แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายครั้งที่ ๕ นี้อยากจะพูดต่อไปถึงผลเลิศทางสังคมที่เราควรจะเล็งกันอย่างไร เพียงไร หรือ ที่ไหน ในตอนนี้ขอให้ระลึกถึงหัวข้อทางตรรก ตามแบบของพุทธบริษัท ๔ ข้อ อย่างที่ได้พูดให้ฟังมาแล้วในวันแรกอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าในวันนี้มันก็มาถึงหัวข้อที่ ๓
ข้อที่ ๑ คืออะไร
ข้อที่ ๒ เนื่องมาจากเหตุอะไร
ข้อที่ ๓ เพื่อผลอันใด
ข้อที่ ๔ จะสำเร็จได้ด้วยวิธีใด
เดี๋ยวนี้เราก็มาถึงข้อที่ ๓ คือผลที่เราปรารถนา
หัวข้อ ๔ ข้อ ในรูปของตรรกะอย่างนี้เป็นของพุทธบริษัทแท้ แล้วเราก็กำลังพูดกันอย่างพุทธบริษัท หัวข้อ ๔ อย่างนี้ ก็คือหัวข้อที่ถอดมาจากเรื่อง อริยสัจทั้ง ๔ นั่นเอง ขอให้เข้าใจไว้ด้วยและก็ให้เข้าใจยิ่งๆ ขึ้นไปว่า พระพุทธเจ้าท่านมีหลักในการพูดจาในทางตรรกนี้ เป็นอย่างนี้ อริยสัจ ๔ ข้อนั้น
ข้อที่ ๑ ก็คือ ทุกข์ นี่คือตัววัตถุที่จะพูด
ตัวที่ ๒ คือ เหตุให้เกิดทุกข์
ตัวที่ ๓ คือ ความดับสนิทแห่งทุกข์ นี่คือผลที่เราหวัง
ข้อที่ ๔ คือ หนทางถึงความดับสนิทแห่งความทุกข์ นี่คือตัวศาสนาแท้ๆ อยู่ที่ตรงนี้ ซึ่งเราจะต้องปฏิบัติ
ทีนี้ ปัญหาทั้งหลายที่มีตัวไอ้ความทุกข์เป็นวัตถุสำหรับพูด สำหรับวิจัย สำหรับอะไรต่างๆ นี้ มันควรจะใช้หลักทั้ง ๔ ประการนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าปัญหาอะไร เพราะว่ามันไม่มากเกินไป มันไม่น้อยเกินไป ไอ้หลักทางตรรกที่น้อยเกินไปก็มี ไอ้ที่มากยืดยาดฟุ้งเฟ้อเกินไปมันก็มี ดังนั้นจึงอยากจะแนะว่าไอ้ ๔ ข้อเท่านี้ มันก็พอ เราจะพูดกันในหัวข้อที่ ๓ คือ ผลที่ควรจะมุ่งหมายในการแก้ปัญหาสังคมแล้วก็จะดูกันให้ทั่วไปสักหน่อยว่ามันเป็นอย่างไร แล้วก็เท่าไร แล้วก็ที่ไหน เป็นต้นด้วย
เมื่อพูดถึง “ผลเลิศ” จะเป็นทางสังคมหรือทางไหนก็ตาม มันก็ต้องอยู่ที่ไอ้ ความสงบสุข นี้ไอ้เรื่องความสงบสุขก็ได้พูดมาแล้วว่า มันเป็นอย่างแท้จริงก็มี เป็นอย่างหลอกลวงก็มี ในที่นี้เราต้องพูดกันถึงอย่างแท้จริง คือ ความบริสุทธิ์ใจในการที่จะมีความสงบสุขของส่วนตนและส่วนผู้อื่น แต่ว่าในโลกนี้ในเวลานี้มันมีแต่ความหลอกลวง มันมีความเห็นแก่ตัว ต้องการประโยชน์ของตัวโดยที่ทำลายประโยชน์ของผู้อื่น นี่คือเรื่องการเมืองในปัจจุบันนี้มันมีไอ้เรื่องใต้ดินที่จะดูดซับเอาประโยชน์ของผู้อื่นมาเป็นของตัว ทำไขสือคล้ายๆ กับไม่มีอะไร ไม่รู้ไม่ชี้ จะทำประโยชน์แก่โลกเป็นสันติภาพแก่โลก ไอ้ที่แท้มันก็พูดแต่ปาก มีแผนการใต้ดินที่จะดูดซึม ดูดซับเอาประโยชน์ของผู้อื่นมาเป็นของตัวไม่ให้เขารู้สึกตัว แล้วโลกมันจะมีสันติภาพได้อย่างไร นี่เพราะมันไม่มีความบริสุทธิ์ใจ ถ้าเราจะพูดกันถึงผลเลิศด้วยความบริสุทธิ์ใจก็ต้องพูดไปตามหลัก จะเอาเรื่องจริงในปัจจุบันที่เขาประพฤติกันอยู่เป็นหลักนั้นดูจะไม่ได้เพราะเขาพูดกันแต่ปาก
ทีนี้ก็จะได้พูดกันแต่ตามหลักซึ่งใครอาจจะชอบก็ได้ ใครอาจจะไม่ชอบเลยก็ได้ เราควรจะให้คำจำกัดสั้นๆ เพียงสองคำว่า มัน เพื่อสันติภาพอันถาวรในทางสังคม แล้วก็ เพื่อสันติสุขอันแท้จริงในส่วนปัจเจกชน คือในส่วนบุคคลก็ขอให้ได้รับสันติสุขที่แท้จริง ในส่วนสังคมคือโลกทั้งหมดก็ควรจะมีสันติภาพอันถาวร เรื่องของโลกนี้เป็นเรื่องส่วนรวม เป็นเรื่องส่วนใหญ่จะเอาอะไรมากนักไม่ได้ เพราะว่ามันเนื่องกันมาก เนื่องกันกับบุคคลมากเกินไป มันยื้อแย่งกันมันก็ไปลึกเท่าไหร่ คือจะเป็น ไปเป็นไปลึกมากนักมันไม่ได้ ถ้าเป็นเรื่องส่วนปัจเจกชน เราอาจจะไปลึก ไปลึกถึงที่สุดที่มนุษย์จะไปลึกได้เพราะมันไม่มีอะไรรุงรังขัดขวาง
แต่เดี๋ยวนี้มันมาถือหลักกันอย่างอื่น เช่นว่าถ้าสังคมไม่ดี ไอ้คนๆ หนึ่งก็ไปไกลไม่ได้ มันก็รู้จักเพียงเท่านั้น ถ้าถือตามหลักธรรมหรือตามหลักของศาสนาแล้ว เขาวางไว้สำหรับบุคคลไปสุดถึงที่สุดคือ นิพพานได้ แต่ว่าสังคมมันไปไม่ได้เพราะว่ามันยื้อแย่งกัน มันผูกพันกัน มันอะไรกันทำนองนี้ จึงหวังแต่เพียงสันติภาพอันถาวร คือความไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ส่วนทางบุคคลคนหนึ่งๆ นั่นอาจจะไปลึกจนถึงกับว่าไม่เบียดเบียนตัวเองถึงที่สุด คือไม่มีกิเลสสำหรับจะเบียดเบียนตัวเองให้เดือดร้อนมันคือนิพพาน แต่เดี๋ยวนี้เรากำลังพูดกันถึงปัญหาของสังคมว่าจะเอากันอย่างไรที่เป็นผลเลิศ
ถ้าพูดอย่างเท่าที่จะทำได้ก็เอาเพียงแค่ไม่เบียดเบียนกันในโลกนี้ก็พอ แต่ว่าถ้าโดยที่แท้แล้วธรรมชาติมันอำนวยให้มากกว่านั้น มันอาจจะสร้างโลกพระอริยะเจ้า หรือพระศรีอาริย์ หรือโลกอะไรขึ้นมาได้ ถ้าว่าทุกคนมีธรรมะกันให้ถูกต้อง ให้เพียงพอ เดี๋ยวนี้ปัญหามันมีอยู่ที่ว่าเราไม่สามารถจะทำให้ทุกคนมีธรรมะต่างหาก ถ้ามันมีอุบายอะไรที่จะทำได้ มันก็สร้างโลกพระอริยะเจ้า โลกพระศรีอาริย์อะไรขึ้นมาได้ เดี๋ยวนี้มนุษย์ในโลกกำลังใช้สติปัญญา กำลังอะไรทั้งหมดนี้เพื่อความเห็นแก่ตัว ที่จริงแล้วเขาทำอะไรได้เก่งมากขึ้นทุกที เช่น ไปโลกพระจันทร์ อย่างนี้เป็นต้น แต่แล้วไม่ได้ใช้สติปัญญานั้นเพื่อสันติภาพ มันเพื่อประโยชน์ของตัวที่จะก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปในรูปเพียงเพื่อตัว หรือว่าเห็นแก่ตัว เห็นส่วนได้ของตัวอยู่นั่นแหละ เพราะฉะนั้น มนุษย์ในยุคปัจจุบันนี้แม้จะฉลาดสามารถกว่ามนุษย์ครั้งยุคพุทธกาลอย่างที่เทียบกันไม่ได้ มันก็ยังไม่มีความสุขได้เท่ากับมนุษย์ยุคโบราณ ซึ่งอยู่กันอย่างสงบสุข
ตรงนี้ต้องขอเตือนบ่อยๆ ว่า ให้ดูประเทศไทยเราก็แล้วกัน เพียงระยะ ๓๐ – ๔๐ ปีนี้ ไอ้ความสงบสุขมันมีเพิ่มขึ้นหรือว่ามันลดลง ตั้งแต่รับเอาการศึกษาแผนใหม่ แผนปัจจุบัน แผนตะวันตก แผนวัตถุนิยมเข้ามานี้ มันเป็นอย่างไรบ้าง เดี๋ยวนี้กำลังพูดถึงปัญหาทางสังคมมันก็ต้องดูให้ดีว่าเป็นเรื่องวิชาความรู้แบบวัตถุนิยมของตะวันตก หรือว่าจะเป็นสังคมของพระอริยะเจ้า สังคมของพุทธบริษัทตามวัตถุประสงค์มุ่งหมายในพุทธศาสนา และอาตมาผู้บรรยายนี้เป็นภิกษุในพุทธศาสนา สถานที่นี้ก็เพื่อพุทธศาสนา เราจึงพูดอย่างอื่นไม่เป็น พูดออกไปก็เป็นเรื่องมะพร้าวขายสวน แต่เราอาจจะพูดได้อยู่ในขอบเขตของพุทธศาสนาให้ลึกให้กว้างให้เห็นชัดยิ่งขึ้นได้ เพราะนั้นให้ถือว่าไอ้เรื่องต่างๆ ที่พูดไปนี้ มันก็เป็นเรื่องที่เป็นไปตามทัศนะของพุทธบริษัทเท่านั้น ดังนั้นการเล็งผลเลิศในทางสังคมก็เล็งอย่างสายตาของพุทธบริษัท ซึ่งมีรากฐานอันสำคัญว่าจะต้องทำให้ไปด้วยตามความบริสุทธิ์ใจ ให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมะ นี่เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจไว้ล่วงหน้า
