แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๑๔ สำหรับพวกเราที่นี่ ได้ล่วงมาถึงเวลาสี่สามสิบนอแล้ว เป็นเวลาที่กำหนดไว้สำหรับพูดกันเรื่องใดเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับปัญหาธรรมทูต ในวันนี้จะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า หลักธรรมะที่ชาวตะวันตกเคย เคยเข้าใจผิดหรือกำลังเข้าใจผิดต่อพุทธศาสนา ทำไมจึงพูดโดยหัวข้อนี้ ผมเห็นว่าเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องทำความเข้าใจกันในข้อนี้ แม้ในระหว่างพวกเรา ชาวตะวันออก หรือพวกธรรมทูตกันเอง และแม้ในระหว่างเรากับชาวตะวันตก หรือที่เราจะเรียกง่ายๆ สั้นๆ ว่าฝรั่ง ฝรั่งเคยเข้าใจผิด และก็กำลังเข้าใจผิด อยู่หลายอย่างหลายประการ เกี่ยวกับพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นก็ควรจะต้องพูดกันถึงเรื่องนี้ ด้วยเหมือนกัน สำหรับความเข้าใจผิดที่ควรจะเอามาพูดกันข้อแรก ก็คือความเข้าใจที่ว่า พุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนา คือไม่ใช่ religion เพราะว่าพุทธศาสนาไม่มีพระเจ้า ไม่มีสิ่งที่ประทานมาจากสวรรค์ คือพวกฝรั่งเขาถูกสอน ถูกทำให้เชื่อ ถูกอะไรก็ตาม โดยหลักของศาสนาที่เขามีอยู่ก่อนนั้นว่า สิ่งที่เรียกว่าศาสนาหรือ religion นั้นต้องมีพระเจ้า และก็มีสิ่งที่ส่งลงมาจากสวรรค์ของพระเจ้านั้น และก็มีผู้แทนพระเจ้า นี่เขามามองดูพุทธศาสนาแล้ว ไม่เห็นพูดถึงเรื่องนี้ ก็เลยถือกันว่าพุทธศาสนาไม่ใช่ religion ทีนี้ทางฝ่ายพวกเราก็เหมือนกัน ไม่ยอมรับว่ามีสิ่งเหล่านั้น เมื่อเขาเห็นว่าพุทธศาสนาไม่ใช่ religion อย่างนั้น ก็เลยจัดพุทธศาสนาให้เป็นเพียงปรัชญา เป็นเพียงหลักปรัชญา หรือที่เรียกกันว่า philosophy ตามที่พวกฝรั่งเรียกกันเอง ทีนี้เราก็ตามก้นฝรั่งทุกอย่างตามเคย ว่าพุทธศาสนานี้ไม่ใช่ศาสนา ไม่ใช่ religion เป็นเพียง philosophy ระบบหนึ่งเท่านั้น ทีนี้พอมาถึงสมัยหนึ่งในประเทศไทยเรา แปลคำ philosophy ออกมาเป็นภาษาไทยว่าปรัชญา เรื่องมันก็เอะอะกันขึ้นว่า ไอ้คำว่าปรัชญาตามภาษาสันสกฤตนั้น มันไม่มีความหมายตรงกับคำว่า philosophy ทีนี้พวกไอ้นักศึกษาสันสกฤต นักศึกษาในอินเดีย ก็หัวเราะ หัวเราะเยาะหรือค้าน ว่าคำว่าปรัชญาน่ะแปลว่าปัญญา ซึ่งหมายถึงปัญญา อันหมายถึงความรู้แจ้งถูกต้องโดยประจักษ์ ปราศจากปัญหา ส่วนคำว่า philosophy นั้น มันไม่ใช่อย่างนั้น มันเป็นเพียงทรรศนะหนึ่งๆ ที่ยังเป็นปัญหา ที่จะต้องถกเถียงกันต่อไป คือเป็นสิ่งที่ยังต้องคำนวณ ยังต้องคำนึงคำนวณ ยังต้องค้นคว้าต่อไป เพราะว่าต่างคนต่างพูด ต่างทรรศนะ มากมายเหลือเกิน แม้ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ เขาก็ถือว่าเป็นทรรศนะอย่างหนึ่ง นี่ดูว่าตามข้อเท็จจริงแล้วเราก็มาใช้คำว่า philosophy กันในลักษณะอย่างนั้น จึงมี philosophy ของคนนั้น ของคนนี้ ของคนโน้นมากมาย มันไม่ตรงกับคำว่าปรัชญา