แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายเกี่ยวกับสมาธิภาวนาหรืออธิจิตตาโยคธรรม ในครั้งที่ ๖ นี้ จะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า เค้าโครงของอานาปานสติโดยละเอียด เค้าโครงของอานาปานสติโดยละเอียด ทำไมจึงพูด โดยหัวข้อนี้ ข้อแรกก็อยากจะบอกให้ทราบว่า การพูดถึงเค้าโครงหรือแนวสังเขปของเรื่อง เช่นเรื่อง อานาปานสติอันยืดยาวนี้เพียงครั้งเดียวนั้น ย่อมจะมองไม่เห็นชัดและไม่ทั่วถึง นั้นขอให้อดทนที่จะฟังหรือทำความเข้าใจเค้าโครงทั้งหมดโดยชัดเจนและทั่วถึงอีกครั้งหนึ่ง มิฉะนั้นจะเข้าใจไม่ได้อย่างที่เรียกว่าติดต่อกันไปอย่าง แจ่มกระจ่าง แล้วก็จะทำให้เวียนหัว แล้วก็จะท้อแท้ ที่จะเข้าใจและปฏิบัติ ในที่สุด ทีนี้เพื่อเข้าใจเค้าโครงนี้โดยละเอียด ก็จะได้ถือโอกาสพูดอธิบายให้เห็น ทั้งโดยนัยยะที่เรียกว่าวิเคราะห์ และสังเคราะห์ทบไปทบมา พูดอย่างวิเคราะห์หรือ Analyses ก็คืออย่างที่ได้พูดมาแล้วครั้งก่อน ทีละข้อ ทีละข้อ ตลอดทั้ง ๑๖ หัวข้อของ อานาปานสติ และรวมทั้งเรื่องบุพพภาค ของมันด้วย และทั้งอานิสงส์ที่จะพึงได้จากการปฏิบัตินั้นด้วย โดยรายละเอียดถึง ๑๖ ขั้น แล้วสรุปเป็นสติปัฏฐาน ๔ อย่างนี้ ก็เรียกว่าได้พูดกันถึงเค้าโครง โดยทั่วๆ ไปอย่างสังเขปแล้ว แม้จะโดยสังเขปมันก็ครบถ้วนทุกหัวข้อ ที่รายละเอียดอันยืดยาวนั้น จะพูดอย่างสังเคราะห์ก็จะทำให้ยังคงเหลือเพียง ๓ อย่างเท่านั้นเอง คือ กายวิเวก จิตตวิเวก และอุปธิวิเวก
หัวข้อที่ ๑ กายวิเวก ก็เริ่มขึ้นด้วยว่า ภิกษุนั้น ไปสู่ที่สงัด เช่นป่า เช่นโคนไม้ เช่นเรือนว่าง แล้วก็นั่งทำความเพียรเพื่อจะทำความเพียรในที่นั้น ตอนนี้ก็เรียกว่า กายวิเวก จะมีรายละเอียดเท่าไรอย่างไร เรื่องที่ เรื่องของ เรื่องอะไรเท่าไรมันก็สรุปในคำเดียวว่า ออกไปสู่ที่สงัด ก็ได้รับกายวิเวก ทีนี้ก็ลงมือปฏิบัติในอานาปานสติภาวนาโดยเฉพาะที่จำแนกออกไปเป็น ๑๖ ขั้น ใน ๑๖ ขั้นนั้นเป็น ๔ หมวด ทีนี้ ๓ หมวดขั้นต้นนั่นแหละมันเป็นจิตตวิเวกโดยตรง และหมวดสุดท้ายซึ่งรวมอานิสงส์ไว้เสร็จด้วยนั้น ก็เป็นอุปธิวิเวก มันก็ยังเหลือเพียง ๓ คำ ว่ากายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก คือสงัดกาย สงัดจิต แล้วก็สงัดกิเลสประเภทอุปธิ ทีนี้ข้อให้กำหนดเค้าโครงที่สรุปเหลือเพียง ๓ อย่าง ๓ กลุ่มอย่างนี้ไว้ทีก่อน แล้วเราก็จะพูดอย่างที่เรียกว่า วิเคราะห์ออกไปจาก ๓ กลุ่มนี้ให้ละเอียดลออกว่าครั้งที่แล้วมา นั้นจึงขอร้องความสนใจและความอดทนฟังให้มากกว่าที่แล้วมา เราได้มีหัวข้อว่ากายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก ๓ ข้อ ทีนี้ก็จะทำให้วิเคราะห์ออกไปตามลำดับข้อ ๓ ข้อ นั้น ในส่วนกายวิเวก หรือออกไปสู่ที่สงัด คำว่า ที่สงัดนั้นระบุเป็นสุญญาคาร คำว่าสูญญาคาร แปลว่า เรือนว่าง เอาความหมายของคำว่าเรือนว่างนี่ไปเรียกที่ที่สงบ สงัดทั้งหมด คือเป็นป่าก็ได้ เป็นโคนไม้ก็ได้ แล้วก็เป็นเรือนว่างอย่างใดอย่างหนึ่งหลายๆ อย่างก็ได้ ไอ้ป่านี่มันหมายถึง ป่าอย่างที่เรารู้จักกันดีว่ามันไกลออกไปจากหมู่บ้านไม่น้อยกว่า ๕๐๐ ชั่วคันธนู ไอ้โคนไม้นี่ระบุไปยังโคนไม้ที่อยู่ในป่า หรือไม่ใช่ป่าหรืออะไรก็ตามใจ แม้กลางทุ่งนามันมีโคนไม้อยู่สักต้นหนึ่ง มีโคนไม้อยู่สักแห่งหนึ่ง ที่นั่นก็ได้แม้ไม่ใช่ในป่า นี้คำว่า สุญญาคาร ที่เหลือนั้นก็คือ เบ็ดเตล็ด เช่นถ้ำ เช่นเพิง เช่นป่าช้า กระทั่งข้างลอมฟาง ข้างกองฟางที่เขาทิ้งไว้ตาม ทุ่งนา สำหรับคำนี้มีรายละเอียดมาก หรืออะไรก็ได้ นี้เราเรียกว่าสุญญาคารแท้ตามวินัยตามระเบียบดั่งเดิมเรียกว่าไปตามธรรมชาติ นี่สมัยนี้โดยเฉพาะมีสุญญาคารจำเป็น เช่นว่ามันหาที่อย่างนั้นไม่ได้มันอยู่ในเมืองหลวง ก็ใช้ไอ้สิ่งที่จะช่วยให้สำเร็จประโยชน์ได้ เช่นมุมบ้าน หรือห้องปรับอากาศ หรืออะไรก็สุดแท้แต่จะมี อย่างนี้เราจะเรียกว่าสุญญาคารจำเป็น ขอให้มันพอมีบ้างในทางที่จะสงัดกาย สงัดไปจากการรบกวนทางกายก็เรียกว่าสงัดกาย คืออย่ามีใครมากวนก็แล้วกัน ทีนี้เมื่อไปสู่ที่เช่นนั้นแล้วก็มีการนั่งที่ถูกวิธี