ทีนี้ก็จะพูดถึงผลเลิศทางสังคมนี้ว่ามันจะได้แก่อะไรตามหัวข้อที่ได้กำหนดไว้
อย่างแรกที่สุดก็ต้องนึกถึงไอ้ “หลักของจริยธรรมสากล” กันก่อน ที่เรียกว่า จริยธรรมสากล ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงศาสนาใดโดยเฉพาะ แต่ว่าเป็นการคิดค้นรวบรวมประมวลมาของบุคคลผู้มีสติปัญญาในโลก ที่สนใจในเรื่องจริยธรรม หรือ ศีลธรรม ถ้าเป็นศีลธรรมเราเรียก Moral หรือ Morality ถ้าเป็นปรัชญาของศีลธรรม เราเรียก Ethics จะโดยหลักหรือว่าจะโดยการปฏิบัติอะไรก็ตามนี่ เป็นไปแต่ในทางจริยธรรมหรือศีลธรรมเท่านั้น เพื่อผลก็เป็นเรื่องอย่างโลกๆ ด้วยความสงบสุขหรือมีสันติภาพในโลก ผู้มีปัญญาทางศีลธรรม หรือนักจริยธรรมเหล่านั้นเขาไปพูดเรื่องต่างๆ ไว้มาก สำหรับเรื่องผลเลิศที่จะพึงหวังนั้น เขาพูดไว้ ๔ ประการ อาจจะมีปลีกย่อยมากไปกว่านี้ก็ได้ แต่ที่รับรองกันเป็นหัวข้อเป็นหลักใหญ่ๆ นั้นมีอยู่ ๔ ประการใช้คำเรียกรวมๆ กันว่า Summum Bomun (นาทีที่ 15.43) เป็นภาษาโบราณเป็นภาษาลาติน ที่มีความหมายเท่ากับภาษาเรา เราๆ ก็ว่าไอ้ “ความดีสูงสุด” Summum Bonum สองคำนี้คือความดีสูงสุด ก็เพิ่งขยายความออกไปว่า ความดีสูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้รับเดี๋ยวนี้ ใน ๔ ข้อนั้น
ในข้อที่ ๑ มันมีว่าความสุขเหมือนกัน คือ Happiness
อันที่ ๒ หมายถึงความเต็ม คือ Perfection ไม่มีอะไรพร่องของไอ้ความเป็นมนุษย์ หรือของทุกๆ อย่างนี้
อันที่ ๓ นี่ Duty คือหน้าที่เพื่อประโยชน์แก่หน้าที่ เรียกว่า Duty เฉยๆ ก็หมายถึงหน้าที่บริสุทธิ์ ทีนี้กันคนมันตลบตะแลงก็ต้องกำกับลงไปว่า Duty, for Duty’s Sake (นาทีที่ 16.59) Duty เพื่อประโยชน์แก่ Duty นี่คือ งานเพื่องานไม่ใช่งานเพื่อเงิน ก็เรียกว่า “งานบริสุทธิ์”
อันสุดท้ายก็เรียกว่า Universal Love ความรักที่เป็นสากล ไม่มีเรา ไม่มีเขา
นี่หลักจริยธรรมทางสากลเขาตกลงกันไว้อย่างนี้ ไม่ใช่ว่าปฏิบัติได้แล้วเป็นปรัชญา สำหรับจะไปคิดไปนึกไปพยายามที่จะปฏิบัติ แต่ในทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นตัวการปฏิบัติซึ่งพุทธบริษัทปฏิบัติได้และปฏิบัติอยู่ และต้องมีความสุขที่แท้จริง ไม่ใช่ความสุขจอมปลอมเป็นทาสแก่วัตถุ แก่เนื้อหนัง แก่ผัสสะ ความสุขชนิดนั้นเรากำลังไปตามก้นฝรั่ง ไปหลงตามพวกฝรั่งที่จะเอาแต่ความสุขชนิดนั้นคือความสุขทางวัตถุนิยม ไอ้ความสุขที่แท้จริงมันอยู่ที่เรื่องของจิตใจ มีจิตใจชนะเหนือกิเลสนั่นเป็น “ความสุข” แต่ของสมัยใหม่วัตถุนิยมนี้ ยิ่งเป็นทาสกิเลสยิ่งเป็นความสุข จะได้เอร็ดอร่อยทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ที่เรียกว่าทางเนื้อหนังให้มาก แล้วจึงถือกันว่าเป็นความสุข เพราะฉะนั้นระวังให้ดี พวกที่ไปเรียนจากฝรั่งมานั้นจะไปบูชาความสุขชนิดนี้ แล้วจะหอบเอาความรู้ชนิดนี้มาสอนพวกพุทธบริษัท ซึ่งถือเป็นหลักอยู่ว่า “อยู่เหนือกิเลสจึงจะมีความสุข ไม่ใช่อยู่ใต้กิเลสแล้วจึงจะเป็นความสุข” และเมื่อพูดว่า “ความสุข ความสุข” ก็ต้องดูให้ดีกันอย่างนี้ ถ้าอยู่ใต้กิเลสแล้วเป็น “สุก ก สะกด” คือ สุกร้อน คือ เผาให้สุก ต้มให้สุก จี่ให้สุก หัวใจมันร้อนอย่างนั้น แต่ถ้าว่าเป็นความ “สุข” ที่จิตอยู่เหนือกิเลสนี้ มัน “สุข ข สะกด” สุขเย็น ในภาษาไทยเรามี ๒ สุข (ก) - สุข ข สะกด เป็นสุขเย็น / สุก ก สะกด มันเป็นสุกร้อน มันก็คู่กันกับว่า จิตอยู่เหนือกิเลส หรือ จิตอยู่ใต้กิเลส
ทีนี้ไอ้พวกนักจริยธรรมสากลเขาก็มีความบริสุทธิ์ใจ อย่าเข้าใจว่าพวกนักจริยธรรมสากลนี้จะเป็นวัตถุนิยมเหมือนคนสมัยใหม่เดี๋ยวนี้ เขาจึงให้ความหมายแก่คำว่า “ความสุข” นั้นอย่างถูกต้อง คือ เป็นความสุขที่แท้จริง แม้ว่าจะยังไม่รู้ว่าอย่างไร ก็ต้องเอาอย่างข้างแท้จริงไว้ก่อนคือไม่มีทุกข์เลย ไม่มีซ่อนความทุกข์ไว้เลย
นี่ไอ้ข้อที่ ๒ ข้อที่ถัดไปมันช่วยกำกับไว้ไม่ให้เป็นอย่างอื่นได้ คือ ความเต็มเปี่ยม อันแรกก็ต้อง “ของความเป็นมนุษย์” จะหมายถึงความเต็มเปี่ยมของอุดมคติ ของวิชาความรู้ หรือ ของอุปกรณ์ปัจจัยอะไรต่างๆ ก็จะ เรียกว่าความเต็มเปี่ยมได้เหมือนกัน คือมันไม่มีอะไรพร่อง แต่ว่ามันต้องเล็งถึงไอ้ความเต็มเปี่ยมของความเป็นมนุษย์นี่ก่อนอื่น มนุษย์อาจจะกลวงเป็นโพรงก็ได้ คือดูข้างนอกก็เต็มก็สวยแต่ข้างในมันกลวง คือมนุษย์สมัยปัจจุบันนี้มีอะไรมาก มีสิ่งสวยงามมาก มีอะไรมาก แต่ว่าจิตใจมันกลวงไม่มีความเป็นมนุษย์เพราะมันมีความเห็นแก่ตัว มันสร้างสิ่งเหล่านี้มาเพื่อความเห็นแก่ตัวยิ่งทุกที อย่างนี้ไม่เรียกว่า “ความเต็ม” ถ้าจะเรียกความเต็มก็เรียกตามภาษาวัตถุนิยม ไอ้ภาษาศาสนาก็ถือเป็น “ความพร่อง” ความพร่องของความเป็นมนุษย์ เราระวังให้ดี เรายังเป็นลูกเด็กๆ เพิ่งเห็นโลกไม่เท่าไร ระวังเรื่องความเต็มของความเป็นมนุษย์นี้ให้ดี ให้มันถูกต้อง อย่าว่ามีเงิน มีของ มีอำนาจวาสนาแล้วมันจะเป็นความเต็ม มันเป็นความเต็มอย่างวัตถุนิยมต่างหาก แต่มันเป็นความพร่องในทางธรรมะ หรือทางศาสนา หรือในสายตาของพระเป็นเจ้าที่แท้จริง ถ้ามีความสุขก็มีความสุขที่แท้จริง ถ้ามีความเต็มก็มีความเต็มของจิตใจที่ประกอบไปด้วยมนุษยธรรม
