนึ่งที่เรียกกันว่า คน นั่น แต่เราไม่เรียกว่าคน เราไม่อยากเรียกว่า คน จะทำอะไรเรา ที่เราไม่อยากจะเรียกว่า คน นี่เพราะว่ามัน โง่ แล้วมันนำมาซึ่งความทุกข์ เอ้าทีนี้ก็มาถึงพวกเราเองนี่ มันก็กำลังโง่ ว่าคนน่ะมีความทุกข์อยู่ อยู่ในในในพวกเรากันเองนั้น ยังไม่เป็นพระอรหันต์อยู่เพียงใด ไอ้ความรู้สึกแท้จริงมันยังมีคนอยู่เพียงนั้น ทีนี้เลิกเป็นฝรั่ง เลิกเป็นไทยกันเสียที มีแต่ปัญหาของมนุษย์ มนุษย์ที่มีความทุกข์ มีความทุกข์ เพราะไปเข้าใจผิดว่ามีคน ก็ไม่มีอะไรที่จะทำให้ดูหมิ่น ดูถูกกันได้ เป็นหัวอกเดียวกันไป พอ พอมีคนขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็มีความหนัก ความทุกข์ขึ้นมาเมื่อนั้น พอว่างจากคนเมื่อไหร่ ใจคอมันก็สบาย จิตใจสะอาด สว่าง สงบเมื่อนั้น เพราะฉะนั้น เราไม่ยอมให้เขาเข้าใจผิด ถ้าเราพูดว่า ตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิด เราไม่พูดทั้งสองอย่าง เราพูดว่าไม่มีคน ฉะนั้นอย่ามาถามเรื่องตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด เพราะที่เรารู้สึกว่า เรามีคนนี่ เรากำลังโง่ ไม่เท่าไหร่ เราก็จะหายโง่ เราก็จะรู้สึกว่า เราไม่มีคน มันมีเท่านี้เอง แต่แล้วก็ไม่ ไม่พยายามที่จะเข้าถึงจุดนี้ มีคนกันเสียเรื่อย และมีคนดีอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วให้ทำบุญกุศลมากๆ เข้า ชักชวนกัน จะได้เป็นคนดียิ่งๆ ขึ้นไปนี่ มันก็ลัทธิมีคนเสียหมด ก็เป็นเพียงเปลือกนอกของศาสนาเท่านั้น จะเกิดเป็นเทวดา ก็มีความทุกข์อย่างเทวดา ไปเกิดเป็นพรหม ก็มีความทุกข์อย่างพรหม พิสูจน์ได้ง่ายๆ ที่ตรงนี้ ให้มันดื่มกามารมณ์ ดื่มด่ำในกามารมณ์ ก็ไปถึงที่สุดเป็นเทวดา มันก็ไม่ไหวเหมือนกัน ทนไม่ไหว ไปนั่งทึ่มๆ อย่างพวกพรหม ไม่เกี่ยวกามารมณ์ มีแต่ตัวกู ตัวกู นี่มันก็ไม่ไหวเหมือนกัน ฉะนั้น จึงไม่เป็นอะไรหมด เป็นพุทธะ คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่เป็นอะไรหมด เรื่องตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิด ไม่ใช่ ไม่ใช่ความจริง ไม่ใช่ความถูกต้อง พุทธศาสนาไม่ได้พูดว่าตายแล้วเกิด หรือว่าตายแล้วไม่เกิด พูดแต่ว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย นี่ในที่สุด มันก็มีเกี่ยวโยงไปถึงเรื่องกรรม ที่เข้าใจผิดกันอยู่มาก แม้ในหมู่พุทธบริษัทเอง ไม่ต้องพูดถึงฝรั่ง คือความเข้าใจผิดเรื่องกรรม เข้าใจผิดว่าพุทธศาสนาสอนว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นี่มันหลับตาพูด เพราะศาสนาอื่น ก่อนพุทธศาสนา ก็สอนอยู่แล้ว ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด ก็มีพวกกรรมวาที สอนอยู่แล้วว่า ทำดีๆ ทำชั่วๆ แล้วในสมัยที่พ้องกันกับพุทธศาสนา เวลานี้ ศาสนาอื่นมันก็สอนอย่างนั้น ศาสนาไหนก็สอนอย่างนั้น ไม่สอนอย่างนั้น มันก็บ้าเลย ทีนี้พุทธศาสนามีลัทธิกรรมที่ที่สมบูรณ์ ไม่ใช่ครึ่งท่อนเพียงเท่านั้น กรรมเลว กรรมด่า กรรม บาปกรรมทำชั่ว ก็อย่างหนึ่ง ทำเข้ามันก็ชั่ว กรรมดี กรรมถูก กรรมอะไรที่เป็นกุศล ทำเข้ามันก็ดี ไอ้ชั่วไอ้ดีนี้ ไม่ใช่พ้นทุกข์ คือเวียนว่ายไปตามอำนาจของกรรมชั่วกรรมดี นี่ มันก็ทนทรมานไปตามแบบชั่วแบบดี มันต้องมีกรรมที่สามมาอีกทีหนึ่ง ซึ่งเราเรียกกันว่า อริยมรรค คืออัฏฐังคิกมรรค มีองค์ 8 นั้นแหละ คืออริยมรรค คือกรรมที่สาม อย่าไปจัดไอ้ข้อปฏิบัติกลุ่มนี้ว่าดีหรือว่าชั่ว เหมือนที่เขาพูดกัน พระพุทธเจ้าท่านทรงมุ่งหมายจะให้นี่คือกรรมที่สาม ที่ผมเรียกเอาเองว่า กรรมที่สาม ท่านเรียกว่า กรรมดำ กรรมขาว กรรมไม่ดำไม่ขาว ที่ผมเรียกเอาเองว่า กรรมที่สาม ที่จะทำลายกรรมสองกรรมข้างต้นให้หมดไป ไอ้ความสิ้นสุดแห่งกรรม มีได้เพราะกรรมที่สามนี้ กรรมดำคือชั่ว กรรมขาวคือดี แล้วกรรมไม่ดำไม่ขาวคืออริยมรรคนี้จะทำลายไอ้กรรมสองอันนั้นให้หมดไป นี่คือกรรมในพุทธศาสนา พวกฝรั่งไม่พูดอย่างนี้ ไม่เข้าใจอย่างนี้ ไปตั้งตัวเป็นศาสดา เขียนหนังสือพุทธศาสนาเล่มโตๆ แล้วก็ไปเอาเรื่องกรรม ไอ้กรรมของเด็กๆนั้นน่ะ ที่ในศาสนาฮินดูมาใส่ให้ สอนเรื่องของกรรมดีกรรมชั่ว แล้วตายแล้วเกิด ตายแล้วเกิด ตายแล้วเกิด เป็นสอนลัทธิฮินดูไปเลย แต่หนังสือเล่มนั้นมันป้ายหัวชื่อว่า พุทธศาสนา โดยเขียนโดยพวกฝรั่ง หรือแม้เขียนโดยคนไทยในประเทศไทยนี้ก็มีอย่างนั้นเหมือนกัน พุทธศาสนามีเพียงแค่กรรมดีกรรมชั่ว แล้วตายแล้วเกิดใหม่ เข้าโลงแล้วไปอีกนี้ เหมือนพวกฝรั่ง ฉะนั้นเราจะไปเผยแผ่พุทธศาสนา ก็ควรให้มันถูกต้อง พุทธศาสนาเป็นตัวกรรมที่สาม มลายให้พ้นดีพ้นชั่ว ให้ดับทุกข์ได้ อยู่เหนือความดีความชั่ว กัมมัคยปัตโต (นาทีที่ 54.03) ถึงแล้วซึ่งการสิ้นไปแห่งกรรม นั่นคือนิพพาน การกระทำใดๆ เป็นไปเพื่อนิพพานทั้งนั้น เป็นกรรมที่สาม เรียกว่า โลกตระ ในกรรมดีกรรมชั่วนี้เป็นโลกียะ เวียนว่ายอยู่ในโลก โลกดี โลกชั่ว สุขคติ ทุกขคติไปเถอะ กรรมที่สาม ออกไปนอกวงอันนี้ คือนอกวัฏฏะ เหนือดี เหนือชั่ว เป็นโลกุตระ ฉะนั้นไอ้เรื่องเกิดใหม่ เรื่องกรรมนี่ ต้องไปสอนกันให้ดี พวกฝรั่งมาที่นี่ ผมเอาเรื่องนี้เข้าใส่ทั้งนั้น มันตาเหลือกไป ว่าเคยเข้าใจผิด หรือว่าเคยเขียนผิดๆ เวลาเราที่มีอยู่นี้ ก็พูดได้ในสองสามหัวข้อนี้ว่า พวกฝรั่งเขาว่าพุทธศาสนามีไว้สำหรับคนที่จนท่า ไม่มีความก้าวหน้าทางวัตถุ เป็นคนจนต้องต่ออยู่ในท่ามกลางธรรมชาติอันโหดร้าย เอาชนะไม่ได้ หรือมิฉะนั้นก็ไว้สำหรับนั่งหลับตาหาความสุขของพวกโยคีโง่ๆ ตามป่าตามเขา นี่ไม่ถูก นึกว่าพุทธศาสนาไม่ใช่ Negative ไม่ใช่ Positive ไม่ใช่ Optimist ไม่ใช่ Pessimist เรื่องกรรม เรื่องตายแล้วเกิดนั้น หรือตายแล้วไม่เกิดนั้น ไม่ใช่พุทธศาสนา พุทธศาสนาจะพูดแต่ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แล้วคนไม่มี แล้วไม่มีใครตาย ไม่มีใครเกิด ในที่สุดก็คือว่า อยู่เหนือกรรมดีกรรมชั่ว แล้วก็เป็นกรรมที่ทำให้นิพพาน ให้ถึงนิพพาน เป็นโลกุตระ ก็ไปรวมอยู่ที่ว่า เหนือสิ่งใดทั้งหมด เหนือทุกข์ เหนือความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหนือความว่ายเวียน เหนืออะไรหมด นี่คือข้อที่จะต้องปรับความเข้าใจกันให้ดีๆ เป็นปัญหาเฉพาะหน้าของพวกธรรมทูตต่างประเทศ ชาวต่างประเทศกำลังเข้าใจพุทธศาสนาผิดๆ เช่นเดียวกับในประเทศไทยเรา ก็มีอยู่ส่วนหนึ่งซึ่งเข้าใจพุทธศาสนาของตัวเองผิด แล้วก็พอกันทีสำหรับวันนี้ เวลาก็หมด