แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายวันนี้ เป็นการบรรยายต่อจากคืนที่แล้วมาให้จบ คือ เราได้พูดกันถึงเรื่องกิจวัตร ๑๐ ประการ ในฐานะเป็นของโบราณที่อุปัชฌายะอาจารย์แต่ก่อนเขารอดตัวกันมาได้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ แล้วก็ไม่ได้เรียนอะไรมาก หรือสามารถอะไรมากไปกว่านี้ แล้วเขาเรียกตัวเองว่า พระตามธรรมชาติ พระป่า ไม่ใช่พระวิทยาศาสตร์ที่รู้อะไรมากจนท่วมหัว แล้วก็เอาตัวไม่รอด หรือบางทีก็ยิ่งเลวร้ายลงไปเพราะความประมาท นี้, ผมเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่น่านึกมากทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยนี้ จึงเอามาพูดให้ฟัง หัวข้อที่พูดแล้ว คือ บิณฑบาต กวาดวัด ปลงอาบัติ ทำวัตร สวดมนต์ ขวนขวายปัจจเวกขณ์ภาวนา นี่พูดให้เป็นคำคล้องจองกันเพื่อจำง่าย แต่ว่า แต่ละคำนั้นมันไม่ได้มีความหมายตามตัวหนังสืออย่างเดียว หรือมีความหมายอะไรบางอย่างลึกไปกว่านั้นมาก ก็อย่างที่พูดแล้ว
ทีนี้ เหลือต่อไปก็เป็น ข้อที่ ๖ อุปัฏฐากอุปัชฌาย์อาจารย์ คำว่า อุปัฏฐากอุปัชฌาย์อาจารย์ นี้ ที่จริงก็เป็นเรื่องที่มีบัญญัติไว้ใน วินัย เป็น อุปัชฌายาวัตร อาจาริยวัตร ที่ สัทธิวิหาริก จะพึงกระทำแด่ อุปัฌาย์อาจารย์ ของตนในฐานะเป็นผู้ถือ นิสสัย อันนี้เองเป็นหลักใหญ่ของข้อนี้เรียกว่า อุปัฏฐากอุปัชฌาย์อาจารย์ เพราะ นิสสัย มีบังคับไว้ว่าจะต้องเอาใจใส่เช่นนั้น และก็ต่างฝ่ายต่างเอาใจใส่ซึ่งกันและกันด้วย ที่มันมากไปกว่า การ อุปัฏฐาก ก็คือว่า เป็นการศึกษาหาความรู้จาก อุปัชฌาย์อาจารย์ ผู้ใดใกล้ชิด อุปัชฌาย์อาจารย์ หรือว่าเป็นที่รักของ อุปัชฌาย์อาจารย์ ก็มีโอกาสที่จะได้รับความรู้มาก เพราะฉะนั้น ศิษย์สมัยโบราณจึงพยายามที่จะใกล้ชิด และ อุปัฏฐากอุปัชฌาย์อาจารย์ และเป็นมาจนถึงสมัยเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ ผมเองยังทันเห็นและก็ยังมีส่วนที่กระทำอย่างนั้นด้วยเหมือนกัน เพราะว่า อุปัชฌาย์อาจารย์ ก็สอนฟรี เงินเดือนก็ไม่ได้ ไม่ว่าสอนอะไรก็ไม่ได้สอนเอาเงินเดือนกันอย่างเดี๋ยวนี้ และมักจะใช้เวลากลางคืนด้วย แม้เด็กๆก็ อุปัฏฐากอาจารย์ พระ-เณร อุปัฏฐากอาจารย์เป็นเรื่องธรรมดา มันมีผลทางจิตใจอีกอย่างหนึ่ง คือ ความรักใคร่ ความเป็นกันเอง ความผูกพันด้วยจิตใจมีมาก เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมี บางทีก็เป็น ข้าศึก กันเลยก็มีสมัยเดี๋ยวนี้ สัทธิวิหาริก นั่นเองเป็น ข้าศึก ผู้คิดล้มล้าง อุปัชฌาย์อาจารย์ ก็มี เพราะฉะนั้น การอุปัฏฐาก อุปัชฌาย์อาจารย์ สมัยโน้นก็เลยกลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์ไปอย่างหนึ่งด้วย เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เด็กเล็กๆก็ถือมาเป็นระเบียบว่า ต้องทำ มันศักดิ์สิทธิ์ เพราะฉะนั้น การที่ไม่เคารพครูบาอาจารย์มันมีไม่ได้ ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ซึ่งจิตไม่มีความเคารพก็ในครูบาอาจารย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักเรียนทางฝ่ายฆราวาส เรื่องมันจึงมีปัญหาใหม่ๆเกิดขึ้น มีความเสียหายหรืออะไรอย่างที่รู้กันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น สมัยโบราณจึงมีสิ่งที่เป็นของขลัง-ของศักดิ์สิทธิ์ คุ้มครองจิตใจของคนเรามาก เป็นขนบธรรมเนียม-ประเพณีด้วย เป็นตัวธรรมะ ตัวศาสนาด้วย
ขอเล่านอกเรื่องไปหน่อยว่าเด็กๆนั้นต้อง อุปัฏฐากอาจารย์ โดยเฉพาะก็ขึ้นเหยียบ อาจารย์ก็คุยอย่างไรตลอดเวลาให้ฟังในระหว่างที่ขึ้นเหยียบอยู่บนอาจารย์นั้น อย่างนี้รุ่นผมเคยและก็เคยทำให้กับบิดา-มารดาด้วยตั้งแต่ทีแรก มันมีอะไรหลายอย่างที่ว่าจะขึ้นไปเหยียบแล้วมันต้องกราบ กราบบิดา-มารดาถึงจะขึ้นไปเหยียบได้ อาจารย์ก็ยิ่งต้องทำอย่างนั้นมาก มันเป็นความผูกพันด้วย เป็นความรักฝังแน่นด้วย เป็นความเคารพอย่างยิ่งด้วย พร้อมๆกันไป ขอให้ไปเทียบเคียงดูเองว่า จิตใจมันต่างกันมากกับเด็กที่ไม่เคยทำอย่างนี้ เด็กที่ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยทำอย่างที่ว่านี้ ไม่เคยกราบตีนพ่อ-แม่ ไม่เคยเหยียบ ไม่เคยทำอะไรอย่างธรรมเนียมโบรงโบราณงมๆงายๆที่เขาว่ากันนี้ ดังนั้น ความรักระหว่างพ่อ-แม่ ระหว่างบุตรกับบิดา-มารดานี่มันจืดจางลงไปมาก แล้วก็มีเหตุอย่างอื่นเข้ามาประกอบอีกด้วย ก็เลยไม่เป็น..