อันที่ ๓ ที่เรียกว่า หน้าที่ ก็ว่าทุกคนมีหน้าที่ ใครจะอยู่โดยไม่มีหน้าที่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเรายังต้องหาอาหารกิน เราจะต้องกินอาหาร แม้แต่จะต้องอาบน้ำ ต้องถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ นี้มันก็เป็นหน้าที่ไปหมด หน้าที่ที่จำเป็นก่อนนี้ทุกคนก็ทำ ทีนี้มันยังมีหน้าที่อย่างอื่นที่มันคืบหน้าออกไป เพราะต้องการอะไรมากขึ้น ถ้าเราต้องการหน้าที่ ถ้าเราต้องทำหน้าที่เพียงที่ธรรมชาติต้องการแล้ว มันก็ไม่มีมาก ก็อยู่กันได้ด้วยความสงบสุข หลักของศาสนามันมีอยู่ข้อหนึ่งว่า การอยาก หรือการแสวงหา หรือการมีไว้เกินกว่าความจำเป็นนั้นเป็นบาป นี่ช่วยจำไว้ให้ดีๆ ว่า การอยาก การหวัง การแสวงหา การได้มา การรักษาไว้ การครอบครอง ซึ่งมากเกินจำเป็นนั้น “เป็นบาป” เพราะว่ามันเป็นความเห็นแก่ตัว เป็นโลภะ โทสะ โมหะอยู่ในตัว มันจึงเป็นบาปอยู่ในตัว เหมือนนุ่งกระโปรงสั้นเมื่อไรเป็นบาปทันที มันมีความโลภ ความโกรธ ความหลง ความโง่เขลา ความเห็นแก่ตัวอยู่ในนั้นอย่างไม่สุจริต คนที่มีอะไรมากเกินจำเป็นก็เหมือนกัน มีบาปทันที ในเมื่อทำ นั้นแหละคือเมื่อลงมือทำอย่างนั้นก็เป็นบาปทันที นี่เดี๋ยวนี้เราไม่รู้จักขอบเขตของหน้าที่ เราไปวางขอบเขตของหน้าที่เกินความจำเป็น มนุษย์ก็มีบาป มนุษย์ก็เป็นทุกข์ ไม่มีทางแก้ไขได้นี่ กล้าท้าไอ้น้ำหน้ามนุษย์อย่างนั้นมันไม่มีทางแก้ไขปัญหาในโลกนี้ได้เพราะว่ามันทำอะไรเกินจำเป็น เกินหน้าที่ จะแสวงหา หรือกินอยู่ หรืออะไรมันเกิน เกินที่จำเป็นนี้ อย่างที่ได้พูดในวันแรกแล้วว่า สิ่งที่เรียกว่า อาหารนี้ ถ้าเกินจำเป็นมันจะกลายเป็นกามารมณ์ ปัจจัยที่จำเป็นแก่ชีวิตทุกชนิด พอเกินจำเป็นจะกลายเป็นกามารมณ์ พอเป็นกามารมณ์ก็เป็นเรื่องผิด เรื่องที่จะต้องมีความทุกข์ นี่เราขยายขอบเขตออกไปอย่างนี้โดยไม่ดูหน้าดูหลัง ไม่ดูอะไร ไอ้สิ่งที่เรียกว่าหน้าที่มันก็มากเกินจำเป็น แล้วเราก็หลง แล้วเราก็ทำกันไปในทางนั้น โลกก็เป็นโลกที่มีบาป แล้วก็มีความทุกข์
เพราะนั้นหน้าที่แล้วมันควรจะมุ่งหมายว่าเท่าที่จำเป็นหรือพอสมควรตามสมควร ข้อนี้ไม่ได้บัญญัติไว้ตายตัวว่าจะต้องมีเงินเท่าไร มีบ้านกี่หลัง มีรถยนต์กี่คัน อันนั้นมันไม่แน่ แต่ว่าเท่าที่มันถูกต้องเหมาะสมนั้นมันแน่ ถ้าเกินนั้นจะต้องมีความทุกข์ ไอ้คนมันมีสติปัญญาเท่านี้มันก็ทำได้เท่านี้ ถ้ามีมากมันก็ทำได้มาก มันไม่เป็นทุกข์ ถ้าทำพอเหมาะกับสติปัญญา คนที่มีสติปัญญาทำการค้าขาย ๑๐ บริษัทก็ได้ คนมีปัญญาน้อยทำบริษัทเดียวก็ไม่ได้ อย่างนี้เขาเรียกว่า “พอดี” แก่สติปัญญา สามารถ ความรู้ เพราะฉะนั้นต้องจำกัดวง หรือ ขอบเขตของหน้าที่ให้พอดีกับสติปัญญาของมนุษย์ หรือว่าเท่าที่ธรรมชาติกำหนดไว้ ถ้าเลยนั้นแล้วก็จะลำบาก เดี๋ยวนี้มนุษย์เราละโมบโลภลาภในทางวัตถุนิยม ไปทำสิ่งที่ยังไม่ต้องทำ อย่างไปโลกพระจันทร์นี้ ขอแสดงความคัดค้านว่ายังไม่จำเป็นต้องทำ สิ่งอื่นที่จำเป็นที่รีบด่วนกว่ามีอยู่ตรงหน้านี้เยอะแยะ แล้วไม่ทำ เพื่อโลกมีสันติภาพ นี้
คำว่า “หน้าที่ เพื่อ หน้าที่” นั้นมันจะต้องหมายถึงหน้าที่ที่พอดี ที่พอเหมาะ ที่ตรงกับเหตุผล หรือปัญหาต่างๆ ที่มันจะทำให้เกิดสันติภาพได้จริง และมีจำกัดชัดด้วยว่า “เพื่อหน้าที่” อย่า “เพื่อตัวกู” ถ้าทำอะไรเพื่อ “ตัวกู” มีความร้อน มีความขุ่นเป็นความทุกข์ขึ้นมาทันที ถ้าทำ “หน้าที่เพื่อหน้าที่”นั้นจะสนุก เพราะว่าถ้าทำเพื่อตัวกู มันก็กลัวทันทีว่าจะไม่ได้ตามที่กูต้องการ มันสงสัยทันที มันมีความวิตกกังวลทันที ถ้าว่าตามหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ใจแล้ว มันก็เหมือนกับว่าได้ทำสิ่งที่เป็นศิลปะหรือเป็นอะไรทำนองนั้น มันก็เป็นสนุก ไม่มีความทุกข์ งานเพื่องานนี้จะไม่ทำความทุกข์ให้แก่ใคร แล้วก็สนุก แล้วเงินมันก็ไม่ไปไหนเสีย มันมาอยู่ใต้ฝ่าเท้าของคนที่ทำงาน แต่ถ้าทำงานเพื่อเงินแล้ว มันจะมาอยู่บนหัว บนศีรษะของคนที่ทำงาน มันมากดหนักอยู่บนนั้น ถ้างานเพื่อเงินเป็นอย่างนั้น ทีนี้คนที่มันโง่มาก มันก็ทนได้ ก็รู้สึกว่าก็สนุกดีเหมือนกัน มันแลกเอาด้วยความเจ็บปวดเลย นี่มันไม่ถูกตามหลักของพุทธศาสนา ถ้าปฏิบัติหน้าที่ก็โดยมีเจตนาเพื่อหน้าที่ แล้วผลพลอยได้ เช่น เงิน เช่น ชื่อเสียง เป็นต้น มาอยู่ใต้ฝ่าเท้า ไม่ใช่มาอยู่บนหัวและถือว่าเป็นผลพลอยได้ ผลแท้จริง คือ การได้ทำหน้าที่ ดูแล้วเด็กๆ ก็จะหัวเราะ แต่ถ้ามีจิตใจสูงมันจะรู้สึกว่าการได้ทำหน้าที่นั้นคือความดีความวิเศษ จึง บูชาหน้าที่ ไม่ใช่บูชาผลของการงาน นักจริยธรรมสากลก็มีความเห็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจึงได้บัญญัติคำนี้ไว้ว่า “Duty, for Duty’s Sake” เอาไปคิดดูให้ดีก็แล้วกัน
ทีนี้อันสุดท้าย มันคือ จริยธรรมคือความรักสากล นี่โยงกับหลักของพุทธศาสนาว่า เราเป็น เพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายกันทั้งนั้น บรรดาสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ขอให้ทุกคนเป็นสุข เป็นสุข อย่ามีความทุกข์เลย หมายความว่า ไม่มีเรา ไม่มีเขา ไม่มีกู ไม่มีมึง เดี๋ยวนี้ในโลกนี้เต็มไปแต่คำว่าเรา ว่าเขา ว่ากู ว่ามึง เต็มอัดอยู่ในบรรยากาศ อยากจะระบุไปว่าเวลาในโลกนี้บรรยากาศเต็มไปด้วยกระแสวิทยุส่งกระจายเสียง เปิดรับเมื่อไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้ เต็มอัดอยู่ในบรรยากาศ ในคำพูดเหล่านั้นมีแต่ความหมายเป็น ตัวกู ของกู เป็นตัวมึง ของมึง นั่น แม้แต่ในขอบเขตเล็กๆ น้อยๆ คือระหว่างบุคคลนี้ มันก็เต็มไปด้วย ตัวกู ของกู ตัวมึง ของมึง ในระหว่างชาติ ในระหว่างประเทศ ในระหว่างครึ่งโลกต่อครึ่งโลก มันก็เต็มไปด้วยบรรยากาศเหล่านี้ นี่มันไม่มีความรักสากลแต่มันมีความเกลียดสากล มีความเกลียดนิรันดร มันจึงแก้ปัญหาไม่ได้
นี้เราก็มองทีเดียวหมดทั้ง ๔ อย่างนี้ว่า เป็นผลเลิศที่ควรเล็งในทางสังคมหรือไม่ ? นี่มันเกือบจะไม่ต้องถามอะไรแล้ว ไม่ต้องถามแล้ว ถ้าใครจะมีเหตุผลมาค้านก็ลองค้าน ว่าไอ้ ๔ อย่างนี้มันใช้ไม่ได้อย่างไรในทางสังคม และวิชาที่เกี่ยวกับสังคมมันควรจะมุ่งหน้าไปยังจุดหรือวัตถุประสงค์อันนี้ คือ สันติภาพถาวรของโลก มันจะรวมอยู่ใน ๔ ข้อนี้ หรือเอา ๔ ข้อนี้มารวมกันเข้าเป็นข้อเดียว คือ สันติภาพอันแท้จริงและถาวรของมนุษย์เราที่อยู่กันเป็นสังคม นี้เป็นหลักการพื้นฐาน เป็นรากฐานที่จะเอาไปจัดทำให้มันเป็นเรื่องเฉพาะ เฉพาะตัว เฉพาะตัวขึ้นมาว่าเท่าไร เพียงไร อย่างไร ที่ไหน แต่ว่ารากฐานต้องเป็นอย่างนี้ เอาหล่ะเมื่อเรามามองกันในแง่จริยธรรมสากลอย่างนี้แล้ว ก็อยากจะมองให้ใกล้ตัวเราเข้ามาอีก