แต่ที่สุดในประเทศไทยเราก็ต้องยอมรับใช้คำๆ นี้กันในลักษณะอย่างนี้ แปลว่าเอาคำว่าปรัชญาของสันสกฤตมาใช้ ในความหมายที่ไม่ตรง ในภาษาไทย เพื่อให้คู่กับคำว่า philosophy ทีนี้ผลมันก็เกิดขึ้นว่าพุทธศาสนาเป็นเพียง philosophy หรือปรัชญาแล้ว มันจะเป็นสิ่งที่น่าสงสาร มันจะเป็นปรัชญาอันหนึ่งซึ่งไม่รู้จักจบกับเขาด้วยไม่ได้ เรื่องนี้ยืดยาว และจะต้องพูดกันอีกคราวหนึ่งโดยละเอียด แต่ว่าในที่นี้อยากจะพูดเฉพาะในแง่ที่ว่า พวกฝรั่งถือว่าพุทธศาสนาเป็นเพียงหลักปรัชญาอันหนึ่ง ไม่ใช่ศาสนาสำหรับมหาชน มันก็เป็นคำพูดที่ขัดกัน เพราะเดี๋ยวนี้ประชาชนตั้งหนึ่งในสาม หรืออย่างน้อยหนึ่งในห้าของทั้งโลกน่ะมันถือพุทธศาสนา ฉะนั้นจะไม่เรียกว่าเป็นศาสนาได้อย่างไร ดังนั้นปัญหามันก็อยู่ตรงที่คำว่าศาสนาหรือ religion นั่นเอง สำหรับผม เท่าที่ตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้มาเป็นเวลานานยี่สิบสามสิบปี รู้สึกว่ามัน มันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะเราเข้าใจคำว่าศาสนานั่นแหละผิด คือสิ่งที่เรียกว่าศาสนานั้นมันเป็นระบบปฏิบัติ สำหรับกำจัดความทุกข์ร้อนในใจ ให้หมดไป มันจะมีพระเจ้าหรือไม่มีพระเจ้าก็ตามใจ พวกหนึ่งมันมีวิธีที่จะต้องมีพระเจ้า พวกหนึ่งมันมีวิธีที่ไม่ต้องมีพระเจ้า ไม่ต้องมีสิ่งที่ส่งมาจากสวรรค์ ไม่ต้องมีไอ้ผู้แทนพระเจ้าในโลกนี้ ก็ต้องถือว่าเป็นศาสนาด้วยกันทั้งนั้น มันต้องเป็นการประพฤติ ปฏิบัติ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ชนิดที่บรรเทาหรือว่าตัดขาด ในที่สุด เสียได้ซึ่งความทุกข์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางจิตใจ ฉะนั้นก็เป็นศาสนาด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้นเดี๋ยวนี้เรามาตกลงกันว่า ศาสนาที่มีพระเจ้า ศาสนาที่ไม่มีพระเจ้า จะดีกว่า ทีนี้มาถึงปัญหาที่ว่า พุทธศาสนามีพระเจ้าหรือไม่มีพระเจ้า เอ้า ในสายตาของพวกฝรั่ง มันก็ว่าพุทธศาสนาไม่มีพระเจ้า ทีนี้ในสายตาของชาวพุทธเรากันเอง ก็ว่าพุทธศาสนาไม่มีพระเจ้า การพูดอย่างนี้มันถูกครึ่งเดียว เพราะว่าเขาหมายถึงพระเจ้าอย่างคน ที่เรียกว่า personal god พระเจ้าที่มีอะไรเหมือนคน หรือเป็นคน อย่างที่เขาสอนเด็กๆ นั่น พระเจ้าอยู่ในเมืองสวรรค์ รูปร่างอย่างนั้น โกรธก็ได้ เกลียดก็ได้ ลงโทษก็ได้ อะไรก็ได้ ขี้โมโหโทโสยิ่งกว่าคนในโลกนี้เสียอีก เราเรียกกันว่า personal god เริ่มขึ้นในคัมภีร์ของพวกที่ถือพระเจ้าหน้าแรกเลย เช่นคัมภีร์ไบเบิ้ล นี้ก็โผล่ขึ้นมาก็พระเจ้าสร้างโลก ถ้าพระเจ้าอย่างนี้ ตามตัวหนังสือกันตรงๆ อย่างนี้ ก็ไม่มีในพุทธศาสนา แต่ถ้าถอดความหมายของข้อความเหล่านั้นออกมาจากปุคคลาธิษฐาน มาเป็นธรรมาธิษฐานเสีย ในพุทธศาสนาก็มีพระเจ้า ธรรมาธิษฐานสำหรับพระเจ้าก็คือว่า เป็นผู้ต้นกำเนิดของสิ่งทุกสิ่ง อย่างนี้ในพุทธศาสนามี หรือพระเจ้าคือสิ่งหรือผู้ที่เที่ยงแท้ยุติธรรมที่สุดในการที่จะลงโทษผู้ทำผิด