ไม่ค่อยจะเป็นลูกที่ดีของบิดา-มารดา ไม่ค่อยจะเป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ เกี่ยวกับข้อนี้มันต้องถือเป็นหลักถึงขนาดที่ว่า แม้ว่าเราจะรู้สึกว่า อุปัชฌาย์อาจารย์ รู้อะไรน้อยกว่าเรา เราก็ยังเคารพ อุปัชฌาย์อาจารย์ นั้นอย่างยิ่ง ทั้งที่รู้อยู่อย่างนั้นนะ เราเคารพความเป็น อุปัชฌาย์อาจารย์ ไม่ได้เอาความรู้มาเป็นเครื่องวัด ในสมัยนี้เขาก็หาว่า งมงาย แล้วก็ดูเอาเองก็แล้วกันมันมีความโกลาหลวุ่นวายอย่างไรบ้าง เพราะฉะนั้น ในสมัยก่อนมันจึงเยือกเย็นหรือสงบแบบธรรมชาติ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ นี่คือข้อหนึ่ง
ทีนี้ ข้อถัดไป กิจวัตร แปลว่า บริหารสิ่งของในร่างกาย เพื่อจำง่ายเป็นคำคล้องจอง บริหารสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับตัวเองและก็ร่างกาย คือร่างกายของตัวเอง สิ่งที่ต้องช่วยกันดูแล รักษา บริหารคืออยู่อย่างนี้ การบริหารวัตถุ สิ่งของ เครื่องใช้ ไม้สอย บริหารร่างกายเหล่านี้เป็น วินัย โดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วินัย พวกอภิสมาจาร / วินัยนอกปาฏิโมกข์ เป็นวินัยที่ช่วยให้มันงดงามน่าดูยิ่งขึ้น วินัยในปาฏิโมกข์ เพียงแต่ไม่ให้สกปรก แล้วก็ให้เรียบร้อย ส่วน วินัยนอกปาฏิโมกข์ เพื่อให้สวยงามยิ่งขึ้น แต่ว่า วินัยในปาฏิโมกข์ เองที่เกี่ยวกับบริหารสิ่งของร่างกายก็มีบ้างเหมือนกัน ไม่ใช่ไม่มี คือ ขอให้รู้ว่าสมัยโบราณไม่เจริญด้วยความรู้ในทางหยูกยา หรือทางอะไรต่างๆเหมือนสมัยนี้ เขาก็มีการบริหารชนิดที่เป็นเครื่องป้องกันอยู่ในตัวโดยไม่ต้องให้ผู้นั้นรู้ก็ได้ เมื่อปฏิบัติอยู่ตามคำแนะนำสั่งสอนเก่าแก่แล้ว มันก็มีการป้องกันความเสียหาย ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ป้องกันอะไรทุกอย่าง ก็ให้ถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์อีกตามเคย ขึ้นชื่อว่า กิจวัตร แล้วต้องเป็นศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น ทำด้วยความรู้สึกว่า มันขลัง มีความศักดิ์สิทธิ์ จึงต้องทำ โดยรายละเอียดมันก็มีมาก คือว่า ไม่ให้มันเสียหาย ให้มันเรียบร้อย ให้มันปลอดภัย ให้มันไม่เจ็บ-ไม่ไข้ เลยมีผลเป็นการทำให้ไม่สะเพร่า เป็นคนที่ระมัดระวังดี ไม่สะเพร่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ของสงฆ์ ไปเกี่ยวข้องเข้าโดยไม่ระมัดระวังอย่างยิ่งแล้ว ก็มีทางที่เป็น อาบัติ ยกตัวอย่างเช่นว่า ไปนั่งนอนลงบนในที่นั่ง ที่นอน เตียงตั่งอะไรก็ตาม ด้วยหลังที่ไม่ได้มีจีวรรอง พูดตรงๆก็หมายความว่า เหงื่อมันถูกลงไปที่เครื่องใช้เหล่านั้นเอง อย่างนี้ก็ถือว่าเป็น อาบัติ จำนวนมากนับไม่ไหว จำนวนเท่าเส้นขนที่มันมีอยู่ในพื้นที่ที่หลังเรา มันไปถูกเข้ากับ เสนาสนะ หรือ สิ่งของที่เขาทำบริกรรมไว้ดี คือ เขาสะอาด หรือว่าขัดมัน หรืออะไรสุดแท้ ก็คือ ทำบริกรรมไว้ดี เอาอย่างนี้ไปคิดเปรียบเทียบดูก็แล้วกัน เอาความมุ่งหมายใน ธรรมวินัย นี้มันมีอย่างไร? ลึกตื้นอย่างไร? กว้างแคบอย่างไร? เพราะฉะนั้น เอาอันนี้เป็นเครื่องวินิจฉัย แล้วก็ไปตีได้ถึงอันอื่นๆอีกต่อไป นี่เรียกว่า สิ่งของ เครื่องใช้ ไม้สอย เกี่ยวกับร่างกายนี้ก็มีไปตามแบบของคนโบราณ ยกตัวอย่างเช่น ถ่ายอุจจาระห้ามไม่ให้เบ่งแรง การเบ่งอุจจาระแรงเป็น อาบัติ คนปฏิบัติตามก็ไม่รู้ว่าทำไมเป็นอาบัติ? เพราะเหตุใดจึงให้เป็นอาบัติ? แต่ก็ถือ ก็ต้องถือ และมีอะไรอีกมากที่มีความมุ่งหมายอย่างเดียวกันนี้ คือ ไม่เอื้อเฟื้อต่อร่างกาย การเบ่งอุจจาระแรง หมายความว่า ทำทารุณต่อร่างกาย ซึ่งก็จะมีผลร้ายจริงๆด้วยเหมือนกันลองดู มันก็มีการชอกช้ำ มีการเป็นริดสีดวงได้โดยง่ายอะไรทำนองนี้ ทั้งคำว่า บริหารวัตถุในร่างกาย นี้มันกลายเป็นของลึกลับหรือศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาได้ เดี๋ยวนี้ก็ไม่ค่อยสนใจแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งไอ้ของใช้-ไม้สอยนี้ก็ทิ้งๆขว้างๆ ทั้งที่เป็น ของสงฆ์ และเป็นของส่วนตัว ถ้าเป็น ของสงฆ์ ก็ยิ่งเสียหายมาก ของส่วนตัว ก็ยังเป็น อาบัติ ไม่เอื้อเฟื้อแก่ทรัพย์สมบัติส่วนตัวนี้เป็น