ทีนี้จะมองในฐานะที่เราเป็นพุทธบริษัท เราก็ต้องมามองดูว่ามันจะเข้ากันได้ไหมกับหลักจริยธรรมสากล ในพุทธศาสนาถือว่าสิ่งสูงสุด คือ ความไม่เบียดเบียน ศาสนาทุกศาสนาถืออย่างนี้ ถ้าไม่อย่างนั้นไม่ใช่ศาสนา คำพูดมาแต่โบราณก่อนพุทธกาลในประเทศอินเดียว่า อหิงสา ปรโม ธัมโม
อหิงสา แปลว่า ความไม่เบียดเบียน ธัมโม เป็น ธรรม ปรโม – อย่างยิ่ง
อหิงสา ปรโม ธัมโม – อหิงสาเป็นบรมธรรม ความไม่เบียดเบียนเป็นบรมธรรม นี้เป็นหลักตายตัว ไม่ต้องยกเลิก ไม่ต้องค้าน ไม่ต้องเปลี่ยนแปลง ทุกศาสนาต้องเป็นอย่างนี้ แม้ศาสนาที่ว่าร้ายกาจในโลกนั่นเพราะไปตีความผิด เขามุ่งหมายเพื่อความเป็นสุข ไม่เบียดเบียนจึงมีการบังคับให้ทำ การบังคับก็ต้องเจ็บปวดบ้างเพราะว่าคนโง่มันไม่ทำ ก็ต้องบังคับให้ทำ นี้ศาสนาบางศาสนาไม่ต้องบังคับ เพราะว่าคนมันดี ในยุคในสมัยในถิ่นในประเทศที่คนมันดี พูดกันรู้เรื่อง ก็ไม่ต้องใช้ศาสตราบังคับ แต่ถ้าศาสนาใดมันเป็นโชคร้าย มันไปเกิด ไปตั้งขึ้นในถิ่น ในประเทศ ในยุคที่คนมันโง่ มันก็ต้องใช้มีดดาบบังคับ ให้มันทำเพื่อสันติสุขของมนุษย์ เพราะฉะนั้นเราอย่าไปเอากิริยาอาการภายนอกเล็กๆ น้อยๆ เป็นหลัก ต้องดู Spirit อันแท้จริงในภายใน ในส่วนลึกว่ามันมีอยู่อย่างไร ศาสนาต้องมุ่งหมายความไม่เบียดเบียนทั้งนั้น พระเยซูจนถึงขนาดว่า ถ้าเขาตบแก้มซ้ายแล้วต้องให้เขาตบแก้มขวาด้วยทำนองนี้ เขาขโมยเสื้อไปแล้วให้เอาผ้าคลุมตามไปให้ด้วย เมื่อเขาถูกจับตัวไปฟ้องศาล เรายังตามเอาผ้าห่มชั้นนอกไปให้ด้วย เราไม่เป็นโจทย์ที่จะไปฟ้องเขาจับเขาใส่ตาราง พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า“แม้โจรจะเอาเลื่อยมาเลื่อยเธอ เลื่อยเนื้อเข้าไปถึงกระดูก ถึงเยื่อในกระดูก ถ้ามีความรู้สึกโกรธประทุษร้ายต่อโจรนั้น เธอไม่ใช่คนของเรา” พระพุทธเจ้าท่านว่าอย่างนี้ ก็ไม่แพ้พระเยซู ความมุ่งหมายเพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกในจิตที่เป็นการประทุษร้ายต่อผู้อื่นแม้ขนาดนี้ แม้เขาลักของเรา เขาตีเรา เขาด่าเรา เขาทำอันตรายเรา อย่างนั้นจึงจะเรียกว่า “อหิงสา” คือ “ความไม่เบียดเบียน”
ทีนี้ในพุทธศาสนานี้มีความลึกมากไปกว่านั้น กว่าระดับธรรมดาเช่นนั้น ความไม่เบียดเบียนเล็งถึงความไม่เบียดเบียนทั้ง “ตน” ด้วย นี่คนเดี๋ยวนี้ ไม่ค่อยเข้าใจว่า เบียดเบียนตนนั้นมันทำได้อย่างไร ไอ้ความโง่ กิเลสนั้นแหละเบียดเบียนตน มันร้อน มันเผาตัวเอง ต้องเว้นอันนี้ด้วย และอย่าไปแตะต้องผู้อื่นให้เดือดร้อนด้วย เพราะฉะนั้นจึงว่า นิพพาน นั้นเป็นบรมธรรมนิพพานนั้นเย็นสนิท ไม่เบียดเบียนตัวเองเลยมันหมดกิเลส จึงเป็นบรมธรรมอันแท้จริง อันสูงสุด นี่คนจะยอมรับหรือไม่ยอมรับ
ทีนี้ก็มาดูว่ามันจะเข้ากันได้ไหมกับหลักจริยธรรมสากล ในเมื่อเราพูดเพียงคำเดียวว่า “ความไม่เบียดเบียนเป็นบรมธรรม” ความไม่เบียดเบียนนำมาซึ่งความสุข ความไม่เบียดเบียนนำมาซึ่งความเต็มของความเป็นมนุษย์ ความไม่เบียดเบียนนี้คือการทำหน้าที่บริสุทธิ์ ความไม่เบียดเบียนนี้เป็นความรักสากล นี้มันจะยอมรับได้ว่าหลักของศาสนามันก็เข้ากันได้กับจริยธรรมสากลอย่างนี้ แล้วก็มีหลักที่เป็นเครื่องวัดเครื่องตัดสินอะไรเหมือนๆ กันด้วย ในหลักจริยธรรมสากลนั้น เมื่อจะตั้งปัญหาขึ้นว่า ไอ้นี้มันถูกหรือผิด มันควรจะรับถือหรือไม่ เขาก็มีหลักที่วางไว้ให้ เป็นหลักใหญ่ๆ ๓ ข้อว่า มันเป็นสิ่งที่จะยินยอมร่วมกันได้ หรือว่ามันเป็นสิ่งที่มีเหตุผลเพียงพอ หรือว่าเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ทันที
ถ้าไม่ประกอบดัวยหลัก ๓ อย่างนี้ ยังไม่บังคับให้ใครรับถือ ไม่เสนอให้ใครรับถือ
ไอ้ข้อแรกที่ว่า จะเป็นความยินยอมร่วมกันได้นี้ คือ ผู้อื่นรับได้ หรือ ผู้อื่นกลืนลงคอได้ ภาษาจริยธรรม ภาษาปรัชญามันเรียก Empiricism คือความที่ทุกคนยินยอมร่วมกันได้ คือมันไม่ใช่อยู่เหนือวิสัย ไม่นอกวิสัย คือว่าทุกคนกลืนลงคอได้ Palatability นี่ภาษาชาวบ้านโสกกระโดก....38.45 นี้ก็ว่าทุกคนมันยอมกลืนลงคอได้ มันยอมรับได้ นั่นก็คือที่เรียกว่า Empiricism ในภาษาจริยธรรม ถ้าเราทำอะไรออกมาในลักษณะที่คนอื่นยินยอมด้วยไม่ได้ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร พระศาสดาไม่เคยทำอย่างนี้ โดยเฉพาะพระพุทธเจ้า ทีนี้คนมันโง่เองก็ว่าธรรมะนี้รับไม่ไหว เหลือวิสัยของมนุษย์หรือพ้นสมัยแล้ว อย่างนี้เป็นต้น นั้นคนมันโง่เอง
พระพุทธเจ้าท่านจะตรัสแต่สิ่งที่ทุกคนยินยอมรับได้ และที่มันมีเหตุผล มัน Rationalism มันมีเหตุผล เขาใช้คำว่า Rationalism สำหรับภาษาจริยธรรมนี้ มันมีเหตุผลที่เพียงพอ นี่มันจะช่วยให้คนยอมรับได้ จะถามมาในแง่ไหนก็มีเหตุผลที่แสดงเพียงพอ และเหตุผลนั้นมันไม่ลึกเกินไป และจึงมีลักษณะที่ว่า เข้าใจได้ทันที Intuitionism, Intuition นั่นแหละแล้วก็เติม -ism เข้าไป ความที่จะเข้าใจได้ทันที ไม่ลึกจนเข้าใจไม่ได้ พอพูดออกมาเข้าใจอย่าง Intuition ได้ทันที อย่าง Intuition หมายความว่า มันรู้สึกด้วยจิตใจ ไม่เพียงแต่ใช้เหตุผล ถ้าอยู่กับเหตุผลมันยังใช้ไม่ได้ เพราะเหตุผลยังเปลี่ยนแปลงได้ หรือการใช้เหตุผลนั้นมันผิดได้ แต่ถ้าเป็น Intuition แล้วมันเป็นความรู้สึกที่แท้จริงที่อยู่เหนือเหตุผล ไม่ต้องใช้เหตุผล เพราะฉะนั้นหลักจริยธรรมหรือหลักศาสนามันต้องเป็นอย่างนี้ ถ้ายังต้องใช้เหตุผลอยู่มันเป็นเพียงปรัชญาบ้าๆ บอๆ เฟ้อไปเท่านั้นเอง ถ้าเป็นเรื่องของศาสนาต้องหมายถึงเป็นเรื่องของการปฏิบัติ แล้วมันต้องปฏิบัติได้ แล้วทุกคนยินยอมด้วยได้ แล้วก็มีเหตุผลที่เพียงพอ ไม่จนต่อเหตุผล แล้วก็ทำให้เกิด Intuition ความรู้สึกเห็นได้ชัดแจ้งขึ้นมาทันทีเดี๋ยวนั้น คนก็ยอมรับกฎเกณฑ์อันนั้น เพราะฉะนั้น ใครจะพูดอะไรให้คนอื่นยอมรับฟัง แม้แต่จะสอนผู้อื่นก็จะต้องเป็นอย่านี้ จะต้องมีหลักอย่างนี้ ซึ่งมันเป็นหลักที่พระศาสดาใช้สอนศาสนาของท่าน และเป็นหลักที่นักจริยธรรมสากลพวก Ethicists ทั้งหลายในโลกนี้ยุติได้เพียงเท่านี้ ต่อไปอาจจะมีอะไรดีกว่านี้หรือมากกว่านี้ แต่เท่าที่เราจะค้นพบได้จากตำรับตำราทางจริยธรรมนี้มันมีอยู่อย่างนี้ แล้วก็พอจะเห็นได้ว่าพอเหมือนกัน แม้ไม่มีอะไรเพิ่มมากกว่านี้ มันก็พอแล้ว นั้นเราจะถือว่า บรมธรรมที่เป็นผลเลิศที่ควรจะเล็งในทางสังคม ก็คือ ความไม่เบียดเบียน ถ้าลึกเข้าไปก็ถึงกับไม่เบียดเบียนตนเอง ตนเองนี้มันลึกกว่าสังคม ไม่เบียดเบียนกันเลยนี้เป็นความมุ่งหมาย และตนเองก็ไปไกลจนถึงกับว่าไม่มีอะไรที่ทำให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลงแล้วเดือดร้อนอยู่คนเดียวด้วย มันก็สูงสุด นั่นแหละคือ Perfection -ความเต็ม ในความหมายทางจริยธรรมก็มีความสุขที่แท้จริง