- ก. ไปสู่ที่สงัด
- ข. มีการนั่งที่ถูกวิธี นั่งถูกวิธีนั้นโดยใจความสำคัญก็คือนั่งชนิดที่มันแน่นแฟ้นพอที่จะไม่โงนเงนโงกเงก แล้วก็เป็นท่านั่งที่ทำให้เลือดลมในกายปกติ แล้วก็เป็นท่านั่งที่สะดวกแก่การที่จะทำสติ นี่มันเป็นหลักทั่วไป ท่านั่งที่มันแข็งได้ในตัวมันไม่ล้มไม่โงนเงน เมื่อความรู้สึกเป็น subconscious แล้วก็มันสะดวกแก่เลือดลมถ้านั่งผิดท่า นั่งทับผิดท่ามันก็จะรบกวนในทางเลือดลม แล้วก็นั่งในลักษณะที่ดำรงสติกำหนดอะไรได้ง่ายสะดวก นี้ถ้ามันนั่งในลักษณะที่มันทรงตัวอยู่ได้อย่างยิ่ง ก็คือนั่งขัดสมาธิ จะมีการทรงตัวแน่นเหมือนกับลักษณะของปิรามิด คือสิ่งที่มันกว้างข้างล่างแล้วมันเล็กข้างบน ลักษณะปิรามิด นั่งขัดสมาธิที่ถูกวิธีมันก็มีลักษณะเป็นปิรามิดมันล้มยาก เมื่อมันเป็น subconscious มันก็ยังไม่ล้ม มันตรงอยู่ได้ เราจะไว้อธิบายกันโดยละเอียดในวันต่อไป ที่นี้ที่ว่านั่งให้เลือดลมปกตินั่น ก็ต้องมีการทับขามีอะไรชนิดที่ไม่ทำให้เลือดลมขัดข้องและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่สำคัญที่สุดคือร่างกายตรง เพราะเราจะทำอานาปานสติต้องการร่างกายที่เหมาะสมแก่การหายใจโดยสะดวกนั้นต้องเป็นกายตรง แล้วกายตรงก็เป็นลักษณะของเลือดลมปกติด้วย กายตรงก็คือว่าให้กระดูกสันหลังตรงก็แล้วกันจะได้อธิบายกันวันหลัง นั่งที่มันดำรงสติได้ง่ายนี้มันก็เกี่ยวเนื่องกับที่ได้กล่าวมาแล้ว คือไม่ก้ม ไม่เงย ไม่ กระทั่งไม่ชวนง่วงนอน นี่เรียกว่าการนั่งที่ถูกวิธี
- ทีนี้ ค. มีสติทำการหายใจคราวนี้หมายความว่า ก่อนนี้เราหายใจโดยไม่รู้ไม่ชี้ เดี๋ยวนี้เราจะหายใจด้วยสติทุกระยะไม่มีช่องว่าง คือระยะที่ไม่มีสติเรียกว่าช่องว่าง เราจะหายใจด้วยสติเราก็ต้องหัด ก่อนนี้ไม่เคยสนใจ ไม่เคย ปล่อยไปตามเรื่อง เดี๋ยวนี้ต้องหัดหายใจด้วยสติ หายใจออก หายใจเข้า ก็คู่หนึ่ง หายใจยาว หายใจสั้น ก็มีสติเพื่อจะรู้ว่ายาวสั้นอย่างไร แล้วก็หายใจช้า หรือหายใจเร็ว หายใจหยาบ หายใจแรง หรือหายใจละเอียด คือแผ่วเบา มีสติรู้จักลักษณะของการหายใจเหล่านี้ นี่โดยรายละเอียดไว้พูดกันวันหลัง นี่ส่วนกายวิเวก ออกไปอยู่ที่สงัด นั่งถูกวิธี มีสติในการหายใจ
เอ้า ทีนี้มาถึงจิตตวิเวก ก็ทำความพยายามในอานาปานสติแต่ละขั้น ละขั้นเป็นลำดับไป ๑๒ ขั้นโดยเฉพาะที่มันคาบเกี่ยวโดยอ้อมนั้นยังไม่พูด พูดแต่โดยตรงก็คือ ๑๒ ขั้น ตอนแรกของทั้งหมดที่มีอยู่ ๑๖ ขั้น หมวดที่ ๑ มีอยู่ ๔ ขั้นกำหนดลมหายใจยาว กำหนดลมหายใจสั้น กำหนดกายสังขารคือลมหายใจปรุงแต่งสังขาร และกำหนดทำกายสังขารให้ละเอียดหมวดนี้มี ๔ ข้อ ทำไปก็เป็นจิตตวิเวก นี้หมวดที่ ๒ ทำความรู้สึกที่เป็นปีติให้ปรากฏ ทำความรู้สึกที่เป็นสุขให้ปรากฏ กำหนดว่าเวทนาทั้ง ๒ นี้ปรุงแต่งจิต แล้วก็ทำความสงบระงับลงแก่จิตตสังขารนั้น นี่ต้องดูเป็นเรื่องจิตไหม หมวดนี้เป็นหมวดเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน นี้หมวดต่อไป หมวดที่ ๓ จิตตานุปัสสนา ก็คือดูลักษณะจิต ให้รู้ว่าจิตเป็นอย่างไร แล้วก็หัดทำจิตให้ปราโมทย์ หัดทำจิตให้ตั้งมั่น หัดทำจิตให้ปลดปล่อย นี่เป็น ๔ ขั้น ๔ หัวข้อ ฝึกฝนใน ๑๒ ขั้นนี้เรียกว่าฝึกฝนในจิตตวิเวก เพื่อทำจิตให้ปราศจากรบกวน อาการรบกวน หรือว่าปฏิบัตินับตั้งแต่เป็นการปฏิบัติเพื่อควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจแล้วก็ทำให้หมดจากสิ่งรบกวนทางจิต
อ้าว, ที่นี้ก็เหลือแต่หมวดสุดท้าย ซึ่งจะเป็นอุปธิวิเวกเกี่ยวกับปัญญาละทีนี้ เริ่มขึ้นด้วยอนิจจานุปัสสี ความเห็นอยู่ซึ่งความเป็นอนิจจัง วิราคานุปัสสีความเห็นอยู่ซึ่งวิราคะ นิโรธานุปัสสีความเห็นอยู่ซึ่งนิโรธะ ปฏินิสสัคคานุปัสสี ความเห็นอยู่ซึ่ง ปฏินิสสัคคะ คือสาดกิเลสและความทุกข์ ออกไปเสียจากตนได้หมดจดแล้ว ไอ้ หมวดนี้มันเป็นเพื่ออุปธิวิเวกมาตั้งแต่แรกและก็สำเร็จโดยสมบูรณ์ ในขั้นสุดท้ายคือขั้น ๑๖ สลัดอุปธิก ออกไป