อาบัติ เป็น อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ นี้เป็นต้น ไปอ่านดูใน วินัย นี้ เช่น เรื่องบาตรนี้มีหลายอย่าง ไม่เอื้อเฟื้อบาตร ไม่เอื้อเฟื้อจีวร จนมันชำรุดไป หรือมันอยู่ในลักษณะที่อาจชำรุดแน่นอน สูญหายแน่นอน อย่างนี้ก็เป็น อาบัตินิสสคีย์ เป็น อาบัติ เกี่ยวกับจีวรข้อแรก ไม่ให้จีวรอยู่ในความคุ้มครองที่ปลอดภัยเกิน ๒๔ ชั่วโมง ก็ปรับเป็น อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ ผมขอร้องให้ทุกๆองค์อย่าทำเล่นๆกับ วินัย เหล่านี้ อย่าดูถูกว่าเล็กน้อยบ้าง พ้นสมัยบ้าง อะไรทำนองนั้น เพราะว่าไอ้ วินัย เหล่านี้ บทบัญญัติ เหล่านี้ที่จะทำให้คนเปลี่ยนนิสัยไปในทางที่จะเหมาะสมที่จะเป็นพระอริยเจ้า พูดกันตรงๆอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ต้องสนใจ
ตรงนี้อยากจะขอบอกแถมพกเป็นพิเศษว่า จะถือเอาตรงๆตามตัวหนังสือนั้นไม่ได้ มันมีความหมายอะไรลึกซ่อนอยู่มากกว่าตัวหนังสือ แล้วตัวหนังสือที่แปลออกมา ๒ ทอด ๓ ทอดนี้มันเปลี่ยนแปลง มันก็น่าเห็นใจเพราะว่ามันจำเป็นต้องใช้ภาษาไทยธรรมดาบ้างให้มันรัดกุมสั้นบ้าง และก็มีอีกหลายบท วินัย หลายบทใน นวโกวาท นั้น เรียงตัวหนังสือไว้ในลักษณะที่อาจจะเข้าใจเขวไปบ้าง หรือแคบไปบ้าง เกินไปบ้าง มันต้องพยายามดูไปถึงตัวหนังสือโดยตรงที่แปลมาโดยตรงจากบาลี คือ คำแปลที่มีอยู่ในหนังสือ วินัยมุข เล่ม ๑ ไปเทียบเคียงคำแปลกันดู คำแปลใน วินัยมุก เล่ม ๑ นั้นตรงตามตัวบาลีเลย ส่วนคำแปลใน นวโกวาท ที่ให้นักเรียนท่องนี้-ไม่ตรง ย่น ย่อให้สั้น แล้วก็เปลี่ยนถ้อยคำตามความประสงค์ของผู้เรียบเรียง เพราะฉะนั้น ก็อย่าเอามาเถียงกัน อย่าเอามาทะเลาะกันด้วยข้อความบางอย่างที่มันกำกวม หรือมันตีความได้หลายอย่าง แล้วในที่สุดก็ผิดกันทั้ง ๒ คน ทะเลาะกันเปล่าๆ แล้วก็ต้องพยายามศึกษาให้เพียงพอ ถ้าสงสัยข้อความในหนังสือ นวโกวาท ให้ไปเปิดดูในหนังสือ วินัยมุก เล่ม ๑ ซึ่งผู้แต่งคนเดียวกัน สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณ ด้วยกัน ทีนี้ก็จะไม่มีอะไรที่จะเข้าใจผิด รู้ความถูกต้องตามตัวหนังสือ และรู้ความหมายถูกต้องอีกทีหนึ่ง ทีนี้ เมื่อรู้เรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารร่างกาย บริหารสิ่งของดีแล้วก็เรียกว่าในข้อนี้-ใช้ได้ ในเรื่อง กิจวัตร ข้อที่ให้เอาใจใส่กับวัตถุสิ่งของและร่างกายของตนเอง สิ่งของนั้นมีทั้ง ของสงฆ์ และ ทั้ง ของส่วนตัว ให้เป็นผู้มีความละเอียดอ่อน ระมัดระวัง ไม่ประมาทในสิ่งเหล่านี้จนเป็นนิสัย นี่คือ ความมุ่งหมายของ กิจวัตร
ทีนี้ข้อถัดไปก็ ขวนขวายในธรรมวินัย นี่, เป็นการศึกษาเล่าเรียนขึ้นมาที่ตรงนี้ ขวนขวายในธรรมวินัย ขั้นแรกก็เพื่อ-เรียน ขั้นต่อไปก็เพื่อ-ปฏิบัติ ส่วนผลของการปฏิบัติก็ย่อมได้ตามสมควรแก่การปฏิบัติ เรื่องที่จะพูดถึงมันจึงมีแต่ เรื่องเรียน กับ เรื่องปฏิบัติ สมัยโบราณพระตามธรรมชาติ / พระเถื่อนตามธรรมชาติไม่ได้เรียนมากเหมือนพระเดี๋ยวนี้ ไม่มีหนังสือเรียน เพราะฉะนั้น จึงเรียนจากการดูตัวอย่างแล้วก็ทำตามๆกันมา เรื่องวินัยนี้ก็เห็นอาจารย์ทำก็ทำ หรือไม่เข้าใจไรบ้างก็ถาม เห็นอาจารย์ทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น จึงเกิดเรื่องน่าหัว คือ เมื่อทำตามกันโดยไม่ต้องไต่ถามหนักเข้า จึงมีเรื่องน่าหัวเกิดขึ้น ที่เขาเรียกว่า เถรส่องบาตร ข้อนี้มันมีมูลมาจากว่าต้องตรวจดูรอยร้าวของบาตร ว่าถึงขนาดที่จะเปลี่ยนได้หรือยัง? เพราะมันเป็นบาตรดิน ที่ว่าเช็ดล้างเสร็จแล้วก็ส่องดู ลูกศิษย์เห็นอาจารย์ส่องก็ส่องบ้าง ก็เป็นแต่เพียงว่าให้มันส่องบาตรดู ไม่รู้ว่าส่องทำไม? มันเป็นเรื่องที่น่าหัว เขาเรียกว่า เถรส่องบาตร ทำตามๆกันมา มันก็ช่วยไม่ได้ ในสมัยนั้นซึ่งไม่ค่อยมีการศึกษา แต่ถึงอย่างนั้นมันก็อยู่กันมาได้ รอดตัวกันมาได้ด้วยการเอาอย่าง หนังสือก็ไม่มีสักเล่ม เอาอาจารย์เป็นหนังสือ ดูทำตามอย่าง แต่ก็มีความประมาทน้อยกว่าพระที่มีหนังสือเป็นหาบๆหอบๆอย่างสมัยนี้ เพราะมันไปถือด้วยทางจิตใจ ด้วยทางขลัง ทางศักดิ์สิทธิ์ เช่น ส่องบาตร นี้ก็เป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์-มันต้องทำ ที่เดี๋ยวนี้เราก็มีการศึกษาเล่าเรียนที่แก้ปัญหาเหล่านี้ออกไปได้ ขอให้ถือประโยชน์นี้ให้ได้ให้มากที่สุด อย่าประมาทเสีย อย่าประมาทตามที่มันมีอะไรมากไปแล้วก็ทำหวัดๆไปหมด มันเนื่องมาจากว่าจะเป็นพระวิทยาศาสตร์กัน หรือว่าจะเป็นพระตามธรรมชาติกัน ถ้าเป็นพระตามธรรมชาติก็ไม่ประมาทแน่ ระวังตัวแจ ถ่อมตัวที่สุด ถ้าเป็นพระวิทยาศาสตร์ก็ตรงกันข้าม ขอให้แน่ใจในข้อนี้ไว้ก่อน นี่ขวนขวาย ธรรมะ และ วินัย เรียนธรรม เรียนวินัย แล้วก็ปฏิบัติ ธรรมะและ วินัย