แล้วทีนี้เราจะมองให้ง่ายขึ้นไปอีก ก็ลองเอาเป็นตื้นๆ เป็นชั้นๆ เป็นพวกๆ ไป คือในฐานะที่เราเป็นพุทธบริษัท เราจะเอาอย่างไร พุทธบริษัทนี่มี ๒ ชนิด
ทีนี้เอากันแต่พุทธบริษัททางวัฒนธรรม ตามวัฒนธรรมก่อนก็ได้ ว่าเราเป็นพุทธบริษัทเราจงดูที่วัฒนธรรมของพุทธบริษัท จะยกตัวอย่างมาให้ฟังแต่บางอย่างพอเป็นเครื่องเปรียบเทียบ พุทธบริษัทในยุคที่มีความเป็นพุทธบริษัทกันจริงๆ นั้น เขาใช้คำว่า นอนไม่ต้องปิดประตูเรือน นี่มันเป็นคำพูดที่สรุปความเท่านั้น มันเล็งถึงสิ่งอื่น คือหมายถึง ไอ้สิ่งอื่นที่เป็นเนื่องๆ กันอยู่ นอนไม่ปิดประตูเรือน ไม่ต้องปิดประตูเรือน ทำเรือนไม่ต้องมีประตู หรือว่ามีประตูก็ไม่ต้องปิด หมายความว่า ไม่มีใครที่จะคิดเบียดเบียนใคร เดี๋ยวนี้ปิดประตูแน่นหนามันก็ยังงัดประตู มันไม่มีความมุ่งหมายอันนั้น มันไม่มีความหมายของคำว่า นอนไม่ต้องปิดประตู คือ ไม่เบียดเบียน ไม่มีใครต้องการจะเอาประโยชน์ของผู้อื่นมาเป็นของตน
นี้เรื่องน่าหัวทางโบราณคดี หรือว่าน่าขัน น่ามหัศจรรย์ทางโบราณคดีว่า เราอ่านไอ้ประวัติศาสตร์สมัยศรีวิชัย พวกอาหรับมาเที่ยวทางสุวรรณภูมิเมืองซาบะกะ –เมืองศรีวิชัย เรียกกันตามนี้ พวกอาหรับบันทึกไว้ว่า “ไม่มีใครเอาของที่ไม่ใช่ของตัว” เขาได้ยินอย่างนั้นเขาก็เลยทดลอง เขาได้เอาทิ้ง เอ้อ..ทองแท่งหนึ่งไว้ที่กลางถนน แล้วก็ไปค้าเมืองอื่น ๒-๓ ปีก็กลับมา ก็ไปดูที่ตรงนั้น ทีแรกเขาสงสัยมันหายไปไหนไม่เห็น แต่พอเขาคุ้ยดินลงไปนิดเดียวก็เห็นไอ้ทองแท่งนั้น มันถูกเหยียบย่ำจนฝังลงไปในดินที่นั่น นี่ฟังๆ ดูทีว่าไอ้บันทึกเหล่านี้มันก็ไม่ได้บันทึกเพื่อจะสนับสนุนใคร หรือยกย่องใคร เกลียดใคร มันก็มีอยู่ในบันทึกอย่างนี้ สมตามที่เขาเล่าลือว่าไอ้ “เมืองนั้นเป็นเมืองพุทธ” พวกอาหรับเขาบันทึกไว้อย่างนี้เมื่อสมัยพันกว่าปีมาแล้ว ก็พอจะถือเป็นหลักว่ามันจะต้องมีได้ในถิ่นหนึ่ง ยุคหนึ่ง สมัยหนึ่งที่คนมันเป็นคนของธรรมะกันจริงๆ นี่เรื่องว่านอนไม่ต้องปิดประตูเรือนมันหมายความอย่างนี้
ปู่ย่าตายายของเราพูด คุณอาจจะไม่เคยได้ยิน แต่ที่นี่ มี เมื่อยังเป็นเด็กได้ยิน ได้ยินบ่อยๆ “นกกินเป็นบุญ คนกินเป็นทาน” มันเป็นคาถา พอจะเอาไอ้เมล็ดผลไม้พืชพันธุ์อะไรปลูกลงไปในดิน เขาจะว่าคาถานี้ ว่า “นกกินเป็นบุญ คนกินเป็นทาน” ไม่ใช่ปลูกเพื่อตัวกู เอาละ มีความมุ่งหมายเพื่อตัวกูจะกิน แต่ถ้านกกินก็จะเอาเป็นบุญ ถ้าคนมากิน ขโมยนั่นแหละ ก็ให้มันเป็นทาน ฉะนั้น ปัญหาไม่เกิด เรื่องไม่เกิด ไม่มีความร้อนใจอีกต่อไป ปลูกมะเขือ ปลูกพริก ปลูกอะไรก็ตามใจ พอตำลงไปในดินก็จะว่า นกกินเป็นบุญ คนกินเป็นทาน แล้ว แล้วคนทีจะมาขโมยมันก็ไม่มีความเดือดร้อน แล้วก็ไม่ต้องไปจับขโมยด้วย ไอ้นกกินมันก็เป็นบุญ เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องยิงนกด้วย อย่างนี้ยังมีที่ประเทศอินเดีย เดี๋ยวนี้เมื่อไปนี่ยังมี คนเกี่ยวข้าวแข่งกับลิงที่กินอยู่ นาของเขา ข้าวสุกแล้วเขาเกี่ยวอยู่ ลิงก็กินอยู่ข้างๆ นั้น เพราะว่าเขาได้ทำเผื่อลิงแล้วมาตั้งแต่ทีแรก จิตใจมันจึงต่างกันกับไอ้พวกที่ว่า พอลิงมากินข้าวก็ปืนให้ เขามีจิตใจกว้างขวางขนาดนี้ นกกินเป็นบุญ คนกินเป็นทาน มันเป็นคาถาที่ป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นเพราะการปลูกฝังต้นไม้ต้นนี้ เดี๋ยวนี้มันหาไม่ได้ในหมู่มนุษย์ เดี๋ยวนี้มันก็จะจับไปสู่ฟ้องศาล หรือมันจะเอาปืนยิงตายเลย เขาอยู่ดีๆ ไม่มาทำอะไรมันก็ยังเอาปืนไปยิงเขาได้
นี่ดู Spirit - เจตนารมณ์ของความเป็นพุทธบริษัท มันมุ่งหมายอย่างนี้ มันเป็นเมตตา อย่างที่เรียกว่าความรักสากลถึงขนาดนี้ ที่นี้ไอ้คำว่า “ไม่เป็นไร” “ให้อภัย” “ไม่ต้องกลัวอะไร” นี้มันเป็น Spirit ของพุทธบริษัท เดี๋ยวนี้ก็เรียกว่าลักษณะของคนไทยว่า ไม่เป็นไร ไม่เป็นไรนั้น ขอให้รู้ว่านั่นเป็นวัฒนธรรมของพุทธศาสนา เมื่อคนไทยได้รับพุทธศาสนาแล้วจึงจะยืนยันได้ว่ามันเป็นอย่างนี้ ก่อนนั้นไม่ทราบ แต่เจตนารมณ์ของพุทธศาสนานี่มันเป็นอย่างนี้ มันอบรมนิสัยคนไทยขนาดหนัก ถึงกับว่ามันเกิดนิสัยอันใหม่ ว่า “ไม่เป็นไร” “ให้อภัย” “ไม่ต้องกลัวอะไรในเรื่องนี้” แล้วมันมีอะไร มันก็มีไอ้ความไม่มีภัย ไม่มีเวร ไม่มีอะไรที่ต้องกลัว เราจงอยู่กันโดยปราศจากความกลัวเถิด ยังมีคำพูดที่เป็นวัฒนธรรมที่รับมาจากพระพุทธเจ้า พุทธศาสนานี้ว่าไอ้ “คำด่านั้นคือคำชี้ขุมทรัพย์” เดี๋ยวนี้พวกคุณคงจะไม่ยอมรับว่า คำด่านี้เป็นคำชี้ขุมทรัพย์ เพราะในมหาวิทยาลัยก็ยังมีการยกพวกตีกัน ไอ้คำด่าเป็นคำชี้ขุมทรัพย์นี้เป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ก่อน แล้วมารับถือว่าไอ้ที่เขาด่านั้นเขามาเตือนให้เราคิด ถ้าที่เขาด่านั้นมันเป็นความจริง คือเรามันผิดจริง เราก็จะได้ทำเสียให้ถูก ถ้าเราไม่ได้ผิดเขาด่าเปล่าๆ มันก็มาฝึกให้เราเป็นคนมีความอดทน ละกิเลสได้ มันก็เลยเป็นผลดี เหมือนกับเป็นขุมทรัพย์ทั้งขึ้นทั้งล่อง ถ้าเราผิดจริงมันก็เป็นผลดีแก่เรา ถ้าเราไม่ผิดแล้วมันก็ยังเป็นผลดีแก่เรา ท่านจึงให้ถือว่า คำด่านั้นเป็นคำชี้ขุมทรัพย์เอาไปคิดดู ถ้ามองเห็นข้อเท็จจริงอันนี้แล้ว