ตรงนี้อย่างลืมหลักว่ามันก็มี ๓ ชนิด คือชนิดที่บังเอิญ ชนิดที่ข่มไว้ชั่วคราว ชนิดที่เด็ดขาด คือคำว่า ตทังคะ วิกขัมภนะ สมุจเฉทะ ไอ้วิเวกทั้งหลายเหล่านี้มันก็เป็นตทังคะ เป็นวิกขัมภนะ เป็นสมุจเฉทะได้ทั้งนั้น พอแรกกระทำเข้าเท่านั้นมันก็เป็นไอ้ตทังคะ ขึ้นมาทันที เป็นวิเวกชนิดตทังคะ ขึ้นมาทันทีไม่ว่าอันไหนไม่ว่ากายวิเวก หรือจิตตวิเวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตตวิเวกนี่พอเริ่มกำหนดลมเท่านั้น นั่นก็เรียกว่าการประจวบเข้าแล้วระหว่างสติ กับลมนี้ มีการกระทบ มีการเกี่ยวข้องกันแล้วระหว่างจิตกับลมเป็นตทังคะ ขึ้นมาอย่างนี้ มันก็มีไอ้วิเวกอย่าง ตทังคะ สำหรับจิตตวิเวกนี้ นี้ทำไปจนได้ฌาณ ได้อะไรก็เรียกว่า วิกขัมภนะหรือวิเวกที่มีได้ตลอดเวลาที่เราควบคุมบังคับมันไว้ในอำนาจ ที่นี้ที่ว่าอุปธิวิเวกนั้นถ้าเป็นตทังคะมันก็ตอนนั้นก็คืออุปธิ มิได้ปรากฏมิได้เกิด หรือว่าข่มมันไว้ได้ หรือว่าอันดับปฏิบัติขั้นสุดท้ายสำเร็จ ตอนขั้นที่ ๑๖ สำเร็จมันถึงที่สุดจริง มันก็เป็นอุปธิวิเวกชนิดที่เป็นสมุจเฉทะ กำหนดให้ดีๆ เดี๋ยวจะเฟือน จะฟั่นเฝือกันว่าไอ้ใน ๑๖ ขั้นนั้น ๑๒ ขั้น ของหมวดแรกนั้น มันเป็นจิตตวิเวก เพื่อจิตตวิเวก หมวดสุดท้ายนั้นเพื่ออุปธิวิเวกแล้วก็เป็นอุปธิวิเวกขึ้นมาจริงๆ ในขั้นสุดท้าย
ทีนี้ที่เรียกว่าโดยละเอียดนั้น ก็มันคือเรื่องที่เกี่ยวกับสติปัฏฐานและสัมโพชฌงค์ ใน ๓ วิเวกนั้นจะมีพูดถึงที่เกี่ยวกับสติปัฏฐานและสัมโพชฌงค์ สำหรับกายวิเวกนั้นไม่มีส่วน เพราะมันเป็นเรื่องข้างนอก เราจะไม่ถือว่าเอาส่วนนั้นเป็นเกี่ยวกับสติปัฏฐานหรือโพชฌงค์ ดังนั้นสติปัฏฐานหรือโพชฌงค์มันจึงเริ่มอยู่ที่ตัวอานาปานสติทั้ง ๑๖ ขั้นนั่นเอง นี้ขอให้พิจารณากันอย่างละเอียด ยกตัวอย่างเช่นหมวดที่ ๑ หมวดแรกของจิตตวิเวก กำหนดลมหายใจยาว กำหนดลมหายใจสั้น กำหนดกายสังขาร กำหนดการทำกายสังขารให้ระงับอยู่ นี่ ๔ ขั้นนี้ เมื่อกำหนดอยู่ใน ๔ ขั้นนี้ เรียกว่าเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะลมหายใจนั้นๆ เป็นกายอย่างหนึ่งในบรรดากายทั้งหลายตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเองว่ามันเป็นอย่างนั้น
นี้การเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้นเป็นอย่างไร ก็คือเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ กายนี่คือลม เห็นลมอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาลมทั้งหลาย หลายๆ ชนิดอยู่แบบประจำ การทำอยู่อย่างนั้น มันคือการทำความเพียรเผากิเลส ต้องสังเกต แต่ละข้อ ละข้อ นี้นะ การทำอย่างนั้นเป็นการทำความเพียรเพื่อเผากิเลส การทำอย่างนั้นเป็นการมีสัมปชัญญะแล้วก็มีสติ แล้วก็เพื่อจะนำออกเสียซึ่งอภิชชาและโทมนัสในโลก การทำเช่นนั้นเป็นการพยายามพากเพียรเพื่อเผากิเลส นี่ก็เรียกว่าความเพียรแล้วก็มีสัมปชัญญะ มีสติ ถ้ามีสติแล้วก็มีสัมปชัญญะนี่มันของที่คู่กัน เคยพูดกันมาแล้วว่า สติกับสัมปชัญญะนี่เป็นเพื่อนเกลอกัน แรกกำหนดเป็นสติ แล้วกำหนดอยู่ต่อไปเป็นสัมปชัญญะ แล้วก็มีสติก่อน แล้วก็มีสัมปชัญญะ นี่ก็เพื่อนำอภิชชาและโทมนัสในโลกออกเสีย คืออย่าให้เกิดความยินดีหรือยินร้ายในอารมณ์ทั้งหลายที่มากระทบ เมื่อเราทำอยู่อย่างนี้ อภิชชาและโทมนัสไม่มีทางเกิด อภิชชาและโทมนัสในโลก คือในอารมณ์ ตา หู ในอารมณ์รูป เสียง กลิ่น รส ธรรมารมณ์ ไม่มีทางจะเกิด เพราะว่าในตอนนั้น เมื่อทำอยู่อย่างนั้น เรานำออกเสียได้ซึ่งอภิชชาและโทมนัสในโลก นี่ความมุ่งหมายของสติปัฏฐาน นั้นจึงเป็นสติปัฏฐานทุกขั้นทั้ง ๔ ขั้น แล้วรวมกันทั้ง ๔ ขั้นเรียกว่า เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานโดยสมบูรณ์ ทำไมเรียกว่าสติปัฎฐาน เพราะว่ามีสติ มีสัมปชัญญะ พยายามนำออกเสียซึ่งอภิชชาและโทมนัสเพราะเหตุฉะนั้นจึงเป็นสติปัฏฐาน กำหนดลมหายใจยาวอยู่ก็ตาม กำหนดลมหายใจสั้นอยู่ ก็ตาม กำหนดกายสังขารก็ตาม กำหนดการทำกายสังขารให้ระงับก็ตาม มันเป็นสติปัฏฐานที่เรียกว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน นี่เรียกว่าจิตตวิเวกหมวดที่ ๑ นี้เป็นกายานุปัสนาสติปัฏฐาน เป็นสติปัฏฐาน ๑ แห่งสติปัฏฐานทั้ง ๔