ทีนี้ สำหรับคำว่า ธรรมะ และ วินัย นี้ บางองค์อาจจะทราบดีอยู่แล้ว บางองค์อาจจะยังไม่ทราบ ขอให้จำเป็นหลักสำคัญๆ ว่า ธรรมะ นั้น-ทรงแสดง วินัย นั้น -ทรงบัญญัติ พระพุทธเจ้าท่านใช้คำนี้ ธรรมะ-ทรงแสดง หมายความว่า มันลี้ลับ-ต้องเอาออกมาแสดง เป็นกฎธรรมชาติ เป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นอะไรที่มันลี้ลับ ค้นพบด้วยสติปัญญาอันลึกซึ้ง แล้วก็เอามาแสดงแก่ผู้ที่ไม่รู้ ใช้คำว่า แสดง – ภ เทสิโต (นาทีที่ 27:32) ส่วน วินัย นั้นใช้คำว่า บัญญัติ เหมือนกับ บัญญัติกฎหมาย นี่ เห็นว่าอะไรควรบัญญัติก็ใช้อำนาจเด็ดขาดเผด็จการบัญญัติ บัญญัติโต (นาทีที่ 27:52) เราจะต้องรับเอาทั้งสองอย่างนะ วินัย นั้นจำเป็นสำหรับที่จะต้องทำ-ไม่ทำไม่ได้ และโดยมากก็เป็นเรื่องจำเป็น ก็รู้อยู่แล้วว่า เช่น ปาฏิโมกข์ เช่น นอก ปาฏิโมกข์ มีข้อห้ามอย่างไรบ้าง? นี่เป็นการบัญญัติ ถ้าไม่บัญญัตินั้นก็หมู่คณะก็ไม่เรียบร้อย จากความไม่เรียบร้อยนั้นก็จะชวนกันรวนเร จากความรวนเรก็จะกลายเป็นเลอะเลือนเป็นอะไร เพราะฉะนั้น วินัย จึงเป็นเรื่องป้องกันไอ้ความรวนเร-เลอะเลือนของหมู่คณะ แม้ว่าจะประกอบขึ้นด้วยบุคคลแต่มุ่งหมายหมู่คณะเป็นส่วนใหญ่ ความอยู่ได้แห่งหมู่คณะ คือ ทุกคน ปรากฏว่า พระพุทธเจ้าบางพระองค์ไม่ บัญญัติวินัย สอนแต่ ธรรมะ ดับทุกข์อย่างเดียว พอสิ้นพระพุทธเจ้าไปมันก็ล้มละลายหมด มันอยู่ไม่ได้ นี่, พระพุทธเจ้าองค์นี้ท่านอยู่ในจำพวกที่ บัญญัติวินัย ไม่เพียงแต่ แสดงธรรม แล้วเป็นธรรมที่มีปรากฏอยู่ในพระบาลี แต่ท่านก็ค่อยๆบัญญัติเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้นตามเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นจริงขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่ใช่ บัญญัติ ไว้ล่วงหน้า ตอนแรกๆมีแต่ผู้ที่มีเจตนาดี เจตนาบริสุทธิ์เข้ามาบวช ไม่ บัญญัติวินัย ไม่ต้อง บัญญัติวินัย ไอ้ความมีเจตนาดีมันเป็นไปได้เอง ต่อมาเมื่อมันนานเข้า คนที่ไม่ควรจะบวช-ก็เกิดอยากจะบวชกับเขาบ้างด้วยเหตุใดก็ตาม ก็เลยมีคนไม่ดีเข้ามา-จึงต้องบัญญัติวินัย ชนิดที่น่าเกลียด น่าชัง หรือว่าเลวมาก ส่วนนี้เรียกว่า วินัย เป็น ระเบียบบังคับเกี่ยวกับการปกครอง
คำว่า วินัย แปลว่า เครื่องนำไป เครื่องพาไป เครื่องนำไปอย่างดี วิ แปลว่า ดี วิเศษ / นัย (ออกเสียงว่า นัย-ยะ – ผู้ตรวจทาน) แปลว่า นำไป วินัย แปลว่า เครื่องนำไปอย่างดี ให้มันเรียบร้อยราบรื่น ไปได้ถึงตลิ่ง ถึงฝั่ง ทีนี้ ธรรมะ ก็เป็นเรื่องที่ ไม่ใช่วินัย มันผิดกันตรงที่ว่าเป็นของส่วนบุคคล ไม่มุ่งหมายหมู่คณะ-มุ่งหมายบุคคล ใครสามารถปฏิบัติได้เท่าไรก็ปฏิบัติเพื่อความรอดของตัว บางเรื่องมันจึงเป็นเรื่องทางจิตใจ อบรมไปในทางจิตใจ เพื่อไม่ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า กิเลส และ ความทุกข์ทางจิตใจ ขึ้นมา แต่ไม่บังคับ ใครอยากมีความทุกข์ก็ทุกข์ไป ก็ไม่ต้องสนใจก็ได้ ปล่อยให้ธรรมชาติบังคับ ให้ตัวเองบังคับตัวเอง เพราะทนอยู่ไม่ไหวในการที่จะเป็นทุกข์ เพราะจิตใจมันไม่ดี หรือเพราะว่ามี กิเลส
ความมุ่งหมายของการบวช แรกเริ่มเดิมทีก็มุ่งหมายส่วนนี้ ไม่ได้มุ่งหมายจะบวชมาเพื่อรักษา วินัย บวชมาเพื่อจะปฏิบัติ ธรรม ให้ดับทุกข์ ให้เป็นผู้ที่ไม่มีความทุกข์ ก็มุ่งหมายกันด้านเดียวอย่างนี้ ต่อมาเมื่อมีมากเข้า มีคนเลวติดมาด้วยจึงต้องมี วินัย ฉะนั้น ผู้ที่มีความเคารพนับถือตัวเองดี มีความบริสุทธิ์ใจดี จึงไม่ค่อยมีปัญหาเกี่ยวกับ วินัย หรอก วินัย ที่จะผิดโดยที่ไม่รู้เรียกว่าไม่มีก็ได้ มันมีน้อยแล้วก็ไม่ร้ายแรงอะไร