การตีกันในมหาวิทยาลัยคงจะสูญสิ้นไปเพราะว่าวัฒนธรรมของพุทธบริษัทมันมีอยู่อย่างนี้ เราอาจจะเล็งผลเลิศตามเจตนารมณ์ของธรรมะของพุทธบริษัทได้ ในฐานะเป็นวัตถุประสงค์มุ่งหมายของการแก้ปัญหาสังคม หรือว่าสังคมมีเจตนารมณ์เพื่อจะสร้างความเป็นอย่างนี้ นี้เรียกว่าดูกันในสายตาของพุทธบริษัท คำนินทาไม่มีความหมาย มันจะตีกันได้อย่างไร คำด่าว่าลับหลังไม่มีความหมาย คำด่าต่อหน้าเป็นเรื่องชี้ขุมทรัพย์ แต่แล้วไอ้หัวใจที่สุดของพุทธศาสนา คือ ไม่ยึดมั่นถือมั่น อย่ายึดมั่นว่า “นี่กู นั่นมึง” นี้เขา นี้เรา หรือว่า ของกู ของเขา ของเรานี้ มันเป็นเรื่องไม่ยึดมั่น ถือว่าเป็นของธรรมชาติ เป็นของพระเจ้า มนุษย์ยืมใช้ชั่วคราวกว่าจะตายไปไม่ยึดมั่นว่าตัวกู ไม่ยึดมั่นว่าของกู พุทธบริษัทจะมีวัฒนธรรมอย่างนี้แม้ว่าพุทธบริษัทตามทะเบียนมันก็ควรจะถืออย่างนี้ เพราะว่าพุทธบริษัทจริงเขาถือกันอย่างนี้
ทีนี้จะมองดูกันในสายตาอย่างคนไทยบ้าง ในฐานะที่เราเป็นคนไทย ไม่ได้พูดถึงศาสนา พูดอย่างความเป็นคนไทยนี้ ทีนี้เราจะรู้จักความเป็นคนไทยกันอย่างไร ? ไปตามก้นฝรั่งจนหมดความเป็นคนไทยแล้วก็ยังไม่รู้ตัว ถ้าจะรู้จักคนไทยขอให้ดูทางเพลงไทย หรือศิลปะไทย จะเป็นลวดลายไทยหรือจะเป็นอะไรก็ตาม ถ้าจะรู้จักคนไทยก็ขอให้ดูทางศิลปะไทย โดยเฉพาะเพลงไทยมีความอ่อนช้อยอย่างไร มีความเยือกเย็นอย่างไร นั่นแหละคือ Spirit ของความเป็นคนไทย เดี๋ยวนี้คนไทยมันบ้า มันละความเป็นไทยไปตามก้นฝรั่ง เอาเพลงที่เร่าร้อนเหมือนลิงเมาเหล้า กระโดดโลดเต้นอยู่นี่มา มายึดถือ สูญความเป็นคนไทย ขอให้นึกถึงปู่ ย่า ตา ยาย ที่มีความนิ่มนวลอย่างไรอ่อนโยนอย่างไร ซื่อตรงอย่างไร บริสุทธิ์อย่างไร ไม่มากไม่น้อย ไม่ช้าไม่เร็ว บอกฝรั่งเสียทีว่า ถ้าอยากรู้จักคนไทยแล้วคุณจงดูที่เพลงไทย รวมทั้งศิลปะไทยอื่นๆ เพราะฉะนั้นเราต้องมุ่งหมายที่จะมีความเป็นไทยในลักษณะอย่างนี้ สังคมจะดี เดี๋ยวนี้มันเป็นสังคมร้อน ไม่ใช่สังคมเย็น เพราะมันทิ้งไอ้ Spirit ของความเป็นคนไทย อย่าลืมเพลงไทย อย่าลืมลวดลายไทย อย่าลืมอะไรๆ ที่เป็นไทยๆ กระทั่งแต่งเนื้อแต่งตัวก็ขอให้มันเป็นไทย อย่าไปตามก้นฝรั่ง
คนไทยจะพูดว่า “มากินข้าวกันก่อน แล้วก็ค่อยพูดธุระกัน” อันนี้คล้ายๆ กับจีนเพราะมันคงจะเคยอยู่ใกล้กันมาแต่ก่อน เขาว่า กินข้าวก่อน ขึ้นมากินข้าวก่อน แล้วค่อยพูดเรื่องที่มา ธุระจะพูดอะไรอย่าเพิ่งพูด นี่ Spirit ของไทยแท้ก็ต้องเป็นอย่างนี้ ที่ว่าเขามีความรัก มีความเมตตา มีอะไรเป็นเบื้องหน้า จึงว่ามากินข้าวกันก่อนค่อยพูดธุระ แล้วคนไทยปู่ ย่า ตา ยาย ที่ยังเป็นไทยจริงๆ นี่เขาจะพูดว่า “สร้างวัดให้ลูกวิ่งเล่น ดีกว่าสร้างตึกแถวให้คนเช่า” นี่วัดจึงมีมาก ถ้าเขามีอะไรเหลือกินเหลือใช้ เขาจะนึกถึงการสร้างวัด ก็เถลไถลไปว่าให้ลูกวิ่งเล่นกลัวเพื่อนว่าหรือว่าอย่างไรก็ตามใจ สร้างวัด คือ สร้าง Park สร้างอุทยาน สร้างปอดสำหรับมนุษย์หายใจในเมืองนั้น สร้างวัดให้ลูกวิ่งเล่นดีกว่าสร้างตึกแถวให้เขาเช่า นั่นแหละเจตนารมณ์ของคนไทยมันเป็นอย่างนั้น แล้วฝรั่งมันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ? วัฒนธรรมสมัยวัตถุนิยมมันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ? มันก็จะหนักไปถึงกับว่า ถ้าจำเป็นละก็เป็นขอทานดีกว่าเป็นขโมย ถ้าไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว มันจำเป็น มันบังคับแล้วก็ เป็นขอทานดีกว่าเป็นขโมย นี่จึงจะเป็นคนไทยที่ถูกต้อง เป็นขอทานดีกว่าเป็นอันธพาลกันเถอะ เดี๋ยวนี้อันธพาลกำลังระบาดเต็มบ้านเต็มเมือง มันผิดเจตนารมณ์ของคนไทย ที่เล็งผลเลิศในทางสังคมว่า เราเป็นขอทานดีกว่าเป็นอันธพาล พ่อแม่สอนมาอย่างนี้ นั้นหล่ะมันเข้ากันกับเจตนารมณ์ของความหมายของคำพูดว่า ไท ไท ไท พวกเราก็เป็นอิสระ ถ้าเป็นอิสระก็อิสระจากกิเลส อย่างอื่นไม่ใช่อิสระไม่อิสระจากกิเลสแล้วมันจะเป็นอิสระอย่างอื่นไม่ได้ มันเป็นทาสของกิเลสอยู่ร่ำไปแล้วจะเป็นอิสระไม่ได้ เป็น “ไท” ต้องเป็นอิสระ เป็น “อิสระ” ต้องอิสระจากกิเลส นี่เรียกว่าถ้าเรามองดูกันในสายตาของคนไทยแล้วปรารถนาอย่างจิตใจของคนไทยจะต้องปรารถนาอย่างนี้
ทีนี้ถ้าว่าเราจะมองในลักษณะที่ว่า เรานี้เป็นเพียงคนโลก ชาวโลก เป็นคนโลกคนหนึ่งไม่เป็นคนไทย ไม่เป็นเจ๊ก ไม่เป็นแขกกันแล้ว เราก็ดูสิว่าเราเป็นหน่วยหนึ่งของโลก จะต้องทำหน้าที่อย่างที่ว่า “เราเป็นคนของโลก อย่าเป็นคนของกู” โลกต้องเป็นของโลก อย่ามาเป็นของกู ทีนี้มันต้องการจะเป็นเจ้าโลก มันจะยึดครองโลก มันผิดหลักอันนี้ที่ว่า “โลกมันต้องเป็นของโลก อย่าต้องมาเป็นของกู” ไอ้ เราเป็นคนโลกอันหนึ่ง หน่วยหนึ่ง เป็นอนุภาคหนึ่งของโลกนี้ มันก็ต้องให้โลกเป็นโลก อย่าเอาโลกมาเป็นของกู ถ้ามันเป็นไปได้มากจนถึงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ ถ้าเป็นอยู่กันให้ถูกต้อง” นี่พระพุทธเจ้าว่านะ พระพุทธตรัส “ถ้าว่าเธอทั้งหลายเป็นอยู่โดยชอบ คืออยู่กันให้ถูกต้องนี้ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์” ถ้าเป็นอยู่ให้ถูกต้องให้มากยิ่งๆ ขึ้นไป โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ เป็นโลกของพระอรหันต์นี่ไม่ใช่โลกของกู พระอรหันต์ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู นั่นแหละคือ โลกต้องเป็นของโลก อย่าเป็นของกู อย่าคิดเป็นเจ้าโลก ใครคนใดคนหนึ่งอย่าคิดเป็นเจ้าโลก ให้โลกเป็นของโลกก็มีความบริสุทธิ์ใจ ที่จะช่วยกันประคับประคองโลก ให้ตั้งอยู่ในฐานะที่ว่ามันเป็นโลกของกลาง ของโลก นี่ถ้าเราเป็นชาวโลกคนหนึ่ง ต้องคิดอย่างนี้ มุ่งหมายอย่างนี้ในปัญหาทางสังคมว่า ขอให้โลกเป็นโลก อย่ามาเป็นของกูเลย อะไรๆ ในโลกแม้แต่ส่วนน้อยก็ไม่ต้องเป็นของกู เพียงแต่ว่าเราปฏิบัติหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งลงไป แล้วมันมีสิทธิ มีอำนาจที่จะใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้น เท่านั้น เราจะใช้ก็ได้ ไม่ใช้ก็ได้ เราไม่ถือสิทธิอะไรมากมาย แม้ว่าเรามีสิทธิ สังคมมันให้สิทธิที่ว่าจะใช้อันนี้ เป็น เราทำงานเราได้เงินมา เรามีสิทธิ์ที่จะใช้เงินนี้ แต่อย่าคาดคิดว่า ของกู พอคิดว่าของกู มันจะกัดเอา มันจะเป็นทุกข์ทันที