และให้รางวัลผู้ทำถูก อย่างนี้ในพุทธศาสนาก็มี หรือว่าพระเจ้าคือสิ่งที่มีอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง ไม่เว้นที่ไหนเลย แม้ที่ที่มนุษย์ไปถึง หรือไปไม่ถึง หรือในตัวมนุษย์นั่นเอง ถ้าพูดอย่างนี้ในพุทธศาสนาก็มีพระเจ้า คือสิ่งที่เรียกว่าธรรม ธรรมเพียงคำเดียว เพราะว่าในพุทธศาสนามีธรรมหลายความหมาย ถ้าถามชาวพุทธว่าอะไรเป็นต้นกำเนิดแห่งสิ่งทั้งปวง ก็บอกว่าธรรม ซึ่งหมายถึงธรรมชาติ ซึ่งหมายถึงกฎของธรรมชาติ เช่นเดียวกับที่ในคัมภีร์ไบเบิ้ล ตอนคัมภีร์ใหม่ ประโยคแรกของคัมภีร์โยฮันว่า แรกเริ่มเดิมทีมีแต่พระคำ มีแต่ the word เวิร์ดที่แปลว่าคำพูด แรกเริ่มเดิมที มีแต่ the word คือคำพูด พอถามเข้าคำพูดนี้คืออะไรก็อู้อี้ ไม่ยอมอธิบาย ให้แปลว่าพระคำหรือคำพูดเรื่อยไป ผมบอกว่านั่นล่ะ คือกฎธรรมชาติ คำพูดนี้ก็เป็นคำพูดของธรรมชาติ เป็นประกาศิตของธรรมชาติ ในคัมภีร์ของเขาน่ะ the word นั้นคือ the right the right นั้นคือ god เหมือนกันเลย เรามีธรรมในฐานะที่เป็นกฎของธรรมชาติ ที่เรียกว่าธรรมฐิติ หรือธรรมนิยามนั้นแหละแล้วแต่จะเรียก แต่ว่ามันคือธรรมชาติ ธรรมชาตินั้นคือกฎที่ประกาศิตเด็ดขาดลงไปว่า นั่นต้องเป็นอย่างนั้น นั่นต้องเป็นอย่างนั้น นี่คือกฎธรรมชาติ ที่ให้ธรรมชาติต่างๆ ปรุงแต่งไหลไป เปลี่ยนแปลงไป เปลี่ยนแปลงไป ในทางฝ่ายรูปธรรมก็ดี ในทางฝ่ายนามธรรมก็ดี นี้คำว่าธรรมในความหมายของธรรมชาติอย่างนี้ มันคือพระเจ้า ในความหมายที่เป็นธรรมาธิษฐาน พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตถาคตจะเกิดขึ้น หรือตถาคตจะไม่เกิดขึ้น ให้สิ่งนี้มีอยู่แล้ว คือธรรมฐิติ หรือธรรมนิยาม คือกฎธรรมชาติ นั่นคือพระเจ้า ในแง่ที่ว่าเป็นต้นกำเนิดของสิ่งทั้งปวงก็ได้ ในแง่ว่าจะอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าที่ไหน และในแง่ที่ว่าจะลงโทษผู้ผิด ให้รางวัลผู้ถูก อย่างยุติธรรมที่สุด หรือว่าอะไรก็ตามที่เป็นลักษณะของพระเจ้าในศาสนาคริสเตียนนั่น ไอ้ qualification เหล่านั้นทั้งหมดทั้งสิ้นมีในพุทธศาสนา คือในสิ่งที่เรียกว่าธรรมหรือธรรมชาติ เพราะฉะนั้นเรามีธรรมชาติ เป็นพระเจ้า คือมีพระเจ้าเหมือนกัน แต่ไม่พูดอย่างเป็นคน ดังนั้นเราจึงมี impersonal god คือพระเจ้าอย่างไม่ต้องเป็นคน แต่พระเจ้าที่มีอะไรเท่ากันเลย เขาพูดในรูปที่เป็นคน เราพูดในรูปที่เป็นธรรมชาติ นี้พุทธศาสนาก็มีพระเจ้า ทีนี้คำว่ามี ต้องมีสิ่งที่ส่งมาจากสวรรค์ของพระเจ้า มี Levitation (15.37) หรือมีอะไรก็ไม่รู้ ที่เรียกยากๆ นั้น เราก็มี คือสิ่งที่ธรรมชาติส่งให้ ยื่นให้ เป็นกฎตายตัวนี้ มาจากพระเจ้าเหมือนกัน ไอ้หลักเกณฑ์ต่างๆ ในพุทธศาสนานี้ มีแต่มาจากพระเจ้า คือธรรมชาติ ที่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือตรัสรู้สิ่งนี้ ถ้าจะเอากันถึงว่า เป็นผู้แทนพระเจ้าอย่างนี้ เราไม่มีผู้แทนชนิดแต่งตั้งแบบนั้น