เพราะฉะนั้นก็ขอให้ทุกๆองค์นั้นเคารพตัวเองให้มาก ให้คงมีความมุ่งหมายที่จะรู้และดับทุกข์ อย่าให้ต้องมารบกัน รบกวนเป็นปัญหากันกับเรื่องทาง วินัย ถ้าเรามีเจตนาดีแล้วเรื่องวินัยก็เหลือน้อยมาก ศึกษาให้รู้มันก็ดี รู้ วินัย นะ แต่แล้วถ้ามันมีเจตนาดี ตั้งไว้ดี มีความบริสุทธิ์ใจ ขออภัยที่ถ้าพูดว่าถ้ามีความเป็นผู้ดีติดอยู่แล้วก็ วินัย ก็จะเป็นหมันไปได้ คือ ไม่มีทางที่จะผิด วินัย ได้ นี่, ถ้ารู้เรื่องนี้มันก็จะทำให้ความยากลำบากมันกลายเป็นความง่ายได้ ข้อปฏิบัติมันจะเหลือน้อยมาก มันไม่มากมายเหมือนที่เขาคิดกันว่ามันมากมายจนปฏิบัติไม่ไหว จนต้องสึกออกไปอย่างนี้ นั่นเพราะมันไม่เคารพตัวเอง ไม่ซื่อตรงต่อตัวเอง ถ้าเราไปพิจารณาดูถึงประวัติหรือความเป็นมาของผู้บวชครั้งกระโน้นเป็นพระอรหันต์กันมากมายนั้น มีมากมายส่วนมาก หรือส่วนใหญ่นั้นไม่รู้เรื่อง วินัย ตอนแรกๆไม่รู้เรื่อง วินัย ไหนเล่าแล้วก็จะเล่าให้ฟังเสียเลยว่า บวชแล้ว เป็นพระอรหันต์แล้ว วินัยยังไม่ได้บัญญัติเลย ก็มีการทำบางอย่างที่ไม่รู้นะ อย่างเช่น ไปบิณฑบาตเมื่อไรก็ได้ กลางคืนก็ไปบิณฑบาตฉันได้แล้วแต่หิวขึ้นมาเมื่อไร ก็ยังไม่ผิด วินัย ตอนนั้น แม้เป็นพระอรหันต์ก็ยังทำอย่างนั้น ไปบิณฑบาตเมื่อไรก็ได้ ฉันเมื่อไรก็ได้ ต่อมา มันเกิดเรื่องยุ่งยากลำบากเพราะเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงบัญญัติขึ้นมาเอง เลิกไปบิณฑบาตตอนค่ำ ตอนบ่าย ตอนเย็น แล้วไม่ฉัน ให้ฉันได้ในระยะจำกัด ที่เรียกว่า ในกาล โดยเช้าถึงเที่ยงอะไรอย่างนี้ แล้วก็ดีขึ้น พอบัญญัติวินัยแล้วก็ต้องถือกันหมด พระอรหันต์หรือไม่อรหันต์ก็ต้องถือกันหมด ให้มันสม่ำเสมอเหมือนกันไปหมด นี่คือ วินัย มันเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ก็มีอะไรๆที่มันเข้ารูปเข้ารอยกันหมดแล้ว ไม่มีปัญหา ใครมีเจตนาบริสุทธิ์ปฏิบัติไปได้ ถ้าว่าจะผิด วินัย ก็เพราะว่า เจตนามันไม่ดี จะผิด วินัย ทั้งที่ไม่รู้นั้นมีไม่ได้เดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้น เรียกว่าให้ขวนขวาย ธรรมะ และ วินัย ควบคู่กันไป เป็นสิ่งที่ต้องควบคู่กันไป ให้สมกับที่เมื่อพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน หรือที่เรียกว่าจะสิ้นพระชนม์อยู่หยกๆแล้วก็ยังตรัสถึงข้อนี้ ว่า ธรรม ที่แสดงแล้ว วินัย ที่บัญญัติแล้วนี้ จักอยู่เป็นศาสดาแก่พวกเธอทั้งหลายในกาลที่เป็นที่ล่วงลับไปแห่งเรา หากพระองค์ปรินิพพานแล้ว ให้ ธรรมะ และ วินัย อยู่เป็นพระศาสดาแทน ขอให้ทุกๆองค์ยอมรับในข้อนี้ เคารพ ธรรมวินัยเหมือนเคารพพระพุทธเจ้า หรือมีพระพุทธเจ้าอยู่จนทุกวันนี้ในรูปของ ธรรมะ และ วินัย ก็ขอให้เคารพ นับถือ หรือปฏิบัติในฐานะที่มันเป็นของศักดิ์สิทธิ์
ผมพูดถึงคำว่า ศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ มาหลายคำแล้ว ก็อยากจะบอกต่อไปอีกหน่อยหนึ่งว่า ไอ้ความเชื่อในทางเป็นของศักดิ์สิทธิ์นี้ ถ้ามันมีหรือถ้ามันเป็นไปในทางที่ถูกแล้วมันยิ่งดี ยิ่งดีกว่าไม่เชื่อในทางศักดิ์สิทธิ์ คือ มันมีจิตใจที่จะทำกันเต็มที่ ทำอย่างเต็มความสามารถ ทำอย่างสุดชีวิตจิตใจ เพราะฉะนั้น มีความศักดิ์สิทธิ์ในสิ่งที่ถูกที่ควรไว้ก่อนก็ดี แต่ถ้ามันผิดแล้วมันก็งมงายในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ และเมื่อรู้ว่าถูกต้องแน่แล้วก็ถือให้มันศักดิ์สิทธิ์ ถือให้มันขลัง ให้มันศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น ก็ไม่มีส่วนที่จะงมงาย คำว่า ศักดิ์สิทธิ์ นี้มีความหมายได้ทั้ง ๒ อย่าง คือ ทั้งที่งมงาย และทั้งที่ไม่งมงาย และก็ให้ขวนขวาย ธรรมะวินัย ในฐานะเป็นองค์พระศาสดาที่ยังอยู่กับพวกเราจนถึงปัจจุบันนี้ นี่ให้เป็นคำสั่งประเภทพินัยกรรม ที่เรียกว่าเป็น พินัยกรรม คือ คำสั่งที่คนแก่จะตายจะสิ้นชีวิต มีอยู่ ๒-๓ ข้อ คือ ไม่ประมาทในพระธรรมวินัย เป็นพระศาสดาต่อไป ที่เราเห็นเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ เพราะพระพุทธองค์ทรงพยายามจะตรัสเป็นคำสุดท้าย