ทีนี้ต่อไปขอให้สังเกตเรื่องที่เราเรียนกันตามธรรมดาในโรงเรียนนั้นไม่เคยเรียน ก็คือโพชฌงค์ มันจะเป็นโพชฌงค์ขึ้นมาได้อย่างไรในขณะนั้น พอสักว่ามีสติกำหนด ลมหายใจยาว หายใจสั้นอะไรก็ตามทั้ง ๔ อย่างนี้แล้ว สมัยนั้นสติของภิกษุนั้นไม่ลืมหลง อันนั้นเป็นสติสัมโพชฌงค์ของภิกษุนั้น ระวังคำว่า สมัยนั้น ขณะนั้น คือว่าไม่ใช่ทีหลังนะ คือในขณะนั้นเอง เมื่อทำเป็นสติปัฏฐานอยู่อย่างนั้น แล้วก็สมัยนั้น ภิกษุนั้นมีสติไม่ลืมหลงนั้นเป็นสติสัมโพชฌงค์ของภิกษุนั้น ในสมัยนั้นทำการเลือกเฟ้นใคร่ครวญ ธรรมนั้นๆ อยู่ด้วยปัญญา อันนั้นเป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ของภิกษุนั้น นี่หมายความว่าแม้ที่สุดแต่กำหนดลมหายใจยาวลมหายใจสั้นเท่านั้นเอง มันก็ต้องพิจารณาใคร่ครวญลักษณะอาการ อิทธิพลอะไรของไอ้ลมหายใจที่มีอยู่อย่างไร และมีต่อร่างกายอย่างไร มันละเอียดลออมาก มันยืดยาวมาก ใช้คำว่าทำการเลือก ทำการเฟ้น ทำการใคร่ครวญ ธรรมนั้นๆ อยู่ด้วยปัญญาอันนั้น เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ของภิกษุนั้น ที่นี้ขณะนั้น ไม่ใช่ต่อมานะ ฟังให้ดีนะ ความเพียรที่ไม่ย่อหย่อน เป็นความเพียรอันภิกษุนั้นปรารภแล้ว ข้อนั้นเป็นวิริยสัมโพชฌงค์ของภิกษุนั้นในขณะนั้น นี้สมัยนั้นเมื่อทำอยู่อย่างนั้น ปีติอันเป็น นิรามิส ก็เกิดขึ้น ปีตินี่รู้จักกันดีแล้ว คำว่า นิรามิส ก็แปลออกแล้วว่า ปราศจากอามิส ปีติเป็นนิรามิส หมายความว่า ปีติที่มิได้อาศัย เบญจกามคุณ ไม่ได้อาศัยรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ได้มาแล้วพอใจแล้วมีปีติ อย่างนั้นเขาเรียกว่าปีติสามิส เป็นไปกับด้วยอามิส คือเหยื่อ เดี๋ยวนี้ปีติเป็นนิรามิสไม่ประกอบด้วยเหยื่อ ก็คือปีติที่เกิดมาจากการกำหนดธรรมะ หรือใคร่ครวญธรรมะได้สำเร็จนั่นเอง ที่นี้สมัยนั้น ขณะนั้น กายระงับ จิตระงับด้วยเพราะปีติอันเป็นนิรามิสนั้น ปีติชนิดนั้นเท่านั้น จะทำให้จิตระงับ กายระงับ ปีติอาศัยเรือน อาศัยกามเช่นได้เงินมา ได้ภรรยามาไอ้อย่างนั้นเรียกว่า ปีติสามิส ไม่เกี่ยวข้องกันกับกรณีนี้ แล้วปีติชนิดนั้นไม่สามารถจะทำให้กายระงับ เมื่อปีติเป็นนิรามิสเกิดขึ้นก็เรียกว่า สมัยนั้นภิกษุนั้นมีปีติสัมโพชฌงค์ ที่นี้กายระงับเพราะปีติเป็นนิรามิสนั้น ข้อนั้นเป็น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุนั้นในขณะนั้น ที่นี้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ สมาธิชั้นแม้อุปจารสมาธิ หรือแม้ในขั้นบริกรรม ก็ได้ พอสักว่าตั้งมั่นก็เรียกว่า จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิเพราะกายระงับจึงมีความสุข ปีติกับสุขแทนกันได้ มีปีติก็ต้องมีสุข ภิกษุนั้น ในสมัยนั้นภิกษุนั้นย่อมเข้าไปเพ่งเฉพาะซึ่งจิตอันตั้งมั่นนั้น จิตตั้งมั่นเพราะกายระงับ มีสุขนั้นเป็นสมาธิสัมโพชฌงค์ของพระภิกษุนั้น และภิกษุนั้นยังเข้าไปเพ่งเฉพาะ ซึ่งจิตที่ตั้งมั่นนั้น นั้นก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ของภิกษุนั้น นี่พอสักว่าลงมือปฏิบัติอานาปานสติสำเร็จลงเพียงขั้นต้นๆ เท่านั้น มันก็หาพบลักษณะของสติปัฏฐาน ๔ และโพชฌงค์ ๗ ในเวลานั้นในขณะนั้นที่ตรงนั้น ที่การปฏิบัตินั้น ไม่ใช่ต่อมา