คำสอนในศาสนาคริสเตียนที่ดีที่สุดตามหลักของพุทธศาสนาก็มีอยู่ เมื่อพระเยซูตายไปแล้วนี่ ไอ้สาวกเอกของพระเยซู เซนต์พอลล์ ก็รวบรวมคำสอนของพระเยซูมาพูดไว้ให้มันเป็นหลักสั้นๆ เข้าใจง่าย ไว้สอนชาวบ้านที่ฉลาดๆ ว่า “มีภรรยาก็จงเหมือนกับไม่มีภรรยา” นี่พูดกับผู้ชาย “มีทรัพย์สมบัติมันก็จงเหมือนกับไม่มีทรัพย์สมบัติ มีความสุขก็จงเหมือนกับไม่มีความสุข มีความทุกข์ก็จงเหมือนกับไม่มีความทุกข์ ไปซื้อของที่ตลาดอย่าเอาอะไรมา” ความหมายของอันนี้ก็คือว่า ไม่ได้ยึดอะไรเป็นของกู เหมือนกับพุทธศาสนาเลย มีอธิบายไว้ในคำบรรยายครั้งอื่นๆ บางครั้งก็ไปหาอ่านดูเองก็แล้วกัน นี้เราจะบอกกันในแต่ในข้อที่ว่า โลกเป็นของโลก อย่าเป็นของกู พวกฝรั่งไม่ถือคริสเตียน เขาเป็นถือศาสนาตัวกู ทั้งที่แต่ก่อนก็ถือศาสนาคริสเตียน พอเกิดถือศาสนาของพระเจ้าแล้วมันก็จะถือศาสนา “ของตัวกู” เมื่อไม่ถือ “ธรรมะ” ต้องถือตัวกู พอถือตัวกู-อยากเป็นเจ้าโลก พออยากเป็นเจ้าโลก ก็หมดความเป็น “พลโลก” ไม่มีความเป็นพลโลกที่ดี มันต้องเป็นเจ้าโลกต่างหาก
ทีนี้ในฐานะที่ว่าเราเป็นสัตว์ที่มีชีวิตตัวหนึ่ง ไม่ใช่ด่านะ คือว่าเราทุกคน จะเป็นสัตว์เดรัจฉานเป็นมนุษย์ก็ตาม มันเป็นสัตว์ที่มีชีวิตตัวหนึ่งเท่านั้น แม้แต่ว่ายุงสักตัวหนึ่ง มันก็เป็นสัตว์มีชีวิตตัวหนึ่ง นี่เราจะต้องคิดดูกันใหม่ในแง่นี้ มันก็จะเกิดคำพูดขึ้นมาว่า “สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น” นั่นแหละ ถ้าใครมีความรู้สึกอย่างนี้ สังคมไม่มีปัญหาแน่ ไม่ต้องตั้งคณะสังคมศาสตร์ขึ้นมาค้นคว้าเรื่องนี้ เพราะว่ามันมีความเห็นอกเห็นใจ จนทำอะไรกันไม่ลง สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นนี่ คุณย่า คุณยายจะพูดอยู่เสมอ วัฒนธรรมเก่ามันเป็นอย่างนี้ มนุษย์คือสัตว์ที่มีใจสูง นั้นในบรรดาสัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย นี่ มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีใจสูง เพราะนั้นอย่าทารุณ อย่าโหดร้าย อย่าอำมหิตสิ ถ้ามีใจสูงก็ต้องปราณีไอ้สัตว์ที่มันยังต่ำกว่า ไม่มีเหตุผลอะไร ไม่มีเจตนาบริสุทธ์อะไรแล้วจะไปทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตไม่ได้ เพราะว่าเราเป็นเพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น และก็ทำการยกตัวเองด้วยการประพฤติธรรม จากความเป็นสัตว์ที่ต่ำต้อย มาเป็นสัตว์ที่มันสูงขึ้นไปตามลำดับจนเป็นพระอรหันต์ ก็เป็นสัตว์ตัวหนึ่งเหมือนกัน นี่ไม่ใช่พูดหยาบคาย เมื่อเราเล็งกันในแง่ธรรมชาติแล้วมันก็เป็นสัตว์ตัวหนึ่งด้วยกันทั้งนั้น
แล้วทีนี้ถ้าว่าเราดูกันในทุกๆ แง่นี้แล้ว มันก็ไปมีจุดตรงกันที่ว่า “ความไม่เบียดเบียนเป็นบรมธรรม” สังคมต้องมุ่งความไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน เป็นบรมธรรม แต่มันมีนัยยะ มีอรรถะ มีอะไรลึกซึ้งมาก ดูให้ดีๆ ให้มันทั่วถึง ทีนี้ถ้าเป็นพระอริยะเจ้าท่านมองกันในลักษณะไร ? พระอริยะเจ้าแม้ในขั้นต้นๆ นั้น คือ กัลยาณปุถุชนดีกว่าคนธรรมดา แล้วเลื่อนขึ้นไปก็เป็นพระอริยะเจ้าขั้นต้นๆ เช่น พระโสดาบัน สกิทาคามี เป็นต้น ท่านก็ยังครอบครองเรือน มีบุตร มีภรรยา มีเงิน มีของ เป็นชาวบ้านเหมือนกัน แต่มันอยู่ในระดับเป็นพระอริยะเจ้า อย่างนี้ท่านก็มองลึก มองละเอียดไปตามประสาของพระอริยะเจ้า ท่านต้องการสิ่งที่เรียกว่า “๓ ส” คือ
ส – สะอาด
ส – สว่าง
ส – สงบ แห่งจิตใจ
ความสะอาด ความสว่าง ความสงบแห่งจิตใจนี้ มันมุ่งหมายกันที่นี่ เฉพาะที่นี่ มากขึ้นเท่าไรก็เป็นพระอริยะเจ้ามากขึ้นเท่านั้น พอเป็นพระอรหันต์ก็ถึงที่สุดของความสะอาด สว่าง สงบ ความดับสนิทแห่งกิเลสและทุกข์มันก็อยู่ที่นี่ “ไฟ” มี ๒ อย่าง
ไฟกิเลส เผาให้ร้อน และก็
ไฟความทุกข์ ก็เผาให้ร้อน
ไฟกิเลสนี้คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่พูดกันมาแล้ว เกิดเมื่อไร เผาให้ร้อนเมื่อนั้น
ทีนี้ไฟความทุกข์นี้ คือมันเป็นไปตามธรรมชาติ เช่น ความเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้ ความตาย ความอะไรก็ตามนี้ก็เรียกว่า “ไฟทุกข์” มันก็เผาเหมือนกัน ถ้าไม่รู้จักดับ ทั้งไฟกิเลส ทั้งไฟทุกข์ต้องรู้จักดับ พระพุทธเจ้ามุ่งหมายที่นี่ มุ่งหมายนิพพานอย่างนี้ เป็น“อมฤตธรรม”เป็นผู้ไม่มีความตายอีกต่อไปไม่มีตัวกูแล้วก็ไม่มีอะไรตาย ไม่ยึดมั่นถือมั่นในทุกสิ่งทุกอย่างโดยความเป็นตัวตนหรือของตน นี่แหละเป็นพุทธบริษัทแท้ ไม่ใช่พุทธบริษัทแต่บัญชี พุทธะ แปลว่า รู้ ว่าตื่น ว่าเบิกบาน เราเป็นพุทธบริษัทก็เป็นสมาชิกของคณะ หมู่คณะที่เป็นผู้มีความรู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
รู้ คือ รู้สิ่งที่ต้องรู้
ตื่น คือ หายโง่
เบิกบาน คือ เป็นสุข
ถ้าไม่ใช่อย่างนั้นไม่ใช่พุทธบริษัทแท้ เป็นพุทธบริษัทตามทะเบียนเท่านั้น เกิดมาจากพ่อแม่ที่เป็นพุทธบริษัท ก็ลงไปในทะเบียนว่าเป็นพุทธบริษัท อย่างนี้ยังไม่แน่ ถ้าจะให้ถูกต้องตามนั้นก็พยายามปฏิบัติในลักษณะที่ว่ามานี้
เอาล่ะ เวลาเหลืออีกนิดหนึ่งก็อยากจะพูดว่าเพียงไร เราต้องการเพียงไร วัตถุประสงค์มุ่งหมายนี้เราต้องการเพียงไร ? พูดอย่างกำปั้นทุบดินว่า มันแล้วแต่ความโง่ หรือ ความฉลาด ถ้าฉลาดก็เอามาได้มาก โง่ก็เอามาได้น้อย เพราะฉะนั้นจะต้องเอาบุคคลที่มีความสามารถในทางสติปัญญาอย่างไร เท่าไร มันก็เอาได้เท่านั้น เพียงนั้น แต่..แต่ว่าที่มันถูกต้องที่สุดนั้น ก็จะต้องเอาเท่าที่มันจะดับความร้อนของเราได้ คือเท่าที่มันแก้ปัญหาของเราได้สังคมเมืองไทยมีปัญหาอย่างไร เท่าไร มันต้องเอาเท่านั้น คือ เท่าที่มันจะดับปัญหา หรือความทุกข์ ความร้อนเหล่านั้นได้ เพราะฉะนั้นจงตั้งจุดหมายเหล่านี้ ตั้งเป้าหมายชนิดนี้ไว้ แล้วก็ดูที่ปัญหา คือ ความทุกข์ ให้เข้าใจเสียก่อนก็จึงตั้งเป้าหมายที่จะกำจัดความทุกข์ที่มีอยู่เฉพาะหน้า อย่าไปหวังข้างหน้าให้มันไกลเกินไป เอาที่นี่ และเดี๋ยวนี้ เท่าที่มันเป็นปัญหาอยู่เฉพาะหน้า นี้เป็นหลักสั้นๆ ที่พอจะเข้าใจได้แล้ว ว่าจะเอากันเท่าไร เพียงไร เท่าไหน ก็เท่าที่มันจะระงับปัญหาเฉพาะหน้าให้เป็นไปได้ ทีนี้ปัญหาสังคมในประเทศไทยในเมืองหลวงนั่นแหละไม่ใช่ที่อื่นเลย มันมีอย่างไรเล่า ไปคิดดู