แล้ว กิจวัตร ข้อต่อไปก็อยากให้ชื่อว่า เอาใจใส่ของสงฆ์และกิจสงฆ์ ไอ้บริหารสิ่งของร่างกายเมื่อกี้นั้นมันเป็นเรื่องส่วนตัว หรือเป็นเรื่องที่ไม่ใหญ่โต จึงมองการเอาใจใส่ของสงฆ์และกิจสงฆ์เป็นเรื่องใหญ่โต เป็นเรื่องบังคับรุนแรงขึ้น พระศาสนาอยู่มาได้ด้วยการที่ภิกษุเคารพสิทธิของสงฆ์หรือสถาบันของสงฆ์ แล้วชาวบ้านก็พลอยประสมโรงอย่างดีที่สุดเลย เคารพสถาบันของสงฆ์ สิทธิของสงฆ์ สมบัติของสงฆ์ต่างๆนี้ ช่วยกันเอาใจใส่ แปลว่า เมื่อเทียบกับของส่วนตัวแล้วมันไกลกันลิบ ผิดกันหลายสิบเท่า ฉะนั้น มีอะไรที่เป็นของสงฆ์ก็ช่วยกันรักษา หรือว่าถ้าขโมยของสงฆ์อย่างนี้ ชาวบ้านก็ถือว่าบาปยิ่งกว่าขโมยของบุคคลหลายๆเท่า ทั้งวัดวาอารามเป็นของสงฆ์เป็นของศักดิ์สิทธิ์นี้ ไม่กล้าทำอะไรล่วงล้ำสิทธิของสงฆ์ สมัยก่อน อย่างผลไม้ในวัดนี้ก็ถือว่าเป็นของสงฆ์ ไม่กล้ากิน หล่นอยู่ก็ไม่กล้าเก็บกิน สมัยผมทันเห็นบ้าง เมื่อผมเป็นเด็กๆทันเห็นอยู่บ้าง เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว ไอ้ความรู้สึกอย่างนี้ไม่มีแล้ว
ทีนี้มันยิ่งไปกว่านั้นอีกมากมายที่ถือปฏิบัติกันอยู่ว่า หากเข้ามาในวัด-เดินกลับออกไปนี่ต้องระวังแม้แต่ฝุ่นติดเท้าไปออกจากวัดไปนี้ก็ไม่ได้ กลัวจะติดไปบ้านแล้วก็จะมีบาป ไอ้ดินหรือทรายของวัดแม้แต่ถูกนำไปบ้าน เขาจะปัดจะล้างจะอะไรกัน จะสลัดกันอย่างดีถึงจะเดินออกไปบ้าน แล้วบางคนก็กลัวมากว่าจะไม่บริสุทธิ์ ว่าจะไม่แน่นอน ก็พยายามที่จะขนดินข้างนอกวัดนี่มาใส่ในวัดอยู่บ่อยๆ เพื่อมันเป็นหลักประกันไว้ว่าเราไม่มีการเอาดินในวัดออกไปที่บ้าน นี่, ผมขอให้คุณไปคิดดูไปคำนวณดูว่ามันเท่าไรจิตใจมันเป็นอย่างไร? จิตพวกคุณเดี๋ยวนี้มันเป็นอย่างไร? ปู่-ย่าตา-ยายของเราเคยเป็นอย่างไร? พระเจ้า-พระสงฆ์ที่เป็นตามธรรมชาติ-พระเถื่อนนั้นมันเป็นอย่างไร? ให้ความเคารพในของสงฆ์ / สิทธิของสงฆ์มีมากถึงขนาดนี้
ทีนี้ ก็ยังมี กิจ กิจของสงฆ์ กิจอะไรที่บัญญัติไว้ใน วินัย ว่าเป็นหน้าที่ของสงฆ์ อย่างนี้เขาเรียกว่า กิจสงฆ์ จะต้องช่วยกันกระทำบ้าง จะต้องช่วยกันรักษาเอาไว้บ้าง ก็ต้องเอาใจใส่ คำว่า สงฆ์ นี้เป็นคำที่น่ากลัวสำหรับคนโบราณ พอพูดว่า ของสงฆ์ แล้วก็สั่นหัว เขารู้เรื่องที่ว่า คนพวกหนึ่งกินของสงฆ์ก่อนสงฆ์ ตายไปเป็นเปรต ร้องตะโกน ทุ.สะ.นะ.โส. อยู่ทุกวันทุกคืน นี่, มันมีส่วนที่จะเปรียบเทียบดูว่าไอ้คนโง่กับคนฉลาดนี้ ใครจะดีกว่ากันในแง่อย่างนี้? คนโง่ ในที่นี้หมายความว่า คนซื่อ ไม่ใช่คนโง่อย่างนั้นไม่นั้นเสียเลย มันเป็น คนซื่อ แล้วก็ถือจริง แล้วก็คือ บิดา-มารดา ปู่ย่า-ตายายของเรา ของเราทุกคนท่านเคยถือกันมาอย่างนั้น แล้วลูกหลานมันก็เปลี่ยนไป เปลี่ยนไป
ทีนี้ สำหรับที่จะต้องปฏิบัติกันเดี๋ยวนี้ก็ขอให้สังเกตเอาเอง วัตถุ สิ่งของ หรือกิจกรรม หรืออะไรที่มันเป็นของสงฆ์ต้องถือว่าศักดิ์สิทธิ์ แล้วช่วยกันทำเพื่อคณะสงฆ์หรือพระศาสนานี้มันจะอยู่ได้ ผมสังเกตอะไรบางอย่างดูแล้วไม่เข้าใจอยู่นี่ ไอ้หนังสือที่โต๊ะที่เคยมีไว้ให้อ่าน ครั้งๆหนึ่งมันเคยประทับตราอยู่ทุกเล่มว่าหนังสือนี้เป็นของสงฆ์ ห้ามเอาไปเป็นของส่วนตัว แต่แล้วมันก็หายไปจนหมดได้เหมือนกัน ไม่รู้ว่าใครเอาไป เดี๋ยวนี้ขี้เกียจประทับแล้ว ถ้าเราช่วยกันรักษาของสงฆ์ หรือของกลางในความหมายทั่วไป ของสังคม ของสมาคม ของประเทศนี้ก็ดีนะ คงจะมีความผาสุกกันยิ่งกว่านี้ ทีนี้ ไม่มีใครรัก ไม่มีใครเคารพ หรือว่ารักษาของสงฆ์ ของสาธารณะ ของประเทศชาติ ก็มันเสียเจตนารมณ์อันนี้ไปแล้ว หรือว่ายังไงก็ขอให้มีในพวกพระเรานี้ ถ้าพวกชาวบ้านเขาไม่ถือ ไม่เอาด้วยก็ช่างเขา เราถือกันไปก่อนเป็นพระธรรมชาติ อย่าเพิ่งเป็นพระวิทยาศาสตร์เลย จำคำว่า สงฆ์ สงฆ์ ไว้ให้ดีๆ หมายถึง สงฆ์ทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ไปบอกว่าพระสงฆ์ ไม่ใช่ว่าสงฆ์ ๔ องค์ขึ้นไปจึงเป็นสงฆ์ นั่นมันก็ถูกแล้ว ๔ องค์ขึ้นไปก็เพื่อจะทำหน้าที่อะไรบางอย่างตามที่ วินัย บัญญัติไว้ว่า ทำได้ในนามของสงฆ์ แต่เมื่อพูดว่า ของสงฆ์ หรือ คณะสงฆ์ ในที่นี้แล้วมันหมายถึง สงฆ์ทั้งหมดในพุทธศาสนา ทั้งในอดีตกาล ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในอนาคตข้างหน้า จะอยู่ได้โดยวิธีใดขอให้ช่วยกัน ชาวบ้านไม่ค่อยเข้าใจ เข้าใจว่าพระองค์หนึ่งก็เป็นพระสงฆ์ เพราะว่าไปเห็นที่เขาส่งพระรูปเดียวไปในนามของคณะสงฆ์ ไปทำอะไรในนามของคณะสงฆ์ อย่างนี้ วินัย ก็ถือว่า กระทำแก่สงฆ์หรือคณะสงฆ์เป็นผู้ทำเหมือนกัน ชาวบ้านเขาไม่เข้าใจว่าพระรูปหนึ่งก็เป็นสงฆ์ เลยเรียกว่าสงฆ์ๆ ติดปากกันโดยไม่รู้ วินัย มีบัญญัติไว้ว่า กิจกรรมบางอย่างส่งภิกษุเพียงรูปเดียวแทนในนามสงฆ์ไปกระทำนั้น ก็ถือว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำของสงฆ์ทั้งหมด อย่างที่เขาถวายสังฆทานตอนเช้านั้นก็หมายถึง สงฆ์ทั้งหมดในพระพุทธศาสนา และ วินัย มีอยู่ว่าภิกษุจำนวนเท่าใดมาถึงเข้า ให้ทำไปในนามของภิกษุสงฆ์ทั้งหมดในพุทธศาสนา ถ้ารู้ถึงขอบเขตเจตนาอันนี้กันเสียบ้างก็ดีนะ มันจะได้มีความเจริญ