มันก็มีผู้สอน เอากฎธรรมชาติอันเฉียบขาดอันนั้นมาสอน เพราะว่ามนุษย์ในโลกนี้ มันไม่มีหูในทางวิญญาณ มันมีแต่หูเหมือนหูกระทะ ต้องพูดกรอกเข้าไป ฉะนั้นจึงต้องมีคนที่ต้องพูดกรอกเข้าไป คือพระพุทธเจ้า ถ้าจะเรียกว่าเป็นผู้แทนพระเจ้า ก็แทนในแง่นี้ ไม่ใช่แทนในแง่มีอำนาจ มี authority ทำอะไรแทนพระเจ้าเหล่านั้น ไม่มีแน่ แต่ว่ามีผู้แทนที่จะทำให้ธรรมชาติ กฎของธรรมชาตินี้ เป็นที่ปรากฏแจ่มแจ้งแก่มหาชนในโลก นี่ลองไปคิดดูเองว่า พุทธศาสนามีพระเจ้าหรือไม่ มีสิ่งที่ทรงส่งมาจากพระเจ้าหรือไม่ มีผู้แทนพระเจ้าหรือไม่ ฉะนั้นเราต้องพูดกับเขาในแง่ที่ว่า มันทำความเข้าใจกันได้ ดังนั้นพุทธศาสนาก็มี god แต่ว่ามี impersonal god ในเมื่อเขาพูดกันแต่เรื่อง personal god เรามีพระธรรมเป็นพระเจ้า เป็นต้นกำเนิดแห่งสิ่งทั้งปวง มีบาลีที่มีความหมายคล้ายนี้ ธัมโม หะเว ปาตุระโหสิ บุพเพ (17:40) ธรรมะเว้ยมีอยู่ก่อนในโลก มิใช่ นะ ปัจฉา ทิโลเก (17:55) ไม่ใช่ธรรมะเพิ่งเกิดที่หลังเว้ยนี่ ในพวกขุททกนิกายบางแห่ง โดยเฉพาะในพวกชาดกก็มีคำนี้ แปลว่าในประเทศอินเดีย จะเป็นพุทธศาสนาหรือไม่ใช่พุทธศาสนา คงได้ถือหลักอันนี้มาแล้ว ว่าธรรมะมีอยู่ก่อนสิ่งใด ไม่ใช่เพิ่งเกิดทีหลัง ผมไปแนะกับอาจารย์คริสเตียนที่คุ้นเคยรู้จักกันว่า คำว่า the word ของคุณนั้น ที่เคยแปลว่าพระคำ แจกกันในประเทศไทยนี้ แปลว่าพระธรรมจะดีกว่า แรกเริ่มเดิมทีไม่มีอะไรนอกจากพระธรรม และเห็นหนังสือพิมพ์ครั้งหลังๆ เขาใช้คำว่าพระธรรม เมื่อไม่กี่ปีมานี้แหละ คือพูดได้ว่า หลังจากที่ผมไปพูดขึ้นที่เชียงใหม่ เป็นอันว่า เราก็มีพระเจ้า เราก็มีผู้แทนพระเจ้า เราก็มีสิ่งที่ส่งมาจากพระเจ้า แล้วล้วนแล้วแต่เรียกว่าธรรมไปเสียทั้งหมด พระเจ้าคือธรรม สิ่งที่ส่งมาจากพระเจ้าคือธรรม เอามาสอนกันอยู่คือธรรม อะไรก็เป็นธรรม ความดีก็เป็นธรรม ความชั่วก็เป็นธรรม เหนือดีเหนือชั่วก็เป็นธรรม มีแต่คำว่าธรรมเพียงคำเดียว เพราะฉะนั้นพูดได้ว่าธรรมะคือพระเจ้าในแง่ที่ว่าพระเจ้าคือทุกสิ่ง นี่เขาพูดกันฟังยากนะ คุณเอาไปคิดดูให้ดี พระเจ้าคือทุกสิ่ง ไม่ยกเว้นอะไร ถ้าเข้าใจคำนี้จะเข้าใจดี จะเข้าใจพุทธศาสนาดี จะเข้าใจศาสนาคริสเตียนดี พร้อมกันไปในตัว ศาสนาอื่นก็เหมือนกันที่มีพระเจ้า ฉะนั้นเป็นอันว่าต้องถือว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนา คือเป็น religion อันหนึ่ง เป็นระบบสำหรับดับทุกข์โดยตรง ถ้าพูดกับคนมีปัญญา ก็ไม่พูดว่ามีพระเจ้า ไม่ต้องมี god ถ้าพูดกับคนไม่มีปัญญา หรือคนเชื่อ god มาก่อน ก็พูดว่ามี god คืออย่างนี้ คืออย่างที่ว่านี้ มีพระเจ้า มีสิ่งที่พระเจ้าส่งมา มีผู้แทนพระเจ้า และมีพระเจ้าคอยโกรธและคอยรัก คนที่ทำผิดทำถูกกับเขาด้วยเหมือนกัน คือเรื่องกรรม กฎธรรมชาติในแง่แห่งกรรม กฎแห่งกรรมนี้คือพระเจ้า ที่คอยลงโทษหรือคอยให้รางวัล ฉะนั้นไปบอกเขาเถิดว่า พุทธศาสนาก็เป็นศาสนา เป็น religion