นี่เราสอนกันในโรงเรียนนักธรรมทำให้นักเรียนเข้าใจว่ามันคราวอื่น ที่แท้นั้นมิใช่คราวอื่น ต้องคราวนั้นและพร้อมกันนั้น นี่ลองปฏิบัติเพียงหมวดเดียวคือ ๔ ขั้น หรือ ๔ ข้อ ตอนแรกนั้น จะทำกายสังขารให้ระงับอยู่เท่านั้น สติปัฏฐาน ๔ ในข้อกายานุปัสสนาสติปัฏฐานก็จะชัดขึ้นมา และในขณะนั้นจะมองหาพบโพชฌงค์ ทั้ง ๗ อยู่ในอาการอันนั้น ฟังดูให้ดี เดี๋ยวจะเฟือน ว่าเมื่อภิกษุนั้น อ้าว,ทบทวนอีกที ย่อๆ ว่า เมื่อภิกษุนั้นทำความเพียรในอานาปานสติในหมวดที่ ๑ กำหนดลมหายใจยาวอยู่ กำหนดลมหายสั้นอยู่ กำหนดความที่ลมหายใจปรุงแต่งกายอยู่ และกำหนดการทำให้ลมหายใจปรุงแต่งกายอย่างละเอียดลงไป ระงับลงไปอยู่ ๔ อย่างนี้แล้ว เมื่อนั้นชื่อว่าภิกษุนั้นเห็นกายในกาย อยู่เป็นประจำ ภิกษุนั้นมีเพียรเผากิเลส มีสติ สัมปชัญญะ นำอภิชชาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ ส่วนนี้เป็นสติปัฏฐาน ในเวลานั้นเอง ในสมัยนั้นเอง ด้วยการทำอย่างนั้นเอง ภิกษุนั้นเป็นผู้มีสติไม่ลืมหลงข้อนั้นเป็นสติสัมโพชฌงค์ของภิกษุนั้น ในสมัยนั้นเองภิกษุนั้นทำการเลือกเฟ้น ใครครวญธรรมทั้งปวงอยู่ ด้วยปัญญา ข้อนั้นเป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ของภิกษุนั้น ในสมัยนั้นความเพียรของภิกษุนั้นไม่ย่อหย่อน ความเพียรไม่ย่อหย่อนเป็นอันภิกษุนั้นปรารภแล้ว ข้อนั้นเป็นวิริยะสัมโพชฌงค์ของภิกษุนั้น ในสมัยนั้นเองปีติอันเป็นนิรามิสย่อมเกิดขึ้น นั้นเป็นปีติสัมโพชฌงค์ของภิกษุนั้น ในสมัยนั้นเอง กายก็ระงับ และจิตก็ระงับ เพราะอาศัยปีติอันเป็นนิรามิสนั้น นี้เป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ของภิกษุนั้น ในสมัยนั้นเองจิตก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิคือโดยอำนาจของกายที่ระงับหรือมีสุข เกิดแต่ปีติอันเป็นนิรามิสนั้น จิตนั้นย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิข้อนั้นเป็นสมาธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุนั้น อย่างสุดท้าย ภิกษุนั้นย่อมเข้าไป เพ่งเฉพาะอยู่แต่ที่จิตอันตั้งมั่นนั้น คือสติไปกำหนดแต่ที่จิตอันตั้งมั่นนั้นอยู่เรื่อยตลอดเวลา นั้นเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ของภิกษุนั้น ถ้าเข้าใจก็จะเห็นได้ทันทีว่าในขณะนั้นเป็นทั้งสติปัฏฐานและเป็นทั้งโพชฌงค์ ทีนี้เมื่อทำอยู่อย่างนี้ นี่เรายกตัวอย่างเพียงหมวดเดียว หมวด ๔ ขั้นข้างต้น เป็นกายาวิปัสสนาสติปัฏฐาน ยังไม่จบนะ ที่นี้สมัยนั้นที่ทำอยู่อย่างนั้นโพชฌงค์ ทั้งหลาย เป็นอันว่าภิกษุนั้นเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว เต็มรอบแล้ว ที่นี้โพชฌงค์ชนิดนี้อาศัยวิเวก หรืออาศัยความสงัดจากสิ่งรบกวนทางกาย ทางจิต และทางอุปธิ นี่เขาเรียกว่า โพชฌงค์นี้มีลักษณะอาศัยวิเวกทั้ง ๓ และโพชฌงค์นี้อาศัยวิราคะคือความคลายออกจากความยึดมั่น ถือมั่น แล้วโพชฌงค์นี้อาศัยนิโรธคือความดับแห่งกิเลส และความทุกข์ ใช้คำว่า โพชฌงค์นี้ หรือโพชฌงค์นั้น เพื่อให้มันระบุให้มันชัดลงไปว่าโพชฌงค์ในพุทธศาสนาที่เกิดมาจากการทำสมาธิภาวนาอย่างนี้นั้น มันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ ดังนั้นมันจึงน้อมไปเพื่อ โวสสัคคะเท่านั้น คือโวสสัคคะปริณามี น้อมไปเพื่อโวสสัคคะเท่านั้นไม่เฉไปทางอื่นได้ โวสสัคคะก็คือการสลัดออกไปเหมือนกัน หมายถึงนิพพาน นี่ทำสติปัฏฐานและสัมโพชฌงค์ให้เต็มอยู่ แล้วโพชฌงค์ในลักษณะนั้นอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ แล้วก็น้อมไปเพื่อโวสสัคคะอย่างเดียว ที่นี้เมื่อโพชฌงค์ ทั้ง ๗ ถูกกระทำให้มากแล้ว ทำให้เจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ก็ย่อมทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ นี่ก็แยกดู วิชชาอย่างหนึ่ง วิมุตติอย่างหนึ่ง การมีสติอยู่อย่างนั้น มันเป็นวิชชาอยู่ในตัว วิชชาแปลว่ารู้ มันก็ระบุไปยังธรรมวิจัย ธรรมวิจยะ สติธรรมวิจยะ ซึ่งระคน ปนกันอยู่กับวิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ อุเบกขาไม่แยกกัน นี่ขอเตือนซ้ำว่า อย่าลืมว่าโพชฌงค์นี้ มันมีอย่างเดียวแต่มันประกอบด้วยองค์ ๗ โพชชะหรือโพชธิ นี้มีอยู่อย่างเดียว แต่ประกอบด้วยองค์ ๗ คือ สติ ธัมมวิจย วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา แต่ละโพชฌงค์ มันก็มีหน้าที่อย่างหนึ่ง อย่างหนึ่ง ทีนี้ มันตั้ง ๗ โพชฌงค์ เราหาพบได้หมดตามที่เราต้องการ วิชชาอยู่ที่ไหนกระทั่งจะหาพบว่ามีอินทรีย์ มีพละอยู่ที่ไหน มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิอยู่ที่ไหนก็จะหาพบในขณะนั้น แต่เดี๋ยวมันจะมากเกินไป อย่าเพ่อพูด เดี๋ยวจะเฝือ
ที่นี้จะเอาแต่ที่จำเป็น ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าโพชฌงค์ครบอยู่ที่นั่น แล้วโพชฌงค์นั้น อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ แล้วก็น้อมไปเพื่อโวสสัคคะที่นี้เมื่อทำโพชฌงค์อยู่อย่างนี้ มันมีวิชชาและวิมุตติบริบูรณ์อยู่ที่นั่น การมีวิชชาและวิมุตติบริบูรณ์ นี้ เราเรียกว่าอุปธิวิเวก นั้นอุปธิวิเวกจึงมีอยู่ที่ตอนนี้ ที่นี้เราจะให้วิเวกนี่มันเป็นหลายชั้นเหมือนที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า มันเป็นตทังคะก็ได้ เป็นวิกขัมภนะ ก็ได้ เป็นสมุจเฉทะก็ได้ เพราะสักว่าเราทำเท่านั้น เราก็มีวิเวกในส่วนตทังคะ เพราะว่าเวลานั้นอุปธิกทั้งหลายมิได้เกิดขึ้น คือไม่ปรากฏเป็นของหนัก เบญจขันธ์มิได้ปรากฏเป็นของหนักแก่ภิกษุนั้น ทั้งในขณะแรกลงมือทำ อย่างนี้เรียกว่า ตทังคะ ส่วนอุปธิกวิเวกก็ได้ นี้ทำไปทำไปจนอยู่ในอำนาจ เช่นว่าทำกายสังขารให้ระงับอยู่ได้นานเท่าไรอันนั้นก็เป็น วิกขัมภนะวิเวก ของภิกษุนั้น หมายความว่าตลอดเวลาที่ยังมีฌาน มีสมาธิอยู่นี้อุปธิ คือความหนักของชีวิตของสังขารนี้ไม่ปรากฏ นี้ถ้าเผื่อว่าทำไปถึงอันดับสุดท้ายที่ ๑๖ โน้นมันก็เป็นอุปธิกวิเวกชนิดสมุจเฉทะ ที่พูดนี้ก็พูดเพื่อจะเห็นว่าแม้แต่ว่าอุปธิวิเวกนี้สามารถาจะหาพบตั้งแต่การปฏิบัติในหมวดที่ ๑ นี้เรียกว่าโดยปริยาย โดยอ้อม หรือโดยอนุโลม เพราะว่ามันเป็นเพียง ตทังคะวิเวก หรือวิกขัมภนะวิเวก นี้ขอให้เข้าใจว่า วิเวกชนิดไหนก็ตาม ใน ๓ อย่างนั้น มันมีได้ทั้งที่เป็นตทังคะ และเป็นวิกขัมภนะ และเป็นสมุจเฉทะทั้งนั้น ถ้าเมื่อมีการหลุดพ้นถึงระดับไหนไอ้วิเวกนั้นมันก็มีลักษณะ อย่างเดียวกันกับ ธรรมะที่ได้รับแล้ว ในการหลุดพ้นขั้นนั้น เช่นว่า กายวิเวกอย่างนี้ ถ้าของชาวบ้านตามธรรมดามานั่งที่โคนไม้ตรงนี้มันก็สบายเท่านี้ก็เป็นวิเวกชนิด ตทังคะตามแบบของชาวบ้านแต่ถ้าเป็นโยคาวจร ปฏิบัติ สมาธิสำเร็จมีฌาน มีสมาธิอยู่แล้วมานั่งที่ตรงนี้ ในส่วนร่างกายของเขาเป็นกายวิเวกชนิดที่เรียกว่า วิกขัมภนะ นี่ถ้าพระอรหันต์ เล็งถึงพระอรหันต์โดยตรงเลย ถ้ามานั่งอยู่ที่โคนไม้นี้ มันก็เป็นกายวิเวกชนิดสมุจเฉทะ อย่าปนกันให้ยุ่ง ที่พูดนี้ก็เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าแม้แต่กายวิเวก ก็มีทั้งที่เป็นตทังคะ วิกขัมภนะ และสมุจเฉทะ ในส่วนจิตตวิเวกก็เหมือนกันอีก จิตตวิเวกประเดี๋ยวประด๋าวของคนธรรมดาสามัญ อย่างนี้มันก็เป็นไอ้ชนิด ตทังคะ ของผู้ได้ฌานจิตตะวิเวกนั้นก็เป็น วิกขัมภนะ ทีนี้จิตตวิเวกของพระอรหันต์ก็เป็นสมุจเฉท ทีนี้เรามาพูดถึงอุปธิกวิเวก คนธรรมดาสามัญลงมือทำให้ถูกวิธีไม่รู้สึกหนักในชีวิต หรือขันธ์ทั้งหลายเหล่านี้แล้วก็เรียกว่าเป็นอุปธิวิเวกชนิด ตทังคะของเขา ที่ภิกษุนั้นหรือผู้นั้น สามารถทำฌานสมาธิ สมาบัติให้เกิดขึ้นอยู่ในขณะนั้น อันนั้นมันก็เป็นอุปธิวิเวกชนิด วิกขัมภนะ ของเขาด้วยเหมือนกัน นี่ก็คือพระอรหันต์ ที่ไม่มีอุปธิ หรือไม่มีกิเลสโดยสิ้นเชิง ก็เป็นอุปธิวิเวกชนิดสมุจเฉทะ
นี่เค้าโครงทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนปลาย คือกายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก ซึ่งแยกเป็นรายละเอียดออกไปได้อย่างนี้ ที่นี้ก็ดูอีกนิดหนึ่งว่า หมวดที่ ๑ ของอานาปานสติ คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็มีความมีสติปัฏฐาน ความเป็นสัมโพชฌงค์ ความเป็นสัมโพชฌงค์ชนิดที่เป็นไปเพื่อโวสสังคะ แล้วก็มีวิเวก กายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก ตามสัดตามส่วน ทีนี้พอมาถึงหมวดที่ ๒ ก็มีหลักเกณท์อย่างเดียวกัน เมื่อกำหนดเวทนาอยู่ในลักษณะอย่างนั้นๆ เขาก็เรียกว่าเวลานั้นก็ เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน แล้วก็ในตอนนั้น ก็มีสัมโพชฌงค์ครบบริบูรณ์ ในเวทนาสติปัฏฐาน โพชฌงค์นั้นเป็นไปเพื่อวิเวก เพื่อวิราคะ เพื่อนิโรธ เพื่อนิพพาน ในที่สุดก็เป็นผลอย่างเดียวกัน ลักษณะอย่างเดียวกันกับหมวดที่ ๑ ที่นี้หมวดที่ ๓ ก็เหมือนกันอีก แม้จะดูจิตอยู่โดยปริยายต่างๆ ทำจิตให้บันเทิงให้ตั้งมั่น ให้ปลดปล่อย นั้นก็เป็น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ของภิกษุนั้นๆ สมบูรณ์อยู่ด้วยโพชฌงค์ทั้ง ๗ ในลักษณะเดียวกับที่ว่ามา เพราะว่าแม้จะเจริญเวทนา จะเจริญจิตตาอยู่ มันก็มีสติไม่ลืมหลงเป็นสติสัมโพชฌงค์ มีทำการเลือกเฟ้น ลักษณะของเวทนา ลักษณะของจิตอยู่ มันก็เป็นไอ้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เป็นวิริยะสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ เหมือนกันเลย นี่ถ้าเราจะเอามานั่งแยกกันให้ละเอียดทุกๆ ขั้นมันจะกินเวลามากมาย ไปแยกเอาเอง นั้นใน ๓ หมวดมันเป็นจิตวิเวกอย่างนี้ โดยตรงอย่างนี้ แล้วก็เป็นอย่างอื่นได้โดยอ้อมหรือโดยปริยาย พอถึงหมวดสุดท้ายพิจารณา อนิจจัง วิราคะ นิโรธะ ปฎินิสสัคคะ มันก็เป็นธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน ขึ้นมาทันที เพราะวัตถุสำหรับพิจารณามันกลายเป็นความไม่เที่ยง ความคลายกำหนัด ความดับ ความสลัดคืน ไอ้ทั้ง ๔ อย่างนั้นเขาเรียกว่า ธรรมในที่นี้ สติกำหนดธรรมทั้ง ๔ นี้เป็น ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน สมบูรณ์อยู่ในโพชฌงค์ ๗ ประการ โพชฌงค์นั้นเป็นไปเพื่อ อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ นิโรธ เป็นไปเพื่อโวสสัคคะ ทีนี้พอถึงขั้นสุดท้ายอันดับที่ ๑๖ มันก็เป็นอุปธิวิเวกสมบูรณ์ ในทุกขั้นทุกตอนมีความรู้ที่เรียกว่า วิชชา แล้วมีวิมุตติ ตทังคะ วิกขัมภนะ สมุจเฉทะ อะไรก็ตาม อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ จึงว่าสมบูรณ์ด้วยวิชชา แลวิมุตติ นี่คือรายละเอียด ของเค้าโครง ของอานาปานสติที่กล่าวไว้ในรูปวิเคราะห์ ถ้ากล่าวโดยสังเคราะห์ คือ กายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก ๓ อย่างเท่านั้น หรือ ๓ ดุ้นเท่านั้น ที่ในแต่ละดุ้น ละดุ้น แตกออกไปอย่างนี้ โดยเฉพาะในส่วนที่เป็น ๑๖ ขั้นนั้น ก็ลองคูณเข้าไปดูมันมีอยู่ ๑๖ ขั้น และแต่ละขั้นหนึ่งมันก็เป็นสติปัฏฐาน หนึ่ง หนึ่ง และแต่ละขั้นนั้นก็มีโพชฌงค์ ทั้ง ๗ อย่างอยู่ในการปฏิบัติในขั้นหนึ่งๆ นั้น แล้วโพชฌงค์นั้นจะประกอบไปด้วย องค์ดังกล่าวคืออาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธะ น้อมไปเพื่อโวสสังคะ แล้วก็มีวิชชาหรือวิมุตติ ที่เป็นผลเกิดขึ้นเพราะความเจริญสัมโพชฌงค์อย่างนั้น มันมีอยู่ ๑๖ ขั้น ในขั้นหนึ่ง มีลักษณะอาการรวมอยู่ด้วยถึง หลายอย่างคือเป็นสติปัฏฐาน เป็นโพชฌงค์ เป็นการน้อมไปเพื่อโวสสังคะ นี่ก็ทำให้วิชชา และวิมุตติเจริญขึ้น นี่อย่างน้อยก็ ๔ แล้วใน ๑๖ อย่างนั้นมันจะต้องถูกคูณด้วย ๔ นี้มันจะถูกคูณด้วยอื่นๆ ออกไปอีกมาก เช่นว่า ทุกลมหายใจออก ทุกลมหายใจเข้า นี่ก็เอา ๒ คูณเข้าไป และก็มีในระยะที่มันเกิดอย่างเป็น ตทังคะ วิกขัมภนะ สมุจเฉทะ ถ้าคูณเป็นตัวเลข