และกิจข้อสุดท้าย ดำรงตนให้น่าไหว้ นี้ก็พอจะเข้าใจกันได้มันไม่ลึกลับอะไร ก็หมายถึง การสำรวม ระวัง รักษา สมณสารูป มันมีคำที่ต้องจำไว้ตลอดเวลาอยู่คำหนึ่งว่า สมณะ แล้วก็ สารูป บางคนไม่รู้ว่าอะไรก็ได้ สมณะ ก็แปลว่า สมณะ ไอ้ สารูป นี่ก็แปลว่า มีรูปที่สมควรกัน สมณสารูป นี่ก็มี รูป ที่สมควรกันกับความเป็น สมณะ เพราะฉะนั้น ใน วินัย จะมีพูดถึงว่า สมณสารูป / สมณสารูป เดี๋ยวก็ สมณสารูป เดี๋ยวก็ สมณสารูป ให้ทุกองค์มี สมณสารูป คือ มี รูป หรือ ภาวะ ที่มันสมควรกันกับความเป็น สมณะ อาจจะให้กินความเลยไปถึงรูปร่าง ท่าทาง รูปร่างตามธรรมชาติก็ได้ เดี๋ยวนี้ก็ถือกันเป็นระเบียบเป็นวินัยอยู่เหมือนกัน คนที่รูปร่างไม่สมประกอบก็ไม่ให้อุปัชฌาย์ยอมรับเข้ามาบวช ถึงวินัยเดิมของพระพุทธเจ้าก็มุ่งหมายอย่างนี้แน่ ไม่ให้คนที่รูปร่างมันไม่สมประกอบเข้ามาบวช เดี๋ยวนี้ยังเหลืออยู่เพียงว่าครบอาการ ๓๒ อาการ ๓๒ ไม่วิปริต ผล ขน เล็บ ฟัน หนัง อะไรต่างๆไม่วิปริตแล้วก็ให้บวช มีคนเพ่งเล็งไปถึงว่าไอ้คนที่ขามันขาดไปข้างหนึ่ง หรือเดินมันต้องใช้ไม้เท้า หรืออะไรก็ไม่รู้ที่มันน่าเกลียด ควรจะเลี่ยง ควรจะป้องกันเสียตั้งแต่ทีแรกอย่าให้เข้ามา ให้เขาบวชตาขาว-บวชตาเถรอะไรไปกันก่อนแล้วกัน มิฉะนั้นจะมามีอาการน่าเกลียดในหมู่สงฆ์
แต่คำว่า สมณสารูป ไม่ได้หมายความไปถึงข้อนี้ หมายความว่า คนที่มีอะไรครบบริบูรณ์ มีรูปร่างปกตินี้จะต้องมีความประพฤติ กริยา ท่าทาง พูดจาให้มันสมกับความเป็น สมณะ เพราะฉะนั้น จึงได้แก่การสำรวม สำรวมทุกอย่างให้ถูกกับเรื่องของ สมณะ ซึ่งแปลว่า ผู้สงบ ถ้าจะจาระไนกันแล้วก็ไม่ไหวแล้ว มันเป็นชั่วโมง ชั่วโมงมันเป็นหลายร้อยหลายพันเรื่องแล้ว จะกิน จะดื่ม จะอาบ จะถ่าย จะทุกอย่างไปเลย แม้แต่เคี้ยวเร็วๆนี้ก็ไม่ใช่ สมณสารูป ขออภัยที่พูดอย่างนี้ ก็ไม่ใช่จะเจตนาจะกระทบใคร-ไม่ใช่ ถ้าเคี้ยวอาหารเร็วๆนี้ก็ไม่ใช่ สมณสารูป เปลี่ยนซะดีกว่า หรือว่าทำอะไรเร็วๆ ทำอะไรหวัดๆ แม้แต่เพียงกินอาหารอย่างเดียวนี้ก็ดูเถอะ ไอ้เสือเคลียร์วัด(นาทีที่ 55:32) นั่น ๗๕ แล้วนะ ยังมีมากกว่านั้นอีกนะ ๗๕ ในท้าย ปาฏิโมกข์ นั้นก็ สมณสารูป ทั้งนั้นก็ไปอ่านดู ไอ้พวกยืนถ่ายอุจจาระ ยืนถ่ายปัสสาวะ บ้วนน้ำลายในที่ไม่ควรบ้วนอย่างนี้ มันเป็น สมณสารูป ไปหมด ผิด สมณสารูป ไปหมด เพราะฉะนั้น พูดง่ายๆว่า มีสมบัติผู้ดีอยู่ แล้วก็ได้ ตามหลักที่จะรู้ได้โดยสามัญสำนึก แล้วก็มีหวังที่ว่าจะไม่เสีย สมณสารูป ไปมากขึ้น หรือแม้แต่การนุ่งห่มมันก็มีบ้างที่จะต้องเป็น สมณสารูป ไม่นุ่งห่มหรือเปลือยกายออกไปสู่ที่สาธารณะ-ไม่เป็น สมณสารูป พอนอนกลางวันไม่ปิดประตู เผลอเข้ามีอะไรที่น่าเกลียดแสดงออกมา ก็เรียกว่า ไม่มี สมณสารูป ที่มันมากมายอย่างนี้เอามาพูดไม่ไหว ให้รู้ได้ด้วยความรู้สึกฝ่ายสูงว่าอะไรมันไม่น่าดู มันน่าเกลียด มันน่าอะไรแล้วก็อย่ามีก็แล้วกัน แล้วเท่ามีระบุอยู่ใน วินัย ก็ถือให้เคร่ง นี้เรียกว่า ดำรงตนให้อยู่ใน สมณสารูป ก็เกิดอาการที่น่าเคารพ น่าบูชา น่าอะไรที่ไปตามความมุ่งหมายที่เขาถือกันมาแต่ดึกดำบรรพ์โน้นว่า สมณะ นั้น เพียงแต่ได้เห็นก็เป็นมงคล เพียงแต่ได้เห็น พระสมณะ เท่านั้นก็เป็นความสุข เป็นสวัสดี เป็นมงคล เป็นลาภ เป็นอะไรต่างๆ เพราะว่าเห็น พระสมณะ แล้วมันก็เห็นความสงบ เห็นภาวะแห่งความสงบ ความสะอาด ความสว่างอะไรอย่างนี้ อย่าทำเป็นเล่น อย่าให้เป็นเรื่องเล็กน้อยในการที่จะดำรงตนให้มี สมณสารูป เพราะฉะนั้น เรื่องพูดเล่น-พูดหัวอย่างนี้ต้องไม่มี พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า พูดไม่ประกอบด้วยธรรมด้วยวินัยนั้น ไปนอนเสียดีกว่า ทั้งที่การนอนนั้นเป็นสิ่งที่เลวอย่างหนึ่งอยู่แล้ว ที่พระพุทธเจ้าท่านติเตียนการนอนโดยเฉพาะการนอนกลางวันถือเป็นเรื่องของคนประมาท แต่ว่าถ้าพูดเรื่องไม่มีสาระแล้วไปนอนเสียดีกว่า เพราะฉะนั้น