มีพระเจ้าในลักษณะอย่างนี้ มีอะไรครบหมดเหมือนกัน แต่เราไม่ใช้คำว่า god หรืออะไรทำนองนั้น ซึ่งไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร ทว่าเรามีคำว่า ธรรม ที่แปลว่า สิ่งที่มีอยู่ได้ในตัวเอง โดยตัวเอง คำว่าธรรมนี้ประหลาดที่สุด คือแปลได้ทุกอย่าง แต่ความหมายรวมๆ แปลว่า สิ่งที่ทรงตัวอยู่ได้ในตัวมันเองโดยตัวมันเอง แม้ธรรมที่เปลี่ยนแปลงเรื่อย สังขารธรรมนี้ มันก็ทรงตัวอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง คือการเปลี่ยนแปลงนั่นแหละ มันมีความเปลี่ยนแปลงนั่นแหละเป็นตัวมันเอง และทรงตัวมันเองอยู่ได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงนั้น พอหยุดการเปลี่ยนแปลงมันก็ไม่ปรากฏ คือไม่ได้มี นี้ธรรมที่เป็นอสังขตะ เป็นวิสังขาร ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มันก็ยิ่งมีการทรงตัวมันเองอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง ยิ่งชัดเจนยิ่งขึ้น เป็นนิรันดร เป็นอนันตกาล อย่างพวกวิสังขาร หรือ อสังขตธรรม ฉะนั้นธรรมคำเดียว เป็นทุกสิ่ง เป็นพระเจ้า เป็นสิ่งที่พระเจ้าส่งมา เป็นผู้แทนของพระเจ้า เป็นผลที่มนุษย์จะต้องได้รับ เป็นสิ่งที่มนุษย์จะต้องทำให้ถูกให้ต้อง มิฉะนั้นจะมีความทุกข์ ดังนั้นไอ้ธรรมะส่วนใดที่เป็นไปเพื่อจะดับทุกข์เสียได้โดยตรง เราเรียกว่านิยยานิกธรรม นี้คือธรรมที่เป็นศาสนา ที่เราจำเป็นจะต้องมี คือปฏิบัติให้มันมีขึ้นมา ในเนื้อในตัว ในกายในวาจาในใจ ทีนี้ปัญหาข้อแรก คือว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนา ไม่เป็นเพียงระบบปรัชญา เพ้อเจ้อ ไม่รู้ว่าอะไรที่ไหน ทีนี้ปัญหาต่อไปก็มีว่า ไอ้หลักธรรมะในพุทธศาสนานี่ พอปรากฏแก่คนที่ไม่เข้าใจ รู้สึกว่าเข้าใจยาก ลึกลับ ซับซ้อน เขาก็จัดมันให้เป็นปรัชญา คือเป็นทรรศนะหนึ่งเท่านั้น ผิดหรือถูกก็ไม่รู้ ต้องพิสูจน์กันต่อไป ฉะนั้นเมื่อพวกฝรั่งเข้ามาแตะต้องพุทธศาสนาทีแรก มันจึงงงไปหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องปฏิจจสมุปบาท ต่อให้ฝรั่งชนิดไหน เป็นนักปราชญ์อย่างไรมาก็ตาม พอแตะต้องเรื่องปฏิจจสมุปบาท จะรู้สึกว่ามันเป็น philosophy คือเป็นสิ่งที่เขาเข้าใจไม่ได้ ก็ต้องทบทวนคำนึงคำนวณอยู่อย่างนั้น ก็ยังเข้าใจไม่ได้ มันก็เป็น philosophy อันหนึ่ง จริงเหมือนกัน แต่ถ้าพอปฏิบัติได้ ตามหลักของปฏิจจสมุปบาท คือความทุกข์ไม่ได้เกิดขึ้น มีแต่ความดับทุกข์ นี่มันจะเป็นศาสนาขึ้นมา เพราะฉะนั้นปฏิจจสมุปบาทสำหรับพระอรหันต์แล้วก็ว่าเป็นศาสนา แต่สำหรับคนที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ และเป็นนักคิดมากๆ อย่างพวกฝรั่งแล้ว มันก็เป็นปรัชญา เป็นอย่างนี้ทุกเรื่อง เรื่องอะไรที่เรายังไม่รู้ไม่เข้าใจ ยังฉงนฉงายกันอยู่อย่างนี้ ก็เป็นปรัชญาไปก่อน พอปฏิบัติถูกต้อง มีผลปรากฏ มันก็กลายเป็นศาสนาไปทันที เป็นวิทยาศาสตร์ไปทันที พุทธศาสนาก็เป็นวิทยาศาสตร์ในทางจิตใจ ฝ่ายวิญญาณ เป็น spiritual science ไปทันทีเพราะเหตุนี้ ถึงแม้ในวงพวกเราชาวไทยนี้ก็เหมือนกันแหละ ไปแตะต้องธรรมะแง่ใดข้อใดเข้า กำลังงงอยู่นั่น มันเป็นปรัชญา นี้พอประพฤติลงไป ในสิ่งนั้นอย่างถูกต้องมีผลเกิดขึ้นมา มันเป็นที่แจ่มแจ้งโดยประจักษ์แก่จิตใจ มันก็เป็นวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ในแง่จิตหรือวิญญาณ แล้วก็ในแง่นี้หรือในลักษณะนี้น่ะคือศาสนา ไม่ใช่เป็นเพียงคำสั่งสอนเหมือนที่พูดกัน นี่มันเป็นบาปเป็นกรรมอะไรอันหนึ่ง ที่เอาคำว่าศาสนามาใช้แก่ระบบการดับทุกข์ ในเมื่อคำว่าศาสนามันเป็นเพียงคำสั่งสอน แต่ตัวธรรม ตัวพรหมจรรย์ของพระพุทธเจ้านั้น ไม่ใช่คำสั่งสอน มันเป็นการปฏิบัติ เราไปประกาศศาสนา ไปประกาศพรหมจรรย์น่ะ คือไปประกาศระบบการปฏิบัติอันหนึ่งซึ่งดับทุกข์ได้ ไม่ใช่ตัวคำพูด หรือคำสั่งสอนที่เป็นเพียงคำพูด ไปประกาศพรหมจรรย์นั้นน่ะดู ในคำขวัญของธรรมทูต จงไปประกาศพรหมจรรย์ พรัหมะจะริยัง ปะกาเสถะ (26:30) น่ะพระพุทธเจ้าตรัสอย่างนั้น ให้สมบูรณ์ด้วยอรรถะ ให้สมบูรย์ด้วยพยัญชนะ เพื่อประโยชน์แก่มหาชน ทั้งเทวดาแลมนุษย์นี่ ที่เราเรียกว่าเป็นคำขวัญของไอ้ธรรมทูต ไม่ใช่ไปพูดพ่นน้ำลาย เหมือนที่ไปกันโดยมาก แต่ไปประกาศพรหมจรรย์ คือการประพฤติปฏิบัติที่ประเสริฐที่สุด ที่ดับทุกข์เสียได้ ทีนี้ที่ว่า ให้สมบูรณ์ทั้งอรรถะ ทั้งพยัญชนะนี่ ทำยุ่ง กลายเป็นคล้ายๆ คำพูดไป เราไปทำให้เขาเข้าใจ ทั้งโดยตัวหนังสือ หรือทั้งโดยความหมาย นั่นมันเป็นระยะแรกที่จะพูดกันด้วยปาก เพราะไม่มีสื่ออื่นนอกจากทางปาก พูดเข้าใจแล้วก็ เขาก็ปฏิบัติ มันก็เป็นพรหมจรรย์ขึ้นมา คือที่ดีกว่านั้นก็คือเราไปทำดี ทำถูกให้ดู เป็นตัวอย่างให้ดู ไม่ต้องพูดกับปากมากนัก นี้คือพรหมจรรย์ คือตัวศาสนา คือตัวการปฏิบัติ ระบบการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ นี่คือตัวพุทธศาสนา อย่าให้เป็นเพียงคำสั่งสอน ในโรงเรียนนักธรรมของเรา พอเริ่มสอนก็สอนให้ผู้เรียนเข้าใจว่า พุทธศาสนาเป็นเพียงคำสั่งสอน คือพูดผิด หรือพูดถูกน้อยเกินไปว่า พระธรรมคือคำสั่งสอน พูดอย่างนี้ถูกหนึ่งในสามใช่ไหม พูดว่าพระธรรมคือคำสั่งสอน ถูกหนึ่งในสาม เพราะพระธรรมคือตัวศาสนา นั่นมันคือ ปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม ปฏิเวธธรรม สามธรรม เรียกว่าหนึ่ง เรียกว่าธรรม เรียกว่าพระธรรม ที่เราไประบุชื่อแต่คำสั่งสอน มันก็ถูกแต่ปริยัติธรรม ก็ถูกหนึ่งในสามเท่านั้น สำหรับพวกเราที่จะไปทำงาน ให้เป็นชิ้นเป็นอันก็ต้องพูดเสียใหม่ นิยามเสียใหม่ว่า พระธรรมคือความรู้ และการปฏิบัติ และผลของการปฏิบัติที่ดับทุกข์ได้จริง นั่นแหละคือพระธรรม เอาสิ เถียงมาสิ แย้งมาสิ นี่ถ้าพูดว่าพระธรรมคือคำสั่งสอน มันก็แย้งได้ หงายหลังไปเลย ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะเป็นแต่คำพูด เมื่อพระธรรมคือความรู้ และการปฏิบัติ และผลของการปฏิบัติ มันก็เป็นศาสนาโดยสมบูรณ์ ไม่ต้องพูด ไม่ต้องเถียงกันให้เสียเวลา ก็ของธรรมชาติ โดยธรรมชาติ มีธรรมชาติเป็นผู้ควบคุม พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้สิ่งเหล่านี้ แล้วเปิดเผยสิ่งเหล่านี้ ตุมเหหิ กิจจัง อาตัปปัง อักขาตาโร ตะถาคะตา ก็เคยเรียนกันมาแล้วทุกคน ว่าความเพียรคือการปฏิบัตินั้น เธอทั้งหลายต้องทำเอง ตถาคตเป็นแต่ผู้บอกทางเท่านั้น แล้วก็พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประกาศพระธรรม แต่เรามาเรียกเสียในเมืองไทยว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประกาศพระศาสนา แต่พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า พรัหมะจะริยัง อุกาเสถะ (30:20) นี่ จงประกาศพรหมจรรย์ เราก็มายักเรียกเสียว่าจงประกาศศาสนา ทำผิดเองแล้วจะไปโทษใคร ทำไมเรียกตามที่พระพุทธเจ้าท่านเรียก ว่าจงไปประกาศพรหมจรรย์ จงประพฤติพรหมจรรย์ จงทำกิจอันสุดท้ายของพรหมจรรย์ คือได้ผลนั้น สุดท้ายของพรหมจรรย์ วุสิตัง พรัหมะจะริยัง พรหมจรรย์นี้อยู่จบแล้ว ไม่ได้พูดถึงศาสนาเลย ไม่ได้พูดด้วยคำว่าศาสนาเลย แต่ได้พูดถึงสิ่งที่เรามาเรียกกันเดี๋ยวนี้ ในเมืองไทยว่าศาสนา ที่ฝรั่งเรียกว่า religion โดยคำพูด มันตีกันยุ่ง แต่โดยเนื้อแท้ โดยตัวของจริงนั้น ไม่ได้ยุ่งเลย จะเรียกว่าพรหมจรรย์หรือจะเรียกว่าศาสนาก็สุดแท้ มันต้องเป็นตัวระบบการปฏิบัติที่ดับทุกข์ได้ ไอ้ความรู้หรือคำพูดนั้นมันพลอยแฝงเข้ามา ไอ้ผลของการปฏิบัตินั้น มันเป็นที่แน่นอนว่ามันมาเอง ยังไม่ต้องสนใจก็ได้ สนใจแต่ปฏิบัติให้ได้ ก็ถ้าเรียนก็ต้องเรียนให้รู้ เพื่อให้ปฏิบัติให้ได้ อย่าเรียนให้มันเฟ้อ ไปมัวเรียนจนเฟ้อ ไม่มีจุดจบ มันก็ไม่มีการปฏิบัติ ทีนี้สำหรับการเผยแผ่พุทธศาสนานั้น ผมคิดว่าควรจะนิยามคำพูดให้มันกว้างออกไปว่า เผยแผ่ปริยัติ ส่วนปริยัตินั้นด้วยการพูดการสอน หรือทำให้เข้าใจ แล้วก็เผยแผ่การปฏิบัติ ปฏิปัติธรรมนั้นโดยการทำให้ดูเสียเลย ไม่พูด แล้วก็เผยแผ่ปฏิเวธธรรม ด้วยการมีความสุขให้ดูเสียเลย อย่ามัวแต่พูดอย่างเดียว ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ สามอย่างนี้เราเผยแผ่โดยวิธีทั้งสาม เท่าจำนวน ปริยัติ เผยแผ่ด้วยการพูดจา ชักจูง ชี้แจง จนรู้จนเข้าใจ ปฏิปัติธรรม เผยแผ่ด้วยวิธีปฏิบัติให้ดู เป็นอยู่อย่างถูกต้องให้ดู เหมือนสัตว์เดรัจฉาน มันถ่ายความรู้กันได้ โดยไม่ต้องมีปากพูด มันทำให้ดู ลูกไก่ทำตามแม่ไก่ได้ในเวลาอันสั้น และปฏิเวธศาสนานี่ มีน้ำหนักมาก เรามีความสุขให้ดู คนที่เห็นมันทนอยู่ไม่ได้ มันทำตามทันที ที่ไปพูดให้ฟังนั้น มันตั้งข้อสังเกตไว้เรื่อย ว่าพูดโกหก หรือพูดจริง ถ้าพูดจริงมันทำได้หรือไม่ มันตั้งข้อสังเกตอย่างนี้ ตัวผู้พูดนั้นทำได้หรือไม่ นี่สงสัยอยู่อย่างนี้ ดังนั้นสู้มีความสุขให้ดูเสียเลยไม่ได้ อย่างที่พระอัสสชิ มีอินทรีย์ผ่องใส มีความสุขแสดงอยู่ที่ใบหน้า เพียงแต่เดินไปกลางถนน