ก็คูณกันไม่หวาดไม่ไหวก็เลยเป็นเรื่องอภิธรรมเฟ้อ ก็ไม่ต้องพูดกัน เอาแต่เท่าที่จำเป็นและรัดกุม เพื่อการปฏิบัติโดยตรงเท่านั้นแยกออกไปเป็น ๑๖ ขั้น ในแต่ละขั้น จะต้องมีข้อสังเกตอย่างไรบ้าง นี่มันก็เป็นความรู้ที่เฟ้อ ผมยอมรับว่าเป็นความรู้ที่เฟ้อ เป็นความรู้ที่เป็นปริยัติอย่างขนาดหนัก นี่สำหรับผู้ปฏิบัตินี่ มันไม่ต้องรู้มากอย่างที่เรากำลังพูด รู้แต่เพียงว่าไปนั่งที่ไหน แล้วทำอย่างไร มันก็เป็นไปตามลำดับ ที่ใน ๑๖ ขั้นนั้น เขาไม่ได้สนใจปฏิบัติ ทั้ง ๑๖ ขั้น เขาจะสนใจปฏิบัติแต่ ขั้นที่ ๑๓ คือ อนิจานุปัสสี คือพิจารณา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่เรื่อย นอกนั้นปล่อยให้มันเป็นไปเองตามกฎเกณฑ์ของมัน เท่านี้มันก็พอแล้ว แล้วก็เป็นที่เชื่อได้แน่นอนว่า ในการปฏิบัติเพื่อจะดับทุกข์กันโดยด่วนนั้น ไม่มาตั้งข้อศึกษากันโดยละเอียดอย่างนี้ เพราะว่าคนโดยมากไม่สามารถจะทำถึงขนาดนี้ เป็นยายแก่ ตาแก่ เป็นพระเถระผู้เฒ่า เป็นภิกษุณีผู้เฒ่า หรือว่าอะไรก็ตามใจ จะทำได้เฉพาะเท่าที่ความสามารถ ทางร่างกาย ทางสติปัญญาจะพึงกระทำได้ หากแต่ว่ามันมีหลักเกณฑ์อยู่อย่างนี้เท่านั้น ไปสู่จิตสงัดทำสติและกำหนดวิธีใดวิธีหนึ่งจนกระทั่งไปเห็น อนิจัง ทุกขัง อนัตตา ส่วน วิราคะ นิโรธะ ปฎินิสสัคคะ มันเป็นของมันเองโดยไม่ที่ ไม่ต้องรู้ ไม่ต้องรู้จักชื่อ ก็รู้สึกว่าอ้าวเดี๋ยวนี้ก็ไม่มีกิเลสรบกวนเด็ดขาดไปแล้ว เพราะฉะนั้นในการจำแนกอานาปานสติออกไปถึง ๑๖ ขั้นนี้ ก็เพื่อผลที่สมบูรณ์ที่สุดสำหรับผู้ที่มี อินทรีย์ มีอุปนิสัย มีบารมี ที่จะทำได้ และเมื่อทำได้แล้วมันมีเอง ส่วนที่เกินจำเป็น ส่วนจำเป็นคือดับทุกข์ ดับกิเลสได้ ส่วนที่เกินจำเป็นก็คือมี ปฏิสัมภิทา มีอภิญญา มีฤทธิ์ มีเดช มีปาฏิหารย์ มีญาณ มีอะไร ที่เป็นวิชชา ๓ มีอภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทา ๔ อะไรครบถ้วนได้ นี่คือแนวที่มันสมบูรณ์ ๑๖ ขั้น แล้วถ้าจะหวังอานิสงค์ ก็หวังได้ทั้ง ๔ อานิสงค์ คือความสุขทางตา เห็นอำนาจอันเป็นทิพย์ สติ สัมปชัญญะสมบูรณ์ อาสวะก็สิ้นไป
เช่นนี้เราต้องการจะไปสอนไอ้สิ่งที่ดีที่สุด พระศาสนาที่พระพุทธเจ้าท่านสรรเสริญก็คือสมาธิภาวนาในระบบนี้ หรือจะเรียกว่า อธิจิตตาโยค ก็ตามใจ ในระบบนี้ มีคำสรรเสริญไว้มาก ถ้าสนใจก็จะพูดกันวันหลัง นี่รวมความว่า ผมเห็นว่า ระบบสมาธิภาวนาที่ดีที่สุดสำหรับพระธรรมทูต จะ ต้องเข้าใจแตกฉานและปฏิบัติได้และนำไปสั่งสอน นั้นคือระบบนี้ ดูอย่างสังเคราะห์สั้นที่สุดก็คือเรื่อง กายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก ดูอย่างวิเคราะห์ก็ออกไปเป็น กายวิเวก ก็มีหลายอย่าง จิตตวิเวก ก็มีหลายอย่าง อุปธิวิเวก ก็มีหลายอย่าง แต่ว่ารวมอยู่ในระบบอานาปานสติภาวนานี้ นี่ถ้าไปแจก ไอ้ฌาน ไอ้ญาณ อะไรต่างๆ มากกว่าอีก แล้วมันเป็นหลายร้อยข้อ หลายร้อยประเด็น นี่เรียกว่าอย่างละเอียด โดยละเอียด อย่างวิเคราะห์ พอทำให้เป็นสังเคราะห์เหลือแต่เพียง ๓ ดุ้น กายวิเวก ก็เป็นศีล จิตตวิเวก ก็เป็นสมาธิ อุปธิวิเวก ก็เป็นปัญญา มันก็มีเท่านั้นเอง นี่กลับไปนี่อย่าเพ่อนอนกลับไปทบทวน กันลืมกันเฝือ ว่าเค้าโครงของอานาปานสติโดยละเอียดนั้น ดูในรูปสังเคราะห์กันอย่างไร ดูในรูปวิเคราะห์กันอย่างไร ให้เข้าใจแจ่มแจ้ง แล้วก็ขอเตือนว่าไอ้ที่สำคัญที่สุด ตรงที่ว่า เมื่อเราได้รับการสั่งสอนในโรงเรียน ดูคล้ายมันคนละเรื่อง อยู่คนละแห่ง หรืออยู่คนละคราว ความเข้าใจนั้นผิด ที่ถูกนั้นมันจะอยู่ที่ตรงนั้น จุดเดียวนั้นแหละ ครบหมด สติปัฏฐาน ก็ดี โพชฌงค์ก็ดี ผลต่างๆ ก็ดีอยู่ที่ในเวลานั้น ถ้ามัน ๑๖ เรื่อง มันก็มีแต่ละเรื่องๆ มีครบอยู่ในนั้น เวลานั้น เมื่อปฏิบัติขั้นนั้น ถ้าเข้าใจข้อนี้ได้ก็จะประกันความฟั่นเฝือ เอาล่ะ พอกันทีสำหรับเวลาที่เรากำหนดไว้ มีอยู่เท่านี้แล้วก็จบเรื่องนี้พอดีด้วย