ถ้าพูดอะไรโขมงโฉงเฉง พูดอะไรที่ไม่มีประโยชน์ เรียกว่าไม่มี สมณสารูป ในทางวาจา ในทางกายมันก็กลุ่มใหญ่ กลุ่มในทางวาจาก็ยังมีอีก เพราะฉะนั้น หุบปากไว้มากๆแหละมีทางปลอดภัย ถ้าต้องเปิดปาก ต้องมีเสียงน้อย มีหลาย สูตร ในพระบาลี พระพุทธเจ้าแสดงถึงพระพุทธประสงค์ว่าให้ภิกษุทั้งหลายมีเสียงน้อย คือ พูดเบา ครั้งหนึ่งภิกษุพูดจากันเอ็ดตะโร คือว่ามากันมาก มาถึงเจ้าอาวาสก็ต้อนรับ มาทักทาย ปราศรัย เฮฮากัน คนโน้นก็พูดดัง คนนี้ก็พูดดัง ได้ยินไปถึงพระพุทธเจ้า ท่านถามว่ามันเกิดเรื่องอะไรกัน เสียงเหมือนกันชาวบ้านแย่งซื้อปลาจากเรือชาวประมง พระอานนท์บอกว่ามันมีพระมาใหม่พวกหนึ่งกำลังทักทายปราศรัยกัน พระพุทธเจ้าท่านก็ว่า ไปให้หมด ไปให้หมด รีบไปให้หมด เรียกว่าไล่กลับไปเลย ไม่ให้เข้า ไม่ให้เข้ามา คือ ตรัสถึงเรื่องมีเสียงน้อย คือ พูดเบาๆ ให้ไปเปลี่ยนเสียใหม่ ให้ไปกลับตัวเสียใหม่ ให้ไปขอโทษกันเสียใหม่ แล้วจึงค่อยเข้ามา มีอีกมากมาย ที่ว่าให้... เพราะว่าพระองค์เองก็มีเสียงน้อย ชักชวนในความมีเสียงน้อย สรรเสริญในความมีเสียงน้อย นี่คือ สมณสารูป ในทางวาจา เรื่องตะโกนกัน เรื่องหยอกกัน เรื่องอย่างนี้มันไม่มี ถ้ามี สมณสารูป ในทางวาจา
เอาละ, เป็นอันว่ามี สมณสารูป ทั้งทางกายและทั้งทางวาจา นี่คือ การดำรงตนให้น่าไหว้ ตั้งอยู่ได้ด้วยความมี หิริ และ โอตตัปปะ ความละอายต่อบาป ความกลัวต่อบาป คือ รู้จักละอาย รู้จักกลัว ก็เป็นผู้ที่ไม่กล้าปล่อยไปตามความสบาย สะดวก จะเป็นผู้สำรวมระวังอยู่เสมอ เพื่อความมี สมณสารูป ไม่เสียทีที่ว่าอยู่ในหมู่สงฆ์ที่นิยมความมี สมณสารูป
นี้เป็นกิจวัตรข้อสุดท้ายที่มันศักดิ์สิทธิ์ที่สุด เดี๋ยวนี้ ผมอยากจะยืนยันหรือว่ากล้าท้าทาย ยืนยันว่าเดี๋ยวนี้ ปัจจุบันนี้ ชาวบ้านก็เกลียดน้ำหน้าพระที่มีสติปัญญาความรู้ มียศ มีศักดิ์อะไร แต่มันโขมงโฉงเฉงไม่มี สมณสารูป ถ้าไปบูชาไปเลื่อมใสพระบางองค์ที่ไม่ค่อยจะพูด เดินเหิน นั่งนอนอะไรสำรวมระวัง แต่ไม่มีความรู้อะไรหรอก ไม่ได้เป็น นักธรรม ไม่ได้เป็น เปรียญ ที่เมืองนี้ก็มี มีเมื่อเร็วๆนี้ ท่านที่อยู่ที่วัดที่ผมเรียน คนนับถือเคารพมากที่สุดเลย เพราะ สมณสารูป นั่นแหละ ท่านพูดก็ไม่ค่อยจะเป็น แต่เป็นคนที่ซื่อตรงต่อตัวเองที่สุด เป็นคนกลัวบาปที่สุด มี สมณสารูป ดีที่สุด คนรักนับถือยิ่งกว่าพระทั้งหลาย ผมก็สู้ท่านไม่ได้ ถ้าเป็น เจ้าคุณ รวมกันกว่า ๑๐ คนชาวบ้านก็ไม่รักไม่นับถือเท่าท่าน นี่, เพราะความมี สมณสารูป ผมก็รู้สึกอย่างนั้น พระองค์หนึ่งเดี๋ยวนี้ก็ตายไปแล้วเหมือนกัน อยู่ทางเหนือขึ้นไปโน้น ทางปากหมาก ก่อนนี้แกมีอยู่องค์หนึ่ง เรียบร้อย น่าเลื่อมใสมาก และก็ไม่ค่อยรู้อะไรหรอก ไอ้ความไม่ค่อยรู้อะไรทำให้สำรวมมาก กลัวมาก เรียบร้อยเหมือนกับพระบวชใหม่ อยู่เสมอ จนกระทั่งแก่เฒ่า สิ้นชีวิตไปก็เป็นผู้สำรวมเคร่งครัด ระมัดระวังเหมือน พระบวชใหม่ นี่พูดว่า พระบวชใหม่ ขอให้รับทราบกันไว้ด้วยว่ามันเป็นคำที่เขาพูดกันว่า เคร่งเหมือนพระบวชใหม่ วันแรกๆบวชนี้ พอหลายๆวันเข้านี่, ระวังให้ดี มันจะค่อยๆจางความเคร่ง ถ้าใครเคร่งได้สม่ำเสมอแล้วได้สักพรรษาหนึ่ง เป็นพระบวชใหม่ตลอดพรรษาหนึ่ง นี่ก็ตรงตามความมุ่งหมาย ถ้าเราไปพูดกับพระแก่ๆองค์หนึ่งว่า คือไม่ใช่ไปพูดกับท่านนะ พูดลับหลังก็ได้ว่า ท่านองค์นี้เคร่งเหมือนกับพระบวชใหม่ ผู้ที่ถูกพูดจะรู้สึกภูมิใจ รู้สึกว่าเป็นเกียรติยศสูงสุด ขอให้พระใหม่รับทราบไว้ด้วย อย่าทำให้เสียชื่อ พระบวชใหม่ นะ
นี่, อันสุดท้ายมี สมณสารูป ทั้งทางกายและทางวาจา กลายเป็นผู้มีภาวะที่น่าไหว้-น่าบูชา เป็น กิจวัตร ที่ต้องระวังรักษา แต่ไม่ใช่เพื่อหลอกลวงใคร อันที่
นี่, ผมเล่าเรื่องโบราณของพระธรรมชาติไม่ใช่พระวิทยาศาสตร์ให้ฟัง โดยหวังจะให้ทราบว่าเขารอดตัวกันมาได้ด้วยลักษณะอย่างนี้ แล้วก็ทำตาม ทำตามเยี่ยงตามอย่างกันมา ไม่มีหนังสือหนังหาตำรับตำราที่จะเล่าจะเรียน เห็นตัวอย่างแล้วก็ทำ ก็รอดตัวมาได้อยู่ในสภาพที่น่าดูกว่าเดี๋ยวนี้ซึ่งมีอะไรท่วมหัวท่วมหูเป็นวิทยาศาสตร์ไปเสียหมด และขอร้องให้ช่วยเอาไปคิด ไปนึก และถือเอาประโยชน์ให้ได้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เกี่ยวกับกิจวัตร ๑๐ ประการ นี่ขอพูดเพียงเท่านี้ วันนี้