ทีนี้ถ้าว่าเราคิดกว้างถึงโลกทั้งโลก มันก็คงจะใหญ่โตมากเท่าที่เราเห็นอยู่นี่ มันก็จะเหลือวิสัยของเราก็ได้ แล้วเราก็มีปัญญาที่จะจัดคนเหล่านั้นให้มาอยู่ในกรอบ ในขอบเขตอันนี้ นั่นหล่ะถ้าเราทำได้เท่าไร เราเอาเท่านั้น นี่ใช้สันโดษให้ถูกวิธี อย่าใช้สันโดษให้ผิดวิธี การมีอะไร ทำอะไร เพื่ออะไรนี่มันต้องให้พอเหมาะพอดีกับสติปัญญาของเรานั้น เขาเรียกว่า สันโดษที่ถูกต้อง นอกนั้นเป็นสันโดษที่อธิบายผิด
ทีนี้ อีกคำหนึ่งว่า ที่ไหน ขอตะโกนบอกว่า มันต้อง ที่นี่ ถ้าไม่ใช่ที่นี่แล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไร ปู่ ย่า ตา ยาย เขาพูดว่า ไอ้คนโง่ คนโง่ เอ้อ..คนดี..“คนดีค้าใกล้ๆ คนบ้าใบ้ค้าไกลๆ ” คนดี – คนมีสติปัญญานั้น เขาจะค้าใกล้ๆ เพราะเขาจะเอาสิ่งที่มันจะเอาได้ คือ ทำได้ คนโง่ คนบ้าใบ้นั้นมันค้าไกลๆ ขยายออกไปถึงชาติหน้า ชาติไหนก็ไม่รู้ ซึ่งไม่รู้อยู่ที่ไหน นี่เป็นพวกปรัชญาเฟ้อ นักปรัชญามันเฟ้ออย่างนี้เสมอ เป็นพวกคนบ้าใบ้ค้าไกลๆ แต่ถ้าเป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นนักปฏิบัติธรรมแล้ว มันเอาที่ตรงนี้ ที่นี่
ที่วัดเรานี่มี “สระนาฬิเกร์” คงจะมีคนอธิบายให้ฟังแล้วว่า มะพร้าวนาฬิเกร์ กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง อะไรก็ตามใจนี้ แต่ความหมายสำคัญมันอยู่ที่ว่า “ความดับทุกข์ มันอยู่ที่ความทุกข์”ตรงไหนมีความทุกข์ ต้องดับความทุกข์ที่นั่น อย่าไปเอาไว้ที่อื่น อย่าเอาความทุกข์ไว้ที่นี่ แล้วนิพพานอยู่ต่อเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ต่อเมื่อตายแล้วมันดับกันไม่ได้ ไอ้นิพพาน คือ ความดับทุกข์ ทุกข์อยู่ที่ไหน ต้องดับที่ตรงนั้น คนเข้าใจพุทธศาสนาผิดกันเป็นส่วนมาก แยกความทุกข์ กับ ความดับทุกข์กันไว้คนละโลก คนละชาติ คนละอะไรล่ะ มันเป็นความโง่จะทำอย่างไรได้ ช่วยไม่ได้
พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนอย่างนั้น สันทิฏฐิโก อกาลิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ นี้ มันที่นี่และเดี๋ยวนี้ทั้งนั้น ปัญหาอยู่ที่ไหน ต้องแก้ปัญหาที่นั่น อย่าไปแก้ในตำรา อย่าไปแก้ในห้องเรียน หรืออย่าไปแก้ที่โลกพระจันทร์ มันมีความทุกข์ที่ไหน ต้องแก้ หรือ ดับทุกข์ที่นั่นลักษณะภาพเปรียบมะพร้าวนาฬิเกร์ กลางทะเลขี้ผึ้ง มันทำได้ ทะเลขี้ผึ้งนั้นคือความทุกข์ วัฏฏะสงสาร ขี้ผึ้งเมื่ออุณหภูมิสูงก็เป็นของเหลว เมื่ออุณหภูมิน้อยมันก็เป็นของแข็งนี้ คือบุญ คือบาป คือดี คือชั่ว คือสุข คือทุกข์ ที่เป็นคู่ๆ อยู่ในวัฏฏะสงสาร เราต้องอยู่เหนือนั้น แล้วมันก็อยู่ที่นั่นแหละ เพราะนั้นนิพพานก็อยู่ที่ความทุกข์ คือว่าดับมันเสีย พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า “โลกก็ดี เหตุให้เกิดโลกก็ดี ความดับของโลกก็ดี ทางให้ถึงความดับของโลกก็ดี อยู่ในร่างกายนี้ ร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ ที่มันยังเป็นๆ ที่ยังมีความรู้สึก คิดนึกได้ ตายแล้วมันทำไม่ได้”
พระพุทธเจ้าท่านยืนยันอย่างนี้ ในร่างกายที่มีสัญญาและใจนี้ คือ ร่างกายยังเป็นๆ ในนี้มีโลก มีเหตุให้เกิดโลก มีความดับสนิทของโลก มีทางถึงความดับสนิทของโลก โลกนี้คือปัญหา คือ ความทุกข์คือปัญหาของโลก ความทุกข์มหาศาลก็อยู่ในร่างกายนี้ มูลเหตุของมันก็อยู่ในร่างกายนี้ การจะดับมันเสียได้ก็อยู่ในร่างกายนี้ แล้ววิธีปฏิบัติดับมันให้ได้ก็อยู่ในร่างกายนี้ ต้องใช้ร่างกายเป็นๆ นี้ทำ อย่าไปหาที่อื่น อย่าไปค้นที่อื่น แล้วก็จะพบว่าปัญหามันอยู่ที่ร่างกายนี้ ก็อยู่ที่จิตใจของคนที่มีกิเลส ทีนี้การแก้ปัญหาได้คือ เอากิเลสออกไปเสีย มันต้องทำกันกับร่างกายนี้ของคนหนึ่ง คนหนึ่ง แต่ละคน ละคน เมื่อทุกคนทำแล้วมันก็เป็นสังคมที่ทำแล้วเหมือนกัน เพราะทุกคนทำก็เป็นอันว่าสังคมทำ นั่นสังคมก็มีความสุข พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้ ที่นี้ เดี๋ยวนี้ ในร่างกายนี้
ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าช่วยอธิบายเก่งมากขึ้นไปอีก คือ พวกเซน เขาว่ามันอยู่ที่หน้าผากแล้วคนโง่ไม่เห็น ลองเอาอะไรไปติดไว้ที่หน้าผากนี่ ใครมันมองเห็นล่ะ ทีนี้ปัญหาต่างๆ หรือว่าการแก้ปัญหาต่างๆ มันอยู่ที่หน้าผากแล้ว แต่มันมองไม่เห็น เส้นผมมันบังภูเขาเสียอย่างนี้เรื่อยไป ระวังให้ดี ไอ้เรื่องเส้นผมบังภูเขานี้จะทำให้โง่ จะทำให้โง่แล้วก็จะทำลายสังคม แทนที่จะสร้างสังคม ถึงได้มีการเบียดเบียนกัน ถ้าโง่มันก็เป็นเส้นผมบังภูเขา หรือ มันกลายเป็นงมเข็มในมหาสมุทร อย่างที่ดีที่สุดเป็นการงมเข็มในมหาสมุทร อย่างโง่มันก็ไม่เห็นอะไรเลย ทั้งที่มันอยู่ที่หน้าผากแล้ว
นี่คือความไม่ประมาท เพราะฉะนั้นขอเตือนว่า พระพุทธเจ้าท่านเตือนอย่างยิ่ง เตือนแล้ว เตือนเล่า เตือนกระทั่งครั้งสุดท้ายที่ท่านจะดับจิตไปก็ว่า “อย่าประมาท” คำสั่งคำสุดท้าย เหมือนกับพินัยกรรม พระพุทธเจ้าท่านว่าไว้ว่า “อย่าประมาท อย่าประมาท ทำความไม่ประมาทให้เต็มที่” เดี๋ยวนี้เรามันประมาทขนาดที่ว่า ของอยู่ที่หน้าผากก็มองไม่เห็น นี่การศึกษา ค้นคว้า ที่มันเฟ้อเป็นอย่างนี้ ปรัชญาที่มันเฟ้อมันก็เป็นอย่างนี้ มันไม่ทำให้เห็นของที่มีอยู่ที่หน้าผาก ชั่วเอามือไปคลำนิดเดียวมันก็พบ ถ้ามันมีการทำจริง มันก็มีผลอย่างนี้ได้
เอาละ สรุปความกันทีหนึ่งว่า ผลเลิศทางสังคมที่เราควรจะเล็งอย่างไร เพียงไหน เมื่อไรนี้มันมีอยู่อย่างนี้ คือ
เอาอันไหนก็ได้ ถ้าเป็นของสังคม เป็น สันติภาพอันถาวรที่นี่และเดี๋ยวนี้ ถ้าเป็นของบุคคล ก็ สันติสุขอันแท้จริง ที่นี่และเดี๋ยวนี้ คำพูดสั้นๆ นี้มีคำอธิบายขยายความอย่างที่ว่า
เอาละ เวลาก็พอ พอกันที หมดกันที