อุปติสสะคือพระสารีบุตรในอนาคต ก็ถือเอาทันที เพราะฉะนั้นความที่มันมีความสุขแสดงอยู่ที่ใบหน้าหรือแววตา ถือเอาพระอัสสชิ เป็นจุดที่เขาจะต้องเข้าถึงให้ได้ จึงไปติดตาม จึงไปไต่ถาม ดังนั้นมันมีประโยชน์อย่างยิ่ง ฉะนั้นอยากจะพูดแถมพกไว้ในที่นี้ว่า พระธรรมทูตต้องมีบุคลิกลักษณะที่แสดงความสุขอันสมบูรณ์อยู่เสมอ ไม่ฉะนั้นยากที่จะสำเร็จ เหมือนเอาคนขอทานไปสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัย มันน่าหัวเท่าไร ก็คิดดู มันขอทานไม่มีสตางค์ ไม่มีอาหารจะกินอยู่แล้ว จะเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ นี่ถ้าพวกธรรมทูต มีหน้าตาอันบูดบึ้ง ขี้โกรธ ขี้โมโห ขี้โลภ ขี้อะไรต่างๆ แล้วจะไปสอนได้อย่างไร จะไปสอนธรรมะได้อย่างไร ฉะนั้นเราจะต้องรู้ จะต้องมีการชนะตัวเอง เรื่องสูบบุหรี่ กินเนื้อสัตว์ นี่เป็นของเล็กน้อย สลัดไปเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าต้องการ ถ้าจำเป็น และมันก็ควรด้วย แต่มันยิ่งกว่านั้น ต้องมีลักษณะเป็นผู้แทนของพระเจ้า มีความสะอาด สว่าง สงบ แสดงอยู่ที่เนื้อ ที่ตัว ที่หน้า ที่ตา และก็เป็นผู้แทนของพระเจ้า แล้วคนเขาก็เห็น ก็พร้อมที่จะทำความเข้าใจ คืออยากจะรู้ว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้นล่ะ ทำไมจึงมีอินทรีย์ผ่องใส มีอินทรีย์สงบรำงับ นี่ทั้งหมดนี้มันขึ้นอยู่กับคำว่า ศาสนา ซึ่งเราเพิ่งจะเอามาใช้ขึ้นในประเทศไทย ในภาษาไทย แล้วมันทำยุ่ง ก็มีปัญหาว่าเป็นศาสนาหรือไม่เป็นศาสนา พระพุทธเจ้ามีอะไรให้แต่คำสั่งสอนเท่านั้นหรือ เราต้องอธิบายให้เขาเข้าใจ คือให้ ให้มีความสนใจเพ่งไปยังระบบของการปฏิบัติ ไม่ใช่เป็นเพียงคำสั่งสอน ถ้ามีการปฏิบัติแล้วเป็นอันว่าพอ ก็มีความรู้เท่าที่จำเป็นแก่การปฏิบัติ และก็สอนด้วยการมีหลักฐานพยาน คือทำให้ดูได้ และก็มีความแน่นอนที่ว่าผู้สอนนั้นมีความสุข แสดงอยู่ที่เนื้อที่ตัว เอาคนที่ร่ำรวย มีเงินมีทอง ไปสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัย เอาคนที่มีร่างกายอนามัยเข้มแข็งสมบูรณ์ดีไปสอนวิชาแพทย์นี้ มันก็เป็นไอ้หลักประกัน นี้เรื่องหนึ่ง เรื่องที่ ผู้ที่เราจะไปสอนนั้น เขากำลังเข้าใจว่า พุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนา แล้วในประเทศไทยเราก็พูดตามก้นฝรั่งเหล่านั้นไปด้วยว่า พุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนา เกิดมาจากปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับคำพูดที่กล่าวมาแล้ว ไปเข้าใจเสียให้ดี เข้าใจคำว่าศาสนาเสียให้ดี จนไปถึงตัวพรหมจรรย์ในพุทธศาสนา ว่านั่นแหละคือสิ่งที่พระพุทธเจ้า ท่านตรัสว่า พรัหมะจะริยัง ปะกาเสถะ ท่านนำหน้าด้วย สาตถัง สะพยัญชะนัง อาทิกัลยาณัง มัชเฌกัลยาณัง ปะริโยสา นะกัลยาณัง ปะริสุทธัง พรัหมะจะริยัง ปะกาเสถะ (38:37) อุตส่าห์ท่องไว้ คำขวัญของธรรมทูต มหาวรรควินัยปิฎกไปเปิดดู นี่นกบอกว่าเวลาหมด วันนี้ตีระฆังสาย